วันเวลาปัจจุบัน 07 ก.ย. 2024, 21:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ธ.ค. 2008, 13:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หอระฆัง วัดเกาะแก้วสุทธาราม จ.เพชรบุรี


หอระฆัง-หอกลอง โมงยามในวัฒนธรรมไทย

ในสมัยโบราณ การบอกเวลาในโมงยามต่างๆ จะใช้การตีกลองและระฆังเป็นสำคัญ ดังจะพบว่า มีการสร้างอาคารสำหรับแขวนกลองและระฆังเหล่านี้ในการเป็นศูนย์กลางของการบอกเวลาที่เรียกว่า “หอระฆังและหอกลอง”

หอระฆังและหอกลอง เป็นอาคารประเภทหนึ่งที่ปรากฏการสร้างมาแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยมากพบในวัดทั้งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ใช้แขวนระฆังและกลองสำหรับตีบอกเวลา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทราบเวลาสำหรับการประกอบวัตรปฏิบัติต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกันอันได้แก่ การทำวัตรเช้า-เย็น การฉันเพล เป็นต้น

รูปแบบและโครงสร้างของหอระฆังและหอกลองนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจแตกต่างกันเฉพาะชื่อเรียกเท่านั้น โดยทั่วไปมักสร้างขึ้นโดยใช้แผนผังรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยเน้นให้มีรูปทรงสูง สามารถจำแนกประเภทได้ ๒ ประเภท คือ

รูปภาพ
หอกลองวัดโคกบัวราย จ.สุรินทร์


๑. ชนิดเครื่องไม้ หมายถึงประเภทที่สร้างตัวอาคารด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ เป็นไม้ทั้งสิ้น มีไม้พาดเป็นขื่อสำหรับแขวนระฆังหรือกลอง มีความโปร่งโล่ง เพราะไม่ได้ก่อฝาผนังทึบตัน เช่น หอระฆัง วัดเกาะแก้วสุทธาราม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า รูปแบบของหอระฆังนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังคงความเป็นเรือนเครื่องไม้แบบโบราณ

นอกจากนี้ยังพบหอกลองชนิดเครื่องไม้ที่มีคุณค่ายิ่ง คือ หอกลอง วัดโคกบัวราย อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นหอกลองสูงสามชั้น มีความเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน โครงสร้างก็เป็นแบบโปร่งโล่งและมีเอกลักษณ์ของศิลปกรรมท้องถิ่น ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่า

รูปภาพ
หอระฆัง วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ


๒. ชนิดเครื่องก่อ หมายถึงประเภทที่สร้างด้วยโครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกับตึก ชั้นล่างโถงโล่ง มีบันไดเชื่อมต่อชั้นบน หอระฆังและหอกลองชนิดเครื่องก่อนี้มีทั้งที่ก่ออิฐเป็นผนังทึบตันและแบบโปร่งเช่นเดียวกับเครื่องไม้ อาทิ หอระฆังที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบจัตุรมุข คือมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ยกพื้นสูงมีบันไดทางขึ้นเตี้ยๆ ผนังโล่ง โครงสร้างไม่สูงมากนัก

สำหรับหอกลองที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ หอกลองประจำพระนคร ซึ่งเป็นหอสูงสามชั้น สร้างด้วยไม้ผสมการก่ออิฐ หลังคาเป็นทรงยอดสูง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอกลองประจำเมืองขึ้นที่บริเวณใกล้คุกเก่า ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนฯ ปัจจุบันคือที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน ภายในประดิษฐานกลองขนาดใหญ่ ๓ ใบ คือ กลองย่ำพระสุริย์ศรี สำหรับตีบอกเวลา กลองอัคคีพินาศ สำหรับตีเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และ กลองพิฆาตไพรี สำหรับตีเมื่อเกิดศึกสงคราม ปัจจุบันได้รับการบูรณะให้มีความแข็งแรงตามรูปแบบเดิม

ในปัจจุบัน วัดยังคงใช้การตีระฆังและกลองเพื่อบอกเวลาปฏิบัติกิจของสงฆ์เช่นเดิม นอกจากเป็นเสียงที่ดังกังวาลและเยือกเย็นแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของการสร้างหอระฆังและหอกลองของไทยไว้ด้วย

รูปภาพ
หอกลองประจำเมือง กรุงเทพฯ


เอกสารอ่านประกอบ
• กรมศิลปากร. วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๔๐.
• สงวน รอดบุญ, พุทธศิลปรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๒๖.
• สมคิด จิระทัศนกุล. วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๔.



:b8: :b8: :b8: หนังสือธรรมลีลา โดย นฤมล สารากรบริรักษ์
คัดลอกมาจาก...หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร