วันเวลาปัจจุบัน 14 ก.ย. 2024, 11:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 07:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตำ น า น พ ร ะ ป ริ ต ร
สิ บ ส อ ง ตำ น า น

~ชุ ม นุ ม เ ท ว ด า~

ขอเชิญบรรดาเทพเจ้า ผู้สถิตในสรวงสวรรค์ ชั้นกามาวจร รูปภพ
และเป็นผู้สถิตเหนือยอดเขาและหุบเขา และวิมานอันมีอยู่ในอากาศ
ทั้งที่สถิตบนเกาะในแว่นแคว้น ที่แดนบ้าน และบนต้นไม้
ในป่าโปร่ง และป่าทึบ ที่เรือน ที่เรือกสวนไร่นา

อีกทั้งบรรดายักษ์ คนธรรพ์ และนาคผู้เป็นมิตร เป็นกัลยาณชน
ที่สถิตอยู่ในน้ำ และบนบก ในที่ลุ่ม ที่ดอน

ขอจงมาประชุมกันในที่นี้ เพื่อฟังคำของพระมุนีอันประเสริฐ
ซึ่งข้าพเจ้าจักสวดต่อไป ณ บัดนี้

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้ถึงกาลฟังธรรมแล้ว

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้ถึงกาลฟังธรรมแล้ว

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้ถึงกาลฟังธรรมแล้ว

รูปภาพ

~คำ บู ช า พ ร ะ บ ร ม ศ า ส ด า~

มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ
มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน
เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมเทพยดา
อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์
มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ

สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา
จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า “นะโม”

หมายถึง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา
พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง


กล่าวฝ่าย อสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระเกียรติศัพท์ ของพระบรมศาสดา
ก็มีจิตปรารถนา ที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง
แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลน พระบรมศาสดา ว่า

มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่
พอนานวันเข้า พระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลก
จนทำให้อสุรินทราหูอดรนทนอยู่มิได้

จึงเหาะมาในอากาศ ตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย
เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอฟังธรรม

แต่พอมาถึงที่ประทับ
อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า
เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา

พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม
ชำระจิตอันหยาบกระด้างของ อสุรินทราหู
ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า ตัสสะ

แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ

เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก
มีชื่อเรียกว่า ชั้น กามาวจร มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ
พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา
พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมตอบปัญหา
แก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร
จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวาร

ท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า ภะคะวะโต

แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

อะระหะโต เป็นคำกล่าวสรรเสริญ ของท้าวสักกะเทวราช
เจ้าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ท่านสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ท้าวสักกะเทวราช ได้ทูลถามปัญหา แด่พระผู้มีพระภาค
พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และ ทรงตอบปัญหา
จนทำให้ท้าวสักกะเทวราช ได้ดวงตาเห็นธรรม
บรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า “อะระหะโต”

แปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง

สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญของท้าวมหาพรหม
หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ
จึงเปล่งคำสาธุการ “สัมมาสัมพุทธัสสะ”

หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่ง กว่าผู้รู้อื่นใด

รวมเป็นบทเดียวว่า

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”


แปลโดยรวมว่า

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

รูปภาพ

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ม ง ค ล สู ต ร~

บทขัดมงคลสูตร

มวลหมู่มนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย พากันขบคิดหามงคลใด
สิ้นเวลาไป ๑๒ ปี ก็หาได้รู้ถึงมงคลที่แท้ไม่ ความโกลาหล
ด้วยเรื่องมงคลเกิดไปทั่วหมื่นจักรวาล กระทั่งถึงพรหมโลก
ตลอดกาลนาน ด้วยเรื่องมงคล

สมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้า ทรงแสดงมงคลนั้น
อันเป็นเหตุยังบาปทั้ง ปวงให้เสื่อมหายไปนรชนมีจำนวน
แม้ตนสุดท้ายก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฟังมงคลนั้น


ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดสาธยายมงคลนั้น
ซึ่งปรากฏผลให้พ้นทุกข์ดังกล่าว มาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สดับด้วยเทอญ

ตำนาน

ในมงคลสูตรนี้ มีเนื้อความเริ่มต้นว่า

หมู่มนุษย์ทั้งหลาย ในชมพูทวีป มาประชุมกันที่ประตูเมือง
แล้วต่างก็พากันพูดคุยกันว่า สิ่งที่ตนนับถือเป็นมงคล
ต่างฝ่ายต่างก็พากันถกเถียงกัน ในความเป็นมงคลของสรณะแห่งตน
จนบังเกิดโกลาหล หาข้อยุติไม่ได้

พวกภุมเทวดา และเทพารักษ์ เมื่อได้ฟังพวกมนุษย์คิดและถกเถียงกัน
ในข้อที่เป็นมงคล ก็พากันถกเถียงกันบ้าง
จนเกิดโกลาหลรุกรามขึ้นไปจนถึงชั้นพรหม
สิ้นเวลาไปจนถึง ๑๒ ปี ก็ยังไม่มีผู้ใดชี้เด็ดขาดลงไปได้ว่า สิ่งใดเป็นมงคล

จนร้อนถึง ท้าวสุทธาวาส มหาพรหม
จึงได้ประกาศแก่หมู่เทพและมนุษย์ทั้งหลายว่า
นับแต่นี้ไปอีก ๑๒ ปี องค์พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า
จักทรงตรัสแสดงมงคลทั้งหลาย
ให้เราทั้งหลายฟัง ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี

เมื่อกาลล่วงเลยมา สิ้นเวลาได้ ๑๒ ปี
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติในโลกนี้แล้ว
พวกเทวดาก็ต่างพากันไปถามปัญหาว่าอะไรเป็นมงคลแก่องค์อินทร์
องค์อินทร์ก็ไม่สามารถตอบปัญหาได้

จึงชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลถามปัญหา
แล้วก็มอบหน้าที่ให้เทพยดาองค์หนึ่งเป็นผู้ถามปัญหา

เมื่อความรู้ไปถึงเทพทุกชั้นฟ้า ต่างก็พากันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
เพื่อสดับมงคลคาถา รวมเป็นมีจำนวนถึง ๑๐,๐๐๐ จักรวาล

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ร ต น สู ต ร~

บทขัดรตนสูตร

หมู่เทวดาในแสนโกฏิจักรวาล
ยอมรับเอาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระปริตรใด พระปริตรหนึ่ง
พระปริตรใดยังภัยทั้ง ๓ คือ โรคภัย อมนุษย์ภัย ทุพภิกขภัย
ในเมืองเวสาลี ให้อันตรธานไปเร็วพลัน

ท่านทั้งหลาย จงตั้งจิตการุญ สวดพระปริตรนั้น
ดุจดังท่านพระอานนท์เถระเจ้า หวนคำนึง
นึกหน่วงถึงพระพุทธคุณทั้งปวงของพระตถาคตเจ้า

จำเดิมแต่ปรารถนา พุทธภูมิมา คือการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐
อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓
แล้วเสด็จลงสู่คัพโภทรภพสุดท้าย


ทรงประสูติ เสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์
ทรงบำเพ็ญความเพียร ณ โพธิบัลลังก์
ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิ์ญาณ และโลกุตตรธรรม ๙ เหล่านี้
แล้วทรงกระทำ ปริตรตลอดราตรี ทั้ง ๓ ยาม
ภายในกำแพง ๓ ชั้น ณ เมืองเวสาลี ฉะนี้เทอญ

ตำนาน

ครั้งหนึ่ง ณ พระนครไพสาลี อันไพบูลย์ไปด้วยขัตติยะตระกูล
มีพระยาลิจฉวีเป็นประธาน ได้บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงฝนแล้ง
พืชพันธุ์ธัญชาติ ปลูกเท่าไหร่ก็ตายหมด
หมู่คนยากจนทั้งหลาย พากันอดยาก ล้มตายลงเป็นอันมาก
หมู่ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็พากันเอาศพไปทิ้งไว้นอกพระนคร
กลิ่นซากศพนั้น เหม็นตลอดไปทั่วพระนคร

กาลนั้น หมู่อมนุษย์ทั้งหลายก็เข้ามากินซากศพ
แล้วตรงเข้าไปสู่พระนคร เป็นเหตุให้ชนผู้คนในพระนคร
ติดอหิวาตกโรค และโรคนานา จนผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก
สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองสกปรก ปฏิกูลไปด้วย เฬวรากซากศพ จากคนและสัตว์

ขณะนั้นกล่าวได้ว่า นครไพสาลี มีภัยเกิดขึ้น ๓ ประการ คือ

๑. ทุพภิกขภัย ข้าวแพง มนุษย์ล้มตายลงเพราะอดอาหาร
๒. อมนุษย์ภัยเบียดเบียน ตายด้วยภัยของอมนุษย์
๓. โรคภัย ผู้คนล้มตายด้วยโรคภัยต่างๆ มีอหิวาตกโรค เป็นต้น


ขณะนั้น ผู้คนในพระนคร ต่างได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า
จึงชวนกันเข้าไปเฝ้า สภากษัตริย์ลิจฉวี แล้วทูลว่า

แต่ก่อนแต่ไรมา ภัยอย่างนี้มิได้เคยมี เหตุไรจึงมาเกิดภัยเช่นนี้
หรือว่า จะมาจากเหตุ ราชะสภามิได้ตั้งอยู่ในธรรม
หรือว่าผู้คนมหาชนทั้งหลาย ในไพสาลีนคร
หมกมุ่นมัวเมาประมาทขาดสติ มิมีธรรมะ

หรือว่า จะมาจากเหตุ นักบวช สมณะ สงฆ์
มิได้ทรงศีลสิกขา จึงเป็นเหตุให้เกิดกาลกิณี แก่ปวงประชา

ฝ่ายสภากษัตริย์ หมู่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ก็มิอาจจับต้นชนปลาย
หรือจะรู้สาเหตุก็หาไม่ ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไปมา
ได้แต่ทำตาลอกแลกแล้วส่ายหน้า

จนมี ท้าวพระยาลิจฉวี พระองค์หนึ่ง ลุกขึ้นตรัสว่า
เห็นทีภัยร้ายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
มิอาจจะระงับได้ด้วย กำลังทหาร กำลังทรัพย์ หรือกำลังปัญญา

คงต้องอาศัยกำลังของพระโพธิบวร
แห่งองค์สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จมาโปรด ชาวไพสาลีให้พ้นภัยพิบัติครั้งนี้คงจะได้


ในที่สุดประชุมราชสภา ต่างเห็นพ้องต้องกัน
จึงมอบให้พระยาลิจฉวี ๒ พระองค์พร้อมไพร่พลนำเครื่องบรรณาการ
ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอให้พระองค์ทรงอนุญาต
ให้เชิญเสด็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายังนครไพสาลี

กล่าวฝ่ายพระราชาพิมพิสาร
เมื่อได้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของชาวนครไพสาลี
และวัตถุประสงค์ของพระยาลิจฉวี
จึงทรงอนุญาตชาวนครไพสาลีไปทูลอาราธนา
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตามประสงค์

องค์พระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุบริษัทอีก ๕๐๐ รูป
ได้เสด็จพระดำเนิน ไปสู่นครไพสารี
ในเวลาที่เสด็จนั้น พระราชาลิจฉวี หมู่มุขมนตรี ชาวพระนคร
องค์อินทรเทวะพรหมินทร์ทั้งหลาย
ได้พากันเฝ้ารับเสด็จระหว่างทาง

ด้วยการโปรยทราย ดอกไม้ของหอม
พร้อมยกฉัตรกางกั้น แสงพระสุริยะฉาย
จัดตั้งราชวัตรฉัตรธง จตุรงค์เสนาขุนทหารทั้งหลาย
ต่างพากัน ยืนแถวถวายพระเกียรตินานาประการ

ในขณะเดินทาง ทรงหยุดพักระหว่างทางวิถี
พระราชาและหมู่ชนต่างพากันจัดสรรสรรพผลาหารอันเลิศ ประเสริฐรส
นำมาถวายแด่พระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์

ครั้นเสด็จพระดำเนินมาถึง ริมฝั่งคงคา พระยานาคราช ผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำคงคา
ก็ขึ้นมาถวายเครื่องสักการะ แล้วเนรมิตวงกายให้เป็นเรือใหญ่
แล้วทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ ที่เนรมิตถวาย
พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ส่วนหมู่มนุษย์พระยาลิจฉวี
และชาวพระนคร ก็ให้ขึ้นเรือแพ ที่จัดเตรียมมา

แล้วเรือนาคา ก็บ่ายหน้าแล่นตรงไป ยังนครไพสาลี
สิ้นระยะทาง ๘ โยชน์ กินเวลา ๘ วัน
ระหว่างทางองค์นาคราช และบริวารได้ถวายอภิบาลพระบรมศาสดา และหมู่สงฆ์
มิให้สะดุ้ง สะเทือนระหว่างทาง ไม่ว่าคลื่นจะซัด ลมจะพัด น้ำจะแรง
เรือนาคราชนั้นก็บรรเทาผ่อนแรง บดบังลมแดดแรงเป็นอันดี
ประดุจดัง ทางประทับ อยู่บนยอดขุนเขาคีรีษี มิได้มีหวั่นไหวฉะนั้น

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค
เสด็จพระดำเนินถึงเขตนครไพสาลี
เมฆฝนก็ตั้งเค้า ลมทั้งหลายก็พัดหอบเอาเมฆมารวมไว้บนท้องฟ้า
เหนือนครไพสาลี ครั้นสมเด็จพระชินศรี
ทรงย่างพระบาทเหยียบยืนบนแผ่นดินไพสาลี เม็ดฝนก็ตกลงมาในทันที


องค์สมเด็จพระชินศรี เมื่อเสด็จประทับภายในพระนครไพสาลี เป็นอันดีแล้ว
ฝนที่มิได้เคยตกมาเจ็ดปี ก็พลูไหลริน
จนท่วมภาคพื้นปฐพี กระแสน้ำได้พัดพาเอาซากอสุภ
และสิ่งปฏิกูลทั้งปวง ไหลลงไปสู่แม่น้ำคงคาจนหมดสิ้น

ครั้นเม็ดฝนหยดสุดท้ายหมดสิ้น
หมู่อมรนิกรเทพพรหมินทร์ และอินทรราช
ก็เข้าเฝ้ากราบเบื้องยุคลบาทพระผู้มีพระภาค

ฝ่ายฝูงอมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นเห็นหมู่มหาเทพ
ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระผู้พระภาคเจ้า
ต่างตนต่างก็เกรงกลัวเดช กลัวจะเกิดอาเพศ
จึงพากันหลีกลี้หนีไปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาค จึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ เธอจงเรียนมนต์รัตนสูตรนี้
แล้วจงถือเอาเครื่องพลีกรรม
เที่ยวไปในระหว่างแห่งกำแพงทั้งสามชั้นของพระนคร
แล้วจงสาธยาย มนต์รัตนสูตร เวียนเป็นประทักษิณให้ครบ ๓ รอบ

แล้วนำบาตรของเราตถาคต ใส่น้ำที่สำเร็จด้วยมนต์รัตนสูตร
สาดรดไปทั้งพระนคร อมนุษย์ทั้งหลายที่ยังมิได้หนี จักได้พากันหนีไปสิ้น
ประชาชนผู้คนในพระนคร จักได้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน


ครานั้นพระบรมสุคตเจ้าได้ทรงแสดง รัตนสูตร
โปรดหมู่อมรนิกรพรหมินทร์ อินทราธิราชทั้งหลาย
กาลเมื่อทรงแสดงธรรมจบสิ้น

ความสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ก็บังเกิดแก่ชาวไพสาลีทั้งปวง
อุปัททวภัยทั้งหลายก็ระงับสิ้น
หมู่มนุษย์และเทพทั้งหลาย มีประมาณแปดหมื่นสี่พัน
ได้บังเกิดธรรมจักษุ ต่างพากันรู้ทั่วถึงธรรมนั้น
ตามแต่อุปนิสัย วาสนาบารมีธรรมของตนที่สั่งสมมา


เมื่อหมู่อมรเทพนิกร พรหมินทร์ อินทรา เสด็จกลับไปแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระกรุณาโปรดแสดงธรรมเทศนา รัตนสูตร
โปรดชาวพระนครไพสาลีอยู่อีก ๖ วัน
รวมสิ้นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ภายในพระนครไพสาลี
สิ้นเวลา ๑๕ วัน จึงเสด็จ

ระหว่างทางขณะเสด็จมาถึงริมแม่น้ำคงคา
พญานาคาและเหล่าบริวาร ผู้เฝ้ารอคอยเสด็จกลับ
ก็ได้เนรมิตกาย ให้เป็นเรือพระที่นั่งถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐

ระหว่างทางได้ทรงแสดงธรรม
โปรดพญานาคและบริวาร จนเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
หมู่ชนชาวพระนครราชคฤห์พร้อมพระราชาพิมพิสาร
ต่างรอคอยถวายเครื่องสักการะต้อนรับ ยิ่งกว่าตอนเสด็จไป

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ก ร ณี ย เ ม ต ต สู ต ร~

บทขัดกรณียเมตตสูตร

เหล่าเทพยาทั้งหลาย ย่อมไม่แสดงอาการอันน่าสะพรึงกลัว
เพราะอานุภาพแห่งพระปริตรนี้
อนึ่งบุคคลไม่เกียจคร้าน สาธยายอยู่เนืองๆ ซึ่งพระปริตรนี้
ทั้งในกลางวันและกลางคืนย่อมหลับเป็นสุข ขณะหลับย่อมไม่ฝันร้าย

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงสวดพระปริตร อันประกอบไปด้วยคุณดังกล่าวมาดังนี้เทอญ

ตำนาน

เริ่มเรื่องที่ พวกพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ในนครสาวัตถี
ครั้นได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนัก สมเด็จพระบรมศาสดา แล้ว
หลีกไปหาที่สงัดเงียบ สำหรับเจริญวิปัสสนา
เดินทางไปได้สิ้นระยะทางประมาณ ๑๐๐ โยชน์

ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเหล่านั้นได้เห็นพระภิกษุ
มีความยินดี นิมนต์ให้นั่ง บนอาสนะอันสมควร
แล้วอังคาสด้วยข้าวยาคู เป็นต้น
พร้อมทั้งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้ง หลายจะไป ณ ที่แห่งใด

ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า

เราจะไปแสวงหาสถานที่สบาย สำหรับปฏิบัติธรรมตลอดไตรมาส

ชาวบ้านเหล่านั้นจึงกล่าวว่า

จากนี้ไปไม่ไกลนัก มีป่าชัฏเป็นที่สงัดเงียบเป็นที่รื่นรมย์
ขอนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
โปรดจงเจริญสมณธรรม ในที่นั้น ตลอดไตรมาสเถิด

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
และรักษาศีลในสำนักของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
พระภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์แล้วก็ออกเดินทางเข้าไปสู่ป่าชัฏ
เพื่อเจริญสมณธรรม


ฝ่ายพวกรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้ในป่านั้น
ต่างพากันคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้ง หลายมาอาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้ของเรา
ตัวเราและบุตรภรรยาขึ้นอยู่บนต้นไม้นี้
จักไม่เป็นการบังควร ดูว่าจะไม่เคารพ

พวกรุกขเทวดาทั้งหลาย จึงพากันลงจากต้นไม้ มานั่งอยู่เหนือพื้นดิน
ได้รับความลำบากมิใช่น้อย
พวกรุกขเทวดาผู้ใหญ่ ได้พูดปลอบใจเทวดาผู้น้อยว่า

ไม่เป็นไรหรอกชาวเราเอ๋ย...
พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้คงจะอยู่ ณ ที่นี้ไม่นาน
รุ่งขึ้นท่านก็คงจะจาริกไปที่อื่น
ชาวเราทั้งหลาย จักได้กลับขึ้นไปอยู่บนวิมานของเราเหมือนเดิม


รุ่งสาง พระสุริยะก็ฉายแสงส่องลงมายังภาคพื้นปฐพี
เหล่าภิกษุทั้งหลาย ก็พากัน ออกเที่ยวบิณฑบาตภายในหมู่บ้าน
ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากป่านั้นนัก

พวกเทวดาต่างพากันคิดว่า

ดีหละ พระเป็นเจ้าทั้งหลายคงจะย้ายที่อยู่กันสิ้นแล้ว
จึงพากันขึ้นไปสถิตยังต้นไม้ของตนตามเดิม


เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ล่วงเวลาไปครึ่งเดือน

พวกรุกขเทวดาจึงพากันคิดว่า

ชะรอยพระเป็นเจ้าคงจะอยู่ ณ ที่นี้ถ้วนไตรมาสเป็นแน่
เห็นทีชาวเราคงจะต้องลำบากไปตลอดไตรมาสด้วย
เห็นทีชาวเราทั้งหลายจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ท่านไปเสียจากที่นี่


เมื่อคิดดังนั้นแล้ว รุกขเทวดาต่างก็พากันแสดงตน
ให้ปรากฏต่อประสาทสัมผัสของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
ด้วยอาการ กิริยา อันน่าสะพรึงกลัวต่างๆ เช่น

ทำให้เกิดลมพายุพัด ทำให้เกิดฝนตกเฉพาะภาคพื้นนั้น
ทำให้ดูประหนึ่งแผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น
ทำให้เกิดเสียงร้องโหยหวนดังเสียงของเปรต
หรือสัตว์นรกผู้กำลังได้รับทุกขเวทนาจากการโดนลงทัณฑ์
แม้ที่สุดกระทำให้ภิกษุทั้งหลายได้เห็นภาพอันน่าสะพรึงกลัวต่างๆ
พวกภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นก็หาได้หนีจากที่นั้นไปไม่

รุกขเทวดาผู้ใหญ่ เลยออกอุบาย
ให้บริวารช่วยกันบันดาลให้เกิดโรค แก่ภิกษุเหล่านั้น
มีอาการป่วยต่างๆ กัน เช่น โรคไอ โรคจาม โรคหอบ โรคนอนกรน โรคฝันร้าย

โรคเหล่านี้ ทำให้กายของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
มีร่างกายซูบซีด ผอมแห้ง ได้รับทุกขเวทนา จนทนอยู่ ณ ที่นั้นมิได้
จึงพากันเดินทางหลีกหนี ออกจากป่าชัฏนั้น
แล้วชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา
ทูลเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ประสบมา ให้พระบรมศาสดาทรงทราบ

พระผู้มีพระภาค เมื่อได้ทรงสดับ การที่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้ประสบมา
จึงทรงมีพุทธประสงค์ให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป กลับไปเจริญสมณธรรมในที่เดิม

จึงทรงประทาน เมตตาสูตร
ให้แก่พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้เรียน
เพื่อใช้ป้องกันภัย จากภูต และเทวดา ยักษ์ มาร ทั้งปวง
โดยมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสาธยายพระสูตรนี้
ตั้งแต่ชายป่า จนถึงภายนอก และภายในที่พัก
เช่นนี้ ความสวัสดีจะมีแก่เธอทั้งหลาย


ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ได้เรียนพระพุทธมนต์ จนขึ้นใจแล้ว
จึงพากันเดินทางกลับไปยังป่าชัฏดังเดิม
ครั้นถึงชายป่าชัฏ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
ก็สาธยายพระพุทธมนต์ บทเมตตาสูตร จนเดินถึงที่พัก

พวกรุกขเทวดาทั้งหลาย
เมื่อได้สดับเสียงเจริญ เมตตาสูตร จากปากพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
ก็มีจิตเมตตา รักใคร่ พากันมาต้อนรับปฏิสันถาร รับบาตรจีวร ปัดกวาด
หาน้ำใช้ น้ำฉัน แล้วคอยรับใช้ อภิบาลรักษาอยู่ตามแนวป่า
มิให้มนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์ร้ายใดๆ
มารบกวน ทำร้ายพระเป็นเจ้าของตน


ภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้อยู่เป็นที่สงบสุขแล้ว
ก็หมั่นตั้งจิตบำเพ็ญ วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ตลอดกลางวันและกลางคืน
จนจิตหยั่งลงสู่วิปัสสนาญาณ
เห็นความเสื่อมในร่างกายของตน
ว่าอัตภาพนี้มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ประดุจภาชนะดินเผา ที่เปราะบางแตกทำลายลงง่าย ไม่คงทนถาวร
ขณะที่เป็นอยู่ก็เป็นภาระ ที่ต้องประคับประคองรักษา
แม้ที่สุดก็หาได้มีตัวตนที่แท้จริงไม่

องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะทรงประทับอยู่ภายในพระคันธกุฎี ทรงทราบสภาวะธรรม
ที่เกิดขึ้นในจิตของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ด้วยพระญาณ
จึงทรงเปล่งพระรัศมีให้ปรากฏเฉพาะหน้า แก่ภิกษุเหล่านั้น
ดุจดังว่าเสด็จมาเองเฉพาะภิกษุแต่ละองค์ และทรงตรัสพระคาถาว่า

ภิกษุทั้งหลาย

กายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน จิตนี้เปรียบเหมือนนคร
ที่มีข้าศึกคอยจ้องรุกรานโจมตีคือกิเลส
อาวุธที่จะใช้กำราบกิเลส ก็คือปัญญา
ขณะที่เรากำลังรุกรบกับข้าศึกคือกิเลส
ก็ต้องระวังดูแลรักษาหม้อดิน คือกายนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

กายนี้เป็นภาระอย่างยิ่ง และเหตุแห่งการเกิดกายนี้
ก็คือกรรม อวิชชาความไม่รู้ ความรู้วิชา ทำให้รุ่งเรืองปัญญา

ดับเหตุแห่งอกุศลกรรมเสียได้
ย่อมไม่พัวพันต่อชาติภพ ย่อมมีชัยชนะในโลก


เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว
ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็ได้บรรลุอรหัตผล
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยประการฉะนี้


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ขั น ธ ป ริ ต ร~

บทขัดขันธปริตร

พระปริตรใด ยังพิษอันร้ายแรงแห่งอสรพิษ
และสัตว์พิษทุกชนิดให้หายไปประดุจดัง มนต์ทิพย์ และยาทิพย์อันวิเศษ


อนึ่งพระปริตรใดย่อม ที่สามารถห้ามกันอันตราย ของสัตว์ร้ายให้สิ้น

ในเขต แห่งอำนาจแห่งพระปริตรทุกสถานในกาลทุกเมื่อ โดยประการทั้งปวง

ขอท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดจงสาธยายพระปริตรนั้นเทอญ

ตำนาน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวนาราม ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งนั่งสีไฟอยู่ ณ เรือนไฟ
งูตัวหนึ่ง ออกจากต้นไม้ผุ ได้กัดนิ้วเท้าแห่งพระภิกษุนั้น
พระภิกษุนั้นทนพิษงูมิได้ ก็ได้มรณภาพลงในที่สุด

ภิกษุทั้งหลาย ต่างก็พากันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
กราบทูลถึงเรื่องภิกษุที่ถูกงูกัดตายนั้นให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ชะรอยภิกษุนั้นจะไม่ได้เจริญเมตตาจิตต่อตระกูลแห่งพญางูทั้ง ๔


หากว่าพระภิกษุรูปนั้นได้เจริญเมตตาจิต ให้แก่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้ว
งูจะไม่กัดพระภิกษุนั้นเลย และถึงแม้จะโดนกัด ก็หาได้ตายไม่

แต่ปางก่อน ดาบสฤาษีทั้งหลาย ผู้เป็นบัณฑิต
ได้เจริญเมตตาจิต ให้ตระกูลพญางูทั้ง ๔ ก็พากันรอดพ้นจากภัยแห่งงูทั้งหลาย
แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีต มาแสดงว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตต์ครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี

พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกรัฐ
ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทรงสละราชสมบัติ ออกบรรพชาเป็นฤาษี ในป่าหิมวันต์
บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอภิญญา ๔ และสมาบัติ ๘ ตามลำดับ

แล้วได้เนรมิตอาศรมอยู่ ณ คุ้งน้ำแห่งหนึ่ง ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ชายป่าหิมพานต์
อีกทั้งได้เป็นอาจารย์สั่งสอนฤาษีจำนวนมากด้วย

ในเวลานั้นได้มีงูปรากฏขึ้น
พร้อมทั้งไล่กัดพวกฤาษีทั้งหลาย ถึงแก่ความตายเป็นอันมาก
พวกฤาษีทั้งหลาย ก็ได้นำความทั้งปวง
เข้าไปแจ้งแก่ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ของตนให้ทราบ

ฤาษีพระโพธิสัตว์ ครั้นได้ฟัง จึงสั่งให้ประชุมฤาษีผู้เป็นศิษย์ทั้งปวง

แล้วสอนให้ฤาษีเหล่านั้นเจริญเมตตาจิตต่อตระกูลพญางูใหญ่ทั้ง ๔
อีกทั้งยังสอนให้ศิษย์ เจริญเมตตาจิตให้แก่สรรพสัตว์จำพวกอื่นเป็นลำดับ
ตั้งแต่สัตว์ไม่มีเท้า จนถึงสัตว์ที่มีเท่ามากว่า

ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นอย่าได้มีเวร อย่าได้พยาบาท
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
จนถึงซึ่งความสุข ปราศจากทุกข์ทั้งปวงเถิด


แล้วสั่ง สอนให้ฤาษีผู้เป็นศิษย์

ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า
ว่ามีประมาณมากด้วยคุณธรรม

สัตว์ทั้งหลายมีคุณธรรมไม่มากเท่า
คุณธรรมของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า
มีมากเหลือประมาณ ได้ป้องกันเราให้ห่างจากสัตว์ เหล่านั้น
ทั้งกลางวันและกลางคืน

ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ด้วยพระคุณอันประเสริฐ
ความป้องกันอันเรากระทำแล้วด้วยคุณอันบริสุทธิ์
ขอสัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย อย่าได้มาเบียดเบียนเราเลย

เรากำลังกระทำความนอบน้อม
ต่อพระผู้มีพระภาคอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่


เมื่อฤาษีพระโพธิสัตว์ ได้ผูกมนต์พระปริตร สอนแก่ศิษย์ทั้งหลายแล้ว
เหล่าฤาษีนั้น ก็ได้พากันเจริญเมตตา
และระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์
งูและสัตว์ร้ายทั้งหลายก็หลีกไปมิได้มากล้ำกรายบีฑาอีกต่อไป

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ธ ชั ค ค ป ริ ต ร~

บทขัดธชัคคปริตร

เออแน่ะ สัตว์ทั้งหลายแม้อยู่ในอากาศ ย่อมได้ที่พึ่ง ทำให้หายหวาดกลัว
ดุจเดียวกันกับสัตว์ในแผ่นดิน สัตว์ทั้งหลาย ผู้รอดพ้นจากข่าย
คือ สรรพอุปัทวะ อันเกิด แต่ยักษ์และโจร
มีจำนวนเหลือคณนานับ ด้วยการระลึกถึงพระปริตรใด
ท่านทั้งหลาย จงสาธยายพระปริตรนั้นเทอญ


ตำนาน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ นครเวสาลี
ได้ทรงแสดงที่มาของท้าวสักกเทวราช
ให้แก่เจ้าลิจฉวี นามว่ามหาลี ได้สดับความว่า

มีมานพผู้หนึ่งชื่อ มะฆะ อยู่ในอะจะละคาม แคว้นมคธรัฐ
ได้จัดทำสถานที่ชายป่าไกลบ้านให้เป็นที่ร่มรื่นรมณียสถาน
แล้วพักนั่งเล่น นอนเล่นอยู่ ณ สถานที่นั้น

ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งเดินทางผ่านมา เห็นชานป่าแห่งนั้น
เป็นที่รมณียสถานก็ตรงเข้าไปแวะพักแลเห็น
มะฆะมานพนั่งพักอยู่ก่อนแล้ว ชายผู้นั้นก็ไม่พอใจ

กล่าวตู่ขึ้นว่า

เอ่ะ เจ้านี้มายังไงนะ บังอาจมานั่งบนที่ของข้าได้
ไป...ไปเสียให้พ้น อากาศยิ่งร้อนๆ อยู่
เดี๋ยวพ่อก็แพ่นกระบาลเสียด้วยไม้เท้านี้หรอก


มะฆะมานพ พอได้ฟังดังนั้นแทนที่จะโกรธ

กลับคิดว่า เออ...ดีนะ รมณียสถานแห่งนี้
เราเป็นผู้สร้างขึ้นคนทั้งหลายชอบตำหนิว่าไม่มีประโยชน์
มาบัดนี้มีผู้เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้ว
ดีหละ..เราจักสร้างสถานที่เช่นนี้ต่อไป


มะฆะมานพได้เดินออกจากชายป่านั้นโดยดี มิได้ถือโกรธเลย
พร้อมทั้งยัง ได้ไปสร้างที่รื่นรมย์ยังที่อื่นๆ ต่อไป

แล้วเหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดิม
สร้างเสร็จก็มีผู้มาอ้างสิทธิ์จับจองเป็นเจ้าของ
แทนที่มะฆะมานพจะโกรธกลับคิดว่า
การที่เราสร้าง สามารถทำให้ผู้อื่นมีความสุข

เราย่อมได้รับบุญ บุญนั้นย่อมทำให้เรามีความสุขไปด้วย

กาลต่อมา แม้ในขณะเดินทาง
มะฆะมานพจะต้องนำเอามีดหรือจอบติดมือไปด้วยเสมอ
เมื่อเห็นว่าหนทางไม่ราบเรียบมีหญ้าขึ้นปกคลุมรก ทางมีหลุมเป็นบ่อ
ระหว่างทางมีกิ่งไม้ระเกะระกะรุงรัง

มะฆะมานพนั้น ก็จะเอาจอบถาก มีดหวด
ทำให้ตลอดทางเป็นที่ร่มรื่น สะดวกสบายแก่ผู้สัญจรไปมา

เมื่อนายมะฆะมานพทำเช่นนี้เป็นอาจิณ
ผู้คนชนทั้งหลายที่สัญจรไปมาก็พากันเข้าไปถามว่า

สหายท่านกำลังทำอะไรอยู่

มะฆะมานพก็ตอบว่า

เรากำลังทำทางไปสวรรค์ ชนเหล่านั้นก็ขอร่วมทำด้วย
จนมีสมัครพรรคพวกเป็นเพื่อนถึง ๓๓ คน มะฆะมานพ
จึงพาทำทางได้ระยะไกลถึง ๒ โยชน์ หมู่ชนทั้งหลาย


เมื่อเดินทางได้รับความสะดวกสบาย
ต่างก็พากันสรรเสริญมะฆะมานพและบริวารเป็นอันมาก

ฝ่ายนายบ้าน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น
เห็นฝูงชนยกย่องสรรเสริญมะฆะมานพและบริวาร
ก็บังเกิดความริษยา จึงหาเรื่องเข้ามาว่ากล่าวว่า

เจ้าทั้งหลายกระทำอะไรไร้ประโยชน์
ทำไมไม่ใช้เวลาและแรงที่มีไปหาเนื้อหาปลามาเป็นอาหาร
วัยฉกรรจ์อย่างพวกเจ้าควรที่จะไปเที่ยวเล่น ดื่มสุรา
เที่ยวดูการละเล่นยังจะสนุกเพลิดเพลินเสียกว่า
อย่ามามัวเหนื่อยเปล่ากับ เรื่องไม่เป็นประโยชน์เหล่านี้อยู่เลย


มะฆะมานพและบริวารทั้ง ๓๓ คน ก็หาได้เชื่อฟังคำของนายบ้านไม่

นายบ้านจึงผูกใจโกรธ นำเรื่องไปเท็จทูลพระราชาว่า

มะฆะมานพและบริวาร เป็นคนเกเรไม่ทำมาหากิน
คอยดักปล้นสะดมผู้คนที่เดินทาง


พระราชา พอได้ฟังคำเท็จทูลของนายบ้านก็หลงเชื่อ
มีรับสั่งให้พนัก งานไปจับตัวมะฆะมานพและบริวารทั้ง ๓๓ คนมาลงโทษ
ด้วยการให้นอนลงกับพื้นแล้วต้อนช้างพลายผู้ดุร้ายให้ไปเหยียบ

ขณะที่ช้างพลายที่ดุร้ายจะมาเหยียบนั้น
มะฆะมานพได้สั่งให้บริวารทั้ง ๓๓ คน
เจริญเมตตาไว้ในใจ อย่าผูกโกรธ เคืองแค้นต่อนายบ้าน
แผ่เมตตาให้แก่พระราชาและช้างพลายที่จะตรงมาเหยียบ

ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของมะฆะและบริวาร
ช้างพลายที่ดุร้ายนั้นพลัน ก็ยืนสงบนิ่ง
ไม่ยอมที่จะก้าวเดินไปเหยียบมะฆะและบริวาร


ข้างพระราชาทรงประทับทอดพระเนตรการลงทันต์อยู่
ทรงเห็นว่าช้างไม่ยินยอมที่จะย่างเหยียบคนทั้ง ๓๓
ก็ให้พนักงานนำเอาเสื่อลำแพนมาปกคลุมร่างของคนทั้ง ๓๓ คนเสีย
ด้วยคิดว่าช้างอาจจะเห็นเป็นคน เลยมิกล้าที่จะเดินเหยียบได้

เมื่อชาวพนักงานนำเสื่อลำแพนมาคลุมร่างมะฆะมานพและบริวารมิดชิดแล้ว
จึงให้ควาญช้างไสช้างพลายนั้นให้ก้าวเหยียบไปบนเสื่อลำแพน
มิใยที่ควาญช้างจะโขกสับ บังคับไสช้างพลายนั้นให้เดินสักปานใด
ช้างนั้นก็ยืนสงบนิ่ง มิขยับ เขยื่อนเลื่อนไปแม้แต่ก้าวเดียว

พระราชาครั้นได้ทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงดำริว่า

เอ...นี่มันเกิดอาเภทเหตุอัศจรรย์ใดกันหนอ
ทำไมชนทั้ง ๓๓ คนนี้ จึงมิได้มีอันตรายใดๆ

จากการลงทันต์ในครานี้เลย
ชะรอยเราต้องเรียกมาไตร่สวนดูให้รู้ความจริง
และแล้วจึงทรงมีพระดำรัสเรียกมะฆะมานพและบริวารเข้าเฝ้า


เมื่อมะฆะมานพและบริวารได้เข้าเฝ้าเบื้องหน้าพระพักตร์แล้ว

พระราชาจึงทรงมีพระดำรัสตรัสถามขึ้นว่า

อาชีพที่สุจริตในแผ่นดินนี้มีออกมากมาย
เหตุใดพวกเจ้าจึงพากันเป็นโจร ประกอบทุจริต


มะฆะมานพครั้นได้ฟังพระราชาทรงตรัสตำหนิถามดังนั้น จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่องค์ราชะผู้ประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าและสหาย
มิได้เป็นผู้ทำอาชีพทุจริตผิดกฎหมาย
พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นสุจริตชน
สิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าทำ คือทางไปสวรรค์
แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร เหตุเพราะนายบ้านมีความริษยา
ผูกโกรธคิดกลั่นแกล้งใส่ความพวกข้าพระพุทธเจ้า
ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ ขอได้ทรงโปรดให้ขุนทหาร
ไปเรียกชาวบ้านมาไตร่ถาม ความจริงก็จะปรากฏ


พระราชาจึงส่งขุนทหาร ไปเกณฑ์ชาวบ้านมาไตร่ถาม
จึงได้ทรงทราบความจริงว่า

มะฆะมานพ และบริวารได้ชวนกันทำงาน ไปสวรรค์จริงๆ

จึงทรงปราโมทย์ยินดี ทรงพระราชทานช้างพลายตัวนั้น
ให้แก่มะฆะมานพ และบริวาร อีกทั้งยังทรงมีรับสั่งให้
นายบ้านผู้มีจิตริษยานั้น ตกเป็นทาสของมะฆะมานพด้วย

ช้างมะฆะมานพและสหาย
เมื่อได้เห็นอานิสงส์ผลบุญ ที่พวกตนได้ร่วมกันกระทำ
ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์
จิตโสมนัส ศรัทธาในการบำเพ็ญบุญนั้นมากยิ่งขึ้น


ซึ่งนอกจากทำทาง ทำสถานที่ร่มรื่นให้ผู้คนและสัตว์
ที่กำลังเดินทางได้หยุดพักแล้ว
ยัง ได้ช่วยกันทำศาลาพักผ่อน ขุดสระ
ทำปลูกพืชผักผลไม้เอาไว้ให้ผู้คนที่หิวกระหายได้ตักดื่ม เก็บกิน
จนเป็นที่สำราญของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา ณ ตำบลบ้านนี้

นอกจากมะฆะมานพ จะเป็นผู้ชอบบำเพ็ญบุญดังกล่าวมาแล้ว
ยังจะเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อวัตตะบท ๗ ประการ โดยบริบูรณ์ คือ


- ปฏิบัติเลี้ยงดูรักษาบิดามารดา
- อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
- กล่าวความสัตย์ ไม่โกหก
- ไม่พูดหยาบคาย
- มีวาจาที่สุภาพ เรียบร้อย ระรื่นหูแก่ผู้ได้สดับ ไม่ส่อเสียดยุยง
- ไม่ตระหนี่ ยินดีในการให้
- เป็นผู้ที่มีปกติไม่โกรธ


ครั้นเมื่อถึงกาลมรณะสมัย มะฆะมานพและสหายได้ทำกาลกิริยาลง
ด้วยสิ้นอายุขัย ผลบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ ส่งผลให้มะฆะมานพ
ไปบังเกิดเป็น พระอินทร์


ในเทพพิภพ พร้อมด้วยสหายอีก ๓๒ องค์
จึงรวมเป็นเหล่าเทพ ๓๓ องค์ เทพนครแห่งนั้น
จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ตาวะตึงสะ หรือ ดาวดึงส์สวรรค์ ซึ่งแปลว่า ๓๓

ส่วนเทพยดา ที่สถิตในเทพนครนี้อยู่เดิม
เห็นเทพบุตรเกิดขึ้นใหม่ มีวรกายสง่างาม รัศมีกายเรืองรอง
จึงใคร่ผูกสมัครมิตรไมตรี พากันจรลี
ไปจัดสรรคัดหาโภชนาหารอันเลิศรส พร้อมกับเหล้าหอม
ชื่อคันธบาน แล้วชวนกันนำไปเลี้ยงแก่บรรดาเทพบุตรทั้ง ๓๓ องค์ที่บังเกิดใหม่

พระอินทร์ จึงแอบกระซิบแก่เทพบริวารทั้ง ๓๒ ว่า
อย่าดื่มน้ำคันธบานนั้น แต่ให้แสร้งทำประหนึ่งว่า
ได้ดื่มน้ำเหล้านั้นเข้าไปด้วย

ฝ่ายเทพดาที่สถิตอยู่ในเทพพิภพเดิม ก็มิได้คิดระแวงอันใด
จึงพากันดื่มเหล้าหอมนั้นเข้าไป จนเมามายหมดสติ มิอาจทรงกายอยู่ได้
จึงลงนอนและหลับไปในที่สุด ฤทธิ์แห่งเหล้าหอมนั้น
ทำให้เทพดาเก่าหลับไปนานถึง ๔ เดือน

พระอินทร์จึงกล่าวแก่เทพบริวารว่า
พวกเทพเหล่านี้ มัวเมา ประมาท จนขาดสติ
นอนได้แม้ในที่ที่มิมีใครนอน
แถมส่งเสียงเอะอะละเมอเหมือนกับคนบ้า ผ้าผ่อนภูษาก็หลุดลุ่ย

ขืนให้อยู่บนเทพพิภพรังแต่จะทำให้ เทพนครเสื่อมเสีย
มาเถิดสหายทั้ง ๓๒ เอ๋ย มาช่วยกันจับเทพขี้เมาเหล่านี้โยนลงสู่มหาสมุทรกันเถิด

เมื่อเทพขี้เมาเหล่านั้น โดนจับโยนลงมหาสมุทร
ร่างกระทบภาคพื้นพิภพใต้มหาสมุทร
เทพวิมานที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ของเทพขี้เมาเหล่านั้นก็ปรากฏขึ้น
มีสภาพดุจดัง เทพนครบนสวรรค์มิได้ผิด
จะต่างก็ตรงต้นปาริจฉัตตกะ ซึ่งมีอยู่บนเทพนครชั้นดาวดึงส์
แต่ในเทพพิภพมีแต่ต้นแคฝอย
ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ต้นจิตตปาตลี

เทพขี้เมาทั้งหลาย เมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมา
จึงได้รู้ว่าพวกตนถูกเทพบุตรใหม่ทั้ง ๓๓ องค์
จับโยนลงมาอยู่ในมหาสมุทร ก็ให้นึกละอาย แล้วก็พากันดำริขึ้นว่า

นี่คงเป็นเพราะชาวเราทั้งหลายมัวเมาประมาท
กินเหล้าจนขาดสติหลับไป
จึงโดนเทพใหม่เหล่านั้นกลั่นแกล้งให้ได้อาย
เป็นเพราะน้ำเหล้าหอมนั้นเชียว

เราทั้งหลายเอ๋ย ต่อนี้ไปจงอย่ากินเหล้าอีกเลย
ด้วยว่าดำริเช่นนี้ เทพขี้เมาเหล่านี้
ก็เลยเป็นเทพที่ไม่ยอมเมาอีกต่อไป จนได้ชื่อว่า อสูร


อสูรนั้นได้พักอาศัยอยู่ในอสูรพิภพ
ซึ่งมีสภาพเหมือนกับเทพนครทุกอย่าง
ซึ่งทุกอย่างก็สำเร็จได้ด้วยบุญฤทธิ์ของตน ของตน
ต่างตนต่างก็อยู่อย่างเป็นสุข สถิตสถาพร
และมีหัวหน้าที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ชื่อว่า ท้าวเวปจิตติอสูร

กาลต่อมา ลุถึงฤดูต้นแคฝอยออกดอก
เหล่าอสูรทั้งหลายต่างพากันหวนคำนึงนึกถึง เทพนครสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งเป็นที่สถิตของต้นปาริจฉัตตกะ มีดอกใหญ่สีสวยกลิ่นหอม
เมื่อถึงคราวฤดูออกดอกก็ส่งกลิ่นทำให้เทพนครหอมอบอวนเป็นที่รื่นรมณ์ยิ่งนัก

เหล่าอสูรทั้งหลาย ก็พากันหวนคำนึงระลึกถึง เทพนครสวรรค์
เวปจิตติอสูร ผู้เป็นหัวหน้า จึงชักชวนพลโยธา จัดเตรียมเป็นกองทัพ
เพื่อไปชิงเอาเทพนครสวรรค์กลับมาเป็นของตน
พร้อมทั้งยกทัพ ขึ้นไปท้ารบกับพระอินทร์

องค์อินทราชจึงมีเทวบัญชา ให้ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔
แต่งกองทัพเทวดาลงไปรักษาเชิงเขาพระสุเมรุในทิศทั้ง ๔
คอยสู้รบ รุกรับ ขับไล่ต่อกรกับพวกอสูร
ซึ่งบางครั้งก็มีชัย บางครั้งก็พ่ายแพ้

คราใดที่ท้าวจาตุมทั้ง ๔ พ่าย
ก็พาทัพเทวดาถอยร่นขึ้นไปจนถึงประตูสวรรค์
องค์อินทร์ก็ต้องคุมทัพออกมารุกไล่รบแก่ทัพอสูรด้วยพระองค์เอง
และก่อนที่จะออกรบ องค์อินทรธิราช
ได้ทรงตรัสสั่งแก่บรรดา พลเทวดาว่า

ถ้าพลเทวดา หวาดกลัว สะดุ้ง และมีขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้น
ก็ให้แลดูชายธงที่ปลิวไสวอยู่บนราชรถศึกของพระองค์
หรือไม่ก็แลดูชายธงขององค์เทวะชื่อ ปชาบดี ของพระวรุณเทวราช
หรือพระอีสานเทวราชเพื่อเป็นกำลังใจว่า ผู้นำ
ผู้เป็นที่พึ่งของเรายังสถิตอยู่กับเรา

เหล่าบรรดาพลทหารเทวดาทั้งหลาย
เมื่อได้แลเห็นชายธงของมหาเทวะทั้งหลายที่กล่าวนามมาแล้ว
จึงมีกำลังมีใจที่ฮึกเหิม ทำสงครามอย่างเกรียงไกร มีชัย

ในที่สุดอีกทั้งยังสามารถจับตัวท้าวโพจิตราสูร หัวหน้าของอสูร ทั้งปวงได้

ท้าวโพจิตราสูร เมื่อโดนจับก็ยิ่งผูกโกรธ
กล่าวคำหยาบช้า ด่าว่าพระอินทร์และเทพที่เกิดใหม่ทั้ง ๓๓ องค์ นานาประการ
แต่หมู่เทพและองค์อินทร์ก็หาได้โกรธไม่
อีกทั้งยังให้อภัย ปล่อยท้าวโพจิตราสูรให้เป็นอิสระ
สงครามระหว่างเทวะกับอสูรก็สงบลง แต่นั้นเป็นต้นมา

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสต่อไปว่า
เช่นนั้นแลภิกษุทั้งหลาย คราใดที่เธอทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม
อยู่ใต้โคนไม้ก็ตาม อยู่ในเรือนว่างก็ตาม อยู่ในที่รกชัฏก็ตาม

ความหวาดกลัว ความสะดุ้งผวา ขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้นแก่เธอ
เธอทั้งหลายพึงชนะความกลัวเหล่านั้น

ด้วยการระลึกถึงเรา ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก
เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ถ้าเธอทั้งหลายไม่ระลึกถึงเรา เพื่อจะชนะความหวาดกลัว
เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงคุณของพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นรู้ได้ด้วยตนเอง
ไม่จำกัดกาลเวลาสามารถเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้ด้วย
เป็นสิ่งที่บุคคลพึงน้อมเข้ามาใส่ตน เป็นคุณสมบัติของผู้รู้ทั้งหลาย ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายมิพึงระลึกถึงพระธรรม
เพื่อจะครอบงำความกลัว
เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ คู่ ๘ พวก
พระสงฆ์สาวกเหล่านี้ เป็นผู้คงแก่การบูชา
เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้คู่ควรแก่การรับทาน
เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังนี้


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเธอทั้งหลาย พากันมาระลึกถึง
คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมเจ้า คุณของพระสงฆ์เจ้า
เห็นปานนี้ ความสะดุ้งกลัว หวาดผวา
ขนพองสยองเกล้า จักมิอาจครอบงำเธอ ดังนี้แล


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~อ า ฏ า น า ฏิ ย ป ริ ต ร~

บทขัดอาฏานาฏิยปริตร

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ทรงแสดงพระปริตรใด
เพื่อคุ้มกันพุทธบริษัททั้ง ๔ มิให้ถูกเบียดเบียน
จากอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้ายสันดานหยาบช้า ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายรับรองแล้วว่า เป็นศาสนาดีทุกเมื่อ
ท่านผู้เจริญทั้งหลายพึงสวดพระปริตรนั้นเทอญ


ตำนาน

สมัยหนึ่งสมเด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จประทับอยู่
ณ ภูเขาคิชฌกูฎบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร
ในครั้งนั้น ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ซึ่งสถิตย์อยู่เหนือยอดเขายุคันธร
ที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา อันเป็นชั้นต่ำกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมา
ซึ่งเป็นที่สถิตย์ขององค์อินทราธิราช

พระอินทร์ ทรงมีเทวะพระบัญชาให้มหาราชทั้ง ๔
ทำหน้าที่เฝ้ารักษาประตูสวรรค์ในทิศทั้ง ๔
เพื่อป้องกันมิให้พวกอสูรมารบกวน โดยมี

ท้าวธตรฐ ผู้เป็นเจ้าแห่งพวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา
ท้าววิรุฬหก เป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ รักษาทิศทักษิณ
ท้าววิรูปักษ์ เป็นเจ้าแห่งนาคทั้งปวง รักษาทิศปัจจิม
ท้าวเวสสุวัน เป็นเจ้าแห่งยักษ์ รักษาทิศอุดร


ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีจิตเลื่อมใสศรัทธา
ปรารถนาจะเกื้อกูลพระพุทธศาสนา มิให้พวกอสูร
หรือพวกศัตรูมาย่ำยีบีฑา แด่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระบรมสุคตเจ้า


จึงคิดจะชวนกันลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่ก็ห่วงภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ

มหาราชทั้ง ๔ จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค และยักษ์
อย่างละแสนรักษาประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ

ซึ่งก็ให้พวกคนธรรพ์รักษาทิศบูรพา
กุมภัณฑ์รักษาทิศทักษิณ
นาครักษาทิศปัจจิม
ยักษ์รักษาทิศอุดร

ครั้นแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ประชุมพร้อมกันที่
อาฏานาฏิยนคร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
พร้อมกับผูกมนต์อาฏานาฏิยปริตร
ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ มี

พระวิปัสสี ผู้มีสิริอันงาม
พระสิขี พุทธเจ้า ผู้มากด้วยการอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
พระเวสสภู พุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลส มีตบะ
พระกกุสันธะ พุทธเจ้า ผู้มีชัยชนะแก่พญามารและเสนามาร
โกนาคมนะ พุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วมีพรหมจรรย์อันจบแล้ว
กัสสปะ พุทธเจ้า ผู้พ้นวิเศษแล้ว จากกองกิเลสทั้งปวง
พระอังคีส พุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งหมู่ศากยราช ผู้มีศักดิ์ มีสิริ ดังนี้เป็นต้น


ครั้นผูกมนต์พระปริตรแล้ว
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงประกาศแก่บริวารของตนว่า
ธรรมอาณาจักรของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
อันเป็นบรมครูของเราทั้ง ๔

ถ้ามีผู้ใดสาธยายมนต์ อาฏานาฏิยปริตร นี้ขึ้น
แล้วถ้าใครไม่เชื่อฟัง ไม่สดับ จะต้องถูกลงโทษอย่างสาสม รุนแรง


และแล้วมหาราชทั้ง ๔ ก็พร้อมใจกันลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กราบบังคมทูลว่า

หมู่ยักษ์ทั้งหลาย หมู่นาคทั้งหลาย หมู่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย
และหมู่คนธรรพ์ทั้งหลาย ผู้มีเดช มีศักดา มีอานุภาพ
มีจิตกระด้างหยาบช้า ละเมิดเบญจศีลเป็นอาจิณ
ที่ยังไม่เลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยนั้นมีมาก
พวกที่เลื่อมใสนั้นมีน้อย

เมื่อพระสาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ในที่ห่างไกลจากมนุษย์สัญจร
อมนุษย์ผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมจะย่ำยี หลอนหลอก
กระทำให้เจ็บไข้เป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์

แต่ต่อนี้ไปจะไม่บังเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว
ถ้าพระบรมสุคตเจ้าทรงพระกรุณาโปรดรับมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ไว้
แล้วโปรดประทานให้พระภิกษุสาวก
สาธยายอยู่เนืองๆ อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมิกล้าย่ำยีหลอนหลอกทำร้าย
อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครอง กันภัยทั้งปวงให้อีกด้วยพระเจ้าข้า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับมนต์พระปริตรนั้นโดยดุษฏี

ท้าวเวสวัณ ก็แสดงอาฏานาฏิยปริตรนั้นถวาย
และแล้ว มหาราชทั้ง ๔ ก็ถวายมนัสการลา

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงมีพระบัญชาให้ประชุมภิกษุทั้งหลายในที่นั้น
แล้วทรงแสดงมนต์พระปริตรนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายได้เรียนสาธยาย
เสร็จแล้วทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอุตสาหะ
สาธยายมนต์พระปริตรนี้ให้บริบูรณ์ในสันดาน
จะพ้นจากอุปัทวันอันตรายทั้งปวงได้
อมนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่มาย่ำยี หลอนหลอก
เธอทั้งหลายจะได้ดำรงค์อยู่เป็นสุข เพื่อยังพรหมจรรย์ให้เจริญ


ภิกษุเหล่านั้นก็เปล่งสาธุการ น้อมรับด้วยเศียรเกล้า จบ

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~อั ง คุ ลิ ม า ล ป ริ ต ร~

บทขัดอังคุลิมาลปริตร

แม้แต่น้ำล้างตั่งของพระองคุลิมาลเถระ
ผู้กล่าวสัจจะปริตร ยังบันดาลให้อันตรายทั้งปวงหายไปได้

อนึ่ง พระปริตรบทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงตรัสแก่พระองคุลิมาลเถระ
ย่อมยังการคลอดบุตรให้สำเร็จโดยสวัสดี ในทันทีทันใด
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงสาธยายพระปริตรบทนั้น
ซึ่งมีเดชมากอยู่จนตลอดกัปป์เทอญ


ตำนาน

ณ แว่นแคว้นโกศลราช ที่บ้านพราหมณ์ปุโรหิต
อันเป็นอาจารย์ของพระเจ้าโกศล
ภรรยาของท่านปุโรหิตได้ตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด
พอถึงการอันควร นางพราหมณีภรรยาปุโรหิตนั้น
ก็คลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชาย

ขณะที่ทารกน้อยนั้นคลอดออกจากครรภ์มารดา
ก็ให้บังเกิดอาเพศเหตุอัศจรรย์ เครื่องศัสตราวุธ
ของมีคมทั้งหลายภายในเมือง
บังเกิดเป็นแสงรัศมีสีแดงรุ่งเรือง
ประดุจดังถูกเปลวไฟเผาไหม้กำลังจะหลอมละลาย
ครั้นเมื่อจับต้อง ก็หาได้บังเกิดความร้อนไม่

ฝ่ายปุโรหิตผู้เป็นบิดา รู้ทักษา รู้ฤกษ์นิมิตหมาย
จึงได้รู้อยู่แก่ใจว่า บุตรของตนเป็นกาลกิณี เป็นการีต่อผู้คน
หมู่ชนในบ้านเมือง จึงออกเดินทางจากบ้าน
ไปเข้าเฝ้าพระราชาโกศล แล้วทูลว่า

ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า บัดนี้ได้บังเกิดอาเพศ
มีเหตุให้ระคายเคืองเบื้องพระบาทของพระองค์แล้ว พระเจ้าข้า

เรื่องก็มาจากกุมารบุตรของหม่อมฉัน ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา
เป็นเหตุให้ศัสตราวุธลุกเป็นไฟด้วยเดชและศักดิ์ดา ของกุมารน้อยนั้น

เมื่อเจริญวัย จะมีจิตใจหยาบช้า จะเข่นฆ่าหมู่ชน
จะเป็นเหตุให้มหาชนเดือดร้อนเป็นอันมาก
ขอพระองค์ทรงโปรดให้จับกุมารนั้น ไปประหารเสียเถิด
เพื่อมิให้เป็นภัยต่ออาณาประชาราชสืบไป

พระเจ้าโกศล เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นพุทธมามกะ
จึงทรงมีจิตเมตตา ทรงตรัสห้ามว่า

อย่าเลยท่านปุโรหิต กุมารน้อยเพิ่งจะลืมตามาดูโลก ดุจดังไม้อ่อน
ขึ้นอยู่แต่ผู้ฟูมฟักปลูกฝัง สั่งสอนดัดกาย วาจา ใจ
ให้เขาเป็นอะไร ก็จะเป็นเช่นนั้น

ท่านมายกลูกให้เราฆ่า เราก็จะรับเอาไว้ แต่จะไม่ฆ่า
จะส่งคืนให้ท่านไปช่วยเลี้ยงดู ฟูมฟักถนุถนอม
อบรมสั่งสอนแทนเราด้วย
แล้วจึงทรงตั้งชื่อกุมารน้อยนั้นว่า อหิงสกะ

กาลเวลาล่วงเลยมา จนกุมารอหิงสกะ
เจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงาม ร่างกายกำยำแข็งแรง
ท่านปุโรหิตและนางพราหมณี
จึงส่งลูกชายให้ไปศึกษาศิลปวิทยา ณ เมืองตักกศิลา
ตามคตินิยมของคนในยุคนั้น

อหิงสกะ มานพหนุ่มนอกจากจะเป็นผู้มีรูปงาม
ร่างกายแข็งแรง ยังเป็นผู้มีความฉลาดหลักแหลม
เข้าไปเรียนศิลปวิทยา กับอาจารย์ไม่นานเท่าไหร่ ก็เข้า
ใจรอบรู้สรรพวิทยาของอาจารย์ได้ทั้งหมดเท่าที่อาจารย์สอน

อีกทั้งยังเป็นผู้กตัญญูรู้คุณอาจารย์ มีกตเวทิตา
พยายามตอบแทนพระคุณอาจารย์
ด้วยช่วยเหลือกิจการงานทุกอย่างที่อาจารย์พึงมี
จนเป็นที่อิจฉาริษยาแก่บรรดาศิษย์คนอื่นๆ ที่อยู่ร่วม
ด้วยการหาเล่ห์ใส่ไคร้ว่า อหิงสกะ จะเป็นชู้แก่ภรรยาของอาจารย์

แรกๆ อาจารย์ก็มิเชื่อ ต่อๆ มาความดีของ อหิงสกะ
กลับ เป็นที่โปรดปรานของภรรยาอาจารย์ยิ่งนัก
ถึงกับกล่าวนิยมชมชอบในตัว อหิงสกะ แก่สามีของตนว่า

เออ...นี่แน่ ท่านพี่ อหิงสกะ ศิษย์ของท่านคนที่ช่างน่ารัก
น่าเอ็นดูยิ่ง มีน้ำใจช่วยเหลือการงานภายในบ้าน
แถมยังอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เหมือนศิษย์อื่นที่มีมา

เมื่อภรรยาของอาจารย์ทิศาปาโมกข์
กล่าวนิยมชมชอบในตัวอหิงสกะมานพ
ให้แก่อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้ฟังอยู่บ่อยๆ

อีกทั้งกลุ่มศิษย์ที่ริษยา ก็พากันพูดใส่ไคร้ให้อาจารย์หลงผิด
ปุถุชนคนธรรมดาอย่างอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็พลอยเชื่อตามคำยุยง
จึงคิดแค้นในใจว่า

หนอย...เจ้าอหิงสกะ คิดจะกินบนเรือนแล้วมาขี้รดบนหลังคา
เห็นทีข้าต้องหาทางฆ่ามัน ให้ได้


คิดดังนั้นแล้ว จึงออกอุบาย เรียกอหิงสกะมา แล้วกล่าวว่า

ศิษย์รัก เจ้าก็อยู่กับข้ามานาน
ชาญฉลาดทั้งยัง ช่วยทำการงานทุกอย่างภายในบ้าน

ข้าจึงคิดจะตอบแทนเจ้า ด้วยการสอนมนต์ที่ชื่อว่า
วิษณุอิทธิมนต์ให้แก่เจ้า แต่การจะเรียนมนต์ มิใช่ง่าย
ถ้าเรียนได้ก็จะวิเศษสุด ผู้ที่จะเรียนมนต์นี้
จะต้องนำนิ้วของคนมาคนละนิ้ว
รวมกันให้ได้พันนิ้ว แล้วร้อยเป็นพวงมาลา
เพื่อบูชาพระวิษณุ จึงจะเรียนมนต์นี้สำเร็จ

ศิษย์รัก เจ้าจงออกไปหานิ้วมนุษย์มา
ให้ครบพันเพื่อทำมาลาประกอบพิธีเถิด


อหิงสกะมานพ พอได้ฟังคำของอาจารย์ จึงกล่าวแก่อาจารย์ว่า

ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าท่านอาจารย์จะสั่งอะไร
ให้ข้าให้ขึ้นเขาลงห้วย ข้าช่วยทำให้หมด ไม่เคยขัด

แต่ครั้งนี้ ข้าขอขัดท่านอาจารย์สักครั้ง
ด้วยเหตุว่า การทำร้าย ทำลาย ฆ่าคน ผิดวิสัยของผู้ดีมีศีล
แม้ว่าข้าจะปรารถนาอย่างที่สุดที่จะเรียนรู้วิษณุมนต์
ข้าก็มิอาจทำปาณาติบาตฆ่าคนได้
ขอท่านอาจารย์โปรดกรุณาอดโทษแก่ข้าพเจ้า


ข้างฝ่ายอาจารย์ เห็นกิริยาของอหิงสกะ ผู้เป็นศิษย์
กล่าวถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ดังนั้นก็คิดว่า

ไอ้ศิษย์เนรคุณคนนี้ ยังจะมาทำเสแสร้งแกล้งรักษาศีลต่อหน้าเรา

ทั้งๆ ที่คิดจะเป็นชู้ต่อเมียเรา
ดีหละเราก็ต้องเสแสร้งแกล้ง ทำมายาแก่มันบ้าง


คิดดังนั้นแล้ว ผู้เป็นอาจารย์ก็ทำทีเป็นร้องไห้ฟูมฟาย
แล้วก็รำพึงรำพันว่า

โถ...โถ...ดูรึ สวรรค์ เราสู่อุตส่าห์มีความเมตตากรุณาต่อศิษย์
คิดจะประสาทสรรพวิทยายันต์มนต์อันศักดิ์สิทธิ์
แต่ศิษย์กับมาคิดเล็กคิดน้อย
แถมพูดให้เราได้รับความน้อยเนื้อต่ำใจ

เทพไท..เอย..ท่านเทพไท ข้าคงจะไม่มีวาสนาเป็นอาจารย์ แก่ศิษย์ผู้นี้เสียแล้ว


ว่าแล้วก็ทำเป็นร้องไห้ต่อไป

อหิงสกะมานพ เห็นผู้เป็นอาจารย์มีกิริยาอาการเสียใจ
เพราะคำพูดของตน จึงรู้สึกผิดและให้นึกสงสารเห็นใจผู้เป็นอาจารย์ยิ่งนัก
ด้วยความกตัญญู จึงตกปากรับคำว่า

ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ
ในเมื่อเป็นความประสงค์ของอาจารย์ที่ปรารถนาจะให้ศิษย์ได้ดีมีวิชา
ศิษย์ก็มิบังอาจขัดคำสั่ง ขอท่านอาจารย์โปรดจงหยุดร้องไห้เสียเถิด


อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงหยุดร้องไห้
แล้วก็ทำทีเป็นสวมกอดศิษย์รัก
พร้อมทั้งหยิบดาบส่งให้แล้วสั่งว่า

อหิงสกะเอย เจ้าฆ่าคนและจงตัดเอานิ้วชี้มาคนละนิ้วให้ได้หนึ่งพันนิ้ว
แล้วร้อยเป็นพวงมาลา นำมาให้เราบูชาองค์พระวิษณุเพื่อเรียนมนต์


อหิงสกะมานพ ถือดาบตระเวนไล่ฟันเข่นฆ่าผู้คน ล้มตายไปมากมาย
จนเป็นที่หวาดกลัวแก่ผู้คน ถึงขนาดขนานนามว่า องคุลิมาลโจร

ชนทั้งหลาย จึงไปร้องทุกข์ทูลเรื่องแก่พระเจ้าโกศลให้ทรงทราบ

พระเจ้าโกศลราช ทรงทราบความเดือดร้อนของอาณาประชาราช
จึงจัดส่งเจ้าพนักงานให้ออกไปสืบข้อเท็จจริง
ว่าโจรองคุลิมาลเป็นใครกันแน่ ทำไมจึงได้เที่ยวไล่ฆ่าผู้คน

ครั้นเมื่อได้ทรงทราบว่า ที่แท้ องคุลิมาลโจร ก็คือ อหิงสกะ
บุตรของปุโรหิตนั่นเอง พระเจ้าโกศลราชจึงมีรับสั่งให้จัดเตรียมทัพ
เพื่อจะไปจับ โจรองคุลิมาล ฆ่าเสีย

ข้างนางพราหมณีภรรยาของปุโรหิต
มารดาของอหิงสกะพอได้ทราบว่า
บัดนี้ลูกชายที่ส่งไปเรียนวิชา ณ เมืองตักกศิลา
ได้กลายเป็นโจรไล่เข่นฆ่าผู้คน
จนพระราชาต้องนำทัพไปปราบ

ด้วยความรักของแม่ที่มีต่อบุตรสุดชีวิต
ไม่คิดเสียดายแม้ชีวิตจะมีอันตราย
จึงออกเดินทางล่วงหน้า
เพื่อหวังจะไปบอกแก่ลูกว่ากำลังจะมีภัย
ให้ลดละเลิกทำปาณาติบาตเสีย

ยามสุดท้ายของราตรีนั้น องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ทรงเลงข่ายพระญาณ ตรวจดูสรรพสัตว์
จึงได้ทราบว่า องคุลิมาลโจร มีอุปนิสัยอรหัตผล


ถ้าเช้าวันนี้พระองค์ไม่ทรงโปรด
องคุลิมาลโจร ก็จะทำมาตุฆาต
เป็นอนันตริยกรรมขาดจากอุปนิสัยอรหันต์


ครั้นเมื่อถึงกาลอรุณสมัย องค์สมเด็จพระจอมไตร
จึงทรงเสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาลด้วยอิทธิปาฏิหารย์
โดยปรากฏพระวรกายเฉพาะหน้าของ โจรองคุลิมาล

ซึ่งในขณะนั้น นางพราหมณีมารดาของ โจรองคุลิมาล
ก็ถึงเฉพาะหน้าลูกชายพอดี

องค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงทรงเนรมิตรมิให้ โจรองคุลิมาล
มองเห็นมารดา เพราะทรงทราบว่า
ถ้าโจรองคุลิมาลเห็นมารดาก็จะฆ่าเสีย เหตุเพราะจำมารดาไม่ได้

โจรองคุลิมาล เมื่อได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มิได้รู้จัก
แต่ก็คิดในใจว่า เราตระเวนหานิ้วคนเวลานี้ได้ ๙๙๙ นิ้วแล้ว ยังจะขาดอีกนิ้ว
สมณะผู้นี้ดูงามมีสง่า แต่ก็น่าเสียดายที่จะต้องมาตายเสียวันนี้
คิดดังนั้น แล้วจึงถือดาบวิ่งไล่หมายใจว่าจะฟันหัวให้ขาด แล้วตัดเอานิ้วเสีย

องคุลิมาลโจร วิ่งไล่มาได้ไกลแม้หลายโยชน์ แต่ก็หาทันไม่
ซึ่งปกติแม้ม้าอาชาไนยที่แข็งแรงก็อย่าได้หมาย
จะได้วิ่งชนะแก่องคุลิมาลโจรเลย

แต่มาวันนี้ เขากำลังวิ่งไล่ตามสมณะผู้กำลังเดินธรรมดาๆ
องคุลิมาลโจร จึงป้องปากตะโกนร้องบอกว่า

หยุดก่อนสมณะ หยุดก่อนสมณะ สมณะหยุดก่อน

พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสในขณะที่ทรงพระดำเนินว่า

เราหยุดแล้วประสก เราหยุดแล้ว

องคุลิมาล จึงกล่าวตอบว่า ท่านเป็นสมณะ

ดูรึ ยังจะมากล่าวมุสาอีก

พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตรัสตอบว่า

เรามิได้มุสา เราหยุดแล้วจากการก่อเวร
ละบาปและอกุศลกรรมทั้งปวงได้แล้ว
มีแต่ประสกนั่นแหละ ที่ยังไม่หยุดจากการทำบาปอกุศลกรรม


องคุลิมาลโจร พอได้สดับพระสุรเสียงนั้น จึงได้สติคิดว่า

จริงซินะ สมณะผู้นี้ เป็นผู้หยุดก่อเวร
ละบาปและอกุศลกรรมทั้งปวงได้แล้ว
คงมีแต่เรายังวิ่งแสวงหาแต่บาปและอกุศลกรรม
ซึ่งก็จะให้ผลเป็นทุกข์ในที่สุด


คิดดังนี้แล้ว องคุลิมาล จึงได้หยุดวิ่ง
แล้วปล่อยมีดให้หลุดจากมือ
เปลื้องมาลานิ้วมือที่คล้องคอทิ้งเสีย แล้วนั่งคุกเข่าอัญชลี
พร้อมทั้งขอติดตามออกบวช

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงคลายฤทธิ์
ทำให้ องคุลิมาล เห็นมารดา มารดาก็เห็นองคุลิมาล
แล้วทรงมีพุทธฏีกาตรัสให้ องคุลิมาลไปกราบขอขมา
ขออนุญาตบรรพชาจากมารดา
แล้วจึงให้ องคุลิมาล ตามเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร

กาลต่อมา เมื่อ องคุลิมาล ไปบรรพชาอุปสมบทแล้ว
จึงเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถุ
ชาวเมืองเมื่อได้รู้ว่า องคุลิมาล เดินผ่านบ้านตน
ต่างฝ่ายต่างก็ตกใจกลัววิ่งหนีเข้าบ้านปิดประตูลั่นดาน
ซ่อนตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่มีใครยอมออกมาใส่บาตร

ขณะนั้น มีนางหญิงท้องแก่
เห็น องคุลิมาล ภิกษุเดินมา ก็กลัวลนลาน
จะหลบเข้าบ้านก็เดินออกมาไกลจากบ้าน อยู่บริเวณเขตรั้ว
จึงได้ก้มตัวลงเพื่อจะคลานรอดรั้วหนี องคุลิมาลภิกษุ ไปให้พ้น

แต่เจ้ากรรมช่วงหัวและหน้าอกลอดผ่านพ้นรั้วไปได้
และสุดท้ายติดครรภ์ที่โตใกล้คลอด
ขณะนั้นนางเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมากระทันหัน
ดิ้นรนร้องทุรนทุรายติดคารั้วบ้านอยู่

องคุลิมาลภิกษุ เมื่อเดินผ่านมาเห็นเข้า
บังเกิดจิตเมตตาปรารถนาที่จะช่วยหญิงนั้น
แต่ก็มิรู้จักทำประการใดจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

“ดูก่อนน้องหญิง บัดนี้เราได้เกิดในสกุลพระสมณะ
ศากยะผู้ประเสริฐพระองค์นั้นแล้ว
มิได้เบียดเบียน ทำร้ายทำลายสัตว์ตนใด
ให้เดือดร้อนเสียหาย นี้เป็นคำสัตย์
ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและบุตรในครรภ์ด้วยเทอญ”


หญิงนั้นจึงได้คลอดลูกออกมาโดยง่าย
ปราศจากอันตรายและโดยสวัสดี


ต่อมาภายหลัง ชนทั้งหลายมีความเลื่อมใส
ถึงขนาดนำน้ำไปล้างตั่งที่นั่งของท่าน
แล้วเอาไปให้หญิงหรือสัตว์มีครรภ์กิน
หญิงและสัตว์นั้นพลันคลอดบุตรง่าย

เมื่อ พระองคุลิมาล ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานช่วยหญิงนั้นแล้ว
ท่านก็ออกเดินบิณฑบาต
จนได้อาหารแล้วกลับที่พักมาเจริญสมณธรรมต่อไป

ภิกษุองคุลิมาล ขณะเจริญสมณธรรม
ก็มีจิตคิดฟุ้งซ่าน เห็นแต่กายมนุษย์ที่ถูกตนฆ่า มาในรูปอสุรกาย
ปรากฏเฉพาะหน้า ยืนยื่นมือร้องทวงชีวิตเป็นเช่นนี้อยู่เนืองนิจ
จนความนี้รู้ถึงองค์สมเด็จพระชินสีห์ จึงทรงมีพุทธโอวาทตรัสสอนว่า

ดูก่อนภิกษุ เธอจงมีความเพียรเพ่งอยู่
เพื่อกำจัดบาปในใจ ดุจดังบุรุษเอาสาหร่ายจอกแหนออกจากบ่อน้ำฉะนั้น


ภิกษุองคุลิมาล ปฏิบัติพุทธโอวาท
ไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลผู้วิเศษในศาสนา


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ฉั ท ทั น ต ป ริ ต ร~

บทขัดฉัททันตปริตร

โอกาสนี้ ขออาราธนาท่านผู้เจริญทั้งหลาย
สาธยายมนต์ ของพญาช้างฉัททันต์โพธิสัตว์เจ้า
เพื่อชาวเราจักปลอดภัยจากภยันอันตราย ทั้งหลายทั้งปวงด้วยเทอญ


ตำนาน

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร
พระภิกษุณีรูปหนึ่งฟังธรรมอยู่ แล้วดำริว่า

อันตัวเรานี้เคยเป็นบาทบริจาริกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
มาแล้วในอดีตกาลบ้างหรือไม่หนอ
ขณะนั้นก็บังเกิดญาณ อันทำให้ระลึกชาติได้แต่หนหลังว่า
เคยเป็นบาทบริจาริกาเมื่อครั้ง องค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ทรงเสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์

ภิกษุณีผู้นั้น ก็ยินดีหัวเราะขึ้นในท่ามกลางสมาคมนั้น
แล้วนางภิกษุณีนั้น ก็พิจารณาต่อไป
จึงได้รู้ว่าในชาตินั้นตนเป็นผู้ใช้นายพราน ชื่อ โสนุดร
ไปยิงพญาช้างฉัททันต์ ด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ถึงเเก่ความตาย

ภิกษุณีนั้นก็กลับเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้
ในที่สมาคมนั้นเห็นดังนั้น ต่างก็หันมามองพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยคิดจะถามว่าภิกษุณีท่านนี้ บังเกิดอะไรขึ้น

พระผู้มีพระภาค จึงทรงยกนางภิกษุณีนี้เป็นเหตุ
แล้วทรงตรัสชาดกเรื่อง พญาช้างฉัททันต์มาแสดง ความว่า

ณ ป่าหิมพานต์ มีพญาช้างเผือกอยู่เชือกหนึ่ง มีนามว่า พญาฉัททันต์
มีช้าง พังเป็นภรรยาอยู่ ๒ เชือกมีนามว่า จุลสุภัททา และ มหาสุภัททา
พร้อมกับมีช้างบริวารอีก ๘,๐๐๐ เชือก

อยู่มาวันหนึ่งเป็นฤดูที่ดอกไม้รังบาน
พญาช้างฉัททันต์ จึงชวนช้างภรรยาทั้งสอง ให้ไปชมดอกไม้นั้น
ครั้นไปถึง ณ ตำบลที่มีไม้รังออกดอกเป็นกลุ่มใหญ่
ดูระรานตาสดใส หอมเย็นชื่นใจเป็นยิ่งนัก
พญาช้างนั้นสุดที่จะอดใจไว้ได้
พาภรรยาทั้ง สองเดินตรงรี่เข้าไปหาโคนไม้รัง
แล้วใช้ศรีษะชนไม้รังต้นหนึ่ง เพื่อให้ดอกร่วง

ขณะนั้นบนต้นรัง มีรังมดแดงรังใหญ่อยู่
เมื่อพญาช้างชนต้นไม้ด้วยกำลัง รัง มดแดงใหญ่นั้นก็พลันหล่นลงมา
ด้วยเหตุทนแรงเหวี่ยงของกิ่งไม้นั้นไม่ได้
จังหวะที่รัง มดแดงใหญ่ร่วงลงมา
บนหัวของ ช้างพังจุลสุภัททา พอดี
ซึ่งขณะเดียวกันลมก็ได้พัด พาเอาดอกไม้รังและเกสร
ร่วงไปบนหัวและบนตัวของ ช้างพังมหาสุภัททา พอดี เช่นกัน

ช้างพังจุลสุภัททา เมื่อโดนมดร่วงลงใส่หัวและตัว
ก็คิดว่า พญาช้างไม่รักนาง จึงแกล้งทำรังมดแดงร่วงใส่
ทีมหาสุภัททาช้าง พญาช้างคงจะรักมากจึงทำให้ดอกไม้รัง
และเกสรหล่นโปรยไปตามลำตัว

ช้างพังจุลสุภัททา คิดดังนั้นแล้วก็บังเกิดความเคียดแค้น
ผูกพยาบาทจองเวร แก่พญาช้างฉัททันต์เป็นครั้งแรก


อีกครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ช้างฉัททันต์
ได้ดอกปทุมดอกใหญ่มาดอกหนึ่ง
ได้มอบดอกบัวนั้น ให้แก่ ช้างพังมหาสุภัททา

ช้างพังจุลสุภัททาได้เห็นดังนั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจว่า
พญาช้างทำไมไม่ให้ดอกปทุมแก่ตนบ้าง
ช้างนั้นก็ผูกเวรแก่พญาช้างฉัททันต์เป็นครั้งที่สอง


กาลต่อมา ช้างพังจุลสุภัททา
ได้มีโอกาสถวายผลไม้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
แล้วนางช้างก็ได้ตั้งความปรารถนาอธิษฐานว่า
เมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีพจากชาตินี้ไปแล้ว
ขอให้ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ผู้หญิง
มีโอกาสได้เป็นมเหสี ของพระบรมกษัตริย์
และมีโอกาสกลับมาล้างผลาญแก่ พญาช้างฉัททันต์
เอาชีวิตพญาช้าง และตัดเอางาคู่นั้น มาให้ได้

ครั้นนางช้างนั้น ตั้งจิตอธิษฐานดังนั้นแล้ว
นางช้างนั้น ก็มิยอมกินอาหาร ดื่มน้ำ
อยู่ต่อมาไม่นาน นางช้างจุลสุภัททา ก็ได้ตายลง
แล้วได้ไปบังเกิดเป็นบุตรสาวของ มัททราชสกุล
มีนามว่า นางสุภัททา กุมารี

เมื่อนางเติบโตเจริญวัยขึ้น
ได้มีโอกาสเป็นมเหสีของพระราชาผู้ครองเมืองพาราณสีตามความปรารถนา

พระนางระลึกชาติแต่หนหลังได้
จึงรู้สึกเจ็บแค้นพญาช้างฉัททันต์
จึงแสร้งทำประหนึ่งว่าประชวรแพ้ท้อง


เมื่อพระสวามีทรงเข้ามาเยี่ยม
พระนางก็ทูลว่าแพ้ท้อง นางได้ฝันเห็นของสิ่งหนึ่งซึ่งก็ยากที่จะหาได้
ขอให้พระสวามีทรงมีรับสั่งให้
เรียกหาพวกนายพรานป่า มาประชุมพร้อมกันเสียก่อน
แล้วจะแสดงความฝันถวาย

พระราชาก็ทรงมีพระบัญชา
ให้หาตัวพรานป่ามาประชุมรวมกัน ณ ท้องพระโรง
แล้วจึงชวนพระมเหสี ไปยังท้องพระโรง
เพื่อที่จะได้เล่าความฝัน ให้แก่พระองค์และนายพรานได้ฟัง

พระมเหสี เมื่อเสด็จยังท้องพระโรงพร้อมพระราชา
มหาอำมาตย์ราชบริพาร และพรานป่าแล้ว
จึงทรงตรัสเล่าว่า เราฝันเห็นช้างเผือกผู้มีงายาวสีขาว
ที่มีรัศมี ๖ ประการ เราต้องการงาคู่นั้น
ถ้าเราไม่ได้ เราจะฆ่าตัวตาย

พระราชาทรงหลงรัก พระมเหสีสุภัททราองค์นี้มาก
จึงทรงตามพระทัยพระมเหสีทุกประการ


พระนางได้ทรงคัดเลือก นายพรานผู้มีร่างกายแข็งแรงกำยำ
มีฝีมือยิงธนูที่แม่นยำ และรอบรู้อุบายวิธี

พรานที่พระนางทรงเลือกได้ มีนามว่า โสณุดร

พระนางได้บอกตำบล ที่อยู่ของ พญาช้างฉัททันต์
ให้แก่พรานโสณุดร ได้ทราบทุกประการ


เมื่อได้ทราบที่อยู่ของพญาช้างฉัททันต์ จากพระมเหสีแล้ว
ได้ออกเดินทางไปยัง ป่าหิมพานต์
ตรงไปยัง ณ ตำบลที่อยู่ของพญาช้างฉัททันต์
ตามคำบอกเล่าของพระมเหสี สิ้นเวลาไปถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน

ครั้นเดินทางไปถึง ยังที่อยู่ของพญาช้าง
พรานโสณุดร จึงซุ่มดูกิริยาของพญาช้าง
ทั้งวันเวลาไปและกลับ ของพญาช้างที่ออกไปหากิน

เมื่อเฝ้าดูจนรู้เเน่เเล้ว
นายพรานก็รอเวลาให้พญาช้างเเละบริวาร ออกจากที่พัก เเล้ว
พรานนั้น ก็ออกมาจากที่ซ่อน หาทำเลที่เหมาะ
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของพญาช้างมากนัก

แล้วทำการขุดหลุมให้ลึกพอที่ตนจะลงไปยืนอยู่ในหลุมนั้นได้มิดหัว
พร้อมทั้งนำท่อนไม้และใบไม้ มาเรียงขวางปากหลุม
แล้วกลบทับด้วยดิน เกลี่ยดินให้เรียบ
อีกทั้งยังเปิดช่องที่ตนจะลงไปซ่อนตัว
และเปิดช่องสำหรับเล็งลูกศร

ครั้นได้เวลาที่พญาช้างและบริวาร จวนจะกลับ
พรานโสณุดร ก็ลงไปซ่อนในหลุมที่ตนขุดเอาไว้
แล้วยังนำเอาผ้าจีวรที่เตรียมมา นำมานุ่งห่ม

เมื่อกาลมรณะ ของพญาช้างมาถึง
พญาช้างนั้นพร้อมบริวาร ก็เดินทางกลับมายังที่อยู่ของตนดังเดิม

ครั้นมาถึงตรงสุดที่พรานโสณุดร ขุดหลุมเอาไว้
พญาช้างนั้น ก็หาได้เฉลียวใจอันใดไม่
ได้มาหยุดยืนอยู่ตรงจุดเดิมที่ทุกครั้ง
เมื่อกลับมาจากหาอาหาร ตนจะต้องมายืนเพื่อสำรวจตรวจดู
ภูมิประเทศในที่พักของตนว่ามีอะไรผิดปกติบ้าง

ขณะที่พญาช้างกำลังมองสำรวจดูอยู่นั้น
พรานโสณุดร ได้นำลูกศรอาบยาพิษมาพาดสาย
เล็งตรงไปยังช่องที่ตนเจาะเอาไว้เฉพาะ
ปลายศรนั้นเล็งตรงไปยังท้องของ พญาช้างฉัททันต์ พอดี
พรานป่าโสณุดร ใช้กำลังน้าวคันศรสุดแรง
พร้อมกับปล่อยศรอาบยาพิษนั้นออกจากแล่ง
ศรนั้นพุ่งตรงไปยังท้องของพญาช้างฉัททันต์ จนทะลุหลัง


พญาช้างนั้นก็ส่งเสียงร้องโกญจนาท ขึ้น ๓ ครั้ง
บริวารของพญาช้างนั้น เมื่อรู้ว่า นายของตนมีภัย
ก็พากันแยกย้ายกันออกค้นหาศัตรู ที่ทำร้ายนายของตน
เว้นแต่นางช้างพังมหาสุภัททา เฝ้าอยู่ใกล้พญาช้าง

พญาช้างรู้ว่าศัตรูซ่อนตัวอยู่ในหลุม
จึงปรารถนาที่จะทราบสาเหตุเฉพาะตน
จึงไล่นางช้างพังมหาสุภัททา ว่าน้องหญิง
จงไปช่วยบริวารออกค้นหาศัตรูให้พบเถิด มิต้องเป็นห่วงเราหรอก

เมื่อนางช้างพังจากไปแล้ว
พญาช้างฉัททันต์ ก็ทำลายที่กำบังของนายพราน เพื่อจะจับตัวฆ่าเสีย
แต่พอได้เห็นผ้าจีวรที่นายพรานห่มอยู่
จึงดำริขึ้นว่า ผ้ากาสาวพัสตร์นี้ เป็นธงชัยของพระอรหันต์
บัณฑิตทั้งหลายไม่ควรทำลาย
ควรที่จะสักการะเคารพ

พญาช้างนั้นจึงเอางวงยกร่างของพรานป่านั้นขึ้นจากหลุม
มาวางลงข้างหน้า แล้วกล่าวว่า
ผู้ที่หมักหมมอยู่ด้วยกิเลสอย่างท่าน
ไม่ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผ้านี้ควรแก่ผู้ที่ปราศจากกิเลสเท่านั้น
ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว โทสะจิตของพญาช้างก็ระงับไป


พญาช้างนั้นจึงร้องถาม นายพรานป่าว่า
เจ้าฆ่าเราเพื่อประสงค์สิ่งไร ต้องการเองหรือมีผู้ใช้ให้มา

พรานป่าโสณุดร จึงเล่าความตั้งแต่ต้นจนจบ ให้พญาช้างฉัททันต์ฟัง

พญาช้าง ครั้นได้ทราบว่า นางสุภัททาเทวี
เป็นผู้ใช้ให้นายพรานมาฆ่า เพื่อจะเอางา
ก็ได้ทราบในทันที่ว่านี่คงเป็นเพราะเวรกรรม
ที่นางจุลสุภัททาช้างพังในอดีต
บัดนี้บังเกิดเป็นมเหสีของจอมกษัตริย์แห่งพาราณสี
นางได้จองเวรพยาบาทต่อเรา เรามิควรที่จะก่อเวรต่อนางอีก

พญาช้างคิดดังนี้แล้ว
จึงให้นายพรานเลื่อยเอางาทั้งคู่ของตน ตามความปรารถนา
พร้อมทั้งอธิษฐานว่า ขอเดชแห่งการบริจาคงาทั้งคู่ของเรานี้
จงเป็นปัจจัย ให้เราได้บรรลุพระโพธิญาณ ในอนาคตกาลนั้นด้วยเทอญ


เมื่อนายพรานโสณุดร ตัดเอางาทั้งคู่เสร็จสิ้นแล้ว
พญาช้างนั้น จึงได้กล่าวแก่พรานโสณุดรว่า
เราจะสอนมนต์สัจจะคาถาให้แก่ท่าน
เพื่อจะได้ใช้ป้องกันภัยทั้งหลายขณะเดินทาง
ว่าแล้วพญาช้างฉัททันต์ ก็ได้กล่าวมนต์
ให้แก่นายพรานโสณุดร ได้เรียนจนสำเร็จ
แล้วพญาช้างนั้นก็ถึงกาลกิริยา


พรานโสณุดร ได้อาศัยมนต์ของพญาช้างป้องกันภัยที่เกิดขณะเดินทาง
จนพาตนรอดปลอดภัย นำเอางาทั้งคู่ของพญาช้างฉัททันต์
เข้าไปถวายนางสุภัททาเทวี ณ เมืองพาราณสีจนสำเร็จ

พระนางสุภัททาเทวี ครั้นพอได้เห็นงาทั้งคู่
ของพญาช้างฉัททันต์โพธิสัตว์
ก็ให้หวนคำนึงระลึกถึงความรัก ความหลัง ที่ตนมีแก่พญาช้างนั้น

มาบัดนี้ เรากลับทำให้ผู้ที่เป็นที่รักของเราได้ตายจากเราไปเสียแล้ว
พระเทวีคิดดังนี้แล้วก็บังเกิดความโศกเศร้าเสียใจอย่างแสนสาหัส
จนหัวใจวายตายในที่สุด

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~โ ม ร ป ริ ต ร~

บทขัดโมรปริตร

พวกพรานไพร แม้พยายามอยู่ช้านานก็ไม่อาจจะจับพระมหาสัตว์
ผู้กำลังบำเพ็ญโพธิสมภาร ได้เกิดในกำเนิดแห่งนกยูง
พร้อมทั้งรักษาตัวด้วยการสาธยายพระปริตรใด ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ขอได้โปรดสาธยายพระปริตรที่เรียกว่า พรหมมนต์ นั้นเทอญ


ตำนาน

ครั้งเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภถึงภิกษุผู้ตกอยู่ในอารมณ์กระสันรูปหนึ่ง
จึงทรงตรัสพระธรรมเทศนา พระปริตรนี้ให้แก่ภิกษุนั้นฟัง มีความว่า

อดีตกาลเนิ่นนานมา มีพระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัตต์
ครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เจ้าได้บังเกิดในครรภ์นางนกยูง
อันอาศัยอยู่ในป่าชายแดนกรุงพาราณสี
เมื่อพระโพธิสัตว์ออกจากไข่แล้ว มีผิวพรรณและสีขนเป็นเงางาม เป็นสีทอง
พร้อมประกอบด้วยลักษณะอันเลิศกว่านกทั้งปวง
เมื่อเติบใหญ่เจริญวัย ก็ได้เป็นเจ้าแห่งนกยูงทั้งปวง

วันหนึ่งพญานกยูงทองนั้นได้ไปดื่มในสระแห่งหนึ่ง
มองเห็นเงาของตนในน้ำ จึงได้รู้ว่าตนนี้มีรูปงามยิ่งกว่านกยูงทั้งหลาย

จึงคิดว่า ถ้าเราขืนอยู่รวมกับหมู่นกยูงทั้งหลาย
อาจจะนำพาภัยมาถึงหมู่คณะแก่ตัวเอง
เห็นทีเราจะต้องหลีกออกเสียจากหมู่ ไปหาที่อยู่ใหม่
คงจะต้องไปให้ไกลจนถึง ป่าหิมพานต์ เราจึงจะพ้นภัย


พญายูงทองนั้นคิดเช่นนี้แล้ว จึงออกบินไปด้วยกำลัง
ไม่ช้านักก็ถึงป่าหิมพานต์นั้น เสาะแสวงหาได้ถ้ำแห่งหนึ่ง
ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชัน ณ ป่าหิมพานต์นั้น
เป็นที่อยู่อาศัย เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย

ครั้นรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์จึงได้ออกจากคูหา
บินไปจับบนยอดเขา หันหน้าไปสู่ทิศบูรพา (ทิศตะวันออก)
แล้วเพ่งมองดวงสุริยะเมื่อยามเช้า พร้อมกับสาธยายพระปริตร
ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า

อุเทตยัญ จักขุมาเอกะราชา เป็นต้น
เพื่อป้องกันรักษาตนในเวลากลางวัน
แล้วจึงเที่ยวออกไปแสวงหาอาหาร

ครั้นถึงเวลาเย็น เมื่อจะบินกลับเข้าที่อยู่ พญานกยูงทอง
ก็ไม่ลืมที่จะบินขึ้นไปจับอยู่บนยอดเขา หันหน้าสู่ทิศตะวันตก
แหงนมองดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงลับขอบฟ้าไป
แล้วสาธยายมนต์พระปริตรขึ้นว่า

อะเปตะยัญจักขุมาเอกะราชา เป็นต้น เพื่อที่จะป้องกันภัย
รักษาตนในเวลาตลอดราตรี แล้วจึงบินกลับเขาไป อาศัยอยู่ในถ้ำจนตลอดรุ่ง

เช้าตรู่ของวันใหม่ พญายูงทองก็ทำดังนี้ทุกวันมิได้ขาด
พร้อมได้สถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่ในความสุขสำราญตลอดมา
โดยมิมีทุกข์ภัยใดๆ มากล้ำกรายได้เลย


กาลต่อมา มีพรานป่าผู้หนึ่งเดินทางหลงป่ามาจนได้พบเห็น
พญายูงทองที่เกาะอยู่บนยอดขุนเขานั้น
แต่ก็มิได้ทำประการใด เพราะมัวแต่พะวงกับการหาทางออกจากป่า
จนพรานผู้นั้นหาทางกลับมาถึงบ้านพักของตน ก็มิได้บอกเรื่องที่ได้พบเห็น

พญานกยูงทองนั้นแก่ใคร จวบจนเวลาที่นายพรานผู้นั้นแก่ใกล้ตาย
จึงได้บอกเรื่องพญายูงทองให้แก่บุตรของตนได้ทราบ
แล้วสั่งว่าควรจะนำข่าวนี้ไปแจ้งแก่พระราชาให้ทรงทราบ
สั่งแล้วก็สิ้นลมตาย

ต่อมาภายหลัง พระมเหสีของพระเจ้าพาราณสีทรงพระสุบินนิมิตรไปว่า

ขณะที่พระนางทรงประทับอยู่ภายในพระราชอุทยาน
ที่ประทับอยู่ ณ ริมสระปทุมชาติ
ได้มีนกยูงสีทองบินมาจากทิศอุดร
แล้วร่อนลงจับอยู่ ณ ขอนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่ง
แล้วนกยูงทองนั้นก็ได้ปราศรัย แสดงธรรมให้แก่พระนางฟัง

กาลต่อมา พระเทวีทรงฝันต่อไปว่า
เมื่อพญายูงทองนั้นแสดงธรรมจบแล้ว นกยูงทองนั้นก็จะบินกลับ
ในฝันพระนางได้ตะโกนร้องบอกแก่บริวารว่า

ช่วยกันจับนกยูงที ช่วยกันจับนกยูงที
พระนางตะโกนจนกระทั้งตื่นบรรทม
นับแต่นั้นมา พระเทวีก็ให้อาลัยปรารถนาจักได้นกยูงทองตัวนั้นมา
จึงออกอุบายแสร้งทำเป็นทรงพระประชวร ด้วยอาการแพ้พระครรภ์


แล้วทูลขอพระสวามีว่า

การแพ้ท้องครั้งนี้จักหายได้ ก็ด้วยได้มีโอกาสเห็นพญายูงทอง
และสดับธรรมที่พญานกยูงทองแสดง


พระราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีรับสั่งให้เกณฑ์เหล่าพรานไพรทั้งหลาย
ที่อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี และรอบอาณาเขตพระนคร
เมื่อบรรดาพรานไพรมาประชุมพร้อมกันแล้ว
พระราชาจึงทรงตรัสถามว่า มีใครรู้จักนกยูงสีทองบ้าง

ขณะนั้นพรานหนุ่มผู้ซึ่งเคยได้รับคำบอกเล่าจากบิดาว่า
ได้เคยเห็นนกยูงทอง
จึงลุกขึ้นกราบบังคมทูลเนื้อความนั้นแก่พระราชา
พร้อมทั้งกราบทูลแจ้งที่อยู่ของพญานกยูงทองแก่พระราชาด้วย

พระราชาพรหมทัตต์ จึงทรงมีพระบัญชาว่า

ดีหล่ะในเมื่อเจ้าพอจะรู้ถึงถิ่นที่อยู่ของพญายูงทอง
เราก็จะตั้งให้เจ้ามีหน้าที่เป็นพรานหลวง
ไปจับนกยูงทองตัวนั้นมาให้เราและพระมเหสี


พรานหนุ่มก็รับพระบัญชาจากพระราชา
แล้วออกเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์
เพื่อที่จะจับยูงทองตัวนั้นมาถวายพระราชาให้จงได้

จวบจนวันเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี
พรานหนุ่มซึ่งบัดนี้แก่ชราลงแล้ว
ก็ยังมิสามารถจับพญานกยูงทองนั้นได้
ครั้นจะกลับไปยังบ้านเมืองก็เกรงจะต้องอาญา
จึงทนอยู่ในป่าหิมพานต์จนกระทั่งตาย

ส่วนพระเทวี เมื่อเฝ้ารอพญายูงทองที่ส่งนายพรานไปจับ
ก็ยังไม่เห็นมาจนกระทั่งตรอมพระทัยตายในที่สุด

พระราชาพรหมทัตต์ทรงเสียดายอาลัยรัก พระมเหสีเป็นที่ยิ่งนัก
จึงทรงดำริว่า พระมเหสีของเราต้องมาตายโดยยังมิถึงวัยอันควร
เหตุน่าจะมาจากพญานกยูงทองตัวนั้นเป็นแน่

บัดนี้เราก็แก่ชราลงมากแล้ว
คงจะไม่มีโอกาสเห็นนายพรานคนใดจับนกยูงทองตัวนั้นได้เป็นแน่

ดีหละถ้าเช่นนั้นเราจะผูกเวรแก่นกยูงตัวนี้ ทรงดำริดังนั้นแล้ว

พระราชาพรหมทัตต์มีรับสั่งให้นายช่างทอง สลักข้อความว่า

หากผู้ใด ใครได้กินเนื้อของพญานกยูงทองที่อาศัยอยู่ ณ ป่าหิมพานต์
จักมีอายุยืนยาวไม่แก่ ไม่ตาย ลงในแผ่นทอง
แล้วเก็บรักษาไว้ในท้องพระคลัง


ต่อมาไม่นานพระราชาพรหมทัตต์ ก็ถึงกาลทิวงคตลง
แผ่นทองจารึกนั้น ก็ตกถึงมือของยุวกษัตริย์องค์ต่อมา
เมื่อทรงรู้ข้อความในแผ่นทองจารึกนั้นก็หลงเชื่อ
มีรับสั่งให้พรานป่าออกไปตามจับพญานกยูงทองมาถวาย
และแล้วพรานไพรนั้น ก็ต้องไปตายเสียในป่าอีก

เหตุการณ์ได้ดำเนินไปเช่นนี้ จนสิ้นเวลาไป ๖๙๓ ปี
พระราชาในราชวงศ์นี้ก็ทิวงคตไป ๖ พระองค์

แม้ว่าจะสิ้นพรานป่าไป ๖ คน พระราชาทิวงคตไป ๖ พระองค์
ก็ยังหามีผู้ใดมีความสามารถจับพญายูงทองโพธิสัตว์ได้ไม่


จวบจนถึงรัชสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ ผู้ครองกรุงพาราณสี
ได้คัดสรรจัดหาพรานไพร
ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นคนละเอียดรู้จักสังเกต รู้กลอุบาย

นายพรานคนที่ ๗ เมื่อได้รับพระบัญชา แต่พระราชา
ให้ออกไปจับนกยูงทอง ณ ป่าหิมพานต์
ก็จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมบ่วงบาศ เพื่อจะไปดักจับพญายูงทอง

พรานนั้นใช้เวลาในการดักจับพญายูงทองสิ้นเวลาไป ๗ ปี
พญายูงทองก็หาได้ติดบ่วงของนายพรานไม่

นายพรานจึงมาใคร่ครวญดูว่า

เอ..ทำไมบ่วงของเราจึงไม่รูดติดข้อเท้าของพญายูงทอง
แต่ก็หาคำตอบได้ไม่


พรานนั้น ก็มิได้ละความพยายาม เฝ้าสังเกตกิริยา
และกิจวัตรประจำวันของพญายูงทอง
จึงได้รู้ว่าทุกเช้าและทุกเย็น พญานกยูงทองจักเจริญมนต์พระปริตร
โดยช่วงเช้าบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกมองพระอาทิตย์
ตอนเย็นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมองพระอาทิตย์ แล้วสาธยายมนต์

พรานนั้นสังเกตต่อไปว่า ในที่นี้หาได้มีนกยูงตัวอื่นอยู่ไม่
แสดงว่าพญานกยูงนี้ยังรักษาพรหมจรรย์อยู่
คงด้วยอำนาจของการรักษาพรหมจรรย์ และมนต์พระปริตร
ทำให้บ่วงของเราไม่ติดเท้านกยูงทอง

ครั้นนายพรานได้ทราบมูลเหตุดังนั้นแล้ว
จึงคิดจะขจัดเครื่องคุ้มครองของพญานกยูงทองเสีย


นายพรานนั้นจึงเดินทางกลับสู่บ้านของตน
แล้วออกไปดักนกยูงตัวเมียที่มีลักษณะดีในป่าใกล้บ้าน
ได้มาหนึ่งตัว แล้วจึงทำการฝึกหัดให้นางนกนั้น รู้จักอาณัติสัญญา

เช่น ถ้านายพรานดีดนิ้วมือ นางนกยูงก็จะต้องร้องขึ้น
ถ้าปรบมือนางนกยูงก็จะทำการฟ้อนรำขึ้น

เมื่อฝึกสอนนางนกยูงจนชำนิชำนาญดีแล้ว
พรานนั้นก็พานางนกยูงเดินทางไปยังที่ที่พญานกยูงทองอาศัยอยู่
แล้วทำการวางบ่วงดักเอาไว้
ก่อนที่พญายูงทองจะเจริญมนต์พระปริตร

พรานได้วางนางนกยูงลงใกล้ๆ กับที่ดักบ่วง แล้วดีดมือขึ้น
นางนกยูงก็ส่งเสียงร้องด้วยสำเนียงอันไพเราะจับใจ
จนได้ยินไปถึงหูของพญายูงทองโพธิสัตว์

คราที่นั้น กิเลสกามที่ระงับด้วยอำนาจของตบะ
และหลบอยู่ในสันดาน ก็ได้ฟุ้งซ่านขึ้นในทันที


เสียงนางยูงทองนั้นทำให้พญายูงทองโพธิสัตว์
มีจิตกระสันฟุ้งซ่านเร่าร้อนไปด้วยไฟราคะ
ครอบงำเสียซึ่งตบะ
ไม่สามารถมีจิตคิดจะเจริญมนต์พระปริตรสำหรับป้องกันตนได้เลย

พญานกยูงทองโพธิสัตว์จึงได้ออกจากคูหา
แล้วโผผินบินไปสู่ที่ที่นางนกยูงยืนส่งเสียงร้องในทันที

ขณะที่มัวแต่สนใจแต่รูปโฉมของนางนกยูง
พลันเท้านั้น ก็เหยียบยืนเข้าไปในบ่วงบาศของพรานที่วางดักไว้
บ่วงใดๆ ที่มิได้เคยร้อยรัดพระมหาโพธิสัตว์ยูงทอง ตลอดเวลา ๗๐๐ ปี

บัดนี้พญายูงทองโพธิสัตว์ได้โดนบ่วงทั้งสองร้อยรัดสิ้นอิสระเสียแล้ว

บ่วงทั้งสองนั่นก็คือ

“บ่วงกาม”
“บ่วงบาศ”


โอ้หนอ บัดนี้ทุกข์ภัยได้บังเกิดต่อพญานกยูงทองโพธิสัตว์เสียแล้ว
เป็นเพราะเผลอสติแท้ๆ เพราะนางนกยูงตัวนี้เป็นเหตุ
จึงทำให้พญายูงทองมีจิตอันเร่าร้อนไปด้วยกิเลส
จนต้องมาติดบ่วงของเรา

การที่เรามาทำสัตว์ผู้มีศีลให้ลำบากเห็นปานนี้ เป็นการไม่สมควรเลย
จำเราจะต้องปล่อยพญานกนี้ไปเสียเถิด
แต่ถ้าเราจะเดินเข้าไปปล่อยพญานกยูงทองนั้น
ก็จะดิ้นรนจนได้รับความลำบาก เห็นทีเราจะต้องใช้ธนูยิงสายบ่วงนั้นให้ขาด
เพื่อพญานกจะได้หลุดจากบ่วงที่คล้องรัดอยู่ นายพรานคิด


ครั้นนายพรานไพรผู้มีใจเป็นธรรมคิดดังนั้นแล้ว
จึงจัดการนำลูกธนูมาขึ้นพาดสาย แล้วเล็งตรงไปยัง
เชือกบ่วงที่ผูกติดกับต้นไม้ เพื่อหมายใจจะให้เชือกขาด

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ ครั้นได้แลเห็นนายพรานโก่งคันศร
ก็ตกใจกลัวว่านายพรานจะยิ่งตนตายด้วยลูกศร
จึงร้องวิงวอนขอชีวิตต่อนายพรานว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจับเราเพราะต้องการทรัพย์แล้วหละก็
ขออย่าได้ฆ่าเราเลย จงจับเราเป็นๆ เอาไปถวายพระราชาเถิด
พระราชาจะปูนบำเหน็จให้ท่านอย่างงามทีเดียวหละ


พรานไพร เมื่อได้ฟังนกยูงทองร้องบอกและขอชีวิตดังนั้น

จึงกล่าวว่า เรามิได้มีความประสงค์จะฆ่าท่านหรอก
การที่เราเล็งศรไปยังท่าน ก็เพียงเพื่อจะยิงเชือกบ่วงให้ขาด
เพื่อปล่อยท่านให้เป็นอิสระ


พญานกยูงทองโพธิสัตว์จึงร้องขอบใจต่อนายพราน

พร้อมทั้ง แสดงอานิสงส์ของการไม่ฆ่าสัตว์
และผลของการฆ่าสัตว์ว่าจะได้รับโทษทุกข์ทัณฑกรรมนานา

อีกทั้งชี้แจงให้พรานไพรได้รู้ถึงผลของบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ
ว่ามีโทษทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อน
ส่วนผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมมีผลที่ให้เกิดสุขทั้งตนและคนอื่น

ทั้งยังได้บอกประโยชน์ของการไม่คบคนพาล คบบัณฑิต
และที่สุด พญานกยูงทอง
ก็ชี้ให้นายพรานได้เห็นทุกข์ภัยของสัตว์นรก
ว่าเกิดจากความเมาประมาทขาดสติ


เมื่อสิ้นสุดธรรมโอวาท
พรานนั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ
ส่วนพญายูงทองก็ได้พ้นจากบ่วงทั้งสอง
คือ บ่วงกาม และบ่วงบาศ ที่เกิดจากเครื่องดักจับ
ในขณะที่นายพรานตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า


พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก็ทำการประทักษิณ แก่พญานกยูงทองโพธิสัตว์
แล้วก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ ไปสถิตอยู่ ณ คูหาบน ยอดเขานันทมูลคีรี

จบความเดิมที่เกิดมนต์โมรปริตรแต่เพียงนี้

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 08:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~วั ฏ ฏ ก ป ริ ต ร~

บทขัดวัฏฏกปริตร

ด้วยเดชแห่งพระปริตรใด ทำให้ไฟไม่เผาไหม้
ในที่ที่พระมหาสัตว์ถือกำหนดเกิดเป็นนกคุ้ม
ผู้กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อเสริญสร้างพระโพธิญาณ

ท่านทั้งหลายโปรดจงสาธยายพระปริตรนั้น
ซึ่งมีเดชมากมาย ตั้งอยู่ได้ตลอดกัปป์
ที่พระโลกนาถเจ้าทรงตรัสไว้แก่พระสารีบุตรนั้นเถิด


ตำนาน

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระศาสดาเสด็จจาริกไปใน แว่นแคว้นมคธ
เพื่อบิณฑบาตพร้อมด้วยพระสาวกตามเสด็จเป็นอันมาก

ครั้นเสด็จกลับหลังจากทำภัตรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก
เสด็จเข้าไปทรงประทับเจริญสมณธรรมในป่าแห่งหนึ่ง

ขณะนั้นได้บังเกิดไฟป่าขึ้นในทิศทั้งสี่
ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายต่างพากันตื่นตระหนกตกใจ
บ้างก็บอกว่าจะพากันไปช่วยดับไฟ
บ้างก็บอกว่าเรามาช่วยกันจุดไฟเพื่อสกัดไฟกันดีกว่า

ยังมีพระภิกษุผู้เป็นเถระบางรูป กล่าวเตือนขึ้นว่า

พวกเราจะตระหนกตกใจไปไย
พระบรมสุคตเจ้าทรงประทับอยู่ด้วยกับเราที่นี่
เราควรจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เพื่อให้พระองค์ทรงแนะนำเรื่องนี้จะดีกว่า


ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ณ โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง
แล้วทูลเรื่องไฟป่าให้พระบรมศาสดาทรงทราบ

พระบรมสุคตเจ้าเมื่อทรงทราบ
จึงได้ทรงเสด็จลุกขึ้นยืนทอดพระเนตรไฟในทิศทั้ง ๔

ในทันทีนั้นไฟป่าที่พระบรมสุคตเจ้า
ทรงหันไปทอดพระเนตร ได้ดับไป
ดุจดังบุคคลถือคบเพลิงที่มีไฟลุกอยู่ แล้วจุ่มลงไปในน้ำ
ไฟนั้นได้ดับลงในฉับพลันฉันนั้น
โดยรอบพื้นที่ ๑๖ กรีส หรือประมาณ ๑ กิโลครึ่ง


ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงกล่าวสรรเสริญพุทธธานุภาพ
ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก


องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสว่า

การที่ไฟไหม้มาถึงภูมิประเทศนี้ โดยรอบ ๑๖ กรีส
แล้วดับไปหาใช่พุทธานุภาพของพระองค์แต่ชาตินี้ไม่ ไฟป่าที่ไม่
มีชีวิตย่อมดับไปเพราะกำลังแห่งสัจจะวาจาของเราที่มีมาแล้วแต่อดีต


ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่องที่มีมาแล้วแต่อดีต ความว่า

ในอดีตสมัยเมื่อพระองค์ ยังทรงเสวยพระชาติเป็น พญานกคุ้มโพธิสัตว์
ครั้นเมื่อออกจากฟองไข่ ก็ได้อาศัยอยู่ในป่า แคว้นมคธ
วันหนึ่งพ่อและแม่พญานกคุ้มพากันออกไปหาอาหาร
ปล่อยให้ลูกนกคุ้มอยู่ในรังตามลำพัง

ขณะนั้นได้บังเกิดไฟป่า
ปรากฏขึ้นมาจากทิศทั้ง ๔ รอบรังของลูกนกคุ้ม
อยู่ห่างจากรัง ๑๖ กรีส หรือหนึ่งกิโลครึ่ง


ขณะนั้นลูกนกคุ้ม ได้รู้ตัวว่าตนตกอยู่ในวงรอบของไฟป่า
จึงเหลียวหาบิดามารดา ก็ไม่เห็นลูกนกคุ้มจึงคิดว่า

โดยปกติธรรมดาสัตว์ เมื่อตัวลูกมีภัยก็ต้องอาศัยพึ่งพิงพ่อแม่
แต่บัดนี้พ่อแม่เรามิได้อยู่เสียแล้ว
เราคงจะต้องพึ่งพิงอิงอาศัยตัวเอง
ลูกนกคุ้มนั้นจึงตั้งสัจจะวาจาว่า


คุณของศีลมีอยู่
คุณของธรรมมีอยู่
คุณของสัจจะวาจานี้ก็มีอยู่จริง

ปีกทั้งสองข้างเรามีอยู่ แต่ยังบินไม่ได้
เท้าเราทั้งสองข้างมีอยู่ แต่ยังเดินไม่ได้
บิดามารดาทั้งสองเรามีอยู่ แต่บัดนี้มิได้อยู่กับเรา

นี้เป็นสัจจะวาจาของเรา
ไฟป่าที่ไม่มีชีวิตเอ๋ย
ด้วยเดชแห่งสัจจะวาจานี้
ขอไฟป่าจงดับไป


ครั้นเมื่อสิ้นสัจจะอธิษฐานของลูกนกคุ้ม
ไฟป่าที่ไหม้มาทั้ง ๔ ทิศ ก็ดับลงโดยพลัน
ดุจดังบุคคลถือคบเพลิงที่มีเพลิงลุก แล้วจุ่มลงในน้ำฉะนั้น
ไฟนั้นก็พลันดับไปในทันที


องค์สมเด็จพระชินศรีจึงทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

แต่บัดนั้นจวบจนถึงกาลนี้
ไฟป่าก็มิอาจเผาไหม้เข้ามาถึงเขตนี้ได้อีกเลย
ซึ่งมีอาณาเขตโดยรอบ ๑๖ กรีส โดยประมาณ ๑ กิโลครึ่ง


นี้แหละภิกษุทั้งหลาย เป็นอานุภาพของพระโพธิสัตว์ที่มีอยู่ในตัวนกคุ้ม
ผู้บำเพ็ญบารมี จนได้มาเป็นเราตถาคตในปัจจุบัน


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 09:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~โ พ ช ฌ ง ค ป ริ ต ร~

ตำนาน

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น พระมหากัสสปะอาศัยอยู่ในปิปผลิคูหา
บังเกิดโรคาพาธแรงกล้า อาการหนักขึ้นทุกวัน
ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงสถิตอยู่ในสมาบัติ

เมื่อถึงกาลอันควร ทรงออกจากสมาบัติแล้ว
จึงทรงมีพระกรุณาโปรด
เสด็จไปเยี่ยมอาการไข้ของพระมหากัสสปะเถระ
ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ
ให้ท่านพระมหากัสสปะได้รับฟัง

เมื่อจบพระธรรมเทศนานั้น
พระมหากัสสปะมีจิตโสมนัสยินดีรื่นเริงในธรรม
ลุกขึ้นกราบพระบาท หายจากอาการไข้โดยพลัน


อีกครั้ง ขณะที่พระบรมศาสดา
ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์
ครานั้นพระมหาโมคคัลลานะ
อาศัยอยู่ ณ เขาคิชฌกูฎ เกิดอาการอาพาธหนัก

พระบรมศาสดาเมื่อทรงออกจากสมาบัติแล้ว
ได้เสด็จไปเยี่ยมอาการป่วยของพระโมคคัลลานะ
แล้วทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระมหาโมคคัลลานะฟัง
พระมหาโมคคัลลานะนั้นก็หายจากอาการป่วยโดยพลัน

แม้พระบรมศาสดาเอง เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระประชวรหนัก
ด้วยโรคปวดท้อง มิมียาใดๆ รักษาให้หายได้
จึงมีพระพุทธฎีการับสั่งให้พระจุนทะเถระ
แสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระองค์ทรงสดับ

เมื่อพระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการจบลง
พระบรมศาสดาก็ทรงหายจากอาการประชวรโดยพลัน
ทรงเสด็จลุกขึ้นจากพระบรรทมได้ในทันที


กาลนี้ ขอเชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย
สาธยายโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้แก่คนยาก
ได้สดับเพื่อความสวัสดี จะพึงมีแก่ข้าต่อไป


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 09:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~อ ภ ย ป ริ ต ร~

ตำนาน

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินนิมิตถึงอาเพศ ๑๖ อย่าง
แล้วให้เกิดความหวาดหวั่น ต่อมรณภัยที่มองไม่เห็น
จึงทรงเล่าพระสุบินนั้น ให้พราหมณ์ปุโรหิตรับฟัง

พราหมณ์ปุโรหิตพยากรณ์ว่าจะบังเกิดเหตุการณ์ให้พระองค์
มีอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งราชสมบัติด้วย

ปุโรหิตนั้น ได้ทูลแนะวิธีป้องกันอันตราย ด้วยบัญญัติวิธี
คือ เอาสัตว์อย่างละ ๔ ๆ มาฆ่าบูชายัญ


พระเจ้าปเสนทิโกศล
จึงทรงมีรับสั่งให้จัดเตรียมประจำพิธีและสิ่งของ
ตามถ้อยคำของปุโรหิตบอก

ครานั้น พระนางมัลลิกาเทวี
พระมเหสีของ พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงทูลขึ้นว่า


เสด็จพี่อย่าพึ่งทำยัญพิธีกรรมใดๆ เลย
ขอได้โปรดเสด็จไปทูลถาม ถึงพระสุบินนิมิตนั้น
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน
พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู
มิมีสิ่งใดที่พระพุทธองค์ไปรู้


ราชาโกศล จึงเสด็จพร้อมมเหสีและบริวาร
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร
แจ้งทูลถามถึงสุบินนิมิตทั้ง ๑๖ ข้อนั้น

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า

ดูก่อนมหาบพิตร
ภัยอันตรายใดๆ จะพึงบังเกิดมีแก่พระองค์
จากเหตุแห่งพระสุบินนิมิตนั้นหามีไม่
สุบินนิมิตของพระองค์
เป็นสิ่งบอกเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หลังจากเราตถาคตนิพพานไปแล้ว


และในที่สุดพระผู้มีพระภาค
จึงทรงขอให้ พระเจ้าปเสนทิโกศล
ล้มเลิกยัญพิธีทั้งปวงเสีย

บัดนี้ถึงกาลอันควรแล้ว
ขอเชิญพระสาวกแก้ว ได้โปรดสาธยาย อะภะยะปริตร
เพื่อพิชิตอวมงคลทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น
ให้พินาศไปด้วยเทอญ


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ม ง ค ล จั ก ร ว า ฬ~

ตำนาน

ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาบุรุษลักษณ ๓๒ ประการ
แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองแล้ว ผู้มีบุญญาธิการ
อันหาประมาณมิได้ด้วยพระฤทธิ์อันใหญ่ แลพระคุณอันใหญ่
อันสำเร็จได้ด้วยพระสิริ ปัญญาเครื่องตั้งมั่น พระปัญญาเครื่องรู้
พระเดชและพระชัย ที่สามารถห้ามเสียซึ่งสรรพอันตรายทั้งหลาย


ด้วยอานุภาพแห่งอนุพยัญชนะ ๘๐
ด้วยอานุภาพแห่งมงคลทั้ง ๑๐๘ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งพระรัศมี มีฉัพพรรณรังสี ๖ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งพระเกตุมาลา
ด้วยอานุภาพแห่งบารมี ๑๐ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งอุปบารมี ๑๐ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งปรมัตถบารมี ๑๐ ประการ


ด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ ปัญญา
ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธรัตนะ
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมรัตนะ
ด้วยอานุภาพแห่งพระสังฆรัตนะ


ด้วยอานุภาพแห่งเดช
ด้วยอานุภาพแห่งพระกำลัง
ด้วยอานุภาพแห่งเญยธรรม
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมขันธ์ ๘ หมื่น ๔ พัน
ด้วยอานุภาพแห่งโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งสมาบัติ ๘ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งพระอภิญญา ๖ ประการ
ด้วยอานุภาพแห่งพระญาณในอริยสัจ ๔


ด้วยอานุภาพแห่งพระทศพลญาณ
ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตา กรุณา อุเบกขา
ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรทั้งปวง
ด้วยอานุภาพแห่งสรณะ คือพระรัตนตรัย


ขอสรรพโรค สรรพโศก สรรพอุบาทว์
และความทุกข์กายทุกข์ใจ
ความคับแค้นใจทั้งปวงของท่านจงสูญหายไป
แม้อันตรายทั้งปวงสูญหายไป
ขอความปรารถนาของท่าน จงสำเร็จโดยพลัน
ขอความอายุยืน จงมีแก่ท่าน


ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่ตลอด ๑๐๐ ปีในกาลทั้งปวง
ขอเหล่าเทพยดาทั้งหลายที่สถิตอยู่ในอากาศ
อยู่ในภูเขา อยู่ในป่า อยู่บนภาคพื้นดิน อยู่ในแม่น้ำมหาสมุทร
จงตามรักษาท่านทั้งหลายทุกเมื่อเทอญ


:b8: :b8: :b8:

นำมาจากบอร์ดเก่า โพสต์โดย คุณกุหลาบสีชา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15180

:b44: กระทู้เกี่ยวเนื่องกัน :b44:

• ตำนานพระปริตร : เ จ็ ด ตำ น า น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19722

• ตำนานพระปริตร : สิ บ ส อ ง ตำ น า น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19723

• ความหมายและการสวดพระปริตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=44177

• พิธีสวดพระปริตรรามัญ : พระมหาจรูญ ญาณจารี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=30982

• ว่าด้วยโมรปริตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=30605

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2015, 12:25 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุค่ะ
Kiss :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร