วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 15:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2009, 07:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


มีประเด็น เรื่อง การได้ดุลย์แห่งอินทรีย์ มาเสนอ


จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ทุติยปัณณาสก์
มหาวรรคที่ ๑
๑. โสณสูตร

"....ดูกรโสณะ ฉันนั้นเหมือนกันแล
***ความเพียรที่ปรารภมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน
ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ***


ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ
จงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอ..."


และ จาก อรรถกถา

".....บทว่า อจฺจารทฺธํ ได้แก่ ความเพียรที่ตึงเกินไป.
บทว่า อุทฺธจฺจาย สํวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ฟุ้งซ่าน.

บทว่า อติลีนํ ได้แก่ หย่อนเกินไป.
บทว่า โกสชฺชาย ได้แก่ เพื่อความเป็นผู้เกียจคร้าน.

บทว่า วิริยสมตํ อธิฏฺฐาหิ ความว่า ***เธอจงดำรงสมถะที่สัมปยุตด้วยวิริยะไว้ให้มั่น***. หมายความว่า จงประกอบวิริยะเข้ากับสมถะ.
บทว่า อินฺทฺริยานญฺจ สมตํ ปฏิวิชฺฌ ความว่า เธอจงดำรงสม่ำเสมอ คือภาวะที่เสมอกันแห่งอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นไว้ให้มั่น.

ในข้อนั้น ภิกษุผู้ประกอบศรัทธาเข้ากับปัญญา ประกอบปัญญาเข้ากับศรัทธา ประกอบวิริยะเข้ากับสมาธิ และประกอบสมาธิเข้ากับวิริยะ ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงภาวะที่เสมอกันแห่งอินทรีย์ทั้งหลายวันไว้มั่น. ส่วนสติมีประโยชน์ต่อธรรมทั้งปวง สตินั้นเฉพาะที่มีกำลังย่อมควรแม้ในกาลทุกเมื่อ..."



และ จากหนังสือ "ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง" ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)


"....อินทรีย์ ๕ แปลว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เฉพาะแต่ละอย่าง หรือธรรมที่เป็นเจ้าการในการข่มกำราบอกุศลธรรมที่ตรงข้ามกับตน

หลักนี้หลายท่านเคยได้ยิน แต่หลายท่านก็ยังไม่เคยได้ยิน เช่น ในคำพูดที่ว่าต้องมีอินทรีย์สม่ำเสมอกัน ต้องปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ คนนี้มีอินทรีย์อ่อน คนนี้มีอินทรีย์แก่กล้า ดังนี้เป็นต้น อินทรีย์ ๕ นั้นได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน

ข้อ ๑ ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความที่จิตใจพุ่งแล่นไปหาและคล้อยไปตาม เข้าคู่กับข้อ ๕ ปัญญา ความพิจารณาไตร่ตรองมองหาความจริงให้รู้เข้าใจเข้าถึงสภาวะ ถ้าศรัทธาแรงไป ก็น้อมไปในทางที่จะเชื่อง่าย ยอมรับง่าย เชื่อดิ่งไป ตลอดจนงมงาย ถ้าเอาแต่ปัญญา ก็โน้มไปทางที่จะคิดมาก สงสัยเกินเหตุหรือด่วนปฏิเสธ ฟุ้งไปเรื่อย ไม่จับอะไรลงลึก ท่านจึงให้ปรับศรัทธากับปัญญาให้สม่ำเสมอสมดุลกัน

ข้อ ๒ วิริยะ คือ ความเพียร มีใจสู้ มุ่งหน้าจะทำให้ก้าวหน้าเรื่อยไป เข้าคู่กับข้อ ๔ สมาธิ คือ ความสงบของจิตใจที่แน่วแน่อยู่ที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกอารมณ์ต่าง ๆ รบกวน ...***ถ้าวิริยะแรงไปก็จะเครียดและฟุ้งซ่าน โน้มไปทางล้ำเลยเขต ถ้าเอาแต่สมาธิก็จะสงบสบาย ชวนให้ติดในความสุขจากความสงบนั้น ตลอดจนกลายเป็นเกียจคร้านเฉื่อยชาปลีกตัวออกหาความสบาย ปล่อยปละละเลยหรือไม่เผชิญภาระ*** ท่านจึงให้เสริมสร้างวิริยะและสมาธิอย่างสม่ำเสมอสมดุลกัน เพื่อจะได้ประคับประคองกันไป และเป็นเครื่องอุดหนุนกันให้ก้าวหน้าไปในการปฏิบัติ

ส่วนข้อ ๓ สติ นั้น เป็นตัวคุมตัวเตือน ต้องใช้ในทุกกรณี เช่นเป็นเหมือนยามที่คอยบอกว่า เวลานี้ศรัทธาจะแรงไปแล้ว ปัญญาจะหย่อนไปแล้ว เวลานี้ควรเร่งวิริยะขึ้นมา เพราะทำท่าจะติดในสุขจากสมาธิเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ..."



หลวงปู่ ชา สุภัทโท ท่านได้เคยกล่าวเรื่อง การมุ่งมั่นที่จะรู้ธรรมมากจนเกินไป ไว้ดังนี้

mahamakuta.inet.co.th/practice/m ... ml#mk722_1

".....ได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ไม่ได้ผลคืบหน้า

เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติ ***ความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้น หรือรู้แจ้งนั้น จะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่านจากการหลุดพ้น*** ท่านจะเพียรพยายามอย่างหนักตามใจท่านก็ได้ จะเร่งความเพียรทั้งกลางคืนกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความอยาก ที่จะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่านจะไม่มีทางที่จะพบความสงบได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความ สงสัยและความกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัติมานานเท่าใดหรือหนักเพียงใด ปัญญา (ที่แท้)จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้น จงเพียงแต่ละความอยากเสีย ***จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร*** อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง..."


...............................................................


ผมขอเสนอดังนี้ ครับ

วิริยะ ที่ต้องถ่วงดุลย์กับ สมาธิ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีประโยชน์

วิริยะ คือ เพียร..ทั้งทางกาย(มุ่งเดินจงกรม นั่งสมาธิ) และ ใจ(มุ่งมั่นจะรู้ธรรมให้ได้ ).... วิริยะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ ถ้ามากเกินไป ก็จะกลายเป็นทรมานร่างกาย หรือ เวลาเจริญภาวนาจะตั้งใจมากจนเกินไป เสียสภาพความเป็นธรรมชาติ-ความนุ่มนวลของจิตอย่างที่ควร.

จาก หนังสือ พุทธธรรม หน้า877

"เมื่อ อินทรีย์บางอย่างแรงไป บางอย่างอ่อนไป ตามปกติต้องแก้ด้วยการเจริญโพชฌงค์ ข้อที่ตรงเรื่องกัน

เช่น วิริยะแรงไป แก้ให้ลดลงด้วยการเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นต้น"



ท่านกล่าวถึง การใช้ ปัสสัทธิสัมโพฌชงค์(ความผ่อนคลายกาย-ใจ เป็นส่วนแห่งสมาธิ) ปรับถ่วงดุลย์กับ วิริยะสัมโพฌชงค์.

กล่าว ง่ายๆ ก็คือ ถ้าตั้งใจมากจนเกินไป ก็ให้ผ่อนคลายใจลงบ้าง

ในทางกลับกัน ถ้าสมาธิ(หรือ ปัสสัทธิสัมโพฌชงค์)มากไป ก็จะกลายเป็นติดสุขจากสมาธิ เป็นพระฤาษีไป... เพราะ สมาธิที่มากไป ความเกรียจคร้าน(โกสัชชะ)ก็จะเข้าครอบงำ... คือ เอะอะอะไร ก็จะทำจิตให้สงบฝ่ายเดียว โดยไม่ใช้อานิสงส์แห่งสมาธิมาพิจารณาสภาวธรรม


ปัจจุบัน การตั้งใจที่จะรู้ธรรมมากเกินไป จะถูกเรียกว่า "เผลอเพ่ง"
แต่ ในสมัยพุทธกาล ท่านเรียกว่า วิริยะทางใจที่มากเกินไป ..... ซึ่งต้องถ่วงดุลย์ด้วยสมถะ คือ ปัสสัทธิ(ผ่อนคลาย กาย-ใจ)

ถ้า ใช้คำว่า "เผลอเพ่ง"แทนคำว่า "วิริยะมากเกินไป" อาจจะไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิมในระดับพระสูตร
เพราะ การเพ่ง มันจะมีความหมายไปทางสมถะ.....

แต่ วิริยะที่มากเกินไปนี้ทำให้เครียด(ไปทางอุทธัจจะอันเป็นธรรมที่ตรงข้ามกับสมาธิ).... ซึ่งต้องถ่วงดุลย์ด้วยปัสสัทธิ(ผ่อนคลาย)อันเป็นธรรมในส่วนสมถะ เสียด้วยซ้ำ!!!

ในลักษณะ รู้ซื่อๆ รู้สบายๆ (สบาย คือ ปัสสัทธิ)



ปล...

ผมพยายามหาคำว่า "จิตเครียด" หรือ "ความเครียด" ในพระไตรปิฎก ...ไม่พบครับ
มีคำว่า "เครียด"อยู่ 1แห่ง ที่
http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?st ... yte=267680

"....[๑๐๕๔] ร่างกายของข้าพระองค์ถูกกิ่งไม้ และเถาวัลย์คร่าไปมา ***ดุจสายพิณที่เขา
ขึงตึงเครียด*** ฉะนั้น พวกบริวารพากันไต่ข้าพระองค์ไปได้รับความสวัสดี..."


คือ ภาษาที่ใช้ในสมัยพุทธกาล มักจะกล่าวคำว่า เครียด เปรียบสายพิณที่ขึงตึงมาก
อย่างในโสณสูตร ก็เปรียบเทียบวิริยะที่มากไป กับ สายพิณที่ขึงตึงมากไป เช่นกัน

และ ความเครียดในลักษณะนี้ น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า "ฟุ้งซ่าน"ที่เกิดจากวิริยะที่มากเกินไป

อย่างเช่น ในเวลาที่เรากระทำภารกิจทางโลก
เราก็เคยทำบางสิ่งมาตลอด และ เราก็ทำได้...
มีอยู่วันหนึ่ง เกิดมีคนมาบอกเราว่า วันนี้ต้องตั้งใจให้ดี ห้ามพลาดน่ะ!!! วันนั้น ก็เลยพลาด เพราะมันเครียดมันเกร็ง......


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร