วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ย. 2024, 11:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2023, 12:52 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัดกรรมตัดเวรตามวิถีพุทธ
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑


รูปภาพ

นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสสฺ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

สมถวิปสฺสนานํ ภาวนานมิโต ปรนฺติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โส ตพุโพติ


ณ บัดนี้ จะได้แสดงพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาส้มพุทธเจ้า
เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านศาสนิกชน
ผู้สนใจในการฟังธรรมและสนใจในการบุญ การกุศล

คนเราทุกคนมีกาย วาจา และใจ
กาย วาจา และใจเป็นสมบัติดั้งเดิม
เป็นสมบัติที่เราได้มาเพราะกิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรม
และเชื่อว่าทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว เราจึงมาสนใจทำแต่กรรมดี
กฎของสังสารวัฏ อาศัยอวิชชาความรู้ไม่จริงเป็นเหตุให้ทำกรรม
เมื่อทำกรรมแล้วย่อมได้รับผลของกรรม
เมื่อรับผลของกรรมแล้วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เกิดมาแล้วก็มาอาศัยอวิชชาความรู้ไม่จริงของเดิมนั่นแหละ เป็นเหตุให้ทำกรรม
ทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมชั่วบ้าง เมื่อทำแล้วก็ได้รับผลของกรรม
ถ้าเป็นกรรมชั่วก็มีผลส่งให้ไปเกิดในอบาย
มีสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก อันนี้เพราะผลของกรรมชั่ว
เมื่อทำกรรมดี ได้รับผลดีก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพระอินทร์ พระพรหม
ถ้ามีดีสูงสุดก็สำเร็จพระอรหันต์ เข้าสู่นิพพาน

ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนใจของพุทธบริษัททั้งหลายมิให้มีความประมาท
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาเนืองๆ
ว่าเรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล
มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราจักทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
อันนี้เป็นคติที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้และเตือนใจเอาไว้
เพื่อให้เราเป็นผู้ไม่ประมาท และมีอุบายวิธีเตือนใจอีกอย่างหนึ่งว่า
เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา
จะล่วงพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตายไปไม่ได้
และความตายไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์
ใครนึกสนุกเมื่อไรตายได้ทั้งนั้น ไม่มีใครกำหนดเวล่ำเวลา
ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไม่ให้ประมาท

สมบัติของเรา คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ได้ด้วยยาก
เพราะคนที่มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ต้องประพฤติศีล ๕ มีกรรมบถ ๑๐
จึงจะเล็ดลอดมาเกิดเป็นมนุษย์ได้
ทีนี้เรามาพิจารณาดูซิ การจะมาปฏิบัติศีล ๕ หรือมาปฏิบัติกรรมบถ ๑๐
นี่มันยากง่ายเพียงใด แค่ไหน
ถ้าเราคิดว่าการรักษาศีล ๕ เป็นของยาก การรักษากรรมบถ ๑๐ เป็นของยาก
เราก็จะรู้ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้เป็นของยาก
การได้ความเป็นมนุษย์มาก็ได้มาด้วยกฎของกรรม
คนเราทุกๆ คนอยากจะไปเกิดในสถานที่ดีๆ ที่สมบูรณ์พูนสุข
แต่เราก็เลือกเกิดเองไม่ได้ ทั้งนี้เพราะกฎของกรรมมันจำแนก
กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นต่างๆ กัน
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลต่ำ
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลปานกลาง
บางคนถูกกรรมจำแนกให้เกิดในตระกูลสูง
บางคนก็ถูกจำแนกให้เกิดมาแล้วเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้เพราะกฎของกรรมและอำนาจของกรรมเป็นผู้จำแนก

ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม คนเรามีความสามารถพอๆ กันเกือบจะทุกคนนั่นแหละ
สมมุติว่าใครก็ตามที่เรียนจบปริญญามาด้วยกัน มาทำงานร่วมกัน ในสถาบันเดียวกัน
คนหนึ่งทำงานมีความก้าวหน้า ก้าวหน้าทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สมบัติ
อีกคนหนึ่งก้าวไปไม่ได้ถึงไหน ยังแถมยากจนด้วย เงินเดือนก็ไม่พอใช้
ทั้งที่ ๒ คนนี้มีความรู้เท่ากัน มีกำลังร่างกายแข็งแรงเท่ากัน
แต่ทำไมจึงประสบผลสำเร็จไม่เหมือนกัน ก็เพราะผลของกรรมนั่นเอง

ดังนั้น หลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงรู้แจ้งเห็นจริง
คนที่ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว พระองค์จึงสอนให้ทำแต่กรรมดี
ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายตั้งใจร่วมกันจัดให้มีการฟังเทศน์เป็นประจำ
จะว่าทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์ก็ว่าได้นั้น
ก็เพราะเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าการฟังเทศน์เป็นบุญอย่างหนึ่ง
และถ้าฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติตามด้วยก็ยิ่งได้บุญมาก

ตามที่โฆษกได้ประกาศว่าต้องพยายามบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา
การให้ทาน ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว หมายถึงการให้ปัจจัย ๔
จีวร บิณฑบาตอาหาร ที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้โรคเป็นอามิสทาน
ท่านบำเพ็ญทานเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่น่าจะเป็นห่วง เพราะทุกคนก็มีศรัทธาอยู่แล้ว
ปัญหามีว่าบางท่านอาจจะไม่มีจตุปัจจัยที่จะบำเพ็ญทานให้สมบูรณ์ เรียกว่ามีรายได้น้อย
คนอื่นเขาทำบุญมากๆ ก็อยากจะทำมากๆ กับเขา
แต่ว่าส่วนวัตถุประกอบหรือสิ่งสนับสนุนในการทำของเราไม่พร้อม
เราจะมีโอกาสทำบุญด้วยอามิสกับเขาได้สมบูรณ์อย่างไร

อันนี้ท่านผู้ฟังทั้งหลายควรทำความเข้าใจ
การทำบุญให้ทานนี้มันใหญ่โตอยู่ที่เจตนา เจตนาก็คือความตั้งใจ
ความตั้งใจที่บริสุทธิ์ว่าเราจะให้ทานเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เพื่อให้กำลังกาย กำลังใจ แก่ผู้รักษาพุทธศาสนา
หรือผู้ทำประโยชน์ส่วนรวม ไม่เฉพาะแต่ในศาสนาอย่างเดียว
ให้มีเจตนาให้บริสุทธิ์สะอาด เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ
และเพื่อความดีจริงๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อเจตนาบริสุทธิ์ แม้ว่าวัตถุที่บริจาคนั้นจะมีจำนวนน้อยหรือมีราคาน้อย
ก็ได้ชื่อว่าใหญ่โตโดยเจตนา

เพราะฉะนั้น การทำบุญจะได้บุญมาก บุญน้อย อยู่ที่เจตนาบริสุทธิ์ต่างหาก
ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายอย่าไปข้องใจ อย่าไปสงสัย
นายติณบาลบุรุษ เป็นคนใช้ของเศรษฐี เศรษฐีเขาทำบุญ
แล้วติณบาลเอาด้ายเย็บผ้าไปร่วมบุญกฐินกับเขาก็ได้มีอานิสงส์มากมาย
จนทำให้นายติณบาลสำเร็จพระอรหันต์ได้
เพราะอานิสงส์การให้ทานด้ายสำหรับเย็บผ้ากฐินร่วมกับเจ้านาย

การให้ทานนี่ เราอย่าไปกำหนดหมายว่าเราต้องมีของมากๆ มาวางไว้อวดแขก
แม้ว่าเรามีเพียงเล็กน้อย แต่เรามีเจตนาบริสุทธิ์สะอาดดี เราสละลงไป ก็ได้บุญ ได้กุศล
บุพพเจตนา หมายความถึงความตั้งใจที่จะทำบุญให้ทาน
สิ่งของได้มาโดยความบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากการลักขโมย ฉ้อโกง
แล้วก็เราตั้งเจตนาเพื่อให้ทานอุทิศต่อพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
เพื่อบูชาคุณของผู้มีคุณบ้าง
ในเมื่อให้ทานไปแล้วก็ทำจิตใจให้เบิกบานบันเทิงในการให้ทานของตนเอง อานิสงส์ก็มีมาก
สมมุติคนที่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ตัวเปล่าๆ ผ้านุ่งก็ผืนเดียว ผ้าห่มก็ผืนเดียว
อยากให้ทานบ้าง แต่ว่าเงินทองก็ไม่มี อาหารใส่ท้องก็แทบจะไม่มีเช่นนี้
เราจะมีโอกาสให้ทานได้ไหม
การให้ทานโดยไม่ต้องสละสมบัติ คืออภัยทาน
ที่ท่านสมาทานศีล ๕ มาแล้วนั้นเป็นการให้อภัยทาน
การไม่ฆ่า ให้อภัยสัตว์ การไม่ลักไม่ขโมย ให้อภัย การไม่ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร ให้อภัย
การไม่หลอกลวง ให้อภัย การไม่มัวเมา ก็ให้อภัย เป็นอภัยทาน

อภัยทานเป็นสิ่งที่เป็นทานเลิศ
เป็นทานที่อยู่ในระดับที่จะขจัดกิเลสและความชั่ว
ที่เราจะพึงประพฤติด้วยกาย วาจา ซึ่งเรียกว่าศีล
การรักษาศีลนั่นแหละเรียกว่าการให้อภัยทาน

ฉะนั้น คนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย แต่มีศีล
ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญอภัยทาน
ทีนี้บำเพ็ญอภัยทานคือการรักษาศีลนี้
ถ้าสมมุติว่าเราปรารถนาทรัพย์สมบัติอันใดจะได้ไหม
สีเลน โภคสมฺปทา การรักษาศีล ทำให้ถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติ
สีเลน สุคตึยนฺติ จะดำเนินไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ จะดับได้เพราะมีศีล
การมีศีลนี่มันดับเวรดับภัย ดับความพยาบาทอาฆาตจองเวร
ดับการประทุษร้ายซึ่งกันและกันเป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร

เราพูดถึงเรื่องการตัดกรรมตัดเวร
บางทีมีพิธีกรรมบางอย่างแทรกเข้ามาในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว
แต่ในบางครั้งเราก็เห็นแทรกเข้ามาในพระพุทธศาสนา คือการตัดกรรมตัดเวร
ท่านทั้งหลายอาจจะข้องใจว่ากรรมที่ทำแล้ว ทำพิธีตัดกรรมตัดเวร
มันจะหมดกรรมหมดเวรหรือไม่
กรรมที่เราทำแล้ว ผลซึ่งเกิดจากการกระทำ เราจะตัดอย่างไรมันก็ไม่เป็น
คือพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่าทำกรรมใดย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทีนี้ใครทำชั่วลงไปแล้วจะมาทำพิธีตัดกรรม มันตัดไม่ได้

ถ้าหากเราต้องการจะตัดกรรมให้หมดสิ้นไป
ก็เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นกรรมหนัก เป็นบาป
เราก็งดเว้นจากการทำกรรมนั้นเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นี่ได้ชื่อว่าตัดกรรม
เช่นว่า ปาณาติบาต อทินนาทาน การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราได้ทำมาแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้
วันนี้เรามารู้สึกสำนึกตัวว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมันบาป มันเป็นกรรมเป็นเวร
พอรู้แล้วเราก็เจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อันนี้เราตัดกรรม คือตัดการกระทำยุติ
ในเมื่อเรามีการยุติการกระทำ มันก็เป็นการยุติผลเพิ่มของบาปกรรม
ส่วนที่มีอยู่ก็มีไป ส่วนใหม่นี่เราไม่ต้องหาเพิ่มเข้า มันก็เป็นอันยุติเพียงแค่นี้

ในเมื่อเราละเว้น คือตัดกรรม ตัดการกระทำกรรม
คืองดเว้นการกระทำกรรมชั่วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี
มีแต่ทำดีเรื่อยๆ ไป ความชั่วไม่ทำ
ในเมื่อทำดีๆ เรื่อยไป ความดีก็เป็นพลังสะสมไว้ในจิต จิตก็เก็บเอาความดี
เมื่อจิตของเราปราโมทย์ บันเทิงในความดี
ก็เรียกว่าทำดีแล้วได้บุญ ได้บุญเป็นที่อุ่นใจ
เมื่อจิตเราปราโมทย์บันเทิงกับบุญ กับความดีที่มีอยู่ในใจนั้น
จิตก็ไม่นึกถึงการทำบาปอีก ก็เป็นอันว่าตัดกรรมให้หมดสิ้นไป
แต่กรรมเก่านั้นใครจะไปตัด ตัดแล้วมันก็ไม่หมด
ถ้าอยากจะตัดกรรมก็หยุดการทำกรรมชั่วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทีนี้การตัดเวร เวรหมายถึงกิริยาที่ผูกพยาบาท อาฆาตจองเวร
แล้วก็ตามแก้แค้น จองล้างจองผลาญกันตลอดไปไม่รู้จักจบสิ้น อันนี้เรียกว่าเวร
เวรนี้ตัดได้ เมื่อเรารู้ว่าใครเป็นคู่กรณีของเรา เราทำผิดต่อกัน เราขอโทษกัน
แล้วก็อโหสิกรรมให้กัน มันก็หมดกรรมหมดเวร

ถ้าผู้ใดสงสัยว่าเราอาจจะมีเจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน
ถ้าเราจะตัดเวร เราก็ต้องพยายามทำบุญกุศล สวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตา
ให้ส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่เราคิดว่าอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา
เช่นอย่างญาติโยมทำบุญทำกุศลแล้วกรวดน้ำอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย
เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อันนั้นเป็นวิธีตัดเวร ทำบุญอุทิศให้กันและกันก็เป็นวิธีตัดเวร
หรืออย่างที่หลวงพ่ออยู่ที่วัด ญาติโยมไปหาคนที่นั่งทางใน
รู้แล้วว่าเป็นกรรมเป็นเวรอย่างนั้น แล้วก็ให้ไปตัดกรรมตัดเวร
ไปทำสังฆทานที่วัด ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่เป็นเจ้ากรรมนายเวร
ทีนี้ถ้าผู้ไปทำบุญอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร แล้วกรวดน้ำอุทิศให้เขา
ถ้าหากว่าเจ้ากรรมนายเวรของเราได้รับส่วนบุญส่วนกุศลจากเรา ที่เราส่งอุทิศไปให้
หากเขาได้รับความสุขความสบายตามสมควร
เขานึกถึงบุญถึงคุณของเราที่มีความหวังดีต่อเขา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเขา
เขาอาจจะหายโกรธ แล้วยกโทษให้แก่เรา ไม่จองล้างจองผลาญเราอีกต่อไป
ก็เป็นอันว่าเวรก็หมดสิ้นลงไปเพราะการไม่จองเวร อันนี้เป็นวิธีตัดกรรมตัดเวร

แต่ถ้าหากใครจะสงสัยว่าบาปที่ฆ่าสัตว์ แล้วไปทำพิธีตัดกรรมนี่มันจะสำเร็จไหม
อันนี้ไม่มีทางสำเร็จ เพราะฆ่าสัตว์มันบาป
วิญญาณสัตว์นั้นอาจจะจองกรรมจองเวรกับเรา
แต่หากเรารู้ว่าวิญญาณสัตว์นั้นจองกรรมจองเวรกับเรา
เราทำบุญอุทิศ แผ่เมตตาขออโหสิกรรมกับเขา
ถ้าหากว่าเขาอโหสิกรรมให้เรา มันก็หมดการพยาบาทอาฆาตกัน อันนี้เป็นไปได้
แต่ผลของการกระทำคือกรรมนั้นมันตัดไม่ได้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้นตลอดไป

ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พิจารณาเนืองๆ
ว่าเราจะทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
กมฺมทายาทา จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน
อันนี้ให้ไว้เพื่อให้เราเชื่อกรรมและผลของกรรม
และไม่ให้เราประมาทในการที่จะเผลอไปทำความชั่ว อันนี้เป็นเรื่องการตัดกรรมตัดเวร
ถ้าจะว่ากันตรงๆ แล้ว ใครจะทำการตัดกรรมตัดเวร ก็รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น
ไม่ต้องไปหาอาจารย์ที่ไหนมาทำพิธีตัด เพราะมันตัดไม่ได้จริงๆ

ทีนี้พูดถึงเรื่องภาวนา การภาวนา มีสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา
ส่วนใหญ่เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องภาวนา อาตมามาเทศน์ที่นี่ดูเหมือนหลายครั้งแล้ว
และส่วนใหญ่ก็พูดถึงเรื่องศีลเรื่องการภาวนา อันนี้ก็จะต้องพูดถึงเรื่องการภาวนาอีก
เพราะว่ามีหลายๆ ท่านมาถามถึงเรื่องการภาวนา
การภาวนานั้นหมายถึงการอบรมบ่มนิสัย
ถ้าพูดถึงการอบรมบ่มนิสัยแล้ว แม้แต่การให้ทาน ก็คือการภาวนา
อบรมใจให้เกิดศรัทธาในการให้ทาน รักษาศีล
ก็คือการภาวนาอบรมใจให้เกิดศรัทธาในการรักษาศีล
ทีนี้ทำสมาธิก็คือภาวนา เป็นการอบรมจิตใจให้คุ้นต่อการภาวนา
เพราะฉะนั้น ภาวนานี่จึงมีความหมายกว้าง
หมายถึงอบรมบ่มนิสัยให้คุ้นเคยต่อความดี จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญ
อบรมนิสัยให้เกิดมีศรัทธาในการให้ทาน ให้เกิดมีศรัทธาในการรักษาศีล
ให้เกิดมีศรัทธาในการทำสมาธิ อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งการภาวนา


มาพูดถึงเรื่องการทำสมาธิ สมาธิคือการฝึกใจให้เกิดความมั่นคง
มั่นคงต่อสิ่งที่เราเป็นอยู่ มั่นคงต่อความเป็นมนุษย์
มั่นคงต่อความเป็นผู้มีหน้าที่ มั่นคงต่อความเป็นของตนเอง
ความมั่นคงอื่นๆ จะไม่พูดถึง จะพูดถึงเฉพาะความมั่นคงของพุทธบริษัท
พุทธบริษัทมีหน้าที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรง
อีกสายหนึ่ง พุทธบริษัทมีหน้าที่เรียนรู้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
มีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วก็มีหน้าที่ละความชั่ว ประพฤติความดี และทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด
อันนี้คือหน้าที่ของเรา
เรามาฟัง มาเรียนธรรม
เพื่อให้เกิดสติปัญญา ความมั่นคงต่อการทำความดีดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น

หลักของการทำความดีเฉพาะในเรื่องการทำสมาธิ มีอยู่ ๒ อย่าง
สองอย่างนี้แหละเถียงกันอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน เดี๋ยวก็อันนี้วิปัสสนา อันนั้นสมถะ
ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟังว่า คำว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี เป็นชื่อของวิธีการ
ที่เราเคยพูดกันมาแล้ว ในการมาภาวนาหรือการทำสมาธิ
ถ้าเราท่องมนต์ พุทโธ พุทโธ สัมมาอะระหัง ยุบหนอ-พองหนอ
สมาธิอันใดที่เรานั่งท่องมนต์
เหมือนกับอึ่งหรือคางคก มันทำคางมันวับๆ วับๆ ว่ามันท่องมนต์
เมื่อเรามาท่องมนต์ พุทโธ พุทโธ ยุบหนอ-พองหนอ สัมมาอะระหัง อยู่นั่น
อันนี้ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามแบบสมถวิธี เรียกว่าสมถกรรมฐาน เอากันย่อๆ อย่างนี้
กรรมฐานที่นั่งท่องมนต์บริกรรมอยู่นั่น พุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นสมถกรรมฐาน
ส่วนกรรมฐานที่นั่งคิด ต้องใช้ความคิด คิดเรื่องธรรมะ
ว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร ธรรมะคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร
คิดไปๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบขึ้นมาได้
อันนี้ชื่อว่าปฏิบัติแบบวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าหากว่าใครมีความคิดมากๆ ฝึกหัดจิตให้มีสติตามรู้อารมณ์จิตของตัวเองเรื่อยไป
มันจะคิดไปไหน ขึ้นเหนือล่องใต้ เอ้า ! ปล่อยให้คิดไป แล้วตามรู้ๆ รู้ๆ ไป
อันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติตามวิธีของวิปัสสนา

พอนั่งสมาธิจิตสว่างลงไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์
เห็นภูตผีปีศาจ เห็นวิญญาณ เห็นรูปภาพต่างๆ
แล้วไปสำคัญมั่นหมายว่าเจ้ากรรมนายเวรมาทวงบุญทวงคุณอย่างนั้นอย่างนี้
ถ้าหากมีสติตามรู้สิ่งเหล่านี้ไม่หลงติด กำหนดหมายสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น
ภาพนิมิตนั้นก็เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ
เมื่อจิตจะสงบลงไป มันก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน
การใช้สติตามรู้ความคิด เมื่อจิตจะสงบก็มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน
มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ต่างแต่วิธีการเท่านั้น
ในเมื่อสมาธิเกิดแล้วมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง
เพราะฉะนั้น อย่ามัวไปเถียงกัน เพียงแค่วิธีการเท่านั้น
สมาธิเป็นสัจธรรมของจริง ใครจะไปรู้ไปเห็นแตกต่างกันไม่ได้
ถ้าหากรู้เห็นแตกต่างกันก็เรียกว่ารู้ไม่จริง เป็นแต่เพียงนึกเดาเอาเอง
ถ้าเราภาวนายุบหนอ-พองหนอ จิตสงบ ก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ
สัมมาอะระหัง สงบแล้วก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ พุทโธก็ไปสู่จุดเดียวคือสมาธิ

สมาธิต้องประกอบด้วยองค์ คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตกก็คือความคิดถึงอารมณ์ จิตคิดเอง เช่นอย่างมันรู้ มันรู้ขึ้นมาเอง
อย่างตอนแรกภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่
พอจิตสงบลงไปหน่อย แม้ไม่ได้ตั้งใจจะว่าพุทโธ จิตจะท่องพุทโธเอง อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้บางทีมันทิ้งพุทโธแล้ว มันไปว่างอยู่นิดหนึ่ง แล้วความคิดเกิดฟุ้งๆ ขึ้นมา
อันนี้เรียกว่าตัววิตกเกิดขึ้น สติรู้พร้อมอยู่ที่ความคิด
ความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะจิตปัจจุบันเรียกว่าวิจาร
เมื่อจิตมีวิตก วิจารก็ได้องค์ฌานที่หนึ่งกับองค์ฌานที่สอง ความรู้ก็เกิดขึ้น
สติก็ไล่ดูๆ ดูกันตลอดเวลา แล้วในเมื่อจิตรู้ซึ้งเห็นจริงไปบ้างตามสมควร
ก็เกิดปีติ ขนหัวลุก ขนหัวพอง ซึมซาบ แล้วก็มีความสุข มีความสงบ
นี่ มันจะประกอบด้วยองค์ของมันอย่างนี้
ฉะนั้นใครจะปฏิบัติอย่างไหนแบบใดก็ตาม เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิจริงๆ แล้ว
จะต้องประกอบด้วยองค์ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ด้วยกันทั้งนั้นไม่มีแตกต่าง

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายอย่าไปสงสัย
ธรรมะอันใดที่เกิดขึ้นในใจของเรานี่ มันแก้ปัญหาหัวใจได้ นั่นแหละมันถูกต้อง

ถ้าภาวนาพุทโธๆ ทำให้ใจสงบเยือกเย็น
หายโลภ หายโกรธ หายหลง มีสติสัมปชัญญะมั่นคงพอสมควร
มีความหมั่นความขยัน รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและครอบครัวไม่เบื่อหน่าย
ทำให้สวัสดิภาพของครอบครัวดีขึ้น การงานของเราดีขึ้น อะไรทำนองนี้
ก็แปลว่าสมาธิของเราแก้ปัญหาหัวใจได้
อุบายวิธีอันใดที่แก้หัวใจของเราให้มีแนวโน้มไปในทางที่ให้เกิดมีความสุขได้
เราอย่าไปเชื่อใครที่ไหน ก็เชื่อตัวเองซิ อะไรที่เราปฏิบัติแล้วมันได้ผล
แม้ถ้าใครมาบอกว่าปฏิบัติอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง
ถูกไม่ถูกไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ว่า ในเมื่อข้าพเจ้าทำได้แล้ว
มันทำให้ใจของข้าพเจ้ามีความสุข มีความสงบ
ครอบครัวก็สงบราบรื่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนอย่างแต่ก่อน
ความเห็นก็ลงรอยกัน ว่าอะไรว่าตามกัน
นั่งสมาธิก็นั่งด้วยกัน ไปวัดไปด้วยกัน รักษาศีลก็รักษาด้วยกัน
สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องภายในครอบครัวและในใจตัวเองได้
นั่นแหละเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

ตำราจะเขียนไว้อย่างไรก็ช่างตำรา จะให้เทศน์ว่าอย่างไรก็ช่างใคร
ถ้าอุบายวิธีอันไหนสามารถจะแก้ไขปัญหาจิตใจได้ เป็นการถูกต้องทั้งนั้น
ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า อันใดที่เราทำลงไป แล้วไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง
นั่นแหละ ศีลตัวนั้นแหละเป็นเครื่องวัด ภาวนาอย่างนี้มันผิดหรือมันถูก
ถ้าภาวนาแล้วใจนึกอยากจะไปด่า ไปฆ่า ไปตีคนอยู่ นั่นไม่ถูก
แต่ถ้าภาวนาแล้วใจเลิกฆ่า เลิกด่า เลิกตีได้ นั่นถูกต้อง
นี่ว่ากันเอาอย่างนี้ ไม่ต้องไปยกตำราที่ไหนมาว่ากัน


เพราะฉะนั้นเรื่องการทำสมาธิภาวนานี่ ถ้ามันลำบากนัก เอาอย่างนี้ดีไหม
ท่านทั้งหลายก็ต่างคนต่างมีธุรกิจ มีภาระที่จะต้องทำด้วยกันทั้งนั้น
เรามาช่วยกันคิดหาวิธีการที่จะทำสมาธิให้มันสัมพันธ์กับเรื่องงาน
คือการงานก็ไม่ได้ขัดกับการทำสมาธิ สมาธิก็ไม่ให้ขัดกับงาน เราพอมีทางที่จะทำได้ไหม
เอาล่ะ ที่นั่งฟังเทศน์อยู่นี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นปัญญาชน
พ่วงปริญญามาแล้วทั้งนั้น เราเลิกให้เด็ก ป.๔ มาโกหกเราเสียทีเถอะ
เอ้า ! ว่ากันอย่างนี้แหละ เรามาคิดหาวิธีการที่จะทำสมาธิโดยที่ไม่ต้องไปเกี่ยงเวลากัน
เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ จะนั่งสมาธิก็เสียดาย ถึงเวลาทำงานแล้ว
จะไปทำงานก็เสียดายเวลานั่งสมาธิ ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้
ทำไมจึงขัดแย้งกัน เพราะเราไปให้มันเกิดขัดแย้งกัน
แต่ถ้าเราคิดว่างานคืออารมณ์จิตสำหรับทำสมาธิ
สำหรับเรานี่มีทางไหม ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ที่เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ได้เพราะอะไร เพราะเรามีใจ ใจเป็นผู้สั่งการ
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฺฐา มโน มยา
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นผู้ถึงก่อน มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วแต่ใจ

ทีนี้เรามาดูกันที่ใจ ใจตัวเป็นนายนี่
เราจะปราบข้าศึก เราต้องพยายามจับตัวหัวหน้า ทำลายหัวหน้าให้จงได้
ถ้าทำลายหัวหน้า จับหัวหน้าอยู่มือแล้ว อื่นๆ ก็ไม่สำคัญ
ฉะนั้นเราต้องพยายามจับที่ใจ ใจไปอยู่ที่ไหนบ้าง
มันไปอยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เอาสติไปคอยจับมันอย่างเดียว เดินรู้ ยืนรู้ นอนรู้ นั่งรู้
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด รู้ เอาสติรู้ตัวเดียวไปทำงาน
เวลาเดินก็นึกว่าเราเดินจงกรม มีสติรู้พร้อมอยู่ที่การเดิน
นั่งทำงานก็นึกว่าเรานั่งสมาธิ ถ้าคิดงานก็คิดว่าเรากำลังพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน
เราทำอะไร นึกว่าเรากำลังปฏิบัติสมาธิทั้งนั้น
เวลาเรานอนก็นอนทำสมาธิ สำคัญเวลานอน นอนแล้วเรามีความคิด
คิดก็ปล่อยให้มันคิดเรื่อยไป ให้มีสติตามรู้ไปจนกว่าจะนอนหลับ
ฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ แล้วเราจะได้สมาธิในขณะที่นอน

ถ้าเราใช้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิ เป็นอารมณ์ฝึกสมาธิ
เราจะไม่มีความรู้สึกว่าการทำงานกับการทำสมาธิมันเป็นเรื่องขัดกัน
แต่ส่วนใหญ่เราจะได้รับการอบรมสั่งสอนมา ว่าจะทำสมาธิต้องโกนหัวไปบวช
ต้องไปบวชชีพราหมณ์ บวชเป็นพระเป็นเณร ต้องเข้าป่าไปหาที่วิเวก จึงจะทำสมาธิได้
อันนั้น สาธุ ไม่ใช่ว่าไปตำหนิท่านทำของท่านก็ถูกต้อง
แต่นี่เราจะมาพูดถึงว่า อย่างเราๆ นี่มันไปอย่างนั้นไม่ได้
เอ้า ขืนลาไปซิ ๗ วัน ๑๕ วันต่อเดือน เราเป็นข้าราชการนี่
ขืนลาทุกเดือนประเดี๋ยวโดนไล่ออก นี่ มันเป็นอย่างนี้
เมื่อมันเป็นภาวะจำยอมที่เราต้องอยู่กับงานตลอดเวลานี่
เรามาช่วยกันค้นคิดหาวิธีทำสมาธิในขณะที่ทำงานนี่แหละ โดยไม่ต้องให้เสียงาน
งานก็ไม่ให้เสีย สมาธิก็ไม่ให้ขาด โดยเอางานในปัจจุบันเป็นอารมณ์จิต
ด้วยการฝึกจิตให้มีสติอยู่กับงานอย่างเดียวเท่านั้น

เข้าใจไหมที่พูดอย่างนี้ ทำอะไรก็ให้มีสติ
เลี้ยงลูกก็ให้มีสติ อาบน้ำให้ลูกก็ให้มีสติ แล้วก็พิจารณาเรื่อยไป
ประเดี๋ยวคนที่แก่วิธีการ แก่ตำราจะมาตำหนิว่า
หลวงตานี่มาสอนสมาธิแหวกแนว แบบที่ใครๆ เขาไม่สอนกัน
นี่คือการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน การทำสติ ทำสัมปชัญญะ
สัมปชัญญะปัพพะ ฝึกให้มีสติรู้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน
ให้รู้ว่าการเดินไป การถอยกลับ
การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ให้มีสติกำหนดตามรู้ตลอดเวลา แล้วมันจะมีผิดอย่างไร

อันนี้ขอฝากท่านผู้สนใจในการฝึกสมาธิทั้งหลาย
ให้พยายามค้นหาวิธีการที่เราจะทำสมาธิให้สัมพันธ์กันกับเรื่องชีวิตประจำวัน
โดยเอางานของเรานี้เป็นอารมณ์จิตในการภาวนา
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติรู้พร้อมอยู่ที่จิตตลอดเวลา
แม้ว่าเราจะไม่ไปกำหนดระยะที่เรายืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ อะไรก็ตาม
กำหนดรู้ที่จิตเท่านั้น ในเมื่อกายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่แยกไม่ออก
แม้ว่ากายจะเป็นไปอย่างไร จิตสามารถที่จะรู้เรื่องของกาย
กายมีความสุข จิตก็รู้ ยืนก็รู้ นอนก็รู้ นั่งก็รู้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจิตเป็นผู้สั่งทั้งนั้น
เมื่อเรามากำหนดรู้จิตของเราด้วยความมีสติ
เราจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่กาย รู้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะรู้
เช่นอย่างถ้านั่งอยู่ดีๆ เวลายุงมาเกาะปั๊บ รู้ทันที
เคยตั้งใจมาก่อนไหมว่ายุงจะมาเกาะ ไม่มีใครเคยตั้งใจ แต่ว่ามีอะไรมาสัมผัสปั๊บ รู้ทันที
ในเมื่อรู้แล้วก็มีสติสำทับรู้กับสิ่งนั้นๆ ให้มันชัดเจนลงไป ฝึกสติอย่างเดียวเท่านั้น

ฉะนั้น อันนี้ขอฝากท่านผู้สนใจในการปฏิบัติทั้งหลาย ได้พยายามสนใจ
การเดินก็เป็นธรรม ยืนก็เป็นธรรม นั่งก็เป็นธรรม นอนก็เป็นธรรม
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ก็เป็นธรรม
เพราะเป็นอารมณ์ที่สำเร็จมาโดยความตั้งใจของจิต

เดินได้จิตสั่ง นั่งได้จิตสั่ง นอนได้จิตสั่ง
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นกับใจ

ทีนี้ในกายของเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เข้ามาทางตาหู จมูก ลิ้น กาย และใจ
การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด นี่จึงเป็นเรื่องของกายกับใจ
เมื่อเป็นเรื่องของกายกับใจ สิ่งนี้ก็เป็นสภาวธรรม
สภาวธรรมนี่ เมื่อเรากำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา
รู้ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เป็นธรรมที่ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียงเพ่งอยู่
เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
พราหมณ์นั้นย่อมเข้าใจในธรรมตามความเป็นจริง ย่อมรู้จริงแจ้งประจักษ์ในธรรมนั้น
คือรู้อย่างไร รู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อมีสติปัญญาแล้ว มันจะเกิดรู้ขึ้นมาเอง

นอกจากนั้น ในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
มันเกิดขัดข้องขึ้นมา มันเกิดทุกข์ใจขึ้นมา
เมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ ก็จะรู้ทุกขอริยสัจทันที เพราะมันสั่งที่ขัดใจเรา เราเกิดทุกข์ใจ
อย่างเขาด่ามา เราไม่ชอบใจ เกิดทุกข์ใจขึ้นมาเพราะถูกด่า อันนั้นมันก็เป็นทุกขอริยสัจ
ทำอะไร คิดอะไรไม่สมหวัง ผิดพลาดอะไรต่างๆ มันเกิดทุกข์ใจ นั่นคือทุกขอริยสัจ
ส่วนความเจ็บปวด ความเจ็บป่วยนี่ เป็นทุกขลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่ถ้าใจไปทุกข์เพราะสาเหตุที่ความเจ็บป่วยนั้น ก็กลายเป็นทุกขอริยสัจ
ฉะนั้น เมื่อเรามีอารมณ์จิตรู้อยู่ แล้วก็มีสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ในเรื่องปัจจุบัน
เราสามารถที่จะรู้ธรรม เห็นธรรมขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย
จงพยายามค้นหาวิธีทำสมาธิให้สัมพันธ์กับเรื่องชีวิตประจำวัน
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ให้ฝึกสติรู้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดกาล เมื่อเราฝึกคล่องตัว ชำนิชำนาญแล้ว
แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจ พอขยับปั๊บ สติจะตามรู้ของมันอย่างชัดเจน
เมื่อสติตามรู้อยู่อย่างนั้น เวลาเราไปนอนหรือบางทีสมาธิมันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา
เพราะเราฝึกอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็เกิดขึ้นตลอดเวลา
มันเกิดขึ้นทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อันนี้ ถ้าทำได้เป็นวิธีการที่ดีวิเศษที่สุด
ทีนี้ ความรู้ที่จะเกิดขึ้น ไม่ต้องไปกังวลว่าจะเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเมืองนิพพาน
ขอให้เห็นหัวใจตัวเองก่อน คนภาวนาไม่เห็นหัวใจ มันถึงสวรรค์นิพพานไม่ได้หรอก
ต้องดูใจของตัวเองให้รู้ก่อน ว่าใจเราดำ ใจเราขาว
ใจเรามีกิเลส โลภ โกรธ หลง ใจมีราคะ โทสะ โมหะ ต้องดูกันที่ตรงนี้ก่อน

ที่เรามากำหนดดูการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ
เป็นการฝึกสติปัญญาให้สามารถรู้ความจริงของตัวเอง
เมื่อรู้อยู่ที่กายก็รู้ว่ากายมีสุขหรือมีทุกข์ รู้อยู่ที่ใจก็รู้ว่าใจมีสุขหรือมีทุกข์
มันก็รู้ความจริงขึ้นมาทีละอย่างสองอย่าง

ได้บรรยายธรรมะมาก็ถึงเวลา ๔ โมงพอดี
ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลาและเป็นการจบตามกำหนดการที่ท่านได้ตั้งเอาไว้
ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธ พระ ธรรม พระสงฆ์
จงช่วยดลบันดาลให้จิตใจของท่านทั้งหลายมีความซาบซึ้ง
ในการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา
และมีสติปัญญารู้ธรรม เห็นธรรม ตามความเป็นจริง
ขจัดกิเลส โลภ โกรธ หลง ให้หายขาดสิ้นไปจากจิตสันดาน
บรรลุพระนิพพานโดยทั่วถึงกันทุกคนเทอญ.



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ ฐานิยปูชา ๒๕๔๖
รวมเกร็ดธรรมคำสอนของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย หน้า ๑-๑๘


:b49: ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

:b49: รวมคำสอน “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40915

:b49: ประมวลภาพ “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย” วัดป่าสาลวัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=28489


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร