วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 23:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2010, 20:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


วิหารธรรม... ที่พักของจิต เพื่อ เจริญปัญญา



# ๑. การเจริญอริยมรรค เพื่อพ้นทุกข์นั้น


มีการเปรียบเอาไว้ว่า เสมือนต้องทำงานชิ้นหนึ่งกลางแจ้งให้สำเร็จ ที่ ต้องถูกทั้งแสงแดดแผดเผาเมื่อแดดจ้า และ ฝนกระหน่ำยามฝนตก
ซึ่งหากไม่มีที่พักเลย ก็อาจจะเจ็บป่วย ซวนเซ และ อ่อนแอ ได้ .

ใน การภาวนาก็เช่นกัน หากจิตไม่มีที่พัก หรือ วิหารธรรม เลย จิตย่อมปราศจากกำลัง และ ความคล่องแคล่ว นุ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงาน ฉันนั้น .


เกี่ยวกับ พระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงว่า พระองค์เองใช้อานาปานสติเป็นวิหารธรรม คงเป็นที่คุ้นเคยกับ ผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกมานานแล้ว.
นอกจากนี้ ยังมีพระสูตรที่ทรงแสดงเปรียบเทียบถึง วิหารธรรมของเสขะบุคคล(พระโสดาบัน-สกิทาคามี-อนาคามี) และ วิหารธรรมของพระอรหันต์.

ใน กระทู้นี้ ผมขอเสนอ ประเด็น วิหารธรรม
โดยเรียงลำดับตาม พระพุทธพจน์ และ ผ่านมายังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ เป็นลำดับๆ



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑

ปาสาทิกสูตร (๒๙)

[๑๑๔] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือ การที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณศากยบุตรเป็นผู้ขวนขวายในการประกอบ
ตนให้ติดเนื่องในความสุขอยู่ ดังนี้

ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้กล่าวอยู่อย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขนั้นเป็นไฉน เพราะว่า แม้การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขมีมากหลายอย่างต่างๆ ประการกัน

ดูกรจุนทะ การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ อย่างเหล่านี้ เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อพระนิพพาน ๔ อย่างเป็นไฉน
ดูกรจุนทะ คนพาลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์แล้วยังตนให้ถึงความสุข ให้เอิบอิ่มอยู่ ข้อนี้ เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๑
ดูกรจุนทะ ข้ออื่นยังมีอีก คนพาลบางคนในโลกนี้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว ยังตนให้ถึงความสุข ให้เอิบอิ่มอยู่ ข้อนี้ เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๒
ดูกรจุนทะข้ออื่นยังมีอีก คนพาลบางคนในโลกนี้ กล่าวเท็จแล้ว ยังตนให้ถึงความสุขให้เอิบอิ่มอยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๓ ดูกรจุนทะ
ข้ออื่นยังมีอีก คนพาลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เพรียบพร้อมพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๔

ดูกรจุนทะ การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ประการเหล่านี้ เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัดเพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระ-*นิพพาน ฯ


[๑๑๕] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณศากยบุตรเป็นผู้ขวนขวายในการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ อย่างเหล่านี้อยู่ ดังนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นอันพวกเธอพึงกล่าวว่าพวกท่านอย่ากล่าว อย่างนี้เลย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อจะกล่าวโดยชอบพึงกล่าวกะพวกเธอหามิได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นพึงกล่าวตู่พวกเธอด้วยสิ่งที่ไม่มีไม่เป็น จริงก็หามิได้

** ดูกรจุนทะ การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว**

๔ ประการเป็นไฉน

ดูกรจุนทะภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้อนี้ เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๑
ดูกรจุนทะ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๒
ดูกรจุนทะ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่อง
ในความสุข ข้อที่ ๓
ดูกรจุนทะ ก็ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ข้อนี้เป็นการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุขข้อที่ ๔

ดูกรจุนทะ การประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว

ดูกรจุนทะ ก็ฐานะนี้แลย่อมมีได้ คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกสมณศากยบุตรเป็นผู้ขวนขวาย ในการประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แล ดังนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อจะกล่าวกะพวกเธอ พึงกล่าวได้โดยชอบ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น พึงกล่าวตู่พวกเธอด้วยสิ่งไม่มีจริงไม่เป็นจริง หามิได้ ฯ


[๑๑๖] ดูกรจุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็เมื่อพวกท่านประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้อยู่ ผลกี่ประการ อานิสงส์กี่ประการ อันท่านทั้งหลายพึงหวังได้

ดูกรจุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส เมื่อพวกเราประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แลอยู่ ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการ อันพวกเราพึงหวังได้

๔ ประการเป็นไฉน

ดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้จะเป็นพระโสดาบันมีอันไม่ต้องตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้าเพราะสังโยชน์สามสิ้นไป ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๑ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑
ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุจะเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป และเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางข้อนี้เป็นผลประการที่ ๒ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒
ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุจะเป็นอุปปาติกะ [เป็นพระอนาคามี] ผู้จะปรินิพพานในภพนั้นเป็นผู้ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ทั้ง ๕ สิ้นไปข้อนี้เป็นผลประการที่ ๓ เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓
ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีกภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นผลประการที่ ๔เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔

ดูกรอาวุโส เมื่อพวกเราเป็นผู้ประกอบตนให้ติดเนื่องในความสุข ๔ ประการเหล่านี้แลอยู่ ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการเหล่านี้อันพวกเราพึงหวังได้ ดังนี้ ฯ


.........................................


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑

โรหิตัสสวรรคที่ ๕
สมาธิสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

มีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระ
อริยะสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน




.......................

สมาธิภาวนาประเภทที่เป็นไปเพื่อความสุขในปัจจุบัน นี้ น่าจะเป็น จุดที่สนทนากัน

ขอเสนอ บทธรรม ที่บรรยาย ประเด็นนี้ เอาไว้

โอวาทธรรม ที่ หลวงปู่ มั่น ภูริทัตโต
ท่านแสดงต่อ หลวงปู่ หลุย จันทสาโร

เกี่ยวกับ การใช้ สมถะ เป็นที่พักของจิต มาเสนอ

"การนอน การสงบเข้าฌาน เป็นอาหารของจิตและร่างกายอย่างหนึ่ง

**สมถะต้องพักจิตสอบอารมณ์ ส่วนวิปัสสนาจิตเดินไตรลักษณ์ให้รู้อริยสัจ
เหนื่อยแล้วเข้าพักจิต พักจิตหายเหนื่อยแล้ว จิตตรวจอริยสัจอีก ดังนี้
**

ฉะนั้น ให้ฉลาดการพักจิตการเดินจิต ทั้งวิปัสสนาและสมถะ พระโยคาวจรเจ้าทิ้งไม่ได้ชำนิชำนาญทั้งสองวิธีจึงเอาตัวพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ไปได้ เป็นมหาศีล เป็นมหาสมาธิ เป็นมหาปัญญามีศีลทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด พร้อมทั้งจิต เจตสิก พร้อมทั้งกรรมบถ 10 ไม่กระทำผิดในที่ลับและที่แจ้งสว่างทั้งภายในและภายนอก มีมหาสติรอบคอบหมด วิโมกข์วิมุติ อกุปธรรม จิตบริสุทธิ์ จิตปกติ เป็นจิตพระอรหันต์สว่างแจ้งทั้งภายนอกภายในสว่างโร่”


(มีต่ออีก)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2010, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


# ๒ .มีบทธรรม ที่ บรรยายถึง การใช้ผลจากสมาธิมาสนับสนุนการเจริญปัญญา โดยละเอียด เอาไว้ มาเสนอเพิ่มเติม


วิธีตั้งจิตให้สงบเป็นสมาธิ
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔

ๆลๆ

ทีนี้เวลามันสงบลงไป ถอนขึ้นมา หลายครั้งหลายหน มันสร้างฐานแห่งความมั่นคง ภายในตัวของมันขณะที่สงบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นจิตที่แน่นหนามั่นคงขึ้นมา

จากความสงบที่สั่งสมกำลังแห่งความแน่นหนามั่นคงมาเป็นลำดับนั้น ติดต่อกันมาเรื่อยๆ เลยกลายเป็นสมาธิขึ้นมาแน่นหนามั่นคง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว

เวลาสงบแล้วถอนขึ้นมาๆ นั้นเรียกว่าจิตสงบ หรือว่าจิตรวม พอถึงขั้นจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตจะถอนขึ้นมาไม่ถอนขึ้นมาก็ตาม ฐานของจิตคือความสงบนั้นแน่นปึ๋งๆ ตลอดเวลา นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เห็นประจักษ์ในหัวใจอย่างนี้ อ๋อ สมาธิกับความสงบนี้ต่างกัน นี่เรียกว่าสมาธิ เพื่อให้ถูกต้อง ดำเนินด้วยความราบรื่น

พอจิตเป็นสมาธิ มีความสงบ มันอิ่มอารมณ์ ไม่เสียดายในความคิดความปรุงไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรสต่างๆ พอใจอยู่กับความสงบใจของตนนั้น เรียกว่าจิตมีสมาธิ จิตอิ่มอารมณ์ คือไม่อยากคิดกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ อาศัยความสงบเย็นใจ ความแน่นหนามั่นคงของสมาธินั้นเป็นเรือนอยู่ของใจ

จิตขั้นนี้ เวลามันสงบมีกำลังมากๆ แล้วมันจะรำคาญในการคิด การปรุงต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนมันหิวโหยมาก ไม่ได้คิดได้ปรุงอยู่ไม่ได้ ดีดดิ้นอยากคิดอยากปรุง พอจิตมีความสงบเป็นจิตแน่นหนามั่นคง เรียกว่าเป็นสมาธิเต็มที่แล้วนั้น ไม่อยากคิด ความคิดเป็นการรบกวนตัวเอง จิตที่อยู่แน่วมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ภายในตัวนั้น ถือว่า เป็นความสะดวกสบาย ไม่มีอะไรมากวนใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสมาธิ จึงมักติดในสมาธิ หรือติดในสมาธิ เพราะสมาธินี้ก็เป็นอารมณ์กล่อมใจได้ดี

เมื่อยังไม่ถึงขั้นปัญญา ที่จะมีผลมากกว่านี้แล้ว จะติดได้



ทีนี้ พอจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้ว มันอิ่มอารมณ์แล้วที่นี่ เมื่อจิตอิ่มอารมณ์แล้ว พาออกทางด้านปัญญา

ถ้าจิตไม่อิ่มอารมณ์ ยังหิวอารมณ์อยู่แล้ว ออกทางด้านปัญญา จะเป็นสัญญาไปเรื่อยๆ คาดหมายอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นสมุทัยไปหมด เลยไม่เป็นปัญญาให้

เพราะฉะนั้น ท่านถึงสอนให้อบรมทางสมาธิเสียก่อน
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา คือสมาธิมีความแน่นหนามั่นคงแล้ว สมาธิมีความอิ่มตัวแล้ว ก็หนุนปัญญาได้ พิจารณาทางด้านปัญญาก็คล่องตัวๆ เป็นปัญญาจริงๆ ไม่ได้เป็นสัญญาอารมณ์ เพราะจิตอิ่มอารมณ์แล้ว ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ยกเอาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก กระทั่งถึงร่างกายทุกสัดทุกส่วน ให้เป็นเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อนั้นคือร่างกายทุกส่วนนี้แล ไฟคือสติปัญญา ตปธรรม หนุนเข้าไปพิจารณาเข้าไป

ๆลๆ


นี่การพิจารณาภาวนา เบื้องต้นก็อย่างที่พูดให้ฟังแล้ว ต้องตั้งจิตตั้งใจเอาให้จริงจัง

ถ้าว่าบริกรรมก็เอาให้จริงแล้วจะเข้าสู่ความสงบ
จากความสงบแล้วเข้าเป็นสมาธิ
จากสมาธิแล้ว ออกพิจารณาทางด้านปัญญา เป็นขั้นเป็นตอน เป็นเวล่ำเวลา

เวลาที่มันหมุนทางด้านปัญญานี้ มันหมุนจริงๆ นะจนไม่มีวันมีคืน ต้องพัก จิตอันนี้ถึงขั้นมันหมุนติ้วเสียจริงๆ แล้วเจ้าของเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะสังขาร ปัญญาเอาสังขารความปรุงนี้ออกใช้ แต่เป็นความปรุงฝ่ายมรรค ไม่ได้เหมือนความปรุงของกิเลสที่เป็นฝ่ายสมุทัย

เมื่อทำงานมากๆ มันก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ให้เข้าพักสมาธิเข้าสู่ความสงบ อย่ายุ่งเวลานั้น บังคับเข้าให้ได้ มันเพลินนะ จิตเวลาถึงขั้นปัญญาแล้ว มันจะไม่ยอมเข้าพักสมาธิ มันเห็นสมาธิว่านอนตายอยู่เฉยๆ

ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส แล้วการฆ่ากิเลสไม่รู้จักประมาณ มันก็เป็นสมุทัยอีกเหมือนกัน ไม่รู้จักประมาณ เพราะฉะนั้นจึงเวลาเข้าพักให้เข้าพัก พักความสงบของจิต ถ้ามันพักไม่ได้จริงๆ ก็อย่างที่ผมเคยพูดให้ฟัง เอาพุทโธบริกรรมเลยก็มี ผมเคยเป็นแล้วนะ มันไม่ยอมจะเข้าพัก มันจะหมุนแต่ทางด้านปัญญา ฆ่ากิเลสถ่ายเดียวๆ ทั้งๆ ที่กำลังวังชาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพอแล้ว เราจึงต้องเอาพุทโธบังคับไว้ให้อยู่กับพุทโธ สติตั้งอยู่นั้น ไม่ยอมให้ออกปัญญาหมุนไว้ สักเดี๋ยวก็ลงสู่ความสงบแน่วเลย นั่นเห็นไหมล่ะ พอจิตเข้าสู่ความสงบนี่ โอ๋ย เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ

เวลาออกทางด้านปัญญามันเหมือนชุลมุนวุ่นวาย เหมือนนักมวยเข้าวงในกัน ทีนี้เวลาเข้ามาสู่สมาธินี้ มันเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม เพราะได้พักผ่อนหย่อนจิต ตอนนี้บังคับเอาไว้นะ ไม่อย่างนั้นมันจะออกอีก เพราะกำลังของด้านปัญญามันหนักมากกว่าสมาธิเป็นไหนๆ

ถ้าว่าเราเผลอนี้ ผมไม่อยากพูด ถ้าว่ารามือ พอพูดได้ เพราะมันไม่เผลอนี่ พอเราอ่อนทางนี้ รามือสักนิดหนึ่ง มันจะพุ่งออกด้านปัญญา เพราะฉะนั้น จึงต้องบังคับไว้ให้อยู่กับสมาธิแน่วอยู่นั้น จนเห็นว่าเป็นที่พอใจ มีกำลังวังชาทางด้านสมาธิ แล้วค่อยถอนออกมา พอถอนออกมามันจะดีดผึงเลยทางด้านปัญญา

ให้ทำอย่างนี้ตลอดไปสำหรับนักปฏิบัติ อย่าเห็นแก่ว่าปัญญาดี ปัญญาฆ่ากิเลส แล้วเตลิดเปิดเปิงทางด้านปัญญา นี้เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ที่แทรกจิต โดยการพิจารณา ไม่รู้จักประมาณ เลยกลายเป็นเรื่อง หลงสังขารทางด้านปัญญาไป สังขารทางด้านปัญญา กลายเป็นสมุทัยไปได้ เพราะเราไม่รู้จักประมาณ

เวลาพิจารณาให้พิจารณาเต็มที่ ไม่ต้องบอกพอ ถึงขั้นปัญญาขั้นนี้แล้ว มันจะหมุนของมันเอง แต่เวลาพักให้พักเต็มที่ อย่างนั้นถูก ถึงขั้นปัญญาแล้ว มันจะไม่ยอมพัก มันจะหมุนทางด้านปัญญา เพราะเพลินในการฆ่ากิเลส

หมุนเข้ามาทางสมาธิ เรียกว่าพักเอากำลัง เหมือนเราพักผ่อนนอนหลับ รับประทานอาหารมีกำลังวังชา

ถึงจะเสียเวล่ำเวลาในการพักก็ตาม สิ้นเปลืองไปเพราะอาหารการกินก็ตาม แต่สิ้นเปลืองไปเพราะผลอันยิ่งใหญ่ในกาลต่อไปโน้น ประกอบการงานมีกำลังวังชา

นี่จิตของเราพักสมาธินี้จะเสียเวล่ำเวลา แต่เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ในสมาธินี้ จะหนุนปัญญาให้ก้าวเดินสะดวก คล่องแคล่ว นั่น ให้เป็นอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น

ผู้ปฏิบัติจับไว้ให้ดีนะที่สอนนี้ ผมไม่ได้สอนด้วยความลูบคลำนะ สอนตามหลักความจริงที่ได้ผ่านมาอย่างไร อย่าเหลาะๆ แหละๆ นะการภาวนา เอาให้จริงจัง เรื่องมรรคผลนิพพานไม่ต้องถาม ขอให้ก้าวเดิน นี่คือทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ไปที่ไหน ขอให้ก้าวเดินตามนี้ให้ถูกต้องเถิด จะเข้าถึงมรรคผลนิพพานโดยไม่ต้องสงสัย สำคัญอยู่ที่การดำเนิน ถ้าผู้แนะไม่เข้าใจนี้ทำให้ผิดพลาดได้ นี้เราแนะด้วยความแน่ใจ เพราะเราดำเนินมาแล้วอย่างช่ำชอง ไม่มีอะไรสงสัยแล้ว

ในการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน ไม่ว่าจะสมถะ ไม่ว่าจะสมาธิ ไม่ว่าจะปัญญา ปัญญาขั้นใด ตั้งแต่สติปัญญาอัตโนมัติไปเรื่อย จนกระทั่งมหาสติมหาปัญญา มารวมอยู่ที่หัวใจนี้ทั้งหมด มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ประจักษ์หัวใจตลอดเวลา แล้วจะไปสงสัยสติปัญญา และสติปัญญาอัตโนมัติ ตลอดมหาสติ มหาปัญญาไปได้ยังไง ก็มันเป็นอยู่กับหัวใจ พากันจำให้ดี ให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี



(มีต่ออีก)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2010, 21:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2006, 06:25
โพสต์: 2058


 ข้อมูลส่วนตัว


# ๓. แต่ การเจริญสมาธิภาวนาที่มีผลเป็นความสุขในปัจจุบัน ก็มีข้อพึงระวัง


ดังมีพระสูตร (อุทเทสวิภังคสูตร ๑๓๘ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ) แสดง เอาไว้ว่า ไม่พึงกำหนัดด้วยยินดี-ผูกพันด้วยยินดี-ประกอบด้วยสังโยชน์ ในความสุขจากสมาธิทุกประเภท.... จนเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นภพเป็นชาติ

หลวงปู่ ชา สุภัทโท
ท่านกล่าวถึง การภาวนาจนไม่ติดในความสงบไว้ ดังนี้

"....อะไรจะเป็นตัววิปัสสนา อะไรจะเป็นตัวสมถะ ก็ตัวจิตนี่เอง

และเมื่อจิตสงบแล้วความสงบเบื้องแรกสงบด้วยสมถะ คือสมาธิธรรมทำให้จิตเป็นสมาธิมันก็สงบ
ถ้าความสงบหายไปก็เกิดทุกข์ ทำไมอาการนี้จึงให้เกิดทุกข์ เพราะความสงบของสมถะเป็นตัวสมุทัย แน่นอนมันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

เมื่อมีความสงบแล้วยังไม่จบ พระศาสดามองเห็นแล้วว่าไม่จบ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ มันไม่จบเพราะอะไร เพราะมันยังมีทุกข์อยู่

ท่านจึงเอาตัวสมถะตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปอีก ค้นหาเหตุผลจนกระทั่งท่านไม่ติดในความสงบ
ความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมติ เป็นบัญญัติอีก ติดอยู่นี่ก็ติดสมมติ ติดบัญญัติ


เมื่อติดสมมติติดบัญญัติก็ติดภพติดชาติ

ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนี่แหละ เมื่อหายความฟุ้งซ่านก็ติดความสงบก็เป็นภพอีก เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้...."




นอกจากนี้ พระผู้รู้ ท่านก็สอนไม่ควรมัวแต่เพลินกับความสุขจากสมาธิ จนไม่เป็นอันนำผลดีที่ได้จากสมาธิมาสนับสนุนการเจริญปัญญา.

เปรียบเช่น ผู้ที่วันๆ เอาแต่พักผ่อนอยู่ในวิหาร จนไม่เป็นอันออกจากวิหารมาประกอบกิจภาระที่ค้างอยู่ให้บรรลุผล.



หลวงปู่ มั่น ภูริทัตโต
ท่านได้เคยตักเตือนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ในคราวที่หลวงตามหาบัวท่านกำลังติดสุขจากสมาธิอยู่. มี เนื้อความดังนี้

สุขในสมาธิเหมือนเนื้อติดฟัน

"...ทีแรกไปหาท่านเมื่อไร ท่านถามว่า 'สบายดีเหรอ สงบดีเหรอ'
'สงบดีอยู่' เราก็ว่าอย่างนี้ ท่านก็ไม่ว่าอะไร

พอนานเข้า ๆ ก็อย่างว่านั่นแหละ 'เป็นยังไง ท่านมหาสบายดีเหรอใจ'
สบายดีอยู่ สงบดีอยู่'
'ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ'
ฟังซิ ทีนี้ขึ้นละนะพลิกเปลี่ยนไปหมดสีหน้าสีตาอะไร แสดงท่าทางออกหมดแล้วนะนี่ จะเอาเต็มที่ละจะเขกเต็มที่ละ
'ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ' ท่านว่า
'ท่านรู้ไหมสุขในสมาธิเหมือนกับเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั้นแหละ มันสุขขนาดไหน เนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม ๆ' นี้เราไม่ลืมนะ จากนั้นมา 'ท่านรู้ไหมว่า สมาธิทั้งแท่งนั้นละคือตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม ' นั่น
ตรงนี้มันก็ต่อยกับท่านอีก ดูซิ
'ถ้าหากสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน' นั่นเอาซิโต้ท่าน
'มันก็ไม่ใช่สมาธิตายนอนตายอยู่อย่างนี้ซิ
สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่'
นั่นเห็นไหมท่านใส่เข้าไป
'สมาธินอนตายอยู่นี้เหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้า ๆ พูดออกมาซิ' มันก็ยอมละซิ



ปล...

บทธรรมที่ หลวงปู่มั่น ท่านเตือนถึงการที่มัวเพลินอยู่กับสุขจากสมาธิจนไม่อันมาเจริญมรรคด้านปัญญานี้ ไม่ใช่เป็นบทธรรมที่ท่านจะแสดงแก่บุคคลทั่วๆไป ที่ยังไม่มีพื้นฐานด้านสมาธิที่แน่นหนาเพียงพอ

เพราะ ที่ปรากฏการแสดงธรรมเตือนของหลวงปู่มั่นในลักษณะอย่างนี้ มีไม่กี่ครั้ง (นอกเหนือจากที่ท่านเตือน หลงตามหาบัวแล้ว ก็ มีแสดงในลักษณะนี้ ต่อ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และ แสดงต่อพระเถระอีกรูปหนึ่ง ที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในสมาธิวิธี และ กำลังติดสุขจากสมาธิอยู่ เท่านั้น).

ดังนั้นแล้ว.... สำหรับ ชาวเมือง ที่วันๆมีแต่เหตุปัจจัยที่จะยังให้ห่างเหินจากความสงบด้วยเบญจกามคุณที่ท้วมท้นในสังคมยุคปัจจุบัน และ มักจะประสบแต่เรื่องที่มักจะรบกวนระบบประสาทอันอาจจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ไม่ดี ก็ อย่าเพิ่งกังวลกับการติดสุขจากสมาธิ เสียจนพากันไม่เจริญสมาธิภาวนาไป. ควรเพียรเจริญให้บังเกิดสมาธิจิตเสียก่อน จะเหมาะสมกว่า การกลัวสิ่งที่ตนเองก็ยังไม่เคยประสบ.

วิธีวางจิต น่าจะเป็นในลักษณะที่ว่า รอบครอบระมัดระวัง แต่ ไม่ระแวง.




อนึ่ง

หลวงปู่ เทสก์ เทศน์รังสี

ท่านได้กล่าวถึง การติดสุขจากสมาธิ เมื่อ เทียบกับ การติดสุขจากเบญจกามคุณ เอาไว้ดังนี้

"....ความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้ง 5 ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปจมอยู่ในกามทั้งหลายเป็นไหน ๆ ..."





ยินดีที่ได้สนทนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2010, 14:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 เม.ย. 2009, 22:00
โพสต์: 407

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ้างคำพูด:
ควรเพียรเจริญให้บังเกิดสมาธิจิตเสียก่อน จะเหมาะสมกว่า การกลัวสิ่งที่ตนเองก็ยังไม่เคยประสบ.
"....ความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้ง 5 ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปจมอยู่ในกามทั้งหลายเป็นไหน ๆ ..."



:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2012, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 มี.ค. 2012, 17:36
โพสต์: 210


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

.....................................................
กระบี่อยู่ที่ใจ : เมตตาธรรมค้ำจุนโลก


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร