วันเวลาปัจจุบัน 06 ธ.ค. 2024, 21:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2021, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2774


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: ที่มา : หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2021, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2774


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

มุตโตทัย
พระธรรมเทศนา
ของ
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ


ส่วนที่ ๑
บันทึกโดย พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
ณ วัดป่าบ้านนามน
กิ่ง อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร พ.ศ. ๒๔๘๖


:b44: :b44:

๑. การปฏิบัติเป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคตเมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจกำจัดเหล่า กะปอมก่า คือ อุปกิเลส แล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย

๒. ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า

ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัดพระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พุทฺโธ ผู้รู้ก่อนแล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สตฺถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้มีอุปนิสัยบารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต ชื่อเสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกฝนทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรม สั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษ ปรากฏว่าปาปโก สทฺโท โหติ คือเป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในก่อนทั้งหลาย

๓. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน

เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า คือ ธาตุน้ำ โม คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกสมุภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ เป็นธาตุของ มารดา โม เป็นธาตุของ บิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุ นโม นั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และ เปสี คือ ชิ้นเนื้อ แล้วขยายออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือแขน ๒ ขา ๒ หัว ๑ ส่วนธาตุ คือลม คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับ หายสาปสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย น มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาส เป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิมทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตนไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

๔. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ

นโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะจากตัว น มาใส่ ตัว ม เอาสระ โอ จากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้ มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ในพระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจาก ใจ คือ มหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก มโน แจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือ พ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะจนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด

๕. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้น เท่านี้ ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้เป็น “อนันตนัย” เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรอบรู้ได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่า เหตุปจฺจโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่ มโน นั่นเอง มโน เป็นตัวมหาเหตุ เป็นตัวเดิมเป็นสิ่งสำคัญ นอกนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารมฺมณ จนถึงอวิคฺคต จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้น มโน ซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๔ ก็ดี ฐีติ ภูตํ ซึ่งจะกล่าวในข้อ ๖ ก็ดี และมหาเหตุซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติ พระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วย ทศพลญาณ ก็ดี รอบรู้ สรรพเญยฺยธรรม ทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย แม้สาวกทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ ด้วยเหตุนี้แลพระอัสสชิเถระผู้เป็นที่ ๕ ของพระปัญจวัคคีย์จึงแสดงธรรมแก่อุปติสฺส (พระสารีบุตร) ว่า เย ธฺมมา เหตุปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ...เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ) ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า ? เพราะอะไร ทุกสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุถึงโลกุตตรธรรม ก็คือมหาเหตุ ฉะนั้น มหาปัฏฐาน ท่านจึงว่าเป็น อนันตนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้วย่อมสามารถรู้อะไรๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับจะประมาณได้ด้วยประการฉะนี้

๖. มูลการของสังสารวัฏฏ์

ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ

คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไร ? ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดา อวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติ คือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า “มูลตันไตร” (หมายถึง ไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชา รู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้

๗. อรรคฐานเป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน

อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺตวิสุทฺธิยา ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือ บิดามารดา กล่าวคือตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโนสมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายใน คือ มรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ ช้าง ม้า โค กระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดกว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ เมื่อได้ทำกองการกุศล คือให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกทำมากแลขยันทำจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดี สามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล

๘. สติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน

พระบรมศาสดาจารย์เจ้าทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน ? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่าพระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ

อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหาชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้น สามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด

อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่ากายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณาที่กายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำใจให้สงบได้ ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆ อาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่า ปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน

การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุทฺทกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหัตต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก่อน

อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาส (หมายถึง การพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพระอรหัตตผล

เหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกข์ทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร ? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนา เป็นต้น จึงชื่อว่า “ชัยภูมิ” เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

๙. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่ง สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครกคือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาบ เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตรเรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไร

เปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายจึงพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วย โยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจน ก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ อันชาวนาเขาทำนาเขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดินดำลงไปในดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ดินอีกเช่นเคย เขาไม่ได้ทำในอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินอย่างเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเอง และจะห้ามว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางเอง ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น จงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัยหรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอจึงจะชื่อว่า ทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว

พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้ พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฎิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือ จิต ย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพึ่บลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกัน คือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่า ป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องลบราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกันพร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน ในที่นี้ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณ ทัสสนวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง

ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุดอันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญเห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยงอาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลาย เขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อน เราเกิดแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพ ทุกชาติ นับเป็นเอนกชาติเหลือประมาณมาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว โดยไม่ต้องสงสัยเลย จึงรู้ขึ้นว่า ปุพฺเพสุ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมดาเหล่านี้ หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นในความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรง ปฏิญาณ พระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ ได้ความว่าธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้ามาพิจารณา โดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คืออาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง คือมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาโดยอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้โดย ปัจจักขสิทธิ ว่า ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต จึงปรากฏขึ้นว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน ๒ ประการคือรู้ว่า สัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่ มีอาการเป็นผู้หลุดพ้น ได้ความว่า ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป ให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดย ปัจจักขสิทธิ พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ ปรากฏขึ้นมาพร้อมกัน จึงชื่อว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา ทำในที่นี้จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์พร้อมกับการรวมใหญ่และญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้ ในที่นี้ไม่ใช่สมมติไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ต่างๆ มีต้นข้าวเป็นต้น เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลย เป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมุตติธรรม ก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกหรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

๑๐. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส

ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ

ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เลื่อมปภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า

“ไม้ชะงกหกพันง่า (กิ่ง) กะปอมก่ากิ้งก่าฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ”

โดยอธิบายว่า คำว่าไม้ชะงก ๖,๐๐๐ ง่านั้นเมื่อตัดศูนย์ ๓ ศูนย์ออกเสียเหลือแต่ ๖ คงได้ความว่า ทวารทั้ง ๖ เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอมไม่ใช่ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง ๖ นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะมีทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้ ธรรมชาติของจิต เป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคืออุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบังฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคายตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ ๙ นั้นเถิด เมื่อทำให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้นหรือว่าของปลอมย่อมเข้าไปถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น

๑๑. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย

นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมานม้า เขาทูลว่าม้ามี ๔ ชนิดคือ ๑. ทรมานง่าย ๒. ทรมานอย่างกลาง ๓. ทรมานยากแท้ ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่าเราก็เหมือนกัน

๑. ผู้ทรมานง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่าย ให้กินอาหารเพียงพอ เพื่อบำรุงร่างกาย

๒. ผู้ทรมานอย่างกลาง คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลง ก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก

๓. ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน

๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้ เป็น ปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือไม่ทรงรับสั่งสอนอุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น

๑๒. มูลติกสูตร

ติก แปลว่า ๓ มูลแปลว่าเค้ามูลรากเหง้า รวมความว่าสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียก ๓ อกุศลมูล ตัณหา ก็มี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โอฆะและอาสวะก็มีอย่างละ ๓ คือ กามะ ภาวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วย ๓ เช่นนี้ ติปริวตฺตํ ก็ต้องเวียนไปเป็น ๓ ๓ ก็ต้องเป็นโลก ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ ๓ นั้นเป็นเค้ามูลโลก ๓

เครื่องแก้ก็มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตนตามศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นเครื่องแก้ น ติปริวตฺตํ ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น ๓ ๓ ก็ไม่เป็นโลก ๓ ชื่อว่าพ้นจากโลก ๓ แล

๑๓. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้

อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต

บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็น พหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึงวิสุทธิเทวาคือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และสุกฺกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้

๑๔. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก-สุดสมมติบัญญัติ

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพพุตา

สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็น กิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยา เพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่า สัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พัก จึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา

อุปมา ดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ ถึง ๙ ทิ้งเสีย เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละ คือ ปัญญารอบรู้ เพราะทำลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบ สมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือ ทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแหละ จึงจะเข้าใจได้

ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือ ทำการพิจารณาบำเพ็ญเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลาย ทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลาย มิได้เหาะขึ้นไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ที่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติ หมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรม อันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

๑๕. สัตตาวาส ๙

เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น ๑ รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌาณมี ๔ อรูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปฌาณมี ๔ รวมทั้งสิ้นเป็น ๙ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้มารู้เท่าสัตตาวาส ๙ กล่าวคือ พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ในที่ ๙ แห่งนี้ และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่า ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า ๑๐ แก้ว่า ทสหงฺ เคหิ สมนฺนาคโต พระขีณาสวเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ย่อมพ้นจากสัตตาวาส ๙ ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ นั่นเอง ๑ ถึง ๙ เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน ๑๐ ก็คือ เลข ๑ กับ ๐ (ศูนย์) เราจะเอา ๐ (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ ๐ (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพัง ก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน ๐ (ศูนย์) เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมาก เช่น เลข ๑ เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้า ก็กลายเป็น ๑๐ (สิบ) จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็เป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรม จนฉลาดรอบรู้สรรพเญยฺยธรรมแล้วย่อมกลับคืนสู่สภาพ ๐ (ศูนย์) คือ ว่างโปร่งพ้นจากการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ ๙ แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ ๐ (ศูนย์) หรืออกิริยา ดังกล่าวในข้อ ๑๔ นั่นเอง

๑๖. ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา

พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๓ กาลมีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ

ก. ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรก เป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักร เบื้องต้น ทรงยกส่วนสุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า เทว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกาและอัตตกิลมถา อธิบายว่า กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก อัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชัง ทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นตัวสมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้งสอง นี้ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้นเมื่อจิตนึกคิดให้ฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้นคือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตกิลมถา ความดีใจก็เป็นราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่ ชื่อว่า ผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฏฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่นๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ได้ญาณ ๒ ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ กล่าวคือ อาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริงทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือ...ส่วนสุดทั้งสองนั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั้นเล่า ก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสวักขยญาณพ้นจากความผิดตามพระองค์ไป ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรกๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหน เกิดที่เรา โลกธรรมมี ๘ มรรคเครื่องแก้ก็มี ๘ มรรค ๘ เครื่องแก้โลกธรรม ๘ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา แก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็นจาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้วก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหว เพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน ๒ ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล

ข. มัชฌิมโพธิกาล ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในชุมชนพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ พึงเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่ง การที่จะทำจิตให้ยิ่งได้ต้องเป็นผู้สงบระงับ อิจฺฉา โลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรน โลภหลงอยู่ แล้วจักเป็นผู้สงบระงับได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติพระวินัยเป็นเบื้องต้น และเจริญกรรมฐานตั้งต้นแต่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย โดยอาการแห่งบริกรรมสวนะคือ พิจารณาโดยอาการคาดคะเน ว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้น ด้วยการมีสติสัมปชัญญะไปเสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ ใจไม่ห่างจากกาย ทำให้รวมง่าย เมื่อทำให้มากในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคหนิมิตให้ชำนาญในที่นั้นจนเป็นปฏิภาค ชำนาญในปฏิภาคโดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฎ์ ทำจิตเข้าถึงฐีติภูตํ ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาชื่อว่าปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกฺขํ จึงจะข้ามพ้น จึงพ้นจากโลกชื่อว่า โลกุตตรธรรม เขมํ จึงเกษมจากโยคะ (เครื่องร้อย) ฉะนั้น เนื้อความในมัชฌิมเทศนาจึงสำคัญเพราะเล็งถึงวิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้แล

ค. ปัจฉิมโพธิกาล ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมนุมพระอริยสาวก ณ พระราชอุทยานสาลวันของมัลลกษัตริย์กรุงกุสินารา ในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า หนฺททานิ อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ปฏิเวทยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เราบอกท่านทั้งหลายว่าจงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ ก็ปิดพระโอษฐ์ มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีกเลย จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนา อธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ไหน อะไรเป็นสังขาร สังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิตพาให้เกิดขึ้นซึ่งสมมติทั้งหลาย สังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติสิ่งทั้งหลายในโลกความจริง ในโลกทั้งหลาย หรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรเลย ตลอดจนตนตัวมนุษย์ก็เป็นธาตุของโลก เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้เลย เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้จนหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆ เราเสียสิ้น จึงมีราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะเจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ จึงทรงสอนให้พิจารณาสังขารว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ให้เป็นปรีชาญาณชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้น จนทำจิตให้เข้าภวังค์ เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า “นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์” เกิดขึ้นในจิตจริงๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้ สังขารก็จะมาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ได้ในคาถาว่า อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไม่ได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สนฺโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้

ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุด พระองค์จึงได้ปิดพระโอษฐ์แต่เพียงนี้

พระธรรมเทศนาใน ๓ กาลนี้ ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุกๆ กาล ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรมมัชฌิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง ๓ กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้

๑๗. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ

อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตวา อุปฺปสมฺปชฺช วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใดย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ...ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่า ประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า เจโตวิมุตติ เป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิมาก่อน ส่วนปัญญาวิมุตติ เป็นของพระอรหันต์สุกขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ นั้นย่อมขัดแย้งต่อมรรค มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรมจำต้องบำเพ็ญมรรค ๘ บริบูรณ์ มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสวักขยญาณจำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน ฉะนั้นจึงว่า พระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ ด้วยประการฉะนี้แล

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์)
ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร


กุฏิหลังนี้เป็นที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ใช้จำพรรษา
และเป็นศาลาที่แสดงธรรมเทศนาให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร
ซึ่งเป็นพรรษาที่ท่านแสดงธรรมอันวิจิตรลึกซึ้ง
โดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร ได้บันทึกเป็นธรรมเทศนา
ชื่อว่า “มุตโตทัย” ที่โด่งดังอยู่ในเวลานี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖
จึงเป็นอนุสรณ์ที่ควรแก่การกราบไหว้บูชาเป็นยิ่งนัก


รูปภาพ
กุฏิหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์)


กุฏิหลังนี้หลวงพ่อวิริยังค์อยู่เป็นพระอุปัฏฐาก
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
และได้รับรสพระธรรมที่ลึกซึ้งที่สุดในชีวิต
จนถึงบันทึกเป็น “หนังสือมุตโตทัย” ที่นี่


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2021, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2774


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ส่วนที่ ๒
บันทึกโดย พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
และพระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส

ณ วัดป่าบ้านหนองผือ
อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒


:b44: :b44:
๑. เรื่องมูลกรรมฐาน

กุลบุตรผู้บรรพชาอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้แล้ว ใครเล่าไม่เคยเรียนกรรมฐานมา บอกได้ทีเดียวว่าไม่เคยมี พระอุปัชฌาย์ทุกองค์เมื่อบวชกุลบุตรจะไม่สอนกรรมฐานก่อนแล้วจึงให้ผ้าภายหลังไม่มี ถ้าอุปัชฌาย์องค์ใดไม่สอนกรรมฐานก่อน อุปัชฌาย์องค์นั้นดำรงความเป็นอุปัชฌายะต่อไปไม่ได้ ฉะนั้นกุลบุตรผู้บวชมาแล้ว จึงได้ชื่อว่า เรียนกรรมฐานมาแล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าไม่ได้เรียน

พระอุปัชฌายะสอนกรรมฐาน ๕ คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ในกรรมฐานทั้ง ๕ นี้ มีหนังเป็นที่สุด ทำไมจึงสอนถึงหนังเท่านั้น ? เพราะเหตุว่า หนัง มันเป็นอาการใหญ่ คนเราทุกคนต้องมีหนังหุ้มห่อ ถ้าไม่มีหนัง ผม ขน เล็บ ฟัน ก็อยู่ไม่ได้ ต้องหลุดหล่นทำลายไป เนื้อ กระดูก เอ็น และอาการทั้งหมดในร่างกายนี้ ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องแตกต้องทำลายไป คนเราจะหลงรูปก็มาหลง หนัง หมายความสวยๆ งามๆ เกิดความรักใคร่แล้วก็ปรารถนาเพราะมาหมายอยู่ที่หนัง เมื่อเห็นแล้วก็สำคัญเอาผิวพรรณของมัน คือผิว ดำ-ขาว-แดง-ดำแดง-ขาวแดง ผิวอะไรต่ออะไร ก็เพราะหมายสีหนัง ถ้าไม่มีหนังแล้ว ใครเล่าจะหมายว่าสวยงาม ? ใครเล่าจะรักจะชอบจะปรารถนา ? มีแต่จะเกลียดหน่ายไม่ปรารถนา ถ้าหนังไม่หุ้มห่ออยู่แล้ว เนื้อเอ็นและอาการอื่นๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ ทั้งจะประกอบกิจการอะไรก็ไม่ได้ จึงว่าหนังเป็นของสำคัญนัก จะเป็นอยู่ได้กินก็เพราะหนัง จะเกิดความหลงสวยหลงงามก็เพราะมีหนัง ฉะนั้นพระอุปัชฌายะท่านจึงสอนถึงแต่หนังเป็นที่สุด ถ้าเรามาตั้งใจพิจารณาจนให้เห็นความเปื่อยเน่าเกิดอสุภนิมิต ปรากฏแน่แก่ใจแล้ว ย่อมจะเห็นอนิจจสัจจธรรม ทุกขสัจจธรรม อนัตตาสัจจธรรม จึงจะแก้ความหลงสวยหลงงามอันมั่นหมายอยู่ที่หนังย่อมไม่สำคัญหมาย และไม่ชอบใจ ไม่ปรารถนาเอาเพราะเห็นตามความเป็นจริง เมื่อใดเชื่อคำสอนของพระอุปัชฌายะไม่ประมาทแล้ว จึงจะได้เห็นสัจจธรรม ถ้าไม่เชื่อคำสอนพระอุปัชฌายะ ย่อมแก้ความหลงของตนไม่ได้ ย่อมตกอยู่ในบ่วงแห่งรัชชนิอารมณ์ ตกอยู่ในวัฏจักร เพราะฉะนั้น คำสอนที่พระอุปัชฌายะได้สอนแล้วแต่ก่อนบวชนั้น เป็นคำสอนที่จริงที่ดีแล้วเราไม่ต้องไปหาทางอื่นอีก ถ้ายังสงสัย ยังหาไปทางอื่นอีกชื่อว่ายังหลงงมงาย ถ้าไม่หลงจะไปหาทำไม คนไม่หลงก็ไม่มีการหา คนที่หลงจึงมีการหา หาเท่าไรยิ่งหลงไปไกลเท่านั้น ใครเป็นผู้ไม่หา มาพิจารณาอยู่ในของที่มีอยู่นี้ ก็จะเห็นแจ้งซึ่งภูตธรรม ฐีติธรรม อันเกษมจากโยคาสวะทั้งหลาย

ความในเรื่องนี้ ไม่ใช่มติของพระอุปัชฌายะทั้งหลายคิดได้แล้วสอนกุลบุตรตามมติของใครของมัน เนื่องด้วยพุทธพจน์แห่งพระพุทธองค์เจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้ให้อุปัชฌายะเป็นผู้สอนกุลบุตรผู้บวชใหม่ ให้กรรมฐานประจำตน ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่สมกับการออกบวชที่ได้สละบ้านเรือนครอบครัวออกมาบำเพ็ญเนกขัมมธรรม หวังโมกขธรรม การบวชก็จะเท่ากับการทำเล่น พระองค์ได้ทรงบัญญัติมาแล้ว พระอุปัชฌายะทั้งหลายจึงดำรงประเพณีนี้สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ พระอุปัชฌายะสอนไม่ผิด สอนจริงแท้ๆ เป็นแต่กุลบุตรผู้รับเอาคำสอนไม่ตั้งใจ มัวประมาทลุ่มหลงเอง ฉะนั้นความในเรื่องนี้ วิญญชนจึงได้รับรองทีเดียวว่า เป็นวิสุทธิมรรคเที่ยงแท้

๒. เรื่องศีล

สีลํ สีลา วิย ศีล คือความปกติ อุปมาได้เท่ากับหินซึ่งเป็นของหนักและเป็นแก่นของดิน แม้จะมีวาตธาตุมาเป่าสักเท่าใด ก็ไม่มีการสะเทือนหวั่นไหวเลย แต่ว่าเราจะสำคัญถือแต่เพียงคำว่า ศีล เท่านั้น ก็จะทำให้เรางมงายอีก ต้องให้รู้จักเสียว่าศีลนั้นอยู่ที่ไหน ? มีตัวตนเป็นอย่างไร ? อะไรเล่าเป็นตัวศีล ? ใครเป็นผู้รักษา ? ถ้ารู้จักว่าใครเป็นผู้รักษาแล้ว ก็จะรู้จักว่าผู้นั้นเป็นตัวศีล ถ้าไม่เข้าใจเรื่องศีล ก็จะงมงายไปถือศีลเพียงนอกๆ เดี๋ยวก็ไปหาเอาที่นั้นที่นี้จึงจะมีศีล ไปขอเอาที่นั่นที่นี่จึงมี เมื่อยังเที่ยวหาเที่ยวขออยู่ไม่ใช่หลงศีลดอกหรือ ? ไม่ใช่สีลพัตตปรามาสถือนอกๆ ลูบๆ คลำๆ อยู่หรือ ?

อิทํ สจฺจาภินิเวสทิฏฐิ จะเห็นความงมงายของตนว่าเป็นของจริงเที่ยงแท้ ผู้ไม่หลงย่อมไม่ไปเที่ยวขอเที่ยวหา เพราะเข้าใจแล้วว่า ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ จะรักษาโทษทั้งหลายก็ตนเป็นผู้รักษา ดังที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺข เว สีลํ วทามิ” เจตนา เป็นตัวศีล เจตนา คืออะไร ? เจตนานี้ต้องแปลงอีกจึงจะได้ความ ต้องเอาสระ เอ มาเป็นอิ เอา ต สะกดเข้าไป เรียกว่า จิตฺต คือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มี ก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะสำเร็จการทำอะไรได้ ? ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตใจไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ จึงกล่าวได้ว่าศีลมีตัวเดียว นอกนั้นเป็นแต่เรื่องโทษที่ควรละเว้น โทษ ๕ โทษ ๘ โทษ ๑๐ โทษ ๒๒๗ รักษาไม่ให้มีโทษต่างๆ ก็สำเร็จเป็นศีลตัวเดียว รักษาผู้เดียวนั้นได้แล้วมันก็ไม่มีโทษเท่านั้นเอง ก็จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงมาหาหลงขอ คนที่หาขอต้องเป็นคนทุกข์ ไม่มีอะไรจึงเที่ยวหาขอ เดี๋ยวก็กล่าวยาจามิๆ ขอแล้วขอเล่าขอเท่าไรยิ่งไม่มียิ่งอดอยากยากเข็ญ เราได้มาแล้วมีอยู่แล้วซึ่งกายกับจิต รูปกายก็เอามาแล้วจากบิดามารดาของเรา จิตก็มีอยู่แล้ว ชื่อว่าของเรามีพร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็ทำเสียไม่ต้องกล่าวว่าศีลมีอยู่ที่โน้นที่นี้ กาลนั้นจึงจะมีกาลนี้จึงจะมี ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว อกาลิโก รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลก็ไม่มีกาล

เรื่องนี้ต้องมีหลักฐานพร้อมอีก เมื่อครั้งพุทธกาลนั้น พวกปัญจวัคคีย์ก็ดี พระยสและบิดามารดาภรรยาเก่าของท่านก็ดี ภัททวัคคีย์ชฎิลทั้งบริวารก็ดี พระเจ้าพิมพิสาร และราชบริพาร ๑๒ นหุตก็ดี ฯลฯ ก่อนจะฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ปรากฏว่าได้สมาทานศีลเสียก่อนจึงฟังเทศนา พระองค์เทศนาไปทีเดียว ทำไมท่านเหล่านั้นจึงได้สำเร็จมรรคผล ศีล สมาธิ ปัญญา ของท่านเหล่านั้นมาแต่ไหน ไม่เห็นพระองค์ตรัสบอกให้ท่านเหล่านั้นขอเอาศีล สมาธิ ปัญญา จากพระองค์ เมื่อได้ลิ้มรสธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมมีขึ้นในท่านเหล่านั้นเอง โดยไม่มีการขอและไม่มีการเอาให้ มัคคสามัคคี ไม่มีใครหยิบยกให้เข้ากัน จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ฉะนั้นเราไม่หลงศีล จึงจะเป็นวิญญูชนอันแท้จริง

๓. เรื่องปาฏิโมกขสังวรศีล

พระวินัย ๕ พระคัมภีร์ สงเคราะห์ลงมาในปาฏิโมกขุทเทส เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระวินัยย่อมเข้าไม่ได้ ผู้ปฏิบัติถูกตามพระวินัยแล้ว โมกฺขํ ชื่อว่าเป็นทางข้ามพ้นวัฏฏะได้ ปาฏิโมกข์นี้ก็ยังสงเคราะห์เข้าไปหาวิสุทธิมรรคอีก เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล ในสีลนิเทศ

สีลนิเทศนั้น กล่าวถึงเรื่องศีลทั้งหลาย คือปาฏิโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑ ปัจจยสันนิสสิตศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑ ส่วนอีก ๒ คัมภีร์นั้นคือ สมาธินิเทศ และปัญญานิเทศ วิสุทธิมรรคทั้ง ๓ พระคัมภีร์นี้สงเคราะห์เข้าในมรรคทั้ง ๘ มรรค ๘ สงเคราะห์ ลงมาในสิกขาทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อจะกล่าวถึงเรื่องมรรคแล้ว ความประโยคพยายามปฏิบัติดัดตนอยู่ ชื่อว่าเดินมรรค สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เรียกว่ามรรค อริยสัจจ์ ๔ ก็ชื่อว่ามรรค เพราะเป็นกิริยาที่ยังทำอยู่ ยังมีการดำเนินการอยู่ ดังภาษิตว่า “สัจฺจานํ จตุโรปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา” สำหรับเท้าต้องมีการเดิน คนเราต้องไปด้วยเท้าทั้งนั้น ฉะนั้นสัจจะทั้ง ๔ ก็ยังเป็นกิริยาอยู่ เป็นจรณะเครื่องพาไปถึงวิสุทธิธรรม วิสุทธิธรรมนั้น จะอยู่ที่ไหน ? มรรคสัจจะอยู่ที่ไหน ? วิสุทธิธรรมก็ต้องอยู่ที่นั่น! มรรคสัจจะไม่มีอยู่ที่อื่น มโนเป็นมหาฐาน มหาเหตุ วิสุทธิธรรมจึงต้องอยู่ที่ใจของเรานี่เอง ผู้เจริญมรรคต้องทำอยู่ที่นี้ ไม่ต้องไปหาที่อื่น การหาที่อื่นอยู่ชื่อว่ายังหลง ทำไมจึงหลงไปหาที่อื่นเล่า ? ผู้ไม่หลงก็ไม่ต้องหาทางอื่น ไม่ต้องหากับบุคคลอื่น ศีลก็มีในตน สมาธิก็มีในตน ปัญญาก็มีอยู่กับตน ดังบาลีว่า เจตนาหํ ภิกขฺเว สีลํ วทามิ เป็นต้น กายกับจิตเท่านี้ประพฤติปฏิบัติเป็นศีลได้ ถ้าไม่มีกายกับจิต จะเอาอะไรมาพูดออกว่าศีลได้ คำที่ว่าเจตนานั้นเราต้องเปลี่ยนเอาสระเอขึ้นบนเป็นสระอิ เอาตัว ต สะกดเข้าไป ก็พูดได้ว่า จิตฺตํ เป็นจิต จิตเป็นผู้คิดงดเว้นเป็นผู้ระวังรักษาเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมรรคและผลให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกขีณาสวเจ้าก็ดี จะชำระตนให้หมดจดจากสังกิเลสทั้งหลายได้ ท่านก็มีกายกับจิตทั้งนั้น เมื่อท่านจะทำมรรคและผลให้เกิดมีได้ก็ทำอยู่ที่นี่ คือที่กายกับจิต ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ามรรคมีอยู่ที่ตนของตนนี้เอง เมื่อเราจะเจริญซึ่งสมถหรือวิปัสสนา ก็ไม่ต้องหนีจากกายกับจิต ไม่ต้องส่งนอกให้พิจารณาอยู่ในตนของตน เป็นโอปนยิโก แม้จะเป็นของมีอยู่ภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ก็ไม่ต้องส่งออกเป็นนอกไป ต้องกำหนดเข้ามาเทียบเคียงตนของตน พิจารณาอยู่ที่นี้ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เมื่อรู้ก็ต้องรู้เฉพาะตน รู้อยู่ในตน ไม่ได้รู้มาแต่นอก เกิดขึ้นกับตนมีขึ้นกับตน ไม่ได้หามาจากที่อื่นไม่มีใครเอาให้ ไม่ได้ขอมาจากผู้อื่น จึงได้ชื่อว่า ญาณ ทสฺสนํ สุวิสุทธํ อโหสิ ฯลฯ เป็นความรู้เห็นที่บริสุทธิ์แท้ ฯลฯ

๔. เรื่องธรรมคติวิมุตติ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมิใช่ว่าพระองค์จะมีปัญญาพิจารณาเอาวิมุตติธรรมให้ได้วันหนึ่งวันเดียว พระองค์ทรงพิจารณามาแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่หลายปี นับแต่ครั้งที่พระองค์ได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ พวกพระญาติพระวงศ์ได้แต่งตั้งพระองค์เป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าปกครองดูแลบ่าวไพร่ประชาราษฎร์ เมื่อพระองค์ได้เป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่นอนใจ จำเป็นที่พระองค์จะต้องคิดใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในการปกครองป้องกันราษฎรทั้งขอบเขต และการรักษาครอบครัวตลอดถึงพระองค์ ก็จะต้องทรงคิดรอบคอบเสมอถ้าไม่ทรงคิดไม่มีพระปัญญา ไฉนจะปกครองบ้านเมืองไพร่ฟ้าให้ผาสุกสบายได้ แม้พระองค์เองก็จะดำรงตำแหน่งหน้าที่ของพระองค์ไว้ไม่ได้ เมื่อพระองค์ทรงคิดในเรื่องของผู้อื่นและเรื่องของพระองค์เองเสมอแล้ว ปัญญาวิวัฎฏ์ของพระองค์จึงเกิดขึ้นว่า เราปกครองบังคับบัญชาได้ก็แต่การบ้านเมืองเท่านี้ ส่วนการ เกิด แก่ เจ็บ ตายเล่า เราบังคับบัญชาไม่ได้เสียแล้ว จะบังคับบัญชาไม่ให้สัตว์ทั้งหลายเกิดก็ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วจะบังคับไม่ให้แก่ชราก็ไม่ได้ จะบังคับไม่ให้ตายก็ไม่ได้ เราจะบังคับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของผู้อื่นก็ไม่ได้ แม้แต่ตัวของเราเองเล่าก็บังคับไม่ได้ ทรงพิจารณาเป็นอนุโลมและปฏิโลม กลับไปกลับมา พิจารณาเท่าไรก็ยิ่งเกิดความสลดสังเวช และท้อพระทัยในการจะอยู่เป็นผู้ปกครองราชสมบัติต่อไป การที่อยู่ในฆราวาสรักษาสมบัติเช่นนี้ เพื่อต้องการอะไร ? เป็นผู้มีอำนาจเท่านี้ มีสมบัติข้าวของเช่นนี้ จะบังคับหรือจะซื้อ หรือประกันซึ่งความเกิด แก่ เจ็บตายก็ไม่ได้ จึงทรงใคร่ครวญไปอีกว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะหาทางพ้นจากความ เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ได้ จึงได้ความอุปมาขึ้นว่า ถ้ามีร้อนแล้วก็ยังมีเย็นเป็นเครื่องแก้กันได้ มีมืดแล้วก็ยังมีสว่างแก้กัน ถ้ามีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว อย่างไรก็คงมีทาง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นแน่ จึงได้ทรงพยายามใคร่ครวญหาทางจะแก้เกิด แก่ เจ็บ ตายให้จนได้ แต่ว่าการจะแก้เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ เราอยู่ในฆราวาสเช่นนี้ คงจะทำไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบใจยิ่งนัก มีแต่การที่ออกหนีเสียจากการครองราชสมบัตินี้ออกไปผนวชจึงจะสามารถทำได้

ครั้นทรงคิดเช่นนี้แล้ว ต่อมาวันหนึ่ง พอถึงเวลากลางคืนพวกนางสนมทั้งหลายได้พากันมาบำรุงบำเรอพระองค์อยู่ด้วยการบำเรอทั้งหลาย ในเวลาที่นางสนมทั้งหลายยังบำเรออยู่นั้น พระองค์ทรงบรรทมหลับไปก่อน ครั้นใกล้เวลาพระองค์จะทรงตื่นจากบรรทมนั้น พวกนางสนมทั้งหลายก็พากันหลับเสียหมด แต่ไฟยังสว่างอยู่ เมื่อนางสนมที่บำเรอหลับหมดแล้วเผอิญพระองค์ทรงตื่นขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาที่พระองค์ทรงคิดไม่เลิกไม่แล้วนั้น ทำให้พระทัยของพระองค์พลิกขณะ เลยเกิดอุคคหนิมิตขึ้น ลืมพระเนตรแล้วทอดพระเนตรแลดูพวกนางสนมทั้งหลายที่นอนหลับอยู่นั้นเป็นซากอสุภะไปหมด เหมือนกับเป็นซากศพในป่าช้า ผีดิบ จึงให้เกิดความสลดสังเวชเหลือที่จะทนอยู่ได้ จึงตรัสกับพระองค์เองว่า เราอยู่ที่นี้จะว่าเป็นที่สนุกสนานอย่างไรได้ คนทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นซากศพในป่าช้าทั้งหมด เราจะอยู่ทำไม จำเราจะต้องออกผนวชในเดี๋ยวนี้ จึงทรงเครื่องฉลองพระองค์ถือพระขรรค์แล้วออกไปเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ผู้เป็นนายม้า ให้ไปเอาม้าพาพระองค์ออกจากเมืองไป เมื่อนายฉันนะนำม้ามาแล้ว พระองค์ก็ทรงม้ามีนายฉันนะอำมาตย์นำทางเสด็จหนีออกจากเมืองไปโดยไม่ต้องให้ใครรู้จัก ครั้งรุ่งแจ้งก็บรรลุถึงอโนมานที ทรงข้ามฝั่งแม่นทีแล้วก็ถ่ายเครื่องประดับและเครื่องทรงที่ฉลองพระองค์ออกเสีย จึงส่งเครื่องประดับให้นายฉันนะ ตรัสสั่งให้กลับไปเมืองพร้อมด้วยอัศวราชของพระองค์ ส่วนพระองค์ได้เอาพระขรรค์ตัดพระเมาฬีและพระมัสสุเสีย ทรงผนวชแต่พระองค์เดียว

เมื่อผนวชแล้วจึงเสาะแสวงหาศึกษาไปก่อนคือ ไปศึกษาอยู่ในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส ครั้นไม่สมประสงค์จึงทรงหลีกไปแต่พระองค์เดียว ไปอาศัยอยู่ราวป่าใกล้แม่น้ำเนรัญชรา แขวงอุรุเวลาเสนานิคม ได้มีปัญจวัคคีย์ไปอาศัยด้วย พระองค์ได้ทรงทำประโยคพยายามทำทุกกรกิริยาอย่างเข็มแข็ง จนถึงสลบตายก็ไม่สำเร็จ เมื่อพระองค์ได้สติแล้วจึงพิจารณาอีกว่า การที่เรากระทำความเพียรนี้จะมาทรมานแต่กายอย่างเดียวเท่านี้ไม่ควร เพราะจิตกับกายเป็นของอาศัยกัน ถ้ากายไม่มีจะเอาอะไรทำประโยคพยายาม และถ้าจิตไม่มี กายนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ต่อนั้นพระองค์จึงไปพยุงพเยาร่างกายพอให้มีกำลังแข็งแรงขึ้นพอควร จึงเผอิญปัญจวัคคีย์พร้อมกันหนีไป ครั้งปัญจวัคคีย์หนีแล้ว พระองค์ก็ได้ความวิเวกโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร จึงได้เร่งพิจารณาอย่างเต็มที่

เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ในตอนเช้ารับมธุปายาสของนางสุชาดาเสวยเสร็จแล้ว ก็พักผ่อนอยู่ตามราวป่านั้น ใกล้จะพลบค่ำแล้ว จึงเสด็จดำเนินมาพบโสตถิยพราหมณ์ โสตถิยพราหมณ์ได้ถวายหญ้าคา ๘ กำแก่พระองค์ พระองค์รับแล้วก็มาทำเป็นที่นั่ง ณ ภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ผินพระพักตร์ไปทางบูรพาทิศ ผินพระปฤษฎางค์เข้าหาต้นไม้นั้น เมื่อพระองค์ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงได้พยุงพระหฤทัยให้เข็มแข็ง ได้ทรงตั้งสัจจาธิษฐานมั่นในพระหฤทัยว่า ถ้าเราไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความต้องการแล้ว เราจะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้ แม้เลือดและเนื้อจะแตกทำลายไป ยังเหลืออยู่แต่พระตจะและพระอัฏฐิก็ตามที ต่อนั้นไปจึงเจริญสมถและวิปัสสนาปัญญา ทรงกำหนดพระอานาปานสติเป็นขั้นต้น ในตอนต้นนี้แหละพระองค์ได้ทรงชำระนิวรณธรรมเต็มที่ เจ้าเวทนาพร้อมทั้งความฟุ้งซ่านได้มาประสพแก่พระองค์อย่างสาหัส ถ้าจะพูดว่ามาร ก็ได้แก่พวกขันธมาร มัจจุมาร กิเลสมาร เข้ารังควาญพระองค์ แต่ว่าสัจจาธิษฐานของพระองค์ยังเที่ยงตรงมั่นคงอยู่ สติและปัญญายังพร้อมอยู่ จึงทำให้จำพวกนิวรณ์เหล่านั้นระงับไป ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ ได้เกิดแล้วแก่พระองค์จึงได้กล่าวว่า พระองค์ทรงชนะพระยามาราธิราช ในตอนนี้เป็นปฐมยาม เมื่อออกสมาธิตอนนี้ได้เกิดบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เมื่อพิจารณาไปก็ไม่เห็นที่สิ้นสุด จึงกลับจิตทวนกระแสเข้ามาพิจารณาผู้มันไปเกิดใคร่ครวญไปๆ มาๆ จิตก็เข้าภวังค์อีก เมื่ออกจากภวังค์แล้วจึงเกิดจุตูปปาตญาณขึ้นมาในยามที่ ๒ คือ มัชฌิมยาม ทรงพิจารณาไปตามความรู้ชนิดนี้ ก็ยังไม่มีความสิ้นสุด จึงทรงทวนกระแสจิตเข้ามาใคร่ครวญอยู่ในเรื่องของผู้พาเป็นไป พิจาณากลับไปกลับมาในปฏิจจสมุปปาทปัจจยาการ จนจิตของพระองค์เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชเต็มที่แล้ว ก็ลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรม ภูตธรรม จิตตอนนี้ถอยออกมาแล้ว จึงตัดสินขาดทีเดียว จึงบัญญัติว่า อาสวักขยญาณ ทรงทราบว่าจิตของพระองค์สิ้นแล้วจากอาสวะ พ้นแล้วจากบ่วงแห่งมาร ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย พ้นแล้วจากทุกข์ ถึงเอกันตบรมสุข สันติวิหารธรรม วิเวกธรรม นิโรธธรรม วิมุตติธรรม นิพพานธรรม แล

๕. เรื่องอัจฉริยะ-อัพภูตธรรม

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระบรมศาสดาของพวกเรา เมื่อพระองค์ยังเป็นท้าวศรีธารถ (สิทธัตถราชกุมาร) เสวยราชสมบัติอยู่ ทรงพิจารณาจตุนิมิต ๔ ประการ จึงบันดาลให้พระองค์เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ทรงบรรพชา ทรงอธิษฐานบรรพชา ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที เครื่องสมณบริขารมีมาเอง เลื่อนลอยมาสวมพระกายเอง ทรงเพศเป็นบรรพชิตสมณสารูป สำเร็จด้วยบุญญาภินิหารของพระองค์เอง จึงเป็นการอัศจรรย์ไม่เคยมีไม่เคยเห็นมาในปางก่อน จึงเป็นเหตุให้พระองค์อัศจรรย์ใจ ไม่ถอยหลังในการประกอบความเพียร เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตตภาวนา ไม่ท้อถอยตลอดเวลา ๖ ปี ได้ตรัสรู้สัจธรรม ของจริงโดยถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงอัศจรรย์ในธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้นอีกเป็นอันมาก

ในหมู่ปฐมสาวกนั้นเล่า ก็ปรากฏเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์เหมือนกัน เช่น ปัญจวัคคีย์ก็ดี พระยสและสหายของท่านก็ดี พระสาวกอื่นๆ ที่เป็นเอหิภิกฺขุก็ดี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วได้สำเร็จมรรคผล และทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระองค์ พระองค์ทรงเหยียดพระหัตต์ออกเปล่งพระวาจาว่า เอหิภิกฺขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวดีแล้ว เพียงเท่านี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อัฏฐบริขารเลื่อนลอยมาสวมสอดกาย ทรงเพศเป็นบรรพชิตสมณสารูป มีรูปอันน่าอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง สาวกเหล่านั้นก็อัศจรรย์ตนเองในธรรมอันไม่เคยรู้เคยเห็น อันสำเร็จแล้วด้วยบุญฤทธิ์และอำนาจพระวาจาอิทธิปาฏิหาริย์ของพระบรมศาสดาจารย์ ท่านเหล่านั้นจะกลับคืนไปบ้านเก่าได้อย่างไร เพราะจิตของท่านเหล่านั้นพ้นแล้วจากบ้านเก่า และอัศจรรย์ในธรรมอันตนรู้ตนเห็นแล้ว ทั้งบริขารที่สวมสอดกายอยู่ก็เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์

ครั้นต่อมาท่านเหล่านั้น ไปประกาศพระพุทธศาสนา มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชด้วยติสรณคมนูปสัมปทาสำเร็จด้วยการเข้าถึงสรณะทั้ง ๓ คืออุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นภิกษุเต็มที่

ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระญาณเล็งเห็นการณ์ไกล จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ ทรงประทานญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทาไว้เป็นแบบฉบับอันหมู่เราผู้ปฏิบัติได้ดำเนินตามอยู่ทุกวันนี้ได้พากันมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา อุทิศเฉพาะพระบรมศาสดาพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์แล้ว ทำความพากเพียรประโยคพยายามไปโดยไม่ต้องถอยแล้วก็คงจะได้รับความอัศจรรย์ใจในพระธรรมวินัยบ้างเป็นแน่ ไม่น้อยก็มาก ตามวาสนาบารมี ของตนโดยไม่สงสัยเลย

๖. เรื่องวาสนา

กุศลวาสนา อกุศลวาสนา อัพยากตวาสนา

อัธยาศัยของสัตว์ เป็นมาแล้วต่างๆ คือ ดี เลว และกลางๆ วาสนาก็เป็นไปตามอัธยาศัย คือวาสนาที่ยิ่งกว่าตัว วาสนาเสมอตัว วาสนาที่เลวทราม บางคนเป็นผู้มีวาสนายิ่งในทางดีมาแล้ว แต่คบกับพาล วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อนแต่คบกับบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขึ้นไปเป็นบัณฑิต บางคนคบมิตรเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ร้าย ไม่หายนะ ไม่เสื่อมทราม วาสนาก็พอประมาณสถานกลาง ฉะนั้นบุคคลพึงพยายามคบบัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้นไปโดยลำดับ

๗. เรื่องสนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอุดม

กาเลน ธมฺมสฺกจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

การปรึกษาไต่ถาม หรือการสดับธรรมตามกาล ตามสมัย พระบรมศาสดาตรัสว่าเป็นมงคลความเจริญอันอุดมเลิศ

หมู่เราต่างคนก็มุ่งหน้าเพื่อศึกษามาเองทั้งนั้นไม่ได้ไปเชื้อเชิญนิมนต์มาก ครั้นมาศึกษามาปฏิบัติก็ต้องทำจริงปฏิบัติจริง ตามเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดาจารย์เจ้าและสาวกขีณาสวะเจ้าผู้ปฏิบัติมาก่อน

เบื้องต้นพึงพิจารณา สัจจธรรมคือของจริงทั้ง ๔ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อันท่านผู้เป็นอริยบุคคลได้ปฏิบัติกำหนดพิจารณามาแล้ว เกิด เราก็เกิดมาแล้ว คือร่างกายอันเป็นอยู่นี้มิใช่ก้อนเกิดหรือ ? แก่ เจ็บ ตาย ก็ก้อนอันนี้แล เมื่อเราพิจารณาอยู่ในอริยาบถทั้ง ๔ เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดพิจารณาบ้าง นอนกำหนดพิจารณาบ้าง จิตจะรวมเป็นสมาธิ รวมน้อยก็เป็น ขณิกสมาธิ คือจิตรวมลงภวังค์หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอนออกมา ครั้นพิจารณาอยู่ไม่ถอยจนปรากฏเป็นอุคคหนิมิต จะเป็นนอกก็ตาม ในก็ตาม ให้พิจารณานิมิตนั้นจนจิตวางนิมิตรวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่นานพอประมาณแล้วถอยออกมา สมาธิในชั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ พึงพิจารณานิมิตนั้นเรื่อยไปจนจิตรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติจิต เป็น อัปปนาสมาธิปฐมฌาน ถึงซึ่งเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว ครั้งจิตถอยออกมา ก็พึงพิจารณาอีกแล้วๆ เล่าๆ จนขยายส่วนแยกส่วนเป็นปฏิภาคนิมิตได้ต่อไป คือพิจารณาว่าตายแล้วมันจะเป็นอะไรไปอีก มันจะต้องเปื่อยเน่า ผุพังยังเหลือแต่ร่างกระดูก กำหนดทั้งภายในคือกายของตนทั้งภายนอกคือกายของผู้อื่น โดยให้เห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าส่วนนี้เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เส้นเอ็นน้อยใหญ่มีเท่าไร กระดูกท่อนน้อยท่อนใหญ่มีเท่าไร โดยชัดเจนแจ่มแจ้ง กำหนดให้มันเกิดขึ้นมาอีกแล้วกำหนดให้มัน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วตายสลายไปสู่สภาพเดิมของมัน คือไปเป็น ดินน้ำไฟลม ถึงฐานะเดิมของมันนั้นแล

เมื่อกำหนดจิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ทั้งภายนอกทั้งภายใน ทำให้มากให้หลาย ให้มีทั้งตายเก่าตายใหม่ มีแร้งกาสุนัขยื้อแย่งกัดกินอยู่ ก็จะเกิดปรีชาญาณขึ้น ตามแต่วาสนาอุปนิสัยของตน ดังนี้แล

๘. เรื่องการทำจิตให้ผ่องใส

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

การทำจิตของตนให้ผ่องใส เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ได้ตรัสสอนกาย วาจา จิต มิได้สอนอย่างอื่น สอนให้ปฏิบัติ ฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากายเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้าที่เรียกว่าธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง

สมาธิมี ๓ ขั้น คือ ขณิกสมาธิ จิตรวมลงไปสู่ฐีติขณะแล้วพักอยู่หน่อยหนึ่ง ถอยออกมาเสีย อุปจารสมาธิ จิตรวมลงสู่ภวังค์แล้วพักอยู่นานหน่อยจึงถอยออกมารู้นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง และอัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ ได้แก่จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมถึงเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีความรู้ตัวอยู่ว่า จิตดำรงอยู่ และประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ ประการ ค่อยสงบประณีตเข้าไปโดยลำดับ

เมื่อหัดจิตอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าทำจิตให้ยิ่ง ได้ในพระบาลีว่า อธิจิตฺ เต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

การพิจารณากายนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติ อันนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแสดงไว้ มีหลายนัยหลายประการ ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมูลกรรมฐานเรียกว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ที่พระอุปัชฌายะสอนเบื้องต้นแห่งการบรรพชาเป็นสามเณร และในธรรมจักกัปปวัตนสูตรว่า ชาติปิทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ดังนี้ บัดนี้เราก็เกิดมาแล้วมิใช่หรือ ? ครั้นเมื่อบุคคลมาปฏิบัติให้เป็น โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาในตนนี้แล้วเป็นไม่ผิด เพราะพระธรรมเป็น อกาลิโก มีอยู่ทุกเมื่อ อาโลโก สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีอะไรปิดบังเลย

๙. เรื่องวิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก

ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่าความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้วต้องเก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้ หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา กำหนดรู้เท่ามหาสมมติ-มหานิยม อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศ กลางหาวดาวนักขัตฤกษ์สารพัดสิ่งทั้งปวง อันเจ้าสังขารคือการจิตหากออกไปตั้งไว้บัญญัติไว้ว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้ จนรู้เท่าแล้ว เรียกว่ากำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย เมื่อทำให้มาก-เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค หากมรรคพอแล้วนิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง เพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ จึงจะรู้เฉพาะตัว คือมาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของอสุภะ เปื่อยเน่า แตกพังลงไป ตามสภาพความจริงของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้มาปฏิบัติพิจารณา พึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้ อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน จึงจะเห็นข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบาย ก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ใน กาย วาจา จิต ของทุกคน

๑๐. เรื่องข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ไม่มีปัญหาโอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาพิจารณา กาย วาจา จิตอกาลิโกอันเป็นของมีอยู่ อาโลโกสว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ อันนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายผู้น้อมเข้ามาพิจารณาของมีอยู่นี้ ได้รู้แจ้งจำเพาะตัวมาแล้ว เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ว่ากาลนั้นจึงจะมี กาลนี้จึงจะมี ย่อมมีอยู่ทุกกาล ทุกสมัย ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตัว คือ ผิดก็รู้จัก ถูกก็รู้จักในตนของตนเอง ดีชั่วอย่างไรตัวของตัวย่อมรู้จักดีกว่าผู้อื่น ถ้าเป็นผู้หมั่นพินิจพิจารณาไม่มัวประมาทเพลิดเพลินเสีย

ตัวอย่างที่มีมาแล้วคือ มาณพ ๑๖ คน ซึ่งเป็นศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ ท่านเหล่านั้นเจริญญานกสิณติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน พระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสสอนให้พิจารณาของมีอยู่ในตน ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาให้รู้ว่า กามภพเป็นเบื้องต่ำ รูปภพเป็นเบื้องกลาง อรูปภพเป็นเบื้องบน แล้วถอยลงมาให้รู้ว่า อดีตเป็นเบื้องต่ำ อนาคตเป็นเบื้องบน ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง แล้วชักเข้ามาหาตัวอีกให้รู้ว่า อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องขวางฐานกลาง เมื่อท่านเหล่านั้นมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปัจฺจตฺตํ จึงรู้เฉพาะขึ้นที่ตัวของตัวโดยแจ่มแจ้ง สิ้นความสงสัยข้อปฏิบัติ ไม่ต้องไปเที่ยวแสวงหาที่อื่นให้ลำบาก

๑๑. เรื่องได้ฟังธรรมทุกเมื่อ

ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการสำเหนียก กำหนดพิจารณาธรรมอยู่นั้นกลางวันและกลางคืน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ปรากฏอยู่ ได้เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ได้สูดดม ลิ้ม เลีย และสัมผัสอยู่ จิตใจเล่า ? ก็มีอยู่ ความคิดนึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้ายก็มีอยู่ ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอกภายใน ก็มีอยู่ ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ ทุกเมื่อ เช่นใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงจากต้น ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น ดังนี้เป็นต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืนแล

๑๒. เรื่องปริญเญยฺยธรรม

การกำหนดพิจารณาธรรมเรียกบริกรรมจิตที่กำลังทำการกำหนดพิจารณาธรรมอย่างเอาใจใส่ เมื่อได้ความแน่ใจในเหตุผลของธรรมที่พิจารณานั้นแล้ว จิตจะสงบรวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยออก ความสงบในขั้นนี้เรียก บริกรรมสมาธิ หรือ ขณิกสมาธิ

การกำหนดพิจารณาธรรมแล้วจิตสงบรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นานหน่อยแล้วถอยออกมารู้เห็นอสุภะปรากฏขึ้น ความสงบในขั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ

การกำหนดพิจารณาธรรมคืออสุภนิมิต ที่ปรากฏแก่จิตที่เรียกว่าอุคคหนิมิตนั้นจนเพียงพอแล้ว จิตปล่อยวางนิมิตเสีย สงบรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นาน เป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียว สงบนิ่งแน่วแน่ มีสติรู้อยู่ว่าจิตดำรงอยู่กับที่ ไม่หวั่นไหวไปมาความสงบชั้นนี้เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

ส่วน นิมิต อันปรากฏแก่ผู้บำเพ็ญสมาธิภาวนาตามลำดับชั้นดังกล่าวนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ตามลำดับกัน

อนึ่ง ภวังค์ คือภพหรือฐานของจิตนั้น ท่านก็เรียกชื่อเป็น ๓ ตามอาการเคลื่อนไปของจิต คือ ภวังคบาท ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ขณะแรกที่จิตวางอารมณ์เข้าสู่ฐานเดิมของตน ที่เรียกอย่างสามัญว่าปกติจิตนั้นแลเรียกว่า ภวังคบาท ขณะที่จิตเริ่มไหวตัวเพื่อขึ้นสู่อารมณ์อีกเรียกว่า ภวังคจลนะ ขณะที่จิตเคลื่อนจากฐานขึ้นสู่อารมณ์เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ

จิตของผู้บำเพ็ญภาวนาเข้าสู่ความสงบถึงฐานเดิมของจิตแล้ว พักเสวยความสงบอยู่ในสมาธินั้นนานมีอาการครบองค์ของฌานจึงเรียกว่า ฌาน เมื่อทำการพินิจพิจารณาธรรมด้วยปัญญาจนเพียงพอแล้ว จิตรวมลงสู่ภวังค์ คือ ฐานเดิมของจิตจนถึงฐีติ ขณะตัดกระแสภวังค์ขาดหายไปไม่พักเสวยอยู่ เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นว่า ภพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีกดังนี้เรียกว่า ฐีติญาณ

๑๓. เรื่องบั้นต้นโพธิสัตว์

ปฐมโพธิสัตว์ มัชฌิมโพธิสัตว์ ปัจฉิมโพธิสัตว์ ปฐมโพธิกาล มัชฌิมโพธิกาล ปัจฉิมโพธิกาล ปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา ปัจฉิมเทศนา

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เสด็จออกจากคัพโภทรของพระนางเจ้าสิริมหามายา ณ สวนลุมพินีวัน ระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครเทวทหะต่อกัน ครั้นประสูติแล้วก็ทรงพระเจริญวัยมาโดยลำดับ ครั้นสมควรแก่การศึกษาศิลปวิทยา เพื่อปกครองรักษาบ้านเมืองตามขัตติยประเพณีได้แล้วก็ทรงศึกษาศิลปวิทยา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาก็ได้ปกครองบ้านเมืองเสวยราชสมบัติแทนพระเจ้าศิริสุทโธทนมหาราช ผู้พระราชบิดานับว่าได้เป็นใหญ่เป็นราชาแล้ว พระองค์ทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ต้องทรงคิดอ่านการปกครองรักษาบ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงบังคับบัญชาอย่างไร เขาก็ทำตามทุกอย่าง ครั้งทรงพิจารณาหาทางบังคับบัญชาความเกิดแก่เจ็บตายให้เป็นไปตามใจหวังก็เป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างนั้นก็มิทำให้ท้อพระทัยในการคิดอ่านหาทางแก้เกิดแก่เจ็บตาย ยิ่งเร้าพระทัยให้คิดอ่านพิจารณายิ่งขึ้น ความคิดอ่านของพระองค์ในตอนนี้เรียกว่าบริกรรม ทรงกำหนดพิจารณาในพระทัยอยู่เสมอ จนกระทั่งพระสนมทั้งหมดปรากฏให้เห็นเป็นซากอสุภะดุจป่าช้าผีดิบ จตุนิมิต ๔ ประการคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงบันดาลให้พระองค์เกิดเบื่อหน่ายในราชสมบัติ แล้วเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ตอนนี้เรียกว่า ปฐมโพธิสัตว์ เป็นสัตว์พิเศษ ผู้จะได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเที่ยงแท้ก่อนแต่กาลนี้ไม่นับ นับเอาแต่กาลปัจจุบันทันตาเห็นเท่านั้น

ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์บรรพชา ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเมาฬีด้วยพระขรรค์อธิษฐานบรรพชา อัฏฐบริขารมีมาเองด้วยอำนาจบุญฤทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์เป็นผ้าบังสุกุลจีวร เหตุอัศจรรย์อย่างนี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ต่อนั้นมาต้องทรงแสวงหา เหล่าปฐมสาวกก็เหมือนกัน อัฏฐบริขารเกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์เพียงครั้งแรกเท่านั้น ครั้นทรงบรรพชาแล้ว ทรงทำทุกรกิริยาประโยคพยายามพิจารณาอุคคหนิมิตที่ทรงรู้ครั้งแรก แยกออกเป็นส่วนๆ เป็นปฏิภาคนิมิตจนถึงเสด็จประทับนั่ง ณ ควงแห่งมหาโพธิพฤกษ์ ทรงชนะมารและเสนามารเมื่อเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต ยังบุพเพนิวาสานุสสติญาณให้เกิดในปฐมยาม ยังจุตูปปาตญาณให้เกิดในมัชฌิมยาม ทรงตามพิจารณาจิตที่ยังปัจจัยให้สืบต่อที่เรียกว่า ปัจจยาการ ตอนเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ตอนนี้เรียกว่า มัชฌิมโพธิสัตว์

ครั้นเมื่อทรงพิจารณาตามเหตุผลเพียงพอแล้วจิตของพระองค์หยั่งลงสู่ความสงบถึงฐีติธรรมดำรงอยู่ในความสงบพอสมควรแล้ว ตัดกระแสภวังค์ขาดไป เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นในขณะนั้นว่า ภพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีกแล้ว ดังนี้เรียกว่า อาสวักขยญาณ ประหารเสียซึ่งกิเลสาสวะทั้งหลายให้ขาดหายไปจากพระขันธสันดาน สรรพปรีชาญาณต่างๆ อันสำเร็จมาแต่บุพพวาสนาบารมี ก็มาชุมนุมในขณะจิตอันเดียวนั้นจึงเรียกว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ระยะกาลตอนนี้เรียกว่า ปัจฉิมโพธิสัตว์

ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงเสวยวิมุตติสุข อยู่ในที่ ๗ สถาน ตลอดกาล ๔๙ วันแล้วแลทรงเทศนาสั่งสอนเวไนยนิกร มีพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น จนถึงทรงตั้งพระอัครสาวกทั้ง ๒ และแสดงมัชฌิมเทศนา ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร จัดเป็นปฐมโพธิกาล

ต่อแต่นั้นมา ก็ทรงทรมานสั่งสอนเวไนยนิกรตลอดเวลา ๔๕ พระพรรษา จัดเป็นมัชฌิมโพธิกาล ตั้งแต่เวลาทรงประทับไสยาสน์ ณ พระแท่นมรณมัญจาอาสน์ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราราชธานี และทรงแสดงพระปัจฉิมเทศนาแล้วปิดพระโอษฐ์ เสด็จดับขันธปรินิพพานระยะกาลตอนนี้จัดเป็นปัจฉิมโพธิกาล ด้วยประการฉะนี้

(ส่วนปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนานั้น มีเนื้อความเป็นประการไร ได้แสดงแล้วในส่วนที่ ๑)

๑๔. เรื่องโสฬสกิจ

กิจในพระธรรมวินัยนี้ ที่นับว่าสำคัญที่สุดเรียกว่า โสฬสกิจ เป็นกิจที่โยคาวจรกุลบุตรพึงพากเพียรพยายามทำให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท

โสฬสกิจ ได้แก่กิจในอริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชั้นโสดาบันก็ประชุม ๔ ชั้น สกิทาคามีก็ประชุม ๔ สองสี่ก็เป็น ๘ ชั้นอนาคามีก็ประชุม ๔ ชั้นอรหัตต์ก็ประชุม ๔ สองสี่ก็เป็น ๘ สองแปดเป็น ๑๖ กำหนดสัจจะทั้ง ๔ รวมเป็นองค์อริยมรรคเป็นขั้นๆ ไป

เมื่อเรามาเจริญอริยมรรคทั้ง ๘ อันมีอยู่ในกายในจิต คือ ทุกข์ เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นปริญเญยฺยะ ควรกำหนดรู้ก็ได้กำหนดรู้ สมุทัย เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่ เป็นปหาตัพพะ ควรละก็ละได้แล้ว นิโรธ เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรทำให้แจ้งก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรค เป็นสัจจะของจริงที่มีอยู่ก็รู้ว่ามีอยู่เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญให้มากก็ได้เจริญให้มากแล้ว เมื่อมากำหนดพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็แก้โลกธรรม ๘ ได้สำเร็จ

มรรค อยู่ที่กาย กับ จิต คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ รวมเป็น ๖ ลิ้น ๑ เป็น ๗ กาย ๑ เป็น ๘ มาพิจารณารู้เท่าสิ่งทั้ง ๘ นี้ ไม่หลงไปตาม ลาภ ยศ สรรเสริญสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันมาถูกต้อง ตนของตนจิตไม่หวั่นไหว โลกธรรม ๘ เป็นคู่ปรับกับมรรค ๘ เมื่อรู้เท่าส่วนทั้งสองนี้แล้ว เจริญมรรคให้บริบูรณ์เต็มที่ ก็แก้โลกธรรม ๘ ได้ ก็เป็นผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺ มงฺคลมุตฺตมํ โลกธรรมถูกต้องจิตผู้ใดแล้ว จิตของผู้นั้นไม่หวั่นไหวเมื่อไม่หวั่นไหวก็ไม่เศร้าโศก เป็นจิตปราศจากเครื่องย้อม เป็นจิตเกษมจากโยคะ จัดว่าเป็นมงคงอันอุดมเลิศ ฉะนี้แล

๑๕. เรื่องสำคัญตนว่าได้บรรลุอรหัตตผล

กิร ดังได้สดับมา ยังมีภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนาของพระบรมศาสดาของเรานี้ องค์หนึ่งมีพรรษาแก่กว่าอีกองค์หนึ่งมีพรรษาอ่อนกว่าเป็นสหธรรมิกที่มีความรักใคร่ในกันและกัน แต่จากกันไปเพื่อประกอบความเพียร องค์อ่อนพรรษากว่าได้สำเร็จพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์ก่อน องค์แก่พรรษาได้แต่เพียรกำลังสมาธิสมาบัติ และเป็นผู้ชำนาญในวสี จะพิจารณาอธิษฐานให้เป็นอย่างไรก็ได้ดังประสงค์ และเกิดทิฏฐิสำคัญว่ารู้ทั่วแล้ว ส่วนองค์หย่อนพรรษาครั้นพิจารณาดูก็ทราบได้ด้วยปัญญาญาณ จึงสั่งให้องค์แก่พรรษากว่าไปหาท่านองค์นั้นไม่ไป สั่งสอนสามครั้งก็ไม่ไป องค์หย่อนพรรษาจึงไปหาเสียเอง แล้วยังกันและกันให้ยินดี พอสมควรแล้วจึงพูดกับองค์แก่กว่าว่า ถ้าท่านสำคัญว่ารู้จริง ก็จงอธิษฐานให้เป็นสระ ในสระให้มีดอกบัวหลวง ๑ ดอก ในดอกบัวหลวงให้มีนางฟ้อนสวยงาม ๗ นาง องค์แก่พรรษาก็เนรมิตได้ตามนั้น ครั้นเนรมิตแล้วองค์อ่อนพรรษากว่าจึงสั่งให้เพ่งดู ครั้นเพ่งดูนางฟ้อนอยู่ กามราคะกิเลสอันสั่งสมมาแล้วหลายร้อยอัตตภาพก็กำเริบ จึงทราบได้ว่าตนยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นแล้วองค์อ่อนพรรษาจึงเตือนให้รู้ตัว และให้เร่งทางปัญญาวิปัสสนาญาณ องค์แก่พรรษากว่าครั้นปฏิบัติตามทำความพากเพียรประโยคพยายามอยู่ มิช้ามินานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสวะบุคคลในพระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้

อปรา ยังเรื่องอื่นอีก มีเนื้อความอย่างเดียวกันแต่นิมิตต่างกัน คือให้เนรมิตช้างสารซับมันตัวร้ายกาจวิ่งเข้ามาหา หลงรูปเนรมิตของตนเอง เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวเตรียมตัววิ่งหนี เพื่อนสหธรรมิกผู้ไปช่วยเหลือได้ฉุดเอาไว้ และกล่าวตักเตือนสั่งสอนโดยนัยหนหลัง จึงหยุดยั้งใจได้และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสหธรรมิกผู้ช่วยเหลือนั้น ไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสวะบุคคลในพระบวรพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน แม้เรื่องนี้ก็พึงถือเอาเป็นทิฏฐานุคติ เช่นเดียวกับเรื่องก่อนนั้นแล

นี้เป็นนิทานที่เป็นคติสำหรับผู้ปฏิบัติจะพึงอนุวัติตามคือผู้เป็นสหธรรมิก ประพฤติธรรมร่วมกันทุกคน จงมาเป็นสหายกันในกิจที่ชอบ ทั้งที่เป็นกิจภายใน ทั้งที่เป็นกิจภายนอกยังประโยชน์ของกันและกันให้สำเร็จด้วยดีเถิด

๑๖. เรื่องอุณหัสสวิชัยสูตร

ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน

อุณหัสสคือความร้อนอันเกิดแก่ตน มีทั้งภายในและภายนอก ภายนอกมีเสือสางคางแดง ภูตผีปีศาจ เป็นต้น ภายในคือกิเลส วิชัยคือความชนะ ผู้ที่มาน้อมเอาสรณะทั้งสามนี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมจะชนะความร้อนเหล่านั้นไปได้หมดทุกอย่างที่เรียกว่า อุณหัสสวิชัย

อุณหสฺสวิชโย ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้งสาม สามารถชนะซึ่งความร้อนอกร้อนใจอันเกิดแต่ภัยต่างๆ ปริวชฺเช ราชทนฺเฑ พยคฺเฆ นาเค วีเส ภูเต อกาลมรเณน จ สพฺพสฺม มรณา มุตฺโต จะเว้นห่างจากอันตรายทั้งหลายคือ อาชญาของพระราชา เสือสาง นาค ยาพิษ ภูตผี ปีศาจ หากว่ายังไม่ถึงคราวถึงกาลที่จักตายแล้ว ก็จักพ้นไปได้จากความตายด้วยอำนาจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอาเป็นสรณะที่พึ่งที่นับถือนั้น

ความข้อนี้มีพระบาลีสาธกดังจะยกมาอ้างอิงในสมัยเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์หนุ่ม ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ในราวป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เทวดาทั้งหลายพากันมาดู แล้วกล่าวคาถาขึ้นว่า เยเกจิ พุทฺธํ สรณํ คตา เส น เต คมิสฺ สนฺติ อปายภูมิ ปหาย มานุสํ เทหํ เทวกายํ ปริปูเรสฺสนฺติ แปลความว่า บุคคลบางพวกหรือบุคคลไรๆ มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งแล้ว บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น เมื่อละร่างกายอันเป็นของมนุษย์นี้แล้ว จักไปเป็นหมู่แห่งเทพยดาทั้งหลายดังนี้

สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญอันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดมายึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่ในกลางป่าหรือเรือนว่างก็ตาม สรณะทั้งสามก็ปรากฏแก่เราอยู่ทุกเมื่อ จึงว่าเป็นที่พึ่งแก่บุคคลจริง เมื่อปฏิบัติตามสรณะทั้งสามจริงๆ แล้ว จะคลาดแคล้วจากภัยทั้งหลาย อันก่อให้เกิดความร้อนอกร้อนใจได้แน่นอนทีเดียว

รูปภาพ

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส)
ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


กุฏิหลวงปู่มั่นหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙
โดยการร่วมแรงร่วมใจของศรัทธาญาติโยมชาวบ้านหนองผือ
เพื่อน้อมถวายบูชาแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น
ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน”
เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒


รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่วัน อุตฺตโม (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส)


รูปภาพ
กุฏิหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร (ในปัจจุบัน)
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส)


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2021, 14:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2774


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)


:b42: หมายเหตุ คำนำบางส่วนของหนังสือซึ่งพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร (วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓ ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร) มีดังนี้

การที่ให้ชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่รวบรวมพิมพ์ชุดแรกว่า มุตโตทัย นั้น อาศัยคำชมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺทเถร จันทร์) เมื่อคราวท่านอาจารย์แสดงธรรมว่าด้วย มูลกรรมฐาน ณ วิหารหลวงเชียงใหม่ ว่า ท่านอาจารย์แสดงธรรมด้วยมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย คำนี้ท่านอาจารย์นำมาเป็นปัญหาถามในที่ประชุมพระภิกษุเปรียญหลายรูป ซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วย ในคราวที่ท่านมาพักกับข้าพเจ้าที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าทราบความหมายของคำนั้นแล้ว แต่เห็นว่าเป็นอสาธารณนัย จึงกล่าวแก้ทางใจ ทันใดนั้นท่านก็พูดขึ้นว่าข้าพเจ้าแก้ถูก ซึ่งทำความประหลาดใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายมิใช่น้อย ต่างก็มารุมถามข้าพเจ้าว่าหมายความว่าอย่างไร ? ข้าพเจ้าบอกให้ทราบแก่บางองค์เฉพาะที่น่าไว้ใจ คำว่า มุตโตทัย มีความหมายเป็นอสาธารณนัยก็จริง แต่อาจเป็นความหมายมาเป็นสาธารณนัยก็ได้ จึงได้นำมาใช้เป็นชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ โดยมุ่งให้มีความหมายว่า เป็นธรรมเทศนาชี้บอกแนวทางปฏิบัติให้บังเกิดความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ ซึ่งถ้าจะแปลสั้นๆ ก็ว่า แดนเกิดแห่งความหลุดพ้น นั่นเอง

ธรรมเทศนาชุดแรกนี้ พระภิกษุวิริยังค์กับพระภิกษุทองคำ เป็นผู้บันทึกในสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแผ่ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงเสียใหม่ให้เรียบร้อย ตัดส่วนที่ไม่ควรเผยแผ่ออกเสียบ้าง ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีที่กระเทือนใจผู้อ่านอยู่บ้าง จึงขอชี้แจงไว้ในที่นี้

คือข้อที่ว่า พระสัทธรรม เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอมไปนั้น หมายความว่าไปปนเข้ากับอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ เมื่อแสดงออกแก่ผู้อื่น ก็มักมีอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ปนออกมาด้วย เพื่อรักษาพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์สะอาดคงความหมายเดิมอยู่ได้ ควรมีการปฏิบัติกำจัดของปลอมคืออุปกิเลสอันแทรกซึมอยู่ในอัธยาศัยนั้นให้หมดไป ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้แสดงที่จะชักจูงจิตใจของผู้ฟังให้นิยมในสัมมาปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าผู้ฟังมีใจสะอาด และเป็นธรรมแล้วย่อมจะให้สาธุการแก่ท่านผู้แสดงแน่แท้

ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่พระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับ พระภิกษุวัน อุตฺตโม จดบันทึกไว้ในปัจฉิมสมัย คือระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒ ก่อนหน้ามรณสมัยเพียงเล็กน้อยนั้น ได้รวบรวมนำมาเรียบเรียงเข้าหมวดหมู่เช่นเดียวกับครั้งก่อน

ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ชุดนี้ หากจะพิมพ์เผยแผ่ต่อไปก็ควรพิมพ์รวมกันในนามว่า มุตโตทัย และควรบอกเหตุผลและผู้ทำดังที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้นี้ด้วย จะได้ตัดปัญหาในเรื่องชื่อและที่มาของธรรมเทศนาด้วย

พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
เสนาสนะป่าเขาสวนกวาง ขอนแก่น
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

รูปภาพ
พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองคำ จารุวณฺโณ (ญาโณภาโส)

รูปภาพ
บรรดาคณะศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงาน
ประชุมเพลิงสรีระสังขาร “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


:b47: :b50: :b47:

•• ความเป็นมาของ “หนังสือมุตโตทัย”
>>> (จาก...หนังสือรำลึกวันวาน)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=80&t=59916

•• รวมคำสอน “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188

•• รวมคำสอน “หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43841


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร