วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 15:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 04:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 13:42
โพสต์: 38

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


ในหลักธรรมแห่งพระพุทธพจน์ อาจถูกบิดเบือน เราจึงอยากจะนำพระพุทธพจน์
มากล่าว มาแสดงไว้ในที่นี้ ผู้ใคร่ธรรมทั้งหลาย พึงศึกษาเถิด

คำกล่าวเกี่ยวกับนิพพาน อันเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน

[๒๒๖] ปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลส และขันธ์
ของบุคคลผู้รู้สึกตัว เป็นปรินิพพานญาณอย่างไร ฯ
สัมปชานบุคคลในศาสนานี้ ย่อมยังความเป็นไปแห่งกามฉันทะให้สิ้นไป
ด้วยความไม่พยาบาท ฯลฯ แห่งถีนมิทธะให้สิ้นไป ด้วยอาโลกสัญญา ฯลฯ
แห่งอุทธัจจะให้สิ้นไป ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ แห่งวิจิกิจฉาให้สิ้นไป ด้วยการ
กำหนดธรรม ฯลฯ แห่งอวิชชาให้สิ้นไป ด้วยญาณ แห่งความไม่ยินดี ด้วยความ
ปราโมทย์ ยังความเป็นไปแห่งนิวรณ์ให้สิ้นไป ด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ยังความ
เป็นไปแห่งกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไป ด้วยอรหัตมรรค ฯ
อีกประการหนึ่ง ความเป็นไปแห่งจักษุนี้แล ของสัมปชานบุคคลผู้นิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ย่อมสิ้นไป และความเป็นไปแห่งจักษุอื่นย่อม
ไม่เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งหู ฯลฯ ความเป็นไปแห่งจมูก ความเป็นไปแห่งลิ้น
ความเป็นไปแห่งกาย ความเป็นไปแห่งใจนี้แล ของสัมปชานบุคคลผู้นิพพานด้วย
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ย่อมสิ้นไป และความเป็นไปแห่งใจอื่นย่อมไม่เกิดขึ้น
ปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ ของสัมปชานบุคคล
นี้เป็นปรินิพพานญาณ ฯ
ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด
เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลส
และขันธ์ของบุคคลผู้รู้สึกตัว เป็นปรินิพพานญาณ ฯ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

.....................................................
ทุกคนมี อายตนะ ทั้ง 6 ครบเช่นกัน แต่การจะใช้ไปในทิศทางใดนั้น เราเป็นผู้ตัดสินใจ
หากหลงไปกับกระแสแห่งตัณหา เราจักไม่มีหนทางหนีออกจากกระแสแห่งตัณหานั้นได้
จงออกมาจากแม่น้ำคือตัณหานั้น แล้วมายืนดูที่ฝั่ง แล้วเราจะพบว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น
หาใช่สุขที่แท้จริงไม่ ความยึดถือ ความปรุ่งแต่งแห่งจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจาก จิต
จิต ที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จิต ที่คอยจมดิ่งไปสู่อารมณ์ที่ตนชอบใจ
การชนะใดๆ ก็หาใช่การชนะที่แท้จริงไม่ การชนะใจตัวเองนั่นแล คือการชนะที่ประเสริฐที่สุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 04:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 13:42
โพสต์: 38

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


อันนี้เป็นตัวแก้อรรถ ( คือแก้คำศัพท์ เป็นการอธิบายว่า ศัพท์ไหนมีเนื้อความอย่างไร )
[๒๒๖] พึงทราบวินิจฉัยในปรินิพพานญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
บทว่า อิธ คือในศาสนานี้.
บทว่า สมฺปชาโน - ผู้รู้สึกตัว.
ความว่า ผู้รู้สึกตัวด้วยสัมปชัญญะ ๔ เหล่านี้ คือ
สาตถกสัมปชัญญะ - ความรู้ตัวในกิจที่เป็นประโยชน์แก่ตัว ๑
สัปปายสัมปชัญญะ - ความรู้ตัวในปัจจัยที่สบาย ๑
โคจรสัมปชัญญะ - ความรู้ตัวในธรรมอันเป็นโคจร ๑
อสัมโมหสัมปชัญญะ - ความรู้ตัวในความไม่หลงงมงาย ๑.
บทว่า ปวตฺตํ - ยังความเป็นไป คือความเป็นไปแห่งปริยุฏฐานกิเลส และความเป็นไปแห่งอนุสัยกิเลส ตามสมควรในที่ทั้งปวง.
บทว่า ปริยาทิยติ - ให้สิ้นไป คือทำให้เป็นไปไม่ได้ ด้วยสามารถแห่งวิกขัมภนปหานในธรรมทั้งหลายที่ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งอุปจารและวิปัสสนา. ด้วยสามารถแห่งตทังคปหานในธรรมทั้งหลายที่ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา. ด้วยสามารถแห่งสมุจเฉทปหานในธรรมทั้งหลายที่ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งมรรค.
จริงอยู่ ท่านย่อฌานสมาบัติมีทุติยฌานเป็นต้น มหาวิปัสสนาและมรรค ไว้ด้วยหัวข้อไปยาล. เพราะญาณอันเป็นไปแล้วแก่ผู้พิจารณาญาณนั้น ชื่อว่าปรินิพพานญาณ.
ฉะนั้น จึงเป็นอันท่านกล่าวไว้ว่า วิกฺขมฺภนปรินิพฺพานํ - ปรินิพพานด้วยการข่มไว้, ตทงฺคปรินิพฺพานํ - ปรินิพพานด้วยองค์แห่งธรรมนั้น, สมุจฺเฉทปรินิพฺพานํ - ปรินิพพานด้วยตัดเด็ดขาด. ด้วยบทเหล่านี้ ท่านจึงกล่าวถึงปัจจเวกขณญาณในการดับกิเลส.
ด้วยบทมีอาทิว่า อถวา ปน - อีกประการหนึ่ง พระสารีบุตรเถระแสดงถึงปัจจเวกขณญาณในการดับขันธ์.
บทว่า อนุปาทิเสสาย นิพฺพานธาตุยา - ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้แก่ เพราะนิพพานธาตุมี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑.
ในนิพพานธาตุ ๒ อย่างนั้น ชื่อว่าอุปาทิ เพราะอรรถว่าอันบุคคลถือมั่น คือยึดถืออย่างแรงกล้าว่า เรา ของเรา.
บทว่า อุปาทิ นี้เป็นชื่อของขันธปัญจกะ.
ชื่อว่า อุปาทิเสสะ เพราะอรรถว่าอุปาทินั่นแหละยังเหลืออยู่.
ชื่อว่า สอุปาทิเสสะ เพราะอรรถว่าเป็นไปกับด้วยอุปาทิเสสะ คือขันธ์ ๕ เหลืออยู่.
ชื่อว่า อนุปาทิเสสะ เพราะอรรถว่าไม่มีอุปาทิเสสะในนิพพานธาตุนี้.
ท่านกล่าวถึงสอุปาทิเสสะก่อน ส่วนนิพพานธาตุนี้เป็นอนุปาทิเสสะ ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้น.
บทว่า จกฺขุปวตฺตํ - ความเป็นไปแห่งตา คือความปรากฏเกิดขึ้นทางตา.
บทว่า ปริยาทิยติ ได้แก่ ย่อมสิ้นไป คือถูกย่ำยี.
ในบทที่เหลือมีนัยนี้.

.....................................................
ทุกคนมี อายตนะ ทั้ง 6 ครบเช่นกัน แต่การจะใช้ไปในทิศทางใดนั้น เราเป็นผู้ตัดสินใจ
หากหลงไปกับกระแสแห่งตัณหา เราจักไม่มีหนทางหนีออกจากกระแสแห่งตัณหานั้นได้
จงออกมาจากแม่น้ำคือตัณหานั้น แล้วมายืนดูที่ฝั่ง แล้วเราจะพบว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น
หาใช่สุขที่แท้จริงไม่ ความยึดถือ ความปรุ่งแต่งแห่งจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจาก จิต
จิต ที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จิต ที่คอยจมดิ่งไปสู่อารมณ์ที่ตนชอบใจ
การชนะใดๆ ก็หาใช่การชนะที่แท้จริงไม่ การชนะใจตัวเองนั่นแล คือการชนะที่ประเสริฐที่สุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 04:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 04:12
โพสต์: 1067


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: อนุโมทนาสาธุ คุณsanooktou
ได้ทั้งอรรถทั้งธรรม :b8:

.....................................................
...นฺตถิตัณหา สมานที...
ห้วงน้ำใหญ่โต เสมอด้วยตัณหาไม่มี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 12:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 13:42
โพสต์: 38

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


นี้คือพระพุทธพจน์ ตรัสเกี่ยวกับ วิญญาณธาตุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ
สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควร
จะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา
มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น
สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุ และ
อนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยปฐวีธาตุได้ ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุ
โดยความเป็นอนัตตา ... เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์
ที่ยึดมั่นอาศัยเตโชธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยเตโชธาตุ
ได้ ข้าพเจ้าครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา ... เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ
และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวาโยธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและ
ความปักใจมั่นอาศัยวาโยธาตุได้ ข้าพเจ้าครองอากาสธาตุโดยความเป็นอนัตตา...
เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยอากาสธาตุ
และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอากาสธาตุได้ ข้าพเจ้าครอง
วิญญาณธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย จึงทราบ
ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่ง
อุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจ
มั่นอาศัยวิญญาณธาตุได้ ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล
จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

และสูตรนี้ชัดที่สุด


[๖๘๔] ดูกรภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ภายนอก
ก็มี ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
คือ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ
ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือแม้
สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า
ปฐวีธาตุภายใน ก็ปฐวีธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น
พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ และจะให้จิต
คลายกำหนัดปฐวีธาตุได้ ฯ
[๖๘๕] ดูกรภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คืออาโปธาตุภายในก็มี ภายนอก
ก็มี ก็อาโปธาตุภายใน เป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้
มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา
เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบ
ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน ก็อาโป
ธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วย
ปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา
ของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุ
ได้ ฯ
[๖๘๖] ดูกรภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายในก็มี ภาย
นอกก็มี ก็เตโชธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้
มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม
ยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้ว
ถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้ สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน
กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ก็เตโชธาตุทั้งภายใน
และภายนอก นี้แล เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตาม
ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็น
แล้ว จะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุได้ ฯ
[๖๘๗] ดูกรภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ วาโยธาตุภายในก็มี ภายนอก
ก็มี ก็วาโยธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน
คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไป
ตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ
ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่าวาโยธาตุภายใน ก็วาโยธาตุ
ทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญา
ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา
ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้ ฯ
[๖๘๘] ดูกรภิกษุ ก็อากาสธาตุเป็นไฉน คือ อากาสธาตุภายในก็มี
ภายนอกก็มี ก็อากาสธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้
มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปากซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน
ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบาย
ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิด
ไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ
ภายใน ก็อากาสธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น พึงเห็น
อากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเราไม่
ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ และจะให้
จิตคลายกำหนัดอากาสธาตุได้ ฯ
[๖๘๙] ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคล
ย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุข
บ้าง ดูกรภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา
บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ
เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะ
นั้น คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ
ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา
บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ
เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่
ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา
ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม
เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป
ย่อมรู้สึกว่าความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด
เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ฯ
[๖๙๐] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้
สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไป
สงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเองแยกกันไปเสียคนละทาง แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ
ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา
บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ
เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะ
นั้น คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับ
ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา
บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะ
เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่
ผัสสะนั้น คือ ตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา
ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อม
เกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลัง
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป
ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิด
เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ ต่อนั้น
สิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อนโยน สละสลวย
และผ่องแผ้ว ฯ
[๖๙๑] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง
ผู้ฉลาด ติดเตาสุมเบ้าแล้ว เอาคีมคีบทองใส่เบ้า หลอมไป ซัดน้ำไป สังเกตดู
ไปเป็นระยะๆ ทองนั้นจะเป็นของถูกไล่ขี้แล้ว หมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อน สลวย
และผ่องแผ้ว เขาประสงค์ชนิดเครื่องประดับใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู เครื่อง
ประดับ มาลัยทองก็ตาม ย่อมสำเร็จความประสงค์อันนั้นแต่ทองนั้นได้ ฉันใด
ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเหลืออยู่แต่อุเบกขา อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง
อ่อนโยน สละสลวย และผ่องแผ้ว บุคคลนั้นย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อม
อุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่อากาสานัญจายตนฌาน และ
เจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขา
อาศัยอากาสานัญจายตนฌานนั้น ยึดอากาสานัญจายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาล
ยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญ-
*จายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้
ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ยึดวิญญาณัญจายตนฌานนั้น
ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่
อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อุเบกขา
ของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยอากิญจัญญายตนฌานนั้น ยึดอากิญจัญญายตนฌาน
นั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้
เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น เมื่อ
เป็นเช่นนี้ อุเบกขาของเรานี้ ก็จะเป็นอุเบกขาอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
นั้น ยึดเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ดำรงอยู่ตลอดกาลยืนนาน บุคคลนั้น
ย่อมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่
อากาสานัญจายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ
ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่องอย่างนี้ เข้าไปสู่วิญญาณัญจายตนฌาน
และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้
อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง อย่างนี้ เข้าไปสู่อากิญจัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรม
ควรแก่ฌานนั้น จิตนี้ก็เป็นสังขตะ ถ้าเราน้อมอุเบกขานี้ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง
อย่างนี้ เข้าไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และเจริญจิตมีธรรมควรแก่ฌานนั้น
จิตนี้ก็เป็นสังขตะ บุคคลนั้นจะไม่คำนึง จะไม่คิดถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย
เมื่อไม่คำนึง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่
หวาดเสียว เมื่อไม่หวาดเสียว ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนทีเดียว ย่อมทราบชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้มิได้มี ถ้าเขาเสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า สุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง
อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยทุกขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า ทุกขเวทนา
นั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่
ย่อมรู้สึกว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน
ถ้าเสวยสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย เขาเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต
เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็น
ของสงบ ฯ
[๖๙๒] ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้
จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็น
ประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลนั้นเมื่อ
เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และ
รู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดี
กันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึก
อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้
ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง ความ
หลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ ดูกรภิกษุ เพราะสิ่ง
ที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดา นั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่
นิพพาน นั้นจริง ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย
สัจจะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็สัจจะนี้ คือนิพพาน มีความ
ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่
ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นเป็นอัน
เขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีก
ไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละ
อย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้
ก็จาคะนี้ คือความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่ง บุคคล
นั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท
ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรม
นั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว
ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วย
ความสงบอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ
อย่างยิ่งประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็น
อุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตาม
รักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้
กล่าวแล้ว ฯ
[๖๙๓] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น
ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป
ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะ
เรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ความสำคัญ
ตนมีอยู่ดังนี้ว่า เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น เราจักต้องเป็น-
*สัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็น
สัตว์ไม่มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ดูกรภิกษุ
ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
ผู้สงบแล้ว เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว และมุนีผู้สงบแล้วแล ย่อม
ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน แม้มุนีนั้นก็ไม่มีเหตุที่จะต้อง
เกิด เมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย
จักกำเริบได้อย่างไร เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร ข้อที่เรากล่าว
ดังนี้ว่า คนเรามีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส
เครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและ
กิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่น
เราอาศัยเนื้อความดังนี้ กล่าวแล้ว ดูกรภิกษุ ท่านจงทรงจำธาตุวิภังค์ ๖ โดยย่อนี้
ของเราไว้เถิด ฯ
[๖๙๔] ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดา
พระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ
ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้า
แล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มี-
*พระภาคด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่
ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด ฯ
[๖๙๕] พ. ดูกรภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่
เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ
แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอ
รับอดโทษนั้นแก่เธอ ดูกรภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ
แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคเถิด ฯ
พ. ดูกรภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ ฯ
ปุ. ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุ ตถาคตทั้งหลาย จะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ
อุปสมบทไม่ได้เลย ฯ
[๖๙๖] ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติ ยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้-
*มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
หลีกไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติ ผู้กำลังเที่ยวหา
บาตรจีวรอยู่ ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระผู้มี-
*พระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้น ทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติ
อย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร ฯ
[๖๙๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุ
ธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสัญโญชน์อันเป็นส่วน
เบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็น
ธรรมดา ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ธาตุวิภังคสูตร ที่ ๑๐

วิญญาณธาตุ จัดอยู่ในหมวดธาตุ
วิญญาณขันธ์ จัดอยู่ในหมวดขันธ์
แต่ไม่ว่าจะจัดอยู่ในหมวดไหน ก็หมายถึงสภาพเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทั้งสิ้น หาได้ต่างกันไม่
เพียงแต่แยกกล่าวว่า
ปฐวี อาโป วาโย เตโช อากาส วิญญาณ ประกอบกันเข้า = รูป ( สิ่งมีชีวิต )
ส่วนขันธ์ ๕ จะอธิบายเพิ่มเติมจากรูปไปอีก โดยแยกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เช่นเดียวกับคำว่า สังขาร มีมากเช่นกัน
สังขาร ใน ขันธ์ ๕ และในปฏิจจสมุปปบาท หมายถึง สภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง
สังขาร ในอีกนัย ที่แยกเป็น อุปาทินนกสังขาร และ อนุปาทินนกสังขาร หมายถึง รูป ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

โดยส่วนมาก คนจะตีความหมายกันตามความเข้าใจผิดๆขอตัวเอง แล้วพยายามหาหลักฐานตามที่ตนเข้าใจ เพื่ออ้างอิงหลักฐานนั้น
อย่างเช่นในสูตรนี้ มีคำว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสัญโญชน์อันเป็นส่วน
เบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็น
ธรรมดา ฯ

หากเราไม่พินิจพิจารณาให้ดี มิเพี้ยนไปว่า ผู้ละสังโยชน์จักกลายเป็นเทพดอกหรือ
สูตรแห่งพระพุทธพจน์มีมากมายคณานับ หากเราเจาะจงเืลือกเฉพาะคำที่เราชอบใจว่าตรงกับจริต
ตรงกับการตีความที่แปลกใหม่ หากคนไม่ถือตาม ย่อมไม่มีความเสียหายอันใด แต่ถ้าหากมีคนถือตามเล่า?

อีกหนึ่งตัวอย่างพระพุทธพจน์


[๓๓๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้น
เพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน
จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ นี้เราเรียกว่าความ
ต่างแห่งธาตุ ฯ
[๓๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งผัสสะ บังเกิดขึ้นเพราะ
อาศัยความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน จักขุสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุธาตุ
โสตสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตธาตุ ฆานสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานธาตุ
ชิวหาสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาธาตุ โผฏฐัพพะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยกาย
ธาตุ มโนสัมผัสบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนธาตุ ความต่างแห่งผัสสะบังเกิดขึ้น
เพราะอาศัยความต่างแห่งธาตุอย่างนี้แล ฯ

นี้ก็แสดงให้เห็นหรือไม่ ว่าคำว่า ธาตุ มิใช่ความหมายตามภาษาไทยไม่
เช่นนั้นเรามาดู ความหมายของคำว่าธาตุ ตามหลักภาษามคธกันเถิด

ธาตุ
ธาตุ วิ. ผู้ทรงไว้
ธาตุ นาม. พระธาดา คือพระพรหม (พระผู้ทรงไว้ พระผู้สร้าง ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ )
ธาตุ นาม. แร่ , แร่ต่างๆ , กระดูก ,
๑. สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา จะแยกต่อไปอีกไม่ได้
๒. สิ่งที่เป็นต้นเดิม เป็นมูลเดิม เป็นรากของคำ เช่น คมฺ ธาุตุ
๓. กระดูกของคนธรรมดาที่เผาแล้ว ได้แก่คำว่าแปรธาตุ
๔. กระดูกของท่านผู้สิ้นกิเลสาสวะแล้ว คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก ได้ในคำว่า ธาตุเจดีย์ กระดูกของคนธรรมดาไม่บรรจุเจดีย์
คำนี้ เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยแล้ว จะมีคำนำหน้ากระดูกของพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรันตสาวก ใช้ว่า พระธาตุ กระดูกของพระพุทธเจ้า ใช้ว่า พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ.
กระดูกของท่านผู้ไม่สิ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่าพระธาตุ.

ซึ่งที่พระพุทธองค์ ยกมาตามหลัักภาษาจัดใน ข้อ๑ คือ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา จะแยกต่อไปอีกไม่ได้
เพราะเหตุว่า สมาสเข้ากับศัพท์ที่เป็นนาม ธาตุ จักแปลเป็นข้อ ๑. โดยส่วนมาก

เช่นนี้คงพอเป็นตัวอย่างให้ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายกระจ่างแจ้งได้บ้างแล :b42:

.....................................................
ทุกคนมี อายตนะ ทั้ง 6 ครบเช่นกัน แต่การจะใช้ไปในทิศทางใดนั้น เราเป็นผู้ตัดสินใจ
หากหลงไปกับกระแสแห่งตัณหา เราจักไม่มีหนทางหนีออกจากกระแสแห่งตัณหานั้นได้
จงออกมาจากแม่น้ำคือตัณหานั้น แล้วมายืนดูที่ฝั่ง แล้วเราจะพบว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น
หาใช่สุขที่แท้จริงไม่ ความยึดถือ ความปรุ่งแต่งแห่งจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจาก จิต
จิต ที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จิต ที่คอยจมดิ่งไปสู่อารมณ์ที่ตนชอบใจ
การชนะใดๆ ก็หาใช่การชนะที่แท้จริงไม่ การชนะใจตัวเองนั่นแล คือการชนะที่ประเสริฐที่สุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 12:48
โพสต์: 13


 ข้อมูลส่วนตัว www


ขอบคุณครับ ที่นำสิ่งดีๆมาให้อ่านกัน

.....................................................
พระเครื่องเป็นแค่ทางผ่าน ดับแล้วดิ่ง พระเครื่อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 12:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 13:42
โพสต์: 38

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


คราวนี้มาดู คำว่า ธรรมกาย บ้าง

[๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ
เธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน
พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็น
พวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร
ดังนี้เถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่
รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม
เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกาย
ก็ดี ว่าพรหมกาย ก็ดี ว่าธรรมภูต ก็ดี ว่าพรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ

นี้อันที่คนชอบยกมาพูด
ให้สังเกตคำว่า เป็นชื่อของตถาคต
ตามหลักภาษามคธแล้ว ธรรมกาย และ พรหมกาย และธรรมภูต เป็นตัวขยาย ชื่อ
คือเป็นวิเสสนะ คือเป็นคุณนาม ของคำว่า ชื่อ นั่นเอง
แต่ดูการยกพระพุทธพจน์มา เจาะจงขอแค่ว่ามีคำที่ตัวเองต้องการ แล้วก็กล่าวตู่ไปเรื่อยๆ โดยไร้แก่นสาร
แล้วคำที่เหลือล่ะ
พรหมกาย? พระพุทธองค์ เป็นพรหมหรือ? ธรรมภูต เป็น? พรหมภูต เป็น?

ยังมีอีก
[๓๖๕] เราหักแขมด้วยมือทั้งสองทำกระท่อมอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงมีชื่อ
โดยสมมติว่า สรภังคะ วันนี้เราไม่ควรหักแขม ด้วยมือทั้ง
สองอีก เพราะพระสมณโคดมผู้เรืองยศ ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่
เราทั้งหลาย เมื่อก่อน เราผู้ชื่อว่าสรภังคะไม่เคยได้เห็นโรคคือ
อุปาทานขันธ์ ๕ ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้น โรคนั้น อันเราผู้ทำตามพระ
ดำรัสของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้เห็นแล้ว พระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสี พระสิขี พระ
เวสสภู พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป ได้
เสด็จไปแล้วโดยทางใดแล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ก็ได้เสด็จไปแล้ว โดยทางนั้น พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์นี้
ทรงปราศจากตัณหา ไม่ทรงถือมั่น ทรงหยั่งถึงความสิ้นกิเลส
เสด็จอุบัติแท้ โดยธรรมกาย ผู้คงที่ ทรงเอ็นดูอนุเคราะห์
สัตว์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงธรรม คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางเป็นที่สิ้นทุกข์ เป็นทาง
ไม่เป็นไปแห่งทุกข์ อันไม่มีที่สุดในสงสาร เพราะกายนี้แตก และ
เพราะความสิ้นชีวิตนี้ การเกิดในภพใหม่อย่างอื่นมิได้มี เราเป็น
ผู้หลุดพ้นแล้วจากสรรพกิเลสและภพทั้งปวง.
คำกล่าวนี้ก็อ้างถึง ธรรมกาย โดยที่ผู้พูดถึงธรรมกายจะพยามทำนิพพานให้เป็นอัตตา
แต่ดูบรรทัดสุดท้ายสิ เป็นการค้านการมีภพต่อไปโดยสิ้นเชิง แล้วภพแห่งนิพพาน จะมาจากไหน?

นี้เป็นอีกหนึ่งที่กล่าวอ้างกัน
ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็น
มารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์เป็นพระบิดาของ
หม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์เป็นผู้ประทานความสุข
อันเกิดจากพระสัทธรรมให้หม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉัน
เป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้
อันหม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินของ
หม่อมฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว หม่อมฉันให้พระองค์
ดูดดื่มน้ำนมอันระงับเสียได้ ซึ่งความอยากชั่วครู่ แม้น้ำนม คือ
พระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่ม
แล้ว ข้าแต่พระมหามุนี ในการผูกมัดและรักษา พระองค์ชื่อว่ามิได้
เป็นหนี้หม่อมฉัน หม่อมฉันได้ฟังมาว่าสตรีทั้งหลายผู้ปรารถนา
บุตรบวงสรวงอยู่ ก็ย่อมจะได้บุตรเช่นนั้น สตรีที่เป็นพระมารดา
ของพระนราธิบดีมีพระเจ้ามันธาตุเป็นต้น ชื่อว่าเป็นมารดาผู้ยังบุตร
ให้จมอยู่ในห้วงมหรรณพคือภพ ข้าแต่พระโอรส หม่อมฉันผู้จมดิ่ง
อยู่ในห้วงมหรรณพคือภพอันพระองค์ให้ข้ามไปจากสาครคือภพแล้ว

คำกล่าวนี้ ก็เหมือนข้างบน คือ ปฏิเสธภพต่อไป เพราะฉะนั้นภพแห่งนิพพานจักมาจากไหน?

คราวนี้เรามาดู ความหมายของคำว่า ธรรมกาย
ธมฺมกาย
มาจากคำว่า ธมฺม เป็นบทหน้า กับคำว่า กาย
ที้นี้เรามาแปลความหมายคำว่า ธมฺม กับ กาย แต่คำว่า ธมฺม ความหมายกว้างขวางเหลือเกิน เกินจะพรรณาได้ ส่วนมากจะทับศัพท์คือพูดว่า ธรรม
เช่นนั้นเรามาดูคำว่า กาย
กาย

ตัว, ตน , กาย , ร่าง , ร่างกาย ,
ฝูง , หมู่ , พวก , หมวด , กอง , ประชุม , คณะ

ธมฺมกาย
กองแห่งธรรม , หมวดแห่งธรรม.
กายประกอบด้วยธรรม , กายมีธรรม

เช่นนี้แล จงใคร่ครวญเถิด :b42:

.....................................................
ทุกคนมี อายตนะ ทั้ง 6 ครบเช่นกัน แต่การจะใช้ไปในทิศทางใดนั้น เราเป็นผู้ตัดสินใจ
หากหลงไปกับกระแสแห่งตัณหา เราจักไม่มีหนทางหนีออกจากกระแสแห่งตัณหานั้นได้
จงออกมาจากแม่น้ำคือตัณหานั้น แล้วมายืนดูที่ฝั่ง แล้วเราจะพบว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น
หาใช่สุขที่แท้จริงไม่ ความยึดถือ ความปรุ่งแต่งแห่งจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจาก จิต
จิต ที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จิต ที่คอยจมดิ่งไปสู่อารมณ์ที่ตนชอบใจ
การชนะใดๆ ก็หาใช่การชนะที่แท้จริงไม่ การชนะใจตัวเองนั่นแล คือการชนะที่ประเสริฐที่สุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2009, 23:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 13:42
โพสต์: 38

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


มรรคมีองค์ ๘ โดยละเอียด
[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน
นี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ใน
ทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ
สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริใน
ความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ
สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อ
เสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า
สัมมาวาจา ฯ
สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือ
เอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมา
กัมมันตะ ฯ
สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิด
เสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ
สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายาม
ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่
เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยัง
ไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม
แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ
สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณา
เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ
โทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก
อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะ
วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมี
อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมา-
*สมาธิ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ ฯ
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในภาย
นอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ
เสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง
ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และ
ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมอยู่ ฯ
จบสัจจบรรพ
จบธัมมานุปัสสนา

อ่านพระพุทธพจน์กันเถิด :b42:

.....................................................
ทุกคนมี อายตนะ ทั้ง 6 ครบเช่นกัน แต่การจะใช้ไปในทิศทางใดนั้น เราเป็นผู้ตัดสินใจ
หากหลงไปกับกระแสแห่งตัณหา เราจักไม่มีหนทางหนีออกจากกระแสแห่งตัณหานั้นได้
จงออกมาจากแม่น้ำคือตัณหานั้น แล้วมายืนดูที่ฝั่ง แล้วเราจะพบว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น
หาใช่สุขที่แท้จริงไม่ ความยึดถือ ความปรุ่งแต่งแห่งจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจาก จิต
จิต ที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จิต ที่คอยจมดิ่งไปสู่อารมณ์ที่ตนชอบใจ
การชนะใดๆ ก็หาใช่การชนะที่แท้จริงไม่ การชนะใจตัวเองนั่นแล คือการชนะที่ประเสริฐที่สุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ค. 2009, 13:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 มิ.ย. 2009, 13:42
โพสต์: 38

ที่อยู่: bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธพจน์ที่เธอยกมา เป็นมรรคของพระอริย คือพระอรหันต์

[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ
ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูด
ส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ นี้ สัมมาวาจา
ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ
[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น
ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิต
หาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจา
ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

ตรงที่เน้นตัวใหญ่นั่นล่ะ คือคำตอบ และมีอยู่ทุกหมวด ทุกมรรคที่พระพุทธองค์ตรัส
ถ้ายังไม่บรรลุ จัดเป็นอาสวะ ถ้าบรรลุแล้ว จัดเป็นอนาสวะ

ส่วนตัว เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เรายกมาจากหลักอภิธรรม

ส่วนนี้คือพระพุทธพจน์ตรัสเกี่ยวกับ เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุุตติ

แสดงสมถะและวิปัสสนา เมื่อโยนิโสมนสิการโดยแยบคายก็จะเห็นจุดประสงค์ของการปฏิบัติทั้ง ๒ กล่าวคือ เจริญสมถะเพื่อเจโตวิมุตติ เพื่อการอบรมจิตให้ระงับในกิเลสราคะ เพื่อยังประโยชน์ กล่าวคือ นำจิตที่ตั้งมั่น เนื่องจากสภาวะไร้นิวรณ์ และราคะ(กามฉันท์ ข้อ ๑ ในนิวรณ์ ๕)มารบกวนจากการสอดส่ายฟุ้งซ่านไปปรุงแต่ง หรือสภาพที่ถูกยึดมั่นไว้ด้วยอุปาทาน จึงเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนปัญญาในการคิดพิจารณาธรรมให้เห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง กล่าวคือ พึงยังให้เกิดปัญญาวิมุตติขึ้นนั่นเอง จึงเป็นปัจจัยให้ละอวิชชาเป็นที่สุด.

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา

ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต

จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้

วิปัสสนา ที่อบรมแล้วย่อมเสวย ประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา

ปัญญา ที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้ ฯ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น

หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุตติ

เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุตติ ฯ

จบพาลวรรคที่ ๓

เห็นหรือไม่ว่า จุดสูงสุดของสมถะ คือเจโตวิมุตติ
ส่วนจุดสูงสุด ของวิปัสสนา คือ ปัญญาวิมุตติ
หากเราจะหลุดพ้นได้ต้องกำจัดอวิชชา เพราะเหตุนั้น สมถะทำให้ละราคะได้
เมื่อละราคะได้ จิตเราย่อมผ่องใสจากกิเลส จึงทำใ้ห้ง่ายต่อการเจริญวิปัสสนา เพื่อละอวิชชา
เพื่อบรรลุอรหันต์ เพื่อเข้าสู่นิพพานต่อไป

.....................................................
ทุกคนมี อายตนะ ทั้ง 6 ครบเช่นกัน แต่การจะใช้ไปในทิศทางใดนั้น เราเป็นผู้ตัดสินใจ
หากหลงไปกับกระแสแห่งตัณหา เราจักไม่มีหนทางหนีออกจากกระแสแห่งตัณหานั้นได้
จงออกมาจากแม่น้ำคือตัณหานั้น แล้วมายืนดูที่ฝั่ง แล้วเราจะพบว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น
หาใช่สุขที่แท้จริงไม่ ความยึดถือ ความปรุ่งแต่งแห่งจิต ทุกสิ่งล้วนเกิดจาก จิต
จิต ที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จิต ที่คอยจมดิ่งไปสู่อารมณ์ที่ตนชอบใจ
การชนะใดๆ ก็หาใช่การชนะที่แท้จริงไม่ การชนะใจตัวเองนั่นแล คือการชนะที่ประเสริฐที่สุด


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร