วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 11:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ต.ค. 2010, 10:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 820


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ในมหาสติปัฎฐานสูตรอันดับแรกที่องค์พระพุทธเจ้าทรงหยิบเอาอานาปานุสตติ กรรมฐานขึ้นมาก่อน ถ้าไม่ดีแล้วก็คงไม่ยกนำมาเป็นอันดับแรกก่อนกรรมฐานกองอื่น สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน หมายถึงการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ ให้เอาใจกำหนดจับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปกติ จิตไม่มีเวลาว่างจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ไม่มีอารมณ์เลวเกิดขึ้น ไม่มีอกุศลใด ๆ แทรกเข้ามาได้ ขณะใดที่ใจยังตื่นอยู่ แม้ตาจะหลับให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเสมอ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออกในด้านของสติปัฏฐานสี่ แม้เวลาพูดคุยกัน จิตใจก็กำหนดลมหายใจเข้าออกไปด้วย แม้ใหม่ ๆ อาจจะลืมบ้าง แต่ต้องตั้งใจไว้ทรงสติไว้ว่าเราจะหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวก็รู้อยู่ แม้พระอรหันต์ก็ไม่ทิ้งลมหายใจ แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า "สารีบุตรดูก่อน สารีบุตรเราเองก็เป็นผู้มากไปด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน" คำว่า "มาก" ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร คือเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดของจิตใจ และเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดทางร่างกาย มีทุกขเวทนา เป็นต้น เราทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ก็เหมือนกับคนฉีดมอร์ฟีน เป็นยาระงับ ระงับเวทนา อานาปานุสติกรรมฐานจงทำให้มาก จงอย่าละ ถ้าใครแสดงอาการเลว แสดงว่าคนนั้นทิ้งกำหนดลมหายใจเข้าออก

ถ้าการกำหนดลมหายใจเข้าออกว่างเกินไป ก็ใช้คำภาวนาควบ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปกติ ทำให้เกิดฌานสมาบัติ ตั้งใจไว้เสมอไม่ว่า นั่ง นอน กิน เดิน คุย อย่างเลวที่สุดระยะต้นภายใน ๑ เดือนจะทรงฌาน ๔ การปฏิบัติก็จะเป็นผลโดยไม่ยุ่งกับอำนาจของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้ทรงฌานจะไม่มองดูความดีและความเลวของคนอื่น ไม่ติใคร จะมีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีคุณ
ขอจงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบคู่กับการภาวนา "พุทโธ"

จะใช้กรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตามจงใช้กรรมฐานกองนั้นให้ถึงอรหัตตผล ขอเพียงให้มีกำลังใจเข้มแข็ง กำลังใจดูตัวอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "เลือด และเนื้อของเราจะเหือดแห้งก็ตามที ชีวิตอินทรีย์ของเราจะสลายไปก็ตาม ถ้าไม่สำเร็จพระสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้"

ในการปฏิบัติในตอนแรกเราอาจจะรู้สึกว่ายาก คำว่า "ยาก" เพราะว่ากำลังใจของเรายังไม่เข้มแข็ง เพราะใจของเราหยาบมาก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน เพื่อดับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ต่อไปจะเจริญสมถะกองไหนก็ตาม หรือวิปัสสนากองใดก็ตาม จะเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ อันดับแรกของให้ทำอานาปานุสสติกรรมฐานถึงฌาน ๔ ความกลุ้มจะเกิดนิดหน่อยเพราะใหม่ ๆ จะทำให้ใจทรงอยู่ ก็คงจะคิดไปโน่นไปนี่ ก็อย่าเพิ่งตกใจว่าเราจะไม่ดี ถ้าบังเอิญเราทำกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ควบพุทธานุสสติกรรมฐาน ไปได้สัก 1-2 นาที จิตนี้เกิดอารมณ์พล่าน แล้วต่อมามีความรู้สึกตัว ว่า "โอหนอ นี่ใจเราออกไปแล้วหรือ" เราก็ดึงอารมณ์เข้ามาที่อานาปานุสสติกรรมฐานควบคู่กับพุทธานุสสติกรรมฐาน ใหม่ การทำอย่างนี้จงอย่าทำเฉพาะเวลา พยายามใช้เวลาตลอดวันไม่ว่าจะทำอะไรที่ไหน อย่างไร ใช้เวลาเป็นปกติ เวลาพูดรู้ลมหายใจเข้าออกได้หรือไม่ เวลาทำงานก็รู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย ลืมบ้างไม่ลืมบ้าง ขอให้มีความตั้งใจของจิต ควรจะตั้งเวลาทรงฌานไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในขณะที่จิตของท่านเข้าถึงฌานด้วยอำนาจของพุทธานุสสติกรรมฐาน หรือด้วยอำนาจของอานาปานุสสติกรรมฐาน

เวลาที่พอจะภาวนาได้ หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" ถ้าพูดไม่ได้ก็ใช้แต่อานาปานุสสติกรรมฐาน งานก็จะไม่เสีย เพราะอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ที่ละเอียด ขณะที่จะคิดงานก็วางอานาฯ ครู่หนึ่ง ใช้การคิดพิจารณา แต่ความจริงคนที่คล่องแล้วเค้าไม่ทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะขณะที่ใช้นั้นใช้ต่ำ ๆ แค่อุปจารสมาธิ ตอนนั้นอารมณ์เป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์จิตเป็นทิพย์ปัญญาก็เกิด เมื่อปัญญาเกิด งานที่ทำก็ไม่มีอะไรยาก

การตั้งเวลา จะใช้การนับก็ดี หายใจเข้าหายใจออก นับเป็นหนึ่ง ถึงสิบ และตั้งจิตไว้ว่า ตั้งแต่ 1-10 นี้จะไม่ยอมให้อารมณ์แวบไปสู่อารมณ์อื่น ถ้าไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อใดเราจะตั้งต้นใหม่ทันที และถ้า 1-10 แล้วอารมณ์จิตดี เราก็ไม่เลิก ตั้งต่อไปอีก 10 เมื่อถึง 10 ยังดีอยู่ เราก็ยังไม่เลิกต่อไปอีก 10 ในระยะใหม่ ๆ เรายังควบคุมไม่ได้ ก็ใช้กำลังใจของสมเด็จพระบรมครูมาใช้ เราก็จงคิดว่า ถ้า 1-10 นี้ไม่ได้ ก็จะให้มันตายไปซะเลย เมื่อนาน ๆ ไปไม่ถึงเดือนก็ต้องได้เลยสิบ

จิตทรงอารมณ์อานาปานุสสติกรรมฐานแล้ว อารมณ์อื่นก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ความหยาบในจิตใจหมดไป มีแต่ความละเอียด ก็จะมีความตั้งใจในการปฏิบัติงาน พยายามใช้กำลังใจให้อยู่ในขอบเขต ทำไม่ได้ถือว่าให้มันตายไป เวลานอนก่อนจะนอนก็จับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติแล้วก็หลับไป ตื่นใหม่ ๆ จะลุกหรือไม่ลุกก็ตาม ใช้อารมณ์ใจให้ถึงที่สุดทุกวัน


อุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานมีมาก เรียกว่าเป็นกรรมฐานที่มีความละเอียด อานาปานุสสติกรรมฐานอาศัยลมเป็นสำคัญ ถ้าวันใดลมหายใจหยาบ แสดงว่าวันนั้นจะปรากฎว่าอาการคุมสมาธิไม่ดี จะมีอาการอึดอัด บางครั้งจะรู้สึกว่าแน่นที่หน้าอก หรือว่าหายใจไม่ทั่วท้อง ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น หรือเกรงว่าอาการอย่างนี้จะมี เมื่อเวลาเริ่มต้นที่จะกำหนดกรรมฐาน ให้เข้าชักลมหายใจยาว ๆ สัก 3-4 ครั้ง คือหายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ สัก 3-4 ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบออกไป จากกนั้นก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่าบังคับให้หนัก ๆ หรือเบา หรือยาว ๆ สั้น ๆ

การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานต้องการสติสัมปชัญญะเป็นใหญ่ อาการของลมหายใจปล่อยไปตามสบาย ๆ แค่รู้ไว้เท่านั้น ว่าหายใจยาว หรือสั้น ก็รู้อยู่ และอีกแบบหนึ่งคือ กำหนด 3 ฐาน คือ เวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก ศูนย์เหนือสะดือ เวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือริมฝีปาก คนริมฝีปากเชิดจะกระทบริมฝีปาก ริมฝีปากงุ้มจะกระทบจมูก เป็นความรู้สึก จงอย่าบังคับลมหายใจให้แรง ปล่อยไปตามปกติ ความรู้สึกมีเพียงว่ากระทบจมูกอย่างเดียว ถ้ารู้ความสัมผัสจมูกก็แสดงว่า จิตทรงได้แค่อุปจารสมาธิ ถ้าสามารถรู้การสัมผัส 2 ฐาน คือหายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก และหายใจออกรู้กระทบหน้าอก กระทบจมูก 2 จุดนี้ แสดงว่า จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ถ้ารู้ถึง 3 ฐาน หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ และเวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูก รู้ได้ชัดเจน อย่างนี้แสดงว่าจิตเข้าถึงปฐมฌาน ถ้าอารมณ์จิตละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ฌานที่ 2 ที่ 3 อย่างนี้ลมหายใจเข้าหายใจออกจะเหมือนกระแสน้ำไหลเข้าไหลออก ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก อย่างนี้แสดงว่าจิตเข้าถึงปฐมฌานละเอียด หรือว่าฌานที่ 2 ที่ 3 สำหรับปฐมฌานลมยังหยาบอยู่ แต่รู้สึกว่าจะเบากว่าอุปจารสมาธิ พอถึงฌานที่ 2 จะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลงอีก ไปถึงฌานที่ 3 ลมหายใจที่กระทบรู้สึกว่าจะเบามาก เกือบจะไม่มีความรู้สึก ถ้าเข้าถึงฌานที่ 4 ก็จะมีความรู้สึกว่าไม่หายใจเลย แต่ความจริงร่างกายหายใจเป็นปกติ ที่ความรู้สึกน้อยลงไปก็เพราะจิตกับประสาทห่างกันออกมา ตั้งแต่ปฐมฌานจิตก็ห่างจากประสาทไปนิดหนึ่ง มาถึงฌานที่ 2 จิตก็ห่างจากประสาทมากอีกหน่อย พอถึงฌานที่ 3 จิตก็ห่างจากประสาทมากเกือบจะไม่มีความสัมผัสกันเลย ถึงฌานที่ 4 จิตปล่อยประสาท ไม่รับรู้การกระทบกระทั่งทางประสาททั้งหมด จึงไม่รู้สึกว่าเราหายใจ

อาการที่เข้าถึงอุปจารสมาธิ

เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จิตจะมีความสงบสงัดดีขึ้น ดีกว่าอุปจารสมาธิมีความชุ่มชื่นมีความสบาย แต่ทรงได้ไม่นาน อาจจะ 1 -2 - 3 นาทีในระยะต้น ๆ แต่บางวันก็ทรงได้นานหน่อย เมื่อจิตมีความสุข รื่นเริง อาการของปิติมี 5 อย่าง ที่จะเรียกว่า อุปจารสมาธิ จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิก็คือจิตมีปิติ และจิตเข้าถึงสุข ถ้าเข้าถึงสุขก็เรียกว่าเต็มอุปจารสมาธิ อาการของจิตที่ควรแก่การพิจารณา คือ

1. มีขนลุกซู่ซ่า ขนพองสยองเกล้า จงอย่าสนใจกับร่างกาย พยายามสนใจกับอารมณ์ที่ทรงไว้
2. น้ำตาไหล เวลาเริ่มทำสมาธิน้ำตาไหล ใครพูดอะไรก็น้ำตาไหล บังคับไม่อยู่
3. อาการโยกโคลง โยกหน้าโยกหลัง
4. มีอาการสั่นเคลิ้ม คล้ายเหมือนปลุกพระ บางคนมีอาการตัวลอย ไม่ใช่เหาะ เป็นปิติ
5. อาการซาบซ่าน ซู่ซ่าในกาย ตัวกายเบาโปร่ง มีความรู้สึกเหมือนตัวใหญ่ หน้าใหญ่ ตัวสูง

ปิติเมื่อเกิดขึ้น เราจะมีอารมณ์เป็นสุข ซึ่งเป็นความสุขที่อธิบายไม่ได้ เป็นความสุขสดชื่น ปราศจากอามิส อาการอย่างนี้จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิในอันดับขั้นสูงสุด เป็นการเต็มในขั้นกามาวจรสวรรค์ ขณิกสมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดในกามาวาจรสวรรค์ เมื่อเต็มขั้นกามาวจรแล้ว ถ้าเลยจากนี้ก็เป็นอาการของพรหม

ขณะที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ อาจจะเป็นขั้นต้น กลาง ปลาย ก็ตาม อุปจารต้นเรียกว่า ขนพอง สยองเกล้า น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง นี่เรียกว่า อุปจารสมาธิขั้นต้น อุปจารสมาธิขั้นกลาง คือ กายสั่นเทิ้ม คล้ายกับอาการปลุกพระ หรือมีร่างกายลอยขึ้น ตัวเบา ตัวใหญ่ มีจิตใจสบาย เรียกว่า อุปจารสมาธิขั้นกลาง ถ้ามีจิตใจเป็นสุขบอกไม่ถูก เรียกว่า อุปจารสมาธิขั้นสูงสุด จะเป็นอุปจารสมาธิอันดับใดก็ตาม ในขณะนี้จะมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น นั่นคือ บางครั้งเห็นแสงสีต่าง ๆ เกิดขึ้น สีแดง สีเขียว สีเหลือง บางครั้งก็เหมือนกับใครมาฉายไฟที่หน้า บางครารู้สึกว่ามีแสงสว่างทั่วกาย ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น จงทราบไว้ว่าเป็นนิมิตของอานาปานาสติกรรมฐาน แต่บางทีก็มีภาพคน อาคาร สถานที่เกิดขึ้น แต่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นชั่วครู่แล้วก็หายไป ตอนนี้ขอให้จงอย่าสนใจกับแสงสีใด ๆ ทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง ทำความรู้สึกไว้เสมอว่า เราเจริญกรรมฐานต้องการอารมณ์จิตเป็นสุข ต้องการอารมณ์เป็นสมาธิ ทำความรู้สึกว่าเรายังดีไม่พอ ยังไม่เข้าถึงปฐมฌาน

ถ้าเข้าถึงปิติส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฎขึ้น ขณะที่กำลังทำงานก็ดี เดินอยู่ก็ดี เราเหนื่อยก็นั่งพัก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกทันที จิตใจเป็นสุข อาการเหนื่อยจะหายอย่างรวดเร็ว เพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการระงับทุกขเวทนาทางกายจุดหนึ่ง และขณะที่เหนื่อยอยู่หาที่พักแม้จะมีเสียงดังก็ตาม จับลมหายใจเข้าออกทันที พอจับปรับอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปิติ แสดงว่าเข้าถึงสมาธิได้อย่างรวดเร็ว ควรจะพยายามไว้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราคล่องในการทรงสมาธิ เวลาที่จิตถึงฌานสมาบัติ เราสามารถจะเข้าฌานได้ตามอัธยาศัย ถ้าเข้าฌานโดยต้องการเวลาเพื่อที่จะให้เกิดฌานนั้น แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ การทรงสมาธิต้องคล่องที่ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า จิตเข้าถึงนวสี คำว่านวสี คือการคล่องในการเข้าฌานและออกฌาน

ฉะนั้นการฝึกสมาธิจงอย่าหาเวลาแน่นอน ไม่ว่าจะทำอะไร นั่ง เดิน นอน กิน จิตจับลมหายใจเข้าออกให้ทรงตัว อย่าปล่อยจิตให้ว่างจากสมาธิ การก้าวเดินก็อาจจะก้าวขวาก็พุท ก้าวซ้ายก็โธ เวลากินก็รู้ว่าตัก กำลังเคี้ยว กำลังกลืน เป็นการทรงสมาธิได้ดี เวลานอนก่อนจะหลับ ใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน ขณะที่หลับจะถือว่าเป็นผู้ทรงฌาน จิตจะเข้าถึงปฐมฌาน หรือสูงกว่านั้นจึงจะหลับ ถ้าตายระหว่างนั้นก็จะเป็นพรหม เวลาตื่นก็จะตื่นหรือลุกก็ได้ จับลมหายใจเข้าออกทันที เพื่อให้สมาธิจิตทรงตัว เป็นการรวบรวมกำลังใจสูงสุด

เมื่อผ่านอุปจารสมาธิแล้ว จิตจะมีความสุขมีความเยือกเย็น โดยฌานแบ่งออกเป็น 4 อย่าง

ปฐมฌาน อาการมีองค์ 5 มีวิตก วิจาร ปิติ สุข เอตคตา คำว่า วิตก ได้แก่อารมณ์นึก ที่เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก วิจาร ได้แก่ รู้ว่าเวลานี้เราหายใจเข้าหรือออก ยาวหรือสั้น หรือในกรรมฐาน 40 ก็จะรู้ว่าเวลานี้กระทบจมูก หน้าอก ศูนย์เหนือสะดือ

ปิติ ความเอิบอิ่มใจ มีความชุ่มชื่น เบิกบาน ไม่มีความเบื่อในการเจริญพระกรรมฐาน เอตคตา มีอารมณ์เดียว คือในขณะนั้นจิตจับเฉพาะลมหายใจเข้าออกปกติ จิตจะไม่รับอารมณ์ส่วนอื่น

ความรู้สึกในขณะที่จิตเข้าถึงปฐมฌาน จิตจะจับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจจะเบามีความสุขสดชื่น หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ไม่รำคาญในเสียง กำลังจิตสำหรับผู้ที่เข้าถึงปฐมฌาน ในเบื้องแรกยังไม่มั่นคง ในขณะที่จับลมหายใจเข้าออก จะมีสภาพนิ่งคล้ายเราเคลิ้ม คิดว่าเราหลับ แต่ไม่หลับ มีอาการโงกหน้าโงกหลัง แต่จริง ๆ แล้วตัวตั้งตรง พอสักครู่จะมีอาการหวิวคล้ายตกจากที่สูง นั่นคือเป็นอาการจิตหยาบ อารมณ์หยาบของปฐมฌาน เป็นจิตพลัดจากฌานไม่สามารถผ่านไปได้ จงอย่าสนใจพยายามรักษาอารมณ์ปกติไว้ ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น

ฌานที่ 2 มีองค์ 3 ตัดวิตก วิจาร เหลือ ปิติ สุข เอตคตา จิตจะไม่สนใจ มีความเบาลง มีความนิ่งสนิท ถ้าภาวนากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คำภาวนาจะหายไป จิตจะตั้งอารมณ์ทรง มีความเอิ่มอิ่ม มีอารมณ์สงัด แต่ถ้าเราไปที่อุปจารสมาธิก็จะมาคิดว่า เอ...เราเผลอไปแล้วเหรอ เราไม่ได้ภาวนาเลย ความจริงนั่นไม่ใช่ความเผลอ เป็นอาการของจิตทรงสมาธิสูงขึ้น

ฌานที่ 3 มีองค์ 2 มีอาการสุข และเอตคตา ตัดปิติหายไป อาการของฌานนี้ จิตมีความสุข มีอารมณ์ตั้งดีกว่าฌานที่ 2 และร่างกายเหมือนมีอาการนั่งหรือยืนตรงเป๋ง สำหรับลมหายใจจะเบามากเกือบไม่มีความรู้สึก หูได้ยินเบามาก แม้ว่าเสียงนั้นจะดัง

ฌานที่ 4 จะมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้หายใจ มีอารมณ์เด็ดเดี่ยวตั้งมั่น มีความมั่นคง ไม่มีความรู้สึกภายนอก ไม่ว่ายุงจะกัด เสียงก็ไม่ได้ยิน จิตนิ่งเฉย ๆ มีเอตคตาและอุเบกขา เอตคตาหมายความว่าทรงอารมณ์เป็นหนึ่ง อุเบกขา หมายความว่าเฉย ไม่รับสัมผัสอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด

แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติจงอย่าสนใจว่า ตอนนี้เข้าถึงฌานอะไร ถือว่าวันนี้ได้ดีเพียงไร พอใจเท่านั้น คิดว่าเป็นผู้สะสมความดี ทรงอารมณ์สมาธิ ถ้าจิตตั้งได้ก็จะมีอาการเป็นสุข เวลาเจริญสมาธิจิต ไม่ว่ากรรมฐานกองใดก็ตาม เวลานี้อยู่ในฌานใด อย่าไปตั้งว่าเราจะต้องได้ฌานนั้น ฌานนี้ จะทำให้ไม่ได้อะไรเลย ให้มีความพอใจแค่ที่ได้ เป็นการฝึกจิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์ ทำให้ต่อไปจิตจะทรงฌาน 4 ได้ง่าย

การปฏิบัติที่จะให้ได้ผลจริง ๆ ใช้ตลอดทุกอิริยาบถ อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก พยายามนึกลมหายใจเข้าออกเสมอ แต่หากว่างานนั้นไม่เหมาะที่จะดูลมหายใจเข้าออก เราก็ใช้จิตจับอยู่ที่งานว่าเวลานี้เราทำอะไร เป็นการฝึกอารมณ์ของสมาธิไปในตัว

วิธีการต่อสู้คือ

1. ต่อสู้กับความเหนื่อย จิตจับสมาธิ จับลมหายใจเข้าออก ดูว่าจิตจะทรงตัวไม๊ ถ้าจิตไม่ทรงตัวเราจะไม่เลิก เป็นการระงับความเหนื่อย ดับความร้อนไปในตัว เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิเล็กน้อย ความเหนื่อยก็จะคลายตัว พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิก็จะหายเหนื่อยทันที ความร้อนความกลุ้มก็จะหายไป

2. การต่อสู้กับเสียง ขณะที่เราพบเสียงที่เค้าคุยกันเสียงดัง ลองทำจิตจับลมหายใจเข้าออก ว่าเรารำคาญเสียงไม๊ หรือลองเปิดเสียงทีวี วิทยุฟังแล้วกำหนดอานาปานุสสติกรรมฐาน หูได้ยินเสียงชัด แต่จิตของเราไม่รำคาญในเสียงนั้นก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทำไป หูไม่ได้ยินเสียงเลยนั่นยิ่งดี พยายามต่อสู้เสมอ จนมีอารมณ์ชิน เมื่อเราเจอเสียงที่พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม เราเข้าสมาธิได้ทันทีทันใด เป็นการฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิ ถ้าทำได้อย่างนี้จะทำให้อารมณ์จิตทรงตัว

3. ต่อสู้กับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ต้องพยายามระงับด้วยกำลังของสมาธิ คิดว่าใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เป็นเรื่องของเขา เวลาที่เราได้รับคำด่า อย่าเพิ่งโกรธใช้จิตพิจารณาดูก่อนว่าเรื่องที่เค้าด่านั้นจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่ตรงความจริงก็ยิ้มได้ ว่าคนที่ด่าไม่น่าเลื่อมใส ด่าส่งเดช หรือถ้าพบอารมณ์ที่เราไม่พอใจ ก็จับอารมณ์ให้จิตทรงตัว ไม่ว่าเค้าจะด่าว่าอะไร เรารักษาอารมณ์ที่เป็นสุขไว้ ถือว่าอารมณ์ความสุขเป็นปัจจัยเข้าถึงพระนิพพานโดยง่าย เป็นอารมณ์แบบสบาย ๆ หัดฝึกจิตกระทบอารมณ์ที่เราไม่พอใจ ระงับความอยากด้วยกำลังของฌาน กำลังของฌานระงับกิเลสได้ทุกอย่าง โลภะ(ความโลภ) ราคาะ(ความรัก) โทสะ(ความโกรธ) โมหะ(ความหลง) ระงับได้ทุกอย่างแต่มีอารมณ์หนัก เมื่ออารมณ์จิตของเรามีการทรงตัวจริง ๆ อารมณ์แห่งความสุขจะยืนตัวกับจิตของเรา จะไม่หวั่นไหวเมื่อเห็นวัตถุที่สวยงาม ไม่ทะเยอทะยานจากอาการที่ได้ลาภสักการะ ไม่หวั่นไหวเมื่อมีคนยั่วให้โกรธ สิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นเราของเราก็ไม่มี ความจริงกำลังสมาธิสามารถกดกิเลสทุกตัวให้จมลงไปได้ แต่อย่าลืมว่ากิเลสมันไม่ตายถูกฝังไว้ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ก็โดนเล่นงานเมื่อนั้น สำหรับคนที่ทรงจิตถึงฌาน ๔หรือทรงอารมณ์สมาธิถึงฌานใดฌานหนึ่ง จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน มักจะมีอาการเผลอคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ เพราะไม่พอใจทั้งหมด ไม่เอาทั้งรัก โลภ โกรธ หลง แต่ถ้ากำลังใจตกลง ทั้งรัก โลภ โกรธ หลงก็เข้ามาหา เพราะเป็นแค่ฌานโลกีย์เท่านั้น แต่ถ้าเราสามารถระงับได้ก็ควรจะพอใจ เพราะกิเลสสามารถกดลงไปได้ ไม่ช้าก็สามารถจะห้ำหั่นให้พินาศด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ

ที่มา http://www.larnbuddhism.com/grammathan/anapana2.html


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ต.ค. 2010, 14:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ม.ค. 2010, 11:43
โพสต์: 523

แนวปฏิบัติ: ดูปัจจุบันอารมณ์ เจริญมรรค ๘
งานอดิเรก: ปฏิบัติธรรม
สิ่งที่ชื่นชอบ: ประทีปแห่งเอเซีย
ชื่อเล่น: อโศกะ
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www




100_0942_resize.JPG
100_0942_resize.JPG [ 62.8 KiB | เปิดดู 2492 ครั้ง ]
tongue อานาปานสติภาวนาที่ถูกต้อง ต้องมี 15 ขั้นตอนอย่างนี้นะครับ ใม่ใช่เฉพาะบริกรรมพุทโธตามลมหายใจเข้าออก

อานาปานสติสูตร

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวก ผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกัน เช่น
ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่น ๆ
ก็สมัยนั้นแล พระเถระทั้งหลายพากันโอวาท พร่ำสอนพวกภิกษุอยู่ คือ พระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวก โอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง
ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อนฯ
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้ เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำให้แจ้ง โดยยิ่งกว่าประมาณเถิด เราจักรอยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท"
พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคจักรอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะ เพิ่มประมาณขึ้น คือ ภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง
และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาท พร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อนฯ
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ขณะนั้น พระผู้พระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่สารธรรมอันบริสุทธิ์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัท ที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก และถวายของมากมีผลมากยิ่งขึ้น
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควร ที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชมนับเป็นโยชน์ ๆ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้น ๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางมายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่ประกอบความเพียรในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอันทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่ประกอบความเพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ ก็มีอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอานาปานาสติอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้
ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
เธอย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดปีติ หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นกำหนดรู้ปีติ หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจ ว่าเราจักเป็นกำหนดรู้จิต หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้าว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัดหายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร? ทำให้มากแล้วอย่างไร? จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายมีความเพียร รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายมีความเพียร รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก
สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี
เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชาฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ? ทำให้มากแล้วอย่างไร ? จึงบำเพ็ญย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุเธอเมื่อค้น คว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกสเยได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ.......
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์แล้ว สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุปีติ ปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ในสมัยนั้น ปัสสัทะสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษูปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสมัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปฏิฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์.......... ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ .... ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์........... ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ฯ"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ
อานาปานสติสูตร ๑๔/๑๖๕

15 ขั้นตอนของการทำวิปัสสนาภาวนา ควบคู่ไปกับการทำสติรู้ลมหายใจเข้าออก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

1. เธอย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น

2.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก

3. สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

4.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นกำหนดรู้ปีติ หายใจออก

5.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก

6.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก

7.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก

8.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจ ว่าเราจักเป็นกำหนดรู้จิต หายใจออก

9.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก

10สำหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า

11สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้าว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก

12. สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก

13สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัดหายใจออก

14 สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก

15.สำหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก

สรุป 15 ขั้นตอนของวิปัสสนาภาวนา ที่มี สมถะ คือการกำหนดสติรู้ลมหายใจเป็นเครื่องยึดของจิต
1. หายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
2.กำหนดรู้กองลมทั้งปวง
3. ระงับกายสังขาร

4.กำหนดรู้ปีติ

5.กำหนดรู้สุข

6.กำหนดรู้จิตสังขาร

7.ระงับจิตสังขาร

8.กำหนดรู้จิต

9.ทำจิตให้ร่าเริง

10.ตั้งจิตมั่น

11.เปลื้องจิต

12. ตามพิจารณาความไม่เที่ยง

13.ตามพิจารณาความคลายกำหนัด

14. ตามพิจารณาความดับกิเลส

15.พิจารณาความสละคืนกิเลส
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัวมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี
cool
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron