วันเวลาปัจจุบัน 12 ก.ย. 2024, 22:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
พุทธศักราช ๒๕๐๘-๒๕๑๔


วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


:b44: หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• ประถมวัยและประถมศึกษา
• ทรงบรรพชาและการศึกษา
• ทรงอุปสมบทและการศึกษา
• พระเกียรติคุณด้านการบริหารปกครองและสมณศักดิ์
• สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
• พระเกียรติคุณด้านการศึกษา
• พระเกียรติคุณด้านการเผยแผ่และสังคมสงเคราะห์
• พระเกียรติคุณด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ
• พระกรณียกิจพิเศษ
• พระอวสานกาล
• ประวัติและความสำคัญของวัดมกุฏกษัตริยาราม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
มีพระนามเดิมเมื่อแรกประสูติว่า “ลำจวน ศิริสม”
ภายหลังจึงทรงเปลี่ยนเป็น “จวน” พระนามฉายาว่า “อุฏฐายี”
ประสูติเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๐ ตรงกับวันอาทิตย์
แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๒๕๙ (ร.ศ. ๑๑๖)
ที่บ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

โยมบิดามีนามว่า “หงส์ ศิริสม” เป็นชาวโพธาราม
ท่านปู่สืบเชื้อสายมาจากจีนแซ่ตัน ท่านย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์

ส่วนโยมมารดามีนามว่า “จีน” นามสกุลเดิมว่า “ประเสริฐศิลป์”
ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

ซึ่งในบั้นปลายของชีวิตได้ปลงผม นุ่งขาวห่มขาวเป็นอุบาสิกา
รักษาศีลแปดตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๓๐ ปี
และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๕)

ส่วนท่านบิดา ภายหลังได้อุปสมบทเป็นภิกษุมาอยู่ที่
วัดมกุฏกษัตริยาราม จนถึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๘๔ ปี

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นบุตรหัวปีในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด ๗ คน

รูปภาพ
ท่านหงส์ ศิริสม โยมบิดา


ประถมวัยและประถมศึกษา

พ.ศ. ๒๔๔๙ : พระชนมายุ ๙ พรรษา

ได้เข้าศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดคฤบดี ตำบลบ้านปูน
อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี จนจบชั้นปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑
แล้วลาออกจากโรงเรียน กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๑

พ.ศ. ๒๔๕๒ : พระชนมายุ ๑๓ พรรษา

เมื่อเรียนจบประถมศึกษาแล้วได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนนายร้อยทหารบก
(โรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.) แต่ป่วยเป็นโรคเหน็บชาเสีย
จึงต้องกลับออกไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม และไม่ได้กลับเข้ามาเรียนต่ออีก

พ.ศ. ๒๔๕๓ : พระชนมายุ ๑๔ พรรษา

ท่านบิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา
จึงนำไปฝากให้อยู่กับ พระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺต)
เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นพี่ของตา

พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์
เคยออกปากทำนายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้ว่า

“ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี”

นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง

พ.ศ. ๒๔๕๔ : พระชนมายุ ๑๕ พรรษา

พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) เมื่อครั้งครั้งยังเป็น พระอริยมุนี
ได้ออกเดินธุดงค์ไปพักที่ถ้ำเขาย้อยอยู่พอสมควรแล้ว
เดินทางต่อไปเยี่ยมพระมหาสมณวงศ์ ที่วัดมหาสมณาราม
ในฐานะที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในคณะ และเกี่ยวข้องกันทางญาติสัมพันธ์
พระมหาสมณวงศ์จึงขอฝากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ กับ พระอริยมุนี
ให้มาอยู่ศึกษาปริยัติธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยาราม

พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุ ๑๖ พรรษา

ในราวเดือนเมษายน พระองค์ได้เดินทางเข้ามาอยู่กับ พระศาสนโศภน (แจ่ม)
เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอริยมุนี ที่คณะนอก วัดมกุฏกษัตริยาราม
โดยมีนายเขียน ประเสริฐศิลป์ ผู้เป็นน้านำมาส่ง
และ ทรงเริ่มศึกษาบาลีไวยากรณ์กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้าง
กับ พระมหาจิณ จิณฺณาจาโร ป.ธ. ๔ บ้าง
และศึกษาต่อกับ พระมหาสุข สุขทายี ป.ธ. ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖

รูปภาพ
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา

(มีต่อ ๑)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทรงบรรพชาและการศึกษา

ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม
โดย มี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์

แล้วทรงศึกษาธรรมวินัยในสำนัก พระอริยมุนี (แจ่ม)
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ทรงสอบไล่องค์นักธรรมชั้นตรีภูมิของสามเณรได้

พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเข้าศึกษาธรรมบทกับ พระพินิตพินัย (ชั้น กมาธิโก)
เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาชั้นเปรียญ ๕ ประโยคในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์

รูปภาพ
ทรงฉายเมื่อครั้งบรรพชา พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์ที่ ๓ (จากซ้าย-แถวยืน)


อนึ่ง ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙ นั้น
ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสามเณรเรียนธรรมและบาลีอยู่มาก

เช่น สามเณรจิตต์ (นิวาศะบุตร) สามเณรลำจวน (ศิริสม)
สามเณรเพ็ญ (สุนทรพะลิน) สามเณรสุข (จีนังกูร)
สามเณรกูล (นิวาศบุตร) สามเณรอู๋ (ตาดอุดร) สามเณรทองสืบ (ศุภมาร์ค)
สามเณรสิงโต (ศรีเกษ) สามเณรโด๋ (แจ่ม จรรยา) ฯลฯ


ได้ชักชวนกันออกวารสารรายปักษ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า “สยามวัด”
เพื่อเป็นสนามสำหรับฝึกหัดแต่งโคลง กาพย์ กลอน กลบท และฉันท์
และจัดให้มีการประกวดแต่งโคลง ฉันท์ เป็นต้น

ในจำนวนสามเณรเหล่านี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีลายมือสวย
จึงได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการรวบรวมและเขียนลงในสมุด
ครั้งละ ๑-๒ เล่ม สำหรับนำออกอ่านในที่ประชุม ณ วันโกนแห่งปักษ์ทุกกึ่งเดือน

วารสารนี้ดำเนินมาได้เกือบ ๒ ปีจึงหยุดไป
เพราะทุกรูปมีภาระที่จะต้องเรียนมากขึ้น

การหัดแต่งกวีนิพนธ์ในครั้งนั้น ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ
เป็นผู้สามารถการประพันธ์โคลง ฉันท์ เป็นต้น ส่วนหนึ่ง

รูปภาพ
ทรงฉายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ก่อนที่จะทรงอุปสมบท


ในระยะเดียวกันนี้ ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากตำราด้วยพระองค์เอง
ครั้นสอบประโยค ๔ ได้แล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๓
จึงเรียนจาก ครูโปร่ง (สำเร็จการศึกษาจากปีนัง) ซึ่งมาสอนที่กุฏิ

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๗ จึงเรียนกับ ลิงกัวโฟน บ้าง
กับ หลวงไพจิตรฯ (สำเร็จการศึกษาจากเยอรมัน) บ้าง
จนสามารถแต่ง-แปลบทเรียนได้โดยตลอด แล้วจึงหยุดเรียน

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงรู้ภาษาอังกฤษพอจะอ่านเขียนแปลได้
และรับสั่งได้บ้าง แต่ไม่ชำนาญ

ฉะนั้น เวลาติดต่อกับชาวต่างประเทศ
จึงใช้ล่ามเว้นแต่คราวจำเป็น จึงรับสั่งโดยประโยคสั้นๆ

(มีต่อ ๒)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 13:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว พระชนมายุ ๒๑ พรรษา


ทรงอุปสมบทและการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๐

เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ได้ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ
มี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์
และ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗)
แต่ครั้งดำรงสมณศักด์ที่พระราชกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐

ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน *
ทรงเข้าสอบพระธรรมวินัยได้เป็นนักธรรมชั้นตรีครบองค์ของนวกภูมิ
และทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
(แปล ประโยค อโยเคในปิยวรรค)

พ.ศ. ๒๔๖๑

พรรษาที่ ๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท ได้คะแนนบริบูรณ์
ได้คำชมเชยจากกรรมการสอบธรรมสนามหลวงในส่วนเรียงความ

พ.ศ. ๒๔๖๒

พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค

แต่โบราณนานมา ไทยใช้หนังสือ ๒ อย่าง คือ ไทยกลาง และไทยใต้
ใช้ตัวไทยสำหรับเขียนเรื่องชาวบ้าน
ใช้ตัวขอมสำหรับเขียนบาลีสันสกฤต หรือเรื่องศาสนา

ในทำนองเดียวกัน ไทยเหนือก็ใช้ตัวฝักขามกับตัวเมือง
และไทยอีสานตลอดถึงลาวใช้ตัวไทยน้อยกับตัวธรรม

คัมภีร์พระไตรปิฏก อรรถกถา ฎีกา สัททวิเสส ฉบับเดิมเป็นอักษรขอม
แม้ศิลาจารึกและเรื่องที่เขียนไว้ด้วยอักษรขอมก็มี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
จึงประกาศให้วิชาเขียนอ่านอักษรขอม เป็นบุพภาคแห่งบาลีประโยค ๔
และเขียนข้อสอบบาลีประโยค ๖, ๗, ๘, ๙ ที่เป็นภาษาบาลีตัวอักษรขอม


ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงศึกษาอักษรขอมมาก่อนแล้ว
จึงสามารถสอบบุพภาคแห่งประโยค ๔ ไปได้ด้วยดี ตลอดถึงประโยค ๙

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

ทรงเป็นครูสอนพระธัมมปทัฏฐกถา และ

ธันวาคม ในศกเดียวกัน

ทรงสอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค

รูปภาพ
ทรงฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔


พ.ศ. ๒๔๖๕

พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญโท ๖ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๖๖

พรรษาที่ ๗ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก

พ.ศ. ๒๔๖๗

พรรษาที่ ๘ ทรงเป็นครูสอนมังคัลถทีปนี โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์ฯ
และเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๖๘

พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗)
ครั้งยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
ได้รับมอบจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์

คือ อปทาน เถรคาถา เถรีคาถา พุทธวังสะ จริยาปิฎก และคัมภีร์มิลินทปัญหาในเบื้องต้น

ได้แบ่งการตรวจชำระออกเป็น ๒ กอง คือ

- กองที่ ๑ ให้พระมหาจวน อุฏฐายี ป.ธ. ๗
เป็นหัวหน้าตรวจชำระอปทาน เถรคาถา เถรีคาถา
- กองที่ ๒ ให้พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.ธ. ๗
เป็นหัวหน้าตรวจชำระพุทธวังสะ จริยาปิฏก และมิลินทปัญหา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม
เทียบกับฉบับอักษรพม่าและอักษรโรมัน โดยตลอดเป็นเวลานาน
จึงทำให้ทรงชำนาญในอักษรทั้ง ๒ นี้ด้วย

ฉะนั้น เมื่อเสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
ไปร่วมประชุมสังคายนาที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕
จึงทรงอ่านพระไตรปิฎกอักษรพม่าได้โดยสะดวก

อนึ่ง โดยที่อักษรรามัญมีรูปร่างคล้ายกับอักษรพม่าโดยมาก
จึงทรงสามารถอ่านคัมภีร์อักษรรามัญได้ด้วยเช่นกัน

พ.ศ. ๒๔๗๐

พรรษาที่ ๑๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
และทรงเป็นกรรมการช่วยตรวจข้อสอบบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๗๑

ได้รับพระราชทานพัดรัตนภรณ์ชั้น ๕
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๗

และเดือนมกราคมทรงเป็นกรรมการสนามหลวง
ตรวจนักธรรมชั้นเอก และบาลีประโยค ๔, ๕, ๖

พ.ศ. ๒๔๗๒

พรรษาที่ ๑๓ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๗๕

ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบาลี สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม
ได้ทรงปฏิรูประเบียบแบบแผนการศึกษาบาลีให้ดีขึ้น
และเป็นกรรมการวัดพร้อมด้วยคณะอีก ๔ รูป

สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ทรงเป็นอนุกรรมการกองตรวจหนังสือของมหามกุฏราชวิทยาลัย

ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ทรงเป็นกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัย

และทรงเป็นกรรมการพิจารณาวางระเบียบบำรุงการศึกษาอบรมปริยัติธรรม
และงบประมาณของมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยกรรมการอีก ๕ รูป

รูปภาพ
รูปภาพ

และทรงเป็นกรรมการออก “หนังสือธรรมจักษุ”
ซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากหยุดไปเป็นเวลา ๒๐ ปี และได้ออกต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

* หมายเหตุ : ครั้งนั้นยังขึ้นศกใหม่เดือนเมษายน
เดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นปลายปี เริ่มขึ้นศกใหม่เดือนมกราคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓


รูปภาพ

(มีต่อ ๓)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


พระเกียรติคุณด้านการบริหารปกครองและสมณศักดิ์

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระกิตติสารมุนี
ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระราชพิธีเฉลิพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๗

และในศกเดียวกันนี้เอง

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงตั้งให้เป็นกรรมการกองอำนวยการออกหนังสือ “ธรรมจักษุ”

และทรงเป็นประธานกรรมการกองตรวจเลือกพระสูตร
ทรงเป็นกรรมการสอบจรรยาประโยคมัธยมบริบูรณ์ถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ (เลิก ม.๘)
ทรงเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคมจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๑

พ.ศ. ๒๔๗๖

ขณะยังทรงเป็นพระเปรียญ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทรงดำริร่วมกับมิตรสหาย
ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “พุทธมามกสมาคม”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ส่งเสริมการศึกษา และบำรุงสัมมาปฏิบัติ

โดย ผู้ก่อตั้งครั้งแรกฝ่ายบรรพชิตนั้นประกอบไปด้วย

พระมหาจวน อุฏฐายี พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
พระมหาผิน สุจโว วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น


ฝ่ายคฤหัสถ์มี พระยาสุรเกษตรโสภณ หลวงสมัครนันทพล
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายไต๋ ปาณิกบถุตร เป็นต้น


เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
สมาคมก็เริ่มดำเนินการรับสมาชิก
และประกวดเรียงความทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น ตามวัตถุประสงค์

แต่ต่อมาไม่ช้าก็ถูกรัฐบาลในเวลานั้น
ขอให้มหาเถรสมาคมห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับสมาคมนี้
สมาคมจึงต้องหยุดกิจการและเลิกล้มไปในที่สุด

แม้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะไม่ได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยเอกเทศตามวัตถุปีระสงค์ของพุทธมามกสมาคม

แต่ในปลายปีนั้นเอง
ก็ได้ทรงเป็นหัวหน้ากองเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหามกุฏราชวิทยาลัย
และได้ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕

พ.ศ. ๒๔๗๗

ทรงเป็นกรรมการตรวจและสะสางศาสนสมบัติ
และทรงเป็นกรรมการคณะธรรมยุต
ทรงเป็นกรรมการตรวจบาลีประโยค ๗, ๘, ๙
และทรงเป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา

พ.ศ. ๒๔๗๘

ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๘
และทรงเป็นกรรมการพิจารณาเทียบ
วิทยฐานะเปรียญ ๖ ประโยคกับมัธยมบริบูรณ์

กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘

ทรงเป็นประธานคณะกรรมการทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรี
ร่วมกับ พระญาณเวที วัดบุรณสิริ, พระวิสุทธิสมโพธิ์ วัดพระเชตุพน
และพระอริยกวี วัดจักรวรรดิ
จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖

กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

ทรงเป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฏก
โดยอนุมัติของประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ทรงเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบของมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยพระภิกษุสามเณรในอาณาเขตชายแดนไปมาติดต่อกับต่างประเทศ

พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙

ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๙
ร่วมกับ พระธรรมโกศาจารย์, พระธรรมไตรโลกาจารย์,
พระราชสุธี และพระศรีวิสุทธิวงศ์


พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒

ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ
ในการแต่งคาถาอวยพรประเทศไทยสำหรับใช้แทน
รตนตตฺยปปฺภาวาภิยาจนคาถา
จาก สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

คือ ไตรแพร ๑ ไตร ย่ามตาด ๑ นาฬิกาซุ้ม ๑ โคมตั้งไฟฟ้า ๑
หมอนกับอาสนะ ๑ กาชงโอวัลติลโครเมี่ยมมีถาดรองถ้วยเซลูลอยด์ ๑
ธูปเทียน ขวดปักดอกไม้ฝรั่ง ๑ คู่

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์


พ.ศ. ๒๔๘๒

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
ในพระราชพิธีรัชมงคล เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ในรัชกาลที่ ๘

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕

ทรงเป็นสมาชิกสังฆสภา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๔๘๔

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
แทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติใหม่นั้น

คณะสงฆ์มีการปกครองแบบสังฆสภา มีคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร
แบ่งการปกครองส่วนกลางออกเป็น ๔ องค์การ

คือ องค์การปกครอง องค์การเผยแผ่
องค์การศึกษา และองค์การสาธารณูปการ


มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕

ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖

พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
ให้มีเจ้าคณะตรวจการภาคแทนเจ้าคณะมณฑล

เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายกแทน
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส

ครั้งที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๘๔๖
จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวม ๕ เดือน ๑๓ วัน

ครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
จนถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวม ๒ ปี ๗ เดือน ๑ วัน

รูปภาพ
รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส

(มีต่อ ๔)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


พ.ศ. ๒๔๘๘

โดยคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๘
ทรงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม
และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน

ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ทรงเป็นผู้สั่งการแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) สังฆนายก

มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐

ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณฐานันดรเป็นเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต
รองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓

ทรงเป็นผู้สั่งการแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) สังฆนายก สมัยที่ ๒

วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔

ทรงเป็นสังฆนายกสืบต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
ซึ่งถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔
และคงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่อีกตำแหน่งหนึ่ง

รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)


วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔

ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายก

วันที่ ๒๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๔

เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ในคณะสังฆมนตรี
ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
วัดเบญจมบพิตร
เป็นสังฆนายก

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชคณะที่
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

พ.ศ. ๒๕๐๑

ทรงเป็น นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑

ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น สังฆนายก

พ.ศ. ๒๕๐๕

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร
สิ้นพระชนม์

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือแจ้งมอบหน้าที่อำนาจ
ให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช
ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ทรงพ้นจากตำแหน่งสังฆนายก
เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขึ้น

โดยคณะสงฆ์มีการปกครองแบบมหาเถรสมาคม
เป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
โดยตำแหน่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

ทรงเป็น อนุกรรมการมหาเถรสมาคม
ยกร่างกฏข้อบังคับระเบียบมหาเถรสมาคมตลอดปี พ.ศ. ๒๕๐๖
และทรงได้รับเลือกให้เป็น ประธานอนุกรรมการ

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖)
ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๖

(มีต่อ ๕)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ นี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)

ในการสถาปนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไข
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชใหม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างต่อไป
ดังคำปรารภของสำนักพระราชวัง ดังนี้

“ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์
พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่
ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
โดยปกติจะกระทำร่วมกับการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล
สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับพิธีใด
ซึ่งเหมือนกับการสถาปนาสมเด็จพระเถระองค์อื่นๆ

ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า

สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด
ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์
และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะโดยทั่วไป

ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร
ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูล
ของรัฐบาลกับสังฆทัสนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันทมติ
และทรงพิจารณาโดยรอบคอบด้วยพระองค์เองแล้ว

จึงทรงอาศัยพระราชอำนาจ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเถระขึ้น
ทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งเป็นการเพียบพร้อมและสมบูรณ์ทุกประการ

ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง
และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง

จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศ
โดยการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะ
ไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด


และให้มีลักษณะการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน
เดิมมีเพียงเจ้าพนักงานอาลักษณ์
อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์

การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้
มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ
และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์
ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักร และราชอาณาจักร

ทางฝ่ายพุทธจักรประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ
พระกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร

และทางราชอาณาจักรก็ครบทุกสถาบัน
นับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์
ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล

เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว
จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธูการ
สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปริญณายก ทรงปกครองคณะสงฆ์
เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรสืบไป


เลขาธิการพระราชวังจึงรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ
ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สนองพระราชกระแสพระราชดำริ

โดยกำหนดจารึกพระสุพรรณบัฏ
ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๓ น.
และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๐๐ น.
เป็นการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
รายละเอียดแห่งการพระราชพิธีมีปรากฏในหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังแล้ว”


รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จฯ
ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง
สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส
ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ อุฏฐายีภิธานสังฆวิสุต
ปาวจนุตตมสาสนโสภณ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร
พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ
อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร

สมเด็จพระสังฆราช สถิต ณ
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง
จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสิริสวัสดิ์
วิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ


รูปภาพ
พระตำหนักที่ประทับภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

(มีต่อ ๖)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


พระเกียรติคุณด้านการศึกษา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระเถรานุเถระ คณะธรรมยุต
ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
สำหรับพระภิกษุสามเณรขึ้น ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
อันเป็นการดำเนินการตามพระดำริของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เรียกว่า “สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย”


โดย สมเด็จพระสังฆเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
และองค์นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ทรงออกคำสั่งตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย

ในการจัดตั้งสภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัยครั้งนี้
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปาโมกข์”
ได้ทรงเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการให้การสนับสนุน
จนกระทั่งการจัดตั้งสภาการศึกษาฯ ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ
และได้ทรงให้ความสนับสนุนสถาบันการศึกษาแห่งนี้
ด้วยดีเสมอมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางการคณะสงฆ์
ได้ประกาศรับรองฐานะของมหาวิยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือ
สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

จึงได้มีพระดำริที่จะปรับปรุง
และขยายการศึกษาของสภาการศึกษาฯ ให้มีคุณภาพและปริมาณดียิ่งขึ้น

ซึ่งแต่เดิมทางสภาการศึกษาฯ
รับสมัครพระภิกษุสามเณรผู้เรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๔ ประโยค
และนักธรรมชั้นเอกเข้าศึกษา

ในยุคต้นๆ มีพระภิกษุสามเณรผู้มีวุฒิ ป.ธ. ๔, น.ธ. เอก
สมัครเข้าศึกษากันมากพอสมควร แต่ต่อมาๆ มีผู้เข้ามาสมัครกันน้อยลง

เนื่องจากในปีหนึ่งๆ มีผู้สอบเปรียญธรรมได้น้อย
จึงมีผู้มาสมัครเรียนน้อยไม่พอกับความต้องการ
อีกประการหนึ่งพื้นวิชาความรู้สายสามัญของผู้ที่มาสมัครศึกษาไม่เท่ากัน

บางรูปเรียนจบแค่ประถมปีที่ ๔
แต่บางรูปเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ บ้าง มัธยมปีที่ ๖ บ้าง ไม่สม่ำเสมอกัน
เป็นที่ยุ่งยากแก่การจัดห้องเรียน

จึงทรงเห็นว่าสมควรที่จะได้ปรับพื้นความรู้วิชาสายสามัญ
ของนักศึกษา ให้เท่าเทียมในชั้นอุดมศึกษา


โดยเปิดโรงเรียนขึ้นอีกประเภทหนึ่ง
ทำการสอนวิชาสายสามัญตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๕
ควบคู่ไปกับนักธรรมชั้นเตรียม และบาลีไวยากรณ์
จนจบชั้น ม.ศ. ๕, น.ธ. เอก และ ป.ธ. ๔ แล้ว
จึงให้เขาเป็นนักศึกษาเรียนในชั้นอุดมศึกษาฯ ต่อไป

ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ

๑. เพื่อปรับพื้นฐานวิชาการศึกษาสายสามัญให้ได้มาตรฐานเป็นอันเดียวกัน
๒. เพื่อเพิ่มปริมาณนักศึกษาให้มากขึ้น


ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ นั้นเอง จึงได้มีพระบัญชามอบให้
พระปริยัติเมธี (สุวรรณ กญจโน ป.ธ. ๘)
พระครูวินัยกรณ์โสภณ (อำนวย วุฑฺฒิโย)
และ พระมหาบรรจง กลฺลิโต วัดมกุฏกษัตริยาราม

ดำเนินการติดต่อขอความอุปถัมภ์จากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล
ทำการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นหลังหนึ่ง
เป็นอาคารตึก ๓ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๓๘.๕๐ เมตร
สามารถที่จะรับนักเรียนได้ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ รูป
เพื่อเป็นสถานที่เรียนตามโครงการที่ได้ทำการดำริไว้

อาคารหลังนี้ได้ทำการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๓
และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๔

รูปภาพ
ซ้าย : พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์
ขวา : พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม



ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้มีพระบัญชาให้
พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) วัดเทพศิรินทราวาส
เลขาธิการสภาการศึกษาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย
และ พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
รองเลขาธิการสภาการศึกษาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย
ร่วมกันดำเนินการปรับปรุงการศึกษาในสามัญศึกษา
ตามพระนโยบายที่ได้ทรงกำหนดไว้

พระเทพกวี วัดเทพศิรินทราวาส และ พระกิตติสารมุนี วัดมกุฏกษัตริยาราม
จึงได้ประสานงานกันเปิดโรงเรียนขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยอาศัย
พระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสถานที่เรียนส่วนหนึ่งไปพลางก่อน
จนกว่าอาคารเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยารามจะสร้างแล้วเสร็จ

ในปีแรกนี้ได้เปิดสอนเฉพาะชั้นประถมปีที่ ๕
ในวิชาสายสามัญศึกษาอย่างเดียว เพราะผู้ที่สมัครเข้าเรียนในรุ่นนี้
ล้วนแต่เรียนจบนักธรรม และบาลีไวยากรณ์มาแล้ว
ได้อาศัยครูอาจารย์ของสภาการศึกษาฯ ส่วนหนึ่งมาช่วยทำการสอน

โดยมอบให้ พระมหาสรเชฏฐ คมฺภีโร ป.ธ. ๙
วัดนรนารถสุนทริการาม
เป็นผู้ควบคุมดูแลดำเนินการ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
การก่อสร้างตึกอาคารเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยารามได้สำเร็จลง
จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจาก พระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร
ไปเปิดทำการสอนที่อาคารหลังใหม่นี้

ได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
โดยถือเอาวันคล้ายวันสวรรคตของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นหลัก

ได้แต่งตั้งให้ พระปริยัติธรรมเมธี (สุวรรณ กญจโน ป.ธ. ๘)
วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นครูใหญ่
พระมหาสรเชฎฐ คมฺภีโร ป.ธ. ๙
วัดนรนารถสุนทริการาม
เป็นผู้ช่วยครูใหญ่

ต่อมาลาสิกขา จึงได้แต่งตั้ง พระกวีวรญาณ (คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ. ๙)
วัดบูรณศิริมาตยาราม เป็นผู้ช่วยครูใหญ่และเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองด้วย

โรงเรียนแห่งใหม่นี้เป็นสาขาสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
ผลิตนักเรียนระดับตั้งแต่ชั้นประถมถึงชั้นเตรียมอุดม
เพื่อส่งให้เข้าศึกษาในสภาการศึกษาฯ

รูปภาพ
ภาพทรงฉายในงานมหาสมณานุสรณ์ ครบ ๕๐ ปี สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถร)
ได้ประทานนามโรงเรียนนี้ว่า “วชิรมกุฏ”
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โดยนำเอาพระฉายาในขณะที่ทรงผนวชว่า “วชิรญาโณ”
กับพระบรมนามภิไธย “เจ้าฟ้ามงกุฏ” มารวมกันเป็น “วชิรมกุฏ”

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง
ประกอบด้วบรรพชิต และคฤหัสถ์

ฝ่ายบรรพชิตมี
พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) วัดเทพศิรินทราวาส
เลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พระเทพคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙) วัดสระเกศ
เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
รองเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พระศรีวิสุทธิโมลี (ประยุทธ ปยุตฺโต ป.ธ. ๙) วัดพระพิเรนทร์
รองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นกรรมการ

ฝ่ายคฤหัสถ์ มีผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนกรมสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา
(ผู้แทนหน่วยศึกษานิเทศก์ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีกหลายท่าน เป็นกรรมการ)
โดยมี นายจรูญ วงศ์สายัณห์ อธิบดีกรมวิชาการ
เป็นประธานยกร่างหลักสูตร สำหรับพระภิกษุสามเณร

โดยบรรจุวิชาต่างๆ ทั้งสายนักธรรม-บาลี และสายสามัญให้ได้เรียนควบคู่กันไป

เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๕ นักธรรมชั้นตรีบาลี-ไวยากรณ์
ไปจนถึงนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๔ ประโยค
และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ คือ จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา
เรียกหลักสูตรนี้ว่า “หลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา”

เมื่อพระภิกษุสามเณรเรียนจบหลักสูตรนี้แล้ว
ก็สามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้

อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ โดย นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น
ได้ประกาศเป็นคำสั่งให้ใช้หลักสูตรนี้ ลงวันที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๒๔

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตร
โรงเรียนพระปริยติธรรม แผนกสามัญศึกษา
สำหรับพระภิกษุและสามเณรชั้นประโยคประถมตอนปลาย
ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
แล้วจึงได้นำความกราบบังคมทูล
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เพื่อนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ทราบ

โรงเรียนวชิรมกุฏ ได้ผลิตนักเรียนสำเร็จชั้น ม.ศ. ๕ ไปแล้วหลายรุ่น
ผู้ที่ยังคงมีศรัทธามั่นคงในพระศาสนาได้เข้าศึกษาต่อในสภาการศึกษาฯ
ผู้ที่ไม่มีศรัทธาจะอยู่ในพระศาสนา
ก็ได้ลาสิกขาออกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทางโลกบ้าง
ประกอบงานอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตน ประเทศชาติ และพระศาสนาบ้าง
นับว่าเป็นคุณประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม

(มีต่อ ๗)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ทรงแสดงพระธรรมเทศนา


พระเกียรติคุณด้านการเผยแผ่และสังคมสงเคราะห์

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงสนพระทัยงานด้านการเผยแผ่
และสังคมสงเคราะห์เป็นพิเศษ

ดังจะเห็นได้ว่า ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับงานด้านนี้มาแต่ครั้งยังทรงเป็นสามเณร
เช่น การออกหนังสือพิมพ์ “สยามวัด” “การตั้งพุทธมามกสมาคม”
เป็นดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น

ฉะนั้น พระองค์จึงทรงได้รับมอบหมายหน้าที่ในด้านนี้มาเป็นลำดับ
ทั้งในส่วนราชการและในส่วนคณะสงฆ์ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๙๓

ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของคณะกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรม
แก่ข้าราชการและประชาชน (ก.อ.ช.)


ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ
ร่างโครงการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการ
และประชาชนทั่วราชอาณาจักรๆ

ได้ทำเสร็จและคณะกรรมการได้รับไว้เป็นหลักในการอบรม
และได้ทรงเรียบเรียงคำบรรยายข้อธรรมสำหรับอบรมข้าราชการและประชาชน
ซึ่งกำหนดไว้ในโครงการอบรมนั้นเป็นภาคผนวกของโครงการอบรม
แล้วพิมพ์ขึ้นพร้อมกันเป็นเล่มเดียว

และใช้เป็นแนวทางสำหรับอบรมของหน่วยอบรม
ของคณะกรรมการและพระธรรมกถึกทั่วไป

และทรงได้รับหน้าที่ให้เป็นประธานอนุกรรมการศีลธรรมและวัฒนธรรม
ตามโครงการอบรมนั้น


ได้จัดหน่วยอบรมเคลื่อนที่จาริกไปอบรมข้าราชการและประชาชน
ในส่วนภูมิภาคร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ มี กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

โดยในหน่วยอบรมเคลื่อนที่นั้น ประกอบด้วย
พระธรรมกถึก อนุศาสนาจารย์ และสาธารณสุข เป็นต้น

ทรงได้รับเลือกจากคณะกรรมการอบรมฯ
ให้เป็นกรรมการปรีบปรุงเด็กและเยาวชน
ซึ่งมี พลอากาศหลวงเชิด วุฒากาศ เป็นประธาน

ได้ร่วมประชุมสร้างโครงการปรับปรุงเด็กจนสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล
ซึ่งกรรมการอบรมได้มอบให้จัดการปรับปรุงเด็กและเยาวชน
ให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติโดยสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย
และตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

ทรงได้รับเลือกจากคณะกรรมการอบรมฯ ให้เป็นอนุกรรมการการวางระเบียบควบคุม
การดื่มสุราของข้าราชการและประชาชน และการเล่นการพนันเพื่อให้ลดน้อยลง
เพื่อให้เป็นการรักษาและส่งเสริมศีลธรรมอันดีของประชาชน

อนึ่ง กรรมการคณะนี้มี
พระยารามยมราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

ได้ประชุมกันจัดทำระเบียบควบคุมเสร็จแล้ว บังเกิดผล
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้เป็นหลักปฏิบัติตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

ทรงได้รับเลือกเป็นประธานคณะอนุกรรมการ
ประกวดเรียงความเรื่องส่งเสริมศีลธรรม
และวัฒนธรรมตามโครงการอบรมฯ นั้น


ได้จัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของคณะกรรมการอบรมฯ
ทุกประการ แล้วก็หมดหน้าที่

กิจการของคณะอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมนั้น
ได้ปฏิบัติเป็นการประจำปีติดต่อกันมา
ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๕ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงเลิกคณะกรรมการอบรมฯ

รูปภาพ
ทรงเป็นประธานเปิดสำนักอบรมพระธรรมฑูตไปต่างประเทศ
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร



พ.ศ. ๒๔๙๘

ทรงเป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต
และเป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ


พ.ศ. ๒๔๙๙

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
มีกุศลเจตนาจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาและศีลธรรม
และวัฒนธรรมของข้าราชการและประชาชน

ด้วยการโน้มน้อมชักนำให้เข้าหาพระศาสนา
อันเป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมจริยาและวัฒนธรรม

ได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์มอบหมายให้ทางสังฆมนตรี
จัดรายการเกี่ยวกับศาสนาตลอดวันในวันพระ


คณะสังฆมนตรีจึงมอบให้ไปกำหนดวิธีการ
ให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
จึงได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดรายการกระจายเสียงขึ้น
ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี

จึงได้ทรงรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ

ดำเนินการตลอดมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
อำนวยประโยชน์ทางด้านพระศาสนาเป็นที่ชื่นชมยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

พ.ศ. ๒๔๙๘

ทรงเป็นประธาน
คณะกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุกฏราชวิทยาลัย (ก.ส.ม.)


ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อหวังให้พระสงฆ์ (ทั้งสองนิกาย)
ได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
และทำให้พระสงฆ์ไทยได้รับการศึกษาเช่นนี้
เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

๒. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางและให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

๓. เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางของการค้นคว้า
และการศึกษาพระศาสนาสำหรับพระสงฆ์ไทย


รวมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศผู้สนใจ
ที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ก.ส.ม. นี้ได้เลิกล้มไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

และได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ในรูปของมูลนิธิตามใบอนุญาตจัดตั้ง
ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ในชื่อว่า

“มูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม
ในพระอุปถัมภ์ของพระราชชนนีศรีสังวาลย์”


ใช้อักษรย่อว่า มูลนิธิ ก.ศ.ม. เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า

FOUNDATION FOR THE PROMOTION OF RELIGIOUS
AND HUMANITARIAN ACTIVITIES


โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

ก. ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ข. ส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์
ค. ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
ง. ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน
(สร้างหอพัก “ธรรมนิวาส” ให้นิสิตนักศึกษายากจน
แต่เรียนดี ประพฤติดี ได้อยู่อาศัยโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ)
จ. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในทางสังคมสงเคราะห์


ซึ่งมูลนิธิแห่งนี้ได้ดำเนินงาน
ในด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา และอบรมศีลธรรม
ด้วยการบรรยายบทความทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
จัดแสดงปาฐกถา และอภิปรายปัญหาธรรมตามสถานที่ที่เห็นสมควร

ร่วมมือกับศูนย์อบรมจริยธรรมนักเรียนของกรมศาสนา
อบรมจริยธรรมนักเรียน


และออกนิตยสารรายเดือน “ศุภมิตร”
เพื่อให้ความรู้และเป็นเพื่อนใจของกัลยาณุปุถุชน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
โดยที่มูลนิธิ ก.ศ.ม. ได้รับทุนดำเนินงานจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเสมอมา

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


พ.ศ. ๒๕๐๕

เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน
(Leprosy Relief Fund)


ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ

ก. ช่วยรัฐบาล สมาคมหรือเอกชน ในการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเรื้อน
ข. ช่วยเหลือในการจดซื้อยาและจ่ายแจก ซึ่งยารักษาโรค
ยาฉีดที่ต้องใช้ในการรักษา ป้องกัน บำบัด และบรรเทาโรคเรื้อน
ค. ช่วยเหลือในการเพิ่มพูนปริมาณของผู้เชี่ยวชาญหรือพนักงาน
ช่วยเหลือไม่ว่าในหน้าที่ใดๆ ในงานด้านโรคเรื้อน
ง. ช่วยเหลือในการให้ได้มาซึ่งการป้องกัน และการรักษาอันทันสมัย
ตลอดจนถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนให้มีสมรรถภาพ
จ. ช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนและครอบครัว โดยกำลังทรัพย์
หรือด้วยวิธีการช่วยเหลืออื่นๆ
ฉ. จัดให้มีโครงการการศึกษา และการป้องกันเกี่ยวกับโรคเรื้อน
แก่ประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรไทย
ช. ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคเรื้อนระหว่างชาติต่างๆ
และกระทำการทุกอย่างเท่าที่จะอำนวยให้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
ดังกล่าวมาข้างต้นได้ผลเต็มตามความมุ่งหมาย

และรับโอนกิจการทรัพย์สินของหน่วยสงเคราะห์
คนเป็นโรคเรื้อนมาจัดทำและดำเนินการต่อไป


เกี่ยวกับการสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อนนี้ เคยมีพระดำรัสไว้
เมื่อคืนวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ในรายการวันสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ว่า

“ที่อาตมาภาพมาเกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อนนี้
ก็เพราะอาตมาภาพได้เคยไปแสดงธรรมเทศนาและเยี่ยมผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนนี้
ที่สถานพยาบาลพระประแดง เมื่อพบเห็นแล้วรู้สึกสงสารยิ่งนัก
สำหรับผู้ป่วยนั้นเล่า ก็ได้รับทุกข์ทรมานอยู่ไม่น้อย
ต่อมามีผู้ใจบุญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
มาขอร้องให้อาตมารับเป็นประธานกรรมการหน่วยสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน
อาตมาเห็นว่าเป็นงานกุศล สมควรที่พระสงฆ์จะได้มีส่วนร่มด้วย
แม้องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระราชหฤทัย
และทรงอุปถัมภ์งานกุศลนี้อยู่เป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาตมาจึงรับเป็น
ประธานกรรมการหน่วยสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อนด้วยความยินดี”


ผลงานของมูลนิธินี้ได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนอยู่มากมาย
และได้เกิดถาวรวัตถุขึ้นเป็นตึก ๓ ชั้น ชื่อว่า “กรุณานิมมิต”

สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ ๕ แสนบาท อยู่ในบริเวณวัดมกุฏกษัตริยาราม

มอบให้กรมอนามัยใช้เป็นสำนักงานกลางในการควบคุมโรคเรื้อน
เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะส่งเจ้าหน้าที่ออกทำการบำบัดในพระนครและธนบุรี
และจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลางตามแผนงาน

รูปภาพ
คุณพระบำราศนราดูร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้น



นอกจากนั้น ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับตรวจโรคผิวหนัง
และให้ความสะดวก แนะนำประชาชนในการที่จะบำบัดโรคเรื้อนทั่วๆ ไป
ซึ่ง คุณพระบำราศนราดูร ได้กล่าวว่า

“ในอาคารนี้จะมีเครื่องใช้ในการชันสูตรโรค ห้องสมุดสำหรับวิชาการ
และใช้เป็นศูนย์ชุมนุมคณะกรรมการการแพทย์ทางวิชาการโรคเรื้อน
ร่วมกับมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระราชูปถัมภ์
เพื่อนำความรู้มาเป็นประโยชน์แก่การควบคุมโรคเรื้อนต่อไป
จึงนับว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ
แก่กิจการการควบคุมโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก”


และผลจากการนี้ ทางคณะสงฆ์ได้ให้ความร่วมมือสนับสนุน
โดยกำหนดเอาวันสงกรานต์เป็นวันสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน
ให้วัดทั่วราชอาณาจักรจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนา
รวบรวมจตุปัจจัยบูชาธรรม ส่งไปสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนทั่วประเทศ

(มีต่อ ๘)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ทรงฉายร่วมกับนาย เจ คาลอบ บอจส์ วุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกา
ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร



พระเกียรติคุณด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ

พ.ศ. ๒๔๙๘

ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
ได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย
และดูการพระศาสนาในประเทศลังกา ขากลับแวะสิงคโปร์ ปีนัง มาลายา
ระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม จนถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เสด็จไปร่วม
ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น
ในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์ไทย โดยมี
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) สังฆนายกเป็นหัวหน้าคณะ
และไปเยี่ยมทหารไทยในประเทศเกาหลี รวมเวลา ๓๐ วัน

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒

เสด็จไปส่งคณะพระสงฆ์ไทยที่ไปประจำ
วัดไทยในพุทธคยา ประเทศอินเดีย
โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
สังฆนายกเป็นหัวหน้าคณะ เป็นเวลา ๑๐ วัน

พ.ศ. ๒๕๐๔

ทรงเป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)
วัดเบญจมบพิตร
ไปร่วมประชุม
ฎีกาสังคายนาสมัยสุดท้ายฯ นครย่างกุ้ง สหภาพพม่า
ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔

พ.ศ. ๒๕๐๗

ทรงเป็นหัวหน้าคณะพุทธศาสนไมตรีไปเยือนชาวพุทธฮ่องกง
ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น และขากลับเสด็จแวะประเทศเวียดนาม
มอบพระไตรปิฎกแก่คณะสงฆ์ญวนตามคำอาราธนาของพระสงฆ์
และพุทธบริษัทในประเทศเหล่านั้น
ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗

พ.ศ. ๒๕๑๐

เสด็จเยือนลังกาเป็นทางการ
ตามคำกราบทูลอาราธนาของคณะสงฆ์และรัฐบาลลังกา
(ปัจจุบันเรียกว่า ศรีลังกา)
และทรงเยือนคณะสงฆ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ ด้วย
ระหว่างวันที่ ๑๐-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)



พระกรณียกิจพิเศษ

พ.ศ. ๒๔๙๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
เสด็จออกผนวชพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์)

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ
ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวชครั้งนี้

พ.ศ. ๒๕๐๙

ทรงเป็นประธานสงฆ์ในพิธีแสดงองค์เป็นพุทธมามกะ
ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามกุฏราชกุมาร
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในโอกาสที่จะเสด็จไปทรงศึกษา
ณ ต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙


พระอวสานกาล

โดยปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงดีมาตลอด
ไม่ประชวรถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่มีพยาธิเบียดเบียนเป็นครั้งคราว
ต้องเสด็จไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาล ๒-๓ ครั้ง คือ
ผ่าตัดไส้เลื่อนครั้ง ๑ ผ่าตัดโพรงจมูกครั้ง ๑
ผ่าตัดกระเพาะเพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่อีกครั้ง ๑

ภายหลังการผ่าตัดครั้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่าพระสุขภาพเป็นปกติ
แต่ทรงรับสั่งว่า รู้สึกว่าความจำเลือนไปบ้าง และทรงปรารภว่า

“ไม่รู้ว่าทำกรรมอะไรไว้ จึงถูกผ่าตัดอย่างนี้”

วันสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ในเช้าวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
ทรงรับกิจนิมนต์เสด็จไปเสวยเช้าที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
พอตอนสายก็มีกิจต่อเนื่องเสด็จไปในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระครูอุดมสมณคุณ (เติม ทองเสริม) อดีตเจ้าอาวาส
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา
อันเป็นเหตุให้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์สิ้นพระชนม์
โดยในช่วงเย็นยังมีกำหนดที่จะเสด็จไปเผาศพญาติ
ที่วัดเวฬุราชิน ย่านธนบุรี กรุงเทพมหานคร อีกด้วย


เหตุการณ์คราวสิ้นพระชนม์เกิดขึ้นขณะขบวนรถพระประเทียบ
(รถประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช)
MERCEDES-BENZ (W110) 200D สีเหลือง
เลขทะเบียน ร.ย.ล. 19 (ราชยานยนต์หลวง 19)

กำลังแล่นไปตามถนนสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา
บนทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๔ ในระหว่างขึ้นสะพานแถวๆ ถ.บางนา-ตราด
ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๐-๑๑ ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
มีรถตำรวจทางหลวงแล่นนำขบวน และปิดท้ายขบวนดังเช่นเคย
ทันใดนั้นรถยนต์คันหนึ่งที่ขับสวนทางมาอย่างเร็ว
ก็พุ่งเข้าชนรถพระประเทียบอย่างแรงจนตกถนน
เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันเพราะเกิดขึ้นได้ยากมาก
รถพระประเทียบพลิกคว่ำในสภาพพังยับเยิน
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถูกนำส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดสมุทรปราการ
แต่เนื่องจากพระอาการหนักมาก
จึงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ ที่กรุงเทพฯ ทันที
แต่ก็ทรงสิ้นพระชนม์ลงในระหว่างทางนั้นเองเมื่อเวลา ๑๐.๐๕ น.
การสิ้นพระชนม์กะทันหันครั้งนั้น
ทำให้พุทธบริษัททั่วโลกตกตะลึงและเสียดายอาลัยเป็นล้นพ้น


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ
ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๑๐.๐๕ น.
ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ตรีศก จ.ศ. ๑๓๓๓
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

ทรงดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ๑๗ ปี
ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ๓ พรรษา
ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๕๔ พรรษา
ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๗ พรรษา
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๗ พรรษา (๖ ปี กับ ๒๒ วัน)
สิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน


องค์กรชาวพุทธทั่วโลกเมื่อทราบข่าวเศร้าสลดนี้
ได้ส่งคำไว้อาลัยมายังรัฐบาลและคณะสงฆ์ไทย
รัฐบาลประกาศให้สถานที่ราชการลดธงลงครึ่งเสา ๓ วัน
และข้าราชการไว้ทุกข์ ๑๕ วัน เพื่อถวายความอาลัย
ในขณะที่พระราชสำนักประกาศไว้ทุกข์ ๑๕ วัน
ส่วนพระศพนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบำเพ็ญกุศล
ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ให้ทรงพระศพ
และได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์
สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พระราชทานพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทย
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๑๕

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔ ณ พลับพลาท้องสนามหลวง
ถึงการสูญเสียพระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย มีความตอนหนึ่งว่า

“ก่อนจะสิ้นปีนี้เอง เหตุการณ์ที่คิดไม่ถึงและไม่น่าจะเกิด ได้เกิดขึ้น
สมเด็จพระสังฆราช ต้องสิ้นพระชนม์โดยปัจจุบัน ด้วยอุบัติเหตุ
ทำความสะดุ้งสะเทือนและความเศร้าสลดใจแก่เราอย่างหนัก

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ทรงเป็นอภิปูชนียบุคคล ผู้ควรเคารพยิ่ง
เพราะทรงเป็นที่ตั้งแห่งคุณความดี ทรงเป็นตัวอย่างของกัลยาณบุคคล
ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมและความสะอาดสุจริต ทรงแผ่ความเมตตาแก่คนทุกคน
ไม่เลือกหน้า ทรงเพียรพยายามประกอบกรณียกิจทุกๆ ด้าน
เพื่อเกื้อกูลความสุขของมวลชนทุกหมู่ทุกเหล่า ไม่ว่าชาติศาสนาใด
ด้วยความเที่ยงตรง แน่วแน่และเสียสละ


ท่านทั้งหลายรำลึกถึงพระองค์ท่านดังนั้นแล้ว
ควรที่จะน้อมนำมาคิดให้เห็นแจ้งจริงแก่ใจว่า
ทุกวันนี้ที่บ้านเมืองและตัวท่านมีความสวัสดีอยู่ได้
ก็เพราะมีผู้ที่ถือมั่นในสุจริตธรรม
พยายามปฏิบัติและแผ่ความดีให้เป็นประโยชน์ถึงผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องร่วมกันรักษาความดีงาม
ให้ดำรงมั่นคงอยู่ในแผ่นดิน เพื่อความเป็นปึกแผ่น
ความผาสุกและความก้าวหน้าของประเทศชาติและของคนไทยทุกถ้วนหน้า”

รูปภาพ
สังฆราชานุสรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าพระมหาเจดีย์ใหญ่
ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


(มีต่อ ๙)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและความสำคัญของวัดมกุฏกษัตริยาราม

วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร หรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดมกุฏ”
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม
แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ด้านใกล้ถนนราชดำเนินนอก
นับเป็นวัดที่ ๒ ที่ตั้งอยู่บนริมคลองแห่งนี้บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ หลังจากทรงลาผนวชในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ แล้ว

ทรงพระราชดำริว่า คลองบางลำพู ซึ่งขุดในคูเมืองนั้นคับแคบ
กับทั้งกระชั้นชิดกับกำแพงเมืองและพระบรมมหาราชวังเดิม
ควรจะขุดคลองขยายคูเมืองด้านทิศเหนือให้กว้างออกไปอีก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น
เป็นคูเมืองชั้นนอก คือปากคลองทิศใต้ออกริมวัดแก้วฟ้า
ปากคลองทิศเหนือออกปากคลองริมวัดสมอแครง
คือ บริเวณวัดเทวราชกุญชร ในปัจจุบันนี้

เริ่มขุดคลองดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
โดยมีความกว้าง ๑๐ วา สูง ๖ ศอก
ใช้เวลาขุด ๑๐ เดือน ยาว ๕.๔๘ กิโลเมตร
พระราชทานนามคลองที่จุดใหม่ว่า “คลองผดุงกรุงเกษม”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างวัดมกุฏกษัตริยารามขึ้นเป็นส่วนพระองค์
เพื่อเป็นวัดคู่เคียงกับวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งพระองค์เคยมีพระราชกระแสรับสั่ง
ไว้กับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระราชเทวี ว่า

“จะทรงสร้างวัดถวายสักวัดหนึ่ง”

แต่ยังไม่ทันได้สร้าง
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์เสียก่อน

เมื่อขุดคลองผดุงกรุงเกษมเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ
เพื่อซื้อที่ดินริมคลองผดุงกรุงเกษมที่นางเลิ้งสำหรับสร้างวัด

ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. ๑๓๙๗
และพระราชทานชื่อวัดตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า
“วัดโสมนัสวิหาร” ทรงเปิดวัดในปี พ.ศ. ๒๓๙๔

เมื่อทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารและทรงเปิดวัดแล้ว จึงมีพระราชดำริว่า
ที่กรุงศรีอยุธยามักจะมัดเรียงอยู่ตามริมคลองมากวัดด้วยกัน
จึงมีพระราชประสงค์จะทรงสร้างวัดส่วนพระองค์ขึ้น
เป็นการคู่เคียงกับวัดโสมนัสวิหารของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมบ้าง

จึงทรงเลือกที่ดินที่ติดต่อกับวัดโสมนัสวิหาร
ซึ่งยาวไปตามริมคลองผดุงกรุงเกษมเช่นกัน
ใกล้กับป้อมหักกำลังดัสกร ซึ่งป้อมนี้ถูกรื้อถอนไปนานแล้ว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนของราษฎรหลายเจ้าของ
รวมเป็นพิเศษผืนใหญ่เพียงพอที่จะสร้างวัดได้ และมีที่ดินสำหรับธรณีสงฆ์ด้วย

เมื่อซื้อที่ดินได้ตามพระราชประสงค์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เป็นแม่กองงานสร้างวัด ได้วางผังวัดให้คล้ายกับวัดโสมนัสวิหาร

คือ มีคูล้อมรอบที่วัดซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า
โดยกำหนดสร้างกำแพงรอบวัด ภายในคูมีซุ้มประตูข้างละ ๓ ประตู
และแบ่งเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส

เขตพุทธาวาส

สร้างมหาวิหารใหญ่ หลังพระวิหารมีพระเจดีย์วิหารคด
ถัดไปจึงมีพระอุโบสถอยู่ในแนวเดียวกัน พระวิหารหันหน้าสู่คลองผดุงกรุงเกษม

ส่วนพระอุโบสถวางขวางพระวิหาร โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ผิดกับวัดโสมนัสวิหารซึ่งหันหน้าขึ้นทางเหนือทั้งพระวิหาร และพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระวิหารมีลานกว้างสำหรับเป็นสมาคมและลานจอดรถ

เขตสังฆาวาส

แบ่งคณะเป็น ๓ คณะ คือ คณะหน้า คณะกลาง และคณะท้าย
ในเบื้องต้นได้สร้างกุฏิเพียงพอสำหรับพระสงฆ์ ๒๐ รูป
และกุฏิที่สร้างมาแต่เดิมที่ทรงสร้างวัดก็ยังเหลืออยู่อีกหลายหลัง

โดยเหตุที่พื้นที่เดิมของวัดเป็นสวนผลไม้ส้มจุก
จึงต้องปรับปรุงสถานที่โดยตัดต้นไม้ออกแล้วขุดคูดังกล่าว

เมื่อปรับที่ดินเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มก่อสร้างพระวิหาร ฐานวิหารคด
พระเจดีย์ใหญ่ และพระอุโบสถ แต่การก่อสร้างดำเนินมาค่อนข้างช้า

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงเสด็จมาทรงวางพระฤกษ์
ทรงเร่งรัดการก่อสร้างบริเวณเสนาสนะให้เสร็จทันก่อนเปิดวัดก่อนวันเข้าพรรษา
พ.ศ. ๒๔๑๑ เสนาสนะทั้ง ๓ คณะ จึงเสร็จตามพระราชประสงค์
เพียงพอสำหรับพระภิกษุ ๒๐ รูปมาอยู่จำพรรษาได้

ส่วนพระวิหารหลวง พระวิหารคด และพระอุโบสถยังคงดำเนินการก่อสร้างต่อมา

ครั้นถึงเดือน ๘ วันขึ้น ๗ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๑
ได้ทรงเลือก พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดบวรนิเวศวิหาร
มาเป็น เจ้าอาวาสองค์ปฐม และทรงกำหนดให้มีพระสงฆ์จำนวน ๒๐ รูป
ทรงจัดขบวนแห่พระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารทางเรือ
โดยลงเรือที่คลองบางลำพูออกแม่น้ำเจ้าพระยาไปเข้าคลองผดุงกรุงเกษม
เทียบขบวนเรือที่ท่าน้ำวัด

ในวันเปิดวัดคือวันที่พระสงฆ์ไปอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชบริพาร
ได้เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเสนาสนะ
แล้วทรงประเคนเครื่องบริขารสำหรับขึ้นกุฏิใหม่เจ้าอาวาสด้วยพระองค์เอง
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ข้าราชบริพารถวายเครื่องสักการะและไทยทานแก่พระสงฆ์โดยทั่วกัน
เมื่อทอดพระเนตรบริเสวณวัดแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เมื่อแรกสร้างวัดนั้น ได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดมกุฏกษัตริยาราม”
ตามพระปรมาภิไธยในพระองค์
ต่อมาภายหลังปรากฏว่า เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร
จะกราบทูลชื่อวัดอันเป็นพระปรมาภิไธยก็ขัดกระดากใจ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “วัดพระนามบัญญัติ” ไปก่อน
และคำว่าพระนามบัญญัติยังคงปรากฏว่าเป็นชื่อซอย
ในที่ธรณีสงฆ์ของวัดจนกระทั่งทุกวันนี้
มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามชื่อวัดอันจะกล่าวต่อไป

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตแล้ว
ยังคงเรียกชื่อวัดพระนามบัญญัติมาเป็นเวลาถึง ๒ ปี

ครั้นถึงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
จึงทรงประกาศให้เรียกวัดพระนามบัญญัติว่า
“วัดมกุฏกษัตริยาราม” ตามพระราชประสงค์เดิม

เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาอยู่แล้ว
จึงทรงพระราชดำริว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม นี้ยังปะปนอยู่กับชาวบ้าน
ไม่เป็นเอกเทศ และไม่เป็นส่วนหนึ่งตามพระวินัย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนครบาลไปลงหลักปักเขต
ที่จะพระราชทานวิสุงคามสีมา
กรมพระอาลักษณ์เขียนคำประกาศวิสุงคามสีมาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยใจความว่า

“เขตวัดมกุฏกษัตริยาราม เรียกอย่างหนึ่งว่า วัดพระนามบัญญัติ
โดยปักหมุดไว้ทั้ง ๔ ทิศ ภายในที่กำหนดเท่านี้
ทรงพระราชทานอุทิศให้เป็นวิสุงคามสีมา
ยกเป็นแผนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขต
เป็นที่วิเศษสำหรับพระสงฆ์มาแต่จตุรทิศ
อาศัยใช้สังฆกรรม มีอุโบสถสังฆกรรม เป็นต้น
พระราชทานแต่พุทธศักราช ๒๔๑๑”


ครั้นพระราชทานวิสุงคามสีมาและลงพระปรมาภิไธย
ทรงสงสัยว่าเขตที่ปักนั้นกว้างใหญ่เกินไป
จึงทรงขอให้กรมพระนครบาลไปถอนหลักเก่าแล้วปักใหม่
โดยร่นเข้ามาตามแนวกำแพงวัดโดยรอบทั้งวัด
จึงให้เขียนปิดประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาเสียใหม่
ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันนั้นเอง เขตนอกกำแพงให้เป็นธรณีสงฆ์
ในประกาศครั้งนั้นมีความว่า

“เราพระเจ้ากรุงสยาม มีความนับถือเลื่อมใสในพระสงฆ์เป็นอันมาก
ถ้าหากพระอารามนี้มีพระสงฆ์ปกครองเป็นเจ้าของสืบๆไปสิ้นกาลนาน
ได้ประพฤติการศาสนพรหมจรรย์โดยซื่อสัตย์
ให้สมควรแก่ลัทธิอันชอบในพระธรรมวินัยอันเป็นเครื่องแสดงความบริสุทธิ์
เราพระเจ้ากรุงสยามจะมีความยินดีเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น

ส่วนกุศลที่สำเร็จด้วยสถาปนาการพระอารามใหม่ครั้งนี้
เราพระเจ้ากรุงสยาม ขออุทิศให้แก่เทพยดามนุษย์บุรุษและสตรี
คฤหัสถ์ บรรพชิตทั้งปวง ใครๆ เห็นชอบด้วยก็จงได้ชื่นชมยินดีอนุโมทนา
แล้วจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ
สิริสวัสดิพิพัฒนมงคล สรรพศุภผล ความประสงค์
ซึ่งไม่มีโทษเป็นบาป จงสำเร็จทุกประการเทอญ

ประกาศ ณ วัน ๒ฯ๘ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ เป็นที่ปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน”


ต่อมาสร้างเขื่อนริม คลองผดุงกรุงเกษม
สร้างศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง ๓ หลัง สร้างพื้นชานวัด ขุดคูวัด ๓ ด้าน
ด้านข้าง ๒ ข้าง และด้านหลังพื้นที่ด้านหน้าวัด
คือ ลานวัดกว้างกว่าวัดโสมนัสวิหารมาก มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ เศษ
ปลูกต้นประดู่เรียงรายเต็มหมดโดยสร้างความร่มรื่นให้แก่วัด

สร้างกำแพงวัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างตามลำคูด้านละ ๓ เส้นเศษ
ด้านยาวด้านละ ๔ เส้น มีซุ้มมหาสีมาอยู่บนมุมกำแพงมุมละ ๑ ซุ้ม

กำแพงแบ่งระหว่างพุทธาวาสกับสังฆาวาส ๒ ข้าง
พระวิหารยาวตั้งแต่กำแพงด้านหน้าถึงด้านหลังยาว ๓ เส้น ๑๑ วา
สูงใหญ่เท่ากับกำแพงรอบนอก
มีซุ้มประตูอยู่ตรงพระวิหารและหลังวิหารคด มีถนนเชื่อมถึงกันปูหินหยาบ

รูปภาพ
รูปหล่อพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี)
เจ้าอาวาสองค์ปฐมวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


(มีต่อ ๑๐)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระวิหารหลวง วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ที่มาของรูปภาพ : คุณ Thaagoon Angkurawattananukul


:b44: ปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

พระวิหารหลวง

พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า “พระพุทธวชิรมงกุฏ”
ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิราบ วัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๙ นิ้ว สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว
ประดิษฐานอยู่บนพระบุษบกฐานหินอ่อน ๒ ชั้น

กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
เจ้าอาวาสองค์ปฐมแห่งวัดโสมนัส ราชวรวิหาร (วัดโสมนัสวิหาร) ในขณะนั้น
มาเป็นประธานในการหล่อ แต่ในคราแรกยังมิได้ตั้งนาม
ตราบจน พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ ในวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงได้ทรงถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า “พระพุทธวชิรมกุฏ”

โดยถือเอานามวัด ซึ่งตั้งตามพระนามเดิมของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ประกอบกับพระนามฉายาเมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาโณ
ผนวกกับการที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประทับศึกษาพระปริยัติธรรม
ของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และของพระราชนัดดา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อีกด้วย

พระนามขององค์พระประธาน “พระพุทธวชิรมงกุฏ” ที่ทรงคิดถวาย
จึงเป็นมงคลนามแห่งพระอารามอย่างยิ่ง


สำหรับพระวิหารหลวงของวัดมกุฏกษัตริยารามนั้นตั้งอยู่ที่ด้านหน้าวัด
หันหน้าออกสู่คลองผดุงกรุงเกษมและถนนกรุงเกษม
เป็นวิหารใหญ่ ๗ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ มีเฉลียงรอบ
สร้างขึ้นบนฐาน ๒ ชั้น มีเสากลมใหญ่ตั้งอยู่บนฐาน
ชั้นล่างรับหลังคามุขลด มีเฉลียงรอบสร้างขึ้นบนฐาน ๒ ชั้น

คือ ฐานพระระเบียงชั้นล่างสูงราว ๓ ศอก ฐานบนสูงราว ๑ ศอกคืบ
มีเสากลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานชั้นล่าง
รับหลังคามุขลดมีเสา ๑ รอบ รวม ๒๘ ต้น

พระวิหารหลวง มี ๕ ประตู คือด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู
หน้าต่างข้างละ ๗ ช่อง
กรอบหน้าต่างประตูรอบนอกเป็นเป็นลายดอกไม้ด้วยปูนเพชร
ส่วนข้างบนทำเป็นพานแว่นฟ้าซ้อนกัน

ตั้งอยู่บนช้าง ๒ เศียร รองรับเลข ๔ มีพระมหามงกุฎครอบ
มีฉัตร ๙ ชั้นปักอยู่ ๒ ข้าง
ปิดทองประดับกระจกทั้งประตูและหน้าต่าง

ส่วนบานประตูล่างทำด้วยไม้สักหน้าใหญ่ ลงรักปิดทองลายรดน้ำ
หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ
ที่หน้าบันทำเป็นลายกระหนกล้อมมหามงกุฏ
ส่วนข้างบนใช้ปูนปั้นหัวนาคและตัวนาคแทนช่อฟ้าใบระกา

ภายในเสาพระวิหารหลวงมีเสาขนาดใหญ่ข้างละ ๖ ต้น
ข้างล่างประดับด้วยหินอ่อนสูงขึ้นราว ๒ ศอก
ข้างบนถือปูนเขียนลายหลากสี เป็นปริศนาธรรมฉฬภิญญาชาติ
เช่นเดียวกับเสาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

คือ นับตั้งแต่ข้างหน้าคู่แรกสีคราม
คู่ที่ ๒-สีเขียว คู่ที่ ๓-สีแดง คู่ที่ ๔-สีเหลือง คู่ที่ ๕-สีนวล คู่ที่ ๖-สีขาว
มีความหมายเหมือนพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

ทุกเสาเขียนภาพแสดงพฤติกรรมของคน
เช่นเดียวกับในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
คือเสาด้านที่ติดกับประตูซึ่งห่างองค์พระประธาน
มีภาพการทำบาปกรรมต่างๆ เช่น ยิงนก ตกปลา
ใกล้เข้ามาก็มีการเข้าวัดทำบุญบ้าง ใกล้เข้ามาอีกก็บวช

จนกระทั่งถึงต้นเสาที่อยู่หน้าองค์พระประธานเป็นเสาสีขาว
แสดงถึงความประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์จนกระทั่งจิตวิมุตติหลุดพ้น

ส่วนฝาผนังภายในพระวิหารหลวง
มีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามควรที่จะศึกษา
เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ยังคงรักษาสกุลช่างขรัวอินโข่ง

ตลอดถึงวางภาพสีและสีไทยๆ แต่บางภาพเขียนเป็นตึกแบบตะวันตก
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ อิทธิพลตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมาก
ดังจะเห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงนี้
และอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งยังคงมีให้อนุชนรุ่นนี้ได้ศึกษา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีจำนวน ๒๐ ภาพ ที่ไม่รวมที่เสาดังกล่าว
ซึ่งแต่ละภาพนั้นจะเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆ

เช่น ภาพที่ ๑ เรื่องกษัตริย์ ๕ พระองค์
ภาพที่ ๒ เรื่องพระนางจุนทีราชกุมาร
ภาพที่ ๓ พระนางสุมนาราชกุมารี
และภาพต่อในเรื่องทวารภาชพราหมณ์ พระเจ้าอชาตศัตรูราชกุมาร
และภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธบิดา
ประทับ ณ ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม เป็นต้น

ซึ่งแต่ละภาพช่างได้เขียนขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจง พิถีพิถันงดงาม
และบ่งบอกถึงสุนทรียภาพที่ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตาม
ไปตามความงามของแต่ละภาพอีกด้วย

รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ใหญ่” สีขาวบริสุทธิ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง ท่ามกลางพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
และ “ซุ้มสีมา” ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วโดยรอบพระอุโบสถ
ที่คั่นกลางระหว่างสีมาชั้นนอกและสีมาชั้นใน เพื่อมิให้คาบเกี่ยวกัน

ที่มาของรูปภาพ : คุณ Thaagoon Angkurawattananukul

รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์ใหญ่” สีขาวบริสุทธิ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร


พระมหาเจดีย์ใหญ่

ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวง ท่ามกลางพระวิหารคด (พระระเบียงคด)
สูง ๒๐ วา รอบองค์พระเจดีย์ใหญ่ ๒๕ วา ฐานพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ปัจจุบันได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ นับเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวบริสุทธิ์
อันเป็นสง่าราศีแก่กรุงรัตนโกสินทร์อีกวัดหนึ่ง

พระอุโบสถ

ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสหลังพระวิหารคดและกำแพงกั้นเขตหันหน้าสู่ทิศตะวันออก
ตั้งอยู่บนฐาน ๒ ชั้น ฝาผนังพระอุโบสถหนาเกือบ ๒ ศอก ยาว ๗ วา กว้าง ๓ วา
มีหน้าต่างข้างละ ๕ ช่อง ประตูข้างละ ๒ ช่อง
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้ปูนปั้นเป็นนาคแทนช่อฟ้าใบระกา

หน้าบันพระอุโบสถทั้ง ๒ ข้าง ปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฏ
พระประดิษฐาน ณ ท่ามกลางลวดลายกระหนก
ซุ้มประตูหน้าต่างภายนอกเป็นปูนปั้น ปิดทองล่องกระจกประกอบด้วยลายกระหนก

บนซุ้มประตูหน้าต่างปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฏ
ปิดทองล่องกระจกคล้ายกับที่พระวิหารหลวง มีเลข ๔ ภายใต้พระมหามงกุฏ
ประกอบด้วยลายกระหนกดอกพุดตาน นับว่าออกแบบได้งดงามยิ่ง

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามมาก
เขียนเป็นตอนๆ ตั้งแต่กรอบหน้าต่างถึงเพดาน
เป็นการเขียนเล่าเรื่องพระอัครสาวก ๑๐ ภาพ
และประวัติของพระอัครสาวิกา คือนางภิกษุณี ๙ ภาพ

โดยภาพจิตรกรรมดังกล่าวได้รับการเขียนอย่างให้อารมณ์คล้อยตาม
ด้วยสีสันอันงดงามเหมาะเจาะ
อาคารบางหลังเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตก
ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในสภาพที่ยังดีอยู่น่าค้นคว้าศึกษา

สีมา

วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นวัดที่มีสีมา ๒ ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลก
และมีเฉพาะวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเท่านั้น

สีมาชั้นแรกหรือชั้นนอก เรียกว่า “มหาสีมา”
มีซุ้มสีมาซึ่งตั้งอยู่ที่มุมทั้ง ๔ ของกำแพงรอบวัด
เป็นเครื่องหมายกำหนดเขต ภายในมหาสีมามีซุ้มบอกเขตมหาสีมา
ซุ้มสีมา เป็นลักษณะมหาสีมาแบบสีมาโปร่ง
เป็นมหาสีมาที่ทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ยาวแนบไปตลอดแนวความสูงของกำแพงเช่นกัน
ส่วนปลายทำรูปทรงล้อสีมาแท่ง แต่ทำในลักษณะของสีมาโปร่ง
คือแต่ละด้านเป็นซุ้มคูหาทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน


สีมาชั้นใน เรียกว่า “ขัณฑสีมา”
ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ
โดยมีแผ่นหินจำหลักลายดอกบัวแปดกลีบ
แสดงเขตสีมาชั้นในหรือขัณฑสีมา
ประดับอยู่บนพื้นระเบียงตรงมุมทั้ง ๔ ของพระอุโบสถ

กำแพงแก้วและซุ้มสีมาบนกำแพง
เป็นเขตคั่นกลางเพื่อมิให้สีมาชั้นนอก คือ “มหาสีมา”
และสีมาชั้นใน คือ “ขัณฑสีมา” คาบเกี่ยวกันหรือปนกัน
อันจะทำให้สีมาทั้งสองนั้นใช้ไม่ได้
ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้หรือคั่นกลาง
ระหว่างมหาเสมาและขัณฑเสมา เรียกว่า “สีมันตริก”

พระสงฆ์สามารถประชุมทำสังฆกรรมได้ทั้งที่พระอุโบสถและพระวิหารหลวง
แต่ถ้าทำในพระวิหารหลวงจะต้องให้พระสงฆ์ในวัดมาร่วมในพิธีทุกรูป
มิฉะนั้นถือว่าพิธีสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ
ปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการดูแลให้ถูกต้องตามพระวินัยกำหนด
ทางวัดจึงทำสังฆกรรมที่พระวิหารหลวงเพียงรับกฐินอย่างเดียว
สังฆกรรมอื่นๆ นอกนั้นกระทำในพระอุโบสถ


เมื่อกล่าวโดยภาพรวม วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง
และท่านเจ้าอาวาสแต่ละองค์ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้ศาสนสถานทุกชิ้นอยู่ในสภาพเดิม

แต่ในระยะหลังการก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติมมาก
และเมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ลำดับที่ ๕
ทรงมีพระชนมายุครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ทางวัดมกุฏกษัตริยารามก็ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย
และสร้างศาลาเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นทรงไทย ๓ ชั้น
ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๖ ล้านบาทเศษ เพื่อเก็บพัสดุสิ่งของต่างๆ
ของวัดไว้เป็นเอกเทศเพื่อให้อนุชนได้ศึกษาหาความรู้ตลอดไป


รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เจ้าอาวาสองค์ปฐมแห่งวัดโสมนัสวิหาร

(มีต่อ ๑๑)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระวิหารหลวง

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พระพุทธวชิรมงกุฏ
พระประธานในพระวิหารหลวง


พระพุทธวชิรมงกุฏ พระประธานภายในพระวิหารหลวง
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิราบ วัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๙ นิ้ว สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว
ประดิษฐานอยู่บนพระบุษบกฐานหินอ่อน ๒ ชั้น

กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
เจ้าอาวาสองค์ปฐมแห่งวัดโสมนัส ราชวรวิหาร (วัดโสมนัสวิหาร) ในขณะนั้น
มาเป็นประธานในการหล่อ แต่ในคราแรกยังมิได้ตั้งนาม
ตราบจน พ.ศ. ๒๕๑๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ ในวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงได้ทรงถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า “พระพุทธวชิรมกุฏ”

โดยถือเอานามวัด ซึ่งตั้งตามพระนามเดิมของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ประกอบกับพระนามฉายาเมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาโณ
ผนวกกับการที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประทับศึกษาพระปริยัติธรรม
ของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และของพระราชนัดดา คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อีกด้วย

พระนามขององค์พระประธาน “พระพุทธวชิรมงกุฏ” ที่ทรงคิดถวาย
จึงเป็นมงคลนามแห่งพระอารามอย่างยิ่ง


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


:b44: พระอุโบสถ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

(มีต่อ ๑๒)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 18:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


:b44: พระมหาเจดีย์ใหญ่

รูปภาพ

รูปภาพ

สังฆราชานุสรณ์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าพระมหาเจดีย์ใหญ่


รูปภาพ

รูปภาพ

พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
พระผู้ทรงสถาปนาวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร
ประดิษฐานอยู่ในซุ้มศาลา
หลังชานบันไดทางขึ้นฐานพระมหาเจดีย์ใหญ่

(มีต่อ ๑๓)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2017, 07:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กุฏิสุวรรณทัต วัดมกุฏกษัตริยาราม

รูปภาพ

กุฏิศิริสม ๒๔๙๗ วัดมกุฏกษัตริยาราม

รูปภาพ

:b50: :b49: องค์ที่ ๔ จากซ้ายมือ ::
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.๙)
เมื่อครั้งยังทรงเป็น “สามเณร” ขณะทรงหนังสือกับเพื่อนสามเณร
บริเวณลานพระเจดีย์ในพระวิหารคต ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๙


รูปภาพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
เมื่อตอนบ่ายของวันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑

(มีต่อ ๑๔)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron