วันเวลาปัจจุบัน 06 ธ.ค. 2024, 20:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มี.ค. 2016, 12:49 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2424

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในหลวง
ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์สมเด็จพระบรมฯ


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง)
ในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน


*****

เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี แล้วเข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร จนพระชนมายุครบอุปสมบท และทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี ในปี ๒๔๗๖ จากนั้นทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในพระราชทินนามที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ และยังคงฉายา “สุวฑฺฒโน” (มีความหมายว่า ผู้เจริญดี) ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ประทานให้เมื่อครั้งเป็นสามเณร

ทั้งนี้ ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภณคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมวราภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ในราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมณศักดิ์ของเจ้าพระคุณฯ ก็คือ เมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระโศภณคณาภรณ์ (มีความหมายว่า ผู้เป็นอาภรณ์หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม) ซึ่งราชทินนามนี้ไม่เคยมีการก่อนในประวัติศาสตร์ ถือเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่ท่านโดยเฉพาะ

ถัดมาในปี ๒๔๙๕ และ ๒๔๙๘ เจ้าพระคุณฯ ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชและพระราชาคณะชั้นเทพตามลำดับ โดยยังคงราชทินนาม “พระโศภณคณาภรณ์” อยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้เมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ในราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ (มีความหมายว่า ผู้งามในพระศาสนาหรือผู้ยังพระศาสนาให้งาม) ซึ่งราชทินนามนี้เป็นราชทินนามพิเศษ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริผูกขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ พระมหาสา ปุสฺสเทโว ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดฯ ให้ตั้งขึ้นใหม่เพื่อพระราชทานสถาปนา “พระญาณสังวรเถร (สุก)” วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นสมเด็จพระราชาคณะครั้งแรกเมื่อปี ๒๓๕๙ ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร จึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่จะทรงโปรดฯ พระราชทานสถาปนาแก่พระเถราจารย์ผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น ซึ่งภายหลังสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี ๒๓๖๓ และก็ไม่เคยมีการพระราชทานสถาปนาตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร ให้แก่พระเถราจารย์รูปใดอีกเลยกระทั่งปี ๒๕๑๕ นับเป็นเวลาถึง ๑๕๒ ปี

นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว เจ้าพระคุณฯ ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษอันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในพระราชทินนามที่ พระโศภณคณาภรณ์ ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ถึง วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ พร้อมทั้งได้ถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช

อีกเกือบ ๒๐ ปีต่อมา เจ้าพระคุณฯ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงมอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้ทรงมอบหมายให้สนองพระเดชพระคุณ จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า ‘หัวใหม่’ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า ‘บวชด้วยศรัทธา’ เพราะทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด”

ส่วนที่ได้รับเลือกให้ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันนั้น น่าจะมาจากเหตุผลเรื่องความรู้ความสามารถและอาวุโสที่ไม่สูงเกินไป ศิษย์ของเจ้าพระคุณฯ คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ คงเห็นแววบางอย่างของเจ้าพระคุณฯ และคงพอพระทัยในเรื่องของความรู้ความสามารถและความประพฤติ เพราะตามที่เขาเล่าให้ฟังก็คือเวลาที่มีอะไร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ มักจะเรียกเจ้าพระคุณฯ ไปใช้ไปทำ ตั้งแต่สมัยยังเป็นพระเปรียญ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ มักทรงเรียกเจ้าพระคุณฯ ว่า “อาจารย์เจริญ” ไม่ได้เรียกว่า “คุณเจริญ” หรือ “มหาเจริญ”

ขณะเดียวกันเมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในพระราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ได้ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัย ในพระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในระหว่างวันจันทร์ที่ ๖ ถึง วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ อีกด้วย


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
ในพระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร


*****

นำเนื้อหาบางส่วนมาจากหนังสือ
- ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช
- พระผู้สำรวมพร้อม
:b8: :b8: :b8:

:b51: “สองธรรมราชา” ในหลวง กับ สมเด็จพระสังฆราช
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=45825

:b51: “ญาณสังวร” มีที่มาและความหมายอย่างไร ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=45045


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร