วันเวลาปัจจุบัน 21 ก.ค. 2025, 03:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 11:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


นำมาจาก
พัฒนาการทางเพศ และปัญหาทางเพศในเด็กและวัยรุ่น
Sexual Development and Sexual Problems in Children and Adolescent
พนม เกตุมาน
พบ. วว.จิตเวชศาสตร์ อว.จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
Diploma of Child and Adolescent Psychiatry, Institute of Psychiatry and University of London, UK.



พัฒนาการเรื่องเพศในเด็ก และวัยรุ่น เกี่ยวข้องกับชีวิต ตั้งแต่เด็ก การที่บุคคลได้เรียนรู้ธรรมชาติความเป็นจริงทางเพศ จะช่วยให้มีความรู้ มีทัศนคติ สามารถปรับตัวตามพัฒนาการของชีวิตอย่างเหมาะสม และมีพฤติกรรมถูกต้องในเรื่องเพศ เรื่องเพศสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก สอดแทรกไปกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ พ่อแม่ควรเป็นผู้สอนเบื้องต้น เมื่อเข้าสู่โรงเรียน ครูช่วยสอนให้สอดคล้องไปกับที่บ้าน เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่มีแนวทางที่ถูกต้อง ป้องกันปัญหาทางเพศที่อาจเกิดตามมาในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่

พัฒนาการทางเพศ1-5

การเรียนรู้เรื่องเพศนั้น ประกอบด้วยเนื้อหาตามพัฒนาการ 6 ด้าน ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย(Human sexual development) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการทางเพศตามวัย ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

2. สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัและต่างเพศ การเลือกคู่ การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่าง สามี-ภรรยา พ่อ-แม่-ลูก

3. ทักษะส่วน บุคคล (Personal and communication skills)ความสามารถใน การจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ

4. พฤติกรรมทาง เพศ (Sexual behaviors) การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศหรือบทบาททางเพศ (gender role) ที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ (เช่น เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อ) การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่ เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล

5. สุขอนามัยทาง เพศ (Sexual health) ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆและความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชอกช้ำ บาดเจ็บ อักเสบ และติดเชื้อ รวมถึงการถูกล่วงเกินทางเพศ

6. สังคมและ วัฒนธรรม (Society and culture) ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรม ไทย การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่างๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

เป้าหมายของพัฒนาการทางเพศ

พัฒนาการทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก มีความต่อเนื่องไปจนพัฒนาการเต็มที่ในวัยรุ่น หลังจากนั้นเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวตลอดชีวิต เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปนี้6-7

1. มีความรู้ เรื่องเพศ ตามวัย และพัฒนาการทางเพศ ตั้งแต่ร่างกาย การเปลี่ยนแปลงไปตามวัย และจิตใจสังคม ของทั้งตนเอง และผู้อื่น ทั้งของเพศตรงกันข้าม ความแตกต่างกันระหว่างเพศ

2. มีเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่ การรับรู้เพศตนเอง(core gender) บทบาททางเพศและพฤติกรรมทางเพศ(gender role) มีความพึงพอใจทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศต่อเพศตรงข้ามหรือต่อเพศเดียวกัน(sexual orientation)

3. มีพฤติกรรมการรักษาสุขภาพทางเพศ(sexual health) การรู้จักร่างกายและอวัยวะเพศของตนเอง ดูแลรักษาทำความสะอาด ป้องกันการบาดเจ็บ การติดเชื้อ การถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ

4. ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่จะร่วมเป็นคู่ครอง การเลือกคู่ครอง การรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยาวนาน แก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตร่วมกัน การสื่อสาร การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองอย่างมีความสุข มี การวางแผนชีวิตและครอบครัว

5. บทบาทในครอบครัว บทบาทและหน้าที่สำหรับการเป็นลูก การเป็นพี่-น้อง และสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หน้าที่และความรับผิดชอบชอบการเป็นพ่อแม่ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมของสังคมที่อยู่

6. ทัศนคติทางเพศที่ถูกต้อง ภูมิใจพอใจในเพศของตนเอง ไม่รังเกียจหรือปิดบัง ปิดกั้นการเรียนรู้ทางเพศที่เหมาะสม รู้จักควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้แสดงออกถูกต้อง ให้เกียรติผู้อื่น ไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่น ยับยั้งใจตนเองไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร



พัฒนาการทางเพศในวัยต่างๆ




วัย 6-12 ปี

วัยนี้ยังไม่มีอารมณ์เพศ หรือความรู้สึกทางเพศ Simund Freud ให้ความหมายของ * หรือความพึงพอใจเด็กวัยนี้ว่าไม่แสดงออกชัดเจน เรียกว่าระยะแฝงตัว (latency phase) เด็กเล่นเป็นกลุ่มเฉพาะเพศเดียวกัน เด็กเรียนรู้บทบาททางเพศจากการสังเกตและเลียนแบบพ่อแม่ญาติพี่น้อง ในครอบครัว เพื่อน ครู เพื่อนบ้านและคนอื่นๆในสังคม เด็กผู้ชายที่มีลักษณะค่อนข้างไปทางหญิง เช่น เรียบร้อย ไม่เล่นซน มักถูกกีดกันจากกลุ่มเด็กผู้ชาย จะหันไปสนิทสนมกับเด็กผู้หญิง และอาจมีพฤติกรรมเป็นหญิงมากขึ้น ทำให้ถูกกีดกันจากเด็กผู้ชายมากขึ้น ในตอนปลายวัยนี้เด็กบางคนเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเด็กอื่นๆ การเรียนรู้เรื่องการเข้าสู่วัยรุ่นจึงควรเริ่มมีเพื่อเตรียมตัวเด็กต่อการ เปลี่ยนแปลงเช่น การมีประจำเดือนในเด็กผู้หญิง

บทบาทของพ่อแม่ ควรส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมกับเพศ ให้เด็กเป็นที่ยอมรับของเพื่อนเพศเดียวกัน เด็กที่มีพฤติกรรมผิดเพศ ควรแก้ไขโดยเร็ว โดยการให้เด็กอยู่และร่วมกิจกรรมในกลุ่มเพศเดียวกันเอง ให้พ่อแม่เพศเดียวกันใกล้ชิดเด็กมากขึ้น พ่อแม่ต่างเพศให้ห่างออกไปไม่ควรใกล้ชิดมากเหมือนเดิม จัดกิจกรรม หรือส่งเสริมกิจกรรมเหมาะสมตามเพศ



วัย 12-18 ปี


เด็กอายุ 12 ปี เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจสังคม และทางเพศอย่างมาก มีความรู้สึกและความต้องการทางเพศ มีเอกลักษณ์ทางเพศ มีความพึงพอใจทางเพศ (sexual orientation) Simund Freud ให้ความหมายของ * หรือความพึงพอใจเด็กวัยรุ่นนี้มาอยู่ที่อวัยวะเพศ (genital phase)

พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical development ) มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวด เร็ว ร่างกายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขายาวขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงมีไขมันมากกว่าชาย ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

การเปลี่ยนแปลงทางเพศ(Sexual changes)ที่เห็นได้ชัดเจน คือวัยรุ่นชายเกิดนมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย กดเจ็บ) เสียงแตก หนวดเคราขึ้น และเริ่มมีฝันเปียก ( nocturnal ejaculation – การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับ มักสัมพันธ์กับความฝันเรื่องเพศ) การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญาณวัยรุ่นของเพศชาย ส่วนวัยรุ่นหญิงเป็นสาวขึ้น เต้านมมีขนาดโตขึ้น ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีรูปร่างทรวดทรง สะโพกผายออก และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ( menarche) การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญาณเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง ทั้งสองเพศมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ ขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่ มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ มีกลิ่นตัว มีสิวขึ้น

พัฒนาการทางจิตใจ (Psychological Development) วัยนี้สติปัญญาพัฒนาสูงขึ้น จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม ความสามารถเรียนรู้ เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ มีลึกซึ้ง มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ สามารถคิดได้ดี คิดเป็น คิดหลายด้าน ทำให้สามารถตัดสินใจได้ ความสามารถทางสติปัญญาเพิ่มมากขึ้นจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้ ยังขาดประสบการณ์ ขาดความรอบคอบ มีความหุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรอง ทำอะไรวู่วามหรือทำด้วยความอยากตามสัญชาติญาณ หรือตามความต้องการทางเพศที่มีมากขึ้น พัฒนาการทางจิตใจจะช่วยให้วัยรุ่น มีการยั้งคิด ควบคุม และปรับตัว (adjustment) ต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในเวลาต่อมา

เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ สิ่งที่ตนเองถนัด ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น ได้แก่ วิชาที่เขาชอบเรียน กีฬาที่ชอบเล่น งานอดิเรก การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน หรือเข้ากันได้ และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง ทั้งแนวคิด ค่านิยม ระบบจริยธรรม การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง วัยนี้จะมีเอกลักษณ์ทางเพศ(sexual identity)ชัดเจน ขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด(core gender identity)ซึ่งติดตัวเด็กมาตั้งแต่อายุ 3 ปีแล้ว พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ(gender role)คือพฤติกรรม ซึ่งเด็กแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นได้แก่ กิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งกาย เหมาะสมและตรงกับเพศตนเอง และ ความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation) คือความรู้สึกทางเพศกับเพศใด ทำให้วัยรุ่นบอกได้ว่าตนเองชอบทางเพศกับเพศเดียวกัน(homosexualism) กับเพศตรงข้าม(heterosexualism) หรือได้กับทั้งสองเพศ(bisexualism)

ความพึงพอใจทางเพศนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำได้ยาก วัยรุ่นจะรู้ด้วยตัวเองว่า ความพึงพอใจทางเพศของตนแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะการแสดงออกภายนอก ไม่ให้แสดงออกผิดเพศมากจนเป็นที่ล้อเลียนกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ

วัยนี้ต้องการการยอมรับ จากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก(acceptance) อยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ อยากเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบของคนอื่นๆ อาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น การแต่งกายยั่วยวนทางเพศ เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม วัยรุ่นที่เป็นรักร่วมเพศอาจแสดงออกผิดเพศมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่สนใจและยอมรับ หรือเมื่อถูกกีดกันจากเพศเดียวกัน ก็อาจจับกลุ่มพวกที่แสดงออกผิดเพศเหมือนกัน เป็นการแสวงหากลุ่มที่ยอมรับ ทำให้เห็นการแสดงออกผิดเพศมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางเพศใน วัยนี้ตามปกติ ทำให้เด็กรู้สึกความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) ในทางตรงข้ามเด็กที่เปลี่ยนแปลงช้า หรือไม่มีลักษณะเด่นทางเพศอาจเสียความภูมิใจในตนเอง เสียความมั่นใจตนเอง (self confidence) วัยรุ่นบางคนไม่มีข้อดีข้อเด่นด้านใดเลย อาจแสดงออกทางเพศมากขึ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกภูมิใจในตนเอง หรือบางคนมีแฟนเร็วหรือมีเพศสัมพันธ์เร็วเพื่อทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีคนต้องการ มีคนทำดีด้วย วัยรุ่นที่มีปัญหาครอบครัวจึงมักมีพฤติกรรมทางเพศเร็ว เช่นมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ เพื่อชดเชยหรือทดแทนความรู้สึกเบื่อ เหงา ไร้ค่า เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยิ่งรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่ามากขึ้น บางคนใช้เรื่องเพศเป็นสะพานสู่ความต้องการทางวัตถุ ได้เงินตอบแทน หรือโอ้อวดเพื่อนๆว่าเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้ามมาก

วัยรุ่นบางคนขาดกรอบที่ ใช้เป็นหลักในการควบคุมตนเอง วัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง (independent : autonomy) รักอิสระ เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ ชอบคิดเอง ทำเอง พึ่งตัวเอง เชื่อความคิดตนเอง ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมีมาก มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การแต่งกาย การเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด เพศสัมพันธ์ การจัดขอบเขตในวัยรุ่นจึงต้องให้พอดี ถ้าห้ามมากเกินไป วัยรุ่นอาจแอบทำนอกสายตาผู้ใหญ่ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยเกินไปจะเกิดพฤติกรรมเสี่ยง การฝึกสอนการควบคุมตัวเองจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี ฝึกให้คิดด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเรียนรู้ แต่อยู่ในขอบเขต

การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้ควรฝึกเรียนรู้การควบคุมความคิด ยั้งความคิดและความรู้สึกทางเพศหรือความต้องการทางเพศ ห้ามใจไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ วัยนี้ควรสอนให้ควบคุมตนเองโดยให้เกิดการควบคุมจากใจตนเอง ให้รู้ว่าถ้าไม่ควบคุมจะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง ถ้าควบคุมจะมีข้อดีอย่างไร การฝึกให้วัยรุ่นใช้สมองส่วนคิดมาก ทำให้เกิดการคิดก่อนทำ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ สมอง “ส่วนคิด” จะมาควบคุมสมอง “ส่วนอยาก” หรือควบคุมด้านอารมณ์เพศได้มากขึ้น

อารมณ์วัยรุ่นที่ปั่น ป่วน เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด เครียด โกรธ กังวล ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางเพศ เช่นวัยรุ่นบางคนอาจหันไปใช้กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดหรือเพิ่มความสนุก สนานแต่เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ การใช้เหล้าและยาเสพติด

อารมณ์เพศเกิดขึ้นวัยนี้มาก ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศ เช่นการมีเพื่อนต่างเพศ การดูสื่อยั่วยุทางเพศรูปแบบต่าง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้สามารถมีได้แต่ควรให้มีพอควร ไม่หมกมุ่นหรือปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทางเพศมากเกินไป วัยนี้อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างอาจเป็นปัญหา เช่น เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น การฝึกให้วัยรุ่นเข้าใจ ยอมรับ และจัดการอารมณ์เพศอย่างถูกต้องดีกว่าปล่อยให้วัยรุ่นเรียนรู้เอง

จริยธรรม (moral development) วัยนี้สามารถพัฒนาให้มีจริยธรรม แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้ เริ่มมีระบบมโนธรรมของตนเอง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย การควบคุมตนเองจะดีขึ้น จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ คือรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ และสามารถควบคุมตนเองได้ด้วย จริยธรรมวัยนี้เกิดจากการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับคนใกล้ชิด คือพ่อแม่ ครู และเพื่อน การมีแบบอย่างที่ดีช่วยให้วัยรุ่นมีจริยธรรมที่ดีด้วย เพื่อนมีอิทธิพลสูงในการสร้างทัศนคติค่านิยมและจริยธรรม ถ้าเพื่อนไม่ดี อาจชักจูงให้เด็กขาดระบบจริยธรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มที่เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ จะมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไปอื่นๆ

จริยธรรมทางเพศในวัยรุ่น นี้ ควรให้เกิดความเข้าใจต่อเพศตรงข้าม ให้เกียรติ และยับยั้งใจทางเพศ ไม่ละเมิดหรือล่วงเกินผู้อื่น ทางเพศ

พัฒนาการทางสังคม (Social Development) วัยนี้เริ่มห่างจากทางบ้าน ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม แต่สนใจเพื่อนและเพศตรงข้าม สร้างความสัมพันธ์กับคนที่พึงพอใจทางเพศ และรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวจนตกลงร่วมเป็นคู่ครอง และสร้างครอบครัวให้ยืนยาวต่อไปได้

บทบาทของพ่อแม่ เป็นแบบอย่างทางเพศ สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลง ทางร่างกายและจิตใจอารมณ์ การจัดการกับอารมณ์เพศ มีบทบาททางเพศที่เหมาะสม และการยับยั้งชั่งใจทางเพศ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 11:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญหาทางเพศในเด็กและวัยรุ่น

ปัญหาทางเพศในเด็กและวัยรุ่นแบ่งตามประเภทต่างๆได้ดังนี้

1. ความผิดปกติในเอกลักษณ์ทางเพศ Gender Identity Disorder 12

อาการ
เด็กมีพฤติกรรมผิดเพศ เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นเพศตรงข้ามกับเพศทางร่างกายมาตั้งแต่เด็ก มีพฤติกรรมทางเพศเป็นแบบเดียวกับเพศตรงข้าม ได้แก่

- การแต่งกายชอบแต่งกายผิดเพศ เด็กชายชอบสวมกระโปรงและรังเกียจกางเกง เด็กหญิงรังเกียจกระโปรงแต่ชอบสวมกางเกง เด็กชายชอบแต่งหน้าทาปากชอบดูแม่แต่งตัวและเลียนแบบแม่

- การเล่น มักเล่นเลียนแบบเพศตรงข้าม หรือชอบเล่นกับเพศตรงข้ามเด็กชายมักไม่ชอบเล่นรุนแรง ชอบเล่นกับผู้หญิง และมักเข้ากลุ่มเพศตรงข้ามเสมอ

- จินตนาการว่าตนเองเป็นเพศตรงข้ามเสมอแม้ในการเล่นสมมุติก็มักสมมุติตนเอง เป็นเพศตรงข้าม เด็กชายอาจจินตนาการว่าตัวเองเป็นนางฟ้า หรือเจ้าหญิง เป็นต้น

- พฤติกรรมทางเพศเด็กไม่พอใจในอวัยวะเพศของตนเอง บางคนรู้สึกรังเกียจหรือแสร้งทำเป็นไม่มีอวัยวะเพศหรือต้องการกำจัดอวัยวะ เพศออกไป เด็กหญิงจะยืนปัสสาวะ เด็กชายจะนั่งถ่ายปัสสาวะ เลียนแบบพฤติกรรมทางเพศของเพศตรงข้ามโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

อาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วดำเนินอย่างต่อเนื่อง เด็กอาจถูกล้อเลียน ถูกกีดกันออกจากกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน เด็กมักพอใจในการเข้าไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนต่างเพศ และถ่ายทอดพฤติกรรมของเพศตรงข้ามทีละน้อยๆ จนกลายเป็นบุคลิกภาพของตนเอง

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กมีความรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับเพศของตนเองมากขึ้น และต้องการเปลี่ยนแปลงเพศตนเอง เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ภาวะเช่นนี้เรียกว่า Transsexualism



2. รักร่วมเพศ Homosexualism

อาการ
อาการ เริ่มเห็นชัดเจนตอนเข้าวัยรุ่น เมื่อเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ ทำให้เกิดความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation) โดยมี ความรู้สึกทางเพศ ความต้องการทางเพศ อารมณ์เพศกับเพศเดียวกัน

รักร่วมเพศยังรู้จักเพศตน เอง(core gender) ตรงตามที่ร่างกายเป็น รักร่วมเพศชายบอกตนเองว่าเป็นเพศชาย รักร่วมเพศที่เป็นหญิงบอกเพศตนเองว่าเป็นเพศหญิง

การแสดงออกว่าชอบเพศเดียว กัน มีทั้งที่แสดงออกชัดเจนและไม่ชัดเจน

กิริยาท่าทางและการ แสดงออกภายนอก มีทั้งที่แสดงออกชัดเจน และไม่แสดงออก ขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้นั้นและการยอมรับของสังคม

ชายชอบชาย เรียกว่า เกย์ (gay) หรือตุ๊ด แต๋ว เกย์ยังมีประเภทย่อย เป็นเกย์คิง และเกย์ควีน เกย์คิงแสดงบทบาทภายนอกเป็นชาย การแสดงออกทางเพศ(gender role)ไม่ค่อยเป็นหญิง จึงดูภายนอกเหมือนผู้ชายปกติธรรมดา แต่เกย์ควีนแสดงออกเป็นเพศหญิง เช่นกิริยาท่าทาง คำพูด ความสนใจ กิจกรรมต่างๆ ความชอบต่างๆเป็นหญิง

หญิงชอบหญิง เรียกว่าเลสเบี้ยน(lesbianism) การแสดงออกมี 2 แบบเช่นเดียวกับเกย์ เรียกว่าทอมและดี้ ดี้แสดงออกเหมือนผู้หญิงทั่วไป แต่ทอมแสดงออก(gender role)ออกเป็นชาย เช่นตัดผมสั้น สวมกางเกงไม่สวมกระโปรง

ในกลุ่มรักร่วมเพศ ยังมีประเภทย่อยอีกประเภทหนึ่ง ที่มีความพึงพอใจทางเพศได้กับทั้งสองเพศ เรียกว่า ไบเซกชวล (bisexualism) มีความรู้สึกทางเพศและการตอบสนองทางเพศได้กับทั้งสองเพศ



สาเหตุ ปัจจุบันมีหลักฐานสนับสนุนว่า สาเหตุมีหลายประการประกอบกัน ทั้งสาเหตุทางร่างกาย พันธุกรรม การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมภายนอก



การช่วยเหลือ พฤติกรรมรักร่วมเพศเมื่อพบในวัยเด็ก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยการแนะนำการเลี้ยงดู ให้พ่อแม่เพศเดียวกันใกล้ชิดมากขึ้น พ่อแม่เพศตรงกันข้ามสนิทสนมน้อยลง เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศที่ถูกเพศ แต่ต้องให้มีความสัมพันธ์ดีๆต่อกัน ส่งเสริมกิจกรรมเหมาะสมกับเพศ เด็กชายให้เล่นกีฬาส่งเสริมความแข็งแรงทางกาย ให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกัน

ถ้ารู้ว่าเป็นรักร่วมเพศตอนวัยรุ่น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ การช่วยเหลือทำได้เพียงให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินชีวิตแบบรักร่วมเพศอย่าง ไร จึงจะเกิดปัญหาน้อยที่สุด และให้คำแนะนำพ่อแม่เพื่อให้ทำใจยอมรับสภาวการณ์นี้ โดยยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกต่อไป

การป้องกัน การเลี้ยงดู เริ่มตั้งแต่เล็ก พ่อแม่ความสัมพันธ์ดี พ่อและแม่เพศเดียวกันกับเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก การคบเพื่อน ส่งเสริมกิจกรรมให้ตรงตามเพศ



2. พฤติกรรมกระตุ้นตนเองทางเพศในเด็ก(การเล่นอวัยวะเพศตนเอง Self-stimulation behavior)

อาการ
กระตุ้นตนเองทางเพศ เช่น นอนคว่ำถูไถอวัยวะเพศกับหมอน หรือพื้น

สาเหตุ

เด็กเหงา ถูกทอดทิ้ง มีโรคทางอารมณ์ เด็กมักค้นพบด้วยความบังเอิญ เมื่อถูกกระตุ้นหรือกระตุ้นตนเองที่อวัยวะเพศแล้วเกิดความรู้สึกเสียว พอใจกับความรู้สึกนั้น เด็กจะทำซ้ำ ในที่สุดติดเป็นนิสัย

การช่วยเหลือ

1. หยุดพฤติกรรมนั้นอย่างสงบ เช่น จับมือเด็กออก ให้เด็กนอนหงาย บอกเด็กสั้นๆว่า “หนูไม่เล่นอย่างนั้น”

2. เบี่ยงเบนความสนใจ ให้เด็กเปลี่ยนท่าทาง ชวนพูดคุย

3. หากิจกรรมทดแทน ให้เด็กได้เคลื่อนไหว เพลิดเพลิน สนุกสนานกับกิจกรรมและสังคม

4. อย่าให้เด็กเหงา ถูกทอดทิ้งหรืออยู่ตามลำพัง เด็กอาจกลับมากระตุ้นตนเองอีก

5. งดเว้นความก้าวร้าวรุนแรง การห้ามด้วยท่าทีน่ากลัวเกินไปอาจทำให้เด็กกลัวฝังใจมีทัศนคติด้านลบต่อ เรื่องเพศ อาจกลายเป็นเก็บกดทางเพศ หรือขาดความสุขทางเพศในวัยผู้ใหญ่



3. พฤติกรรมกระตุ้นตนเองทางเพศในวัยรุ่น หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง (Masturbation)

สาเหตุ พฤติกรรมกระตุ้นตนเองทางเพศในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอันตราย ยอมรับได้ถ้าเหมาะสมไม่มากเกินไปหรือหมกมุ่นมาก พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจ ปัญญาอ่อน เหงา กามวิปริตทางเพศ และสิ่งแวดล้อมมีการกระตุ้นหรือยั่วยุทางเพศมากเกินไป

การช่วยเหลือ ให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง ให้กำหนดการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองให้พอดีไม่มากเกินไป ลดสิ่งกระตุ้นทางเพศที่ไม่เหมาะสม ใช้กิจกรรมเบนความสนใจ เพิ่มการออกกำลังกาย ฝึกให้เด็กมีควบคุมให้พฤติกรรมให้พอควร



4. พฤติกรรมทางเพศที่วิปริต (Paraphilias)12

อาการ

ผู้ป่วยไม่สามารถเกิดอารมณ์เพศได้กับสิ่งกระตุ้นทางเพศปกติ มีความรู้สึกทางเพศได้เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศที่แปลกประหลาดพิสดาร ที่ไม่มีในคนปกติ ทำให้เกิดพฤติกรรมใช้สิ่งผิดธรรมชาติกระตุ้นตนเองทางเพศ มีหลายประเภทแยกตามสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ

ประเภทของ Paraphilia

1. Fetishism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการสัมผัส ลูบคลำ สูดดมเสื้อผ้าชุดชั้นใน

2. Exhibitionism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการโชว์อวัยวะเพศตนเอง

3. Frotteurism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการได้ถูไถ สัมผัสภายนอก

4. Voyeurism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการแอบดู

5. Sadism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด ด้วยการทำร้ายร่างกาย หรือคำพูด

6. Masochism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการทำตนเอง หรือให้ผู้อื่นทำให้ตนเองเจ็บปวด ด้วยการทำร้ายร่างกาย หรือคำพูด

7. Pedophilia เกิดความรู้สึกทางเพศจากกับเด็ก

8. Zoophilia เกิดความรู้สึกทางเพศกับสัตว์

9. Transvestism เกิดความรู้สึกทางเพศจากการแต่งกายผิดเพศ

สาเหตุ

1. การเลี้ยงดู ทัศนคติไม่ดีต่อเรื่องทางเพศ ที่พ่อแม่ปลูกฝังเด็กทำให้เด็กเรียนรู้ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ต้องปิดบัง เลวร้ายหรือเป็นบาป เด็กจะเก็บกดเรื่องเพศ ทำให้ปิดกั้นการตอบสนองทางเพศกับตัวกระตุ้นทางเพศปกติ

2. การเรียนรู้ เมื่อเด็กเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ แต่ไม่สามารถแสดงออกทางเพศได้ตามปกติ เด็กจะแสวงหาหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง ว่าเมื่อใช้ตัวกระตุ้นบางอย่าง ทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศได้ จะเกิดการเรียนรู้แบบเป็นเงื่อนไข และเป็นแรงเสริมให้มีพฤติกรรมกระตุ้นตัวเองทางเพศด้วยสิ่งกระตุ้นนั้นอีก

การช่วยเหลือ

ใช้หลักการช่วยเหลือแบบพฤติกรรมบำบัด ดังนี้

1. การจัดการสิ่งแวดล้อม กำจัดสิ่งกระตุ้นเดิมที่ไม่เหมาะสมให้หมด หากิจกรรมทดแทนเบี่ยงเบนความสนใจ อย่าให้เด็กเหงาอยู่คนเดียวตามลำพัง ปรับเปลี่ยนทัศนคติทางเพศในครอบครัว ให้เห็นว่าเรื่องเพศไม่ใช้เรื่องต้องห้าม สามารถพูดคุย เรียนรู้ได้ พ่อแม่ควรสอนเรื่องเพศกับลูก

2. ฝึกการรู้ตัวเอง และควบคุมตนเองทางเพศ ให้รู้ว่ามีอารมณ์เพศเมื่อใด โดยสิ่งกระตุ้นใด พยายามห้ามใจตนเองที่จะใช้สิ่งกระตุ้นเดิมที่ผิดธรรมชาติ

3. ฝึกการสร้างอารมณ์เพศกับตัวกระตุ้นตามปกติ เช่น รูปโป๊-เปลือย แนะนำการสำเร็จความใคร่ที่ถูกต้อง

4. บันทึก พฤติกรรม เมื่อยังไม่สามารถหยุดพฤติกรรมได้ สังเกตความถี่ห่าง เหตุกระตุ้น การยับยั้งใจตนเอง ให้รางวัลตนเองเมื่อพฤติกรรม ลดลง

การป้องกัน การให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก ด้วยทัศนคติที่ดี



5. เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น

ลักษณะปัญหา

มีพฤติกรรมทางเพศต่อกัน อย่างไม่เหมาะสม มีเพศสัมพันธ์กัน

สาเหตุ

1. เด็กขาดความรักความอบอุ่นใจจากครอบครัว

2. เด็กขาดความรู้สึกมีคุณค่าตนเอง ไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน แสวงหาการยอมรับ หาความสุขและความพึงพอใจจากแฟน เพศสัมพันธ์ และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่างๆ

3. เด็กขาดความรู้และความเข้าใจทางเพศ ความตระหนักต่อปัญหาที่ตามมาหลังการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันตัวของเด็ก ขาดทักษะในการป้องกันตนเองเรื่องเพศ ขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ทางเพศ

4. ความรู้และทัศนคติทางเพศของพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจ ปิดกั้นการเรียนรู้เรื่องเพศ ทำให้เด็กแสวงหาเองจากเพื่อน

5. อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน รับรู้ทัศนคติที่ไม่ควบคุมเรื่องเพศ เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เกิดปัญหาหรือความเสี่ยง

6. มีการกระตุ้นทางเพศ ได้แก่ ตัวอย่างจากพ่อแม่ ภายในครอบครัว เพื่อน สื่อยั่วยุทางเพศต่างๆที่เป็นแบบอย่างไม่ดีทางเพศ



การป้องกัน

การ ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น แบ่งเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

1. การป้องกันระดับต้น ก่อนเกิดปัญหา ได้แก่ ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การเลี้ยงดูโดยครอบครัว สร้างความรักความอบอุ่นในบ้าน สร้างคุณค่าในตัวเอง ให้ความรู้และทัศนคติทางเพศที่ดี มีแบบอย่างที่ดี

2. การป้องกันระดับที่ 2 หาทางป้องกันหรือลดการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว โดยการสร้างความตระหนักในการไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือก่อนการแต่งงาน หาทางเบนความสนใจวัยรุ่นไปสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ ใช้พลังทางเพศที่มีมากไปในด้านที่เหมาะสม

3. การป้องกันระดับที่ 3 ในวัยรุ่นที่หยุดการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ ป้องกันปัญหาที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศ โดยการให้ความรู้ทางเพศ เบี่ยงเบนความสนใจ หากิจกรรมทดแทน



อ่านฉบับเต็มที่นี่ http://www.psyclin.co.th/new_page_76.htm


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 11:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


น้องลองค้น google ด้วยคำว่า "พัฒนาการทางเพศ,วัยรุ่น,เกย์" ดูนะ


น้องน่าจะอยู่ในช่วงพัฒนาการทางเพศ กำลังค้นหาว่าจะเป็นเพศไหน
พี่อยากให้ไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่แล้วพากันไปพบนักจิตวิทยาจะดีกว่านะ
ไม่ต้องอายหรอก
ถ้ามีมีลูกมาบอกว่าสงสัยตัวเองจะเป้นเกย์อยากให้พ่อแม่ช่วย ไม่อยากเป็นเกย์
อันนี้พ่อแม่คงหูผึ่งเลย คงจะกระตือรือร้นที่จะหาทางออกด้วยกัน


ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆที่มีคณะแพทย์ น่าจะมี
หรือโรงพยาบาลด้านจิตเวชแบบเฉพาะทางเลยก็ดี
จะได้แก้ไขอย่างมือาชีพ เพราะเวลาที่ผ่านไปแล้วมันเอาคืนไม่ได้นะ

คล้ายๆฝากท้องน่ะ พอคนท้อง เขาก้ไปให้หมอตรวจ
และหมอก็จะคอยดูแลแนะนำปัจจัยต่างๆที่จำเป็นกับแม่และเด็ก
บางทีหมอก็แนะนไเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังแบบคนท้องทำยังไง คุณสามีต้องมีส่วนร่วมยังไง ฯลฯ


สำหรับกรณีน้อง ก็ทำนองเดียวกัน คือหมอหรือนักจิตวิทยาก็คงจะพูดคุย
ให้คำแนะนำกับทั้งกับพ่อแม่ลูกในการใช้ชีวิตยังไง ว่าควรทำยังไง แม่ควรทำยังไง ลูกเองควรทำยังไง
ควรคบเพื่อนแบบไหนยังไง ไม่ควรทำอะไร ต่างๆนาๆ
เพื่อให้เราได้ผานช่วงวัยนี้ไปได้อย่างราบรื่น มีพัฒนาการที่เหมาะสม

หรือจะไปพบอาจารย์ห้องพยาบาลก็ได้นะ ลองเริ่มต้นจากตรงนั้นก็ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 13:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ก.พ. 2010, 17:04
โพสต์: 47

แนวปฏิบัติ: สวดมนต์
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
อายุ: 20

 ข้อมูลส่วนตัว


อย่าคิดมากน่ะค่ะ^^~

บางที่ๆเพื่อนพูดๆว่าเราเป็นอาจจะเพราะท่าทางของเราที่ดูอ่อนไปคล้ายผู้หญิงหรือน้ำเสียงก็ได้
[เพื่อนเขาก็เป็นเหมือนกันแหละ ท่าทางเหมือนผู้หญิงแต่เป็นชายค่ะ แถมตาก็หวานหยาดเยิ้มเลย เลยชอบโดนเพื่อนล้อ^^~ว่าเป็นเกย์หรือกระเทยบ่อยๆ]


ค่อยๆปรับบุคลิกน่ะค่ะ แล้วก็วิธีการพูด

ถ้าเราไม่เป็นก็คือไม่เป็นน่ะค่ะ

ถ้าเรามั่นใจว่าชีวิตเราชอบผู้หญิงก็คือไม่เป็นกระเทยแน่นอนค่ะ^^~


ไม่เป็นก็คือไม่เป็นค่ะ อยู่ที่ตัวเราจะฟังตัวเราหรือฟังคนรอบข้างที่มาแซวน่ะค่ะ

อย่าหวั่นไหวไปกับคนรอบข้างมากๆน่ะค่ะ


:b4: :b4: :b4: :b4: :b4:


โอะ เพิ่งไปอ่านหน้าแรกใหม่ บอกว่าเป็นไปแล้วหรือเนี้ย^^~

ไม่เป็นไรค่ะ ค่อยๆปรับไปแล้วกัน

แต่จะเป็นแบบไหนไม่สำคัญหรอกค่ะ คนเหมือนกันทั้งนั้น จะรักหรือชอบสิ่งไหน ทุกอย่างก็ล้วนมีข้อดีของมัน^^~ตามใจปราถนาค่ะ

[บังเอิญเรียนสาขาที่กระเทยและเกย์เยอะที่สุดในมหาลัย ทุกคนก็นิสัยดีน่ารักค่ะ^^~ บางคนแม้จะเป็นแบบนี้แต่ก็นำความภาคภูมิใจให้ครอบครัวน่ะค่ะ]

จะเป็นสิ่งใดก็ตามใจเถิดค่ะ แต่จงเป็นคนดีก็เพียงพอ^^~

ถ้าอยากแก้ คงต้องปรับการวางตัวเสียใหม่น่ะค่ะ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็อะไรที่สบายใจก็ทำเถอะค่ะ^^~

.....................................................
เกิดดับ...
[จิ เจ รุ นิ]


จงทำใจให้นิ่ง....แล้วจะได้พบความสงบ เมื่อสงบ ความสุขย่อมจะตามมา....


ราตรีนาน สำหรับคนนอนไม่หลับ
ระยะทางโยชน์หนึ่งไกล สำหรับผู้ล้าแล้ว
สังสารวัฎยาวนาน สำหรับคนพาล
ผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม


คนพาลได้ความรู้มา
เพื่อการทำลายถ่ายเดียว
ความรู้นั้น ทำลายคุณความดีเขาสิ้น
ทำให้มันสมองของเขาตกต่ำไป


คนโง่ รุ้ตัวว่าโง่
ยังมีทางเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่โง่แล้ว อวดฉลาด
นั่นแหละเรียกว่าคนโง่แท้

........What Goes Around... Comes Around........


แก้ไขล่าสุดโดย พลบค่ำ เมื่อ 02 พ.ค. 2010, 13:15, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 21:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 เม.ย. 2010, 11:37
โพสต์: 59

งานอดิเรก: reading
อายุ: 45

 ข้อมูลส่วนตัว


พี่ว่านะค่ะ เป็นอะไรก็ได้ที่เรามีความสุข ถ้าน้องยิ่งขัดแย้งใจตัวเองเราก็ยิ่งทุกข์ สมัยนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะเป็นนะ พี่มีเพื่อนเป็นตั้งหลายคน เค้าก็มีความสุขดี แล้วก็เป็นคนมีอะไรดีๆในตัวตั้งแยะ รักพ่อแม่พี่น้องมาก ทำงานดี น่ารักกับทุกคน พี่ก็ไม่ทราบว่าใครจะว่าไงนะค่ะ สำหรับพี่พี่ว่าไม่มีใครอยากเป็นอย่างนี้หรอก แต่ถ้ามันต้องเป็นก็เป็นอย่างมีความสุขแล้วกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ค. 2010, 19:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ส.ค. 2009, 09:31
โพสต์: 639

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การมีใจผิดเพศเป็นที่วิบากกรรมค่ะแก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือยอมรับชะตาแต่อย่าก่อให้เกิดการกระทำ การกระทำในที่นี้คือการกระทำที่มันผิดทำนองคลองธรรมนั่นแหละค่ะ ปล่อยให้วิบากมันหมดในชาตินี้น่ะค่ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 12:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2010, 21:51
โพสต์: 48

โฮมเพจ: http://pimclick.hi5.com
แนวปฏิบัติ: พุทโธ
ชื่อเล่น: PiM
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สู้ๆๆนะคะ ขอเป้นกำลังใจให้และขอให้ผ่านเรื่องราวนี้ไปได้นะคะ
:b8: :b8:

.....................................................
สุขทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุกใส
ถ้าไม่ถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ความสุขหรือทุกข์นา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร