วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 16:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2013, 07:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ผลงานการสร้างสรรค์ของอาจารย์อนันท์ ราชวังอินทร์


สามเณรสุมนะ

สามเณรสุมนะ ผู้มีฤทธิ์ปราบพญานาค
สหายเก่าของพระอนุรุทธเถระ ผู้เกื้อกูลกันและกันในอดีตชาติ
ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุขณะมีวัยเพียง ๗ ขวบ


:b44: :b39: :b44:

การเป็นเพื่อนที่ดีควรที่จะสงเคราะห์หรือเกื้อกูลต่อกันและกันไปในทางที่ถูกที่ควร ไปในทางที่ดี ส่งเสริมกันในทางศีลทางธรรม จึงจะเรียกว่า “กัลยาณมิตร” อย่างเรื่องที่จะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

๏ ท่านพระอนุรุทธเถระ พระเอตทัคคะผู้เลิศทางทิพยจักษุ

ท่านพระอนุรุทธเถระ (องค์เดียวกับที่นั่งเข้าฌานตามพระพุทธเจ้า ครั้งเมื่อพระพุทธองค์กำลังจะดับขันธปรินิพพาน) ท่านพระอนุรุทธเถระได้ระลึกชาติเพื่อไปโปรดสหายเก่าที่เคยเกื้อกูลกันมา เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งท่านพระอนุรุทธเถระได้เข้าสมาธิเล็งดูโลกธาตุพันหนึ่งได้ด้วยทิพยจักษุ ระลึกได้ซึ่งบุพเพนิวาสานุสติ ครั้งหนึ่งในอดีตชาติกาลก่อน เราเป็นผู้มีชื่อว่า อันนภาระ เป็นผู้ยากจน เป็นคนขนหญ้า ท่านได้ไปอาศัย สุมนะเศรษฐี ผู้มียศ ผู้ยิ่งใหญ่ในกรุงพาราณสี สุมนะเศรษฐีผู้มอบเงินให้เรา เลี้ยงชีวิต ครั้งหนึ่งเราได้ถวายบิณฑบาตแก่ พระอุปริฏฐะปัจเจกพุทธเจ้า สุมนะเศรษฐีได้ขออนุโมทนาบุญกับเรา ท่านเลยคิดถึงเพื่อนเก่า สุมนะเศรษฐี เพื่อนรักที่ตายจากกันไปบัดนี้ไปเกิดที่ไหน ก็เล็งด้วยทิพยจักษุหรือตาทิพย์ก็พบว่าสุมนะเศรษฐีเพื่อนเก่า บัดนี้ตามมาเกิดทันกันแล้วแต่อายุไม่ทันกัน สุมนะเศรษฐีได้มาเกิดในบ้านชื่อว่ามุณฑนิคม อยู่ใกล้ภูเขา ใกล้ป่าที่ถูกไฟไหม้ แล้วก็ไปเกิดในตระกูลของโยมอุปัฏฐากของท่านเอง ที่ชื่อว่า มหามุณฑะ ในมุณฑะนิคม อุบาสกที่เป็นโยมอุปัฎฐากท่านมีลูกอยู่ ๒ คน ตนโตชื่อ มหาสุมนะ คนที่ ๒ ชื่อว่า จูฬสุมนะ โดยสุมนะเศรษฐีก็มาเกิดเป็น “จูฬสุมนะ”

ท่านพระอนุรุทธเถระก็เลยใคร่ครวญต่อไปว่า ถ้าเราไปในที่นั่นจะมีประโยชน์หรือไม่ เมื่อตรวจดูด้วยจักษุที่เป็นทิพย์ก็ได้ทราบว่าเมื่อไปถึงที่นั่น เพื่อนคนเก่าเราคือ “จูฬสุมนะ” อายุเพียง ๗ ขวบก็จะออกบวช และด้วยบารมีที่เคยสั่งสมอบรมมา ก็จะทำให้เป็นผู้ปฏิบัติสบาย และรู้ได้อย่างรวดเร็ว (สุขาปฏิปทา คือ ปฏิบัติได้อย่างสบาย, ปิตาปิณญา คือ รู้ได้อย่างรวดเร็ว พวกนี้เป็นผู้มีบุญมาก สั่งสมบุญกุศลไว้มาก เหมือนกับสุมนะสามเณร พอออกบวชก็จักบรรลุอรหันต์ในเวลาปลงผม)

๏ เดินทางไปโปรดสุมนะ สหายเก่า

เมื่อใกล้เข้าพรรษา ท่านเลยเดินทางไปหาโยมอุปัฏฐากคนนั้น มหามุณฑะอุบาสก ก็ดีใจที่เห็นพระคุณเจ้าผู้คุ้นเคยกันมาหา ก็เลยสั่งกับลูกชายคนโตว่า เจ้าจงไปรับบาตรของพระคุณเจ้ามา พ่อจะเตรียมอาสนะไว้ให้ท่านฉัน พอท่านพระอนุรุทธเถระมา อุบาสกก็วิงวอน ขอร้องให้พระเถระจำพรรษาในที่นั่น ดังนั้น ในพรรษานี้พระเถระก็มีหน้าที่คอยดูแลเพื่อนเก่า เอามาอบรมสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่าง พอวันออกพรรษา ถึงวันปวารณาอุบาสกก็นำไตรจีวร อาหาร วัตถุ น้ำอ้อย น้ำมัน ข้าวสาร มาวางไว้ใกล้เท้าพระเถระ แล้วก็เรียนว่าขอพระผู้เป็นเจ้าจงรับสิ่งเหล่านี้ด้วยเถิด พระเถระกำลังหาอุบายจะขอลูกเค้ามาเป็นลูกศิษย์ ก็เลยได้จังหวะ พระเถระบอกว่าอย่าเลยอุบาสก เราไม่ได้มีความต้องการด้วยวัตถุเหล่านี้ อุบาสกก็บอกว่า ท่านผู้เจริญ ขอจงรับไว้เถิด พระเถระก็บ่ายเบี่ยง อาตมาไม่ต้องการ ไม่อยากได้ อุบาสกก็เลยถามว่าทำไมท่านไม่ต้องการ พระเถระก็เลยบอกว่าเพราะเรายังไม่มีสามเณรคอยรับใช้ เพราะพระนี้จะมาเก็บอาหารสะสม ค้างคืนไม่ได้ แต่ถ้ามีเณรก็ว่าไปอย่าง อุบาสกก็เลื่อมใสมาก ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็จะตัดใจยกลูกชายคนโตให้บวชเป็นลูกศิษย์พระคุณท่านก็แล้วกัน (ลูกชายคนโต ไม่มีความผูกพัน อุปนิสัย บารมีไม่มี) ท่านก็บอกว่าอาตมาไม่ต้องการ ถ้าอย่างนั้นลูกชายคนเล็กก็แล้วกัน จูฬสุมนะ (อายุ ๗ ขวบ) ปรากฏว่าความปรารถนามุ่งหวังของท่านพระอนุรุทธเถระสำเร็จผล ท่านก็ได้จัดการเอาน้ำมาลูบผมและสอนสามเณร สุมนะเป็นเด็กที่มีบุญได้สั่งสมบุญเก่ามาดีข้ามภพข้ามชาติ เพราะฉะนั้นเวลาบวชเพียงใบมีดโกนจรดปลายเส้นผม สามารถพิจารณาเห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยงของสังขาร แล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอปลงผมเสร็จก็บรรลุอรหันตผลทันที ท่านพระอนุรุทธเถระได้อยู่อบรมสั่งสอน “สามเณรสุมนะ” ประมาณครึ่งเดือน พอสามเณรห่มผ้าเป็น สวดมนต์เป็น ก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าสามเณรรูปนี้ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสามเณรรูปนี้มาก

๏ สามเณรสุมนะปราบพญานาค

สามเณรสุมนะแม้อายุยังน้อย แต่ก็สามารถปราบพญานาคที่มีฤทธานุภาพมากให้สิ้นฤทธิ์ เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ขณะที่ท่านพระอนุรุทธเถระกำลังเดินจงกรม โรคลมเสียดท้องก็เกิดขึ้นกับท่าน สามเณรทราบอาการ จึงเรียนถามพระอาจารย์ว่า “จะให้ช่วยรักษาอย่างไรบ้าง” พระเถระบอกว่า “ถ้าหากได้ดื่มน้ำจากสระอโนดาต ก็จะหายเป็นปกติ” สามเณรจึงอาสาจะไปเอาน้ำจากสระอโนดาตมาถวาย และรีบเหาะไปที่สระอโนดาตทันที

วันนั้น พญานาคราช นามว่า ปันนกะนาคราช กำลังเล่นน้ำกับเหล่านาคบริวารอยู่ พอได้เห็นสุมนะสามเณรยืนอยู่ในอากาศเหนือศีรษะของตนก็โกรธมาก แล้วคิดว่า “สมณะนี้เหาะมาทางอากาศ ทำให้ฝุ่นที่เท้าตกลงมาบนศีรษะของเรา ท่านคงจะมาที่นี่เพราะต้องการน้ำในสระอโนดาตนี้เป็นแน่ แต่เราจะไม่ยอมให้น้ำอย่างเด็ดขาด” แล้วพญานาคราชก็ขยายตัวแผ่พังพานปิดสระอโนดาตไว้ สามเณรเห็นอาการของพญานาคราชเช่นนั้น ก็ทราบว่าพญานาคราชกำลังโกรธ จึงกล่าวว่า “พญานาคราชผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก เรามาเพื่อจะขอน้ำไปรักษาพระอาจารย์ซึ่งกำลังอาพาธอยู่ ขอให้ท่านได้ให้น้ำแก่เราด้วยเถิด” พญานาคราชบอกว่า “แม่น้ำใหญ่ๆ ไหลไปสู่มหาสมุทรมีตั้งหลายสายทำไมถึงไม่ไปเอา จะมาเอาจากที่นี่ทำไม”

สามเณรรู้ว่าพญานาคราชคงจะไม่ให้น้ำง่ายๆ จึงคิดจะทรมานพญานาคให้คลายทิฏฐิมานะ จึงบอกว่า “ท่านพญานาคราช พระอุปัชฌาย์ให้เรานำน้ำจากสระอโนดาตนี้เท่านั้น ขอท่านอย่าห้ามเราเลย” พญานาคฟังและยิ่งโกรธหนักขึ้น จึงท้าสามเณรประลองฤทธิ์ สามเณรสุมนะปรารถนาจะยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงเด่น ให้เหล่าเทวดา พรหม อรูปพรหม ได้เห็นอานุภาพของพระรัตนตรัย จึงใช้ฤทธานุภาพเหาะไปหาเทวดาทุกชั้นฟ้า เพียงแค่เวลาชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ไปถึงพรหมโลก ประกาศให้เทวดา และพรหมได้มาเป็นสักขีพยานว่า “เราเป็นสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต่อสู้กับปันนกะนาคราช ที่สระอโนดาต ขอท่านทั้งหลายจงไปดูความพ่ายแพ้หรือชัยชนะที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นพยานให้กับเราด้วย”

เหล่าเทวดาทั้งหมดฟังคำของสามเณรแล้ว ก็มาประชุมกันเนืองแน่นเต็มบริเวณ ซ้อนกันอยู่รายรอบสระอโนดาต ขณะนั้นพญานาคก็ได้แปลงร่างขนาดใหญ่ แผ่พังพานไม่ให้สามเณรนำน้ำไปได้ สามเณรก็เริ่มประลองฤทธิ์กับพญานาคราช โดยเหาะขึ้นไปกลางอากาศ แล้วเนรมิตกายสูงถึง ๑๒ โยชน์ เหยียบพังพานของพญานาค กดหน้าให้ควํ่าลง ทันทีที่เหยียบลงไปบนพังพานของพญานาคเท่านั้น แผ่นพังพานก็ได้หดเข้าเหลือเล็กเท่าทัพพี น้ำในสระอโนดาตก็พุ่งขึ้นมาให้สามเณรรองใส่ภาชนะที่นำมาจนเต็ม หมู่ทวยเทพต่างก็แซ่ซ้องสาธุการกันไปทั่วบริเวณ ในที่สุดสามเณรก็สามารถนำน้ำไปถวายพระเถระได้สำเร็จ

พญานาคราชผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเห็นเหล่าเทวดาและพรหม ก็รู้ว่าเรื่องของตนที่พ้ายแพ้ต่อสามเณรน้อย ข่าวนี้ต้องกระจายไปทั่วสามโลกธาตุแน่ๆ จึงโกรธสามเณรยิ่งกว่าเดิมและเหาะตามสามเณรไป แต่เหาะยังไงก็เหาะไม่ทัน สามเณรเหาะมาถึงและถวายน้ำแก่พระเถระ พญานาคราชร้องห้ามว่า “อย่าฉันนะท่าน น้ำนี่ไม่สมควรจะฉัน”

“ฉันเถอะขอรับ พญานาคราชอนุญาตแล้ว” สามเณรสุมนะตอบพระเถระ

ท่านพระอนุรุทธเถระเจ้ารู้ว่าสามเณรใช้ฤทธิปราบปันนกะนาคราช จึงฉันน้ำผสมเนยใส อาพาธก็ระงับและหายจากอาการปวดท้องทันที แล้วพระเถระจึงถามพญานาคราชผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิว่า...“ท่านมาทำไมรึ”

“กระผมจะฆ่าเณรนี่ ฉีกอก ควักหัวใจ แล้วโยนไปภูเขาหิมาลัยโน่น” ปันนกะนาคราชตอบ

ท่านพระอนุรุทธเถระจึงได้ปรามปันนกะนาคราชว่า...“อย่าเลยท่านพญานาคราช ท่านก็รู้ว่าสู้สามเณรไม่ได้หรอก จงขอโทษสุมนะสามเณรซะเถอะ”

พญานาคราชรู้ว่าสู้ไม่ได้แต่ไม่ยอมขอโทษเพราะกลัวเสียหน้า แต่ครั้งนี้พระเถระบอก เลยกราบขอโทษ พระเถระสั่งสอนเรื่องความโกรธและให้เป็นเพื่อนกับสามเณรน้อยด้วย หลังจากนั้นพญานาคราชก็ปวารณาว่าหากต้องการน้ำอีกเมื่อใดขอให้บอก ตนเองจะแหวกแผ่นดินนำน้ำไปถวายถึงที่ แล้วจึงลากลับไปที่สระอโนดาตอยู่ของตน

๏ ฤทธิ์สามเณรสุมนะประจักษ์ทั่ววัดพระเชตวัน

หลังจากนั้นพระเถระก็พาสามเณรเหาะมายังวัดพระเชตวัน ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ แต่พระภิกษุใหม่บางพวกคะนองตามประสาปุถุชน ไม่รู้ว่าสามเณรเป็นพระอรหันต์ เห็นสามเณรสุมนะน่ารัก ก็มาลูบหัวบ้าง จับหูบ้าง ว่าไงน้องเณร ไม่กระสันอยากสึกบ้างรึ บวชมานานไม่อยากสึกบ้างรึไง ไม่อยากดูดนมแม่รึ อดนมหรือยัง หยอกล้อต่างๆ นานา พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า “พระพวกนี้ไม่รู้ว่าตัวเองล้อเล่นกับหายนะ เหมือนกำลังจับงูที่คอ”

องค์พระบรมศาสดาจึงทรงประสงค์จะทำฤทธิ์สามเณรสุมนะให้ปรากฏ เลยเรียกประชุมสามเณรทั้งหมดและตรัสว่า...“พระองค์ประสงค์จะล้างพระหัตถ์ด้วยน้ำจากสระอโนดาต จากตุ่ม ๘๐ ตุ่มที่นางวิสาขาอุบาสิกานำมาถวายไว้ ใครสามารถนำมาได้บ้าง”

ในบรรดาสามเณรแม้จะมีพระอรหันต์หลายรูป แต่สามเณรเหล่านั้นรู้ว่าพระบรมศาสดาประสงค์อะไร จึงปฏิเสธ จนมาถึงสามเณรสุมนะ ท่านรับคำ แล้วเอานิ้วก้อยเกี่ยวตุ่ม ๘๐ ตุ่มที่ผูกด้วยเชือกเหาะไปที่สระอโนดาต พญานาคราชรีบมาต้อนรับ ถามว่าทำไมไม่บอกตน จะได้นำน้ำไปถวาย สามเณรบอกว่าพระบรมศาสดาใช้มา แล้วตักน้ำไป พวกพระภิกษุเห็นสามเณรเหาะมา จึงบอกว่าสามเณรงดงามเหมือนพญาหงษ์ ฤทธิ์ของสามเณรสุมนะก็ประจักษ์ทั่ววัด และพระบรมศาสดาก็ประทานการบวชให้แก่สามเณร

การบวชพระภิกษุมีหลายวิธี เช่น การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา สมัยแรกๆ พระพุทธเจ้าประทานการบวชเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยพระองค์เองให้แก่ผู้มาขอบวชโดยทั่วไป บางครั้งก็ประทานการบวชให้บางคน เช่น พระมหากัสสปะ ด้วยการทรงประทานพระโอวาทให้แก่ท่านเพื่อรับไปปฏิบัติ พระภิกษุที่ได้รับการบวชด้วยวิธีแบบพิเศษนี้มีเพียงพระมหากัสสปะรูปเดียวเท่านั้น เรียกว่า การบวชแบบโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา ครั้นต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไป จึงเกิดความไม่สะดวกต่อผู้ใคร่ที่จะออกบวชเพราะจะต้องเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทรงประทานการบวชให้ จึงทรงยกเลิกการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วบัญญัติให้มี การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา ขึ้น โดยให้ผู้มาขอบวชนั้นโกนหัว ห่มผ้าเหลือง กราบเท้าพระ แล้วก็เปล่งวาจาต่อหน้าพระสาวกผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง นับเป็นการบวชที่ง่าย แต่ต่อมาภายหลังการบวชแบบนี้ได้นำไปใช้ในการบวชสามเณรเท่านั้น ซึ่งสามเณรเวลาจะบวชก็ง่าย โกนหัว ห่มผ้าเหลือง แล้วก็มาเปล่งวาจาขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง และรับศีล ๑๐ ข้อก็เสร็จการ ส่วนการบวชพระภิกษุให้เปลี่ยนมาเป็น การบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แทน ถือเป็นวิธีการบวชพระภิกษุที่ใช้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องมีพระอุปัชฌาย์ มีพระกรรมวาจาจารย์ มีขั้นตอนพิธีกรรม ฯลฯ วิธีนี้เป็นวิธีบวชที่ทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์เป็นใหญ่ คือพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทำพิธีบวช

สมัยแรกๆ ในครั้งพุทธกาลนั้น ไม่ว่าจะบวชพระภิกษุหรือบวชสามเณร พระพุทธองค์ทรงใช้คำเดียวว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ต่อมาเมื่อทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์ทำพิธีบวชแทนพระพุทธองค์แล้ว คำว่า “บรรพชา” (ปัพพัชา) จึงใช้เฉพาะบวชสามเณร และคำว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ใช้เฉพาะบวชพระภิกษุ เนื่องจากคนจะบวชพระภิกษุจะต้องผ่านขั้นตอนการบวชสามเณรก่อน จึงเรียกรวมกันว่า “บรรพชาอุปสมบท”

แต่ปรากฏว่าทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะยกย่องสุมนะสามเณร ซึ่งในประวัติศาสตร์ตามหลักการบวชพระภิกษุต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่มีอยู่เพียง ๓ รูปเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุแบบพิเศษ

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสถามว่า “สุมนะ เธอมีอายุเท่าไหร่แล้วตอนนี้”

สามเณรก็กราบทูลว่า “มีอายุ ๗ ขวบแล้วพระเจ้าค่ะ”

พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า “อชฺชโต ปฏฺฐาย ภิกฺขุ โหหิ...สุมนะ ถ้าอย่างนั้นนับจากนี้ไปเธอจงเป็นภิกษุเถิด”


พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สามเณรได้รับการบวชยกขึ้นเป็นพระภิกษุได้ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก่อน เรียกว่า การบวชแบบทายัชชอุปสัมปทา หมายถึง การบวชแบบมอบความเป็นทายาทให้ หรือการรับเข้าหมู่โดยความเป็นทายาท ซึ่งเป็นการบวชเป็นพระภิกษุแบบพิเศษ ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า สามเณรนี้มีคุณสมบัติสมควรที่จะเป็นพระภิกษุได้เพราะเป็นพระอรหันต์ และปฏิบัติหน้าที่รับภาระหนักเทียบเท่าพระภิกษุ (ในพระพุทธศาสนามีสามเณรที่ได้รับการบวชด้วยวิธีแบบพิเศษนี้เพียง ๓ รูปเท่านั้น คือ สามเณรสุมนะ, สามเณรโสปากะ และสามเณรทัพพะ)

พอได้บวชเป็นพระภิกษุ ๗ ขวบ พระภิกษุทั้งหลายก็ตื่นเต้นกัน ดูก่อนผู้อาวุโสทั้งหลาย น่ามหัศจรรย์เหลือเกิน อานุภาพของสามเณรน้อยแม้เห็นปานนี้ก็ยังมีได้ พวกเราไม่เคยเห็นเรื่องอย่างนี้มาก่อน พระพุทธเจ้าเสด็จมาก็ทรงตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกท่านกำลังคุยอะไรกัน” พวกพระภิกษุก็ตรัสทูลว่า “กำลังคุยปรารถเรื่องสุมนสามเณรพระเจ้าค่ะ มหัศจรรย์เหลือเกิน เด็ก ๗ ขวบได้เป็นพระ แต่จริงๆ แล้วถ้ามองโดยคุณภาพทางใจท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้วตั้งแต่ปลงผมเสร็จ เพราะฉะนั้นรูปกายโดยสมมติเป็นเณร แต่ใจท่านเป็นพระ” เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลเช่นนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า “ในศาสนาของเรา บุคคลแม้เป็นเด็ก ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้สมบัติเห็นตามนี้เหมือนกัน”

จากชีวประวัติเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า สามเณรแม้อายุยังน้อยแต่อานุภาพไม่ธรรมดา ฉะนั้น เราจึงไม่ควรจะไปดูหมิ่นดูแคลนสมณะว่ายังเยาว์ ว่าเป็นสามเณรน้อยๆ คงไม่มีความสามารถอะไร สามเณรนี่แหละเป็นเหล่ากอของสมณะที่จะเป็นผู้สืบต่ออายุของพระศาสนา เป็นผู้สืบทอดพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้ดำรงคงอยู่คู่โลกต่อไป พระพุทธองค์เคยตรัสสอนแก่พระเจ้าปเสนธิโกศล ถึงภัยมีสิ่งอยู่ ๔ ประการที่ไม่ควรจะไปดูถูกดูแคลน ได้แก่ อันดับที่ ๑ ก็คือ งู ตัวมันเล็กนิดเดียวก็อย่าไปประมาท มันฉกกัดเอาก็ตายได้ อันดับที่ ๒ ก็คือ ไฟ ก็เหมือนกันนิดเดียวก็อย่าไปประมาท ไม้ขีดก้านเดียวไหม้ทั้งเมืองมาแล้ว อันดับที่ ๓ ก็คือ กษัตริย์ที่เป็นยุวกษัตริย์ อย่าไปประมาท เป็นกษัตริย์เด็กๆ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่มีอำนาจอะไร แต่เมื่อใดที่ถึงเวลาท่านบรรลุนิติภาวะแล้วละก็พระราชอำนาจของพระองค์ท่านก็ยิ่งใหญ่ปกครองประเทศ หาผู้ใดสมควรล่วงเกินไม่ อันดับที่ ๔ ก็คือ พระแม้บวชใหม่พรรษาน้อยหรือ “สามเณรน้อย” มีความสำคัญมาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่าท่านสั่งสมบุญบารมีมาอย่างไร ชาวบ้านนี้ชอบใส่บาตรกับพระแก่ๆ ไม่ยอมใส่บาตรกับพระหนุ่ม เณรน้อย บอกว่าได้บุญน้อย สู้ใส่บาตรกับพระแก่ๆ พรรษาเยอะๆ ไม่ได้ ใครจะไปรู้หล่ะว่าเด็ก ๗ ขวบอาจจะเป็นพระอรหันต์ พระที่บวชใหม่เพียงวันเดียวอาจจะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เพราะแต่ละคนอบรมสั่งสมบุญบารมีกันมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะดูหมิ่นหรือดูถูกกัน โบราณท่านยังกล่าวว่า “ลูกคนจนตื่นเต้นแสนจะคิด อาจประริดกลายเวทย์เป็นเศรษฐี ลูกคนโง่อาจโผล่เป็นเมธี เหตุฉะนี้ไม่ควรถูกดูหมิ่นกัน”

ก็ปรากฏว่าเพื่อนรักทั้งสอง ทั้ง “ท่านพระอนุรุทธเถระ” และ “สามเณรสุมนะ” ก็ได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรธรรมเกื้อกูลต่อกันและกันอย่างสมบูรณ์ และเข้าสู่นิพพานด้วยกัน


ในสมัยยุคปัจจุบันเรื่องทำนองนี้ก็เคยมีอยู่ อย่างเช่นเรื่องของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านระลึกชาติได้ถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเกิดแล้วไปทำบุญอยู่ที่องค์พระธาตุพนม คือ พ่อเชียงหมุน หรือเชียงมั่น หลวงปู่ชอบในอดีตชาติเคยเกิดเป็นพ่อค้าขายผ้าชาติลาว ออกเดินทางมากับพ่อเชียงหมุน ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งนี้ มาถวายผ้าขาวหนึ่งวาและเงินเป็นมูลค่าประมาณเท่ากับ ๕๐ สตางค์ในปัจจุบันนี้ บูชาถวายองค์พระธาตุพนม พร้อมทั้งได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้บวชในบวรพระพุทธศาสนา ได้พ้นทุกข์ในอนาคตกาล (หลวงปู่ชอบเล่าว่าท่านเคยมาร่วมสร้างองค์พระธาตุพนมด้วยครั้งสมัยเคยเกิดเป็นสามเณรน้อยลูกศิษย์พระมหากัสสปเถระ) องค์พระธาตุพนมนี้สร้างขึ้นก่อนองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม แต่เพื่อนของท่านที่เกิดมาเป็นนายพรานล่าสัตว์ในชาตินี้และเป็นผู้อุปัฏฐากท่านคนหนึ่งในชาตินี้ด้วย คือ พ่อเชียงหมุน ไม่ยอมร่วมบุญด้วย ครั้นต่อมาหลวงปู่ชอบได้มาโปรดเพื่อนเก่าที่บ้านม่วงไข่ อ.ภูเรือ จ.เลย ให้เลิกอาชีพอันเป็นบาปกรรมนี้เสีย กระทั่งพ่อเชียงหมุนยอมรับและถือศีลบริบูรณ์ ปัจจุบันท่านทั้งสองก็ได้จากโลกนี้ไปแล้ว กระดูกของพ่อเชียงหมุนถูกเก็บไว้ที่ซุ้มประตูของวัดป่าม่วงไข่ อ.ภูเรือ จ.เลย วัดของหลวงพ่อขันตี ญาณวโร ในปัจจุบัน ส่วนลูกชายของพ่อเชียงหมุนก็บวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดสวนกล้วย บ้านกกทอง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นวัดเก่าของหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร นั่นเอง


:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล ::
หนังสือชีวประวัติสามเณร รวบรวมและเรียบเรียงโดย จำเนียร ทรงฤกษ์
หนังสือสามเณร เหล่ากอแห่งสมณะ โดย ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


:b44: สามเณร ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46459

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2013, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

ชอบกระทู้ซีรีส์ "สามเณรในสมัยพุทธกาล" จังเลยค่ะ ติดตามอ่าน :b39: :b46:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2015, 19:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2018, 08:09 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2019, 14:14 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร