วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 02:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2010, 12:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, ธันวาคม ๒๕๔๘
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑๔ อานาปานสติ
หน้า ๖๐๗-๖๑๔


รูปภาพ

การเจริญอานาปานสติ
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เทศนา ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒
⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

ได้แสดงถึงเรื่อง กายคตาสติ เมื่อวันพระที่แล้ว
วันนี้จะแสดงเรื่อง อานาปานสติ สืบต่อไป

ที่จริง อานาปานสติ ก็ดี มรณสติ ก็ดี มันก็เป็น กายคตาสติ นั่นเอง
คือเกี่ยวเนื่องถึงร่างกาย แต่ท่านอธิบายแยกออกไป
พวกเราพากันหลงต่างหาก จึงได้ว่าหลงของเก่า
รวบรวมเอาคำสอนของท่านไม่ได้

เอาเถิด ถึงอย่างไรก็ดีเมื่อแสดง อนุสสติ ๑๐ แล้ว
ก็จะแสดงโดยลำดับไปเพื่อมิให้ขาดตอนกัน

อานาปานสติ เป็นอนุสสติที่ ๙ ที่ท่านได้แสดงไว้ในตำราว่า
ให้พิจารณาหายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับเป็นสอง
อยู่อย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าจิตจะรวมสงบลงได้ เรียกว่า อานาปานสติ

ถ้าจิตยังไม่สงบลงก็ให้พิจารณาอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป
เมื่อจิตสงบสู่ภวังค์แล้ว จะวางคำบริกรรมที่ว่า
ลมหายใจเข้า หนึ่ง ลมหายใจออก นับเป็นสองนั้นเสีย
จะคงเหลือแต่ความสงบสุขนั้นอย่างเดียว

แท้ที่จริงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เป็นแต่เพียงคำบริกรรมเพื่อให้จิตรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเท่านั้น
เปรียบเหมือนกับเหยื่อล่อปลาให้มากินเบ็ดเท่านั้นเอง
เมื่อปลากินเบ็ดแล้ว เหยื่อนั้นเขาไม่ต้องการอีก เขาต้องการเอาปลาต่างหาก

อันนี้ก็ฉันนั้น เราต้องการให้จิตสงบนิ่งต่างหาก
เมื่อจิตสงบไม่แส่ส่ายแล้วก็ไม่ต้องบริกรรมต่อไป


เป็นที่น่าสังเกตว่าบางคนภาวนาอานาปานสติ จนจิตมันอยากจะสงบนิ่งอยู่แล้ว
แต่อาจารย์สอนไม่ให้วางคำบริกรรม
เมื่อจิตรวมลงไปสู่ภวังค์ ลืมคำบริกรรมหมด
อาจารย์กลับบอกว่าผิดใช้ไม่ได้ นับเป็นความเข้าใจผิดของอาจารย์ต่างหาก
การภาวนาต้องการให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เมื่อรวมเป็นหนึ่งแล้ว
สิ่งอื่นๆ ที่เป็นอารมณ์ของจิตมันก็วางหมด อย่าไปว่าแต่คำบริกรรมเลย
ที่สุดแม้แต่ลมหายใจก็ไม่ปรากฏที่นั่น และตัวของเราเองก็ไม่ปรากฏ

นี่คือจิตเป็นสมาธิ อย่างนี้จึงชื่อว่าภาวนาเป็นไปได้

คำที่ใช้สำหรับบริกรรมมีมาก เข่น อสุภ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
แต่ในที่นี้จะแสดงอนุสสติ ๑๐ เท่านั้น

เพราะคำบริกรรมเป็นแต่เพียงเครื่องที่นำจิตหรือผูกจิตไว้ไม่ให้ส่งส่าย
เมื่อจิตรวมลงเข้ามาเป็นสมาธิแล้ว ก็วางอารมณ์อื่นหมด
ถึงเราไม่วางก็จำเป็นต้องวางเองตามครรลองของจิต

เมื่อถึงตรงนั้นแล้วตั้งสติมากำหนด เอาแต่จิต คือผู้รู้ อย่างเดียว
เช่นนี้แหละเรียกว่า สมาธิ

จึงน่าเสียดายที่ไม่ได้ตามสมาธิลงไปว่าใครเป็นผู้รู้ว่าสมาธิ คือความสงบ
หรือใครสงบอยู่ ณ ที่ใด ใครเป็นผู้พูดว่าสงบ และผู้ว่านั้นอยู่ที่ไหน
ใครเป็นผู้ว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไรทำไมจึงมีผู้พูดอยู่
ตรงนี้แหละจะเห็นของจริงของแท้ในการที่เรามาหัดภาวนาสมาธิ

บางคนยังเอาแสงสว่าง หรือรูปภาพอะไรต่างๆ
เป็นต้นว่า รูปพระพุทธรูป หรือรูปกสิณต่างๆ มาเป็นอารมณ์
จิตปล่อยวางไม่ได้ จะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ปรากฏอยู่อย่างนั้น ไม่ลืม

นั่นเป็นมโนภาพ จิตเพ่งอย่างนั้นเมื่อจิตรวมลงไปก็เกิดภาพเช่นนั้น
จิตถึงไม่พ้นจากภาพนั้น

ถ้าหากกำหนดเอาผู้เห็นภาพนั้นคือจิต แล้วปล่อยวางภาพนั้นเสีย
ก็จะเห็นจิตของตน แล้วสมาธิก็จะสูงขึ้นกว่าเก่า


มีเรื่องท่านเล่าไว้ว่าพระรูปหนึ่งไปนั่งภาวนาทำสมาธิอยู่ริมสระแห่งหนึ่ง
เห็นนกยางโฉบกินปลา เลยเอามาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานว่า
นกยางกินปลา นกยางกินปลาๆ อยู่ดังนี้
จนจิตรวมเป็นสมาธิ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ดังนั้น จึงว่าการหัดสมาธินี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้เอาคำบริกรรม
แต่ในขอบเขตที่ท่านว่าไว้ ๔๐ อย่างเท่านั้น จะเอาอะไรๆ ก็ได้
ขอแต่อย่าให้ออกนอกไปจากกายของตัวเรา ก็ใช้ได้เหมือนกัน


กายของเรานี้มีธรรมอยู่พร้อมเบ็ดเสร็จทุกอย่าง
จะพิจารณาให้เห็นอสุภก็ได้ ให้เป็นกรรมฐานอะไรๆ ได้หมด
และเป็นที่ตั้งทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย

จะพิจารณาให้เห็นโทษเห็นทุกข์
เห็นเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็ได้
อย่าไปทิ้งกายอันนี้ก็แล้วกัน จะทิ้งไม่ได้
เพราะเราเกิดขึ้นมาได้ตัวตนมาแล้วจะไปทิ้งให้ใคร จะทิ้งไว้ที่ไหน
ไปฝากใครไว้ จะขายให้ใคร ถึงขายตัวของเราไปมันก็อยู่ที่นี่แหละ
จะฝากคนอื่นไว้ก็ยังเป็นตัวตนของเราอย่างเดิมนี่แหละ
ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อตัวของเราเองอยู่ทุกประการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณา
ผู้ต้องการเห็นทุกข์โทษในวัฏสงสาร
ต้องยกกายนี้ขึ้นมาพิจารณาเพราะเป็นของมีอยู่

กรรมฐานทั้งปวงหมดล้วนมีอยู่ในกายนี้ทั้งนั้น
เลือกยกเอามาพิจารณา ไม่ใช่ไปเอาของไม่มีมาพิจารณา


พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็ทรงรู้ของมีอยู่ทั้งนั้น
ถ้าเป็นของไม่มี ไม่จริง พระพุทธองค์ก็จะไม่ได้ตรัสรู้

มันเป็นอยู่อย่างไร ก็ให้รู้ตามเป็นจริงของมันอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าทรงสอนตรงนี้
ทรงสอนให้เห็นจริงทั้งด้วยตาและด้วยใจ


เช่น ตัวของเรานี้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์
ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครก็เห็นเป็นทุกข์ทั้งนั้น
ถามใครใครก็รู้ เจ้าของเราก็รู้ ใจก็รู้ ตาก็เห็น นั้นเรียกว่าของจริง

ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ
ชาติ ชรา มรณะ เป็นทุกข์ทั้งนั้น


เมื่อเห็นเป็นโทษเป็นทุกข์เราจะไปทิ้งให้ใคร
ทิ้งก็ไม่ได้ จึงเอามาพิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ

นั่นเป็นของจริงของพระอริยเจ้า เรากลับไปเบื่อหน่าย ไปรังเกียจเสีย
เห็นทุกข์แล้วเลยอยากทิ้งไปเสีย อันนั้นผิด

หรือเกิดทุกข์โทมนัสคับแค้นในใจ นั้นก็ผิดเหมือนกัน

ธรรมทั้งหลายมันอยู่ตรงนี้เอง จึงพิจารณาให้เห็นทุกข์ รู้จักทุกข์

ทุกข์อันนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
ทุกข์อันอื่นมันจะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปอีก มันเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปมาเรื่อยๆ
เช่น ทุกข์ในอิริยาบทต่างๆ การอยู่ การกิน การทำมาหาเลี้ยงชีพ
มีกินแล้วก็สบายไปได้ระยะหนึ่ง ประเดี๋ยวก็หิวโหยมาอีก

รู้จักรสชาติเอร็ดอร่อย รสชาตินั้นซึมซาบทั่วสรรพางค์กาย
มีความสบายเบิกบานไปพักหนึ่ง ประเดี๋ยวก็ต้องไปถ่ายทุกข์
เขาเรียกว่า ถ่ายทุกข์
เพราะถ้าไม่ถ่ายมันเป็นทุกข์จริงๆ ทุกข์มากยิ่งกว่าเก่า

กำลังถ่ายอยู่นั้นมันเหม็นแสนเหม็นก็จำเป็นต้องทน
กว่าจะเสร็จธุรกิจจึงจะไปได้

เวลากินล้วนแล้วแต่ของดิบของดีๆ มีราคามาก
เรียกร้องพวกเพื่อนมารับประทานด้วยกัน ด้วยความหรรษาร่าเริง
เวลาถ่ายเงียบฉี่ไม่มีใครเห็นด้วย

จึงว่ามีสุขแล้วก็เป็นทุกข์ เป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยง
เพราะเป็นของไม่เที่ยงนั่นแหละมันจึงเป็นทุกข์

การเป็นทุกข์มันเป็นของใครเล่าคราวนี้ ?

สุขก็ไม่ใช่ของใคร มันเกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็หายไป
เดี๋ยวทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีกแล้วมันก็หายไป

มันไม่ใช่ของใครทั้งหมด
มันเป็นของประจำกายอยู่อย่างนั้น
จึงว่าเป็น อนัตตา

อนัตตา เป็นของมีอยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ แต่เป็นของไม่มีสาระ

อานาปานสติ นั้น เมื่ออธิบายแล้วจะเห็นว่ามันลงที่กายคตาสตินั่นเอง
กายคตาสติ ก็รวมลงมรณสติ เลยเป็นอันเดียวกัน

ถ้าไม่มีกายจะพิจารณาลมหายใจได้อย่างไร
แล้วพิจารณากายได้อย่างไร

เมื่อจะพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว
มันเกี่ยวเนื่องถึงกันไปหมดทั้ง ๓ อย่าง


ผู้ที่หลงทางกัมมัฏฐานเลยจับอะไรก็ไม่ถูก

มีเรื่องน่าขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง มีพระมหารูปหนึ่ง
ทางเจ้าคณะเขาสั่งไปให้เที่ยวอบรมสั่งสอนศีลธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ
ที่เรียกว่า พระธรรมทูต นั่นเอง

เมื่อไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเขาปฏิบัติพระนักปฏิบัติอยู่แล้ว
พอค่ำมาเขาก็ตีกลองให้คนมาฟังเทศน์
เมื่อเขามารวมกันแล้ว พระมหาองค์นั้นก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์

เทศน์ไปแกก็ติเตียนพระนักปฏิบัติไป
หมายถึงพระกรรมฐานรูปที่ชาวบ้านเขาปฏิบัติท่านอยู่นั่นเอง
หัวเราะเฮฮาเย้ยหยันไปในตัว
อันแสดงถึงเรื่องชาวบ้านปฏิบัติตามพระเหล่านั้นเห็นเป็นหลงงมงาย

มีผู้หญิงคนหนึ่ง วัยกลางคน นั่งอยู่ในที่ปะชุมนั้นด้วย
แกแสนที่จะอดกลั้นต่อไปได้ สงสัยว่าทำไมพระจึงมาใส่โทษกันในที่ประชุมเช่นนี้
พระรูปที่ท่านพูดถึงนั้นก็ไม่ได้ทำผิดพระธรรมวินัยอะไร
แล้วท่านก็ไม่ได้อยู่ในที่นั้นอีกด้วย

แกจึงย้อนถามทั้งๆ ที่พระมหารูปนั้นยังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์นั้นเอง
ว่า “ดิฉันขอถามท่านมหาหน่อย ท่านมหามิใช่กรรมฐานหรอกหรือ ?”

ท่านมหาตอบอย่างไม่มีอายว่า “อาตมามิใช่พระกรรมฐาน”

หญิงคนนั้นจึงย้อนถามอีกว่า
“เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ของท่านมหามีไหม ?”

ท่านตอบเสียงอ่อยๆ ว่า “มี”

หญิงคนนั้นจึงบอกว่า “นั่นแหละพระกรรมฐานที่ท่านใส่โทษอยู่ประเดี๋ยวนี้
อุปัชฌาย์ของท่านมหาสอนแล้ว แต่เมื่อบวชครั้งแรกโน้นมิใช่หรือ ?”

ท่านมหาลงจากธรรมาสน์แล้วเปิดหนีแต่เช้ามืด ทีหลังมาได้ข่าวว่าสึกแล้ว

มิน่าล่ะถึงเป็นพระมหาแล้วยังต้องให้ผู้หญิงบอกสอนกรรมฐาน
สึกเสียก็ดี อยู่ไปก็เลอะเทอะ ทำพระศาสนาให้เสื่อมเปล่าๆ


ใครจะพิจารณาอานาปานสติหรืออะไรก็แล้วแต่อุปนิสัย
ขอให้จิตรวมลงเป็นหนึ่งได้แล้วก็เป็นอันดีด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าจิตไม่รวมจะใช้วิธีอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น
กรรมฐานที่ท่านว่าไว้มากมาย
หรือธรรมทั้งหลายที่ท่านเทศนากว้างขวางนั้น
ก็เพื่อสำรวมจิตนี้เท่านั้นเอง


เทศนามาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวํ ฯ


(นั่งสมาธิ)
หลวงปู่อบรมนำก่อน

นั่งสมาธิภาวนากันเถิด ฟังมากๆ เรียนมากๆ ทำให้เกิดสัญญา

สัญญา คือความจำของเก่าที่ล่วงเลยมาแล้ว
เราทำสมาธิเพราะต้องการลบล้างสัญญา

แท้จริงสัญญามันก็ดีอยู่เหมือนกัน เอาไว้เล่าเอาไว้เทศนาให้คนอื่นฟัง
ถ้าไม่มีสัญญาก็ไม่ทราบว่าจะไปฟังอะไรกับใคร
พุทธศาสนาก็เลยเสื่อมสูญไปหมด

แต่สัญญามิใช่ของเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในใจของตน
สัญญานี้อยู่ไปนานๆ หนักเข้ามันชักจะดื้อด้าน
ไม่ยอมเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระองค์ทรงสอนให้ภาวนาอานาปานสติ
ซึ่งเป็นอุบายให้ลบล้างสัญญาได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน
คือใช้คำว่า อานาปานสติๆ อย่างนี้เรื่อยไป
พิจารณาลมหายใจออก หายใจเข้า เป็นอารมณ์
ให้จิตแน่วแน่อยู่เฉพาะที่ลมนั้นเท่านั้น


เมื่อพิจารณารวมอยู่ในที่เดียวแล้ว คราวนี้ให้วางลมอันนั้นเสีย
จิตก็จะว่างอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรปรากฏอยู่ในที่นั้น จะเหลืออยู่แต่ผู้รู้เท่านั้น

เมื่อตามเข้าไปดูผู้รู้จริงๆ แล้ว
ผู้รู้อันนั้นก็จะหายไปเป็นสภาวธรรม

สิ่งทั้งปวงหมดที่มีอยู่ในโลกนี้
ที่โลกเขาสมมุติว่าสัตว์ บุคคล ว่าสิ่งของนั่นนี่ต่างๆ นั้น
ก็หายไปหมด จะยังเหลือแต่สภาวธรรมเท่านั้น

อันนี้แหละเป็นสิ่งที่ปรารถนาของผู้ภาวนาอานาปานสติ

แล้วมันมีประโยชน์อะไร เมื่อมันหมดเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
แม้แต่ความรู้ความสุขนั้นก็ไม่ปรากฏ ?

มันมีประโยชน์เหลือที่จะคณนาดังอธิบายมาแล้วข้างต้น

ภาวนาอานาปานสติก็เพื่อลบล้างสัญญาอดีต และสังขารในอนาคต
เพราะสิ่งที่ล่วงลับไปแล้วและสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเหล่านี้
เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ สัญญาไปยึดเอามาเป็นทุกข์

คนเราเกิดมาเห็นแต่สิ่งแวดล้อมต่างๆ นานา
สิ่งที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ไม่เคยเห็น
เลยไปถือเอาแต่สิ่งเหล่านั้นและว่าเป็นความสุขที่แท้จริง

แท้จริงสิ่งที่เป็นวัตถุ รูปนามเกิดขึ้นมาแล้ว
สิ่งนั้นย่อมมีความกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา
เครื่องกระทบกระเทือนเป็นเหตุนำมาซึ่งโทษทุกข์
เพราะกระทบต้องมีทั้งดีและชั่ว นี้เป็นพื้นฐานของทุกข์ทั้งปวง

ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายรู้จักแล้วซึ่งสิ่งนั้น จึงพยายามละสิ่งที่มีอยู่นี้ให้สิ้นไป
และพยายามไม่ให้สิ่งที่ยังไม่มีเกิดขึ้นอีกต่อไป


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35963

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” วัดหินหมากเป้ง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42782

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ส.ค. 2010, 05:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


มหาสติปัฏฐานสูตร

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๖๒๕๗ - ๖๗๖๔. หน้าที่ ๒๕๗ - ๒๗๗.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B ... agebreak=0

ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=273

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


วิเคราะห์แนวคิดท่านพุทธทาส
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


ส่วนหนึ่งของเสวนา "มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส 'แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร'"

เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คัดลอกมาจาก...นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ฉบับวันที่ ๐๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๐๗
วิภา จิรภาไพศาล /ในโลกอันแสนวิปริต กับฐานความคิดท่านพุทธทาส

ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านพุทธทาส เครือข่ายธรรมโฆษณ์ พุทธทาส ๑๐๐ ปี ได้จัดงานพุทธทาส ๑๐๐ ปี : ร้อยใจ ฟื้นไทย ให้คืนธรรม เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระไพศาล วิสาโล, ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส 'แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร'"

ขณะที่ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เริ่มการเสวนาจากการวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า "ถ้าจะให้อาตมาพูดผ่านแนวคิดของท่าน ในแง่ ๑. คือตนอาจจะอ่านไม่เพียงพอ ๒. การที่จะบอกว่าท่านผู้นั้นเป็นเรื่องยากและที่ต้องระวังมาก ที่นี้แม้แต่ชื่อที่บอกว่ามองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตของพุทธทาสก็แปลความหมายได้หลายอย่าง

แปลง่ายๆ ก็ให้มองอนาคตของมนุษย์ ของสังคม หรือของอะไรก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เราเพียงแต่ดูว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็น เราไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่แทนที่จะมองอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราน่ามองแบบมีส่วนรวมว่าอนาคตของโลกควรเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยทำให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร อาตมาคิดว่าถ้ามองแบบนี้จะมีความหมายสำคัญมากกว่า

ส่วนแนวคิดและชีวิตของท่านพุทธทาสซึ่งจะโยงมาหาการที่เราจะต้องเข้าใจแนวคิดชีวิตของท่านพุทธทาส ว่าเราเข้าใจอย่างไร เราก็จะไปมองเรื่องอนาคตที่ว่านั้นจะจัดการไปตามนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญว่าเรามองแนวคิดของท่านพุทธทาสอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรามองตรงกันนั้นถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน มันกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานเลยว่าตัวแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก

บางทีอาจเป็นหัวข้อที่ท่านที่ศึกษางานจะต้องมาช่วยกันวิเคราะห์ ถกเถียง และอย่างน้อยก็ไม่ด่วนตัดสิน เพราะว่าแนวคิดของท่านที่มองอะไรกว้างขวางและผลงานเยอะ มีความเสี่ยงภัยเหมือนกัน คือบางคนไปจับอะไรมอง ได้ยินอะไร หรือว่าไปอ่านหนังสือของท่านบางเล่มเห็นข้อความบางอย่างจับเอาเลยว่าท่านคิดเห็นอย่างนั้น จริงอยู่ท่านกล่าวจากความคิดของท่าน แต่เรามองอย่างไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปเดิม ไม่รู้แนวคิดพื้นฐานกว้างๆ ของท่าน เราก็มองไปแต่เป็นไปตามความคิดความรู้สึกของเราเอง มันทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน

การมองแนวคิดของท่านพุทธทาส ถ้ามองขั้นที่ ๑ เรามองที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นอย่างไร อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกว่าพุทธทาส แปลว่าทาสของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ท่านมุ่งอุทิศชีวิตของท่านในการสนองงานของพระพุทธเจ้าอะไรล่ะ สนองงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์ย้ำบ่อยมาก

ท่านมีเจตนาพื้นฐานเพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อันนี้จริงไหม ถ้าเรายอมรับเราตกลง แล้วเราแน่ใจ เราก็ได้ไปในขั้นเจตนา เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลยมันเป็นตัวนำจิต เพราะว่าจิตของเรากับจิตของท่านจะสอดคล้องกัน ที่นี้เราแน่ใจไหม มันก็ได้ไปส่วนสำคัญ ที่นี้เมื่อมามองงานของท่านที่มีมากมาย อย่างที่พูดเมื่อกี้ ถ้าเราไม่ได้ชัดเจนกับตัวเอง เรื่องของแนวคิดของท่านที่เป็นไปตามเจตนานี้ มันก็เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้การแปลความหมายดีขึ้น เราจะยอมรับไหมว่าแนวคิดนี้แน่ใจ

ต่อไปก็มองที่ตัวหนังสือบ้าง คำพูด คำเทศนาของท่าน อาตมาจะยกตัวอย่างเลย บางที่บางคนไปจับเฉพาะบางแง่บางส่วน แล้วจะทำให้เกิดปัญหา เช่น บางทีบางคนอาจจะไปยกคำของท่านมา ที่บอกว่าพระไตรปิฎกนี่ต้องฉีกออกเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับว่ามีส่วนที่ไม่ควรใช้ ไม่ควรเชื่อถือหลายเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวท่าน ตั้งแต่เจตนาพื้นฐาน บางคนก็อาจจะเข้าใจเลยไปว่าพระไตรปิฎกไม่น่าเชื่อถือ บางคนก็ยกไปอ้างในทำนองนี้ หรือเป็นว่าเป็นแนวคิดของท่าน

อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมา อย่างที่อาตมาเล่า อาตมามอง เริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสออกหนังสือกลุ่มจากพระโอษฐ์เยอะมาก ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านมีหนังสือแบบนี้แสดงว่าท่าทีหรือว่าทัศนคติของท่านต่อพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกมามากมาย และตั้งใจค้นคว้าศึกษาจริง

เราจะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับว่าด้านหนึ่งท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็มีท่าทีให้มีเหตุผลไม่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่องมงาย ว่าอะไรที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎกจะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้เป็นทัศนคติที่พอดีๆ ที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล

อาตมาจะอ่านให้ฟังสักนิดเป็นการโควทท่านหน่อย ในหนังสือโอสาเรปนะธรรม หน้า ๔๒๓ บอกว่า "ดังนั้นในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก" นี้แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก คำว่า "บาลี" เป็นคำทางพระหมายถึงพระไตรปิฎก อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา อันนี้ก็พูดถึงอรรถกถา ซึ่งประเดี๋ยวก็ต้องพูดกันอีก มาถึงเรื่องฉีก ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องฉีก ในหนังสือพระธรรมปาติโมกข์ เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓ ท่านพูดถึงเว่ยหลาง

"ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้ มันถูกที่สุด เดี๋ยวนี้เรามีห้องสมุด มีหนังสือแยะ ที่เราก็มี เขาให้อะไรเยอะแยะ เป็นตารางที่ขังความโง่ของคนไว้อย่าให้ไปครอบงำใคร...ฉะนั้นห้องสมุดของผมที่ชั้นบนนี้ ผมจึงไม่ให้ใครเอาหรือขึ้นไปใช้มัน เพราะเป็นความโง่ของคนทั้งโลกที่ผมขังไว้ อย่าให้ไปครอบงำคนอื่น บางชุดซื้อมาตั้งหมื่น นั้นคือความโง่ ไม่กี่เล่ม เอามาขังไว้ในนี้ไปครอบงำใครได้ นี้ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งอ่านยิ่งโง่ ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่"

ถ้าคนมาจับความแค่นี้ก็จะบอกว่าท่านเป็นปฏิปักษ์กับเรื่องหนังสือ ไม่สนับสนุนให้อ่านให้ค้นคว้า อันนี้ก็ไม่อยากให้ไปจับเอาเฉพาะแง่เฉพาะมุมนิดๆ หน่อยๆ ต้องดูทั้งหมดว่าท่านมองอย่างไร คิดอย่างไร บางทีมันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เราก็ต้องดูว่าขณะนั้นท่านกำลังพูดเรื่องอะไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังได้แง่คิดอะไรในเรื่องนี้

เมื่อกี้พูดถึงว่าให้เอาบาลี หรือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา ทีนี้บางทีท่านพูดถึงเรื่องอรรถกถาในหลายกรณีก็จะมีเรื่องพูดในแง่ที่ไม่ค่อยดี คล้ายๆ กับไม่น่าไว้ใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนไปถึงขนาดที่ว่าอรรถกานี้ไว้ใจไม่ได้ อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มเขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถา ถ้าเราดูท่านพุทธทาส อาจจะถือเป็นความพอดีก็ได้ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะแล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา เรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา

เราไม่ต้องไปพูดเฉพาะท่านหรอก คืออย่างคำแปลพระไตรปิฎก ฉบับโน้นฉบับนี้เราก็มาอ้างกันว่าเป็นพระไตรปิฎก และที่ใช้ในเมืองไทยก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยมากก็จะคัดมา อ้างอิงมาจากฉบับแปลเป็นภาษาไทย เราไม่ได้อ้างอิงมาจากฉบับภาษาบาลีมาอ้างอิงโดยตรง และหลายคนก็ไม่สามารถแปลได้ด้วย

ที่เราบอกว่าพระไตรปิฎกๆ นั้น คำแปลเขาอ้างจากอรรถกถานะ พระไตรปิฎกฉบับ ๒๕ ศตวรรษพิมพ์ครบชุดครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ฉบับมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ คนแปลไม่ได้รู้ไปหมด ต้องค้นหากัน เวลาค้นๆ กันที่ไหน ก็ค้นจากอรรถกถา จากฎีกา แล้วก็แปลไปตามนั้น

คนที่บอกว่าไม่เชื่ออรรถกถา ไม่รู้แปลพระไตรปิฎกเอาตามอรรถกถา ใช้อรรถกถามาเป็นสิ่งที่ตัวเองยึดถือเลย โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกแปลไม่ได้แปลตรงไปตรงมาหรอก แปลตามอรรถกถาอธิบาย เพราะพระไตรปิฎกนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าเก่ากว่าอรรถกถามาก ที่นี้ศัพท์ที่เก่าขนาดนั้น บางทีรูปประโยคดูไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอย่างไร การแปลจึงต้องหาอุปมาช่วย ก็ได้อรรถกถานี้แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก จึงไปเอาอรรถกถาว่าท่านอธิบายบาลีองค์นี้ไว้อย่างไร ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัดอยากจะได้ความที่ชัดยิ่งขึ้นก็ไปค้นคัมภีร์รุ่นต่อมา หรือฎีกา หรืออนุฎีกาต่างๆ มาพิจารณาประกอบ จะถือเอาตามนั้นหรือจะตัดสินอย่างไรก็ตามแต่ รวมแล้วก็คือต้องอาศัยคัมภีร์เก่า

แต่บางคนก็อ้างพระไตรปิฎกโดยไม่รู้ว่าความจริงว่าแม้แต่คนแปลเขาก็อ้างอรรถกถา กลายเป็นว่าที่ตัวเอาๆ มาจากอรรถกถา อันนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่าท่านบวชตั้งแต่เมื่อไร ท่านอุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาอะไรต่างๆ เวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง เวลาท่านบอกไม่ให้เชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ให้เราเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป

ในหนังสือพุทธิกะจริยธรรม หน้า ๒๓๓ "ฉะนั้นเราต้องมีธรรมที่เหมาะสมแก่วัย ที่วัยนั้นจะพอรับเอาได้ หรือเข้าใจได้" ข้อนี้ท่านเปรียบไว้ในอรรถกถาว่า "ขืนป้อนข้าวคำใหญ่ๆ แก่เด็กซึ่งปากยังเล็กๆ" ก็หมายความว่าเด็กจะรับไม่ได้ ท่านได้ยกคำอรรถกถามาใช้ แต่ที่เป็นอภินิหารท่านก็บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ

ฉะนั้นการที่จะไปพูดเรื่องมองอนาคตอะไร แนวคิดผลงานของท่านอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ บางทีเราอาจจะก้าวเลยไปก็ได้ บางทีคนที่มาพูดมองอนาคตนั้นผ่านชีวิตของท่าน แต่ละคนก็มีในใจของตัวเอง มองแนวคิดของท่านไว้คนละอย่าง เสร็จแล้วอาจจะพูดไปคนละทางสองทาง การมองเรื่องที่ตั้งไว้ว่าเราจะช่วยให้มันเป็นอย่างไร โดยผ่านแนวคิดของท่านพุทธทาส เราก็ต้องชัดด้วย อย่างที่อาตมาบอกว่าให้มองตั้งแต่เจตนาของท่านที่แน่นอนเลย ที่จะสนองพุทธประสงค์ ที่จะรับใช้พระพุทธเจ้า ถ้าเรามีเจตนาแบบนี้ก็ต้องอนุโมทนาว่าเรามีเจตนาที่เป็นกุศล เราศึกษางานของท่าน เพื่อเอามาใช้ เอามาสอน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นส่วนที่เราได้สนองท่านพุทธทาสด้วยนะ ท่านพุทธทาสสนองงานพระพุทธเจ้า โดยที่ว่าเราก็จำกัดลงมาในแง่สนองรับใช้ท่านพุทธทาส เราก็ได้รับใช้ทั้งสองเลย

เอาเป็นอันว่าหลวงพ่อพุทธทาสตั้งเจตนาเลย ท่านอุทิศชีวิตสนองงานพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ชื่อตัวเอง ที่ท่านเรียกตัวเองว่าพุทธทาสภิกขุ บทบาทที่เด่นของท่านก็สมานสัมพันธ์กับยุคสมัย อย่างที่บอกว่าคนไทยห่างไกลพุทธศาสนามาก ความเชื่ออะไรก็เป็นไปตามปรัมปรา ที่สืบต่อกันมา ก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อน ค่อยๆ เพี้ยนไป อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องอาศัยกัน ไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธา ที่จะบอกเลยว่าให้มีหลักความเชื่ออย่างไร"

แม้โลกวันนี้จะแสนวิปริตเพียงใด หากท่านมองผ่านฐานแนวคิดของท่านพุทธทาส จะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความทุกข์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นบุญ เป็นโชค ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า "โชคดีมีบุญที่ได้มาเกิดในโลกนี้ ในสภาพปัจจุบันนี้ที่แสนจะวิปริต เพราะว่ามีอะไรให้ศึกษามาก...คิดดูถ้าไม่มีเรื่องให้ศึกษามากแล้วมันจะฉลาดได้อย่างไร"

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ม.ค. 2015, 16:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร