วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 21:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2010, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัจจุบันธรรม...

รูปภาพ


เอามรรคที่เกิดขึ้นจากกายจากใจ น้อมเข้าหาตน น้อมเข้ามาในกายน้อมเข้ามาในใจ
ให้มันรู้แจ้งเห็นจริงในใจนี่แหละ อย่าไปยึดไปถือเอาที่อื่น
ถ้ารู้ตามแผนที่ปริยัติธรรมไปยึดไปถือเอาสิ่งต่างๆไป
แผนที่ปริยัติธรรมต่างหากต้องน้อมเข้าหากายต้องน้อมเข้าหาใจ
ให้มันแจ้งอยู่ในกายนี้ให้มันแจ้งอยู่ในใจนี่
มันจะหลงมันจะเขวไปอย่างไรก็ตามพยายามดึงเข้ามาจุดนี้
น้อมเข้ามาหากายนี้น้อมเข้ามาหาใจนี้เอาใจนี่แหละนำออก
ถ้าเอามากบางทีมันก็เขวก็ลืมไปน้อมเข้ามาหากาย น้อมเข้ามาหาใจนี้
มีเท่านี้แหละหลักของมัน

ถ้าออกจากกายใจแล้วมันเขวไปแล้วหลงไปแล้ว
น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจแล้วก็ได้หลักใจดี ธรรมก็คือการรักษากายรักษาใจ
น้อมเข้ามาหากายน้อมเข้ามาใจแหละ

ศีล ตั้งอยู่ในกายนี่แหละ
ตั้งอยู่ในวาจานี่แหละและตั้งอยู่ในใจนี่แหละ ให้น้อมเข้ามานี้มันจึงรู้
ตั้งหลักได้ ถ้าส่งออกไปจากนี้มันมักหลงไป

เอาอยู่ในกายในใจนี้
น้อมเข้ามาสู่อันนี้ นำหลงนำลืมออกไปเสีย เอาให้เป็นปัจจุบัน
เอาจิตเอาใจนี่ละวางถอดถอนออก ทางกายก็น้อมเข้ามาให้รู้แจ้งทางกาย
น้อมเข้ามาหาใจของตนนี้ให้มันแจ่มแจ้ง
ถ้าไปยึดถือเอาอย่างอื่นมันเป็นเพียงสัญญาความจำ
น้อมเข้ามารู้แจ้งในใจของตนนี้รู้แจ้งในกายของตจนนี้
นอกจากนี้เป็นอาการของธรรม

ยกขึ้นสู่จิต น้อมเข้ามาหาจิตหาใจนี้
ความโลภ ความหลง ความโกรธ กิเลส ตัณหา
มันก็เกิดขึ้นที่นี่แหละต้องน้อมเข้ามาสู่จุดนี้
ถ้าน้อมเข้าหาจุดอื่นเป็นแผนที่ปริยัติธรรม
รู้กายรู้ใจแจ่งแจ้งแล้วนอกนั้นเป็นแต่อาการ
บางทีไปจับไปยึดสิ่งนั้นสิ่งนี้มันก็ลืมไป

ทำให้มันแจ้งอยู่ในกาย
แจ้งอยู่ในใจ มีสติสัมปชัญญะ สติสัมโพชฌงค์ สัมมาสติ ก็อันเดียวกันนี่แหละ
ให้พิจารณาอยู่อย่างนี้ อาศัยความเพียรความหมั่น

คำว่าสติ
ก็รู้ในปัจจุบัน สัมปชัญญะรู้ในปัจจุบัน รู้ในตนรู้ในใจเรานี้แหละ
รู้ในปัจจุบัน รู้ละความโลภ ความโลภ ความหลง ราคะ กิเลส ตัณหา
เหล่านี้ละออกให้หมด ละออกจากใจ ละอยู่ตรงนี้แหละ
สติถ้าได้กำลังใจแล้วมันก็สว่าง

ตั้งจิตตั้งใจกำหนดเบื้องต้น คือ
การกำหนดจิตหรือกำหนดศีล คือกายก็บริสุทธิ์ วาจาก็บริสุทธิ์ ใจก็บริสุทธิ์
กำหนดนำความผิดออกจากกายจากใจของตน

เมื่อกายวาจาใจบริสุทธิ์ สมาธิก็บังเกิดขึ้น รู้แจ่มแจ้งไปหาจิตหาใจ กายนี้ก็รู้แจ้ง รู้แจ้งในกายในใจของตนนี้

สติ
ปัฏฐานสี่ สติ มีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการ
แต่ทั้งสี่มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กาย แล้วนอกนั้น คือ
เวทนา จิต ธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกัน

อาการ
ทั้ง ๕ คือ อนิจจัง ทั้ง ๕ , ทุกขัง ทั้ง ๕ , อนัตตา ทั้ง ๕
เป็นไม่ยั่งยืน เราเกิดมาอาศัยเขาชั่วอายุหนึ่ง อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง
๕ อนัตตา ทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็สิ้นไปเสื่อมไป
เราอาศัยเขาอยู่เพียงอายุหนึ่งเท่านั้น
เมื่อรูปขันธ์แตกสลายมันก็หมดเรื่องกัน

การประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน
สมมติกันให้ได้ชั้นนั้นบ้างชั้นนี้บ้าง อันนั้นมันเป็นสมมติแต่ธรรม เช่น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่เที่ยงมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
อนิจจังทั้ง ๕ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น รูปํ อนิจัง , เวทนา อนิจจัง ,
สัญญา อนิจจัง, สังขารา อนิจจัง , วิญญาณํ อนิจจัง มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
เรามาอาศัยเขา สัญญาเราก็ไหลไปตาม เวลา ดิน น้ำ ลม ไฟ
สลายจากกันแล้วมันก็ยุติลง

ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เมื่อละสมมติ
วางสมมติได้แล้ว มันก็เย็นต่อไป กลายเป็นวิมุตติความหลุดพ้นไป
เพราะสมมติทั้งหลายวางได้แล้วก็เป็นวิมุตติ

แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ
แล้วมันมักจะหลง ถ้าเราตั้งใจเอาจริงๆ พวกกิเลสมันก็เอาจริงๆ
กับเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความหมั่นความเพียรไม่ท้อถอย
ถ้าละพวกกิเลสตัณหาได้มันก็เย็นสงบสบาย

ถ้าจิตมันปรุงมันแต่งเป็น
อดีต อนาคตไป เราก็ต้องเพ่งพิจารณา เพราะอดีตก็เป็นธรรมเมา อนาคต
ก็เป็นธรรมเมา จิตที่รู้ปัจจุบัน จึงเป็นธรรมโม

อาการทั้ง ๕ คือ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง ให้ยืนอยู่ในปัจจุบันธรรม
อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา ธรรมโมคือเห็นอยู่ รู้อยู่ในปัจจุบัน
ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นอดีตอนาคต ดับทั้งอดีตอนาคต
แล้วเป็นปัจจุบัน คือธรรมโม

ให้จิตรู้อยู่ส่วนกลาง คือ
สิ่งที่ล่วงไปแล้วเป็นอดีต ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ส่วนทั้งสองนั้นให้เพ่งพินิจ คือ เราอยู่ปัจจุบันธรรม มันจึงจะถูก
เพราะปัจจุบันเป็นธรรมโม นอกจากนั้นเป็นธรรมเมา อดีตอนาคต

รู้
ปัจจุบัน ละปัจจุบัน เป็นธรรมโม ถ้าไปยึดถืออดีตอนาคตอยู่
เท่ากับไปเก็บไปถือเอาของปลอม ธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน
ละเฉพาะตน วางเฉพาะตน หมุนเข้าหากายหาใจนี่แหละ
ถ้ามันเอาอดีตอนาคตมันกลายเป็นแผนที่ไป

แผนที่ปริยัติธรรมจำมาได้มาก
ไปยึดไปถืออย่างนั้นบ้างสิ่งนี้บ้าง ทั้งอดีตอนาคต
ยิ่งห่างจากการรู้กายรู้ใจของเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลง
มันเป็นเชื้อของกิเลส มันอยู่ในแผนที่ใบลาน มันไม่เดือดร้อน
ถ้ามันอยู่ในใจมันเดือดร้อน เพราะฉะนั้นถ้ามันเกิดขึ้นในใจ ให้เอาใจละ
เอาใจวาง เอาใจออก เอาใจถอน ปัจจุบันเป็นอย่างนี้

ไม่ใช่จำปริยัติ
ได้มาก พูดได้คล่อง เวลาเอาจริงๆ ไม่รู้จะจับอันไหนเป็นหลัก
ปัจจุบันธรรมต้องรู้แจ้งเห็นแจ้งในกายใจของตน ละวางถอดถอน ในปัจจุบัน
มันจึงใช้ได้

ความโลภ ความโกรธมันเกิดขึ้นในใจ
น้อมเข้ามาแล้วละให้มันหมด ราคะ, กิเลส, ตัณหา, มันเกิดขึ้นมาละมันเสีย
เรื่องของสังขารมันก็ปรุง เกิดขึ้นดับลง เกิดขึ้นดับลง
เอารู้เฉพาะปัจจุบัน อดีตอนาคตวางไปเสีย อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา
ปัจจุบันเป็นธรรมโม ข้อนี้ถือให้มั่นๆ ความปฏิบัติเพ่งความเพียร เร่งเข้าๆ
มันก็ค่อยแจ่มแจ้งไปเอง ถ้าจิตมันเป็นอดีตอนาคต วางเสีย เอาเฉพาะปัจจุบัน
การกระทำสำคัญเวลาทำตั้งใจเข้าๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันมักเกิด
เราต้องพิจารณาค้นเข้าหาใจมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
จิตมักจะเก็บอดีตอนาคตมาไว้ ทำให้แส่ส่ายไปตามอาการ ให้เอาเฉพาะปัจจุบัน
ธรรมโม น้อมเข้ามาให้ได้กำลังทางด้านจิตใจ ละวางอดีตอนาคต
อันเป็นส่วนธรรมเมา เพ่งพินิจเฉพาะ ธรรมโม

รักษากายให้บริสุทธิ์
รักษาวาจาให้บริสุทธิ์ รักษาใจให้บริสุทธิ์ น้อมเข้าหาใจให้รู้แจ้งใจนี้
กายก็ให้รู้แจ้ง เอาให้รู้แจ้งกายใจ จนละได้วางได้ เพ่งจนเป็นร่างกระดูก
ทำได้อย่างนี้ก็พอสมควร เอาให้มันรู้แจ้งเฉพาะกายใจนี้ ไม่ต้องเอามาก
ถ้าเอามากมันมักไปยึดเป็นอดีตอนาคตไปเสีย ข้อนี้สำคัญเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ
เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับตัวสัญญา

ตั้งหลักไว้ อดีตอนาคตเป็นธรรมเมา
ปัจจุบันเป็นธรรมโม ระลึก ดับ ละ วาง ในปัจจุบันจึงเป็นธรรมโม
เมื่อจิตอยู่ในปัจจุบันธรรม อดีตอนาคต ถ้ามันเกิดมันก็ต้องดับลงไป

ต้อง
หมั่นต้องพยายามเข้าหาจุดของจริง อดีตอนาคตปัจจุบัน
สามอย่างนี้แหละเป็นทางเดินของจิต ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ กิเลส
ตัณหา มันก็เกิดขึ้นในใจนี้แหละ มันแสดงออกจากใจนี้ ให้น้อมเข้ามาๆ
ถึงอย่างนั้นกิเลสทั้งหลายมันก็ยังทำลายคุณความดีได้เหมือนกัน

แต่ถ้ามีสติความชั่วเหล่านั้นมันก็ดับไป

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2010, 19:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระประธานพุทธมณฑล (พระศรีศากยะทศพลญาณฯ)

รูปภาพ
พระประธานพุทธมณฑล
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

‘พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ นามของพระประธานประจำพุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.สามพราน จ.นครปฐม มีศัพท์ทางพุทธศาสตร์ 2 คำปรากฏอยู่ในนามนี้ “ศรีศากยะ” มาจากคำว่า ศากย, ศากยะ ความหมาย [สากกะยะ] น. ชื่อวงศ์กษัตริย์วงศ์หนึ่งในเมืองกบิลพัสดุ์ เรียกว่าศากยวงศ์, เรียกกษัตริย์ในวงศ์นี้ว่า ศากยะ. (ส. ศากฺย; ป. สกฺย). สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกากราช ซึ่งเป็นผู้สร้างและครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์วงศ์นี้ ศากยะ เป็นคำสันสกฤต เรียกอย่างบาลีเป็น สักกะบ้าง, ศากยะ หรือสักกะนี้ ใช้เป็นคำเรียกชื่อถิ่นหรือแคว้นของพวกเจ้าศากยะด้วย

“ทศพลญาณ” พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ว่า (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง)

รูปภาพ

1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร)

2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ)

3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง)

4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นอเนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง)

5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน)

รูปภาพ

6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่)

7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย)

8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้)

9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม)

10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)

‘พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ เป็นนามพระราชทาน ประดิษฐานใจกลางพุทธมณฑล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทรงเททองพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2524 ระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูปด้วย

รูปภาพ

พระศรีศากยะทศพลญาณฯ เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกล พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อและปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลาหล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์

โดยประยุกต์พุทธลักษณะมาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้นพระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า

ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ ดาวดึงส์เทวโลก เมื่อออกพรรษามหาปวารณาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “เทโวโรหณสมาคม”

พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธสืบเนื่องมาจวบกาลปัจจุบัน


รูปภาพ

รูปภาพ
ขอขอบคุณ... หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา
ปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2010, 19:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



อุ อา กะ สะ หัวใจเศรษฐี

พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่มนุษยชาติตลอดสี่สิบห้าปี เพื่อมุ่งหมายให้เกิดประโยชน์สูง 3 ประการ คือ

o ประโยชน์สุขสามัญที่สามารถมองเห็นได้ในปัจจุบันที่บุคคลทั่วไปปรารถนามีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง อันประกอบด้วยลาภ ยศ สุข สรรเสริญ

o ประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดีทำให้ชีวิตมีค่าและเป็นหลักประกันในชาติหน้า

o ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน อันได้แก่ สภาพที่ดับกิเลสความโลภ ความโกรธและความหลง อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา

หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ โดยจะต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบ ดังต่อไปนี้

1. อุ ย่อมาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ หนักเอาเบาสู้ในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย กิจการทั้งหลายต้องรู้จักรับผิดชอบ โบราณกล่าวว่า ทรัพย์นี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน ทั่วแคว้นแดนดินมีสิ้นทุกสถาน ผู้ใดเกียจคร้าน บ่พานพบนา ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สินเงินทองมีอยู่ทุกหนแห่ง ขออย่างเดียวอย่าเกียจคร้านให้ลงมือทำงานทุกชนิดอย่างจริงจังตั้งใจ งาน คือ ชีวิต ชีวิต คือ งานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน มิใช่รอความสุขจากความสำเร็จของงานอย่างเดียวขาดทุนและขอให้ถือคติว่า ขี้เกียจเป็นแมลงวัน ขยันเป็นแมลงผึ้ง ขี้หึ้งเป็นแมลงป่อง จองหองเป็นกิ่งก่า

2. อา ย่อมาจากคำว่า อารักขสัมปทา แปลว่า ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาคุ้มครองทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความ ขยันหมั่นเพียร ไม่ให้เงินทองรั่วไหลมีอันตราย ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมิให้เปลืองเงินทองโดยใช่เหตุ ตลอดจนรักษาหน้าที่การงานของตัวเองไม่ให้เสื่อมเสีย ขอให้ยึดหลักการเก็บเล็กผสมน้อยหรือการเก็บหอมรอมริบ ซึ่งล้วนเป็นขบวนการเก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี้คือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างสุขกายสบายใจไม่ต้องอยู่ร้อนนอนทุกข์สนุกอยู่กับคำว่า พอ เงินทองมีเกินใช้ ได้เกินเสียไม่ละเหี่ยจิตใจและขอให้ถือคติว่า ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล จนทั้งนอกทั้งในไม่ได้การ จงคิดอ่านแก้จนเป็นคนพอ

3. กะ ย่อมาจากคำว่า กัลยาณมิตตตา แปลว่า การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว เพราะคบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล คบคนจึงต้องดูหน้าว่าเพื่อนเป็นคนดีที่มีลักษณะไม่เป็นคนปอกลอก ไม่ดีแต่พูด ไม่หัวประจบและไม่เป็นคนชักชวน ไปในทางฉิบหาย มีการดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน มั่วเมาในการเล่นและผีการพนันเข้าสิงจิตใจ และขอให้ถือคติว่า มีเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา เหมือนมีเกลือนิดหน่อยด้อยราคา ดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล

4. สะ ย่อมาจากคำว่า สมชีวิตา แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักกำหนดรายรับและรายจ่าย อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไปให้รู้จักออมเงิน ออมเงินเอาไว้ ฉุกเฉินเมื่อไร จะได้ใช้เงินออม และขอให้ถือคติว่า

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ แม้มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน

ขอขอบคุณ: http://www.gmwebsite.com

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร