วันเวลาปัจจุบัน 15 ก.ค. 2025, 22:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1416 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 80, 81, 82, 83, 84, 85, 86 ... 95  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2016, 23:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 ม.ค. 2016, 11:37
โพสต์: 18

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิสุทธิปาละ เขียน:
ว่าถึงหลักการกันแล้ว คราวนี้มาดูกันที่รายละเอียดในวิธีการปฏิบัติกันบ้างครับ :b1: :b46: :b39:

ซึ่งวิธีที่ท่านกำหนดขึ้นมาให้ฝึกนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมแบบรู้ลงในอิริยาบถย่อย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สัมปชัญญะบรรพ) ซึ่งตามรูปแบบของท่านก็คือการยกมือสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ โดยให้มีสติระลึก สัมปชัญญะรู้ตัว สมาธิตั้งมั่นจดจ่อต่อเนื่อง แต่ไม่เพ่งจนเคร่งตึง และไม่ปล่อยจนหลงไป แต่ถ้าหลง ก็ให้กลับมารู้สึกตัวใหม่ โดยให้รู้สึกเบาๆ ทั้งเคลื่อนไหวและหยุดนิ่ง โดยไม่ต้องหลับตา

ซึ่งการขยับมือสร้างจังหวะทั้ง ๑๔ ท่า ก็ให้เริ่มจากการนั่งขัดสมาธิ (หรือนั่งห้อยขา หรือยืน หรือนอน ก็ทำได้) แล้วเอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง...คว่ำไว้

๑) พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ...ให้รู้สึก
๒) ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว...ให้รู้สึก...มันหยุดก็ให้รู้สึก
๓) เอามือขวามาที่สะดือ...ให้รู้สึก
๔) พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น...ให้รู้สึก
๕) ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว...ให้มีความรู้สึก
๖) เอามือซ้ายมาที่สะดือ...ให้รู้สึก
๗) เลื่อนมือขวาขึ้นที่หน้าอก....ให้รู้สึก
๘) เอามือขวาออกตรงข้าง...ให้รู้สึก
๙) ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้...ให้รู้สึก
๑๐) คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว
๑๑) เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก...ให้มีความรู้สึก
๑๒) เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง...ให้มีความรู้สึก
๑๓) ลดมือซ้ายออกที่ขาซ้าย ตะแคงไว้...ให้มีความรู้สึก
๑๔) คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย...ให้รู้สึก
ทำต่อไปเรื่อยๆ...ให้รู้สึก


http://www.watsanamnai.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=539154476
http://www.watsanamnai.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=17&Id=539155472
https://www.youtube.com/watch?v=ufCoqTPiw3A
https://www.youtube.com/watch?v=noFDS2wk51s&t=241


วิธีกงารปฏิบัติแบบนี้ มีสอนพระสูตรในพระไตรปิฏกบ้างไหมครับ?
การฝึกแบบนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญไว้บ้างไหมครับ
(Certified by Buddhaไหมครับ) รับรองผลว่าจะบรรลุธรรมได้ไหม?

ขอความชัดเจนด้วยครับ
ด้วยความเครารพครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2016, 22:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอโทษด้วยครับที่มาตอบช้า :b46: :b47: :b46:

ถ้าต้องการคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจนจริงๆ คงต้องถามไปที่ลูกศิษย์สายตรงของท่าน เช่น หลวงพ่อทอง อาภากโร วัดสนามใน หรือ หลวงพี่ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต หน่ะครับ :b1: :b46: :b39:

ถึงแม้จะไม่ใช่ศิษย์สายตรงของท่าน แต่ในฐานะที่นำคำสอนของท่านมาเผยแผ่ จะลองพยายามอธิบายด้วยความรู้ที่มีอยู่ และเคยลองปฏิบัติด้วยวิธีของท่านมาบ้างนะครับ :b1: :b46: :b39:

อย่างที่อธิบายไว้ในคราวที่แล้วนะครับว่า การเจริญสติด้วยวิธีการของท่านจะจัดอยู่ในหมวดของสัมปชัญญะบรรพ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งในมหาสติปัฏฐานสูตร พระบรมครูทรงกล่าวไว้ว่า

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการ
ก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก
ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ใน
การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง
การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น
กายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย
ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้ง
ความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมี
อยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิ
ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

ซึ่งการเจริญสติ ๑๔ จังหวะขององค์หลวงพ่อเทียนท่าน ก็มีการให้ทำความรู้สึกตัวในอาการคู้เข้า เหยียดออก และการหยุดนิ่งของแขนและมืออยู่ด้วยแล้วนะครับ
:b47: :b48: :b47:

ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการเดินจงกรมซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ที่ได้ตัดเอาส่วนหนึ่ง คืออิริยาบถเดียวจากสี่อิริยาบถในอิริยาบถบรรพ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาไว้ฝึกตามรูปแบบ :b49: :b48: :b47:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.พ. 2016, 22:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนการรับรองผล ถ้าทำถูกต้องตามมหาสติปัฏฐานสูตร พระบรมครูก็ได้ทรงรับรองการบรรลุธรรมอยู่แล้วในส่วนท้าย (๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ฯลฯ) และองค์หลวงพ่อเทียนท่านก็ได้รับรองวิธีการของท่านด้วยตัวท่านเอง :b46: :b47: :b46:

แต่นั่นก็ไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดนะครับ :b46: :b48: :b49:

ส่วนสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติ ต้องกระทำเพื่อพิสูจน์และรับรองผลด้วยตัวเอง โดยอาศัยการพิจารณาด้วยคำของพระบรมครูตามหลักกาลามสูตรในส่วนที่ว่า :b46: :b47: :b46:

"ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่"

และเมื่อพิสูจน์แล้ว เห็นผลได้ว่า :b49: :b50: :b49:

"ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ (ในวัฏฏะ) ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ (ในวัฏฏะ)
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก
ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ"


ตามคำของพระบรมครูที่กล่าวกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีในสังขิตตสูตร ก็ให้แน่ใจว่า ธรรมเหล่านี้พระบรมครูทรงรับรองนะครับ :b1: :b46: :b39:

ก็ขอให้ผู้อ่าน ลองนำวิธีการขององค์หลวงพ่อเทียนท่าน ไปลองปฏิบัติดูด้วยตนเอง แล้วสังเกตดูว่า สติ สัมปชัญญะ และสมาธิ เจริญขึ้นหรือไม่ กิเลสลดลง ความทุกข์ลดลงหรือไม่ นั่นจึงจะเป็นการพิสูจน์ที่ดีที่สุด และเป็นการรับรองด้วยผลของการกระทำของตัวเองโดยที่ไม่ต้องเชื่อใคร นะครับ :b1: :b46: :b39:

เจริญในธรรมครับ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุญาตมาต่อกันที่การฝึกสติสัมปชัญญะ ผ่านการรู้ใจ :b46: :b47: :b46:

แต่ก่อนที่จะไปสู่ส่วนนั้น ขอเพิ่มเติม web link ที่กล่าวถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเจริญสติด้วยการรู้กายตามวิธีขององค์หลวงพ่อเทียนไว้ตามด้านล่างนี้นะครับ เผื่อผู้ปฏิบัติที่อาจเกิดปัญหาติดขัดระหว่างภาวนา :b48: :b47: :b49:
http://www.watsanamnai.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=17&Id=539155472
(ให้เลื่อนลงไปดูในภาคที่ ๓ อุปสรรคและการแก้ไข ด้านล่างนะครับ) :b46: :b47: :b46:

มาว่ากันต่อด้วยการฝึกสติสัมปชัญญะ ผ่านการรู้ใจ :b48: :b49: :b50:

เล่าถึงหลักการ เหตุและผลกันก่อน แล้วค่อยไปว่าถึงภาคปฏิบัติกันอีกทีนะครับ :b1: :b46: :b39:

ขอตั้งต้นด้วยพุทธพจน์จากสมาธิสูตรอีกสักครั้ง :b8: :b46: :b39:

[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป

รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป

รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ



http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=1188&Z=1233&pagebreak=0

พิจารณาคู่กับการแปลอีกสำนวนหนึ่งนะครับ :b1: :b46: :b39:

"ภิกษุ ท ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะนั้นเป็นอย่างไรเล่า?

ภิกษุ ท ! ในกรณีนี้ เวทนาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

สัญญาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

วิตกเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ

ภิกษุ ท !นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ."


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปหลักการของภาคปฏิบัติตามที่พระบรมครูทรงสอนไว้ก็คือ การฝึกสติและสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนานั้น ให้รู้ชัดในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของเจตสิกสำคัญทั้ง ๓ อันได้แก่ เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ), สัญญา (ความจำได้หมายรู้), และวิตก (ความตริตรึกนึกคิด) :b46: :b47: :b46:

ซึ่งการรู้ชัดในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของเจตสิกสำคัญทั้ง ๓ นี้นั้น องค์พระสารีบุตรท่านได้ขยายความไว้ในอานาปานัสสติกถา คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค สรุปหลักการและสภาวะโดยย่อไว้ว่า :b46: :b47: :b46:

ความเกิดขึ้นของเวทนาและสัญญาย่อมปรากฏ เมื่อเห็นลักษณะแห่งความเกิด :b50: :b49: :b48:

และเพราะอวิชชาเกิด เวทนาและสัญญาจึงเกิด เพราะตัณหาเกิด เวทนาและสัญญาจึงเกิด เพราะกรรมเกิด เวทนาและสัญญาจึงเกิด เพราะผัสสะเกิด เวทนาและสัญญาจึงเกิด :b43: :b42: :b48:

และเมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง .. ความเข้าไปตั้งอยู่ โดยความสิ้นไปของเวทนาและสัญญา ย่อมปรากฏ :b46: :b47: :b46:
เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ .. ความเข้าไปตั้งอยู่ โดยความเป็นภัยของเวทนาและสัญญา ย่อมปรากฏ :b46: :b47: :b46:
เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา .. ความเข้าไปตั้งอยู่ โดยความว่างเปล่าของเวทนาและสัญญา ย่อมปรากฏ :b46: :b47: :b46:

และความดับลงไปของเวทนาและสัญญาย่อมปรากฏ เมื่อพิจารณาเห็นลักษณะความแปรปรวน :b48: :b49: :b50:

และเพราะอวิชชาดับ เวทนาและสัญญาจึงดับ เพราะตัณหาดับ เวทนาและสัญญาจึงดับ เพราะกรรมดับ เวทนาและสัญญาจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาและสัญญาจึงดับ :b50: :b51: :b49:

ส่วนวิตก จะแตกต่างจากเวทนาและสัญญาอยู่บ้าง นั่นคือ :b48: :b49: :b48:

ความเกิดขึ้นของวิตกย่อมปรากฏ เมื่อพิจารณาเห็นลักษณะของความเกิด :b50: :b49: :b48:

และเพราะอวิชชาเกิด วิตกจึงเกิด เพราะตัณหาเกิด วิตกจึงเกิด เพราะกรรมเกิด วิตกจึงเกิด เพราะสัญญาเกิด วิตกจึงเกิด :b47: :b48: :b47:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(หมายเหตุตรงนี้ไว้หน่อยนะครับ คือสภาวะของอาการที่ว่า "เพราะสัญญาเกิด วิตกจึงเกิด" (สญฺญาสมุทยา วิตกฺกสมุทโยติ) นี้นั้น พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงในเวป http://www.84000.org และ http://etipitaka.com ได้แปลตกไป :b47: :b48: :b49:

เนื่องเพราะตามสภาวะโดยแท้จริงแล้ว ความคิดหรือวิตกนั้น จะผุดเกิดตามมาหลังจากสัญญาขันธ์ทำงาน คือความจำได้หมายรู้นั้น ได้แวบเข้ามาในจิต จนกระทั่งสังขารขันธ์ นำไปปรุงต่อจนเกิดเป็นความคิดหรือวิตกให้จิตรับรู้ได้ :b49: :b48: :b47:

ซึ่งเมื่ออ่านดูจากพระไตรปิฎกฉบับหลวงใน ๒ เวปที่ว่า นักปฏิบัติที่เคยเห็นในอาการเกิดปรากฏของสัญญาและวิตก จะรู้ได้ทันทีเลยนะครับว่า มีการแปลออกมาได้อย่างตกหล่น ไม่ตรงกับสภาวะจริงที่เกิดขึ้นในจิต
:b47: :b48: :b46:

และเมื่อกลับไปเช็คข้อความดังกล่าวในพระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ ประกอบกับคำแปลไทยในฉบับมหาจุฬาฯเล่มที่ ๓๑ หน้า ๒๖๐ ก็ยืนยันได้อีกทีว่า พระไตรปิฎกแปลไทยฉบับหลวงใน ๒ เวปที่ว่านั้น แปลคำบาลีในท่อนที่ว่า "สญฺญาสมุทยา วิตกฺกสมุทโยติ" หรือ "เพราะสัญญาเกิด วิตกจึงเกิด" ตกหล่นไปจริงๆ :b49: :b48: :b47:

(แต่ในท่อนดับ ปรากฏส่วนที่ว่า "เพราะสัญญาดับ วิตกจึงดับ" ไม่มีการแปลตกหล่นไป) :b46: :b47: :b46:

http://84000.org/tipitaka/read/?31/392-395
http://etipitaka.com/compare?utf8=%E2%9C%93&lang1=thai&volume=31&p1=147&lang2=pali&commit=%E2%96%BA
http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd31.htm )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


และเมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง .. ความเข้าไปตั้งอยู่ โดยความสิ้นไปของวิตกย่อมปรากฏ :b46:
เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ .. ความเข้าไปตั้งอยู่ โดยความเป็นภัยของวิตกกย่อมปรากฏ :b46:
เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา .. ความเข้าไปตั้งอยู่ โดยความว่างเปล่าของวิตกย่อมปรากฏ :b46:

และความดับลงไปของวิตกย่อมปรากฏ เมื่อพิจารณาเห็นลักษณะความแปรปรวน :b49: :b50: :b51:

และเพราะอวิชชาดับ วิตกจึงดับ เพราะตัณหาดับ วิตกจึงดับ เพราะกรรมดับ วิตกจึงดับ เพราะสัญญาดับ วิตกจึงดับ :b49: :b48: :b47:

หรือสรุปอีกอย่างก็คือ ในการเห็นการเกิดขึ้นของเวทนาและสัญญา ให้ดูลักษณะแห่งการเกิด และเข้าใจได้ว่า อวิชชา ตัณหา กรรม และผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เวทนาและสัญญาเกิด :b48: :b49: :b48:

ส่วนในการเห็นการเกิดขึ้นของวิตก ให้ดูลักษณะแห่งการเกิด และเข้าใจได้ว่า อวิชชา ตัณหา กรรม และสัญญา เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้วิตกเกิด :b48: :b49: :b50:

และในการเห็นการตั้งอยู่ของเวทนา สัญญา และวิตก ให้มนสิการในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา :b47: :b49: :b50:

และในการเห็นการดับลงไปของเวทนาและสัญญา ให้พิจารณาความแปรปรวนไป และเข้าใจได้ว่า เบื้องหลังการดับลงไปของเวทนาและสัญญานั้น เกิดจากการดับลงไปของอวิชชา ตัณหา กรรม และผัสสะ :b46: :b47: :b46:

ส่วนในการเห็นการดับลงไปของวิตก ให้ดูลักษณะแห่งความแปรปรวนไป และเข้าใจได้ว่า เบื้องหลังการดับลงไปของวิตกนั้น เกิดจากการดับลงไปของอวิชชา ตัณหา กรรม และสัญญา :b48: :b47: :b46:

(แต่ในทางปฏิบัติจริงๆแล้ว ต้องเป็นอรหันต์และเป็นผู้มีปัญญามากจริงๆเหมือนองค์พระสารีบุตรท่านนะครับ จึงจะเกิดปัญญาเห็นในอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของเวทนา สัญญา และวิตก ครบถ้วนตามที่ท่านว่าไว้ได้ :b49: :b48: :b47:

ซึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ และไม่มีปัญญามากมายอะไร แค่เห็นในลักษณะการเกิด ตามเห็นทันในเวทนาและสัญญา และตามเห็นทันในสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวิตก เห็นในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นไปเองตามเหตุปัจจัย อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว)
:b47: :b48: :b49:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนสำคัญของหลักการอีกส่วนหนึ่งก็คือ แล้วทำไมในการฝึกสติและสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนา (ผ่านการรู้ใจ) ต้องเป็นการดูการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของ เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ), สัญญา (ความจำได้หมายรู้), และวิตก (ความตริตรึกนึกคิด) กันด้วย :b46: :b47: :b46:

ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปดูกันที่กลไก หรือขบวนการของจิต ในการที่จะรับรู้ และเสพเสวยโลกกันก่อน ตามข้อความของพระมหากัจจานะที่กล่าวขยายคำของพระบรมครู โดยมีพระบรมครูทรงรับรองไว้เองในมธุปิณฑิกสูตร ซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ท่านได้เอามาอธิบายไว้ในพุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า ๓๔ - ๓๕ นะครับ :b1: :b46: :b39:

"อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งธรรมทั้งสามนั้น เป็นผัสสะ

เพราะอาศัยผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา)

หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (วิตักกะ)

ตริตรึกอารมณ์ใด ย่อมผันพิสดารซึ่งอารมณ์นั้น (ปปัญจะ)

บุคคลผันพิสดารซึ่งอารมณ์ใด เพราะการผันพิสดารนั้นเป็นเหตุ ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ (สัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย) ย่อมผุดพลุ่งสุมรุมเขา ในเรื่องรูปทั้งหลาย ที่พึงรู้ด้วยตา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน"

(ต่อไป ว่าด้วยอายตนะ และอารมณ์อื่นๆ จนครบ ๖ คู่ ใจความอย่างเดียวกัน)

กระบวนธรรมนี้ เขียนให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้

แนบไฟล์:
Bhuddhadham pg 34-35 (1).jpg
Bhuddhadham pg 34-35 (1).jpg [ 44.15 KiB | เปิดดู 5400 ครั้ง ]


เมื่อเกิดปปัญจสัญญาแล้ว ก็ยิ่งมีความตริตรึกนึกคิด (วิตักกะ) ได้มากมายและกว้างขวางพิสดารยิ่งขึ้น ทำให้เกิดกิเลสต่างๆ เช่น ขอบใจ ไม่ชอบใจ หวงแหน ริษยา เป็นต้น ปนเป คลุกเคล้า ไปกับความคิดเห็นนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หมายเหตุ:

๑) คำที่ควรเข้าใจคือ "ปปัญจะ" หมายถึง อาการที่คลอเคลียพัวพันกับอารมณ์นั้น และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ด้วยแรงตัณหา มานะ และทิฏฐิผลักดัน หรือเพื่อสนองตัณหา มานะ และทิฏฐิ คือปรุงแต่งในแง่ที่จะเป็นของฉัน ให้ตัวฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเป็นไปตามความเห็นของฉัน ออกรูปออกร่างต่างๆ มากมายพิสดาร จึงทำให้เกิดปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ คือสัญญาทั้งหลายอันเนื่องด้วยปปัญจะนั่นเอง

๒) จะเห็นว่ามีสัญญา ๒ ตอน สัญญาตอนแรก คือสัญญาขั้นต้น ที่กำหนดหมายอารมณ์ซึ่งปรากฏตามปกติธรรมดาของมัน สัญญาตอนหลัง เรียกว่า "ปปัญจสัญญา" เป็นสัญญาที่เนื่องจากสังขารที่ปรุงแต่งภาพอารมณ์ ให้ออกรูปร่างแง่มุมต่างๆ มากมายพิสดารดังกล่าวแล้ว

๓) จะเห็นว่า กระบวนธรรมทั้งหมดนั้นแยกได้เป็น ๒ ตอน

ก. ตอนแรก ตั้งแต่อายตนะภายในถึงเวทนา เป็นกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ พึงสังเกตว่า ช่วงตอนนี้ กระบวนธรรมเป็นกระแสบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ มีแต่องค์ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (พึงอ่านความที่ยกมาอ้างข้างบน) ยังไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เกี่ยวข้อง

ข. ตอนปลาย ตัดตอนแต่เวทนาไปแล้ว เกิดเป็นกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก หรือกระบวนการสังสารวัฏ มารับช่วงไป; ความจริงตั้งแต่เวทนานี้เป็นทางแยก อาจต่อด้วยกระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ก็ได้ แต่ในที่นี้มุ่งแสดงแบบสังสารวัฏก่อน ข้อพึงสังเกตในตอนนี้ก็คือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของช่วงหลังนี้ จะไม่มีเพียงองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันตามธรรมชาติเท่านั้น แต่จะเกิดมีสัตว์บุคคลขึ้นมา กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพเสวยกับสิ่งที่ถูกเสพเสวย ผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด เป็นต้น

๔) กระบวนธรรมเสพเสวยโลกในช่วงปลาย ที่แสดงข้างบนนี้ เป็นเพียงวิธีแสดงแบบหนึ่งเท่านั้น เลือกเอามาเพราะเห็นว่าสั้น และเข้ากับเรื่องที่กำลังอธิบายคือขันธ์และอายตนะได้ดี อาจแสดงแบบอื่นอีกก็ได้ เช่นที่แสดงอย่างพิสดารในหลักปฏิจจสมุปบาทแบบทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏโดยสมบูรณ์

๕) ว่าตามหลักอย่างเคร่งครัด วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา ในกระบวนธรรมนี้ เป็นสหชาติธรรม ท่านถือว่าเกิดร่วมกัน พึงเข้าใจว่า ที่เขียนแสดงลำดับไว้อย่างนี้ มุ่งเพื่อให้ศึกษาง่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าจะว่ากันโดยทั่วไปแล้ว จะเห็นได้ว่า ขบวนการของจิต ในการรับรู้และเสพเสวยอารมณ์ทางโลกนั้น พัฒนามาจากผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ จนเกิดเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ แล้วไปกระตุ้นสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ให้ผุดเกิดขึ้นมาจนจิตเข้าไปรู้ :b48: :b49: :b48:

และสังขารขันธ์ ใช้วัตถุดิบคือสัญญา นำไปปรุงแต่งวิตก คือความคิดต่อ จนผันพิศดารไปในความคิด เอาความจำได้หมายรู้มาปรุง และย้อนกลับมาเก็บเป็นความจำได้หมายรู้ที่ผ่านการปรุงให้พิสดารขึ้นไปอีก (ปปัญจะ ไปสู่ ปปัญจสัญญา) :b47: :b48: :b49:

หรือกล่าวกันอย่างง่ายๆ โดยเพิจารณาจากกระบวนการของจิตในการรับรู้และเสพเสวยโลกแล้วนั้น การฝึกสติสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนา ผ่านการรู้ใจ ก็คือการฝึกให้รู้เท่าทันความคิด หรือขบวนการคิดฟุ้งปรุงแต่งนั่นเอง :b46: :b47: :b46:

ซึ่งตรงนี้ คือสิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูปได้สอนและสรุปขมวดปมตามพระบรมครูไว้ว่า ให้ดูกระบวนการของความคิด โดยรู้ต้นทางแห่งความคิด อันได้แก่การรู้ชัดในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของต้นรากแห่งความคิด (คือเวทนาและสัญญา) และตัวความคิด (วิตก - วิตักกะ) จนถึงความคิดฟุ้งปรุงแต่งที่ซับซ้อน (ปปัญจะ) นั่นเอง :b49: :b48: :b47:

เนื่องเพราะทุกข์ที่เกิดขึ้นตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น มีความคิดที่เริ่มจากกิเลสสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นวงจร การฝึกสติสัมปชัญญะด้วยการรู้ใจที่ดีที่สุด ก็คือการตามรู้ทันความคิดฟุ้งปรุงแต่ง เพื่อให้สติสัมปชัญญะเข้มแข็ง สามารถทันและตรวจจับการเกิดขึ้นของความคิดฟุ้งปรุงแต่ง รวมถึงสามารถย้อนทวนกระแสความคิดฟุ้งปรุงแต่ง เข้าไปถึงต้นรากของความคิดฟุ้งปรุงแต่ง :b48: :b49: :b48:

อันได้แก่การย้อนทวนเข้าไปเห็นถึงตัวสัญญาและเวทนาที่ผุดเกิดขึ้นมา (ด้วยการปรุงของอวิชชาอีกที) :b46: :b47: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ซึ่งโดยมากแล้ว ในกรณีของการทำสมาธิภาวนา (ซึ่งไม่ได้มีความหมายจำกัดแค่การนั่งหลับตาทำสมาธิ) ในช่วงเริ่มต้นที่จิตยังมีความฟุ้งอยู่ เวทนาที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นอทุกขมสุขเวทนา ผู้ปฏิบัติจะเห็นการผุดเกิดขึ้นของสัญญาได้ง่ายกว่าอทุกขมสุขเวทนา :b46: :b47: :b48:

ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะเข้มแข็งดีแล้ว จะเห็นการผุดขึ้นมาของความจำได้หมายรู้ในอดีต เช่น เห็นการผุดเกิดขึ้นของหน้าคนหรือสถานที่ที่เคยเห็นขึ้นมาในจิต เห็นการผุดเกิดขึ้นของประโยคบางประโยคในเพลงที่เคยฟัง หรือได้กลิ่นหรือรส หรือหวนรู้สึกถึงสัมผัสทางผิวกายบางอย่าง เกิดขึ้นมาในจิต ก่อนที่จิต จะนำสัญญานั้นไปปรุงแต่งต่อจนเกิดเป็นความคิด (วิตก) และฟุ้งออกไปเรื่อยเปื่อย (ปปัญจะ) ได้เองเลยนะครับ :b1: :b46: :b39:


(ซึ่งขบวนการรู้ทันความคิดปรุงแต่งอันซับซ้อน (ปปัญจะ) จนสามารถย้อนกระแสเข้าไปเห็นถึงการเกิดขึ้นของความคิด (วิตก) จนรู้เท่าทันในต้นรากของความคิด ซึ่งก็คืออาการของการเห็นการผุดเกิดของสัญญาและเวทนาในการฝึกสติสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนาผ่านการรู้ใจตรงนี้ จะไปว่ากันต่อในภาคปฏิบัติและสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดอีกที หลังจากเล่าถึงหลักการ หรือขบวนการตรงนี้กันก่อนนะครับ) :b1: :b46: :b39:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จุดสังเกตอีกจุดหนึ่งในขบวนการรับรู้และเสพเสวยโลกก็คือ สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นของเวทนา สัญญา และวิตก นั้นก็คือผัสสะ :b47: :b48: :b47:

แล้วทำไมในสมาธิภาวนา ไม่ฝึกสติสัมปชัญญะให้ทันต่อผัสสะ ซึ่งเป็นต้นธารของเวทนาเลยเล่า ? :b50: :b49: :b48:

ถ้าพิจารณาตามที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์สรุปขบวนการเสพเสวยโลกให้ดูตามรูปนะครับ จะเห็นว่า ผัสสะนั้น อยู่ในขบวนการรับรู้ที่ยังบริสุทธิ์ตามกระแสปรกติของธรรมชาติอยู่ :b51: :b50: :b49:

แต่จุดที่เป็นจุดแยกว่า กระแสการรับรู้โลกนั้น จะตกไปในทางเสพเสวยโลก (หรือสังสารวัฏฏ์ เกิดมีผู้เสวย - สิ่งที่ถูกเสวย หรือมีผู้คิด กับสิ่งที่ถูกคิด) หรือตกไปในทางการรับรู้โลกตามที่เป็นจริง (วิวัฏฏ์ ไม่มีผู้เสวย - ไม่มีสิ่งที่ถูกเสวย หรือไม่มีผู้คิด - ไม่มีสิ่งที่ถูกคิด) ก็คือตัวเวทนานั่นเอง :b48: :b47: :b46:

ดังนั้น การฝึกสติสัมปชัญญะให้ตามรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลงไปของผัสสะ จึงเป็นการรู้ลงในธรรมชาติของกลไกในจิตอันยังบริสุทธิ์อยู่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต่อการรู้เท่าทันในกระบวนการที่ทำให้จมอยู่กับโลก (จมอยู่ในวัฏฏะ) อันได้แก่กระบวนการของความคิดฟุ้งปรุงแต่งอันเนื่องด้วยกิเลส :b48: :b49: :b50:

และอีกประการก็คือ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และสัญญา เป็นสหชาตธรรม คือเกิดขึ้นร่วมกันตามหมายเหตุข้อที่ ๕ ของท่านเจ้าคุณอาจารย์ โดยขณะที่เกิดร่วมกันนั้น ตัวที่สามารถสังเกตได้ง่ายกว่าในระหว่างทำสมาธิภาวนาซึ่งโดยมากมักมีผัสสะทางทวารเดียว ก็คือทางใจนั้น ก็คือตัวเวทนา หรือตัวสัญญา :b46: :b47: :b46:

ทำให้การฝึกสติสัมปชัญญะระหว่างทำสมาธิภาวนา ด้วยการดูในผัสสะนั้น จะยากกว่าการฝึกด้วยการรู้ทันในเวทนาหรือสัญญาที่ผุดเกิดขึ้น
:b46: :b47: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โดยการฝึกนั้น ระหว่างเวทนา สัญญา วิตก (ซึ่งหมายรวมถึงปปัญจะ ความคิดฟุ้งปรุงแต่งไว้ด้วย) เราสามารถเห็น ความคิดฟุ้งปรุงแต่ง ได้ง่ายกว่าเห็นสัญญา และเห็นสัญญา ได้ง่ายกว่าเห็นเวทนา ในกรณีที่เวทนานั้น เป็นอทุกขมสุขเวทนา :b47: :b48: :b49:

แต่ในกรณีที่เวทนานั้น เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ที่เกิดขึ้นในสมาธิภาวนานั้น เราก็สามารถตามเห็นเวทนาได้ง่ายเช่นเดียวกัน โดยตามเห็นในทุกขเวทนาได้ง่ายกว่าในสุขเวทนา และตามเห็นในสุขเวทนา ได้ง่ายกว่าอทุกขมสุขเวทนา
:b49: :b48: :b47:

เนื่องเพราะในทุกขเวทนานั้น จะมีสิ่งที่มากระทบที่เป็นปฏิฆะ คือเป็นอารมณ์ที่มากระทบและให้จิตเสพเสวยได้รุนแรงกว่าในสุขเวทนา ซึ่งในสุขเวทนานั้น จิตโดยมากมักจะจมแช่ลงไปในสุข จนสติสัมปชัญญะตามไม่ทันในสุขที่เกิดขึ้นนั้น :b49: :b50: :b48:

แต่ในทุกขเวทนา สำหรับนักปฏิบัติที่พอมีพื้นฐานการฝึกสติสัมปชัญญะมาบ้างแล้ว จิตจะจมแช่ลงไปได้น้อยกว่า และส่วนมากจะเป็นไปในทางหนีหรือปฏิเสธ ทำให้เห็นได้ง่าย :b43: :b44: :b45:

ส่วนอทุกขมสุขเวทนานั้น จิตจะสังเกตรู้ลงในอารมณ์ได้ยากที่สุด เพราะเป็นเวทนาที่ทำให้จิตมีสภาพเป็นกลาง คือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ และโดยมากจะเจืออยู่ด้วยโมหะ คือความหลง ไม่ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะเสียเป็นส่วนใหญ่ :b50: :b49: :b48:

ซึ่งตรงนี้ เป็นเช่นเดียวกับการรู้เท่าทันในโทสะ อันเนื่องมาจากทุกขเวทนา ก็จะใช้สติสัมปชัญญะ ตามรู้ได้ง่ายว่าการรู้เท่าทันในราคะ อันเนื่องมาจากสุขเวทนา :b50: :b49: :b48:

และการรู้เท่าทันในราคะ อันเนื่องมาจากสุขเวทนา ก็จะใช้สติสัมปชัญญะ ตามรู้ได้ง่ายว่าการรู้เท่าทันในโมหะ อันเนื่องมาจากอทุกขมสุขเวทนา นะครับ :b1: :b46: :b39:

เพราะทุกขเวทนานั้น เปรียบได้กับของร้อน ผู้ที่ฝึกมาดีแล้ว เมื่อสัมผัสนิดเดียวก็สะบัดมือหนี ไม่เหมื่อกับสุขเวทนาที่เหมือนกับของเย็น ที่มีสติสัมปชัญญะ ตามรู้ได้ยากกว่า หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เหมือนกับของอุณหภูมิปรกติ ที่ตามรู้ได้ยากที่สุด จนต้องไปตามรู้เอาในสัญญาที่ผุดเกิดขึ้นมาแทนนะครับ :b1: :b46: :b39:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 21:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปหลักการกันอีกที สำหรับการฝึกสติสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนาผ่านการรู้ใจ :b47: :b48: :b49:

ก็คือการฝึกให้รู้เท่าทันลงในกระบวนการของการรับรู้ และเสพเสวยโลก ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนการของการกระทบต่อโลก (อายตนะ + อารมณ์ + วิญญาณ + ผัสสะ + เวทนา) และกระบวนการเสพเสวยโลก (เวทนา --> กิเลสสัญญา --> วิตักกะ --> ปปัญจะ --> ปปัญจสัญญา) :b47: :b48:

หรือว่ากันในอีกนัยหนึ่ง ก็คือรู้ทันขบวนการของจิตในการรับรู้โลก จนกระทั่งจมลงไปในความคิดฟุ้งปรุงแต่งนั่นเอง :b50: :b49: :b48:

และในการฝึกสติสัมปชัญญะด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตามรู้ทันความคิดที่ผุดเกิดขึ้นในระหว่างการทำสมาธิภาวนา (ซึ่งไม่ได้มีความหมายจำกัดแค่การนั่งหลับตาทำสมาธิ) จนสามารถย้อนทวนกระแสของความคิด จนเข้าไปถึงต้นรากของความคิด นั่นคือทวนไปให้เห็นถึงการผุดเกิดขึ้นของสัญญา และทวนเข้าไปอีกจนเห็นการผุดเกิดขึ้นของเวทนา :b46: :b47: :b46:

ซึ่งเมื่อจิต เห็นในความคิด เห็นในการผุดเกิดขึ้นของสัญญา หรือเวทนาได้บ่อยๆจนเกิดเป็นความจำได้หมายรู้อย่างมั่นคงในจิต (ถิรสัญญา) จิต ก็จะสามารถตรวจจับการผุดเกิดขึ้นของความคิด หรือต้นรากของความคิดได้เอง เมื่อมีความคิด หรือต้นรากของความคิด (สัญญา/เวทนา) เกิดขึ้นในจิต :b46: :b47: :b46:

ซึ่งประโยชน์ของการฝึกตรงนี้ก็คือ สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติ สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะที่เข้มแข็งขึ้น คือสามารถตามทันต่อกระบวนการในการรับรู้และเสพเสวยโลก :b48: :b47: :b46:

หรืออีกนัยหนึ่ง คือการตามทันในขบวนการของความคิดฟุ่งปรุงแต่ง หรือตามทันในขบวนการของปฏิจจสมุปบาท :b49: :b50: :b49:

ซึ่งเมื่อจิต สามารถตามทันในกระบวนการของการรับรู้และเสพเสวยโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือขบวนการของความคิดฟุ่งปรุงแต่งนั้นแล้ว ในเบื้องต้นจิตก็จะเกิดปัญญาสัมปชัญญะ ในการสำรวมอินทรีย์ (อินทรียสังวร) ที่จะรู้ทันและหยุดความคิดฟุ้งปรุงแต่งในทางอกุศล (มิจฉาสังกัปปะ หรืออกุศลวิตก อันประกอบด้วยกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก) ซึ่งนำไปสู่ทุจริต ๓ (ทุจริตทางกาย วาจา ใจ) :b46: :b47: :b48:

อีกทั้งยังสามารถชักนำความคิดนั้น ให้กลายไปเป็นความคิดในทางกุศล (สัมมาสังกัปปะ หรือกุศลวิตก อันประกอบด้วยเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก) ซึ่งนำไปสู่สุจริต ๓ (ทุจริตทางกาย วาจา ใจ) :b47: :b49: :b50:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2016, 22:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โดยเฉพาะการฝึกสติสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนาในระดับอัปปนาสมาธิ หรือระดับฌาน ผลของสมาธิภาวนาในระดับฌานนั้น ย่อมยังจิตให้โน้มน้อมไปที่จะ ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด อย่างมีสติรู้สึกตัว (สุจริต ๓) ตามคำของพระบรมครู ในมหาสุญญตาสูตร :b46: :b47: :b46:
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=4846&Z=5089&pagebreak=0

นั่นคือ การฝึกสติและสัมปขัญญะ จนได้สติสัมปชัญญะที่เข้มแข็งบริบูรณ์ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้อินทรียสังวรศีลเข้มแข็งบริบูรณ์ :b50: :b51: :b53:

และอินทรียสังวรศีลที่เข้มแข็งบริบูรณ์ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้สุจริต ๓ บริบูรณ์ (จนถึงที่สุดคือ วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ นั่นเอง) :b49: :b50: :b49:

ตามพุทธพจน์ในตัณหาสูตรและอวิชชาสูตร ที่เคยยกเอามาให้ดูก่อนหน้านี้แล้วนะครับ :b1: :b46: :b39:

ตัณหาสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=2782&Z=2853&pagebreak=0
อวิชชาสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=24&A=2712&Z=2781&pagebreak=0

ดังนั้น นอกจากอธิศีลสิกขา อันได้แก่อินทรียสังวรศีล และสุจริต ๓ ที่บริบูรณ์แล้ว ประโยชน์ที่ยิ่งขึ้นไปอีกของการฝึกสติสัมปชัญญะด้วยสมาธิภาวนาผ่านการรู้ใจนี้ก็คือ สามารถทำให้อธิปัญญาสิกขาบริบูรณ์ด้วย นั่นคือ สามารถทำให้จิตเกิดปัญญา จนไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ :b46: :b47: :b46:

ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยการเห็นถึงสภาวะของอนัตตาของขันธ์ คือการทำงานได้เอง แต่ประสานกันไปอย่างกลมกลืนของขันธ์ทั้ง ๓ อันได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ โดยมีจิต หรือวิญญาณขันธ์นั้น เป็นผู้รู้ผู้ดูการผุดเกิดขึ้นของขบวนการทำงานที่ประสานกันไปอย่างที่ว่า (ซึ่งจะเล่าถึงสภาวะตรงนี้ในภาคส่วนของการปฏิบัติอีกทีนะครับ) :b1: :b46: :b39:

หรือเห็นในกระบวนการรับรู้และเสพเสวยโลก ซึ่งก็คือกระบวนการสังสารวัฏฏ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กระบวนการของการเกิดทุกข์ (ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด) ที่มีผู้รู้ และสิ่งที่ถูกรู้ :b48: :b49: :b50:

จนกระทั่งเข้าสู่ขบวนการของการรับรู้แต่ไม่เสพเสวยโลก ซึ่งก็คือกระบวนการวิวัฏฏ์ หรือโดยนัยอ้อมก็คือ กระบวนการของการดับทุกข์ (ปฏิจจสมุปบาทสายดับ) ที่ไม่มีผู้รู้ และไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ ทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวรวด หรือทุกสิ่งที่เข้ามากระทบ เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลงไป หามีตัวตนบุคคลไหนไม่ นั่นเอง :b46: :b47: :b46:

แล้วมาต่อในภาคปฏิบัติกันในคราวหน้า :b46: :b47: :b46:

เจริญในธรรมครับ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1416 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 80, 81, 82, 83, 84, 85, 86 ... 95  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร