วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2013, 16:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประวัติคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในขณะทรงศีล

:b44: :b47: :b44:

นับแต่อดีตพระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่และประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยเกินกว่าพันปีแล้ว โดยเข้ามาทั้งสายอาจริยวาท (มหายาน) และเถรวาท (หินยาน) แต่ในปัจจุบันสายอาจริยวาทนั้นมีผู้นับถือเพียงส่วนน้อยเป็นกลุ่มๆ ไปในแต่ละแห่ง เช่น คณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน) เป็นต้น มีเพียงสายเถรวาทที่ยังคงเจริญรุ่งเรืองแพร่หลายและนับถือสืบทอดกันมาในทุกภูมิภาคและยังได้แพร่หลายไปในต่างประเทศด้วย โดยคณะสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยนั้นแบ่งย่อยเป็น 2 นิกายด้วยกัน คือ มหานิกาย ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่จำนวน 80 กว่า% ของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 10 กว่า% คือพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย

คณะสงฆ์มหานิกาย คือ คณะสงฆ์ที่นับถือและปฏิบัติสืบมาแต่นิกายลังกาวงศ์ คือประเทศศรีลังกา อันเป็นแบบดั้งเดิม ส่วนคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายไว้ว่า “ธรรมยุติกนิกาย คือ พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วยสืบสายต่อกันลงมา” คำว่า “ธรรมยุต” แปลว่า “ผู้ประกอบด้วยธรรม” หรือ “ชอบด้วยธรรม” หรือ “ยุติตามธรรม” หมายถึง คณะสงฆ์นี้เกิดขึ้นด้วยมุ่งแสวงหาว่าข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติในข้อนั้น โดยเว้นข้อที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นข้อปฏิบัติที่ประพฤติตามกันมาแต่ผิดธรรมวินัยก็ตาม

คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย กำเนิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่ครั้งยังมิได้ทรงครองราชย์ และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในคณะสงฆ์มหานิกายอันนับถือกันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อ พ.ศ.2367 มีพระนามว่า “วชิรญาโณ” เสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุ และได้เสด็จไปทรงศึกษาด้านวิปัสสนาธุระที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) และวัดราชสิทธาราม จนทรงเข้าใจเจนจบสิ้นความรู้ของพระอาจารย์ที่จะสอนได้ เมื่อทรงสงสัยไต่ถาม พระอาจารย์ก็มิสามารถตอบได้ ทูลแต่ว่าครูอาจารย์เคยสอนมาอย่างนี้เท่านั้น เป็นเหตุให้ทรงท้อถอยในด้านวิปัสสนาธุระ จึงเสด็จกลับมาประทับที่วัดมหาธาตุเพื่อศึกษาด้านคันถธุระ เพื่อให้สามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาด้านภาษาบาลีจนแตกฉาน กระทั่งครั้งหนึ่งได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมต่อหน้าพระที่นั่งตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงขอให้แปลให้ฟัง จึงทรงแปลพอเฉลิมพระราชศรัทธาเพียง 5 ประโยค ทั้งที่ทรงภูมิความรู้สูงกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก 9 ประโยคให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์

เมื่อทรงศึกษาพระไตรปิฎกโดยละเอียด ก็ทรงพบว่าข้อปฏิบัติทางพระธรรมวินัยของภิกษุบางหมู่ในเวลานั้น มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมวินัยมาช้านานแล้ว จึงสลดพระทัยในการจะทรงเพศบรรพชิตต่อไป วันหนึ่งเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ วัดมหาธาตุ ทรงอธิษฐานขอให้ได้พบวงศ์บรรพชาอุปสมบท ที่บริสุทธิ์สืบเนื่องมาแต่พระพุทธเจ้าแต่ดั้งเดิมภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะทรงเข้าพระทัยว่าพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์สิ้นแล้ว ก็จะลาสิกขาเสียจากสมณเพศไปเป็นฆราวาสรักษาศีลห้าศีลแปด ครั้นผ่านไปได้สักสองสามวัน ก็ได้ทรงได้ยินข่าวพระเถระชาวรามัญ (มอญ) รูปหนึ่งชื่อ ซาย พุทฺธวํโส (ซาย ในภาษามอญว่าหมายถึง น้ำผึ้ง) อุปสมบทมาจากเมืองมอญ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสุเมธมุนี และเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล หรือมีชื่อที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า วัดลิงขบ (เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกันข้ามกับวัดสมอราย) เป็นผู้ชำนาญในพระวินัยปิฎกและประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงศึกษาด้วย พระสุเมธมุนีได้ทูลอธิบายถึงวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี ที่ท่านได้อุปสมบทมาให้ทรงทราบอย่างละเอียด ชี้ให้เห็นชัดว่าวงศ์บรรพชาอุปสมบทนี้มีเชื้อสายมาจากพระอนุรุทธเถระ (พระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาล ผู้เป็นเลิศทางด้านทิพยจักษุหรือตาทิพย์) เชื่อมโยงมาจนถึงพระอุปัชฌาย์ของพระสุเมธมุนีได้ 88 ชั่วคนแล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่าถูกต้องตามพระพุทธพจน์ที่ทรงศึกษาจากพระไตรปิฎก จึงมีพระราชศรัทธาที่จะประพฤติตามแบบพระมอญ และเนื่องจากทรงพิจาณาเห็นว่าอุปสมบทวิธีตามแบบรามัญน่าจะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติมากที่สุดในเวลานั้น จึงทรงทำทัฬหีกรรม คือ ทรงอุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณีอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดสมอราย โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ.2368 อันเป็นปีที่ทรงผนวชได้ 2 พรรษา และเสด็จกลับไปประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุตามเดิม

คณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี คือพระภิกษุผู้อุปสมบทในอุโบสถ ชื่อว่า กัลยาณีสีมา (Kalyani Sima) เมืองหงสาวดี ในรามัญประเทศ (ปัจจุบันคือเมืองพะโค-Bago ประเทศพม่า) ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ในประเทศศรีลังกา กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 208 ปี หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งกรุงปาฏลีบุตร และพระโมคคัลลีบุตรติสฺสเถระ ได้ชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์จากเดียรถีย์ที่ปลอมบวชเข้ามาและสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 แล้ว ได้ทรงส่งพระเถระทั้งหลายไปประกาศพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินทเถระ พระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกา พระโสณะและพระอุตตระ เป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศสุวรรณภูมิ (บริเวณเมืองมอญ ประเทศพม่า และประเทศไทยในปัจจุบัน) พระพุทธศาสนาใน 2 ดินแดนนี้จึงมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน เมื่อเจริญแล้วก็เสื่อม แล้วกลับเจริญอีก สลับกันไปมาอยู่อย่างนี้มาตลอด โดยเมื่อใดที่พระพุทธศาสนาในดินแดนใดเสื่อม ก็จะไปนำพระพุทธศาสนาจากอีกดินแดนหนึ่งกลับมาฟื้นฟูอีกสลับกันไปมา

รูปภาพ
พระบรมรูปปั้นพระเจ้ารามาธิบดี (พระเจ้าธรรมเจดีย์) กษัตริย์มอญ
ณ ลานพระเจดีย์ไจ้ปุ่น (Kyaik Pun Pagoda)
เมืองหงสาวดี (ปัจจุบันคือเมืองพะโค-Bago) ประเทศพม่า


:b39:

พ.ศ.2018 พระเจ้ารามาธิบดี (พระเจ้าธรรมเจดีย์) แห่งเมืองหงสาวดี รามัญประเทศ ทรงพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศไม่บริสุทธิ์ เพราะสีมาที่ใช้อุปสมบทพระภิกษุทั้งหลายนั้นผูกอย่างไม่ถูกต้อง พระภิกษุผู้ชำนาญพระไตรปิฎกวินิจฉัยว่าเป็นสีมาวิบัติ จึงทรงดำริถึงพระภิกษุในลังกาทวีปซึ่งสืบมาแต่คณะสงฆ์คณะมหาวิหารแห่งประเทศลังกา อันเป็นคณะที่บริสุทธิ์ ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยและสืบมาแต่พระมหินทเถระ และทรงเห็นว่าควรส่งพระภิกษุผู้ฉลาดให้ไปนำการอุปสมบทอันบริสุทธิ์ในลังกาทวีปมาประดิษฐานในรามัญประเทศ จึงทรงส่งพระภิกษุ 44 รูปให้ไปรับการอุปสมบทจากคณะสงฆ์คณะมหาวิหารแห่งประเทศลังกา ขณะนั้นพระเจ้าภูวเนกพาหุ แห่งชัยวัฒนบุรี (อยู่ในเขตเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน) ทรงต้อนรับคณะภิกษุรามัญ และรับสั่งให้คัดภิกษุคณะมหาวิหาร 24 รูป ให้อุปสมบทแก่คณะภิกษุรามัญ ในอุทกุกเขปสีมา คือ บนเรือขนานผูกอยู่กลางแม่น้ำกัลยาณี (วัดกัลยาณีราชามหาวิหาร ในปัจจุบัน) โดยคณะภิกษุรามัญทั้งหมดต้องสึกก่อน แล้วจึงอุปสมบทใหม่เพื่อให้บริสุทธิ์แท้ เมื่อคณะภิกษุรามัญได้รับการอุปสมบทใหม่แล้วก็เดินทางกลับเมืองหงสาวดี

พระเจ้ารามาธิบดี (พระเจ้าธรรมเจดีย์) โปรดให้ถางป่าด้านทิศตะวันตกของพระมหาเจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (พระธาตุมุเตา) เพื่อสร้างอุโบสถกำหนดเป็นที่ผูกสีมาใหม่ และโปรดให้คัดภิกษุรามัญผู้ไปรับอุปสมบทใหม่ในอุทกุกเขปสีมา กลางแม่น้ำกัลยาณี โดยคัดมาเฉพาะผู้ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบด้วยโทษอันเป็นที่ครหาจริงๆ เป็นผู้ทำพิธีผูกสีมานั้น และพระราชทานนามอุโบสถนี้ว่า “กัลยาณีสีมา” (Kalyani Sima) ครั้นสมมติสีมาในปี พ.ศ.2019 แล้ว ก็ทรงให้สืบหาพระภิกษุผู้รับอุปสมบทในคณะสงฆ์คณะมหาวิหารแห่งประเทศลังกา ที่มีอายุพรรษามากพอจะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ (คณะสงฆ์ที่เพิ่งบวชใหม่มาจากประเทศลังกามีพรรษาน้อยจึงเป็นพระอุปัชฌาย์ไม่ได้) ก็ได้พระเถระองค์หนึ่งมีพรรษา 26 พรรษา ชื่อว่า สุวณฺณโสภณ เป็นผู้ตั้งมั่นในธุดงควัตร อยู่ในป่าโดยปกติ จึงทรงตั้งให้เป็น พระกัลยาณีติสฺสเถระ เพื่อเป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทใหม่แก่ภิกษุรามัญทั้งหลาย และทรงขอให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติเหมือนอย่างภิกษุคณะมหาวิหารเพื่อให้เป็นนิกายเดียวกัน นับแต่ปี พ.ศ.2019 ถึง 2022 มีภิกษุรามัญบวชแปลงกันถึง 15,666 รูป จึงเกิดเป็นคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี ขึ้นด้วยเหตุนี้

รูปภาพ
กัลยาณีสีมา (Kalyani Sima) เมืองหงสาวดี (ปัจจุบันคือเมืองพะโค-Bago)
ที่ประดิษฐานของ “คณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี” ในประเทศพม่า
ทั้งยังเป็นสีมาต้นกำเนิดแห่ง “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ในประเทศไทย


รูปภาพ
ภายใน “กัลยาณีสีมา” (Kalyani Sima) ด้านบนประดิษฐานองค์พระพุทธรูป
พระพุทธเจ้าในอดีต 28 พระองค์ ส่วนด้านล่างที่โคนเสาทุกต้นมีเทวดายืนพนมมือ


รูปภาพ

รูปภาพ
วัดกัลยาณีราชามหาวิหาร กรุงโคลัมโบ วัดที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในประเทศศรีลังกา
โดยเป็นวัดที่คณะสงฆ์รามัญ (มอญ) จากประเทศพม่า มารับการอุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2018
แล้วกลับไปตั้งเป็น “คณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี” ขึ้นที่ประเทศพม่า
พระวชิรญาณเถระ (รัชกาลที่ 4) ก็ได้รับการอุปสมบทในคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี
แล้วมาทรงตั้งเป็น “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
จึงอาจกล่าวว่า “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ในประเทศไทย
สืบสายมาจากวัดกัลยาณีราชามหาวิหารนั่นเอง


:b39:

เมื่อภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับอุปสมบทในคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณี และเสด็จมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ไทย เป็นเหตุให้มีภิกษุอื่นเกิดความเลื่อมใสพากันมาถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและประพฤติปฏิบัติตามแนวพระราชดำริราว 5-6 รูป อาทิ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว), สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นต้น โดยทรงแนะนำให้ภิกษุเหล่านี้รับอุปสมบทในคณะสงฆ์รามัญฯ เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย ต่อมาทรงเห็นว่าการที่จะทรงปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แต่มีความแตกต่างกันในบางประการกับระเบียบแบบแผนของวัดมหาธาตุ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ดูจะเป็นการไม่เหมาะสม จึงเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดสมอราย อันเป็นวัดป่าอยู่นอกกำแพงพระนคร (ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส) เมื่อ พ.ศ.2372 โดยสานุศิษย์บางส่วนก็ได้ตามไปอยู่ด้วย บางส่วนยังคงอยู่ที่วัดมหาธาตุ บางส่วนอยู่ที่วัดอื่นแต่ไปประชุมรวมกันที่วัดสมอรายก็มี จึงเกิดเป็นคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ขึ้นตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดสมอราย วันหนึ่งทรงให้ขุดลูกนิมิตอุโบสถวัดสมอรายขึ้นมาตรวจ ก็ทรงพบว่าเป็นสีมาวิบัติเพราะว่าลูกนิมิตเล็กไม่ได้ขนาด จึงทรงให้แสวงหาคณะสงฆ์รามัญนิกายสีมากัลยาณีมา 18 รูป แล้วทรงทำทัฬหีกรรม คือ อุปสมบทซ้ำอีกในอุทกุกเขปสีมา คือ แพกลางน้ำเจ้าพระยาหน้าวัดสมอรายนั้น เมื่อ พ.ศ.2373 เพื่อให้ได้ศาสนวงศ์ที่บริสุทธิ์ถูกต้องจริงๆ พร้อมกันนี้บรรดาศิษยานุศิษย์ของพระองค์ก็ได้ทำทัฬหีกรรมพร้อมกับพระองค์ด้วยเช่นกัน เมื่อทรงตั้งสำนักอยู่ที่วัดสมอราย ก็มีภิกษุสามเณรมาถวายตัวเป็นศิษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายคฤหัสถ์ก็พากันเลื่อมใส พากันไปฟังเทศน์ฟังธรรมมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชาคณะ

พ.ศ.2379 เมื่อวัดใหม่ในกำแพงพระนคร ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น ว่างเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงอาราธนาภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาครองวัด เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2379 โดยพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดบวรนิเวศวิหาร และให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง เมื่อแห่เสด็จจากวัดสมอรายตามประเพณีพระราชาคณะไปครองวัด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดขบวนเรือแห่อย่างแห่เสด็จพระมหาอุปราช

เมื่อเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ทรงพาบรรดาศิษยานุศิษย์ที่ยังเหลืออยู่ที่วัดมหาธาตุ มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารทั้งหมด ส่วนสำนักวัดสมอรายนั้นโปรดให้สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอริยมุนี เป็นหัวหน้า จึงนับว่าเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ธรรมยุตมีสำนักเป็นเอกเทศ และกล่าวได้ว่าวัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดธรรมยุตแห่งแรก เพราะเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุและวัดสมอรายนั้น ทรงอยู่ในฐานะพระลูกวัด มิได้เป็นเจ้าอาวาส บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายเพียงแต่มาปฏิบัติรวมกันที่วัดสมอรายเท่านั้น คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จึงถือว่าวันที่คณะธรรมยุตตั้งขึ้น คือ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2379 นั่นเอง

พระมหาเถระที่ถือว่าเป็นต้นวงศ์พระธรรมยุต มี 10 รูป ซึ่งปรากฏชื่อในคาถาพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวช ในหนังสือสีมาวิจารณ์ ได้แก่

1. พระวชิรญาณเถระ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

2. พระปัญญาอัคคเถระ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) วัดบวรนิเวศวิหาร

3. พระปุสสเถระ คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (อุปสมบทครั้งแรกต่อมาลาสิกขา และเมื่ออุปสมบทใหม่มีฉายาว่า ปุสฺสเทโว)

4. พระพุทธสิริเถระ คือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร

5. พระธัมมสิริเถระ คือ พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) วัดเครือวัลย์

6. พระพุทธิสัณหเถระ คือ พระอมรโมลี (นพ พุทฺธิสณฺโห) วัดบุปผาราม

7. พระสุวัฑฒนเถระ คือ พระปลัดเรือง สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร

8. พระพรหมสรเถระ คือ พระญาณรักขิต (สุข พฺรหฺมสโร) วัดบรมนิวาส
ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนางที่ พระธรรมการบดี

9. พระโสภิตเถระ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) วัดบวรนิเวศวิหาร
ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนางที่ พระยาศรีสุนทรโวหาร

10. พระธัมมรักขิตเถระ คือ พระครูปลัดทัด ธมฺมรกฺขิโต วัดบวรนิเวศวิหาร
ต่อมาลาสิกขาเป็นขุนนางที่ พระศรีภูริปรีชา

เมื่อเสด็จมาตั้งคณะธรรมยุตที่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว พระองค์ได้ส่งบรรดาศิษยานุศิษย์ไปตั้งสำนักสาขาขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น วัดบรมนิวาส วัดเครือวัลย์ วัดบุปผาราม เป็นต้น และได้ทรงจัดการศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยและทรงตั้งขนบธรรมเนียมในการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ไว้เป็นอันมาก ซึ่งมิได้เหมือนของคณะสงฆ์รามัญทุกประการไป สุดแต่จะทรงพิจารณาเห็นว่าน่าจะถูกต้องใกล้เคียงกับของเดิมและพระธรรมวินัยมากที่สุด เช่น ธรรมเนียมการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นและการอุปสมบท ได้ทรงแต่งคำทำวัตรเช้า-เย็นและคำขออุปสมบทขึ้นใหม่ และใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน ธรรมเนียมการห่มผ้า ทรงใช้การห่มแหวกตามแบบมอญ ซึ่งต่างไปจากพระมหานิกายที่ใช้ห่มดอง และธรรมเนียมสวดมนต์ การออกเสียงภาษามคธแบบพระธรรมยุต ไม่ใช่ทั้งแบบรามัญและลังกา แต่เกิดจากการที่ทรงศึกษาค้นคว้าและเห็นว่าน่าจะใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด เป็นต้น เหล่านี้เป็นผลให้มีผู้เลื่อมใสและมาบวชในคณะสงฆ์ธรรมยุตมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการขยายออกไปตั้งวัดต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ โดยส่วนใหญ่จะขยายในเขตพระนครก่อน ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุที่เดิมเป็นชาวต่างจังหวัดเข้ามาบวชในคณะธรรมยุตมากขึ้น จึงได้เผยแพร่ออกไปในจังหวัดต่างๆ โดยการส่งพระภิกษุเหล่านั้นออกไปเผยแพร่ในจังหวัดบ้านเดิมของตนนั่นเอง เช่น ทรงส่งพระอาจารย์ดี พนฺธุโล และพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี ไปเผยแผ่คณะสงฆ์ธรรมยุตที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อราวปี พ.ศ.2394-2395 โดยการสร้างวัดสุปัฏนาราม ขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นวัดธรรมยุตแห่งแรกในภาคอีสาน สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2396

ในปัจจุบันพระสงฆ์ธรรมยุตนับว่ามีจำนวนน้อยกว่าพระสงฆ์มหานิกายมาก โดยในจำนวนพระธรรมยุตที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น ในภาคอีสานนับว่าเป็นภาคที่คณะสงฆ์ธรรมยุตแพร่หลายมากที่สุด อันสืบมาเนื่องมาจากภายหลังจากที่พระอาจารย์ดี พนฺธุโล และพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี ได้ตั้งคณะธรรมยุตที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว กระทั่งเป็นผลให้เกิดวัดธรรมยุตขึ้นอีกหลายวัดในจังหวัดนั้น เช่น วัดศรีทอง วัดเลียบ วัดใต้ วัดบูรพา เป็นต้น และต่อมาก็ได้แพร่หลายไปในจังหวัดอื่น เช่น วัดสร่างโศก จังหวัดยโสธร วัดมหาชัย จังหวัดหนองบัวลำภู วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ประกอบกับในระยะ พ.ศ. 2435-2492 มีพระธรรมยุต 2 รูปที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย อยู่ตามป่าเขาเป็นปกติ มุ่งแสวงหาความพ้นทุกข์แต่เพียงฝ่ายเดียว มิได้ยุ่งเกี่ยวด้วยการปกครองหมู่คณะ คือ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านขจรไปไกล เป็นเหตุให้มีผู้เลื่อมใสมาอุปสมบทเป็นพระธรรมยุตและถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษากับท่านทั้งสองเป็นจำนวนมาก และบรรดาศิษย์ของทั้งสองท่าน เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี เป็นต้น ก็ได้เผยแผ่ศาสนาต่อไปอีก ก็มีผู้เลื่อมใสนับถือจำนวนมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีวัดและพระธรรมยุตแพร่หลายไปในภาคอีสานเป็นจำนวนมากที่สุด แม้แต่ในภาคเหนือซึ่งแม้จะมีวัดและพระธรรมยุตไม่แพร่หลายมากเท่าภาคอีสาน แต่ก็นับว่ามีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระอาจารย์มั่นเคยไปอยู่ในภาคเหนือราว 10 ปี คณะสงฆ์ธรรมยุตจึงได้แพร่หลายไปในภาคนั้น ประกอบกับมีสานุศิษย์ของท่านหลายองค์ที่ได้อยู่เป็นหลักในภาคเหนือต่อมา เช่น พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร เป็นต้น ส่วนภาคใต้นั้นนับว่ามีพระธรรมยุตน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น

การปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตในระยะแรกนั้น ภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกครองเองมาตลอด โดยยังรวมอยู่ในคณะกลางของคณะสงฆ์มหานิกายอันมีมาแต่เดิม ซึ่งมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ ทรงปกครองอยู่ ครั้นเมื่อพระองค์ทรงลาผนวชในปี พ.ศ.2494 เพื่อครองสิริราชสมบัติ จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ครั้งยังเป็นพระองค์เจ้าฤกษ์ ขึ้นเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นรองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในการปกครองคณะกลางนั้น โดยยกฐานะคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้นเป็นกิ่งหนึ่งของคณะกลาง และเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ จึงแยกคณะสงฆ์ธรรมยุตออกเป็นอิสระปกครองกันเองต่างหากจากคณะสงฆ์มหานิกาย โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นสังฆปริณายกแห่งคณะธรรมยุต (เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต) ปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ตามธรรมเนียมการปกครองคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ 3 ประการ กล่าวคือ

1. พระปกครองพระ
ด้วยพระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้พระเคารพเชื่อฟังพระด้วยกัน

2. ปกครองให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย
เพราะเมื่อใกล้จะปรินิพพานพระพุทธเจ้าได้ตรัสยกพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์

3. แบ่งการปกครองตามนิกาย
เมื่อภิกษุแยกกันเป็นนิกาย ก็ทรงให้ปกครองกันตามนิกายของตน ไม่ทรงบังคับให้ปกครองร่วมกัน เช่น กรณีภิกษุเมืองโกสัมพีที่เคยแตกกันเป็น 2 ฝ่าย ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้ทำอุโบสถสังฆกรรมแยกกัน

รายนามพระสังฆปริณายกแห่งคณะธรรมยุต (เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต) ที่ปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบัดนี้ ได้แก่

1. พระวชิรญาณเถระ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เมื่อครั้งทรงผนวช (พ.ศ.2368-2394)

2. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)

วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2394-2435)

3. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)

วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2436-2464)

4. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (พ.ศ.2464-2471)

5. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)

วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2471-2501)

6. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
วัดมกุฏกษัตริยาราม (พ.ศ.2501-2514)

7. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (พ.ศ.2515-2531)

8. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2532-2556)

9. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
วัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2559-2560)

10. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (พ.ศ.2560-ปัจจุบัน)


การที่คณะสงฆ์ไทยได้แยกออกเป็น 2 นิกายนี้ มีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้องตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้นเป็นนิกายใหม่ บางคนถึงขั้นติเตียนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ว่าทรงทำสังฆเภท คือทำให้สงฆ์แตกกัน อันเป็นอนันตริยกรรมคือกรรมอันชั่วช้าที่สุดในทางพระพุทธศาสนา บางคนมีความคิดที่จะพยายามรวมคณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเข้าด้วยกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้น โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ เป็นผลให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติตนทางด้านพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ตลอดถึงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นผลทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงสืบมาถึงปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตด้วย ได้ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“...การที่ภิกษุสงฆ์แยกออกเป็นนิกายต่างๆ ไม่ใช่เป็นการแปลก มีในทุกๆ ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา และการที่แยกกันออกไปนี้ อาจกล่าวได้ตามประวัติศาสตร์ว่าต้องมีเป็นธรรมดา ถึงพยายามรวมให้เป็นหนึ่งสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อาจสำเร็จได้ชั่วคราว แต่ต่อมาไม่นานก็กลับแยกกันออกไปอีก ในศาสนาอื่นๆ ก็มีแยกเป็นลัทธินิกายต่างๆ เหมือนกัน การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามิใช่อยู่ที่การพยายามเพื่อรวมนิกายสงฆ์ แต่อยู่ที่การพยายามให้พระสงฆ์ทุกนิกายตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ส่วนการรวมกันนั้น เมื่อดีเสมอกันหรือเสื่อมเสมอกัน ก็รวมกันเข้าได้เอง...”

สำหรับความแตกต่างกันของพระมหานิกายและพระธรรมยุตนั้น นอกจากจะมีที่มาต่างกันดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อปฏิบัติหลายประการที่ต่างกันอย่างมาก เนื่องจากคณะธรรมยุตยึดถือพระธรรมวินัยเป็นหลักปฏิบัติ จึงเคร่งครัดในด้านพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง เช่น การอุปสมบท นาคจะต้องกล่าวคำขออุปสมบทให้ได้ด้วยตนเอง โดยจะต้องถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ ซึ่งออกเสียงค่อนข้างยากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย จะไม่มีการบอกให้นาคพูดตาม หากไม่สามารถกล่าวคำขออุปสมบทด้วยตนเอง จะไม่ได้รับอนุญาตให้อุปสมบท การสวดมนต์ก็จะสวดด้วยสำเนียงภาษามคธด้วยเช่นกัน นอกจากนี้พระธรรมยุตจะไม่จับเงิน เนื่องจากปฏิบัติตามพระวินัยซึ่งมีมาในพระปาฏิโมกข์ข้อที่ห้ามจับเงินจับทอง หากคฤหัสถ์จะถวายปัจจัย (คือเงิน) จะต้องถวายด้วยใบปวารณาแทน ส่วนปัจจัยให้มอบต่อไวยาวัจกรหรือโยมวัดจัดการแทน การห่มผ้าของพระธรรมยุตจะเหมือนกันหมดทั้งหมด คือ ห่มแหวก โดยใช้ผ้าสีแก่นขนุน (คล้ายสีน้ำตาล) และผ้าสังฆาฏิจะเป็นผ้า 2 ชั้น คือเหมือนผ้าจีวร 2 ผืนเย็บติดกันนั่นเอง เป็นต้น

การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดนี้มิได้มีแต่ในคณะสงฆ์ธรรมยุตเท่านั้น แต่ในคณะสงฆ์มหานิกายบางกลุ่มก็มีการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มพระมหานิกายศิษย์พระอาจารย์ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง เนื่องจากพระอาจารย์ชาเป็นหนึ่งในพระมหานิกายหลายรูปที่ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต โดยมิได้อุปสมบทใหม่เป็นพระธรรมยุต เช่นเดียวกับพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล พระอาจารย์กินรี จนฺทิโย พระอาจารย์มี ญาณมุนี ด้วยพระอาจารย์มั่นประสงค์จะให้มีผู้นำในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในฝ่ายมหานิกายด้วย จึงไม่อนุญาตให้ศิษย์เหล่านี้อุปสมบทเป็นพระธรรมยุต โดยท่านให้เหตุผลว่ามรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้ และต่อมาก็ได้ปรากฏพระมหานิกายผู้ที่มีหลักฐานและเหตุผลอันควรเชื่อถือได้ว่าเป็นพระอริยเจ้าผู้ทรงมรรคผลจริง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีความสำคัญเหนือนิกายและสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น และเป็นเหตุนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง


รูปภาพ
พระบรมรูปปั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งเป็นวัดของ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” แห่งแรกในประเทศไทย

:b44: บรรณานุกรม
• สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน). พุทธศาสนวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543.
• พระพรหมมุนี (อ้วน ติสฺโส). ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาและฉลองพระอุโบสถ วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2479.
• คณะศิษยานุศิษย์. พระปรมาจารย์สายพระกัมมัฏฐาน ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2546.
• คณะศิษยานุศิษย์. บูรพาจารย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2545.
• พระอาจารย์อุเทน กลฺยาโณ. มณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์ ประวัติและธรรมหลวงปู่ครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ กนฺตสีโล. กรุงเทพฯ : ปาปิรุสพับลิเคชั่น, 2546.
• สุเชาวน์ พลอยชุม. ประวัติคณะธรรมยุติกนิกาย. (ม.ป.ท.) : (ม.ป.พ.), 2542.


:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของบทความ
เขียนโดย คุณภิเนษกรมณ์ (Pakorn Kengpol)

https://www.facebook.com/notes/pakorn-k ... 0294281673

:b47: รัชกาลที่ ๔ พระบูรพาจารย์ในการก่อตั้งวงศ์พระธรรมยุต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=45383

:b47: ประวัติ...วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
วัดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในประเทศไทย

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร