วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 14:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 23:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: พระธรรมเทศนาโดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี :b44:

๑๒๓. กรรม
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๘


พุทธะมามกะผู้นับถือพุทธศาสนา ควรเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม เราทำกรรมอันใดไว้แล้ว เราต้องรับผลของกรรมนั้นๆด้วยตนเอง คนอื่นจะมารับแทนไม่ได้เด็ดขาด หรือใครจะมีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์สักปานใด จะแปรสภาพกรรมให้เป็นอื่นไปไม่ได้

แล้วกรรมนี้เมื่อทำลงไปแล้วย่อมได้รับผลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว ในที่ลับหรือที่แจ้ง ย่อมได้รับกรรมนั้นด้วยใจของตนเอง คนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม ตัวของตนนั่นแหละย่อมรู้ชัดด้วยใจของตนตลอดเรื่อง ส่วนภพอื่นชาติอื่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผู้นับถือพุทธศาสนาต้องเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมอย่างนี้เป็นพื้นฐาน จึงจะรักษาพระรัตนตรัยให้มั่นคงตลอดเวลาไปได้

ตัวกรรมแท้เกิดที่จิตใจของบุคคล คนไม่มีใจไม่ทำกรรมนั้นๆได้ เช่น คนตายแล้วไม่เคยเห็นเขามาทำกรรมอีก มีแต่คนยังมีชีวิตมีจิตใจอยู่ในโลกนี้แหละพากันทำกรรมดีและชั่วยุ่งกันอยู่นี่แหละไม่มีที่สิ้นสุด จิตใจเป็นผู้เริ่มที่จะทำกรรมนั้นๆ กรรมจึงค่อยเกิดขึ้น กรรมไม่ได้เกิดเองเป็นเอง

เมื่อกรรมริเริ่มที่ใจแล้วก็มีเจตนาเกิดขึ้น จึงแสดงออกมาทางกาย วาจา และใจ ใจเป็นต้นเหตุ เจตนาเป็นผู้แสดงออกมา

ถ้าใจชั่วคิดไม่ดี มีความเกลียด โกรธ อิจฉา พยาบาทอยู่แล้ว ย่อมแสดงออกมาทางกายให้เห็นชัดเลย เป็นต้นว่าคิดจะฆ่าสัตว์ ลักขโมยของเขา และประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ย่อมแสดงออกมาแต่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์แก่คนอื่นทั้งนั้น หรือมิเช่นนั้นก็แสดงออกมาทางวาจา ด้วยการพูดเท็จพูดโกหกหลอกลวงคนอื่น เพื่อให้เขาเสียผลประโยชน์ในสิ่งที่ควรจะได้ เป็นต้น ถึงไม่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจาแต่ก็ยังมีความนึกคิดอยู่แต่ในใจ ในการที่ทำความเสื่อมเสียแก่คนอื่นจนเป็นนิสัย

ใจเป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรทีแรก แล้วจึงแสดงออกมาทางกาย วาจา และใจ

ใจเป็นคนตั้งเป้าหมายไว้ จึงบังคับให้กาย วาจา และใจทำกรรมนั้นๆตาม ทำความเดือดร้อนเป็นทุกข์แก่ตนและคนอื่นทั่วไป ที่เรียกว่ากรรมชั่วหรือบาปนั่นเอง

ตรงกันข้าม ถ้าใจมีเมตตาปราณีโอบอ้อมอารีเผื่อแผ่แก่มนุษย์ทั้งหลาย ใจอันนั้นก็คิดจะกระทำแต่กรรมดีไม่ว่าจะเป็นมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานเห็นเป็นเหมือนกับญาติสายโลหิตของตนเอง เมื่อจิตคิดและตั้งเจตนาไว้เช่นนั้นแล้วจะทำกรรมดีให้มีประโยชน์แก่ตนและคนอื่นก็ง่ายขึ้น และทำได้ทุกโอกาสทุกเวลา กาย วาจา และใจอันที่แสดงออกมาเป็นต้นว่า ศีล ๕ ศีล ๘ มันเป็นเองไม่ต้องบังคับ นั้นเรียกว่ากรรมดี หรือบุญกุศลก็เรียก

เราเกิดมาเพราะกรรมนำมาให้เกิด เมื่อเกิดมาเพราะกรรมแล้ว ยังไปนำเอากรรมมาปรุงแต่งเพิ่มให้ทวีคูณขึ้นมาอีก เพราะความไม่รู้ ความหลงว่ากรรมไม่ใช่กรรม กว่าจะรู้มันสายไปเสียแล้ว เมื่อมาระลึกถึงความผิดพลาดจึงกลัวกรรมจะตามมาสนอง เมื่อทำบุญกุศลอันใดจึงอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรอยู่เสมอ

เจ้ากรรมนายเวรมีจริงหรือไม่ เจ้ากรรมนายเวรก็หมายถึงบุคคลกระทำกรรมนั้นๆไว้แล้ว มอบให้เจ้ากรรมนายเวรนั้นเป็นผู้รักษา และประสิทธิ์ประสาทให้แก่ผู้กระทำ หรือผู้เป็นกรรมเป็นเวรต่อกันอีกทีหนึ่ง จึงจะเรียกว่าเจ้ากรรมนายเวร

กรรมเวรมันเกิดที่ใจของบุคคล บุคคลมีเจตนาไปยึดเอามาปรุงแต่งขึ้นที่กาย วาจา และใจนี้ กรรมเวรจึงค่อยมี คนอื่นนอกจากตัวของเราแล้วจะไปรู้ได้อย่างไร เราควบคุมใจของตนไว้แต่เบื้องต้น จนไปทำชั่วแล้วยังจะส่งกรรมเวรนั้นไปให้คนอื่นรักษาให้ ใครจะยอมรับเล่า กรรมดีค่อยยังชั่วหน่อย ยังจะพอรับได้บ้าง แต่กรรมชั่วนี่ซิ ใครๆก็เกลียดจะยอมรับไม่ได้ โบราณท่านสอนไว้ว่า "เขาหามหมูอย่าเอาไม้คานไปสอด"

กรรมเวรเกิดขึ้นจากจิต เป็นนามธรรมดังอธิบายมาแล้ว เมื่อจิตไปสวมเอารูปกาย ซึ่งเป็นวิบากของกรรมมาเป็นตัวตน กรรมก็จะต้องตามมาใช้กรรมนั้นอีก จิตผู้สร้างกรรมนั้นย่อมจะรับผลกรรมนั้นยิ่งทวีคูณ เมื่อกายแตกดับแล้วจิตจะต้องเป็นผู้รับผลกรรมนั้นแต่ผู้เดียว และยังจะต้องได้รับต่อไปอีกหลายภพหลายชาติอีกด้วย ดังพระพุทธเจ้าของเรา ท่านเกิดมาเสวยชาติเป็นสัตว์สาราสิ่งเหลือที่จะคณานับ นับไม่ถ้วน แต่ละภพละชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่เกิดมาเสวยกรรมทั้งนั้น

รูปดับแล้วยังเหลือแต่จิต จิตนั้นก็หอบเอากรรมนั้นพาไปเกิดอีกต่อไป
กรรมและเวรมีลักษณะต่างกัน และให้ผลก็ต่างกัน กรรม ทางพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ ๒ อย่าง กรรมดีหรือบุญก็เรียกเป็น กุศลกรรม กรรมชั่วหรือบาปก็เรียกเป็น อกุศลกรรม

ส่วน เวร นั้นเกิดจากเจตนาอันชั่วช้าเลวทราม ทำกรรมแล้วจนเป็นเหตุให้ผูกเวรซึ่งกันและกัน
กรรมและเวรในที่นี้จะได้อธิบายแต่ในทางที่ไม่ดีอย่างเดียว เพราะคนส่วนมากก็เข้าใจเช่นนั้นเหมือนกัน ตรงกันข้ามกรรมที่ดีพึงเข้าใจโดยอัตโนมัตตยาธิบายไปนี้

กรรมที่บุคคลกระทำลงไปแล้วด้วยเจตนาไม่มุ่งมั่นเฉพาะในบุคคล หรือสัตว์นั้นๆเรียกว่า กรรม เช่นชาวประมงตกเบ็ด ทอดแห ลากอวนลงโป๊ะจับปลาได้เป็นเข่งๆตันๆมาขาย หรือรบราฆ่าฟันกันไม่รู้ว่าใคร ล้มตายกันเป็นร้อยๆพันๆมุ่งแต่จะทำลายอีกฝ่ายหนึ่งให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเอาชนะเขา นั่นได้ชื่อว่ากระทำ กรรม มีผลสนองในชาตินี้ คือ ทำใจให้เศร้าหมอง เดือดร้อน คิดแต่จะทำร้ายให้เขาได้รับโทษทุกข์ถ่ายเดียว

เมื่อกายแตกทำลายไปตามสภาพของมันแล้ว ยังเหลือแต่จิต กรรมนั้นย่อมติดพันต่อไป เพราะจิตเป็นผู้สร้างกรรมไว้เมื่อจิตไปเกิดในภพนั้นๆหรือคตินั้น กรรมย่อมตามไปสนองอย่างนี้อีก ตลอดเวลายาวนาน จนกว่าจิตนั้นจะบริสุทธิ์พ้นจากกิเลส จึงสิ้นสุดลงได้

ดั่งชาวศากยราชที่เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าของเราถูกกองทัพวิฑูทัพพะบดขยี้ราบเรียบหมด เรื่องเดิมมีอยู่ว่าวิฑูทัพพะเป็นราชโอรสของพระเจ้าปเทนทิโกศล ถูกชาวศากยราชดูถูกเหยียดหยาม ทรงพระพิโรธมาก จึงทรงยกทัพไปจะขยี้ชาวศากยราชให้ฉิบหายทั้งหมด พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสกัดกั้นอยู่ข้างหน้า วิฑูทัพพะได้ทรงเห็นจึงตรัสว่า พระองค์เสด็จมาประทับ ณ ที่นี้ไม่ทรงร้อนพระวรกายหรือ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความร้อนของเรามีนิดหน่อยไม่เท่าความร้อนของกษัตริย์วิวาทกัน
วิฑูทัพพะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาห้ามเรา จึงยกทัพกลับคืนที่เดิม แต่วิฑูทัพพะทรงยกทัพไปอีกถึง ๒ ครั้ง พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปกั้นทั้ง ๒ ครั้งเหมือนกัน ด้วยความพิโรธอันแรงกล้า วิฑูทัพพะทรงยกกองทัพไปอีก พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงกรรมของชาวศากยราชแล้วจึงไม่ได้เสด็จไปกั้นอีก (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นกรรมอันใด) วิฑูทัพพะทรงยกทัพตะลุยเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ ฆ่าชาวกรุงกบิลพัสดุ์เรียบหมด มันจะต้านทานได้ที่ไหน เพราะชาวกรุงกบิลพัสดุ์รักษาศีลห้า รบกับกองทัพวิฑูทัพพะโดยไม่มีกระสุน ยอมตายเพราะรักศีลมากกว่าชีวิตของตน

นี่แหละ กรรม และ เวร ใครๆจะห้ามไม่ได้เด็ดขาด แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังห้ามไม่ได้ เมื่อตนทำกรรมอะไรลงไปแล้ว ตนจะต้องได้รับผลกรรมนั้นต่อไป

ส่วน เวร ก็คือ การกระทำกรรมนั่นแหละ แต่กระทำลงไปด้วยเจตนาอันแรงกล้าเฉพาะบุคคล จนผูกอาฆาตมาดร้ายจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันแรงกล้ามากจนกลายเป็น เวร แต่แก้ได้ง่ายกว่ากรรม

เมื่อบุคคลทั้งสองต่างก็เห็นโทษ ซึ่งตนกระทำลงไปแล้วในชาติที่เป็นมนุษย์อยู่นี่แหละ เมื่อเผชิญหน้ากันเข้าแล้ว ก็เปิดเผยโทษที่ตนกระทำนั้นให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ แล้วขออโหสิกรรมกันเสีย เวรนั้นย่อมระงับได้ด้วยประการฉะนี้
แต่หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมอโหสิกรรมให้ กรรมนั้นย่อมติดตามต่อไปอีกดังพระเทวทัตได้ทำเวรไว้กับพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ หลายพันล้านชาติ มาในชาติเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระเทวทัตก็ตามมาสนองอีก

เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตชาติอันยาวนาน เมื่อพระพุทธเจ้าและพระเทวทัตเกิดมาเป็นพ่อค้าด้วยกัน พระเทวทัตได้เข้าไปในบ้านของตระกูลเศรษฐีตกทุกข์แห่งหนึ่ง เขาเอาถาดทองคำเก่าๆมาขายให้ พระเทวทัตก็แกล้งว่าถาดไม่ดีไม่มีราคา แล้วให้ราคาถูกๆ เจ้าของก็ไม่ยอมขายให้ พระเทวทัตก็จากไป พระโพธิสัตว์ตามไปทีหลัง เขาเอามาขายให้อีก พระโพธิสัตว์เห็นเป็นของดีมีราคามาก จึงได้ให้ราคามากตามสมควรแก่ของแล้วจากไป

พระเทวทัตย้อนกลับมาอีก ถามถึงถาดใบนั้น เจ้าของเขาบอกว่า เมื่อท่านไม่เอาหาว่าราคาแพง พ่อค้าคนอื่นมาเขาก็ซื้อเอาไปแล้ว พระเทวทัตโกรธมากถึงกับอาฆาตจองเวรวิ่งตามพระโพธิสัตว์ไป แต่ไม่ทัน
แต่นั้นมาเกิดในภพใดชาติใด ก็ทำกรรมทำเวรแก่พระโพธิสัตว์ทุกภพทุกชาติ แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ก่อกรรมก่อเวรใดๆแก่พระเทวทัต มีแต่ทำคุณประโยชน์แก่พระเทวทัตเรื่อยมา มาในชาติที่สุดได้เกิดมาเป็นพระเทวทัตออกบวชแล้วเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนให้ได้สำเร็จโลกิยณาน ทำปาฏิหาริย์ได้หลายอย่าง เวรเก่าบันดาลให้อยากเป็นพระพุทธเจ้าแทนพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงไม่อนุญาตจึงคิดทำลายสงฆ์ จนถึงกับเป็นสังฆเภท

แรงของเวรนี้มันร้ายกาจเหลือหลาย หากว่าคู่เวรทั้งสองมาเห็นโทษของมันแล้ว หันหน้าหากัน ต่างก็ให้อโหสิกรรมแก่กันและกัน เวรย่อมสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น

ตัวอย่างในบ้านเมืองของเราก็มีให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว จังหวัดภาคใต้จังหวัดหนึ่ง มีตระกูล ๒ ตระกูลห้ำหั่นกันฆ่ากันเป็นว่าเล่นมาหลายศพแล้ว ต่างก็ไม่ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็ทราบดีอยู่เต็มอก แต่เจ้าทุกข์ไม่มีก็ทำอะไรไม่ได้ พอดีเจ้าเมืองและผู้กำกับตำรวจเป็นพระมาลัย เรียกตระกูลทั้งสองนั้นมาปรับปรุงทำความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ให้สาบานกันต่อหน้าพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ซึ่งมีเจ้าเมืองเป็นประธานว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปพวกกระผมทั้งสองฝ่ายจะไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน เวรมันจึงระงับลงทันที

สรุป พึงเข้าใจว่า กรรม - เวรมิใช่ของมันเกิดเอง เกิดจากจิตของบุคคล ผู้คิดพยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน กรรม - เวรมิใช่เป็นวัตถุ มันเป็นนามธรรม จะรู้สึกได้ด้วยใจของตนเอง

กรรม - เวรใครทำลงไปแล้ว ผู้กระทำกรรมนั้นแหละย่อมได้รับผลด้วยตนเอง คนอื่นจะมารับแทนไม่ได้ หรือคนอื่นจะถ่ายทอดให้ก็ไม่ได้เหมือนกัน ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น
คนส่วนมากเข้าใจผิดในหลักพระพุทธศาสนาอยู่มากทีเดียว เมื่อตนได้ทำกรรมเวรไว้ด้วยเจตนาอันแรงกล้าจนเป็นเหตุให้ได้จองกรรมจองเวรกันแล้ว ภายหลังมาระลึกได้ว่า ตนได้กระทำกรรมเวรมาก แล้วคิดอยากถ่ายถอนกรรมเวรนั้นให้หมดไปเสีย เมื่อได้ทำบุญก็อุทิศบุญนั้นไปให้เจ้ากรรมนายเวร เพื่อให้บุญนั้นไปถึงผู้กระทำกรรมเวรแก่เรา เพื่อว่าผู้นั้นเห็นบุญของเราเข้าแล้วจะได้ใจอ่อน จะได้อโหสิกรรมให้แก่เรา

ความเป็นจริงแล้ว ในพระพุทธศาสนานี้ไม่มีอย่างนี้ เท่าที่ผู้เขียนได้ศึกษาเล่าเรียนมา หรือได้ฟังจากพระผู้หลักผู้ใหญ่มาก็มากพอสมควร มีแต่สอนว่า
ใครทำกรรมเวรอันใดไว้แล้ว ผู้กระทำเวรนั้นย่อมได้รับผลกรรมนั้นด้วยตนเอง ดังได้อธิบายมาแล้ว
กรรมเวรเป็นนามธรรมไม่มีตัวตน เกิดจากเจตนาของคน เมื่อเกิดแล้วจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน นอกจากใจของคนเป็นผู้เก็บไว้ด้วยการระลึกถึงเท่านั้น

อนึ่ง เจ้ากรรมนายเวร เราก็ไม่รู้จักมักคุ้น และไม่เคยเป็นญาติพี่น้องเรามาแต่ก่อน แม้แต่ชื่อเราก็ไม่เคยได้ยินเลย เจ้ากรรมนายเวรที่ไหนจะเป็นธุระรับใช้ให้เรา ยิ่งกรรมเวรแล้วเป็นของหยาบช้าเลวทรามยิ่งนัก ใครๆก็กลัวที่สุด ใครจะหันหน้ามารับไว้ได้ ถ้าเป็นกุศลกรรมยังจะพอรับไว้บ้างผู้เขียนเห็นว่า
เจ้ากรรมนายเวร คือ ตัวของเราเอง เมื่อเอาสติคือ เจ้ากรรมนายเวรควบคุมจิตใจของตนไว้ ไม่ให้ทำกรรมทำเวร นั้นแหละเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่แท้จริง
เมื่อควบคุมจิตใจของตนไม่ได้ ปล่อยให้ทำกรรมทำเวรแล้ว ใครจะมาควบคุมได้ แต่จิตใจของตนยังควบคุมไม่ได้
จิตใจ คือ ตัวกรรมตัวเวรของคนอื่น ใครจะไปควบคุมได้ เมื่อทำบุญจะอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร ควรอุทิศให้ตัวเราจะดีกว่า เพื่อตัวของเราจะได้ไม่ทำกรรมทำเวรต่อไป

นั่งสมาธิ
(ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน)

นั่งสมาธิเพื่อระงับกรรมเวรกันเสียที เมื่อเราเกิดมาแล้วชื่อว่า นำเอากรรมมาเกิด ถ้ากรรมไม่นำมาเกิด เราก็คงไม่ได้เกิด
กรรม คือ ตัวจิตที่คิดดีคิดชั่ว หยาบและละเอียด นั้นเรียกว่ากรรม ดังอธิบายมาแล้วข้างต้น
เมื่อเกิดมาแล้วเราก็ต้องอาศัยกรรมนั้นเป็นที่พึ่งอาศัย คือ ต้องคิดนึกต้องปรุง ต้องแต่งในภารกิจธุระการงานนั้นๆ เป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย คนเราเกิดมายังไปไม่ถึงพระอรหันต์ยังไม่สิ้นภพสิ้นชาติก็จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา
ผู้มาพิจารณาเห็นโทษของกรรมว่า เป็นของยาวนานหาที่สิ้นสุดไม่ได้จึงประกอบแต่คุณงามความดี อันจะเหตุให้หมดกรรมหมดเวร
เป็นต้นว่า ฝึกหัดจิต ผู้คิดประทุษร้าย อาฆาต พยาบาท เบียดเบียนคนอื่นนั้น ฝึกหัดให้มีจิตเมตตากรุณาปรานีเผื่อแผ่แก่คนอื่น ทำจิตให้แช่มชื่นเบิกบานต่อสถานที่ และบุคคลนั้นๆ นี่วิธีแก้กรรมแก้เวร
กรรมเวรเกิดที่จิตเศร้าหมอง ก็ต้องแก้ที่จิตให้ผ่องแผ้ว ไปแก้ที่อื่นมันไม่ถูก
ถ้าจะแก้กรรมเวรให้ถูกจุดตรงๆแล้ว ต้องทำสมาธิ เพราะการทำสมาธิเป็นการฝึกจิตโดยตรง คือ ตัวผู้ก่อกรรมทำเวรนั่นเอง เมื่อจิตเห็นความส่งส่ายเป็นตัวกรรมตัวเวรแล้ว ก็จะได้ตั้งสติควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบมีสติรู้อยู่อย่างเดียว ไม่ส่งส่ายออกไปแสวงหากรรมเวรแล้ว กรรมเวรของจิตก็จะสิ้นสุดลงเพียงแค่นี้
ส่วนกรรมเวรอันติดตามวิบากร่างกายนั้น เมื่อแตกดับแล้วก็หมดกรรมเท่านั้น เพราะตัวการ คือ จิต ไม่มีกรรมเวรอีกแล้ว เป็นวิธีแก้กรรมแก้เวรอย่างง่ายที่สุดและกะทัดรัดที่สุด
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2009, 23:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


๗๒. ความแก่
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่
จังหวัดหนองคาย
วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔

วันนี้จะเทศน์เรื่องความแก่ให้ฟัง เรามาอยู่จำพรรษา ๓ เดือนนั้นเป็นเกณฑ์ของพระ แต่ชาวบ้านจะนับถือปฏิบัติอยู่จำพรรษาด้วยก็ได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เวลาก็ล่วงมาได้กว่าครึ่งแล้วเวลามันหมดไปสิ้นไปทุกคนนั่นแหละ มันหมดไปกับปีกับเดือนกับวันกับคืนทุกปีทุกเดือน อย่างปัญหาที่ท่านพูดว่า ยักษ์มีตา ๒ ข้างหนึ่งริบหรี่ ข้องหนึ่งสว่าง มันมีฟันอยู่ ๓๒ ซี่ ขยี้เคี้ยวกินสัตว์อยู่ทุกวันเวลา ยักษ์นั้นหมายถึงอะไร ท่านเปรียบให้เห็นว่า วันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ชีวิตทุกคนจะต้องหมดไปด้วยกัน คือตาช้าง ที่สว่างเปรียบเหมือนกลาง วัน ตาที่ริบหรี่เปรียบเหมือนกลาง คืน ฟัน ๓๒ ซี่ ได้แก่วันที่ทั้ง ๓๐ กว่าวันในเดือนปี กาลเวลาได้ขยี้เคี้ยวกินสัตว์อยู่ทุกวัน

ความแก่ไม่มีกำหนดและหากกฎเกณฑ์ไม่ได้ว่า คนไหนจะแก่ไปถึงขนาดไหน ทุกคนต้องแก่ไปด้วยกันทั้งนั้นแต่ไม่ทราบว่า คนไหนจะแก่ไปถึงขนาดไหน ทุกคนต้องแก่ไปด้วยกันทั้งนั้นแต่ไม่ทราบว่าคนไหนจุถึงกำหนดหมดอายุเวลาใด เราอยู่ด้วยกันดี ๆ และอยู่อย่างสบายนี่แหละจึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่าแก่ ความแก่ของคนไม่เหมือนกับลูกไม้ ผลไม้ๆ ที่มันสุกก็เรียกว่า มันสุก แต่ความเป็น จริงไม่ใช่มันสุกแต่มันเน่าพอดีฉันได้ มนุษย์เราจึงเอามากินมนุษย์เรามันฉลาดที่เห็นว่ามันเน่าพอฉันได้ก็เอามากินเสีย ลูกไม้ผลไม้ก็แก่เหมือนกัน แก่ไปหาความเน่า แต่ลูกไม้แก่ยังดีกว่าคนแก่ ที่กินได้ ทานได้ แต่คนแก่ทานไม่ได้ อย่างมากที่สุดก็จะอยู่ได้ราว ๖๐-๗๐ ปี เท่านั้น เลยไปแล้วทิ้งเลย ถึงจะแก่ไป ๕๐-๖๐ ปี ก็ไม่ใช่กินความแก่ แต่กินแรงของคนที่มีกำลังทำได้ ทำการทำงานเอาไว้ได้กินอันนั้นแหละ ท่านยังเทศนาว่า โย จวสสสตํ ชีเว อปสสํ อทํยพยํ แปลว่า คนที่มีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี ถ้าหากไม่พิจารณาถึงความเสื่อมความสิ้นไปของร่างกายสังขารนี่แหละ ก็ไม่มีประโยชน์ เอกาหํ ชีวิตํ เสยโย ปสสโต อุทํยพพยํ หากว่าผู้ใดเกิดมาในวันนั้นก็ตาม เห็นความเสื่อมสิ้นไปของสังขารร่างกาย ได้ชื่อว่ามีอายุมากกว่า มีประโยชน์มากกว่าคนอายุ ๑๐๐ ปีนั่นเสียอีก คนที่ไม่พิจารณาอายุของตน ไม่พิจารณาความสิ้นเสื่อมไปของตน อยู่ไปทำไม อยู่สักแต่ว่าอยู่เหมือนกับลูกไม้ เช่น ฟัก แฟง แตง เต้า ที่แก่ไปๆ เกิดมาเป็นคนแล้วไม่คิดพิจารณาอะไรเลย ไม่คิดถึงตัวเองเลย ท่านว่าไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ผู้มีปัญญาเกิดมาในวันนั้นก็เอาเถอะ หากได้พิจารณาความเสื่อมสิ้นไปของร่างกายของตนได้ชื่อว่าประเสริฐกว่า ดีกว่าผู้มีอายุตั้ง ๑๐๐ ปีนั่นอีก

การพิจารณาเห็นความเสื่อมความสิ้นไปของสังขารร่างกายมันดีอย่างไร มันดีที่จะรีบเร่งประกอบคุณงามความดี สิ่งที่ตนจะต้องทำ รีบทำเสีย อะไรที่ยังไม่ทำก็จะต้องรีบทำ กิจที่จะต้องทำๆเสีย พระองค์เทศนาว่า จเรยยาทิตตสีโสว เหมือนกับไฟไหม้ผมของเราที่บนศรีษะ รีบดับ ความดีก็ให้รีบทำอย่างนั้นแหละ ความดีของเรามีอะไรบ้างให้คิดพิจารณาถึงตัวเรา วันหนึ่งๆเราทำความดีแค่ไหน ได้อะไรบ้าง พิจารณาดูว่า เราทำความดีอะไรบ้าง ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ที่เราอยู่กลางวันๆไม่ได้นอน มีความดีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง หรือหลับทิ้งเสียเปล่าๆ นอนทิ้งเสียเฉยๆ ในวันหนึ่งๆ อย่าให้เวลาล่วงเลยไปเปล่าๆ คิดถึงคุณงามความดีของตน แล้วก็คิดถึงกิจที่ตนจะต้องทำ เกิดมาต้องหาเลี้ยงชีพ หาอยู่หากิน มีแต่กินไม่หาก็ไม่ได้หามากมันเหลือกินเหลือใช้ มันก็มี ก็รวยนะซี นี่เรื่องอาชีพวันนี้หาได้เพียงแต่พอกินเท่านั้น มันก็มีประโยชน์

หากินมันก็หาบำรุงความตาย เลี้ยงไว้ท่าตาย ตายแล้วมันได้อะไร คนตายแล้วต้องเกิดอีก จิตของเรายังมีกิเลสก็ต้องเกิดอีกเป็นธรรมดา เพียงแต่หากินแล้ว ก็นอนท่าตายอยู่อย่างนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร คิดได้อย่างนี้ก็มาคิดถึงคุณงามความดีอะไรจึงจะทำให้เราไปเกิดในที่ดีๆ ไปดีๆ ขึ้นไปโดยลำดับ ทาน ศีล ภาวนาของตนมีไหม เราเกิดขึ้นมาในโลก เรานี้ได้ชื่อว่าเป็นหนี้สินของโลก เราจะต้องใช้หนี้สินของโลก ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง คุณงามความดีเราก็ต้องทำ อาชีพของเราๆ ก็ต้องเลี้ยงเราก็ต้องหา มันจึงได้ประโยชน์แก่ตนของตน ถ้าหากทำอย่างนั้นแล้วได้ประโยชน์ก็จะอิ่มใจ พอใจ ได้ทำทานเป็นประจำ มีศีลข้องดเว้นจากโทษ ทำสมาธิภาวนาให้เจริญแล้วก็จะมีปัญญาความรู้ต่างๆ ครบบริบูรณ์ ถึงหากไม่ได้มาก ได้นิดเดียวก็เอา ได้แต่อาการกิริยาที่ทำก็เอานั่นแหละเป็นนิสัยที่ดี ดีกว่าที่เราจะทำชั่ว ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดมิจฉาจารนั้นชั่วมาก ตายไปแล้วไม่มีที่พึ่ง ตายไปแล้วตกนรกหมกไหม้หาที่พึ่งไม่ได้

ให้พิจารณาถึงความดีของตนอย่างนี้ จึงจะรักษาตนให้เจริญรุ่งเรืองไปได้ ชีวิตของเราที่เป็นมาถึงวัยเช่นนี้ หมดไปแล้วเท่าไร เหลือเท่าไรก็ยังไม่ทราบ ไม่มีใครกำหนดได้สักคนเดียว เราจะประมาทอย่างไรอยู่ พระองค์เทศนาว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย เรียกว่า ตายจากคุณงามความดี คือไม่ทำความดีนั่นเอง เรียกว่าประมาท คอยท่าให้แก่ซะก่อน เฒ่าซะก่อน ชราซะก่อน จึงค่อยทำ เวลาความแก่ เฒ่า ชรา มา ทำไม่ได้หมดแล้วคราวนี้ เมื่อยังหนุ่มยังแน่น ไม่พากันรีบเร่งทำ คอยให้แก่เฒ่าจึงค่อยทำ ถึงเวลานั้นก็หมดเวลาแล้ว

เหตุนั้นจึงว่า ทำเสียในบัดนี้ วันนี้ พระองค์เทศนาไว้ว่า อชเชว กิจจมาตปปํ โก ชญญา มรณํ สุเว ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ เพราะจิตเรามันกลับกลอกได้ เวลานี้มีความคิดว่าเราจะทำดี ครั้นหากว่าเราล่าช้าไปจนกระทั่งพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มันสามารถจะกลับกลอกได้ นั่งทำสมาธิก็รู้ได้หรอก ทำสมาธิก็รู้จักหรอก เวลานี้ทำสมาธิดี วันนี้ดี พรุ่งนี้ก็กลับไปอีกแล้วเรื่องอื่นอีกแล้ว ไม่ดีเสียแล้ว ฉะนั้นจึงควรที่จะรักษาสมาธิ เมื่อทำได้แล้วได้เพียงขั้นไหนก็ให้รักษาขั้นนั้นไว้ ให้หาอุบายปัญญาในการที่จะรักษานั้น ให้พิจารณาให้มันแยบคายด้วยปัญญาของตนเอง เราทำอย่างไรจึงค่อยดี พิจารณาอย่างไรจึงค่อยดีอย่างนี้ เรารักษาอุบายปัญญานั้นไว้ ท่านอุปมาไว้หลายอย่าง คนที่รักษาความดีเหมือนกับมารดามีลูกคนเดียว รักที่สุด ถนอมที่สุด หรือเหมือนกับ คนที่มีตาข้างเดียว รักที่สุด ถนอมที่สุด ความดีอันนั้นที่จะไม่ให้เสื่อมสูญไป ที่จะรักษาตาดีข้างเดียวนั้นแหละ ข้างหนึ่งบอดแล้ว อีกข้างหนึ่งบอดก็หมดท่า จึงต้องรักษาให้ดีที่สุด ของอื่นๆ ที่เราเคยทำมา มากมายล้นหลายไม่เป็นประโยชน์หรอก ความชั่วที่ทำไปไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ความชั่วที่ทำไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่สะสมกิเลส ไม่ใช่การชำระกิเลส กิเลสในที่นั้นหมายความว่าความยุ่งเหยิง ความวุ่นวาย ความเกี่ยวข้องพัวพัน ความคิดความนึก ความปรุงความแต่งสารพัดทุกอย่าง จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส จึงได้เพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมา จิตที่เราชำระสะสางด้วยการชำระเอาของไม่ดีออกของน่าเกลียดของสกปรกจึงค่อยละค่อยถอนทิ้งไปเมื่อทิ้งของสกปรกออกไปแล้วให้รักษาของดีนั้นไว้ อย่าให้ของสกปรกเข้านี่แหละการรักษาความดีของตน ต้องรักษาอย่างนี้ จึงว่าคนมีอายุร้อยปี แต่หากไม่พิจารณาถึงความเสื่อมสิ้นของสังขารร่างกาย สู้คนที่เกิดในวันนั้นแต่พิจารณาความเสื่อมความสิ้นไปของสังขารไม่ได้ ให้คิดดูก็แล้วกันคนเราเกิดมาแล้ว ทุกคนแหละ ตกอยู่ในสภาพของความประมาททั้งนั้น เมื่อพิจารณารู้สึกว่าตนประมาทแล้วควรรีบเร่งทำความดีเสีย ความดีเป็นของทำง่ายถ้าหากทำถูกต้องแล้ว ทำง้ายง่าย ยืนเดินนั่งนอนเป็นความดีของตนทั้งนั้นเป็นสมาธิทุกเมื่อ นั่นจึงว่าทำง่าย หากทำไม่ถูกทำอย่างไรก็ไม่ถูก นั่งตลอดวันยังค่ำมันก็ไม่เป็นให้ เหตุนั้นการที่เราทำดีได้แล้วนั้น จึงรักษาไว้ให้ดี จึงจะเป็นประโยชน์แก่ตน เอาละอธิบายแค่นี้



นั่งสมาธิ
ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

จิตที่ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงหมด มารวมอยู่ในพุทโธอันเดียว จิตเป็นอันเดียว เอาพุทโธเป็นอารมณ์ นั่นแหละเรียกว่าภาวนาสมาธิ

จิตของเรายังเป็นเด็ก มันยังเที่ยวว่อนอยู่ตามที่ต่างๆมันยังเล่นอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ตั้งตัวได้ จึงเรียกว่าเด็ก เมื่อพิจารณาดูจิตภายในแล้ว มันวุ่นวี่วุ่นวายส่งส่ายสารพัดทุกอย่างไม่เป็นหลักเกณฑ์ นั่นแหละเป็นเด็ก จิตมันเป็นเด็ก ท่านจึงว่า ความแก่ของคนไม่มีประโยชน์ ถึงแก่เฒ่าจนผมขาวก็ตามเถอะ แต่ใจมันเป็นเด็กอยู่ ท่านจึงว่าเป็นเด็ก ถ้าหากใจหนักแน่นมั่นคงเป็นสมาธิภาวนา นั่นแหละจึงจะเป็นผู้ใหญ่ จริงอย่างท่านว่า แก่ เฒ่า ชรา ก็ตามเถอะ ถ้ายังเล่นอย่างกับเด็กอยู่ ยังมัวเมาอยู่ ดื่มสุรายาเมาอยู่ ก็ยิ่งร้ายกว่าเด็กเสียอีก คนที่สติ คนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม เป็นคนรู้จักกาลรู้จักประมาณ รู้จักพอสม พอควร ทำอะไรก็เรียบร้อยดี นั่นแหละเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นตัวอย่างของคนทั้งหลาย เราจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กก็ต้องดูให้รู้จักจิต ให้เห็นจิตของตนเสียก่อน เอาตรงจิตนี่แหละ เอาตรงนี้แหละ ของภายนอกไม่ต้องคำนึงถึง

กำหนดพิจารณา พุทโธ เป็นอารมณ์ ให้เห็นใจของตนเสียก่อน ให้มันอยู่กับพุทโธๆ นั่นแหละ หรือจะอยู่กับอาปานสติ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็เอาให้มันติดอยู่กับอันนั้น จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น ครั้นจิตแน่วแน่อยู่กับอันนั้นแล้วคราวนี้ให้ย้อนเข้ามาหาใจอีกผู้หนึ่ง ผู้นึกว่าพุทโธก็ดี รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกก็ดี “นึกว่า” และ “รู้สึกว่า” ยังไม่ใช่ตัวใจแท้ใครเป็นผู้นึกว่า ใครเป็นผู้รู้สึกว่า มันต้องมีอีกผู้หนึ่งผู้นั้นคือตัวใจ จับเอาตัวใจแล้วคราวนี้ อันนั้นปล่อยวางเสีย ถึงไม่ปล่อยมันก็ปล่อยของมันเองหรอก คือคำบริกรรมพุทโธ หรือลมหายใจมันหายไป หรือละเอียดจนเกือบจะไม่รู้สึกว่ามีลม แต่ผู้รู้ว่าพุทโธหายไป ลมหายใจไม่มี มีอยู่ จับเอาตัวผู้นั้นผู้นึกหรือผู้รู้สึกนั้นต่างหาก เมื่อปล่อยวาง พุทโธและลมหายใจแล้ว มันสงบอยู่ในอันเดียวแล้ว เอา สติ คุม ใจให้อยู่ คุมจิตอยู่แล้วมันจะเข้ามาเป็นใจ จิตอันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง อันนั้นเรียกว่า จิต สติควบคุม คือ รู้ตัวอยู่นั้น เรียกว่า สติเห็นอยู่รู้อยู่

เรื่องจิต มันต้องคิด ต้องนึก ต้องปรุง ต้องแต่ง เป็นธรรมดา แต่เราอย่าไปคิด ไปนึก ไปปรุงไปแต่ง รู้ตัวว่าปล่อย วาง ว่าง สงบ นั่นแหละ มันของละเอียดมาก หมายความว่า จิตมันเป็นของละเอียดมากทีเดียว ต่อเมื่อใครรู้เท่ารู้ทัน มันเสียแล้ว มันจึงจะรวมเข้าเป็นใจ คราวนี้มีแต่ผู้รู้อารมณ์อื่นไม่มี สงบเงียบหมด ให้อยู่อย่างนั้นเสียก่อน . . . เอ้าทำสมาธิ :b44:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2009, 00:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณ Bwitch

ไม่น่าเชื่อนะคะ...ว่าใจเราตรงกัน...คุณ Bwitch คนน่ารัก
ลูกโป่งกำลังเตรียมลงหนังสือของหลวงปู่เทสก์เช่นกัน
ก็เตรียมมาทั้งวัน แต่ยังไม่เสร็จ
เป็นเรื่อง...สิ้นโลก เหลือธรรม
ถ้าจัดทำเสร็จก็จะลงในหมวดหนังสือธรรมะ
ขอบคุณที่คุณนำธรรมะดีดีมาแบ่งปันเสมอ
ลูกโป่งตามอ่านกระทู้คุณบ่อยๆ
แต่บางครั้งก็ไม่ได้ทักทาย...
แล้วแอบอมยิ้มเรื่องต่างๆที่คุณคุย...น่ารักดีค่ะ
ดีใจที่ได้พบเพื่อนดีดีที่นี่...ประทับใจค่ะ

ธรรมะสวัสดีนะคะ...

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 13:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 02:20
โพสต์: 1387

ที่อยู่: สัพพะโลก

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนา สาธุครับ :b8:

.....................................................
ผู้มีจิตเมตตาจะไม่มีศัตรู ผู้มีสติปัญญาจะไม่เกิดทุกข์.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 20:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


๖๑. ความโง่ของคนโง่
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓


ได้เทศน์เรื่องความฉลาดมานานแล้ว วันนี้ขอได้พากันฟังเทศน์เรื่อง ความโง่
ความโง่ นั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีใครให้ประกาศนียบัตรชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ไม่มีเลย ทั้งๆ ที่คนก็มีโง่อยู่แล้วแต่ไม่ชอบให้คนอื่นพูดว่าตนโง่ แล้วคนที่พูดนั้นถ้าพูดด้วยความเหยียดหยามดูถูกคนอื่นก็ยิ่งโง่กว่าเขาเสียอีก

เราพากันโง่อยู่ตลอดเวลา ความโง่อันนี้แหละทำให้เราเป็นคนจน ทำให้เราไม่สามารถจะฟื้นฟูตัวเราให้ขึ้นมาได้

โง่มีหลาย โง่ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ โง่ในความไหว โง่ในการที่จะนำตนให้รอดปลอดภัย ฯลฯ ความโง่ที่หมักหมมอยู่ในใจของเรานั้น เราเรียนเท่าไรก็เรียนไปเถิดไม่จบไม่สิ้นสักที

คนนิยมเรียนความฉลาดข้างนอก เช่นเรียนวิชาวิทยาศาสตร์แผนใหม่อะไรต่างๆ เรียนไปหมดทุกอย่าง แต่ตัวของเราเองในนั้นไม่รู้เรื่อง มันโง่อยู่ภายใน นั่นคือความผิดความถูกที่เกิดขึ้นในใจของตน คิดว่าตนดี คิดว่าตนวิเศษ อันนั้นแสนโง่ทีเดียว

ถ้าเข้าใจว่าตนดี ตนฉลาด ตนวิเศษ ตนเลอเลิศด้วยสติปัญญาอุบายต่างๆอันนั้นแหละเป็นการโง่ที่สุด ถ้าคนใดเข้าใจว่าตนโง่คนนั้นฉลาดขึ้นมา เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าคนใดเข้าใจว่าตนโง่คนนั้นฉลาดขึ้นมาบ้าง

วิชาทุกอย่างที่เราเรียน เป็นการเรียนออกไปภายนอกออกไปจากตัวของเรา ไม่ใช่เรียนเข้ามาในตัวของเรา เรียนส่งออกไปปรุงแต่งออกไปนอกจากกายนอกจากใจ คำว่า กาย มันจึงเพี้ยนเป็นกรายไปเสีย มันกรายออกไปจากกาย มันข้ามกายไปนั่นเองจึงไม่เห็นตนของตน เปรียบเหมือนกับตาไม่เห็นลูกตาหรือตาไม่เห็นก้ำด้น (ก้ำด้น คือ ท้ายทอยนั่นเอง) โบราณท่านว่า ตากับก้ำด้นอยู่ด้วยกันไม่ทราบว่ากี่ปีกี่ชาติแต่ไม่เคยเห็นกันเลย ก้ำด้นของตนแท้ๆ ไม่เคยเห็นสักที จึงว่ามันโง่ฝังอยู่นั่นแหละ ไม่เห็นตัวของเราเอง
การเรียนภายนอกนั้นปรุงแต่งออกไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่เขาก็ว่าจบแล้วจะให้ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก อะไรต่างๆ ได้ปริญญาเขาก็ว่าจบแล้ว วิชานั้นมันจบที่ไหน อันของที่ไม่รู้ยังมีอีกเยอะแยะมากมายก่ายกอง ความรู้มันเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปเรื่อย มันไม่อยู่คงที่ จะว่าเรียนจบได้อย่างไร

หากเราพากันมาเรียนวิชาความโง่ เรียนสิ่งที่ไม่รู้ในกาย วาจา ใจ ของเราให้มันรู้ขึ้นมา จึงจะหมดความโง่ไป ถ้าไม่เห็นกายเห็นใจของตนมันก็ยังโง่อยู่นั่นเอง ถ้าเข้าใจว่าเห็นแล้ว มันเห็นจริงหรือไม่ มันเบื่อ มันหน่าย มันคลายไหม หรือว่ามันยังยึดถืออยู่ ความยึดความถือนั่นน่ะเรียกว่าไม่เห็นจริง
ตัวของเราเป็นอนัตตา สิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวงทั้งหมดก็เป็นอนัตตา
อนัตตา คือว่ามันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา อนัตตาไม่ได้หมายว่าสิ่งนั้นๆไม่มี ของมีอยู่แต่มันไม่อยู่ในบังคับบัญชา เช่น กายของเรานี้จะไม่ให้แก่ มันก็แก่ ไม่ให้เจ็บมันก็เจ็บ ไม่ให้ตายมันก็ตาย ไม่ให้พลัดพรากจากกัน มันก็พลัดพรากจากไป ทำอย่างไรมันก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชา นี่แหละท่านเรียกว่า อนัตตา การที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อันนั้นแหละท่านเรียกว่า อนิจจัง ของไม่เที่ยง อนิจจังเป็นอนัตตา นี่แหละมันจึงได้เป็นทุกข์หรือ ทุกขัง ความจริง เรื่องกายและใจของเราเป็นอย่างนี้ เราเห็นเช่นนี้แล้วหรือยัง

ใครๆ ก็เห็นกายกันทุกคนละ แต่มันไม่เห็นจริง ไม่เห็นเป็นอนัตตา ไม่เห็นเป็นทุกขัง ไม่เห็นตามสภาพเป็นจริงทุกอย่าง จึงปล่อยวางไม่ได้ จึงได้ทุกข์ ที่เราเดือดร้อนกันอยู่ทุกวี่ทุกวันนี้ก็เพราะเหตุเห็นไม่จริงนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าทรงเห็นกายและใจตามสภาพที่เป็นจริง อริยสงฆ์สาวกท่านก็เห็นตามเป็นจริง เรียกว่า อริยสัจจ์ นั่นคือ รูปเป็นอนัตตา รูปเป็นอนิจจัง รูปจึงเป็นทุกข์ เมื่อยังไม่เห็นจริงด้วยใจ เห็นแต่ตามสัญญาก็เห็นเป็นเพียง สัจจะ เฉยๆ ถ้าเห็นจริงเห็นชัดลงไปด้วยใจแล้วเรียกว่า เห็นอริยสัจจ์ อันนั้นเป็นการเห็นของจริงของแท้ของอริยเจ้า ดังนั้นพวกเราอย่าไปหาธรรมะที่อื่นไกลเลย หาเอาในตัวของเรานี่ ผสมกันขึ้นในที่นี้ ให้ปรากฏเห็นขึ้นมาในที่นี้แหละ ใจคนเห็นกาย จึงอุปมาเหมือนกับเรียนสระกับพยัญชนะผสมกัน ผสมกันได้แล้วก็เขียนข้อความไปได้หมดทุกอย่าง จะขีดเขียนเรื่องอะไรๆ เขียนได้หมด มันออกจากสระกับพยัญชนะเท่านั้น

ธรรมทั้งหลายก็ออกมาจากกายกับใจไม่นอกเหนือจากกายกับใจ ใจมาพิจารณาตามจริง ถ้าหากไม่มีกาย ก็ไม่มีเรื่องทุกข์ ไม่มีอนัตตา ไม่มีอนิจจัง ไม่มีทุกขัง เพราะมีกายจึงมีอนิจจัง มีทุกขัง มีอนัตตา จึงมีวิปัสสนา มีมรรคผล นิพพาน มีญาณสมาธิ มีธรรมทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพญิญาณก็ตรัสรู้ที่กายกับใจนี่แหละ พระองค์ไม่ได้ไปตรัสรู้อย่างอื่นที่ไหนหรอก พระสงฆ์สาวกทั้งหลายสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็สำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็สำเร็จที่กายกับที่ใจนี่แหละ พวกเทพทั้งหลายสำเร็จมีแต่ใจเป็นพวกอามิสกายไม่มีรูปปรากฏ พวกพรหมก็ไม่ปรากฏรูป พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปตรัสรู้ไม่ได้ทรงสอนที่โน่นหรอก ทรงเทศนาสอนมนุษย์พวกเราที่มีกายหยาบๆ เห็นกันอยู่ด้วยตานี่เอง

การเห็นด้วยตาเรียกว่า ทรรศนะ มันยังเห็นไม่จริงไม่แท้ต้องเข้าไปเห็นจึงจะเป็นการเห็นอย่างแท้จริง การเห็นด้วยใจจึงเรียกว่า ญาณทัสนะ คำว่า เห็นด้วยใจ คือ มันชัดด้วยใจนั่นเอง ถ้าไม่ชัดก็ไม่เรียกว่าเห็นด้วยใจ เมื่อเห็นชัดด้วยใจนั่นเอง ถ้าไม่ชัดก็ไม่เรียกว่าเห็นด้วยใจ เมื่อเห็นชัดแล้วกายมันเป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง ดังที่อธิบายในเบื้องต้น มันก็ปล่อยวางได้

นั่นคือปล่อยวางไว้ตามสภาพเดิมของมัน เห็นมันเป็นอนัตตาแล้วไม่ยึดถืออีก ปล่อยไปตาม สภาพอนัตตา มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป เห็นมันเป็นอนิจจัง ก็ยึดไว้ปล่อยไปตามเรื่องของมันตาม สภาพอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเกิดเป็นทุกข์เพราะเหตุที่มันแปรปรวนบังคับไม่ได้ ก็ปล่อยไปตาม เรื่องของทุกข์ จึงว่ามันเป็นจริงอย่างไรให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
ยถาภูตํ สมมปปญญาย ทฏฐพพํ ควรให้เห็นของสิ่งนั้นๆตามเป็นจริง

นี่จึงจะได้ชื่อว่าเรียนความโง่ ไม่ใช่เรียนความฉลาด มันโง่ตรงนี้ โง่ที่ไม่เห็นกายของเรา ไม่เห็นใจของเราเอง

แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ทุกๆ คนที่เกิดขึ้นมาได้ชื่อว่าโง่ด้วยกันทั้งนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนแนะนำตักเตือนอะไรต่างๆ เพื่อให้รู้ความโง่นั่นแหละ ไม่ใช่เรียนความฉลาดหรอกให้รู้ความโง่ทั้งนั้นแหละ อันของที่ไม่รู้จึงค่อยเรียน ความไม่รู้ความไม่เข้าใจนั่นแหละมันโง่ ผู้ที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ทั้งปวงเขาไม่ถือว่าตนฉลาด ความโง่ของคนเรามันยังลึกซึ้งละเอียดมากเหลือมาก ยิ่งเรียนเท่าไรยิ่งเห็นความโง่ของตนมากขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเรียนความฉลาด

เมื่อรู้จักโง่เห็นโง่แล้ว ความรู้นั้นแลเป็นความฉลาด การไม่เห็นความโง่ของตนแต่สำคัญว่าตนฉลาด นั่นยิ่งโง่เข้าทุกทีเหตุนั้นการปฏิบัติของพวกเรา จงปฏิบัติตรงที่กายกับใจ นี่แหละ อย่าส่งออกไปภายนอก ใครเรียนอะไรที่ไหนก็เรียนไปเถิดถ้าเพ่งเข้ามาภายในตัวนั้นเรียกว่าเรียนความโง่ของตน อย่าส่งออกไปภายนอกก็แล้วกัน

การเรียนกัมมัฏฐานแบบต่างๆหลายเรื่องหลายอย่าง หลายครูหลายอาจารย์ เช่น ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง อานาปานสติ พุทโธ ทั้งหมดนี้ก็เรียนโง่ด้วยกันทั้งนั้น คือ เรียนให้เห็นตัวโง่ ตั้งใจให้มีสติควบคุมจิตที่มันนึกคิดที่มันปรุงแต่งให้รู้เรื่องของจิต ให้เห็นจิตรู้จักจิตเสียก่อน ถ้าไม่เห็นจิตมันก็รักษาจิตไว้ไม่ได้ คุมจิตไม่ได้ ชำระจิตไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าจิตมันคิดมันนึกปรุงแต่งอะไรบ้าง มันส่งส่ายไปไหนก็ไม่ทราบ

ใครๆ ก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่องของจิตทั้งนั้นแหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ต้องเห็นตัวมันเสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง

อาการของใจ เรียกว่า จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุงแต่งผู้ส่งส่ายไปมาหน้าหลังสารพัดทุกอย่างรอบด้านรอบข้าง ผู้นั้นเหละเรียกว่า จิต เราเอาสติไปคุมไว้ให้รู้จริงนั้นอยู่เสมอๆตลอดเวลาเห็นจิตของตนอยู่เสมอว่าจิตเป็นอย่างไร มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด คิดปรุงแต่งอะไร ก็ให้รู้เห็นทุกขณะควบคุมมันอยู่อย่างนั้นเป็นนิจ เมื่อเห็นจิตแล้ว ควบคุมจิตอยู่แล้วเวลาจะคิดก็ให้มันคิดได้ จะนึกก็ให้มันนึกได้ มีสติกำกับอยู่ว่าคิดว่านึก เวลาไม่ให้คิดไม่ให้นึกก็อยู่ได้ ไม่ให้ปรุงแต่งก็อยู่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บังคับจิตอยู่ อย่าให้จิตบังคับเรา

โดยทั่วไปจิตบังคับให้เรากระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เราอยู่ในอำนาจของจิต มันเป็นไปตามวิสัยอำนาจของจิต คนปุถุชนมันต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเรากำหนดสติควบคุมจิตได้แล้ว เราจึงไม่อยู่ในอำนาจของจิต แต่จิตอยู่ในอำนาจของเรา มันชักชวนไปทางดีทางชั่วอีกก็ไม่ให้ไป นิ่งอยู่ได้ เช่น มันชักชวนไปในทางชั่วให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้คิดประหัตประหารฆ่าตีเขาก็บอกมันว่าไม่ดีอย่าทำ คิดทางดีให้สร้างบุญสร้างกุศลก็ไม่ให้ไปอยู่คงที่ เมื่อหยุดส่ายอยู่คงที่มันก็เข้าถึง ใจ คือ ความเป็นกลาง

ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าจิตกับใจมันต่างกัน คนละอันกัน แต่แท้ที่จริงท่านพูดอันเดียวกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้นใจอันใดจิตอันนั้น แต่ทำไมจึงเรียกว่าจิต ทำไมจึงเรียกว่าใจ ก็ลองคิดดูซิมันต้องมีแปลกกันอยู่ ใจมันต้องอยู่เฉยๆ คืออยู่กลางสิ่งใดเป็นกลางๆ จะเรียกสิ่งนั้นว่าใจ เช่นใจมือ ใจเท้า ก็ชี้ลงตรงกลางมือกลางเท้า ใจคนก็ชี้ลงท่ามกลางใจหน้าอก ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนหรอก แต่ชี้ลงท่ามกลางอกเรียกว่า ใจ ที่เรียกว่าใจ คือมันอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ไม่คิดหยาบ ไม่คิดละเอียด ไม่ปรุง ไม่แต่งอะไรทั้งหมด แต่มีความรู้สึกอยู่เฉยๆ ตรงนั้นแหละเป็น ใจ

เมื่อเราตั้งสติกำหนดจิตที่มันกระสับกระส่ายดิ้นรน เดือดร้อนวุ่นวาย คอยควบคุมระวังตัวนั้นไว้จนหยุดดิ้นรน หยุดแส่ส่าย มีความรู้ สึกเฉยๆ รู้สึกเฉพาะตัวของมันเองไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นแลเป็น ใจ ตัวเดิมแท้

ใจนี้มันจะดีอย่างไร ลองคิดดูซิ ถ้าเมื่อคุมจิตได้ เข้าถึงใจได้ก็ไม่มีอะไร มีความรู้สึกเฉยๆเฉพาะตัว ความวุ่นวายเดือดร้อนต่างๆ มันก็หายไปหมด มีแต่ความสุขอันเกิดจากความสงบนั้น เอาความสุขแค่นั้นเสียก่อน สุขอันนั้นถ้าอยู่ได้นานเท่าไรยิ่งดี แต่คนเราไม่ชอบ ชอบให้จิตมันบังคับให้เราเดือดร้อนวุ่นวาย เดี๋ยวก็ร้องไห้ร้องห่ม เดี๋ยวก็หัวเราะเฮฮาเพลิดเพลินเดี๋ยวก็เอะอะโวยวายสารพัดทุกอย่าง เราร้องไห้ก็เพาะมันบังคับให้เราร้องทั้งที่เราไม่อยากร้องไห้ การร้องไห้น่าเกลียดจะตายน่าอับอายขายขี้หน้าคนอื่น แต่มันก็บังคับเอาจนร้องไห้ให้ได้ การหัวเราะก็เหมือนกันหัวเราะเพลิดเพลินสนุกสนานดี มันชอบใจ มันน่าที่จะหัวเราะเพลินเพลิดอยู่เสมอตลอดไป แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น จิตมันทำให้ร้องไห้ก็ได้ หัวเราะก็ได้ นั่นเพาะเราบังคับมันไม่ได้ ถ้าเราบังคับมันได้แล้วมันก็หยุด เอาสติเข้าไปตั้งเมื่อไรหยุดเมื่อนั้น สตินี้ดีมากเป็นเครื่องควบคุมจิตได้ทุกอย่าง

ได้พูดถึงเรื่องความโง่แล้ว เรามาเรียนความโง่กันเถิดเรียนอย่างวิธีที่อธิบายมานี่แหละ มันจึงจะค่อยหายโง่ ความโง่ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ยิ่งเรียนก็ยิ่งเห็นความโง่ของตน มันลึกจมอยู่ในก้นบึ้งโน่น ท่านว่า อนุสัย ตราบใดที่ยังไม่ถึง มรรคผล นิพพาน ตราบนั้นยังมีความโง่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจงพากันเรียนความโง่กันเสียวันนี้

อธิบายมาก็สมควรแก่เวลา เอวํ ฯ :b44:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 20:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


นั่งกัมมัฏฐานหาความโง่
ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน


เคยได้ยินบางคนพูดเป็นเชิงเหยียดหยามดูถูกกัมมัฏฐานว่า “นั่งหลับตาภาวนาโง่อย่างกัมมัฏฐาน” พวกเราจงพากันทำกัมมัฏฐานให้โง่อย่างเขาว่าดูซิมันจะโง่จริงหรือเปล่า

ขั้นที่หนึ่ง นั่งหลับตาแล้วพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอา ๕ อย่างนี้เสียก่อน ให้เป็นอสุภะของไม่งาม เมื่อจะพิจารณาให้เลือกเอาอันเดียว ไม่ต้องเอามากอย่าง เช่น เลือกผมก็พิจารณาแต่ผมอย่างเดียว พิจารณาจนให้เห็นชัดว่า ผมเป็นของปฏิกูลจริงๆ เบื่อหน่าย คลายเสียจากความรักใคร่ว่าผมเป็นของสวยงามจนเป็นเหตุให้เกิดความใคร่ นี่หายจากความโง่ขั้นหนึ่งละ

ขั้นที่สอง เห็นเป็นอสุภะทุกอัวยะทั่วหมดทั้งตัวด้วยใจไม่ได้ลังเลแต่อย่างใด จะเห็นเปื่อยเน่าเฟะไปหมดไม่มีชิ้นดีแม้แต่นิดเดียว คราวนี้ไม่ใช่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ทั้งหมดด้วยกันจะเป็นอสุภะทั้งนั้น แล้วอยากจะทอดทิ้งถ่ายเดียวถ้าสติคุมจิตไว้ไม่ได้ก็จะเสียคน ที่เรียกว่า วิปลาส (คำว่าวิปลาส นักปฏิบัติทั้งหลายกลัวนักกลัวหนา แต่หลงในกามไม่ยักกลัวเพราะคนส่วนมากรู้จักกันดี)

ขั้นที่สาม เมื่อสติคุมจิตให้อยู่ในที่เดียวแล้ว ก็จะพิจารณาทวนทบไปๆ มาๆ ว่า ที่เราพิจารณาเห็นเป็นอสุภะนั้นแท้จริงแล้วกายนี้มันก็ยังปกติตามเดิมนั้นเอง ที่เราเห็นเป็นอสุภะนั้น เพราะจิตเราเป็นสมาธิต่างหาก เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว มันก็เป็นอยู่อย่างเดิม

ใช่อันนี้หรือเปล่าที่เรียกว่า นั่งหลับตาภาวนาโง่อย่างกัมมัฏฐานนั้น แท้จริงกัมมัฏฐานคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีอยู่ด้วยกันทุกๆคนมิใช่หรือ ผู้มาเพ่งพิจารณาให้เห็นอสุภะตามเป็นจริง ทำไมจึงเรียกว่าโง่ ผู้ไม่ได้เพ่งพิจารณาให้เห็นอสุภะตามเป็นจริงนั้นหรือเป็นผู้ฉลาด แปลกจริงหนอ ความเห็นของคนเรานี้ ผู้เห็นตามสภาพความเป็นจริงแทนที่จะเรียกว่าผู้ฉลาดกลับเห็นว่าโง่ไปได้ ผิดวิสัยของคนทั่วไปเสียแล้ว ยิ่งกว่านั้นพระบางองค์(ขอโทษ) เป็นถึงอุปัชฌาย์อาจารย์สอนกัมมัฏฐาน ๕ แก่ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ได้แล้วไปถามเข้า เลยหาว่าโง่เข้าไปโน่นอีกผู้เห็นเช่นนี้มิเป็นการเหยียดหยามดูถูกเราพร้อมทั้งต้นตระกูลของเราที่เป็นพระสงฆ์ (คือพระพุทธเจ้า)เสียหรือ เมื่อเหยียดหยามดูถูกเช่นนั้นได้แล้ว ความเป็นพระจะมีอะไรเหลืออยู่อีกเล่า เราผู้เป็นสงฆ์ฆราวาสญาติโยมเขาเคารพนับถือ ควรที่จะระวังสังวรถึงแม้จะพูดเล่นก็ไม่เป็นการสมควรโดยแท้

:b44: ความโง่มันซ่อนเร้นอยู่ตาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้แหละ ฉะนั้นจงค้นให้เห็นตัวมัน ถ้าค้นหาตัวความโง่เห็นแล้วจะอุท่านว่า อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง ท่านจึงสอนให้พิจารณา เราทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน มีแต่เห็นว่า ผมมันสวยงาม มันหงอกก็หายามาย้อมไว้ให้คนหลงว่าดำอยู่ ขนก็เช่นเดียวกัน มันรกรุงรังก็โกนให้คนอื่นเห็นว่าเกลี้ยงเกลาไม่มีขน เล็บมันไม่แดงก็เอาสีมาทาไว้ให้คนเข้าใจว่าเล็บแดง ฟันก็เอาทองมาหุ้มไว้ให้เหลืองอร่ามไปหมด หนังมันย่นหดหู่ก็ลอกให้มันเป็นหนังใหม่ลอกแล้วไม่กี่วันมันก็ย่นยู่หดหู่อีก จะหลอกคนภายนอกไปอย่างไรก็หรอกไปเถิด แต่ในใจของตนย่อมรู้ดีว่าหลอกลวงคนอื่น เหมือนกับนายพรานดักนกมุ่งแต่จะเอาเขาฝ่ายเดียว ผีไม่ตายหลอกเขาไม่มีใครกลัวหรอก นอกจากเขาจะไม่กลัวแล้ว ท่านผู้มีปัญญายังจะต้องยิ้มขบขันเสียอีก :b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 20:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รื้อถอนภพ
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑

จะอธิบายธรรมที่เป็นหัวข้อสำคัญมีประจำอยู่กับตัวของเราทุกคน คือ พยาธิธมฺโมมฺหิ พยาธึ อนติโต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ พยาธิ คือความเจ็บไข้ ความเสียดแทง ความไม่สบาย เป็นเรื่องกระทบกระเทือนเสียดสีเกิดขึ้นในตัวของเราทุกคน ไม่ให้อยู่เป็นสุขสบายได้ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งแก่เฒ่า มันตามเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา หาความสุขสักนิดหนึ่งไม่มีเลย ที่ว่าสุขๆ นั้นเพราะความเมา เพราะความหลงต่างหาก แท้ที่จริงนั้นไม่มีสุขหรอก เราเข้าใจกันแต่การเจ็บปวดเป็นไข้ที่รุนแรงถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อจึงจะเรียกว่าป่วย ที่แท้จริงที่ท่านเรียกว่า อาพาธิโก คือ เป็นผู้ที่อาพาธ หมายถึง มีความเสียดแทงอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องถึงกับว่าเป็นหนักจนกระทั่งต้องนอนจึงจะเรียกว่าอาพาธ ลองคิดดู ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็คุดคู้อยู่ในท่าเดียว พลิกแพลงเบี่ยงตัวก็ไม่ได้ นั่นแหละเรียกว่าเวทนา มีความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย ทนทุกข์ อยู่ในที่นั้นเมื่ออยู่ในครรภ์ก็อาศัยลมของมารดาไปหล่อเลี้ยงระบายออกระบายเข้า ถ้าหากมารดาไม่มีลม ทารกในครรภ์ก็พลอยหมดลมไปด้วย เป็นการอาศัยลมคนอื่นเมื่อเขาเหน็ดเหนื่อยทรุดโทรมเจ็บป่วยไปตามธรรมชาติของเขา มันก็ต้องเหน็ดเหนื่อยทรุดโทรมเจ็บป่วยไปตามอาการของเขาทุกประการ มันเนื่องกันอยู่กับมารดา ครั้นคลอดออกมาแล้ว อาศัยลมของเราระบายเองค่อยสะดวกขึ้นหน่อย แต่กระนั้นการถูกสัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็งก็เกิด การเจ็บป่วยเป็นทุกข์มากถึงกับร้องไห้ร้องห่ม การร้องไห้เรียกว่าเวทนา การเวทนาอย่างนี้แหละที่เรียกว่า ทุกข์ เรียกว่า อาพาธ มีอยู่ตามปกติธรรมดา ที่เราอาศัยยืนอาศัยเดินอาศัยนั่งนอนเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ก็คือเปลี่ยนทุกข์นั่นเอง ยืนเหนื่อยหนักเข้าก็ต้องเดิน เดินเหนื่อยหนักเข้าก็ต้องนั่ง นั่งเหนื่อยหนักเข้าก็ต้องนอน เปลี่ยนอยู่ในอิริยาบถทั้งสี่นี้ตลอดเวลา เปลี่ยนแต่ละครั้งๆ ค่อยสบายขึ้นนิดหน่อย ก็พออยู่ได้แต่ไม่ตลอดไป อันนี้ก็เรียกว่าเวทนาเรียกว่าอาพาธ ไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนต้องอาพาธอยู่ตลอดเวลา เพราะร่างกายเรานี้เป็นที่เกิดเป็นที่ตั้งของเวทนา หรือ อาพาธิโก คือเป็นที่ตั้งของความเจ็บปวด ความเมื่อยอยู่ตลอดเวลา บางคนซ้ำร้ายกว่านั้นอีก เป็นโรคกระเสาะกระแสะ ทำอะไรก็ไม่สะดวกคล่องแคล่ว เจ็บป่วยออดๆแอดๆ แม้แต่จะรับประทานอาหารมันก็ไม่รับให้ อาหารไม่มีรสชาติไม่เอร็ดอร่อย ทุกข์ทั้งหลายมันมีอย่างนี้ อาพาธทั้งหลายมันเสียดแทงอยู่อย่างนี้ สังขารร่างกายเป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นของน่าเกลียดไม่พึงปรารถนา ถ้าหากตั้งใจภาวนาพิจารณาเวทนา เห็นเป็นของน่าเกลียด น่าเบื่อหน่ายอย่างนี้แล้ว จิตใจจะไม่เกาะเกี่ยวถึงเรื่องรูปกาย ใจนั้นจะออกไปมองดูเวทนาอยู่ เรียกว่าแยกใจออกจากเวทนา คือออกจากอาพาธนั่นเอง เห็นว่าอาพาธเป็นของจริงของเขาอยู่อย่างนั้น เมื่อได้กายได้รูปอันนี้มาต้องมีต้องเป็นอย่างนี้ทุกๆ คน ไม่มีใครพ้นไปจากนี้ได้ เมื่อเห็นชัดอย่างนี้แล้ว เกิดความสลดสังเวชในการที่ได้กายนี้มาให้เจ็บให้ป่วย มาให้อาพาธอยู่อย่างนี้ อยากจะทิ้งกายนี้เสีย ละกายนี้เสีย ให้มันพ้นไปพ้นจากกายนี้แล้วก็ไม่ถือกายอื่นอีกต่อไปเพราะได้ทีไรๆ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ยึดมั่นก็เป็นอย่างนั้นยึดก็เป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ถ้าหากว่าไม่ยึดปล่อยวางเสียแล้วหมดเรื่องหมดกังวล ไม่วุ่นวายดิ้นรน การเวทนาก็เป็นอยู่อย่างนั้น เห็นเป็นเรื่องของกาย เป็นสภาพของกาย เมื่อได้มาแล้วต้องเป็นอย่างนั้นทุกๆ คน ใจจะเป็นเอกเทศของมันส่วนหนึ่งต่างหาก จึงหมดทุกข์หมดร้อน

บางคนถึงจะทุกข์มากอยากจะตายมันก็ไม่ตาย บางคนไม่อยากมันก็ตายไปเอง เป็นเรื่องของกาย บางคนได้รูปได้กายอันนี้มาแล้วหลงลืมตัวมัวเมา ประมาทด้วยเข้าใจว่ายังหนุ่มยังสาว เข้าใจว่ายังสวยสดงดงาม เข้าใจว่าเราจะยังไม่ตาย ยึดเอาร่างกายอันนี้ไว้แน่น ไม่สวยก็ว่าสวย ไม่งามก็ว่างาม มันแก่แล้วก็ยังว่าไม่แก่ มันเฒ่าแล้วก็ยังว่าไม่เฒ่า แท้จริงมันเสื่อมโทรมไปทุกวันๆ ตั้งแต่เกิดตั้งแต่ปฏิสนธิ ถ้าไม่แก่ก็ไม่คลอด คลอดออกมาแล้วก็แก่ไปโดยลำดับ เด็กแก่เป็นหนุ่มสาว แก่เป็นกลางคน แก่เป็นเฒ่าชราจนกระทั่งงอมจึงจะรู้ตัวได้ ความมัวเมาประมาทด้วยประการอย่างนี้จึงเป็นคนหลงน่าสลดสังเวชนัก พวกเราทั้งหลายควรพิจารณาอย่าได้หลงตาม ตั้งใจพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่เห็นตามเป็นจริงแล้วก็ปล่อยวางสิ่งที่เคยยึดถือ เรียกว่าตั้งมั่นอยู่ในธรรม ธรรมนี่แหละเป็นที่พึ่ง เป็นเกาะสำหรับที่จะยึดไว้ ไม่ให้หลงไปตามสังขารร่างกาย เมื่อมันจะแก่จะเฒ่าก็แก่เฒ่าไปตามเรื่องของร่างกาย จิตใจไม่เฒ่าไม่แก่ไปด้วยเพราะเป็นอิสระไม่หลงยึดกายอีกต่อไป เป็นการรื้อถอนภพชาติ ก็จะพ้นจากความแก่ ความเจ็บความตาย เอวํ :b44:



นั่งสมาธิ
ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน


เราอุทิศชีวิตร่างกายนี้เป็นเครื่องบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามธรรมดา การบูชา นั้นหมายถึงบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน เราจะต้องเด็ดเอาลงมาจากต้น บูชาธูปจุดธูป บูชาเทียนจุดเทียน ไม่มีการเสียดายว่าจะหมดสิ้นไป การบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วันนี้ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ตั้งใจของเราให้มั่นว่าชีวิตของเราเป็นมานมนานแล้ว ยี่สิบ ,สามสิบ, หรือสี่สิบปีอะไรก็ตาม ยังไม่ได้บูชาคุณพระรัตนตรัยสักที เอาละในเวลานี้เรานั่งสมาธิภาวนา เราจะบูชาพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ด้วยการยอมสละทุกอย่าง ความคิดความนึกที่ส่งส่ายไปภายนอก สละหมด ปล่อยวาง ละหมดไม่เอากลับคืนมา ตั้งใจตั้งสติกำหนดใจแห่งเดียว ภาวนาอานาปานสติ กำหนดจิตให้อยู่ในอานาปานสติกำหนดลมหายใจ ให้จิตแน่วแน่อยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องไปกำหนดที่ตรงนั้นตรงนี้ หรือไม่ต้องไปกำหนดว่าลมตรงนั้นตรงนี้ แต่หากว่าทำความรู้สึกว่ามีลมหายใจเข้าออก เราจะกำหนดว่า มีเพียงแต่ลมหายใจเท่านั้น มันระบายออกระบายเข้า ตั้งสติอยู่ตรงนั้นแหละ กำหนดรู้เพียงแต่ลมเท่านั้น จนแม่นยำมั่นคง แล้วจึงไปจับผู้ที่รู้ลมนั้นอีกทีหนึ่ง ดูผู้ที่รู้ว่าลมหายใจเข้าออกนั้น ใครเป็นผู้รู้ ใจ เป็นผู้รู้ เมื่อจับใจได้แล้วตอนนั้นลมก็จะหายไป สตินิ่งแน่วอยู่กับอาการที่รู้นั้น ( หรือผู้รู้นั้น ) อย่างนี้แหละจึงเรียกว่าอานาปานสติ ผลที่สุดลมก็จะไม่มี แต่อย่าไปกลัว ลมไม่มีไม่ตายหรอก มันเป็นเพราะภาวนาต่างหาก ถ้าไม่มีลมจริงๆ มันดับมันสูญในขณะนั้นก็ยิ่งดีด้วยซ้ำ ให้มันตายไปกับภาวนานี้ยิ่งดี เป็นการตายหนเดียวเท่านั้น หมดภพหมดชาติ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เราอย่าไปเสียดายความตาย ถ้ากลัวตายจะต้องตายหลายครั้งหลายหนไม่ดีหรอก การหัดสมาธิภาวนาให้ลงตรงใจอันเดียว จับตรงใจอันเดียวเท่านี้เป็นพอ :b44:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 20:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


107. มัจจุราช
พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕


วันนี้จะเทศน์เรื่อง ความเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงหมด ซึ่งใครๆ ไม่สามารถจะลบล้างได้ นั่นคือ “มัจจุราช” ผู้มีเสนามาก มีอยู่ในตัวของเรานี้ทั้งหมด มัจจุราชก็ไม่ใช่อื่นไกล คือ “ความตายนั่นเอง” ทุกๆ คนต้องมีความตายด้วยกันทั้งนั้น หนีความตายไม่พ้นสักคนเดียว ท่านจึงว่าเป็นใหญ่เหนือคนทั้งปวงหมดในโลกนี้ ไม่ว่าใครจะใหญ่แค่ไหนก็ตามเถอะจะต้องอยู่ในอำนาจของเขาทั้งนั้น ดังพระพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า “ขตฺติเย พราหมเณ เวสฺเส สุทฺเท จณฺฑาลปุกฺกุเส นกิญฺจิ ปริวชฺเชติ สพฺพเมวา ภิมทฺทติ” ความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ก็ดี พ่อค้าวาณิชก็ตาม คนกวาดถนนก็ชั่ง แม้แต่คนที่ต่ำทรามที่สุดในสมัยนั้น คือ คนพวกผสม เรียกว่า จันฑาล เหล่านี้ล้วนแต่อยู่ในอำนาจครอบครองของมัจจุราชด้วยกันทั้งนั้น กษัตริย์ถึงแม้มีอิทธิพลมีทแกล้วทหารทัพหลายหมู่ก็ตามจะรบราฆ่าฟันด้วยวิธีต่างๆ อย่างสมัยนี้เรียกว่า ปืนกล ปืนใหญ่ ลูกระเบิด ก็เอาเถอะ ไม่สามารถที่จะสู้มันได้

คำที่ว่ากษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี จะเล่าเรื่องความเป็นมาสักนิดหน่อย กษัตริย์ทีแรกก็เป็นคนชาวบ้านเหมือนกันกับพวกเรานี่แหละ เมื่อไม่มีหัวหน้าที่จะปกป้องรักษาหมู่เพื่อน เขาจึงได้เลือกเอาคนที่มีคุณธรรมน่าเคารพสักการะนับถือบูชา ขึ้นมาปกครองหมู่เพื่อน ดูแลความสุขทุกข์ และระงับการทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกัน ให้มีระเบียบเรียบร้อย ชาวบ้านชาวเมืองเขาก็เก็บข้าวส่งส่วยสาอากรไม่ต้องทำไร่ทำนา จึงเรียกว่า กษัตริย์ ซึ่งแปลว่า ข้าวเปลือก ต่อมาผู้คนมากขึ้นคนก็แตกเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ และเกิดทะเลาะวิวาทกัน หัวหน้าต้องออกปราบด้วยตนเอง ที่เรียกว่า นักรบ ต่อมาก็ขยายกำลังคนออกไปจนกระทั่งตั้งเป็นกองร้อยกองพัน กองพล ใช้กันแต่สมัยโน้นจนในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้อยู่ กษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นจอมทัพเสียเอง

คำว่าพราหมณ์วงศ์ หรือ วงศ์ของพราหมณ์แท้ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาก็จะต้องศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์ไตรเภทให้จบเสียก่อน แล้วไปเที่ยวขอทาน ได้มาก็เอาไปบูชาพระคุณของอาจารย์ตามสมควร จึงออกประพฤติพรตพรหมจรรย์ เจริญฌานสมาบัติ ได้ฌานสมาบัติ เมื่อดับขันธ์แล้วก็เกิดในพรหมโลก นี่แหละพราหมณ์แท้ทีเดียว คือ พรหมนั่นเอง อีกพวกหนึ่งศึกษาเล่าเรียนจบไตรเภท ทดแทนบุญคุณอาจารย์แล้ว เข้ามารับราชการเป็นครูเป็นปุโรหิตาจารย์ สำหรับให้คำแนะนำหรือสอนพระเจ้าแผ่นดิน พวกต่ำไปกว่านี้อีก ก็เที่ยวขอทานเขากิน ตามเมืองน้อยเมืองใหญ่พราหมณ์เหล่านี้แต่งงานกันได้ ในหมู่พวกพราหมณ์ด้วยกันเองไม่ผสมกับพวกอื่น และเฉพาะนางพราหมณ์ที่มีประจำเดือนแล้วเท่านั้น อีกพวกหนึ่งสำส่อน คือว่า แต่งงานกันได้กับพวกที่ไม่ใช่พราหมณ์ด้วยกัน เขาถือกันว่าเป็นพราหมณ์ชั้นเลวที่สุด

กษัตริย์ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ในหมู่มนุษย์ด้วยกันทั้งหมดเขาถือกันว่า กษัตริย์ ประเสริฐกว่า เพราะเขานิยมสมมุติบัญญัติกันมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เมื่อพูดถึงสิทธิ์ของมัจจุราชแล้ว จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร จัณฑาล หรืออะไรก็ตามเถิด จะต้องอยู่ในอำนาจของมัจจุราชทั้งนั้น มัจจุราชจะบัญชาให้ตายวันไหนเวลาไหนก็ได้ ไม่ต้องมีคำอุทธรณ์อีกแล้ว ทั้งหมดนี้ถูกมัจจุราชล้อมวงไว้หมด ไม่อาจหนีออกนอกขอบข่ายของมัจจุราชได้สักคนเดียว จะทำศึกสงครามหรือจะรบรากันด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม จะรบกับมัจจุราชจะรบที่ไหนกัน เรากะเกณฑ์พลขึ้นมาหลายหมู่หลายเหล่า ตั้งกองทัพขึ้นมาก็ล้วนแต่อยู่ในขอบเขตของมัจจุราชทั้งนั้น เสนาของมัจจุราชก็ คือ ความเจ็บ ความป่วย ความแก่ ความเฒ่า ขณะที่เตรียมทัพอยู่นั่นแหละ ลองดูพวกพลเหล่านั้นแหละ มีแก่ไหม มีเจ็บไหม โรงพยาบาลก็ยังมีอยู่ ไปไหนๆ ก็มีหมอรักษาอยู่ และผลที่สุดความตายก็มาถึงยังไม่ทันรบกับพญามัจจุราช ตายเสียก่อนแล้วก็มี พญามัจจุราชนั่นนะ มีเสนามารมาก เสนามัจจุราชจะต้องตีปีกซ้ายปีกขวา ทัพหน้าทัพหลังสารพัดทุกอย่าง ตัวของเราก็ลองคิดดูซี ตั้งแต่เกิดมามี เจ็บ ป่วย ปวดโน่น ปวดนี่ มีแก่ มีเฒ่ามาโดยลำดับนั่นแหละเรียกว่า เสนามัจจุราชมันตี มันไม่เข้าโจมตีทีเดียวหรอก มันตีปีกซ้าย ปีกขวา ทอนกำลังให้อ่อนลงเสียก่อน ในผลที่สุดต้องนอนอยู่กับเสื่อกับหมอน ไปไหนก็ไม่ได้ หายใจแขม็บๆ นั่นแหละพญามัจจุราชจะซ้ำ มัจจุ คือ ความตาย ไปไหนไม่รอดสักคนเดียว

เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวงของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเหมือนกับอยู่ในคุกในตะราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ชั่ง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สรีระร่างกายของพระองค์ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย แล้วเราทั้งหลายล่ะ จะมามัวเพลิดเพลินลุ่มหลง อะไรกัน ประมาทอะไรกันในโลกนี้ เมื่อคิดถึงมัจจุราชความตายแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นที่ลุ่มหลง ไม่มีอะไรที่เพลิดเพลินเลย เขาจะเอาเราไปเมื่อไรก็ได้ เราอยู่ในอำนาจของเขา เขาบัญชาให้ตาย ให้เจ็บ ให้ป่วย เมื่อใดก็ได้ จะให้อยู่ให้ไปก็ได้ ชื่อว่าอยู่ในเงื้อมมือของมัจจุราช ซึ่งไม่ผิดอะไรกับโจรเรียกค่าไถ่ โจรเรียกค่าไถ่แล้วก็ยังสนุกสนานเฮฮาอยู่ ควรที่จะคิดถึงตัว หาอุบายเอาตัวรอดให้พ้นจากเงื้อมมือของโจร ด้วยการทำความดี อุบายอะไร ที่จะช่วยให้พ้นเงื้อมมือของเขา จงใช้อุบายนั้นๆ ด้วยการทำทาน รักษาศีล สมาธิภาวนา จึงจะเป็นการพ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราชโดยลำดับ

รักษาศีล จะเอาศีลห้า ศีลแปด หรือ ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดก็เอา แล้วแต่ศรัทธาและความสามารถของตน รักษาศีลก็คือ งดเว้นจากโทษนั้นๆ อันเป็นเหตุให้พ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราชเป็นเปลาะๆ ไป แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า เป็นอุบายให้พ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช พระองค์สอนให้ปฏิบัติตนให้พ้นจากความชั่ว ความชั่วมันค่อยหมดไปจากตัวของเราโดยลำดับดังนี้ นี่แหละเรียกว่าพ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช ถ้าทำชั่วหนักเข้ายิ่งตายเร็ว ยิ่งตายไม่รู้แล้วรู้รอดไปสักที โวหารกรรมฐานพูดกันว่า “กลัวตาย คือกลัวจะไม่ได้ตายหลายหน” สละความตายนะ หมดห่วงหมดกังวล จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์จะไม่ได้กลับมาตายอีก

การทำสมาธิ ง่ายที่สุดก็คือ เราชำระจิตใจของเราไม่ให้กังวลเกี่ยวข้องสิ่งทั้งปวงหมด ไม่ข้อง ไม่ติด ปล่อยวางเฉยจิตใจสว่างใสสะอาดบริสุทธิ์นั่นแหละ จะหมดจากเวร จากกรรม
เวรอันหนึ่ง กรรมอันหนึ่ง ไม่เหมือนกัน เวร คือ การกระทำสิ่งใดที่ผูกเวรกัน เกี่ยวพันกัน อย่างที่ท่านเล่าไว้เรื่อง “ยักขิณี กับ นางกุลธิดา” เรื่องมันยืดยาว เล่าสั้นๆ ก็คือว่า หญิงคนหนึ่ง มีลูกชายคนเดียว ปฏิบัติแม่ทุกเช้าค่ำ แม่คิดสงสารจะหาภรรยาให้ช่วยปฏิบัติแม่ ลูกชายบอกว่าอย่าเลย ปฏิบัติคนเดียวดีกว่า หลายจิตหลายใจนักปฏิบัติไม่ถูกใจกันหรอก จะทะเลาะวิวาทกัน แม่พูดอยู่สองหนสามหน ในที่สุดแม่ไม่บอกให้ลูกชายทราบ ไปหาผู้หญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยาอยู่ด้วยกันมาหลายปีก็ไม่มีลูก จึงไปหาหญิงอีกคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยาน้อย ภรรยาคนใหม่นี้มีลูก ภรรยาหลวงคิดว่าเมื่อเขามีลูกแล้ว เขาจะเป็นใหญ่กว่าตัว อิจฉาเบียดเบียน จึงพยายามเอายาแท้งลูกใส่ในอาหาร โดยที่ภรรยาน้อยไม่รู้ ลูกจึงได้แท้งไปถึงสองครั้ง ครั้งที่สามจึงรู้ว่าภรรยาหลวงทำให้แท้ง พร้อมทั้งตัวก็ตายไปพร้อมกับลูก จึงผูกเวรกันว่าชาติหน้าขอให้กูได้ฆ่าลูกมึงถึงสองครั้ง ครั้งที่สามขอให้กูฆ่ามึงพร้อมด้วยลูกด้วย ภรรยาน้อยตายไปเป็นแมวภรรยาหลวงตายไปเป็นไก่ ออกไข่มาสองครั้ง แมวก็เอาไปกินเสีย ครั้งที่สามแมวนั้นก็เอาแม่ไปกินพร้อมทั้งไข่ แมวตายไปเกิดเป็นเสือ ส่วนไก่ตายไปเกิดเป็นกวาง พอกวางออกลูกมา เสือก็เอาไปกินถึงสองครั้ง ครั้งที่สามเลยกินไปพร้อมแม่กวางด้วย กวางตายไปเกิดเป็นนางกุลธิดา เสือตายเป็นยักขิณี นางกุลธิดาคลอดลูกมาก็ถูกนางยักขิณีมาลวงเอาไปกินถึงสองครั้ง พอคลอดลูกครั้งที่สาม ก็กลัวนางยักขิณีจะมาลวงเอาไปกินอีก เลยชวนสามีหอบลูกหนีจากบ้านไปทางที่พระองค์กำลังเทศนาอยู่ เมื่อนางยักขิณีตามหานางกุลธิดาไม่เห็น ได้ทราบข่าวว่านางหนีไปทางโน้นก็วิ่งตามไป พอดีไปเจอนางอยู่ในสำนักพระพุทธเจ้า พระองค์ได้เทศนาให้คู่เวรทั้งสองฟัง จึงได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้ผูกมิตรให้เป็นมิตรสหายกัน เป็นอันจบเวรกันเท่านั้น พระพุทธเจ้าเทศน์ว่า เธอทั้งสองหากไม่ได้พบตถาคตแล้ว จะก่อเวรกันเป็นเอนกอนันต์ชาติทีเดียว นี่เธอทั้งสองนับว่าโชคดีได้มาพบเราตถาคตเสียก่อน เวรจึงจบลงเพียงแค่นี้ นางยักขิณีเกิดความสังเวชถึงกับน้ำตาตก เวรก็เวียนให้ผลตอบแทนซึ่งกันและกันนั่นเอง

กรรม คือ การกระทำด้วย กาย วาจา ใจ เพียงแค่คิดนึกอยากจะฆ่าจะแกงเขา คิดอิจฉาริษยาพยาบาทเขา อันนั้นก็เป็นมโนกรรมและเป็นบาปแล้ว แต่ไม่ถึงกับทำบาปพร้อมด้วยอาการสามยังแก้ไขด้วยตนเองได้อยู่ มโนกรรมนี้ถ้ารู้แล้วแต่ไม่กลับแก้ตัว สามารถนำบุคคลไปอบายภูมิได้เหมือนกัน ส่วนมโนกรรมอย่างที่กล่าวมาแล้ว เราคิดชั่วแล้วกลัวบาปกรรม กลับทำความดีเสีย ก็พ้นจากกรรมนั้นๆ ได้ ให้เข้าใจถึงเรื่องกรรมเรื่องเวร เวรและกรรมมันต่างกันอย่างนี้

ว่าถึงเรื่องมัจจุราชอีกที มัจจุราชนี้มองอยู่ตลอดเวลา มองเห็นเราอยู่ทุกเมื่อ ใครจะหลีกลี้ทำอะไรอยู่ก็ตาม มัจจุราชเห็นอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ท่านว่า ทำความชั่วไม่มีที่ลับ (ที่ลับไม่มีในโลก) ทำความชั่วไม่มีการปกปิด สู้ทำความชั่วความผิดนั้นๆ เปิดเผยเสียดีกว่า อย่างเราโกรธคนอื่น เขาไม่รู้แต่มัจจุราชรู้แล้วเราไปบอกคนนั้นเสีย ฉันโกรธเธอโว้ย ให้อภัยฉันเสียเถิด คนนั้นจะหัวเราะเลยให้อภัยทันที ถ้าหากปกปิดไว้มัจจุราชตามรู้และเบียดเบียนอยู่เสมอ จึงว่าอย่าทำกรรมชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง :b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 20:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


นั่งสมาธิ

ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประสมกันเป็นก้อนที่เรียกว่า มนุษย์ สัตว์ เหล่านี้ เป็นที่ตั้งของมัจจุราชพร้อมด้วยเสนาของมัน เมื่อประสมกันเป็นก้อนขึ้นมาในที่ใด ก้อนอันนั้นต้องมีความเจ็บป่วย คือ เสนามัจจุราช และดับไปในที่สุด จึงเรียกว่าเป็นที่มองของมัจจุราช ก้อนอันนั้นไม่ว่าจะก้อนเล็กก้อนใหญ่ คนมี คนจน กษัตริย์ พราหมณ์มหาศาล ที่สุดแม้แต่พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกของพระองค์ก็ไม่พ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราช เพราะธาตุสี่ ขันธ์ห้า ประชุมกันในที่ใดก็เป็นวิสัยของมัจจุราชจะต้องตามผจญอยู่ตลอดเวลา ดังพระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์แท้ๆ ยังไม่พ้นจากถูกโจรทุบตีจนกระดูกแตกย่อยยับเป็นจุลวิจุลไปเลย แต่ยังดีที่ท่านใช้ปัญญาเป็นอาวุธ ทำยุทธวิธีต่อสู้กับมัจจุราช พิจารณาเห็นสังขาร คือ รูปนามตามความเป็นจริงอย่างไรแล้ว ปล่อยวางสังขารได้ โจรจะทุบตีก็ทุบตีไป มัจจุราชกับมัจจุราชทุบตีกันเท่านั้น ส่วนจิตใจของท่านไม่มีใครจะทุบตีได้

พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านเอาชนะมัจจุราชด้วยยุทธวิธีอย่างนี้ ท่านจึงไม่เดือดร้อน ในเมื่อร่างกายยังมีอยู่ เวลาอาพาธหนักๆ หรือจะตายก็ยอมตาย สละหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แม้แต่ความตายก็ยอมให้ตายเป็นหมดเรื่องกัน ไม่ต้องถือว่าอันนั้นตายอันนี้ตาย ธรรมชาติมันหากเกิดตายอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไร เราเกิดมาจะถือว่าเราตายหรือไม่ ความตายมันก็ไม่ว่าอะไร เราผู้ถือหากเป็นทุกข์ต่างหาก

ขอทุกๆ คนจงตั้งใจทำสมาธิต่อสู้กับมัจจุราช ด้วยการสละความเจ็บปวดต่างๆ ให้ถึงที่สุด คือ ความตาย แล้วความตายจะไม่ปรากฏในสมาธิภาวนาเลย จะมีแต่ความเยือกเย็นถ่ายเดียว อันนี้เป็นวิธีเอาชนะมัจจุราช มัจจุราชอยู่ตรงไหนให้มอบมัจจุราชให้มันเสีย :b44:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2009, 21:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมที่ควรปฏิบัติ


วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนเช้า
ณ วัดเจริญสมณกิจ ภูเก็ต


ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

ณ บัดนี้ จะได้แสดงธรรมิกถา พรรณาศาสนธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนบุญราศรีแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ได้พากันมาประชุมในสวนสถานที่นี้ เพราะวันนี้เป็นวันธรรมสวนะต่างก็พากันตั้งจิตคิดว่าจะทำบุญกุศล น้อมกาย วาจา ใจ ของตนเข้ามาสู่สวนสถานที่นี้แล้ว ได้บริจาคทำบุญเป็นเบื้องต้น ต่อมาก็ได้สมาทานศีลห้า ศีลแปด ตามกำลังศรัทธาของตนๆ

ต่อไปนี้จงตั้งใจฟังธรรมิกถา คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นเครื่องอบรมบ่มอินทรีย์ เพิ่มพูนบุญญาบารมีของตนให้แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ แท้จริงธรรมะเป็นเครื่องอบรมบ่มอินทรีย์ได้เป็นอย่างดีที่สุด

ธรรมะเป็นเครื่องชำระจิตใจทำให้ผ่องใสสะอาด ธรรมะคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำตนของเราผู้ประพฤติตามให้เป็นคนดีขึ้นโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น เป็นการจำเป็นที่สุด ที่เราจะต้องฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าหากไม่มีธรรมเป็นเครื่องแทรกซึมเข้ากับจิตกับใจ จิตใจของเรามันจะหันเหไปทางอื่น คือไปทางโลกเสียส่วนมาก เพราะคนเกิดขึ้นมาในโลก จิตก็ต้องเป็นไปกับโลก ความคิดความเป็นอยู่ด้วยประการต่างๆ มันหันเหไปทางโลกมาก

ทราบดีอยู่แล้วว่า โลกเป็นทางหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด โลกเป็นบ่อเกิดของเครื่องเดือดร้อน โลกเป็นทางนำมาซึ่งความฉิบหาย ไม่มีทางที่สิ้นที่สุด มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาในโลก จิตติดอยู่กับโลก หมุนเวียนอยู่กับโลก เสื่อมสูญอยู่กับโลกอย่างนี้ตลอดกัปป์ตลอดกัลป์แต่ไหนแต่ไรมา หากเราไม่รู้สึกนึกถึงตัวเสียเลย และไม่รู้จักโทษของมันเสียเลย เราก็จะพากันจมอยู่ในเรื่องเครื่องหมุนเหล่านั้น หรือกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น จงพากันหันมาสนใจพระธรรมเทศนา คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นเครื่องอบรมบ่มอินทรีย์ดังอธิบายมาแล้ว ธรรมะซึ่งจะอธิบายในวันนี้ มี ๒ กระทง อย่างที่ยกขึ้นเป็นอุเทศคาถาว่า-

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

แปลเนื้อความโดยย่นย่อง่ายๆ ว่า บุคคลผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมตามรักษา,และธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำให้เกิดความสุข, นี้ความโดยย่นย่อในพระคาถานั้น พึงจำอุเทศคาถาเบื้องต้นโดยย่อๆ เท่านี้เสียก่อน

ต่อไปนี้จะได้อธิบายคำว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมตามรักษา จะแยกข้อความนี้ออกให้เห็นชัดว่า การประพฤติธรรม ๑ ธรรมย่อมตามรักษาผู้นั้นด้วยเหตุใด ๑

ธรรม ในที่นี้หมายถึงสุจริตธรรม ไม่ใช่หมายเอาทุจริตธรรม แท้จริงธรรมมี ๓ ประการ คือ

สุจริตธรรม หรือเรียก กุศลธรรม

ทุจริตธรรม หรือเรียกว่า อกุศลธรรม และ

อัพยากตธรรม หรือเรียก ธรรมเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว

ที่จะอธิบายในวันนี้ว่าถึงเรื่อง กุศลธรรม คือ สุจริตธรรม ซึ่งเป็นเครื่องรักษาบุคคลผู้ประพฤติให้ดีได้ ธรรมนั้นหากจะว่าโดยทั่วไปแล้ว เป็นของกว้างขวางมาก สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งคุณงามความดี มีอยู่ในโลกนี้ตลอดเวลา เรียกว่า ธรรม พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม บุคคลจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ตามแต่ธรรมมีอยู่เช่นนั้น คิดดูเหมือนกันกับว่าไฟเป็นของมีอยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา ไฟเป็นของร้อน เด็กหรือผู้ใหญ่ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ไปถูกต้องเข้าจำเป็นจะต้องร้อนหรือไหม้ได้ไม่เลือกหน้า

บุญและบาปก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใครทำลงไปแล้วต้องได้รับผลตอบแทนตามกำลังแห่งการกระทำของตนๆ ทำดีได้รับผลความดี เป็นความสุข ทำชั่วได้รับผลความชั่ว เป็นความทุกข์ ไม่ได้เลือกว่ากลางวันกลางคืน หรือว่าคนชั้นใดวรรณะใด คนประเภทไหน ทำลงไปต้องได้รับผลเช่นเดียวกันทั้งหมด

คำว่า ธรรม ในที่นี้หมายถึงเรื่องของมีอยู่ เป็นอยู่ นี่แหละธรรมที่จะอธิบายในวันนี้เรียกว่ากุศลธรรม ซึ่งถือเอาความหมายคำว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมตามรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติ กุศลธรรม คือ ความดี หมายถึง เรื่องความดีโดยเฉพาะ

คำว่า ดี ในที่นี้ก็กินความกว้างอยู่เหมือนกัน แต่จะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ความดีนั้น ถ้าหากว่าทำลงไปแล้ว ทำตนของตนให้ได้รับความสุข ความสบายทั้งแก่คนอื่นก็ได้รับความสุขความสบาย ไม่เป็นเรื่องเบียดเบียนตนและคนอื่นไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น อันนี้เรียกว่า ความดี หรือ กุศลธรรม การประพฤติสุจริตธรรม

ชักตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงเทศนาฆราวาสธรรมเรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ

๑. ทาน การให้การเสียสละ
๒. ปิยวาจา วาจาอ่อนหวาน
๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์ให้กันและกัน
๔. สมานัตตา คือการทำตนให้เป็นคนสม่ำเสมอ
นี่แหละธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านแสดง ว่าเป็นธรรมสุจริต เราจะเห็นได้ว่าสุจริตธรรมมีความหมายว่าไม่ทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น ไม่ทำทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น
ทาน การให้ การสละ ลองคิดดู ธรรมดาการให้ใครจะได้รับความเดือดร้อนตน ไม่มีจะให้ทานได้ที่ไหน ตนต้องมีเสียก่อน ตนมีแล้วต้องเหลือกินเหลือใช้จึงค่อยให้ทาน ถ้าไม่เหลือกินเหลือใช้ก็ให้ทานไม่ได้ มันจะเดือดร้อนตรงไหนสำหรับผู้ให้ทานไปแล้ว มีแต่ปลื้มปิติอิ่มใจในความดีของตนอยู่เสมอ
ผู้ที่รับทานเล่า จะเดือดร้อนตรงไหน เขาได้แล้วก็จะมีแต่ความพออกพอใจปลื้มปิติแสดงความยินดีอย่างยิ่ง ในการที่เขาได้รับสงเคราะห์จากผู้ให้ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับทานจะแสดงความเคารพนับถือ ผูกสัมพันธ์กับผู้ให้อย่างไม่มีวันลืมสมกับพุทธพจน์ว่า
ท ทํ มิตฺตา นิคนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
นี่ข้อทีแรก ที่เรียกว่าธรรม คือทำให้เกิดเป็นความสุจริต ไม่ใช่ทุจริต
ปิยวาจา คือวาจาที่อ่อนหวานนิ่มนวล ชวนให้ระลึกถึงซึ่งกันและกัน ลองคิดดูคนใดมีวาจาสัมมาคารวะก็ดี หรือมีวาจาอ่อนหวานนิ่มนวลก็ดี เขาจะพูดถึงอยู่เสมอ เขาจะปรารภกล่าวขวัญอยู่เสมอว่า ยายคนนี้ ตาคนนั้น แกช่างพูดดีนิ่มนวลและอ่อนหวานน่าชมน่ารัก น่าเคารพนับถือ หรือน่าสังคม เราเองก็ไม่มีความเดือดร้อน เพราะจิตไม่คิดประทุษร้ายหมายมาดในการที่จะพูดชั่ว นี่ก็แปลว่าเป็นธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นสุจริตธรรม ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น
อัตถจริยา การทำสิ่งที่ให้เกิดประโยชน์แก่กันและกัน ไม่ว่าในทางโลกและทางธรรม ย่อมเป็นความดีแก่ตนและคนอื่น จึงจัดเป็นกุศลธรรมส่วนหนึ่ง
สมานัตตา ยิ่งเป็นของสำคัญนัก การทำตนให้เสมอต้นเสมอปลายอย่าให้เป็นคนโรคเส้นประสาท ตอนเช้าดี ตอนบ่ายกลับโกรธกลับร้าย ตอนบ่ายดี ตอนเช้ากลับร้ายกลับโกรธ คนแบบนี้เขาเรียกว่าคนโรคเส้นประสาท ใครจะพูดอะไรกระทบสักนิดไม่ได้ มันจะวูบวาบออกไปทันที อันไฟกองนั้นมันคอยที่จะติดเชื้ออยู่เสมออะไรมาถูกไม่ได้ อันนั้นเรียกว่าโรคเส้นประสาท คนแบบนั้นเรียกว่าคนยังไม่เสมอต้นเสมอปลาย คบค้าสมาคมกับหมู่เพื่อน เข้าสังคมยากที่สุด เขาจะติดต่อสังคมได้ยาก เพราะเขากลัวเสียแล้ว

จงทำตนให้เป็นคนสม่ำเสมอ ลองคิดดูคนที่เขาหวาดกลัวอยู่เสมอนั่นนะ ไม่เป็นความสุขแก่ตนและคนอื่นเลย เราเองเห็นเขาแสดงปฏิกิริยาอันน่าหวาดกลัวไม่อยากคบค้าสมาคมแล้ว เราก็ชักกระดากๆ เหมือนกัน ทีหลังมาถ้าหากว่าเราทำให้สม่ำเสมอ ไม่ว่าคนชั้นต่ำชั้นสูงหรือคนจะมีฐานะอยู่เช่นไรก็ตาม คบค้าสมาคม พูดจาสนทนากัน ถือว่าเป็นมนุษย์ด้วยกัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เกิดจากกิเลส คือ ราคะตัณหา มีกิเลส โลภ โกรธ หลง เท่ากัน เกิดขึ้นมาในที่อสุภปฏิกูล สกปรกโสโครกเหมือนกัน มาเป็นสัตว์โลกเหมือนกัน เราถือเช่นนี้แล้ว สบายใจ ไปมาหาใคร เข้าหาใคร สังคมสมาคมกันไม่มีการกระดากกระเดื่อง จิตใจของเราก็เรียบร้อย คนที่สมาคมกับเราก็ไม่มีระแวงระวัง ไม่มีการเกรงอกเกรงใจ สนทนากันอย่างดีที่สุด คนนั้นจะไปตกบ้านใดเมืองใด อยู่ในสถานที่ใดๆ ย่อมได้รับความอุปการะอุดหนุนค้ำจุนในสถานที่นั้นๆ ถ้าหากทำได้อย่างนี้ เรียกว่าประพฤติสุจริตธรรม วางตนให้สม่ำเสมอ การวางตนให้สม่ำเสมอนี้เป็นข้อ ๔ ในสังคหวัตถุธรรม

นี่อธิบายเรื่องธรรมยืดยาวมาเสียแล้ว โดยเฉพาะก็คือมี ๔ ข้อ ที่เรียกว่า ทาน ก็ไม่เป็นเครื่องเบียดเบียนตนและคนอื่น ปิยวาจา คำพูดที่อ่อนหวาน อัตถจริยา การทำให้เป็นประโยชน์แก่กันและกัน สมานัตตา ทำตนให้สม่ำเสมอ ทั้ง ๔ ประการนี้ไม่เป็นเครื่องเดือดร้อนแก่ตนและคนอื่น นี่แหละคำว่า ธรรม
คราวนี้ใครเป็นคนรักษาธรรม?
จะให้ใครมารักษา จ้างคนอื่นรักษาให้ไม่ได้ไม่เหมือนวัตถุอื่น เพราะธรรมเป็นของมีอยู่ที่ตนทุกคนแล้ว ฉะนั้น ทุกคนต้องรักษาด้วยตนเองทั้งนั้น ใครรักษาในที่ใดก็มี ธรรมสิทธิ์ ในที่นั้น เหมือนกับพื้นปฐพีแผ่นดินนี่แหละเป็นของกว้างขวางใหญ่โต มีมาตั้งแต่กัปป์แต่กัลป์ เป็นของมีอยู่อย่างนี้ถ้าใครเข้าไปจับจองและปกปักรักษา ทำสถานที่นั้นให้เกิดผลประโยชน์ขึ้น ในสถานที่นั้นเรียกว่าที่ของตน มีกรรมสิทธิ์ปกครอง ธรรมก็เป็นสาธารณะแก่สัตว์ทั่วไปเช่นเดียวกัน คราวนี้ถ้าหากเราไปครอบครองธรรม คือ เรารักษาตามนัยที่อธิบายมานี้ คือให้เป็นของสุจริต ธรรมนั้นจะเป็นของตนขึ้นมา เรามีอิสระรักษาธรรมไว้ได้ เราก็เป็นเจ้าของธรรมนั้น ผลของการรักษาธรรมนั้นเกิดขึ้นก็เป็นกรรมสิทธิ์แก่ตัวเอง อย่างเดียวกับผลไม้ที่เกิดจากสวนที่เราปลูกสร้างขึ้นเองจะเป็นของใคร ก็ตกลงเป็นของตนอยู่ดีใครจะเอาไปได้ เราต้องมีกรรมสิทธิ์เต็มที่ในที่สวนซึ่งทำผลประโยชน์ให้แก่เราคือ ให้เราได้ร่ำได้รวย เรามีอันอยู่อันกิน การรักษาธรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือว่า เรารู้จักธรรมแล้ว เรารักษาธรรม ธรรมนั้นก็ต้องรักษาเรา เหมือนกันกับผลไม้ที่ให้ผลแก่เราผู้สร้างสวนเช่นนั้น นี้แหละการปฏิบัติธรรมให้ผลอย่างนี้ จึงว่า
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺจารึ บุคคลผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมตามรักษา
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ผู้ประพฤติธรรมดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้
ไม่มีใครนำมาให้แต่ที่อื่นที่ไกลเลย เกิดขึ้นในที่นั้นเอง เมื่อเราประพฤติธรรมสุจริตแล้ว ความสุขก็ต้องเกิดขึ้นที่กาย วาจา ใจ ของตน ไม่มีการเดือดร้อนเนื้อความก็ย้ำของเก่านั่นเอง เป็นแต่ข้อแรกแสดงถึง อำนาจของธรรมสามารถรักษาผู้ประพฤติธรรมมิให้เป็นคนเลว คือรักษาธรรมที่เป็นสุจริตแล้ว ธรรมที่เป็นทุจริตก็เกิดขึ้นไม่ได้ คนนั้นก็เป็นคนดี ไม่ตกไปเป็นคนเลว ข้อท้ายแสดงถึงอานิสงส์ของการประพฤติธรรมที่สุจริต ผล คือ ความสุขก็พลอยได้รับตามมาด้วย เป็นอันว่าได้รับผลของสุจริตธรรมเหมือนกันทั้งสองข้อ
เพราะฉะนั้น ทุกๆ คนจงพากันมาคิดถึงตนในด้านที่จะปฏิบัติต่อไป การที่เราจะรักษาธรรมนั้น เราจ้างให้คนอื่นมารักษาให้ไม่ได้และเราไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นไกล ไม่ต้องไปหาเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพราะเครื่องมือวิทยาศาสตร์เดิมของเรามีอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์คู่แรก คือ บิดามารดาของเราผลิตไว้ให้ครบครันแล้ว เครื่องมือเหล่านั้นมี ๓ อย่างเท่านั้น ไม่มากมายเลย คือ กาย วาจา และใจ นำมาใช้ในการที่เราจะปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดีขึ้นมา
การที่ว่ารักษาก็คือ การปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่าการรักษาหรือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติไม่ได้เอาอื่นไกล เอากายของเรานี้ เช่นการทำสังคหวัตถุในการทำทาน ดังได้อธิบายมาแล้ว มิใช่เอาที่อื่นทำ เอาของเรานี่แหละ ทำด้วยไม้ด้วยมือของเรานี่แหละ มีสิ่งใดยกยื่นส่งให้ แจกจ่ายให้เป็นทานก็ที่ตัวของเรานี่เอง ไม่ได้ไปหามาจากอื่น
ปิยวาจา การพูดจาอ่อนหวาน ก็ไม่ได้ยืมคำพูดใครมา ถึงสมัยใหม่เขาใช้ไมโครโฟนมันก็ออกไปจากปากคนดีๆ นี่แหละ แต่ว่าเพิ่มเสียงให้ดังขึ้นหน่อยเท่านั้นเราเอาปากของเรานี่แหละพูดไพเราะอ่อนหวาน หรือจะพูดชั่วก็ต้องปากนี่แหละพูด จึงว่ามีครบแล้วเครื่องที่เราจะต้องทำ ที่เราจะต้องรักษา ที่เราจะต้องปฏิบัติธรรม
อัตถจริยา การทำประโยชน์แก่กัน ไม่ว่าจะโดยทางกาย ทางวาจาหรือ ทางใจก็ดี ก็ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ของเดิมเราทั้งนั้น
สมานัตตา คือการปฏิบัติตนให้สม่ำเสมอก็เช่นเดียวกัน เมื่อใจบังคับกายวาจาได้แล้ว มันก็สม่ำเสมอ แสดงว่ามาจากใจที่ฝึกฝนอบรมทรมานดีแล้วนั้นเป็นผู้บัญชากาย วาจา ให้ทำ ให้พูด เมื่อเราฝึกฝนหรือทรมานได้แล้ว มันก็สม่ำเสมอทั่วไป นี่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนี้

เมื่อสรุปรวมใจความแล้ว ให้คิดดูดังอธิบายมานี้ ธรรมทั้งหลายนั้นเป็นของน่าพิจารณา และน่าปฏิบัติหรือไม่ ถ้าเราปฏิบัติได้แล้วเราจะดีเพียงใด ดีกว่าเราจะพากันนิ่งนอนใจ ให้มันเป็นไปตามยถากรรม คนเราหากไม่มีการทำอะไรเสียเลย ผลอะไรก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ทุกคนที่จะไม่ทำอะไรเสียเลยไม่มี เมื่อเกิดขึ้นมาในโลกแล้วต้องทำ ไม่ดีก็ต้องชั่ว ไม่บาปก็ต้องบุญ หากว่าเราไม่มีธรรมและไม่เข้าใจในธรรมโดยนัยดังอธิบายมานี้ เมื่อเราไม่ปฏิบัติธรรม ใจของเราก็จะเขวไปในทางทุจริต จะทำความชั่ว เพราะฉะนั้นเราอย่าปล่อยวางเลย ไหนๆ เครื่องไม้เครื่องมือ คือ กาย วาจา และใจของเราก็มีอยู่แล้ว ธรรมที่เราจะปฏิบัติให้ดีขึ้นก็มีอยู่ครบมูลบริบูรณ์แล้ว จงอุตสาหะ วิริยะ ตั้งหน้าพากันฝึกหัดปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของตนทุกๆคน

หากไม่ปฏิบัติปล่อยวางล่วงเลยไปเสียเปล่า ตายแล้วเราจะไม่ได้ปฏิบัติอีกจะไม่ได้ฝึกฝนอบรมอีก เกิดขึ้นมาทีหลังก็จะเป็นเด็ก และกว่าจะรู้ภาษาก็เป็นเวลาอีกมิใช่น้อย ตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ขึ้นไปหรือบางที ๔๐-๕๐ ปียังไม่รู้เดียงสาเลยก็ได้ การที่เรามาเข้าใจในธรรม และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาพากันน้อมกาย วาจา ใจตั้งหน้าฝึกหัดปฏิบัติเช่นนี้นับว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล ควรแก่การปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น จงอาศัย อัปมาทธรรม คือความไม่ประมาท และพากันตั้งใจปฏิบัติตามศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนัยที่อธิบายมานี้ก็จะนำผล คือ ความสุขความเจริญมาให้แก่ตนทุกๆ คน

ได้แสดงมาในธรรมิกถาสมควรแก่เวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร