วันเวลาปัจจุบัน 01 พ.ย. 2024, 07:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2024, 11:19 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2885


 ข้อมูลส่วนตัว


:b47: :b50: :b47: ไม่ผิดศีลก็ไม่ผิดใจคน
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
แสดงธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


รูปภาพ

พึงพากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้ดี มีสติสัมปชัญญะ
รู้ตัวอยู่ในขณะนี้ว่า ตนนั่งอยู่อย่างไร รู้ทั่วกาย แล้วก็ต้องเพ่งเข้าไปหาจิต
จิตตั้งอยู่อย่างไรก็กำหนดรู้ เรียกว่ารู้เรื่องตัวเองนั่นแหละ
ไม่ใช่จิตมี ๒ ดวง จิตมีดวงเดียว จิตรู้ จิตก็ว่าความประสงค์ในการทำสมาธิภาวนา
ความประสงค์อย่างว่านี่แหละ ประสงค์ให้จิตรู้จิต
อย่าไปยึดรู้อย่างอื่นให้มากกว่าตนรู้ตน

ในขั้นต้นนี้นะ ถ้าหากว่าตนเองยับยั้งตนเองไม่ได้
จิตมันจะไม่อยู่เลย มันจะคิดฟุ้งซ่านไปทั่ว
ของดีในชีวิตนี้ มันก็มีอยู่ที่จิตดวงเดียวนี่แหละ อันอื่นก็ดีอยู่หรอก
แต่ว่า ดีแท้ๆ นะเป็นจิตดวงนี้ แต่ว่ามันต้องฝึกนะ กว่ามันจะดีได้ จิตนี้นะ
ถ้าไม่ฝึก จะปล่อยให้มันดีเองนะ มันไม่ได้
เหมือนอย่างไม้ จะเอาไม้ทั้งดุ้นมาทำเสาเรือน อย่างนี้ ใครเขาไม่ทำกัน
นอกจากทำชั่วคราว ถ้าทำอย่างถาวรได้ ต้องถากเปลือกถากกระพี้ออกจนหมด
เหลือแต่แก่นของมัน เอามาทำเสาเรือนจึงจะทนทานถาวรไปได้
ฉันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ คนทั้งคนก็มีจิตเป็นแก่น
เมื่อจิตจะเป็นแก่นได้ มันก็ต้องถากเปลือก ถากกระพี้ของจิตออกเสียก่อน
เปลือก กระพี้ ได้แก่ กิเลส ความโลภความโกรธ ความหลง นี่แหละ
มันหุ้มห่อจิตนี้อยู่ หรือนำจิตนี้ให้มาเกิด อาศัยขันธ์ ๕ อันนี้อยู่
ถ้าไม่มีกิเลสหุ้มห่อจิตนี้ จิตนี้ก็ไม่ได้มาเกิดมาอาศัยร่างอันนี้อยู่

พิจารณาให้มันเห็นอย่างนั้น อันที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า
คนเราพึงรักษาคุณงามความดีของตนไว้ ให้เหมือนกับเกลือรักษาความเค็มไว้ฉันนั้น
อันนี้ก็หมายเอาจิตนี้เอง รักษาจิตดวงนี้ให้มันดีไว้
อย่าให้จิตนี้มันหลงมันเมาไปในเรื่องที่ประกอบไปด้วยทุกข์ด้วยโทษต่างๆ
เมื่อตนมีความประสงค์อย่างไร ตั้งแต่เบื้องต้นที่มานับถือพุทธศาสนานี้
ความมุ่งหวังก็เพื่อเอาเป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ใช่อย่างอื่นใด
พุทธศาสนานี้แนะนำให้คนเรามีที่พึ่งทางใจ ทางโลกนั้นเขาแนะนำกันให้มีที่พึ่งทางกาย
เช่น ให้เรียนวิชาความรู้เกี่ยวกับการหาเงินหาทอง โดยอาศัยความรู้แขนงต่างๆ
นั่นเรียกว่าความรู้ในทางโลก มันเป็นที่พึ่งทางร่างกาย
ความรู้ในทางธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ

ความรู้ในเรื่องการให้ทานอย่างนี้นะ
ไม่ใช่รู้แต่ให้ทานเป็นเท่านั้น ยังรู้คุณค่าแห่งการให้อีกด้วย
เมื่อตนได้ให้ทานออกไปแล้ว ก็ได้ความอุ่นใจว่าผลแห่งการให้นี้
จะอำนวยให้เรามีความสุขความสบายใจ ถ้าพูดถึงผลภายนอกแล้ว
ก็ได้แก่เป็นผู้มีมิตรจิตมิตรใจกันอยู่เป็นจำนวนมาก
บุคคลใดเป็นคนไม่ตระหนี่ รู้จักให้
รู้จักแบ่งสันปันส่วนให้คนที่ควรให้แก่บุคคลที่ควรให้เช่นนี้
ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยญาติมิตรสหายเพื่อนฝูงที่ดีงาม
ไปที่ไหนก็ไม่อดไม่อยาก มีผู้เมตตาเอ็นดูสงสาร

อันนี้คืออานิสงส์แห่งการให้ ในปัจจุบันมันย่อมปรากฏอย่างนี้
ทำให้ได้รับความอุ่นใจในปัจจุบันนี้แหละ แต่อนาคตนั้นมันก็ให้ผลหลายเท่าตัว
เหมือนอย่างผลต้นไม้ที่มีผล เมล็ดพืชมีเมล็ดเดียวเท่านั้น
แต่เอาเพาะลงในดิน เวลามันเจริญงอกงามขึ้นมา
มันผลิดอกออกผลแล้ว ไม้ต้นเดียวมีผลตั้งเป็นร้อยเป็นพันที่มันออกผล
ให้เจ้าของผู้ปลูกได้รับประทานหรือได้ซื้อได้ขาย
อันนี้ผลทานนี้ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละที่มันจะอำนวยผลให้ในกาลต่อไป

นี่แหละในทางธรรม ข้อปฏิบัติในพุทธศาสนานะ
มันทำให้เกิดความอุ่นใจอย่างนี้
อีกอย่างหนึ่งผลทานที่บุคคลกระทำบำเพ็ญในอดีตมานู้น
เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ มันอำนวยผลให้ได้อะไรก็ได้มาอย่างง่ายดาย ไม่ลำบากเลย
ผลทานในอดีตมันดลบันดาลให้ไม่ลำบากลำบนแต่อย่างใด
ทรัพย์สมบัติอันใดที่หามาได้โดยน้ำพักน้ำแรง
ต้องออกแรงต้องอาบเหงื่อต่างน้ำจึงได้ทรัพย์สมบัติอันนั้นมา
อันนั้นไม่ใช่บุญบันดาล ได้มาด้วยกำลังกาย กำลังความคิด ปัญญา
ส่วนผลบุญที่บุคคลกระทำในอดีตนั้นมันมาอำนวยให้อะไรๆ ก็ง่ายขึ้นทุกอย่าง
ได้สมบัติอันใดมา ได้มาก็อย่างง่ายๆ ได้ทางบริสุทธิ์ด้วย

ผลแห่งการรักษาศีลในปัจจุบัน
ก็มองเห็นได้ชัดๆ คนมีศีลย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
เพราะผู้มีศีลเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ระมัดระวังในความประพฤติทางกาย ทางวาจา ไม่ให้ผิดศีล
เมื่อไม่ผิดศีล มันก็ไม่ผิดใจคน ถ้าไปทำอะไรผิดศีลก็ผิดใจคนเหมือนกัน
ลองสังเกตดู เช่น ศีลข้อที่ ๑ อย่างนี้นะ ก็ไปทุบไปตีเขา เขาย่อมโกรธเอา
หรือไปด่าไปว่าเขา กล่าวคำเจ็บคำแสบเข้าไป เขาก็โกรธไม่พอใจ
นั่นแหละบุคคลผู้ทำผิดศีลก็ผิดใจคน
ไปถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยที่เขาไม่อนุญาตให้
เมื่อเขารู้เข้า เขาก็ไม่พอใจ เขาก็โกรธเอา
สามีภรรยาของใครใครก็หวงแหนรักใคร่
คนเจ้าชู้มารยาไปตีสนิทหลอกลวงเข้าไป ให้เขาหลงเชื่อหลงรักใคร่ตน
ให้เขายอมทิ้งสามีเขาไปกับตน หรือว่าให้เขายอมทิ้งภรรยาของเขาไปกับตน
อย่างนี้นะเจ้าของเขารู้เข้าเขาก็ไม่พอใจ เขาก็โกรธเอา
การกล่าววาจาไม่ไพเราะหรือกล่าวคำเหลาะแหละเหลวไหล หาคำสัตย์คำจริงไม่ได้
ใครได้ยินได้ฟังเข้าไป ได้รู้ภายหลังว่า ผู้นี้มีวาจาเหลาะแหละ พูดไม่จริง
เขาก็เกลียด เขาก็ไม่พอใจ หรือชอบพูดคำหยาบกระทบกระทั่งผู้อื่นบ่อยๆ
ใครก็ไม่ชอบขี้หน้า มีแต่คนเกลียดชัง

การดื่มเหล้าเมาสุราของเสพติดต่างๆ หมู่นี้
ไอ้พวกซ่องเสพเหมือนกัน มันก็พอใจกัน ชอบพอกัน
แต่ว่ามันชอบพอกันเมื่อเวลาไม่มีเหตุนะ
แต่เมื่อเวลามีเหตุมาถึงเข้าแล้วกลายเป็นศัตรูกันไป
คนผู้ดีทั้งหลายยิ่งไม่ชอบคนดื่มของมึนเมา
เพราะแสดงกิริยาหยาบโลนต่างๆ นานา
ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจเลย
คำพูดคำจากิริยาท่าทางล้วนแต่ไม่น่าดูทั้งนั้น

อันนี้แหละ เพราะฉะนั้นถึงว่าคนเราเมื่อทำผิดศีล
พูดผิดศีลแล้ว มันก็ผิดใจคนนั้นเอง ทีนี้มันก็มาจากดวงจิตมัน
เมื่อจิตไม่มีศีลแล้ว กาย วาจา มันจะมีศีลได้อย่างไร
จิตเจตนาที่จะล่วงละเมิดในพุทธบัญญัตินั้นๆ แล้วเช่นนี้นะ
มันก็ใช้กายทำ ใช้วาจาพูดไปในทางผิดศีลผิดธรรมไป
นั้นถึงว่าสำคัญมันอยู่ที่จิตนั้นแหละ
ถ้าจิตมีศีล มีหิริโอตตัปปธรรมอยู่ในใจ
ละอายต่อการทำชั่วทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
กลัวความชั่วนั้นมันจะตามสนองเป็นทุกข์
เมื่อมีคุณธรรมสองอย่างนี้อยู่ในใจแล้ว
ผู้นั้นก็มีศีลและไม่กล้าล่วงละเมิดพุทธบัญญัติต่างๆ

นี่ต้นศีลแท้ๆ มันจึงชื่อว่าอยู่ที่ใจไม่ใช่อยู่ที่อื่น
ผู้ใดรักษาใจของตนได้ ก็รักษากายรักษาวาจาได้ ก็มีศีลก็มีธรรม
ย่อมเป็นที่รักที่นับถือที่เคารพจากผู้อื่น
ใครก็ต้องการจะคบหาสมาคมคนที่มีศีลมีธรรมอย่างนั้น

อันนี้แหละที่พระศาสดาทรงสอน ให้คนเรารักษาความดีของตนไว้
ให้เหมือนกับเกลือรักษาความเค็ม
ธรรมดาเกลือนะจะไปจมอยู่ในดิน มันก็มีความเค็มอยู่ในดินนั้นแหละ
จะเอาละลายลงไปในน้ำ มันก็ไปเค็มอยู่ที่น้ำ ทำน้ำนั้นให้เค็ม
อันนี้ก็เช่นเดียวกันนั้นแหละ
บุคคลผู้รักษาความดีของตนไว้ได้
จะไปที่ไหนจะอยู่ที่ไหนความดีก็ปรากฏอยู่ในที่นั้น
เป็นที่สรรเสริญเยินยอของคนทั้งหลาย คนทั้งหลายย่อมเคารพยำเกรง

อีกอย่างหนึ่ง พระศาสดาทรงสอนให้คนเรารักษาความดีของตนไว้
เหมือนกับตัวแรดมันรักษานอของมันไว้
ธรรมดาแรดนี้มันสงวนนัก นอของมันน่ะ
ถ้ามันรู้ว่าคนจะเอานอของมันอย่างนี้ มันจะต้องหนี ต้องพ่าย
หรือต้องสู้เอาจนสุดฤทธิ์เลย จนตัวตายนู่นแหละ
มันจะไม่ยอมให้เอานอของมันไปได้ง่ายๆ เลย
แม่ช้างก็เหมือนกันนะ มันก็รักษางาของมันไว้เป็นอย่างดี ฉันใด
พระศาสดาทรงสอนให้พุทธบริษัทนั้นรักษาความดีของตนไว้อย่าให้เสื่อม ก็ฉันนั้น

ดังนั้น ก็ให้พึงพากันพิจารณาตามพุทธโอวาทพุทธศาสนา
ดูว่าทำไมพระศาสดาจึงทรงสอนให้รักษาความดีของตนไว้
ก็เพราะตนจะมีความสุขได้ในขั้นใดๆ อาศัยความดีที่ตนทำนี้เท่านั้น
เราจะไปให้สิ่งอื่นนั้นมาทำให้ตนมีความสุขความเจริญมันเป็นไปไม่ได้
พระศาสดาทรงรู้แจ้งแล้ว ดังนั้นพระองค์เจ้าจึงแนะนำย้ำแล้วย้ำอีก
ให้คนเรานั้นเชื่อมั่นในความดีที่ตนกระทำนี้ให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย
อย่าไปเชื่ออย่างอื่น เมื่อตนทำความชั่วอย่างนี้นะ มันก็ได้รับผลเป็นทุกข์

มันเห็นได้ทั้งในปัจจุบันนี่แหละ
ไม่เฉพาะแต่ไปเห็นผลในเบื้องหน้าในชาติหน้าเท่านั้น ก็เห็นในปัจจุบันนี่เอง
คนผู้ล่วงศีลล่วงธรรมดังกล่าวมานั้นนั่นแหละ
มันถึงได้เบียดเบียนกันวุ่นวายอยู่ในโลกนี้ เบียดเบียนกัน ไม่ถึงตาย ก็ทุพพลภาพ
หรือเบียดเบียนทรัพย์สมบัติของกันและกัน
เบียดเบียนสามีภรรยากันในทางชู้สาว
ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างรุนแรง
นี่ใช้กับเบียดเบียนชีวิต ถึงล้มถึงตาย หมู่นี้ล่ะ
มันก็เกิดจากความเป็นผู้ไม่สำรวมจิต ไม่รักษาจิตดวงนี้
ปล่อยให้กิเลสมันครอบงำย่ำยีเอา ปล่อยให้กิเลสมันจูงไปในทางที่ไม่ดีต่างๆ

เพราะฉะนั้นนะ ให้พากันพิจารณาดูให้ดี ก็คนเกิดมาในโลกนี้นะ
เมื่อเพ่งพิจารณาถึงความต้องการแล้วไม่มีอย่างอื่นใดต้องการความสุขอย่างเดียว
ต้องการเงินทองข้าวของ ก็อยากจะได้มาใช้สอยให้มีความสุขสบาย
แต่คนส่วนมากมักจะต้องการแต่ความสุขชั่วคราว จึงได้ดิ้นรนหาแต่เงินแต่ทอง
เข้าใจว่าเงินทองนั้น จะให้ความสุขแก่ตนไปยืดยาวนาน
แท้ที่จริงแล้วมันก็ให้ความสุขได้แค่ชั่วชีวิตนี้เท่านั้นเองนะ
บางทีก็ไม่ถึงชั่วชีวิตด้วยซ้ำถูกโจรเขามาปล้นมาแย่งเอาไปเสียจนหมดก็มี
มันไม่นึกถึงทรัพย์ภายในคือบุญกุศลเลย

บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
พระองค์จึงแสวงหา ทั้งทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน
ตอนที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ทรงสร้างบารมีอยู่
พระองค์ทรงเห็นประโยชน์ทั้งสองอย่าง
ทรัพย์สมบัติอันเป็นส่วนโลกภายนอก เมื่อได้มามากๆ แล้ว
ก็จำแนกแจกทาน ไม่หวงแหน ไม่บริโภคเฉพาะตนเท่านั้น
ทรัพย์ภายใน คือ ความประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ไม่ทำความชั่ว ไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น
ดังกล่าวมานั้น ก็ทำให้คนดีทั้งหลายนั้นเคารพนับถือ
อยากจะคบหาสมาคม ยอมเป็นบริษัทบริวาร
ดังนั้นพระองค์จึงเป็นผู้มีบริษัทบริวารมาก
นี่เพราะว่าพระองค์กระทำความดีด้วยกายวาจา ใจ ไม่ทำใครให้เดือดร้อน

ดังนั้นแหละการรักษาความดีของตนไว้ได้นี้ จึงชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำโดยแท้จริง
ถ้าเราไม่รักษากุศลคุณงามความดีไว้แล้ว ไม่ทราบว่าจะไปรักษาอะไรอื่นได้บ้าง
นี้ลองคิดดูให้ดี รักษาอะไรก็ไม่เท่ารักษาความดี คิดให้มันเห็น
ก็รักษาใจให้มันดีซะอย่างเดียวอย่างที่ว่ามานั้นแหละ
การที่ใจมันจะดีได้ก็เพราะต้องกระทำให้มันถูกแบบถูกแผนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ในเบื้องต้นนี้ ก็พยายามเพ่งจิตนี้ให้มันเข้มแข็งให้มันกล้าหาญ ให้มันสงบ
อย่าให้ใจมันอ่อนแอ ถ้าใจอ่อนแอแล้ว มันก็สู้อำนาจกิเลสไม่ได้
กิเลสมันก็จูงไปได้ตามประสงค์

ดังนั้นอย่าไปย่อท้อในการทำความเพียร สมาธิ ภาวนา
ถ้าไปเกียจคร้านไหว้พระภาวนาแล้ว
คนเรานี้ย่อมมีจิตใจไม่มั่นคง ใจเลื่อนลอย เป็นอย่างนั้น
เมื่อเวลาทำการงานอย่างอื่นนะ อดทน หนักเอาเบาสู้ อาบเหงื่อต่างน้ำก็ยอม
เมื่อมานั่งสมาธิภาวนานี้ พอแต่เหน็ดเหนื่อยนิดหน่อยก็ไม่อดไม่ทน ถือว่าเหลือวิสัย
แล้วเช่นนี้จะทำให้จิตใจมันสงบตั้งมั่นลงได้อย่างไรล่ะ
ให้เข้าใจการภาวนานี้แหละ เราต้องอดทนยิ่งกว่าการงานอย่างอื่น
อธิษฐานใจลงไปว่า เรานั่งสมาธิเข้าไปแล้ว
ถ้าจิตนี้ไม่สงบ เราจะไม่ออกจากสมาธินี้เลย
เอาตายกันนี้แหละ เกิดมาทั้งทีทำดีไม่ได้ ตายดีกว่า
เอาตายแลกเอาความดีความสงบ มันได้แน่นอนเลย

แต่ไม่ถึงกับตาย เมื่อไม่กลัวตาย ใจมันก็รวมได้อย่างนี้นะ
เพราะว่าเราไม่ยอมออกไม่ยอมคลายจากสมาธิ
เจ้าจะคิดไปทั่วโลกนี้ก็คิดไป ข้าจะไม่ออกจากสมาธินี้ สู้กัน
เมื่อมันเจ็บมันปวดมันอะไรเข้ามามากๆ เข้า
มันทนไม่ไหว มันก็หยุดคิดส่งส่ายออกไป มันก็รวมลงได้
นี่สัจธรรมมันก็ช่วยพยุงจิตใจให้เข้มแข็งให้ตั้งมั่นลงได้
ถ้าหากว่าไม่มีสัจจะความจริงใจเสียเลยแล้ว
ไม่มีทางจะทำใจให้เป็นสมาธิได้ มันก็มายากอยู่ที่ตรงสมาธินี้แหละ

การปฏิบัติทางจิตใจนี้นะ เรื่องปัญญาแล้วไม่มีปัญหา
ถ้าทำจิตนี้ให้สงบลงได้อย่างสนิทสนมแล้ว ปัญญามันย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
อุปมาเหมือนอย่างดวงตาของคนเรานี้นะ การที่ปล่อยให้ตาเกิดมีฝ้าปิดบัง
หรือมีขยะหยากเยื่ออะไรเข้ามา ตานี้ย่อมมัวไป
ทีนี้เมื่อไปหาหมอแล้ว หมอเขาเอายาล้างตาออกให้
เมื่อให้ยาอย่างนี้ เมื่อฝ้าของตาหลุดออกไปแล้ว
ตาก็ย่อมสว่างไสว มองเห็นอะไรได้ชัดเจนอันนี้

ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ ก็เมื่อเรามาเพ่งจิตนี้ให้มันสงบให้มันตั้งมั่นลงไปแล้วอย่างนี้
บรรดากิเลสที่มันหุ้มห่อจิตใจให้มัวหมองนี้มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้
เช่น ความวิตก เมื่อเพ่งจิตลงไปในความรักความใคร่นี้ มันก็ระงับไป
เมื่อใจตั้งมั่นลงแล้ว ความง่วงเหงาหาวนอนก็ระงับไป
ความฟุ้งซ่านของจิตใจ จิตใจมันชอบคิดเลื่อนลอยไปต่างๆ นานา มันก็ระงับไป
ความสงสัยลังเลในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
หรือสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อันนี้ มันก็ระงับไป
เพราะปัญญามันเกิดขึ้น มันมองเห็นอันนี้

บุญคือความสุขใจ พูดถึงผลอันนี้นะ เมื่อทำใจให้สุขสบายได้นั้นแหละคือบุญ
กุศลคือใจฉลาด ใจมีปัญญา รู้จักความจริงของชีวิต
ความเป็นจริง ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง ก็รู้ชัดตามเป็นจริง
ชีวิตนี้ประกอบไปด้วยทุกข์ ทนได้ยากลำบากก็รู้ความเป็นจริง
ชีวิตนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง
นี่ก็รู้ นี่ปัญญาหรือกุศลธรรม เมื่อเกิดขึ้นในใจ มันทำให้เกิดความรู้
ยิ่งเห็นจริงในชีวิตตามเป็นจริงอย่างนี้ มันก็ไม่ถือมั่นนะ

เมื่อไม่ถือมั่นในขันธ์ ๕ ความทุกข์ใจก็ไม่มี
ใจที่เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นี้ก็เพราะมันมายึดถือขันธ์ ๕
ว่าเป็นตัวเป็นตน เราเจ็บตรงโน้น เราปวดตรงนี้ เราเป็นอันนั้น เราเป็นอันนี้
เขาด่าเรา คนนั้นติเตียนเรา คนนั้นไม่ชอบเรา คนนั้นเบียดเบียนเรา อะไรอย่างนี้
พอนึกขึ้นมาก็น้อยใจ โกรธ ขุ่นเคือง
หมู่นี้เมื่อมันมีเรามีเขา มันก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย
ดังนั้นแหละจงบำเพ็ญกุศลธรรม คือความเฉลียวฉลาดให้เกิดมีขึ้นในจิตใจของตนให้ได้
ความทุกข์ทางใจนี้มันก็จะน้อยเบาบางออกไปจากจิตใจ

ดังแสดงมา ขอจบลงเพียงเท่านี้


ที่มา : หนังสือ ธรรมโอวาท หลวงปู่เหรียญ ๗
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
ที่ระลึกงานทอดกฐินสามัคคี
วัดป่าพิชัยวัฒนมงคล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
หัวข้อ ไม่ผิดศีลก็ไม่ผิดใจคน (หน้า ๙-๒๑)
จากซีดี แผ่นที่ ๒๑ กัณฑ์ที่ ๘
:b8: :b8: :b8:

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร