วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 11:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2010, 14:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 820


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธุดงคกรรมฐาน
ของ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

รูปภาพ

พระพุทธเจ้าเที่ยวธุดงคกรรมฐานเป็นพระองค์แรก

พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์เอก เป็นปฐมฤกษ์อันสำคัญที่พาบรรดาสัตว์โลกเที่ยวกรรมฐานในเบื้องต้น พระองค์ทรงออกก่อน ออกจากกรุงกบิลพัสดุ์เสด็จออกพระองค์เดียว ไปที่ป่าเมืองพาราณสี ไปบำเพ็ญธรรม ๖ พรรษาสลบไสล ท่านเที่ยวธุดงค์ก่อน พอเที่ยวธุดงค์เข้าในป่า เรียกว่า มหาวิทยาลัยแห่งพุทธศาสนา คือ ป่า คือ เขา
พระพุทธเจ้าเสด็จพระองค์แรก ไปประทับบำเพ็ญพระองค์อยู่ในป่าจนสำเร็จเป็น พระพุทธเจ้าขึ้นมา แล้วประทานโอวาทแก่สงฆ์ สงฆ์ปฐมสาวกก็อยู่ในป่าอยู่แล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะ อยู่ในป่ามาประทานโอวาท ท่านเหล่านี้สำเร็จอยู่ในป่า จึงเรียกว่าเหมาะสมมากที่พระไปเที่ยวธุดงคกรรมฐาน

ความหมายกรรมฐาน

คำว่า กรรมฐาน นี้ เป็นคำชินปากชินใจของชาวพุทธเรามานาน เมื่อถือเอาใจความ ก็แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน แต่งานในที่นี้เป็นงานสำคัญและหมายถึง งานรื้อภพรื้อชาติ รื้อกิเลสตัณหา รื้อถอนอวิชชาทั้งมวลออกจากใจเพื่อไกลทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นสะพานเกี่ยวโยงของวัฏฏวนที่สัตว์โลกข้ามพ้นได้โดยยาก มากกว่าจะมีความหมายไปทางอื่นแบบงานของโลกที่ทำกัน ส่วนผลที่พึงได้รับ แม้ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ก็ทำให้ผู้บำเพ็ญมีความสุขในปัจจุบันและภพชาติต่อไป ฉะนั้น พระที่สนใจปฏิบัติธรรมเหล่านี้จึงมักมีนามว่า พระธุดงคกรรมฐาน เสมอ อันเป็นคำชมเชยให้เกียรติท่านผู้มุ่งต่องานนี้ ด้วยใจจริงจากพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
กรรมฐาน ที่เป็นธรรมจำเป็นมาแต่พุทธกาล ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้แต่เริ่มบรรพชาอุปสมบท มี ๕ อาการด้วยกันโดยสังเขป คือ เกศา ได้แก่ผม โลมา ได้แก่ ขน นขา ได้แก่ เล็บ ทันตา ได้แก่ ฟัน ตโจ ได้แก่ หนัง โดยอนุโลมปฏิโลม เพื่อกุลบุตรผู้บวชแล้ว ได้ยึดเป็นเครื่องมือบำเพ็ญพิจารณาถอยหน้าถอยหลัง ซ้ำซากไปมา จนมีความชำนิชำนาญ และแยบคายในอาการหนึ่งๆ หรือทั้งห้าอาการ อันเป็นชิ้นส่วนสำคัญของร่างกายชายหญิงทั่วๆ ไป

กรรมฐานเป็นธรรมทั้งสำคัญและจำเป็น

แม้จะพูดว่ากรรมฐานเป็นสถานที่อุบัติขึ้นแห่งท่านผู้วิเศษทั้งหลายก็ไม่ควร จะผิด เพราะก่อนจะทรงถ่าย พระรูป พระนาม และ รูปนาม จากความเป็นปุถุชนขึ้นมาเป็นพระอริยบุคคล เป็นขั้นๆ จนถึงขั้นสูงสุด ต้องมีกรรมฐานเป็นเครื่องซักฟอก เป็นเครื่องถ่ายถอนความคิด ความเห็น ความเป็นต่างๆอันเป็นพื้นเพของจิตที่มีเชื้อวัฏฏะจมอยู่ภายใน ให้กระจายหายสูญไปโดยสิ้นเชิงกลายเป็นพระทัยและใจดวงใหม่ขึ้นมาเป็นความ บริสุทธิ์ล้วนๆ
ดังนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงทรงถือกรรมฐานว่า เป็นธรรมทั้งสำคัญและจำเป็น และยกย่องในวงพระศาสนาประจำศาสดาแต่ละพระองค์ตลอดมาถึงปัจจุบัน แม้ในศาสนาแห่งพระสมณโคดมของพวกเราก็ทรงถือกรรมฐานเป็นแบบฉบับ และจารีตประเพณีตายตัวมาเป็นพระองค์แรกว่าได้ทรงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เพราะกรรมฐาน ๔๐ มี อานาปานสติ เป็นต้นและทรงสั่งสอนพุทธบริษัทตลอดมาจนปัจจุบันทุกวันนี้ ทั้งจะเป็นสะพานเชื่อมโยงให้สัตว์โลกได้ถึงพระนิพพาน ตลอดไปจนกว่าจะสิ้นอำนาจวาสนาของมวลสัตว์ที่จะตามเสด็จพระองค์ได้นั่นแล ฉะนั้น คำว่า กรรมฐาน จึงเป็นธรรมพิเศษในวงพระศาสนาตลอดมาและตลอดไป

อุปัชฌาย์ต้องสอน “รุกขมูลเสนาสนํ”

ใครจะละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าองค์ศาสดา พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างแล้วทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล จึงประทานสั่งสอนสัตว์โลกต่อมานี้ นั่นล่ะ ท่านอยู่ในป่าความเป็นมหามงคล เป็น เป็นภายในใจไอ้เรื่องป่านั่นกิเลสไม่ชอบ กิเลสไม่เหลียวแล ไม่เหลือบมอง ไม่สนใจ นั่นล่ะ พระพุทธเจ้าไล่เข้าไปนั้นล่ะ ให้ไปอยู่ในป่า เพื่อฆ่ากิเลสได้ง่าย ก็ได้ง่ายจริงๆ ท่านสำเร็จออกมาจากป่าๆ เรื่อยจึงถือพระโอวาทนี้เป็นสำคัญมาก ฯลฯ
นี่พระพุทธเจ้าประทานไว้อย่างตายตัวเลย จึงเป็นธรรมที่ยังเหลือมาอยู่ทุกวันนี้ หากว่าเป็นธรรม ธรรมดาแล้ว รุกขมูลเสนาสนํ นี้จะหายหน้าไปนานแล้ว ไม่มีเหลือเลย แต่ทำไมจึงมีอยู่ทุกวันนี้ วัดไหนๆ อุปัชฌาย์บวชต้องสอนอนุศาสน์ ๘ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ประการ อนุศาสน์ ๘ นี้สอนตลอดเลยทุกๆ องค์ต้องสอนอนุศาสน์ ๘ อย่างนี้ จึงได้มีมาๆ
อนุศาสน์ ๘ คือ การสอน คำชี้แจง คำสอนที่อุปัชฌาย์ หรือ กรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ในเวลาอุปสมบทเสร็จ ประกอบด้วย นิสสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔ นิสสัย ๔ คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่เที่ยว บิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ และ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
อกรณียกิจ ๔ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึง กิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่าง ได้แก่ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่าสัตว์ และ พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

ธุดงค์ ๑๓

อุบายวิธีการประกอบความพากเพียร ท่านจึงสอนไว้หลายแบบหลายฉบับ เช่น อย่างธุดงค์ ๑๓ นี้ก็เหมือนกัน เป็นการชำระกิเลสล้วนๆ ไม่เป็นพระวินัย ไม่บีบบังคับ ใครจะทำตามข้อไหนหรือไม่ทำ ท่านก็ไม่ว่า เรียกว่าธรรมไม่บังคับ แต่วินัยบังคับ วินัยผิดไม่ได้เลย เรียกว่า กฎหมายพระ
นี่ธุดงค์ ๑๓ ข้อ ท่านก็สอนไว้ให้ไปอยู่ในป่าในเขาที่เช่นไรเหมาะสมนั่นอย่างนั้นแล้ว จนกระทั่งถึงการเดิน การนั่ง การนอน อยู่ในป่าช้า ในป่า ในเขา ไปหาเลือกเอา ที่ไหนเหมาะสม ใครจะสมาทานอยู่นานเท่าไรๆ ให้กำหนดตัวเอง เช่น ไม่นอน จะอยู่กี่คืน กำหนดไว้เท่าไรๆ ให้เจ้าของกำหนดเอา แล้วสังเกตดูเจ้าของจะถูกกับธุดงค์ข้อไหน ก็ให้ยึดข้อนั้นเป็นหลัก หนักข้อนั้นมากกว่าข้ออื่นๆ เช่น อย่างอดนอน ถ้าอดนอนแล้วมันดี รายนั้นมักจะอดนอนบ่อยๆ อดนอนบ่อยๆ ความเพียรก้าวหน้า
ธุดงค์ ๑๓ ข้อ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อพวกเราทั้งหลายปฏิบัติ เพื่อสละโลกามิส ไม่ติดอยู่ในบ่วงของโลก คือ บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ ชื่อเสียง อันเป็นเครื่องยึดถือหน่วงเหนี่ยวใจให้ใหลหลง แล้ว ก็ทะนงตนว่าสมบูรณ์ ฉลาดดี การปฏิบัติธุดงค์ ต้องไม่อาลัยเสียดายใจชีวิตต้องปฏิบัติให้ถึงความสำเร็จเพียงเท่านั้นเป็น ที่หมาย ต้องมีสัจจะ และมีปัญญาในการเลือกปฏิบัติ เราไม่ต้องปฏิบัติทั้งหมด แต่เลือกเฉพาะข้อที่เห็นว่าเหมาะแก่กาล สถานที่ บุคคล และประกอบไปด้วยประโยชน์


ธุดงค์ ๑๓ ได้แก่ ๑. การสมาทานผ้าบังสุกุล ๒. การถือใช้ผ้าเพียงสามผืน ๓. การบิณฑบาตเป็นวัตร ๔. การเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับเรือนละความละโมบโลภมากในโภชนะ ๕. การฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร ๖. การฉันเฉพาะอาหารในบาตรเป็นวัตร ๗. การไม่รับภัตรที่นำมาส่งทีหลัง ๘. การอยู่ป่าเป็นวัตร ๙. การอยู่รุกขมูลโคนไม้ ๑๐. การถืออยู่กลางแจ้ง ๑๑. การสมาทานอยู่ในป่าช้า ๑๒. ยินดีในเสนาสนะที่ถูกจัดให้ ๑๓. การนั่ง ยืน เดินไม่เอนกายลงนอน ถึงหลับก็เป็นไปใน ๓ อิริยาบถต้น

ปฏิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมา

หลักปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมา ซึ่งได้สืบทอดมาถึงพวกเราเวลานี้ เป็นปฏิปทาที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีเงื่อนจะให้สงสัยแม้แต่น้อยเพราะท่านดำเนินตามแบบฉบับของศาสดาที่มีไว้แล้วในตำราจริงๆ ไม่ใช่แบบแอบๆ แฝงๆ หรือ แผลงๆ ไป ดังที่เห็น ๆ กันทั่วๆ ไปนี้ลักษณะอยากเด่นอยากดัง ไม่เข้าร่องเข้ารอย อย่างนั้นไม่มี
สำหรับของหลวงปู่มั่น เป็นปฏิปทาด้วยความเป็นธรรมล้วนๆ จึงไม่มีแง่ใดที่น่าสงสัย เท่าที่พาดำเนินมานี้ก็พอจะทราบเรื่องราวบ้าง เช่น ธุดงควัตรการฉันมื้อเดียวหน เดียวนี่ก็มีอยู่แล้วในธุดงค์ ๑๓ ข้อการบิณฑบาตเป็นวัตรคือ ไม่ให้ขาดเมื่อฉันยังอยู่ อันนี้ก็มีในธุดงค์ ๑๓ นั่นแล้ว การฉันในบาตรก็มีในธุดงค์นั่นแล้ว นี่ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ก็เห็นได้ชัดเจน ไม่มีลี้ลับอันใดเลยเพราะในตำรามีไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ท่านดำเนินตามตำรานั้นจริงๆ
ถือผ้าบังสุกุลก็ท่านเป็นองค์หนึ่ง ดูจะไม่มีในสมัยปัจจุบันนี้เกินหรือเหนือท่านไป ท่านถือมาตั้งแต่เริ่มบวชจนกระทั่งวาระสุดท้าย ฯลฯ
พูดถึงด้านภาวนา นี่เราพูดเพียงแง่ธุดงค์เพียงเล็กน้อย เช่น การอยู่ในป่า อยู่ในป่าช้า เหล่านี้มีในธุดงค์หมดแล้ว ไม่เป็นข้อที่น่าสงสัย ในถ้ำเงื้อมผา เหล่านี้มีในอนุศาสน์และในธุดงค์ ๑๓ อยู่แล้วนั่น เป็นธรรมที่ตายใจได้จริงๆ ที่ท่านพาดำเนินมา เราทั้งหลายได้ยึดเป็นแนวทางสืบกันมาจนปัจจุบันนี้ เพราะท่านเป็นผู้พาดำเนิน
นี่พูดถึงเรื่องธุดงค์ ๑๓ เราพูดเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ไม่พูดโดยตลอดทั่วถึงทุกข้อไป เช่น เนสัชชิ ก็สมาทานไม่นอนเป็นวันๆ หรือ คืนๆ ไป อย่างนี้ก็มีในธุดงค์ นอกจากนั้นวิธีดำเนินทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ไม่ได้พาบำเพ็ญหรือปฏิบัติให้ นอกเหนือไปจากหลักธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นเลยเช่น สอนพุทโธ หรือสอนอานาปานสติ หรืออาการ ๓๒ นับแต่กรรมฐาน ๕ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงอาการ ๓๒ เหล่านี้มีในตำรับตำราโดยสมบูรณ์อยู่แล้วไม่เป็นข้อสงสัย ไม่เป็นที่ให้เกิดความระแวงอะไรทั้งสิ้น ฯลฯ

ข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงปู่มั่นพาดำเนิน

หลวงปู่มั่น ท่านทำเป็นแบบฉบับเป็นเนื้อเป็นหนังของศาสนาของพระของเณรจริงๆ คือ พอฉันจังหันเสร็จแล้วนี้ พระเณรจะรีบล้างบาตรอะไรๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขนบริขารไปที่พักของตนๆ แล้วหายเงียบหมด วัดนี้เหมือนไม่มีพระ คือไปอยู่ในป่ากันทั้งนั้น
สำหรับท่านเอง ท่านก็ชอบสงัด ท่านไม่ชอบให้ใครยุ่งท่าน จะไปหาท่านได้ตามเวลาเท่านั้น นอกนั้นไปไม่ได้ เช่น ตอนบ่ายสองโมง ท่านออกมาก็มีพระเณรทยอยไปหาท่านบ้างเล็กน้อย สององค์สามองค์ แล้วก็ตอนหลังปัดกวาดสรงน้ำเรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นหาท่านได้อีกระยะหนึ่ง
พอค่ำจากนั้นแล้ว ท่านก็ลงเดินจงกรมของท่าน พระเณรก็ทำหน้าที่ของตัวด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเป็นประจำ นี่พื้นฐานของวัดนี้ที่ท่านครองวัดอยู่ เป็นอย่างนั้นตลอดมา การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี้ถือเป็นกิจ เป็นการเป็นงานของพระ เป็นเนื้อเป็นหนังชีวิตจิตใจของพระอย่างแท้จริง ไม่มีงานอื่นใดเข้ามายุ่งได้เลย ฯลฯ
การทำความเพียรนี้ตลอดเวลา ไม่มีงานอื่นใดเข้ามาแทรกเลย ทำเลป่านี้เป็นที่ทำงานของพระ ที่เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาหมด ในป่านี้มีแต่ทางจงกรม เพราะป่ากว้าง ใครจะไปทำที่ไหน ทำได้ทั้งนั้น ลึกๆ เป็นดงไปหมด ส่วนที่นี่เป็นที่รวม บริเวณวัดก็ไม่กว้างนัก ที่กว้างโล่งเอาไม่กว้างนักแต่ที่ทำเลของพระภาวนานั้น มีทั่วไปในป่าในดง สะดวกสบายทุกอย่างเลยนี่พื้นเพที่ท่านพาทำมา ท่านทำอย่างนั้น ฯลฯ
ในโลกเขามีสมบัติต่างๆ ที่ต่างคนต่างวิ่งเต้นขวนขวาย คุ้ยเขี่ยขุดค้นหามาในสมบัติประเภทใด ก็ได้มาตามสมบัติที่มีอยู่นั้นๆ ทีนี้ธรรมสมบัติก็เหมือนกัน ใครคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาธรรมสมบัติ ได้ประเภทใดมาๆ ก็สามารถที่จะนำมาพูดมาสนทนาซึ่งกันและกันได้ เช่นเดียวกับทางโลกเขา เพราะฉะนั้นเวลาท่านคุยกัน จึงมีแต่เรื่องธรรมล้วนๆ เป็นเครื่องปลุกใจกันได้ดี ฯลฯ

คติความทุกข์ยากลำบากของหลวงปู่มั่น

เราอย่าเห็นว่า สิ่งใดที่จะมีความประเสริฐเลิศโลก ที่จะเสาะแสวงให้เป็นความสุข ความสบาย แก่ร่างกายและจิตใจของเรา ร่างกายเราก็พอเป็นพอไปแล้ว บิณฑบาตมาวันหนึ่งๆ เป็นยังไง เราดูก็รู้ เต็มบาตรมาอาหารก็พอกพูนจนจะตาย เพราะมันเหลือเฟือ ไม่ใช่จะตายเพราะความอดอยากขาดแคลนผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติก็ไม่ทราบว่า ท่านพาดำเนินมาแต่ก่อนท่านปฏิบัติอย่างไรไม่ได้เป็นเหมือนอย่างวัดป่าบ้านตาดเรานะ
ยิ่งสมัยท่านอาจารย์มั่น ด้วยแล้ว โอ้โห น่าสลดสังเวช ท่านเล่าให้ฟังนานๆ จะมีทีหนึ่ง พอพูดไปสัมผัส ท่านก็เล่าเสียมั่งอะไรมั่ง เพราะท่านไม่เป็นกังวลกับสิ่งใด ท่านเล่ามาก็เพื่อเป็นคติของพวกเรานั่นแหละไม่ใช่อะไร พอเรื่องไปสัมผัส ท่านก็เล่าถึงความอดอยากขาดแคลน
ความทุกข์ ความลำบาก ดังที่เขียนแล้วในประวัติของท่าน นั่นล่ะท่านผู้เดินหน้าพวกเราในสมัยปัจจุบันนี้ ท่านลำบากขนาดไหน การประกอบความพากเพียร ก็เอาตายเข้าว่าทีเดียว ไปอยู่ในที่บางแห่งจนเขาตัดไม้ให้ท่านเวลาออกมาบิณฑบาตก็ให้ถือไม้นั้นมา ไม้นั่นทำให้แตกตรงปลายเสียบ้างเที่ยวเคาะเป๊ะๆ เขาวิตกวิจารณ์กับท่าน กลัวจะมาเจอหมีบ้าง เจอเสือบ้างเพราะท่านอยู่ไกล กว่าจะมาบิณฑบาตแถวนั้น สัตว์เสือชุม
เช่นอย่างทางอำเภอบ้านผือไปทางโน้น เลยเข้าไปข้างในโน่น เรียกว่าบ้านนาหมีนายูง ท่านเคยเล่าให้ฟัง เสือชุมมากอยู่บนถ้ำ มันยังเข้าไปหามันมาตามราวถ้ำ มานี่มาตามทางคนมา ตามทางเรานี่ ถ้าเป็นหน้าผานี่ ก็ไม่เห็นขึ้นไม่ได้ มันมาทางนี้เข้ามานี่ ตื่นเช้าเห็นรอยมันอยู่กับแคร่ เป็นแคร่เล็กๆ รอยมันเข้ามาถึงนี่เลย โอ้โห เสือมานี่ มันมาดมท่าน โน่นน่ะ ดมในมุ้งนี่นา ดูซี
ตอนนั้นไม่ทราบว่า เราจะนอนอยู่ หรือว่านั่งภาวนาอยู่ ก็ไม่รู้ท่านว่างั้นนะ มันก็มาหนเดียวเท่านั้นแหละ ไม่มาอีก บางทีเด็กมันไปอะไรๆ ไปหาท่านก็มี เด็กผู้ชาย ๓-๔ คน รีบบอกให้กลับบ้านไป อย่ามาแถวนี้ ไปๆท่านไล่กลับ กลัวเสือ เขาก็อยู่บ้านเสืออย่างนั้น เขาคงไม่กลัว นั่นเป็นอย่างงั้นความลำบากของท่าน ฯลฯ

คติหลวงปู่มั่นเดินจงกรมบนเขา

พระพุทธเจ้าเสด็จไปภาวนาเป็นศาสดาเอก ไม่เห็นใครไปแต่งทางจงกรมให้ท่าน เราจะเก่งกว่าครูไปไหน อยู่ตรงไหนอยู่ซิ มันลงลึกก็ลงเลย ดังพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่าน อันนี้เป็นองค์อื่น เล่าให้ฟัง คือท่านเดินจงกรมอยู่ในป่าในภูเขา มันไม่มีที่เดินจงกรม เราก็ทุกอย่างมันซึ้งในใจนะ คือไม่มีทางจงกรม ท่านเดินจงกรม มันมีสูงมีต่ำ ไม่มีทางสำหรับเดิน แล้วพระท่านดูท่านเดินทางจงกรม ทางจงกรมไม่มี ท่านก็บุกไปอย่างนั้นล่ะ ไปก็โผล่ขึ้นนี้ปั๊บแล้วลง เดี๋ยวโผล่ขึ้นปั๊บ
พระท่านเห็น อู๊ย น่าสงสาร ท่านเดินจงกรม ท่านไม่ถอย ว่าอย่างนั้นนะ ถึงเวลาไปพักที่ไหนแล้ว ท่านจะหาที่ของท่าน โดยเฉพาะๆ ทีนี้วันนั้นไปแล้วมันอยู่ภูเขา ไม่มีทางเดินจงกรม ก็ลงหลุมลงบ่อไปโผล่ขึ้นนู้น แล้วก็ลงหลุมลงบ่อมาก็โผล่ขึ้นทางนี้ พระท่านยืนดูอยู่ แล้วมาเล่าให้เราฟังเราไม่ลืมเข้าฝังในหัวใจเลย


พระกรรมฐานเพชรน้ำหนึ่ง

ผู้ที่ท่านมีความสุขจริงๆ คือ พระกรรมฐานเฉพาะปัจจุบันเอาสายหลวงปู่มั่น ยันเลย เพราะหลวงปู่มั่น เป็นเอกในเรื่องอรรถเรื่องธรรม และการบำเพ็ญธรรมก็เป็นเอก บรรดาลูกศิษย์ลูกหา ก็รองๆ กันลงไป ตามกำลังวาสนาของตน ดีดดิ้นเพื่ออรรถเพื่อธรรม ต่างองค์ก็ได้ครองธรรมเป็นลำดับลำดาเราจะเห็นได้จากครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น มีน้อยเมื่อไร ตั้งแต่สมัยท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น เรื่อยมาหาอาจารย์ขาว อาจารย์แหวนอาจารย์ฝั้น อาจารย์คำดี มีแต่ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น นะ ท่านเหล่านี้แลที่ท่านครองอรรถครองธรรมอย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย เรียกว่า เพชรน้ำหนึ่ง ฯลฯ
ดังที่นำมาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ครูบาอาจารย์เหล่านี้มีแต่เพชรน้ำหนึ่ง หลวงปู่มั่นเรานี้แหละเป็นต้นเหตุ มีน้อยเมื่อไรที่ท่านมรณภาพไปแล้วอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เวลานี้ตั้งสิบกว่าองค์แล้วนะที่ท่านล่วงไปแล้ว อัฐิท่านกลายเป็นพระธาตุ อัฐิกลายเป็นพระธาตุต้องตีตราอย่างชัดเจน ไม่ต้องถามใครเลยว่า นี้คือพระอรหันต์เพราะท่านบอกในตำรา บอกชัดเจนแล้วว่า อัฐิของพระอรหันต์เท่านั้นที่จะกลายเป็นพระธาตุได้ เมื่อประกาศออกมาเป็นพระธาตุแล้วก็ชัดเจน
นี่คือท่านปฏิบัติอยู่ในป่า ขวนขวายอรรถธรรมเข้าสู่ใจ ใจก็แสดงความสุข ความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมา ไปแนะนำสั่งสอนใคร ถ้าใจมีหลักเกณฑ์แล้ว ผู้ฟังมันก็เป็นเครื่องดึงดูดกันให้เกิดความสนใจ ผิดกันนะธรรมที่มีอยู่ในใจ แสดงออกจากธรรมที่มีอยู่ในใจ เจ้าของมีรสมีชาติ มีน้ำหนักมากนะ ผิดกันกับที่เราเรียนมาตามตำรับตำรา มาบอกมาเล่าเทศนาว่าการนี้มันก็เป็นลอยๆ ไป เพราะผู้เทศน์ก็ลอยๆ ไม่ได้หลักเกณฑ์ธรรมที่ออกไปก็ลอยๆ ผู้ฟังก็หาหลักเกณฑ์ยึดไม่ได้แล้ว ก็ลอยๆ ไปตามกัน

ไม่ว่านิกายไหนเป็นศากยบุตรด้วยกัน

คำว่าสายหลวงปู่มั่นนี้ มีทั้งมหานิกาย มีทั้งธรรมยุตนะ ทางฝ่ายมหานิกายที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นนี้น้อยเมื่อไร รวมเรียกว่าสายหลวงปู่มั่นด้วยกัน ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น เราก็เปิดให้ พี่น้องทั้งหลายได้ทราบว่า หลวงปู่มั่นท่านคิดกว้างขวางขนาดไหนสำหรับประโยชน์ให้โลกนะ ฯลฯ
ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ๆ ที่มาพอใจแล้วจะญัตติ พาหมู่คณะญัตติอะไรๆ นี้ ท่านห้ามทันทีเลย ไม่ต้องญัตติขึ้นอย่างเด็ดด้วยนะ พวกท่านเป็นศากยบุตรเหมือนกัน ไม่ว่าธรรมยุต มหานิกาย เรียกว่า ศากยบุตร ท่านว่างั้นธรรมยุตมหานิกาย อะไรนี้เป็นชื่อ แยกออกเพราะความแตกแยก เนื่องจากการปฏิบัติยิ่งหย่อนในธรรมวินัยต่างกัน ก็เป็นธรรมดา แต่เมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้วไม่มีธรรมยุต มหานิกาย เรียกว่า ศากยบุตรอย่างเดียวเพราะฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องญัตติขอให้ปฏิบัติเถิด
เพราะฉะนั้นไม่ต้องญัตติ ท่านบอกไม่ต้องเลย เอ้า อบรมไป ไม่มีคำว่า สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ การห้ามมรรคห้ามผลต่อนิพพานนั้นนี้ไม่มี ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไป มรรคผลนิพพานมีอยู่กับทุกพวกทุกคณะนั่นแหละพอว่าอย่างนั้น ท่านก็บอกว่า ถ้ามาญัตติแล้วฝ่ายส่วนมาก ซึ่งเป็นฝ่ายของท่านจะขาดประโยชน์มากมาย ท่านว่าอย่างนี้นะ ไม่ใช่ขาดเพียงเล็กน้อย เมื่อพวกท่านทั้งหลาย ไม่ต้องญัตติ ออกไปนี้กระจายกันไปเลยได้ทั่วถึงกัน สมานกันไปได้หมด ท่านว่าอย่างนี้นะ จึงไม่ต้องญัตติ ท่านพูดเอง เราฟังอย่างถนัดทีเดียว ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้เอง คณะลูกศิษย์ทางฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านจึงไม่ได้ญัตติ เพราะหลวงปู่มั่นเป็นผู้พูดเอง เราก็เห็นอย่างนั้นด้วยนะยังเลย เราก็เหมือนกัน ขอให้ปฏิบัติดีเถิด เข้ากันได้ทันที ฯลฯ

ความทุกข์ของพระกรรมฐาน

มันหนาวยังไง มันหนาวอากาศฝนจะตก หรือมันหนาวอะไร ดูเหมือนฝนจะตกนะเย็นแบบฝนจะตก ฝนตกหน้านี้หนาวมากไม่ได้เหมือนหน้าฝนธรรมดา หน้าฝนธรรมดา ฝนตกนี้ก็หนาวธรรมดา แต่ตกหน้านี้ อู๊ยหนาวจริงๆ จนตัวสั่นไปได้เลย หน้าเดือนอ้าย เดือนยี่ที่มันต่อปีใหม่ปีเก่ารู้สึกว่าหนาวจริงๆ
เรานี้อยากจะพูดว่าโดนทุกปี คือหน้านี้ออกเที่ยวแล้ว ออกเที่ยวอยู่ตามป่า แต่ยังไม่ได้ขึ้นถ้ำ ขึ้นถ้ำจะเป็นเดือนมีนาฯ เมษาฯ ที่เป็นหน้าร้อนเข้าไปอยู่ในถ้ำเย็นดี มีนาฯ เมษาฯ เป็นหน้าร้อน เราไปอยู่ตามถ้ำ เย็นสบายๆ หน้านี้ยังไม่ได้ขึ้นทางภูเขาเข้าถ้ำอะไร ถึงขึ้นภูเขาก็อยู่หลังเขาเสียไม่ได้อยู่ในถ้ำ นี่ล่ะฝนฟาดลงมานี้ โถ พิลึกพิลั่นจริงๆ ตัวสั่นเลย ยังหนุ่มอยู่นะซัดลงมานี้ บางทีกลางคืนดึกสงัด มันเอาแบบปิดประตูตีหมาเทียวนะ ขี้ทะลักไม่มีทางออก
ฝนพาดลงมาตอนกลางคืนตีหนึ่งตีสอง โอ๊ย มุ้งกับกลดนี้ไหลเลยคนอยู่ในมุ้ง เอาของใส่เข้าในบาตร ปิดฝาบาตรเท่านั้นแหละ ปล่อยให้มันตกกลดไหลออกมา มุ้งไหลออกมา มุ้งเรียกว่าเป็นฝากั้น เอามุ้งเป็นฝากั้น ตกลงมาก็ไหลเรื่อยๆ หน้านี้ล่ะ เราจึงจำได้ มันหนาวจริงๆ ฝนหน้านี้ มันไม่ใช่หนาวหน้าหนาว หนาวฝนหน้านี้ โถ จนขนาดตัวสั่นได้นะ มันโดนแทบทุกปีหน้านี้เพราะระยะนี้เป็นระยะที่เข้าป่าเข้าเขาแล้ว ถ้าตกกลางวันก็ค่อยยังชั่ว ตกกลางวัน เรามองหาอะไรๆ มันก็เห็นหาทางไปทางมาได้ ถ้าตกกลางคืนนี่ โหต้องอยู่ในมุ้งออกไม่ได้เลย แล้วแต่จะตกเมื่อไร นี่ฝน
บางทีเสือมากัดควายอยู่ข้างมุ้งก็มี กลางคืนน่ะ ห่างกันจะประมาณสัก... คือ อันนี้ มันก็ดง เราอยู่นี้ก็ป่า ทีนี้ควายมันก็อยู่ริมน้ำอูน แต่อูนนี่หมายถึงอูนในภูเขานะ ไม่ใช่น้ำอูนที่ออกมาพรรณาฯ น้ำอูนที่อยู่ภูเขา ควายก็หากินตามประสาของมัน หน้าแล้งเขาไม่ได้ผูกมัดพวกสัตว์ เขาปล่อยตามทุ่งตามนาไป เพราะไม่มีใครขโมยใคร เขาไม่ค่อยสนใจ ต่างคนต่างปล่อยก็ยั้วเยี้ยอยู่ตามป่า ตามทุ่งนา
ทีนี้เสือมากลางคืนล่ะซี เสือมันอยู่ในภูเขามันหากินสัตว์บ้าน มันกินง่ายกว่าสัตว์ป่า สัตว์ป่ามันระวัง ไม่ได้กินมันง่ายๆ แต่สัตว์บ้านเซ่อซ่าเพราะมันอาศัยอำนาจมนุษย์ เอานิสัยมนุษย์ไปใช้ เสือจึงกัดกินได้ง่าย มันไม่ระวังคือ สัตว์บ้านไม่ระวังอะไรนะ สัตว์ป่า โอ๋ คล่องตัวตลอดเวลา ผิดกันนะ เวลาฝนตก ฟังเสียงควายร้องโอ๊กๆ อยู่นี่ อะไรกันอีกที่นี่น่ะ ออกก็ออกไม่ได้นี่จะว่าไงฝนก็ตกจนกระทั่งเช้าแล้วไปดู ควายมันถูกเสือโคร่งใหญ่กัด ฯลฯ
นี่ล่ะ ความทุกข์ ความลำบากของพระกรรมฐานท่าน เป็นอย่างนั้นแต่ว่าท่านไม่ได้ถือเป็นอารมณ์ เรื่องอย่างนี้รู้สึกว่า จะมีความรู้สึกอย่างเดียวกันไม่ค่อยสนใจ ทุกข์ยากลำบากอะไร ท่านก็ไปของท่าน ไอ้เราก็ไปแบบเราเราพูดถึงเรื่องฝน หน้านี้หนาวที่สุด หนาวกว่าหน้าฝนเสียอีก ฝนตกธรรมดาไม่เห็นหนาวอะไรนัก ตากฝนไปธรรมดาก็ไม่เห็นหนาวอะไรนัก แต่หน้านี้โถพิลึกจริงๆ มันเข้าภายในหัวตับจนตัวสั่น มันหนาวจริงๆ เที่ยวภูเขา
พูดถึงเรื่องกรรมฐาน ท่านลำบากอย่างนั้นนะ ลำบากของกรรมฐานลำบากสบายนะ ไม่ได้ลำบากยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นกองทุกข์ ความลำบากถึงทุกข์ก็ทุกข์ในร่างกาย ทางจิตใจท่านมุ่งต่อธรรมตลอดๆ เลย ก็เลยไม่รู้ว่าความทุกข์เป็นยังไง น่าเข็ดน่าหลาบท่านไม่เห็นมี ถึงฤดูปีนี้ท่านออกของท่านสบาย อย่างที่เคยออกเที่ยวกรรมฐาน

สถานที่ฝึกทรมานจิตของพระกรรมฐาน

ป่านี้มันมีหลายประเภท ประเภทป่าธรรมดาก็มีเสืออยู่ทั่วๆ ไป แต่ป่าเสือจริงๆ แล้ว เป็นสถานที่ระวังมาก ความเพียรดีมากนะ นั่นล่ะ ท่านฝึกทรมานท่าน ท่านฝึกอย่างนั้น ถ้าที่ไหนเป็นที่น่ากลัวมาก เข้าไปอยู่ที่นั่นสติ สตังดีทั้งวันทั้งคืน นอนก็เว้นแต่หลับ นอกนั้นตั้งตลอดเวลา

ทีนี้ เมื่อสติตั้งอยู่กับจิต รักษาจิต จิตก็ไม่ออกเพ่นพ่าน ไม่แสดงเหตุการณ์ต่างๆ เช่น กลัวนั้นกลัวนี้ จิตออกไปหลอกเจ้าของนะ ออกไปว่าเสืออยู่ที่นั่น เสืออยู่ที่นี่ แล้วมันก็เอาคำว่า เสืออยู่ที่นั่นที่นี่มาหลอกเจ้าของให้กลัวทีนี้เวลาจิตมันไม่ออก มันก็ไม่ออก ไปหลอกเรา มันอยู่กับคำบริกรรม เช่นผู้ภาวนาบริกรรมก็อยู่กับคำบริกรรม คำบริกรรมรักษาจิต ทีนี้จิตก็มีกำลังขึ้นมาแล้วสงบเย็นขึ้นมาๆ แข็งขึ้นมาเรื่อยนะ ถ้าว่าแข็ง จากนั้นความกลัวหายหมดแม้จะคิดออกไปเรื่องสัตว์เรื่องเสือ ก็ไม่กลัว เพราะฐานของมันดีแล้ว นี่มันเคยอย่างนั้นแล้ว
เพราะฉะนั้น เวลาเราไปภาวนา พระกรรมฐานที่ท่านมุ่งอรรถ มุ่งธรรมจริงๆ ท่านถึงมักหาแต่ที่อย่างนั้นแหละ หาแต่ที่กลัวๆ อย่างนั้น คือ รักษาจิตได้ง่าย เพราะไม่กลัว จิตมันจึงเพ่นพ่าน มันดื้อนะ จิตนี่พอมันอยู่ที่ไหนชักชินๆ รู้สึกชินๆ เข้ามานี้ ภาวนา จิตจะเผลอๆ อย่างนี้ไม่ดี เปลี่ยนใหม่พลิกใหม่ ตั้งท่าเรื่อย
อย่างงั้นการฝึกเจ้าของต้องรู้จักอุบายวิธี คือ สติกับจิตนี้ ถ้าประคองกันอยู่แล้ว จะไม่กลัวอะไรนะ ไม่ยอมคิดออกไปข้างนอก เสือนี้ จิตคิดออกไปแล้วว่าเสือ เสือเป็นภัย มันคิดแล้ว มันกลัวทันที ความคิดนั่นแหละไปหลอก เจ้าของให้กลัว เมื่อเอา พุทโธ แทนเข้าไปเสีย ไม่ยอมให้ออกมันอยากจะคิดเท่าไร บังคับไว้ไม่ให้ออก ทีนี้จิตมันก็อยู่กับพุทโธ ๆ ก็ค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้น ฯลฯ

การอดนอน ผ่อนอาหาร

เมื่อเช้านี้ เห็นไหมล่ะ พระไม่ค่อยมีมามาก มีแต่อาหารทั้งนั้นนะ ท่านภาวนาของท่าน พระเบาบางนี้ก็ท่านภาวนาของท่าน วันหนึ่งๆ โอ๊ยเป็นสิบเกือบยี่สิบ วันหนึ่งๆ พระขาดไป เป็นประจำสำหรับวัดนี้นะ พระท่านไม่เคยมาฉันจังหันครบองค์ล่ะ ไม่เคยจริงๆ ขาดอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้
เหตุเบื้องต้น ก็เป็นมาจากเราที่เคยอธิบายให้ฟัง แต่เราบอกว่านี้ไม่ใช่คำสั่ง นี้ไม่ใช่คำสอน เป็นคำบอกเล่าธรรมดา เรื่องราวที่ดำเนินมาเราก็พูดถึงเรื่อง เราดำเนินมายังไงๆ อันใดที่เหมาะกับจริตนิสัยของตนยังไงๆ บ้างเช่น การอดนอน การผ่อนอาหาร การอดอาหาร การเดินมาก การนั่งมากให้สังเกตดู ทั้งๆ ที่เราตั้งสติสตังเพื่อความเพียรด้วยกันนั้น ฯลฯ
ท่านเนสัชชิ (อดนอน) ก็ธุดงค์ข้อ ๑๓ ข้อที่ ๑๓ เนสัชชิ ท่านก็ทำไว้เป็นธุดงควัตร เครื่องชำระกิเลส แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยของใครจะเลือกเอาข้อใดนั่นเอง พูดง่ายๆ ว่างั้น เราไปอดนอนไม่ได้เรื่องก็หยุด เมื่อทดลองเต็มที่แล้วไม่ได้ผล หยุด มาผ่อนอาหารดี อ้าว เข้าท่า แน่ะ เอ้าอดเป็นยังไง ขยับเข้าหาอด พออดอาหารนี้ดีขึ้น ๆ อ๋อ ถูกต้อง อันนี้เด่นกว่าเพื่อน นี่ล่ะถึงได้ปฏิบัติตลอดมา

พระพุทธเจ้าชมเชยการอดอาหารเพื่ออรรถเพื่อธรรม

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงสั่งสอนพระให้อดอาหารอย่างนั้นอย่างนี้นะทั้งๆ ที่ท่านก็ทำมาแล้ว ท่านก็ไม่สอน ท่านส่งเสริม แต่ไม่เป็นคำสอนจริงๆสั่งบังคับหรือเป็นกฎ เช่น อย่างธุดงค์ ๑๓ ข้อ เป็นข้อๆ เครื่องดำเนิน การอดอาหารไม่ได้มีในธุดงค์ ๑๓ แต่มีในบุพพสิกขา นั่นอย่างนั้นนะ คือแยกออกไปหลายเล่ม คัมภีร์มีมากนี่นะ เรามันเห็นนี่ว่าไง บุพพสิกขาท่านถอดออกมาพูดถึงเรื่องการอดอาหาร
พระองค์ว่าการอดอาหารนั้นมีทั้งโทษทั้งคุณ ถ้าอดเพื่อความโอ้อวดเรียกว่าเป็นแบบกิเลส ปรับอาบัติทุกอิริยาบถความเคลื่อนไหว ปรับหมด ฟังซิอดอาหาร อดอาหารเพื่อโอ้เพื่ออวดเป็นกิเลสตัณหา ท่านปรับอาบัติทุกอิริยาบถ ถ้าอดเพื่ออรรถเพื่อธรรมแล้ว อดเถิด เราตถาคตอนุญาต นั่นเห็นไหมถ้าอดเพื่ออรรถ เพื่อธรรมแล้วอดเถิด ตถาคตอนุญาต นี่อันหนึ่ง
อันหนึ่งบอกไว้ ตอนที่พระสาวกทั้งหลายมาเฝ้า ท่านบอกว่าการขบฉันอาหารน้อยๆ รู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเบา ธาตุขันธ์ก็เบา จิตใจก็สะดวกสบายบรรดาพระสงฆ์ที่เข้าเฝ้าท่าน เออ ถูกแล้ว เราตถาคตก็ทำอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน นั่นเห็นไหม ถ้าเวลาฉันมากมันอึดอัด นั่นฟังซิ
พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงชมเชย ฉันน้อยดี ท่านว่า ตอนอดอาหารท่านก็บอก อดเถิด เราตถาคตอนุญาต นั่นเห็นไหม ถ้าตอนที่ฉันน้อยนี้ เราตถาคตปฏิบัติอย่างนั้นอยู่แล้ว ยิ่งเวลาว่างๆ แล้วตถาคตจะไม่ฉันมากเลยเพื่อความสะดวกในธาตุ ในขันธ์ ท่านไม่ได้แก้กิเลสตัวใดนะ พระพุทธเจ้าระหว่างขันธ์กับจิตที่อาศัยกันอยู่นี้ โลกสมมุติทั้งมวลจะมาอยู่ในขันธ์กับจิตเท่านั้นที่รับทราบ รับผิดชอบกันอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าไม่ได้แบกอะไรรับทราบอะไรมากมายนัก ยิ่งกว่าเรื่องของขันธ์
การอดและการผ่อนอาหารนี้ เป็นการเสริมความพากเพียร เสริมจิตใจให้ดีขึ้น อย่างไรดีกว่ากันก็ต้องทำอย่างนั้น แต่ที่ให้พอดีนั้นก็คือการผ่อนนั้นแหละ เวลาอยู่กับหมู่กับเพื่อนมากนี้ การผ่อนดี ถ้าไปอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวเรียกว่าทุ่มกันเลย ทีนี้เอาให้หมดตัวเลย อดว่างั้นเลย ตายก็ตายซัดกันเลย นี่ได้ผลเป็นที่พอใจ เกี่ยวกับหมู่กับคณะนี้ก็ต้องลดหย่อนผ่อนผัน จึงต้องมีผ่อนอาหารๆ เพื่อการประกอบความเพียรให้พอเหมาะพอดี เพราะฉะนั้นพระในวัดนี้ ท่านจึงทำอยู่เสมอ ไม่ขาดวัดขาดวาแหละ
การอดอาหารไม่ได้เพื่อตรัสรู้ด้วยการอดอาหารนะ ด้วยความเพียรต่างหาก เป็นแต่เพียงว่าอาหารมันเป็นเครื่องเสริม เครื่องกดเครื่องถ่วงได้จึงต้องระมัดระวัง นี่ล่ะให้บรรดาลูกหลาน ทั้งหลายจำเอาไว้ เห็นไหมพระท่านอดท่านจะเป็นจะตายเหมือนเรา แต่ทำไมท่านถึงอด ท่านก็มีหัวใจเหมือนกันนั่นล่ะอดด้วยเหตุด้วยผล ด้วยอรรถด้วยธรรม อดเถิด ว่างั้นเลย

การสวดมนต์ไหว้พระของวงกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น

วงกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น จะไม่มีรวมกัน สวดมนต์ไหว้พระ เพราะอันนี้เป็นอีกประเภทหนึ่ง หยาบกว่าการทำภาวนาเงียบๆ การรวมสวดมนต์ไหว้พระกันนี้ ผลสู้เงียบๆ ไม่ได้ อย่างหลวงปู่มั่นไม่เคยพาทำวัตรทำวานอกจากเป็นวัน จำเป็นที่ท่านจะโอนอ่อนลงสำหรับสังคม เช่น มาฆบูชา ทำวัตรค่ำหรือวันอุโบสถ ทำวัตรเรียบร้อยแล้วก็ลงอุโบสถ ท่านทำเท่านั้นเอง นอกนั้นไม่มี ต่างองค์ต่างเงียบ มีเท่าไรก็เงียบ ภาวนามีผลมากกว่าการไปรวมกันอีก รวมกันมีรวมอารมณ์อีกด้วย ท่านไม่เคยพาทำมา

วันอุโบสถของพระกรรมฐานสมัยหลวงปู่มั่น

มันติดหูติดตานะสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่น พระกรรมฐานนี้มีรอบๆท่านเต็มไปหมด สำนักละสามองค์บ้าง สี่องค์บ้าง ห้าองค์บ้าง ไปอยู่ตามหมู่บ้านเขาหมู่บ้านละเล็กละน้อย ถึงวันอุโบสถ ท่านก็มาลงอุโบสถ ตอนบ่ายโมง สวดปาฏิโมกข์ลงอุโบสถ หลวงปู่มั่น ท่านประทานโอวาทให้ตอนนั้นแหละ พอลงอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เทศน์อบรมพระที่มาลงอุโบสถและฟังธรรมเทศนากับท่านด้วย กลับไปด้วยความเอิบอิ่ม ดูมันประจักษ์ตา มันไม่ลืมนะสิบโมงล่วงไปแล้วไปถึงเที่ยง พระจะหลั่งไหลเข้ามาจากสำนักต่างๆ คอยลงอุโบสถตอนบ่ายโมง
พอถึงเวลาแล้วพระเตรียมพร้อม ท่าน (หลวงปู่มั่น) ออกมาก็ลงจากนั้นก็สวดปาฏิโมกข์ พอจบลงแล้วก็ประทานโอวาทให้บรรดาพระสงฆ์แต่ละองค์ๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าชื่นตาบานเหมือนกันหมด นี่แหละจึงว่าเป็นเหมือนตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน ท่านอยู่ที่นั่นสง่างามไปหมด ภายในสง่างาม จิตใจที่ส่องแสงออกไปก็สง่างาม นี่คือผู้หาความสุขเจอความสุขเป็นลำดับลำดา คือ ผู้เสาะแสวงหาธรรมนั้นแล จะเป็นผู้ได้ครองสมบัติที่พึงภูมิใจเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงภูมิใจสุดขีด ได้แก่ อรหัตตบุคคล

ภัยของพระกรรมฐาน

เวลานี้วงกรรมฐานรู้สึกว่าคับแคบเข้ามาทุกทีๆ ผมนี้อดวิตกวิจารณ์ไม่ได้ แล้วยิ่งกว่านี้กิเลสมันมาแบบลึกลับมาเรื่อยๆ ท่านทั้งหลายเห็นไหมเรื่อง หนังสือพิมพ์ ก็รู้แล้วว่าเป็นเรื่องโลก เรื่องสงสาร เรื่องกิเลส โดยประการทั้งปวง ใครก็ทราบแล้ว ผู้ปฏิบัติอรรถธรรมจริงๆ แล้ว จะไม่สนใจถึงข่าวคราวของโลกเหล่านี้เลย เพราะเป็นข่าวของกิเลส ตั้งแต่ไม่มีหนังสือพิมพ์กิเลสมันก็ดีขึ้นมาภายในใจ ให้เป็นข่าวเป็นคราวขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ จนได้อยู่นั้นแหละ
จากนั้นมาก็มี วิทยุ ก็เป็นข่าวคราวของโลกทั้งนั้น เหล่านี้ ที่กล่าวมานี้ฟัง นี่ขึ้นมาสองกษัตริย์แล้วนะ จากหนังสือพิมพ์แล้วก็มาวิทยุ ฟังข่าวนั้นข่าวนี้มีแต่เรื่องกิเลสตัณหา เข้ากับความเพียรของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่ออรรถเพื่อธรรมไม่ได้เลย
ทีนี้ก้าวเข้ามา ก้าวที่สามก็ เทวทัต โทรทัศน์ วิดีโอ นี้เป็นตัวสำคัญมากทีเดียว เป็นสื่อเป็นทางให้ดูดให้ดื่ม ตามกลิ่นอันนี้ไปเรื่อยๆ เพราะมันจะแจ้งมากขึ้น ส่งเสริมกิเลสได้ดีมากขึ้นเป็นลำดับลำดา นี่เป็นกษัตริย์องค์ที่สามกษัตริย์วัฏจักร พอโทรทัศน์วิดีโอขึ้นแล้ว มันก็ต้องมองหาตน หาตัว หาเนื้อหาหนัง หาตัวจริงของกิเลสล่ะทีนี้ มันก็เสาะแสวงไปตามที่เทวทัตวิดีโอชี้ทางบอกแล้ว
อันดับที่สี่นี้คือ โทรศัพท์มือถือ อันนี้คอขาดได้เลยพระเรา สี่กษัตริย์มารวมอยู่กษัตริย์ที่สี่ ที่เป็นโทษหนักมากทีเดียว เริ่มปั๊บเข้ามาในวัดก็เป็นเรื่องที่ว่าหาเรื่องหาราว สร้างเรื่องสร้างราว สร้างโรงงานโรงการยุ่งเหยิงวุ่นวายมีแต่เรื่องกิเลสล้วนๆ เข้ามาสู่หัวใจตลอด หาความสงบไม่ได้ ถ้าลงได้มีโทรศัพท์ โทรศัพท์กับหูจะจ้อกันอยู่เหมือนโลกทั่วๆ ไป ดูไม่ได้นะ พระเราถ้าลงมีโทรศัพท์มือถือแล้ว เขียนใบตายให้เลย ไม่ต้องเขียนอย่างอื่นแหละ ฯลฯ

วัตถุ คือ ภัยของพระกรรมฐาน

ด้านวัตถุล่ะเป็นสำคัญมาก เป็นอันตรายต่อ เฉพาะอย่างยิ่งต่อจิตตภาวนาของพระ ต่อพระกรรมฐานของเรา วัตถุนี้เกลื่อน ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่าวัตถุนั้นคือ ตัวภัย ถือเป็นความสะดวกสบายทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดด้วยกันกิเลสนี้แฝงไปตลอดเวลา ไม่ว่าสถานที่อยู่ ที่กิน ที่หลับ ที่นอน เรื่องกิเลสนี้จะแฝงไปๆ
ธรรมชาติแท้ๆ ท่านไม่มีอะไร ท่านไม่ยุ่งนะ วัตถุนี้ท่านไม่ยุ่ง คิดดูซิไล่เข้ารุกขมูลร่มไม้ นั่นเห็นไหมล่ะ ถ้าวัตถุก็เป็นอย่างนั้นไปเสีย ไม่ได้วัตถุหรูหราฟู่ฟ่า ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มบ้านเต็มเมืองเหมือนทุกวันนี้นะ ในวัดในวานี้ไม่ต้องพูดล่ะ เป็นส้วมเป็นถานของกิเลสทั้งหมดเลย พูดให้ชัดเจนตามอรรถตามธรรม ตามความรู้สึก ได้พิจารณาและปฏิบัติมาอย่างนี้ ฯลฯ

รูปภาพ

ที่มาhttp://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1134_2.php


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร