วันเวลาปัจจุบัน 06 พ.ค. 2025, 04:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 20:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขันธ์ 5
ส่วนประกอบ 5 อย่างของชีวิต

ตัวสภาวะ


พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนปะกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันเข้าแล้ว ตัวตนแท้ๆของสิ่งทั้งหลาย
ไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆที่มาประกอบกันเขานั้นออกไปให้หมดก็จะไม่พบตัวตนของสิงนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่ายๆ
ที่ยกขึ้นอ้างบ่อยๆคือ รถ เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกัน
ว่า “รถ” (สํ.ส. 15/554/198) แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้
มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหาก
จากส่วนประกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบ
เหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้น โดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆต่อๆไปอีก
และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะ
มีส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมเข้าด้วยกัน

เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความ
เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆจึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุ
และจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ

การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ *
แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ 5 ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร

โดยวิธีแบ่งแบบขันธ์ 5 (The Five Aggregates) พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้ง
องคาพยพทั้งหมดที่บัญญัติเรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ 5 ประเภท หรือ 5 หมวด
เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์

เบญจขันธ์หรือขันธ์ 5 คือ


1. รูป (Corporeality) ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมด
ของร่างกาย หรือสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆของสสาร
พลังงานเหล่านั้น

2. เวทนา (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ ความรู้สึกสึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจาก
ผัสสะทางประสาททั้ง 5 และทางใจ

3. สัญญา (Perception) ได้แก่ ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมาย
ลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์ ** นั้นๆ ได้

4. สังขาร (Mental Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่ องค์ประกอบ
หรือคุณสมบัติต่างๆของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิด
ในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของ กรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา *** ปัญญา โมหะ โลภะ โทสะ มานะ ทิฐิ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น รวมเรียก
ง่ายๆว่า เครื่องปรุงของจิต เครื่องปรุงของความคิด หรือเครื่องปรุงของกรรม

5. วิญญาณ (Consciousness) ได้แก่ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง 5 และทางใจคือ
การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 20:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขยายความที่มีเครื่องหมายดอกจัน คห.บน

* แบ่งอย่างกว้างๆว่า นามและรูป หรือนามธรรม กับ รูปธรรม แต่ตามแนวอภิธรรมนิยมแบ่งเป็น 3 คือ จิต เจตสิก และรูป ถ้าเทียบกับขันธ์ 5 จิต =วิญญาณขันธ์, เจตสิก=เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์
และสังขารขันธ์, รูป=รูปขันธ์

** คำว่า อารมณ์ ในบทความนี้ ทุกแห่งใช้ในความหมายทางธรรมเท่านั้น คือ หมายถึงสิ่งที่จิตรับรู้หรือสิ่งที่
ถูกรับรู้โดยอาศัยทวารทั้ง 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ (ความนึกคิดต่างๆ) ไม่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันทั่วๆไปในภาษาไทย

*** อุเบกขา เป็นธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่ง และมักมีผู้เข้าใจความหมายสับสนผิดพลาดอยู่เสมอ จึงควรศึกษา
ให้เข้าใจชัด อย่างน้อยต้องสามารถแยกอุเบกขาในหมวดสังขาร ซึ่งตรงกับ ตัตรมัชฌัตตตา ออกจากอุเบกขาในหมวดเวทนา ซึ่งตรงกับ อทุกขมสุข อันเป็นความรู้สึกเฉยๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 21:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขันธ์ 4 ข้อหลัง ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์ มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อเห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อป้องกันความสับสน * ดังนี้

สัญญา** เป็นความรู้จำพวกหนึ่ง หมายถึง การหมายรู้ หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะ
ทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมุติบัญญัติต่างๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดง เบา ทุ้ม แหลม อ้วน ผอม โต๊ะ ปากกา หมู หมา แมว คน เขา เรา ท่าน เป็นต้น

การหมายรู้หรือกำหนดรู้นี้ อาศัยการจับเผชิญ หรือ การเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่ากับ
ประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ ถ้าประสบการณ์ใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่น พบเห็นคนหรือสิ่งของ
ที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้ว ดังตัวอย่าง นาย ก. รู้จักนายเขียว ต่อมาอีกเดือนหนึ่ง
นาย ก. เห็นนายเขียวอีก และรู้ว่าคนที่เขาเห็นนั้นคือนายเขียว อย่างนี้เรียกว่า จำได้ (พึงสังเกตว่า
ในที่นี้ “จำได้” ต่างจาก “จำ”) ถ้าประสบการณ์ใหม่ ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอา
ประสบการณ์หรือความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วนั่นเอง มาเทียบเคียงว่าเหมือนกันและไม่เหมือนกันในส่วนไหน
อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือตามที่ตนกำหนดเอาว่าเป็นนั้น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นี่
อย่างนี้เรียกว่า กำหนดหมายหรือหมายรู้ การหมายรู้เช่นนี้มีหลายชั้น หมายรู้ไปตามความตกลงอันเนื่อง
ด้วยความรู้สามัญบ้าง เช่นว่า เขียว ขาว เหลือง แดง เป็นต้น

ตามนิยมของโลก ของสังคม ของวัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้นบ้าง เช่นว่า อย่างนี้สุภาพ อย่างนั้นสบาย อย่างนั้นถูกธรรมเนียม อย่างนี้ผิดธรรมเนียม เป็นต้น
ตามนิยมและปรุงแต่งจำเพาะตนบ้าง เช่นว่า อย่างนี้สวย อย่างนั้นน่าชม อย่างนี้น่าหมั่นไส้ เป็นต้น
หมายรู้สองชั้น (แบบสัญลักขณ์) บ้าง เช่นว่า สีเขียวแดงหมายถึงมหาวิทยาลัย แห่งหนึ่ง เสียงระฆังสองครั้งหมายถึงการกินอาหาร ตลอดจนตามการศึกษาอบรมในทางธรรม เช่น หมายรู้ในภาวะที่ไม่เที่ยง หมายรู้ในภาวะที่เป็นอนัตตา เป็นต้น มีทั้งหมายรู้สามัญและความหมายรู้ที่ละเอียดซับซ้อน (คือสัมพันธ์กับขันธ์อื่นมาก
ขึ้น) มีทั้งหมายรู้เกี่ยวกับรูปธรรมและหมายเกี่ยวกับนามธรรม

คำที่แปลสัญญากันว่า จำได้ กำหนดได้ หมายรู้ กำหนดหมาย จำหมาย สำคัญหมาย ล้วนแสดงแง่ต่างๆ
แห่งความหมายของกองสัญญานี้ทั้งสิ้น

พูดเพื่อเข้าใจกันอย่างง่ายๆ สัญญาก็คือกระบวนการเรียกเก็บรวบรวม และสั่งสมข้อมูลของการเรียนรู้ และ
วัตถุดิบสำหรับความคิดนั่นเอง

สัญญาเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างมาก แต่เวลาเดียวกัน ก็มีโทษมิใช่น้อย เพราะมนุษย์จะยึด
ติดตามสัญญาทำให้สัญญากลายเป็นเครื่องกีดกั้นกำบังตนเองและห่อหุ้มคลุมตัวสภาวะไว้ ทำให้ไม่สามารถ
เข้าถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไป


เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา ขอแยกสัญญาออกอย่างคร่าวๆเป็น 2 ระดับ คือ สัญญาอย่างสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมัน อย่างหนึ่ง และสัญญาสืบทอดหรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง “ปปัญจสัญญา” อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ซับซ้อนพิสดารด้วยแรงผลักดันของตัณหามานะและทิฏฐิ ซึ่งเป็นสังขารชั้นนำในฝ่ายร้าย อีกอย่างหนึ่ง
การแยกเช่นนี้ จะช่วยให้มองเห็นความหมายของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์
ระหว่างสัญญากับขันธ์อื่นภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 21:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


* คำอธิบายนี้ อาศัยเค้าความจากบาลีและอรรคถกถาบางแห่งเทียบเคียง โดยเฉพาะ
ม.มู.12/494/536 ม.อ. 2/462 วิสุทธิ. 3/1,23 สํ.ข.17/159/106 สํ.อ.2/356

** คัมภีร์ชั้นอรรถกถาแสดงลักษณะหน้าที่เป็นต้นของสัญญาไว้ว่า สัญญา มีลักษณะจำเพาะ คือ
สัญชานน์ (จำได้,รู้จัก)มีหน้าที่ทำเครื่องหมายไว้เป็นปัจจัยแห่งการจำได้ (หรือรู้จัก) ต่อไปว่า “นั่นคือสิ่ง
นั้น” เหมือนดังช่างไม้เป็นต้น ทำเครื่องหมายไว้ที่วัสดุมีตัวไม้เป็นอาทิ มีผลปรากฏ คือ เกิดความยึดถือไปตาม
เครื่องหมายที่กำหนดเอาไว้ เหมือนพวกคนตาบอดคลำช้าง ยึดถือไปตามเครื่องหมายที่ตนจับได้ (ว่าช้างเป็น
อย่างนั้นๆ) มีปทัฏฐานคืออารมณ์ตามที่ปรากฏ เหมือนลูกเนื้อเห็นหุ่นคนทีผูกด้วยมัดหญ้า สำคัญหมายว่าเป็นคน
จริงๆ (วิสุทธิ.335) ถ้าจะเทียบกับหลักจิตวิทยาฝ่ายตะวันตก สัญญาจะครอบคลุมเรื่อง perception
conception และ recognition (แต่ไม่ใช่ memory ทั้งหมด)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 21:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิญญาณ แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้ง หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้นหรือความรู้ที่เป็นตัวยืน เป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่นๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้นและความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือเป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น เมื่อได้ยินเป็นต้น (เกิดจากวิญญาณ) จึงจะรู้สึกชื่นใจ หรือบีบคั้นใจ (เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (สัญญา) จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่างๆ (สังขาร) เช่นเห็นท้องฟ้า (วิญญาณ) ชอบใจฟ้านั้น อยากเห็นฟ้านั้นนานๆ ไม่อยากให้เวลาผ่านไป โกรธชายคาที่บังไม่ให้เห็นฟ้านั้น
เต็มที่ คิดหาวิธีที่จะให้ได้นั่งดูฟ้านั้นได้สบายๆ ชัดเจนและนานๆ ฯลฯ (สังขาร)

ที่รู้ตาม คือรู้ควบไปตามกิจกรรมของขันธ์อื่นๆ เช่น รู้สึกสุขสบาย (เวทนา)ก็รู้ว่าเป็นสุข (วิญญาณ;พึงสังเกตว่า รู้สึกสุข กับรู้ว่าเป็นสุข ไม่เหมือนกัน) รู้สึกบีบคั้นใจไม่สบาย (เวทนา) ก็รู้ว่าเป็นทุกข์ (วิญญาณ) หมายรู้ว่าอย่างนี้เป็นสุข อย่างนั้นเป็นทุกข์ (สัญญา) ก็รู้ไปตามนั้น เมื่อคิดนึกปรุงแต่งตั้งเจตน์จำนงไปอย่างใด (สังขาร) ก็ย่อมมีความรู้ควบอยู่พร้อมกันด้วยโดยตลอด กระแสความรู้ยืนพื้นซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปกับนามขันธ์อื่นๆหรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ นี้เรียกว่า วิญญาณ



ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยความเข้าใจเกี่ยวกับวิญญาณคือ วิญญาณ เป็นการรู้ความต่างจำเพาะ รู้ความหมายจำเพาะ หรือรู้แยกต่าง ความหมายนี้พึงเข้าใจด้วยตัวอย่าง เช่น เมื่อเห็นผืนผ้าลาย ที่ว่าเห็นนั้น แม้จะไม่ได้กำหนดหมายว่าอะไรเป็นอะไร ก็ย่อมเห็นลักษณะอาการเช่นสีสัน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันเป็นพื้นอยู่พร้อมด้วยเสร็จ นี่เป็นความรู้ขั้นวิญญาณ เพราะวิญญาณรู้เห็นความแตกต่างนั้นอยู่ สัญญาจึงหมายรู้อาการที่แตกต่างกันนั้นได้ว่า เป็นนั่น เป็นนี่ เช่นเป็นเขียว ขาว แดง เป็นต้น หรืออย่างเมื่อรับประทานผลไม้ ถึงจะไม่กำหนดหมายว่า
เป็นรสหวาน รสเปรี้ยว ก็รู้รสที่หวาน ที่เปรี้ยวนั้น ซึ่งแตกต่างกัน และแม้ในรสที่เปรี้ยวหรือหวานด้วยกัน แม้จะไม่กำหนดหมายว่าเป็นรสเปรี้ยวมะม่วงเปรี้ยวมะปราง เปรี้ยวมะขาม เปรี้ยวมะนาว เปรี้ยวสับปะรด หรือหวานกล้วยหอม หวานกล้วยน้ำว้า หวานกล้วยไข่ หวานแอปเปิ้ล เมื่อลิ้มก็ย่อมรู้รสที่ต่างจำเพาะนั้น ความรู้อย่างนี้คือวิญญาณ เป็นความรู้ยืนพื้น เมื่อรู้แล้วนามขันธ์อื่นจึงจะทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น รู้สึกอร่อยไม่อร่อย
(เวทนา) จำได้หมายรู้ว่ารสหวานอะไร รสเปรี้ยวอะไร (สัญญา) เป็นต้น

ส่วนในแง่ที่ว่ารู้ความหมายจำเพาะนั้นอธิบายสั้นๆว่า เมื่อเกิดวิญญาณขึ้นคือ เห็น ได้ยินเป็นต้น ว่าที่จริงแล้ว
จะเป็นการเห็น การได้ยินจำเพาะบางแง่ บางความหมายของสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเท่านั้น

พูดอีกนัยหนึ่งว่า จะเป็นการเห็น การได้ยินตามความหมายจำเพาะแง่จำเพาะอย่างที่เราใส่ให้แก่สิ่งนั้น
ทั้งนี้ สุดแต่สังขารที่เป็นปัจจัยให้วิญญาณนั้นเกิดขึ้น ด้วยอย่างเช่น ในท้องทุ่งแห่งหนึ่ง เป็นที่โล่งกว้าง
มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ต้นเดียวเป็นต้นใหญ่มาก แต่มีผลอยู่เพียงไม่กี่ลูก และใบห่าง แทบจะอาศัยร่มเงาไม่ได้
มีชาย 5 คน เดินทางมาถึงต้นมะม่วงนั้นในโอกาสต่างๆกัน
คนหนึ่ง วิ่งหนีสัตว์ร้าย
คนหนึ่ง กำลังหิวมาก
คนหนึ่ง ร้อนแดด กำลังต้องการร่มไม้
คนหนึ่ง กำหลังหาผักผลไม้ไปขาย
คนหนึ่ง กำหลังหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงของตนเพราะจะแวะไปธุระในย่านใกล้เคียง
คนทั้งห้านั้นมองเห็นต้นมะม่วงใหญ่ทุกคน แต่จะเป็นการเห็นในแง่และขอบเขตความหมายต่างๆกัน
วิญญาณเกิดขึ้นแก่ทุกคน แต่วิญญาณของแต่ละคนหาเหมือนกันไม่ เพราะแตกต่างกันไป
ตามเจตน์จำนงหรือเจตนาของตนๆต่อต้นมะม่วง ในเวลาเดียวกัน สัญญาคือการกำหนดหมายของแต่ละคน
ก็จะต่างๆกันไปภายในขอบเขตแห่งความหมายที่ตนเห็นในขณะนั้นด้วย แม้เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน
เช่น คนที่วิ่งหนีสัตว์ร้าย เห็นต้นมะม่วงใหญ่แล้วดีใจ เพราะเห็นเครื่องช่วยให้หนีรอดปลอดภัย
คนหิวมากก็ดีใจ เพราะผลมะม่วงเพียง 3-4 ลูก ก็จะช่วยให้ตนอิ่มพ้นอดตายได้
คนร้อนแดด อาจเสียใจ เพราะผิดหวังที่ไม้ใหญ่ไม่มีร่มให้อย่างที่ควรจะเป็น
คนหาผักผลไม้ไปขาย ก็อาจเสียใจ เพราะผิดหวังต่อจำนวนผลไม้ที่น้อย
ส่วนคนหาที่ผูกสัตว์เลี้ยง อาจรู้สึกสบายใจแต่เพียงเล็กน้อย แค่โล่งใจว่าไม่ต้องจูงสัตว์
ไปหรือไปหาที่ผูกที่อื่น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 21:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวทนา แปลกันว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้ง
ที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉยๆอย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น* ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ
แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรม เช่น

-เห็นรูปที่น่าปรารถนาน่าใคร่ => เกิดความสุขสบาย => ก็ชอบใจ (ต่ออารมณ์นั้น)
(จักขุ+อิฏฐารมณ์=> จักขุวิญญาณ) =>(สุขเวทนา) => (สังขาร: ราคะ)

-ได้ยินเสียงที่ไม่น่าปรารถนาน่ารำคาญ => เกิดความทุกข์ไม่สบาย => ก็ไม่ชอบใจ (ต่ออารมณ์นั้น)
(โสตะ+อนิฏฐารมณ์=>โสตวิญญาณ) =>(ทุกขเวทนา) => (สังขาร: โทสะ)

เวทนา มีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งมุ่งประสงค์ เสาะแสวง (หมายถึงสุขเวทนา) และเป็นสิ่งเกลียดกลัว
เลี่ยงหนี (หมายถึงทุกขเวทนา) สำหรับสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีการรับรู้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เวทนาจะเป็นขั้วต่อ
และเป็นต้นทางแยกที่ชี้แนะ หรือส่งแรงผลักดันแก่องค์ธรรมอื่นๆว่า จะดำเนินไปในทางใด อย่างไร เช่น ถ้ารับรู้
อารมณ์ใดแล้วสุขสบาย ก็จะกำหนดหมายอารมณ์นั้นมาก และในแง่หรือแนวทางที่จะสนองเวทนานั้น และคิดปรุง
แต่งเพื่อให้ได้อารมณ์นั้นมาเสพเสวยต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น
...

*เวทนาจัดอยู่ในจำพวกวิบาก ไม่ดีไม่ชั่วโดยลำพังตัวของมัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 21:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สังขาร -หมายรวมทั้งเครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำ และกระบวนการ
แห่งเจตน์จำนงที่ชักจูง เลือกรวบรวมเอาเครื่องต่างคุณภาพเหล่านั้นมาประสมปรุงแต่งความนึกคิด การพูด
การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ

อย่างไรก็ตาม ในการอธิบายตามแนวขันธ์ 5 ท่านมุ่งแสดงตัวสภาวะให้เห็นว่า ชีวิตมีองค์ประกอบอะไร มากกว่าจะแสดงกระบวนธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ว่าชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น คำอธิบายเรื่องสังขาร ในขันธ์ 5 ตามปกติ
จึงพูดถึงในแง่เครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือ เครื่องปรุงของจิตว่ามีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร
เป็นต้น

ส่วนการอธิบายในแง่กระบวนธรรมการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นขั้นออกโรงแสดง ท่านยกไปกล่าวในหลัก
ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ชีวิตเป็นไปอย่างไร ดังนั้น ในหลักปฏิจจสมุปบาท ความหมายของสังขารจึงมีรูปร่างแบบปฏิบัติการ คือจำแนกออกเป็นกายสังขาร- (การปรุงแต่งแสดงเจตน์จำนงออกทางกาย หรือเจตนา
ที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย)
วจีสังขาร- (การปรุงแต่งแสดงเจตน์จำนงออกทางวาจา หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา)
และจิตตสังขาร- (การปรุงแต่งแสดงเจตน์จำนงออกทางใจ หรือเจตนาที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ)
ต่างจากคำอธิบายแนวขันธ์ 5 ซึ่งจำแนกสังขารเป็นองค์ธรรมเครื่องปรุงแต่งต่างๆมี ศรัทธา สติ เมตตา กรุณา ปัญญา โลภะ โทสะ เจตนา สมาธิ เป็นต้น
ถ้าจะเปรียบเทียบกับเรื่องรถ คำอธิบายแนวขันธ์ 5 ก็เหมือนรถที่ตั้งแสดงให้ดูส่วนประกอบต่างๆ
อยู่กับที่
ส่วนคำอธิบายแนวปฏิจจสมุปบาท เป็นเหมือนอธิบายเรื่องรถที่เดินเครื่องออกแล่นใช้งานจริง


บรรดาเครื่องแต่งคุณภาพของจิตทั้งหลายนั้น เจตนาเป็นตัวนำหรือเป็นหัวหน้า ดังนั้น ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพ
กี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนาเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมดทีเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงอาจให้ความหมายของคำว่าสังขารได้อีกอย่างหนึ่งว่า “สังขาร คือ เจตนาพร้อมทั้งสัมปยุตธรรม (ธรรมที่ประกอบร่วมหรือเครื่องประกอบ)
ซึ่งแต่งจิตให้ดี หรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ”

บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนาคำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด หรือแสดงความหมาย
ทำนองจำกัดความคำว่า “สังขาร” ด้วยคำว่า “เจตนา” และเจตนาก็เป็นคำจำกัดความของคำว่า “กรรม” ด้วย
ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ คำว่า สังขาร เจตนา และกรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆ เท่ากัน เปรียบเหมือนว่า
พระครูแก้ว เป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง เป็นผู้แทนวัดนั้นไปรับมอบพระไตรปิฎกร่วมกับผู้แทน ของวัดอื่นๆหลายวัด
ในที่ประชุมนั้น จะออกชื่อว่า พระครูแก้วเจ้าอาวาสวัดกลาง คณะวัดกลาง หรือว่าวัดกลาง ก็ได้ความหมายที่ประสงค์อย่างเดียวกัน

นอกจากความสำคัญที่กล่าวมาแล้ว เจตนาเป็นตัวแสดงลักษณะพิเศษของสังขารที่ทำให้สังขารขันธ์
ต่างจากขันธ์อื่นๆอีกด้วย
เจตนา แปลว่า ความจำนง ความจงใจ ความตั้งใจ ลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันระหว่างสังขารขันธ์
กับนามขันธ์อื่นก็คือ นามขันธ์อื่นอันได้แก่ เวทนา สัญญา และวิญญาณ ทำงานกับอารมณ์ที่เข้ามาปรากฏ
อยู่แล้ว เป็นสภาพที่เนื่องด้วยอารมณ์ เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ อาศัยอารมณ์จึงดำเนินไปได้ และเป็นฝ่ายรับ
แต่สังขารมีการริเริ่มเองได้ จำนงต่ออารมณ์และเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์*

เมื่อเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะมองเห็นเหตุผลว่าทำไม ความสบาย ไม่สบาย จัดเป็นเวทนา
แต่ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ซึ่งเกิดถัดจากสบายไม่สบายนั้น จึงจัดเข้าในสังขาร
ทำไมสัญญากับสติ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องความจำด้วยกัน แต่กลับแยกอยู่คนละขันธ์ (สติอยู่ในสังขารขันธ์)
ทำไมปัญญา ซึ่งก็เป็นเรื่องของความรู้เช่นเดียวกับสัญญาและวิญญาณ จึงแยกไปอยู่ในสังขารขันธ์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ย. 2008, 21:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


* ตามหลักไตรวัฏฏ์ (ในปฏิจจสมุปบาท) จัดเวทนา สัญญา และวิญญาณ เป็นวิบาก สังขารเป็นกรรม
อนึ่งสังขาร ที่จัดเป็นกรรมนั้น ท่านหมายเอาเฉพาะในเวลาที่เจตนานำหน้าออกปฏิบัติการเท่านั้น
ส่วนตัวเครื่องปรุงเครื่องแต่งทั้งหลาย (ในฝ่ายสังสารวัฏฏ์) ท่านจัดเป็นกิเลส.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2008, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(สัญญากับสติทำหน้าที่กันอย่างไรพิจารณาดู)


สัญญา-สติ-ความจำ


มักมีความเข้าใจสับสนกันในเรื่องความจำว่าตรงกับธรรมข้อใด คำว่า สัญญา ก็มักแปลกันว่า ความจำ
คำว่าสติ โดยทั่วไปแปลว่าความระลึกได้ บางครั้งก็แปลว่าความจำ และมีตัวอย่างที่เด่นเช่น พระอานนท์
ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะทางทรงจำพุทธพจน์ คำบาลีในกรณีนี้ท่านใช้คำว่า สติ ดังพุทธพจน์ว่า
“อานนท์เป็นเลิศกว่าประดาสาวกของเราผู้มีสติ” (องฺ.เอก.20/149/32) เรื่องนี้ในทางธรรมไม่มี
ความสับสน ความจำไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจของกระบวนธรรม และในกระบวนธรรมแห่ง
ความจำนี้ สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุด สัญญาก็ดี
สติก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของ
ความจำ อีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยู่นอกเหนือความหมายของความจำ

แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายของกระบวนการทรงจำ ข้อที่พึงกำหนดหมายและระลึกไว้อย่างสำคัญคือ สัญญาและสติทำหน้าที่คนละอย่างในกระบวนการทรงจำ

สัญญา กำหนดหมายหรือหมายรู้อารมณ์เอาไว้ เมื่อประสบอารมณ์อีก ก็เอาข้อที่กำหนดหมายไว้นั้น
มาจับเทียบหมายรู้ว่าตรงกันเหมือนกันหรือไม่ ถ้าหมายรู้ว่าตรงกัน เรียกว่าจำได้ ถ้ามีข้อต่างก็หมายรู้เพิ่มเข้า
ไว้ การกำหนดหมาย จำได้ หรือหมายรู้อารมณ์ไว้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ใช่นั่น ใช่นี่ (การเทียบเคียงและเก็บ
ข้อมูล)ก็ดี สิ่งที่กำหนดหมายเอาไว้ (ตัวข้อมูลที่สร้างและเก็บไว้นั้น) ก็ดี เรียกว่าสัญญา
ตรงกับความจำในแง่ที่เป็นการสร้างปัจจัยแห่งความจำ ลักษณะสำคัญของสัญญาคือ ทำงานกับอารมณ์
ที่ปรากฏตัวอยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่ออารมณ์ปรากฏตัวอยู่ต่อหน้า จึงกำหนดได้ หมายรู้หรือจำได้ ซึ่งอารมณ์นั้น


สติ มีหน้าที่ดึงอารมณ์มาสู่จิต เหนี่ยวอารมณ์ไว้กับจิต คุมหรือกำกับจิตไว้กับอารมณ์ ตรึงเอาไว้
ไม่ยอมให้ลอยผ่านหรือคลาดกันไป จะเป็นการดึงมาซึ่งอารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว หรือดึงไว้ซึ่งอารมณ์
ที่จะผ่านไปก็ได้
สติ จึงมีขอบเขตความหมายคลุมถึง การระลึก นึกถึง นึกไว้ นึกได้ ระลึกได้ ไม่เผลอ ตรงกับความจำเฉพาะในส่วนที่เป็นการระลึกและความสามารถในการระลึก ด้วยเหตุนี้สติจึงเป็นธรรมตรงข้ามกับ
สัมโมสะ ซึ่งแปลว่าการลืม (สัญญาไม่คู่กับลืม)
สติ เป็นการริเริ่มเองจากภายใน โดยอาศัยพลังแห่งเจตน์จำนง ในเมื่ออารมณ์อาจจะไม่ปรากฏอยู่
ต่อหน้า เป็นฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ จึงจัดอยู่ในพวกสังขาร

สัญญา บันทึกเก็บไว้ สติดึงออกมาใช้ สัญญาดี คือ รู้จักกำหนดหมายให้ชัดเจนเป็นระเบียบ สร้างขึ้น
เป็นรูปร่างที่มีความหมายและเชื่อมโยงกันดี (ซึ่งอาศัยความใส่ใจและความเข้าใจเป็นต้นอีกต่อหนึ่ง) ก็ดี
สติดี คือมีความสามารถในการระลึก (ซึ่งอาศัยสัญญาดี และการหมั่นใช้สติ ตลอดจนสภาพจิตที่สงบ
ผ่องใส ตั้งมั่น เป็นต้นอีกต่อหนึ่ง) ก็ดี ย่อมเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้เกิดความจำดี

(ดูอุปมาสติ-สัญญา)

นายแดง กับนายดำ เคยรู้จักกันดี แล้วแยกจากกันไป ต่อมาอีกสืบปี นายนายแดงพบนายดำอีกจำได้ว่า
ผู้ที่ตนพบนั้นคือนายดำ แล้วระลึกนึกไดต่อไปอีกว่าตนกับนายดำเคยไปเที่ยวด้วยกันที่นั่นๆ ได้ทำสิ่งนั้นๆ ฯลฯ การจำได้เมื่อพบนั้นเป็นสัญญา การนึกได้ต่อไปถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เป็นสติ

เครื่องรับโทรศัพท์ตั้งอยู่มุมห้องข้างหนึ่ง สมุดหมายเลขโทรศัพท์อยู่อีกมุมห้องด้านหนึ่ง นายเขียวเปิดสมุดหาเลขหมายโทรศัพท์ที่ตนต้องการพบแล้วอ่านและกำหนดหมายเลขเอาไว้ แล้วเดินไปหมุนหมายเลขที่โทรศัพท์ตามต้องการ ระหว่างเดินไปก็นึกหมายเลขนั้นไว้ตลอด การอ่านและกำหนดหมายเลขที่สมุดโทรศัพท์ เป็น
สัญญา การนึกหมายเลขนั้นตั้งแต่ละจากสมุดโทรศัพท์ไป เป็นสติ

เมื่ออารมณ์ปรากฏอยู่ต่อหน้าแล้ว ก็กำหนดหมายได้ทันที แต่เมื่ออารมณ์ไม่ปรากฏอยู่
และถ้าอารมณ์นั้นเป็นธรรมารมณ์ (เรื่องในใจ) ก็ใช้สติดึงอารมณ์นั้นมาแล้วกำหนดหมาย
อนึ่ง สติสามารถระลึกถึงสัญญา คือดึงเอาสัญญาที่มีอยู่เก่ามาเป็นอารมณ์ของจิต แล้วสัญญาจะกำหนดหมายอารมณ์นั้นสำทับเข้าอีกให้ชัดเจนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หรือกำหนดหมายแนวใหม่เพิ่มเข้าไปตามวัตถุประสงค์อีก
อย่างหนึ่งก็ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2008, 16:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 มิ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1854

แนวปฏิบัติ: อานาปานสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: THAILAND

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: ธรรมะสวัสดี ท่านกรัชกาย

:b18: แวะมาทักทายตามประสา สหายแห่งลานธรรม นี้
ขอบอก ถึงจะเคยอ่านเรื่องขันธ์ 5 มาบ้างแล้ว ก็จริง
แต่บทความที่ ท่านกรัชกาย เขียน ก็คงน่าอ่านเช่นเคย
:b18:

:b49: ด้วยความจริงใจ :b49:

.....................................................
[สวดมนต์วันละนิด-นั่งสมาธิวันละหน่อย]
[ปล่อยจิตให้ว่าง-ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ]


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2008, 17:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณครับคุณบัวหิมะที่เข้ามาทักทายกัน ไม่ง่ายเลยจริงๆชีวิตหรือธรรมะนี่ :b20: กรัชกายใกล้หมดไฟแล้วครับ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2009, 13:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2009, 15:28
โพสต์: 307

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2010, 18:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3832

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


บทความอันนี้ เป็นของพระธรรมปิฏกไม่ใช่หรือครับ
http://www.buddha-dharm.com/


ทำไมไม่บอกที่มา ว่าใครเขียน แล้วเอามาจากไหนอย่างไร

แล้วเมื่อมีคนพูดว่าเป็นบทความคุณกรัชกาย
แล้วทำไมคุณกรัชกายไม่ชี้แจงว่าเป็นของพระธรรมปิฏก
ทำไมเฉยเสียประดุจว่ารับเป้นเจ้าของผู้แต่งบทความนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2010, 18:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 09:31
โพสต์: 292

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุค่ะท่านกรัชกาย....
กำลังศึกษาเรื่องขันธ์ 5 อยู่เลยค่ะ
บทความนี้ทำให้ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นกว่าเดิมค่ะ
แต่อยากเรียนถามว่า...คนธรรมดาอย่างดิฉัน
ถ้าเข้าใจในขันธ์ 5 และนำไปปฏิบัติตามนั้น
ก็สามารถพ้นจากความทุกข์ที่มีอยู่ได้ใช่มั้ยค่ะ
เพราะจากที่ได้ยินได้ฟังและได้ศึกษานั้น ก็คิดเองว่าเป็นทางหนึ่ง
ที่จะทำให้คนธรรมดาอย่างดิฉันไม่ยึดไม่ติด มีสติอยู่กับตัวเอง
ทุกความคิด ความรู้สึก มีเกิด มีดับอยู่ตลอดเวลา ให้ตามดู ตามรู้
แต่ไม่ต้องคิดว่าเป็นตัวเรา ความทุกข์ของเรา ให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ใช่เรา
ไม่ทราบว่าดิฉันเองเข้าใจถูกหรือป่าว...
และถ้าเข้าใจในเรื่องขันธ์ 5 แล้วจะต้องศึกษาในเรื่องไหนอีกค่ะ
จุดมุ่งหมายของตัวเองในวันนี้ อยากพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา
และปล่อยวางความทุกข์ ความสุข ความคิดถึงเรื่องราวต่างๆในอดีตที่ผ่านมาให้ได้
ขอบพระคุณท่านกรัชกายล่วงหน้าเลยนะคะ...สาธุค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2010, 18:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชาติสยาม เขียน:
บทความอันนี้ เป็นของพระธรรมปิฏกไม่ใช่หรือครับ
http://www.buddha-dharm.com/


ทำไมไม่บอกที่มา ว่าใครเขียน แล้วเอามาจากไหนอย่างไร

แล้วเมื่อมีคนพูดว่าเป็นบทความคุณกรัชกาย
แล้วทำไมคุณกรัชกายไม่ชี้แจงว่าเป็นของพระธรรมปิฏก
ทำไมเฉยเสียประดุจว่ารับเป้นเจ้าของผู้แต่งบทความนี้



บางแห่งบางที่ก็บอก บางทีก็ไม่ได้บอกว่า เพราะบางทีก็คัดมาเป็นบางส่วน

เพราะบอกก่อนหน้าที่กระทู้ชัดเจนแล้ว

viewtopic.php?f=2&t=19015

อ้างคำพูด:
กระทู้ธรรมที่เป็นส่วนวิชาการทั้งหมดกรัชกายนำมาจากหนังสือพุทธธรรม โดย

ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ. ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และหัวข้อนี้ก็นำมาจากหนังสือนั้น เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาใหม่

จะได้มีพื้นฐานทางความคิดกว้างๆ เผื่อไว้แยกแยะสิ่งที่ปนๆ ปลอมๆ ได้เองบ้าง


และมิไม่คัดจากทางเน็ตนะครับ นำมาจากหนังสือพุทธธรรมโดยตรง ซึ่งมีอยู่ในมือแล้ว :b1:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron