วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2013, 08:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สอนวิปัสสนาอย่างละเอียด
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

ตีพิมพ์ในวารสาร ธรรมจักษุ
ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๑

วาระนี้จะแสดงทางออกอีกทางหนึ่งเป็นทางวิปัสสนา เพื่อจะให้กว้างขวางเหมาะแก่อุปนิสัยของพุทธบริษัท เละเพื่อให้เป็นทางที่พุทธบริษัทจะเลือกดำเนินตามให้เหมาะแก่อุปนิสัยของตน เพราะพระธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้ ก็เป็นสวากขาตธรรม เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วทั้งนั้น ทางวิปัสสนานั้นควรแก่ผู้มีสีลาจารวัตรบริบูรณ์แล้วจะพึงเจริญ เรียกว่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านแสดงไว้โดยอเนกนัย คือมิใช่อย่างเดียว ในที่นี้จะยกเอาใจความในธรรมนิยามสูตรมาแสดงพอเป็นนิทัศนะอุทาหรณ์ให้เห็นทางแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในความในธรรมนิยามสูตรนั้นว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งสิ้นเป็นของไม่เที่ยง สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข ครั้นเมื่อพิจารณาเห็นสังขารธรรมเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเช่นนั้น ก็เกิด นิพพิทาญาณ ความหน่ายในทุกข์ เห็นว่าความไม่เที่ยงก็เป็นตัวทุกข์ ทุกข์ความทนยากก็เป็นตัวทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตนก็เป็นตัวทุกข์ (คือเห็นโทษของสังขาร) เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเพราะเป็นตัวทุกข์ อันนี้เป็นวิสุทธิมรรค เป็นทางที่ให้ถึงความบริสุทธิ์ ในสุตตันตนัยตรัสเป็นการรับรองว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ, ฐิตา ว สา ธาตุ ธมฺมฐิตตฺตา ธมฺมนิยามตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นในโลกหรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสังขารธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม คือตั้งอยู่เป็นธรรมดาอย่างนั้น ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น เป็นแต่เราตถาคตตรัสรู้ดีแล้ว นำมาแนะนำสั่งสอนกระทำให้ตื่นขึ้นเท่านั้น คงได้ใจความตามนัยพระสูตรดังนี้

ต่อนี้ จะแสดงตามมติของตนโดยทางไต่สวนพุทธภาษิต เพื่อให้สะกิดใจของพุทธบริษัทผู้เห็นภัยแจ้งชัดในวัฏฏสงสาร มุ่งหาทางที่จะออกจากวัฏฏทุกข์ ทางวิปัสสนานี้เป็นทางสำคัญอย่างยิ่ง แต่ต้องอาศัยศีลสมาธิเป็นภาคพื้นมาแล้ว จึงจะเป็นทางให้สำเร็จได้

วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้งเห็นจริง คือเห็นจริงตามสภาวะที่เป็นอยู่อย่างไรแห่งธรรมนั้น ๆ เหมือนอย่างในธรรมนิยามสูตรที่ท่านแสดงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้ ทางไต่สวนควรสงสัยว่า ไฉนหนอ ท่านจึงไม่แสดงว่า สังขารทั้งสิ้นเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ ทำไมจึงไม่แสดงว่า สังขารทั้งสิ้นเป็นอนัตตา เหตุใดจึงแสดงว่า ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา สังขารทั้งสิ้นกับธรรมทั้งสิ้นนั้น จะมีอาการต่างกันอย่างไร

สังขารก็ชื่อว่าธรรมเหมือนกัน คือ สังขตธรรม คงได้ความว่า สังขารมีนัยเดียว ส่วนธรรมนั้นมีสองนัย คือ สังขตธรรมหนึ่ง อสังขตธรรมหนึ่ง ที่แสดงว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” หมายทั้งสังขตธรรม และ อสังขตธรรม มีอาการต่างกันคือ สังขตธรรมมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มที่ ส่วนอสังขตะธรรม อนิจฺจํ ทุกฺขํ ไม่มี มีแต่ อนตฺตา อย่างเดียว คือไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมต่างหาก แสดงทางวิปัสสนาต้องแสดงในสกลกายนี้อย่างเดียว แสดงนอกออกไปไม่ได้ ต้องตรวจดูหน้าตาของสังขตธรรม และ อสังขตธรรมในสกลกายนี้ ให้เห็นชัดว่าสังขตธรรมมีที่สุดเพียงไร ต้องตรวจดูหน้าตาของสังขารทั้งสิ้นเสียก่อน

สังขารในปฏิจจสมุปบาท สังขารในเบญจขันธ์ ท่านหมาย เจตสิกสังขาร คือปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารเหมือนกัน ถึงกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ก็เกี่ยวด้วยเจตสิกสังขารเหมือนกัน จึงรวมสังขารทั้งสิ้นเป็นสอง คือ อุปาทินนกสังขาร ๑ อนุปาทินนกสังขาร ๑ ชื่อว่าสังขารทั้งสิ้น สังขารทั้งสองนี้มีเต็มโลกด้วยกัน จึงชี้แจงไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ปฏิบัติจะเห็นเอง จะชี้พอเป็นอุทาหรณ์เพื่อเป็นทางดำริเท่านั้น

ในสกลกายนี้เต็มไปด้วยสังขารทั้งสอง ท่านจึงตั้งชื่อว่าสังขารร่างกาย แต่เท่านี้เราไม่พอใช้จึงตั้งชื่อต่อออกไป ให้ชื่อว่าสกลกายบ้าง นามรูปบ้าง ขันธ์บ้าง ธาตุบ้าง อายตนะบ้าง เป็นต้นเป็นตัวอย่าง แล้วแจกอาการของชื่อตั้งนั้น ๆ ดังสกลกายแจกอาการออกไปตามลักษณะของธาตุ ๔ ปฐวีธาตุ ๒๐ มี เกสา โลมา เป็นต้น อาโปธาตุ ๑๒ มี ปิตฺตํ เสมฺหํ เป็นต้น ถ้าแจกแต่สองธาตุนี้เป็น อาการ ๓๒ ถ้าแจกเตโชธาตุ ๖ มี สันตัปปัคคิ เป็นต้น และแจกวาโยธาตุ ๔ มี อุทธังคมาวาตา เป็นต้น ประสมเข้าเป็นอาการ ๔๒ ชื่อว่า สกลกาย รวมสกลกายให้ชื่อว่านามรูป ใจชื่อว่านาม กายทั้งสิ้นชื่อว่ารูป กายกับใจประชุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นก้อน ชื่อว่าขันธ์ แจกอาการของขันธ์เป็น ๕ รวมอาการของกายเข้าเป็นหนึ่ง ชื่อว่ารูป ส่วนใจ แจกอาการเป็น ๔ คือเป็น เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ ขันธ์อันเดียวนั่นแหละแต่มีอาการ ๕ อย่าง จึงชื่อว่าขันธ์ ๕

สกลกายอันเดียวนี้แหละ ท่านตั้งชื่อว่าธาตุ แจกอาการของธาตุในที่นี้เป็น ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ แจกรูปออกเป็น ๕ ธาตุ วิญญาณนี้เป็นนาม ๑ จึงรวมกันเป็นธาตุ ๖

สกลกายอันเดียวนี้แหละ ท่านตั้งชื่อว่าอายตนะ แจกอาการของอายตนะเป็น ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ส่วนรูป แจกเป็น ๕ ใจนี้ส่วนนาม คงเป็น ๑ จึงรวมเป็นอายตนะ ๖

สกลกายอันเดียวนี้แหละ ท่านตั้งชื่อว่าชาติ ความเกิด ๑ ชรา ความแก่ ๑ มรณะ ความตาย ๑

แจกอาการของชาติ เป็น ๒ คือเป็นปฏิจฉันนชาติ ความเกิดกำบัง คือ ตั้งแต่ประถมปฏิสนธิวิญญาณมา ก็ชื่อว่าชาติ ความเกิด เรื่อยไปจนถึงวันตาย ผู้ไม่พิจารณาไม่เห็น จึงชื่อว่า ความเกิดอันกำบัง ๑ อัปปฏิจฉันนชาติ ความเกิดเปิดเผยรู้ทั่วกัน คือคลอดออกจากครรภ์ของมารดา ๑

แจกชรา ความแก่เป็น ๒ คือปฏิจฉันนชรา ความแก่ปกปิดกำบัง คือ ความแก่มีมาแต่วันแรกเกิดมาจนถึงวันตาย แก่ตามวันคืนเดือนปี ไปจนถึงวันตายเป็นที่สุด ๑ อัปปฏิจฉันนชรา ความแก่เปิดเผย ได้แก่ผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย เกิดวิการในร่างกาย มีผมหงอก ฟันหักเป็นต้น ๑

แจกมรณะ ความตายเป็น ๒ คือ ปฏิจฉันนมรณะ ความตายปกปิดกำบัง ได้แก่ความตายที่มีมาแต่แรกเกิด คือตายเรื่อยไปจนถึงวันตายอันเป็นที่สุด ๑ อัปปฏิจฉันนมรณะ ความตายเปิดเผย ได้แก่สิ้นลมหายใจต้องเข้าโลงกัน ๑

ที่บรรยายมาพอเป็นสังเขปนี้เป็นเรื่องของอุปาทินนกสังขารทั้งสิ้น เป็นโลก จะตั้งชื่อว่าสังขารโลกก็ควร เพราะโลกประชุมกันตั้งขึ้น แต่พึงเข้าใจว่า อุปาทินนกสังขารทั้งสิ้นต้องอาศัยอนุปาทินนกสังขารทั้งสิ้นเกิดขึ้น ส่วนอุปาทินนกสังขารทั้งสิ้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงตามธรรมนิยามสูตรทั้งสิ้น

ถ้าพิจารณาเห็นสังขารทั้งสิ้นเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเหล่านั้น ส่วนตัวความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนนั้น ก็ตัวสังขารอีกเหมือนกัน ต้องเบื่อ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาอีก จึงจะชอบ ตรงนี้แหละผู้ปฏิบัติจนมุมกันมาก มาติดกันเพียงสังขารุเปกขาญาณ หาทางออกไม่ได้ ตกลงกันว่า เห็นนามรูปเบญจขันธ์ไม่ใช่ตัวแล้ว ก็หมดเรื่องกันเท่านั้น ตกลงยกตนเป็นพระโสดาฯ เพราะละสักกายทิฏฐิได้ แต่นามรูปก็ไม่ดับ เบญจขันธ์ก็ไม่ดับ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ไม่ดับ เป็นพระโสดาฯ กันดื้อ ๆ อย่างนั้นเอง ถ้าอย่างนี้คล้ายกับเอาอนัตตาเป็นโลกุตรธรรม อนัตตาเป็นสังขารจะเป็นโลกุตรธรรมอย่างไรได้ ต้องพยายามตรวจตรองให้เห็นความดับแห่งอุปาทินนกสังขารให้แจ่มแจ้ง

อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็อยู่ในพวกอุปาทินนกสังขารเหมือนกัน ตัวสัญญาอดีตทั้งนั้น ต้องเข้าใจว่า บรรดาอุปาทินนกสังขารเป็นชาติ สัญญาอดีตทั้งนั้น เป็นตัวสมุทัยอริยสัจทั้งสิ้น เมื่อตัวของเรายังเป็นสมุทัยอยู่ตราบใด ตัวของเราก็เป็นทุกข์อยู่ตราบนั้น ต้องตรองแก้ให้สมุทัยดับ ทางแก้ก็มีแต่อริยมรรคทางเดียว อริยมรรคเป็นข้าศึกแก่สมุทัย สมุทัยมีกำลังน้อย สู้อริยมรรคไม่ได้ อริยมรรคก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมุทัยละเอียดเข้าไปเพียงใด ต้องบำรุงอริยมรรคให้ละเอียดตามเข้าไป ให้ควรแก่ประหารกันได้ อย่าวิตกว่าสังขารจะดับไม่ได้ ทางดับสังขาร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้โดยอเนกนัย ดังในคาถาสำหรับบังสุกุลกันอยู่นี้เป็นตัวอย่าง “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข” ความว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและความดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น จะเอาความสุขมาแต่ไหน ความสงบระงับดับไปแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้น เป็นสุข ดังนี้ สังขารดับในที่นี้ ท่านไม่หมายคนตาย ท่านหมายคนเป็น ๆ เรานี้แหละ สังขารเป็นตัวกิเลส เป็นสมุทัย เมื่ออริยมรรคปัญญาเกิดขึ้น สังขารก็ดับไปเท่านั้น เมื่อเห็นสังขารดับเมื่อใด ก็เห็นนิโรธเมื่อนั้น

เรื่องสังขารดับ จะยกตัวอย่างมาแสดงไว้ในที่นี้อีกนัยหนึ่ง ดังปฏิจจสมุปบาทในสมทัยวารแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป เป็นปัจจัยต่อ ๆ กันไปจนถึงชรา มรณะ คงได้ความว่า อวิชชาความไม่รู้ตัวจริงของตัวนี้เอง จึงเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่สังขารทั้ง ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ปัจจัยไม่ใช่เหตุ เป็นแต่เพียงอุดหนุนเหตุให้มีกำลังเท่านั้น ความจริงอาการทั้ง ๓๒ ประการ มีสังขารเป็นต้น มีมรณะเป็นที่สุด เป็นอาการของอวิชชา เป็นตัวเหตุทั้งสิ้น คือเป็นตัวสัญญาอดีต เป็นชาติสมุทัยด้วยกันทั้งนั้น เป็นอุปาทินนกสังขารด้วยกันทั้งนั้น มีอวิชชาเป็นตัวเหตุด้วย เป็นปัจจัยด้วย สังขารเหล่านั้นจึงตั้งอยู่ได้ ครั้นถึงวาระที่ท่านแสดงนิโรธวาร แสดงอย่างนี้ “อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ สังขารดับโดยไม่เหลือ เพราะคลายความดับโดยหาเศษมิได้แห่งอวิชชานั้นสิ่งเดียว” ดังนี้

คงได้เนื้อความว่า อวิชชาดับสิ่งเดียวเท่านั้น สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดไปถึง ชรา มรณะ ดับตามกันไปหมด ที่แสดงความดับแห่ง อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรุปเป็นต้นในปฏิจจสมุปบาทนี้ ไม่ได้หมายคนตาย หมายดับที่คนเป็น ๆ เรานี้เอง มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่าง สมัยที่พระองค์จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทเป็นทางวิปัสสนา เมื่ออวิชชาเกิดขึ้น อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดถึงชรา มรณะดับหมด แต่พระองค์หาได้นิพพานไม่ ยังอยู่โปรดเวไนยสัตว์ถึง ๔๕ พรรษา จึงเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อสังขารดับหมดแล้ว ตนของพระองค์ก็ยังเต็มที่ แต่ส่วนที่เหลืออยู่นั้นจะเรียกว่าวิสังขารก็ได้ จะเรียกว่า อนุปาทินนกสังขารก็ได้ จะเรียกว่า อเนญชาภิสังขารก็ได้ จะเรียกว่า อสังขตธรรมก็ได้ จะเรียกว่า สังขารธรรมก็ได้ จะเรียกว่า โลกุตรธรรมก็ได้ ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไรกับชื่อนามกร ข้อสำคัญคือตัวอวิชชาดับ เกิดเป็นวิชชาขึ้นเท่านั้น ส่วนธรรมที่ยังเหลืออยู่นี้ เป็นธรรมพิเศษ ไม่มีอนิจจัง ไม่มีทุกขัง คงมีอยู่แต่อนัตตาเท่านั้น เพราะไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมต่างหาก อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา ดับไปตามอุปาทินนกสังขาร ถ้าไตรลักษณ์อย่างนี้ไม่ดับ ไม่รู้จักวิโมกข์ ๓ แสดง วิโมกข์ ๓ ไม่ได้ แสดงได้ก็ไม่ได้ความ ถ้าสังขารไม่ดับ แสดงนิโรธก็ไม่ได้ แสดงได้ก็ไม่ได้ความเหมือนกัน ถ้ายังแสดงว่าตัวของตัวยังเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ตราบใด พึงรู้เถิดว่า ตัวยังจมอยู่ในกองทุกข์ตราบนั้น เพราะ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นสังขาร เมื่อสังขารดับหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่วิสังขาร เป็นนาถกรณธรรม คือทำตนให้เป็นแก่นสาร เกิดศรัทธาความเชื่อตนขึ้นเป็นอจลศรัทธา ไม่งมงายหลงเชื่อแต่คนอื่น คนเราโดยมากมักเชื่อแต่ตำรา เชื่อตามเขาว่า หาได้น้อมธรรมเข้ามาในตน ให้เห็นจริงที่ตน เกิดความเชื่อขึ้นในตนไม่ จึงออกจากสมมติไม่ได้ ติดสมมติตายอยู่นี้เอง สมมติกับสังขารอันเดียวกัน จะแสดงความดับแห่งสังขารหรือดับแห่งสมมติไว้เป็นตัวอย่าง

ความจริงสังขารหรือสมมติเป็นของไม่มีอยู่แต่เดิม จึงเป็นของดับได้ เปรียบเหมือนไฟฟ้าที่ติดอยู่ในศาลาหลังนี้ เมื่อดูไม่เป็น เปิดสวิตช์ไฟก็เกิด ปิดสวิตช์ไฟก็ดับ ก็รู้อยู่แต่เพียงเกิด ๆ ดับ ๆ เท่านั้น ถ้าดูเป็น สาวไปถึงวัดราชบูรณะ (ท่านหมายถึงโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ - ผู้คัดลอก) ก็จะเป็นความไม่เกิดไม่ดับกันเท่านั้น เมื่อรู้ไม่จริง ก็จักรู้อยู่ว่าไฟฟ้า คือเข้าใจว่า ไฟมาแต่ฟ้า ถ้าสาวหาเหตุตามสาย ไปจนถึงวัดราชบูรณะ ก็จักเห็นว่า ไฟแกลบเรานี้เอง (สมัยนั้นโรงผลิตไฟฟ้ายังคงใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง - ผู้คัดลอก) หาใช่ไฟฟ้าไม่ ไฟฟ้าที่ใจของเรานั้นก็ดับ รู้จริงว่าเป็นไฟธรรมดาเรานี้เอง เขาสมมติให้เป็นไฟฟ้าต่างหาก ความจริงไฟฟ้าไม่มีอยู่แต่เดิม ดับของไม่มีนั่นเอง แต่ก็คงเรียกไฟฟ้าตามเขาอย่างเดิม เป็นผู้ไม่หลงติดสมมติ คือรู้เท่าสมมติ สมมติก็ดับเป็นวิมุตติขึ้นเท่านั้น

แม้นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เหมือนกัน ที่เราเรียนเข้าไว้ จำเข้าไว้ ในชั้นแรกเป็นสมมติ ครั้นมาพบตัวจริงเข้า ก้อนนี้ไม่ใช่นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะเสียแล้ว เป็นอยู่เพียงสมมติเท่านั้น ความจริงเป็นสภาวธรรมต่างหาก เขาเคยเป็นอยู่อย่างใด ก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อรู้เห็นความจริงอย่างนี้ สมมติก็ดับ เมื่อสมมติดับไปแล้ว ก็คงเรียกนามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ อยู่อย่างเดิม ส่วนนี้เป็นบัญญัติ เป็นพุทธบัญญัติเหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช้ทั่วกัน ใช้จำเพาะแต่พวกท่านที่บรรลุวิมุตติแล้ว และเป็นบัญญัติไม่มีอาชญา พุทธบัญญัติอีกแผนกหนึ่งคือบัญญัติสิกขาบท ส่วนนี้มีอาชญาระวางโทษหนักเบาตามควร เหมือนกันกับพระราชบัญญัติของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้รู้ ผู้ไม่รู้ก็ตาม ถ้าล่วง ต้องได้รับโทษตามบัญญัติ ผู้ที่เพิกสมมติออกจากตนได้แล้ว เป็นผู้รู้คติของธรรมดา โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส ตัวผลดับหมด เป็นผู้ไม่มี โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส เพราะเหตุภายนอก เพราะเหตุภายใน อันนี้เป็นตัวอานิสงส์ แสดงออกจากโลกโดยทางวิปัสสนานัยไว้เพียงเท่านี้ แต่ให้พึงเข้าใจว่า ไม่อื่นไปจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทางเดียวกันทั้งนั้นเอง ต่างแต่อาการเท่านั้น

วิปัสสนานัยที่แสดงมานี้เป็นสวากขาตธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วและเป็น สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะเห็นด้วยตน และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาล เพราะตนมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายอวดเขาได้ เพราะเป็นของจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติอาจน้อมเข้ามาสู่ตนได้ เป็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้รู้ คือผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน ได้แสดงธรรมรัตนกถาโดยทางวิปัสสนานัยพอเป็นทางบำรุงสติปัญญาของพุทธบริษัท

เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับแล้ว พึงโยนิโสมนสิการ แล้วอุตสาหะประพฤติปฏิบัติก็จักได้รับความงอกงามในพระพุทธศาสนา โดยนัยดังแสดงมา ด้วยประการฉะนี้

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2013, 21:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10
โพสต์: 2830

แนวปฏิบัติ: ขันธ์5ด้วยการสังเกตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และอินทรีย์22
สิ่งที่ชื่นชอบ: พระสุตตันตปิฎก
อายุ: 0
ที่อยู่: ระยอง อุบลราชธานี

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าท้อถอยต่อการปฏิบัติ อย่าปล่อยให้ความขุ่นเคืองเข้าแทรก สร้างพลังด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า รำลึกและตอบแทนพระคุณมารดา และบิดา มองโลกด้วยใจเป็นกลาง ระลึกเสมอว่าเรายังด้อยปัญญาหากยังไม่ได้ปัญญา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร