วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 20:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ย. 2014, 11:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


บ้านดงหม้อทอง
ต.ดงหม้อทองใต้ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร


คำขวัญประจำอำเภอ

ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร ถิ่นฐานภูไท
ลำน้ำใหญ่สงคราม สวยลือนามแก่งเต่าลี่ผี
พุทธสถานงามดีศิลาอาสน์


:b47: :b47:

ในอดีต บ้านดงหม้อทอง เป็นสถานที่อันวิเวกสงบดี
มีสัตว์ป่าชุกชุม และอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้นานาพันธุ์
ปัจจุบันมีอาณาเขตติดต่อกันกับอีกสามจังหวัด คือ
จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอุดรธานี

ในสมัยครูบาอาจารย์ท่านออกปฏิบัติ ได้แก่ พระอาจารย์ขาว อนาลโย
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอาจารย์สอน อุตฺตรปญฺโญ
และพระอาจารย์จันทา ถาวโร
เป็นต้น
ก็ได้มาอาศัยสถานที่บริเวณแห่งนี้เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนา
ดังมีปรากฏในบันทึกประวัติของพระอาจารย์ทั้งสี่หลายตอนด้วยกัน
ในปัจจุบันนับตั้งแต่สมัยพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ มาพำนักอยู่
ก็ได้มีการปรับปรุงเสนาสนะขึ้นเป็นวัดป่าชื่อ วัดป่าดงหม้อทอง ศิลาอาสน์


รูปภาพ
แผนที่แสดงเน้น อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร
ภาพจาก : th.wikipedia.org



ริเริ่มบุกเบิกโดยพระอาจารย์จวน

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๖ มีหมู่บ้านชื่อ หมู่บ้านโพนไผ่
เป็นหมู่บ้านตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำสงคราม มีลักษณะเป็นป่าช้าง ดงเสือ
คือเป็นป่าหนาทึบเต็มไปด้วยสัตว์ป่าที่ดุร้าย
ในช่วงนั้น พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้ธุดงค์ผ่านมาที่หมู่บ้านโพนไผ่
ท่านได้นั่งสมาธิเห็นอดีตชาติของตนที่เคยอยู่อาศัยกับพ่อแม่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ซึ่งปัจจุบันคือ หมู่บ้านดงหม้อทอง จึงเดินทางออกธุดงค์ตามที่ท่านได้นิมิตเห็น

ในนิมิตนั้นปรากฏโขดหินขนาดใหญ่ ป่าที่หนาทึบเต็มไปด้วยสัตว์ที่ดุร้าย
และเป็นบริเวณที่ราบสูงล้อมลอบด้วยแม่น้ำ และมีถ้ำ
จึงได้พาชาวบ้านโพนไผ่ส่วนหนึ่งมาหาและปรากฏว่าได้เห็นสถานที่ตามที่นั่งสมาธิอยู่จริง
จากนั้นก็ท่านก็เลยพาชาวบ้านอพยพจากบ้านโพนไผ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แห่งนี้
และได้สร้างวัดชื่อ วัดป่าศิลาอาสน์ (วัดป่าดงหม้อทอง ศิลาอาสน์)
ตั้งอยู่ที่บ้านดงหม้อทอง หมู่ที่ ๒ ตำบลดงหม้อทองใต้ อำเภอบ้านม่วง
จังหวัดสกลนคร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖


สภาพวัดในปัจจุบัน

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัด

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
เสนาสนะต่างๆ ภายในวัด
ภาพจาก : http://www.m-culture.in.th

:b42: :b42:

ในประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านบันทึกไว้ว่า

“ตั้งแต่พรรษาที่ ๑๑ จนถึงพรรษาที่ ๑๓
ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองโดยตลอด
เพราะเป็นที่สงบสงัดดี สภาพของป่าดงดิบหนาทึบที่เต็มไปด้วยไม้ใหญ่
มีถ้ำ มีเงื้อมหินเผา และพลาญหินพร้อมทั้งสัตว์ป่าอันดุร้าย
ที่จะช่วยกำราบกิเลสให้อ่อนราบลง...
เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องช่วยในการภาวนาทั้งนั้น
การภาวนาดี จิตสงบ รวมเร็ว

เฉพาะพรรษาที่ ๑๑ มีพระ ๒ องค์ รวมทั้งข้าพเจ้าและเณร ๑ องค์
จำพรรษาอยู่ด้วยกัน โดยที่การคมนาคมลำบาก เพราะเป็นดงป่าหนาทึบจริงๆ
ข้าพเจ้าจึงชักชวนญาติโยมช่วยกันตัดถนน
จากดงหม้อทองมาออกบ้านมาย บ้านดู่ ใช้เวลา ๓ เดือนจึงสำเร็จ
ทำให้รถและเกวียนสามารถเดินได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

พอออกพรรษาแล้ว “หลวงปู่ขาว” ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณรังสี
จังหวัดหนองคาย แต่งคนให้มาหาข้าพเจ้า ให้ไปรับท่านออกมาวิเวก
ให้หาสถานที่ที่เหมาะสมก่อนแล้วค่อยไปรับท่าน
ระหว่างนั้นข้าพเจ้ามีเพื่อนพระภิกษุอีกองค์หนึ่ง แต่ท่านเป็นไข้
ระยะแรกดงหม้อทองกันดารมาก จะมีพระอยู่มากก็ไม่ได้
เพราะมีบ้านบิณฑบาตเพียง ๓ หลังคาเรือนเท่านั้น
พอดี “ท่านพระอาจารย์สอน อุตฺตรปญฺโญ” ธุดงค์มาถึง
ข้าพเจ้าจึงชวนให้อยู่เป็นเพื่อน เพื่อช่วยปรนนิบัติหลวงปู่ขาว
และช่วยทำเสนาสนะถวายให้หลวงปู่และหมู่พวกที่จะติดตามท่านมา

ข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์สอนจัดเสนาสนะพร้อมแล้ว
ก็ไปรับหลวงปู่ขาวออกมาวิเวก ท่านพอใจความสงัดเงียบ
เงื้อมถ้ำและพลาญหินที่ดงหม้อทองมาก
จึงอยู่ต่อไปกระทั่งถึงเวลาเข้าพรรษา

หลวงปู่และพระติดตามอีก ๗-๘ องค์ ผ้าขาว ๒ คน และแม่ชีอีก ๔-๕
จึงตกลงอธิษฐานพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองด้วยกันทั้งหมด
อาหารขบฉันก็ได้ชาวบ้านนำมาส่งเป็นเสบียง
และอาศัยแม่ชีช่วยทำถวายเป็นหลักมากกว่าการบิณฑบาต
เพราะระยะนั้นจำนวนญาติโยมมีน้อยกว่าพระมากนัก

พรรษาที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งหลวงปู่ขาวมาจำพรรษาด้วยนี้
ต่างพากันปรารภความพากความเพียรอย่างเต็มความสามารถของตน
ฉันเสร็จ ต่างองค์ต่างก็แยกกันไปทำความเพียร
ประมาณบ่าย ๓ โมง กวาดตาด (กวาดลานวัด)
แล้วก็ไปรวมกันสรงน้ำหลวงปู่
เสร็จแล้วต่างสรงน้ำและฉันน้ำร้อนแล้วกลับไปเดินจงกรม
ต่างองค์ต่างสวดมนต์ ตอนเย็นไปรวมกันที่ศาลา
ถ้าใครมีปัญหาก็เรียนถามหลวงปู่
บางวันท่านก็เทศน์ บางวันก็ไม่เทศน์ เพียงแต่สนทนาธรรม
แต่สำหรับวันพระนั้น พระเณร ชี มารวมกันฟังธรรมหลวงปู่หมดทุกองค์

ระหว่างอยู่ดงหม้อทองกับหลวงปู่ขาวนี้ กลางคืนวันหนึ่งได้ลงอุโบสถ
ปรากฏมีพวกเสือเขามากัดกันข้างก้อนหิน ข้างกุฏิที่พระกำลังลงอุโบสถ
ฟังจากเสียงที่กัดหยอกล้อกันนั้นคงจะมีเสือหลายตัวอยู่
มันกัดกันเล่นกันตั้งแต่พระเริ่มสวดปาฏิโมกข์
จนกระทั่งสวดปาฏิโมกข์จบ มันก็ยังไม่เลิกกันกัน
ร้องหยอกล้อต่อกัน ต่อเมื่อภายหลังหลวงปู่ท่านคงจะรำคาญ
จึงตวาดเอ็ดตะโรออกไปมันจึงค่อยสงบลง แต่ก็ครางอู้อี้ต่อไปอีกพักใหญ่


อีกวันหนึ่ง ตอนบ่ายเวลาประมาณบ่ายโมง ข้าพเจ้ากำลังนั่งพักผ่อนอยู่บนกุฏิ
เห็นช้างป่าโขลงใหญ่พากันยกขบวนเข้ามาหากินในเขตวัด
บ้างก็หักกิ่งไม้ดังสนั่น บ้างก็ลงกินน้ำในห้วยซึ่งอยู่เบื้องล่างกุฏิของข้าพเจ้า
เนื่องจากข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์สอนได้เลือกชัยภูมิสร้างกุฏิกันเป็นอย่างดี
โดยต่างสร้างกุฏิบนหลังพลาญหินก้อนสูงใหญ่ซึ่งต่างมีขนาดสูงใหญ่ไล่เลี่ยกัน
คือแต่ละก้อนต่างกว้างประมาณกว่าห้าเมตร
ยาวเกือบยี่สิบเมตร และสูงถึงกว่าสิบห้าเมตร
พลาญหินทั้งสองก้อนที่ข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์สอนตั้งกุฏิอยู่
จึงเป็นเหมือนกำแพงแท่งศิลาทึบ ยาวเหยียดตั้งขนานกัน
โดยตรงระหว่างกลางมีห้วยหนองน้ำคั่นอยู่
ซึ่งมีสัตว์ป่านานาชนิดชอบลัดเลาะเข้ามาหาอาหารและกินน้ำเป็นประจำ
เวลานั่งบนกุฏิหรือเดินจงกรมอยู่บนพลาญหิน จึงสามารถเห็นเก้ง กวาง ช้าง เสือ
หมูป่า หรือหมี เข้ามาเดินท่องไพรอยู่ข้างล่างได้อย่างถนัดตา
สำหรับบ่ายวันนั้นช้างฝูงนั้นคงจะสำราญใจเต็มที่ มันจึงเข้ามาเดินเที่ยวกันอย่างเสรี
เท่าที่เห็นด้วยตา มันมาอยู่ที่เชิงหินริมห้วยก็สิบกว่าตัวแล้ว
แต่ที่ยังอยู่ในป่าใกล้ๆ ก็คงจะมีอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
เพราะฟังจากเสียงที่มันหักกิ่งไผ่ กิ่งยาง ทิ้งถอนต้นไม้เล็กก็ดังสนั่นไปทั้งป่า

อย่างไรก็ดีเสนาสนะในดงหม้อทองนี้ ใช่ว่ากุฏิทุกหลังจะปลอดภัย
จากสัตว์ป่าเสมอไปก็หาไม่ บางหลังอาจจะอยู่ในชัยภูมิที่ปลอดภัยจากช้าง
แต่ก็อาจจะมีเสือเข้ามาเยี่ยมกรายได้ อย่างเช่น กุฏิของพระบุญทัน
ท่านกำลังจะออกจากกุฏิมองออกไปเห็นเสือใหญ่ตัวหนึ่ง
เข้ามานั่งจงโคร่งอยู่ตรงบันไดทางขึ้นกุฏิของท่าน
ท่านต้องรออยู่พักใหญ่ จนเสือจากไปแล้วจึงสามารถออกจากกุฏิได้


คืนหนึ่ง พระเณรฉันอาหารธาตุขันธ์ไม่ถูกกันก็จะต้องรีบเข้าส้วม
ท่านพระอาจารย์สอนไปไม่ทันเณร ซึ่งวิ่งถลันเข้าไปจับจองก่อน
ธาตุขันธ์ไม่ยอมรอเวลา ท่านจึงต้องเลี่ยงเข้าป่าไป
ปรากฏมีเสือกระโดดข้ามศีรษะท่านสอนไปเลย ท่านว่าท่านรู้สึกเย็นวาบไปทั้งตัว
เสือมันกระโจนเข้าไปทางส้วมที่เณรกำลังอยู่
พอรู้ว่าเสือ เณรก็กระโจนแผล็ววิ่งออกมาป่าราบ
เคราะห์ดีที่เจ้าเสือตัวนั้นมันคงผ่านเข้าป่าไปแล้ว เณรจึงไม่ต้องประจันหน้ากับมัน

กุฏิของหลวงปู่ขาว อยู่ห่างจากกุฏิของข้าพเจ้าและของท่านพระอาจารย์สอน
เข้าไปในแนวป่าอีกด้านหนึ่ง ตั้งอยู่บนพลาญหินเช่นเดียวกัน
แต่มิได้เป็นหินก้อนโดดๆ เหมือนเป็นภูเขาลูกย่อมๆ เช่นของเรา
ด้านหนึ่งของพลาญหินของหลวงปู่ อยู่ติดกับราวป่า
ผ้าขาวที่ติดตามท่านมา ปลูกกระต๊อบอยู่ลึกเข้าไปในป่าทางด้านนั้น
ฉะนั้น วันหนึ่งช้างจึงเดินเล่นเลยขึ้นมาบนพลาญหิน
และต่อไปถึงกระต๊อบของผ้าขาวผู้นั้น มันเอางวงหยิบรองเท้าออกมาเล่น
และโยนเข้าป่า ไปถอนบันไดกุฏิออกมาและโยนเข้าป่าไปด้วย
มันเอางวงควานหาของเล่นอยู่พักใหญ่ เห็นหมดเครื่องกีดหน้าขวางตาแล้ว
ก็เตรียมลาจากไปแต่ก็ยังอดนึกสนุกไม่ได้ มันเอางวงมาดุน-ดุนฝาจนกุฏิแทบโยก
ปกติผ้าขาวเจ้าของกระต๊อบนั้นเป็นคนหูหนัก อาจจะไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ
ระหว่างช้างมันยื่นงวงเข้ามาหยิบรองเท้า โยกบันได
แต่เมื่อถึงคราวฝากกระต๊อบของแกโยก ผ้าขาวก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้
พอเห็นว่าเป็นช้างป่าแกก็กระโจนหนีไปหาหลวงปู่ที่กุฏิทันที ตัวสั่นงันงก
พูดไม่ออกไปพักใหญ่ เสียเวลาซักไซ้ไล่เลียงกันนานกว่าจะรู้เรื่องและตั้งสติได้

การที่มีสัตว์ป่าเข้ามาเยี่ยมกรายเราบ่อยๆ นี้
ทำให้บรรดาพระเณรพากันระมัดระวังตัว
ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียรอย่างขะมักเขม้นมิได้ประมาทเลย”


:b44:

เรื่องเสือหลายตัวมาหยอกล้อกันใต้ถุนกุฏิขณะพระกำลังประชุมกันนี้
ในประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านก็ได้กล่าวถึงไว้เช่นกัน


:b44:

หลวงปู่ขาว อนาลโย พูดถึงปีที่ท่านจำพรรษาที่ดงหม้อทอง
ว่าอุบายต่างๆ เกิดขึ้นโดยสม่ำเสมอ และต้องคอยเตือนพระเสมอ
ไม่ให้ประมาทในการรักษาธุดงควัตร
เพราะอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ควรระวังหลายอย่างต่างๆ กัน
โดยอาศัยธุดงควัตรเป็นเส้นชีวิตจิตใจ
มีธรรมวินัยเป็นที่ฝากตาย ใจจึงอยู่เป็นสุข
ไม่หวาดเสียวสะดุ้งกลัวต่างๆ


การขบฉันก็น้อย เพียงเยียวยาธาตุขันธ์ไปวันๆ เท่านั้น
เพราะศรัทธาญาติโยมมีน้อยและเป็นบ้านเพิ่งตั้งใหม่
มีไม่กี่หลังคาเรือน ยังไม่เป็นหลักฐานมั่นคง
และเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้หนักแน่นในธรรมะ
จึงพึงฝึกฝนอดทนเพื่อธรรม-ความอยู่สบายภายใน
จึงไม่กังวลกับที่อยู่อาศัยและอาหารการบิณฑบาตให้มากไป
อันจะเป็นอุปสรรคต่อความเพียร

ยาแก้ไข้ ก็คือ ความอดทน ต่อสู้ด้วยความเพียรทางสมาธิภาวนา
โดยถือเอาสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เป็นเพื่อนและสักขีพยานว่า
เขาก็มิได้เกิดมากับหยูกยาชนิดต่างๆ และคลอดที่โรงพยาบาล

มีหมอและนางพยาบาลคอยรักษาผดุงครรภ์
แต่เขายังเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ สืบต่อกันมาได้เต็มป่าเต็มเขา
โดยไม่แสดงความโศกเศร้าเสียใจว่าตนขาดการบำรุงรักษา
ด้วยยาและนางพยาบาลตลอดเครื่องบำรุงต่างๆ

ส่วนพระเป็นมนุษย์ชาติและเป็นศากยบุตร
พุทธชาติศาสดาองค์ลือพระนามสะเทือนทั่วไตรภพ
ว่าเป็นผู้ทรงเรียนจบคัมภีร์ไตรภูมิด้วยพระขันติวิริยะ
พระปัญญาปรีชาสามารถในทุกทาง
ไม่มีคำว่า จนตรอก อ่อนแอ ท้อถอย

แต่พระเราจะถอยหลังหลั่งน้ำตาเพราะความทุกข์ลำบาก
เพียงการเจ็บไข้ได้ป่วยอันเป็นธรรมดาแห่งขันธ์เท่านั้น
ก็ต้องเป็นผู้ขาดทุนล่มจม จะนำตนและศาสนาไปไม่ตลอด


นอกจากเป็นผู้อาจหาญอดทนต่อสภาพความมีความเป็นความสัมผัสทั้งหลาย
ด้วยสติปัญญาหยั่งทราบไปตามเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้องเท่านั้น
ไม่มีทางอื่นที่จะเอาตัวรอด หวังจอดในที่ปลอดภัยได้

จิตเมื่อได้รับการอบรมในทางที่ถูก ย่อมมีความรื่นเริงในธรรม
พอใจประคองตนไปตามวิถีแห่งมรรคและผล
ไม่มีการปลีกแวะ ไม่สร้างความอับจนไว้ทับถมตัวเอง

ปฏิปทาก็สม่ำเสมอ ไม่ท้อถอยน้อยใจว่าตนขาดที่พึ่งทั้งภายนอกภายใน
มีใจกับธรรมเป็นเครื่องชโลมหล่อเลี้ยงให้เกิดความอบอุ่นเย็นใจ
อยู่ที่ใดก็เป็น “สุคโต” แบบลูกศิษย์ตถาคต
ไม่แสดงความอดอยากขาดแคลนในทางใจ

พระธุดงคกรรมฐานที่มุ่งต่อธรรม ท่านไปแล้วอยู่โดยอาการอย่างนี้
ท่านจึงอยู่ได้ไปได้ ยอมอด ทนลำบากหิวโหยได้อย่างสบาย
หายห่วงกับสิ่งทั้งปวง มีธรรมเป็นอารมณ์ของจิตใจ


:b40: :b40:

ในส่วนเรื่องราวที่พระอาจารย์จันทา ถาวโร
เมื่อครั้งท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์ ขออยู่ปฏิบัติท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย
และท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่บ้านดงหม้อทองนี้
ท่านเล่าไว้เกี่ยวกับการอุปัฏฐากรับใช้ท่านพระอาจารย์ทั้งสอง
โดยการปฏิบัติครูบาอาจารย์อยู่ที่นี่เป็นอีกระยะหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์ใหญ่
ดังในประวัติกล่าวไว้ดังนี้


“ครั้นออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็ได้ข่าวว่า
ท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย และท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ได้บุกป่าฝ่าดงใหญ่เข้าไปทำความเพียรภาวนา
อยู่ใน “ดงหม้อทอง” อ.วานรนิวาส (ในสมัยนั้น) จ.สกลนคร
ซึ่งเป็นดงหนาป่าทึบ มีถ้ำใหญ่ๆ อยู่มาก
มีภูผาโขดหินและพลาญหินสวยงาม
ทั้งสัตว์ป่าดุร้ายก็ชกชุม ทั้งเสือทั้งช้าง
เหมาะที่จะช่วยพระกรรมฐานกำราบกิเลสให้อ่อนราบลง

พระอาจารย์จันทาได้เดินทางไปกราบนมัสการ
ท่านหลวงปู่ขาวและท่านพระอาจารย์จวน
ขอฝากตัวเป็นศิษย์รับการอบรมอยู่ด้วย

ดงหม้อทองนี้ท่านพระอาจารย์จวนเพิ่งมาอยู่
ได้ ๑ พรรษา (มาอยู่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖)
มีพระ ๒ องค์และเณร ๑ องค์ ได้ชักชวนญาติโยม
ช่วยกันตัดถนนออกจากดงหนาป่าทึบแห่งนี้มายังบ้านดู่บ้านมาย
ใช้เวลา ๓ เดือน จึงสำเร็จพอให้เกวียนและรถผ่านเข้าออกได้

จึงเป็นอันว่าพรรษานี้ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗
ท่านพระอาจารย์จันทาก็ได้อธิษฐานเข้าพรรษา
พร้อมกับคณะหลวงปู่ขาวพอดีที่ดงหม้อทอง

วัตรปฏิบัติประจำวันคือ ฉันมื้อเดียว
เสร็จแล้วต่างองค์ต่างก็แยกกันไปทำความเพียร
ตามอุบายของตนที่เห็นว่าแยบคาย

พอถึงบ่าย ๓ โมงช่วยกันกวาดลานสำนัก แล้วจึงไปรวมกันสรงน้ำหลวงปู่ขาว
จากนั้นพากันไปสรงน้ำตัวเองให้เบาสบาย แล้วจึงไปฉันน้ำร้อน
และกลับไปเดินจงกรมและต่างองค์ต่างก็สวดมนต์

ครั้นถึงตอนใกล้พลบค่ำจึงไปรวมกันที่ศาลา
ใครมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติธรรมก็เรียนถามหลวงปู่ขาว

บางวันหลวงปู่ขาวก็เทศน์ บางวันก็ไม่เทศน์ เพียงแต่สนทนาธรรม
แต่ในวันพระนั้นพระเณรเถนชีต้องมาหมดเพื่อฟังธรรมของหลวงปู่ขาว


:b45:

พระอาจารย์จันทาระลึกได้ว่า ในตำนานกล่าวถึงพระภิกษุ ๕๐๐ องค์
และสามเณร ๑ องค์ ในสมัยพระพุทธเจ้าโกนาคมน์นั้น
สามเณรน้อยได้คอยปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์ ๕๐๐ องค์
ด้วยความปีติเลื่อมใส ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก
อานิสงส์นั้นทำให้สามเณรน้อยได้บุญกุศลมากเข้าถึงมรรคผลนิพพานในกาลต่อมา

ดังนั้น พระอาจารย์จันทาจึงเอาอย่างสามเณรน้อยองค์นั้นบ้าง
ด้วยการปรนนิบัติรับใช้ท่านหลวงปู่ขาวและท่านพระอาจารย์จวนอย่างเต็มที่

ตอนนั้นพระอาจารย์จันทาอายุเพิ่ง ๓๐ เศษ ยังแข็งแรงมาก
ก็เอาบันไดทอดลงไปในเหวลึกที่มีบ่อน้ำใสสะอาด
ตักน้ำขึ้นมาใส่ตุ่มใส่ถังในสำนักไว้ วิ่งขึ้นวิ่งลงเหวไม่มีเหนื่อย
ทำอยู่ทุกวันไม่ให้น้ำขาดตุ่มขาดไห
ให้แต่ความร่มเย็นแก่ครูบาอาจารย์และผู้ทรงศีลในสำนัก

'ผลจากการที่อาตมาปรนนิบัติรับใช้ท่านหลวงปู่ขาวและท่านพระอาจารย์จวน
ด้วยน้ำเย็นและน้ำอุ่นน้ำร้อนตลอดเวลา ๕ เดือน
เป็นอานิสงส์ใหญ่ในกาลเวลาต่อมาภายหลัง

คือว่า เวลาอาตมาไปไหนมาไหนไม่เคยขาดน้ำ มีความชุ่มเย็นอยู่เสมอ
เวลาเดินธุดงค์หน้าแล้งร้อนมาก ฉันน้ำครั้งเดียวในตอนเช้า
แล้วไม่ต้องฉันอีกทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่รู้สึกกระหายน้ำแต่อย่างใดเลย
จะมาฉันอีกทีก็เช้าวันรุ่งขึ้น อันนี้เป็นอานิสงส์ที่มหัศจรรย์'


ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์จันทาได้กราบลาท่านหลวงปู่ขาว
และท่านพระอาจารย์จวน ออกแสวงวิเวกตามธรรมเนียมของพระธุดงคกรรมฐาน”


:b44: :b44:

รูปภาพ
พระอาจารย์ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
อ่านประวัติและปฏิปทา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22390

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) จ.บึงกาฬ
อ่านประวัติและปฏิปทา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=23167

รูปภาพ
พระอาจารย์จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย จ.พิจิตร
อ่านประวัติและปฏิปทา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21128


:b47: :b47:

:b8: :b8: :b8: ขอบคุณที่มาข้อมูล ::
http://www.m-culture.in.th
http://watphutok.blogspot.com/2013/09/1 ... -2498.html
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48694
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48700

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2018, 14:24 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2019, 08:11 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2019, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2021, 10:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: Kiss
สถานที่ภาวนาของครูบาอาจารย์ในอดีต บารมีธรรมของท่านก็ยังรักษาอยู่จวบจนปัจจุบันนี้

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร