วันเวลาปัจจุบัน 01 พ.ย. 2024, 07:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 21:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b47: คนเราหายใจเข้าออกกันจนเคยชิน ไม่หยุดหายใจแม้ขณะเผลอเหม่อหรือหลับไหลไร้สติ ไม่หยุดหายใจแม้ขณะผิดหวังรุนแรงกับโลกภายนอก และไม่หยุดหายใจแม้ขณะกำลังตั้งหน้าตั้งตาแสวงวิธียุติทุกข์ด้วยทางลัดตัดช่องน้อยแต่พอตัว

แม้อาการร้องไห้ใจจะขาด ก็ต้องอาศัยลมหายใจในการช่วยร้อง

คนเราชาชินกับลมหายใจเสียจนลืมว่าตัวเองยังมีลมหายใจ มีลมหายใจแม้ขณะทะยานอยากได้อยากเอาสมบัตินอกกาย มีลมหายใจแม้ขณะยื้อแย่งแข่งขันเอาชัยกับคนอื่น และมีลมหายใจแม้ขณะแห่งวินาทีสุดท้ายที่ยึดมือญาติผู้มาดูใจก่อนลาจากชั่วนิรันดร์

แม้กำลังออกแรงชักเย่อกับมัจจุราช ก็ต้องอาศัยลมหายใจในการออกแรง

เรามีลมหายใจติดตัว มีสิทธิ์หายใจทุกวินาทีนับแต่แรกเกิด และมีความสามารถในการหายใจเข้าออกสั้นยาวไปต่างๆตามปรารถนา แต่กี่คนที่เรียนรู้ว่ามนุษย์อาจเป็นสุขอยู่กับลมหายใจทุกเฮือกของตนเอง กี่คนที่ตระหนักว่าลมหายใจอาจเป็นสมบัติล้ำค่าน่าเชยชมกว่าสมบัติใดๆ กี่คนที่วาสนาดีพอจะมีโอกาสรับฟังความจริงว่าตราบใดยังถือครองลมหายใจมนุษย์ ตราบนั้นเราอาศัยลมหายใจนั้นเองเป็นบันไดขั้นแรก ขั้นกลาง และขั้นท้ายเพื่อส่งให้ก้าวขึ้นคว้าประโยชน์ขั้นสูงที่สุดในโลกได้ภายในเวลา ๗ เดือน!

พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว พระกรัชกายขององค์ท่านจากพวกเราไปแล้ว ทุกวันนี้ไม่มีใครได้โอกาสสดับพระสุรเสียงแห่งองค์ท่านอีกแล้ว

ทว่าความเป็นพระศาสดาท่านยังคงอยู่ ตราบใดที่พระวจนะยังถูกบันทึกสืบทอดไม่ขาดสาย นับแต่ครั้งยังต้องอาศัยการจดจำผ่านวิธีท่องบ่นด้วยปาก มาถึงการจารลงบนใบลาน กระทั่งล่าสุดใช้สื่อเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ในยุคเรา

ส่วนที่ว่ายังมีการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับจะมีใครช่วยกันรับรู้ ถ่ายทอด และน้อมนำพุทธพจน์มาปฏิบัติให้เกิดผลยืนยันมากน้อยเพียงใด การมีพุทธพจน์อยู่ในตำราหรือแผ่นซีดีรอมเป็นเพียงโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ ทว่ายังไม่เกิดการเข้าเฝ้าจริงแต่อย่างใดเลย

ยกตัวอย่างง่ายที่สุด ปัจจุบันชาวพุทธผู้รักดีมักมีความสงสัยกันอย่างแรง ว่าตนสามารถบรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้ไหม เพราะฟังจากคนรอบข้างก็เหมือนจะช่วยยืนยันกันเองตามอัตโนมัติ ว่ามรรคผลล้าสมัยแล้ว ไม่มีใครสำเร็จธรรมได้แล้ว ต้องรอไปถึงพุทธกาลหน้าที่พระศรีอาริย์จะมาตรัสรู้เป็นสัพพัญญูผู้เปิดทางนิพพานแก่สัตว์โลกองค์ต่อไป แถมเมื่อย้อนดูตัว ก็เหมือนตัวจะเต็มไปด้วยโคลนกิเลสเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ทำใจให้เชื่อได้ยากว่าตนหรือคนรอบข้างทั้งหลายจะมีกำลังเพียงพอบุกบั่นเข้าถึงมรรคผลก่อนสิ้นชีวิตเอาจริงๆ

ที่ปล่อยให้ความเชื่อดังกล่าวปลูกฝังลงในใจชาวพุทธค่อนประเทศได้นานเพียงนี้ ก็เพราะเราคุยกันเอง พูดกันเองในระดับสาวก ไม่พากันพร้อมใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่เปิดโอกาสให้ท่านแย้มพระโอษฐ์ยืนยันด้วยองค์ท่านเอง

ขอเชิญเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันเถิด พระดำรัสยังดำรงอยู่ เรายังป่าวประกาศ ยังเป็นกระบอกเสียงแทนพระศาสดาได้ หากถามท่านในวันนี้ ก็เชื่อเถิดว่าท่านจะยังตรัสเช่นเดิมดังปรากฏในตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ…

ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างต่อเนื่อง เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี ภายในเวลา ๗ ปี หรือ ๖ ปี หรือ ๕ ปี หรือ ๔ ปี หรือ ๓ ปี หรือ ๒ ปี หรือ ๑ ปี หรือ ๗ เดือน หรือ ๖ เดือน หรือ ๕ เดือน หรือ ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน หรือ ๒ เดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๗ วัน

สรุปโดยคร่าว ผู้เป็นต้นตำรับวิธีบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ให้การรับรองว่าคนบารมีมากใช้เวลา ๗ วัน บารมีอย่างกลางใช้เวลา ๗ เดือน บารมีอย่างอ่อนใช้เวลา ๗ ปี ไม่ใช่ต้องใช้เวลากันนานทั้งชาติแต่อย่างใด ต่อให้ใครที่หลงนึกว่าตัวเองบุญน้อย กิเลสหนาปัญญาหยาบ ขอเพียงมีกำลังและความตั้งใจจริง เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้ได้ ๗ ปีอย่างน้อยต้องบรรลุมรรคผลแน่นอน

บรรลุมรรคผลแล้วสุขเยี่ยมยอดอย่างไร รสชาติแห่งภาวะลึกซึ้งสูงสุดจะประหลาดมหัศจรรย์ปานไหน ถ้าจินตนาการไม่ถูกก็ยกไว้ก่อน เอาเป็นว่าแค่บรรลุมรรคผลขั้นแรก เป็นโสดาบันบุคคลที่ถูกต้องในพุทธศาสนา ก็เป็นประกันให้อุ่นใจแล้วว่าถ้าชาติภพมีจริงเราย่อมไม่ไหลลงอบายอีก และถ้านิพพานมีจริงวันหนึ่งเราก็เที่ยงที่จะเข้าถึง

แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครกระพือข่าวอันเป็นมหามงคลของโลกดังกล่าว มีแต่เสียงลือดุจข่าวร้ายประจำยุคว่าช้าไปแล้ว ล้าสมัยแล้ว สายเสียแล้ว มรรคผลเป็นเพียงตำนานที่เหล่าสาธุชนผู้มีวาสนาร่วมชาติร่วมแผ่นดินกับพระพุทธโคดมบันทึกไว้ให้คนรุ่นเราชื่นชมเล่น มิใช่ของจริงที่หาได้ในวันนี้วันพรุ่งอีกต่อไป

ณ วันนี้ แม้ยังมีชนกลุ่มน้อยเข้าเฝ้าพระศาสดาผ่านพุทธวจนะ และเกิดศรัทธาปสาทะเชื่อถือเลื่อมใสว่ายังเป็นไปได้จริงในปัจจุบัน กับทั้งฮึกเหิมพอจะลงมือพิสูจน์ให้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ไม่สนเสียงบั่นทอนกำลังใจรอบข้างแล้ว ก็อุตส่าห์เกิดปัญหาตามมาอีกจนได้ นั่นคือคำถามคาใจว่าสติปัฏฐาน ๔ คืออะไร ทำตามลำดับขั้นหนึ่งสองสามกันท่าไหน มีสิ่งใดเป็นเครื่องรับประกันว่าปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง?

เมื่อช้างยืนอยู่ สำหรับคนตาดีย่อมทราบทันทีว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สำหรับคนตาบอดที่มีโอกาสลูบคลำเพียงบางส่วนย่อมเถียงกันไม่หยุด ไม่มีจุดยุติลงเอยว่าช้างเป็นอย่างไรแน่ ใครจับตรงไหนก็นึกว่าช้างเป็นอย่างนั้น นับเป็นเรื่องลำบากที่ควรเห็นใจกันและกัน แต่ขอเพียงเป็นคนตาบอดที่ไม่ปักหลักยืนกับที่ ค่อยๆจับจุดไปจนครบถ้วนก็อาจรู้จักช้างทั้งตัวเท่าเทียมหรือใกล้เคียงคนตาดีได้

อุปมาอุปไมยเช่นเดียวกันกับที่เราพยายามมองเห็นสติปัฏฐาน ๔ ให้เป็นภาพรวมในคราวเดียว ย่อมยากเย็นและดูเหมือนเกินเอื้อมสำหรับคนบอดเช่นเราๆท่านๆ แต่หากเปลี่ยนมุมมอง ลองปรับวิธีมองเสียใหม่ มาแลดูจุดง่ายสุดเหมือนขนมหวานชิ้นเล็กเคี้ยวง่าย คือขั้นตอนแรกสุดที่พระพุทธเจ้าสอนแค่ให้มีสติรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า ทุกอย่างก็คงดูเป็นไปได้มากขึ้น ขยับใกล้ความจริงเข้าไปอีกนิด ขอให้ทราบเถิดว่าลมหายใจเข้าออกที่เกิดขึ้นทุกขณะจิตนี้แหละ คืออุปกรณ์ชิ้นแรก ตราบใดใครยังมีมัน ตราบนั้นทุกคนตั้งหลักปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ได้เสมอ

หนังสือเล่มนี้มีจุดประสงค์ง่ายๆ หนึ่งคือให้ผู้อ่านหันมาสนใจฟังพระพุทธเจ้าตรัส สองคือแสดงให้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นความจริงได้อย่างไร

ผู้เขียนเป็นคนร่วมสมัยกับผู้อ่าน เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงคิดแบบเดียวกัน สงสัยแบบเดียวกัน รวมทั้งอยากปลงใจเชื่อมั่นได้สนิทแบบเดียวกับผู้อ่าน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับฟังคำถามคาใจของชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันราวถอดออกมาจากพิมพ์เดียว คือสงสัยว่าเพื่อปฏิบัติให้ถึงมรรคถึงผลนั้น…

ชาติเดียวทันไหม?

บารมีพอไหม?

ปัญญาไหวไหม?

ถ้าเพียงเปลี่ยนคำเพียงเล็กน้อย โจทย์ของชีวิตจะต่างไป และมีวิธีได้คำตอบสมเหตุสมผลกว่าเดิม เช่นลองถามตัวเองว่า เป็นมนุษย์พอไหม? ก็จะได้คิดถึงศักยภาพของมนุษย์อันเปิดเผย แทนการคิดถึงเรื่องชาติเรื่องบารมีลี้ลับ หากยังลังเลก็อาจเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปเช่น เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนาพอไหม? ก็จะได้คิดถึงหลักฐานเป็นตัวบุคคลธรรมดาที่เคยยืนยันการบรรลุธรรมให้พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน แทนการทึกทักว่าปัญญาข้านี้คงไม่เพียงพอเป็นแน่

หากยังไม่ปลงใจสนิทก็อาจเพิ่มปัจจัยให้เห็นเค้าเงาคำตอบชัดเจนถึงที่สุด คือ…

เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ มีใจอุทิศตัว จะสำเร็จไหม?

เริ่มตั้งคำถามกันอย่างนี้ หนทางจะได้ดูสว่างไสวขึ้น และคำตอบจะไม่ลอยมาตามลมหรือไม่ผุดขึ้นจากความคาดเดาคะเนเองใดๆ เพราะพระพุทธองค์ผู้รู้แจ้งแทงตลอดเยี่ยงสัพพัญญูเจ้าทั้งหลายรับรองไว้หนักแน่น ว่าถ้าทำจริง ต่อให้บารมีน้อยเท่าน้อยก็ต้องถึงที่สุดได้ใน ๗ ปี

ทุกอักษรในหนังสือเล่มนี้ยืนอยู่บนฐานเดียวกับวิธีตั้งคำถามหามรรคผลดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จะได้แสดงตามลำดับตั้งแต่เดือนแรกไปจนถึงเดือนที่เจ็ด ว่าเกิดประสบการณ์ทางใจกันอย่างไร จากภาวะแบบคนธรรมดาสามัญไปจนกระทั่งปรากฏการณ์แห่งมรรคผลอุบัติขึ้น

เพื่อป้องกันข้อกังขาต่างๆนานา ผู้เขียนขอทำความเข้าใจไว้ ๓ ประการ คือ…

ประการแรก ชื่อหนังสือไม่ได้เป็นคำรับรองว่าผู้เขียนบรรลุธรรม แต่เป็นการแสดงว่าพระพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้เช่นนี้ จะได้เป็นการยุให้ผู้ยังลังเลสงสัยเกิดบันดาลพลังใจเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นพิสูจน์ความจริงภายในขอบเขตเวลาที่แม้ไม่เร็วทันใจ แต่ก็ไม่ช้าเกินรอ

ประการที่สอง คำว่า ฉัน ตลอดหนังสือเล่มนี้มิได้หมายถึงตัวผู้เขียน แต่เป็นการคัดเอาประสบการณ์จริงตามสถิติที่มักเกิดขึ้นกับผู้ภาวนา ทั้งตัวผู้เขียนเอง ทั้งเพื่อนนักปฏิบัติธรรม ตลอดไปจนกระทั่งครูบาอาจารย์ในอดีตก่อนพุทธปรินิพพานมาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคอินเตอร์เน็ต แล้วผูกรวมเป็นเสมือนบุคคลคนเดียว โดยหวังว่าผู้อ่านอ่านแล้วจะรู้สึกโดนตัว โดนใจ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ประการที่สาม ปรากฏการณ์ขณะจิตของการบรรลุมรรคผลนั้น ผู้เขียนนำมาจากการสาธยายธรรมในพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาจารย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าท่านถึงธรรมจริง แม้การสาธยายลักษณะนิพพานที่จิตเข้าไปรู้ ก็มีหลักฐานเป็นพุทธพจน์ หาใช่สิ่งที่ผู้เขียนคิดประดิษฐ์ขึ้นจากความคิดหรือจินตนาการแต่อย่างใด

สรุปแล้วสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือการเห็นภาพสมมุติของบุคคลธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่เพียรปฏิบัติธรรมตลอดเจ็ดเดือน อันพอทำให้ยอมลงใจเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง มรรคผลนิพพานมีจริง และพระพุทธเจ้าตรัสว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเดียวที่จะพาไปถึงมรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งที่ยืนยงคงกระพัน เป็นสัจจะไม่จำกัดกาล หมายถึงยังปฏิบัติกันได้ในปัจจุบัน หรือถ้าร้อยปีพันปีข้างหน้าสติปัฏฐาน ๔ ยังคงบันทึกสืบทอดกันอยู่ ผู้คนในยุคนั้นก็จะสามารถปฏิบัติเพื่อถึงมรรคผลนิพพานกันได้ ไม่ล้าสมัยแต่อย่างใดเลย

ขอกล่าวถึงที่มาที่ไป หรือเบื้องหลังของหนังสือเล่มนี้อีกสักเล็กน้อย เดิมทีด้วยความปรารถนาจะให้คนร่วมสมัยได้เกิดความศรัทธาพระพุทธองค์นั้น ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจจะเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ให้อ่านเข้าใจง่ายด้วยภาษาร่วมสมัย โดยยกพระพุทธพจน์ขึ้นตั้ง แล้วแจกแจงตามลำดับว่าในฐานะผู้ปฏิบัติตามนั้น เมื่อทำเป็นขั้นๆแล้วเกิดผลอย่างไร หากติดขัดอุปสรรคอันใดแล้วจะผ่านไปได้ด้วยวิธีไหน

หนังสือดังกล่าวคือ มหาสติปัฏฐานสูตร มีอยู่ทั้งหมด ๒ เล่ม เล่มแรกเขียนเสร็จแล้ว ส่วนเล่มจบยังอยู่ในระหว่างทางอันขรุขระ อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากผู้ศึกษาหนังสือเล่มแรกก็ทำให้ผู้เขียนเห็นตามจริงว่าเนื้อหายังหนักเกินไปสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีความสนใจการภาวนา พอเห็นศัพท์แสงธรรมะที่ไม่เคยคุ้นแล้วถอดใจ ไม่มีความอุตสาหะพอจะอ่านและทำความเข้าใจให้ทั่วถึงตลอด

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ทำให้พอมองเห็นล่วงหน้าว่าเล่มจบคงไม่เป็นมิตรกับมือใหม่ยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากผู้เขียนตระเตรียมเนื้อหาทั้งข้อใหญ่ข้อย่อยไว้ละเอียดยิบ คนที่จะอ่านสนุกได้คงต้องมีพื้นฐานภาคทฤษฎีและปฏิบัติมากแล้ว

ผู้เขียนจึงตัดสินใจชะลอการออกหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรเล่มจบไว้ชั่วคราว แล้วคั่นกลางด้วยหนังสืออ่านง่ายสบายตาทั้งสำหรับมือใหม่และมือเก่า ใช้ภาษาเชิงพรรณนาให้เห็นภาพมากขึ้น รวมทั้งอ้างอิงพุทธพจน์เฉพาะจุดที่จำเป็น รวมแล้วเนื้อหาก็คือการผนวกเอามหาสติปัฏฐานสูตรเล่มแรกกับเล่มจบไว้อย่างย่นย่อกะทัดรัดนั่นเอง เชื่อว่าถ้าทำความเข้าใจกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จบ ก็จะสามารถย้อนกลับไปอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยความเข้าอกเข้าใจชัดเจนขึ้น

ผู้เขียนเข้าใจดี ว่าหนังสือธรรมปฏิบัติที่อ่านง่ายที่สุดต้องใช้ประโยคและถ้อยคำบอกเล่าอันเป็นประสบการณ์สามัญล้วนๆ แต่ความจริงคือถ้าไม่มีศัพท์บัญญัติให้เรียกขานบ้างเลย ความทรงจำของคนเราจะพร่าเลือนจับต้องยาก เพราะฉะนั้นศัพท์ธรรมะจึงต้องปรากฏในหนังสือเล่มนี้ประปราย แต่เมื่อปรากฏในที่ใดเป็นครั้งแรก ก็จะพยายามอธิบายความหมายไว้ให้ง่ายที่สุด ขอให้ผู้อ่านยอมสละเวลาทำความเข้าใจบ้าง เพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อไป

อาการน้อมปักใจเชื่อเป็นมโนกรรมชนิดหนึ่ง และกรรมในชาตินี้จะพยายามรักษาเราไว้ในเส้นทางเดิมในชาติถัดๆไป กล่าวคือเมื่อเกิดใหม่ย่อมมีแนวโน้มจะเชื่อเช่นเดิม หากชาตินี้ปักใจเชื่อไปจนตายว่าเราไม่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผล ชาติหน้าแม้พบพระพุทธเจ้าก็คงมีกำลังใจอ่อน อาจทำบุญอธิษฐานขอไปบรรลุมรรคผลในพุทธกาลต่อๆไปอยู่ดี

แต่หากเป็นตรงกันข้าม ปักใจกับตนเองว่าจะเชื่อเรื่องบรรลุมรรคผลได้จริงด้วยการเพียรเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าไม่นานต้องสำเร็จผลดังพุทธพยากรณ์ เช่นนี้อย่างไรก็ไม่ขาดทุน ด้วยความสุขอันเกิดแต่สติในปัจจุบัน และแม้พลาดมรรคผลในชาตินี้เข้าจริงๆเพราะถึงอายุขัยเสียก่อน ชาติต่อไปก็ต้องมีนิสัยทางความคิดแบบเดิม บำเพ็ญเพียรหนักแน่นเข้าอีก แล้วในที่สุดย่อมแก่กล้ากระทั่งเข้ากระแสจนได้

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นพรในตัวเอง และเที่ยงที่จะให้ผลเป็นการบรรลุธรรมตามคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่อวยพรง่ายๆเพียงขอให้ทุกท่านบรรลุมรรคผล แต่ขอให้ลองทำตามพุทธพจน์จริงจังสักปีหนึ่งเถิด จะทราบเองโดยไม่ต้องฟังคนโน้นทีคนนี้ที ว่าเกิดเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ มีใจอุทิศตัว จะสำเร็จประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่

ขอให้อานิสงส์จากการเขียนจงได้แก่ผู้ที่มีโอกาสอ่านทุกท่านเทอญ.

ดังตฤณ

ตุลาคม ๒๕๔๖

อ่านหนังสือทั้งเล่มที่นี่ http://dungtrin.com/7months/

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แก้ไขล่าสุดโดย Bwitch เมื่อ 20 ธ.ค. 2009, 14:41, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 21:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ


:b8: ขออนุโมทนาสาธุค่ะ คุณนันทชัย (จากโคราช) ที่มีเมตตาจิตส่งซีดีเสียงอ่านไปให้ถึงมือวันนี้
ด้วยอานิสงส์ของธรรมทานนี้ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปค่ะ :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 22:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ก่อนเหยียบบันไดขั้นแรก
คนธรรมดา


ฉันเป็นคนขี้เหงาอย่างร้ายกาจ แล้วฉันก็เป็นคนคิดมากจนเครียดหนักบ่อยๆ จนบางวันฉันก็นั่งแช่นอนแช่อยู่ในท่าเดิมได้เป็นชั่วโมง เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร แล้วก็ไม่อยากเจอหน้าใคร ในอารมณ์นั้นฉันเคยคิดหาคำตอบอยู่เหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไม และทำไมต้องทนเซ็งมีชีวิตตั้งนานหลายๆสิบปี เพียงเพื่อวันหนึ่งจะต้องเป็นบุคคลสาบสูญไปจากโลกนี้ชั่วนิรันดร์

แต่ฉันก็มีสายตาให้กับลวดลายสีสันที่น่ามองบนโลกไม่ต่างจากคนอื่น ห้วงเวลาที่ได้สัมผัสกับเรื่องที่ตัวเองพอใจแรงๆ ฉันก็กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่หมดเหงา เครียดไม่เป็น เอาแต่หัวเราะสนุก รวมทั้งเหลือคำถามเดียวในหัว คือทำอย่างไรจะอยู่เสพสุขให้สะใจในโลกนี้ได้นานๆ

เคยนึกว่าถ้าแอบถ่ายรูปคนธรรมดาคนหนึ่งอย่างฉันไว้ทุกอาทิตย์ เก็บๆไว้สัก ๕๒ ใบให้ครบปีแล้วเอามารวมๆดู ฉันว่าน่าจะเห็นอะไรดีๆที่ทำให้ได้ข้อคิดมากมาย เพราะสิ่งที่รูปทั้ง ๕๒ ใบจะแสดงร่วมกันแน่นอนคือความแตกต่าง ความไม่คงเส้นคงวา รูปหนึ่งอาจกำลังยิ้มแฉ่ง อีกรูปอาจกำลังคร่ำเครียด ขณะที่รูปส่วนใหญ่อาจกำลังเหม่อตาลอยอย่างเห็นได้ชัด ไม่รู้ว่ากำลังสุขหรือทุกข์เพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่งกันแน่

หากนำรูป ๕๒ ใบมาเรียงกันแล้วแปรแต่ละรูปให้เป็นจุดแสดงระดับความสุขความทุกข์ ฉันก็เชื่อว่าเส้นกราฟคงกระโดดขึ้นกระโดดลงน่าดู กับทั้งทำให้มองเห็น ธรรมดา ของคนธรรมดาว่าของมันต้องเป็นอย่างนี้แหละ ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น บางทีมาก บางทีน้อย หาชีวิตใครเป็นเส้นตรงราบเรียบเท่าไม้บรรทัดไม่ได้หรอก

แต่ก็น่าฉงนที่คนปกติทั่วไป รวมทั้งฉันด้วย จะมองไม่เห็นธรรมดาที่ว่านี้ มนุษย์ทั้งเผ่าพันธุ์พากันคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคืออธิษฐานขอให้เส้นกราฟพุ่งขึ้นมาสูงถึงจุดหนึ่ง แล้วแล่นเรียบเป็นเส้นตรงคงที่อยู่อย่างนั้น อย่าได้พลัดตกหล่นร่วงลงเลย เจ้าประคุณเอ๋ย

วันเดือนปีล่วงไป ฉันใช้ชีวิตของคนธรรมดาโดยไม่เคยสำรวจว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้ม รู้แต่ว่าขอให้วันหนึ่งๆผ่านไปเท่าที่พอใจเป็นใช้ได้ จะเอาอะไรมากกว่าใจที่พอกันเล่า

มีต่อ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 22:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องสะดุดใจ

ทุกคนจะมีอายุอยู่ในโลกกี่ปีก็ตาม ต้องมีสักวัน หรืออย่างน้อยสักนาที ที่สะดุดคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาจากคำพูดของคนอื่น คนอื่นที่ว่านี้อาจเป็นคุณครูสมัยอนุบาลที่สอนให้เราท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ อาจเป็นคนรักที่อยู่ในอารมณ์อยากทะเลาะและขุดคุ้ยกันให้ละเอียดลออ อาจเป็นปราชญ์ระดับโลกคนโปรดที่คำคมถูกคัดลอกซ้ำแล้วซ้ำอีก หรืออาจเป็นเพื่อนบ้านใกล้ตัวที่เรารู้จักแต่ไม่เคยคุยกันลึกซึ้งนี่เองก็ได้

ความสะดุดใจเพียงครั้งเดียวในชีวิตอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดร์ของคนธรรมดาสักคน โลกนี้มีคนที่พูดแล้วทำให้เราตาสว่างวาบปุบปับอยู่มาก แต่เราไม่ค่อยเจอบ่อยนัก อาจเป็นเพราะพอดีจังหวะกับที่หูตาเราปิด หรืออาจเป็นเพราะเสียงของเขาเบาเกินกว่าจะแพร่มาทางอากาศหรือกระดาษหนังสือ

หากเปรียบโลกนี้เป็นห้องดนตรี ส่วนใหญ่ห้องดนตรีแห่งนี้จะเงียบหรือเกลื่อนเสียงรบกวน หรือมักมีเพลงพื้นๆดาษๆที่ฟังเบื่อหู นานครั้งถึงจะกระหึ่มเพลงเด่นที่เล่นอย่างมีพลังประหลาด ปลุกประสาทเราให้หูตาตื่นตะลึงได้ และวันที่เพลงเด่นจะดังขึ้นก็อาจเป็นวันแสนธรรมดาของคนธรรมดาผู้ไม่คาดหวังว่าจะฟังอะไรเป็นพิเศษ

ฉันมีเพื่อนบ้านเป็นครอบครัวเล็กๆ ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกชายวัย ๕ ขวบ กับคุณตาอีกคน และเนื่องจากรั้วบ้านเป็นแบบโปร่ง ไม่ใช่อิฐปูนสูงหนาบังตา ครอบครัวฉันกับครอบครัวนั้นจึงมักยิ้มให้กันประจำ แม้ไม่สนิทถึงขั้นแจกซองกฐินให้แก่กันและกันตามโอกาส ก็มีไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบบ้างประสาคนคุ้นหน้า

เย็นวันหนึ่ง ขณะฉันนอนฟังเพลงอยู่ในห้องนอน ก็ได้ยินตัวน้อยประจำครอบครัวแหกปากลั่นบ้านว่าแม่คร้าบ! คุณตาตายแล้ว! คุณแม่คงเพิ่งกลับมาถึงบ้านอย่างนึกว่าจะเป็นอีกวันที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ ไม่คาดหมายว่าจะเจอลูกชายตะเบ็งเสียงบอกเช่นนั้น ท่าทางภูมิใจทีเดียวล่ะว่าเป็นคนแจ้งข่าวน่าตื่นเต้นให้ผู้ใหญ่รับรู้ก่อนใคร ฉันลุกมาชะโงกมองทางหน้าต่าง เห็นคุณแม่เข่าอ่อนแทบล้มทั้งยืนกับเสียงคึกคะนองของเจ้าทะโมนน้อย

มันเป็นภาพที่ชวนคิดไม่ใช่เล่น ระหว่างเด็กไร้เดียงสารับรู้การตาย กับผู้ใหญ่ที่รู้คิดรับรู้เรื่องเดียวกัน ทำไมลูกชายเห็นเป็นเรื่องสนุกไปได้ ขณะที่คุณแม่ถึงกับยืนตกตะลึงจังงังด้วยความตระหนักว่าได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับมาพบหน้ากันอีก ส่วนฉันยืนอยู่ในห้องเพียงแค่คิดว่าต้องไปงานศพอีกแล้วสิเรา น่าเบื่อซะจริง!

เย็นอีกวันหนึ่งฉันยืนรดน้ำต้นไม้ริมรั้ว หูก็ได้ยินเสียงพ่อลูกข้างบ้านคุยกันบนเสื่อกลางสนาม คุณพ่อคงร้อนเลยชวนลูกเมียมานั่งปอกผลไม้กินใต้ร่มไม้ประสาครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้า ฉันได้ยินลูกชายตัวจ้อยถามคุณพ่อของแกว่า

“พ่อครับ ทำไมคุณตาถึงต้องตายด้วยล่ะครับ?”

ฉันยิ้มเล็กน้อย คนเพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่ถึง ๕ ปีนั้น แม้เห็นและได้ยินทุกสิ่ง ก็คงไม่ต่างจากคนโตๆดูทีวี รู้แต่ว่ามีตัวละครกระโดดโลดเต้นหรือล้มลุกคลุกคลานให้ดู ยังไร้อารมณ์ร่วมกับตัวละครเหล่านั้น เว้นแต่จะมีส่วนได้ส่วนเสียมาถึงเนื้อถึงตัวของตนโดยตรง นั่นแหละจึงค่อยแหกปากโวยวายขึ้นดังๆ

ความที่เพิ่งเกิด จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ห่างจากความตาย กลิ่นอายความตายยังเป็นของแปลกใหม่และไกลตัว ข้อสงสัยเกี่ยวกับความตายจึงมักตกเป็นภาระของพ่อแม่ที่จะให้คำตอบพอฟังง่ายแก่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตน

“เป็นธรรมดาของพวกเราทุกคนน่ะลูก ถึงเวลาตายก็ต้องตาย”

เป็นคำตอบง่ายๆ แต่ด้วยสำเนียงการุณย์แห่งผู้เป็นบิดา

“อ๊อดก็ต้องตายเหรอครับ?”

“ต้องตายเหมือนกัน แต่อ๊อดยังเด็กอยู่ กว่าจะแก่และถึงเวลาตายเท่าคุณตายังอีกนาน”

ฉันพยายามจินตนาการคำว่า นาน ในหัวเด็กวัย ๕ ขวบ แล้วก็คิดว่าสมองน้องอ๊อดคงว่างเปล่าสิ้นดี อย่างมากอาจนึกเทียบเคียงกับเวลารอพ่อแม่กลับบ้านก็ได้

“แล้วเมื่อไหร่คุณตาจะตื่น เห็นนอนอยู่ในโลงตั้งหลายวันแล้ว?”

“ถ้าตายก็ไม่ตื่นแล้วล่ะลูก ต้องอยู่ในโลงอย่างนั้นตลอดไป”

ฉันอดลอบมองลอดพุ่มไม้ใบไม้สอดตาดูไม่ได้ สมดังที่นึกคาดเดาล่วงหน้า คือเห็นคุณแม่น้องอ๊อดทำตาแดงๆปอกผลไม้อยู่ในชุดดำ ส่วนสามีของเธออธิบายมรณศาสตร์ให้ลูกชายฟังด้วยสีหน้าเป็นปกติ และสำหรับลูกชายก็แน่นอนว่าไม่มีอะไรอื่นใดนอกจากความสงสัยเปื้อนเปรอะไปทั้งหน้า

อ้อ! เกือบลืมย้อนดูตัวเอง! สำหรับฉันแค่อยากรู้อยากเห็นว่าใครจะทำหน้าแบบไหนบ้างเท่านั้นแหละ เพราะคุณตาของน้องอ๊อดในความทรงจำของฉันก็แค่คนแก่ข้างบ้านซึ่งแทบไม่เคยคุยกับฉันเลยตลอดสามปีที่ผ่านมา ฉันไม่คิดว่าแกจะมองเห็นว่าหน้าตาฉันเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ

“ตกลงต้องตายทุกคนเลยหรือครับ?”

“ใช่ลูก เป็นอย่างนั้น คนทุกคนที่ลูกเห็นจะต้องตายกันหมด”

ฉันหลบวูบ ทั้งที่แน่ใจว่าน้องอ๊อดคงไม่ได้มองมา แต่ยังไม่อยากเป็นหนึ่งในคนที่น้องอ๊อดเห็นสักเท่าไหร่

“พ่อครับ ทำไมทุกคนต้องตายด้วยล่ะครับ?”

คุณพ่อเงียบไปครู่ คงเพราะกำลังอยากกินชมพู่มากกว่าตอบคำถามไม่รู้จบของเด็กน้อย ฉันชำเลืองเห็นคุณพ่อของเด็กชายเคี้ยวชมพู่อย่างสบายอารมณ์ ใจนึกเร่งให้ตอบเร็วๆด้วยความอยากรู้วาทะเด็ดของคุณพ่อที่มีต่อคำถามโลกแตกพรรค์นี้ เด็กทุกคนย่อมทึกทักว่าพ่อแม่ให้คำตอบได้หมด โตขึ้นเขาคงเรียนรู้เองว่าไม่ใช่เช่นนั้น และคำถามหนึ่งๆก็มีคำตอบอยู่มากมายหลายหลากจากผู้คนร้อยพ่อพันแม่

ฉันแค่อยากได้ยินว่าคำตอบแรกที่น้องอ๊อดจะได้ยินคืออะไร!

“อ๊อดเพิ่งเห็นคนตายน่ะลูก ความตายเลยเป็นของแปลกใหม่ ต่อไปอ๊อดจะเห็นคนตายมากขึ้น แล้วลูกจะรู้ว่าเป็นของธรรมดา อ๊อดดูเศษใบไม้แห้งบนพื้นนั่นสิ เห็นไหม ตอนนี้มันเป็นสีเหลือง แต่ก่อนมันเป็นสีเขียวเหมือนที่อยู่บนต้นนะ พอถึงเวลามันก็ต้องทิ้งตัวเองลงจากกิ่งก้านมารวมกันบนพื้น เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน วันนี้ดูสดใสมีชีวิตชีวา แต่วันหนึ่งก็ต้องแห้งลง แล้วหายไปจากโลกนี้เช่นเดียวกับใบไม้ตกพื้น”

เด็กชายอ๊อดฟังแล้วงงเต็ก จึงถามซ้ำคำเดิม

“คนเหมือนใบไม้ได้ไง แล้วทำไมคนต้องตายด้วยล่ะ?”

คุณพ่อถอนใจยาว

“เพราะเหมือนใบไม้ไงลูก วันหนึ่งก็ต้องร่วงหล่นลงดินและกลายเป็นพวกเดียวกับดิน ไม่มีใครกำหนดหรอกว่าทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีสภาพที่ต้องเสื่อมสลายกลายเป็นอื่นไปทั้งนั้น”

“คุณตารู้ตัวไหมว่าจะตาย?”

“รู้ซี คุณตารู้ล่วงหน้านานทีเดียว เตรียมตัวยกสมบัติให้แม่ของอ๊อดตั้งแต่อ๊อดยังไม่เกิดแน่ะ”

“รู้ก่อนตายแล้วทำไมคุณตาไม่หนีล่ะ?”

“จะไปหนียังไงลูกเอ๋ย ถ้าโจรมาไล่ฆ่าเรา เราอาจใช้สองเท้าวิ่งหนีได้ แต่ถ้าร่างกายจะฆ่าตัวเอง แม้แต่เท้าก็ยกไปไหนไม่ไหวแล้ว”

"ถ้าคนเราต้องตาย แล้วจะเกิดมาทำไมล่ะครับ?"

"เพราะยังติดค้างอยู่กับความไม่รู้ไงลูก คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เหมือนอย่างที่ลูกอ๊อดถามพ่อเพื่อให้รู้คำตอบอยู่นี่ไง แต่ถ้ายังติดค้าง ยังไม่รู้แจ้ง ก็ต้องเกิดใหม่มาถามใหม่อีก"

คล้ายสายฟ้าฟาดเปรี้ยง ฉันไม่เคยเจอคำอะไรที่สะเทือนเลื่อนลั่นเข้ามาถึงจิตวิญญาณขนาดนั้นมาก่อน อาจเพราะครั้งหนึ่งเคยอยากรู้อย่างรุนแรงว่าทำไมต้องเกิดมา พอมาเจอคำตอบสะดุดหูและเหมือนมีบางสิ่งสะกิดบอกว่านั่นเป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งลวง ไม่ใช่คำตอบแบบขอไปที

คนเราเกิดมาเพราะยังติดค้างอยู่กับความไม่รู้…

ถ้อยคำที่คุณพ่อพูดจะทำให้ลูกชายกระจ่างขึ้นหรือยิ่งงุนงงสงสัยหนักกว่าเก่าอย่างไรฉันไม่อาจทราบได้ แต่สำหรับฉัน บอกได้คำเดียวว่าทุกคำตามมาก้องกังวานในหัวไม่หาย

มีต่อ :b54:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 22:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


สิ่งที่ต้องรู้ให้ได้ก่อนตาย

ตั้งแต่วันที่คิดเรื่องเกิดมาทำไมอย่างจริงจัง ใจฉันก็พลอยกลัวตายไปพร้อมกับความไม่รู้ หลงตายเท่ากับที่หลงเกิด กลัวว่าจะต้องเป็นเด็กวัย ๕ ขวบ ๑๐ ขวบ ๒๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีอีกและอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า พกพาเอาความไม่รู้ไปเกิดใหม่ ตายใหม่อย่างไร้ที่สิ้นสุด

คนทั่วไปกลัวตายเพราะเกรงจะไม่มีตัวตนที่หวงแหน แต่บัดนี้ฉันกลัวตายเพราะเกรงจะเสียโอกาสเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเอง ฉันเกิดความอยากรู้ขึ้นมาจริงๆจังๆว่าชีวิตนี้ควรใช้ให้คุ้มที่สุดด้วยการเรียนรู้อะไร แน่ล่ะที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งไม่สามารถสอดตาเห็นได้หมดว่ามีความรู้อะไรให้เลือกบ้าง แต่ละคนอาจมีสิ่งที่ทำให้ คิดไปเอง ว่าดีที่สุดวางไว้ตรงหน้าอยู่แล้ว อาจจะตั้งแต่เกิด หรืออาจจะเข้ามาพอดีจังหวะในขณะแสวงหา

สำหรับคนไทยที่เกิดมาอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ทั่วไป พระพุทธศาสนาดูเหมือนจะเป็นคำตอบแรก หรือไม่ก็เป็นคำตอบสุดท้าย เพราะความเป็นพุทธศาสนานั้นยิ่งใหญ่และอยู่ในความยอมรับมาช้านาน เห็นได้จากจำนวนวัดกว่าสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการมีวันหยุดราชการเป็นวันสำคัญทางศาสนาปีละไม่น้อย แถมคำพูดกับความนึกคิดของชาวไทยก็มีศัพท์ทางพุทธเจืออยู่มาก เช่นอุทานว่า อนิจจา หรือ พุทโธ่ ส่วนตอนแสดงความขอบคุณคนให้ความกรุณาโดยเปรียบว่า เหมือนพระมาโปรด แม้แต่นำคำสูงมาใช้ในเชิงลบเช่น ใครจะไปตรัสรู้ล่ะ? ก็ยังเอา ดังนั้นสำนึกความเป็นพุทธจึงแทรกซึมอยู่ในใจคนไทยมาแต่อ้อนแต่ออกโดยไม่จำเป็นต้องรู้ตัว เมื่อชีวิตเกิดปัญหาหรือใจมีคำถามโลกแตกแก้ไม่ตก ก็ย่อมต้องเล็งไปที่คำตอบของพุทธศาสนาก่อนเพื่อนเป็นธรรมดา เช่นถ้าเคราะห์ร้ายก็มักนึกถึงการทำสังฆทานอุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวร เป็นต้น

ฉันเฝ้าแต่เก็บงำความสนใจและสงสัยใคร่รู้คำตอบว่าชีวิตเราควรรู้อะไรมากที่สุดไว้ในใจ มาดหมายว่าคุณพ่อน้องอ๊อดจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ในวันหนึ่ง เพราะสิ่งที่แกตอบลูกนั้น แสดงวิสัยของผู้มีความรู้เชิงพุทธอย่างลึกซึ้งในตัวเอง

แล้วโอกาสก็มาถึง ในงานวันเผาคุณตาน้องอ๊อด บรรยากาศในวัดทำให้ฉันไม่รู้สึกกระดากนักกับการกระแซะเข้าไปถาม โดยเกริ่นตามตรงว่าฉันเคยได้ยินแกตอบคำถามลูกเสมอ และบางคำตอบน่าสนใจมาก เช่นคนเราเกิดมาเพราะติดค้างอยู่กับความไม่รู้ เลยต้องมาเรียนรู้ ทีนี้ฉันอยากรู้ว่าที่ไม่รู้นั้นคืออะไร แล้วที่ควรรู้นั้นคืออะไร

คุณพ่อลูกหนึ่งตอบอย่างไม่ลังเลว่า

"มนุษย์ทุกคนไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองครับ"

ฉันขมวดคิ้วย่น นึกเงียบๆว่าคำตอบของแกมีพลังทำให้ย้อนเข้ามารู้สึกในตัวเองดี อย่างน้อยฉันก็ถามตัวเองขึ้นมาสองสามข้อในฉับพลันว่ามีความจริงใดเกี่ยวกับตัวเองที่ยังไม่รู้บ้าง ก็พบว่ามีอยู่มากเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นกลไกการทำงานในร่างกายมนุษย์อันสลับซับซ้อนที่แม้แต่แพทย์ยุคปัจจุบันก็รู้ไม่ทั่วถึง หรืออย่างเช่นวันตายจะมาถึงเมื่อไหร่ เหล่านี้เป็นตัวอย่างความจริงเกี่ยวกับตนเองที่กำลังปรากฏอยู่ หรือกำลังจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าไม่อยู่ในสำนึกรับรู้ของฉันแม้แต่น้อย

ฉันถามว่าถ้ารู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองแล้วจะได้อะไร? คุณพ่อน้องอ๊อดตอบด้วยความมั่นใจว่า

“ได้รู้ด้วยตนเองว่าหมดความติดค้าง เหมือนคนที่ชำระหนี้หมดไม่จำเป็นต้องหาเงินมาจ่ายเพิ่ม หรือเหมือนคนที่ทำงานใช้โทษในบ่อน้ำครำจบสิ้นแล้วไม่จำเป็นต้องกลับลงมาลงน้ำโสโครกอีก”

กับคำถามว่าต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองให้ละเอียดลออทุกแง่มุมเลยไหม เพื่อนบ้านผู้ทรงภูมิให้คำตอบคือ

“รู้นิดเดียวครับ ไม่ต้องมากหรอก คือรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของใคร เพียงมีอะไรมาประกอบประชุมเป็นรูปเป็นร่างชั่วคราวคล้ายแผ่นเหล็ก ล้อยาง เครื่องยนต์เข้ามารวมรูปร่างขึ้นเป็นรถเก๋ง แต่พอหมดอายุก็ถูกถอดเป็นชิ้นๆแบบต่างคนต่างไป มองไม่เห็นรูปรถเก๋งคันเดิมในชิ้นส่วนใดๆอีก”

ใจฉันวาบว่างไปชั่วขณะเมื่อจินตนาการเห็นความว่างเปล่าไร้แก่นแท้ของรถยนต์ ถึงกับอึ้งเงียบเป็นครู่ก่อนถามต่อ คือสงสัยว่าเมื่อฉันรู้สึกว่ากายใจเป็นของว่างเปล่าเหมือนรถยนต์ที่ปราศจากตัวตนอย่างนี้แล้วถือว่าพอหรือยัง ครูทางธรรมคนแรกของฉันก็ตอบว่า

“ไม่พอหรอกครับ รู้แค่นี้เรียกว่าเป็นปัญญาจากการฟัง และปัญญาจากการจินตนาการตาม ยังเป็นปัญญาในระดับคิดๆ ไม่ใช่ปัญญาเห็นจริงประจักษ์แจ้งด้วยจิต”

เอ! เมื่อกี้ใจก็วาบว่างไปทีหนึ่ง ยังไม่เรียกว่าเห็นด้วยจิตอีกหรือ? ฉันจึงถามว่าทำอย่างไรจะรู้แจ้งได้ด้วยจิต

“ต้องปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ครับ คือเราย้ายที่ตั้งของสติจากการงานและการเล่นในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนมาเป็นอีกที่ตั้งหนึ่งคือกายใจนี้ คอยตามระลึกรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เห็นชัดว่าอะไรอย่างหนึ่งๆเช่นลมหายใจหรืออารมณ์สุขทุกข์ มีธรรมดาเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา แม้แต่ความลังเลสงสัยอยากรู้คำตอบของน้องในเวลานี้ก็มีขณะของการเกิดขึ้น เมื่อได้คำตอบก็จะดับลงเช่นกัน หรือถ้ายังสงสัยอยู่ มีความคาใจอยู่ ก็ต้องแปรปรวนไป อาจอ่อนตัวลงหรือเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม พอเห็นความไม่เที่ยงในกายใจเสมอๆ จิตก็ยึดเลิกมั่นสำคัญผิด เลิกมองว่าสิ่งนั้นๆเที่ยง เลิกหลงเขลาว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตน พอเห็นอย่างต่อเนื่องมากเข้าจิตก็ขาดจากอุปาทานที่ครอบงำมาแต่อ้อนแต่ออก เรียกว่าบรรลุมรรคผล มีดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยบุคคลของพุทธศาสนา”

ฉันฟังแล้วยังรู้สึกคลุมเครือ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก แต่ก็รู้สึกด้วยว่าคุณพ่อน้องอ๊อดต้องเข้าใจชัดแจ้งในสิ่งที่พูดเป็นอย่างยิ่ง ฉันจึงยิงคำถามถัดมาคือจะทราบได้อย่างไรว่าเรารู้สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้แล้วหรือยัง? วาระนั้นอะไรจะเป็นตัวบอกว่าเราไปถึงแก่นของพระศาสนาแล้ว?

คุณพ่อลูกหนึ่งอึ้งไปพักใหญ่ คล้ายทบทวนเฟ้นหาข้อมูลในธนาคารความจำ ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงที่สุขุมนุ่มนวล

“พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครเข้าป่าหาแก่นไม้ แต่ไปเจอกิ่งใบ เจอสะเก็ด เจอเปลือก เจอกระพี้ ก็อาจสำคัญว่าเป็นแก่น เพราะไม่ทำความรู้จักแก่นให้ดีเสียก่อน เลยได้สิ่งที่ไม่ใช่แก่นติดมือกลับบ้าน ลาภและสรรเสริญเปรียบเหมือนกิ่งใบ ศีลเปรียบเหมือนสะเก็ด สมาธิเปรียบเหมือนเปลือก ญาณหยั่งรู้ต่างๆเปรียบเหมือนกระพี้ แต่แก่นสารที่แท้จริงคือความหลุดพ้นแห่งใจ ชนิดไม่กลับกำเริบอีก สรุปคือถ้าเรายังไม่รู้จักภาวะของใจที่หลุดพ้นเด็ดขาด ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเรารู้สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้”

เหมือนสายน้ำที่ปะทะใจครืนโครม ดวงตาฉันตื่นเต็มกับคำว่า ความหลุดพ้นแห่งใจแบบไม่กลับกำเริบอีก คือแก่นสารที่แท้จริง

ฉันแจ้งความจำนงขอเป็นลูกศิษย์ ขอเรียนรู้วิธีการปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ กับผู้ให้แสงสว่างแรก ซึ่งท่านก็ตกปากรับคำเป็นอย่างดี บอกว่าบ้านใกล้กันแค่นี้สะดวก ไปนั่งคุยกับท่านทุกวันก็ได้ พร้อมกับออกตัวว่าท่านยังเป็นผู้ครองเรือน ยังมีห่วงผูกรัด แม้แต่ลูกเมียก็ยังตัดไม่ได้ ไม่ใช่ผู้รู้แจ้งอันมีใจหลุดพ้นแล้ว แต่เมื่อสอนพื้นฐานเบื้องต้นให้ฉันระยะหนึ่ง ก็จะพาไปกราบพระอาจารย์ของท่านในภายหลัง

นัดแนะจะเริ่มไปบ้านท่านตั้งแต่เย็นวันต่อมา ฉันอิ่มอกอิ่มใจเหลือกำลัง ถึงจะยังไม่มีคำตอบหรือหนทางแจ่มแจ้ง แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจว่าเจอครูผู้ชี้ทาง เป็นความสว่างนำวิถีให้แน่แล้ว ที่เหลือคือไปศึกษาเล่าเรียนกับท่านเต็มกำลัง ฉันโชคดีเหนือความโชคดี มีผู้ให้คำตอบสำคัญที่สุดในชีวิตไม่พอ ยังมาประชิดติดบ้านกันอย่างนี้อีก

ข่าวดี ข่าวมงคลเพิ่งปรากฏ ข่าวร้าย ข่าวสุดอัปมงคลก็กวดติดไล่หลังตามมาเพียงชั่วข้ามคืน ชีวิตคนไม่แน่นอน แค่เดินทางไปงานศพ ตัวเองก็มีสิทธิ์ตายได้ ครูธรรมะของฉันประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ร้ายแรง เสียชีวิตทั้งครอบครัวระหว่างทางกลับบ้าน!

ท่านเป็นครูธรรมะที่สอนฉันหลายอย่างในคราวเดียว ทั้งความจริงผ่านปาก ทั้งความจริงผ่านความตาย ฉันพูดไม่ออก เป็นคนเดียวในบ้านที่ตกตะลึงหน้าซีดเหมือนเสียญาติสุดที่รัก ต่างจากคนอื่นซึ่งอย่างมากแค่คุยกันแซดด้วยความตกอกตกใจกับการจากไปของเพื่อนบ้านที่คุ้นหน้ามาหลายปี

อกใจฉันจุกแน่นไปหมด เหมือนคนหิวจัดที่เห็นอาหารวางล่อ โชยกลิ่นหอมยวนใจอยู่ใกล้ๆแล้ว แต่มัวชะล่าไปครึ่งนาทีก็มีใครมาตัดหน้าเอาไปเสียก่อน

เสียดาย สายเกินไป พบหน้าผู้รู้แล้ว ทำไมฉันถึงไม่รีบถามให้ละเอียด เหตุใดจึงเชื่อว่ายังมีพรุ่งนี้ให้ถาม ทั้งที่ความจริงคือจะไม่มีพรุ่งนี้อีกแล้ว

ความตายของครูทำให้ความกระหายใคร่รู้ของฉันถูกเร่งเร้าให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น เหมือนครูของฉันสอนตรงๆว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่ควรประมาท จะตายเมื่อใดไม่อาจพยากรณ์ มัจจุราชมักมาถึงตัวโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าวันนี้ยังมีกำลังก็ควรทำกิจที่คิดว่าควรทำที่สุด ทำแล้วคุ้มกับการเกิดมาที่สุด เพื่อจะไม่เสียใจในภายหลังว่าวันสุดท้ายมาถึงแล้วยังไม่ใช้โอกาสทองให้สมค่า

:b53: มีต่อ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 22:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ความวุ่นวายหลังพุทธปรินิพพาน

คล้ายเจอคนนำทางที่น่าเลื่อมใส แต่มีอันพลัดพรากจากไปสู่แดนไกลอย่างไม่มีวันกลับมาเจออีก ฉันจึงตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้างแสวงหาคนนำทางใหม่

เครื่องมือนำทางใกล้ตัวที่สุด หาง่ายที่สุดก็คือหนังสือ เพราะเพียงเดินเข้าร้านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ต่อโทรศัพท์เข้าอินเตอร์เน็ต ก็มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมกลาดเกลื่อนไปหมด ข้อมูลเหล่านั้นส่วนใหญ่ถูกกลั่นกรองแล้วชั้นหนึ่งจากสำนักพิมพ์ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยจึงพอน่าเชื่อถือว่าคงไม่ใช่ข้อมูลที่ปราศจากเค้ามูลของคนนึกอยากพูดอะไรก็พูด

ฉันลองนั่งสมาธิและเดินจงกรมตามรูปแบบต่างๆ ค้นหาว่าวิธีใดเหมาะกับตนเองระยะหนึ่ง จึงพบว่าคำตอบที่มือใหม่ต้องการอย่างที่สุดนั้นมีหลายประการ เช่นจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะกับตนเองหรือถูกต้องตรงหลักวิชาบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า

อยากรู้ว่าปฏิบัติไปแล้วถูกหรือผิด มีเกณฑ์การวัดใดที่ชัดเจนพอ

การปฏิบัติถ้าหากถูก ควรจะต่ออย่างไร ถ้าหากผิด ควรจะแก้อย่างไร

คำตอบเหล่านี้คือจุดที่ทุกคนต้องการจากครูเหนือสิ่งอื่นใด สรุปว่าทุกคนต้องมีครู แต่…

ครูคนไหนล่ะที่เชื่อได้ว่ารู้จริง?

ครูคนไหนล่ะที่เข้าใจศิษย์ทุกประเภท?

ครูคนไหนล่ะขัดเกลาศิษย์แต่ละประเภทได้ด้วยอุบายที่เหมาะสม?

และถ้าสมมุติว่ามีครูที่รวมเอาคุณสมบัติข้างต้นครบพร้อมทุกประการไว้ในคนเดียว ท่านจะเก็บตัวเงียบหรือว่ามีชื่อเสียงดังกระฉ่อน? หากเก็บตัวเงียบ ฉันก็ไม่รู้จะไปงมเข็มในมหาสมุทรเจอได้อย่างไร เมืองไทยคนตั้งเกือบร้อยล้านรอมร่อ ครั้นถ้าหากเลื่องชื่อระบือนามเล่า โอกาสที่ฉันจะได้เข้าถึงตัวท่านอาจยากพอๆกับขอนัดนายกฯ เพราะฉันเพิ่งทราบว่ามีคนอยากหลุดพ้น อยากปฏิบัติธรรมถูกต้องตรงทางและแสวงหาครูผู้น่าเชื่อถือเหมือนอย่างฉันบานตะไท

ปัจจุบันมีการอบรมระยะสั้นและระยะยาวมากมายหลายแห่ง แต่ต้องสอดตาดู เงี่ยหูฟังมากๆหน่อยจึงจะได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งสถานที่และเวลา ฉันตระเวนไปเข้าคอร์สอบรมตามสถานฝึกปฏิบัติดังๆหลายต่อหลายแห่ง ยอมรับทุกแนว เคารพทุกความเชื่อ นอบน้อมต่อทุกอาจารย์ ตราบใดที่ท่านกล่าวว่าหลักสูตรของตนเป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็น่าจะพาฉันไปสู่ความหลุดพ้นได้

แต่หลังจากพยายามยอมรับทุกแนว ทุกความเชื่อ และทุกอาจารย์มากเข้า ในที่สุดฉันก็เริ่มงงว่าจะเอาอย่างไรดี

บางคนบอกว่าต้องศึกษาทฤษฎีทั่วถึงก่อนเพื่อประกันความหลงผิดคิดพลาดเมื่อลงมือปฏิบัติ บางคนบอกว่าปฏิบัติเลยไม่ต้องศึกษามากเพราะรุงรังน่ารำคาญและชวนให้หลงฟุ้งตามอักษรเกินจำเป็น

ในทางทฤษฎี บางคนชอบพระสูตร แต่บางคนชอบพระอภิธรรม บางคนปักหลักอยู่กับคัมภีร์ชั้นแรก แต่บางคนก็อ้างอิงแต่คัมภีร์ชั้นหลัง บางคนชอบการผสมผสานระหว่างความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ แต่บางคนตั้งแง่ปิดกั้นสิ้นเชิงกับการปรับเปรียบเทียบเคียงระหว่างพุทธกับวิทยาการในโลกยุคปัจจุบัน

ในทางปฏิบัติ บางคนบอกว่าให้กำหนดสติรู้ตัวในชีวิตประจำวันได้เลย บางคนบอกว่าให้เข้ากรรมฐานตามรูปแบบเสียก่อน บางคนชอบหลับตารู้ลมหายใจ บางคนชอบลืมตาตั้งสติรู้ความเคลื่อนไหว บางคนบังคับว่าต้องเดินจงกรมช้าเคร่งครัด บางคนบอกว่าให้เดินเร็วตามสบายเหมือนพักผ่อน

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงความเห็นผิดแผกในการตีความตามอักษร กับความต่างทางรูปแบบปฏิบัติ ก็กลายเป็นประเด็นโจมตีกันได้ดุเดือด บางทีถึงขั้นคิดทำบุญเพื่อพระศาสนา ยอมทำบาปชกใต้เข็มขัดฝ่ายตรงข้ามเสียหน่อย เล่นสกปรกสาดโคลนกันดื้อๆก็มี

เท่าที่ฟังข้อถกเถียงขัดแย้ง ทั้งทางอินเตอร์เน็ต ทางเทปอาจารย์ดัง และทางตาหูของฉันเองเมื่อเจอหน้าสหายธรรมชาวพุทธ ใครๆก็กลัวคนอื่นทำความเสียหายให้พระศาสนา แต่ตัวเองทำบ้างหรือเปล่าไม่เคยกล้าสำรวจจริงจัง อาจเพราะลึกๆก็รู้ว่าตนก็เคยเป็นต้นเหตุแห่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือมีส่วนร่วมสร้างความร้าวฉานขึ้นในหมู่ชาวพุทธมาเหมือนกัน แทบทุกคนมักสำคัญว่าตนเองดีพอจะติคนอื่น ซึ่งถ้ามองในมุมกลับก็คือคนเราจะคาดหวังให้ภาระหน้าที่ทำดีจงเป็นของผู้อื่น ตัวเองไม่ต้องทำ และอย่าได้มีใครมาคาดหวังในตัวเราให้มาก เนื่องจากเราเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆควรประพฤติตนในแบบที่เป็นอุดมคติ จะพูดหรือทำอะไรอย่าให้ใครตำหนิได้

ฉันเชื่อว่าชาวพุทธที่รักศาสนาไม่มีใครตั้งใจทำลายศาสนา ทำนองเดียวกับที่ไม่มีบ้านใดทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้ง แต่ความที่มัวเพลินเพ่งโทษคนอื่นอยู่ เลยเผลอลืมตรวจดูว่าโทษของเราเพิ่มพูนไพบูลย์ผลไปถึงไหนแล้ว อย่างเช่นบางคนรู้จักพุทธพจน์มาก แทบเรียกว่าครอบคลุมทั่วถึงทุกประเด็น พูดเรื่องไหนเป็นหยิบจับพุทธพจน์มาอ้างอิงได้หมด แบบนี้มีคุณใหญ่เป็นอนันต์ แต่ในทางตรงข้ามอาจก่อโทษได้มหันต์เช่นกัน เช่นยกพุทธพจน์มาเพื่อข่มขี่ หรือสนับสนุนจิตคิดก่นด่าฝ่ายตรงข้ามของตน ผู้ฟังรับพุทธพจน์พร้อมกับกระแสโทสะของผู้อ้างอิง ย่อมเกิดจิตคิดมัวหมองต่อพุทธพจน์ไปด้วย เรียกว่าผู้อ้างพุทธพจน์ผิดกาลเทศะ หยิบจับพุทธพจน์มาใช้เสริมเติมสนับสนุนวจีทุจริตของตนเองบ่อยๆนั้น นอกจากไม่ได้บุญแล้ว ยังชื่อว่าก่อบาปมหันต์ด้วยการทำพุทธพจน์เสื่อมลงอีกด้วย

และเมื่อส่วนใหญ่ต่างถนัดที่จะโยนโทษให้แก่กันและกัน มือใหม่ฝันหลุดพ้นอย่างฉันที่เพิ่งก้าวเข้าบ้านก็มักยืนเด๋อดูคนในบ้านตีกันอย่างมึนงง จับต้นชนปลายไม่ติด ไม่ทราบว่าอะไรกันแน่คือหลักการ อะไรกันแน่คือหลักกู จึงยากจะรู้ชัดว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก แต่ใครถูกใครผิดก็ตาม วิธีทิ่มตำหรือรบพุ่งกันด้วยขวานในปากของผู้ทรงภูมิทั้งหลายย่อมทำให้บรรดากองทัพธรรมหน้าใหม่รับผลร้ายไปเต็มๆ เพราะฉันไม่ได้จดจำว่าการฟาดฟันกันให้ล้มหายตายจากกันไปข้างในแต่ละครั้งนั้น ใครเป็นผู้แพ้ ใครเป็นผู้ชนะ ฉันตระหนักแต่ว่าที่แพ้อย่างแท้จริงคือพุทธศาสนาโดยรวม ค่าที่หาใครเป็นตัวแทนหรือหลักฐานทางปัญญาประกอบเมตตาประจำศาสนายากมากแล้ว

เมื่อลงมือทดลองปฏิบัติหลายๆแนวฉันจึงพอเข้าใจอะไรมากขึ้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจะลาดลึกพิสดารปานใดก็ตาม อย่างไรก็ต้องมีจุดเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นต้องง่าย จดจำไปทำได้ทันที ระลึกขึ้นเมื่อไหร่ต้องใช้ได้เดี๋ยวนั้น และผู้ปฏิบัติธรรมที่ฉลาดก็มักมีอุบายเฉพาะตัว เพื่อดึงสติได้ง่ายๆ หากไม่เลือกอุบายวิธีที่แน่นอนสักอย่างหนึ่งไว้ใช้ตั้งหลัก ก็มักออกจากจุดเริ่มต้นไม่ไหว จับฉ่ายไปเรื่อยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักที

ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่ออุบายวิธีเฉพาะตัวของใครถูกนำไปใช้แพร่หลาย ชี้แจงอธิบายรายละเอียดให้ครบถ้วนกระทั่งลงรอยครอบคลุมสติปัฏฐาน ๔ ยาก ดังนั้นจึงมีบ่อยที่อุบายง่ายๆเพียงหนึ่งเดียวกลายเป็นทั้งหมดของการปฏิบัติไป ถ้าถามว่าสายนั้นสายนี้สอนอะไร ก็มักบอกต่อหรือจดจำกันว่าให้ทำแบบนั้นอย่างเดียว ให้ทำแบบนี้จนกว่าจะเห็นผลยกระดับไปเรื่อยๆเอง คล้ายกับว่าจงท่อง ก.ไก่ ให้เป็นคำเดียว แล้วในที่สุดจะรู้เองว่าอักษรไทยไล่ตามลำดับไปถึง ฮ.นกฮูก มีอะไรบ้าง

เมื่อมีผู้คนล้อมวงเข้ามาเชื่อกันมากเข้าก็กลายเป็นกลุ่มศรัทธา เป็นกลุ่มบูชาความเชื่อประจำแนวนั้นๆไป แล้วค่อยๆหยั่งรากทางความเชื่อลึกลงผ่านสานุศิษย์รุ่นต่อรุ่น พอเจอกลุ่มศรัทธาอื่นที่มีอุบายวิธีแตกต่าง ก็ง่ายที่จะมองเห็นข้อด้อย จุดอ่อน หรือกระทั่งมุมมองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักฐานในคัมภีร์มากมาย ส่วนแนวความเชื่อของตน แม้เป็นของใหม่ไม่เคยมีมาก่อนก็อุตส่าห์เฟ้นหาบรรทัดเล็กบรรทัดน้อยในคัมภีร์มาสนับสนุนยืนยันจนได้

น่าหดหู่ใจ ตั้งแต่พระศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานก็คงไม่มีสาวกคนใดพูดถูกหมดได้อย่างพระองค์ท่าน ศาสนาเสียหายมาเรื่อยๆกับการพูดผิดหรือจำพลาดของผู้สืบทอดทั้งหลาย ฉันคิดว่าคงไม่มีใครคนใดคนหนึ่งทำความเสียหายให้พระศาสนาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่การทะเลาะเบาะแว้งห้ำหั่นกันเองนั่นแหละความวิบัติอย่างแท้จริง

และอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้…

แรงดึงดูดโลกคงไม่ยินยอมให้เราหนีขึ้นฟ้าง่ายดายฉันใด แรงดึงดูดของวัฏสงสารก็คงไม่ยินยอมให้เราหนีไปนิพพานง่ายดายฉันนั้น สังเกตเถอะ ขณะกำลังท้อแท้กับภาพฟัดกันนัวเนียเป็นหย่อมๆของบรรดาชาวพุทธผู้เจริญ โชคชะตาก็มักพาไปเจอถ้อยคำตอกย้ำให้มืออ่อนเท้าอ่อนยิ่งขึ้นไปอีก เช่น

“พวกเราวาสนาน้อย เกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า อยู่ในยุคของผู้มีปัญญาทรามมาเกิด หมดสิทธิ์แล้วล่ะ ต้องหมั่นทำบุญมากๆนะ แล้วอธิษฐานไปเกิดในยุคของพระศรีอารย์ ซึ่งจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หน้าโน่น หากสั่งสมบุญไว้มากแล้ว เมื่อฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ก็จะสามารถบรรลุธรรมอย่างรวดเร็ว”

ถ้อยคำทำนองนี้ถ้าคนธรรมดาพูดอาจไม่กระไรนัก แต่เมื่อคนระดับให้การศึกษาพุทธศาสน์ชั้นสูงเป็นคนพูดหลายๆคน น้ำหนักความน่าเชื่อถือจะมีมาก และกระจายกว้างยิ่ง กับทั้งมีการด้นเดาตามอำเภอใจกันอย่างสนุกสนาน เช่นบางคนสมัครใจเชื่อว่าโลกนี้อาจไม่มีพระอรหันต์แล้ว แต่ยังพอมีอริยะชั้นต้นๆอยู่บ้าง แต่บางคนสมัครใจเชื่อว่าอริยะสูญสิ้นไปหมดแล้ว ไม่เหลือแม้แต่ผู้ทำภาวนาได้ตรงทางด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นว่าใครหวังมรรคหวังผลหลังจากพุทธปรินิพพาน จะถูกมองเป็นพวกหวังสูงเกินตัวไป ต้องหวังพบพระพักตร์พุทธองค์ รับคำสอนจากท่านโดยตรง ให้พระองค์ชี้ถูกชี้ผิดด้วยองค์ท่านเองเท่านั้นจึงมีสิทธิ์มีวาสนาพอ แท้จริงน้อยคนจะรู้ว่าต่อให้เกิดทันพระพุทธเจ้า พกบุญญาวาสนาติดตัวไปเกิดมากพอจะเข้าเฝ้าพระองค์ท่านแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะรอดเสมอไป

อย่างเช่นในสามัญญผลสูตร ว่าด้วยเรื่องของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้มีบุญญาธิการเหนือมนุษย์ทั้งทวีป คือครองบัลลังก์พระราชาได้ แถมอุตส่าห์มีสิทธิ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกต่างหาก เสียแต่เผอิญก่อนหน้านั้นเวรกรรมชักนำให้ต้องรู้จักกับพระเทวทัต ถูกยุยงให้เห็นผิดเป็นชอบ แย่งชิงราชสมบัติจากเสด็จพ่อของตัวเอง และแม้พระบิดายกสมบัติให้ยังไม่วายกังวลจะถูกแย่งคืน ถูกพระเทวทัตยุให้ปลงพระชนม์เสียเพื่อความแน่นอนกว่า แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็เป็นประเภทบ้าจี้ยุขึ้นเสียด้วย ไปๆมาๆหน้ามืดตามัวฆ่าพ่อตัวเองจนได้

การฆ่าพ่อฆ่าแม่นั้น ต่อให้สำนึกผิดก็สายเกิน ต้องไปนรกลูกเดียว ห้ามสวรรค์นิพพานหมด สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุหลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูมาเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลลากลับว่า พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว หากท้าวเธอไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นผู้บรรลุธรรมต่อหน้าเราตถาคตทีเดียว

นี่เป็นตัวอย่างของคนบุญมากเข้าขั้นมีสิทธิ์บรรลุธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ แต่ดันหลงเขลาไปทำกรรมหนักที่ปิดกั้นสวรรค์นิพพานเสียก่อน นับว่าเคราะห์ร้ายสาหัส ต้องเลื่อนเวลาไปใช้กรรมในนรกให้หมดๆถึงจะมีสิทธิ์ใหม่

แล้วในอนาคตอันไม่เป็นที่รู้ จะมีอะไรประกันว่าเราจะไม่พลาดแบบพระเจ้าอชาตศัตรู?

นอกจากความไม่แน่นอนของตัวเราเองแล้ว ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกำลังพระหทัยแห่งองค์ศาสดาแต่ละสมัยด้วย ในคัมภีร์มหาวิภังค์มีผู้ทูลถามว่าเหตุใดศาสนาของพระผู้มีพระภาคบางพระองค์จึงอายุสั้นนัก พระศาสดาของเราตรัสตอบด้วยพระญาณรู้เห็นอดีตเบื้องไกล พอสรุปใจความสำคัญได้ว่า

ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี สิขี และเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย ความรู้ที่ประทานไว้นั้นมีน้อย ข้อศีลวินัยก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดง เมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้นอันตรธานแล้ว สาวกต่างเหล่าต่างกอจึงทำพระศาสนาให้อันตรธานตามพระองค์ไปในเวลาอันสั้น

หากสงสัยว่าพุทธศาสนาที่มีอายุสั้นนั้น พระศาสดาท่านโปรดสอนสาวกอย่างไร ก็ต้องตอบว่าสอนแบบใช้ญาณรู้วาระจิตแล้วสอนเฉพาะคนตรงๆ ใครคิดผิดก็ทัก ใครเดินจิตถูกก็สนับสนุน ดังพระพุทธองค์ของเราตรัสไว้

ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอนภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูปในแนวป่าอันน่าสะพรึงกลัวแห่งหนึ่ง เช่นตรัสว่าพวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น พวกเธอจงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนั้น แล้วเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ด้วยการสอนเช่นนี้ ในเวลาต่อมาจิตของภิกษุประมาณพันรูปดังกล่าวก็ได้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสหมักหมมในสันดานทั้งหลาย

สรุปคือถ้ามีวาสนาพอจะพบพุทธศาสนา บางครั้งต้องบวชเป็นภิกษุ และใจถึงพอจะเข้าไปอยู่ในป่าอันน่าพรั่นพรึงชวนขนหัวลุกร่วมกับพระศาสดา จึงจะได้รับพระกรุณาสอนจากจิตถึงจิต ไม่ใช่เป็นเศรษฐีมีชีวิตสุขสบายแห่ขบวนไปกราบท่านแล้วจะได้รับการสอนแบบพิเศษง่ายๆกันทุกคน

อีกข้อสังเกตคือด้วยวิธีสอนแบบตรงตัว ตรงวาระจิตของพระศาสดา ไม่มีการสืบทอดคำสอนโดยพิสดาร ไม่มีการบัญญัติกฎระเบียบวินัยสงฆ์เป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีการถ่ายทอดความรู้ออกสู่วงกว้าง นั่นหมายความว่าใครเกิดทันพระพุทธเจ้าสมัยนั้นแล้วไม่อยู่ใกล้พระองค์ท่าน ก็นับว่ามีโอกาสปฏิบัติธรรมถึงความหลุดพ้นได้ยากยิ่ง

ในทางกลับกัน เมื่อมีการบันทึกคำสอนพระศาสดาไว้อย่างละเอียดลออ ก็แปลว่าคนรุ่นต่อๆมามีสิทธิ์จะเข้าถึงธรรมตามอัตภาพ ใครขยัน ใครทำถูกตามคำสอนของพระศาสดาก็เอามรรคผลไป ต่อให้ไม่เคยพบแม้แต่อรหันตสาวกของพระองค์ท่านก็ตาม

พูดง่ายๆว่าเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าบางพระองค์ โอกาสศึกษาเล่าเรียนพุทธวจนะยังอาจจะน้อยกว่าสมัยนี้ของเรา ที่พระศาสดาเสด็จดับขันธ์อันตรธานไปจากโลกนี้แล้วด้วยซ้ำ!

ฉันมีกำลังใจยิ่งขึ้นเมื่อพบร่องรอยว่าตัวตนส่วนหนึ่งของพระพุทธองค์ยังคงดำรงอยู่ เมื่ออ่านพบพระวจนะในมหาปรินิพพานสูตรความว่า ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้ว จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป แปลว่าถ้าเจอคนศาสนาอื่นสอบถามว่าศาสดาของท่านเป็นใคร ศาสดาของท่านยังอยู่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าศาสดาของเราคือพระพุทธเจ้า และท่าน ยังอยู่ นั่นก็คือพระไตรปิฎกที่ชาวไทยเรารู้จักกันดีว่าเป็นคัมภีร์สืบทอดบันทึกคำสอนของพระศาสดานั่นเอง

ส่วนปัญหาที่ว่าคนยุคเราเป็นผู้มีปัญญาทราม วาสนาน้อย หรือหมดสิทธิ์รู้จักมรรคผลนิพพานเป็นความจริงหรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูว่าใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนพูดบอกต่อ รวมทั้งใครเป็นคนเชื่อถือ ประการที่สองต้องดูว่าพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับสิทธิ์ในการถึงมรรคถึงผลไว้อย่างไร

ฉันสืบๆแล้วพบว่ากลุ่มของผู้ที่เชื่อว่าล้าสมัยนั้น ได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบสืบๆกันมา หาใช่ว่ามีตัวตนผู้พูดประกาศคนแรกอย่างแท้จริงไม่ กลุ่มของผู้เชื่อเช่นนี้อาจออกไปทางศรัทธาจริตชนิดใครพูดอะไรก็เชื่อ หรืออาจหนักไปทางปัญญาจริตชอบคิดคาดคะเนแสวงความรู้เสียจนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำว่า ปัญญา กล่าวคือพุทธิปัญญาขั้นสูงนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าคือความสามารถเห็นธรรมชาติเกิดดับ ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ใครฝึกจริงจังถูกต้องเมื่อไหร่ก็เห็นจริงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดกาลแต่อย่างใด แต่พุทธิปัญญาสำหรับคนรุ่นใหม่อาจหมายถึงความรู้ความเข้าใจในธรรมะยากๆแจ่มแจ้งตลอดสาย รวมทั้งมีการปลูกฝังความเชื่อกันว่าใครยิ่งรู้มาก ก็จะยิ่งเป็นเสบียงหรือทุนรอนติดตัวต่อไปเกิดในพุทธกาลครั้งหน้า ฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์แล้วจะบรรลุธรรมง่ายดาย

เมื่อนิยามของปัญญาผิด ย่อมไม่ขวนขวายพิสูจน์จนเกิดปัญญาแบบพุทธะที่แท้

ความเชื่อว่าการเวียนว่ายตายเกิดและนรกสวรรค์มีจริงก็ดี ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงก็ดี ความเชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริงก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นศรัทธา พุทธเราเป็นศาสนาที่ฐานเป็นศรัทธา แต่ยอดเป็นปัญญา พูดง่ายๆว่าพิสูจน์ศรัทธาให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยปัญญาในชาติปัจจุบัน ต่างจากศาสนาอื่นที่ฐานเป็นศรัทธา แล้วยอดก็ยังเป็นศรัทธาอยู่อีก หลายเรื่องไม่อาจพิสูจน์จนกว่าจะตายเสียก่อน

หากพุทธเรารักษาไว้แต่เพียงศรัทธาความเชื่อ จะมีข้อแตกต่างจากศาสนาอื่นที่ตรงไหน? ฉันค้นคว้าอยู่ไม่นานก็พบข้อความยืนยันให้อบอุ่นใจว่าแนวทางอันเป็นหลักสูตรสำเร็จรูปเพื่อบรรลุมรรคผลนั้น ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุ เห็นได้จากที่พระพุทธองค์ยืนยันด้วยพระองค์เองในมหาสติปัฏฐานสูตรความว่า…

ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ให้ตลอด เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี ภายในเวลา ๗ ปี หรือ ๖ ปี หรือ ๕ ปี หรือ ๔ ปี หรือ ๓ ปี หรือ ๒ ปี หรือ ๑ ปี หรือ ๗ เดือน หรือ ๖ เดือน หรือ ๕ เดือน หรือ ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน หรือ ๒ เดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๗ วัน

พูดให้ง่ายคือใครมีกายและปัญญาแบบมนุษย์ มีกำลังปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์แสดงไว้ และยังคงบันทึกสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ อย่างช้า ๗ ปี อย่างพอดี ๗ เดือน และอย่างเร็ว ๗ วัน เป็นต้องรู้จักภาวะหลุดพ้นแห่งใจชนิดไม่กลับกำเริบ เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง สืบค้นดูทั่วแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสไว้ที่ไหนเลยว่าเมื่อกาลล่วงไป หรือหลังพุทธปรินิพพานแล้วจะมีข้อจำกัดในการบรรลุมรรคผลเพิ่มขึ้น ในการตรัสเชิงพยากรณ์นั้น ท่านเพียงระบุไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า ตราบใดภิกษุยังประพฤติธรรมโดยชอบ ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย ซึ่งก็แปลได้อย่างเดียวคือ ถ้ายังทำ ก็ต้องได้!

สรุปคือมรรคผลจะล้าสมัยต่อเมื่อไม่มีการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับกาล ไม่เกี่ยวกับช่วงสมัยที่ผู้ปัญญาทรามมาเกิดมากแต่อย่างใดเลย สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสเสมอว่าสัทธรรมที่พระองค์ค้นพบและเผยแผ่นั้น ควรน้อมเข้ามาดู เป็นของไม่จำกัดกาล

มาพิจารณาโลกยุคปัจจุบันตามจริง ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาคือมีน้อยคนจะศึกษา เข้าใจ และทรงจำหลักการสติปัฏฐาน ๔ ได้ครบถ้วน และยิ่งน้อยที่ปฏิบัติกันจริงจังตลอดสาย ก็ไม่น่าแปลกใจหากจำนวนผู้บรรลุธรรมเป็นประจักษ์พยานให้พระพุทธเจ้าจะปรากฏเป็นของหายาก

แต่นั่นเป็นเรื่องของโลก ประเด็นสำคัญสำหรับฉันคือวิธีปฏิบัติยังถูกรักษาไว้ครบถ้วน ถ้าศึกษาจนเข้าใจและนำมาปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ก็ต้องได้ผลภายใน ๗ ปีเป็นอย่างช้า ต่อให้บารมีอ่อนแสนอ่อนอย่างไรก็ตาม

ฉันตกลงปลงใจเด็ดขาดว่าจะยึดพระพุทธเจ้าเป็นครูคนสุดท้าย ท่านตรัสว่าอย่างไรจะปฏิบัติตามเพื่อให้เห็นผลจริง โดยไม่หวังทางลัดเช่นผู้วิเศษบันดลบันดาลให้บรรลุธรรมได้ในแวบเดียว รวมทั้งไม่ไปทางอ้อมเช่นรอพบพระพุทธเจ้าในพุทธกาลต่อไป ซึ่งจะนานสักกี่แสนกี่ล้านปีก็ไม่ทราบ ฉันจะถือเอาประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนความรู้ไว้มากมายสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อไว้ก่อนว่าเพียงพอต่อการพิสูจน์ด้วยตนเอง ถ้าแม้ความเชื่อของฉันผิดพลาด อย่างมากก็เสียเวลา ๗ ปีในชีวิต แต่ถ้าความเชื่อของฉันถูก แปลว่าฉันกำลังจะเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ชีวิตมนุษย์คุ้มที่สุดในโลก

นั่นคือใช้ชีวิตเพื่อลืมตาตื่นขึ้นรู้ความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างไม่เคยมีอะไรเทียบ!

เย็นวันหนึ่งฉันประนมมืออธิษฐานดังๆต่อหน้าพระปฏิมาทองอร่ามว่าหากชาตินี้พลาดมรรคผลไปเพราะเป็นหนึ่งในผู้มีปัญญาทราม ไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมดังคำปรามาสของชาวพุทธบางส่วน ก็ขอให้ชาติหน้ามีนิสัยเอาจริง ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ให้สมค่าอัตภาพมนุษย์ไปจนชั่วชีวิตทุกครั้ง เหมือนเช่นที่ตั้งใจจะทำในชาตินี้ด้วยเถิด!

จากการศึกษาเรื่องกรรมอย่างละเอียด ฉันเชื่อว่านิสัยจะเป็นสิ่งติดตัวข้ามภพข้ามชาติ มนุษย์เป็นภูมิมีศักยภาพในการสร้างนิสัย สั่งสมไว้อย่างไรก็ได้สมบัติติดตัวไปสร้างตนอย่างนั้น นิสัยที่ฉันจะสร้างต่อไปนี้คือเชื่อพระพุทธเจ้า ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดเหมือนทุกคำเป็นทองที่ไม่อาจปล่อยปละให้ตกหล่น

กรรมจะพยายามรักษาเราไว้กับทางเดิม อย่างเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสว่าพวกเรามีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ฉันปลงใจเชื่อว่าสร้างนิสัยไว้อย่างนี้เป็นอาจิณ หรือที่เรียกว่า อาจิณณกรรม หากมีโอกาสเกิดใหม่เป็นมนุษย์ อาจิณณกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้ย่อมส่งให้ไปเกิดกับพ่อแม่แบบนี้ มีเหตุปัจจัยแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็กส่งเสริมให้เข้าลู่ทางของความเป็นเช่นนี้ รวมทั้งมีกำลังกายและแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นเพียรเพื่อหลุดพ้นอย่างเอาจริงเอาจังเช่นนี้อีก


ต่างจากการปลงใจเชื่อไปตลอดชีวิตว่าตัวเองไม่มีทางบรรลุมรรคผลได้ในชาติปัจจุบัน ก่อมโนกรรมย้ำคิดย้ำเชื่อเป็นอาจิณ ก็ย่อมฝังแน่นติดจิตติดวิญญาณไป แล้วเจอเหตุปัจจัยให้คิดแบบเดียวกันนี้อีกและอีกไม่รู้จบรู้สิ้น เป็นต้นว่าต่อให้เกิดในสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติ ก็ไปเกิดห่างจากท่าน และฟังคำคนที่ทำให้ท้อก่อน ทำให้เห็นมรรคผลเป็นของสูงเกินเอื้อม หรือแม้ฟังธรรมแล้วก็อยากอธิษฐานไปบรรลุเอาเบื้องหน้า แทนที่โอกาสมาถึงแล้วจะฉวยไว้ ดังปรากฏให้เห็นตัวอย่างผู้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันต์ แล้วหวังผลเป็นสวรรค์นิพพานหลังจากตายไปแล้วมากมายก่ายกอง

ก่อนปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

ฉันเชื่อจริงๆเลยว่าตั้งใจดีย่อมเป็นฤกษ์ดีในตัวเอง สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตรว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี

ดังเช่นเมื่อฉันปลงใจว่าจะยึดพระพุทธองค์เป็นผู้สอนกรรมฐาน ท่านสั่งอย่างไรฉันจะทำอย่างนั้น เมื่อฉันตั้งจิตว่าจะรับคำสั่งแรกจากพระพุทธเจ้า ก็ได้เปิดสมุดบันทึกส่วนตัวในคอมพิวเตอร์ที่ฉันรวบรวมพระสูตรเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีปริมาณมิใช่น้อย แต่ก็มิใช่เกินกำลังอ่านให้ทั่ว

ตาตื่นและขนลุกซู่ เพราะขณะคลิกเลือกไปสุ่มๆนั้น ได้คำตอบจากภิกขุสูตรราวกับปาฏิหาริย์ คล้ายเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งพระเนตรเทศน์โปรดฉันโดยตรงทีเดียว ในภิกขุสูตรกล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านตั้งใจจะปลีกวิเวก จึงเข้าไปกราบขอรับแนวปฏิบัติหรืออุบายภาวนาจากพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ยังไม่บอกอุบายทันที ทว่าตรัสสั่งให้สำรวจตนเองในเรื่องของศีลก่อน มีความดังนี้…

ดูกรภิกษุ ถ้าเธอปรารถนาเช่นนั้น ก่อนอื่นจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เถิด เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร? คือศีลที่บริสุทธิ์ดีและตั้งความเห็นไว้ตรง เมื่อใดศีลของเธอบริสุทธิ์ดี ความเห็นของเธอจะตรง เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วค่อยเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ และมีสติ

หากอ่านเผินๆโดยไม่น้อมเข้ามาในตัวก็คงไม่รู้สึกอะไรนัก แต่เมื่ออ่านด้วยความตั้งใจว่าจะนำมาปฏิบัติจริง ก็เกิดการสำรวจตนเอง ว่าฉันยังมีความบริสุทธิ์ด้านใดไม่เพียงพอบ้าง

ศีล

ศีลของพระในภิกขุสูตรมีรายละเอียดอย่างไรบ้างฉันไม่รู้ เพราะเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องรู้ แต่สำหรับฉัน ฉันคงสนใจเพียงแค่ศีลของฆราวาส และศีลของฆราวาสที่ครูบาอาจารย์สืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้ามาก็มีเพียง ๕ ข้อ ฉันก็จะมุ่งเน้นเฉพาะศีล ๕ ข้อนั้นแหละเป็นเบื้องต้นวันดีฤกษ์ดีนี้

ก่อนหน้านี้ฉันเคยตั้งใจรักษาศีลออกมาจากความรู้สึกภายใน เห็นชัดว่ามีผลกับจิตใจโดยตรงทันที อย่างเช่นถ้าวันไหนเผลอโกหกก็จะหมกมุ่นฟุ้งซ่าน จิตใจอ่อนแอและเลื่อนลอยชอบกล แต่ถ้ามีเหตุยั่วให้โกหกแล้วหนักแน่นพอจะรักษาปณิธานเดิมว่าจะไม่แอะคำโป้ปดแม้แต่นิดเดียว ตกเย็นพอลงนั่งสมาธิจะมีความเบาสบายหายกังวล จิตเรียบสงบเองตั้งแต่ก่อนนั่งคล้ายผืนทะเลนิ่งไร้คลื่นลมปั่นป่วน นี่เป็นตัวอย่างอานิสงส์ของศีลที่ให้ผลกับการปฏิบัติภาวนาโดยตรง

และเมื่อมีสติแข็งแรงพอจะอดกลั้นต่อการโกหก ความไม่อยากโกหกก็ตามมา เพราะการโกหกต้องอาศัยแรงเค้นจากภายใน ซึ่งก็เกิดผลข้างเคียงที่ดี เช่นเมื่อก่อนมักใจอ่อน ปฏิเสธใครจะอ้ำๆอึ้งๆหรือเผลอกัดฟันตอบรับเสียงอ่อยโดยไม่รู้ตัว เช่นพูดว่า “ได้” หรือ “ไม่เป็นไร” ทั้งที่ใจจริงอยากบอกว่า “ไม่เอา” หรือ “ไม่ไหว”

เมื่อจิตใจเข้มแข็งขึ้นด้วยคำพูดที่ตรง ด้วยคำพูดที่จริง คำพูดที่เป็นสัตย์ก็ตามมา การพูดเท่าที่ทำได้ และพยายามทำเท่าที่พูดนั้น ทำให้เกิดสัมผัสเห็นอะไรตามจริงขึ้นมาก โลกไม่บิดเบี้ยวเหมือนตอนจิตอ่อนๆ

ธรรมชาติเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ และบางทีเราอาจนึกไม่ถึง จนกว่าบางสิ่งจะปรากฏแสดงแล้ว อย่างเช่นศีลสัตย์เป็นสิ่งมีอำนาจ เมื่อเราพูดแต่เรื่องจริง พูดแต่เรื่องที่เป็นสัตย์ อำนาจความจริงก็อยู่ข้างเรา รู้ว่าอะไรควรพูด รู้ว่าพูดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เสียดายจิตสงบสุขถ้าต้องฟุ้งกระเจิงไปกับการพูดส่อเสียดนินทาเอามัน อาลัยจิตอันประณีตน่าพึงใจถ้าต้องกระด้างหยาบลงเพราะการพูดหยาบคายด้วยโทสะ และอาวรณ์จิตอันเข้มแข็งถ้าต้องซึมเหม่อลอยเลื่อนไปเพราะการพูดเพ้อเจ้อหาแก่นสารไม่ได้

การถือศีลอย่างฉลาดต้องเห็นค่าของศีลข้อใดข้อหนึ่งด้วยหัวใจ เมื่อรู้สึกว่าชีวิตมีคุณภาพขึ้นมาจากภายใน แม้ต้องยอมแลกกับการสูญเสียโอกาสแบบโลกๆไปบ้าง ก็จะเห็นว่าคุ้มค่าพอ เมื่อศีลข้อนั้นๆเริ่มทำให้จิตทอประกายสว่างทางความรู้สึก ก็จะนึกถึงประโยชน์ของศีลข้ออื่นๆตามไปด้วย

เพียงด้วยความตั้งใจมั่นว่าแม้มีโอกาสเจอเรื่องยวนยั่วอย่างไร ฉันก็จะไม่ผิดศีลผิดธรรมเป็นอันขาด คือไม่ฆ่าสัตว์แม้ยุง ไม่ขโมยแม้แต่บาทเดียว ไม่ลอบมีชู้แม้เพียงทางวาจา ไม่โกหกแม้เพียงเพื่อเอาสนุก ไม่กินเหล้าเสพยาแม้ต้องโดนเพื่อนใจแคบเลิกคบ เพราะถือว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่ง เป็นฐานของการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป จิตจะมีคุณภาพได้อย่างไรหากพื้นฐานมีแต่การตามใจกิเลสเละเทะเหมือนเอาตัวไปหมกโคลนเลน

มีความจริงที่น่าสนุกอยู่อย่าง ฉันเคยได้ยินมานาน และเจอดีเข้ากับตัวเองจริงๆ คือพออธิษฐานถือศีล ก็มีอันต้องประจวบเหมาะเหลือหลาย เหตุการณ์ต่างๆดาหน้าเข้ามาลองใจทันตา เช่นคนที่บ้านให้ช่วยโกหกโทรศัพท์ว่าไม่อยู่ หรือปกติร้อยวันพันปีไม่เคยโดนยุงกัดมันก็แห่กันมากัดอย่างน่าตบ เป็นต้น กรณีโกหกทางโทรศัพท์ฉันก็ปากแข็งเข้าไว้ บอกให้โทร.มาใหม่เฉยๆ ไม่ได้บอกว่าคนที่ต้องการพูดไม่อยู่ แม้ต้องเจอการชักสีหน้าจากคนในบ้าน ขมวดคิ้วบ่นไปหลายยกก็ยอม หรืออย่างกรณียุงกัด แม้คันไม้คันมือเต็มแก่ก็ปัดๆไล่เท่านั้น

ฉันเจอเหตุการณ์ลองใจสารพัดจนเหนื่อยใจ แต่สัญญาต้องเป็นสัญญา ฉันตกลงกับตัวเองไว้แล้วว่าจะรักษาศีลก็ต้องรักษาให้ได้ คิดเสียว่าเป็นโอกาสใช้หนี้กรรมให้หมดๆไปด้วย แล้วความจริงที่ปรากฏตามหลังมาก็น่าตื่นใจ พอทนๆใช้กรรมไปพักหนึ่ง ก็ดูเหมือนการไล่ล่าลองใจจะลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดเหมือนหายไปเลย ไม่มารบกวนอีก ราวกับชีวิตยกตัวเองขึ้นลู่ทางใหม่ นานๆถึงจะมีเรื่องยั่วให้ผิดศีล แล้วจิตใจที่ผ่องแผ้วดีแล้วก็ไม่รู้สึกยากกับการเลี่ยงเลยสักนิด

อานิสงส์ผลบุญของการรักษาศีลมีมากมายมหาศาล เอาแบบที่คนในโลกชอบกันคือฤทธิ์อย่างอ่อนๆ จิตที่มีประกายศีลแจ่มจ้าแล้วจะเกิดสัมผัสพิเศษ จะต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างจะรู้ว่าควรหรือไม่ควรแค่ไหน เช่นแม้ว่ามีเพศตรงข้ามผ่านเข้ามาทำให้รู้สึกสดชื่นเป็นพิเศษ และทำท่าจะเกาะเกี่ยวพัวพันกันลึกซึ้ง ใจก็บอกว่าความสัมพันธ์ไม่สะอาดชอบกล สืบไปสืบมาก็รู้ว่ามีคู่ครองแล้วนั่นเอง หรือบางทีปูเสื่อลงบนสนามหญ้าเรียบร้อย กำลังจะลงนั่งแล้วนึกสังหรณ์ชอบกลว่าถ้าทิ้งน้ำหนักตัวลงไปจะเป็นกิริยาทำร้าย พอเลิกเสื่อดูก็พบหอยทากตัวหนึ่งอยู่ตรงตำแหน่งที่ตั้งใจจะหย่อนก้นลงทับพอดี

อันนี้อธิบายได้ง่ายๆว่าจิตเมื่อผ่องแผ้วไร้มลทิน เมื่อจะต้องประกอบกรรมที่มีมลทิน พลังความสว่างใสเบาของศีลในจิตก็สะกิดเตือนขึ้นมาเองว่าอย่านะ นี่ไม่ควร นั่นไม่เหมาะ คล้ายกับเกิดคลื่นรบกวนที่จิตใสใจเบาไม่อาจรับได้

ฉันกล้าบอกด้วยประสบการณ์ภายในของตนเองเลยว่าถ้าเพียงศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นปกติอย่างน้อยหนึ่งเดือน ก็เท่ากับฝึกจิตให้เป็นสมาธิตามธรรมชาติมาเกือบครึ่งแล้ว ความชุ่มชื่นของศีล ความสุกสว่างเบิกบานของศีลนั่นแหละ องค์ประกอบสำคัญของสมาธิจิต ยังไม่ทันต้องกำหนดเข้าสู่กรรมฐานใดๆก็เหมือนมีส่วนของสมาธิอยู่ในจิตเองแล้ว

สรุปคือฉันถือว่าทำตามพุทธบัญชา สำรวจตัวเองแล้วระลึกได้ว่าฉันมีศีลมาพักหนึ่ง กับทั้งยังไม่บกพร่องไป เพราะชีวิตเริ่มห่างจากสิ่งยั่วยุให้ผิดศีลออกมาเรื่อยๆ มีเรื่องรบกวนให้ศีลหมองน้อยเท่าน้อย แต่ก็จะไม่ประมาท ตั้งจิตอธิษฐานซ้ำว่าต่อให้มีเรื่องยั่วยุขนาดขู่เอาชีวิต ฉันก็จะไม่ผิดศีลอย่างเด็ดขาด

ความเห็นถูกตรง

เนื้อหาสำคัญของพุทธศาสนาในสายตาของฉันนั้น ต้นสุดคือให้มาเอา ไม่ใช่มาทิ้ง แต่ยอดสุดคือให้ไปทิ้ง ไม่ใช่ไปเอา

เบื้องต้นพุทธศาสนาให้มาเอาอะไร? ให้มาเอาบุญ เพื่อให้ตาสว่างเห็นความจริง ยิ่งบุญมากเท่าไหร่จิตยิ่งต้องเห็นความจริงชัดขึ้นเท่านั้น

เบื้องปลายพุทธศาสนาให้ไปทิ้งอะไร? ให้ไปทิ้งความยึดมั่นถือมั่น ด้วยมรรคาคือทางที่พระพุทธองค์ปูไว้ให้แล้วพร้อมสรรพ

เรื่องทิฏฐิ หรือความเห็น หรือการตั้งมุมมองพุทธศาสนาให้ถูกต้องตรงทางนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำรวจตัวเองกันได้ง่ายๆเหมือนอย่างการสำรวจศีล เพราะแนวคิดอันเป็นยอดสุดของพุทธนั้นค้านกับสามัญสำนึกของปุถุชนคนธรรมดา

อาจเปรียบเทียบง่ายๆว่าเบื้องต้นพุทธศาสนาชวนให้มาสู่หุบเขาแห่งหนึ่ง ตามทางกองไว้ด้วยข้าวของเงินทองนับไม่ถ้วน สำหรับคนอยู่ไกลย่อมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะมีอะไรอย่างนั้นจริง แต่พอลองไปแล้วก็พบว่าเป็นอย่างที่ประกาศจริงๆ

คนธรรมดาย่อมหอบเงินทองกลับมาบำรุงความเป็นอยู่ของตนให้สุขสบายมั่นคงแล้วหยุดความปรารถนาอยู่แค่นั้น แต่จะมีไม่กี่คนที่รับฟังผู้แจกเงินทอง ว่าที่แจกนี้ความจริงตั้งใจให้เดินทางต่อไป ยังมีที่หมายอันประเสริฐกว่าหุบเขาเงินทองนี้อยู่ เมื่อถามต่อว่าจะให้ไปไหน มีประโยชน์อะไร ผู้แจกเงินก็ตอบว่าอยากให้ได้ไปในสถานที่หนึ่ง ซึ่งไม่ต้องใช้ทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องรักษาทรัพย์สมบัติอีกเลย

พอได้ยินเช่นนี้ปุถุชนทั้งหลายย่อมผงะ เพราะนั่นแปลว่าเมื่อไปถึงที่นั้น สมบัติแสนรักแสนหวงทั้งหลายของตนย่อมถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง มีเพียงหนึ่งในร้อยหรือน้อยกว่านั้น ที่ฟังแล้วบังเกิดความเลื่อมใสยินดี ด้วยแง่คิดมุมมองว่า เออ! วิเศษจริงหนอ ต่อไปไม่ต้องเหนื่อยยากหาสมบัติ ความไม่มีสมบัติเป็นเรื่องเบากายเบาใจยิ่ง

ด้วยเพียงมุมมองที่แตกต่าง มุมมองหนึ่งจะพาคนกลับมาห่วงหวงและรักษาสมบัติต่อไป แต่อีกมุมมองหนึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ดั้นด้นออกเดินทางต่อ ซึ่งผู้แจกเงินในหุบเขามหาสมบัติได้เตือนไว้ล่วงหน้าว่าไม่ง่ายหรอกนะ จะไม่ใช่การเดินทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกนะ

เหตุการณ์สมมุติดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อฉันศึกษาเนื้อหาในพุทธศาสนาอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจเป็นเพราะจุดสะดุดของชีวิตที่หักเหให้ฉันมาสนใจพุทธศาสนานั้น คือคำว่า แก่นพุทธศาสนาคือความหลุดพ้นแห่งใจอย่างไม่กลับกำเริบขึ้นอีก ซึ่งภายหลังฉันมาตรวจพบในจูฬสาโรปมสูตรว่าพระศาสดาตรัสไว้จริงๆ จึงแปลว่าพุทธศาสนาในมุมมองของฉันจึงถูกจัดตั้งไว้แบบเล็งตรงเข้าเป้าตั้งแต่ต้น

และนี่ก็ทำให้ฉันเห็นความสำคัญของสมาชิกบริษัทธรรมะ หรือที่เรียกว่าพุทธบริษัทอย่างยิ่งยวด คนในบริษัทเน้นพูดเรื่องไหน มือใหม่ก็รับฟังไว้อย่างนั้น เป็นโอกาสเลือกทางของเขาอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีใครพูดถึงแก่นกันเลย หรือพูดเรื่องการเข้าถึงแก่นแบบเหนียมๆทำนองรอไว้ชาติหน้าเถอะ แบบนี้ก็อาจมีค่าใกล้เคียงกัน คือคนในศาสนาพุทธจะพากันลืมหมดว่าพระพุทธเจ้าก่อตั้งศาสนาพุทธขึ้นเพื่อการใด

เมื่อสำรวจตนเองจนแน่ใจว่าเข้าใจแก่นสารของพุทธศาสนาชัดเจนถูกต้องแล้ว ก็เกิดการเล็งเห็นว่าตนเองจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความยึดมั่น เลิกเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นตัวเป็นตน

เป้าหมายของฉันไม่ใช่เพื่อเอา แต่เพื่อทิ้ง

ทิ้งอะไร? ดูดีๆแล้วก็คือทิ้งทุกข์ ทิ้งสัมภาระพะรุงพะรังทั้งปวงนั่นเอง คนเราพากันหวงทุกข์ไว้ กอดทุกข์ไว้แนบอก แบกทุกข์ไว้หลังแอ่นยังไม่รู้ตัว มีคนบอกให้ทิ้งยังร้องอีกว่าเรื่องอะไรจะทิ้ง หรืออย่างดีก็ถามว่าทำไมต้องทิ้ง มองไม่เห็นเหตุผลสมควรเลย

เหตุผลว่าทำไมต้องทิ้งนั้นต้องพูดกันยาว และธรรมดาเรื่องที่ต้องพูดกันยาว มีข้อแยกย่อยหยุมหยิมให้หาข้อเท็จจริง กับทั้งมีผลได้ผลเสียหลากหลายนั้น ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และต่างก็ต้องหาเหตุผลอันน่าฟังมาชักชวนให้ใครต่อใครเห็นคล้อยตาม

สำหรับฉัน เหตุผลลึกๆนั้นสารภาพตามตรงว่าไม่รู้ชัดเหมือนกันว่าอะไรมาบันดาลใจนักหนา เคยสุข เคยทุกข์ เคยสนุก เคยเบื่อ ครบหมดทุกรสแบบคนธรรมดามาเหมือนคนธรรมดาอื่นๆทั้งโลก แต่ทำไมถึงอยากหลุดพ้น ไม่อยากวนเวียนซ้ำซากจำเจอยู่กับการสลับฉากดีร้ายอีกต่อไป อันนี้ถ้าจะให้ยกแบบเดาส่งไปพลางๆ ฉันก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะอดีตชาติเคยทำไว้ก่อน เคยมองไว้ก่อน เคยเห็นจริงไว้ก่อน นิสัยในชาตินี้จึงสอดรับกัน

คราวนี้มาสำรวจเรื่องความเข้าใจวิธีไปให้ถึงแก่น…

ประมวลจากประสบการณ์ปฏิบัติธรรมนานนับปีที่ผ่านมา พูดตรงๆฉันได้ข้อสรุปว่าฉันยังไม่รู้ชัดสักเท่าไหร่ว่าตกลงจะให้เอาอย่างไรแน่ เพราะตัวเองไปรับมาหมดเกือบทุกแนว แต่ละแนวก็ไม่เหมือนกัน แม้จะพูดว่าให้ยึดหลักสติปัฏฐาน ๔ แต่ฉันก็ยังไม่รู้สึกว่าเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ อย่างลึกซึ้งตลอดสายสักที เวลามาอ่านสูตรใหญ่เช่นมหาสติปัฏฐานสูตรจะนึกเสมอว่าไม่ลงรอยชนิดประกบสนิททุกฝีก้าวได้กับแนวใดของสำนักใหญ่ในปัจจุบัน

บางวันอาการหนัก เกิดนึกถามตัวเองขึ้นมาด้วยซ้ำว่าปฏิบัติธรรมเขาปฏิบัติกันอย่างไร นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำอย่างนี้ใช่การก้าวเดินไปตามทางมรรคทางผลแน่หรือ

เอาล่ะ! อย่างนั้นฉันจะลองนับหนึ่งใหม่เลย เหมือนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เคยได้ยินได้ฟังอะไรจากใครมาทั้งสิ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาขอให้ถือเป็นพื้นฐาน เป็นการลองผิดลองถูก เป็นตัวช่วยให้ตระหนักว่าเรายังไม่เคยฟังพระพุทธเจ้าสอนปฏิบัติธรรมภาวนาจริงๆจังๆเลยสักครั้ง

สติปัฏฐานแปลว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งของสติ หรืออยากแปลแบบจำง่ายว่าสติปัฏฐานก็คือฐานที่ตั้งของสติก็ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าที่ตั้งของสตินั้นมีอยู่หลายชนิด การเรียน การงานทางโลกก็จัดเป็นที่ตั้งของสติ แต่อย่างนั้นเป็นสติแบบโลกๆ เป็นสติแบบที่ทำให้รักตัวตน หวงตัวตน และอยากให้ตัวตนได้ดียิ่งๆขึ้นไป ส่วนฐานที่ตั้งของสติแบบปฏิบัติธรรมภาวนานั้นต่างกัน คือเราเลือกจุดที่กำหนดใจรู้ น้อมจิตระลึกขึ้นมาแล้ว เกิดสติ ขึ้นมาเหมือนคนถูกปลุกให้ตื่นจากฝัน ที่เคยสำคัญว่าเที่ยง ก็เห็นชัดว่าไม่เที่ยง ที่เคยมั่นหมายว่าเป็นเรา ก็เห็นชัดว่าไม่ใช่เรา

ฐานของสติอันถูกต้องนั้น โดยสรุปย่นย่อที่สุดก็คือกายใจของเรานี่เอง พูดอย่างนี้เมื่อคนทั่วไปฟังก็อาจร้องว่า “อะไร! เหล่านี้มันก็สิ่งที่ฉันนึกๆถึงอยู่เป็นประจำอยู่แล้วนี่หน่า”

ข้อเท็จจริงก็คือคนธรรมดานึกถึงกายใจตัวเองอยู่เนืองๆนั้นใช่อยู่ แต่เป็นการนึกถึงด้วยอาการอยากให้มันเป็น หรือหลงนึกว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เห็นด้วยสติรู้เท่าที่มันกำลังเป็นอยู่ตามจริง

ยกตัวอย่างเช่นกายที่แท้เป็นของสกปรกตั้งแต่หัวจรดเท้า ขูดหนังหน่อยเดียวก็ได้ขี้ไคลออกมา เจาะเข็มลงไปคาวเลือดก็โชยออกมา ยิ่งกรีด ยิ่งลอก ยิ่งถากสิ่งห่อหุ้มปิดบังออกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความจริงที่น่าสะอิดสะเอียนมากขึ้นเท่านั้น แต่เราก็ทะนงในความเป็นสัตว์เนื้อหอมชนิดเดียวในโลกของตน เชิดหน้าชูคอเดินกันด้วยความรู้สึกสง่างามเต็มประดา นี่เป็นตัวอย่างเห็นได้ชัดของอาการหลงนึกว่ากายหอมสะอาด ทั้งที่จริงเป็นความหอมของเครื่องชะโลมกาย และเป็นความสะอาดจากเครื่องประทินผิว จิตสำนึกของเราถูกหลอกด้วยผัสสะเท็จเทียมชั่วคราว ชั่วชีวิตมนุษย์ยุคใหม่คนหนึ่งอาจไม่เคยตระหนักอย่างแท้จริงเลยว่ากายเป็นของเหม็น กายเป็นของสกปรก นับแต่เกิดจนตาย

หรือตัวอย่างแบบเป็นนามธรรมบ้าง เวลาคนเราทุกข์หนัก ก็มักปักใจเชื่อว่าไม่สามารถผ่านความทุกข์นั้นๆไปได้ เผลอๆอาจทึกทักว่าวันเวลาที่เหลืออีกทั้งชีวิตคงต้องจมปลักอยู่อย่างนี้ ทั้งที่จริงแล้วถ้าแค่หยุดเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ทางใจเข้าไป ความทุกข์ก็จะแสดงความไม่เที่ยง ไม่อาจตั้งอยู่ได้เกือบทันที เหตุแห่งทุกข์ทางใจที่ว่านั้นก็คือ อาการครุ่นคิดซ้ำซาก นั่นเอง เพียงถ้ารู้ด้วยสติ เห็นตามจริงว่าอาการครุ่นคิดซ้ำซากก็แค่ของจรเข้ามา ไม่ได้มีอยู่ก่อนในใจ และไม่อาจคงสภาพคิดๆๆได้ตลอดโดยไม่แปรปรวนไปเป็นระดับอ่อนแก่ต่างๆ เท่านั้นก็ได้ชื่อว่าเหตุแห่งทุกข์ถูกจับได้ไล่ทัน ถูกแทรกแซง ถูกแทนที่แล้ว

การที่ฉันจำไว้ว่าสติปัฏฐาน ๔ คือการรู้กายใจตามจริง หรือพูดง่ายๆว่าฐานที่ถูกต้องของสติก็คือกายใจนั้น นับว่าเป็นการย่นย่ออย่างมาก ความจริงต้องจำแนกให้ละเอียดชัดเจนด้วยว่ารู้กายหมายถึงให้รู้ตรงไหน รู้ใจหมายถึงให้รู้นามธรรมที่เกิดขึ้นในรูปลักษณะใด ลองคิดง่ายๆว่าถ้าให้โจทย์เพียง “จงรู้กายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง” เราจะกำหนดรู้ กำหนดดูเข้าไปที่ตรงไหน แค่คำว่า “กาย” คำเดียวคงคลุมเครือก่อความสงสัยแล้วว่าจะให้ดูความไม่เที่ยงที่ตรงไหน ในเมื่อมันก็ปรากฏว่ามี ปรากฏว่าเป็นอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ส่วนคำว่า “ใจ” ยิ่งแล้วใหญ่ อย่างไรเรียกว่าใจ ใจอยู่ตรงไหน ใช่ความคิดหรือเปล่า ล้วนแล้วแต่น่ากังขาทั้งสิ้น

เชื่อไหม ถ้าให้เรานั่งนึกวางแผนเองว่าจะดูอย่างไรจึงเห็นกายใจไม่เที่ยง เราๆท่านๆจะนึกถึงสิ่งที่ดูไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่เชื่อลองนึกในใจเอาเดี๋ยวนี้ก็ได้ คนที่คิดวางแผนกำหนดเป้าล่อให้จิตจะต้องมั่นใจด้วยว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงแบบเป็นขั้นเป็นตอน

แต่สำหรับพระพุทธเจ้า ท่านจะทรงคิดค้นวิธีดูกายใจด้วยองค์ท่านเอง หรือว่าเป็นหลักการตายตัวที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติแล้วท่านเป็นผู้ค้นพบก็ตาม สำหรับฉันบอกได้อย่างเดียวว่าพิจารณาตามแล้วเห็นเป็นอุบายมหัศจรรย์ล้ำลึกเสียจริงๆ เพราะท่านจำแนกกายใจออกเป็นเสี่ยงๆเพื่อให้ง่ายต่อการเข้ารู้เข้าดูอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ๔ หมวด และจำนวนหมวดทั้งสี่นี่เองเป็นเลขห้อยท้ายคำว่าสติปัฏฐาน หมวดเหล่านั้นได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม

ทำความเข้าใจสติปัฏฐาน ๔ เบื้องต้น

เมื่อทำไว้ในใจว่าต่อไปนี้ครูสอนกรรมฐานของฉันคือพระพุทธเจ้า การอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรของฉันก็ไม่ใช่แค่สักแต่ดูเล่นว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง แต่เป็นการน้อมรับฟังว่าพระพุทธเจ้าสั่งให้ทำอะไรบ้าง จิตที่เต็มไปด้วยความเคารพทำให้การศึกษามหาสติปัฏฐานสูตรแยกเป็น ๒ ระดับ โดยสมองทำงานแยกกันเป็นอิสระ คือ

๑) รับฟังและจดจำใส่เกล้าอย่างไม่มีเงื่อนไข กระทำสมองเป็นกระบะรับพุทธพจน์ทุกถ้อยทุกคำ ทรงจำไว้อย่างแม่นยำยิ่งกว่าอ่านตำราทำข้อสอบใดๆทั้งหมดในชีวิต ชนิดที่ถ้าใครถามตรงไหน ฉันตอบได้หมด ลงรายละเอียดได้เป็นคำๆไม่มีพลาด

๒) ตั้งคำถามหาเหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงซอยกายใจออกเป็น ๔ หมวดคือกาย เวทนา จิต ธรรม ตามลำดับ เพื่อความเข้าใจว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ทำถึงไหนแล้วควรต่ออย่างไร

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ฉันสรุปไว้แบบขึ้นใจในระดับของการศึกษาด้วยสมอง ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง

:b43: หมวดกาย

สมมุติว่าฉันไม่รู้จักสติปัฏฐาน ๔ มาก่อน แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าระหว่างกายกับใจ อันไหนดูง่ายกว่ากัน? แน่นอนฉันต้องตอบว่ากาย เพราะกายเป็นฝ่ายรูปธรรมอันจับต้องได้ว่ารูปทรงสัณฐานเรียว รี กลม หรืออ้วนผอมประมาณใด ต่างจากใจที่เป็นฝ่ายนามธรรม กำหนดรู้ได้ด้วยใจเองเท่านั้น เริ่มต้นขึ้นมาจิตที่เต็มไปด้วยความมัวมนจะแสดงอะไรนอกจากภาวะหม่นมืด ฟุ้งซ่าน หาความสงบไม่ได้ มองเข้าไปกี่ทีก็เจอแต่พายุความคิด เป็นพายุลูกย่อมบ้าง ลูกใหญ่บ้าง ประสาคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่รู้จะดูให้เห็นความเกิดดับได้อย่างไรเลย

เมื่อเลือกได้ว่ากายกำหนดง่ายกว่าใจ คราวนี้ฉันก็ตั้งโจทย์อีกว่ามีส่วนไหนในกายที่สามารถล่อให้จิตเรารับรู้ได้ง่ายที่สุด เห็นความเกิดดับเร็วที่สุด กับทั้งสามารถใช้เป็นที่ตั้งของสติได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย?

คิดแค่พริบตาเดียวทุกคนก็ต้องตอบได้ ลมหายใจนั่นเอง ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงจัดให้เป็นฝ่ายรูปธรรม และทรงกำหนดให้เป็นบันไดขั้นแรก เป็นสภาพธรรมหลักในตัวเราที่ควรเฝ้าดูอยู่เสมอๆ

ฉันเล็งเห็นความจริงข้อนี้ ที่ผ่านๆมาจึงได้เพียรพยายามหาแนวทางกำหนดรู้ลมหายใจด้วยวิธีนับลมบ้าง ใช้คำบริกรรมกำกับบ้าง เพ่งดูเฉพาะผัสสะกระทบระหว่างลมกับโพรงจมูกบ้าง แต่อาจยังทำไม่ถูกอะไรสักอย่าง จึงไม่เคยประสพความสำเร็จจริงๆจังๆต่อเนื่องสักที อย่างมากที่สุดบางวันก็มีความสุขสบาย หรือเหมือนลมหายใจแผ่วอ่อนจนขาดไป ส่วนใหญ่จะหลับหรือฟุ้งซ่านมึนงงมากกว่าอย่างอื่น

รอบนี้เมื่อตั้งใจรับฟังแต่พระบรมครูคนเดียว จึงเกิดมุมมองใหม่ว่าความจริงท่านเป็นเจ้าแห่งอุบายภาวนามือวางอันดับหนึ่งของโลก และท่านก็ไม่เคยบอกให้นับลมหรือว่าใช้คำบริกรรมกำกับ รวมทั้งไม่เคยแสดงอุปเท่ห์พิสดารในแบบที่จะออกไปทางศาสตร์ด้านพลังปราณอันใด ท่านสอนธรรมดาๆ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ เน้นความรู้ ความสังเกตตามจริงเป็นสำคัญ อันนี้นึกดีๆแล้วฉันไม่เคยลองทำดูจริงจังเหมือนอย่างอุบายอื่นๆที่ผ่านมาตลอดเลยสักครั้ง น่าทดลองเหมือนกันว่าถ้าเอาจริงแล้วจะเกิดผลเช่นไร ประสพความสำเร็จหรือจะล้มเหลวไม่เป็นท่าเหมือนเช่นที่ผ่านมา อันนี้ต้องคอยดูกัน

สรุปว่าหมวดกายฉันจะเริ่มด้วยการตามรู้ลมหายใจ เมื่อประสพความสำเร็จในการรู้ลมหายใจได้แล้วค่อยดูต่อว่ามีอะไรให้ทำในหมวดกายอีก

:b43: หมวดเวทนา

เมื่ออาศัยลมหายใจเป็นทางรู้กายว่าไม่เที่ยงได้แล้ว หากถามตัวเองว่าจะขยับต่อไปให้ก้าวล่วงเข้ามารู้ในขอบเขตของใจบ้าง ควรจะทำอย่างไร? อันนี้ถ้าให้ตั้งโจทย์ถามตัวเอง ก็จะได้คำตอบว่านามธรรมอันเป็นภาวะทางใจที่ดูง่ายสุด น่าจะเป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับกายนั่นเอง

บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวที่สุด หรือกระทั่งประชิดติดตัวที่สุด ก็คือสิ่งที่เรามองผ่าน และไม่เคยสังเกตอย่างที่สุด เช่นเมื่อทอดร่างลงนอนเหยียดยาว เราจะบอกตัวเองว่าสบายจัง แต่ไม่สังเกตว่าภาวะสบายจังนั้นเกิดขึ้นช้านานเพียงใด แปรปรวนไปเป็นอึดอัดเมื่อยขบ เกร็งต้นคอหรือแผ่นหลังให้ต้องพลิกขยับเป็นอื่นตั้งแต่เมื่อไหร่

ความรู้สึกสบายหรืออึดอัดทางกายนั่นแหละ ครึ่งๆอยู่ระหว่างกายกับใจ

ตามนิยามนั้น เวทนาคือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย หากดูนิยามของสุข ก็คือความสบายกายหรือสบายใจ หากสบายกายก็เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางกาย หากสบายใจก็เรียกว่าเป็นสุขเวทนาทางใจ ส่วนความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์นั้น เบื้องต้นอาจเหมาให้เป็นสุขไปพลางๆก่อนก็ได้ เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ

ฉะนั้นในมุมมองของการตั้งสติกำหนดจริง ที่แท้ก็คือดูความอึดอัดหรือสบายนั่นเอง จะอยู่ท่าไหน จิตใจจดจ่ออยู่กับอะไร แม้ขณะปัจจุบันนี้ วินาทีนี้ก็ต้องมีอาการปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสบายกับไม่สบายกันทุกคน

แต่ฉันพิจารณาแล้วว่าถ้าจิตกำลังคลุมเครือ คิดฟุ้งซ่านอยู่ จะดูไม่ออกว่าเวทนาเป็นอย่างไร เมื่อใดเวทนาหนึ่งๆเกิดขึ้น เมื่อใดเวทนานั้นๆเปลี่ยนไป โจทย์คือทำอย่างไรจะออกจากจุดเริ่มต้นได้ถูกโดยไม่สับสน และไม่หลงสติเห็นเวทนาแบบเลอะๆเลือนๆ

ตรงนี้ก็ปะติดปะต่อกันได้พอดีกับการฝึกในหมวดกายที่ผ่านมา ถ้าหากสามารถรู้ลมหายใจได้ชัดเจนต่อเนื่อง ผลทางกายย่อมเป็นสุขนาน คือสบายกายแบบสดชื่นตอนลากลมหายใจเข้า สบายกายแบบผ่อนคลายตอนระบายลมหายใจออก

และเมื่อกายเป็นสุข ใจย่อมสงบ อาการสงบระงับความฟุ้งซ่านนั้นเองคือสุขเวทนาทางใจ เมื่อแยกออกว่าความสุขทางกายกับความสุขทางใจแตกต่างกันอย่างไร ฉันก็เชื่อว่าจะเป็นเส้นทางเข้าถึงภาวะอันเป็นนามธรรมหยาบละเอียดได้ตามลำดับ เมื่อเห็นครบทั้งหยาบและละเอียด จิตย่อมปล่อยวางทั้งในระดับตื้นและในระดับลึก

สรุปคือฉันวางแผนจะเริ่มดูลมหายใจจนเป็นสุขทางกายได้ แล้วค่อยขยับมาดูสุขทางใจ น่าจะสอดคล้องกันกับที่พระพุทธองค์ทรงแยกเวทนาไว้สองชนิด คือเวทนาทางกาย กับเวทนาทางใจ และในสติปัฏฐานพระองค์ให้ดูโดยเปรียบเทียบเวทนาเป็นอย่างๆก่อน พอยกสติเข้าไปรู้ เข้าไปดู เข้าไปเห็นแล้วว่าหน้าตาเวทนาเป็นอย่างไรก็ค่อยดูเวทนานั้นๆโดยความเป็นของเกิดดับในภายหลัง

:b43: หมวดจิต

เมื่อแน่ใจว่ารู้สุขทางใจได้ชัดแล้ว หากถามตัวเองว่าจะเข้าถึงความรู้จักจิตตัวเองได้อย่างไร คราวนี้คงง่ายขึ้น เพราะหากรู้สุขทางใจได้นาน ก็แปลว่าจิตต้องมีความสงบราบคาบพอสมควร เมื่อจิตเป็นสุขจากการเสวยวิเวก ภาวะพอใจสงบย่อมปรากฏเด่น และถูกรู้ได้ในตัวเองว่าลักษณะหน้าตาของอาการสงบใจเป็นอย่างไร

จากประสบการณ์ปฏิบัติแบบตามมีตามเกิดที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ฉันพบว่าถ้าวันไหนทำสมาธิจนสงบสุขได้ ก็จะเหมือนเห็นจิตตัวเองในอีกแบบหนึ่ง คือปรากฏภาวะไม่มีหูไม่มีตา ไม่มีแขนไม่มีตัว มีแต่ดวงความรู้ดวงหนึ่งปรากฏสภาพคงที่อยู่เฉยๆ ภาวะนั้นทำให้รู้สึกภูมิใจและยึดมั่นว่าตัวเองทำได้ ทั้งที่เกิดขึ้นน้อยชนิดนานทีปีหน แต่ฉันก็ยังเอาไปคุยกับใครต่อใครอยู่เรื่อยว่าฉันทำได้ ราวกับว่าเกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน

พอมาศึกษาสติปัฏฐานในหมวดของจิต เห็นพระพุทธเจ้าท่านให้เทียบจิตเป็นอย่างๆ เอาคู่ตรงข้ามมาเป็นเครื่องเทียบเคียง เพื่อให้เห็นว่าจิตแบบหนึ่งๆต้องเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามเสมอ ฉันก็เกิดอาการย้อนพิจารณา เห็นว่าที่ผ่านมาเมื่อนิ่งแล้วก็ไปยึดความนิ่งเป็นของดี ของน่าภูมิใจ แท้จริงแล้วเป็นเครื่องหมักดองหรือเพิ่มพูนกิเลสได้อย่างหนึ่ง หาใช่สมาธิที่ถูกทางครบพร้อมแต่อย่างใด ตราบใดไม่มีสติรู้เพื่อปล่อยวาง ตราบนั้นยังไม่เข้าทางมรรคผล ต่อให้ทำอะไรได้ดีเลิศปานใดก็ตาม

ฉันทบทวนดูแล้วตาสว่าง และคิดจะใช้ความสุขทางใจนั่นเองเป็นตัวกรุยทางเข้าไปรู้เข้าไปดูสภาพทางจิต กล่าวคือเมื่อสุขนานพอ จิตย่อมปรากฏชัดโดยความเป็นของนิ่ง เมื่อจิตเคลื่อนจากความนิ่ง ก็ค่อยเปรียบเทียบเอาว่าจิตที่ไม่นิ่งนั้นแตกต่างจากภาวะนิ่งอย่างไร

หลังจากทบทวนพิจารณาหมวดจิตที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ ฉันได้ข้อสรุปว่าตัวความสงบเป็นเพียงอาการหนึ่งของจิต ผิดจากสามัญสำนึกของนักภาวนามือใหม่ ที่มักเข้าใจว่าถ้าสงบลงได้นานพอ แปลว่าเข้าถึงสภาพจิตเป็นดวงๆอย่างแท้จริง ตามที่ถูกแล้วจิตมีหลายแบบ และเราควรรู้ทุกแบบ

ฉันถามตัวเองว่าถ้าอยู่ในชีวิตประจำวันเราจะเห็นจิตได้อย่างไร? ก็ได้คำตอบที่พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วตั้งแต่ตอนต้นของหมวดจิต นั่นคือเมื่อเกิดราคะ ให้รู้ว่าจิตมีราคะ หากรู้ว่าจิตมีราคะโดยไม่หมกมุ่นครุ่นคิดจินตนาการต่อ ราคะย่อมหายไป นั่นเองพระพุทธองค์ก็ให้รู้ต่อว่าจิตไม่มีราคะนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับขณะที่จิตมีราคะแล้วต่างกันแค่ไหน อาจจะในแง่ของแรงดึงดูดเข้าหาวัตถุกาม หรืออาจจะในแง่ของปฏิกิริยาทางกายที่เกี่ยวเนื่องกันกับจิตก็ได้

ทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดโทสะก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตไม่มีโทสะก็ให้รู้โดยเปรียบเทียบเอาว่าความร้อนกายร้อนใจ หรืออาการเค้นแน่นจุกอก หรือความเสียดแทงในหัว ตอนมีกับตอนไม่มีแตกต่างกันอย่างไรก็รู้ตามจริง

เมื่อใช้ชีวิตตามปกติ ฉันเคยสังเกตอยู่ว่าตัวเองว่าจิตจะอยู่ในสภาพเหม่อลอยบ่อยๆ คือหลงคิดหลงสร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย ถึงแม้ไม่สร้างวิมานในอากาศก็จะปล่อยให้จิตพักผ่อนตามถนัด นั่งนอนทอดหุ่ยไปเรื่อย ต่อเมื่อมีงานต้องทำ หรือมีใครเข้ามาหา สติจึงค่อยยกขึ้นไปรู้วัตถุหรือบุคคลอันเป็นเครื่องกระทบ นี่ก็น่าจะเป็นสภาพธรรมที่คอยตามเปรียบเทียบดูได้ว่าต่างกันอย่างไร กล่าวคือถ้าทอดหุ่ยหรือเหม่อลอยสร้างวิมานในอากาศ เมื่อนึกได้ฉันจะสำรวจดูว่าจิตในสภาพลอยๆนั้นมีลักษณะอย่างไร แตกต่างจากจิตขณะมีสติยกขึ้นตั้งแล้วแค่ไหน นั่นเองเป็นการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าให้เทียบเคียง จิตมีโมหะก็รู้ จิตไม่มีโมหะก็รู้

สรุปคือฉันจะเริ่มสำเหนียกถึงลักษณะอาการของจิต ไม่สำคัญมั่นหมายว่าจิตมีภาวะใดภาวะหนึ่งตายตัว เริ่มต้นจะดูจากภาวะที่ง่ายที่สุด คือภาวะจิตสงบนิ่ง จากนั้นค่อยๆเทียบเคียงไปเรื่อยๆว่าจิตในชีวิตประจำวันแตกต่างจากจิตสงบมากน้อยแค่ไหน และที่ต่างนั้นกระเดียดไปในทางราคะ โทสะ หรือโมหะ

:b43: หมวดธรรม

หมวดนี้ฉันไม่อาจคิดเองได้ และในระดับที่ยังนึกๆคิดๆ จิตไม่ตั้งมั่นในตอนนี้ ฉันไม่สามารถเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีหมวดสุดท้ายในสติปัฏฐาน ๔ ทุกอย่างผูกกันตามลำดับหรือกระจายเป็นเอกเทศก็ไม่ทราบ

ฉันต้องใช้วิธีอ่านแบบตั้งข้อสังเกตอย่างละเอียด แล้วพบความจริงอย่างหนึ่ง คือถ้ามองในแง่ความยากง่าย ต้องบอกว่าหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตนั้นน่าจะเป็นพื้นฐานที่ง่ายกว่าหมวดธรรม วัดจากเนื้อหาก็ได้ ส่วนหนึ่งของกายคือลมหายใจ ใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งของเวทนาคือสุข ทุกข์ เฉย อย่างนี้ใครๆก็รู้ ส่วนหนึ่งของจิตคือภาวะมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน หรือสงบ อย่างนี้ใครๆก็รู้ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถรู้ได้โดยความเป็นของเทียบเคียงกัน

แต่สำหรับหมวดธรรมจะไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เทียบเคียง แต่จะให้รู้สภาวะหนึ่งๆโดยความเป็นของเกิดขึ้นและดับลงตรงๆ หรือไม่ก็ให้ดูว่าขณะหนึ่งๆที่รับผัสสะกระทบเข้ามานั้น ปฏิกิริยาทางใจออกไปในทางทะยานเข้ายึดหรือว่าสักแต่รู้แล้ววางเฉยเสมอกับอารมณ์

นอกจากนั้นยังมีเรื่องละเอียด พระพุทธองค์รวมเอาข้อธรรมชั้นสูงมาให้พิจารณากันที่หมวดธรรมนี่เอง เพราะฉะนั้นฉันจึงสรุปว่าเมื่ออบรมหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงมากพอ จิตมีความตั้งมั่นเอาตัวรอดจากการครอบงำหยาบๆทั้งหลายในโลกได้แล้ว สติจึงคมชัดมากพอจะสามารถปฏิบัติในหมวดธรรม

สรุปคือในขั้นนี้ตอนนี้ฉันยังไม่อาจวางแผนอะไรได้ เข้าใจว่าถึงจุดที่อิ่มตัวในหมวดกาย หมวดเวทนา และหมวดจิตพอสมควรแล้ว คงรู้เองว่าจะก้าวรุกคืบเพื่อชิงชัยกับกิเลสด้วยหมวดธรรมได้อย่างไร

:b43: ความตั้งใจสำรวจและประเมินตนเอง
ด้วยความที่เคยผ่านการปฏิบัติแบบงูๆปลาๆจับฉ่ายมานับปี ทำให้ฉันได้ข้อคิดอย่างหนึ่งคือถ้าขาดการสำรวจตนเอง เราจะย่ำซ้ำอยู่กับที่ จิตพัฒนาขึ้นแล้วตกต่ำลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่รู้สึกตัวเองเลยว่าเดินทางมาถึงไหนกันแน่ พอผ่านเดือนผ่านปียังไปไม่ถึงไหนก็โทษส่งว่าเป็นเพราะบุญน้อยหรือวาสนาต่ำ มองข้างหน้าด้วยความหมดหวัง หรือหวังได้แค่รางเลือนว่าชาตินี้จะคว้ามรรคคว้าผลกับเขาได้

เมื่อเกิดแรงฮึดรอบใหม่คราวนี้ ที่อธิษฐานขออาราธนาพระพุทธเจ้าเป็นครูสอน ฉันเกิดกำลังใจอย่างมหาศาล และคิดแบบนักศึกษาในโลกใหม่ว่าฉันควรมีเกณฑ์การตรวจสอบที่ชัดเจนว่าคืบหน้าคืบหลังไปถึงไหน ฉันไม่อยากทำไปดุ่ยๆแบบไม่รู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหน และเฝ้าถามตนเองแล้วๆเล่าๆว่าเมื่อใดมรรคผลจะมาถึงเสียที โดยไม่มีกรอบมีเกณฑ์ที่แน่ชัดอีกต่อไป

:b43: หลักในการประเมินความคืบหน้า

ในเมื่อฉันจะปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์สั่งให้ทำ เพราะฉะนั้นฉันก็ตัดสินใจได้ว่าจะถือเอาลำดับขั้นของสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองเป็นตัวบอกระดับหยาบละเอียดของสติ อย่างที่ฉันพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าหมวดต่างๆคือกาย เวทนา จิต และธรรมนั้น มีความหยาบละเอียดตามลำดับ หากจิตของฉันมีความสามารถรู้ชัดในหมวดไหนเป็นปกติ ก็จะถือว่าสติพัฒนามาถึงขั้นนั้น ประเภทรู้แวบๆไม่เอา เอาแบบที่สติทรงอยู่กับฐานหนึ่งๆชัดอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น

:b43: หลักในการตรวจสอบทิศทาง

ฉันหาอ่านสูตรต่างๆที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทิศทางเดินจิตของตนเองว่ากำลังมุ่งไปสู่มรรคผลหรือไม่ อ่านเป็นนานสองนานกว่าจะย้อนกลับมาพบว่าคำตอบมีอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่แล้ว นั่นคือ โพชฌงค์ ๗ คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือพูดง่ายๆว่าถ้าปฏิบัติไปแล้วจิตมีลักษณะ ๗ ประการเป็นองค์ประกอบพร้อมอยู่ ก็แปลว่าอาจเกิดมรรคผลขึ้นในขณะใดขณะหนึ่งก็ได้

ที่มองข้ามไปแต่แรกก็เพราะมัวนึกว่าโพชฌงค์ ๗ อยู่ในหมวดธรรม ซึ่งนับว่าเป็นขั้นของการปฏิบัติระดับสูง ต่อเมื่อมาเจอโพชฌงคสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสติรู้ลมหายใจกับโพชฌงค์ ๗ ความเข้าใจที่ผิดพลาดจึงถูกแก้ไขใหม่ สรุปง่ายๆ ณ จุดเริ่มต้นนี้ก่อนว่าโพชฌงค์ ๗ เป็นสิ่งที่เจริญขึ้นได้แม้ในขั้นตอนของการกำหนดสติรู้ลมหายใจ และอาศัยสติรู้ลมหายใจทั้งลืมตาและหลับตานั้น ไต่ไปสู่ยอดคือถึงความหลุดพ้นแห่งใจระดับอรหันต์ได้เลยทีเดียว ฉะนั้นแค่เริ่มปฏิบัติสติปัฏฐานเบื้องต้นในหมวดกาย คือรู้ลมหายใจนั้น ก็สามารถใช้เกณฑ์คือโพชฌงค์มาเป็นหลักตรวจสอบทิศทางได้แล้ว

:b43: โพชฌงค์ประกอบด้วยองค์ธรรม ๗ ประการ คือ

๑) สติ: คืออาการยกขึ้นรู้ เช่นแทนที่จะแช่จมอยู่กับความเหม่อ หรือคลุกเคล้าอยู่กับความฟุ้งซ่าน ก็มีจิตที่กำหนด หรือถามตัวเองตามจริงว่าขณะนี้กำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า

๒) ธัมมวิจัย: คืออาการวิจัยธรรมเฉพาะหน้าที่ปรากฏแก่สติ หมายความว่าไม่ใช่แค่รู้ว่าเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสอะไรแบบปุถุชนปกติ แต่รู้ในแบบเห็นเกิดดับ หรือเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนในทางใดทางหนึ่งด้วย เช่นมองว่าลมหายใจเข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า สักแต่เป็นธาตุลม ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น

๓) วิริยะ: ความเพียรวิจัยธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อเห็นลมหายใจเกิดแล้วดับ ก็ตามเห็นความเกิดดับนั้นไม่ลดละ เท่าที่จะทำได้จนสุดความสามารถ

๔) ปีติ: ความเบิกบานใจไม่หม่นหมอง ไม่พยายามเกินกำลังจนเครียดกังวล รวมทั้งไม่มัวแต่หวังผลที่ยังมาไม่ถึงจนท้อแท้ พูดง่ายๆถ้าอยู่ที่จุดสมดุล ไม่เพ่งและไม่เผลอได้ก็จะปีติเบิกบานเอง

๕) ปัสสัทธิ: ความไม่กวัดแกว่งกายใจ เป็นธรรมชาติที่ตามมาเองเมื่อเบิกบานอยู่ในธรรม ไม่กวัดแกว่งกายคือสงบนิ่งไม่อึดอัดอยากเขยื้อนเคลื่อนไหว ไม่กวัดแกว่งใจคือคลื่นความฟุ้งหยุดตัวลง

๖) สมาธิ: ความตั้งมั่นแห่งจิต เป็นผลที่เกิดจากความระงับกายใจ มีความสุขสงบ จึงเหมือนน้ำนิ่งราบคาบไร้คลื่นลม รวมทั้งไม่มีอาการกำหนดเพ่งคับแคบลงที่จุดใดจุดหนึ่ง

๗) อุเบกขา: ความวางเฉยในจิตอันตั้งมั่นแล้ว ไม่ใช่การกำหนดวางเฉยในสิ่งที่รู้หรือเห็น ข้อนี้มักเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและทำให้ธรรมชั้นในๆเช่นจิตถูกละเลย ต่อเมื่อฉันศึกษาโพชฌงคสูตรอย่างถี่ถ้วน เห็นพุทธพจน์สำคัญคือ “วางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นแล้ว” จึงเข้าใจเสียใหม่ได้ถูกต้อง

สรุป คือ ฉันจะใช้โพชฌงค์เป็นตัวตรวจสอบจิตตนเองว่ากำลังดำเนินอยู่ในเส้นทางไปสู่มรรคผลหรือไม่ นับเริ่มกันตั้งแต่สติรู้ลมหายใจอันเป็นบันไดขั้นแรกของสติปัฏฐานหมวดกายเลยทีเดียว จากนั้นเมื่อก้าวขึ้นบันไดขั้นต่อๆไป ก็จะใช้เกณฑ์วิเคราะห์สภาพจิตคือโพชฌงค์นี้ตรวจสอบไปจนให้ถึงที่สุดในหมวดธรรมเลยทีเดียว

:b43: ตั้งเป้าแรก

แน่นอนว่าฉันจะปฏิบัติไปเป็นขั้นๆตามที่พระศาสดาผู้เป็นบรมครูสั่ง แต่ฉันคิดว่าควรจะหวังผลใกล้ที่สุดที่เป็นไปได้ไว้ด้วย เพื่อให้ตัวเองรู้ว่าสภาพแบบที่ควรเกิด ได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง

เป้าแรกที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนคือการได้มาซึ่งคุณภาพสติ คุณภาพของจิตที่พร้อมพอจะรู้กายใจชัด ดังที่บ่งไว้มากมายในสติปัฏฐาน ๔ คำก็รู้ชัด สองคำก็รู้ชัด มีคำว่ารู้ชัดปรากฏตลอดทั่วไปหมดทั้งสูตร อันนี้คิดตามได้ไม่ยาก เพราะด้วยสติคมชัด มีความรู้ชัดเห็นชัดเท่านั้น จึงจะไหวทันขณะของความเกิดขึ้น และขณะของความดับไป

ที่ผ่านมาฉันไม่เห็นความเกิดดับสักที อาจเพราะวนอยู่รอบๆรูปแบบปฏิบัติตายตัว หรือปล่อยให้รู้เองโดยเข้าใจว่าเป็นการมีสติอย่างเป็นธรรมชาติมากเกินไปจนแท้จริงแล้วไม่รู้อะไรเลย รอบนี้ฉันต้องตีโจทย์ให้แตก คือทำอย่างไรจะให้จิตมีคุณภาพรู้ชัด และรักษาคุณภาพรู้ชัดนั้นไว้ให้นานที่สุด

ทุกอย่างพร้อมแล้ว ฉันรู้สึกถึงพลกำลังที่ประจุแน่นหนา และเห็นตนเองกำลังจะเริ่มก้าวขึ้นบันไดขั้นแรก



:b53: มีต่อ.....

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แก้ไขล่าสุดโดย Bwitch เมื่อ 04 ก.ย. 2009, 11:43, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: เดือนที่ ๑: ราวเกาะของมือใหม่

อย่างที่ตัดสินใจแต่ต้นแล้วว่าฉันจะเชื่อพระพุทธเจ้าทุกคำ เพราะฉะนั้นแม้แต่ที่พระองค์ตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตรว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดีฯ ฉันก็น้อมมาสู่ใจและถือเป็นฤกษ์ดีประจำตัว อย่างเช่นเมื่อแน่ใจว่ามีความเห็นที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็เอาเวลาในวินาทีนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ต้องรอวันพฤหัส ไม่ต้องรอพระอาทิตย์ พระจันทร์ หรือดาวฤกษ์ดาวเคราะห์ใดๆส่องประกาย ณ ตำแหน่งมหามงคลเสียก่อน

นาทีนี้มีลมหายใจให้ดู ไม่รู้นาทีหน้าจะยังมีหรือเปล่า ครูธรรมะคนแรกของฉันเหมือนย้อนมาเตือนว่าแม้แต่ท่านเองก็ไม่รู้วันตาย ขนาดนัดแนะอย่างดีว่าจะสอนฉันปฏิบัติธรรมในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ท่านยังผิดนัดด้วยเหตุสุดวิสัยไปเสียแล้ว

ลมหายใจเฮือกนี้จะแตกต่างจากทุกลมหายใจทั้งหมดที่ผ่านมา เพราะมันจะเป็นลมหายใจแรกของบรรดาลมหายใจที่เหลือทั้งชีวิต ที่มีเอาไว้สำหรับอาศัยระลึกว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตน

แต่จะบังเอิญเป็นฤกษ์งามยามดีอย่างไรก็ไม่ทราบ เผอิญจริงๆวันที่ฉันมั่นใจว่ารู้ครอบคลุมหลักปฏิบัติพอจะลงมือนั้น เป็นวันที่ ๑ มกราคม พอดิบพอดี

ดังกล่าวแล้วว่าสำหรับช่วงต้นของการเจริญสติปัฏฐาน ฉันตัดสินใจเริ่มก้าวไปตามลำดับ ซึ่งก็แปลว่าต้องตั้งหลักจากหมวดกาย และหมวดกายก็ต้องนับจาก อานาปานสติ หรือการฝึกสติรู้ลมหายใจ เพราะฉะนั้นนับแต่นี้ฉันจะให้ลมหายใจเป็นราวเกาะของสติเสมอ



อานาปานสติอย่างย่อสำหรับมือใหม่

ฉันศึกษาอานาปานบรรพของหมวดกายในสติปัฏฐาน หรือที่สามารถแยกออกมาเป็นสูตรต่างหากโดยพิสดารชื่อ อานาปานสติสูตร เห็นว่ามีความลุ่มลึก และต้องยอมรับว่าตอนกลางถึงตอนท้ายสูตรค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับมือใหม่ ฉันจึงคัดเฉพาะส่วนที่สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีไว้ปฏิบัติ เพื่อให้หยิบจับได้เป็นชิ้นเป็นอันไม่สะเปะสะปะพร่าเลือน

ฉันเห็นว่าหลักการง่ายๆสำหรับมือใหม่ฝึกรู้ลมหายใจมีดังนี้

๑) มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า นั่นคือให้แน่ใจว่ายกสติขึ้นจับลมหายใจเสียก่อนเป็นอันดับแรก

๒) ถ้าหายใจยาวก็รู้ชัดว่าหายใจยาว ทั้งขาออกและขาเข้า

๓) ถ้าหายใจสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจสั้น ทั้งขาออกและขาเข้า

๔) ทำจิตตนเองให้อยู่ในฐานะผู้รู้ผู้เฝ้าดูว่าสายลมหายใจที่กำลังปรากฏมีสภาพใด

ทีแรกฉันก็สงสัยว่าจะเอาอะไรวัด ว่ายาวหรือสั้น พอลองหายใจดูสองสามทีก็สรุปกับตัวเองว่า เอาความรู้สึก นั่นเองเป็นตัวบอก กล่าวคือถ้าลากลมยาว สบายปอด หรือที่เรียกหายใจได้ทั่วท้อง ท้องพองออกจนสุดโดยไม่เกร็ง อย่างนั้นเรียกลมยาว แต่ถ้าดึงเข้าได้แค่พอผ่านไปครั้งหนึ่ง ยังมีอาการหนีบหรือเกร็งช่วงอกช่วงท้องอยู่ อย่างนั้นเรียกลมสั้น อาจเปรียบเทียบกันครั้งต่อครั้งก็ได้ พูดง่ายๆคือดูว่าลมครั้งนี้ยาวหรือสั้นกว่าลมครั้งก่อน

เมื่อตกลงใจยึดอานาปานสติเป็นราวเกาะ ถือว่าการปล่อยราวเกาะคือการล้มลุกคลุกคลาน ฉันก็ได้คำตอบในทันทีว่าจะกระทำจิตให้มีคุณภาพพร้อมรู้ชัดเจนได้อย่างไร ถ้าจิตอยู่ในฐานะผู้รู้ผู้เฝ้าดูลมหายใจได้ตามจริงว่ากำลังเข้าหรือออก กำลังยาวหรือสั้น เห็นอย่างปกติเป็นอัตโนมัติ อย่างนั้นถือว่าบรรลุเป้าหมายแรก และได้องค์ที่ ๑ ของโพชฌงค์คือสติ!

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 10:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: วันที่ ๑: พยายามตั้งสติ

ลมหายใจแรกของการเจริญสติปัฏฐานปรากฏขึ้น!

มันคือลมหายใจแสนธรรมดาเฮือกหนึ่ง ไม่ต่างอะไรจากลมที่ผ่านมาทั้งชีวิต ไม่ต่างอะไรแม้จากลมที่พัดผ่านกิ่งไม้ใบหญ้ารอบตัว

แต่สิ่งที่แตกต่างไปคือใจ! ใจที่ถูกกำหนดมุมมองไว้ว่าจะเห็นลมหายใจเป็นราวเกาะสำหรับประคองตัวเดินไปตามทางสู่ความหลุดพ้น

ขณะนั้นฉันกำลังลืมตา และนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน เพิ่งวางมือจากสมุดบันทึกเล่มกะทัดรัดด้วยความตั้งใจว่าลมหายใจที่เหลือทั้งชีวิตจะเป็นเครื่องอาศัยระลึก เป็นฐานสติแรกตามแนวที่พระพุทธเจ้าเน้นนักเน้นหนา

อาจเพราะกระตือรือร้นมากไปหน่อย ลมหายใจมหามงคลจึงถูกรู้ด้วยจิตที่เพ่งแน่วราวกับจะยิงธนู สมองของฉันทำงานเป็นนักพากย์ไปด้วย บอกตัวเองราวกับเด็กไม่รู้ประสีประสา ว่าอย่างนี้หายใจเข้า อย่างนี้หายใจออก ความเคยชินตามแนวฝึกเดิมทำให้ฉันเฝ้านับไปด้วย ฉันเป็นพวกนับระหว่างกำลังหายใจออก ตอนกำลังพ่นระบายลมก็นับ ๑ อีกครั้งก็นับ ๒ และบังคับให้แน่ใจว่ากำลังรู้ลมออก กำลังรู้ลมเข้า ตามกติกาข้อแรกของอานาปานสติ

หายใจสิบกว่าครั้งจนเกร็งไปทั้งตัว ฉันสำรวจอีกทีก็เห็นเหมือนตัวเองกลายเป็นหุ่นขี้ผึ้ง คอเคอหลังไหล่แข็งทื่อไปหมด แถมสติหล่นลงน้ำไปตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ทราบ คงประมาณว่าเริ่มเลอะเลือนตอนเพ่งแรงเสียจนอาการเพ่งนั้นแปรเป็นม่านทึบบังใจไม่ให้เห็นลมเสียเอง ฉันพิจารณาแล้วว่าอย่างนี้อย่าเพิ่งหวังไปถึงขั้นปีติเบิกบาน กายใจไม่กวัดแกว่งเลย เอาแค่สติก็ขาดแหว่งไม่มีชิ้นดีแล้ว

ฉันจึงจดใส่สมุดบันทึก ความพยายามครั้งแรกต้องนับว่าผิด เพราะกระตือรือร้นตื่นเต้นไปหน่อย ทำให้ลมหายใจธรรมดากลายเป็นลมหายใจแห่งความเครียดเกร็งด้วยจิตที่ตั้งไว้ผิด

แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงเรียกว่าเป็นการกำหนดสติเริ่มแรกได้ถูกต้องกันแน่ นั่งนึกๆถึงตอนทำสมาธิแล้วสงบสุขลงได้แบบฟลุกๆ ก็จำไม่ได้ว่าตั้งต้นท่าไหนจึงเข้าสู่ความสงบนิ่งเช่นนั้น

ฉันเม้มปาก รู้ตัวว่าถ้านั่งคิดเคร่งวกวนแบบนี้อีกพักหนึ่งร่างกายจะหนัก ความง่วงเหงาหดหู่จะมาเยือน จึงคิดเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินเล่นเสียหน่อย โดยไม่ลืมหยิบปากกากับสมุดบันทึกเล่มเล็กติดตัวมาด้วย

สัญชาตญาณของคนต้องการพักผ่อนพาฉันมาที่สนามหญ้าหน้าบ้าน เห็นผีเสื้อสองสามตัวบินเล่นกันเรี่ยพื้นหญ้าแล้วค่อยรู้สึกว่าความเกร็งลดลง ฉันรีบจดบันทึกว่าสายตามีส่วนสำคัญกับความเกร็งหรือความผ่อนคลาย ถ้าทอดยาวมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ใจจะเหมือนประตูที่เปิดอ้าออกกว้างเพื่อรับภาพกระทบภายนอก แต่ถ้าทอดต่ำหรือมองไม่เห็นอะไร ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องสะท้อนว่าจิตกำลังหมกมุ่นอยู่กับความคิดนึกฟุ้งซ่านวกวนไร้จุดหมาย กำลังคิดอะไร กลัดกลุ้มเกี่ยวกับเรื่องไหน บางทีเจ้าตัวไม่ทราบด้วยซ้ำ เพราะคลื่นความคิดเหมือนน้ำขุ่นคลัก บดบังไม่ให้เห็นอะไรเสียหมด

ฉันออกมายืนกลางสนาม เงยหน้ามองฟ้าใสสบายๆ และรู้สึกหัวอกเปิดโล่งดีจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจิตปิดแคบเคร่งครัดเมื่อครู่ เรียกว่าเป็นคนละเรื่องทีเดียว ฉันยิ้มด้วยอาการของคนตาสว่าง เมื่อยังเห็นคลุมไปทั้งโค้งฟ้าเบื้องบนนั้นเอง ก็ลองกำหนดว่าจะรู้ลมหายใจออก รู้ลมหายใจเข้าไปด้วย

สายตาฉันอาจเห็นฟ้าเพียงพร่าเลือน แต่มันก็ถูกกำหนดให้มองสบายอยู่อย่างนั้น พูดง่ายๆว่าฟ้าเป็นเพียงเป้าล่อให้เกิดโฟกัสที่ไม่บีบรัดคับแคบ ไม่ใช่เป้าหมายวัตถุที่ต้องการจะรู้จริงๆ สิ่งที่ปรากฏต่อใจเป็นอันดับหนึ่งคือลมเข้าออก

ฉันพบว่าเมื่อทำเช่นนั้น ใจมีความปลอดโปร่งสบาย และพร้อมรู้ลมหายใจตามจริงว่ากำลังเข้าหรือออก ยิ่งนานก็ยิ่งเบาตัว แม้คลื่นความฟุ้งซ่านยังคอยตามราวีแทรกแซงสติอยู่ตลอด ก็ไม่รู้สึกรำคาญ รวมทั้งไม่สามารถทำให้ลมหายใจเสียความสำคัญไปแต่อย่างใด

ฉันจดจำไว้ในใจว่าจิตต้องเปิดสบายเหมือนมองฟ้าอย่างนี้ สติถึงจะเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง

นับลมหายใจได้ประมาณ ๒๐ ครั้งฉันก็เริ่มเมื่อยขา จึงรู้สึกตัวว่าแม้ไม่เกร็งช่วงบน ช่วงล่างก็ตึงๆอยู่ดี จึงย้ายที่กลับเข้าห้องนอนใหม่ พอถึงห้องนอนก็อุทานในใจว่าตาย! ลมหายใจถูกทิ้งขว้างไว้ระหว่างทางโดยไม่รู้สึกตัวแม้แต่นิดเดียว สติหายไปไหนตั้งแต่เมื่อไหร่กันนี่?

เครียดขึ้นมานิดๆเมื่อเห็นว่าสติเป็นสิ่งที่รักษาได้ยาก แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยฉันก็ได้ความเข้าใจว่าองค์ที่หนึ่งของโพชฌงค์ยังไม่ได้ปรากฏอย่างแท้จริง เมื่อครู่กลางสนามนั้นเป็นเพียงสติชั่วคราวที่พร้อมจะเลือนทันทีที่ใจแลบออกไปหาสิ่งอื่น และใจเมื่อแลบแล้วก็มักจะหายลับไม่กลับมาอีกเลยถ้าไม่กำหนดเรียก

เริ่มต้นเห็นตัวเองไม่เอาไหนก็รู้สึกท้อเสียแล้ว เตียงนอนยามนี้ดูคล้ายเครื่องส่งพลังดึงดูดให้ร่างกายฉันลงไปนอนแผ่ และฉันก็ยังไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปสู้กับแรงดึงดูดชนิดนั้น จึงลงนอนในฐานะเจ้าของเตียงผู้มีอำนาจเต็ม วันว่างทำให้ฉันมีเวลาเหลือเฟือสำหรับการคลายอิริยาบถ

หลับตาลง รู้สึกถึงกายเหยียดยาว ความสบายทำให้เกิดความคิดว่ามัวไปกำหนดสติหาอะไร นอนหลับพักผ่อนให้สมกับเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ได้พักงานสบายไม่ดีกว่าหรือ?

พอรู้สึกตัวว่าคิดเช่นนั้นก็สะดุ้งเล็กน้อย เพิ่งสิบนาทีที่ยอดมนุษย์เริ่มเดินทางไกล ตัวน่าเกลียดอะไรดันทะลึ่งโผล่เข้ามาในหัวกันล่ะนี่ แต่ฉันก็ไม่โทษตัวเอง เพราะอย่างน้อยก็ไวพอจะจับได้ไล่ทันเจ้าตัวน่าเกลียดนั้นโยนทิ้งจากทาง

โดยไม่ขยับเปลี่ยนจากอิริยาบถนอนให้เสียเวลา ฉันลากลมหายใจเข้าสบายๆ พบว่าในท่านอนนี้เกื้อกูลการลากลมมากกว่าท่านั่ง ยืน เดิน เพราะร่างกายเหยียดสบายตลอด ไม่มีน้ำหนักส่วนบนกดหน้าท้องไว้ หน้าท้องจึงพองขึ้นได้อย่างสะดวกยามลากลมเข้ายาว

เอ้อ! ความสบายสายตา ความสบายหน้าท้อง รวมทั้งความผ่อนคลายองคาพยพนี้นับเป็นปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวยให้สติตั้งได้ดี ตั้งได้ทนจริงๆ ใจนึกว่าเดี๋ยวลุกขึ้นจะไปจดความจริงนี้ใส่สมุดบันทึกอีก

แต่แล้วความสังเกตสังกาก็พาไปพบความจริงอีกประการหนึ่ง นั่นคือเมื่อร่างเหยียดยาวในแนวราบ สติจะลดความคมลงในระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไปเดี๋ยวเดียว นอนนับลมได้แค่สองสามหน ในหัวก็เริ่มเหมือนมีหมอกมัวฝ้าฟางโรยตัวลงกระจายเต็ม สติรับรู้ลมเข้าออกเริ่มรางเลือนทีละน้อยกระทั่งหลับวูบไปโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งที่อยากบอกตัวเองให้ลุกขึ้นก่อนจะสาย มันก็สายไปจริงๆเสียแล้ว

ฉันตื่นนอนเพราะคนในบ้านเรียกไปทานข้าวเย็น บ้านฉันไม่เห่อปีใหม่มาแต่ไหนแต่ไร วันที่ ๑ มกราของทุกปีจึงมักพบพวกฉันได้พร้อมหน้าเสมอ หลังทานข้าวฉันทำกิจกรรมกับครอบครัวตามปกติ พยายามนึกถึงลมหายใจไปด้วย ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ขอให้แน่ใจว่าตัวเองกำลังอาศัยราวเกาะของพระพุทธเจ้าในการตั้งสติอยู่

ฉันสังเกตว่าขณะเป็นฝ่ายพูด แทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะระลึกถึงลมเข้าออก แต่มันเป็นไปได้ที่จะรู้สบายๆไปด้วยระหว่างฟังคนอื่นพูด บางทีมีความสับสนว่าใจกำลังอยู่กับอะไรกันแน่ระหว่างฟังคนอื่นกับรู้ลมหายใจ พอรู้สึกตึงๆขึ้นมาก็ปรับใหม่ ฟังคนอื่นพูดเต็มที่ แล้วพอถึงจังหวะว่างค่อยถามตัวเองเงียบๆว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า

ได้ผลเหมือนกัน ฉันว่าฉันเริ่มรู้ลมหายใจชัดขึ้นกว่าปกติ อาจเป็นเพราะจิตจดจ่อฝักใฝ่จริงจังไม่คิดทอดทิ้ง หรืออาจเป็นเพราะฉันเริ่มเข้าใจอาการของจิตว่าเป็นอย่างไรถึงจะรู้ลมหายใจได้สบายๆ

ปกติฉันนอนประมาณห้าทุ่มและตื่นราวตีห้าเพื่อลุกขึ้นอาบน้ำเตรียมตัวไปทำงาน แต่เมื่อศรัทธาในทางพ้นทุกข์คือสติปัฏฐาน ๔ เวลานอนและตื่นก็ถูกกำหนดขึ้นใหม่ คือเข้านอนสี่ทุ่มและตื่นตีสี่

ฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าอานาปานสติเต็มขั้นของพระพุทธเจ้านั้น ต้องการทั้งเครื่องประกอบภายในและเครื่องประกอบภายนอก เครื่องประกอบภายในได้แก่ลมหายใจกับสติ เครื่องประกอบภายนอกได้แก่สถานที่อันวิเวก อย่างน้อยก็บ่งเป็นนัยว่าสิ่งแวดล้อมในการตั้งต้นบำเพ็ญอานาปานสติเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ไม่ควรอึกทึกครึกโครม กับทั้งไม่ควรมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากลมหายใจ นับว่าโชคดีที่ฉันนอนคนเดียวในห้องเดี่ยว และช่วงสี่ทุ่มแถวบ้านฉันก็สงัดสงบเหมือนราวป่า ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่าเข้ากติกาอานาปานสติพอสมควร

นับว่าฉันได้ตัวอย่างจากการตั้งสติรู้ลมหายใจขณะลืมตามาพอสมควร ฮ่า! นี่ขนาดวันเดียวนะ นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเชียวล่ะ คราวนี้ฉันจะนั่งหลับตารู้ลมหายใจดูบ้าง เป็นการนั่งหลับตาด้วยความตั้งใจว่าจะเอาตัวอย่างการรู้ลมที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างสติให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อนำไปใช้ในเวลาปกติ มากกว่าที่จะนั่งหวังความสงบสุขเหมือนเช่นที่เคยผ่านๆมา

นั่งขัดสมาธิวางมือขวาซ้อนมือซ้าย พอปิดตาลง โลกภายนอกหายไป เหลือแต่โลกภายใน ทุกอย่างก็แตกต่าง ตอนที่ตาคนเราเปิดมองโลกภายนอกนั้น ช่างไม่มีความตระหนักเอาเสียเลยว่าจิตใจภายในอลหม่านอึงมี่ด้วยพายุความคิดหนักหน่วงปานใด ต่อเมื่อปิดตาลงและพยายามยุติความคิด หันเหความสนใจไปหาลมหายใจ นั่นแหละจึงรู้ตัว โอ้โฮ! อะไรมันจะคิดไม่หยุดขนาดนี้!

ฉันเผลอไปกำหนดลมหายใจตามความเคยชินเดิมๆเข้าอีก คือพยายามตั้งใจเพ่งเล็ง ยึดจับลมหายใจแน่วเหนียวเหมือนพวกเล่นรักบี้ แย่งลูกได้แล้วต้องกอดไว้กับอกไม่ยอมให้ใครมาแย่ง แต่แม้กระนั้นก็อุตส่าห์มีศัตรูมาแย่งไปจากอกจนได้สิน่า

ตามลมได้สามสิบครั้งก็ท้อแท้ เพราะเหนื่อยและเกร็งอีกแล้ว แถมเหน็บกินขาอีกต่างหาก ฉันลุกขึ้นเดินกระย่องกระแย่งไปเปิดสมุดอ่านที่จดบันทึกไว้ ทำให้นึกออกว่าแก้อาการเพ่งเคร่งเครียดได้อย่างไร สายตา สายตา สายตา ฉันบ่นท่องกับตัวเอง ถ้าทอดยาวสบายๆ ไม่คาดหวังอะไร แบบเดียวกับทอดตามองฟ้าโดยไม่หวังให้ฟ้าบันดาลความสงบ เดี๋ยวก็เกิดจิตที่โปร่งโล่งพร้อมรู้ขึ้นเอง

แต่เมื่อความเครียดเกิดขึ้นเสียแล้ว ฉันก็ไม่อยากดันทุรังนั่งหลับตาต่อเป็นการเพิ่มความเครียด เปลี่ยนเป็นเดินออกมานอกบ้าน ดูลมชมดาวเล่นเสีย ขณะกำลังมองกลุ่มดาวในเขตกว้างๆของโค้งฟ้าหนึ่ง ก็รู้สึกสบายใจพอจะถามตัวเองว่านี่กำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า เมื่อเห็นว่าตัวเองสามารถรู้ได้สบายๆเกือบสิบลมหายใจ ก็บอกตัวเองยิ้มๆว่าอย่างนี้แหละถึงจะเรียกว่าใช่

แล้วก็ฉุกใจคิดขึ้นมาวาบหนึ่ง ถามตัวเองจริงจังว่า อะไรเป็นเหตุแห่งความเพ่งเครียดเกินเหตุ ทั้งที่ลืมตาปกติดูฟ้าดูไม้ดีๆก็อาจรู้ลมหายใจแบบสบายๆได้ต่อเนื่อง?

ฉันปิดตาลงทันทีทั้งยืนอยู่ท่าเดิม พองท้องออกดึงลมหายใจเข้าด้วยความสดชื่น ระบายลมหายใจออกด้วยความผ่อนคลาย แล้วสังเกตอาการของจิตตนเอง ฉับพลันก็เห็นพายุฝุ่นแห่งความฟุ้งซ่านก่อตัวขึ้นแทนที่ความสุขกายสบายใจ กับทั้งสังเกตเห็นว่าเมื่อจะดึงลมระลอกใหม่ มีความอึดอัดขัดอก

ฉันเห็นแล้ว เพราะอาการพยายามฝืนสู้กับความคิด บังคับจิตให้ลงไปจ่อกับลมหายใจนั่นเอง เป็นชนวนให้เกิดความเครียด ความเกร็งแน่นขึ้นมา ตามธรรมดาเมื่อหลับตาลง ความคิดคนเราจะดูเหมือนฟุ้งกระจายทันที ทั้งที่ความจริงมันฟุ้งเท่าเดิมนั่นแหละ แต่พอไม่มีอะไรล่อหูล่อตา ถูกกั้นเขตให้เห็นเฉพาะความคิดฟุ้งยุ่งอย่างเดียว เลยคล้ายกับปั่นป่วนเป็นพิเศษ ถ้าหากไม่พยายามไปขืนสู้ แค่รับรู้ตามจริงว่าเรามีความฟุ้งอยู่ในระหว่างความรู้ลมหายใจ จิตก็จะค่อยๆสงบลงเองเพราะไม่ต้องออกแรงเค้นสู้ ขณะเดียวกันก็ยังเพลินกับลมหายใจไม่ละทิ้งไปไหน

อาการฝืนสู้กับความคิดจะทำให้ตาบีบและเพ่งแคบ แต่อาการยอมรับตามจริงสบายๆจะทำให้ตาทอดสบายและเปิดกว้างเหมือนขณะที่ลืมตามองไกลๆ

ฉันเดินวนเวียนอยู่ในสนามนั่นเอง เดินเล่นๆ แต่กำหนดรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ จนแน่ใจว่าสามารถเห็นลมหายใจออก เห็นลมหายใจเข้า เท่าทันและรู้จริงต่อเนื่องได้ทีละไม่ต่ำกว่า ๕-๖ ระลอก กว่าที่สติจะพร่าเลือนโดยไม่รู้ตัว พอเงยหน้ามองดาวแล้วนึกได้ก็กำหนดใหม่ เห็นลมหายใจกันใหม่

กระทั่งรู้สึกเพลีย และภายในเริ่มตึงๆขึ้นมาจากความพยายามตามลม ฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าถึงทำต่อก็คงเปล่าประโยชน์ เพราะจิตเริ่มแช่ๆชาๆ จึงตัดสินใจเดินเข้าบ้านอาบน้ำเตรียมนอนดีกว่า

สรุปในคืนแรก บอกกับตัวเองว่าวันนี้ไม่ได้สูญเปล่า เพราะเป็นวันแห่งการเอาตัวเองเป็นห้องทดลองเพื่อให้รู้ว่าจิตที่ผิดทางเป็นอย่างไร จิตที่ถูกทางเป็นอย่างไร วันต่อๆไปจะได้ไม่ทำผิดอีก

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 10:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: วันที่ ๒: รู้เท่าที่สามารถรู้

ตื่นนอนตอนตีสี่ตามนาฬิกาปลุก ฉันเห็นความขี้เกียจลุกเพราะตื่นผิดเวลา คือเร็วไปชั่วโมงหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากผิดสัญญากับตัวเอง คือจะใช้เวลาช่วงที่พอเจียดมาได้จากส่วนต่างๆของวันให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะอ้างว่าเป็นคนเมือง ต้องทำงาน ไม่มีเวลาปฏิบัติเหมือนอดีต

ลุกขึ้นด้วยท่าทางไม่ค่อยเต็มใจ ทั้งที่สมัครใจเอง ไม่มีใครบังคับ ฉันออกกายบริหารเล็กน้อยเพื่อให้ตาตื่นและเส้นสายยืดขึ้น พอได้ความสดชื่นยามเช้ามาช่วยให้สติเต็มขึ้น ฉันก็ได้คิดว่าสมัยก่อนฉันเปรียบเหมือนคนอยากรวยร้อยล้าน แต่จะขอลงทุนแค่สามพัน อยากได้มรรคผลแต่ไม่เคยยอมตื่นนอนเร็วอย่างนี้มาก่อนเลย ยอมเป็นขี้ข้าความง่วงตลอดศก

ฉันล้างหน้าบ้วนปากแล้วกลับมานั่งสมาธิที่ห้องนอน คราวนี้ไม่นั่งพื้น แต่นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าวางราบกับพื้นอย่างต้องการเปรียบเทียบว่าแตกต่างจากการนั่งขัดสมาธิอย่างไร

ฉันนั่งก้มหน้าด้วยความเคยชิน พอปิดตาหายใจเพียงสองสามฟืดก็เหมือนจะหลับ คล้ายวัวถูกเชือดที่เหลือเพียงลมหายใจฟืดฟาดครั้งท้ายๆก่อนคอพับคออ่อนนิ่งสู่สุคติ ชั่วภวังค์ใหญ่ต่อมาจึงสะดุ้งเฮือกตื่นขึ้นและถามตัวเองว่ากำลังทำอะไร เมื่อกิริยาทางกายตอบตัวเองว่าดูเหมือนจะนั่งสมาธิ เลยยกสติขึ้นตั้งใหม่ ยืดกายตรง ดำรงความรู้สึกตัวดีๆ ฉันลองเชิดหน้าขึ้นนิดหนึ่ง แล้วบอกตัวเองว่าใบหน้าตั้งๆช่วยดึงไม่ให้สติล้มง่ายนัก แถมใจเปิดสบายดีด้วย จึงตั้งใจนับแต่นั้นว่าต่อไปการนั่งสมาธิทุกครั้งจะไม่ก้มหน้าเลย

แต่ในที่สุดหน้าก็ก้มของมันเอง แถมหลังงองุ้มตั้งตรงยากคล้ายคนมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ งอไปงอมาก็ทิ้งตัวนอนหลับครอกโดยไม่มีโอกาสรู้สึกตัวกลับขึ้นฮึดสู้อีก การนอนหลับช่างเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์จริงหนอ

กว่าจะตื่นอีกทีก็ปาเข้าไปแปดโมงครึ่ง ฉันงัวเงียลุกขึ้นด้วยความรู้สึกของผู้แพ้ ใจชักนึกท้อเหมือนที่เคยท้อมานับพันนับหมื่นครั้ง ถามตัวเองว่าจะไปได้สักกี่น้ำกัน

ฉันแปรงฟันอาบน้ำและทานข้าวชาวตามสบาย มารู้สึกตัวถามหาราวเกาะว่าอยู่ไหนแล้ว ก็เข้าไปหลังเวลาอาหารเช้าหลายนาที พอนึกถึงลมหายใจได้ทั้งยังอิ่มๆ จิตก็ถามตัวเองว่ามัวทำอะไรอยู่เพื่ออะไร คนเราเวลาอิ่มแน่นนี่หนังตาหย่อน กล้ามเนื้อถ่วงลงสู่สภาพราบกับพื้นได้ทุกที รู้ลมหายใจได้เพียงสองสามหนก็เข้าสู่ภาวะมืดทึบ ร่างกายปรากฏเป็นเหมือนสุสานฝังศพสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ยัดเยียดไปหมด

ถอนใจเฮือกหนึ่ง บังเกิดความท้อแท้และถามตัวเองซ้ำขึ้นมาอีก จะไปไหวไหม? จะทนได้สักกี่น้ำ? จะเอาของสูงมาครองได้แน่หรือ? ฯลฯ

ฉันเปิดสมุดพก ไม่ได้ตั้งจะเขียนอะไรเป็นพิเศษ แต่พลิกไปเจอหน้าหนึ่งที่เขียนไว้เองว่า ทางรอดจากวังวนวัฏสงสารนั้นแคบ เดินยาก และมีแสงสว่างฉายให้เห็นทางนั้นได้วูบเดียว ชาตินี้เผอิญมาเห็นก็นับว่าโชคดีอย่างไม่อาจมีชาติไหนเทียบแล้ว ฉันจะต้องตะเกียกตะกายเดินให้ทันทางก่อนแสงหายให้จงได้ เพราะถึงลำบากแค่ไหนก็คงดีกว่าการตะเกียกตะกายอยู่ในนรกแห่งความไม่รู้ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์แน่นอน

อ่านจบก็ตาสว่าง มีกำลังใจฮึดกลับมาใหม่ ตระหนักในบัดนั้นว่าก้าวแรกๆต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากภายในและภายนอก การจดความคิดของตัวเองไว้อ่านภายหลังนับเป็นเรื่องดี เพราะอาจมีบางคำที่เตือนให้จำได้ว่าเรามาเสียเวลา เสียแรง เสียกำลังสติทุ่มเทอยู่อย่างนี้เพื่ออะไร มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขี้ลืม ตั้งใจไว้แค่ไหน มีอารมณ์ปรารถนานิพพานรุนแรงเพียงใด ในที่สุดก็มักกลายเป็นบัวแล้งน้ำ เพราะอยู่ในน้ำที่แห้งเร็ว ถ้าขาดน้ำคอยเติมเสียบ้างก็จะเหี่ยวเฉาลง ยากจะอยู่ยั้งทนนานรอการบานออกเต็มดอกเหมือนเหล่าบัวอิ่มน้ำ

ฉันเลือกไปนั่งใต้ต้นปาล์มหลังบ้านซึ่งเป็นส่วนที่ร่มรื่น ใครๆมักเห็นฉันมาปูเสื่ออ่านหนังสือที่นี่ประจำอยู่แล้ว แต่วันนี้หากใครมองออกมาทางหลังบ้าน ก็จะเห็นฉันนั่งตัวเปล่าปราศจากหนังสือ นั่งหลับตาขัดสมาธิ ซึ่งคนในครอบครัวเลิกเห็นเป็นเรื่องแปลกแล้ว เนื่องจากรู้ว่าฉันมีอัธยาศัยทางนี้มาพักใหญ่

นั่งใต้ร่มไม้ดีอย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าถึงแนะนำ ฉันเคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่าถ้าใกล้ชิดธรรมชาติ ธรรมชาติจะช่วยเราในแง่ความสดชื่น การอยู่ใต้ร่มไม้ที่มีลมรำเพยพัดเป็นระยะจะทำให้เนื้อตัวสบาย จิตใจพลอยคลายอาการเร่งรีบเกินกำลังไปด้วย ถ้านั่งอยู่ริมคลองหรือแม่น้ำที่ไหลริน ก็ได้พลังจากการรินไหลของน้ำช่วยให้เยือกเย็นและเอิบอิ่มง่าย หรือถ้านั่งอยู่ชายทะเลก็จะรู้สึกถึงความเปิดกว้างปลอดโปร่งของจิตตามสายตาที่ทอดได้ไกลและเนิ่นนาน

ร่มไม้ที่ช่วยให้ใจเย็นลง ทำให้ฉันได้คติในการภาวนามาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือถ้าใจเราเย็น ไม่เร่งร้อนว่าจะต้องสงบให้ได้เดี๋ยวนี้ ก็เหมือนมีพื้นฐานความสงบที่ดีอยู่แล้ว ขอเพียงตามรู้ไปว่าลมหายใจกำลังออกหรือกำลังเข้า พอเหตุปัจจัยประชุมพร้อมก็ได้ส่วนความสงบและตื่นรู้ขึ้นมาเอง

นับลมไปได้ประมาณ ๕๐ ครั้ง แผ่นหลังก็เริ่มออกอาการหาที่พึ่งพิง ทีแรกก็พึ่งส่วนนูนของโคนต้นปาล์ม แต่ทำๆไปอีกหน่อยก็เปลี่ยนไปพึ่งเสื่อเสียแทน การทำสมาธิก่อนนอนนี่ทำให้หลับสบายดีจริงๆ ฉันเชื่อสนิทเลย

ตื่นขึ้นมาด้วยนโยบายใหม่ นึกถึงลมหายใจขึ้นได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ฉันจะไม่เร่งรัดตนเองอีก

ปรากฏว่าที่เหลือของวันนั้น ฉันรู้สึกเป็นสุข จิตใจปลอดโปร่งสบายนัก รู้ลมเข้าออกได้ก็รู้ รู้ไม่ได้ก็ช่างมัน ไม่มีใครคอยบังคับกะเกณฑ์เสียหน่อย

สรุปในคืนนี้ ฉันรู้ได้สบายขึ้น และได้แง่คิดในการทำใจว่าแค่รู้เป็นระยะๆก็ดีแล้ว ขอให้รู้อยู่เรื่อยๆและจิตใจเป็นสุขสบายเถอะ ฉันภาวนาเพื่อพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มทุกข์

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 10:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: วันที่ ๓: ราวเกาะในที่ทำงาน

เช้านี้ตื่นตีสี่ตามเคย ยังไม่เคยชินนักกับเวลาตื่นใหม่ ก้นบึ้งของหัวใจอยากล้มตัวลงนอนต่อ แต่ส่วนสำนึกที่อยู่ชั้นนอกก็บอกตัวเองว่าความพ่ายแพ้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดยืดยาวเป็นนิรันดร์มักเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างเช่นการยอมล้มตัวลงนอนต่อนี่เอง คิดได้ก็กัดฟันลุกขึ้นล้างหน้าบ้วนปาก แล้วกลับมานั่ง ‘ซ้อมรู้ลม’ กันอีกรอบ

ฉันเอาตามคติในการภาวนาแบบเมื่อวาน คือรู้ได้เท่าที่รู้ รู้ไม่ได้ก็ช่าง ไม่พยายามฝืนบังคับให้รู้ตลอด แต่รอบนี้ช่างต่างจากตอนนั่งใต้ร่มไม้เป็นคนละเรื่อง คือพอทำใจ ‘ไม่รู้ก็ช่างมัน’ ไปได้เดี๋ยวเดียว ความโงกง่วงก็กลับมาถามหา ทั้งเหม่อ ทั้งฟุ้งยุ่ง จับลมไม่ติดเลยสักระลอก

เป็นวันทำงานวันแรก ฉันหาวบ่อยเพราะยังไม่เคยชินกับการตื่นผิดเวลา แถมเวลาที่เสียไปในช่วงเช้ายังดูเหมือนสูญเปล่ากับการเฝ้าบอกตัวเองว่า ‘รู้ได้เท่าที่รู้’ ซ้ำไปซ้ำมา แต่พร่ำบอกเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยจะรู้สักที เหมือนย่ำกับที่ ซ้ำอยู่กับภวังค์เหม่อหรือฝุ่นฟุ้งทางอารมณ์เสียมาก

ทำงานแบบสะลึมสะลือ แต่พอเข้าห้องประชุมแล้วโดนคู่อริเล่นงานต่อหน้าใครต่อใคร ฉันก็ตาตื่นโพลงทันที ขึ้นเสียงเถียงกับฝ่ายตรงข้ามอย่างมีอารมณ์

แย่จัง เถียงเสร็จก็ต้องมาพยายามนั่งสงบสติ ใจเดือดปุดๆเหมือนน้ำร้อนจัด อาการหน้ามืดเพราะโทสะทำให้โลกมืดได้จริง มองไปทางไหนเหมือนมีม่านหมอกดำๆคลุม ส่วนลมหายใจนั้นไม่ต้องพูดถึง ราวอยู่คนละโลกกับฉันเรียบร้อย ต่อให้ใช้กล้องดูดาวหรือกล้องจุลทรรศน์ส่องก็ไม่มีทางเห็นเลย เห็นแต่หน้าเจ้าวายร้ายที่เล่นงานฉันในห้องประชุมวนเวียนหลอกหลอนอยู่ตลอด

เวร! เขาต้องเรียกเวรจริงๆ เรียกอย่างอื่นไม่ได้ มันกับฉันจะต้องจองเวรกันมาหลายชาติ เจอะหน้าทีแรกก็เหมือนมีกลิ่นเหม็นๆระเหยออกมาเข้าจมูกแล้ว ยิ่งคบ ยิ่งทำงานกันนานก็ยิ่งเกลียดเข้าไส้ เวลาต้องเดินสวนกันในบริษัท ทางเดินเหมือนแคบลงถนัดใจ ไม่รู้จะมองหน้ามองตากันท่าไหนดี มันชอบยิ้มแสยะหาเรื่องฉันเสียด้วย

กว่าจะรู้ตัวว่าเสียสติให้กับการหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องศัตรู ก็ปาเข้าไปครึ่งค่อนวัน ฉันควักสมุดพกออกมา แล้วตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า ทางไปนิพพานหายไปไหน?

เพื่อศัตรู ฉันยอมหลงเข้ารกเข้าพง ฉันยอมสละทางไปนิพพาน ฉันยอมลืมลมหายใจอันเป็นราวเกาะ นี่ฉันให้ความสำคัญกับศัตรูขนาดนี้ทีเดียวหรือ?

พอเขียนข้อความใส่สมุดพกเสร็จก็ถอนใจยาว การถอนใจครั้งนั้นมีความหมายมาก เพราะหนึ่งมันทำให้สติฉันกลับมาอยู่กับลมหายใจอีกครั้งดุจเดียวกับคนล้มแล้วนึกได้ว่าต้องยืนขึ้นคว้าราวเกาะ และสองมันทำให้ฉันวางศัตรูลง คล้ายมโนภาพอันน่ารังเกียจถูกระบายออกตามลมหายใจสู่อากาศว่างเบื้องนอก ในหัวฉันว่างเปล่าลงทันที จิตใจสงบพอจะรู้ว่าลมหายใจเข้าถัดจากนั้นปรากฏขึ้นเมื่อไหร่

แค่รู้ว่าลมออกเมื่อไหร่ รู้ว่าลมเข้าตอนไหน ก็ทำให้ศัตรูทั้งคนหายไปจากโลกนี้แล้ว เออ… ทำไมไม่รู้เสียตั้งแค่ครึ่งวันก่อนหนอ?

นั่งลืมตานิ่งรู้ลมหายใจเกือบห้านาที จนมีคนมาคุยเรื่องงาน ก็ต้องทุ่มความคิดให้กับงานไป ฉันมาบันทึกในภายหลังว่าเป็นฆราวาสจะเลือกไม่ได้ ความสำคัญอันดับหนึ่งต้องทุ่มให้กับงานก่อน

พอต้องคุยกับคน พอต้องคิดเรื่องงาน พายุความคิดก็ก่อตัวใหม่ ลมหายใจไม่ต้องดูกันเป็นชั่วโมงๆ กว่าจะได้เวลาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งก็ตกเย็น ซึ่งเลยเวลาเลิกงานมาเป็นชั่วโมงแล้ว

ฉันนั่งสะสางงานประจำวันจนเสร็จด้วยความอ่อนล้า ลืมลมหายใจ ลืมเรื่องการปฏิบัติ ลืมนึกถึงมรรคผลนิพพานอันเหมือนเรื่องไกลตัวสุดกู่ไปแล้ว

ขับรถกลับบ้าน ระหว่างทางถามตัวเองเป็นการปลุกสติอยู่เรื่อยๆว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก รู้เท่าที่รู้ ไม่รู้ก็ช่างมัน เดี๋ยวกลับมารู้ใหม่เอง

แต่การทำเช่นนั้นขณะอ่อนล้าและฟุ้งยุ่ง ตามความเป็นจริงคือหลุดยาว หายนาน และเหม่อลอยไปถึงไหนต่อไหน เพื่อนร่วมงานตัวแสบโผล่กลับมาเยี่ยมอีก ฉันอยากให้สมองเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่กำหนดสั่งได้ว่าจะให้ดักเค้าโครงหน้าแบบไหน ไม่อนุญาตโครงหน้าแบบนั้นเข้ามาสู่จิตใจ แต่สมองมนุษย์ก็ไม่มีปุ่มกดเลือกตามปรารถนา เมื่อเขามา เขาก็มา ห้ามไม่ได้

เลิกคิ้วนิดหนึ่งระหว่างจอดไฟแดง เห็นสภาพจิตใจตนเองในบัดนี้เหมือนเด็กน้อยที่กำลังขายังไม่แข็ง พอมือพลาดจากราวเกาะก็หกล้มหกลุกทันที แต่ขณะเดียวกันก็เห็นหัวใจของคนไม่ยอมแพ้ ยังมีแก่ใจลุกขึ้นสู้ด้วยจิตวิญญาณความเป็นพุทธที่ไม่ยอมเป็นรองกิเลสนานนัก

ฉันใช้ขันติเล็กน้อย เกือบกัดฟันนิดๆเมื่อตั้งสติรู้ว่าลมหายใจกำลังอยู่ในจังหวะไหน ออกหรือว่าเข้า วินาทีนั้นคือขาเข้า ฉันรู้สึกทรมานที่ต้องฝืนจิตไม่คิดถึงศัตรู คิดถึงแต่ลมหายใจอย่างเดียว

อ้าว! ตายล่ะ! ลืมอีกแล้ว นี่ฉันต่อสู้กับความคิดตัวเองเหมือนต้านกระแสน้ำเชี่ยวกราก เดินทวนอย่างอืดอาดกลับมาหาลมหายใจอีกครั้ง ฉันกะพริบตาปริบๆ เริ่มงุนงงสับสนว่าจะเอาไง ฝืนใจก็ไม่ใช่ ปล่อยใจก็ไม่ดี แล้วที่อยู่ตรงกลางคืออะไร?

ความเครียดปรากฏเด่น

หายใจออกเหมือนระบายความเครียดได้หน่อยหนึ่ง

หายใจเข้าอีกครั้งคล้ายลืมๆศัตรูไปเสียได้เพราะความเครียดอ่อนกำลังลง

ตาสว่างกระจ่างพลัน เผอิญรถติดไฟแดงยาวเลยมีเวลาพิจารณานานหน่อย ฉันก็แค่ปล่อยให้ความเครียดเกิดขึ้นด้วยอาการยอมรับตามจริงว่ามันเกิดขึ้น พอระบายลมหายใจออกจนสุดครั้งต่อไปก็สังเกตว่าความเครียดยังเท่าเดิมหรือไม่ ความไม่เที่ยงก็ปรากฏต่อใจแล้ว และเมื่อใดใจเห็นความไม่เที่ยงโดยปราศจากอาการครุ่นคิดต่อ เมื่อนั้นจิตย่อมเป็นอิสระเบิกบาน

ถึงกับยิ้มมุมปากและนึกขอบคุณเพื่อนร่วมงานตัวดี ที่ช่วยส่งอารมณ์มาป้อนปัญญา

กระหยิ่มใจจนนึกอยากให้ความเครียดกลับมาใหม่ ฉันรู้วิธีดูแล้ว ก็แค่ตั้งสติกำหนดเหมือนมันเป็นลมหายใจ พอเข้ามาจนสุด แล้วก็ต้องผ่านกลับออกไปเป็นธรรมดา

นั่งสมาธิก่อนนอนคืนนั้นก็เป็นดังคาด มโนภาพเพื่อนร่วมงานปากร้ายผ่านเข้ามาในหัว เจอมันด่ารับปีใหม่ เชื่อเลยจริงๆ แต่ฉันก็อาศัยช่วงเวลานั่งหลับตาทำสมาธินั่นเองเป็นเครื่องซ้อม กล่าวคือเมื่อความจำเกี่ยวกับศัตรูผุดขึ้น ฉันทำอาการเหมือนเห็นการปรากฏของลมหายใจ ต่างแต่ว่าความจำเป็นนามธรรม รับรู้ได้เพียงด้วยใจ ทราบตามจริงว่ามีอาการทางกายตอบสนอง คือคล้ายกล้ามเนื้อหลายๆส่วนบีบแน่นขึ้น ที่เห็นชัดคือหัวคิ้วขมวด

เปลี่ยนมารู้ลมหายใจเข้าระลอกต่อมา รู้ว่าพอสุดทางแล้วจะต้องระบายออกเป็นธรรมดา เมื่อระบายออกจนสุดแล้วสังเกตอาการทางกายก่อน พบว่ามันผ่อนคลายจากเมื่อครู่ หัวคิ้วไม่ขมวดแน่น อาการบีบตามเนื้อตัวหย่อนลงหน่อยหนึ่ง ส่วนความฟุ้งแน่นในใจแม้ยังคาอยู่ ก็ไม่มีแรงดิ้นอย่างครั้งแรกที่ความจำผุดขึ้น

สลับไปสบายกับลมหายใจอันว่างเปล่าทั้งขาเข้าและขาออก แล้วกลับมานึกถึงคู่อริอีก ผลัดเปลี่ยนเวียนวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจส่วนลึกยังมีความแค้นๆคันๆ แต่ก็มีใจเดียวมุ่งมั่นรู้ให้ได้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า กับทั้งเฝ้าเปรียบเทียบทุกครั้งว่าความเครียดแน่นต่างระดับไปจากลมหายใจก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด จนในที่สุดก็เกิดประสบการณ์ครั้งสำคัญ คือพบความเสมอกันระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม นั่นคือมันเข้ามาแล้วก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา

ถ้าพูดให้ฟังจะเหมือนเข้าใจได้ แต่ตอนประจักษ์ด้วยจิตหลังการมีสติรู้เห็นตามจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งจิตโล่งว่างสว่างรู้นั้น ต่างกันมากกับเข้าใจด้วยความคิด

ฉันยิ่งเห็นค่าความสำคัญของราวเกาะ เพราะไม่แต่จะทำให้สติมีเครื่องเกาะให้ลุกขึ้นยืนและก้าวเดินคืบหน้าไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องกลัวหลง แต่ยังสามารถใช้เป็นเครื่องแบ่งเวลาออกเป็นขณะๆ เพื่อเปรียบเทียบความอ่อนแก่ของอารมณ์สุขทุกข์ได้ด้วย

สรุปในคืนที่สาม เริ่มมองเห็นความสำคัญของราวเกาะอย่างลึกซึ้ง ตราบใดที่ยังเกาะราวอยู่ ถึงแม้เท้าลื่นเซถลาไปบ้างก็ไม่ถึงกับล้ม หรือแม้ล้มแล้วรีบกลับลุกขึ้นคว้าราวใหม่ก็ไม่สาย แถมยังได้เครื่องแบ่งจังหวะเวลา ทำให้สะดวกเมื่ออยากเทียบเคียงอารมณ์หนึ่งๆว่าอ่อนหรือแก่กว่าจังหวะก่อนหน้าเพียงใดด้วย และฉันก็ตระหนักด้วยว่าความโกรธใครบ่อยๆที่เรียก ‘พยาบาท’ นั้น ไม่ใช่ถูกเบียดตกด้วยการแทรกแซงจากลมหายใจครั้งเดียวแล้วหายขาด มันยังย้อนกลับมาอีกได้เหมือนบูมเมอแรงวิเศษ เวียนมาเยี่ยมรอบแล้วรอบเล่าเหมือนไม่รู้จบ แม้ขว้างออกนอกตัวกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

:b53: มีต่อ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: วันที่ ๔: ยื้อกับโลกภายนอก

เช้านี้ทำสมาธิได้ดีขึ้นเล็กน้อย ความจริงไม่ได้สงบเงียบหนักแน่นหรือสว่างไสวอะไร ใจยังฟุ้งตามเคย เพียงแต่นั่งหลับตากำหนดลมหายใจเข้าออกแล้วไม่ง่วงเท่านั้น

แต่เมื่อลืมตาขึ้น ฉันเริ่มรู้สึกได้ชัดว่าสติดีขึ้น ยังบอกไม่ถูกว่าเอาอะไรวัด แต่คล้ายโลกภายในมันชัดกว่าเก่า อาจจะเพราะลดปริมาณความหดหู่มึนซึมในการลืมตาตื่นก่อนไก่โห่ แล้วซึมซับความสดชื่นแจ่มใสในอากาศยามเช้ามืดกระมัง

อีกประการหนึ่ง วันนี้คล้ายเริ่มมีกำลังวังชาพรักพร้อมกว่าเคย พอรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้นานขึ้น ฉันก็มีมุมมองเห็นลมหายใจต่างไป คือไม่ใช่แค่ราวเกาะ แต่เป็นฐานที่ตั้งของสติ เวลาที่เหลือของวัน ฉันจะกำหนดว่าเมื่อใดรู้ทันลมหายใจเข้าออก เมื่อนั้นใจอยู่กับฐานสติที่ถูก เมื่อใดลมหายใจหายหนไปจากจิต เมื่อนั้นใจออกจากฐานที่มั่นของสติแล้ว

พระป่าเรียก จิตส่งออกนอก

ทั้งลืมตาดูโลกและเคลื่อนไหวตามปกติ ฉันเห็นลมหายใจได้ต่อเนื่องทีละสองสามครั้งก่อนเลือนไปเป็นภวังค์ หรือเบนกระแสไปจับสิ่งอื่นจนลืมลมหายใจสนิท แค่นั้นก็รู้สึกดีแล้ว ถึงแม้ยังเหม่อนานกว่ามีสติรู้ อย่างน้อยก็ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่าจิตอยู่ที่ฐานหรือส่งออกนอกมากกว่ากัน

เดินสวนกับคู่อริในที่ทำงาน เกิดอาการหมั่นไส้ตามเคย สายตาชิงชังซึ่งกันและกันนี่เป็นอะไรที่แย่จัง เราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ ต่างก็รู้ว่าทุกข์แล้วยังกอดไว้กับตัวอยู่นั่น

เวรตามเคย! ฉันกำลังส่งจิตออกนอกแน่ๆ เพราะไม่รู้สึกถึงลมหายใจแม้แต่นิดเดียวในยามนั้น แต่ก็เห็นเช่นกันว่าพอตะล่อมจิตกลับเข้าที่ได้ ลมหายใจก็ปรากฏใหม่… เอ๊ะ! ฉันพูดผิดหรือเปล่า ต้องบอกว่าลมหายใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา สติต่างหากที่หายไปแล้วกลับมาปรากฏใหม่

เห็นชัดอีกครั้งว่าถ้าไม่เอาอย่างหนึ่งเป็นเป้า จะไม่รู้ว่าสติเกิดหรือหายบ่อยๆ

เริ่มทำงาน ยังมีอาการง่วงอยู่เล็กน้อยแต่ก็ทน คิดว่าพรุ่งนี้คงชินกับเวลาตื่นนอนใหม่ได้แล้ว ขณะต้องยุ่งอยู่กับงาน ครึ่งชั่วโมงจะรู้ลมหายใจสักทีหนึ่ง และรู้แค่หายใจเข้าเด่นๆ เสร็จแล้วลืมอีกเป็นนาน กว่าจะนึกขึ้นได้อีก แต่ก็เข้าหลักรู้ได้เท่าที่รู้อันเดิม

ตอนทานข้าวเที่ยงเสร็จ ฉันกลับมานั่งที่โต๊ะและตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่าทำอย่างไรจะยืดเวลารู้ลมหายใจในที่ทำงานให้ได้นานกว่านี้

เมื่อลองทบทวนเพื่อวิเคราะห์ตัวเอง ฉันก็พบว่าการหายใจในที่ทำงานของฉันนั้นค่อนข้างสั้น แถมวิธีเอาลมเข้าก็เป็นไปในแบบกระชากอีกต่างหาก และเมื่อพยายามหายใจให้ได้นานๆ ก็จะใช้วิธีหายใจถี่ๆ เข้ายังไม่ทันสุดก็พ่นออกมา พ่นยังไม่ทันหมดก็ตั้งท่าจะดึงลมล่วงหน้าเสียแล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นอาการหายใจผิดๆ อย่าว่าแต่จะมาใช้เป็นฐานสติ เอาแค่ให้ถูกสุขลักษณะก็ไม่ได้แล้ว

ฉันนึกถึงการหายใจขณะนอน ที่หน้าท้องขยายขึ้นได้เต็มที่แล้วมีความสบายไปตลอดทั้งกายและจิต จึงนั่งพิงพนักเก้าอี้ตามสบาย ปล่อยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย แล้วพองหน้าท้องออกเพื่อลากลมเข้าอย่างยาว จากนั้นระบายลมออกเหมือนลูกโป่งที่คนปล่อยปากให้คายลมช้าๆโดยไม่เร่งบีบ ความสบายกายและจิตทำให้เกิดความติดใจ เมื่อติดใจย่อมไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นเป็นสำคัญ แต่ยังปักหลักอยู่กับสิ่งที่ทำให้ติดใจนั้น คือพองท้องช้าๆเพื่อลากลมเข้ายาว ระบายลมออกตามสบายเหมือนลูกโป่งถูกเปิดปากให้ลมคายออกมาเอง

ฉันทดลองดู เมื่อทำงานไปพักหนึ่งก็หยุดหายใจแบบพองท้องสำหรับขาเข้า ปล่อยตามสบายสำหรับขาออก ปรากฏว่าได้ผลดี สามารถรู้ลมเข้าออกได้มากครั้งขึ้นกว่าจะเลือน และแม้เมื่อก้มหน้าลงทำงานต่อ อีกส่วนหนึ่งก็ยังติดตามลมหายใจได้เป็นครั้งเป็นคราวด้วย

เจอกับคู่อริตอนเย็น ไม่รู้เป็นอย่างไรชอบเดินสวนกันเช้าครั้งเย็นหน คราวนี้ฉันกระตุกสติให้ทำงาน แต่ยังเป็นการทำงานแบบทื่อมะลื่ออยู่ คือรู้ลมหายใจก็จริง แต่ก็มีความเกร็งเครียดไปทั้งตัวประกอบอยู่ด้วย แต่ก็เอาล่ะน่า ดีกว่าเกิดความเกลียดเต็มๆ ส่งจิตออกนอกหมดโดยไม่มียางยืดจากฐานสติมาช่วยเหนี่ยวรั้งเอาเสียเลย

ทำสมาธิในคืนนี้ ฉันก็นั่งยื้อระหว่างจิตส่งไปคิดเรื่องข้างนอก กับจิตเข้ามาเก็บตัวอยู่กับฐานสติ เอาแค่รู้ให้ได้ว่าขณะนี้ วินาทีนี้กำลังออกหรือกำลังเข้าเท่านั้น ไม่หวังมากกว่านั้น จะสงบหรือไม่สงบก็ช่าง

สรุปในคืนนี้ เห็นตัวเองทื่อๆเป็นหุ่นกระบอกชอบกล แม้จะรู้ว่าจิตกำลังอยู่ภายนอกหรือกลับเข้ามาข้างใน ก็คล้ายรู้แบบทึบๆ หรือมีคิดผสมไปด้วย แต่อย่างน้อยก็เริ่มมีข้อเปรียบเทียบระหว่างจิตส่งออกไปข้างนอกกับจิตกลับเข้ามาข้างในแล้วก็แล้วกัน

:b45: มีต่อ...

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 15:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: วันที่ ๕: ล้าและเบื่อ

ฉันตื่นตอนตีสี่ด้วยความฝืดฝืนตามเคย เอ… จะต้องฝืนไปอีกนานไหมนี่? นึกว่าสองสามวันคงชิน แต่ไม่เห็นชินสักที ยังต้องลุกทั้งโดนขี้ตาบดบังทัศนวิสัยอยู่นั่นแล้ว

ให้กำลังใจตัวเองอีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ ฉันเลือกเดินในทางที่เหล่าอริยเจ้าท่านเดินกันด้วยความสมัครใจของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทางสบาย โรยรายด้วยกลีบกุหลาบ เริ่มก้าวแรกๆอย่างนี้ต้องมีบางสิ่งบางอย่างบ่งบอกว่าฉันยังเพียรพยายามเพื่อความคืบหน้าอยู่ในทาง และการตื่นนอนก่อนเวลาปกติ ๑ ชั่วโมงก็คือเครื่องชี้ของฉัน

ฉันนึกว่าตนเองกำลังอยู่ใน ‘สังสารวัฏ’ ซึ่งหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพต่างๆด้วยความไม่รู้ แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าสังสารวัฏช่างเต็มไปด้วยแรงดึงดูดมหาศาล ไม่ต่างจากโลกใบใหญ่ที่ดึงดูดผู้คนไว้ไม่ให้ลอยออกนอกอวกาศง่ายๆ ใครทำได้ก็ต้องใช้งบมโหฬารระดับชาติ แต่แม้ยากเพียงใด ในที่สุดมนุษย์ก็เอาชนะแรงดึงดูดโลกจนได้ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันตสาวกได้เอาชนะแรงดึงดูดของสังสารวัฏสำเร็จมาแล้วเป็นพันๆปี

อ่านจากพระไตรปิฎกแล้ว ความจริงพระสาวกผู้ปรารถนามรรคผลในสมัยนั้นลำบากบำเพ็ญเพียรกันในป่าท่ามกลางภยันตรายนานาชนิดด้วยซ้ำ นี่ฉันปฏิบัติอยู่ในบ้านในเรือนอันอบอุ่นปลอดภัย จะยี่หระกับการตื่นเช้าเข้าไปอีกกระนั้นหรือ? การเพียรพยายามหนีแรงดึงดูดของสังสารวัฏอาจเริ่มด้วยจุดเล็กๆเช่นการเอาหลังตัวเองออกจากแรงดึงดูดของที่นอนนี่เอง

มานั่งหลับตาพยายามตั้งสติแบบมึนๆ รู้ว่าลมออก รู้ว่าลมเข้า ประมาณ ๑๐ หนก็เบลอ หลายวันแล้วยังไม่พ้นจากจุดนี้ แต่ดีที่ฉันคอยจดความคืบหน้าไว้ทุกวัน อย่างน้อยที่สุดก็รู้ล่ะว่ายังไม่มีสติแข็งแรงพอจะเท่าทันลมหายใจเข้าออกอย่างเป็นอัตโนมัติ

ระหว่างทางขับรถมาทำงาน ฉันพยายามรู้ลมไปด้วย แล้วก็สงสัยตัวเองไปด้วยว่ามาถูกทางหรือเปล่า หลายวันแล้วไม่ก้าวหน้าสักที เหมือนต้องขึ้นต้นใหม่กันอยู่เรื่อย แต่เนื่องจากคิดตกไว้เสร็จสรรพแล้วว่าสติปัฏฐาน ๔ คืออะไร ปฏิบัติอย่างไรตามลำดับหนึ่ง สอง สาม ฉันจึงยังไม่อยากทิ้งความพยายามเสียก่อนเห็นผลก้าวหน้า เพราะที่ผ่านมานานนับปีเห็นมากพอแล้วว่าการเปลี่ยนแนวทางแบบจับจดและจับฉ่ายไม่สามารถนำมาประเมินได้ว่าคืบหน้าคืบหลังไปถึงไหน บัดนี้เมื่อคิดจะไต่ลำดับสติปัฏฐาน ๔ ไป อย่างน้อยฉันก็รู้ว่าตัวเองยังย่ำอยู่กับที่ ยังไม่มีสติเพียงพอแม้แต่จะรู้ลมหายใจโดยความเป็นของเกิดดับ

ตัดความลังเลสงสัยทิ้ง เหลือแต่ความมึนอันเกิดจากการตื่นเช้าและการพยายามนั่งจดจ่อรู้ลมหายใจ ฉันคิดถึงที่ตกลงกับตัวเองไว้คือ ‘รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น’ ถ้าไม่รู้ก็ช่างมันไว้ก่อน

ถึงบริษัท เข้าประชุมตามหน้าที่ เห็นหน้าปรปักษ์อยู่ในห้องประชุมด้วยแล้วเหมือนมีเครื่องเปล่งรังสีทรมานลูกตาฉายออกมาตลอดเวลา ให้ตายเถอะ ทำไมโลกต้องมีคนที่เราเห็นแล้วรำคาญใจด้วย มีแต่ที่มองแล้วสบายตาหน่อยไม่ได้หรืออย่างไร? ถ้าจ้างได้ฉันจ้างให้ลาออกไปเลย พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว เซ็งขี้หน้าจริงๆ

วันนี้ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ทั้งงานทางโลก ทั้งงานทางธรรม ฉันพกพาเอาความเบื่อหน่ายและอ่อนล้ากลับบ้าน ถอยกลับไปเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกดูถูกตัวเอง นึกถอดใจว่าคงไปไม่ถึงไหนหรอกแบบนี้

รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น… เอาเถอะ ตอนนี้ขอรู้แค่ว่าอยากนอนก่อนล่ะ ฉันลงนอนอย่างเต็มอกเต็มใจ ไม่โทษตัวเอง ไม่คะยั้นคะยอให้เดินทางไปสู่ความหลุดพ้นที่ไหนอีกแล้ว เหนื่อยเหลือเกิน โลกนี้ไม่มีอะไรสมใจเราสักอย่าง

คืนนี้ฉันแค่ยอมรับความสามารถและข้อจำกัดรอบด้านของตนเอง นี่แหละพระพุทธเจ้าถึงตรัสไว้ในชาลิยสูตรว่าฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาของฝุ่นละออง ขอเพลินโลกให้พอก่อนก็แล้วกัน แล้วตอนแก่ค่อยหันกลับมาปฏิบัติธรรมใหม่ พอถึงวัยหมดหวัง หมดอนาคตจริงๆค่อยคิดบวชสละโลกให้เป็นเรื่องเป็นราวอีกที

จิตหดหู่พาความคิดฉันไปไหนต่อไหนเรื่อย คืนนั้นฉันโยนสมุดพกทิ้งถังขยะ ฉันมาถึงเพดานจำกัดของคนธรรมดาแล้ว และก็ไม่รู้สึกผิดนักที่จะเป็นคนธรรมดาต่อไป

:b51: มีต่อ...

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 15:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b40: วันที่ ๖: นับหนึ่งใหม่ด้วยพละ ๕

ฉันตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตีห้า ซึ่งเป็นเวลาเดิมเพื่อเตรียมตัวไปทำงาน เมื่อเสียงกรี๊งยาวดังขึ้น ฉันก็ลุกขึ้นนั่งด้วยความสดชื่นที่ได้นอนเต็มอิ่ม เอื้อมมือกดปุ่มปิดเสียงนาฬิกาและเปิดไฟกลางห้อง

ขณะถือผ้าเช็ดตัวตรงมาที่ห้องน้ำก็ต้องชะงักกึก เมื่อเงยหน้าขึ้นเห็นนาฬิกาเหนือประตูห้องน้ำ เห็นบอกเวลาตีสี่ ฉันงงจนต้องนิ่วหน้าเกาหัว และเดินกลับเข้าห้องนอนเพื่อเช็กเวลากับนาฬิกาปลุกหัวเตียง คงมีเรือนใดเรือนหนึ่งบอกผิดแน่ๆ

แต่แล้วก็ต้องชะงักอีกคำรบ เมื่อพบว่าเข็มนาฬิกาชี้บอกเวลาตีสี่เหมือนเรือนข้างนอกห้อง!

ฉันยืนกะพริบตาปริบๆ เข้าไปเพ่งใกล้ๆก็เห็นเข็มกำหนดเวลาปลุกชี้ที่เลข ๕ ถูกต้อง เอาล่ะสิ ไฉนนาฬิกาคู่ใจจึงร้องแรกแหกกระเชอขึ้นมาในเวลาตีสี่อย่างนี้ได้?

ควรจะขนลุกมั้ยเนี่ย ฉันกลืนน้ำลายเอื๊อกแล้วนั่งแปะลงกับพื้น อาจจะเป็นเสียงนาฬิกาในฝัน อาจจะเป็นนาฬิกาของจริงบกพร่องที่ดังก่อนกำหนด หรืออาจจะเป็นปาฏิหาริย์ที่เรียกแบบภาษาชาวบ้านได้ว่า ‘ผีหลอก’ จะด้วยเหตุผลกลใดอันยากจะรับรู้ ฉันสาบานเจ็ดวัดเจ็ดวาเลยว่าเมื่อครู่ได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกจริงๆ

เคยได้ยินมาว่าเมื่อใครตั้งใจเข้าทางตรง กับทั้งได้พบทางตรงแล้ว ถ้าหากอ่อนแอคิดล้มเลิก มักมีเหตุการณ์มาขวางหรือผลักดันกลับมาเข้าทางเสียใหม่ ไม่ยอมให้เลิกล้มปณิธานง่ายๆ เคยแต่ได้ยินเล่าๆกัน แต่นี่มาเจอกับตนเองเป็นครั้งแรก ฉันพยายามคิดว่าจิตใต้สำนึกปลุกตัวเองด้วยการสร้างเสียงนาฬิกาขึ้นในฝัน สร้างแบบเลียนเสียงจริงได้เหมือนเปี๊ยบจนฉันต้องเอื้อมมือไปตบนาฬิกาเพื่อปิดเสียงนั่นแหละ จะได้สบายใจหน่อย

แต่เสียงนาฬิกาปลุกลึกลับก็ได้ทำให้ฉันฉุกคิดหลายอย่าง ประการแรกขณะนี้ตีสี่ แต่ใจนึกว่าเป็นตีห้า ก็รู้สึกสดชื่นเหมือนนอนเต็มตื่นแล้ว นี่แปลว่าอะไร ที่ผ่านมาฉันตื่นอย่างงัวเงียเพราะความเห็นแก่นอนชัดๆ ฉันแค่รู้สึกว่าทำไมต้องตื่น ทั้งที่ยังไม่ต้องตื่น เท่านี้ก็ก่อให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอนได้แล้ว

อีกประการหนึ่ง เมื่อเลิกตั้งใจเอาจริงเอาจัง เลิกเห็นตัวเองยืนมะงุมมะงาหราอยู่ที่หลักกิโลแรกของเส้นทางแสนกิโลเมตร แต่เริ่มวันใหม่ด้วยความรู้สึกปกติ มีความพอใจแค่เพียงตื่นขึ้นมาสูดอากาศสดชื่น ร่างกายและจิตใจก็เข้าที่ของมันเองแล้ว

ฉันล้วงสมุดบันทึกขึ้นมาจากถังขยะ เขียนลงไปในหน้าบันทึกวันที่ ๖ ว่า นับหนึ่งใหม่ และเขียนกำกับไว้ด้วยว่า ถ้าวันสุดท้ายของชีวิตฉันยังเจริญสติไปไม่ถึงมรรคถึงผล ฉันก็พร้อมจะนับหนึ่งใหม่ที่วันนั้น!

ทุกอย่างย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ ฉันเห็นเหตุผลว่าทำไมควรนั่งหลับตาตามรู้ลมสักพัก ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เหลือแต่ลมหายใจกับความคิดเก่าๆ ไม่มีภาพและเสียงใหม่ๆมาล่อให้ส่งออกนอก ฉันมีหน้าที่แค่เฝ้าดูด้วยใจที่เปิดสบายไปเรื่อยๆ กำหนดรู้เท่านั้นว่าลมหายใจกำลังออกหรือว่าเข้า

แปลกดีที่เช้านี้ไม่ง่วงเลย จิตใจสบาย เห็นลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออกด้วยสติแจ่มใสกว่าทุกครั้ง จะเป็นเพราะเสียงนาฬิกาปลุกลึกลับหรืออะไรก็ตามแต่

หลังจากกำหนดเลิกทำสมาธิ ลืมตาลุกขึ้นล้างหน้าแปรงฟันอาบน้ำเสร็จ เห็นเหลือเวลาพอสมควรก็มานั่งจดบันทึกยามเช้า เขียนว่าวันนี้ฉันหวิดกลับไปเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง กิเลสมีเป็นกองทัพ ฉันจะสู้กับกองทัพด้วยมือเปล่าและร่างที่ผ่ายผอมไม่ได้ ฉันต้องมีกำลังพลติดอาวุธกับร่างที่กำยำ

พลกำลังที่เอาไว้เดินหน้าประจัญกับกิเลสในทางการปฏิบัติธรรมภาวนาเพื่อมรรคผล เรียกว่า พละ ๕ ประกอบด้วย

๑) สัทธา ความมีศรัทธาทั้งในพระพุทธเจ้าและทางเดินคือสติปัฏฐาน ๔

๒) วิริยะ ความมีใจเพียรต่อเนื่องไม่ย่อหย่อน

๓) สติ ความสามารถยกจิตขึ้นรู้วัตถุอันเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้า

๔) สมาธิ ความสามารถตั้งจิตให้มั่นคงไม่หวั่นไหว

๕) ปัญญา ความสามารถกำหนดรู้วัตถุอารมณ์โดยความเกิดดับ


เมื่อวานกับเช้านี้ องค์คือ สัทธา ของฉันหดหายหมด เพียงเพราะเกิดความล้มเหลว ไม่สำเร็จผลเร็วอย่างใจ ไม่เชื่อตัวเอง ไม่เชื่อผลอันเกิดจากเหตุที่เพียงพอสมน้ำสมเนื้อ จึงทำให้ วิริยะ ของฉันพลอยหายหนไม่เหลือแม้แต่เงา จะเอาอะไรมาตั้งสติให้เกิดสมาธิเพื่อเห็นความเกิดดับได้เล่า?

วันนี้สัทธากลับมาใหม่อีกครั้ง จะโดยสิ่งลึกลับใดมาเตือนให้ตื่นก็ช่าง เอาเป็นว่าฉันเริ่มเชื่อแล้วว่าถ้าเข้าทางถูกจริงด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นเพียงพอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ทอดทิ้ง เหมือนดังที่ปรากฏในธรรมิกเถรคาถาว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม กุศลธรรมย่อมคุ้มครองคนดี สติปัฏฐานย่อมเลี้ยงผู้ปฏิบัติธรรมไว้ในทาง

แต่ถ้างอแงบ่อยๆ ธรรมก็อาจตัดหางปล่อยวัดได้เหมือนกัน!

เดินทางไปทำงานด้วยสติที่สดใสขึ้นกว่าเดิม วันนี้วันเสาร์ ทำแค่ครึ่งวันก็กลับบ้านได้ กำลังใจกับกำลังสติดูดีควบคู่กัน คำว่า ‘รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น’ ปรากฏกับใจอีกครั้ง ฉันกำลังรู้แบบสบายๆตามกำลัง และเห็นว่าเมื่อมีกำลังมาก ก็รู้ได้มากขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายามควบคุม เมื่อแวบไปทางโน้นทีทางนี้ที ก็เบี่ยงความสนใจกลับมาหาลมเอง แถมไม่ต้องสังเกตมากก็สำเหนียกรู้ได้ชัดว่าลมหายใจสบายขึ้น พลอยลากยาวเข้าลึกยิ่งขึ้นตามลำดับสติไปด้วย ไม่มีความพยายามเร่งรัดผิดจังหวะ ลมจึงเข้าออกตามความเรียกร้องทางกายอย่างแท้จริง

ณ จุดที่มีกำลังมาก เมื่อมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบ จึงเห็นว่าอาการ ‘รู้แค่ไหนเอาแค่นั้น’ อาจนำมาซึ่งความเคยชิน พอเคยชินนานไปก็กลายเป็นข้ออ้างว่าเดี๋ยวพร้อมกว่านี้แล้วค่อยรู้ ออกทำนอง ‘รู้ก็ช่างไม่รู้ก็ช่าง’ และในที่สุดก็กลายเป็นความทอดธุระแบบ ‘ไม่รู้ก็ช่าง’ อย่างเดียวไปเลย การอยู่ในทางแคบของฆราวาสต้องมีอะไรมากกว่าอาการทางจิตแบบนั้น จึงจะทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ฉันเริ่มนึกถามตัวเองเหมือนคนอื่นๆ สงสัยว่าเรานี้มีบุญญาบารมีหรือวาสนาแต่ปางก่อนมากน้อยเพียงใด ความรู้สึกข้างในมันอ่อนๆชอบกล จะเรียกไก่อ่อนหาญท้าชิงนักมวยเฮฟวี่เวทก็คงได้ ฉันถูกสอนให้ภูมิใจในวาสนาที่สร้างจากความเพียรในปัจจุบัน มากกว่าวาสนาที่สร้างจากบุญกรรมในอดีต เพราะวาสนาแบบหลังมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ และต่อให้มีจริง ใครคนหนึ่งในห้วงอดีตก็ไม่ใช่ฉันในเวลาปัจจุบันอีกต่อไป จึงไม่ควรหวังกินบุญบุคคลไร้ตัวตน แม้ได้ชื่อว่าเป็นเราเองในชาติก่อน

คิดแล้วก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น หนทางยังอีกไกลก็ช่าง ตราบใดที่สามารถมีสติรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยความสดชื่นรื่นเริงในธรรมเหมือนอย่างนี้ อะไรๆก็คงไหวอยู่หรอก

เป็นวันที่ไม่ถูกคู่อริราวีในห้องประชุม เพราะทำงานแค่ครึ่งวัน นับว่าโชคดีพอสมควร ทั้งวันฉันทำงานอย่างเพลิดเพลิน แล้วก็รู้สึกว่าสามารถไหวทันความเข้าออกของลมหายใจได้เรื่อยๆ นับแล้วมีสติรู้ลมได้เกินยี่สิบครั้งก่อนจะเริ่มเลือนไป ถือว่าดีกว่าทุกวันที่ผ่านมา ที่บางครั้งเฝ้าพะวงห่วงลมจนเครียด แต่บางครั้งก็ปล่อยใจล่องลอยเผลอเหม่อน่าดูชม

สรุปในคืนที่ห้า การภาวนาไม่ได้เดินหน้าด้วยการเอาใจใส่พากเพียรหรือยกสติขึ้นตั้งให้เป็นสมาธิอย่างเดียว บางครั้งต้องเติมศรัทธาที่เริ่มเหือดแห้งเข้าไปด้วย และทางเดียวที่จะรู้ว่าศรัทธาพร่องไปหรือยัง ก็คือต้องสำรวจตรวจสอบ การมีสมุดบันทึกประจำตัวคือวิธีเตือนตนเองได้ดีวิธีหนึ่ง มันเป็นเหมือนเพื่อนเตือนความจำ และบางครั้งก็เป็นเพื่อนเตือนสติไปในตัว

สิ่งที่ฉันมีไม่เหมือนคนอื่นนั้น หาใช่ความเก่งกาจหรือบุญเก่าล้นฟ้าอันใด แต่เป็นความมุมานะและกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ได้เร็วเพียงชั่วข้ามวันที่เหมือนถอยหลังเข้าคลองไปแล้ว

นอกจากนั้นยังมีความจริงในด้านไม่ค่อยเสริมมงคลอีกประการหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ คือถ้าถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ย้อนกลับไปฟุ้งซ่านตามอำเภอใจได้วันหนึ่งคล้ายทำงานหนักแล้วพักร้อนเปิดหัวเสียบ้าง พอกลับมาใหม่ทุกอย่างจะสดใสขึ้น เหมือนมีกำลังวังชามากขึ้น ที่สำคัญต้องไม่พักนานเกินไป ทำนองเดียวกับนักกีฬา ถ้าต้องนั่งนานดูคู่ต่อสู้ทำแต้มก็จะลดความคมลง แต่ถ้านั่งให้หายล้าพอควรจะกลับมาใหม่ด้วยกำลังวังชาสดใหม่และลืมตาได้เต็มตื่น

:b53: มีต่อ...

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๗: สององค์แรกของโพชฌงค์ปรากฏ

เพิ่งรู้ว่าสงสารตัวเองที่ต้องลำบากลำบนตื่นแต่ฟ้ามืดมาตลอด พอวันนี้ความสงสารตัวเองหายหนไป ทุกอย่างสำแดงความแตกต่างชัด กลายเป็นเกิดความกระปรี้กระเปร่าขึ้นแทน อาจเรียกได้ว่าครั้งแรกในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา นี่เข้าวันที่ ๗ แล้วนับแต่ปลงใจเริ่มปฏิบัติธรรมจริงจัง ความรู้สึกเหมือนเพิ่งสองสามวันเท่านั้น

เวลาของการปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานจะผ่านไปนานช้าเพียงใดก็ตาม วันหนึ่งเมื่อบังเกิดผลขึ้นแล้ว มองย้อนไปก็เหมือนใช้เวลาสั้นแสนสั้น คุ้มแสนคุ้ม

เมื่อมีกำลังใจ ก็มีความสดชื่นปลอดโปร่ง เห็นชัดว่าถ้าพลกำลังพรักพร้อม แม้ไม่ต้องกำหนดสติมากก็รู้ลมหายใจได้ง่าย กับทั้งมีความถูกต้อง กล่าวคือลมหายใจเข้านำความสดชื่นมาด้วย ลมหายใจออกนำความผ่อนคลายออกไป และเมื่อลมหายใจหยุดก็เกิดความสงบสุขที่จิต ตรงนี้เข้าข่ายรู้เวทนาแบบอ่อนๆ หายใจเข้าหายใจออกรู้สุขเวทนาทางกาย เมื่อหยุดหายใจรู้สุขเวทนาทางใจ

ฉันจดจำไว้ด้วยจิต ว่าถ้าสามารถเห็นสายลมหายใจควบคู่ไปกับความสดชื่นในขาเข้า และความผ่อนคลายในขาออก จะทำให้สติตามประกบลมหายใจได้เองโดยไม่ต้องนับเลขในใจช่วย สุขอันเกิดแต่วิเวกย่อมช่วยค้ำจุนให้รู้ชัดได้อยู่แล้ว ไม่มีลมหายใจใดประกอบด้วยความร้อนรน ไม่มีลมหายใจใดประกอบด้วยความคาดหวังเกินกว่าพึงใจที่ได้รู้ว่าลมกำลังเข้าหรือออก

เมื่อแน่ใจว่ารู้ทันลมเข้า รู้ทันลมออกได้เกือบ ๔๐ ครั้งด้วยความสุขกายสบายใจ ฉันก็ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าแบบนี้องค์แรกของโพชฌงค์ปรากฏขึ้นแล้ว

หลังออกจากสมาธิ ฉันปล่อยใจสบายๆ ก็ยังรู้สึกว่าจิตเคยชินกับการรู้ได้ไล่ทันลมหายใจเข้าออกอยู่ ถือว่าผ่านขั้นแรกของอานาปานสติไปได้ ฉันไปทำงานด้วยความแช่มชื่นราวกับมีชีวิตใหม่ ชีวิตที่มีสติเห็นทันลมเข้าออกอยู่เสมอๆ แน่นอนว่าต้องแวบไปหาคน แวบไปหางาน หรือกระทั่งเผลอเหม่อเผลอฟุ้งบ้าง แต่สภาพจิตต่างไป คือมีความสดใสอยู่ข้างในที่รู้สึกได้ จับต้องได้ เห็นลมเข้าชัด เห็นลมออกชัดเกือบตลอดเวลา ชีวิตแบบนี้มีได้จริงใน ๗ วัน ขอเพียงแน่วแน่พอ

วันนี้วันอาทิตย์ แต่ช่วงสายเจ้านายโทร.มาตามหลายๆคนรวมทั้งฉันให้ช่วยเข้าออฟฟิศด่วน เนื่องจากเอกสารสำคัญมีปัญหา และจำเป็นต้องเร่งให้เสร็จภายในวันนี้ มิฉะนั้นอาจต้องถูกปรับ ฉันก็เป็นพนักงานที่ดี เจ้านายว่าด่วนก็เร่งไปให้อย่างรีบด่วน อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะเป็นกรณีฉุกเฉินนานทีปีหน ใช่ว่าเจ้านายจะโทร.มาด้วยน้ำเสียงเหมือนเจ๊กตื่นไฟบ่อยๆ

ช่วงบ่าย หลังอาหารเที่ยงแล้วเกิดอาการหนังท้องตึงหนังตาหย่อนเล็กน้อย สังเกตเห็นว่าเมื่อคุณภาพจิตเริ่มเสื่อมถอย จะเหมือนมีฝ้าฟางมาบดบังทัศนวิสัยไม่ให้เห็นลมหายใจชัดนัก และตัวลมหายใจก็เหมือนลีบเล็กลง กับทั้งหยาบมากขึ้นด้วย แม้ยังปรากฏสติรู้ว่าเมื่อใดลมเข้า เมื่อใดลมออกอยู่ ก็นับว่าน้อย ถ้าเทียบเคียงกับแสงสว่าง ก็คงต้องว่าสติเมื่อเช้าประมาณ ๑๐๐ แรงเทียน แต่สติช่วงบ่ายแค่สัก ๓๐ แรงเทียนกระมัง

แต่พอได้เวลาทำงาน พอเจองานเร่งด่วน ร่างกายต้องขยับเคลื่อนไหวแข็งขันเข้า สติก็กลับมาใหม่ และเมื่อฝึกให้ความสำคัญกับลมหายใจไว้หลายวันที่ผ่านมา พอถึงวันนี้อานิสงส์ก็เริ่มออกดอกออกผล กล่าวคือลมหายใจปรากฏแทรกในระหว่างแห่งการคิดเรื่องงานบ่อยๆ โดยที่ไม่รบกวนให้งานสะดุดแม้แต่น้อย ฉันเพิ่งมีจิตละเอียดพอจะสังเกตว่าแม้อาการทางสมองคล้ายคิดเรื่องงานอยู่ไม่ขาดสาย ก็มีช่วงว่างเกิดขึ้นเป็นระยะๆเสมอ ช่วงว่างที่ว่านี้อาจหมายถึงการเว้นวรรคทางความคิด หรืออาจหมายถึงการเหลือบตาไปดูเนื้องานด้านซ้ายขวา หรืออาจหมายถึงการยกมือพลิกกระดาษเอกสาร หรืออาจหมายถึงการเงยหน้าขึ้นมองผู้มาเยือนโต๊ะ จังหวะเวลาเหล่านี้แบ่งไปรู้ลมหายใจได้ทั้งนั้นเลย

ใกล้เย็นคู่อริของฉันเดินเอางานมาวางให้ที่โต๊ะ บอกห้วนๆให้เซ็นซะ ทำท่าเท้าเอวอย่างกับเจ้านาย ฉันฉุนขึ้นมาวูบหนึ่ง แค่เห็นหน้าและได้ยินเสียงเจ้าคนนี้หน่อยเดียวก็ทำให้อารมณ์เสียแล้ว

แต่ฉันก็ได้เห็นความแตกต่างไปกว่าเคย คือเมื่อโมโห สติจะไม่ยอมให้จิตถูกครอบงำด้วยโทสะนานนัก เมื่อผุดลมหายใจเข้า หรือปรากฏลมหายใจออกขึ้นทางกาย สติก็ดึงจิตไปสนใจลมแทน ฉันรับงานมาเซ็นตามหน้าที่ เสร็จแล้วคู่อริของฉันก็คุยเรื่องงานต่ออีกหน่อยหนึ่ง ฉันรู้สึกว่าน้ำเสียงของเขาน่าฟังขึ้น แววตาที่มองฉันก็สุภาพกว่าปกติ ทำให้การเจรจาราบรื่นและเป็นมิตรกว่าทุกครั้ง

พอศัตรูคู่อาฆาตจากไป ฉันก็ซึมซับความรู้สึกดีเล็กๆน้อยๆไว้ ยิ้มให้กับตัวเอง จิตบอกตัวเองอย่างหนึ่งว่าถ้าใจเราไม่มีโทสะ แต่มีสติสัมปชัญญะดีขณะเจรจา น้ำเสียงก็จะราบเรียบ คลื่นจิตที่ลอยไปกระทบคู่สนทนาก็เงียบสงบ เมื่อไร้ร่องรอยของปรปักษ์ ส่วนลึกของคู่สนทนาย่อมไม่ปรารถนาจะเป็นปรปักษ์ด้วย อย่างน้อยก็ชั่วเวลาที่จิตเราดำรงอยู่ในสติสัมปชัญญะนั้น

งานเสร็จทัน ทุกคนสบายใจ ฉันกลับบ้านเข้าห้องปิดประตูล็อกตั้งแต่สองทุ่มเศษ ใจที่กำลังใสเบาทำให้นึกอยากนั่งสมาธิอย่างเดียว

หลับตากับลืมตามีค่าใกล้เคียงกันแล้ว ลมหายใจเข้าก็ชัดของเขาอย่างนั้นแหละ ลมหายใจออกก็ชัดของเขาอย่างนั้นแหละ ฉันเริ่มสนใจสังเกตว่าถึงตรงนี้จะทำความคืบหน้าต่อไปอย่างไร ก็ตอบตัวเองว่าไปตามลำดับอานาปานสติสิ หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น

เพียงน้อมจิตกำหนดรู้นิดเดียว ก็พบว่าลมหายใจในปัจจุบันส่วนใหญ่ค่อนข้างยาว และยาวสม่ำเสมอไปเกือบสิบครั้งเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะหดสั้นลง

ด้วยความสังเกตอยู่นั้นเอง ฉันก็พบความจริงประการหนึ่ง คือลมยาวกับลมสั้นของฉันจะแตกต่างกันมาก แสดงถึงความไม่สม่ำเสมอในลมขณะสติดีกับลมขณะหายใจปกติ

ด้วยสติที่คมคายรู้เห็นชัดเจนยามนั้น ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนโง่ๆทึบๆที่เพิ่งฉลาดขึ้นหลังจากถูกชี้ทางโดยพระพุทธเจ้า แท้จริงแล้วที่ผ่านมาทั้งหมด เมื่อจะรู้ลมหายใจได้ชัดก็เมื่อลากลมยาวพอ แต่เมื่อใดลมหายใจสั้นลง สติก็จะขาดหายไป และหายนานเนื่องจากลมสั้นเกิดขึ้นมาก แต่เพราะกำลังปิดตาและเฝ้ารู้ลมอย่างเดียว กับทั้งกำลังสังเกตยาวสั้น ทำให้สติยังทรงอยู่กับตัวไม่หายตามลมสั้นเหมือนอย่างขณะลืมตา

ความจริงอันสลักสำคัญยิ่งลำดับต่อมาคือความเห็นว่าสายลมหายใจนั้น ไม่ได้เป็นชุดเดียวกันเหมือนอย่างที่เคยรู้สึกมาชั่วชีวิต ตรงจังหวะที่เห็นว่าลมหายใจเข้าไปสุด แล้วต้องส่งออกมาแน่ๆนั่นแหละ จุดเริ่มต้นของการเห็นอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ แล้วจะต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ใช่ของที่มีอยู่ก่อนในกายเรา ไม่ใช่ของที่เราจะครอบครอง และยิ่งไม่ใช่ของที่ยืนยันได้ว่าเป็นอัตตาของใคร

ยังมีส่วนสำนึกของความเป็น ตัวฉัน ที่แย้มยิ้มออกมาอย่างปีติ นี่กระมังที่เรียกว่า ธัมมวิจัย อันเป็นองค์ที่สองของโพชฌงค์ เมื่อสติแข็งแรงแล้วน้อมจิตพิจารณาตามความจริงที่มันปรากฏแสดงความเกิดดับให้ดูอยู่โต้งๆ ก็เห็นประจักษ์อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าปัญญาแบบคิดๆมากมายเหลือจะเปรียบ

ฉันไม่ค่อยตระหนักว่าตัวปีติเริงร่าแบบคนดีใจทำงานสำเร็จเสียทีนั้นเอง เป็นตัวการให้องค์แห่งโพชฌงค์ที่หนึ่งและที่สองหายหนไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นใจฟองฟูแบบดิบๆไป สติยังมี แต่ดึงมารู้ลมเข้าออกไม่ได้ชัด ปีติชัดกว่า แต่ก็ไม่เป็นไร กำลังใจเพิ่มขึ้นเหลือล้น มีความสุขยิ่งกว่าคนมาแต่งตั้งให้เป็นพระราชาอีกแน่ะ

สรุปคืนนี้ ฉันบันทึกไว้ว่าสติอันเป็นองค์แรกที่เกื้อกูลการตรัสรู้ตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ นั้น ไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นโดยง่าย แต่เมื่อมีลมหายใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา ก็แปลว่าเรามีโอกาสซักซ้อม มีโอกาสพัฒนาทักษะ ขอเพียงมีใจมุ่งมั่นต่อเนื่องนานพอ และสมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อเกิดสติมากแล้ว ย่อมทำให้ธัมมวิจัยบริบูรณ์ได้

แน่นอน ฉันรู้สึกว่าธัมมวิจัยยังไม่บริบูรณ์ เพราะเพิ่งเกิดเดี๋ยวเดียวความดีใจก็เอาสติไปกิน แต่ก็เชื่อว่าเมื่อสติเกิดขึ้นเป็นปกติ การพัฒนาต่อให้เกิดธัมมวิจัยย่อมไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อมอีกต่อไป

อีกประการหนึ่ง ฉันได้ข้อสรุปด้วยว่าเบื้องต้นนั้น ฉันใช้เสียงพากย์ในหัวช่วยเป็นตัวเริ่ม เช่นถามตัวเองว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า อีกทั้งนับหนึ่ง สอง สามไปด้วย มีเสียงพากย์ในหัวก็นับเป็นเครื่องกำกับสติที่ดี เนื่องจากความคิดอย่างมีเป้าหมายจะใกล้เคียงกับความฟุ้งแบบสุ่ม แทนที่จะปล่อยให้ฟุ้งสุ่ม ก็เปลี่ยนมาเป็นคิดอย่างที่จะนำจิตไปสู่วัตถุเป้าหมายอันเป็นประโยชน์ได้

แต่เมื่อสติเกิดขึ้นเต็มรอบแล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะเห็นเสียงพากย์ในหัวหายไป เหลือแต่จิตใจที่สงบเงียบอิ่มสติปรากฏเด่นอยู่

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 16:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


วันที่ ๘: องค์ที่สามของโพชฌงค์ปรากฏ

ฉันตื่นก่อนนาฬิกาปลุกราวครึ่งชั่วโมง คราวนี้ด้วยความเต็มใจเหลือที่จะกล่าว ลุกขึ้นเข้าห้องน้ำอย่างกระตือรือร้น แล้วกลับมานั่งสมาธิแบบหลับตาราวกับเหลือนาทีในชีวิตอีกไม่เกินวันนี้ ดีเหมือนกันถ้าใจคิดอยู่เรื่อยๆว่าพ้นวันนี้อาจไม่รอด ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอสำหรับชีวิตอันเปราะบางของมนุษย์

เจริญอานาปานสติตามแบบที่จิตเริ่มคุ้นทาง รู้ลมเข้าออกชัดโดยไม่ต้องมีเสียงช่วยนับ ตอนลากลมเข้าหน้าท้องค่อยๆพองขยายออกจนสุด ตอนปล่อยลมออกเหมือนตัวเป็นลูกโป่งเปิดปากให้คายลมออกมาเองช้าๆ

เมื่อรู้ชัดว่าหายใจออก ไม่คลาดสติเมื่อหายใจเข้า มีสติมั่นคงถึงจุดหนึ่ง ก็กำหนดรู้ตรงจุดสุดลมเข้าปอด เห็นว่านั่นคือจุดเริ่มของลมออกจากร่าง กระทั่งเกิดความเห็นชัดว่าลมหายใจเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา

อันเนื่องจากเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างรู้ทาง ฉันไม่ปล่อยให้ปีติครอบงำเหมือนเมื่อคืน แต่ทำเฉยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ด้วยความเบิกบานในธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเห็นได้ว่าลมหายใจใดเริ่มสั้นลง ก็ประคองจิตรับรู้ด้วยสติคงเส้นคงวาเท่าเดิม ไม่ให้กำลังสติตก

ที่จะเรียกว่า วิริยะ อันเป็นองค์ที่สามแห่งโพชฌงค์ได้เต็มปาก ก็ต่อเมื่อใจให้ความสำคัญกับธัมมวิจัยอย่างต่อเนื่องไม่ลดละจริงๆ สิ่งอื่นเหมือนด้อยค่าลง เสียลำดับความสำคัญให้กับธัมมวิจัยทั้งหมดทั้งสิ้น กล่าวคือในขั้นนี้ ฉันไม่สนใจอะไรอื่นมากไปกว่ารู้ว่าลมเข้าแล้วต้องผ่านออกไปเป็นธรรมดา กับทั้งเปรียบเทียบได้ทันว่าเมื่อใดลมหายใจสั้นลง เมื่อใดกลับกระเตื้อง ร่างกายต้องการลมยาวขึ้น

ฉันสังเกตลงไปในระดับของอาการดำเนินจิต จังหวะชี้บอกว่าวิริยะปรากฏชัดมีอยู่ คือเมื่อสิ่งอื่นใดจะดึงสติ หรือทำให้เสียธัมมวิจัยไป จะมีสติอีกชั้นหนึ่งมาดึงจิตกลับไปรู้อารมณ์เดิม ด้วยความรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญเท่า การพยายามประคองให้เกิดสติ เกิดธัมมวิจัยอย่างต่อเนื่องนั้นเอง ให้ผลเป็นความหนักแน่นยิ่งๆขึ้นของจิต คล้ายอัดดินร่วนให้เป็นปึกแผ่นราบเรียบมากขึ้นๆ

เช้านี้ฉันจดบันทึกด้วยความมีปีติเป็นล้นพ้น วิริยะที่อยู่ในโพชฌงค์ต่างจากวิริยะในการทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวทางโลก ต่างจากวิริยะแม้เมื่อทำสมาธิเอาความสงบสุข เพราะเป็นวิริยะในความหมายของการทำความเห็นสภาพเกิดดับของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสำคัญ

แต่ฉันก็ให้คะแนนตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เมื่อใช้โพชฌงค์เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบแล้วพบว่ายังไม่เกิดปีติชัด ฉันทำความเข้าใจแยกแยะภาวะปีติได้ถูก ถ้าปีติแบบโลกๆจะเหมือนหัวใจพองฟูคล้ายเด็กดีใจได้ของเล่น มีความวูบวาบหวั่นไหว ให้ผลเป็นอาการเนื้อเต้น อยากลุกขึ้นขยับเต้นแร้งเต้นกา แต่ถ้าเป็นปีติในองค์สมาธิจะมีความสงบนิ่ง ให้ผลเป็นความระงับทั้งกายและใจ และนี่คือประโยชน์ของการศึกษาภาคทฤษฎีมาอย่างดี เมื่อรู้ลำดับโพชฌงค์กระจ่างแจ้ง จะไม่ทำให้ตีค่าระดับการภาวนาที่เข้าถึงอย่างผิดๆเหมือนสมัยก่อน

มาที่ทำงาน ฉันรู้สึกว่าอาการทางกายเป็นอัตโนมัติมากขึ้น แล้วก็พลอยทำให้สติหมุนเหมือนมอเตอร์ที่ทำงานเต็มกำลังทุกรอบ เรียกว่าการรู้ลมกลายเป็นอนุสติไปแล้ว

สำรวจตนเองแบบไม่เข้าข้าง ฉันเห็นสติ ธัมมวิจัย และวิริยะปรากฏอยู่เรื่อยๆ แม้ไม่ต่อเนื่องชนิดวินาทีต่อวินาที แต่เมื่อใดว่างจากงาน เมื่อใดไม่ต้องข้องเกี่ยวกับผู้คน มีเวลาเป็นตัวของตัวเองตามลำพัง ฉันเห็นลมเข้าออกสั้นยาว เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา กระทั่งจิตเหมือนฟองสว่างว่างโล่งที่บอกตัวเองเกือบตลอดว่า ลมหายใจไม่ใช่ของเรา

แต่ในความว่างนั้น ยังมีความฝืด หรือจะเรียกว่าอะไรดี มันหนืดๆอยู่ชอบกล ปีติแบบวูบๆวาบๆเหมือนอิ่มอกอิ่มใจที่หายไข้ แล้วสลับเป็นกลัดกลุ้มลึกๆ ตรวจสอบเทียบเคียงแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับความร้อนใจ อยากได้ดียิ่งๆขึ้นนั่นเอง

ตรงนี้คงแก้ไม่ยากนัก อาศัยศรัทธา คือเชื่อว่าทำไปเรื่อยๆแล้วจะทะลวงด่านทึบนี้ได้เองก็พอ หนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าถ้าปฏิบัติถูกทาง ความต่อเนื่องนั่นแหละคือความก้าวหน้า และนิยามของความต่อเนื่องทางการปฏิบัติก็คือ ‘วิริยะ’ อันเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏในฉันเดี๋ยวนี้เอง

ฉันเจอคู่อริตอนเดินสวนกัน พอเดินสวนกันสติฉันหลุดจากฐานแวบหนึ่ง คือแลบไปจับอยู่ที่ความรู้สึกในอัตตาของเรากับอัตตาของเขา และเกิดวาระแรกเห็นว่าจิตของฉันเหนือกว่า ไม่ควรลดตัวไปเทียบกับคนระดับต่ำกว่าอีกต่อไป

สรุปคืนนี้ ถ้าตรวจสอบด้วยเกณฑ์คือโพชฌงค์ ฉันพัฒนามาถึงขั้น ๓ แต่ถ้าตรวจสอบด้วยอานาปานสติ ฉันก็บรรลุเป้าหมายแรกแล้ว คือมีจิตเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่าจะออกหรือเข้า ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น จิตยังทรงสภาพผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างสม่ำเสมอไม่คลาดไป เสียแต่ว่ายังเป็นการรู้ชัดแบบแห้งๆไม่ค่อยมีน้ำปีติหล่อเลี้ยงให้ชุ่มฉ่ำเท่านั้น

:b41: :b53: มีต่อ...

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3, 4, 5 ... 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร