วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 21:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2015, 20:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร (วัดบวรนิเวศวิหาร)


รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร



“สมเด็จฯ วัดบวรพูดดีไม่เป็น สมเด็จฯ วัดเทพศิรินทร์พูดเล่นไม่มี”

มีที่มาจากอุปนิสัยของสมเด็จฯ ๒ พระองค์ คือ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีอุปนิสัยเป็นคนตรง พูดอะไรค่อนข้างโผงผาง

ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ เป็นคนเคร่งครัดเคร่งเครียด เป็นนักวิชาการ ท่านมักชอบบันทึกภาพลูกศิษย์ที่สอบได้ลำดับชั้นต่างๆ
เช่น หากสอบได้ ๓ ประโยค ท่านก็จะตั้งหนังสือไว้ประกอบขณะถ่ายรูป ๓ เล่ม หรือสอบได้ ๙ ประโยคก็ตั้งไว้ ๙ เล่ม แล้วเซนต์มอบไว้ให้

ชาววัดสมัยก่อนจึงบอกว่า “สมเด็จฯ วัดบวรพูดดีไม่เป็น สมเด็จฯ วัดเทพศิรินทร์พูดเล่นไม่มี”



:b8: ที่มา : ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, ปาฐกถาเรื่อง “สาส์นสมเด็จ”

:b50: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2015, 20:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องเล่าเช้าวันพระ : วิสัยแห่งปราชญ์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)


วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘
พระไพศาล วิสาโล

“พูดเล่นไม่มี พูดดีไม่เป็น” คนในแวดวงพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สมัยรัชกาลที่ ๗ ย่อมเข้าใจดีว่าประโยคดังกล่าวหมายถึงอะไร ข้อความแรกนั้นหมายถึงอุปนิสัยของ “สมเด็จฯ วัดเทพศิรินทร์” หรือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ซึ่งภายหลังได้เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ส่วนข้อความหลังหมายถึงอุปนิสัยของ “สมเด็จฯ วัดบวร” หรือสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

สมเด็จฯ วัดบวรนั้นทรงเป็นคนตรง พูดจาโผงผาง ส่วนสมเด็จฯ วัดเทพศิรินทร์นั้นเป็นคนสุภาพเรียบร้อย พูดจานุ่มนวล แม้อุปนิสัยจะแตกต่างกัน แต่ต่างก็เคารพและนับถือซึ่งกันและกัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้ทางพุทธศาสนา ท่านแสดงความปรีชาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อท่านจากบ้านเกิดคือชลบุรี เข้ามาเรียนปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ก็สอบไล่ภาษาบาลีในมหามกุฎราชวิทยาลัยได้ที่ ๑ ทุกปี จนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเวลานั้นเป็นพระอาจารย์ ถึงกับออกพระโอษฐ์รับสั่งว่า ท่านเป็นเสมือน “ช้างเผือก” ที่ถูกส่งมาถวายท่าน น่าแปลกก็ตรงที่ปีที่ท่านเกิดนั้นโยมมารดาฝันว่ามีผู้นำช้างเผือกมาให้ และเมื่อท่านถูกส่งมาเรียนในสำนักวัดราชบพิธ เช้าวันนั้นอาจารย์ของท่านคือ พระครูวินัยธร (ฉาย) ก็ฝันว่ามีผู้นำช้างเผือกมาให้เช่นกัน

นอกจากมีความรอบรู้ในทางพระธรรมวินัยแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการบริหาร จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งบัญชาการการศึกษาในหัวเมือง แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลปราจีนบุรี และเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ ตั้งแต่อายุ ๒๗ ปี โดยเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมราภิกรักขิต และได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นลำดับจนได้เป็นที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่ออายุเพียง ๕๖ ปี

ท่านเปรียบเสมือนมือขวาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิทยาการ และด้านการปกครองคณะสงฆ์ และเมื่อจวนจะสิ้นพระชนม์ ก็ยังโปรดให้ท่าน ซึ่งตอนนั้นมีสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ เข้าเฝ้าถวายธรรมเป็นครั้งสุดท้าย

ท่านเป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก รวมทั้งข้อวัตรอื่นๆ เช่น สวดมนต์ไหว้พระประจำวันทุกเช้าเย็น ไม่ขาดถ้าไม่จำเป็น ยิ่งการฟังปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนด้วยแล้ว ตั้งแต่อุปสมบทจนถึงวันมรณภาพ ท่านขาดเพียง ๒ ครั้ง แม้อาพาธหนักไม่สามารถจะลุกนั่งหรือพลิกตัวเองได้แล้ว ท่านก็ยังอยากลงฟังปาฏิโมกข์ให้ได้แต่ก็สุดวิสัยที่จะทำได้

ในด้านความสุภาพอ่อนน้อม ไม่ถือตัวของท่าน เป็นที่เลื่องลือมาก คราวหนึ่งท่านได้เดินทางไปเยี่ยมท่านพุทธทาสภิกขุถึงสวนโมกข์ ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ที่พุมเรียง ไม่ได้ย้ายมายังที่ตั้งในปัจจุบัน เวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ขณะที่ท่านพุทธทาสเป็นพระหนุ่มอายุเพียง ๓๑ ปีเท่านั้น สวนโมกข์ก็เพิ่งตั้งมาได้ ๕ ปี แต่กิตติศัพท์และความสามารถของท่านพุทธทาสอยู่ในความรับรู้ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์โดยตลอด การเยือนสวนโมกข์ของท่านคราวนั้นเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของทุกคน รวมทั้งท่านพุทธทาส ท่านพุทธทาสถึงกับกล่าวว่า “ท่านใช้เกียรติอันสูงสุดของท่านเป็นเดิมพัน เสี่ยงไปเยี่ยมพวกเรา ซึ่งในขณะนั้นกำลังถูกคนส่วนใหญ่หาว่าแหวกแนว หรืออุตริวิตถาร หรือถึงกับหาว่าสถานที่นี้เป็นที่เก็บพวกพระซึ่งเป็นบ้าก็ยังมี”

ทั้งๆ ที่ท่านอายุมากแล้วอีกทั้งเดินไม่สะดวก เพราะเท้าพิการข้างหนึ่ง แต่ท่านก็เดินเท้าจากสถานีรถไฟไปยังพุมเรียงเป็นระยะทาง ๖ กิโลเมตร โดยไม่ยอมนั่งรถสามล้อถีบ ท่านให้เหตุผลว่าพระวินัยไม่อนุญาตให้ภิกษุที่ไม่เจ็บไข้ นั่งรถที่ลากด้วยสิ่งมีชีวิตไม่ว่าสัตว์หรือคน ระหว่างที่เดินไปพุมเรียง ท่านเรียกให้ท่านพุทธทาสมาเดินติดกันเพื่อสนทนากันได้สะดวก หลายเรื่องที่ท่านปรารภนั้นน่าสนใจมาก เช่น “อรรถเร้นลับของวินัยบางข้อ” รวมทั้งแนะนำให้ท่านรู้จักวิธีถือย่ามเพื่อไม่ให้เหงื่อจากแขนเปื้อนด้านในของย่ามซึ่งซักยาก

เมื่อถึงสวนโมกข์ ท่านก็ปรับตัวเข้ากับชีวิตที่เรียบง่ายแบบป่าๆ ของสวนโมกข์ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่า การสรงน้ำ หรือการถ่ายทุกข์ ตกค่ำท่านก็จำวัดบนเตียงที่ท่านพุทธทาสใช้นอนประจำ และจัดว่าดีที่สุดของสวนโมกข์ นั่นคือ “หิ้งติดกับฝาในกระท่อมแบบสวนโมกข์ ที่ทำขึ้นล้วนแต่ขนาดสำหรับคนคนเดียว”

รุ่งเช้าเมื่อถึงเวลาฉัน มีชาวบ้านจำนวนมากมายนำอาหารมาเลี้ยงพระ ท่านพุทธทาสเล่าถึงบรรยากาศตอนนั้นว่า “สังเกตดูทุกคนต้องการจะได้โอกาสประเคนท่านด้วยกันทั้งนั้น ท่านสังเกตเห็นอาการอันนี้และยินดีรับสนองความต้องการ จึงเรียกให้เข้ามาประเคนท่านโดยตรง ทุกคนดูยิ้มแย้มเบิกบานด้วยกันทั้งนั้น แต่ท่านต้องรับประเคนร่วมร้อยครั้งทั้งสำรับและสายปิ่นโต ข้าพเจ้าขอร้องให้บางคนงดเสีย เพราะเห็นมากเกินไป และรู้สึกเมื่อยมือแทนท่าน แต่ท่านเรียกให้เข้าไปจนได้ เป็นอันว่าท่านยอมเหนื่อย ‘เพื่อให้เขาสบายใจ’ ซึ่งท่านได้บอกยืนยันกับข้าพเจ้าในตอนหลังว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ”

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทั้งสองท่านก็ได้มีการติดต่อกันอีกหลายครั้ง โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้ความเป็นกันเองแก่ท่านพุทธทาสอย่างมาก จนท่านพุทธทาสได้กล่าวในภายหลังว่า “ท่านอยู่ในฐานะสูงสุด แต่ท่านแสดงออกมาคล้ายกะว่า อยู่ในฐานะที่ไล่เลี่ยกัน อันเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับสะดุ้งได้อีกเรื่องหนึ่ง ในหลายๆ เรื่อง” มีคราวหนึ่งท่านพูดถึงการสอนอนัตตาของท่านพุทธทาสภิกขุว่า “แหม เอากันถึงขนาดนั้นเทียวนะ” สีหน้ายิ้มแย้มของท่านขณะที่พูดทำให้ท่านพุทธทาส ถึงกับ “ตัวลอย” เพราะรู้ว่านี้ไม่ใช่คำต่อว่าอย่างแน่นอน บางเรื่องท่านก็พูดว่า “เรื่องนี้ฉันอยากให้เธอเอาไปพูดต่อ เพราะเชื่อว่าเธอจะพูดได้ผลดีกว่าฉัน”

ปราชญ์ย่อมเข้าใจปราชญ์ด้วยกัน นี้คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านพุทธทาสสามารถเผยแพร่พุทธธรรมด้วยวิธีการที่แหวกแนวได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกคณะสงฆ์ขัดขวางหรือเอาผิด ทั้งๆ ที่มติของท่านหลายอย่างสวนทางกับคำสอนที่แพร่หลายในเวลานั้น

อุปนิสัยที่โดดเด่นของท่านอีกอย่าง คือ ความอดกลั้น และความสงบเสงี่ยม กล่าวแต่คำสุภาพ ไม่เคยพูดคำหยาบ หรือเสียดสีกระทบกระทั่งใคร ท่านเคยปรารภเป็นเชิงสอนว่า “คนเรานั้นมีอาวุธพิเศษสำหรับป้องกันตัวอย่างหนึ่งคือนิ่ง ไม่ต่อปากต่อคำ ต่อความยาวสาวความยืด อันเป็นเหตุให้เรื่องนั้นๆ ไม่สุดสิ้น” ปฏิปทานี้ท่านถือมาโดยตลอด จึงเป็นที่รักและเคารพของของผู้คนทั้งพระและฆราวาส ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติปี ๒๔๘๔ ท่านได้ดำรงตำแหน่งสังฆนายก บริหารการคณะสงฆ์ได้อย่างเรียบร้อยและราบรื่น แม้ครบวาระแล้ว ท่านก็ยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสังฆนายกอีกวาระ จนมรณภาพในตำแหน่งในปี ๒๔๙๔

:b50: :b49: :b50:

= พระประวัติ “สมเด็จฯ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20236

= ประวัติ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44102


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร