วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 16:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2010, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 820


 ข้อมูลส่วนตัว


แนวทางเจริญวิปัสสนา จากหนังสือแนวทางเจริญวิปัสสนาและปฏิบัติพอสังเขป ของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (๑๗๔ ซ. เจริญนคร ๗๘ บุคคโลธนบุรี กทม. ๑๐๖๐๐ โทร ๐๒-๔๖๘๐๒๓๙) ตอนที่ ๗ หน้า ๖๒ ของหนังสือแนวทางเจริญวิปัสสนา ๑-๑๐
ฯลฯ
“ผู้ที่ไม่ศึกษาพระอภิธรรมนั้น อาจจะเพราะคิดว่า พระอภิธรรมละเอียดมากเกินไป แต่ถ้าเข้าใจว่าอภิธรรมคือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังได้ลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังได้ลาภ กำลังเสื่อมลาภกำลังได้ยศ เสื่อมยศ การเจ็บ การตาย ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจโลกทั้งหมดจะกี่โลกก็ตาม โลกพระจันทร์ หรือพรหมโลกก็ไม่พ้นไปจาก ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นสัตว์ เป็นเทพ ก็มี ตา หู ฯลฯไม่พ้นไปจาก ๖ โลกนี้เลย
ฉะนั้น ๖ โลกนี่คือพระอภิธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงรักษาไว้โดยละเอียด การศึกษาพระอภิธรรมจึงเป็นการศึกษาที่ทำให้ค่อยๆรู้จักตัวเอง รู้จักโลกตามความเป็นจริง เป็นสัจธรรม ฯลฯ ฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมด จะต้องเข้าใจถูกก่อนว่าปฏิบัติคืออะไร อย่าเข้าใจว่าปฏิบัติคือทำ ก็จะทำการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่อย่างนั้นเลย กำลังเห็น ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยิน มีเสียง และมีได้ยินด้วย ขณะที่รับประทานอาหารก็ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัสทางกาย ก็รู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้างแข็งบ้าง ไหวบ้าง ถ้าไม่รู้ตามความจริงของสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ปฏิบัติไม่ได้เพราะไม่ใช่เราหรือตัวตนที่จะปฏิบัติ ปริยัติคือฝึกศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ฯลฯ”

“ฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าเพิ่งปฏิบัติ ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อน เพราะขณะปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด เช่น สติ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง วิริยะเป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ในขณะนั้นสภาพธรรมหลายอย่างเกิดรวมกัน แต่เมื่อไม่รู้ก็คิดว่าเราปฏิบัติ แต่ความจริงนั้นเป็นสภาพธรรมประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ ขณะนี้จิตกำลังปฏิบัติกิจของจิต คือเห็นขณะที่เห็นนี้แหละเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็นจะเรียกจิตว่าเป็น จักขุวิญญาณก็ได้แต่เพราะจิตมีมากมายหลายชนิดจิตเห็นต้องอาศัยตาเป็นปัจจัย จึงเกิดขึ้นเห็นได้ฉะนั้นจึงเรียกจิตที่ทำกิจเห็นนี้ว่า “จักขุวิญญาณ” คือเป็นจิตที่อาศัย “ตา”เกิดขึ้นเห็น “สิ่งที่กำลังปรากฏ” ทางตาในขณะนี้ ฯลฯ เมื่อฟังและพิจารณาสภาพธรรมมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อเห็นก็ระลึกรู้ว่าสภาพเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นจิต ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่คือการปฏิบัติที่อบรมเจริญปัญญา
ฯลฯ แต่ส่วนมากไม่เคยได้พิจารณาให้รู้ความจริงของสภาพเห็นจนตายปัญญาก็ไม่เกิด ขึ้นรู้ความจริงของสภาพเห็นและธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันในเรื่องของสภาพเห็นนี้ ก็ต้องเริ่มพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่าเห็นมีจริงและสิ่งที่ถูกเห็นก็มีด้วย สิ่งที่ถูกเห็นนั้น ทางธรรมใช้คำว่า “อารัมมนะหรือ อารมณ์” คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ จิตที่ได้ยินเสียงคือจิตที่รู้เสียง ฉะนั้นเสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้เสียง อารมณ์ทั้งหมดจำแนกเป็น ๖ อารมณ์ที่รู้ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตาเรียกว่า“รูปารัมมณะ” ทางหู เรียกว่า “สัททารมณ์” ทางจมูกเรียกว่า “คันธารมณ์”ทางลิ้นเรียก “รสารมณ์” ทางกายจิตรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เรียกว่า“โผฏฐัพพารมณ์” สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ฯลฯ สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้นั้นยากที่จะรู้ความจริงว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะเคยชินกับความคิดนึกว่าสิ่งที่เห็นเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ จริงๆ แต่ขอเปรียบเทียบกับการส่องกระจกว่า เวลาส่องกระจกนั้นเห็นใครในกระจก ทุกคนก็จะบอกว่าเห็นตัวเองในกระจก แต่มีใครจริงๆ ในกระจกบ้างไหม ไม่มีอะไรในกระจกเลย แต่ขณะใดที่เห็นเงาในกระจกก็คิดว่าเป็นตัวเราจริงๆ ในกระจกลืมคิดถึงตัวนอกกระจกด้วยซ้ำไป ขณะที่คิดว่ามีตัวเราและมีอะไรๆ อยู่ในกระจกนั้น ลองกระทบสัมผัสกระจกก็จะรู้สึกว่าเพียงแข็ง หามีอย่างอื่นใดในกระจกนั้นไม่ ฉันใด สิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง ซึ่งจะต้องฟังและพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจว่า สภาพธรรมนี้เป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ต้องแยกสิ่งที่ปรากฏออกจากคิดนึก เพราะว่าทันทีที่ได้ยินเสียง ก็คิดนึกถึงเสียงสูงต่ำที่ได้ยิน และจำความหมายเป็นคำๆ รู้เรื่องราวไปเลย เหมือนกับว่าแยกออกจากกันไม่ได้เลย ระหว่างได้ยินเสียงกับรู้เรื่อง ไม่ว่าใครจะพูดภาษาอะไรถ้ารู้ภาษานั้นก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำ นั้นๆ ได้
นี่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้แยกโลกทางตาออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางหูออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางจมูกออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางลิ้นออกจากทางใจ ยังไม่ได้แยกโลกทางกายออกจากทางใจเพราะเหตุว่า โลกมี ๖ โลก คือโลกทางตา โลกทางจมูก โลกทางหู โลกทางลิ้นโลกทางกาย โลกทางใจ
โลกทางตา เห็นเพียงสิ่งต่างๆ
โลกทางหู ได้ยินแต่เสียงเท่านั้น ไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น
โลกทางจมูก รู้ได้เฉพาะกลิ่น
โลกทางลิ้น ลิ้มรสต่างๆ
โลกทางกาย รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ฯลฯ ตึงหรือไหวขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด หลังจากนั้นก็คิดนึกเป็นเรื่องของเสื้อผ้าแพรพรรณต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ตาจะไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆ หูก็ไม่ได้ยินเสียงจมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่ได้ลิ้มรส กายก็ไม่ได้กระทบสัมผัส แต่โลกทางใจก็คิดนึกได้ทุกเรื่องตามที่เคยจำได้
การจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องแยกธรรมแต่ละลักษณะออกจากกัน โดยพิจารณาให้เห็นความจริงว่า ขณะคิดถึงเรื่องเมื่อวานนี้จะเห็นไฟที่ประดับตามถนนหรือจะเห็นอะไรก็แล้วแต่ คิดนึกถึงสิ่งที่เคยเห็นเคยได้ยิน ฯลฯ เป็นต้นได้ แต่ถ้าไม่เคยเห็นเลยจะคิดนึกเรื่องนั้นๆ ได้ไหม ก็คิดไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเห็นแล้วก็จำแล้วคิดต่อทันที ซึ่งความจริงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับแต่ละขณะ ฯลฯ
คนที่อยากมีความสุข ก็จะต้องพิจารณาก่อน รู้ก่อนว่าความทุกข์ของชีวิตเกิดจากอะไร ถ้ายังไม่รู้แหล่งจริงๆ ว่าเกิดจากอกุศลก็แก้ไม่ได้ และทั้งๆ ที่รู้ว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะให้กิเลสค่อยๆ บางลงไป หรือลดน้อยลงไป หรือ ไม่คิดที่จะมีกุศลเพิ่ม ถ้าไม่คิดที่จะมีกุศลเพิ่มขึ้น แล้วจะไปแก้ตรงอื่นก็แก้ไม่ตรงจุด ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าอกุศลเป็นทุกข์และเป็นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย ก็ควรศึกษาธรรม ฟัง พิจารณาให้รู้จริงๆ ว่าบังคับบัญชาสภาพธรรมทั้งหลายไม่ได้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ฯลฯ
หมายเหตุ ท่านที่ประสงค์จะได้หนังสือตำราแนวทางเจริญวิปัสสนาเพื่อศึกษาโดยละเอียด ขอให้เขียนจดหมายแจ้งที่อยู่และสอดแสตมป์ ๑๐ บาทไปด้วย ตามที่อยู่ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏที่หัวข้อของเรื่องนี้แล้ว
ส่วนท่านที่ประสงค์ จะเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มเติมความรู้ นำมาประกอบการปฏิบัติธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น โปรดเขียนจดหมายแจ้งชื่อที่อยู่ ขอสมัครเรียนไปที่ มูลนิธิเผยแผ่พระสัทธรรม ๕/๑๐๘ซอยอุดมทรัพย์ ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางน้อยกรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทรศัพท์ ๐๒-๘๘๔๕๐๙๑-๒


ที่มาhttp://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1146.php


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร