วันเวลาปัจจุบัน 15 ก.ย. 2024, 19:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พุทธศักราช ๒๔๘๑-๒๔๘๗


วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• ทรงบรรพชา อุปสมบท และการศึกษา
• สมณศักดิ์
• ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ๒ ตำแหน่ง
• ภาระหน้าที่ในการคณะสงฆ์
• สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
• การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์
• พระกรณียกิจต่างๆ
• การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย
o ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่องแต่งตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย
• การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย
• มูลเหตุโดยย่อที่ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์
• พระอวสานกาล
• ประวัติและความสำคัญของวัดสุทัศนเทพวราราม
o ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า
o พระอุโบสถ
o พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : พระประธานในพระอุโบสถ
o พระวิหารหลวง
o พระศรีศากยมุนี : พระประธานในพระวิหารหลวง
o ภาพศิลาสลักศิลปะแบบทวารวดี
o ศาลาการเปรียญ
o พระวิหารคด (พระระเบียงคด)
o ตำหนักสมเด็จ
o สัตตมหาสถาน
o พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
มีพระนามเดิมว่า “แพ พงษ์ปาละ” พระนามฉายาว่า “ติสฺสเทโว”
ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๑๘
ตรงกับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๙๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โยมบิดามีนามว่า “นุตร์ พงษ์ปาละ” โยมมารดามีนามว่า “อ้น พงษ์ปาละ”
เป็นชาวสวนตำบลบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี

มีพี่น้องชายหญิงร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวมทั้งหมด ๗ คน คือ

๑. นางคล้าม พงษ์ปาละ
๒. สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
๓. หลวงพุทธพันธพิทักษ์ (อยู่)
๔. นางทองคำ พงษ์ปาละ
๕. นางทองสุข พงษ์ปาละ
๖. นายชื่น พงษ์ปาละ
๗. นายใหญ่ พงษ์ปาละ

รูปภาพ
พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ


ทรงบรรพชา อุปสมบท และการศึกษา

เมื่อพระชนมายุได้ ๗ ขวบ ได้ไปศึกษาอักขระสมัยอยู่ที่ วัดทองนพคุณ
เนื่องจากท่านบิดาเลื่อมใสใน สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์)
มาตั้งแต่ท่านยังครองวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ
ครั้นชนมายุได้ ๑๓ ปี จึงพาไปถวายเป็นศิษย์ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์)
เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม มาอยู่วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร (วัดเลียบ)

ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑
แล้วกลับไปเล่าเรียนอยู่วัดทองนพคุณตามเดิม
ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อชนมายุได้ ๑๖ ปี สมเด็จวันรัตน (สมบูรณ์)
ให้ไปรับมาอยู่กับท่านที่วัดพระเชตุพน
เพราะ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) ได้มาอยู่ในวัดนั้น
ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) เป็นพื้น

นอกจากนั้นได้ทรงเล่าเรียนกับเสมียนตาสุขบ้าง
พระโหราธิบดี (ชุ่ม) วัดทองนพคุณ บ้าง พระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร บ้าง
ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรกที่พระที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ แต่แปลตกหาได้เป็นเปรียญในปีนั้นไม่

รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัตน (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศน์
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒



และในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้นเอง พระชนมายุครบอุปสมบท
แต่ประจวบกับ สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) พระอาจารย์อาพาธ
ต้องอยู่ประจำเพื่อพยาบาล จึงยังมิได้มีโอกาสอุปสมบท
และเมื่อสมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) ใกล้ถึงมรณภาพนั้น
ท่านแนะนำให้ไปอยู่เป็นศิษย์ สมเด็จพระวันรัตน (แดง สีลวฑฺฒโน)
วัดสุทัศน์
แต่ครั้งยังเป็นพระเทพกวี

ครั้นสมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) มรณภาพแล้ว
จึงได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (แดง)
แล้วอุปสมบทที่วัดเศวตรฉัตร อันเป็นวัดใกล้บ้านเกิดและสำนักเรียนเดิม
เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ โดยมี สมเด็จพระวันรัตน (แดง) วัดสุทัศน์
แต่ครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระโหราธิบดี (ชุ่ม) วัดทองนพคุณ และ
พระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์
แล้วมาอยู่ที่วัดสุทัศน์กับสมเด็จพระวันรัตน (แดง)

ต่อมา ในตอนนี้ได้เล่าเรียนกับสมเด็จพระวันรัตน (แดง) เป็นพื้น
และได้ไปเรียนกับ สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ บ้าง

เมื่อ สมเด็จพระวันรัตน (แดง) เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี
ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมวโรดม
ได้ตั้งให้ท่านเป็นพระครูใบฎีกาในฐานานุกรมตำแหน่งนั้น
แล้วเลื่อนเป็นพระครูวินัยธรโดยลำดับ
ขณะเมื่อทรงเป็นพระครูวินัยธรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ ๒
ที่พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๒๘ เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกเป็นครั้งที่ ๓
ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลได้อีกประโยค ๑ รวมเป็น ๕ ประโยค

รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี


สมณศักดิ์

ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
ที่ พระศรีสมโพธิ์ ครั้นถึงปีวอก พุทธศักราช ๒๔๓๙
อันเป็นวันในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครบหมื่นวันแห่งการเสวยราชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอย และเพิ่มนิตยภัต
ในคราวเดียวกันกับที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระธรรมวโรดม (แสง)
วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร (วัดเลียบ) เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่
ที่ พระเทพโมลี ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระศรีสมโพธิ์
เป็น พระเทพโมลี ตรีปฎกธรา
มหาธรรมกถึกคณฤศร บวรสังฆราม คามวาสี
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

มีนิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึงกึ่ง มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๔ รูป
คือ พระครูปลัด ๑ พระครูสังฆวิชิต ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์
เป็นที่ พระธรรมโกศาจารย์ ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้

อนึ่ง พระราชาคณะที่มีความรอบรู้ พระปริยัติธรรมปรากฏในสังฆมณฑล
สมควรจะเลื่อนอิศริยยศในสมณศักดิ์
และพระสงฆ์ที่ทรงสมณคุณควรจะเป็นพระครูอีกหลายรูป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระเทพโมลี
เป็น พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณนายกตรีปิฏกมุนี
มหาคณาธิบดีสมณิศร บวรสังฆราม คามวาสี
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

มีนิตยภัตเดือนละ ๕ ตำลึง มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๖ รูป
คือ พระครูปลัด มีนิตยภัตรราราคาเดือนละ ๑ ตำลึง ๑
พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑
พระครูสังฆพินัย ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์

รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี


ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
พระราชทานหิรัญบัฎ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ดังมีสำเนาประกาศ ความบางตอน ดังนี้

ศุภมัสดุ ฯลฯ (ลงวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๑)

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่าพระธรรมโกศาจารย์เจ้าคณะมณฑลนครไชยศรีเป็นเปรียญ
ทรงพระปริยัติธรรม มีปฏิบัติอันงาม นำให้เกิดความเลื่อมใสของพุทธบริษัททั่วไป
ได้เป็นภารธุระแก่พระศาสนา เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาส
ทำนุบำรุงวัดสุทัศนเทพวรารามให้เจริญโดยลำดับมา
บริหารรักษาพระสงฆ์เรียบร้อยดีในฝ่ายปริยัติ
ได้เป็นผู้จัดการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม
อันเป็นสถานศึกษาใหญ่ตำบลหนึ่ง

เมื่อถึงคราวสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวงได้เป็นกรรมการสอบด้วยรูปหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงหยั่งทราบคุณสมบัติ
ของพระธรรมโกษาจารย์มาตั้งแต่เดิม
จึงได้ทรงยกย่องในตำแหน่งพิเศษ
พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอยให้ถือมีพระเกียรติยศเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ
แต่ครั้งยังเป็นพระศรีสมโพธิ์ เมื่อครั้งจัดคณะสงฆ์ในมณฑลหัวเมือง
ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครไชยศรี
ก็มีน้ำใจเห็นแก่พระพุทธศาสนา บริหารคณะมณฑลมาด้วยความเรียบร้อยจนทุกวันนี้

ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เป็นประธานแห่งสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร
พระธรรมโกศาจารย์ก็ได้เป็นกำลังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอด้วยรูปหนึ่ง
ในการบริหารคณะสงฆ์เมื่อคราวจัดคณะกลางในกรุงเทพฯ
พระธรรมโกศาจารย์ได้รับตำแหน่งในหน้าที่เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงสำเพ็ง
จัดการปกครองให้เข้าระเบียบเป็นอันดี
พระธรรมโกศาจารย์มีอัธยาศัยเป็นแก่พระพุทธศาสนาเป็นการธุระในกรณียกิจนั้นๆ
โดยลำดับมาฉะนี้ในเวลานี้มีพรรษายุการจัดว่าเป็นผู้ใหญ่
และเป็นหลักอยู่รูปหนึ่งในคณะสงฆ์ สมควรจะสถาปนา พระธรรมโกศาจารย์
เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่เจ้าคณะรอง มีนามจารึกในหิรัญบัฎว่า

พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมมาลังการวิภูษิต
มัชฌิมคณิศร บวรสังฆราม คามวาสี สังฆนายก เจ้าคณะรองคณะกลาง
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

มีนิตยภัตเดือนละ ๓๒ บาท มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๘ รูป
คือ พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ
สมบูรณ์สมาจารวัตรมัชฌิมสังฆนายกธุระวาหะ
มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๘ บาท ๑
พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพุทธพากย์ประกาศ ๑
พระครูธรรมสาสน์อุโฆษ ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี

(มีต่อ ๑)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์


ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ๒ ตำแหน่ง

ต่อมาถึงปีกุน พุทธศักราช ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนสมณศักดิ์
เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๖
ดังมีสำเนาประกาศความบางตอน ดังนี้

อนึ่ง ทรงพระราชดำรห์ว่า พระพรหมมุนีเป็นพระมหาเถระทรงประไตรปิฎกธรรม
แลเปนพูสูตรรัตตัญญุตาธิคุณ กอบด้วยด้วยอุตสาหะวิริยะในสมณปฏิบัติ
มีศีลจารวัตรเป็นอันงาม นำความเชื่อเลื่อมใสให้เกิดแก่พุทธสาสนิกชนทั่วไป
เป็นปูชนไนยคุรุฐานิยสุตรพุทธมุนีอยู่ในสังฆมณฑลรูปหนึ่ง
ซึ่งมีความพิสดารอยู่ในประกาศสถาปนาตำแหน่งพระพรหมมุนีนั้นแล้ว

บัดนี้เจริญด้วยพรรษายุกาล แลมั่นคงสม่ำเสมอในสัมมาจารีเปนนิจนิรันดร์
หมั่นเลือกเฟ้าหาสิ่งซึ่งเปนแก่นสารแท้จริงในพระพุทธสาสนา
ด้วยวิจารณญาณมิได้จืดจาง
เมื่อเห็นว่าเปนทางถูกทางชอบก็ถือเอาเป็นสมสีสีปฏิบัติ อัจฉริยพรหมจารรย์
ควรสักการบูชาและยกย่องฐานันดรศักดิ์
ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เฉลิมพระราชศรัทธา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระพรหมมุนี
ไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี
มีราชทินนานามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ
นิพัทธนคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก
ตรีปิฎกโกศลวิมลศีลขันธ์สรรพสมณคุณ วิบุลยประสิทธิ์
บวรสังฆราม คามวาสี อรัญวาสี มหาสังฆนายก
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง
เจ้าคณะใหญ่ทั้งปวง


รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗


ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ได้ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระวันรัต ดังมีสำเนาประกาศความบางตอน ดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๗๒ พรรษาปัจจุบันสมัย
สัปตมสัมพัตสร กุมภาพันธ์มาส จตุรวิงค์สุรทิน จันทรวาร โดยกาลปริเฉก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริว่า ฐานันดรศักดิ์เจ้าคณะใหญ่หนใต้อันเป็นตำแหน่งสำคัญ
ในมหาเถรสมาคมยังว่างอยู่
สมควรจะยกพระมหาเถรเจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยสมณคุณขึ้นสถิตในสมณศักดิ์
และสถาปนาสมณฐานันดรเจ้าคณะสงฆ์แทนที่สืบไป

บัดนี้จวนกาลฉัตรมงคลอุดมสมัย ควรจะผดุงอิสริยยศพระมหาเถระไว้ให้บริบูรณ์
โดยอนุกรมตามตำแหน่ง เพื่อจะได้แบ่งภาระช่วยกันประกอบศาสนกิจ
ให้สำเร็จประโยชน์แก่บรรพชิตแลคฤหัสถ์ตามสามารถ

ทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี
ประกอบด้วยคุณธรรมอันโกศลวิมลปฏิภาณญาณปรีชา ดำเนิรในสัมมาปฏิบัติ
ทรงสมณคุณพหุลกิจปรหิตจรรยา แจ้งอยู่ในประกาศสถาปนา
เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เมื่อพระพุทธศาสนายุกาล ๒๔๖๖ พรรษานั้นแล้ว

บัดนี้ก็เจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญุภาพเป็นผู้ทราบประจักษ์แจ้ง
ในธรรมเนียมประเพณีพิธีสงฆ์ทั้งปวงแต่กาลนาน
มีพรหมจริยาวัตรศีลสมาจารย์เรียบร้อยสมบูรณ์บริสุทธิ์
ควรนับเป็นสุตพุทธมุนีศาสนาภิรัต มีอัธยาศัยหนักน้อมไปในทางพระพุทธศาสนา
ยั่งยืนอยู่ในจารีตสมณวงศ์ เป็นหลักเป็นประธานสงฆ์คณะมหานิกายในปัจจุบัน
ยากที่จะมีผู้เสมอเหมือนทั้งตั้งอยู่ตำแหน่งพระราชาคณะมานานถึง ๔๐ ปี
สถิตในมหาเถระธรรมราศีเป็นครุภาวนียสถานแห่งสงฆ์อันพิเศษ
เป็นเหตุให้ถึงอปริหานิยธรรม สมควรเป็นทักษิณมหาคณิศวราจารย์ราชาคณะผู้ใหญ่
ที่อิสริยยศยิ่งกว่าสมณนิกรคามวาสีและอรัญวาสีหนใต้ทั้งปวง

จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งให้สถาปนา สมเด็จพระพุฒาจารย์
เป็นสมเด็จพระราชาคณะทักษิณศวราธิบดี
มีพระราชทินนามจารึก ในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล
วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณิศร บวรสังฆราม คามวาสี อรัญวาสี
สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง
เจ้าคณะใหญ่หนใต้
มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๐ รูป
คือ พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุตาจารย์ ญาณโกศลสกลคณินทร
ทักษิณสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑ พระครูพรหมศร พระครูคู่สวด ๑
พระครูอมรศัพท์ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมคุต ๑
พระครูพุทธบาล ๑ พระครูสังฆกิจจารักษ์ ๑
พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต



ภาระหน้าที่ในการคณะสงฆ์

ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้น
ตามพระราชดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เพื่อจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย โดยจัดการปกครองเป็น ๔ คณะใหญ่
คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุติกา และคณะกลาง
มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ
คือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง (อำเภอ)
และเจ้าอาวาส
โดยมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง
เป็นการอนุวัตรตามการปกครองฝ่ายบ้านเมือง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ หลังจากที่ได้รับพระสุพรรณบัฏเป็น สมเด็จพระวันรัต
เจ้าคณะใหญ่หนใต้ แต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ มานั้น ก็ได้ทรงปกครองคณะสงฆ์
ให้เจริญเรียบร้อยก้าวหน้ามาโดยลำดับ มิได้ระส่ำระสาย เป็นไปในทางวิวัฒนาการ
ผู้อยู่ในบังคับบัญชาก็ได้รับความสุขสำราญชื่นชมยินดี
ความติดขัดแม้จะมีก็ทรงระงับได้ด้วยความสุขุมปรีชา
เป็นที่พำนักปรึกษาของเจ้าคณะซึ่งมีข้อความข้องใจในการบริหาร
ชี้แจงนโยบายการบริบาลคณะสงฆ์ โดยสันติวิธีเป็นที่นิยมยินดีของพุทธบริษัททั่วไป

การปกครองคณะสงฆ์ร่วมในจังหวัดพระนครนั้นเล่า
ตั้งแต่แรกเริ่มจัดระเบียบเข้าสู่ระบอบใหม่ในทำนองการคณะแขวง
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงดำรงตำแหน่งแต่เดิมมา
ครั้งก่อนเรียกว่าแขวงสำเพ็ง ครั้งยุคต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแขวงคณะนอก
จังหวัดพระนคร ประจวบกันในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรโอนอำเภอพระโขนง
มาขึ้นจังหวัดพระนครพอดี ในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรยุบฐานะจังหวัดมีนบุรี
อำเภอต่างๆ ในจังหวัดนั้น คืออำเภอมีนบุรี อำเภอบางกะปิ อำเภอลาดกระบัง
อำเภอหนองจอก ก็โอนมาขึ้นในจังหวัดพระนคร
การคณะสงฆ์ในอำเภอนั้นๆ ทั้งหมดก็โอนมาขึ้นกับคณะแขวงนอก จังหวัดพระนคร
จึงต้องเพิ่มภาระในการปกครองขึ้นอีกมาก
กระนั้นก็ทรงสู้บั่นบากควบคุมการคณะให้เรียบร้อยเจริญดีเป็นลำดับมา

ในด้านการศึกษา ก็ทรงได้แนะนำปลูกภิกษุสามเณรให้เกิดอุตสาหะในการเรียนการสอน
เพื่อการศึกษาแพร่หลายดี จึงได้ขอให้ทางการเปิดสถานที่ทำการสอบความรู้นักธรรมขึ้น
เป็นประจำ ในอำเภอนั้นๆ จนเป็นปึกแผ่นถาวรมาจนถึงยุคนี้ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๙
เมื่อตำแหน่งปลัดแขวงในพระนครว่างลง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
จึงได้ทรงมีพระบัญชาให้ย้ายท่านเข้ามาเป็นปลัดแขวงในพระนคร
และท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อยตลอดมา

ในส่วนพระปริยัติธรรมนั้น พระองค์ท่านได้รับหน้าที่เป็นแม่กองสนามหลวงฝ่ายบาลี
ทำการสอบความรู้พระปริยัติธรรมพระภิกษุสมเณรในพระราชอาณาจักร
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๔ รวม ๔ ศกการ

ในส่วนมหาเถรสมาคมนั้น ก็ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการด้วยรูปหนึ่งตั้งแต่เดิมมา
ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ในฐานแห่งกรรมการเป็นอันดีเสมอต้นเสมอปลาย
มิได้บกพร่องอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกาวาท มุ่งหมายเป็นสำคัญก็คือ
ถือมติส่วนรวมโดยสมานฉันท์มีใจมั่นอยู่ด้วยสามัคคี
เพราะยึดอุดมคติเช่นนี้จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม

กอปรกับพระองค์ท่านทรงสมบูรณ์ด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิเป็นที่สุดในมหาเถรสมาคม
จึงทรงเป็นที่นิยมนับถือในฐานะเป็นประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

และในคณะมหานิกายนั้น เมื่อเกิดมีอุปสรรคอันใดเข้ามาขัดขวาง
ก็ได้อาศัยพระองค์เป็นหลักที่ปรึกษาหาทางที่จะหลีกลัดเข้าสู่สันติวิธีโดยมิได้ท้อถอย
และเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้งๆ ที่ทรงพระชราภาพมากแล้ว
หากจะปลีกพระองค์ออกใฝ่สุขแห่งความสงบเฉพาะพระองค์แล้ว
ก็จะเป็นเอกีภาวสุขได้อย่างสมบูรณ์แห่งจิตใจและสังขาร

แต่พระองค์หาได้คิดเช่นนั้น
ด้วยทรงเห็นแก่พระศาสนาและความร่มเย็นของผู้ปฏิบัติธรรม
อันยึดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นสรณะ
และเพื่อยืนยาวมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักของประชาชนชาวไทยทั้งมวล
มิได้ทรงถือความชราภาพมาเป็นสิ่งกีดขวางการพระศาสนา ปฏิปทา
และคุณูปการของท่านที่ทรงเพียบพร้อมด้วยศาสนกิจดังกล่าวมาแล้ว
จึงเป็นมูลัฏฐาปนีย์ที่เด่นเป็นมิ่งขวัญของคณะสงฆ์ทั่วไป

รูปภาพ
ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๓ จากซ้าย)
และพระมหาเถรานุเถระ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี


รูปภาพ
ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (แถวหน้า องค์ที่ ๕ จากซ้าย)
และพระมหาเถรานุเถระ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=43469

(มีต่อ ๒)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธ สิ้นพระชนม์ ประจวบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
รัชกาลที่ ๘ จะเสด็จนิวัตจากยุโรปสู่พระนคร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาสมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระราชทานตาลิปัตรแฉกประจำตำแหน่ง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

โดยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์ สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว
เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นสนองพระองค์ต่อไป
และโดยที่สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะใหญ่หนใต้
มีคุณูปการในทางศาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงให้ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดี สงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี


รูปภาพ
พัดตราประจำพระองค์
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)



ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะต่อประมุขสงฆ์ มีองค์พระสังฆราชเป็นประธาน

ครั้นถึงสมัยมงคลกาลเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
จึงเป็นพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ดังมีคำประกาศต่อไปนี้

ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)

อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน


โดยที่เห็นว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเอนกประการ
อาทิ เจริญพรรษายุกาลรัตนมหาเถรธรรม สุขุมคัมภีรญาณปรีชาสามารถ
ถึงพร้อมด้วยสมณคุณพรหมจริยวัตรศีลสมาจารบริสุทธิ์
ประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิต ประโยชน์อันไพศาลแก่พุทธบริษัท
มีคุณสมบัติเป็นเอนกนัย ดังปรากฏเกียรติคุณตามประกาศสถาปนา
เป็นสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๒ แล้วนั้น

ครั้นต่อมาก็ยิ่งเจริญด้วยอุสาหวิริยาธิคุณสามารถประกอบการศาสนกิจ
ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ได้รับภาระปกครองคณะสงฆ์
โดยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง นอก จังหวัดพระนคร และปลัดคณะแขวงใน
จังหวัดพระนคร บริหารคณะสงฆ์ในการปกครองโดยเรียบร้อยวิวัฒนาการ
ทั้งในการศึกษาและพระปริยัติธรรมก็ได้จัดการให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นถาวร
ด้วยสุขุมปรีชาญาณ มีนโยบายการบริหารด้วยสันติวิธี
เป็นที่นิยมยินดีของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคม
ก็ปฏิบัติการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี มิบกพร่อง
โดยอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกา เป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม
ประกอบทั้งสมบูรณ์ด้วยวัยวุฒิคุณวุฒิเป็นที่สุดในมหาเถรสมาคม
จึงเป็นที่นิยมชมชื่นทั้งในฐานที่เป็นพระมหาเถระ
และเป็นประมุขสงฆ์คณะมหานิกาย
ด้วยคุณูปการในทางศาสนกิจอันยิ่งใหญ่เช่นนี้
จึงได้ประกาศสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆมลฑลทั่วราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ในรัชกาลปัจจุบัน

เมื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระองค์เป็นพุทธมามกะ
ก็ได้ทรงเป็นพุทธมามกาจารย์ และถวายโอวาท
เป็นเครื่องเจริญพระราชศรัทธาประสาทเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
บัดนี้จวนมงคลสมัยเฉลิมพระชนพรรษา
สมควรสถาปนาสมณฐานันดรศักดิ์
ให้เต็มตามราชประเพณีเป็นปรากฏเกียรติยศคุณสืบไป

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
จึงให้เฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราช ตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสุขุมธานธำรง สกลสังฆปรินายก
ตรีปิฎกกลากุศโลภาศ อานันทมหาราชพุทธมามกาจารย์ ติสฺสเทวา
ภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตตมโศภณ วิมลศีลสมาจารวัตร
พุทธศาสนิกบริษัทคาราวสถาน วิจิตรปฏิภาณ พัฒนคุณ
อดุลคัมภีรญาณสุมทร บวรสังฆราม คามวาสี
เสด็จสถิต ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง


มีฐานานุศักดิ์ควรทรงตั้งฐานานุกรมได้ ๑๕ รูป คือ
พระครูมหาคณานุสิชฌน์ สังฆอิสริยาลังการ วิจารณโกศล
วิมลสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดขวา ๑
พระครูจุลคณานุสาสน์ วิจารโณถาศภาคยคุณ สุนทรสังฆมนุคุตติ
วิสุทธิสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดซ้าย ๑
พระครูธรรมกถาสุนทร ๑
พระครูวินัยกรณ์โสภณ ๑
พระครูพรหมวิหาร พระครูปริตร ๑
พระครูญาณวิสุทธิ์ พระครูปริตร ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูธรรมธร ๑
พระครูวิมลสรภาณ พระครูคู่สวด ๑
พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด ๑
พระครูบุลบรรณวัตร ๑
พระครูสังฆบริการ ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาพระคุณผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดร
เพิ่มอิศริยยศในครั้งนี้จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์
และอนุเคราะห์พระภิกษุ สามเณร ในคณะและในพระอาราม
ตามสมควรแก่กำลังและอิศริยยศที่พระราชทานนี้

และขอจง เจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิจิรัฏฐิติวิรุฬหิ
ไพบูลย์ในรพะพุทธศาสนาเทอญฯ

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี


รูปภาพ
พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม


เจ้าพนักงานได้เชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งที่วัดสุทัศนเทพวราราม
เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๔ นาฬิกา กับ ๑๔ นาที
มีพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พร้อมกับยกเศวตรฉัตร
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระสุพรรณบัฎในวันนั้น เวลา ๑๗ นาฬิกา
พระสงฆ์ ๑๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ

รุ่งขึ้น วันที่ ๒๙ กันยายน เวลา ๑๑ นาฬิกา
พระสังฆ์รับพระราชทานฉันอาหารบิณฑบาต
แล้วเจ้าพนักงานตั้งบายศรีและแว่นเวียนเทียน
สมโภชพระสุพรรณบัฎแล้วเป็นเสร็จการ

จำเดิมแต่พระองค์ได้ดำรงดำแหน่งสกลกสังฆปรินายกสืบสนองพระองค์
จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
วัดราชบพิธ เป็นต้นมา แม้จะทรงพระชราภาพมากแล้วก็ตาม
ก็ได้ยังความเจริญร่มเย็นเป็นสุข ให้บังเกิดแก่สงฆมณฑลเป็นเอนกประการ

โดยที่ทรงพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีภาพในศาสโนบายวิธี
เมื่อทรงเห็นว่าจะไม่สามารถปกครองสังฆมณฑลให้สัมฤทธิผลได้ดังพระราชประสงค์
จึงทรงพระกรุณาตั้งคณะบัญชาการคณะสงฆ์แทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง
เพื่อดำเนินศาสนากิจให้ลุล่วงไป ด้วยความสวัสดีตลอดมา
จวบจนเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ออกใช้เป็นกฎหมาย
เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักรให้อนุรูปกัน
ในฐานแห่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกในระบอบใหม่นี้

จึงมีพระบัญชาให้เปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภาขึ้น
และได้เสด็จไปเปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันวิสาขบุรณมี
วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕
และได้ทรงแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่ง
ตามบทแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจให้วัฒนาถาวรสืบไป

(มีต่อ ๓)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต


การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์

ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ขึ้น
แทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่นี้
มีจัดการปกครองคณะสงฆ์โดยอนุโลมตามแบบการปกครองฝ่ายบ้านเมือง
คือ สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติ โดยคำแนะนำของสังฆสภา
ทรงบริหารคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี และทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร
จัดระเบียบบริหารคณะสงฆ์ส่วนกลางเป็น ๔ องค์การ คือ

๑. องค์การปกครอง
๒. องค์การศึกษา
๓. องค์การเผยแผ่ และ
๔. องค์การสาธารณูปการ

สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งคณะสังฆมนตรีประกอบด้วยสังฆนายก ๑ รูป
และสังฆมนตรีไม่เกิน ๙ รูป เป็นสงฆ์ผู้รับผิดชอบในการบริหารการคณะสงฆ์
ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ทรงฉายร่วมกับคณะกรรมการพุทธสมาคม


พระกรณียกิจต่างๆ

พระกรณียกิจต่างๆ ของสมเด็จพระสังฆราชแพนั้น
ในฐานะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง
ในขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการจัดระเบียบการคณะสงฆ์ให้เข้าสู่รูปสมัยใหม่
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ดังกล่าวแล้วพอสรุปได้ดังนี้

๑. เสด็จเปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภา
ที่เปิดครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชาที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
และได้ทรงตั้งพระมหาเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่งตาม
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจต่อไปฯ

๒. ประกาศตั้งเจ้าหน้าที่พิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐ
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ฯ

๓. ประกาศเรื่องการโอนวัดมหานิกายเป็นวัดธรรมยุติฯ

๔. เลิกระเบียบการบำรุงการศึกษาปริยัติธรรม โดยจัดเป็นหมวดๆ
และมีรายละเอียดต่างๆ แต่ละหมวดเพื่อเป็นหลักการปฏิบัติฯ

พระอัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ละมุนละม่อมอ่อนโยนเสวนาสนิทสนมกับคนทุกชั้น
มิได้ถือพระองค์ แม้ว่าจะได้ทรงมีตำแหน่งสูงสุดในทางฝ่ายพุทธจักรก็ตาม
จึงทรงเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต

ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ มีความสม่ำเสมออยู่เป็นนิจ
ทรงดำรัสแต่น้อยคำและตรงไปตรงมา แต่มีความหมายลึกซึ้งและแจ้งชัด
ทรงมีพระเมตตาคุณเป็นที่ตั้งและใฝ่ในทางสันติ
เมื่อมีวิวาทาธิกรณ์เกิดขึ้นทรงหยั่งเอาด้วยเหตุและผลรักษาความเที่ยงธรรม
ไม่โอนเอียงและพร้อมที่จะทรงอภัยให้ทุกเมื่อ
ทรงตรัสสิ่งใดออกไปแล้วย่อมเที่ยงตรง รังเกียจการสู่รู้ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร

กล่าวกันว่า เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
สมัยท่านผู้นำว่าอะไรว่าตามกัน ซึ่งมักจะพัวพันเข้ามาในคณะสงฆ์ด้วย
แม้แต่การแสดงพระธรรมเทศนา ก็จะต้องอยู่ในช่วงที่ทางการจะตั้งหัวข้อ
หรือแนวมาให้แสดง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะไม่ใช่แสดงธรรมเทศนา
เป็นการแสดงปาฐกถาหรืออะไรทำนองนั้นมากกว่า
หรือไม่ก็ต้องส่งสำเนาเทศนาไปให้ทางการเซ็นเซอร์ ต้องตรวจแก้ไขก่อน

บางครั้งก็มีเสียดสีติเตียนฝ่ายตรงข้าม หรือที่ไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่
และก็เคยมีพระสงฆ์ใหญ่บางองค์ได้ยินยอมเป็นเครื่องมือของนักการเมืองสมัยนั้น
เทศน์ไปตามความต้องการของผู้ยิ่งใหญ่

ครั้งหนึ่งได้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น
ไปแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงของทางราชการ

ระหว่างที่นั่งรถไปกับผู้รับมอบหน้าที่มานิมนต์
และรับนโยบายมาชี้แจงด้วยผู้นั้นได้พร่ำแนะกับพระองค์ท่านไปในรถว่า
ให้เทศน์อย่างนั้นๆ ตามแนวนั้นๆ พระองค์ทรงนิ่งฟังจนจบแล้วกล่าวสั้นๆ ว่า

“นี่มึงเทศน์เองหรือจะให้กูเทศน์”

ทรงตรัสสั้นๆ แต่มีความหมายลึกล้ำ ผู้แนะแนวทางเงียบกริบ
แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงตามแนวธรรมของพระองค์
ไม่ใช่แนวที่คนสู่รู้มาอวดสอนและชักจูงไปในทางที่มิชอบด้วยสมณสารูป

รูปภาพ
ทรงฉายร่วมกับพระภิกษุสามเณรของวัดสุทัศนเทพวราราม

(มีต่อ ๔)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง


การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย

การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยนั้น
ได้มีกระทำกันมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแปลไว้เป็นจำนวนมาก

ในรัชสมัยต่อๆ มา การแปลก็ยังคงดำเนินไปเป็นครั้งคราว
ส่วนใหญ่จะแปลพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกมีน้อย
สำนวนโวหารในการแปลก็ผิดกันมาก เพราะต่างยุคต่างสมัย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงปรารภว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี
ผู้ใคร่ศึกษาต้องรู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง จึงจะศึกษาได้สมประสงค์
แม้มีผู้รู้แปลสู่ภาษาไทยอยู่บ้าง
ก็เลือกแปลเฉพาะบางตอน มิได้เป็นการแปลจบทั้งคัมภีร์

หากสามารถแปลจบครบบริบูรณ์
ก็จะเป็นอุปการคุณแก่พุทธบริษัทชาวไทยอย่างใหญ่หลวง
ในต่างประเทศได้มีนักปราชญ์อุตสาหะแปลบาลีพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ออกเป็นภาษาของเขาแล้ว สำหรับฝ่ายมหายานนั้น
ได้มีการแปลพระไตรปิฎกจากฉบับภาษาสันสกฤต
ออกเป็นภาษาของชาวประเทศที่นับถือลัทธิมหายานมาแล้วช้านาน

การที่นักปราชญ์ดังกล่าวจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาของเขา
ก็ด้วยเห็นประโยชน์ที่มหาชนชาวประเทศนั้นๆ
จะพึงได้รับการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ

จึงเป็นการสมควรด้วยประการทั้งปวง
ที่จะคิดจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยให้ตลอดสาย
จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์
และประเทศไทยให้ปรากฏไปในนานาประเทศ

แต่เนื่องด้วยการนี้เป็นการใหญ่ เกินวิสัยที่เอกชนคนสามัญจะทำให้สำเร็จได้
จึงขอให้กระทรวงธรรมการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา
ขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้
ให้กรมธรรมการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นสมุดตีพิมพ์
และลงในใบลาน เพื่อเผยแพร่แก่พุทธบริษัทสืบไป

เมื่อได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
รับการจัดแปลพระไตรปิฎกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการจัดแปลพระไตรปิฎก
และพระราชทานพระบรมราชานุมัติ
ให้ทรงตั้งพระเถรานุเถระเป็นกรรมการจัดแปลได้ตามสมควรแล้ว

สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ทรงตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกขึ้นมาคณะหนึ่ง
ดังมีรายนามปรากฏตามสำเนาประกาศกระทรวงธรรมการ
เรื่องตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย
ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ ต่อไปนี้

ประกาศกระทรวงธรรมการ
เรื่องแต่งตั้งกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย


ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้
พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ทรงแต่งตั้งกรรมการจัดแปลได้ตามสมควร

อาศัยพระบรมราชานุมัตินั้น ในพระนามสมเด็จพระสังฆราช
ประธานพระบัญชาการคณะสงฆ์ฯ ได้กำหนดหน้าที่ในการปฏิบัติงานออกเป็นส่วนฯ
และแต่งตั้งผู้มีรายนามดังต่อไปนี้เป็นกรรมการ คือ

สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้

๑. คณะกรรมาธิการพิจารณาการแปล

๑. พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) ประธานคณะกรรมการ
๒. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) กรรมาธิการฝ่ายพระวินัย
๓. พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) กรรมาธิการฝ่ายพระสูตร
๔. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ช้อย ฐานทตฺโต) กรรมาธิการฝ่ายพระอภิธรรม

๒. กรรมการกองแปล

พระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชวาส หัวหน้ากอง

(๑) กรรมการแผนกตรวจสำนวน

๑. พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ)
วัดสุวรรณดาราม พระนครอยุธยา หัวหน้าแผนก
๒. พระปริยัติโสภณ (ฟื้น ชุตินธโร) วัดสามพระยา
๓. พระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชวาส
๔. พระมหาทองคำ ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ
๕. พระมหาวิเชียร ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ
๖. พระมหาเกษม ป.ธ. ๗ วัดมหาธาตุ
๗. พระมหาชอบ ป.ธ. ๖ วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี

(๒) กรรมการแผนกแปลพระวินัย

๑. พระวิสุทธิสมโพธ (เจีย เขมโก) วัดพระเชตุพน
๒. พระมหาเชื่อม ป.ธ. ๘ วัดพระเชตุพน
๓. พระมหาสง่า ป.ธ. ๘ วัดพระเชตุพน
๔. พระมหาปุ่น ป.ธ. ๖ วัดพระเชตุพน

(๓) กรรมการแผนกแปลพระสูตร

๑. พระปริยัติโศภน (ฟื้น ชุตินธโร) วัดสามพระยา หัวหน้าแผนก
๒. พระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร) วัดกัลยาณมิตร
๓. พระสุธีวรคุณ (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาส
๔. พระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) วัดทองนพคุณ
๕. พระวิเชียรมุนี (พันธ์ จีรวฑฺโฒ) วัดอินทาราม
๖. พระศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์ ยติธโร) วัดสุทัศนเทพวราราม
๗. พระมหาสุรัส ป.ธ. ๙ วัดเบญจมบพิตร
๘. พระมหาปลอด ป.ธ. ๘ วัดสระเกศ
๙. พระมหาสุด ป.ธ. ๘ วัดก้าฟ้าล่าง
๑๐. พระมหาเกลี้ยง ป.ธ. ๘ วัดชนะสงคราม
๑๑. พระมหาน้าว ป.ธ. ๘ วัดเบญจมบพิตร
๑๒. พระมหาพุฒ ป.ธ. ๗ วัดสุทัศนเทพวราราม
๑๓. พระมหาช่วง ป.ธ. ๗ วัดสุทัศนเทพวราราม
๑๔. พระมหาไสว ป.ธ. ๗ วัดเทพากร

(๔) กรรมการแผนกแปลพระอภิธรรม

๑. พระเมธีวรคณาจารย์ (พาว เมธิโก) วัดวิเศษการ หัวหน้าแผนก
๒. พระมหาทองคำ ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ
๓. พระมหาวิเชียร ป.ธ. ๙ วัดมหาธาตุ
๔. พระมหาถิร ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๕. พระมหาปั่น ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๖. พระมหาสวัสดิ์ ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๗. พระมหาเกษม ป.ธ. ๗ วัดมหาธาตุ

กรรมการแผนกแปลพระสูตร

๑. พระศรีวิสุทธิโมลี (ฉลาด ปญฺญาทีโป) วัดเบญจมบพิตร
๒. พระมหาเสถียร ป.ธ. ๙ วัดจักรวรรดิราชาวาส
๓. พระมหากี ป.ธ. ๘ วัดทองนพคุณ

กรรมการแผนกแปลพระอภิธรรม

๑. พระมหาเขียน ป.ธ. ๙ วัดสุวรรณาราม
๒. พระมหาบุญเลิศ ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ
๓. พระมหาเกษม ป.ธ. ๗ วัดมหาธาตุ
๔. พระมหาปลั่ง ป.ธ. ๘ วัดมหาธาตุ

กรรมการฝ่ายคฤหัสถ์อุปการะในการตรวจสำนวน

๑. นายสงวน กุลดิลก (ป.ธ. ๗)
๒. นายรัตน์ ปาณะพล ธรรมศาสตรบัณฑิต

ในการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย
คณะกรรมการได้แบ่งการแปลออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. แปลโดยอรรถตามความในบาลีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
สำหรับพิมพ์เป็นเล่มสมุด เรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาไทย”

๒. แปลโดยสำนวนเทศนา สำหรับพิมพ์ลงใบลาน เป็นคัมภีร์เทศนา
เรียกว่า “พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง” แบ่งออกเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์
โดยถือเกณฑ์พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป เมื่อคราวจาตุรงคสันนิบาตในสมัยพุทธกาล
เป็นพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์
พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์
พิมพ์ลงใบลานเสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

กรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ อุปการะในการตรวจสำนวน

๑. นายโชติ ทองประยูร เนติบัณฑิต
๒. นายกมล มลิทอง ธรรมศาสตรบัณฑิต
๓. นายพร มลิทอง ธรรมศาสตรบัณฑิต
๔. นายัญ คงสมจิตต์ (ป.ธ. ๙)

๓. กรรมการกองธุรการ

๑. พระชำนาญอนุศาสน์ อธิบดีกรมศิลปากร
๒. หลวงอาจวิชาสรร รักษาการในตำแหน่งแลขานุการกรมธรรมการ
๓. นายกมล มลิทอง ทำการแทนหัวหน้ากองศาสนศึกษา
๔. นายวิชัย ญสุจินต์ (ป.ธ. ๖) กองศาสนศึกษา
๕. นายทรงวุฒิ วโรภาส ผู้จัดการโรงพิม์ศาสนศึกษา

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

สินธุสงครามชัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ


อนึ่ง คณะกรรมการคณะนี้ ได้แบ่งแยกหน้าที่ดำเนินการแปลพระไตรปิฏกโดยลำดับ
แต่กรรมการบางรูปได้พ้นหน้าที่ไป
และได้มีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมอีกในเวลาต่อมา

รูปภาพ
รูปหมู่คณะกรรมการแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย

เมื่อคณะกรรมการได้จัดแปลและทำต้นฉบับ
พระไตรปิฏกภาษาไทยฉบับหลวงเสร็จบางส่วน พอจัดพิมพ์ได้
กรมการศาสนาก็ได้เริ่มจัดพิมพ์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นปฐมฤกษ์
เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔
ได้ปิฎกละเล่ม รวม ๓ เล่ม แล้วจัดพิมพ์ต่อไปอีก

แต่บังเอิญประจวบกับเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม
วัตถุอุปกรณ์ในการพิมพ์มีราคาแพงมากและหาได้ยาก
จึงจำเป็นต้องงดการพิมพ์ไว้ชั่วคราว
เวลานี้คณะกรรมการได้จัดแปลและทำต้นฉบับสำหรับพิมพ์ไว้เสร็จแล้ว
ถ้าวัตถุอุปกรณ์ในการพิมพ์มีราคาพอสมควร
จะได้ดำเนินการพิมพ์ต่อไปอีกโดยลำดับจนจบ
ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะพิมพ์เป็นเล่มมีปริมาณถึง ๘๐ เล่ม
ทั้งนี้ต้องแล้วแต่กำลังเงินทุนการแปลพระไตรปิฎก
อันจะพึงได้รับการอุปถัมป์จากท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเป็นสำคัญ

ส่วนพระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง
คณะกรรมการได้จัดการเรียบเรียงเป็นสำนวนเทศนาตามความในพระบาลี
แบ่งเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ เท่าจำนวนพระอรหันต์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ รูป
เมื่อคราวจาตุรงคสันนิบาตรในสมัยพระพุทธกาล คือพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์
พระสุตตันปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์ พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์

กรมการศาสนาได้จัดพิมพ์ลงในใบลาน
และเดินทองล่องชาดอย่างงดงามถาวร เป็นจำนวนครั้งแรกนี้ ๕๑๕ จบ

(มีต่อ ๕)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ทรงฉายขณะเสด็จออกจากโบสถ์วัดสุทัศน์ฯ
ในวันที่ทรงเป็นประธานหล่อพระกริ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒



มูลเหตุโดยย่อที่ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ *

มูลเหตุที่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม
ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น ทรงเล่าว่า
เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ์
ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ยังมีชีวิตอยู่
และครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่น เสด็จมาเยี่ยม
เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า

“เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์
อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน
ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติ
พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ
แต่สมเด็จฯ ทูลว่าพระกริ่งที่กุฎิมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
จึงรับสั่งให้นำมาแล้วอาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน
ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง)
เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ”


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ขณะทรงทำพิธีพุทธาภิเษก
ประกอบพิธีกรรมขั้นตอนการหล่อพระกริ่งฉลองพระชนม์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓
โดยมีพระครูพุทธบาล (วิเชียร) อุ้มบาตรน้ำพุทธมนต์ตามเสด็จ



ข้าพเจ้าทูลถามว่า
พระกริ่งที่อาราธนาขอน้ำพระพุทธมนต์นั้นเป็นพระกริ่งสมัยไหน
พระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้
เข้าใจว่าเป็นพระกริ่งเก่าหรือไม่ก็คงเป็นพระกริ่ง
ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ องค์ใดองค์หนึ่ง

ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ก็เริ่มสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งขึ้นเป็นลำดับ
ทรงค้นหาประวัติการสร้างพระกริ่งและก็ได้เค้าว่า
การสร้างพระกริ่งนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว เริ่มที่ประเทศทิเบตก่อน
ต่อมาก็ประเทศจีนและประเทศเขมรเป็นลำดับ

* หมายเหตุ : เรื่องเล่าโดย นายนิรันดร์ แดงวิจิตร
อดีตพระครูฐานานุกรมในเจ้าประคุณสมเด็จ (แพ ติสฺสเทวมหาเถร)
ที่พระครูพิศาลสรคุณ, พระครูญาณวิสุทธิ, พระครูวินัยกรณ์โสภณ
เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดในเจ้าประคุณสมเด็จ สนใจและศึกษาในพิธีกรรม
ตลอดจนการช่างฝีมือในการตกแต่งพระกริ่งทีเยี่ยมยอดที่สุดคนหนึ่งปัจจุบัน


รูปภาพ
พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ประดิษฐานในพระตำหนัก วัดสุทัศนเทพวราราม



พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ทรงประชวรพระโรคชรากระเสาะกระแสะอยู่เรื่อยๆ
แต่เพราะพระองค์มีพระทัยเข้มแข็งยิ่งนัก
ประกอบด้วยได้แพทย์ผู้สามารถถวายการพยาบาล
จึงทรงมีพระอาการคงอยู่ได้ตลอดมาจนถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๗
ได้เริ่มประชวรเพราะโรคเดิมอีก แพทย์ได้ถวายการพยาบาลจนสุดความสามารถ
พระอาการโรคได้ทรุดหนักลงทุกวันจนถึงวันที่ ๒๖ เดือนเดียวกัน
ก็ได้เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อเวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา
ที่ตำหนักวัดสุทัศน์เทพวราราม สิริพระชนมายุ ๘๙ โดยมีพระพรรษา ๖๖
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๖ ปี กับ ๑๑ วัน

ได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพและโกศพระลองกุดั่นน้อย
ประดับพุ่มและเฟื่อง เครื่องสูง ๕ ชั้น
เครื่องประโคมสังข์แตร จ่าปี่ จ่ากลอง และกลองชนะ
มีพระพิธีธรรมสวดอภิธรรมประจำพระศพและรับพระราชทานฉัน ๑๕ วัน

ประดิษฐานพระศพ ณ พระตำหนักที่สิ้นพระชนม์
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ ในทุกกระทรวงทบวงกรมมีกำหนด ๑๕ วัน
แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในสัตตวารที่ ๑
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระลองกุดั่นน้อยเป็นพระลองกุดั่นใหญ่
และจัดการพระราชทานเพลิงพระศพเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันพุธที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘

ยงกิญจิ สมุททยธมมํ สพพนตํ นิโรธธมมํ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
สิ่งอันใดที่ได้เกิดกำหนดขึ้น จะยั่งยืนค้ำฟ้าก็หาไม่
เกิดมาแล้วย่อมดับลับลงไป เป็นกฎในธรรมดามาช้านานฯ


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต

(มีต่อ ๖)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เสาชิงช้ากับวัดสุทัศนเทพวราราม ความงามที่ยืนอยู่คู่กันมานาน


ประวัติและความสำคัญของวัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศนเทพวราราม
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกาย
ตั้งอยู่ ณ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญหลายชื่อ
ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิเช่น ‘วัดพระใหญ่’ ‘วัดพระโต’
ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปสำคัญของวัดคือพระศรีศากยมุนี
หรือ ‘วัดเสาชิงช้า’ ซึ่งเรียกตามสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับเสาชิงช้า
ด้านหน้าเทวสถานของพราหมณ์บริเวณใจกลางพระนคร

วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๐
เพื่อให้เป็นวัดที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
ดังมีปรากฏข้อความอยู่ในบันทึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี

ที่กล่าวว่า มีพระบรมราชโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร
ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง โดยให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่
ณ เมืองโศกโขไทย ชลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช ๗ วัน ฯลฯ
โดยเริ่มจากการกำหนดพระฤกษ์ขุดรากพระวิหารหลวง
ในวันจันทร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๕๐

เมื่อการก่อสร้างพระวิหารหลวงและสร้างฐานชุกชีเสร็จแล้ว
โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย
มาประดิษฐานบนฐานชุกชีพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
และพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส”

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงตั้งพระทัยให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต)
ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม
จึงเรียกกันว่า วัดพระโต, วัดพระใหญ่ หรือ วัดเสาชิงช้า บ้าง

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ
และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง
แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

การก่อสร้างวัดมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม”
ปรากฏในจดหมายเหตุว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม”

รูปภาพ
ลานประทักษิณชั้นล่างรอบพระวิหารหลวงไปจนถึงพระระเบียงคด


และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหารหลวง พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ
ให้คล้องกันว่า “พระศรีศากยมุนี” , “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”
และ “พระพุทธเสฏฐมุนี”
ตามลำดับ

และทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”
หมายถึง สุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ
ศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของพระอินทร์


อนึ่ง บริเวณที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวรารามนั้น
อยู่เกือบกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร อันเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ
ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาลและศูนย์รวมของสรรพสิ่งที่น่าสนใจ
รูปแบบการก่อสร้างของศาสนาสถานและศาสนวัตถุภายในวัด
มีทั้งคติธรรมปริศนาธรรมสัญลักษณ์ที่ต้องขบคิดตีปัญหาให้เข้าใจ
การวางผัง การก่อสร้างก็ทำอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบสวยงาม
ที่เป็นจุดเด่นและศรีสง่าแก่บ้านเมืองเป็นยิ่งนัก

รูปภาพ
ม้าหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่บริเวณมุมฐานประทักษิณพระวิหารหลวง
รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อระลึกถึงม้ากัณฐกะที่นำเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช



ศาสนสถานและศาสนวัตถุอันงดงามล้ำค่า

กล่าวกันว่าในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดสุทัศนเทพวรารามได้รับคำยกย่องว่า
เป็นวัดที่มีการออกแบบ วางแผนผังกลุ่มอาคารและตัวอาคาร
ได้สัดส่วนงดงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ และมีศิลปวัตถุมีค่าอยู่มากมาย อาทิ

พระอุโบสถ

เป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ยาวสวยงามที่สุดในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๓๘๖
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบสถาปัตยกรรมไทย
ขนาดกว้าง ๒๒.๖๐ เมตร ยาว ๗๒.๒๕ เมตร
เป็นอาคารสูงใหญ่มาก มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด ๖๘ ต้น
หลังคา ๔ ชั้น และขั้นลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวเป็นพื้น คั่นกรอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง
หน้าบันมุขหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลักลายประดับกระจกสี

ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก
สลักเป็นรูปพระอาทิตย์ประทับนั่งในบุษบกบนราชรถเทียมราชสีห์
มีคติความเชื่อว่า พระอาทิตย์เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลากลางวัน
พระวรกายเป็นสีแดงสวมเทริดทรงน้ำเต้ากลม
พระหัตถ์ช้ายถือดอกบัวบาน หมายถึงการห้ามอุปัทวอันตรายทั้งปวง
ส่วนพระหัตถ์ขวาถือดอกบัวตูม หมายถึงการอำนวยพร

ด้านหลังหรือด้านทิคตะวันตก
สลักเป็นรูปพระจันทร์ประทับนั่งในบุษบกบนราชรถเทียมม้า
มีคติความเชื่อว่า พระจันทร์เป็นเทพเจ้าผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลาตอนกลางคืน
พระวรกายสีขาว สวมเทริดทรงน้ำเต้ากลม พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์
การสลักหน้าบันเป็นรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ หมายถึงว่า
พระอาทิตย์และพระจันทร์เวียนรอบเขาพระสุเมรุคือพระวิหารหลวง

ผนังพระอุโบสถได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชั้นครู
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นภาพพระพุทธประวัติของพระสมณโคดม
พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๘ และภาพพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดที่พระพิชัยมหามงกุฎ
ที่มีลักษณะค่อนข้างแปลกและงดงามมาก

โดยรอบพระอุโบสถมี ‘ซุ้มเสมายอดเจดีย์’ ทั้งหมด ๘ ซุ้ม
คือเป็นซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยอดซุ้มทำเป็นรูปทรงอย่างเจดีย์
มีใบเสมา ๒ ใบ เรียกว่าเสมาคู่ เป็นหินสลักรูปช้าง ๓ เศียรชูงวง
แต่ละงวงถือ ดอกบัวตูม ๓ ดอก และดอกบัวบาน ๒ ดอก
เกสรดอกบัวบานเป็นรูปสัตว์ เป็นรูปนกนั้น หมายถึงพระอาทิตย์
และเป็นรูปกระต่ายนั้น หมายถึงพระจันทร์
สันนิษฐานว่า หมายถึงรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว
ส่วนดอกบัวตูม ๓ ดอก หมายถึงสร้างโดยรัชกาลที่ ๓ สมัยยังทรงพระชนม์

บนกำแพงแก้วมีเกยทางทิศเหนือ ๔ เกย ทิศใต้ ๔ เกย
ทำด้วยหินอ่อนสีเทา สำหรับใช้ในงานพระราชพิธี
ประทับโปรยทานแก่พสกนิกร เรียกว่า “เกยโปรยทาน”

สำหรับ ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ
บานประตูด้านนอกเป็นภาพจิตรกรรมรูป “ครุฑยุดนาค”

ซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒
มาจากพระนามเดิมว่า ฉิม และคำว่าวิมานฉิมพลีเป็นที่พำนักของครุฑ
พญาแห่งนก จึงทรงใช้ครุฑเป็นตราประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย

บ้างก็กล่าวว่า ในเวลานั้นรัชกาลที่ ๒ ทรงนิยมเรื่องรามเกียรติ์
และทรงเทียบพระองค์เป็นพระราม (หรือพระนารายณ์อวตาร)
แม้แต่พระราชโอรสยังพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ
(ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) ตามชื่อพระมงกุฎในเรื่องนี้
จึงทรงใช้ครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เป็นตราประจำพระองค์

รูปภาพ
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์


พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ : พระประธานในพระอุโบสถ

หล่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐ ศอก ๘ นิ้ว ปางมารวิชัย
ประดิษฐานบนฐานชุกชีสูง ปั้นลายปิดทองคำเปลวประดับกระจกสี

เบื้องหน้าพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ
ประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นลงสีพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนพระศรีศาสดา
ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร
สร้างด้วยปูนปั้นลงสี นั่งพนมมือเหมือนกำลังฟังพระบรมโอวาท
จากพระพุทธองค์ชึ่งประทับเป็นประธานอยู่ตรงกลาง
ส่วนขนาดของรูปหล่อพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์นั้น
เป็นขนาดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดคำนวณขึ้น

รูปภาพ
พระวิหารหลวง ในยามราตรี


พระวิหารหลวง

ตั้งอยู่แถบเหนือของเขตพุทธาวาส หันหน้าออกสู่ถนนบำรุงเมือง
เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ สำเร็จเรียบร้อยในรัชกาลที่ ๓
ลักษณะรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
โดยถ่ายทอดแบบมาจากพระวิหารวัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๒๓.๘๔ เมตร ยาว ๒๖.๒๕ เมตร
โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน ๑ ตับ มีชั้นซ้อน (หลังคามุข)
ทางด้านหน้าและด้านหลังข้างละ ๑ ชั้น
และมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ ๓ ตับ

หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลัง มืหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ ๒ ตับ
มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๑๒ ต้น ทั้งสองด้านรวม ๒๔ ต้น
และเสานางเรียงด้านข้าง ด้านละ ๖ ต้น รวมทั้งหมดจึงเป็นเสา ๓๖ ต้น
เสานางเรียงและเสารับมุขหัวเสาเป็นปูนปั้นรูปบัวแวงปิดทองประดับกระจกสี
ชายคามีคันทวย รับเชิงชายหลังคาหัวเสาละ ๒ ตัว ด้านละ ๖ ตัว
รวมทั้งหมด ๔ ด้าน ๒๔ ตัว

รูปภาพ
ซุ้มบานประตูพระวิหารหลวง


แนวฝาผนังด้านนอก มีเสานางแนบด้านละ ๖ ต้น
มีบัวหัวเสาเช่นเดียวกับเสานางเรียงหน้าบันพระวิหารหลวงมี ๒ ชั้น
คือ หน้าบันจั่วหลังคาประธาน เป็นไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก
เป็นลายกระหนกเครือวัลย์ออกช่อเทพนม ตรงกลางเป็นกรอบซุ้ม
ภายในกรอบซุ้มมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ในเวชยันตรวิมาน
ประดิษฐานอยู่เหนือกระพองช้างเอราวัณ

หน้าบันมุขมีรูปแบบคล้ายหน้าบันจั่วประธาน
แต่ตรงกลางหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
ในกรอบชุ้มด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหาร
มีประตูทางเข้าด้านละ ๓ ช่อง ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง
ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นชุ้มบันแถลงที่ช้อนกัน ๒ ชั้น
เป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี

บานประตูพระวิหารหลวงเป็นไม้แผ่นเดียวงดงามตลอดทั้งแผ่น
ขนาดกว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๕.๖๔ เมตร หนา ๐.๑๖ เมตร
จำหลักลายต้นพฤกษาที่สลักลึกมีกิ่งก้านเกาะเกี่ยวซ้อนกันอย่างงดงาม
เป็นศิลปกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีแกะสลัก และทรงเริ่มจำหลักด้วยพระองค์เอง
บานประตูนี้เป็นของเดิมที่ถูกไฟไหม้เสียหายไปส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ส่วนลายหน้าต่างเดิมเป็นลวดลายจำหลักรูปแก้วชิงดวงปิดทองประดับกระจกสี
ได้รับการแก้ไขในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยทำเป็นลวดลายปูนน้ำมันปั้นปิดทองคำเปลว
รูปต้นไม้เขามอและสัตว์ป่าปิดลายแก้วชิงดวง

ผนังด้านในของพระวิหารหลวงเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เรื่องอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีศิลาจารึกกล่าวถึงประวัติของ
พระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ ไว้อย่างสมบูรณ์ ส่วนจิตรกรรมที่เสา ๘ ต้น
เป็นภาพเรื่อง ไตรภูมิโลกยสันฐาน มีศิลาจารึกกำกับไว้ทุกต้น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ถือว่างดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เสาพระวิหารหลวงต้นหนึ่ง
เป็นภาพพระอินทร์และหมู่บริวารกลายเป็นอสูรเพราะไปเสพย์สุรา
จึงถูกมาคมานพกับสหาย ๓๒ คนจับพระอินทร์พร้อมบริวาร
ทุ่มลงมายังอสูรพิภพ กลายเป็นอสูร
ส่วนมาคเทวบุตรได้เสวยทิพย์สมบัติในสุทัสสนนครแทน

ฐานประทักษิณ (ฐานไพที) ล้อมพระวิหารหลวงมี ๓ ชั้น คือ
ชั้นบนสุดเริ่มจากฐานปัทม์ของพระวิหารหลวงถึงแนวเสานางเรียง
ฐานประทักษิณชั้นต่อมาเป็นที่ตั้งของถะ (สถูปเจดีย์หิน)
ซึ่งเป็นเครื่องศิลาจีนรายรอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน จำนวน ๒๘ ถะ
หมายถึง อดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ ๒๘ พระองค์
ต่อลงมาเป็นลานประทักษิณชั้นล่างที่กว้างที่สุดไปจนถึงพระระเบียงคด
ฐานประทักษิณ (ฐานไพที) แต่ละชั้นจะมีพนักกั้น
มีช่องซุ้มสำหรับตามประทีปตลอดแนวพนักกั้นทุกชั้น
ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ หรือการเฉลิมฉลองตอนกลางคืน
จะตามประทีปเทียนไฟตลอดแนวช่องพนักกั้นพระวิหารหลวง
จะเป็นภาพที่วิจิตรแปลกตาอีกแบบหนึ่ง

รูปภาพ
พระศรีศากยมุนี


พระศรีศากยมุนี : พระประธานในพระวิหารหลวง

นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นๆ
ชึ่งปรากฏในประเทศไทย ในยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ
เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
มีพระพุทธลักษณะงดงาม สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๒๕ เมตร (หรือ ๓ วา ๑ คืบ)

มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท
กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๙ ปีครองราชย์) แห่งกรุงสุโขทัย
โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น และทำการฉลองในปีพุทธศักราช ๑๙๑๔

ข้อความในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงเป็นหลักฐานของข้อสันนิษฐาน
ที่ว่าพระศรีศากยมุนีสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ตอนหนึ่งมีว่า
“...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม...”
ซึ่งหมายถึงพระศรีศากยมุนีในวัดมหาธาตุซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเดิมนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงเห็นว่าถ้าทิ้งไว้ที่เดิมก็จะต้องตากแดด ตากฝน ทำให้ชำรุด
จึงให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม
ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพฯ
แล้วให้ประทับท่าสมโภช ๗ วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค
และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระ
ในรัชสมัยของพระองค์ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้
ตัวพระวิหารได้ลงมือสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รูปภาพ
พระศรีศากยมุนีองค์จำลอง ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง


พระพุทธลักษณะพระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ
พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย และพระหัตถ์ช้ายหงายวางบนพระเพลา
ครองจีวรห่มเฉียงชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภี
มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น
บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน
ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่ปรากฏ

คือพระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษะ
รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย
พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกัน
ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่
พระนาสิกงุ้มพระโอฐอมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม

พระศรีศากยมุนีประดิษฐานบนฐานชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์
ตลอดทั้งฐานชุกชีประดับลายปูนปั้น เป็นลายดอก ลายเถา ลายเทศ
ปิดทองคำเปลวประดับกระจกสีทั้งหลัง

ตรงใต้ฐานพระศรีศากยมุนีที่ผ้าทิพย์ได้บรรจุ พระบรมราชสรีรางคาร
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘

ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนีมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี
เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และปางประทานเทศนาในสวรรค์
เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก กล่าวได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กล่าวว่า
“พระศรีศากยมุนีเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัย
มีความงามอย่างน่าอัศจรรย์ ต่อเมื่อผู้ใดมีความทุกข์ใจ
หากได้กราบไหว้ และมองพระพักตร์แล้ว
ความทุกข์ของคนนั้นจะปลาสนาการสิ้นไป เกิดเป็นความสุขอย่างน่าอัศจรรย์
ข้อนี้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง”

รูปภาพ
ถะ (สถูปเจดีย์หิน) รอบพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน

(มีต่อ ๗)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 00:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
‘ภาพศิลาสลัก’ ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี ในกรอบลายใบเทศ


ภาพศิลาสลักศิลปะแบบทวารวดี

ภาพศิลาสลัก ติดประดับอยู่ ด้านหลังฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี
(หรือด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง)
เป็นภาพสลักนูนต่ำปิดทอง ขนาดสูง ๒.๔๐ เมตร กว้าง ๐.๙๕ เมตร
อยู่ในกรอบลายใบเทศ ปิดทองประดับกระจกทั้ง ๔ ด้าน
ภาพศิลาสลักแผ่นนี้นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่ง
มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ศิลปะสมัยทวารวดี
สันนิษฐานว่าอาจย้ายมาจากจังหวัดนครปฐม
การสลักแบ่งภาพพระพุทธประวัติเป็น ๒ ตอน คือปางยมกปาฏิหาริย์
และปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ภาพตอนล่างเป็น ภาพพระพุทธประวัติ ปางยมกปาฏิหาริย์
ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงกลาง
มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง
ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้า มีดอกบัวขนาดใหญ่รองรับ
ดอกบัวนี้ประคองอยู่โดยพระยานาคซึ่งมีร่างกายเป็นมนุษย์
แต่มีเศียร เป็นนาค ๗ เคียรแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง
พระยานาคนี้สมมติว่าอยู่ใต้บาดาลอันเป็นสถานที่
รองรับก้านบัวชึ่งเป็นแกนของมนุษยโลก
ใต้บัลลังก์ด้านหนึ่งของพระองค์มีบรรดาเจ้านาย
ซึ่งเสด็จมาแสดงความชื่นชมในปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์

และอีกด้านหนึ่งก็คือนักบวชที่พ่ายแพ้
นักบวชเหล่านี้ก็คือพวกดาบสเปลือยกายและดาบสเกล้าผมสูง
ชึ่งไม่อาจจะต่อสู้กับอิทธิปาฎิหาริย์ของพระพุทธองค์ได้

เหนือนั้นขื้นไปมีเหล่าเทวดากำลังประนมหัตถ์แสดงคารวะต่อพระพุทธองค์
อยู่ด้วยความเคารพ เบื้องหลังบัลลังค์คือต้นมะม่วงที่เกิดจากปาฏิหาริย์
มีกิ่งก้านรองรับพระพุทธรูปปางต่างๆ
พระพุทธรูปเหล่านี้แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวาหรือพระหัตถ์ซ้าย
เพื่อให้ได้สัดส่วนกันเป็นคู่ๆ

ภาพตอนบนขึ้นไปเป็น ภาพพระพุทธประวัติ
ปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ซึ่งเป็นภาพที่พระพุทธเจ้ากำลังประทับบนบัลลังก์ในสวรรค์
มีพระอินทร์และพระพรหม ยืนถือแส้อยู่ทั้งสองข้าง
เบื้องหลังทางด้านขวาของพระพุทธองค์ พระพุทธมารดากำลังประทับอยู่
แวดล้อมด้วยเทวดาองค์อื่นๆ จากสวรรค์ชั้นต่างๆ มาชุมนุมกัน
เพื่อฟังพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแด่พระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

รูปภาพ
พระพุทธเสฏฐมุนี


ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญหรือที่โบราณเรียกว่า ศาลาโรงธรรม
สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๖ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ในสมัยรัชกาลที่ ๓
ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
เป็นศาลาทรงไทยโบราณ มีหลังคา ๒ ชั้น มีเฉลียง ๒ ลด
รอบมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันปั้นปูนลายดอกไม้
ผนังก่ออิฐถือปูน หน้าบันไดมีสิงโตหินประจำ
รอบศาลาการเปรียญมี ศาลาราย ก่ออิฐถือปูน
หลังคาทรงไทย มีเฉลียงรอบ มุงกระเบื้องดินเผา ๖ หลัง

พระพุทธเสฏฐมุนี : พระประธานในศาลาการเปรียญ

เป็นพระพุทธรูปพระประธานในศาลาการเปรียญ
พุทธลักษณะเป็นศิลปรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย
ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก ๔ คืบ ๔ นิ้ว วัสดุทองเหลือง
หล่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เมื่อปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ (พุทธศักราช ๒๓๘๒)

ในยุคสมัยที่สังคมโลกเริ่มตื่นตัวใส่ใจ
กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นปัจจุบัน
การนำวัสดุที่ยังใช้ได้กลับมาใช้อีก
เป็นหนทางหนึ่งที่มีการรณรงค์กันทั่วไปในเมืองไทย
ของเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้วก็มีแนวความคิดในการทำเช่นว่านี้
และปรากฏวัตถุพยานมาจวบจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีประกาศห้ามสูบฝิ่นและมีการปราบปรามฝิ่นอยู่เนืองๆ
ทรงปราบเรียบตั้งแต่ภาคกลางลงไปจนกระทั่งถึงภาคใต้
ในการปราบปรามครั้งใหญ่ที่สุดคราวหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๒
เป็นการกวาดล้างฝิ่นในภาคใต้ตั้งแต่เมืองปราณบุรีถึงนครศรีธรรมราช
และอีกด้านหนึ่งของฝั่งทะเลคือตะกั่วป่าถึงถลาง
สามารถจับฝิ่นดิบเข้ามาได้ถึง ๓๗๐๐ กว่าหาบ ฝิ่นสุก ๒ หาบ

สำหรับตัวฝิ่นนั้นโปรดฯ ให้เผาทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
เหลือแต่กลักฝิ่นซึ่งทำด้วยทองเหลืองอยู่จำนวนมาก
จึงโปรดฯ ให้นำมาหล่อพระพุทธรูปได้พระขนาดหน้าตักถึง ๔ ศอก
นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม
ครั้งนั้นพวกขี้ยาได้กลิ่นคงแทบขาดใจตาย
ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี”
หรือที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น”

จากบรรจุภัณฑ์ของสิ่งผิดกฎหมายกลายมาเป็นพระพุทธรูป
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดีที่คงอยู่
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาเกือบสองร้อยปี
นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์วัสดุอย่างคุ้มค่าและยืนยงอย่างแท้จริง

รูปภาพ
พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิรอบพระวิหารคดทั้ง ๔


พระวิหารคด (พระระเบียงคด)

สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ล้อมพระวิหารหลวงทั้ง ๔ ด้าน ความกว้าง ๘๙.๖๐ เมตร ความยาว ๙๘.๘๓ เมตร
ระหว่างกลางพระระเบียงคดแต่ละด้าน มีประตูซุ้มจตุรมุข
หน้าบันลำยองไม้แกะจำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกสี
เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังเป็นลายกนกก้านออกช่อหางโต

บานประตูพระวิหารคดเป็นบานไม้ขนาดใหญ่
มีลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง (ทวารบาล) ยืนบนหลังกิเลน
เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆ
เช่น นรมฤค กินรี ราชสีห์ คชสีห์ นกหัสดี นกเทศ เหมราช ฯลฯ
ภาพหลังบานประตูเป็นภาพเขียนสีน้ำมันรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์

ด้านนอกเป็นผนังทึบกั้นเป็นกำแพงโดยตลอด
ภายในพระวิหารคดเป็นโถง เสารับจั่วหลังคาเปิดเข้าหาพระวิหาร
ในพระวิหารคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ๑๕๖ องศ์
ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยบ้างเฉพาะที่มุมของพระวิหารคด

พระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานบนฐานชุกชี ปิดทองคำเปลว
ประดับกระจกสีพื้นฝาผนังด้านหลังของพระพุทธรูป
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นลายดอกไม้ร่วง
หมายถึงดอกมณฑารพหรือดอกมณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์
ที่ตกมาบูชาเฉพาะพระพุทธเจ้า แทรกภาพดอกไม้ด้วยนก
และสัตว์ปีกบนพื้นแดงคร่ำหรือสีคราม ชุ้มประตูพระวิหารคคทั้ง ๔ ชุ้ม
และมุมพระวิหารคดทั้ง ๔ มุมเป็นหลังคาทรงจตุรมุข
แต่ละจุดจะมีหน้าบัน ๒ ด้าน คือชุ้มประตูจะมีหน้าบันด้านนอกและด้านใน

รูปภาพ
พระพุทธรูปปางสมาธิรอบพระวิหารคดทั้ง ๔


ส่วนมุมของพระวิหารคดที่มีแนวพุ่งตรงมาชนกันเลยออกไปเป็นรูปกากบาท
มีหน้าบันด้านนอก ๒ บานลายหน้าบันทั้งหมดเป็นรูปเดียวกัน
คือแกะสลักไม้ปิดทอง กลางกรอบแกะเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
พระอินทร์เป็นเทพองค์หนึ่งในบรรดาเทพที่ช่วยปกปักรักษาป้องกันภัย
ประจำทิศทั้ง ๔ เรียกว่า จตุโลกบาล มีดังนี้ คือ

พระอินทร์ เทพประจำทิศตะวันออก
พระวรุณ เทพประจำทิศตะวันตก
พระยม เทพประจำทิคใต้
ท้าวกุเวร เทพประจำทิศเหนือ

พระอินทร์เป็นเทพที่พิทักษ์รักษาพระพุทธคาสนารักษาคุณงามความดี
ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปกครองเมืองสุทัสสนนคร
ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ พระอินทร์มีชื่อเรียกหลายชื่อ
แต่ที่คุ้นเคยกันมาก คือ ท้าวสักกเทวราชพระอินทร์ ท้าวมัฆวาน เป็นต้น

ผิวกายพระอินทร์เป็นสีเขียว มีวัชระและธนูเป็นอาวุธใช้ประหารศัตรู
หรือพวกอสูรที่มาทำลายโลก และมีร่างแหเพื่อเอาไว้ขังศัตรูที่จับมาได้
พระอินทร์มีเทพบริวารองค์หนึ่ง ที่ในเวลาปกติแล้วจะมีร่างเป็นเทพผู้ชาย

แต่ถ้าพระอินทร์จะเสด็จประพาสที่ใดจึงจะแปลงร่างเป็นช้างใหญ่มีสามเศียรเรียกว่า
ช้างเอราวัณ เป็นพาหนะให้ประทับ ศิลาอาสน์ของพระอินทร์มีชื่อเรียกว่า บัณฑุกัมพล
มีความยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๔๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์
ยุบลงเหมือนฟองน้ำขณะประทับนั่งและฟูขึ้นเหมือนเดิมเมื่อลุกขึ้น
แต่ถ้าขณะที่พระอินทร์ประทับอยู่ ศิลาอาสน์ร้อนหรือแข็งกระด้าง
ก็แสดงว่าจะต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พระอินทร์จะสิ้นอายุ พระอินทร์จะสิ้นบุญ
สัตว์อื่นที่มีอานุภาพกว่าอยู่บริเวณนั้น เพราะเดชแห่งศีลของสมณพราหมณ์
ที่บำเพ็ญตบะเพื่อวัตถุประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือ
มีเหตุการณ์เดือดร้อนเกิดขึ้นในมนุษยโลก ซึ่งพระอินทร์จะต้องเสด็จลงมาแก้ไข

รูปภาพ
ทวารบาลอันสวยงามที่บานประตูพระวิหารคด


พระนารายณ์หรือพระวิษณุเป็นเทพเทวราชที่ปกป้องคุ้มครองภัยได้ทั้ง ๓ โลก
สามารถปราบยุคเข็นได้ ที่ประทับของพระองค์เรียกว่า ไวกูณฐ์นาถ
อยู่ใต้เกษียรสมุทร เป็นทองทั้งแผ่น มีอาณาเขต แปดหมื่นโยชน์ วิมานเป็นแก้ว
เสาและช่อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย ในเวลาปกติพระองค์
จะบรรทมบนบัลลังก์ หลังพญาอนันตนาคราช

ในเวลาเสด็จประพาสที่ใดมีครุฑเป็นพาหนะ พระนารายณ์มี ๔ กร
อาวุธมี ๕ อย่าง คือ สังข์ จักร คฑา ธนู และพระขรรค์
มีสีกายที่เปลี่ยนไปตามความดีและความชั่วของมนุษย์ที่สะท้อนไปหา เช่น

ถ้ามนุษย์ประกอบกรรมดีที่สุดพระองค์มีกายสีขาว
ถ้ามนุษย์มีความดี สามในสี่พระองค์มีกายสีแดง
ถ้ามนุษย์มีความดี สองในสี่พระองค์มีกายสีเหลือง
ถ้ามนุษย์มีความดี หนึ่งในสี่พระองค์มีกายสีดำหรือสีดอกอัญชัน
ในเวลาพระนารายณ์เสด็จไปปราบหมู่มารต่างๆ
พระองค์จะทรงแปลงเพศหรืออวตารเป็นรูปต่างๆ เช่น

มัสยาวตาร เป็นปลา
กูรมาวตาร เป็นเต่า
วราหาวตาร เป็นหมู
นรสิงหาวตาร เป็นครึ่งคนครึ่งสิงห์
วามนาวตาร เป็นพราหมณ์วามน
ปรศุรามาวตาร เป็นปรศุราม
รามจันทราวตาร เป็นพระราม
กฤษณาตาร เป็นพระกฤษณะ
พุทธาวตาร เป็นพระพุทธเจ้า
กัลกยาวตาร เป็นกัลกีในอนาคต

รูปภาพ
พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ) หลังกลาง


ตำหนักสมเด็จ

อยู่ที่คณะ ๖ ติดกับเขตพุทธาวาสบริเวณพระอุโบสถสร้างเป็นอาคารชั้นเดียว
แต่มีขนาดใหญ่และสูงกว่ากุฏิอื่นๆ ก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม
หลังคามุงกระเบื้อง โครงสร้างภายใน เช่น พื้นเพดาน ประตูหน้าต่างเป็นไม้
ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ขนาด ๓ ห้อง ไม่มีผนังกั้น
สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
คราวเดียวกับการสร้างพระอุโบสถ โดยมีหมู่กุฏิล้อมตัวตำหนัก
ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้

ตำหนักสมเด็จนี้มีความสำคัญคือ
เคยเป็นที่ประทับและที่อยู่จำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะผู้มีชื่อเสียง
จากการกอปรกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ
เป็นอธิบดีสงฆ์ของวัดสุทัศนเทพวนารามมาโดยลำดับ

อนึ่ง ที่วัดสุทัศนเทพวรารามแห่งนี้ยังไม่มีเจดีย์เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
เนื่องจากมี “สัตตมหาสถาน” ซึ่งเป็นอุเทสิกเจดีย์
หรือสถานที่สำคัญ ๗ แห่งที่พระพุทธเจ้าประทับหลังจากตรัสรู้ ประดิษฐานแทน
สถานที่แห่งนี้เคยใช้เป็นที่เวียนเทียนในวันวิสาขบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕
แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปจัดงานรอบพระวิหารหลวงแทน เนื่องจากบริเวณเดิมคับแคบเกินไป

รูปภาพ
พระอนิมิสเจดีย์


สัตตมหาสถาน

เป็นสถานที่เสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ๗ แห่ง ก่อนออกเสด็จเผยแผ่ศาสนา
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ประกอบไปด้วย

พระรัตนบัลลังก์ บัลลังก์ใต้ต้นมหาโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย แวดล้อมด้วยรูปปั้นหมู่มาร

พระอนิมิสเจดีย์ ที่ประทับรูปเก๋งจีนสำหรับดูต้นมหาโพธิ์
โดยมิได้กะพริบพระเนตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระรัตนจงกรมเจดีย์ สถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จจงกรมบนแผ่นศิลา
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จจงกรม

พระรัตนฆรเจดีย์ เรือนแก้วหรือศาลาศิลาสำหรับทรงพิจารณาพระอภิธรรม
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ

พระอชปาลนิโครธ ต้นไทรบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามธิดาพญามาร

พระมุจลินทพฤษ์ ต้นจิกบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก อีกด้านหนึ่งมีอ่างศิลาจีนปลูกบัว

พระราชายตนพฤกษ์ ต้นเกดบนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรับผลเสมอ อีกด้านหนึ่งมีศิลาจีนสลักรูปม้าเทียมเกวียน

บริเวณโดยรอบวัดจะมี ตุ๊กตาจีน ที่เคยใช้เป็นอับเฉาเรือในสมัยนั้น
ซึ่งมีให้เห็นหลายแบบทั้งรูปบุคคล ไทย จีน ฝรั่ง เทพเทวดา ทวารบาล
สัตว์ตามธรรมชาติ สัตว์ในหิมพานต์ และสัตว์ตัวละครในวรรณกรรม ฯลฯ
ประดับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีบอนไซ ต้นไม้ไทยที่หาดูได้ยาก
และต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนา ๗ ชนิด

รูปภาพ
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๘


พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘


ณ ที่วัดแห่งนี้ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ประดิษฐานไว้บริเวณลานประทักษิณชั้นล่าง
มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง

พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ประทับยืน ขนาดเท่าพระองค์จริง
ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ
แท่นประดิษฐานเป็นหินอ่อนยกแท่นสูงระดับเหนือศีรษะ
โดยตั้งพระบรมรูปและแท่นตั้งพุ่มดอกไม้
ซึ่งหล่อด้วยสำริด อยู่ต่ำลงมาเล็กน้อย

ด้านหน้ามี จารึกแผ่นทองเหลือง
กล่าวถึงกำหนดการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์
เบื้องพระปรัศว์เป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้งกั้น เหนือวงโค้งประดิษฐาน
อักษรพระปรมาภิไชย “อปร” ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ

รูปภาพ
จารึกแผ่นทองเหลืองด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๘


วัดสุทัศนเทพวรารามนี้ถือเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ ๘
เนื่องจากเมื่อคราวที่พระองค์ท่านได้เสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรก
ได้เสด็จมาที่วัดแห่งนี้ และทรงปรารภว่าวัดสุทัศน์นี้ร่มเย็นน่าอยู่
และเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายพระโอวาท
อีกทั้ง ยังได้เสด็จมาทำพระสมาธิที่วัดแห่งนี้บ่อยๆ อีกด้วย

ดังนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า
ไว้ ณ ผ้าทิพย์ เบื้องหน้าฐานชุกชีพระศรีศากยมุนี
พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต


และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคต
ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ในวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปี

รูปภาพ
“ตุ๊กตาจีน” ในบริเวณโดยรอบวัด


:b8: :b8: :b8:

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หมายเหตุ : โปรดติดตามอ่าน

:b50: วัดประจำรัชกาลที่ ๘ : วัดสุทัศนเทพวราราม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19319

:b50: ประมวลพระรูป “สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=43469

:b50: สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
ทรงเป็น ๑ ใน “กรรมการมหาเถรสมาคม” ในสมัย ร. ๗

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50206

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
(๒) หนังสือ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์,
โกวิท ตั้งตรงจิตร เรียบเรียง, สวีริยาศาสน์ จัดพิมพ์, ๒๕๔๙.
(๓) หนังสือประวัติวัดสุทัศนเทพวราราม จากเว็บไซต์ http://www.watsuthat.net/


:b42: กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13695

:b44: ••• ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=19521

:b44: ระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (พระองค์ใหม่)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49539

:b44: ประวัติ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2011, 20:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร