วันเวลาปัจจุบัน 12 ต.ค. 2024, 08:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อุปกิเลส ๑๖ ข้อ

พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร
ลงพิมพ์ในหนังสือแสงส่องใจ
๓ ตุลาคม ๒๕๒๙


:b47: :b40: :b47:

๐ แสงส่องใจ คือแสงที่ส่องให้ใจสว่าง และไม่มีแสงใดที่จะส่องใจให้สว่างได้ นอกจากแสงคือธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะส่องใจให้สว่างได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะอบรมให้ยิ่งปัญญารู้วิธีคุ้มครองใจมิให้ความมืดมนเข้าปกคลุมใจ ให้ไม่ปรากฏความบริสุทธิ์ประภัสสร

จิตทุกดวงมีธรรมชาติบริสุทธิ์ประภัสสร คือจิตทุกดวงมีความบริสุทธิ์เกิดขึ้นเองตามวิสัยของโลก แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสจรมาบัง ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกั้นอุปกิเลสให้พ้นจากจิตได้ ยังความบริสุทธิ์ประภัสสรออันเป็นธรรมชาติของจิตให้ปรากฏได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าจึงวิเศษแท้ ไม่มีอื่นเสมอ

อุปกิเลสคือโทษเครื่องเศร้าหมอง ๑๖ อย่างนั้น เกิดจากความคิดปรุงแต่ง หยุดความคิดปรุงแต่งได้เพียงไร ย่อมยังความเศร้าหมองมิให้บดบังความประภัสสรแห่งจิตได้เพียงนั้น


:b44: อภิชฌาวิสมโลภะ อุปกิเลสข้อ ๑
ท่านแปลว่า “ความละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง”

อธิบายขยายความได้ดังนี้ เมื่อเพ่งเล็งสิ่งใดเป็นที่ชอบใจก็เกิดความละโมบในสิ่งนั้นและก็เกิดความเพ่งเล็งเรื่อยไป มิได้เพ่งเล็งเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น ความละโมบจึงเกิดได้เรื่อยไป เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ละโมบอยากได้เรื่อยไป ไม่สม่ำเสมออยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว

อุปกิเลสข้อ อภิชฌาวิสมโลภะ เกิดจากความคิดปรุงแต่งเห็นสิ่งใดได้ยินได้รู้เกี่ยวกับสิ่งใดแม้คิดปรุงแต่งว่าเป็นสิ่งสวยงามน่าใคร่น่าปรารถนา ความพ่งเล็ง คืออภิชฌาวิสมโลภะก็จะเกิดขึ้นเรื่อยไป เปลี่ยนความเพ่งเล็งจากสิ่งนี้ ไปสิ่งนั้น ไปสิ่งโน้น เรื่อยไป

แต่ถ้าเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้ยินแล้ว เกี่ยวกับเรื่องใดสิ่งใดก็ตาม ไม่คิดปรุงแต่ง ความเพ่งเล็งก็จะไม่เกิดเรื่อยไป นั่นคืออภิชฌาวิสมโลภะจักไม่มี อภิชฌาวิสมโลภะจึงมิได้เกิดจากอื่น แต่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนั่นเอง

อันความคิดปรุงแต่งว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้สวยงามน่าใคร่น่าปรารถนา จนถึงเกิดเป็นความเพ่งเล็งละโมบเรื่อยไป เป็นความเศร้าหมองบดบังความบริสุทธิ์ประภัสสรของจิต เพราะเมื่อความคิดปรุงแต่งดังกล่าวนั้นเกิดขึ้น ความสงบอันเป็นกิริยาของจิต ย่อมไม่มี

ย่อมมีความวูบวาบวุ่นวาย ไปตามความคิดปรุงแต่งตั้งแต่เห็นสวยเห็นงามน่าปรารถนาต้องการ จนถึงความปรารถนาต้องการและจนถึงคิดหาอุบายเพื่อให้ได้มาสมปรารถนาต้องการ เป็นอภิชฌาวิสมโลภะสมบูรณ์ตลอดสาย เป็นความเศร้าหมองที่สามารถบดบังความประภัสสรแห่งจิตได้จริง

เมื่อความประภัสสรอันเป็นธรรมชาติแท้ของจิตถูกความเศร้าหมองของอภิชฌาวิสมโลภะบดบังไว้ได้จริง และอภิชฌาวิสมโลภะเกิดจากความคิดปรุงแต่งให้เห็นความสวยงามน่าปรารถนาต้องการจริง

การหยุดความคิดปรุงแต่งนั้นได้ พร้อมกับหยุดความคิดปรุงแต่งอันเป็นเหตุให้เกิดอุปกิเลสทั้งหลายได้ จักได้พบจิตอันบริสุทธิ์ประภัสสรของตน

อันจิตบริสุทธิ์ประภัสสรนั้นเป็นที่ปรารถนาอย่างที่สุดของผู้มีปัญญา เพราะผู้มีปัญญารู้ว่าจิตบริสุทธิ์ประภัสสร คือจิตที่ปราศจากความโลภโกรธหลง และความโลภโกรธหลง คือความเร่าร้อนมืดมิดที่ห่อหุ้มจิตเหมือนกำแพงหนาทึบที่ปิดกั้นแสงสว่างมิให้ปรากฏ

จิตทุกดวง รวมจิตของเราทุกคนนี้แหละ มีความบริสุทธิ์ประภัสสรสว่างไสวที่สุดอยู่แล้วตลอดเวลา น่าเสียดายที่พากันสร้างกำแพงปิดกั้นเสียจนมืดมิด ด้วยการใช้คิดปรุงแต่งอันเป็นอุปกิเลส

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10572

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: โทสะ อุปกิเลสข้อ ๒ ท่านแปลว่า “ความร้ายกาจ”

โทสะนั้นแรงกว่าโกธะความโกรธ โทสะเกิดได้จากความคิดปรุงแต่งเช่นเดียวกับอุปกิเลสทุกข้อ ผู้ไม่พิจารณาจึงไม่เห็นว่า โทสะนั้นไม่เกิดขึ้นเอง จะเกิดก็ต่อเมื่อมีการคิดปรุงแต่งและต้องเป็นการคิดปรุงแต่งเพื่อให้เกิดโทสะด้วย โทสะจึงจะเกิด ถ้าเป็นการคิดปรุงแต่งไปในทางอื่น เช่นคิดปรุงแต่งให้โลภ โทสะก็จะไม่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนั้นโดยตรง

โทสะเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ถ้าไม่คิดปรุงแต่งเมื่อได้ยินเสียงหรือได้เห็นรูปเป็นต้นว่า เป็นเสียงนินทาว่าร้ายเรารุนแรงหรือเป็นการแสดงการดูถูกก้าวร้าวเรา โทสะจักไม่เกิด ผู้มีปัญญาเห็นโทษของโทสะ จึงทำสติเมื่อได้ยินเสียงหรือได้เห็นรูปเป็นต้น ไม่คิดปรุงแต่งเกี่ยวกับเสียงกับรูปนั้นให้วุ่นวาย จนก่อให้เกิดโทสะ

อันรูปอันเสียงที่ได้เห็นได้ยินนั้น แม้บางทีจะเกิดจากเจตนามุ่งร้ายจริง แต่ถ้าไม่คิดปรุงแต่งให้เห็นเจตนามุ่งร้ายนั้น เจตนาจะเป็นเช่นไรไม่นำไปคิดปรุงแต่ง โทสะจักไม่เกิด

ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญนัก ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ เป็นทั้งความโลภอย่างไม่มีขอบเขต ความมีโทสะร้ายกาจ และอุปกิเลสทุกประการ

เมื่อโทสะเกิด ความมืดมิดต้องเกิด ที่ท่านกล่าวว่าโกรธจนหน้ามืดก็คือโทสะนี้เองเกิด หน้ามืดก็คือตาใจมืด ทำให้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น ไม่เห็นผิดชอบชั่วดี ไม่เห็นความควรไม่ควรทั้งหลาย เรียกว่าเป็นความเศร้าหมองอย่างยิ่ง บดบังความบริสุทธิ์ประภัสสรได้อย่างยิ่ง สามารถทำจิตใจที่ประภัสสรดูราวกับไม่มีความประภัสสรอยู่ในตัวเลย กลายเป็นจิตที่มืดมัวเพราะความประภัสสรไม่อาจปรากฏให้เห็นได้

ผู้มีปัญญาปรารถนาจะนำความประภัสสรแห่งจิตให้ปรากฏเจิดจ้า จึงพยายามทำสติอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อจะดูหรือจะฟังสิ่งใดเรื่องใด เพื่อว่าสติจะได้ควบคุมความคิดปรุงแต่งไม่ให้เกิดอุปกิเลสข้อโทสะนี้เป็นสำคัญ

จะพยายามให้สติควบคุมความคิดปรุงแต่งที่อาจยังต้องมีอยู่ตามวิสัยของบุถุชน ให้เป็นการคิดปรุงแต่งอย่างเป็นคุณแก่ตนเอง เช่นคิดปรุงแต่งไปในทางที่ดี ให้เกิดเมตตาเป็นต้น เพื่อให้เมตตาเป็นเครื่องดับโทสะ เท่ากับให้เมตตาเป็นเครื่องกำจัดความมืดมิด มิให้มาบดบังความประภัสสรของจิต

เมตตาดับความคิดปรุงแต่งให้เกิดโทสะได้ เมตตาจึงเป็นเครื่องช่วยขจัดหมอกมัวบางส่วน มิให้บดบังความประภัสสรสวยงามอันเป็นที่พึงปรารถนาแห่งจิต

แม้ปรารถนาได้พบเห็นความบริสุทธิ์ประภัสสรแห่งจิตตน
ทุกคนต้องเจริญเมตตาให้อย่างยิ่งด้วยปัญญาด้วย

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10589

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: โกธะ อุปกิเลสข้อ ๓ ท่านแปลว่า “โกรธ”

รุนแรงน้อยกว่าโทสะ โกรธเป็นเพียงความเคืองหรือขุ่นเคืองเท่านั้น และก็เช่นเดียวกับอุปกิเลสทุกข้อ เช่นเดียวกับความทุกข์ทั้งปวง ความโกรธเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ขณะใดไม่มีความคิดปรุงแต่งยั่วยุตนเองให้โกรธ ขณะนั้นความโกรธจักไม่เกิด

ดังนั้น เมื่อเกิดความโกรธขึ้นในผู้ใด หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องใดสิ่งใด พึงมีสติรู้ว่าตนเองเป็นผู้คิดปรุงแต่งให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น ผู้ผิดที่แท้จริงที่ทำให้ตนโกรธจึงหาใช่ใครอื่น เป็นตัวของตัวเองแท้ๆ

ความโกรธหรือความขุ่นเคืองจะเกิดขึ้นด้วยความคิดปรุงแต่งไปต่างๆ เช่น เขาว่าเรา เขาทำไม่ถูกใจเรา เขาไม่ให้ของที่เราชอบใจ ดังนี้เป็นต้น เป็นการคิดปรุงแต่งที่ไม่รุนแรงเท่าที่ก่อให้เกิดโทสะ

ความรู้สึกที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนั้นจึงเบากว่า เป็นเพียงความโกรธ ไม่ถึงเป็นโทสะที่เป็นความร้ายกาจ ความโกรธจึงเปรียบดังควันหมอกที่จางกว่าโทสะ ปิดบังความประภัสสรแห่งจิตไม่มืดมิดเท่าโทสะ

เมตตาที่ดับความคิดปรุงแต่งให้เกิดโทสะ จักดับความคิดปรุงแต่งให้เกิดความโกรธได้ง่ายกว่า การเจริญเมตตาจึงเป็นการขจัดหมอกมัวครอบคลุมความประภัสสรแห่งจิตถึงสองชั้น คือทั้งที่เป็นหมอกมัวแห่งโทสะ และทั้งที่เป็นหมอกมัวแห่งความโกรธ เปิดทางให้ปรากฏความประภัสสรสวยงามแห่งจิตยิ่งขึ้น

เมตตากำจัดโทสะและความโกรธได้ จึงกำจัดความผูกโกรธได้ด้วย

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10610

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: อุปนาหะ อุปกิเลสข้อ ๔ ท่านแปลว่า “ผูกโกรธไว้”

มีความหมายตรงไปตรงมาว่า ไม่ยอมเลิกโกรธ เก็บความโกรธฝังไว้ในใจนานๆ กาลเวลาผ่านไปแล้วเหตุที่ทำให้คิดปรุงแต่งจนเกิดความโกรธก็ล่วงเลยไปแล้ว แต่ยังจดจำนำไปคิดปรุงแต่งให้กลับเกิดความโกรธในเรื่องเดิมสิ่งเดิมได้อีก แล้วให้ความร้อนแก่ตนเองไม่รู้สิ้นสุด ยังหมอกควันให้ปกปิดความประภัสสรแห่งจิตตนไว้ด้วยความเบาปัญญา จึงไม่รู้ว่าจิตอันประภัสสรของตนนั้นมีค่านัก หาควรสร้างความคิดปรุงแต่งใดๆ ให้เป็นหมอกมัวมาปกปิดเสียไม่

ไฟสุมขอนมีความร้อนกรุ่นอยู่ตลอดเวลาเป็นเช่นไร ความผูกโกรธไว้ก็เป็นเช่นนั้น เผารุมร้อนกรุ่นอยู่เช่นนั้น แตกต่างกันเพียงที่ไฟสุมขอนร้อนอยู่ที่ขอนไม้ แต่ความผูกโกรธร้อนอยู่ในหัวอก

การดับไฟสุมขอนต้องใช้น้ำราดรด ไฟดับสนิทแล้วขอนก็มอดไหม้ทิ้งความสกปรกเลอะเทอะหลงเหลืออยู่ แต่การดับความผูกโกรธใช้สติปัญญาดับความคิดปรุงแต่ง เพียงเท่านั้นความผูกโกรธก็จะดับ นอกจากจะไม่หลงเหลือความสกปรกอยู่หลังการดับความผูกโกรธ ยังจะมีความผ่องใสเยือกเย็นอีกด้วย

เพราะไม่ใช่ปัญญาคิด จึงไม่ได้ความรู้สึกถูกต้องว่า ความโกรธก็ตามความผูกโกรธก็ตามทำให้เร่าร้อน ปราศจากความสุขความเย็นไม่มีประโยชน์อะไรเลยในความโกรธหรือความผูกโกรธ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เพราะปัญญาคือแสงสว่าง

ความโกรธและความผูกโกรธคือความมืด ความมืดมากเพียงไรแสงสว่างก็จะถูกกีดกั้นมากเพียงนั้น และแม้ว่าปัญญาน้อยเสียเท่านั้น ย่อมไม่เห็นว่าตนเป็นเจ้าของสมบติที่มีค่าพ้นพรรณา หาได้ใส่ใจที่จะทะนุถนอมสักน้อยหนึ่งไม่ สมบัตินั้นอันเป็นของเราทุกคน คือจิตที่บริสุทธิ์ประภัสสร

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10711

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: มักขะ อุปกิเลสข้อ ๕ ท่านแปลว่า “ลบหลู่คุณท่าน”

ลบหลู่ คือดูหมิ่น ดูถูก คุณคือความดี ลบหลู่คุณท่านก็คือ ดูถูกดูหมิ่นความดีของท่านที่ท่านได้ทำแล้ว ในขอบเขตแคบๆ ก็เฉพาะที่ทำแล้วแก่ตน แต่ที่จริงควรหมายให้กว้างขวางจึงจะสมควร คือหมายถึงความดีที่ท่านได้ทำแล้วแก่ผู้ใดก็ตาม

ลบหลู่คุณท่านน่าจะหมายถึงลบหลู่คนมีความดีทั้งหลาย ที่ตนได้รู้ได้เห็นความเป็นคนดีของท่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความดีต่อผู้ใดแม้ไม่ใช่ต่อตนโดยตรง ผู้ที่รู้เห็นอยู่ว่าท่านมีคุณมีความดีประจักษ์แก่ใจ

แต่พยายามลบหลู่ท่านด้วยความคิดปรุงแต่งที่ชั่วที่ร้าย มิใช่ที่ดีที่งาม ย่อมให่ความหมองมัว และความหมองมัวนั้นก็เป็นดั่งหมอกห่อหุ่มปกคลุมจิตที่มีธรรมชาติประภัสสรบริสุทธิ์ มิให้ปรากฏความประภัสสร คือสว่างแพรวพรายงดงามเป็นความสุขความเย็นแก่เจ้าตัว

อันความลบหลู่ท่านนั้น ก็เป็นความหมายทำนองเดียวกับอกตัญญูไม่รู้คุณท่านนั้นเอง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่ต่ำ เศร้าหมอง ไม่มีผู้ใดยกย่องความอกตัญญู แต่ไม่ใช่ทุกคนไปที่รู้ตัวและไม่ยกย่องตนเอง เม่อตนเองมีความอกตัญญู

ความรู้สึกสำนึกในบุญคุณที่ตนได้รับเท่านั้น ที่จะกำจัดความลบหลู่คุณท่านได้ ความรู้สึกคุณหรือความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ความกตัญญูจึงไม่เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองห่อหุ่มความประภัสสรแห่งจิต ตรงกันข้ามเป็นเครื่องทำลายความเศร้าหมองสกปรกของความอกตัญญูลบหลู่คุณท่าน

ผู้มีปัญญาเพียงพอ ย่อมจะสามารถหยุดความคิดปรุงแต่งใดๆ ก็ตามอันจักก่อให้เกิดความลบหลู่คุณท่าน

ปุถุชนคนยังมีกิเลส แม้จะเป็นกัลยาณบุถุชนคือเป็นคนดี ก็ย่อมมีเวลาที่จะทำผิดทำไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น การเพ่งความผิดความไม่ดีของกัลยาณบุถุชนจนทำให้ไม่เห็นคุณของท่าน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความลบหลู่คุณท่านได้

บัณฑิตเพ่งโทษตนเองไม่เพ่งโทษคนอื่น บัณฑิตจึงเป็นผู้ไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นผู้มีปัญญายิ่งขึ้นเป็นลำดับได้ด้วยไม่มีความมืดมัวแห่งอุปกิเลสข้อ ลบหลู่คุณท่านมาพรางไว้ไม่ให้ปรากฏความประภัสสรแห่งจิต

อบรมกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้อย่างยิ่งจะทำลายอุปกิเลส ข้อลบหลู่คุณท่านได้


:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10732

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: ปลาสะ อุปกิเลสข้อ ๖
ท่านแปลว่า “ตีเสมอ คือยกตัวเทียมท่าน”

ก็เกือบจะทำนองเดียวกับลบหลู่คุณท่านนั่นเอง ผู้ใหญ่ที่มีความดีมากมีวาสนาบารมีสูงย่อมสูงกว่าผู้น้อยที่มีความดีน้อยมีวาสนาบารมีต่ำ ผู้น้อยที่รู้ดีว่าตนมีภาวะฐานะเช่นไรท่านมีภาวะฐานะเช่นไร แต่ก็แสดงออกให้เป็นที่รู้เห็นว่าตนทัดเทียมท่าน เสมอกับท่าน เช่นนี้เป็นการส่อแสดงถึงความคิดที่จะยกตัวที่ต่ำให้สูงโดยไม่ได้ทำคุณงามความดีหรือสร้างวาสนาบารมีเช่นท่านเป็นความคิดปรุงแต่งที่สกปรกเบาปัญญา นำพาให้เกิดอุปกิเลสห่อหุ่มจิตมิให้ความประภัสสรที่มีอยู่ปรากฏออกสว่างไสวได้

อันความลบหลู่คุณท่านก็ตาม ยกตัวเทียมท่านก็ตาม นอกจากจะเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่ชั่วที่ไม่ดีที่ต่ำสกปรกจนทำให้เป็นความเศร้าหมองพรางความประภัสสรแห่งจิตไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ผู้มีปัญญาทั้งหลายที่รู้เห็นความเป็นผู้ลบหลู่คุณท่านและยกตัวเทียมท่านย่อมตำหนิ

ตำหนินี้แหละจะทำให้ผู้ถูกตำหนิคิดปรุงแต่งให้เป็นโทสะบ้าง โกรธบ้างและอาจถึงผูกโกรธบ้าง ล้วนเป็นอุปกิเลสที่จะจรเข้ามาบังความประภัสสรแห่งจิตทั้งสิ้นเป็นการปิดบังหลายซับหลายซ้อน โอกาสที่ความประภัสสรบริสุทธิ์งดงามจะปรากฏออกมาย่อมยากนัก เจ้าของจิตนั้นจึงยากจะเห็นค่าแห่งจิตของตน

ผู้ยกตนเทียมท่านจะต้องมีความคิดปรุงแต่งที่ยั่วยุนำมาก่อน ถ้าไม่มีความปรุงแต่งยั่วยุเพียงพอให้ยกตนเทียมท่านจะไม่มีการยกตนเทียมท่าน ผู้มีปัญญาแม้มีสติรู้ว่าตนกำลังคิดปรุงแต่งให้ยกตนเทียมท่าน จะพยายามหยุดความคิดปรุงแต่งอันไม่ถูกไม่ชอบนั้น

เพราะผู้มีปัญญาย่อมรู้ว่าความไม่ถูกไม่ชอบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการคิดการพูดการทำ ย่อมไม่ให้ผลดี ผู้มีปัญญาย่อมไม่ทำความไม่ถูกไม่ชอบนั้น

คนอื่นจะยั่วยุให้คิดพูดทำอย่างไร ถ้าตัวเองไม่นำคำยั่วยุนั้นไปยั่วยุให้คิดปรุงแต่งตามไป ย่อมไม่เกิดผล เช่นใครอื่นจะยั่วยุให้ยกตนเทียมท่านด้วยการยกยอปอปั้นต่างๆ แต่ถ้าตัวเองไม่คิดปรุงแต่งว่าตนเป็นจริงดังคำของเขาอื่น

คำของคนอื่นก็ทำให้เกิดผลไม่ได้ ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญที่สุด สร้างอุปกิเลสก็ได้ ทำลายอุปกิเลสก็ได้ ปรารถนาจะได้พบความปรภัสสรแห่งจิตตน จึงต้องระวังความคิดปรุงแต่งให้ดี

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10753

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: อิสสา อุปกิเลสข้อ ๗ ท่านแปลว่า “ริษยา”

คือเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้ ที่จริงความหมายของคำว่าอิสสาริษยา ก็ให้ความเข้าใจที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นความร้อน เพราะมีความหมายว่า “ทนอยู่ไม่ได้” สิ่งที่ต้องทนนั้นถ้าพอทนได้ก็แสดงว่าไม่ร้ายแรง หรือไม่หนักหนานัก

ความรู้สึกริษยาจนทนไม่ได้ ต้องให้ความร้อนอย่างยิ่ง และผู้ที่ได้รับความร้อนอย่างยิ่งนั้นก็มิใช่ผู้อื่น เป็นเจ้าตัวผู้มีความริษยาเอง

ปุถุชนเป็นผู้มีกิเลส จึงเป็นธรรมดาย่อมไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนให้เป็นไปอย่างผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสได้เสมอไป ความริษยาเป็นอาการหนึ่งของกิเลส ดังนั้นปุถุชนจึงย่อมยากที่จะควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิด ความริษยาของปุถุชนจึงย่อมเกิดได้เป็นระยะหรือเป็นครั้งคราว ต่อคนนั้นบ้างต่อคนนี้บ้าง

แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้มีปัญญาจึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้ความริษยาเกิดง่าย และเกิดแรง แม้ว่าจะไม่สามารถดับเสียได้จริงตลอดไป

ผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเกิดความริษยา คืออิสสา ที่มักเรียกปนกันไปว่า อิจฉานั้น เป็นผู้ที่ขาดเมตตา มีเมตตาไม่พอ โดยเฉพาะแก่ตนเอง เพราะเมื่อความริษยาก่อให้เกิด ความร้อนใจ ผู้ยอมให้ความริษยาเกิดขึ้น ก็เท่ากับทำใจตนให้ร้อน ไม่มีความสุข จึงเท่ากับไม่มีเมตตาต่อตนเองนั่นเอง

แม้ความริษยาจะเป็นการขาดเมตตาแก่ตนด้วย ต่อผู้อื่นด้วย แต่บางที่ความริษยาก็ให้ทุกข์แต่กับผู้มีความริษยาเองเท่านั้น มิให้ทุกข์ถึงผู้ถูกริษยาด้วย เพราะบางทีความริษยานั้น ก็มิอาจปรากฏออกเป็นการกระทำคำพูดได้ ต้องอัดแน่นเป็นความทุกข์ร้อนเร่าอยู่แต่ในหัวใจผู้มีความริษยาเท่านั้น จึงพยายามไม่ให้ความริษยาเกิดขึ้นเสียดีกว่า

ผู้มีปัญญารู้ว่า ความริษยาเป็นความทุกข์เป็นความเร่าร้อนแก่ตนแน่นอน ตรงกันข้ามกับเมตตา ที่ทำให้ความสุขความเย็นแก่ตนแนนอน และเมตตาก็ดับความริษยาได้ เช่นเดียวกับดับโกรธได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงอบรมเมตตา เพื่อให้เพียงพอสำหรับดับความโกรธและความริษยา

อิสสาและริษยานั้น จะเกิดได้ก็ต้องมีความคิดปรุงแต่งให้เกิด ถ้าคิดปรุงแต่งให้เมตตา ก็จะเกิดเมตตา ก็จะไม่เกิดอิสสา ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญนัก แม้ในการทำให้เกิดความริษยาหรือทำให้ไม่เกิด

เมื่อเห็นผู้ใดดี ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่รักที่ชอบพอ เป็นลูกหลาน ความคิดปรุงแต่งก็จะพาให้ความยินดีเกิดขึ้นด้วยในใจ ความคิดปรุงแต่งนั้นจะเป็นไปในทางชื่นชมยินดีในผู้ได้ดี เช่นว่า มีความดีความเหมาะควรต่างๆ สมกับความดีที่ได้รับนั้น จิตใจของผู้ปรุงแต่งเช่นนั้น ก็จะพลอยเป็นความอิ่มเอิบไปกับความคิดยินดีด้วยของตน กล่าวว่ายินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ให้ความสุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน เช่นเดียวกับความริษยา ที่ทำให้ความทุกข์แก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

เมื่อเห็นผู้ใดดี ถ้าผู้นั้นเป็นผู้อื่นหรือไม่ใช่ผู้เป็นที่รักที่ชอบพอ ความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาเพียงพอ ก็อาจพาให้เกิดความริษยา ความคิดปรุงแต่งนั้นอาจเป็นไปในทางไม่ชื่นชมยินดีไม่เห็นด้วยในผู้ได้ดี เช่นว่า ไม่มีความดีความเหมาะควรกับความดีที่ได้รับนั้น คนอื่นหรือตัวเองดีกว่า เหมาะควรกว่าเป็นต้น

จิตใจของผู้ปรุงแต่งเช่นนั้น จะเป็นทุกข์เร่าร้อนด้วยความคิดริษยาของตน กล่าวว่าความริษยานั้นให้ความทุกข์แก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน เช่นเดียวกับความพลอยยินดีด้วย ที่ให้สุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

ทั้งความพลอยยินดีด้วย และความริษยาเมื่อเห็นเขาได้ดี เกิดจากความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น แตกต่างกันที่เป็นความคิดปรุงแต่งที่ประกอบด้วยเมตตา และเป็นความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยเมตตา ทั้งเป็นความคิดปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา และเป็นความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอีกด้วย

ริษยาเป็นไฟทำให้ใจร้อนใจไหม้ มีผลเป็นควันตลบอยู่ ควันนั้นจะบดบังความประภัสสรแห่งจิต ผู้ที่มีความริษยาแรงเท่าใด การจะแลเห็นความแจ่มใจประภัสสรสวยงามแห่งจิต ย่อมเป็นไปไม่ได้เพียงนั้น

ความริษยาจะเกิดหรือไม่เกิด จะเกิดเบาหรือเกิดแรง ขึ้นอยู่กับความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น มิได้ขึ้นอยู่กับอะไรอื่น ผู้มีปัญญารู้ว่าจิตของตนมีความประภัสสรงดงาม แต่ควันแห่งไฟริษยาเป็นสิ่งหนึ่งที่จะปกคลุมไว้มิให้ปรากฏความประภัสสรงดงามล้ำค่าได้

ผู้มีปัญญาจึงพยายามควบคุมความคิดปรุงแต่ง ดับความคิดปรุงแต่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความริษยาเกิด ด้วยเมตตาและสันโดษ ผู้มีปัญญารู้จักสันโดษและโทษของความคิดปรุงแต่งเท่านั้น จึงจะได้รู้จักจิตอันแจ่มใสประภัสสร ซึ่งเป็นสมบัติแท้ๆ ของตนที่มีอยู่แล้ว

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10779

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 12:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: มัจฉริยะ อุปกิเลสข้อ ๘ ท่านแปลว่า “ตระหนี่”

ไม่คิดให้ดีจะรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ ที่ความตระหนี่จะทำให้เกิดความเศร้าหมองบังความประภัสสรแห่งจิต ตระหนี่เป็นความเหนียวแน่น ไม่อยากให้อะไรใครง่ายๆ จึงไม่น่าจะยังให้เกิดความเศร้าหมอง

แต่เมื่อพิจารณาก็ย่อมจะเห็นได้ว่า ความเหนียวแน่นคือความตระหนี่นั้น ก่อนจะเกิดขึ้นก็มีความคิดปรุงแต่งเป็นเหตุ คิดปรุงแต่งว่าสิ่งนั้นดีอย่างนั้น งามอย่างนี้ มีค่าอย่างโน้น น่าหวงน่าเป็นสมบัติส่วนตน น่าเสียดายที่จะให้ตกไปเป็นของผู้อื่น

สรุปลงเป็นความยึดมั่นเป็นตัวเราของเราที่ผู้อื่นจะมาเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ แม้จำเป็นจะต้องเสียสิ่งที่ถือว่าเป็นของตนไป ก็จะยึดไว้ดึงไว้ด้วยความหวงแหนไม่อยากสละให้ผู้ใดอื่นง่ายๆ นี่คือมัจฉริยะ ความตระหนี่ ที่จะเกิดจากความคิดปรุงแต่งเป็นตัวเราของเราด้วย เป็นความปรารถนาต้องการเป็นกามฉันท์ด้วย ล้วนทำให้เกิดความหวั่นไหวในจิตใจทั้งสิ้น จึงเปรียบดังกระเพื่อมแห่งน้ำ ที่ทำให้น้ำไม่ใส ทำให้เกิดหมอกควันห่อหุ่มความประภัสสรแห่งจิต

ความตระหนี่ ก็เช่นเดียวกับอุปกิเลสทุกข้อ คือเกิดจากความคิดปรุงแต่งเช่นกัน ดังนั้นการแก้ความตระหนี่จึงต้องแก้ที่ความคิดปรุงแต่ง คิดปรุงแต่งให้เอื้อเฟื้อ ให้รู้จักความเสียสละ ให้ถือเขาถือเราเพียงพอสมควร คิดปรุงแต่งให้เมตตา ให้กรุณา ให้รู้จักคิดว่า ความตระหนี่ทำให้เป็นคนคับแคบ คนเอื้อเฟื้อทำให้เป็นคนกว้างขวาง

คนคับแคบนั้น เมื่อถึงคราวคับขัน ก็ยากจะหาผู้ให้พึ่ง คิดปรุงแต่งให้เห็นคุณเห็นโทษของความไม่ตระหนี่และความตระหนี่ ย่อมจักสามารถแก้ไขความตระหนี่ให้หมดสิ้น หรือบันเทาเบาบางลงได้ เป็นการลดหมอกควันที่พรางกั้นความประภัสสรแห่งจิตมิให้ปรากฏความแจ่มใสงดงาม

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10848

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: มายา อุปกิเลสข้อ ๙ ท่านแปลว่า “มารยา เจ้าเล่ห์”

ความหมายละเอียดว่าแสร้งทำ เล่ห์เหลี่ยม ล่อลวง กล ไม่จริง เพียงมายาหรือมารยาก็ทำให้รู้สึกได้ด้วยกันแล้วว่า เป็นความไม่ดีร้อยแปดประการ และเพื่อให้เกิดมายา ก็จะต้องคิดปรุงแต่งในทางชั่วร้ายมากมาย เพื่อให้ตรงกันข้ามกับความจริง

ความจริงดี ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าไม่ดี หรือความจริงไม่ดี ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าดี เพื่อประโยชน์ใดก็ตาม ก็ต้องคิดปรุงแต่งใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อล่อลวงให้ผู้อื่นเห็นตาม ให้เห็นดีเป็นไม่ดี หรือเห็นไม่ดีเป็นดี

มายาจึงเกิดจากความคิดปรุงแต่งเล่ห์กลเพื่อล่อลวง ความคิดปรุงแต่งเช่นนั้นเป็นความต่ำทราม สกปรก และความสกปรกภายในนั้น ก็เช่นเดียวกับความสกปรกภายนอก เมื่อเกิดขึ้นภายนอก จับเข้าที่ใดก็ย่อมทำให้ความสะอาดอันเป็นสภาพเดิมของที่นั้นปรากฏไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นภายใน จับเข้าที่จิต ก็ย่อมทำให้ความประภัสสรแห่งจิตปรากฏไม่ได้ ถูกบดบังไว้ภายใต้ความสกปรก

มายาก็เช่นเดียวกับอุปกิเลสทั้งหลาย ทำให้เกิดได้ด้วยความคิดปรุงแต่ง ถ้าแสดงออกตามที่รู้สึกที่รู้จริงเห็นจริง รู้อย่างไร เห็นอย่างไร แม้อาจจะเป็นการรู้ผิดเห็นผิด แต่การแสดงออกตรงตามความรู้เห็นนั้น นั่นไม่ใช่มายา นั่นไม่ต้องอาศัยความคิดปรุงแต่ง เกิดขึ้นเองจากความจริงใจ ไม่ใช่จากความคิดปรุงแต่ง ด้วยเลห์เหลียม หลอกลวง อันเป็นความไม่ดี เป็นความสกปรกต่ำทราม

เพียงไม่คิดปรุงแต่งเลห์เหลี่ยมเพื่อหลอกลวงเท่านั้น อุปกิเลสความเศร้าหมอง คือ มายาก็จะไม่เกิด เครื่องพรางชั้นหนึ่งของจิตก็จะไม่ถูกสร้างขึ้น ความประภัสสรแห่งจิตก็จะปรากฏได้บ้าง แม้อุปกิเลสอื่นยังมีเป็นเครื่องพรางจิตอยู่

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10855

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: สาเถยยะ อุปกิเลสข้อ ๑๐ ท่านแปลว่า “โอ้อวด”

ความโอ้อวดเกิดจากความคิดปรุงแต่ง หาทางแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญในทางต่างๆ ของตน เช่นความมั่งมี ความใหญ่โต มีอำนาจวาสนา หรือความฉลาดรอบรู้เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญจริงก็ตามไม่จริงก็ตาม

ความสำคัญนั้นจะปรากฏเป็นที่ล่วงรู้ของผู้อื่นก็ตาม แต่ถ้าเจ้าตัวไม่คิดปรุงแต่งหาทางแสดงออกก็ไม่เป็นการโอ้อวด ไม่เป็นอุปกิเลส ต้องคิดปรุงแต่งเพื่อโอ้อวดเท่านั้นจึงจะเป็นอุปกิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองที่ห่อหุ่มจิต และพรางความประภัสสรของจิต

เพียงไม่คิดปรุงแต่งเพื่อโอ้อวดสิ่งที่มีอยู่แล้วจริงก็ตาม หรือไม่จริงก็ตาม เพียงเท่านั้นสาเถยยะคืออุปกิเลสข้อ ๑๐ ก็จะไม่เกิด ความเศร้าหมองก็จะไม่เกิดเป็นดั่งฝุ่นละอองจับของสะอาดผ่องแผ้ว คือ จิตที่ประภัสสร ให้ปรากฏหมองมัว


:b44: ถัมภะ อุปกิเลสข้อ ๑๑ ท่านแปลว่า “หัวดื้อ”

อันความหัวดื้อหรือความดื้ออย่างรุนแรงเป็นความไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง จะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องใด สิ่งใด ก็เป็นไปตามความต้องการจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อเท่านั้น ไม่ฟังเหตุผลใดๆ ไม่คำนึงถึงเหตุผลเลย

จะคิดปรุงแต่งแต่ว่าจะต้องไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อ ไม่ทำตามและก็ดื้อเท่านั้น เป็นการไม่ใช้ปัญญาคิด หรือไม่มีปัญญาพอจะคิด จึงเป็นความโง่ความมืดแห่งปัญญา

ถ้ามีเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว แม้จะไม่เชื่อคำใคร ไม่เชื่อในเรื่องใด สิ่งใด ไม่เรียกว่าหัวดื้อ ไม่เป็นถัมภะ คือไม่เป็นอุปกิเลส ตรงกันข้าม ถ้ามีเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ยังโลเลเชื่อคนนั้นบ้างเชื่อคนนี้บ้าง ทำตนเป็นคนไม่ดื้อ ก็ไม่ถูกต้อง เป็นคนไม่มีปัญญาไม่มีเหตุผล

การแก้โรค “หัวดื้อ” ต้องใช้ปัญญา ใช้เหตุผล ใช้ปัญญาให้ถูกต้องเพียงพอ ก็เปรียบดังมีแสงสว่างเพียงพอ ตรงกันข้ามกับใช้เหตุผลใช้ปัญญาไม่เพียงพอ ก็เปรียบดังมีแสงสว่างไม่เพียงพอ มีความมืดมาก

การใช้ปัญญาใช้เหตุผลหรือไม่ใช้ปัญญาไม่ใช้เหตุผล ก็ขึ้นอยู่กับความคิดปรุงแต่ง ใช้ความคิดปรุงแต่งให้เบาปัญญาหาเหตุผลไม่ได้ เป็นการสร้างความมืดขึ้นพรางความประภัสสรแห่งจิตตน

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10876

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: สารัมภะ อุปกิเลสข้อ ๑๒ ท่านแปลว่า “แข่งดี”

ความหมายของคำว่า “แข่งดี” เป็นคนละอย่างกับ “ตีเสมอ” เมื่อพูดถึงตีเสมอ จะได้ความรู้สึกถึงความไม่มีสัมมาคารวะ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง หยาบคาย ส่วนแข่งดี เป็นเพียงความทะเยอทะยานที่อาจประกอบด้วยขาดอุปกิเลส ข้อริษยาด้วยได้ ไม่ถึงกับแสดงความหยาบคาย ขาดสัมมาคารวะ เช่นตีเสมอ

แต่ถึงเช่นนั้น ความแข่งดีก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งที่ไม่ดี ให้ความร้อนแก่ตนเองก่อน ซึ่งเป็นเรื่องของใจ ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของกายและวาจา เมื่อต้องการแข่งดีกับผู้ใดก็จะต้องพูดต้องทำ เพื่อให้บรรลุถึงความมุ่งหมาย อันจะเป็นการพูดการทำที่ไม่เลือกความควรไม่ควร หรือความถูกความผิด เพราะมีความต้องการแข่งดีเท่านั้น เป็นเหตุผลักดัน ไม่มีเหตุผลอื่น อาจเอาชนะความรู้สึกแข่งดีได้

เมื่อความรู้สึกแข่งดีเกิดขึ้นกับผู้ใด ความรู้ถูกรู้ผิดของผู้นั้น ย่อมดับไป ปัญญาก็มีไม่พอจะพิจารณา เป็นความมืดไปหมด ความแข่งดีจะไม่เกิด ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่งขึ้นมาว่า ทำไมเขาจะต้องสำคัญกว่าเรา ใหญ่กว่าเรา ดังกว่าเรา เราะต้องสำคัญกว่า ใหญ่กว่า ดังกว่าเขา

เราจะต้องสำคัญกว่า ใหญ่กว่า ดังกว่าให้ได้ และความคิดปรุงแต่งเช่นนี้ จะประกอบพร้อมด้วยความขุ่นเคืองขัดใจ หมายมั่นจะต้องกดอีกฝ่ายหนึ่งให้ต่ำลงกว่าตนให้จงได้ นี่คือความแข่งดี ที่ไม่ใช่ความดี

ก่อนถึงเวลาที่จะสมดังมั่นหมาย ซึ่งอาจไม่ถึงเวลานั้นเลยก็ได้ ความคิดปรุงแต่งเพื่อแข่งดีจะไม่หยุดยั้ง จะยังให้ร้อนระอุ ให้มืดมัวด้วยควันไฟของความมุ่งมั่นแข่งดี เป็นอีกหนึ่งของเครื่องพรางความประภัสสรแห่งจิตที่เป็นสมบัติล้ำค่าของทุกคน

อันผู้ที่จะเกิดความคิดปรุงแต่เพื่อแข่งดีนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีความมั่นใจในตนเองว่ามีความดีอยู่แล้ว เช่นคนดีทั้งหลาย ทำนองเดียวกับคนมีปมด้อย นี่มิได้หมายความว่าให้ยินดี พอใจ จะดีอยู่เท่าที่เป็นตลอดไป

ความดีเป็นสิ่งควรเพิ่มพูนไม่หยุดยั้ง แต่การเพิ่มพูนความดี ยิ่งวันยิ่งทวีความเยือกเย็นเป็นสุขสว่างไสวในจิตใจ การแข่งดียิ่งวันยิ่งทวีความร้อนเร่า มืดมิด ผู้ใดคิดว่า ตนเองกำลังทำความดี แต่มีจิตใจเร่าร้อน หาความสงบสุขยาก ก็พึงเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า ตนมิได้กำลังทำความดี อาจเป็นเพียงกำลังคิดแข่งดีเท่านั้น

อันความคิดแข่งดีนั้น มีมากมายหลายระดับ ถ้าคิดแข่งดีกับผู้มีระดับไม่แตกต่างจากตนมากนัก ความเร่าร้อนจากความคิดนั้นก็จะไม่มากมาย ไม่ผลักดันให้พูดให้ทำอย่างรุนแรง เลวร้ายมากมาย

แต่ถ้าคิดแข่งดีกับผู้มีระดับ แตกต่างจากตนมากเพียงไร ความเร่าร้อนก็จะรุนแรงมากมายเพียงนั้น ผลักดันให้พูดชั่ว ทำชั่ว วางแผนชั่ว เพื่อดำเนินไปสู่ความสำเร็จของตน อันผลที่ได้จากการแข่งดีนั้น แม้เจ้าตัวผู้คิดแข่งดีจะถือว่าเป็นผลดี แต่ความจริงมิใช่

ความคิดแข่งดี เน้นความคิดที่ไม่ดี ท่านจึงจัดเป็นอุปกิเลสที่จะปิดกั้นความประภัสสรแห่งจิต และจิตที่ปรากฏความประภัสสรนั้น เป็นสิ่งหาค่ามิได้อย่างแท้จริง จิตที่ปรากฏความประภัสสรเต็มที่ให้เจ้าของเห็นประจักษ์แก่ตัว ย่อมเป็นความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง

เมื่อใดเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมาว่า เขาต้องดีกว่าเราไม่ได้ เมื่อนั้นให้รู้ว่านั่นคือ กำลังคิดแข่งดี ซึ่งไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความผิด ความไม่ชอบ พึงพยายามหยุดความคิดนั้นเสียให้ได้ ถ้าปรารถนาจะได้มีโอกาสเห็นจิตที่ประภัสสรของตนคือ มีโอกาสได้พ้นทุกอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10904

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: มานะ อุปกิเลสข้อ ๑๓ ท่านแปลว่า “ถือตัว”

มานะที่เป็นอุปกิเลสมิได้หมายถึงความพยายาม ความตั้งใจจริงเป็นความดี แต่มานะความถือตัวเป็นความไม่ดี อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความถือตัวที่ไม่ดีนั้นเป็นคนละอย่างกับความถูกต้องในการวางต้ว

แม้ว่าการวางตัวอย่างถูกต้องบางทีจะเหมือนเป็นถือตัว แต่ความจริงไม่เหมือนกัน ความไม่ถือตัวมิได้หมายถึงอะไรก็ได้ ใครจะปฏิบัติต่อตนผิดอย่างไรก็ได้ หรือตนจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไรก็ได้ ไม่เช่นนั้น สมมติบัญญัติยังมีอยู่ ความถูกต้องตามสมมติบัญญัติต้องรักษาไว้ ต้องระวังให้ถูกต้อง

ไม่ใช่ว่าจะถือว่าเป็นผู้ไม่มีมานะความถือตัว คือผู้ต้องยอมให้ผู้น้อย ไม่มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ หรือไม่ใช่จะถือว่าผู้ไม่มีมานะความถือตัวก็คือ แม้ตนจะเป็นผู้ใหญ่ก็นอบน้อมต่อผู้น้อย ราวกับเป็นผู้น้อยยิ่งกว่า

มานะความถือตัวเป็นเรื่องของใจ ใจที่อบรมแล้วอย่างถูกต้องตามธรรมของพระพุทธศาสนานั่นแหละที่ไม่มีมานะถือตัว ส่วนการแสดงเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสมมติบัญญัติ ที่ผู้เข้าใจไม่ถูกเพียงพออาจเห็นเป็นมานะได้ จึงเป็นเรื่องเฉพาะตนอย่างแท้จริงและต้องเป็นความรู้สึกอย่างจริงใจของตนเองด้วยว่า ตนเองมีมานะเพียงไร

ไม่ใช่ว่าปฏิบัติอย่างหนึ่งและปกปิดความจริงใจบอกว่าใจไม่มีมานะ ปฏิบัติเพื่อความเหมาะสมเท่านั้น การยอมรับกับตนเองอย่างถูกต้องอย่างจริงใจนั่นแหละสำคัญ

มานะความถือตัวจะเกิดก็ต่อเมื่อคิดปรุงแต่งว่าเราต้องถือตัวเราไว้ เพราะเราดีกว่าเขา เดี๋ยวเขาจะนึกว่าเราเป็นคนระดับเดียวกับพวกเขาจะดูถูกได้ และก็อาจจะคิดปรุงแต่งยืดยาวต่อไปในทำนองนี้ได้อีกมากมาย ยิ่งคิดปรุงแต่งไปในทำนองดังกล่าวมากอีกเท่าไร มานะถือตัวก็จะยิ่งมากขึ้นแรงขึ้นเพียงนั้น ให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ความร้อนความมืดแห่งสติปัญญาพรางความประภัสสรแห่งจิตเพียงนั้น

ความคิดปรุงแต่งเป็นเหตุให้เกิดมานะความถือตัวจึงต้องระวังความคิดปรุงแต่งให้ดีที่สุด พยายามยับยั้งที่จะไม่ให้มีความคิดปรุงแต่งให้มากที่สุด เมื่อบังคับไม่ได้จริงแล้วก็พึงพยายามอย่าคิดปรุงแต่งที่จะนำให้เกิดอุปกิเลส เช่นมานะถือตัวเป็นต้น

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10923

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: อติมานะ อุปกิเลสข้อ ๑๔ ท่านแปลว่า “ดูหมิ่นท่าน”

ก็เข้าใจได้ชัดแล้วว่าความรู้สึกหรือการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นไม่ใช่สิ่งดี เป็นที่ตำหนิของคนทั่วไป ดูหมิ่นกับดูถูกก็ทำนองเดียวกัน ผู้ที่คิดดูหมิ่นหรือแสดงอาการดูหมิ่นผู้อื่นก็ต้องเริ่มจากความคิดปรุงแต่งว่าผู้อื่นต่ำต้อยกว่าตนต่างๆ

เป็นต้นว่า ฐานะความรู้ความสามารถ ชาติตระกูล เมื่อเกิดความคิดปรุงแต่งเช่นนี้ขึ้น ต้องพยายามหยุดให้ได้ จึงจะไม่เกิดความรู้สึกดูหมิ่นติดตามมา เปรียบดังพัดพาหมอกควันที่เริ่มขึ้นมิให้ผ่านเข้าปิดบังความประภัสสรแห่งจิตเพิ่มขึ้นกว่าที่มีอยู่เพราะความคิดปรุงแต่ง อันเป็นอุปกิเลสข้ออื่นๆ

ผู้มีความรู้ความสามารถหรือสติปัญญาหรือฐานะชาติตระกูล รู้แน่ในความเป็นจริงเช่นนั้นของตน จักไม่ทะนงเห่อเหิม เห็นตนวิเศษกว่าผู้ใดผู้หนึ่งแล้วดูหมิ่นผู้นั้น

ผู้ไม่มีสมบัติดังกล่าว แต่ปรารถนาจะให้เขายกย่องว่ามี นั่นแหละที่จะคิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานาว่า คนนั้นคนนี้ต่ำต้อยกว่าตน แล้วก็ดูหมิ่นเขาแสดงออกให้ปรากฏ จะแก้ไขได้ด้วย การอย่านำตนไปเปรียบกับผู้อื่น

ตั้งใจทำดีเท่านั้น นั่นแหละจึงจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะได้พ้นทุกข์ ได้ประจักษ์ชัดเจนในความประภัสสรแห่งจิตตน

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10973

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: มทะ อุปกิเลสข้อ ๑๕ ท่านแปลว่า “มัวเมา”

คนเมาเหล้าจนไม่มีสติ สามารถทำความผิดได้โดยไม่รู้ตัว ผู้มัวเมาก็เป็นเช่นเดียวกัน ความหลงในลาภยศสรรเสริญสุข หรือความหลงในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จนลืมความถูกความควร คือความมัวเมานี้ เป็นอุปกิเลสที่เกิดขึ้นจากความคิดปรุงแต่งให้เพลิดเพลิน เห็นลาถยศสรรเสริญสุขเป็นความสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต

จึงทำทุกสิ่งได้ไม่ว่าถูกหรือผิดควรหรือไม่ควรเพื่อให้ได้มา คนเมาเหล้าเมื่อสร่างเมาแล้วยังมีโอกาสที่จะมีภาวะฐานะเช่นเดิมได้ แต่คนเมา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่มีโอกาสเช่นนั้น เมื่อความมัวเมาเกิดขึ้นแล้ว ความเสื่อมเสียย่อมเกิดตามมา ทั้งในความรู้ความเห็นของคนอื่นทั้งหลาย

โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดของตัวเองจะมืดมัวปิดบังความประภัสสรแห่งจิตได้ และความคิดปรุงแต่งว่าดีว่าสนุกว่าสบายนั่นเอง ทำให้ติดทำให้มัวเมาให้ปรารถนาต้องการ ผู้มีปัญญาจึงพยายามหยุดความคิดปรุงแต่งนั้น เพื่อให้พ้นจากความมัวเมา เพื่อให้ปรากฏความประภัสสรแห่งจิต



:b44: ปมาทะ อุปกิเลสข้อ ๑๖ ท่านแปลว่า “เลินเล่อ”

คือประมาทนั่นเอง ความประมาทเลินเล่อก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งเช่นกันเพียงง่ายๆ คือคิดปรุงแต่งว่าไม่เป็นไรเท่านั้นก็ประมาทได้แล้ว ที่ชอบคิดกันก็คือไม่เป็นไรเรามีบุญมาก หรือไม่เป็นไรเราไม่ได้ทำไม่ดี หรือไม่เป็นไรเราต้องสบายไปทุกชาติ ดังนี้ เป็นต้น

นี่คือประมาทที่ท่านกล่าวว่า เป็นทางแห่งความตาย ที่ชัดๆ ก็คือความมัวเมาบังปัญญา บังความประภัสสรแห่งจิต จึงพึงทำลายความประมาทเลินเล่อเสีย ด้วยวิธีอย่าคิดปรุงแต่งว่า ไม่เป็นไร ไปเสียหมด

:b50: :b49:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10990

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2012, 13:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


กิเลส ๓ กองใหญ่ เครื่องทำให้ปรากฏความเศร้าหมองบังความประภัสสรแห่งจิต
คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็คือ การประกอบกันของอุปกิเลส ๑๖ ข้อ


โลภะ คือ ความโลภไม่สม่ำเสมอ เพ่งเล็ง และตระหนี่

โทสะ คือ ร้ายกาจ โกรธ ผูกโกรธไว้

โมหะ คือ ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอคือยกตัวเทียมท่าน
มารยาคือ เจ้าเลห์ โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่นท่าน มัวเมาและเลินเล่อ


แม้ทำลายกิเลสทั้งกองพร้อมกันไม่ได้ การทำลายอุปกิเลสที่ละข้อเป็นวิธีให้สามารถทำลายกิเลสทั้งกองได้ทุกกอง ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะถูกทำลายหมดสิ้นได้เมื่อทำลายอุปกิเลสหมดสิ้น แม้เพียงที่ละข้อสองข้อ

จิตเราทุกคนบริสุทธิ์ประภัสสรอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้เห็นกันทั้งๆ ที่ปรารถนาจะเห็นเที่ยวแสวงหา เพราะไม่ยอมรับรู้ความจริงว่าตนเองไม่เคยหยุดยั้งการสร้างอุปสรรคขวางกั้นไว้ตลอดเวลา

ความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสทั้งปวงที่ไม่เคยหยุดยั้งนั่นแหละ คือเครื่องขวางกั้นบังจิตที่ประภัสสรเสียหมดสิ้น เพียงหยุดความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสเสียบ้าง ความประภัสสรแห่งจิตก็จะปรากฏให้เห็นได้บ้าง

ยิ่งหยุดความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสได้มากเพียงไร ความประภัสสรแห่งจิตก็จะปรากฏให้เห็นได้มากเพียงนั้น ถ้าหยุดความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ความประภัสสรแห่งจิต ก็จะปรากฏเจิดจ้าชัดเจนเต็มที่ มีความสว่างไสวไม่มีเปรียบ

ไม่มีพลังอำนาจแม้วิเศษเพียงใด จะสามารถบังคับความประภัสสรแห่งจิตของผู้ไม่มีความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสทั้งปวงได้แล้วจริง

ผู้มีปัญญาปรารถนาจะได้เห็นแสงประภัสสรแห่งจิตให้ตื่นตาตื่นใจ พึงเริ่มใช้สติปัญญาให้เต็มที่หยุดยั้งความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสเถิด ใช่ว่าจะยากเกินความพยายามก็หาไม่ ใช่ว่าจะเห็นผลนานช้าก็หาไม่

ถ้าทุกคนพากันตั้งใจทำความประภัสสรแห่งจิตของตนให้ปรากฏสว่างรุ่งเรืองยิ่งขึ้นทุกทีๆ แม้จะยังไม่ถึงกับปรากฏเต็มที่ โลกก็จะหยุดยุ่งเมืองก็จะหยุดร้อน ทั้งที่กำลังยุ่งกำลังร้อนยิ่งขึ้นทุกเวลา

อำนาจความประภัสสรแห่งจิตนี้มหัศจรรย์นัก มหัศจรรย์จริง ไม่เพียงจะดับทุกข์ดับร้อนให้ความเย็นแก่ตนเองเท่านั้น แต่สามารถดับความร้อนดับอันตรายของสถาบันชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ ของเราได้ด้วย

เราทุกคนผู้เป็นคนดีมีปัญญา มีความรู้พระคุณยิ่งใหญ่แท้จริงนัก ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามารถจะแสดงความกตัญญูกตเวทีตอบสนองได้ ด้วยวิธีที่ทุกคนสามารถ คือคั้งใจทำสติใช้ปัญญาเต็มที่ ที่มีอยู่เพียงเพื่อหยุดความคิดปรุงแต่งอุปกิเลสทั้งปวงให้ได้ แม้ที่ละเล็กที่ละน้อย ที่ละข้อสองข้อ

ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ความอกตัญญูจึงเป็นเครื่องหมายของคนชั่ว
มาเป็นคนดีกันเถิด อย่าเป็นคนชั่วเลย


: แสงส่องใจ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
: สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร


:b47: :b47:

กระทู้จากบอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=11012

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร