วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(แรงจูงใจชักนำพฤติกรรมของมนุษย์)



ก่อนจบเรื่องนี้ เห็นควรพูดถึงปัญหาข้อหนึ่ง

ที่มีผู้สงสัย (ทั้งเข้าใจผิด) อยู่ไม่น้อย คือ ข้อสงสัยว่า พระอรหันต์เป็นผู้หมดสิ้นตัณหาแล้ว

เมื่อไม่มีตัณหา ซึ่งเป็นแรงชักจูงการกระทำต่างๆ

พระอรหันต์มิกลายเป็นผู้นิ่งเฉย ไม่กระตือรือร้น ไม่อยากทำอะไร กลายเป็นคนไม่มีชีวิตชีวาไปหรือ

อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าพระอรหันต์เป็นอยู่ด้วยปัญญา จะอยู่อย่างไร

มีแต่ปัญญาไม่มีตัณหา จะทำการอะไรได้หรือ

ความจริงเรื่องราวเท่าที่อธิบายมาในตอนนี้ ก็มีคำตอบหรับปัญหานี้อยู่แล้ว เพราะได้แสดงให้เห็นว่า มิใช่ตัณหา

อย่างเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นแรงจูงใจชักนำพฤติกรรมของคน

อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเรื่องนี้ มีแง่ที่ช่วยให้เข้าใจความหมายของตัณหาชัดเจนมากขึ้นอีก จึงควรกล่าวถึงไว้

ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 27 ก.พ. 2012, 18:39, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แง่ที่หนึ่ง

ถ้ามองว่าการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งแห่งชีวิตของคนสัตว์

คนสัตว์ก็เคลื่อนไหวไปตามความรู้

อาจเป็นความรู้เพียงขั้นตอบสนองอารมณ์ที่รับรู้ (สิ่งเร้า)

หรือความรู้ขั้นปัญญาที่กำหนดได้ว่า ควร หรือ ไม่ควรก็ได้

ถือเอาว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นการกระทำ

จะเห็นว่า มีกรณีมากมาย ที่ตามปกติคนสัตว์จะเคลื่อนไหวหรือกระทำ แต่กลับหยุด

คือไม่เคลื่อนไหว หรือ ชะงักการกระทำเสีย

ในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า การหยุด การเฉยนิ่ง หรือการไม่กระทำ ก็คือการกระทำอย่างหนึ่งนั่นเอง

และเป็นการกระทำอย่างแรงเสียด้วย

ได้กล่าวแล้วว่า ตัณหาเป็นเหตุให้กระทำที่เป็นเงื่อนไข เพื่อได้สิ่งเสพเสวยหรือปกป้องรักษาความมั่นคง

ถาวรของอัตตาที่ยึดถือไว้

คำว่า “กระทำ” ในที่นี้ จะต้องรวมถึงการ “ไม่กระทำ” ด้วย

กรณีที่ตัณหาจะทำให้กระทำการ “ไม่กระทำ” อาจมีได้ตั้งหลายอย่าง เช่น ไม่ทำ เพราะถ้ากระทำ

ก็จะเป็นเหตุให้ตนพรากจากสุขเวทนาที่กำลังเสพเสวยอยู่

หรือเพราะการเคลื่อนไหวไปกระทำนั้นจะเป็นเหตุให้ตนยากลำบากประสบทุกขเวทนา

บางทีแม้แต่เมื่อการกระทำนั้นจะเป็นประโยชน์ เป็นผลดีแท้จริงแก่ชีวิต

แต่ตัณหากลัวความยาก กลัวความพรากจากสุขที่กำลังเสวยอยู่ ก็ชักจูงไม่ให้กระทำ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 29 ม.ค. 2010, 15:38, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้นมนุษย์ พัฒนาปัญญาขึ้นมาแล้ว และสามารถกระตุ้นฉันทะขึ้นมาเป็นแรงจูงการกระทำได้มากขึ้น

เมื่อว่าสิ่งใดควร สิ่งใดเป็นประโยชน์ มีคุณค่าแท้จริง มนุษย์ก็กระทำการนั้นได้

ทั้งที่เมื่อกระทำจะต้องประสบทุกขเวทนา และฝ่าฝืนตัณหาที่จะไม่ให้กระทำ

บางคราว ตัณหาเห็นว่าจะได้สุขเวทนาจะให้กระทำ

แต่ปัญญาเห็นว่า ทำแล้วจะเสียคุณภาพชีวิต กลับไม่ยอมให้กระทำก็มี

การที่มนุษย์มีปัญญามากขึ้น แต่ตัณหายังคงอยู่ ก็พลอยทำให้ตัณหาละเอียดอ่อนขึ้นด้วย

ต่างก็คอยเข้าแทรกซ้อนและอาศัยประโยชน์จากกันและกัน

พฤติกรรมของมนุษย์ผู้มีปัญญาจึงมีความซับซ้อนหลายชั้นเชิงกว่าสัตว์ทั้งหลายอื่น

ข้อสำคัญ อยู่ที่ว่าตัณหากับปัญญาใครจะเหนือใคร

คือตัณหาเป็นฝ่ายครอบงำ หรือ ปัญญาเป็นฝ่ายควบคุม

ถ้าหมั่นใช้โยนิโสมนสิการ ปัญญาก็คุมได้ และจะแก่กล้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตัณหาเลิกราหมดไป

ถ้ามองปัญหาที่ว่ามานี้ ก็จะเห็นว่า การเคลื่อนไหว หรือ การกระทำก็ยังคงดำเนินต่อไป

ส่วนบทบาทบางอย่างที่เคยต้องอาศัยตัณหาคอยบงการเพื่อปกป้องรักษาอัตตา ก็เปลี่ยนมาใช้ปัญญาที่พัฒนา

ขึ้นมาอย่างเพียงพอแล้วช่วยบอกนำ เพื่อความมีชีวิตที่ดีงาม

จึงเป็นการพ้นจากอำนาจครอบงำของตัณหา เปลี่ยนมาเป็นอยู่ด้วยปัญญา


:b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55: :b55:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อีกแง่หนึ่ง

มีสาระอย่างเดียวกับแง่ที่หนึ่งนั่นเอง แต่มองอย่างธรรมดา ดังได้กล่าวแล้วว่า

เมื่อมองดูให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ ตัณหาหาได้เป็นแรงจูงใจให้กระทำไม่ เพราะตัณหามิได้ต้องการสิ่ง

หรือภาวะที่เป็นผลของการกระทำนั้นโดยตรง

ตัณหาให้กระทำต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นที่จะให้ได้สิ่งที่ตัณหาต้องการ

แต่ถ้ามีทางอื่นใด ที่จะให้ได้สิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องทำ ตัณหาก็จะให้หลีกเลี่ยงการกระทำเสีย

หันไปเลือกทางที่ไม่ต้องทำนั้นแทน พูดง่ายๆว่า “ไม่ให้ทำ”

ตัณหาจึงเป็นแรงจูงใจไม่ให้กระทำเสียมากกว่า

เมื่อจะจูงใจไม่ให้ทำนั้น

ตัณหาอาจแสดงออกในรูปของการขี้เกียจ โดยติดอยู่กับสุขเวทนาที่กำลังเสพเสวยในภาวะเดิม

ไม่อยากพรากจากไป หรือแสดงออกในรูปของความกลัว เช่น กลัวจะประสบทุกขเวทนา

ในเวลากระทำการ หรือกลัวสูญเสียความมั่นคงถาวรยิ่งใหญ่ของอัตตา เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 19:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บางคราวในเมื่อการไม่กระทำจะเป็นเงื่อนไขให้ตัณหาได้สิ่งที่มันต้องการ คือได้เวทนาอร่อยเพิ่มขึ้น

หรือ เสริมความถาวรมั่นคงยิ่งใหญ่ของอัตตาได้มากขึ้น ตัณหาก็ให้ไม่ทำ

โดยไม่คำนึงว่าผลดีงามแท้จริงที่พึงเกิดจากการกระทำนั้นจะเสียไปหรือไม่

:b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54:

เช่น เด็กคนหนึ่ง ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะรู้ว่าทำอย่างนั้นแล้ว คุณแม่จะต้องเอาใจ

เพิ่มสตางค์ค่าขนมให้ (ในกรณีนี้ จะเห็นได้ชัดว่า การไม่ทำ คือ การกระทำอย่างแรง)

หรือ เหมือนอย่างคนที่หยุดทำงานด้วยเห็นแก่จะได้เสพสุราเล่นการพนัน

และคนยอมรับเงินค่าจ้างให้งดเว้นการกระทำที่ถูกต้องบางอย่าง เป็นต้น

หรืออย่างกรณีความขี้เกียจ ของบางอย่างในบ้านหรือในโรงเรียนสมควรจะทำหรือช่วยกันทำขึ้นเองได้

กลับยอมเสียเงินไปซื้อหามา เป็นต้น

เป็นเหตุให้เสียสันโดษ คือไม่ได้ความเอิบอิ่มพึงพอใจจากสิ่งที่เป็นผลสำเร็จแห่งการกระทำของตนเอง



ในกรณีทั้งหมด สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการกระทำได้ ก็คือปัญญา ที่ทำให้รู้เข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งที่มีคุณค่า

เป็นประโยชน์แท้จริง รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ซึ่งทำให้เกิดฉันทะ

ที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้เกิดให้มีสำเร็จขึ้น

อนึ่ง แม้ในกรณีที่ให้กระทำ การกระทำด้วยตัณหาก็ไม่ปลอดภัย เพราะความเป็นเงื่อนไข

ดังได้กล่าวแล้ว ทำให้มีสูตรว่า

ตัณหาให้ทำ เพราะพอใจเวทนาอร่อย (สุขเวทนา) ที่ได้จากการกระทำนั้น

ยิ่งทำก็ยิ่งอร่อย ก็ยิ่งชอบใจ และยิ่งชอบใจก็ยิ่งทำ

ทำจนกระทั่งผลดี ที่พึงประสงค์จากการกระทำนั้นเสียหาย หรือ ล้มเหลวไปก็มีบ่อยๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 20:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนฉันทะที่เกิดสืบเนื่องมาจากปัญญา จะจูงใจให้กระทำ เพราะพอใจผลดี หรือ ภาวะดีงามที่เกิดมีขึ้น

จากการกระทำนั้น

ยิ่งทำยิ่งเห็นผลดี คือ ภาวะดีงามเพื่มพูนก้าวหน้าขึ้น ก็ยิ่งพอใจ และยิ่งพอใจก็ยิ่งทำ

ทำจนกว่าภาวะดีงามนั้นจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เป็นการทำเท่าที่พอดีกับวัตถุประสงค์

โดยนัยนี้ ตัณหาเป็นแรงจูงใจไม่ให้ทำ และเมื่อจูงใจให้ทำ ก็ไม่ปลอดภัย ให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

จึงควรทำตนให้พร้อมที่จะเลิกใช้เลิกอาศัยมัน โดยหันไปสร้างเสริมปัญญา ปลูกฉันทะขึ้นมาแทน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 27 ก.พ. 2012, 18:39, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 20:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แง่ต่อไป ซึ่งรวมอยู่ในความที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน แต่แยกออกมาพูดเพื่อให้ชัดยิ่งขึ้น

กล่าวคือ ในการที่จะดำเนินชีวิตด้วยปัญญานั้น พึงทราบว่า เมื่อปัญญาเกิดขึ้น

มันมิได้เกิดลำพังตัวเปล่าๆ เท่านั้น แต่ยังพ่วงเอาคุณธรรมบางอย่างเกิดตามมาด้วย

เพราะว่า เมื่อเกิดปัญญารู้เข้าใจมองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายลึกซึ้งกว้างขวางออกไปก็ดี

มองเห็นภาวะดีงามและคุณค่าของสิ่งทั้งหลายนั้นๆ ก็ดี

ถ้าไม่ปล่อยให้ตัณหาแทรกเข้ามาชิงตัดหน้ารับช่วงไปเสียก่อน ก็ย่อมจะต้องเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง

มีใจโน้มน้อมไปหาคุณค่าและภาวะดีงามนั้น

พร้อมทั้งอยากให้สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่ในภาวะดีงามที่เป็นอุดมสภาวะและทรงไว้ซึ่งคุณค่าอันสมบูรณ์ของมัน


โดยนัยนี้ ถ้าสิ่งที่ประสบยังไม่บรรลุอุดมสภาวะและคุณค่าอันสมบูรณ์

ก็ย่อมเกิดมีฉันทะที่จะกระทำให้สำเร็จตามนั้น นี้เป็นกรณีเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไป


แต่ถ้าเป็นกรณีของสัตว์บุคคล ภาวะจิตที่เกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ มีข้อพิเศษว่า

เมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี อยากให้สัตว์บุคคลอื่นดำรงในภาวะดีงามประสบประโยชน์สุข

บรรลุอุดมสภาวะของเขา คือ ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นครอบงำกายใจ



ถ้าสัตว์บุคคลนั้น ดำรงอยู่ห่างจากภาวะดีงาม ปราศจากประโยชน์สุขคือยากไร้ เดือดร้อน

ประสบทุกข์ ติดอยู่ในสิ่งบีบคั้น ผูกมัดกายใจ

ผู้ที่ประกอบด้วยปัญญาอันถูกต้อง หรือ ปัญญาบริบูรณ์ที่ตัณหาไม่รับช่วงนี้ ก็จะมีใจหวั่นไหว อยากแก้ไข

ต้องการช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาหลุดพ้นจากทุกข์จากสังโยชน์ที่เป็นพันธนาการ

ภาวะจิตที่คิดอยากช่วยเหลือเผื่อแผ่อิสรภาพให้นี้ มีชื่อพิเศษ เรียกว่า กรุณา เป็นองค์ธรรมที่เกิดมีมาเอง

ตามธรรมดาของกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย ในเมื่อมีปัญญาอันเห็นชอบบริสุทธิ์ และประสบอารมณ์

คือสัตว์บุคคลผู้ตกทุกข์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 20:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ต่อ)


สำหรับปุถุชน ปัญหาเกิดขึ้นในแง่ที่ว่า เมื่อรับรู้หรือประสบอารมณ์อย่างนั้น

มักมีอวิชชาตัณหาครองใจเสียก่อน คือเขากำลังแสวงหาเวทนาอร่อยเพื่อจะเสพอยู่เสียบ้าง

กำลังห่วงกังวลพะวงเกี่ยวกับความมั่นคงถาวรยิ่งใหญ่ของอัตตา มีตัวตนที่กำลังต้องการความพะเน้าพะนอ

หรือคอยรอการกระทบอยู่เสียบ้าง เลยไม่มีช่องให้ปัญญาโล่งบริสุทธิ์เกิดขึ้น และนำเอากรุณาเข้าได้

แต่อาจมีบ้างบางทีจิตใจของปุถุชนนั้นว่างโล่งโปร่งเบา

และเขาใช้โยนิโสมนสิการ คือ การทำใจแยบคาย คือ คิดถูกทาง ถูกวิธี

ตามสภาวะและเหตุผล ตัดโอกาสของอวิชชา ตัณหาเสีย

ปัญญาบริสุทธิ์ก็เข้ามาเปิดช่องทางให้กรุณาแล่นผ่านออกมาได้ ภาวะจิตที่ประกอบด้วยกรุณา

ก็เกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้น


:b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48: :b48:


แต่สำหรับพระอรหันต์ผู้สิ้นอวิชชา– ตัณหา ไม่มีความคิดพะวงในการแสวงหาสิ่งเสพเสวยเวทนา

หรือความห่วงกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงถาวรยิ่งใหญ่ของตัวตน

ปัญญาบริสุทธิ์ย่อมพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะเปิดรับเอากรุณาเข้ามา

ไม่ว่าในเวลาใดก็ตามที่ประสบอารมณ์ คือสัตว์บุคคลผู้ตกทุกข์ ติดอยู่ในสังโยชน์เครื่องพันธนาการ


โดยนัยนี้ ความสิ้นอวิชชา-ตัณหา-อุปาทานแล้ว จึงเป็นเพียงเครื่องชำระให้การกระทำของพระอรหันต์

เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ปลอดภัยไร้โทษ ปราศจากกิเลสเช่นความกลัวและความเกียจคร้านที่จะเหนี่ยวรั้ง


ส่วนพลังกำกับและนำการกระทำของท่านก็คือปัญญาและกรุณา*

การเคลื่อนไหวและการกระทำของพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น

เมื่อได้ปัญญาส่องนำทาง และมีกรุณาเป็นแรงส่งมุ่งสู่เป้าหมาย** ย่อมเป็นไปได้อย่างเข้มแข็งจริงจัง

ให้เกิดงานยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า พุทธกิจ และ ศาสนกิจต่างๆมีผล คือ พุทธธรรม และ พระพุทธศาสนา

ที่ดำรงอยู่ยั่งยืนมาจนบัดนี้ เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 29 ต.ค. 2009, 10:56, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ต.ค. 2009, 11:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ขยายความ คห. บนที่มี * )

* พุทธคุณโดยสรุปท่านถือกันมาเป็นหลักว่า มี ๒ อย่าง คือ

๑ ปัญญา ซึ่งให้สำเร็จพุทธภาวะ ความเป็นอัตตนาถะ และอัตตหิตสมบัติ เป็นต้น

และ ๒ กรุณา ซึ่งให้สำเร็จพุทธกิจ ความเป็นโลกนาถ และปรหิตปฏิบัติ เป็นต้น

ในภายหลัง บางครั้งท่านเน้นวิสุทธิคุณแยกออกมาเป็นข้อหนึ่งด้วย

แต่ตามปกติก็ถือว่า วิสุทธิคุณเนื่องอยู่ในพระปัญญาอยู่แล้ว เพราะเป็นผลเกิดเองจากการตรัสรู้

ท่านจึงไม่แยกข้อหนึ่งต่างหาก


ในคัมภีร์วชิรพุทธฎีกา แสดงไว้ว่า พุทธกิจมี ๒ อย่างคือ ญาณกิจ และกรุณากิจ

แปลง่ายๆว่า งานที่ทรงทำด้วยพระญาณ และงานที่ทรงทำด้วยพระกรุณา

ปัญญาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ปลอดจากอหังการมมังการ และกรุณาก็ปราศจากเสน่หา

และความโศก

ส่วนมนุษย์ปุถุชน มีกรุณาก็ยังเป็นกรุณาเทียม คือ ยังมีเสน่หาเป็นความรักผูกพันเยื่อใย

ติดในบุคคล และมีโศก ยามสงสารใคร ก็ยังมีจิตใจเหี่ยวแห้งหมองเศร้า ไม่โปร่งผ่องใส


อนึ่ง เมื่อพระพุทธศาสนาแตกออกเป็น ๒ นิกายแล้ว ก็ถือว่า ฝ่ายเถรวาทเน้นด้านปัญญา

มหายานเน้นด้านกรุณา


**ในอรรถกถามีคำเทียบความนี้ เช่น “กรุณาเวคสมุสฺสาหิตมานส” แปล เอาความว่า

(พระพุทธเจ้า)ทรงมีพระหฤทัยอุตสาหะขึ้นด้วยกำลังแห่งกรุณาจึงทรงแสดงธรรม


และพึงอ้างพระบาลีแสดงความปรารภ เมื่อพระเจ้าจะทรงเริ่มประกาศพระศาสนาว่า

“สตฺเตสุ จ การุญฺญตํ ปฏิจฺจ” ความว่า (พระผู้มีพระภาค)ทรงอาศัยพระการุณยภาพ

(จึงทรงพิจารณาดูชาวโลก)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2009, 13:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เพื่อสะดวกในการพิจารณา อาจสรุปข้อควรกำหนดเกี่ยวกับ ฉันทะ และ ตัณหาได้ ดังนี้


ความหมายเบื้องต้น

ฉันทะ

-ความยินดี พอใจ ความใฝ่ รัก อยากคือใฝ่ธรรม ใฝ่ดี ใฝ่สัจจะ อยากรู้ อยากทำ;

ต้องการธรรม


ตัณหา

-ความอยาก ความร่านรน ทะยานอยาก คืออยากได้หรืออยากเอา อยากเป็น อยากไม่เป็น;

ต้องการเสพ



ความหมายตามหลัก

ฉันทะ

-ความยินดีในภาวะที่สิ่งนั้นๆเป็นสิ่งที่ดี ต้องการภาวะดีงามและความดำรงอยู่ในอุดมสภาวะ

ของสิ่งทั้งหลาย อยากทำให้คุณค่าหรือภาวะที่ดีงอกงามขึ้นจนบรรลุอุดมสภาวะ


ตัณหา

-ความอยากได้สิ่งเสพเสวยที่อำนวยสุขเวทนา อยากในภาวะมั่นคงถาวรของอัตตา

อยากให้อัตตาพราก ขาดหาย สูญสิ้นไปจากภาวะที่ไม่ปรารถนา


กระบวนธรรม


ฉันทะ

-โยนิโสมนสิการ => ฉันทะ => อุตสาหะ

ตัณหา

-(อวิชชา + ) เวทนา => ตัณหา => ปริเยสนา



สิ่งที่ประสงค์

ฉันทะ

-ธรรม กุศล (ความจริง ความดีงาม คุณภาพชีวิต)


ตัณหา

-อารมณ์ ๖ (สิ่งเสพเสวยที่อำนวยสุขเวทนาหรือพะนออัตตา) อามิส


ลักษณะพึงสังเกต

ฉันทะ

-ไม่พัวพันอัตตา โน้มน้อมไปหา

-มุ่งอรรถะคือสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์แท้จริงแก่ชีวิตและแก่ทุกสิ่ง

- เกิดจากความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่าสัมพันธ์กับปัญญา

-เป็นเหตุกับการกระทำ เป็นจุดเริ่มต้นหรือส่วนหนึ่งของการกระทำ

-จุดมุ่งหมายของงานนั้นเองเป็นตัวกำหนดการกระทำ


ตัณหา

-มีอัตตาเป็นศูนย์กลาง จะเอาเข้ามา

-มุ่งหาสุขเวทนาหรือสิ่งพะนอตน

-มืดหรือไม่คำนึงถึงความรู้ความเข้าใจคุณโทษ เป็นต้น ของสิ่งนั้นๆ

-เป็นเงื่อนไขกับการกระทำ ไม่ต้องการกระทำ

-ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวกำหนดการกระทำ


อาการ-ผลต่อจิต

ฉันทะ

-สบาย สงบ สมาธิ ช่วยให้เกิดสมาธิ เช่น ชื่นชมในความดีงามของคน

คำสอนหรือ ธรรมชาติ จิตดื่มด่ำซาบซึ้งสงบตั้งมั่น

-เอื้อต่อสุขภาพ


ตัณหา

-กระวนกระวาย เร่าร้อน ไม่ส่งเสริมสมาธิ เช่น ชอบใจ อยากได้อยากเอาอะไรแล้ว

จิตคิดพล่านปั่นป่วนไป

-ความข้องคับใจ ทุกข์ต่างๆ โรคทางจิต


วิธีปฏิบัติ


ตัณหา

๑. นัยตรง: พึงละด้วยถอนขาด

-เกิดที่ไหน ดับหรือละที่นั่น

-ควบคุมโดยเพิ่มปัญญาและฉันทะ


๒. อุบาย: อาศัยตัณหาละตัณหา

-ให้ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะ (หนุนฉันทะ)


ฉันทะ

-พึงกระทำ คือ สร้างขึ้นและปฏิบัติตาม

-ระงับด้วยการกระทำให้สำเร็จตามนั้น



เท่าที่กล่าวมานี้ เท่ากับเป็นการเสนอหลักการอย่างหนึ่ง ของพระพุทธศาสนาว่าคนเรานี้

โดยธรรมชาติ ย่อมมีแรงจูงใจทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะนำออกมาใช้ได้

การกระทำที่ดีงาม

กิจกรรมทุกอย่างที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ ตลอดจนการบรรลุจุดหมายสูงสุด

ของพระพุทธศาสนา จะต้องอาศัยแรงจูงใจฝ่ายดี ที่เรียกว่า ฉันทะ


ทำนองเดียวกับที่การกระทำความชั่ว

และกิจกรรมที่ก่อปัญหาสร้างความทุกข์ทุกอย่าง ย่อมถูกกระตุ้นด้วยตัณหา ที่มีอวิชชาเป็นมูลราก



ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกระบวนการฝึกอบรมสั่งสอนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่า

การศึกษาหรือการปฏิบัติธรรม หรือชื่ออื่นใดก็ตาม ที่จะต้องช่วยให้บุคคลปลุกฟื้นฉันทะขึ้น

มาเป็นพลังชักจูงการกระทำและนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ซึ่งอำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริง

ทั้งแก่ชีวิตเองและแก่โลกที่แวดล้อมอยู่


:b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2009, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าสร้างฉันทะคือความรักธรรม หรือ ความใฝ่ดีนี้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับตัณหาที่อยากได้อยากปรนเปรอตนเองนั้น

ไม่สำเร็จ

ก็หวังได้ยากนักที่จะแก้ไขขจัดปัญหาความชั่วร้ายนานาในสังคมปัจจุบันหรือจะทำงานพัฒนาที่ดี ให้เป็นผล

เพราะใจคนพร้อมที่ไหลไปตามตัณหาอยู่แล้ว

การจะใช้แต่พลังฝ่ายลบมาหักห้ามเช่น บอกว่าอย่าทำผิดศีล อย่าละเมิดระเบียบ เป็นต้น หาเพียงพอไม่

เพราะแม้แต่การรักษาศีลนั้นเอง ขาดฉันทะเสียแล้วก็แทบจะทำไม่ไหว



ฉันทะ เป็นพลังฝ่ายบวกด้วยกัน แต่เป็นปฏิปักษ์กันกับตัณหานี่แหละจะเป็นตัวยับยั้ง ข่มและปราบตัณหา

ที่ได้ผล

เป็นกุญแจสำหรับที่จะไขความสำเร็จในการแก้ปัญหาความชั่วร้ายทั้งหลาย และช่วยให้ก้าวหน้าไปใน

กุศลธรรมได้สำเร็จ

ถ้าเด็กรักความสะอาดเรียบร้อยเสียแล้ว ก็ยากนักที่เขาจะตามใจตัณหายอมทิ้งคว้างเศษของลงอย่างมักง่าย

ถ้าเขาทำอะไรเปรอะเปื้อน ก็ยากนักที่เขาจะยอมปล่อยให้ที่นั้นเลอะเทอะอยู่ต่อไป หรือแม้แต่คนอื่นมาทำ

เปื้อนเปรอะไว้ ก็ยากที่เขาจะต้องรอสัญญาให้ได้รางวัลก่อนจึงจะทำความสะอาด

ฉันทะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้คนดีมีความทุกข์ ในเมื่อเขายังเป็นปุถุชนผู้ถูกครอบงำด้วยความยึดติด

ถือมั่น และอาจให้เขาทำการรุนแรงก่อความเสียหายขึ้นก็ได้

ถ้าทั้งเกิดความยึดมั่นและทั้งสติปัญญาก็ไม่เพียงพอ แต่มันก็เป็นพลังสำคัญที่จะให้เริ่มก้าวหน้าไปได้ใน

กุศลธรรม จึงจำเป็นจะต้องปลุกฟื้นขึ้นมาอย่างรู้เท่าทัน

ส่วนโทษทั้งสองแง่ที่เกิดจากความเป็นปุถุชนนั้น ยังมีทางหลีกเลี่ยงและแก้ไขได้

ดังจะศึกษากันต่อๆไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 26 ม.ค. 2010, 13:11, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2009, 16:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าธรรมฉันทะหรือกุศลฉันทะมีกำลังแรงกล้า ก็ย่อมข่มกำลังตัณหาได้

ในทางร้าย ความริษยาทำให้เห็นคนอื่นได้ดี ทนอยู่ (ที่จะไม่กีดกันหรือทำร้าย) ไม่ได้ ฉันใด

ในฝ่ายดี ด้วยกุศลฉันทะถ้ายังไม่บรรลุความดีงามสูงสุด ก็ทนหยุดนิ่งเฉย (ที่จะไม่ทำให้ดี)ไม่ได้ ฉันนั้น

เมื่อฉันทะมีกำลังแรงกว่าตัณหา นกเรียนนักศึกษา ทั้งที่ว่าตนค้นคว้าเขียนคำตอบเพียงครึ่งแรงก็พอที่จะ

สอบผ่านได้คะแนนดี แต่กลับเพียรขวนขวายให้เข้าถึงความรู้แท้จริงหรือรวบรวมความรู้ให้ได้มากจนสุดกำลัง

พ่อค้า ทั้งที่ผลิตของออกจำหน่ายอย่างนี้ ก็พอที่จะบังตาลูกค้าให้ถูกใจขายได้กำไรดี

แต่กลับพยายามทำสินค้าของตนให้ดีด้วยคุณภาพแท้จริง

ข้าราชการหรือคนทำงาน ทั้งที่ทำงานเรื่อยๆ ก็พอที่จะได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนอย่างสบาย

แต่กลับมุ่งทำงานให้สัมฤทธิ์ผลอย่างดีที่สุดแห่งหน้าที่ของตน

เพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา เมื่อผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของตนสร้างผลสำเร็จที่ดีขึ้นได้

ทั้งที่เกิดความริษยาตามธรรมของปุถุชน แต่กลับช่วยกันส่งเสริมประกาศเพื่อให้ความสำเร็จนั้น

เป็นประโยชน์กว้างออกไปแก่ส่วนรวม

ผู้ปกครอง ทั้งที่รู้ว่าถ้าปล่อยให้ประชาชนไม่มีความรู้ไม่มีโอกาสในเรื่องอย่างนี้ๆ ตนจะเสวยผลประโยชน์มีฐานะ

มั่นคงอยู่นิ่งเฉยอย่างสุขสบาย แต่เพราะเห็นแก่ความดีงามสูงสุดและความเจริญงอกงามของราษฎร์

กลับขวนขวายให้ความรู้และโอกาสที่สมควรแก่ประชาชน

คนผู้อยู่ในฐานะจะเอาเปรียบได้ ก็ไม่ยอมเอาเปรียบ

ผู้ที่ได้เปรียบเขาอยู่ ก็ไม่ยอมนิ่งเสวยความได้เปรียบอยู่เฉย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะกลัวเสียธรรมมากกว่ากลัวเสีย

ผลประโยชน์

ตรงข้ามกับตัณหาซึ่งยอมเสียธรรมดีกว่ายอมเสียผลประโยชน์ เพราะธรรมฉันทะนี้แหละจึงทำให้พระโพธิสัตว์

ทุ่มเทพระองค์ยอมสละชีวิตบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ และเพราะรักโพธิญาณ มุ่งหมายเด็ดเดี่ยว

ต่อสัจธรรม เจ้าชายสิทธัตถะจึงสละความสุขสำราญในราชสมบัติ เพียรฝ่าความเป็นอยู่ยากลำบาก

บำเพ็ญโพธิมรรคาจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า *

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 26 ม.ค. 2010, 13:21, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2009, 16:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ขยายความคห.บน ที่มี * แล้วรวมสรุปทั้งหมด)


* ตัวอย่างพฤติกรรมเนื่องด้วยตัณหาและฉันทะ ต่อไปนี้ หากชี้แจงขยายความไว้ ก็จะยืดยาวกินเนื้อที่มาก

จึงเพียงเสนอเป็นข้อสำหรับพิจารณา


บางคนชอบเรียบร้อย เพราะอยากหรูหรา

แต่บางคนชอบเรียบร้อย เพราะอยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

อย่างแรกเป็นแรงจูงใจเกิดจากตัณหา ความอยากหรูหราเป็นเพียงเงื่อนไขให้ต้องการเรียบร้อย

จึงทำให้ฉาบฉวย ผิวเผิน เกินพอดี และอาจก่อปัญหาได้มากมาย

ส่วนแรงจูงใจในกรณีหลังได้แก่ธรรมฉันทะ

คนทำการด้วยตัณหา คอยห่วงจะเอาชนะคน

คนทำการด้วยฉันทะ มุ่งแต่จะเอาชนะงาน

คนทำงานด้วยตัณหา ทำฮือฮาใหญ่โตเมื่อเริ่มต้น พอหายโฉ่งฉ่างตื่นเต้น ก็ซบเซารามือหรือลักปิดลักเปิด

คนทำงานด้วยฉันทะ ทำจริงจัง ยั่งยืนจนเสร็จ

คนหนักในตัณหา เอาแต่สนุกสนานเฮฮาอยู่ไปวันๆ (กรณีนี้อาจมีปัจจัยซับซ้อน เช่น เอาความรู้แนววิปัสสนา

เป็นข้ออ้าง)

คนหนักในฉันทะสามารถคิดการ ทำการเพื่อผลดีงามระยะยาว (กรณีนี้อาจมีปัจจัยซับซ้อน เช่น ถ้ามีฉันทะ

มาก เมื่อตัณหาเข้าเป็นปัจจัยหนุน ก็อาจยิ่งวางแผนใหญ่โต)

ตัณหามักง่าย

ฉันทะ ไม่กลัวยาก

คนมีธรรมฉันทะ ใคร่รู้ข้อบกพร่องของตนและกิจของตน ยินดีปรีดาที่ได้รับรู้รับฟัง เพราะได้เครื่องชี้ช่อง

ที่จะปรับปรุงตนและกิจของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็ได้แง่ที่จะตรวจตราให้มั่นใจในความสมบูรณ์นั้น

ส่วนคนหนักในตัณหา มั่วห่วงความมั่นคงยิงใหญ่ของภาพตัวตน จึงคอยรับแต่ความกระทบกระเทือนบีบคั้น

และวุ่นวายกับการปกป้องตัวตนนั้นเสีย ไม่ได้ประโยชน์จากคำตำหนิวิจารณ์

ตัณหาทำให้มักง่ายในวิธีการ ตนจะได้สำเร็จไม่ว่าด้วยวิธีชั่วร้ายไร้ธรรมอย่างไรเอาทั้งนั้น

ส่วนคนมีธรรมฉันทะ นอกจากต้องฉลาดในวิธีการแล้ว ยังต้องให้วิธีการนั้นชอบธรรมด้วย

การใช้ธรรมฉันทะต้องการสติปัญญาความสามารถเหนือกว่าปกติ

ผู้มีธรรมฉันทะ พึงระวังทางผิดพลาดที่สำคัญ ๒ อย่างคือ

๑.ปล่อยให้ตัณหาเข้ามาแทรก สวมรับหรือชิงเอาบทบาทไปทำแทนหรือต่อจากฉันทะ เช่น แก้ไขอะไร

ไม่สำเร็จแล้วเสียใจว่าตนไม่เก่ง (ตัวอย่างนี้อ่อนๆ ไม่เลวร้าย)

๒. ขาดความรู้หรือไม่แสวงปัญญา ผู้รู้ธรรมจะต้องรู้แน่ชัดด้วยว่าอะไรเป็นธรรม มิฉะนั้น

อาจทำการผิดพลาดได้

ความรักธรรมและความรู้ธรรมต้องมาด้วยกัน จึงจะทำความจริง ความถูกต้องดีงามที่ประสงค์ให้สำเร็จได้

(ข้อนี้ช่วยเน้นหลักการใหญ่ของพุทธธรรมที่ถือปัญญาเป็นองค์ธรรมหลักในมรรคาแห่งการพัฒนาชีวิต)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 26 ม.ค. 2010, 13:27, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2009, 18:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

กรัชกาย เขียน:
เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีตัณหาเป็นเจ้าเรือน ไม่ว่าฉันทะจะเกิดขึ้นหรือไม่

ตัณหาก็ย่อมมียืนพื้นคอยรอโอกาสอยู่

ถ้าฉันทะไม่เกิด

ตัณหาก็ทำหน้าของมันไป

ถ้าฉันทะเกิดขึ้นมา

ตัณหาก็คอยหาช่องที่จะแทรกซ้อนแอบแฝงหรือเข้าแทนที่


สาธุครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2009, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาจมีผู้สงสัยว่า ในเมื่อฉันทะอยากทำดี หรืออยากให้มีภาวะที่ดีแล้ว

ฉันทะจะอยากทำชั่วหรืออยากให้มีภาวะที่ชั่วบ้างไม่ได้หรือ

พึงพิจารณาว่า เหตุที่คนทำชั่วก็เพราะเห็นแก่การจะได้เสพเสวยเวทนาอันอร่อย

หรือไม่ก็ต้องการจะเสริมหนุนความมั่นคงถาวรยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้

หรือ ไม่ก็เพราะต้องการให้ตัวตนพรากพ้นไปจากสิ่ง หรือภาวะที่ไม่ปรารถนา

หรือเพราะมีลักษณะการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป อย่างที่เรียกว่า เป็นอยู่แค่ปลายเส้นประสาท

กล่าวคือ ได้รับรู้อารมณ์ที่ถูกใจ ก็ชอบใจ อยากได้ จะเอา

ได้รับรู้อารมณ์ไม่ถูกใจ ก็ขัดใจ ชัง อยากทำลาย

ประพฤติตัวและกระทำการต่างๆไปตามอำนาจของความชอบใจ ขัดใจ

หรือความชอบความชังเท่านั้น

รวมความก็คือที่ทำชั่ว ก็เพราะเป็นไปตามกระบวนธรรมของอวิชชา-ตัณหา

หรือเรียกให้เต็มว่า อวิชชา-ตัณหา-อุปาทาน

เป็นอันว่า อวิชชา-ตัณหานั่นเอง เป็นเหตุของการทำความชั่ว

ความอยากทำชั่วจึงต้องมาจากอวิชชา-ตัณหา (ตามหลักความเป็นเงื่อนไขที่กล่าวแล้ว)

ส่วนฉันทะ เกิดสืบเนื่องมาจากการใช้ความรู้ความเข้าใจ

หรือความสำนึกในเหตุผล ได้พิจารณาแล้วโดยอิสระจากเวทนา

ที่ถูกใจไม่ถูกใจ และความชอบใจ ไม่ชอบใจที่รออยู่ต่อหน้า

จนรู้เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งมีคุณค่า เป็นคุณประโยชน์แท้จริง จึงโน้มน้อมไปหาสิ่งนั้น

เมื่อจิตโน้มน้อมไปสู่สิ่งหรือภาวะที่ดีนั้นแล้ว ก็จึงเป็นอันพ้นไปเองโดยอัตโนมัติ

จากการกระทำความชั่วตามอิทธิพลครอบงำของความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดจากตัณหา


โดยนัยนี้ ฉันทะ จึงไม่อาจเป็นความอยากทำชั่วหรือความอยากให้มีภาวะที่ชั่ว

อย่างไรก็ตาม การกระทำโดยฉันทะก็อาจมีการผิดพลาดได้ เนื่องจากการคิดพิจารณาไม่สมบูรณ์

หรือความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอ เป็นต้น ผลดีที่ต้องการอาจไม่เกิดขึ้น หรือผลร้ายกลับเกิดขึ้น

แต่ในเมื่ออวิชชา-ตัณหา ที่เป็นตัวการที่แท้ของการทำชั่ว ถูกตัดออกไปแล้ว

การที่จะพูดถึงความผิดพลาดเหล่านั้นและวิธีแก้ไขต่างๆ ก็เป็นเรื่องคนละขั้นตอน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 25 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron