วันเวลาปัจจุบัน 12 ต.ค. 2024, 07:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

บทที่ 14

ท่านภิกษุดอกบัวพ้นน้ำ ท่านตี้หุย. ท่านซิ้งทง และ ชอเจ็ง. ได้ออกจาริกต่อไปจนถึงภูเขาวองมุย (อึ้งบ๊วยซัว) ได้นมัสการปูชนียสถานต่าง ๆ อาทิเช่น ภาพฝาผนังศิลาจารึกชีวประวัติย่อของพระสังฆปริณายก ตั้งแต่ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ลงมาจนถึงพระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 คือ ท่านเว่ยหล่าง

ภาพเหล่านี้ เป็นจิตรกรรมโบราณวัตถุอันล้ำค่า เขียนและแกะสลักด้วยฝีมืออันประณีตศิลปะของ “โลชุน” จิตรกรเอกแห่งราชสำนัก ได้จารึกหัวใจธรรมะและเรื่องราวไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้อนุชนรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบ ภาพนี้ยังสวยสดงดงามอยู่ในสภาพเรียบร้อยทุกประการ มีประชาชนเป็นจำนวนมากจากเมืองต่าง ๆ เดินทางเข้ามานมัสการมีไม่เว้นแต่ละวันเลย. และได้สอนธรรมะผู้ที่ได้ชมประทับจิตใจ เก็บไว้เป็นอนุสัยจิตสืบภพชาติไป เป็นเนื้อนาบุญและปลูกกุศลจิตด้วยภาพโศลกปริศนาสอนธรรมทานนี้ได้ดีอย่างหนึ่งแล..สาธุ!


ศิลาจารึกบนฝาผนังแผ่นที่ 1
ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 1
พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (ตั๊กม้อโจ้วซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 (อิ๊ดโจ้ว) ประวัติเดิมเป็นราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธารราษฎร์ (เฮียงจี่อ๊วงไท้จื้อ) ประเทศอินเดีย ท่านมีความสามารถนั่งเข้าฌานสมาบัติชั้นสูงตั้งแต่พระชนมายุยังเยาว์วัย.

ท่านเคยนั่งเข้าฌานต่อหน้าพระศพของพระบิดาได้นานตลอดถึง 7 วัน เป็นนักปราชญ์ผู้แตกฉานในคัมภีร์ของทุก ๆ ศาสนา และวรรณคดีอักษรศาสตร์โบราณอีกด้วย เป็นเอกแห่งยุค หลังจากพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ไปศึกษาธรรมะต่ออยู่กับพระสังฆปริณายกองค์ที่ 27 (คือพระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ)

พระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ ได้หยิบลูกแก้วให้ท่านโพธิธรรมดูเป็นปริศนาธรรมะ ในทันทีนั้น ท่านโพธิธรรมก็เกิดความสว่างไสว บรรลุธรรมที่ตนยังสงสัยมาทั้งหมด และสามารถตอบปัญหาธรรมได้หมด พอบรรลุธรรมแล้วได้อุปสมบทเป็น พระภิกษุ

พระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ เห็นปัญญาบารมีพระโพธิธรรมสูงมาก จึงได้เรียกประชุมคณะสงฆ์ ประกาศว่า พระโพธิธรรมได้บรรลุธรรมสมบูรณ์ดีแล้ว บัดนี้ฉันจะถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ท่านพระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 (มาในเมืองจีนนิยมนับเป็น 1. คือองค์แรก) เพื่อเป็นพระสังฆราช สืบหลักธรรมและอายุพระพุทธศาสนาต่อจากฉันไปแล้ว ท่านยังได้กล่าวโศลกให้ไว้อีกบทหนึ่งว่า:–


“จิตพื้นเกิดทุกสิ่งที่ปลูก
เพราะมีเรื่องอีกจึงเกิดเหตุและผล
ผลเต็มโพธิญาณก็จะสมบูรณ์
ดอกไม้บานโลกธาตุก็บังเกิดขึ้น.”

บัดนี้ท่านบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ดีแล้ว บาตร – จีวร – สังฆาฏิ ธรรมะที่ถ่ายทอดด้วย “จิต – ถึง – จิต” นี้ เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งแรกพระธรรมได้ถ่ายทอดมาสู่ พระอริยเจ้า แต่ละสมัยสืบกันลงมาดังนี้:–

พระสังฆปริณายกเป็นประธานในคณะสงฆ์สมัยแรกยุคพุทธกาลโน้น

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 พระมหากัสสปะเถระ (เป็นประธานทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 1) คือพระสังฆราชในพระพุทธศาสนาองค์ที่ 1 ดั้งเดิมนับกันลงมาอย่างนี้
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 พระอานนท์เถระ (เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 2)
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 พระสันนวสเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 พระอุปคุปตเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 พระธริตกเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 พระมิฉกเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 7 พระวสุมิตรเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 8 พระพุทธนันทิเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 9 พระพุทธมิตรเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 10 พระปาสวเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 11 พระปุนยยสัสเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 12 พระอัสวโฆส มหาโพธิสัตว์
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 13 พระกปิมลเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 14 พระนคารชุน มหาโพธิสัตว์
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 15 พระคนเทวเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 16 พระราหุลตเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 17 พระสังฆนันทิเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 18 พระสังฆยสัสเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 19 พระกุมารตเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 20 พระขยตเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 21 พระวสุพันธุเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 22 พระมนูรเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 23 พระฮักเลนยสัสเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 24 พระสินหเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 25 พระวสิอสิตเถระ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 26 พระปุนยมิตรเถระ

แล้วได้ถ่ายทอดมาสู่ฉันเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 27 (พระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ) สืบอายุพระพุทธศาสนา บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับช่วงไว้

บัดนี้ฉันได้ถ่ายทอดให้ท่านเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 รับช่วงต่อจากฉันไป เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา (สุญตา) โดยเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นสิทธิหน้าที่ของท่านที่จะทำให้แพร่หลายไปทั่วทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ และคัดเลือกศิษย์ที่บรรลุธรรมหรือมีความรู้ทางธรรมะที่มั่นคงดีแล้วให้รับทอดสืบอายุ บาตร – จีวร – สังฆาฏิ – พระธรรม จงระวังรักษาอย่าให้ขาดตอนลงไปได้ ท่านมีบุญลักษณะบารมีดีพร้อม (โหงวเฮ้งดี) อายุจะยืนมากกว่าพระสังฆปริณายกองค์ใด ๆ หลังจากฉันดับขันธ์ไปแล้ว 67 ปี บ้านเมืองจะเกิดมีภัยสงครามใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านควรจะไปทำการเผยแพร่พระธรรม (สุญตา) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ไว้ ณ ประเทศจีน

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (อายุ 120 พรรษา) ได้ลงเรือโต้คลื่นฝ่ามรสุม 3 ปีมาถึงเมืองกวางตุ้ง สมัยราชวงศ์เหลียงบู๊ตี่ (ประมาณ พ.ศ. 1067) ฉะนั้นทางจีนเริ่มนับพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาเป็นองค์ที่ 1 คือองค์แรกถึงเมืองจีน เรียกจนติดปากแล้ว

ท่านข้าหลวงชื่อ “เซียวงัง” จึงแจ้งข่าวนี้ไปยังราชสำนักพระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ พระเจ้าเหลียง บู๊ตี่ พอได้ทรงทราบข่าวนี้ก็พอพระทัยมาก จึงได้มีพระกระแสรับสั่งให้อาราธนา ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา เข้าเฝ้าทันที (ตอนต่อไปนี้สำคัญมากเป็นปริศนาธรรมแยกโลกียธรรม และโลกุตรธรรมอีกด้วย)

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ได้ถามพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาว่า “ข้าพเจ้าได้ก่อสร้างวัดและโบสถ์และพระวิหาร อนุญาตให้คนบวช โปรยทาน และถวายภัตตาหารมังสวิรัติ (เจ) แด่พระภิกษุสงฆ์ ในรัชกาลของพระองค์เป็นจำนวนมาก แล้วจะได้รับ – กุศล – อย่างไรและมากไหม?

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “การกระทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นทางนำมาซึ่ง – กุศล – แต่อย่างใดเลย เป็นเพียงแค่เทวสมบัติเท่านั้น กุศลที่แท้จริงนั้น คือ ความรู้แจ้งทางจิตใจ”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ถามอีกว่า “อริยสัจ คือ อะไร?”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ไม่มี”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ถามอีกว่า “อริยบุคคล คืออะไร?”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ไม่มี”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ถามอีกว่า “ต่อหน้าข้าพเจ้านี้คือใคร?”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ไม่รู้จัก”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ฟังคำตอบนี้แล้วก็ไม่ค่อยจะพอพระทัย

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา เห็นว่า พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ยังไม่เข้าใจในความหมายของท่านจึงทูลลาจากไป.

พอพ้นจากเมืองไปแล้ว พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ จึงถามท่านธรรมาจารย์ “ปอจี่เซี้ยงซือ (พระจี่กง)” คือพระเถระผู้ทรงคุณพระไตรปิฎกว่า “พระโพธิธรรม ได้พูดแบบนี้จะถูกหรือ?”

ปอจี่เซี้ยงซือ (พระจี่กง) ตอบว่า พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบานั้น คือพระกวนอีม มหาโพธิสัตว์ อวตารมาทีเดียว

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ พอได้ยินคำพูดเช่นนี้จึงคิดจะให้ทหารออกไปอาราธนา พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา กลับมาอีก

ฝ่ายท่านพระธรรมาจารย์ “ปอจี่เซี้ยงซือ” ได้ทูลต่อไปอีกว่า “ไม่ต้องไปตามพระมหาครูบาองค์นี้ พระแบบนี้ต่อให้ยกทัพไปแสนคน ท่านก็ไม่ยอมกลับมา”

จากนี้ พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ก็เดินทางมายังวัดแห่งหนึ่ง เห็นภิกษุองค์หนึ่ง กำลังแสดงธรรมเทศนาสอนสานุศิษย์อยู่เป็นจำนวนมาก พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาจึงแวะเข้าไปนั่งฟังอยู่ตรงแถวหลังสุด นิ่งฟังดูคำอรรถาธิบาย ตรงไหนถูก... ท่านก็ยิ้ม ! ยิ้ม ! แล้วผงกหน้าหน่อยๆ ตรงไหนอธิบายผิด... ท่านก็ส่ายหน้าหน่อยๆ

ฝ่ายท่านเจ้าอาวาสชื่อ “พระซิ่งกวง” ผู้ซึ่งกำลังแสดงธรรมอยู่บนธรรมาสน์ เมื่อมองเห็นภิกษุชาวอินเดีย มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกปาก 2 ซี่ มาแสดงกิริยาเช่นนั้น เป็นการตำหนิว่าเรายังเทศน์ผิดบ้าง...ถูกบ้างอยู่...จึงคิดในใจว่า ขอให้เทศน์นี้จบเสียก่อนเถิด! จะถอนเขี้ยวพระแขกองค์นี้ออกมาให้สานุศิษย์ดูกันเสียทีเลย...

พอเทศน์จบ ท่านจึงใช้เณรให้ยกน้ำชาไปถวายพระแขกองค์ที่นั่งอยู่สุดแถวนั้น

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ในเมื่อมีเณรยกน้ำชามาถวาย ท่านก็รับประเคนแล้วยกขึ้นมาดื่ม เสร็จแล้วจึงถอนเขี้ยวของท่านออกมา 2 เขี้ยว ใส่ถ้วยน้ำชาคืนเณรไป แล้วท่านก็ออกจากวัดนั้นไปทันที

ฝ่ายเณรก็นึกแปลกใจ! จึงนำเขี้ยวทั้ง 2 นี้กลับไปให้ท่านเจ้าอาวาสดู

พระซิ่งกวง พอได้เห็นเขี้ยวทั้ง 2 ซี่เข้าเท่านั้น ก็นึกเอะใจ ! นี่เพียงแค่เรานึกคิดอยู่ในใจเท่านั้น พระแขกองค์นี้ก็รู้ได้ทันทีเลย...จึงมองออกไป แต่ก็ไม่เห็นพระแขกเสียแล้ว จึงสั่งให้สานุศิษย์ทุกคนช่วยกันออกตามหาว่าไปทางไหน? ได้ตามไปจนพบท่านพระแขกยืนอยู่ริมแม่น้ำ “ท่านซิ่งกวง” ก็รีบเดินเข้าไป จวนจะถึงตัวท่านอยู่แล้ว

พระแขกองค์นั้นก็ถอนต้นหญ้าออกมาต้นหนึ่ง แล้วโยนต้นหญ้าทิ้งไปในแม่น้ำที่กำลังไหลเชี่ยว แล้วท่านก็กระโดดลงไปยืนลอยตัวอยู่ได้บนต้นหญ้าเล็ก ๆ นั้น

พระซิ่งกวง กราบลงไปที่ริมแม่น้ำนั้น ร้องขอขมาโทษ...ขออาราธนาให้ท่านกลับมาอีก

พระแขก ก็ยิ้ม! ยิ้ม! แล้วกวักมือทำทีว่า ให้กระโดดตามท่านลงมาซิ! มาซิ ! !

พระซิ่งกวงนั้นมีความศรัทธายิ่งสูงขึ้น แต่ว่ายน้ำไม่เป็น จึงไม่กล้ากระโดดตามลงไป เพียงได้แต่ยกมือขึ้นไหว้! ขอร้องให้ท่านกลับมาเท่านั้น ร้องไปเถิด!

พระแขก ก็เฉย ๆ ได้แต่กวักมืออยู่อย่างเดียว...

มียายแก่คนหนึ่งกำลังถือมัดต้นปอเดินมา แกเห็นเข้าก็ยุให้กระโดดตามเขาไปซิ!

พระซิ่งกวง บอกว่าฉันว่ายน้ำไม่เป็นเลย...

ยายแก่คนนั้นว่าท่านกลัวตายหรือ? ทำไมเขาจึงไม่กลัวตาย...ว่าแล้วยายแก่คนนั้นก็บอกว่า เอ้า! ฉันจะให้มัดปอนี้

พระซิ่งกวง ก็รับมัดปอจากยายแก่คนนั้นมา แล้วตัดสินใจโยนมัดปอลงไปในน้ำ แล้วกระโดดตามไปอีกด้วย จากนี้ก็หายตัวไปกับท่านพระแขก คือ “พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา”

ท่านทั้งสองเดินทางไปยังภูเขาซงซัว พักอยู่ที่ “วัดเซียวลิ่มยี่” พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ท่านนั่งสมาธิเข้าฌานอยู่ถึง 9 ปี

พระซิ่งกวง ที่กระโดดน้ำติดตามไปก็คอยเฝ้าปรนนิบัติท่านพระอาจารย์อยู่ไม่ยอมไปไหนเลย...

มาคืนหนึ่ง หิมะตกหนัก ท่านยืนคอยเฝ้าท่านพระอาจารย์อยู่จนหิมะตกมาก หนาท่วมสูงแค่หัวเข่า

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงถามว่า “ท่านมายืนตากหิมะอยู่ที่นี่...เพื่อประสงค์อะไร?”

พระซิ่งกวง น้ำตาไหลซึมออกมาแล้วพูดว่า “จะมาขอเรียนธรรมะจากท่านพระอาจารย์ครับ! นิ่งสักครู่ พอเห็นท่านพระอาจารย์ไม่ตอบ...ก็ถามต่อไปอีกว่า หัวใจแห่งธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่จะพูดหรือแสดงออกมาให้เห็นและฟังได้ไหม...ครับ?”
พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “หัวใจแห่งธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น – ไม่ใช่ได้มาจากผู้อื่น. แล้วธรรมะนั้นจะเรียน หรือจะสอนให้แก่กันไม่ได้ง่าย ๆ นัก! ท่านมีความศรัทธาอยู่แค่ไหน?”

พระซิ่งกวง พอได้ยินท่านพระอาจารย์พูดเช่นนั้นแล้ว จึงหันหลังกลับไปหยิบมีดขึ้นมาฟันลงไปบนแขนซ้ายตนจนขาดออกมา แล้วก็นำเอาแขนนี้ไปถวายบูชาท่านพระอาจารย์ เพื่อให้ท่านเห็นว่ามีความศรัทธาที่จะศึกษาธรรมสูงมากถึงเพียงนี้

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา เห็นท่านซิ่งกวง “ปลงสังขารตก” มีความศรัทธาในธรรมะมากกว่าชีวิต...แล้วจึงพูดว่า ท่านอยากจะเรียนธรรมอะไร?

พระซิ่งกวง บอกว่า “จิตของผมมันไม่สงบ...” ขอให้ท่านพระอาจารย์ช่วยทำจิตให้สงบที!

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ท่านจงเอาจิตออกมาซิ! ฉันจะทำให้จิตมันสงบ...”

พระซิ่งกวง นิ่ง! คิดอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วก็ตอบท่านพระอาจารย์ว่า “ผมหาจิตไม่พบ...ครับ!”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ฉันได้ทำจิตของท่านสงบแล้ว...”

พระซิ่งกวง ก็เกิดความสว่างไสว บรรลุธรรม (สุญตา) ทันที และได้ศึกษาธรรมต่าง ๆ อีกมากมายด้วย

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (อายุ 140 พรรษา) จึงได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ “พระซิ่งกวง” แล้วเปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ จาก "ซิ่งกวง” มาเป็น “พระหุยค้อมหาครูบา”

ท่านพูดอีกว่า จากนี้เป็นต้นไป ท่านหุยค้อ เป็นพระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 ของนิกายเซ็น (ฌาน) ในเมืองจีน สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป แล้วยังได้กล่าวโศลกให้ไว้อีกว่า:–


“ฉันเดินมาถึงแผ่นดินนี้
ถ่ายทอดธรรมช่วยผู้หลงงมงายอารมณ์
หนึ่ง – ดอกไม้บานครบ 5 กลีบแล้ว
ผลที่สุดธรรมชาติจะปรากฏขึ้นมาเอง.”

จากนี้ ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ได้เดินทางต่อไปกับศิษย์พักอยู่ ณ วัดไชเซี่ยยี่ เมืองอู๋มึ้ง ใกล้วันที่จะมรณภาพ ท่านได้เรียกประชุมคณะศิษย์ต่าง ๆ ประมาณ 1,000 องค์

ท่านได้บอกกับ พระหุยค้อมหาครูบาว่า ปัญญาบารมีของท่านนี้ จะทำได้อย่างดีที่สุด ก็คือเพียงแค่ทำหน้าที่ของการปลูกกุศลจิตให้แก่ชาวจีนไว้เป็นอนุสัยสืบไปก่อน คือการหว่านเชื้อเมล็ดพืชพันธุ์แห่งพุทธะ หรือบุกเบิกทางแห่งอริยภูมิทั้งไว้ก่อนเท่านั้น แล้วผลมันจะไปเกิดขึ้นมาเอง หลังจากฉันได้ดับขันธ์ไปแล้ว 200 ปีหลัง…จะได้มี “บัณฑิตใต้ต้นไม้” มาเกิด แล้วจะมาทำให้พระธรรมคำสอนที่ฉันถ่ายทอดด้วย “จิต-ถึง-จิต” นี้แพร่หลายไปทุกมุมเมือง ผู้ได้บรรลุธรรมจักษุจะมีมากมาย

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ได้เรียกประชุมศิษย์ที่สำคัญ ๆ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะทดสอบดูภูมิธรรมของศิษย์ต่าง ๆ ว่าใครจะรู้โลกุตรธรรม ที่ท่านสอนไว้ที่นี่มีมากน้อยกว่ากันแค่ไหน? จึงได้ตั้งปัญหาความเป็นเชิงสอบไล่มีดังนี้ คือ :-


“เรื่องเซ็นเนื้อ – เซ็นกระดูก”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ถามว่า “ธรรมะที่แท้จริงนั้น...คืออะไร?”

ศิษย์ชั้นอาวุโสองค์แรก ชื่อ “เต๋าหู่ภิกขุ” ลุกขึ้นยืนแล้วตอบว่า “ตรงที่ไม่ยึดติดตัวหนังสือ (พระคัมภีร์) และก็ไม่ทิ้งไปจากตัวหนังสือ (พระคัมภีร์) และตรงที่อยู่เหนือการยอมรับ และเหนือการปฏิเสธ นั่นแหละ! คือธรรมะที่แท้จริง ครับ!”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า! ถูก...แกได้หนังของฉันไป”

ศิษย์องค์ที่สองเป็นภิกษุณี ชื่อ “จังที้ภิกขุ” ลุกขึ้นยืน แล้วตอบว่า เหมือนกันกับที่ “พระอานนท์เถระ” ได้เคยเห็นพุทธภูมิของ “พระอักโษภยาพุทธเจ้า (ออชอฮุก)” ได้เห็นเพียงแวบเดียว แล้วก็ไม่เคยเห็นอีกเลย นั่นแหละ! คือธรรมะที่แท้จริง เจ้าค่ะ!

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า! ถูก...แกได้เนื้อของฉันไป”

ศิษย์องค์ที่สาม ชื่อ “เต๋ายกภิกขุ” ลุกยืนขึ้นแล้วตอบว่า “มหาภูตรูปทั้ง 4 นั้นเดิมว่าง. ขันธ์ 5 ก็ไม่มีตัวตน. ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่มีธรรมะอะไรเลย...แม้แต่หนึ่งสิ่ง...ที่จะต้องบรรลุถึงได้ นั่นแหละ! คือธรรมะที่แท้จริง ครับ!”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า! ถูก...แกได้กระดูกของฉันไป”

ศิษย์องค์ที่สี่เป็นศิษย์ก้นกุฏิ ชื่อ “พระหุยค้อมหาครูบา” ลุกยืนขึ้น “หุบปากนิ่ง” แล้วยังเม้มลึกเข้าไปอีกหน่อย! ซึ่งเป็นการแสดงว่า นิ่งเงียบ! อย่างที่สุดหมดแล้ว เป็นการแสดงบอกแก่ท่านพระอาจารย์ว่า นี่แหละ! คือธรรมะที่แท้จริงละครับ!

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า! ถูก...แกได้ไขในกระดูกของฉันไป”

หลังจากนี้ พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ได้กล่าวเป็นครั้งสุดท้ายอีกว่า ฉันอายุครบ 150 พรรษาแล้ว ฉันได้เสร็จกิจหน้าที่ของ “พระโพธิสัตว์” ที่มุ่งหมายแห่งการมาถึงแผ่นดินนี้ ฉันได้บุกเบิกทางแห่งการไปสู่อริยภูมิไว้ให้แล้ว จากนี้เป็นต้นไป เป็นหน้าที่ของพวกเธอทั้งหลายที่จะปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุถึงธรรมะที่ฉันสอนไว้นี้ แล้วจงช่วยกันหาอุบายวิธีประกาศธรรมนี้ ถ่ายทอดไปยังอนุชนแต่ละรุ่น ๆ รับช่วงสืบไปตามเมืองต่าง ๆ พร้อมด้วยความไม่ประมาท แล้วผลบุญกุศลบารมีนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตกาล สืบไปอีกหลายร้อยหลายพันชั่วอายุคน สูงสุดจะส่งผลถึง “พุทธภูมิ” อย่างต่ำที่สุดทำให้มนุษย์จะได้มหาสติ พบแสงสว่างแห่งปัญญาญาณรู้แจ้งทางจิตใจบ้าง แล้วจะส่งผลไปถึงการได้ช่วยชีวิตสัตว์เดรัจฉานให้รอดตายไปอีกนับไม่ทั่วถ้วนชีวิตด้วย เพราะอำนาจแห่งพระเมตตาพระกรุณาธรรมแนวทางนี้เอง เป็นเหตุส่งผลได้คุ้มครองชีวิตสัตว์โลกที่น่ารัก เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเราได้อย่างมากมายมหาศาลทีเดียวแล...

แล้วทางที่มาหรือบ่อเกิดของ “พระอริยเจ้า พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า" ทุก ๆ พระองค์ในอนาคตกาล ก็จะออกมาจากประตูธรรมาณาจักรใจนี้ ฉะนั้นถ้าพวกเธอทั้งหลายได้สละกายใจมุ่งประกาศสัจธรรมนี้แล้ว ก็เท่ากันกับว่าพวกเธอทั้งหลายได้ทำหน้าที่อันสูงสุด ของ “พระโพธิสัตว์” นั่นก็คือการได้ช่วยแบกคอนหาบหามเทิดทูนบูชา “พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” ไว้ มิให้ทางนี้ดับสูญไปจากโลกนี้เร็วจนเกินไปนักนั่นเอง จะเป็นมหาบุญกุศลบารมีอย่างมหาศาลแก่พวกเธอ และสรรพสัตว์ทุกชาติภพไม่มีวันจบสิ้นทีเดียว สาธุ!

ฉันขอเตือนพวกเธอเป็นครั้งสุดท้ายอีกหน่อยว่า จงอย่าประมาทเลยนา! วันเวลาหมดไปไม่คอยใครเลยนา! อายุความชราภาพของสังขารก็ไม่คอยใครเลยนา! ธรรมะก็ไม่คอยใครเลยนา! “จิตตนคิด-กายตนทำ-ปากตนพูด” ใครทำใครก็ได้เองนา! สิ่งเหล่านี้จะช่วยกันทำ หรือทำแทนกันจริง ๆ นั้นไม่ได้เลยนา! บุญกุศลหรือมรรคผลนิพพานนั้น ต้องปฏิบัติเอง ทำกับมือตนเองให้ทันตาเห็น จึงจะเป็นของเธอเองไปได้นา!

จากนั้น ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ก็พูดว่าฉันขออำลาพวกเธอทั้งหลาย ฉันจะจากโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็นิ่งนั่งอยู่ในสมาธิดับขันธ์ในฌานสมาบัตินิพพานไป ต่อหน้าคณะศิษย์ทั้งหลาย ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงเมืองหลวง “พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่” ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้จารึกที่พระเจดีย์บรรจุพระศพของท่านนามว่า “อี่กักไต้ซือ” และพระเจดีย์หลวงองค์นั้น ก็ยังได้พระราชทานนามให้ชื่อว่า “เจดีย์โคงกวง” อยู่ ณ บนภูเขา “ฮีงยื้อซัว” สืบไป


“ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดนั้น
ไม่ใช่ลัทธิการเมือง
ระบอบไหน ไม่ใช่ใคร
นอกจากตัวเรา พวกเรา
นี่เอง!”

พุทธทาสภิกขุ

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


แก้ไขล่าสุดโดย sirisuk เมื่อ 16 ก.ค. 2010, 12:15, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

ศิลาจารึกบนฝาผนังแผ่นที่ 2

ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2
พระเว่ยโหมหาครูบา (พระหุยค้อไต้ซือ)

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 (ยี่โจ้ว) เกิด ณ เมืองบู๊ล้อ แซ่กี ขณะเกิดมีรัศมีแสงสว่างขึ้นมาหมดทั้งบ้าน บิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า “ซิ่งกวง” สมัยเป็นเด็กชอบนั่งแต่สมาธิ สามารถอ่านกาพย์กลอนโคลงฉันท์วรรณคดีโบราณ บรรยายพระไตรปิฎกได้อย่างแตกฉานตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่

ภายหลังได้ติดตาม พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา คือ ภิกษุอินเดียไปอยู่ที่ “วัดเซียวลิ้มยี่”

วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท่าน ก็คือ “ตัดแขนซ้ายบูชาพระธรรม ปลงสังขารตก รักธรรมะมากกว่าชีวิต”

พอบรรลุธรรมดีแล้ว พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาได้เปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ จาก ซิ่งกวง มาเป็น เว่ยโห (แต้จิ๋วอ่านเป็นหุยค้อไต้ซือ) และได้รับการถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ให้เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (ในเมืองจีน) สืบอายุพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสืบต่อไป

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้ (พระหุยค้อไต้ซือ) มีนามว่า “ไต้โจ้วเซี้ยงซือ” ท่านนั่งสมาธิดับขันธ์นิพพานในฌานสมาบัติเมื่ออายุ 107 พรรษา ณ เมืองอ๊วงเซี้ย (สมัยเต็กจง)

ก่อนนิพพาน ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดให้แก่พระซังซานมหาครูบา (แต้จิ๋วอ่านเป็น เจ็งฉั่งไต้ซือ)

ถ้าท่านอยากไปสวรรค์ ไปนิพพาน หรือชาติหน้า ๆ อยากจะให้ได้พบพระธรรมที่ท่านชอบใจอีกบ้างแล้ว จงอย่าลืมช่วยกันสร้างอุทิศ เป็นเชื้อบุญกุศลสืบพืชพันธุ์ไว้เป็นของท่านบ้าง นิดหน่อยก็ยังดีเสียกว่าที่ไม่ได้ทำ ที่การได้มาเกิดเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้ว แต่ไม่ได้ร่วมหว่านเมล็ดพืชพันธุ์ บุญกุศลไว้บ้างเลย อย่าดูถูกว่าเงินไม่กี่บาท มันจะเป็นเชื้อผลบุญกุศลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านมีโชคดีได้พบอีก แจกกับมือเราเองให้ทันตาเห็น นั่นแหละจึงจะเป็นของเราจริง

การแจกธรรมเป็นท่านให้แก่เพื่อนมนุษย์ไปนั้น อริยปราชญ์ทุกยุคสรรเสริญว่า ‘เป็นการเริ่มบวชจิตก่อนบวชกาย’ มันต่างกันก็อยู่ที่ยังไม่ได้ห่มผ้าเหลือง และพิธีกรรมมากหรือน้อย เท่านั้นเอง


“จงแจกปีละเล่มหรือเดือนละเล่มจนกว่าเราจะตายจากโลกนี้ไปก็จะได้บุญกุศลมิใช่น้อยทีเดียว”

“ปุถุชนโพธิสัตว์.”


“คำสอนตามพระคัมภีร์ ของยานทั้งสามนั้นก็เป็นแต่เพียงยาบำบัดความเจ็บในขั้นปฐมพยาบาลเท่านั้น. คำสอนเหล่านั้นถูกสอนไปเพื่อสนองความต้องการในทำนองนั้น ดังนั้นมันจึงเป็นของมีคุณค่าเพียงชั่วคราว และขัดกันไปขัดกันมาอยู่ในตัวมันเอง”

ฮวงโป.

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

ศิลาจารึกบนฝาผนังแผ่นที่ 3

ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 3
พระซังซานมหาครูบา (เจ็งฉั่งไต้ซือ)

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 3 (ซาโจ้ว) เดิมเป็นอุบาสก มีโรคอัมพาตเบียดเบียน (ความดันโลหิตสูง) ทนทุกข์ทรมานไม่ไหว! จึงไปหาท่านพระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 กราบเรียนท่านว่า “ผมมีบาปมาก...ขอให้พระคุณเจ้า ช่วยกรุณาชำระบาปให้ผมทีครับ!”

ท่านพระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 (พระหุยค้อไต้ซือ) ตอบว่า “เจ้าจงเอาบาปออกมาซิ! ฉันจะช่วยชำระให้...”

ท่านซังซาน (เจ็งฉั่ง) ก็นิ่ง...นึกอยู่สักครู่ แล้วจึงตอบว่า “ผมหาบาปไม่พบ...ครับ?”

ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (พระหุยค้อไต้ซือ) ตอบว่า “ฉันได้ชำระบาปให้เธอแล้ว”

ในทันทีนั้น ท่านซังซาน (เจ็งฉั่ง) ก็เกิดความสว่างไสว เข้าใจ “โลกุตรธรรม (สุญตา) ที่ตนยังสงสัยมานานแล้วทั้งหมด” จึงถวายตัวเป็นศิษย์ ศึกษาธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้นไปอยู่อีก 2 ปี ได้ถือมังสวิรัติจริง ๆ แล้วโรคภัยก็ค่อยหายไป

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 (พระหุยค้อไต้ซอ) ได้อุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ (เจ็งฉั่ง) แล้วพูดว่า เธอได้บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ดีแล้ว ฉันจะถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ท่านเป็นพระสังฆปริณายก องค์ที่ 3 (ในเมืองจีน) เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายต่อไป บัดนี้ขอให้ท่านเดินทางไปหาที่สงัดวิเวกอยู่บนภูเขาอ๊วงกงซัว แขวงเมืองโซวจิว จงหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าแถว ๆ นั้นไว้ก่อน อย่าเพิ่งด่วนออกไปทำการเผยแพร่พระธรรม เพราะว่าอนาคตบ้านเมืองจะมีภัยสงคราม จงฟังโศลกของฉันสืบไว้ให้ดี :-


“เดิมมาเนื่องจากมีพื้นดิน
เพราะพื้นดินปลูกดอกไม้จึงเกิด
เดิมมาถ้าไม่มีเมล็ดพืชพันธุ์แล้ว
ดอกไม้ก็ไม่เคยเกิด.”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (ท่านเจ็งฉั่งไต้ซือ) พออายุ 85 พรรษา ท่านได้ประชุมสานุศิษย์ที่ใต้ต้นโพธิ์ แล้วมือของท่านจับกิ่งโพธิ์ยืนดับขันธ์ปรินิพพานในฌานสมบัติ ณ ที่นั้น ต่อหน้าสานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ข่าวนี้ได้ทราบถึง “พระเจ้าเฮี่ยงจง” ท่านจึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้นามว่า “ก่ำตี่เซี้ยงซือ” พระศพของท่านได้บรรจุไว้บนเจดีย์หลวง ภูเขาอ๊วงกงซัว แขวงเมืองโซวจิว

ก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดให้แก่ศิษย์ชื่อ พระตูชุนมหาครูบา (เต้าสิ่นไต้ซือ)


“การให้การศึกษา
ชนิดที่ขัดเกลาความเห็นแก่ตัว
อันลึกซึ้งไปเสียแต่วัยเด็ก
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง.”

พุทธทาสภิกขุ.

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

ศิลาจารึกบนฝาผนังแผ่นที่ 4

ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4
พระตูชุนมหาครูบา (เต้าสิ่นไต้ซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (สี่โจ้ว) เกิด ณ ตำบลกวงจี่ เมืองคีจิว แซ่ซีเบ้ บวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ 14 ปี ได้เดินทางไปหาท่านพระสังฆปริณายก องค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) กราบเรียนท่านว่า “ขอให้ใต้เท้าช่วยกรุณาสอนธรรมะ เพื่อความหลุดพ้นให้กระผมด้วย ครับ!”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) พูดว่า “ใครเขาผูกเจ้าไว้ล่ะ!”

สามเณรเต้าสิ่น นั่งคิดดูสักครู่...แล้วตอบว่า “ไม่มีใครเขาผูกกระผมไว้...ครับ?”

ท่านพระสังฆปริณายก องค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) พูดว่า “ถ้าไม่มีใครเขาผูกเจ้าไว้แล้ว ทำไมเจ้าจึงจะต้องมาหาคนแก้ด้วยเล่า?”

สามเณรเต้าสิ่น ก็เกิดความสว่างไสว และได้บรรจุธรรมในข้อที่ตนสงสัยขึ้นมาทันที จึงเกิดความศรัทธาท่านพระสังฆปริณายก เลยถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาธรรมะอยู่ 9 พรรษา ท่านพระอาจารย์ได้ทดลองภูมิปัญญาอยู่เสมอ ๆ แล้วต่อมาได้บรรลุธรรมก็จัดอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ “เต้าสิ่นไต้ซือ”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) ภายหลังเห็นว่า “พระเต้าสิ่นไต้ซือ” มีการศึกษาและปัญญาบารมี สร้างสมมาพอดีแล้ว ท่านจึงได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นพระสังฆปริณายก องค์ที่ 4 สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อจากท่านไป และยังได้กล่าวโศลกให้ไว้บทหนึ่งว่า :-


“ดอกไม้ปลูกถึงแม้เหตุอาศัยพื้นดิน
ตามพื้นดินปลูกดอกไม้ก็เกิด
ถ้าไม่มีคนเพาะเชื้อเมล็ดพันธุ์แล้ว
ดอกไม้และดินทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเอง.”

จากนั้น “พระเต้าสิ่นไต้ซือ” ได้ไปประกาศธรรมะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาพัวเถ้าซัว กลางคืนท่านไม่เคยนอนลงจนหลังแตะถึงที่พื้นเสื่อเลย พอตกค่ำท่านนั่งสมาธิเข้าฌานอยู่ตลอดจนสว่างทุก ๆ คืน เป็นระยะเวลาตลอดถึง 58 พรรษา

พระเจ้าถังไท้จง ได้ยินเกียรติคุณของท่านแล้ว ได้ทรงมีพระราชสาสน์อาราธนาให้จาริกมายังเมืองหลวงถึง 3 ครั้ง ท่านก็ยังสงบอยู่
พออายุครบ 72 พรรษา (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) ได้ประชุมสานุศิษย์พร้อมกันแล้ว ท่านได้นั่งสมาธิดับขันธ์นิพพานในฌานสมาบัติไปอย่างสงบ พระศพได้บรรจุในเจดีย์หลวงชื่อ “ชื่อฮุ้น”

อีกหลายปีผ่านไป ประตูเจดีย์ได้เปิดออกมาเอง ปรากฏว่ารูปซากพระศพของท่าน ยังมีราศีสดใสยิ้มเหมือนอย่างมีชีวิต ร่างกายมิได้บุบสลายเน่าเปื่อย... นั่งอยู่ในท่าสมาธิเหมือนตอนนิพพาน พระเจ้าถังไท้จง เกิดศรัทธาสูงมาก เสด็จมานมัสการได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้อีกนามว่า “ไต้โจ้วเซี้ยงซือ”

ก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิธรรมะทั้งหมด ให้แก่ศิษย์ ชื่อ พระฮวางยานมหาครูบา (แต้จิ๋วอ่าน ฮ่งยิ้มไต้ซือ).


“การพูดว่า ข้าพเจ้าสามารถ รู้ ถึงสิ่งบางสิ่ง หรือข้าพเจ้าสามารถ ลุ ถึงสิ่งบางสิ่ง นั้น คือการจัดตัวเองไปไว้ในระหว่างบรรดาคนผู้เป็นนักอวดโอ้.”


ฮวงโป.

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

ศิลาจารึกบนฝาผนังแผ่นที่ 5

ชีวประวัติพระสังฆปริณายก องค์ที่ 5
พระฮวางยานมหาครูบา (ฮ่งยิ้มไต้ซือ)

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 (โหงวโจ้ว) เกิด ณ ตำบลอึ้งบ๊วย เมืองคีจิว มณฑลโอ้วปัก เดิมมีตาแป๊ะแก่ถือศีลกินเจ ชอบปลูกต้นสนไม้ดัดต่าง ๆ ไว้ดูเพ่งพิจารณาให้เกิดอารมณ์สมถะ (ผลได้คือสมาธิ) แล้วก็ต่อยอดยกขึ้นไปสู่วิปัสสนาปัญญาคนหนึ่ง เกิดเบื่อหน่ายสังขารโลกขึ้นมา จึงได้เดินทางไปนมัสการท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (เต้าสิ่นไต้ซือ) กราบเรียนท่านว่ากระผมชื่อ “ฮ่งยิ้ม” จะมาขอศึกษาธรรมะกับพระคุณเจ้า ครับ!

ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) พอมองเห็นตาแป๊ะแก่คนนี้ โหงวเฮ้งที่ใบหน้ามีราศีเขียว-อมดำซ้ายขวามากก็รู้ได้ด้วยญาณจักษุทันที ว่าความชราภาพของสังขารใกล้วาระจะแตกดับอยู่แล้ว คงจะไม่เกินวันนี้แน่ ท่านจึงพูดเป็นเชิงปริศนาว่า

พ่อเฒ่า “อายุสังขารก็ชรามากแล้ว ถึงจะเรียนรู้ไปก็สอนใครไม่ทัน เอาไว้ชาติหน้าเถิด! ฉันจะคอยสอนให้...”

จากนั้น แป๊ะแก่ (ฮ่งยิ้ม) ก็กราบลาท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 แล้วได้เดินทางไปยังริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง เห็นหญิงสาวพรหมจารีคนหนึ่ง กำลังซักผ้าอยู่ จึงร้องถามไปว่า

แม่หนู “ลุงขออาศัยบ้านพักสักหน่อยได้ไหม?”

หญิงสาวตอบว่า “ให้ไปถามบิดาของฉันก่อน...” ตาแป๊ะแก่ก็พูดว่า “ไม่ใช่! ขอพักบ้านของหนูนั่นเอง”

หญิงสาวผู้นี้ฟังคำพูดของตาแป๊ะแก่ (ฮ่งยิ้ม) แล้วก็ไม่รู้ความหมาย อึดอัดใจ...จึงตอบไปว่า “ได้”

จากนี้ ตาแป๊ะแก่ (ฮ่งยิ้ม) ก็ได้เดินทางไปอีกไม่นานก็ถึงแก่วาระสุดท้ายของชีวิต...

ส่วนหญิงสาวพรหมจารี คนที่กล่าวมานั้น อยู่ ๆ ก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา โดยมิได้ร่วมประเวณีกับชายใด ๆ เลย ฝ่ายบิดามารดาก็โกรธ... เป็นเดือดเป็นแค้นยิ่งนัก! จึงขับไล่ให้ออกจากบ้านไป หญิงสาวจึงซัดเซพเนจรเที่ยวขอทานเขากินไปวันหนึ่ง ๆ พอครบกำหนดก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย ด้วยความโกรธ! เพราะไอ้ลูกเจ้ากรรมคนนี้เอง เราจึงต้องตกระกำลำบากเรื่อยมา จึงอุ้มลูกเอาไปโยนทิ้งลงในคลอง พอรุ่งเช้า ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ก็นึกคิดถึงลูกขึ้นมา จึงเดินไปดูก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง! เพราะเห็นเด็กน้อยยังอยู่ที่ริมคลองและไม่เป็นอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเดินลงไปอุ้มขึ้นมาดู เห็นว่ายังไม่ตายก็เอากลับมาเลี้ยงไว้ตามมีตามเกิด ขอทานเขากินเรื่อยไปจนเด็กโตอายุ 7 ขวบ
อยู่มาวันหนึ่ง พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) ได้เดินทางผ่านมาเห็นเด็กคนนี้ มีหน้าตากิริยาท่าทางบ่งถึงความเป็นอัจฉริยะพิเศษกว่าเด็กทั้งหลายมาก ซึ่งขาดอีกเพียง 7 อย่างก็มีลักษณะ (โหงวเฮ้ง) เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียว

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 4 จึงถามเด็กว่า “หนูแซ่อะไร?”

เด็กขอทานตอบว่า “มีแซ่-แต่ไม่ใช่แซ่ธรรมดา”

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) จึงได้ถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น-แซ่อะไร?”

เด็กน้อยตอบว่า “แซ่-พุทธะ (ฮุกแส่...)”

พระสังฆปริณายก ได้พูดว่า “หนูไม่มีแซ่ของหนูเองดอกหรือ?”

หนูน้อยตอบว่า “เพราะแซ่-ว่าง (พุทธะ) จึงไม่มี”

พระสังฆปริณายก ก็รู้ด้วยญาณทันทีว่า นี่คือ ตาแป๊ะแก่ชื่อ “ฮ่งยิ้ม” ที่เคยมาขอเรียนธรรมะเมื่อ 7 ปีก่อนโน้น! บัดนี้ (ข้ามชาติ) มาเกิดเป็นเด็กชายคนนี้แล้ว

ท่านจึงออกปากขอแก่มารดา ฝ่ายมารดาเห็นว่า ท่านพระสังฆปริณายกมาขอลูกไปเป็นศิษย์ ลูกคงจะได้เล่าเรียนหนังสือ จึงได้ถวายให้ท่านไปเลย! (หมดหนี้ความเป็นแม่ลูกกันแค่นี้)

เมื่อเด็กน้อยซึ่งมีอายุได้เพียง 7 ขวบ พอมาถึงวัดแล้วก็บอกกับพระสังฆปริณายก องค์ที่ 4 ว่า “หลวงพ่อครับ! ผมอยากจะขอเรียนธรรมะครับ
พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 ก็พูดเป็นเชิงแบบจะทดลองสติปัญญาของเด็กไปว่า “เจ้าอายุยังน้อยอยู่เป็นเด็กยังเล็กมากเกินไป”

เด็กน้อย ก็ตอบทันทีว่า ทำไมเมื่อชาติก่อน ท่านหลวงพ่อ! จึงพูดว่า “อายุสังขารของผมแก่ชรามากเกินไปแล้วล่ะ? ที่มาตอนนี้ก็ว่าผมเป็นเด็กเกินไปอีก แล้วเมื่อไหร่ท่านหลวงพ่อ! จึงจะสอนให้ผมสักทีกันล่ะครับ? หลวงพ่อ!

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 นิ่ง! ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี? คิดว่าเจ้าเด็กน้อยผู้นี้คงจะระลึกชาติได้ด้วย จึงได้ทดลองสอบถามชื่อ และญาติวงศ์ทั้งบิดามารดาเรื่องต่าง ๆ ในชาติก่อนเด็กน้อยก็ตอบได้ถูกหมด

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 ก็ได้เริ่มสอนหนังสือ เด็กน้อยอ่านทีเดียวจำได้หมด ตราบไปจนกระทั่งพระคัมภีร์ต่าง ๆ ได้เรียนเพียงจบเดียวก็สามารถท่องจำได้จนหมด

เด็กน้อยบอกว่าชาติก่อนเคยสวดสาธารยายพระคัมภีร์เหล่านี้มามากมายแล้ว

พระสังฆปริณายกจึงได้ทำการบวชให้เป็นสามเณร แล้วขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ให้ประชาชนฟังได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง! ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเมือง พอบรรลุธรรมแล้ว และอายุครบบวช ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ภายหลังได้รับการถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็น พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 (ในเมืองจีน) สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป

แล้วท่านพระสังปริณายก องค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) ยังได้กล่าวโศลกให้ไว้บทหนึ่งว่า:-


“ดอกกับพืชมีการเกิดเป็นนิสัย
เพราะอาศัยดินอยู่ดอกไม้เกิดเรื่อย ๆ
มหาเหตุปัจจัยกับนิสัยอันเหมาะสม
พอเกิดแล้วก็เกิดอย่างไม่เกิด.”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (ฮ่งยิ้ม) มีสานุศิษย์เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มากกว่าองค์ใด ๆ มาวันหนึ่ง ท่านมีมรณญาณ จากนี้ได้ประชุมสานุศิษย์นั่งสมาธิดับขันธ์นิพพานในฌานสมาบัติไป อายุได้ 85 พรรษา พระศพท่านได้บรรลุไว้ในเจดีย์หลวงชื่อ “ฮวบโหว” เมืองคีจิว ตำบลอึ้งบ๊วย ภายหลังพระเจ้าต่อจงได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้นามว่า “ไต้มั้วเชี้ยงซือ”

ก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน 3 ปี ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดให้แก่ศิษย์ชื่อ “พระเว่ยหล่างมหาครูบา” แต้จิ๋ว อ่านว่า “หุยเล้งไต้ซือ”


“ขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างสูง แก่ทุก ๆ ท่านที่มีความกล้าหาญ พอที่จะ กิน และย่อย ถ้อยคำที่กล่าวตามแบบของ เว่ยหล่าง หรือ ฮวงโป ซึ่งเมื่อทำได้แล้ว จะหล่อเลี้ยงนามกาย ให้เจริญเติบโต พรึบเดียว เท่าท้องฟ้า หรือมหาสมุทร เป็นอย่างน้อยทีเดียว.”


พุทธทาสภิกขุ.

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

ศิลาจารึกบนฝาผนังแผ่นที่ 6

ชีวประวัติพระสังฆปริณายก องค์ที่ 6
พระเว่ยหล่างมหาครูบา (หุยเล้งไต้ซือ)

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 6 (ลั๊กโจ้วไต้ซือ) เกิด ณ ตำบลซุนเจา มณฑลกวางตุ้ง สมัยแผ่นดินถัง บู๊เต็อก ปีที่ 3 เดือนที่ 9 บิดาชื่อเฮ่งเทา แซ่โล้ว มารดาชื่อ นางลี้ษี เป็นข้าราชการในเมืองหลวง ภายหลังถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกเนรเทศไปอยู่ที่ซุนเจา บ้านเดิมด้วยความยากจนตลอดมา

คืนหนึ่ง “นางลี้ษี” ได้เกิดนิมิตฝันเห็นว่าดอกไม้หน้าบ้านบานสะพรั่งขาวหมดทุกดอก มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไปทั่วเมือง และยังมีหงส์ขาวบินร่อนอยู่บนท้องฟ้าอีก 2 ตัว หลังจากนี้ นางได้ตั้งครรภ์จิตใจก็เกิดศรัทธาในพุทธศาสนา อยากถือศีลกินเจ อุ้มท้องอยู่ถึง 6 ปี จึงคลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย ขณะที่คลอดออกมานั้นได้มีสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง คือมีแสงสว่างพวยพุ่งเป็นรังษีออกจากบ้านไปลอยอยู่ท่ามกลางนภากาศเป็นเวลานานจึงถึงรุ่งเช้า มีพระภิกษุแปลกหน้า 2 องค์ เข้ามาในบ้านบอกกับบิดาของ ท่านเว่ยหล่าง ว่าฉันรู้ว่าภรรยาของท่านคลอดบุตรเป็นผู้ชายมีบุญมาก ฉันจะขอตั้งชื่อให้ว่า “เว่ยหล่าง” (ภาษีจีนแต้จิ๋ว) อ่านว่า “หุยเล้ง”

บิดาท่านจึงถามว่า ทำไมจึงชื่อ “หุยเล้ง”

พระภิกษุตอบว่า “หุย” ตัวนี้ คือ-หุย-มีความอารีอารอบ เมตตากรุณา ในทางให้ธรรมเป็นทานไปยังสรรพสัตว์ แล้ว “เล้ง” ตัวนี้ คือ-เล้ง-มีความสามารถที่จะทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า พอพูดจบคำพระภิกษุ 2 องค์นั้นก็ออกจากบ้านหายไปทันที

เว่ยหล่าง อายุ 3 ขวบ บิดาก็ได้ถึงแก่กรรม มารดาเป็นหม้ายเลี้ยงบุตรจนโตด้วยความยากจน ไม่สามารถส่งบุตรชายเรียนหนังสือได้ “เว่ยหล่าง” ต้องไปตัดฟืนมาขายเลี้ยงมารดาด้วยความกตัญญู จนอายุย่าง 24 ปี ได้พบอุบาสกท่านหนึ่งกำลังบริกรรม “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (กิมกังปัวเยียปอล่อมิกเก็ง)” อยู่ พอได้ฟังข้อความในสูตรเท่านั้น ใจก็ลุกโพลง! สว่างไสวในพุทธธรรมขึ้นมาทันที จึงได้พูดว่าอยากจะไปศึกษาธรรมเหลือเกิน แต่ไม่มีผู้อุปถัมภ์เลี้ยงมารดา ด้วยผลของบุญกุศลที่ได้เคยสร้างสมแจกธรรมทานมาแต่ปางก่อน จึงได้มีชายผู้อารีคนหนึ่งเกิดความศรัทธามากได้ให้เงิน 10 ตำลึงเพื่อมอบให้มารดาไว้ใช้สอยในระหว่างที่ “เว่ยหล่าง” ไม่อยู่

แล้วเว่ยหล่างได้ออกเดินทางไปร่วม 30 วัน จึงถึงวองมุย (อึ้งบ๊วย) ได้นมัสการพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) ได้ถามว่า “มาจากไหน...และต้องการประสงค์อะไร?”

เว่ยหล่าง ตอบว่า กระผมเป็นคนพื้นเมืองซุนเจา แห่งมณฑลกวางตุ้งเดินทางมาแสนไกล เพื่อมาสักการะเคารพแด่คุณพ่อ และกระผมไม่ต้องการอะไร “นอกจากธรรมชาติแห่งการเป็นพุทธะ! อย่างเดียวเท่านั้น”

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้ม) พูดว่า “เจ้าเป็นชาวเมืองกวางตุ้งหรือ? เป็นคนป่าคนเยิง... แล้วเธอจะหวังเป็นพุทธะ! ได้อย่างไรกัน?”
เว่ยหล่าง ตอบว่า “แม้ว่าจะมีคนชาวเหนือ และคนชาวใต้ก็จริง...แต่ทิศเหนือและทิศใต้นั้น... หาได้ทำให้ความเป็นพุทธะ! ซึ่งมีอยู่ในคนนั้น ๆ แตกต่างกันได้ไม่... คนป่าคนเยิงจะแตกต่างจากคุณพ่อ ก็แต่ในทางร่างกายเท่านั้น แต่ไม่มีความแตกต่างกันในทางธรรมชาติ แห่งความเป็น พุทธะ! ของเราทั้งหลายเลย...”

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) นิ่ง! เลยชี้บอกใช้ไปสมทบทำงานตำข้าวตัดฟืนกับหมู่คนทางโน้มก่อน!

เว่ยหล่าง ได้พูดต่อไปอีกว่า “กระผมขอเรียน คุณพ่อว่า วิปัสสนาปัญญา” เกิดขึ้นในใจของกระผมอยู่เสมอ ๆ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้มีจิตใจเลื่อนลอยไป จากธรรมชาติแห่งนิสัยเดิมแท้ของตนเองแล้ว ก็ควรที่จะเรียกเขาผู้นั้นว่าผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกเหมือนกัน แล้วกระผมไม่ทราบว่างานอะไร? ที่คุณพ่อจะให้กระผมทำ...”

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) พูดว่า เจ้าคนป่านี้ มีรากเหง้าของนิสัยที่จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล” จงไปที่โรงตำข้าวโน้นก่อน! แล้วอย่าเพิ่งพูดอะไรอีกเลยนา...

ต่อมา เว่ยหล่าง พอได้ฟังเด็กท่องโศลกของ “ครูชินเชา (ซิ้งซิ่ว)” ที่แอบไปเขียนไว้บนฝาผนังนั้นกล่าวว่า :-


“กาย คือ ต้น โพธิ์
จิต เหมือน กระจกเงาใสบนแท่น
ทุก ๆ เวลาต้องหมั่นปัดเช็ด
อย่าใช้ยั่วเย้า (ก่อ) ฝุ่นละออง.”

เว่ยหล่าง พอได้ยินโศลกนั้นแล้ว ก็ทราบทันทีว่าผู้แต่งโศลกนั้น (คือครูชินเชาภิกษุ) มีปัญญาเก่งเพียงแค่โลกียธรรม รู้แจ้งอนัตตา (อนัตตาธรรม) เท่านั้น ยังไม่พบนิสัยเดิมแท้ของตนเอง ยังไม่รู้แจ้งทางจิตใจตนเอง เข้าไม่ถึง (สุญตาธรรม)

“เว่ยหล่าง” จึงได้แต่งโศลกขึ้นใหม่ แล้วบอกกับ “จางตัดยูง (เตียยิกเอ่ง)” ว่าช่วยกรุณาเขียนโศลกผมไว้บนฝาผนังนั้นให้ทีเถิด!
จางตัดยูง พูดเป็นเชิงดูถูกว่า คนอย่างเอ็งนี้หรือ? จะมาแต่งโศลกเป็นกับเขาด้วย หือ! มันก็แปลกพิลึกกึกกือกันนะซีโว้ย!

เว่ยหล่าง ตอบไปทันทีว่า “ถ้าท่านจะศึกษา-พระโพธิญาณ-อันสูงสุดกันแล้ว จงอย่าได้ดูถูกดูหมิ่น คนที่เริ่มศึกษาธรรมะ ท่านควรรู้ไว้ว่า...คนที่ถูกทางโลกเขาจัดไว้ว่าเป็นคนชั้นต่ำ ๆ นั้น บางทีก็อาจจะมีปัญญาชั้นสูงเกิดแวบ! ขึ้นมาก็ได้เหมือนกัน. แล้วคนที่ถูกทางโลกเขาจัดไว้ว่าเป็นคนชั้นสูง ๆ นั้น บางทีก็อาจจะมีการเผลอสติบ่อย ๆ แสดงความโง่ ๆ ออกมาก็มีได้เหมือนกัน...”

จางตัดยูง จำนวนด้วยเหตุผล จึงพูดว่า เอ้า! บอกมาซี! จะช่วยเขียนโศลกให้ แล้วถ้าเอ็งบรรลุธรรมเมื่อไร? ต้องอย่าลืมมาช่วยโปรดกันก่อนนะโว้ย!

เว่ยหล่าง จึงได้กล่าวโศลกให้ “จางตัดยูง” เขียนไว้บนฝาผนังนั้นว่า:-


“โพธิ์ เดิม ไม่มีต้นไม้
กระจกเงาใส ก็ มิใช่แท่น
เดิมมาไม่มีแม้แต่หนึ่งสิ่ง
ที่ไหนจะยั่วเย้า (ก่อ) ฝุ่นละออง?.”

เมื่อ พระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) ได้มาพบโศลกของ “เว่ยหล่าง” อีกเข้าแล้ว ท่านก็รู้ได้ทันทีว่ามีปัญญาญาณมองทะเลได้ผ่าน “อนัตตา” คือโลกียธรรมไปแล้ว เข้าถึง “สุญตา” คือ โลกุตรธรรมแล้ว จิตหลุดพ้นเข้าถึงช่องว่างสุญตา (สุญตาธรรม) นิพพานเป็นความว่างเปล่าไปได้บ้างแล้ว และผู้ที่เราคอยคัดเลือกมานมนานแล้ว ที่จะให้สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อจากเราไปนั้นก็คือ “เว่ยหล่าง” นี้เอง ท่านจึงได้ทำการลบโศลกของ “เว่ยกล่าง” กล่าวไว้นั้นทิ้งไปเสียก่อน เพื่อที่จะได้ปกปิดเป็นความลับไว้ก่อน.

หลังจากนี้ไป พอวันรุ่งขึ้น “เว่ยหล่าง” ก็ได้รับฟังคำสอนอันเร้นลับต่าง ๆ และฟังการอรรถาธิบายข้อความอันลึกซึ้งใน “พระคัมภีร์มหาสุญญตา คือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” จีนเรียกว่า “กิมกังปัวเยี้ยปอล่อมิกเก็ง” จาก พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มมหาครูบา) ในตอนกลางคืนนั้นอีกมากมายว่า “พึงยังจิตมิให้บังเกิดมีความยึดถือผูกพันในสภาวะใด ๆ” (หรือจิตเกิดอย่างไม่ติด จิตเกิดอย่างไม่ติดในสภาวะใด ๆ)

เว่ยหล่าง พอได้ฟังมาถึงใจความตรงนี้...เข้าเท่านั้นจิตใจก็ลุกโพลง! สว่างไสวออกมาอย่างแจ่มแจ้งในธรรมชาตินั้นขึ้นมาทันที ได้เกิดปัญญาบรรลุถึงสภาวะที่แท้แห่งจิตทันที คือปัญญาญาณเบื้องสูง ได้มองทะลุเห็นอย่างชัดแจ้งว่า “โอ...ที่แท้ทุก ๆ สิ่งหรือสรรพธรรมทั้งปวง...มิได้ห่างจากธรรมชาตินิสัยเดิมแท้ของเราไปเลย”

เว่ยหล่าง ได้ร้องขึ้นมาทันที ในเฉพาะหน้า พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 ในทันทีนั้นอีกว่า “แหม! ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น เป็นของบริสุทธิ์... ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น ไม่เกิดและไม่ดับสูญ... ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง... ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น ไม่ส่าย... ไม่หวั่นไหว... ไม่กวัดแกว่ง... เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง... ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น สามารถที่จะเกิดนานาธรรมชาติ ทุก ๆ สิ่งได้แล...”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5. (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) พอเห็นว่า “เว่ยหล่าง” ได้บรรลุธรรมรู้แจ้งแล้ว คือพบสภาวะที่แท้แห่งธรรมชาติของนิสัยเดิมแท้ของตนเองแล้ว (คือจับจุดได้รู้แจ้งธาตุแท้ทางอนุสัยจิตใจอันมั่นคงดี) ท่านได้บอกอีกว่า พึงจำเอาไว้ให้ดี ๆ นะ! “ถ้าบุคคลใด ๆ ไม่รู้จักจิตเดิมแท้ (สภาวะที่แท้แห่งจิต) ของตนเองว่าคืออะไรแล้ว ป่วยการไปศึกษาธรรมะ หรือจะศึกษาธรรมะไปก็ไร้ผล ไม่ได้ประโยชน์ ตรงกันข้าม ถ้าบุคคลใด ๆ รู้จักจิตเดิมแท้ของตนเองบ้าง ว่าเป็นอะไร? และได้พบธรรมชาตินิสัยเดิมแท้ของตนเองบ้าง ว่าคืออะไร? และเห็นแจ้งด้วยปัญญาญาณของตนเองแท้ อย่างซึมซาบว่าในธรรมชาติแท้ ๆ ของสภาวะจิตใจของตนเอง ว่ามีลักษณะวาระจิตอย่างไร? คืออะไรอีกด้วยแล้ว เขาผู้นั้นชื่อว่า วีรบุรุษ คือ ครูบาของเทวดาและมนุษย์คือ-พุทธะ.”

ดังนั้น ในฐานะที่ความรู้ย่อมไม่เป็นของบุคคลใดผูกขาดไว้แต่ผู้เดียว...ผลก็คือ ท่านอุบาสกเว่ยหล่างอายุ 24 ปี ได้รับการถ่ายทอดหัวใจธรรมะทั้งหมดด้วย “จิต-ถึง-จิต” ในเที่ยงคืนนั้นเอง.

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5. (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) ท่านได้กล่าวอีกว่า บัดนี้ท่านเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 6. (ถ้านับจากอินเดียตามสายลงมาเป็นอันดับองค์ที่ 33) สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาจากฉันไปแล้ว ฉันจะมอบ “บาตร จีวร สังฆาฏิ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ “ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา” ได้นำมาจากอินเดียให้ท่านไป เป็นธรรมเนียม ซึ่งทำกันลงมาแต่ดั้งเดิมอย่างนี้ บัดนี้ท่านจะต้องรักษาตัวของท่านไว้ให้ดี ๆ นา! และคุ้มครองปูชนียวัตถุเหล่านี้สืบไว้ให้ดี ๆ นา! เพราะว่าความลับในสัจธรรมทั้งหลายอยู่ในตัวท่านหมดแล้ว จงช่วยสอนธรรมโปรดมนุษย์ทั้งหลายให้ได้มหาสติ... จงช่วยสัตว์เดรัจฉานให้รอดตาย... ให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้เป็นมหาอุดมคติ... จงหาวิธีพยายามทำการเผยแพร่พระธรรมคำสอนที่สืบทอดไปนี้ ให้อนุชนแต่ละรุ่นรับช่วงไป... จงระวังอย่าให้ขาดตอนลงไปได้...ส่วนการถ่ายทอดมอบ บาตร จีวร สังฆาฏิ แบบเดิมนั้นจะทำให้พวกเบาปัญญา ที่ยังไม่บรรลุธรรมคิดโลภ อยากได้ แล้วจะเกิดมีภัยในการยื้อแย่งกัน ฉะนั้นมาถึงยุคที่พระธรรมคำสอนแพร่หลายแล้ว ท่านสมควรหยุดการถ่ายทอดเรื่องวัตถุนี้เสีย จงถ่ายทอดธรรมด้วย “จิต-ถึง-จิต” จิตถึงจิตก็พอแล้ว ถือเอาผู้บรรลุธรรม ผู้นั้นเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาเอง จงตั้งใจฟังจำโศลกของฉันสืบเอาไว้ให้ดี ๆ อีกด้วย:-


“มีอารมณ์เรามาหว่านเชื้อเมล็ดพืชพันธุ์
เพราะว่าอาศัยพื้นดินผลก็ยังเกิด
ไม่มีอารมณ์แล้ว ก็ไม่มีเชื้อเมล็ดพืชพันธุ์
ไม่มีนิสัยแล้ว – ก็ – ไม่เกิด”


พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5. (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) บอกกับท่านเว่ยหล่างอีกว่า เวลานี้ตัวท่านเสี่ยงภัยจากอันตรายมาก อาจจะมีพวกที่ไม่เห็นธรรมะใจบาปคิดอจิฉาทำร้ายต่าง ๆ นานา ใจบาปกรรมอย่างนี้จะต้องตกนรกอย่างหนัก ท่านจะต้องหนีออกไปจากวันในคืนนี้ทันที.

ท่านเว่ยหล่าง บอกท่านพ่อว่า “กระผมเป็นคนชาวไต้ แล้วก็ไม่รู้จักหนทางภูเขาแถบนี้เลย ว่าจะเดินทางออกไปลงเรือที่ปากแม่น้ำได้อย่างไร?”
ท่านพ่อ โอ...อมิตาพุทธ อย่าเป็นห่วงเลย! ฉันจะช่วยนำทางไปส่งจนถึงปากแม่น้ำกิวกังด้วย แล้วหลังจากเราได้จากกันในคืนนี้ไป เราก็จะไม่ได้พบกันอีกแล้ว เพราะว่าฉันจะมีอายุอยู่ไปอีกได้ก็เพียง 3 ปี แล้วก็จะจากโลกนี้ไป ท่านจงเดินทางลงไปหลบซ่อนตัวไว้ในภาคใต้นั้นก่อน ไปให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ อย่าด่วนทำการเผยแพร่ให้เร็วเกินไปนัก เพราะว่าพุทธธรรม (เซ็นหรือฌาน) นี้ ไม่ใช่จะสอนมนุษย์ได้ง่าย ๆ นัก ต่อไปนี้ฉันเชื่อว่าด้วยปัญญาญาณของท่านนี้เองจะทำให้หัวใจธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ พุทธธรรมคำสอนต่าง ๆ นี้ จะแผ่ไพศาลไปได้อย่างกว้างขวางที่สุดแห่งยุคแน่นอน สาธุ!

จากนี้ “ท่านเว่ยหล่าง ได้หนีไปหลบซ่อนตัวอยู่กับพวกพรานในป่าทึบอยู่นานถึง 15 ปี ท่านถือมังสวิรัติ (กินผัก) ไม่ได้เบียดเบียนชีวิตเลือดเนื้อสัตว์ใหญ่ที่มีมือมีตีน ท่านเดินสายกลางยามจนมุมเข้าแล้วก็เอาผักลงไปอาศัยต้มในหม้อเนื้อของพวกพรานป่า แล้วก็หยิบฉันแต่พวกผักล้วน ๆ คือสายกลางยามหมดทางหลีกได้แล้ว ก็เอาตรงนั้นเป็นกลาง ฉันแต่ผักในจานเนื้อของเขา... จนพวกพรานป่าเห็นแล้วนึกแปลกใจ! ท่านก็ฉวยโอกาสที่เขาเกิดอารมณ์นี้ชี้แจงแสดงธรรมเท่าที่จะพอโปรดเขาได้ไปพลางด้วยเสมอ ๆ (ตรงนี้เป็นแบบอย่างที่ดีของการเดินสายกลาง)
ได้อุปสมบทเป็น “พระภิกษุเว่ยหล่าง” เมื่ออายุ 39 ปี ได้ทำการประกาศธรรมโปรดสัตว์อยู่นานถึง 37 พรรษา พระเจ้าจักรพรรดินี “บุ๊เช็กเทียง” ได้พระราชทาน บาตรไพฑูรย์ และนิสีสันทัด 1 ชุด ใบชาหอม 5 ห่อ เงินแท่ง 300 ก้วง มอบให้ราชเลขาธิการ ชื่อ “โง้วฉุ่งเท่ง” นำไปถวาย แล้วยังได้รับสั่งให้ข้าหลวงแห่งชิวเจา (เซี่ยวจิว) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดของท่านให้เป็น พระอารามหลวง และให้ดัดแปลงบ้านเกิดของท่านให้เป็น “พระวิหาร” ขึ้นมาอีกด้วย ได้พระราชทานนามว่า “กว๊อกเยนยี่ (ก๊กอึงยี่)”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 (เว่ยหล่าง) พอมีพระชนมายุ 76 พรรษา ได้เกิดมรณญาณ คือรู้วันเดือนปีที่จะแตกดับของสังขารจึงได้เรียกประชุมสานุศิษย์ต่าง ๆ มาพร้อมกันแล้ว ได้กล่าวโศลกต่าง ๆ อีกมากมายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วรับสั่งว่าฉันจะจากโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็นั่งนิ่งเข้าสมาธิดับขันธ์ในฌานสมบัตินั้นไป พระศพของท่านได้บรรลุไว้ในเจดีย์หลวง ณ เมืองโซกาย (เช่าโคย) ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นามว่า “ไต้ก่ำเซี้ยงซือ”

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2010, 12:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 พ.ย. 2009, 18:14
โพสต์: 435

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: :b48: :b48:

คำอนุโมทนาการจัดพิมพ์แจกทาน

(มีเคล็ดลับนำเรื่องที่ควรอ่านก่อน)

ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงหนังสือ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น” เล่ม 1 (ลั๊กโจ้วซือตึ่ง) และศิลาจารึกปริศนา ธรรมชีวประวัติของพระสังฆปริณายกถึง 6 พระองค์ (พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2508) บัดนี้ได้มีโอกาสจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 28 ทำให้ข้าพเจ้ามีความปิติซาบซึ้งใจมิรู้หาย และขอขอบคุณท่านผู้ที่อุทิศเงินร่วมกันสร้างมหาเมตตากรุณาโพธิสัตว์ธรรมทานบารมีไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างสูง สาธุ!

ขอให้จงเป็นกัลยาณมิตรได้มีบุญกุศลร่วมอุดมคติสร้างอาณาจักรใจนี้ทุกชาติภพ ตราบไปจนกระทั่งหมดชาติขาดภพคือ “นิพพาน” ด้วยเทอญ สาธุ!

ดร. สุสุกิ ปราชญ์เอก อายุร่วม 100 ปี แห่งญี่ปุ่น ได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเอาเซ็น (ธยาน) ออกไปเสียแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง ญี่ปุ่นก็จะไม่มีอะไรดีเหลืออยู่” ซึ่งคำพูดของท่านปราชญ์เฒ่าผู้นี้ได้ทำให้ชาวยุโรปและอเมริกาตื่นตัว สนใจเรื่อง “เซ็น – สุญตาคือความว่าง” นี้เป็นอย่างมาก (เซ็น คือ ฌานในที่นี้เป็นปัญญาวิมุตติ)

ข้าพเจ้าจึงรวบรวมตำนานพื้นเมือง ประวัติศาสตร์บางตอนจากคำบอกเล่าสอนศิษย์ของบิดาข้าพเจ้า และได้อาศัยการศึกษาหลักธรรม คำสอนของท่านเจ้าคุณ พระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา พร้อมทั้งได้ศึกษา พระคัมภีร์เซ็น (ฌาน) ต่าง ๆ จากท่านพระอาจารย์หลวงจีนเย็นบุญภิกขุ และท่านอาจารย์นายแพทย์ ตันม่อเซี้ยง อีกมากหลาย ได้เรียนวิชา “ม่อซุก” คือศิลปะของมารแห่งภูเขาเม่าซัว มณฑลกังโซว คือ การเสกใบไม้ให้กลายเป็นตัวต่อตัวแตน เสกเม็ดมะม่วงให้งอกขึ้นได้ในทันที พร้อมทั้งศิลาจารึกปริศนาธรรมะ ชีวประวัติ ของพระสังฆปริณายกถึง 6 องค์ จีนเก็บเรื่องนี้ไว้สมัย “พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่” เมื่อประมาณ 1,400 ปีเศษมาแล้ว

ในอนาคตกาลถ้าหากว่า จะมีการจัดพิมพ์หนังสือ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น (ฌาน) เล่มที่ 1” ขึ้นมาอีกเมื่อไรแล้ว ข้าพเจ้าขอความกรุณาต่อท่านผู้ที่จะเป็นผู้จัดการพิมพ์ ให้เอาเล่ม 1 ที่พิมพ์ตั้งแต่ครั้งที่ 20 (พ.ศ. 2532) ขึ้นไปเป็นต้นฉบับแบบอย่างสำหรับเรียงพิมพ์ด้วย เพราะว่าแบ่งเป็น 14 บท และมีสารบัญค้นเรื่องดีด้วย (ยิ่งพิมพ์ครั้งหลัง ๆ สุดสำนวนยิ่งดีขึ้นมาก)

ส่วนเล่ม 2 ให้เอาที่พิมพ์ครั้งที่ 10 ขึ้นไปเป็นต้นฉบับ เพราะว่าข้าพเจ้าได้แก้ไขสำนวนใหม่ ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2532 แบ่งเป็น 27 บท ได้ทำสารบัญการค้นเรื่องด้วย เอางวดนี้เป็นต้นฉบับไป หรือพิมพ์ครั้งหลัง ๆ สุดกว่านี้ดีที่สุด มีเวลาตรวจแก้ต้นฉบับเวลาพิมพ์เอง และขอความกรุณาโปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบก่อน ข้าพเจ้าสงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายและต้องควบคุมการตรวจแก้ตีพิมพ์เอง

เนื่องจากได้มีผู้สนใจศึกษาหนังสือธรรมะชุดนี้ นับวันจะมากขึ้น ๆ ไปทุกที และข้าพเจ้ายังได้รับจดหมายจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กต่าง ๆ ที่มีสายตามองโลกกาลไกล ๆ เป็นห่วงในอนาคตของบุตรหลานขาดธรรมหล่อเลี้ยงวิญญาณจิตใจจะโหดเหี้ยมมากเกินไป จึงได้แจ้งมาสนับสนุนกับข้าพเจ้า ว่าสมควรจะเขียนหรือเรียบเรียงหนังสือธรรมะประเภทชี้แนะแนวทางให้รู้แจ้ง ทางอนุสัยจิตใจแบบนี้ออกมาให้มาก ๆ หน่อย เพราะว่าเขาได้ทดลองเอาไปให้พวกลูก ๆ หลาน ๆ ที่เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ไปแล้ว อ่านกันดูรู้สึกว่าพวกเด็ก ๆ เหล่านั้นพอจะมีทางรู้เรื่องธรรมะ และยังติดใจชอบจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ในเล่มนั้น นำเอาไปพูดคุยกันเล่น ๆ อีกด้วย และผลที่ได้เกิดขึ้นก็คือทำให้เขาสามารถชักจูงเด็ก ๆ เข้าวัด แล้วอบรมสั่งสอนอะไรบางอย่างมีทางง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ๆ มาก เป็นที่พอใจของเขามากที่ได้รับแจกธรรมทานจักษุ คือหนังสือชุดนี้ไป ฉะนั้นจึงได้ขอส่งเงินมาร่วมกองบุญ เพื่อเพาะเชื้อกุศลบารมีสมทบทุนในการพิมพ์ไว้แจกเป็นมหาทานได้สืบอายุบุญให้ยืนด้วยธรรมาณาจักรใจแนวทางนี้ต่อ ๆ ไปอีก สาธุ!

ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้ปกครองต่าง ๆ ในทำนองนี้ มิใช่น้อยทีเดียว ที่เชื่อมือ...ไว้ใจส่งให้เองและให้เกียรติแก่ข้าพเจ้ามาก และรู้สึกปิติซาบซึ้งใจมิรู้หาย จึงขอขอบคุณท่านทั้งหลายไว้ ณ ที่นี้ด้วยเป็นอย่างสูง

แล้วรายชื่อที่จารึกท้ายเล่มนั้น 90% ไม่เคยเห็นหน้ากันและไม่เคยได้ยินเสียงกันมาก่อนเลย... จากจิตถึงจิต เขาเห็นผลงานนักบุญตัวอย่างที่ใคร ๆ ก็ขอทาง จ.ม. ได้ฟรี ๆ (ห้องสมุดประชาชนส่งฟรี ๆ) เกิดเมตตาจิตเอง ส่งเงินมาให้เองแล.... สาธุ!

บาทหลวงฝรั่งเรียกข้าพเจ้าว่า “นักบุญธีรทาส”

ถ้าหากว่าหนังสือธรรมะชุดนี้เกิดมีคุณประโยชน์ เป็นเพื่อนทางใจแก่มวลมนุษย์ เป็นธรรมาอาณาจักรใจที่ให้ความรู้แจ้งทางจิตใจแก่มนุษย์ และยังได้สร้างไว้ให้สัตว์โลกอาศัยพึ่งพักพิงได้มีวิญญาณอิสระบ้าง เป็นพระมหาเมตตากรุณาธรรมทานช่วยปล่อยชีวิตสัตว์ให้รอดตายบ้าง หรือเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างไว้บนแผ่นกระดาษขึ้นมาบ้าง แล้วข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงขออุทิศบุญกุศลเหล่านี้ให้แก่ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ปู่ย่า ตายาย มิตรสหาย หรือผู้ที่มีพระคุณ ที่ข้าพเจ้ารู้ก็ดี เห็นก็ดี ไม่รู้ก็ดี ไม่เห็นก็ดี ถึงแม้ศัตรูหมู่อมิตรก็ดี และท่านผู้ที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ตราบไปจนกระทั่งสรรพสัตว์ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในทะเล ทุกข์อันขมขื่นมีการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพน้อยภพใหญ่แห่งสังสารวัฏ อันไม่มีประมาณและกำจัดนั้นอีกด้วย ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีส่วนแบ่งแห่งเนื้อนาบุญกุศลในธรรมจักษุทานบารมีนี้ แล้วจงช่วยบอกต่อ ๆ กันไปด้วย ขอให้อนุโมทนากันเองได้ทุกเวลา ตลอดทุกชาติภพเถิด สาธุ!

ส่วนตัวข้าพเจ้านี้ ถ้าหากว่ายังมี – ชาติ – ภพ อยู่ตราบใดแล้ว ขอให้จงมีโอกาสได้สร้างสมบุญกุศลและปัญญา – ศีล – สมาธิบารมี พร้อมทั้งได้ประกาศสัจธรรมการรู้แจ้งทางจิตใจให้แก่สรรพสัตว์ไป ตราบจนกระทั่งได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกมนุษย์นี้ด้วยเทอญ สาธุ!


จาก ธีระ วงศ์โพธิ์พระ (ธีรทาส)
(เจ้าของผู้จัดการ ชมรมกองบุญพุทธภูมิ พิมพ์หนังสือธรรมทานชุดนี้)


ที่มา...
http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=106.15
http://aurseeyou.net/forum/index.php?bo ... rt=subject

.....................................................
สรุปคำสอนของสมเด็จองค์ปฐม
"ท่านทั้งหลาย การหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของ ไม่ยาก
1. ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตาย อาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ
2. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้ (ด้วยความจริงใจ)
3. มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ
4. เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหม ในชาติต่อไป ทุกท่านเห็นนิพพาน แล้วตั้งใจไปพระนิพพานได้ในที่สุด"


แก้ไขล่าสุดโดย sirisuk เมื่อ 07 ส.ค. 2010, 18:27, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2010, 14:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 16:53
โพสต์: 113

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:
เป็นประโยชน์มากค่ะ
tongue

.....................................................
คำของหลวงพ่อชา
“ทุกอย่างในโลกนี้มันถูกอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด”


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร