วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 17:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2009, 21:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




m207632.jpg
m207632.jpg [ 81.36 KiB | เปิดดู 3455 ครั้ง ]
(ต่อ)



เกิด คือ เชื่อมต่อที่กำเนิด กับความงอกงามต่อไป


เรื่องวันเกิดนี้พูดได้หลายอย่างหลายแง่ เพราะมีความหมายมากมาย ความหมายอีกอย่างหนึ่งของการเกิด

ก็คือเป็นจุดเชื่อมต่อ ไม่ใช่ว่าเกิดมานี้คือการเริ่มต้นใหม่โดยไม่มีอะไรมาก่อน แต่การเกิดนี่เป็นจุดเชื่อมต่อ

และถ้าใช้เป็น จุดเชื่อมก็ทำให้เราได้ประโยชน์มากมาย เชื่อมต่ออะไร


เชื่อมเรากับคุณพ่อ - คุณแม่


๑. การเกิดเป็นตัวเชื่อมต่อตัวเราผู้เกิดกับท่านผู้ให้กำเนิด เพราะฉะนั้น ทันทีที่ใครคนใดคนหนึ่งเกดนั้น

อีกคนหนึ่งก็เกิดด้วย คือพอลูกเกิดก็เกิดพ่อแม่ด้วย คนที่ยังไม่ได้เป็นพ่อแม่ พอมีลูกเกิดนั้น ตัวเองก็เกิด

เป็นพ่อเป็นแม่ทันที เพราะฉะนั้น วันเกิดของเรา จึงเป็นวันเกิดของคุณคุณแม่ด้วย

ด้วยเหตุนั้น วันเกิดนี้ในแง่หนึ่งจึงเป็นวันที่ระลึกถึงบิดามารดา และจะเป็นตัวเชื่อมให้เรามีความผูกพันกับท่าน

ผู้ให้กำเนิด แล้วก็จะมีความสุขร่วมกัน

เช่น ลูกเมื่อถึงวันเกิด ก็นึกถึงคุณพ่อ-คุณแม่ และทำอะไรๆ ที่จะทำให้ระลึกถึงกัน และมีความสุขร่วมกัน

จากคุณพ่อ-คุณแม่ ก็โยงไปหาคนอื่นอีก เช่น ที่น้อง ปู่ย่าตายาย คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสัมพันธ์กันไปหมด

นี่คือการเกิดเป็นตัวต่อและเชื่อม


เชื่อมฐานวัฒนธรรมไทยกับความเจริญที่จะก้าวหน้าต่อไป

๒. การเกิดนี้เชื่อมไปถึงพื้นฐานของเรา เช่น เมื่อเราเกิดเป็นคนไทย ชีวิตของเราที่เป็นพื้นเดิม ก็มีรากฐาน

คือวัฒนธรรมไทย เราเกิดมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมนี้ วัฒนธรรมไทยก็หล่อหลอมชีวิตของเรา เราจะต้องรู้จัก

เอาประโยชน์จากวัฒนธรรมไทย

ต่อจากพื้นฐานนี้เราก็ก้าวไปข้างหน้า และพบวัฒนธรรมภายนอกตลอดจนพบความเจริญอะไรต่างๆ ถ้าเราใช้

เป็น เราก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองด้านคือ

ก) เราจะมีพื้นฐานของเราที่มั่นคง ให้การเกิดเป็นตัวที่ยึดพื้นฐานของเราไว้ได้ด้วย รากฐานทางวัฒนธรรม

ที่เรามีเราก็ไม่ละทิ้ง แต่เราเอาส่วนที่ดีมาสร้างตัวให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคง

ข) สิ่งใหม่ๆ เราก็ก้าวไปรับ ไปทำ ก้าวไปสร้างสรรค์

ถ้าเราได้ทั้งสองด้านนี้ เราจะมีความเจริญงอกงาม คือ ทั้งมีพื้นฐานที่ดี และสามารถก้าวไปข้างหน้า

ได้อย่างมั่นคง

หมายความว่าไม่ให้ขาดทั้งสองด้าน ทั้งพื้นฐานเดิม และทั้งด้านใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้า

คนที่จะเจริญงอกงามต้องได้ทั้งสองด้านนี้ จึงจะมีการพัฒนาที่สมบูรณ์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 08 ต.ค. 2009, 08:52, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ส.ค. 2009, 09:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วาสนาสร้างเองได้ (ต่อ)



นึกถึงวันเกิด ช่วยให้ไม่หลงเตลิดออกจากธรรมชาติ

เชื่อมบุคคลในสังคม กับชีวิตในธรรมชาติ



๓. การเกิดเป็นตัวเชื่อมต่อคนและสังคม กับธรรมชาติ

คนเราที่เกิดมานี้ ตัวแท้ๆ ยังไม่มีอะไรก็เป็นชีวิตเท่านั้น ชีวิตนี้เป็นธรรมชาติ ชีวิตนี้อยู่ท่ามกลาง

ธรรมชาติ เกิดจากธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เนื้อตัวชีวิตของเรานี้เป็นธรรมชาติ


เมื่อเกิดมาแล้วเราจึงเริ่มมีฐานะใหม่ คือสถานะในทางสังคม คือเป็นบุคคล เราก็จะเป็นบุคคล

ในสังคม เป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ เป็นพี่ของคนนั้น เป็นน้องของคนนี้ แล้วก็ก้าวเข้าไปในสังคม

โดยมีฐานะต่างๆ


บางทีเราก้าวเข้าไปในฐานะที่หนึ่ง คือ ความเป็นชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติ เรานึกถึงแต่ความเป็นบุคคลที่

ไปเที่ยวมีบทบาทนั้นนี้ๆ จนลืมตัวเอง


ทางพระท่านเตือนเสมอว่า อย่าลืมสถานะเดิมแท้ที่เป็นพื้นฐานของเราว่า ชีวิตเป็นธรรมชาติ

คนใดที่ได้ทั้งสองด้าน คนนั้นจึงจะมีชีวิตที่เจริญงอกงามสมบูรณ์



แต่คนเรานี้จำนวนมากมักจะลืมด้านชีวิต และได้แต่ด้านบุคคล คือนึกถึงแต่ด้านการอยู่ร่วมสังคม

นึกถึงการที่จะมีฐานะอย่างนั้นอย่างนี้ จนลืมชีวิตที่เป็นพื้นฐาน


แม้แต่การกินอาหาร ถ้าเราลืมพื้นฐานด้านชีวิตเสียแล้วเราก็จะพลาด ถ้าเรามัวนึกถึงในแง่การเป็นบุคคล

ในสังคม เวลารับประทานอาหารเราก็นึกไปในแง่ว่าเรามีฐานะอะไร ควรจะกินอะไรให้สมฐานะ ดีไม่ดี

ก็ไปตามค่านิยมให้โก้ให้เก๋ เป็นต้น


แต่ถ้าเรานึกถึงในแง่ของชีวิต ก็คิดเพียงว่าการกินอาหารนั้นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ให้ชีวิตดำเนินไปได้

ต้องกินให้สุขภาพดีนะ อย่ากินให้เป็นโทษต่อร่างกาย อาหารแค่ไหนพอดีแก่ความต้องการ

ของร่างกาย อาหารประเภทไหนมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อชีวิต เราก็กินอย่างนั้นแค่นั้น


ถ้าเราไม่ลืมพื้นฐานของชีวิตในด้านธรรมชาติ เราจะรักษาตัวแท้ของชีวิตไว้ได้

ส่วนที่เหลือในด้านความเป็นบุคคลก็เป็นเพียงตัวประกอบ

แต่ปัจจุบันเรามักจะเอาความเป็นบุคคลเป็นหลัก จนกระทั่งลืมความเป็นชีวิตไป ทำให้ด้านธรรมชาติ

สูญเสีย

เพราะฉะนั้น จึงทำให้เรามีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์


วันเกิดนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจ โดยเป็นตัวเชื่อมว่า โดยเนื้อแท้นั้นฐานของเราเป็นธรรมชาตินะ

อย่าลืมส่วนที่เป็นธรรมชาติด้านนี้


ส่วนด้านที่เป็นบุคคลเราก็ทำให้ดี ให้ได้ผล ให้สองด้านมาประสานกลมกลืนกัน ทั้งด้านชีวิตที่เป็น

ธรรมชาติ และด้านเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม

ถ้าอย่างนี้แล้ว ชีวิตก็จะสมบูรณ์ มีชีวิตอยู่ไปนานเท่าไรๆ ก็อย่าลืมหลักการข้อนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ส.ค. 2009, 09:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วันเกิด ทำให้ไม่ลืมที่จะหวนกลับมาพัฒนาชีวิตที่เป็นตัวแท้ของเรา


อีกอย่างหนึ่ง การมองตัวเองให้ถึงธรรมชาติที่เป็นชีวิตนี้เราจะได้กำไร คือ หลักการของพระศาสนา

จะมาเสริมให้เราพัฒนาตัวชีวิตที่แท้ ไม่ใช่พัฒนาแต่สิ่งภายนอกอย่างเดียว

บางทีเราลืมไป มัวแต่แสวงหาอะไร ๆ ที่เป็นของภายนอก ที่พระท่านบอกว่าเป็นของนอกกาย

จนพะรุงพะรัง เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้ก็กลับมาก่อทุกข์ให้แก่ตนเอง


ขีวิตในด้านที่แท้จริงนั้น เมื่อเราไม่ลืมมันแล้วพระพุทธศาสนาก็เข้ามาได้ ท่านก็สอนให้พัฒนาชีวิต

ของเราว่า ชีวิตของเรานี้ นอกจากด้านการแสดงออกสัมพันธ์กับโลกภายนอกแล้ว ลึกเข้าไป

ก็ยังมีด้านจิตใจ และอีกด้านหนึ่งคือปัญญา

เราจะต้องมีความรู้เท่าทันชีวิตนี้ รู้เท่าทันโลก เป็นต้น ถึงตอนนี้ก็เข้ามาสู่ศีล สมาธิ ปัญญา


เราจะต้องพัฒนาชีวิตของเรา ให้ชีวิตที่เกิดมาแล้วนี้ ได้เข้าถึงสิ่งที่ดีที่เป็นเสริฐของมัน ไม่ใช่ดี

แต่ภายนอกอย่างเดียว

ความเจริญงอกงามของชีวิตที่แท้ จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ อะไรต่างๆได้ ก็อยู่ตรงนี้แหละ

คือพัฒนาชีวิตของเราที่เป็นตัวของตัวเอง ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่งนี้ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ให้เจริญ

ในศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นไป จนกระทั่งได้บรรลุวิมุตติ วิสุทธิ สันติ และอิสรภาพที่แท้จริง

จนถึงนิพพาน อันนี้เป็นเรื่องยึดยาว คงจะไม่บรรยาย แต่เป็นแง่หนึ่งของการที่จะได้คติจากวันเกิด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ส.ค. 2009, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




07030805.gif
07030805.gif [ 126.83 KiB | เปิดดู 3528 ครั้ง ]
วาสนาสร้างเองได้ (ต่อ)


รวมความแล้ววันเกิดนี้ ถ้ามองให้ดี ก็มีคติเตือนใจให้ได้ความหมายมากหลายอย่าง

แต่สาระสำคัญก็คือเป็นจุดเชื่อมต่อที่ว่า พอเชื่อมต่อแล้ว เราจะต้องให้ได้ทั้งสองด้าน

อย่าให้ขาดสักด้านหนึ่ง

ไม่ใช่ว่า พอเชื่อมต่อแล้วก็ก้าวไปหาของใหม่ จนเลยไปลืมเตลิดหลงทาง ไม่เห็นฐานเก่า

ถ้าได้ครบทั้งสองด้านอย่างนี้ ก็เป็นความสมบูรณ์ของชีวิตที่ครบถ้วนเต็มบริบูรณ์


โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เรามีเรื่องภายนอกที่กระทบกระทั่งมาก

ถ้าใครตั้งหลัก ทำชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะภายใน ด้านจิตใจ และปัญญา ไม่ได้ดีแล้ว จะหวั่นไหว

และกระทบกระเทือนมาก เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราจะยิ่งต้องมีความไม่ประมาท แล้วก็ต้องมาตั้งหลักทำ

ตัวของเราเอง ทั้งทางจิตใจ และปัญญาที่รู้เท่าทัน ให้พร้อม ให้เข้มแข็ง


เกิดมาแล้ว ถ้าเลี้ยงไม่ดี จะเป็นคนที่ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก


ในโลกต่อไปนี้ที่มีเรื่องราวอะไรต่างๆ เกิดขึ้นมา คนที่อยู่ได้จะต้องมีความเข้มแข็ง

เด็กสมัยปัจจุบันนี้ ในสังคมไทยเรา ชักจะเลี้ยงดูไปในทางที่ทำให้อ่อนแอ

คนที่อ่อนแอ ก็จะมีความสุขตามแบบของคนอ่อนแอ ความสุขของคนอ่อนแอนั้นเปราะบาง

แตกสลายง่าย และความสุขอย่างนั้น ก็เปลี่ยนเป็นทุกข์ได้ง่าย ไม่ยั่งยืนมั่นคง


ส่วนคนที่เข้มแข็ง ก็จะมีความสุขที่เข้มแข็งด้วย ความสุขที่เข้มแข็งก็มั่นคง

และยากที่จะเปลี่ยนแปลง คือความสุขนั้นยากที่จะเปลี่ยนเป็นความทุกข์ แถมยังเจอความทุกข์

น้อยๆ ก็ไม่หวั่น ไม่กลัว จึงเป็นคนที่ทุกข์ได้ยาก และเป็นคนที่สุขได้ง่าย


เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในโลกต่อไปนี้ ต้องพัฒนาให้ดี ต้องเป็นคนที่สุขได้ง่าย ทุกข์ได้ยาก

ถ้าพัฒนาไม่เป็น หรือไม่พัฒนา ก็จะเป็นคนที่สุขได้ยาก และทุกข์ได้ง่าย

เวลานี้เด็กยุคปัจจุบัน เราพยายามจะให้เขามีความสุข แต่เราไม่เลี้ยงดูเขาให้ดี เขาไม่พัฒนา

ก็เลยกลายเป็นคนที่สุขได้ยาก ทุกข์ได้ง่าย ปรากฏว่าเป็นอย่างนี้กันมากแล้ว

ทั้งๆที่มีอุปกรณ์บำรุงบำเรอให้มีความสุขมากมาย แต่เด็กยิ่งเป็นคนทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก


ถ้าอย่างนี้ ถึงจะมีอุปกรณ์บำรุงบำเรอ หรือเทคโนโลยีเจริญเท่าไร ก็ไม่ไหว แก้ทุกข์ไม่ได้

ฉะนั้น จะต้องพัฒนาข้างใน ให้เป็นคนที่มีความสุข ของคนที่เข้มแข็ง เป็นคนที่สุขได้ง่าย ทุกข์ได้ยาก



แม้แต่ทุกท่านทุกคนก็เช่นเดียวกัน บทพิสูจน์ตัวเองอย่างหนึ่งก็คือ เราเกิดมานานแล้วนี้ เราสุขได้ง่าย

ขึ้นหรือไม่

ถ้าเรากลายเป็นคนที่สุขได้ยาก ทุกข์ง่ายขึ้น ก็แสดงว่า เรานี่เห็นจะเดินไม่ค่อยถูกทาง

เพราะฉะนั้น ต้องตรวจตราดูตัวเอง อยู่กันมานานๆ ต้องให้สุขได้ง่าย ทุกข์ได้ยากขึ้น



ถ้าเกิดแล้วพัฒนา ยิ่งเกิดมานาน ยิ่งสุขทุกสถาน


ตอนเกิดใหม่ๆ ยังเป็นเด็กนี่สุขได้ง่าย เจออะไรนิดหน่อยก็หัวเราะแล้ว แต่พอโตขึ้นชักสุขได้ยากขึ้น

เพราะฉะนั้น ต้องระวัง ท่านจึงให้ไม่ประมาท

ถ้านึกถึงวันเกิดให้ถูกต้อง จะต้องโยงมาสู่ความเจริญเติบโตหรือการพัฒนาที่ถูกต้อง คืออยู่นานไป

ชีวิตยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะมีความสุขได้ง่าย จนมีความสุขประจำตัวประจำชีวิตไปเลย



รวมความว่า เมื่อพัฒนาตัวเราเองนี้ไป ก็เข้าสู่หลักที่ว่า การเกิดนี้เป็นเครื่องเตือนใจเราให้ได้

ทั้งสองด้าน

ก้าวไปข้างนอกแล้ว อย่าลืมข้างในตัวเอง ต้องพัฒนาให้ทัน สร้างความเข้มแข็งที่จะอยู่ในภาวะ

ภายนอกได้อย่างดีที่สุด

เมื่อพัฒนาภายใน ทั้งพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาให้เข้มแข็ง

ในที่สุดข้างนอกมาเท่าไรก็มีแต่ได้ คือได้ส่วนดีที่เป็นประโยชน์และยิ่งมีความสุข

เป็นอันว่า วันเกิดนี้มีความหมายที่ดีงาม นำมาเป็นคติแก่ตัวเรา โดยเฉพาะท่านเจ้าของ

วันเกิด จะได้ประโยชน์มากมายหลายประการ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 30 ส.ค. 2009, 15:21, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ย. 2009, 11:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วาสนาสร้างเองได้ (ต่อ)



พุทธดำรัสที่ตรัสย้ำอยู่เสมอ ก็คือ คำแนะนำให้บริโภคสิ่งต่างๆด้วยโยนิโสมนสิการ คือ

รู้จักพิจารณา กินใช้ ด้วยคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้พอดีที่จะไม่เกิดโทษ

แต่ให้เป็นคุณประโยชน์ เป็นเครื่องส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม เช่น

กินอาหารมิใช่เพื่อเห็นแก่สนุกสนานมัวเมา แต่เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ผาสุก

สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐได้

ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันและบรรเทาหนาวร้อนลมแดด คุ้มภัย พักผ่อน

ใช้ชีวิตส่วนตัว เป็นต้น

มิใช่เพื่อฟุ้งเฟ้อแข่งขัน หรือเมาเกียรติเมายศอวดข่มใครๆ

ผู้ใดคุมตนให้ปฏิบัติได้ตามที่ปัญญาบอกอย่างนี้ ท่านเรียกว่า มีนิสสรณปัญญา คือ

มีปัญญาที่ทำชีวิตให้เป็นอิสระ หรือมีปัญญาพาไปสู่ความรอด หรือมีปัญญาสำหรับปลดปล่อยตัว

ให้เป็นอิสระ

ถ้าสามารถปลอดปล่อยตัวให้เป็นอิสระได้แล้ว ก็นับว่ามีความพร้อม หรือมีคุณสมบัติพื้นฐาน

ที่จะไปช่วยปลดปล่อยผู้อื่นต่อไปได้อย่างดี

เมื่อชีวิตเป็นอิสระปลอดโปร่ง ปราศจากสิ่งบีบคั้น ก็ย่อมเกื้อกูลแก่การที่อายุจะดำรงอยู่ได้ยืนนาน


ธรรมที่ช่วยให้อายุยืน

พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แสดงข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุ เรียกว่า อายุสละหรืออายุวัฒนธรรม คือ

ธรรมที่ช่วยให้อายุยืนมี ๕ ประการ คือ

๑. สัปปายการรี สร้างสัปปาย คือทำอะไรๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ

๒. สัปปาย มัตตัญญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้น ก็รู้จักประมาณ ทำแต่พอดี

๓. ปริณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด)

๔. กาลจารี ประพฤติตนให้เหมาะสมในเรื่องเวลา เช่น รู้จักเวลา ทำถูกเวลา ทำเป็นเวลา

ทำพอเหมาะแก่เวลา

๕. พรหมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร


แม้ว่าการบริหาร คือ ปฏิบัติตนในด้านกายจะเป็นสิ่งสำคัญ

แต่กายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ชีวิตนั้นประกอบด้วยรูปและนาม

ต้องมีทั้งกายและจิตจึงจะมีชีวิตอยู่ได้
และกายกับจิตนั้นย่อมสัมพันธ์

ต้องอาศัยกันส่งผลดีถึงกัน

ในการที่จะมีอายุยืน นอกจากระวังรักษาและบำรุงกายแล้ว

ก็จะต้องมีข้อปฏิบัติทางจิตใจด้วย คือจะต้องรู้จักระวังรักษาบำรุงจิตใจของตน

เครื่องระวังรักษาบำรุงจิตใจก็คือคุณธรรม การฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา

ในบรรดากุศลธรรมที่เกื้อกูลแก่อายุนั้น ข้อที่มีผลมากโดยตรงแก่เมตตาและกรุณา คือ ความรัก

ความปรารถนาดี มีไมตรี คือช่วยเหลือเกื้อกูล ปราศจากพยาบาท ความคิดร้ายผูกใจเจ็บแค้น

ดำรงในอหิงสา คือ ปราศจากวิหิงสา ไม่ข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดร้ายมุ่งทำลาย

ดังพุทธพจน์ว่า

“การที่บุคคลละปาณาติบาต เว้นขาดจากการทำลายชีวิต วางทัณฑะ วางศัสตรา

มีความละอายต่อบาป ประกอบด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ปวงสัตว์

นี้ คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความมีอายุยืน”


ความรัก เมตตา ความมีไมตรี ย่อมส่งเสริมความมีอายุยืน ทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น

สำหรับตนเองเมื่อมีเมตตา จิตใจก็ผ่องใส สดชื่นเบิกบาน

ระบบต่างๆ ในร่างกายก็ไม่ตึงเครียด ทำงานคล่องแคล่วเบาสบาย ช่วยให้มีสุขภาพดี

เมื่อต่างคนต่างก็รักใคร่ ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายกัน

ต่างก็มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน เท่ากับช่วยเหลือกันให้อายุยืนไปด้วยกัน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีเมตตากรุณา หันมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อุดหนุนส่งเสริมกัน

คนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือก็มีคนช่วยเหลือ เช่น คนที่ขาดแคลน ก็ได้รับการแบ่งปัน

ด้วยการให้อาหารและปัจจัยยังชีพอย่างอื่นๆ

เมื่อคนขัดสนยากไร้ อ่อนแอ ได้รับอาหารและปัจจัยยังชีพ ทำให้เป็นอยู่ได้ หรือ กลายเป็นคน

แข็งแรง ก็เท่ากับได้รับการต่ออายุให้ยืนยาวหรือทำอายุให้มั่นคง

เมื่อพระภิกษุ ผู้เว้นจากการประกอบศิลปวิทยาเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะทำหน้าที่ดำรง และ สืบทอด

ธรรมในหมู่มนุษย์ ได้รับการอุดหนุนด้วยปัจจัยสี่ มีภัตตาหาร เป็นต้น

ก็เท่ากับได้รับการถวายอายุให้ สามารถบำเพ็ญกิจของผู้ดำรงและสืบทอดธรรมอยู่ได้ต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.ย. 2009, 19:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ต่อจาก คห.บน)



ส่วนทางฝ่ายผู้ให้หรือผู้บำรุงอุดหนุนนั้น ก็ชื่อว่าได้ประกอบกุศลธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความปีติยินดี

และความมีจิตใจใจเบิกปาน ผ่องใส เป็นพลังส่งเสริมอายุ สามารถช่วยหนุนให้มีอายุยืนยาวได้

เมื่อให้อายุแก่ผู้อื่นแล้ว ตนเองก็เป็นผู้ได้อายุด้วยเช่นเดียวกัน

พุทธพจน์ที่แสดงอานิสงส์เช่นนี้มีหลายแห่ง เป็นต้นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ให้ เมื่อให้อาหาร ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการ แก่ผู้รับ คือ

ให้อายุ ให้วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ครั้นให้อายุแล้ว ก็เป็นผู้มีส่วนได้อายุด้วย”


เมื่อคนทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่มีไมตรีจิต รักใคร่ ปรารถนาดีต่อกัน

กระแสจิตเมตตาก็จะแผ่เอิบอาบซึมซ่านกระจายไปทั่วทั้งสังคม

บันดาลให้เกิดความสงบสุข รู้สึกร่มเย็นแผ่ปกคลุมอยู่ทั่วไป

จะไปไหน ทำอะไร ก็ไม่ต้องคอยเสียวสะดุ้ง หวาดระแวง

ในสภาพเช่นนี้ ชีวิตด้านกายก็ปลอดภัย จิตใจก็มีสุขภาพสมบูรณ์

นับว่าเป็นสภาพอุดมคติของสังคมที่ทางพระพุทธศาสนา จะชี้แนะให้คนนึกถึงเพื่อกระตุ้นเตือน

ให้พากันประพฤติธรรม ซึ่งหากเป็นได้เช่นนี้ คนทั้งหลายก็ย่อมจะมีอายุยืนยาวทั่วหน้า

และจะยืนยาวยิ่งขึ้นไป ได้ผลยิ่งกว่ายาชูกำลัง หรือยายืดขยายชีวิตอย่างที่เรียกว่า

ยาอายุวัฒนะในฝ่ายวัตถุ



ความมีอายุยืน มิได้เป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต


อย่างไรก็ดี แม้ว่าความมีอายุยืน จะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง

แต่ในทางธรรมท่านมิได้ถือว่าความมีอายุยืนนั้น เป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

เครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตนั้น อยู่ที่ว่า ระหว่างที่อายุยังทรงอยู่

ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็ตาม บุคคลได้ใช้ชีวิตนั้นอย่างไร คือ ได้อาศัยชีวิตนั้น

ก่อกรรมชั่วร้ายเป็นโทษ หรือทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์

พอกพูนอกุศลธรรมหรือเจริญกุศลธรรม

ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของอวิชชาตัณหา หรือ ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาและกรุณา

ชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น

แม้จะสั้นก็ยังประเสริฐกว่าชีวิต ซึ่งยืนยาวแต่เป็นที่สั่งสมอธรรมและแผ่ขยายความทุกข์


ดังตัวอย่างในธรรมบทคาถามว่า

“ผู้ใด เกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี ก็ไม่ดีอะไร

ชีวิตของผู้มีความเพียรมั่นคง แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”


“ผู้ใดทรามปัญญา ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร

ชีวิตของคนมีปัญญา มีสมาธิ แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใด ไม่เห็นอุดมธรรม ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร

ชีวิตของผู้เห็นอุดมธรรม แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”


ชีวิตที่ไร้ธรรมเป็นโทษ ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งมีโอกาสพอกพูนอกุศลให้หนาแน่น และแผ่ขยายทุกข์ภัย

ให้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น


ส่วนชี่วิตที่ชอบธรรมและบำเพ็ญคุณประโยชน์ แม้จะอยู่เพียงเวลาสั้นก็ยังมีคุณค่ามาก

ดังที่เรียกว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ

หากยิ่งอยู่ยาวนานมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นกำลังส่งเสริมธรรมให้เข้มแข็ง และสร้างสรรค์ประโยชน์สุข

ให้พรั่งพร้อมยิ่งขึ้นแก่พหูชน



กล่าวอีกนัยหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับท่าน ซึ่งเป็นผู้นำในการเชิดชูธรรมและในงานด้านสร้างสรรค์

ประโยชน์สุข

อายุของผู้ทรงธรรม ก็เท่ากับหรือส่วนสำคัญแห่งอายุของธรรมที่จะรุ่งเรืองอยู่ในสังคมด้วย

อายุของผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ ก็เท่ากับมีส่วนสำคัญแห่งอายุของประโยชน์สุขในสังคมนั้นด้วย

ยิ่งผู้ทรงธรรมมีอายุยืนเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ธรรมมีกำลังรุ่งเรือง อยู่ในโลกหรือในสังคมนั้น

ยืนนานมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ อายุของผู้ทรงธรรม และบำเพ็ญประโยชน์สุขจึงมีคุณค่ามาก เพราะมีความหมาย

สัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อายุของธรรม และ อายุ

ของประโยชน์สุข ที่จะมีผลต่อสังคมหรือต่อประชาชน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2009, 10:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมกับวินัย


หลักธรรมกับวินัย เป็นชื่อหนึ่งของพระพุทธศาสนา

บางครั้งเราเรียกพระพุทธศาสนาว่า ธรรมวินัย ซึ่งต้องมีทั้งสองอย่าง จึงจะเป็นพระพุทธศาสนา

โดยสมบูรณ์

ถ้ามีอย่างเดียวก็ยังไม่ครบ

ในโลกปัจจุบันนี้ หรือในโลกที่ผ่านมาก็ตาม มักจะมีการถกเถียงกันอยู่เสมอว่า บุคคลกับระบบอย่างไหน

สำคัญกว่ากัน

บางคนบอกว่า บุคคลสำคัญ ระบบไม่สำคัญ

บางคนบอกว่าระบบสิสำคัญ บุคคลไม่สำคัญ ระบบเป็นอย่างไร คนก็เป็นไปตามนั้น

คนพวกหนึ่งบอกว่า ปัจเจกชนสำคัญ สังคมเกิดจากปัจเจกชน สังคมจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ปัจเจกชน

ถ้าทำปัจเจกชนให้ดีสังคมก็ดีไปเอง

อีกพวกหนึ่งบอกว่า สังคมสำคัญ ปัจเจกชนถูกหล่อหลอมโดยสังคม ทำสังคมให้ดีแล้วปัจเจกชนก็ดีไปตาม



ในแง่สาระกับรูปแบบ

พวกหนึ่ง บอกว่าสาระสำคัญรูปแบบไม่สำคัญหรอก เนื้อหาสำคัญกว่า รูปแบบเป็นเพียงเปลือกนอก

บางพวกบอกว่ารูปแบบสิสำคัญ รูปแบบเป็นเครื่องกำหนดเนื้อหา เถียงกันอยู่นี่ไม่รู้จักจบ


ในการฝึกการปฏิบัติก็เหมือนกัน

บางพวกบอกว่าด้านในจิตใจสำคัญ ต้องฝึกจิตใจ ฝึกจิตใจได้แล้วทุกอย่างก็ดีไปเอง ร่างกายภายนอกไม่สำคัญ

อีกพวกหนึ่งบอกว่า สำคัญที่วัตถุภายนอก เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่อาศัยวัตถุ เกิดจากวัตถุ ถ้าทำภายนอกดี

สภาพแวดล้อมวัตถุดี มีความเจริญทางวัตถุ พรั่งพร้อม เศรษฐกิจดีแล้ว จิตใจก็ดีเอง


คนจำนวนมากเถียงกัน แม้แต่เรื่องสมัครใจกับบังคับ ว่าอย่างไหนดี

พวกหนึ่งบอกว่าต้องสมัครใจหมดทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามเสรีภาพ สมัครใจจึงจะถูกต้อง

อีกพวกหนึ่งว่า ไม่ได้หรอก คนเรานี้กิเลสมันมาก ต้องบังคับมัน บังคับแล้วจึงจะได้ผล

นี่ก็เป็นเรื่องของการเอียงสุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน มนุษย์มักจะโน้มเอียงไปในทางเอียงสุด

หรือสุดโต่งไปข้างหนึ่ง


แต่พระพุทธเจ้าไม่เอียงสุดไปข้างไหน เพราะยอมรับความสำคัญของแต่ละเรื่องแต่ละอย่าง ตามความเป็นจริง

ของมัน หรือตามคุณค่าที่มันมีอยู่ โดยมองตามเป็นจริง หรือตามที่มันเป็นและพอดีกับที่มันเป็น ว่าสิ่งทั้งหลาย

แต่ละอย่างมีความสำคัญตามส่วนของมัน

อันนี้จะเรียกว่าเป็นความเป็นกลาง หรือความเป็นสายกลางอีกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็ได้


ในเรื่องสาระกับรูปแบบเป็นต้นที่ว่ามานี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติหลักคำสอนของพระองค์ให้มีองค์ประกอบ

ทั้งสองอย่าง คือ ธรรมกับวินัย คุมทั้งคู่เลย


ธรรม เป็นหลักความจริง ซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาของมัน และเป็นสิ่งที่บุคคลเข้าถึงได้ ธรรมนั้นสังคมไม่สามารถ

มีปัญญารู้ได้ บุคคลแต่ละคนเท่านั้นที่จะมีปัญญารู้แจ้งเข้าถึงสัจธรรม

แต่ในเวลาเดียวกันพระพุทธศาสนาก็มีอีกด้านหนึ่ง คือหลักเกณฑ์ที่เรียกว่าวินัย

วินัย เป็นการจัดตั้งและจัดการ เป็นรูปแบบ เป็นระบบ เป็นกติกา เป็นกฎเกณฑ์ เป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติ

หรือกำหนดวางขึ้น เป็นเรื่องของการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่เน้นทางวัตถุ และเป็นเรื่องของสังคม

บัญญัติขึ้นเพื่อจัดสรรสังคมให้ดำรงอยู่ด้วยดีในภาวะที่จะเกื้อกูลต่อชีวิตของบุคคลทั้งหลาย ที่มาอยู่รวมกัน

เป็นสังคมนั้น ให้บุคคลเหล่านั้นมีชีวิตอยู่กับธรรมได้อย่างดีที่สุด และได้ประโยชน์มากที่สุดจากธรรม


จะเห็นว่าธรรมและวินัยสองอย่างนี้ก็มาสัมพันธ์กัน พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งแก่ธรรมและวินัย

พูดเป็นภาษาปัจจุบันว่า ให้ความสำคัญทั้งแก่บุคคลและระบบ ให้ความสำคัญทั้งแก่ปัจเจกชนและสังคม

ให้ความสำคัญทั้งแก่สาระและรูปแบบ ให้ความสำคัญทั้งแก่การปฏิบัติทางด้านในจิตใจ และการปฏิบัติ

ด้านนอกที่เน้นวัตถุ กาย วาจา และให้มีทั้งการสมัครใจ และการบังคับ (หมายถึงการฝึกด้วยกฎ

กติกา) พอดี ที่จะเกื้อกูล หนุนกันให้เกิดผลดีที่มุ่งหมาย

นี่คือลักษณะของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ที่เข้ากับข้อแรกด้วย แต่แยกให้เห็นเป็นพิเศษต่างหาก

จะเห็นได้ว่าในพระพุทธศาสนานี้ท่านให้ธรรมเป็นเรื่องของการสมัครใจ เราแต่ละคนเกี่ยวข้องกับธรรมด้วยสติ

ปัญญาของตนเอง จะต้องรู้เข้าใจเห็นแจ้งสัจธรรมด้วยปัญญาของตนเอง เฉพาะบุคคล

แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็มีวินัยเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของรูปแบบ เป็นเรื่องของการปฏิบัติด้าน

กายวาจา เป็นแบบแผนที่บังคับแก่ทุกคนเสมอกัน สำหรับให้เป็นเครื่องตะล่อมและหล่อหลอม

เป็นเครื่องสร้างสภาพแวดล้อมที่จะชักจูงบุคคลเข้าหาธรรม และเป็นเครื่องสร้างสภาพชีวิตและสภาพสังคม

ที่เอื้อต่อการที่จะนำธรรมมาใช้ปฏิบัติ หรือเอาธรรมมาใช้ประโยชน์

ตลอดจนการที่จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปในธรรม และเข้าถึงธรรม

ธรรมและวินัยสองอย่างนี้ ถ้าจัดให้พอดีก็จะได้ความสมดุลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประสานสัมพันธ์กัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 10 ม.ค. 2010, 09:24, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ธ.ค. 2009, 20:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธศาสนามีวิมุตติ หรือความมีอิสรภาพเป็นจุดหมายสำคัญ และไม่ใช่เป็นเพียงจุดหมายเท่านั้น

แต่มีอิสรภาพเป็นหลักการสำคัญทั่วไปทีเดียว

ในทางธรรมท่านใช้คำว่า วิมุตติรส กับวิมุตติสาระ

สำหรับวิมุตติรสนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเป็นคำอุปมาว่า มหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่เพียงใดก็ตาม

แต่น้ำในมหาสมุทรที่มากมายทั้งหมดนั่นมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉันใด

ธรรมวินัย ของพระองค์ที่สอนไว้มากมายทั้งหมด ก็มีรสเดียวคือวิมุตติรส ไ ด้แก่ความหลุดพ้นจากทุกข์

และบ่วงกิเลส ฉันนั้น



ภาษาสมัยใหม่ เรียกความหลุดพ้นว่า อิสรภาพ เดี๋ยวนี้เราไม่ใช้คำว่า วิมุตติ เราติดคำว่าอิสรภาพ

แต่ที่จริงเราใช้คำว่าอิสรภาพในความหมายของวิมุตตินั่นเอง เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษจะเห็นชัด

ฝรั่งแปลวิมุตติว่า freedom เราแปลอิสรภาพก็ว่า freedom ตรงกัน

แต่ในภาษาไทยคนไทยแทนจะใช้คำว่า วิมุตติ กลับไปใช้คำว่าอิสรภาพ

ที่จริงในภาษาบาลีเดิม อิสรภาพไม่ได้แปลว่า freedom

อิสรภาพนั้นแปลว่า ความเป็นใหญ่ ตรงกับ sovereignty หรือแม้แต่ domination หรือ

dominion คือความมีอำนาจเหนือหรือเป็นใหญ่

แต่เราใช้อิสรภาพในความหมายของ freedom เพราะฉะนั้น อิสรภาพที่ใช้กันในภาษาไทยจึงไปตรงกับ

คำว่าวิมุตติ


พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะของความหลุดพ้น หรือความเป็นอิสระอยู่โดยตลอด

จุดหมายของพระพุทธศาสนาก็ได้แก่วิมุตติ

พระพุทธเจ้าตรัสอีกแห่งหนึ่งว่า วิมุตติสารา สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีวิมุตติ เป็นสาระ

คือมีวิมุตติเป็นแก่นสาร ซึ่งก็มีความหมายอันเดียวกัน


รวมความว่า ลักษณะนี้บอกให้ทราบว่า พระพุทธศาสนาถือเอาวิมุตติหรืออิสรภาพนี้เป็นจุดหมาย

เป็นหลักการสำคัญ และให้ความสำคัญแก่อิสรภาพทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะในขั้นสุดท้ายที่ว่า

ต้องการให้คนเข้าถึงความหลุดพ้นเท่านั้น แต่มีลักษณะของการไม่ยึดติดถือมั่น ไม่มีอุปาทานในสิ่งต่างๆ

อยู่โดยตลอด

จะเห็นว่า หลักการของพระพุทธศาสนานี้ บางครั้งก็สรุปด้วยคำว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย คือ

ให้รู้เข้าใจความจริงถึงขั้นที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่อาจเขาไปยึดมั่น ถือมั่นได้

ไม่อาจ ไม่น่า ไม่ควร ยึดติดถือมั่น เพราะอะไร ? เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้เป็นไปตาม

ความปรารถนา หรือตามความยึดมั่นของเรา แต่มันเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน

ถึงเราไปยึดมั่นก็ไม่มีผลอะไร ต่อตัวความจริง มีแต่จะกระทบกระเทือนต่อตัวเราเอง ทำให้เราแย่เอง คือ

เดือดร้อนเป็นทุกข์


วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ เราจะต้องรู้ความจริงของเหตุปัจจัย แล้วไปทำที่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น

เราจะต้องรู้เท่าทันความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา

การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่เป็นประโยชน์ และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่ทำให้มีผลเป็นจริงขึ้นมาได้

พระพุทธศาสนา จึงสอนให้เรามีอิสรภาพ โดยฝึกตนให้รู้จัก ที่จะไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย

จนกระทั่ง เมื่อรู้ความจริง รู้เท่าทันชัดแจ้งทั่วตลอดแล้ว ก็จะมีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ


แม้แต่ในขั้นต้นๆ สำหรับการปฏิบัติที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นวิมุตติ ก็จะมีลักษณะของการไม่ยึดติด อยู่เสมอ เช่น

พระพุทธศาสนา ไม่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่ศรัทธา การบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา หรือการเข้าถึง

อิสรภาพ ไม่ขึ้นต่อศรัทธาหรือความเชื่อ

แต่จะหลุดพ้นได้ เพราะรู้เห็นแจ้งด้วยตนเอง

อันนี้เป็นลักษณะของการไม่ยึดติด เริ่มไม่ให้ยึดติดในบุคคล

แต่ให้รู้จักพึ่งพาบุคคลในทางที่ถูกต้อง เอาเขาเป็นสื่อในการที่จะ นำเราให้เข้าไปหาสัจธรรม

ด้วยการเป็นกัลยาณมิตร

หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องพระวักกลิ ซึ่งบวชเข้ามาแล้วก็พอใจในพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาก

ชอบติดตามพระองค์ไปในที่ต่างๆเรื่อยไป

พระพุทธเจ้าทรงคอยมองดู และทรงรอให้อินทรีย์ของพระวักกลิแก่กล้า จนถึงคราวหนึ่ง ก็ได้ตรัสว่า

“ดูก่อนวักกลิ เธอจะตามดูทำไมร่างกายที่เปื่อยเน่าได้นี้”

แล้วก็ตรัสว่า “ผู้ใด เห็นธรรม ผู้นั้น เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” คือ ให้ย้ายความสนใจ

และความติดใจ ออกจากตัวบุคคล ไปหาตัวธรรมหรือสัจธรรม

อันนี้เป็นลักษณะของการไม่ให้ติด ไม่ให้ยึด ในสิ่งทั้งหลาย

แม้แต่ในระดับของการปฏิบัติขั้นต้นๆ จนถึงขั้นสุดท้าย ก็ให้มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2010, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทความธรรมะ ที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์เผยแผ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์

ทุกวันอาทิตย์

นี่ของวันนี้ อ่านเปิดมุมมองทางศาสนาได้กว้างยิ่งนัก พิจารณาดูดังนี้



พระพุทธศาสนาถือปัญญาเป็นยอดธรรม หรือ เป็นธรรมแกนกลาง ดังพุทธพจน์ว่า

ปญฺญุตฺตรา สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีปัญญาเป็นยอดยิ่ง.


พระพุทธศาสนาถือว่าปัญญาเป็นธรรมสูงสุด เป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้ายในการที่จะเข้าถึงจุดหมายของ

พระพุทธศาสนา

แม้แต่พระนามที่เรียกว่า พระพุทธเจ้า คือ “พุทธะ” ก็หมายถึงตรัสรู้ด้วยปัญญา

หรือ มีปัญญาตรัสรู้ธรรม


อย่างที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแห่งศรัทธา แต่เป็นศาสนาแห่งปัญญา

ซึ่งบางทีก็เป็นจุดอ่อน และหลายคนก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนของพระพุทธศาสนา

เพราะเหตุที่ให้อิสรภาพทางปัญญาแก่คนมาก เมื่อไม่มีการศึกษาจริงจังก็ทำให้ชาวพุทธ

เป็นคนที่ไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราว


ดูง่ายๆ ในด้านข้อปฏิบัติ ในหมู่ชาวพุทธในเมืองไทยปัจจุบันนี้ จับไม่ค่อยได้ว่าชาวพุทธ

ถือข้อปฏิบัติอะไรกันบ้าง จะเอาอะไรเป็นเครื่องกำหนดว่าเป็นชาวพุทธ

จะมองเป็นรูปธรรมก็หาไม่เห็น เพราะไปเอาปัญญา แล้วแต่ใครมีปัญญาพิจารณา

จะเลือกปฏิบัติเท่าไหนก็ได้ตามสมัครใจ


เรื่องนี้ต่างจากในศาสนาอื่น ซึ่งส่วนมากเป็นศาสนาแห่งศรัทธา เขาจะบังคับกันเลย ห้ามสงสัย

ไม่ต้องถาม ฉันบอกอย่างนี้เธอทำไปก็แล้วกัน เขามีแบบแผนที่กำหนดไว้ชัดเจน และมีข้อปฏิบัติที่ตายตัวว่า

ถ้าเป็นศาสนิกของศาสนานั้นจะต้องเชื่อและต้องปฏิบัติอย่างนั้นๆ


อย่างไรก็ตาม ว่าที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสวางแบบแผนไว้ให้แล้ว คือ ให้เรามีหลัก ๒ อย่าง ได้แก่

ธรรมวินัย อย่างที่ได้พูดไว้ก่อนหน้าว่า พระพุทธศาสนาประกอบด้วยธรรมกับวินัย


ถ้าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนากันอย่างแท้จริง ชาวพุทธก็จะไม่เป็นคนเลื่อนลอย แต่จะมีแบบแผนเป็นของ

ตนเอง แต่เรามองข้ามเรื่องวินัยไปเสีย จึงขาดลักษณะอันนี้ เพราะมัวเที่ยวหาธรรม

แต่ไม่นำพาเรื่องวินัย

ส่วนที่มีหลักว่าปัญญาเป็นสำคัญนั้น ก็เพราะว่าปัญญาเป็นตัวตัดสินในการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา


มนุษย์เรานี้ มีประสบการณ์ในเรื่องศาสนากันมาเป็นเวลายาวนาน มีนักคิดมากมายเกิดขึ้น แล้วก็ค้นคว้า

ศาสนาประเภทหนึ่ง ย้ำเรื่องศรัทธา เขาบอกว่าให้ฝากชีวิต มอบจิตมอบใจไว้ในองค์เทพสูงสุด แล้วทำ

ตามคำสั่งสอนไป ไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งสิ้น

อย่างนี้เป็นศาสนาที่ใช้ศรัทธาเป็นเครื่องตัดสิน ศรัทธาเท่านั้นจะให้ท่านเข้าถึงจุดหมายของศาสนา


ศาสนาประเภทที่สอง คือพวกที่ถือศีลวัตรเป็นตัวตัดสิน พวกนี้จะถือระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ที่วางไว้ให้

แล้วประพฤติตามนั้น ถือว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าถึงจุดหมายของศาสนาด้วยศีลวัตร ดังมีคำในคัมภีร์เรียกว่า

สีเลน สุทฺธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยศีล คือเพียงว่ายึดถือศีล ข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์อย่างเดียวเท่า

นั้น ให้เคร่งครัดเข้มงวด เมื่อปฏิบัติไปตามนั้นได้จริงแล้วก็จะหลุดพ้นถึงจุดหมายของศาสนาได้เอง อันนี้พระ

พุทธศาสนาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส

ก็เป็นหลักการของศาสนาประเภทหนึ่ง

ศาสนาประเภทที่สาม ได้แก่พวกที่ยึดเอาสมาธิเป็นคำตัดสิน คือบำเพ็ญข้อปฏิบัติทางจิตใจ ให้จิตดื่มด่ำ จน

กระทั่งในขั้นสุดท้าย จิตจะเข้ารวมกลืนหายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับภาวะสูงสุด ซึ่งอาจจะเป็นเทพสูงสุด

หรือเป็นปรมาตมันอะไรก็ตาม ศาสนาประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อย เป็นศาสนาขั้นที่ประณีตมาก


รวมแล้วมีสามประเภทด้วยกันคือ

๑.พวกปลงศรัทธา มอบจิตฝากใจให้ไปเลย

๒.พวกถือศีลวัตร ตัดสินด้วยความเคร่งครัดเข้มงวด

๓.พวกถือสมาธิ มุ่งให้จิตดื่มด่ำเข้ารวมกับภาวะสูงสุด

แต่พระพุทธศาสนา ไม่ได้ถืออย่างนั้น

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญทั้งแก่ศรัทธาทั้งแก่ศีลวัตร และแก่สมาธิ ถือว่าเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการ

เข้าถึงจุดหมาย แต่ไม่ใช้ตัวตัดสิน


อันนี้เป็นข้อที่ควรต้องระวัง ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านั้น

ทั้งศรัทธา ศีลวัตร และสมาธิ เป็นบาทเป็นฐานและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 10 ม.ค. 2010, 09:44, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 21:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(….ของวันอาทิตย์นี้)


พระพุทธศาสนามีลักษณะข้อต่อไปที่คล้ายกับหลักอนัตตา คือการมีทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามความ

สัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

ได้พูดแล้วว่าหลักอนัตตานั้นในระดับของสังขตธรรม โยงมาหาหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งบ่งชี้

ว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยลำพังตน แต่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย คล้ายๆ กับหลัก

สัมพัทธภาพ (relativity) ในพระพุทธศาสนาหลักนี้ ก็คือหลักอิทัปปัจจยตา ที่นิยมเรียกเรียกว่า

ปฏิจจสมุปบาท

ความสัมพันธ์ หรือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้เป็นหลักสำคัญของวิปัสสนาด้วย

การปฏิบัติให้ปัญญาเห็นแจ้งเกิดเป็นวิปัสสนานั้น จะทำให้มองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ และหลัก

ปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตานี้ ก็เป็นภูมิธรรมของวิปัสสนาเรียกว่า วิปัสสนาภูมิอย่างหนึ่ง

ธรรมทั้งหลายนั้น สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น ขันธ์ ๕ เมื่อวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบออกไป ก็ทำให้

เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และรู้ว่าขันธ์ ๕ นั้น ก็เป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตานี้เอง

หลักความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้แหละ เป็นหลักที่แสดงลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของ

พระพุทธศาสนา ถึงขั้นที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ คือ การเห็นธรรม

ตามพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นปฏิจจสมุปบาท”

อย่างน้อย ชาวพุทธจะต้องมีทัศนคติ ที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย

แม้แต่เรื่องกรรม ก็สอนให้เรามีทัศนคติหรือท่าทีนี้

กรรมนั้นก็คือหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ในแง่ที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์

การกระทำของมนุษย์ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลเหมือนกัน คือ ทำเหตุอย่างนี้ เมื่อปัจจัย

พรั่งพร้อมก็เกิดผลอย่างนี้ แต่จำกัดเฉพาะในแง่การกระทำของมนุษย์ เรียกว่าหลักกรรม หรือ กรรมนิยาม

ถ้าเป็นหลักเหตุปัจจัยทั่วไป เรียกว่าธรรมนิยาม

หลักเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ตาม เรื่องไตรลักษณ์ก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นธรรมนิยาม

คือ เป็นกฎเกณฑ์แห่งธรรม โดยเฉพาะความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 31 ม.ค. 2010, 21:48, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2010, 21:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




Buddha.jpg
Buddha.jpg [ 254.89 KiB | เปิดดู 3388 ครั้ง ]
http://www.pantip.com/cafe/religious/to ... 28585.html

:b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42:


พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์

“ศักยภาพ” เป็นศัพท์สมัยใหม่ที่ยืมมาใช้ เดิมนั้นเราพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้

พระพุทธศาสนายอมรับความสำคัญของมนุษย์ว่า มีภาวะเป็นสัตว์ที่ฝึกได้และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ

มองอีกแง่หนึ่ง ก็ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก มนุษย์จึงมีศักยภาพสูงสุด

ในการฝึก ซึ่งหมายถึงการพัฒนาตน

ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาตน หรือไม่ฝึกตนแล้ว ก็จะเป็นสัตว์ที่ต่ำทรามที่สุด

มนุษย์แพ้สัตว์ดิรัจฉานในด้านสัญชาตญาณ

สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายส่วนมาก พอเกิดมาก็ดำรงชีวิตได้ด้วยสัญชาตญาณ มันอยู่กับพ่อแม่นิดเดียว

ก็รู้จักเป็นอยู่ รู้จักหากิน ดำรงชีวิตได้เลย


ส่วนมนุษย์นั้นไม่ได้เรื่อง ทำไม่ได้สักอย่าง ถ้าปล่อยก็แทบจะตายทันที ต้องเอาใจใส่เลี้ยงดู ฝึกสอน

จึงอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ นับว่าตรงกันข้าม

แต่มนุษย์มีศักยภาพที่พัฒนาตนได้ เมื่อพัฒนาแล้วก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐสุด

สัตว์อื่นนั้นพัฒนาได้อย่างเก่งแค่เป็นละครสัตว์ หรือเอามาให้มนุษย์ใช้งาน เป็นได้สองอย่าง

แต่ว่าที่จริง ถึงเป็นละครสัตว์ก็คือให้มนุษย์เอามาใช้งานนั่นแหละ ได้อย่างดีก็ให้มนุษย์ใช้งาน เอามาเป็นลิง

ขึ้นมะพร้าวบ้าง เอามาเป็นช้างลากซุงบ้าง เป็นม้าลากรถ หรือ ขี่เดินทางไกลบ้าง เป็นสุนัขตำรวจบ้าง ฯลฯ

และที่ฝึกให้ทำอย่างนั้นได้ ต้องอาศัยมนุษย์ฝึกให้


แต่มนุษย์นั้นฝึกตนเองได้ และฝึกแล้วประเสริฐสุด ดังพุทธพจน์ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ -ผู้ที่ฝึกแล้ว

เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ และ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส -ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ

จรณะ คือฝึกดีแล้วนี้ ประเสริฐสุดทั้งในหมู่เทพและบรรดามนุษย์

คือ ไม่เฉพาะระหว่างมนุษย์เท่านั้น แม้แต่กับเทพทั้งหลายมนุษย์ที่ฝึกดีแล้วก็ยังสูงกว่า

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 31 ม.ค. 2010, 21:50, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2010, 19:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทความประจำอาทิตย์นี้ (ลักษณะที่ 11 ต่อจาก คห.บน ซึ่งเป็นลักษณะที่ 10)



พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา ที่นำเอาการศึกษาเข้ามาเป็นสาระสำคัญ

เป็นเนื้อแท้ของการดำเนินชีวิตและทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นการศึกษา

หลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั้น เรียกว่า อะไร

เรียกว่า มรรค

มรรค แปลว่า อะไร

มรรค แปลว่า ทาง

ทาง คือ อะไร คือ ทางดำเนินชีวิต ซึ่งไม่ใช่ทางเดินที่เป็นรูปธรรมอย่างถนนเท่านั้น

พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกมรรคนี้อย่างหนึ่งว่าเป็น พฺรหฺมจริย หรือ พรหมจริยะ

บางทีเราใช้คำว่า พรหมจรรย์

พรหมจริย = จริย คือ จริยธรรม+พรหม แปลว่า อันประเสริฐ

มรรค หรือ ทางดำเนินชีวิตนี้ เป็นพรหมจริยะ คือ เป็นจริยธรรมอันประเสริฐ

จริยธรรม แปลว่าอะไร

จริย มาจาก จร ซึ่งแปลว่าเดิน เช่น จราจร = เดินไปเดินมา

พเนจร = เดินไปในป่า

จรไปโน่นจรไปนี่เรียกว่า เดินทาง เพราะฉะนั้น จร ก็คือเดินทาง

จริย แปลว่า การเดินทาง การเดินทางที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ เดินทางที่เป็นถนน เป็นต้น

แต่ถ้าเดินทางที่เป็นนามธรรม ก็คือเดินทางชีวิต

จริย ก็คือการเดินทางชีวิต หรือการดำเนินชีวิต

เพราะฉะนั้น จริยธรรม ก็คือหลักการดำเนินชีวิต พรหม แปลว่าที่ประเสริฐ

รวมกันเป็น พรหมจริย คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ซึ่งได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการ

อันประเสริฐ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน

ทีนี้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นพวกหนึ่ง เรียกว่าปัญญา

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า ศีล

แล้วก็ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า สมาธิ

เป็นอันว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการนี้จัดเป็นประเภทได้สาม เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ซึ่งเรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า ไตรสิกขา

สิกขานั้น แปลว่า ศึกษา

สิกขา เป็นบาลี สันสกฤตเป็นศึกษา เป็นไทยว่า ศึกษา

สิกขา หรือ ศึกษา เป็นคำๆเดียวกัน

ฉะนั้น หลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา จึงเรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า การศึกษา

การศึกษานี้มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งก็คือการประมวลองค์ประกอบของมรรคมีองค์ ๘

ตกลงว่าการดำเนินชีวิต หรือหลักการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ก็เป็นอันเดียวกับการศึกษา

พูดง่ายๆว่า ชีวิตที่ดีงามคือชีวิตแห่งการศึกษา

เป็นอันว่าการศึกษาก็คือการฝึกฝนให้มีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ได้แก่ไตรสิกขา และไตรสิกขาก็คือ

การฝึกให้เรามีการดำเนินชีวิตตามมรรค คือให้เรามีพรหมจริยะ

พร้อมกันนั้น การที่เราฝึกตนให้ดำเนินในพรหมจริยะ หรือ ดำเนินตามมรรคก็คือเราบำเพ็ญไตรสิกขา

เพราะฉะนั้น การฝึกฝนพัฒนาตนในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องก็คือการศึกษา และการศึกษาก็คือการ

ฝึกตนให้ดำเนินในทางชีวิตที่ถูกต้อง

มรรค ก็เป็นสิกขา สิกขาก็เป็นมรรค

สิกขา ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตนให้ดำเนินตามมรรค

การฝึกตนให้ดำเนินตามมรรคก็ คือ สิกขา

มรรค คือ วิถีชีวิตอันประเสริฐ

ถ้าจะแปลให้สมสมัยก็คือ การดำเนินชีวิตที่ดีงาม

ดังนั้น สิกขา หรือการศึกษา จึงแปลว่า การพัฒนาตนในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น การดำเนินชีวิต

ตามหลักพระพุทธศาสนา ก็ต้องดำเนินให้ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา การศึกษาจึงเป็นเรื่อง

ของการดำเนินชีวิตทั้งหมด และการดำเนินชีวิตทั้งหมดของเราก็อยู่ในเรื่องของการศึกษา

การศึกษาตลอดชีวิตจึงมีในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว

ถ้าจะพูดให้กระชับก็ว่า ชีวิตคือการศึกษา

ตราบใดที่ยังไม่เป็นอเสขะ คือ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามไตรสิกขา

เพื่อฝึกตนให้ดำเนินชีวิตตามมรรค

ดังได้กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็ คือ เป็นศาสนาแห่งการศึกษา

ดังได้กล่าวมาแล้ว


:b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54: :b54:


อนึ่ง ลักษณะ 11 นี้โยงกับลักษณะที่ ๑๐ ด้วย กล่าวคือ สิกขาหรือการศึกษา แปลว่า การฝึกฝนพัฒนา

และการฝึกฝนพัฒนาตนนั้น อิงอาศัยความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพที่พัฒนาได้ หรือว่ามนุษย์เป็นสัตว์

ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนา

เมื่อฝึกฝนพัฒนาด้วยไตรสิกขา ให้ชีวิตดำเนินตามวิถีแห่งมรรค ในที่สุดก็จะบรรลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดีงาม

เป็นสัตว์ประเสริฐ มีคุณสมบัติบริบูรณ์ มีทั้งปัญญาที่หยั่งยืนรู้สัจธรรม เป็นอิสระ ดำเนินชีวิตด้วยสันติสุข

และน้อมชีวิตของตนออกไปด้วยกรุณาเพื่อประโยชน์สุขและอิสรภาพของเพื่อนร่วมโลก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 14 ก.พ. 2010, 19:35, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2010, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไตรสิกขา เริ่มด้วยศีลที่เป็นหลักประกันของสังคม

ไตรสิกขา คือ หลักการศึกษาแบบพุทธ หรือการศึกษาแบบธรรมชาติ ไตรสิกขา มีอะไรบ้าง

๑. ศีล ๒. สมาธิ ๓.ปัญญา

ศีล คือ อะไร ?

ในขั้นพื้นฐาน ศีลก็คือการดำเนินชีวิตโดยมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเพื่อนมนุษย์

ตั้งแต่การดู การฟัง การกินอยู่ บริโภค ทำอาชีพการงาน ดังนั้น ศีลจึงมีหลายด้าน

จะพูดถึงศีลพื้นฐานในการอยู่ร่วมสังคม คือการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม

โดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ

โดยเฉพาะในขั้นพื้นฐาน ซึ่งมี ๕ ข้อ เรียกและรู้จักกันดี คือ ศีล ๕

๑. เว้นปาณาติบาต คือ เว้นจากการเบียดเบียนทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิตกัน

๒. เว้นอทินนาทาน คือ เว้นจากการเบียดเบียนกันในด้านทรัพย์สิน

๓. เว้นกาเมสุมิจฉาจาร คือ เว้นจากการเบียดเบียนล่วงละเมิดกันในเรื่องคู่ครอง ของรัก ของหวง

๔. เว้นมุสาวาท คือ ไม่เบียดเบียนกันด้วยการใช้วาจาหลอกลวงตัดรอนประโยชน์ของกันและกัน

๕.เว้นสุราเมรัย คือ ไม่เบียดเบียนความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น ไม่ทำตนให้เป็นที่น่าหวาด

ระแวง ที่จะทำให้คนอื่นเกิดความหวาดหวั่นว่า เมื่อเรามึนเมาไม่มีสติ อาจจะทำอะไรที่ให้เกิดความเดือดร้อน

เช่น อุบัติเหตุขึ้นมา ไว้ใจไม่ได้


รวมความว่า ศีล ก็คือ การดำเนินชีวิตเป็นอยู่ที่ปราศจากการเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น

สาระอยู่ที่นี่ พร้อมทั้งด้านตรงข้าม คือการช่วยเกื้อกูลกันในสังคมมนุษย์

ศีล ขั้นต้น เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นสำคัญ แล้วก็ฝึกกาย วาจา ของตนให้สุจริต

ต่อจากนั้นก็ไปสู่ข้อที่สอง คือ การฝึกจิตใจของเราให้มีความสงบอยู่ตัว หนักแน่น มั่นคง เรียกว่า สมาธิ

หรือ ศัพท์ทางการเรียกว่า อธิจิตตสิกขา การฝึกฝนในเรื่องจิตให้ยิ่งขึ้นไป

เรื่องของสมาธิ ก็คือ การมีสภาพจิตที่หนักแน่นมั่นคง มีความสุข ความสงบ มีความแน่วแน่ เรียกว่าใจอยู่

กับกิจ จิตอยู่กับงาน เป็นต้น หมายความว่าไม่ฟุ้งซ่าน ไปวุ่นวาย ไม่เดือดร้อนใจ ตลอดจนมีคุณธรรมต่างๆ

ข้อสามคือ ปัญญา ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเหตุผล รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต จนกระทั่งสามารถ

ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ ไม่ตกอยู่ใต้การครอบงำของสิ่งทั้งหลาย

สามอย่างนี้ เป็นหลักการฝึกฝน หรือการศึกษาพัฒนาคนในพระพุทธศาสนา


ธรรมะที่เรานำมาปฏิบัติกันมากมาย หรือสอนกันเยอะแยะนั้น ไม่ว่าอะไรก็ไม่พ้นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ

กับปัญญานี้

จะรวบรัดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราปฏิบัติได้ในแต่ละขณะ ทุกขณะไปเลย

หมายความว่า ในการทำกิจกรรม หรือมีพฤติกรรมอะไรก็ตาม ในการแสดงออกทุกอย่าง เราสามารถบำเพ็ญ

ไตรสิกขาไปได้พร้อมกันทั้งหมด

เมื่อเราทำไปพร้อมกันสามอย่างนี้ ก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาไตรสิกขาในชีวิตประจำวัน และเราก็ชื่อว่าปฏิบัติ

ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เราได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนสมชื่อ

ทำอย่างไรจะได้ปฏิบัติไตรสิกขาพร้อมกันสามอย่าง ไม่ยาก ขอให้รู้จักใช้ อย่างที่บอกว่า สาระของ

ไตรสิกขานั้น คือ

๑.ศีล อยู่ที่การไม่เบียดเบียน เกื้อกูลกัน

๒.สมาธิ อยู่ที่ทำจิตของตนให้มีคุณธรรม มีความสงบ เข้มแข็ง และมีความสุข

๓.ปัญญา อยู่ที่ความรู้คิด และเข้าใจความจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2010, 21:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาต ทรงเข้าไปหยุดประทับยืนในเขตไร่นาของพราหมณ์ผู้หนึ่ง

พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าพเจ้าหว่านแล้วจึงได้กิน แม้ท่านก็จงไถหว่านแล้วบริโภคเถิด”

พระพุทธเจ้าได้ ตรัสว่า พระองค์ก็ทรงไถหว่านแล้ว จึงบริโภคเหมือนกัน

เมื่อพราหมณ์ไม่เข้าใจและแต่งคาถาทูลถามกลับมา พระองค์ก็ตรัสตอบเป็นคำร้อยกรองชี้แจงการไถหว่าน

ของพระองค์ที่มีผลเป็นอมตะ

พราหมณ์เห็นชอบด้วย เกิดความเลื่อมใสจึงนำเอาอาหารเข้ามาถวาย

พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับโดยตรัสว่า ไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา

(ขุ.สุ.25/297/340)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2010, 21:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระภิกษุทุกรูปไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชนก็ดำรงชีวิตตามหลักการอาศัยวัตถุให้น้อย อยู่เพื่อธรรม

ให้มาก

อย่างเดียวกัน ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงมุ่งหวังให้คฤหัสถ์เป็นอยู่อย่างพระ และก็ไม่ปรากฏว่า

จะทรงมุ่งหวังให้คนมาบวชเป็นพระกันไปทั้งหมด


สารัตถะของหลักการนี้น่าจะได้แก่การให้มีชุมชนอิสระซ้อนอยู่ในสังคมใหญ่เพื่อเป็นแรงดุลย์ทางธรรม

หล่อเลี้ยงธรรมแก่สังคม และเป็นแหล่งอำนายความหลุดพ้นจากปัจจัยครอบงำของสังคมในเวลานั้นๆ

แก่ผู้ต้องการและพร้อมที่จะพ้นออกไป ชุมชนนี้มีทั้งชุมชนรูปแบบและชุมชนนามธรรม ชุมชนอิสระโดยรูป

แบบได้แก่ภิกษุสงฆ์หรือที่บางทีเรียกว่าสมมติสงฆ์ อันแทรกซ้อนลอยตัวอยู่ท่ามกลางสังคมใหญ่ของคฤหัสถ์

ชุมชนอิสระโดยนามธรรม ได้แก่สาวกสงฆ์หรือที่บางทีเรียกว่าอริยสงฆ์ อันประกอบด้วยอริยชนทั้งคฤหัสถ์

และบรรพชิต ที่แทรกซ้อนและลอยตัวอยู่ท่ามกลางสังคมใหญ่ของมวลปุถุชน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร