วันเวลาปัจจุบัน 09 ต.ค. 2024, 07:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2012, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โอวาทธรรม
ของ
พระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร)
วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ๑๐๑ กรุงเทพฯ

:b41: :b41:

ที่มา (๑) โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดสติปัฏฐาน ๔
กระทู้ ๑๖๒๒๗ โดย : คุณจอม วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
(๒) http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... ang-07.htm


:b42: :b42:

เรื่อง หนทางทำให้เกิดความสำเร็จ

(เริ่มทำสมาธิ)

ต่อไปนี้ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ตั้งใจทำสมาธิ
ไหนๆ เราก็พากันมาแล้ว มาถึงที่นี้แล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่
นั่งก็เอาให้ได้ผล ตั้งใจอย่างแน่วแน่
ต่อไปนี้อาตมาจะนำให้ทุกๆ คนว่าตาม

"ข้าพเจ้า ระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาลให้ใจของข้าพเจ้า
จงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) พุทโธ พุทโธ พุทโธ"


นี่ก็ให้นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาส ขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาหงาย ทับมือซ้าย วางไว้บนตัก นึกพุทโธในใจ
กำหนดใจไว้ที่ใจ กำหนดใจของเราให้เที่ยง
จิตของเราจะได้เป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิ เกิดความเยือกเย็น เกิดความสบาย

ความสบายที่เกิดขึ้นจากสมาธินั้น เป็นสิ่งที่หาค่ามิได้ เรียกว่ามีคุณค่าสูงสุด
เราพากันเกิดมาในโลกโลกนี้ เรียกว่า โลกัง อนิจจัง โลกนี้ไม่เที่ยง
เกิดขึ้นมา คร่ำคร่าท่ามกลาง สลายตัวในที่สุด
แม้กระทั่งร่างกายของเรา ก็เรียกว่าเป็นวัตถุอันนึงของโลก
ที่จะต้องเกิดมาแล้วก็ต้องสลายตัวไป

(ทางที่ถูกต้อง)

แต่ว่าในตัวของเรานั้น ก็มีสิ่งสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง
สิ่งสำคัญนั้นก็คือ ใจของเรา ใจของเรานี้เป็นอมตะ
คือเป็นสิ่งที่ไม่สูญเสีย หรือไม่ตาย ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
ใครจะมาทำลายใจนั้นย่อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นใจนี่แหละที่เป็นสิ่งสำคัญอยู่ในขณะนี้

เราท่านทั้งหลายผู้ที่มีสติและปัญญา จึงได้เสียสละ
เพื่อที่จะปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์ในทางใจ
คือทำให้มีประโยชน์ทางใจของเรา
เมื่อมีประโยชน์ ใจของเราได้รับประโยชน์
การเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละชาติย่อมมีประโยชน์อย่างยิ่ง

ผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ต่างคนต่างหาทางออก
หนีจากศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาเหล่านั้นชีวิตก็ไร้ค่า
ไม่มีประโยชน์อันใด ไม่มีประโยชน์อะไรกับเขา
เพราะฉะนั้นการที่พวกเราได้มีจิตศรัทธามีความตั้งใจปฏิบัติ
อันนี้นั้นเป็นสิ่งที่เราเดินทางถูกต้อง

นอกเหนือจากเป็นการเดินทางถูกต้องแล้ว
เราก็ยังได้รับผลอันมหาศาล ผลอันนี้เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนจะต้องกระทำให้เกิดขึ้นมาเอง
เพราะเป็นสิ่งที่มีค่า คนที่จะทำให้แก่คนอื่นยกยื่นหยิบยื่นไม่ได้ สิ่งนี้จะต้องทำเอาเอง

เหมือนกันกับรับประทานอาหาร เราจะให้คนอื่นรับประทานแทนเราย่อมไม่ได้
ตัวเราเองจะรับประทานอาหาร แทนคนอื่นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
การกระทำที่เกิดเป็นผลเป็นประโยชน์ของการกระทำนี้
เป็นสิ่งที่ตัวของเราเองจะต้องเร่งรัด แก้ไขตัวของเรานี้ให้มีความเหนียวแน่น มั่นคง
ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาไม่มีการย่นย่อ ไม่มีการท้อถอย
ไม่มีการที่เราจะโอนเอียงนั่นแหละ เราแม้จะมีชีวิตไม่มากนัก แต่ก็มีประโยชน์มหาศาล

(พระพุทธองค์ทรงเน้นการปฏิบัติทางจิต)

เรื่องของจิตใจนี้เป็นเรื่องที่แต่ก่อนแต่ไรเป็นสิ่งลี้ลับ
แต่ในปัจจุบัน คือ ในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งลี้ลับ เปิดเผย
หรือเรียกว่า ทำได้ตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่
สามารถที่จะกระทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ง่าย และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้เปิดเผยออกมาแล้ว

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า (ภาษาบาลี)...
พระพุทธเจ้าจะอุบัติบังเกิดขึ้นก็ตาม หรือยังไม่ได้อุบัติบังเกิดขึ้นก็ตาม
ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่มีใครเปิดเผยขึ้นมาเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในคำนี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสต่อไปว่า (ภาษาบาลี)...
พระองค์ได้เปิดแล้ว พระองค์ได้จำแนกแล้ว พระองค์กระทำให้ตื้นแล้ว

คือหมายความว่า พระพุทธเจ้าเปิดโลก
คือ เปิดแสงสว่างให้ปรากฏขึ้น


เพราะฉะนั้น ในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเน้นหนักลงไปในการปฏิบัติในทางใจ
พระธรรมคำสอนของพระองค์ มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระองค์นั้นได้ทรงเน้นหนักในเรื่องการปฏิบัติใจนั้น
ถึงครึ่งหนึ่ง คือ ๔๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันที่เรียกว่าพระปรมัตถ์
มีพระวินัยปิฎก ๒๒,๐๐๐ พระสุตตันตปิฎก ๒๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แต่ส่วนพระปรมัตถปิฎกนั้น มีถึง ๔๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

นั่นคือ พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นหนัก ในเรื่องการปฏิบัติทางใจ
เพราะเหตุใดพระองค์จึงเน้นหนักในเรื่องการปฏิบัติทางใจ
ก็เนื่องด้วยว่าอย่างอื่นๆ นั้น หรือการกระทำอื่นๆ นั้น ความสำคัญมีน้อย

ส่วนการปฏิบัติในเรื่องทางจิตใจนั้น ความสำคัญมีมาก
ที่ว่ามีมากนั้น เพราะว่า เป็นหนทางที่ถูกต้อง
และดำเนินไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ได้โดยที่ไม่นานจนเกินไป
การที่พระองค์ได้ทรงตรัส แก่ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ธรรมจักกัปวัตนสูตรนั้น
โดยย่อก็มาอยู่ที่ มรรคทั้ง ๘ มรรคทั้ง ๘
ข้อสุดท้าย คือ ข้อที่ ๘ นั้น พระองค์ก็ทรงตรัสว่า สัมมาสมาธิ
ทรงเน้นลงไปในเรื่องของสมาธิ เรื่องของการดำเนินจิตใจ


เพราะฉะนั้นเรื่องของการดำเนินจิตใจนี้
พระองค์จึงได้ทรงเริ่มต้นตั้งแต่ธรรมเทศนา
เทศนากัณฑ์แรกที่เน้นหนักลงไปในเรื่องนี้
แม้ว่าเราจะพากันปฏิบัติกันอย่างถึงขั้นนี้ ก็ยังอยู่อีกเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
กว่าที่จะถึงกาลแห่งการเพียงพอ หรือถึงกาลสิ้นสุด ก็ต้องใช้เวลาอันยาวนาน

ดูตัวอย่าง พระพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์แม้ว่าในชาติที่พระองค์เป็นสุเมธฤาษี
พระองค์ก็ได้ถึงฌานสมาบัติ เหาะเหินเดินอากาศได้ในชาตินั้นถึงอย่างนั้น
พระองค์ยังทำมาถึง ๔ อสงไขย แสนกัป กว่าจะมาถึงจุดอิ่มตัว
หรือเรียกว่าพอเพียง แห่งความต้องการ ได้ตรัสรู้ ทำลายกิเลสได้

และมาพูดถึงพวกเราที่พวกเราพากันมีความสนใจในการปฏิบัติสมาธินั้น
เรายังคิดว่าเรา ทำมากไป หรือเราคิดว่า เราทำมากมายก่ายกองอย่างนี้
เรายังคิดผิด...เรายังทำน้อยไป

เพราะอะไร? เพราะว่า แม้เราจะกระทำถึงขั้นนี้
เรายังไม่รู้ว่าอีกสักเท่าไร ที่เรียกว่าเกิด ตาย ตาย เกิด เกิด ตาย ตาย เกิด
ยังที่เราจะต้องท่องเที่ยวต่อไปอีก อันเรียกว่านานแสนนาน
นี่ในขนาดที่ว่า เราได้มีศรัทธาอย่างแน่วแน่ ตั้งใจอย่างจริงจัง
ยังมีเวลาที่จะต้องใช้ อันยาวนานเช่นนี้


เพราะฉะนั้น ในคำหนึ่งที่พระองค์ทรงตรัสว่า
อนมัตตเก มีเบื้องต้นอันบุคคลตามอยู่รู้ไม่ได้
คือว่าไม่มีเบื้องต้น แล้วก็ไม่มีเบื้องปลาย มันยาว แสนที่สุดที่จะนานแสนนาน
หมายถึงบุคคลผู้ที่ ยังไม่ได้เข้ามาสู่การปฏิบัติในทางใจแล้ว
เขาเหล่านั้น ก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความประมาท เค้าจึงเรียกว่า อนมัตตเก
คือไม่มีเบื้องต้น แล้วก็ไม่มีเบื้องปลาย เรียกว่าท่องเที่ยวไป
ได้รับความทุกข์แสนสาหัส ตลอดไป เรื่อยๆ ไป อย่างนี้

(ต้องเป็นผู้รู้จักศึกษาเพื่อดำเนินไปทางที่ถูก)

แต่ส่วนพวกเราที่ได้พากันมีศรัทธาและได้พากันปฏิบัติ
อย่างนี้นั้น ไม่ใช่ อนมัตตเก แล้ว คือมีเบื้องต้น และมีเบื้องปลายที่มองเห็น
คือ มองเห็นความสำเร็จ มองเห็นหนทางที่จะให้เกิดความสำเร็จ

เรามองดูก็แล้วกัน ตัวของเราเองนั่นแหละ
ที่จะเป็นผู้เข้าใจตัวเราเอง ว่าเรากำลังเดินไปในขณะนี้ เราได้ผลอะไรขึ้นมาบ้าง

ผลนั้นแหละ ที่จะแสดงให้เราได้เห็นว่า การปฏิบัติที่เราพากันกระทำนั้น
เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดความย่นหนทาง พบความสำเร็จ
มองเห็นความสำเร็จ ได้รับผลสำเร็จ เป็นต้น
เพราะฉะนั้นเรื่องของการปฏิบัตินี้ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยการศึกษา
การศึกษานั้น จะเป็นส่วนนึง ที่จะทำให้เกิดศรัทธายิ่งขึ้น

การศึกษาจะต้องศึกษาจากตำรานั้นประการหนึ่ง
การศึกษานั้นจะต้องศึกษาจากการได้ยินได้ฟังนั้นประการหนึ่ง
เมื่อเรามีความสนใจและศึกษาเช่นนี้ เราก็จะรู้หนทาง
การรู้หนทาง หรือเรียกว่า เดินทางไปในทางที่ถูกนั้น
มันเป็นสิ่งที่ราบรื่น หรือเรียกว่า เดินไปอย่างสบายๆ เราก็ถึงก่อน
คนที่ไม่รู้จักหนทางแต่ก็วิ่ง ทั้งวิ่ง ทั้งเดิน ทั้งทุลักทุเล แต่ว่าก็ไปถึงทีหลังเรา
เพราะว่าเดินทางไม่ถูก ติดป่าไม้ ติดเถาวัลย์ ติดดงดิบ ติดก้อนหิน
ติดแม่น้ำ ก็ไปไม่ไหว เพราะว่าเดินทางผิดไป

แต่คนเดินทางถูกนั้น หลีกเลี่ยงจากป่าไม้
หลีกเลี่ยงจากโขดหิน แม่น้ำ หลีกเลี่ยงจากสิ่งกีดขวางเหล่านั้น
เราก็เดินทางไปถูกได้ แล้วก็เดินไปด้วยความสบายอีกด้วย
นี่คือผลของการศึกษา ของการที่ เราแสวงหาศึกษาหาความรู้
เพื่อที่จะเป็นแนวทางของการดำเนินจิตใจของเราไป
เพื่อความบรรลุหรือเพื่อที่สุดแห่งทุกข์

(ผลของการฝึกย่อมฝังอยู่ในจิต เป็นนิสสัย วาสนา)

จิตที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วนั้น
ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความดี คือ มีความดีอยู่ในตัวของตน
ที่เรียกว่ามีความดีอยู่ในตัวของตนนั้น คือ สามารถทำให้บังเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
เมื่อต้องการสมาธิเมื่อไร ก็ได้ทุกเมื่อ นั่งสมาธิเมื่อไร ก็เกิดผลทุกเมื่อ
ทำเมื่อไร ผลมันก็เรียกว่า ต่อเนื่อง

เพราะเหตุ การที่สร้างสมาธิให้แก่ตนนั้น
เป็นสิ่งที่ฝังสนิทติดอยู่ในใจของเรา ไม่มีใครๆ ที่จะมาดึง
หรือไม่มีใครที่จะมาถอน เอาสมาธิของเราไปได้
แต่บางคนพากันเข้าใจว่า ทำสมาธิแล้ว ทำไปทำมาแล้ว
มันเห็นแต่ว่าหายไป หาตัวหาตนไม่ได้ หรือทำไปก็ไม่เห็นมันได้สมความตั้งใจ
ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ขลุกขลักเต็มที ที่คิดอย่างนั้นเรียกว่าคิดผิด

ความจริงแล้ว การทำสมาธินั้น เมื่อเราได้กระทำมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
หรือเราได้ฝึกฝนกันมาอย่างนี้ จิตอันนั้นมันจะต้องต่อ
คือหมายความว่า เราต่อจากเดิมนั้นให้มันยาวขึ้น
ไม่ใช่ว่าเราจะต้องกลับไปตั้งต้นใหม่

อย่าง...การที่เรียนหนังสือ อย่างนี้ เรียกว่าเรียนจากประถม ๑ ประถม ๒ ประถม ๕
ประถม อะไรต่อไป มัธยม อะไรต่อไป คือว่าไม่ต้องมาตั้งต้นประถม ๑ ใหม่อีก
ก็หมายความว่าต่อเรื่อยไป นี่เรียกว่าเป็นความดี
เป็นความดีของผู้ที่ได้รับการฝึกฝนตนของตนมาแล้ว
ความดีอันนี้เองที่ทำให้เราเกิดนิสสัย เกิดวาสนาต่อเนื่อง
ความต่อเนื่องนั้น จึงเรียกว่า นิสสัย วาสนา


เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกประหลาดอะไรที่สาวกของพระพุทธเจ้า
ฟังธรรมจบก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ทันที
อย่างนี้หรือบางท่านเดินมา ต้องการอยากจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พอมาถึงพระพุทธเจ้า ยังไม่ตื่นจากบรรทม
นั่งคอยอยู่ข้างนอก เห็นน้ำหยดลงมาจากหลังคาทีละหยด
ในที่สุดมันก็ละลายหายไป ท่านพิจารณาทันใดนั้น ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

บางองค์ก็เดินไปเห็นหญิงร้องเพลง ร้องไปร้องมา
พิจารณาดูถึงเนื้องเพลงต่างๆ ที่เค้าร้องนั้น มันก็เป็นสิ่งที่น่าสลดใจ
เกิดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่ฟังเพลงอยู่ก็ได้
บางองค์ไปเดินธุดงค์เดินไป เดินมา พบเสือ เสือมันก็ขม้ำ กัดเข้าไปกิน
แต่ในขณะที่อยู่ในปากเสือ ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่ปากเสืออย่างนี้ก็มี

(กระแสจิต กระแสธรรม)

เพราะฉะนั้นส่วนที่จะทำให้บังเกิดผลเป็นนิสสัย เป็นวาสนานี้
จึงเป็นสิ่งที่เราต้องสะสมเอา และต้องสะสมไปเรื่อยๆ
ถ้าว่ากันถึงเรื่องสมาธินั้น ท่านก็แบ่งออกเป็น ๓ ประการ
คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ขณิกสมาธิ นี้ เป็นสมาธิที่เรียกว่าเฉียดๆ
คือหมายความว่า สงบลงไปสักนิดหนึ่ง ประเดี๋ยวเดียวก็ถอน
ไม่สามารถจะตั้งเป็นสมาธิอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน
นั้นเรียกว่าสมาธิเหมือนกัน แต่สมาธิมันน้อยมาก จึงเรียกว่าขณิกะ

ส่วน อุปจารสมาธิ นั้น เป็นสมาธิที่อยู่นานได้
จะอยู่นานสักเท่าไหร่ กำหนดจิตเมื่อไร จิตมันก็สงบ
สงบแล้วต้องการถอนสักเมื่อไร จะอยู่ได้ซักกี่ชั่วโมง
กี่เมื่อไหร่ก็ได้ อย่างนั้นเรียกว่าอุปจารสมาธิ

อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่ลึกซึ้ง แม้แต่เสียงภายนอก
จะเป็นเสียงดังเพียงไร ก็ไม่กระทบกระเทือนเข้าไปถึง ไม่ได้ยิน
สามารถที่จะอยู่ได้ ๕ วัน ๗ วัน สมาธินั้นเรียกว่า อัปปนาสมาธิ

สมาธิทั้ง ๓ ประการนั้น ก็จะต้องมีการเริ่มต้นด้วยขณิกสมาธิก่อน
เมื่อเป็นสมาธิขณิกะแล้ว สมาธิอันนี้ เจริญให้มาก กระทำให้มาก
ต่อจากนั้นก็จะกลับกลายมาเป็นอุปจาระเอง
อุปจาระนั้นเมื่อเจริญให้มากกระทำให้มาก ก็จะกลับกลายมาเป็นอัปปนาสมาธิเอง

เพราะฉะนั้นเรื่องของสมาธินั้น เราไม่จำเป็นต้องพูดกันมากเท่าไรหรอก
เพียงให้รู้ว่าจิตมันสงบ จิตมันรวม ถามว่าจิตมันรวมมั๊ย จิตรวม
เท่านี้ก็ถือว่าเป็นสมาธิแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็อยู่ที่ว่า เราจะเจริญให้มาก กระทำให้มาก
ไปจนถึงจุดแห่งความเพียงพอนั้น เมื่อไรนั่นเป็นเรื่องส่วนของเรา
ที่ใครจะต้องเดินไปสู่ ความสำเร็จ หรือเรียกว่าพลัง อันที่เรียกว่าพลังอันพอเพียง

การถึงซึ่งพลังอันพอเพียงนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตที่เรียกว่าพลังพอเพียง
เราเองนั่นแหละที่จะรู้ได้ รู้ได้ก็เพราะว่า เมื่อจิตเกิดพลังอันพอเพียงขึ้นมาแล้ว
จิตนั้นจะเกิดกระแส เค้าเรียกว่ากระแสจิต หรือเรียกว่ากระแสธรรม

กระแสจิตนี้เป็นกระแสที่มีความแหลมคม และมีความละเอียดอ่อน
คมยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหมด เพราะฉะนั้นกระแสจิตนี้
จึงสามารถพุ่งลอดภูเขา ลอดแผ่นดิน แล้วก็สามารถที่จะพุ่งไปในที่ที่ต้องการ
นั่นเรียกว่ากระแสจิตเต็มที่ แต่ว่า กระแสจิตที่เกิดเป็นเช่นนั้นนั่น
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสว่า ไม่สมควร ที่จะใช้กระแสจิตทิ้งไปเปล่าๆ

บางคนไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็พากันทำสมาธิ
ทำสมาธิมีกระแสจิตแล้วก็เล่นฤทธิ์ เล่นเดช แล้วก็พากันเพ่งอย่างโน้นบ้าง
เอาฤทธิ์อย่างนี้บ้าง ต้องการอยากจะให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้บ้าง
นั่นเรียกว่าใช้ทิ้งไปเปล่า เมื่อใช้ทิ้งไปเปล่านั้น มันก็เหมือนเรามีเงิน
แทนที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็หว่านมันทิ้งซะเปล่าๆ
เรียกว่าปล่อยมันทิ้งซะเปล่าๆ อย่างนี้
มันก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลผู้ดำเนินจิตมาถึงขั้นมีกระแสจิตนี้แล้ว
ท่านจึงให้ดำเนินวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปมัวใช้
เละๆ เทะๆ ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะพึงได้
มันก็ได้เหมือนกันแหละประโยชน์ แสดงฤทธิ์
ต้องการอยากจะให้คนเกิดความเลื่อมไส เชื่อถือ
หรือเรียกว่า อยากจะดูนรก ดูสวรรค์
หรือเรียกว่าอยากจะทำสิ่งให้มันเกิดมหัศจรรย์อะไรต่างเหล่านี้ มันก็ทำไปได้

แต่มันก็เป็นการเสียพลังโดยใช่เหตุ
เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสแก่ท่านปัญจวัคคีย์ว่า
เอวะ เมตัง ยถา ภูตัง สม ปัญญา...(ฟังไม่ออก)
คือให้พิจารณาตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ
ในการที่มีกระแสจิต กระแสจิตนั่นแหละเรียกว่าพิจารณาตามความเป็นจริงได้ว่า
เอวะ เมตัง ยถา ภูตัง คือพิจารณาตามความเป็นจริง

การพิจารณาตามความเป็นจริงนั้น
รูปัง ภิกขเว อนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน
พระองค์ทรงยืนยันให้พิจารณาที่รูปอันนี้
เพื่อที่จะให้กระแสจิตนี้เพ่งไป พิจารณาดูรูปว่า
รูปในอดีตเป็นยังไง รูปในอนาคตเป็นยังไง รูปในปัจจุบันเป็นยังไง
อย่างนี้ พิจารณาดู

เมื่อพิจารณาดูเห็นจริงแจ้งประจักษ์
การเห็นจริงแจ้งประจักษ์นั้น จึงได้ชื่อว่าเป็น
เอวะ เมตัง ยถา ภูตัง การพิจารณาตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ
กระแสจิตที่เพ่งพิจารณาไปนั้น ถ้าหากว่ามองไปมันก็มืดตึ๊ดตื๋อ
อย่างงั้นเรียกว่า ถึงเราจะคิดว่าเรามีกระแสจิต มันก็ไม่มี

เพราะความจริง มันก็ต้องเป็นความจริง ในเมื่อหลับตามองเห็นชัดเจนลงไป
อย่างนี้เค้าเรียกว่า มีกระแสจิต อย่างที่ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น
ท่านได้อบรมกระแสจิตของท่านมาพอแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าแนะ ก็ทำได้เลย
บอกว่าปัญจวัคคีย์ ทำอย่างนี้ก็ทำได้เลย
เหมือนกันกับคนมีเงินในกระเป๋าแล้ว เต็มที่แล้ว
มีคนบอก มีคนแนะว่า ซื้อบ้านสักหลังสิ ไม่ต้องไปพูดพล่ามทำเพลง
เอาเงินใส่ให้ บัดดลนั้นบ้านก็เกิดขึ้นเป็นของเรา

เช่นท่านปัญจวัคคีย์ที่ท่านมีกระแสจิตเต็มที่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า
รูปัง ภิกขเว อนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน
เพียงเท่านี้ เอวะ เมตัง ยถา ภูตัง
การพิจารณาตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อเวลา ที่เราต้องการจะทดสอบว่าเรามีกระแสจิตหรือไม่
ก็ใช้การหลับตา พิจารณามองไปก็แล้วกัน

จะดูกะโหลกศีรษะบ้าง จะดูกระดูกแขนของเราก็ได้
จะดูกระดูกขาของเราก็ได้ จะดูกระดูกซี่โครงของเราก็ได้
หรือจะดูของคนอื่นก็ได้ เห็นมั๊ย...ไม่เห็น ก็ใช้ไม่ได้
เห็นมั๊ย...เห็น ใช้ได้แล้ว ก็แสดงว่าผู้นั้นเกิดวิปัสสนา
วิปัสสนานั้น คือพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง

(วิปัสสนาญาณ)

การพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงนั้น
จะมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้พิจารณา สิ่งนั้นคือ นิพพิทาญาณ
ความเบื่อหน่ายจะเกิดขึ้นในเมื่อเห็นชัดเจนขึ้นมา
ถ้าไม่เห็นชัดเจนนั้น เราเดาเอา นิพพิทาญาณก็เกิดไม่ได้
นิพพิทาญาณเกิดขึ้นมาได้ ก็ถือว่าไม่ใช่เดาแล้ว
เป็นสิ่งที่เกิดแล้วตามความเป็นจริง วิปัสสนาได้เกิดขึ้นแก่เขา

วิปัสสนาก็เช่นเดียวกันกับสมถะ จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องใช้วันและเวลา
แล้วก็พิจารณาแล้ว ก็พิจารณาเล่า
เมื่อพิจารณา เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายขึ้นมานั้น
ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายนั้น ให้เป็นสิ่งที่เพียงพอต่อไป

เพราะฉะนั้น ในองค์มรรค อริยสัจจ์ ๔ นั้น
มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในองค์มรรคนั่น
พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสว่า
ภาเว ต ปัณติ เม ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มรรคควรเจริญให้มาก
ถ้าหากเราพิจารณาให้เกิดวิปัสสนาขึ้นมาแล้ว นั่นแหละ คือเป็นองค์มรรค
องค์มรรคนั้น ก็ต้องใช้กาล และเวลา

แต่การที่ดำเนินจิตมาเข้าขั้นนี้แล้วนั้น
มันก็ยังไม่วายที่จะมี วิปัสสนูปกิเลส ที่จะคอยเข้ามาประท้วง
หรือคอยเข้ามาที่หักล้าง วิปัสสนูปกิเลสนั้นไม่ได้ทำให้คนไปตกนรก
แต่วิปัสสนูปกิเลสนั้น ทำให้เกิดความล่าช้าเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในวิปัสสนูปกิเลสจึงมีโอภาส แสงสว่าง ไม่มีประมาณ
นิกันติ ความซึ้งไม่มีประมาณ เป็นต้น นั้นเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส

อันนี้จะเกิดขึ้นแก่ผู้ดำเนินจิตเข้าขั้นอุปจาระ
แล้วก็สามารถดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนา
พิจารณาให้ รู้แจ้ง และ เห็นจริงขึ้นมา
แต่ว่าเมื่อบังเกิดขึ้นซึ่งแสงสว่าง เมื่อบังเกิดขึ้นซึ่งความซึ้งอันเหลือหลาย
ที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้น ก็ทำให้เข้าใจผิดว่า ตนนั้นได้สำเร็จซะแล้ว

บางทีไปเจออาจารย์ที่ไม่เข้าใจอีก ก็เลยตกลงกับลูกศิษย์ว่าสำเร็จกันจริงๆ
แท้ที่จริงนั้น กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลส ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ
แต่ถึงแม้ว่าเค้าจะพากันเป็นวิปัสสนูปกิเลส แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เค้าไปตกนรกหรอก

เพราะฉะนั้น เราท่านทั้งหลาย เราจึงเป็นผู้ที่มีความดี
เรียกว่ามีความโชคดี มีความดีอย่างยวดยิ่งหรือเรียกว่าอย่างยิ่งยวด
ที่เราได้มีศรัทธามาปฏิบัติ พบพระพุทธศาสนา ได้พากันเดินทางถูกต้อง
ได้พากันสะสมอบรมความดีต่างๆ ทั้งในด้านการบริจาค
ทั้งด้านการรักษาศีล ตลอดจนการดำเนินจิตนี้
จึงเป็นหนทางที่จะให้ถึงซึ่งวิมุติ คือความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้

ต่อไปนี้พากันตั้งใจ นั่งสมาธิกันต่อไป


:b51: จบธรรมบรรยาย :b51:


:b47: ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20338

:b47: รวมคำสอน “หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43841

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron