วันเวลาปัจจุบัน 16 ก.ย. 2024, 06:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กลุ่มพระปัญจวัคคีย์

ได้กล่าวถึงเรื่องราวทั่วไปเกี่ยวกับพระอสีติมหาสาวกมาแล้ว ต่อไปนี้จักได้กล่าวถึงประวัติของแต่ละรูปโดยแบ่งกล่าวเป็นกลุ่มๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มพระปัญจวัคคีย์ คือ กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ ๕ รูป ที่ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้าและเฝ้าถวายการอุปัฏฐากคราวที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พระ ๕ รูปนั้นคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้


๏ สถานะเดิม

พระปัญจวัคคีย์เกิดในวรรณะพราหมณ์ ที่หมู่บ้านโทณวัตถุอันเป็นหมู่บ้านที่คนวรรณะพราหมณ์อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ พระอัญญาโกณฑัญญะเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีนามเดิมว่า ‘โกณฑัญญะ’ ตามชื่อตระกูล ส่วนพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ต่างเป็นบุตรของพราหมณาจารย์ในจำนวนพราหมณาจารย์ ๘ คนที่ทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารสิทธัตถะ

๏ ชีวิตฆราวาส

กล่าวถึง โกณฑัญญะ ก่อน โดยเหตุที่เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ชีวิตฆราวาสของท่านจึงดำเนินมาด้วยดี เมื่อเจริญวัยขึ้นท่านได้ศึกษาวิชาไตรเพทอันเป็นวิชาชั้นสูงและศึกษามนตร์ตรวจดูลักษณะคนควบคู่ไปด้วย แม้จะอยู่ในวัยหนุ่มท่านก็มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านทำนายลักษณะคน ความสามารถนี้เองเป็นเหตุให้ท่านได้รับเชิญเข้าไปทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารสิทธัตถะ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาทรงให้มีพระราชพิธีถวายพระนามพระราชกุมาร โดยทรงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ ท่านมารับภัตตาหารในพระราชวัง พราหมณ์ ๑๐๘ ท่านนั้นต่างล้วนทรงไว้ซึ่งวิทยาคุณแตกฉานในไตรเพทและเจริญด้วยคุณวุฒิ ส่วนมากแล้วเป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่อายุล่วงเข้าวัยชรา เมื่อพระราชพิธีถวายพระนามเสร็จสิ้นแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอให้เลือกพราหมณ์ ๘ ท่าน ที่เชี่ยวชาญการทำนายลักษณะของคน มาทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร ปรากฏว่าพราหมณ์ทั้ง ๘ ท่านที่ได้รับคัดเลือกนั้น มีโกณฑัญญะรวมอยู่ด้วย

โกณฑัญญะเป็นพราหมณ์หนุ่มรุ่นลูกหากเทียบกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ ๗ ท่านที่เหลือ แต่มีความเชี่ยวชาญการทำนายลักษณะของคนเกินวัย ท่านมีความเชื่อมั่นสูง ดังนั้นเมื่อตรวจดูพระลักษณะของพระราชกุมารแล้ว จึงได้ทำนายยืนยันเป็นทางเดียวว่า

“พระราชกุมารจักเสด็จออกผนวชและจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน”

ส่วนพราหมณ์ผู้ใหญ่ ๗ ท่าน ได้ทำนายเป็น ๒ ทางว่า

“ถ้าอยู่ครองฆราวาส พระราชกุมารจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า”

พราหมณ์หนุ่มโกณฑัญญะ เชื่อมั่นในคำทำนายของตนมากถึงขนาดตั้งใจจักออกบวชตามคราวที่พระราชกุมารเสด็จออกผนวช ฝ่ายพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่เป็นบิดาของวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ครั้นกลับไปบ้านแล้วก็ได้บอกบุตรของตนให้ออกบวชตามโกณฑัญญะเมื่อเวลานั้นมาถึง ทั้งนี้เป็นด้วยความเชื่อมั่นว่า การเสด็จออกผนวชของพระราชกุมารสิทธัตถะไม่ไร้ผลอย่างแน่นอน


๏ การออกบวช

โดยที่ตั้งใจไว้เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ครั้นพระราชกุมารสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ โกณฑัญญะซึ่งบัดนี้อายุย่างเข้าวัยกลางคนแล้วกับพราหมณ์หนุ่มรุ่นน้องอีก ๔ คน ดังกล่าวมาแล้วคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ก็ได้สละเพศฆราวาสออกบวชเป็นฤาษี รอนแรมติดตามไปเฝ้าถวายการอุปัฏฐากพระมหาบุรุษอยู่ ณ ที่นั่น และเนื่องจากลุ่มคนที่ออกบวชครั้งนั้นมีอยู่ ๕ คน จึงมีชื่อเรียกรวมว่า ‘ปัญจวัคคีย์’ (ผู้มีพวก ๕ คน) ในเวลาต่อมา

พระปัญจวัคคีย์ได้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาไม่พร้อมกัน ผู้ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมก่อนก็ได้รับอนุญาตให้บวชก่อน โกณฑัญญะได้รับพุทธานุญาตให้บวชเป็นคนแรก เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ วัปปะและภัททิยะได้รับพุทธานุญาตให้บวชเป็นรายที่ ๒ ในวันแรม ๒ ค่ำ ส่วนมหานามะและอัสสชิได้รับพุทธานุญาตให้บวชเป็นรายสุดท้าย ในวันแรม ๔ ค่ำ ในเดือนเดียวกันนั้นเอง พระไตรปิฎกกล่าวถึงการบวชของท่านไว้ว่า

แรกทีเดียวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น พระปัญจวัคคีย์ไม่ยอมรับว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แม้พระองค์จะตรัสยืนยันถึง ๒ ครั้ง การที่พระปัญจวัคคีย์ไม่ยอมรับสืบเนื่องมาจากว่าพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับมาเสวยพระกระยาหาร แล้วทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต เพราะพระปัญจวัคคีย์มีความเชื่อมาแต่เดิมว่าการทรมานตนเองให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ เท่านั้นจะทำให้พบความหลุดพ้น จนเมื่อพระองค์ตรัสบอกให้พวกท่านหวนระลึกถึงความหลังครั้งเคยอยู่ด้วยกันว่า เคยได้ยินพระองค์ตรัสเช่นนี้บ้างหรือไม่ พระปัญจวัคคีย์หวนระลึกและไม่เคยได้ยิน จึงยอมละทิฐิมานะและยอมฟังพระองค์แสดงธรรม

ขั้นแรก พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า นักบวชไม่ควรทำกิจ ๒ อย่างคือ การหมกมุ่นอยู่กับกามสุขและการทรมานตนเองให้ลำบาก พระองค์ทรงเรียกกิจ ๒ อย่างนี้ว่า ‘ที่สุดโต่ง’ จากนั้นทรงให้เหตุผลว่า การหมกมุ่นอยู่กับความสุขเป็นของต่ำช้า เป็นกิจกรรมของปุถุชนผู้ครองเรือน เป็นที่สุดโต่งข้างหย่อนยานส่งเสริมให้เกิดความหลงใหลในกามคุณ ส่วนการทรมานตนเองให้ลำบากเป็นกิจกรรมที่ทำให้ตน เองเหน็ดเหนื่อย เป็นที่สุดโต่งข้างตึงเครียด เปล่าประโยชน์

ขั้นต่อมา ทรงชี้ให้ดำเนินตามทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วยความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) การพูดชอบ (สัมมาวาจา) การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ความระลึกชอบ(สัมมาสติ) ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ทางสายกลางนี้แหละพระองค์ตรัสรู้มาด้วยปัญญาอันสูง เป็นทางทำให้ดำเนินไปถึงความสงบและทำให้ได้รู้แจ้งอริยสัจ

ขั้นสุดท้าย ทรงอธิบายให้ทราบว่า อริยสัจ คือความจริงของชีวิตที่เมื่อรู้แล้ว ทำให้ละกิเลสได้ ความจริงดังกล่าวนั้นมี ๔ ประการ คือ

๑. ทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย การได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก การไม่ได้ดังใจปรารถนา เหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ ซึ่งบีบคั้นให้ชีวิตต้องตึงเครียดและทรมาน

๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์นั้นมีมาจากเหตุ เหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากต่างๆ นับตั้งแต่ความอยากที่จะได้ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัส ตลอดถึงความอยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ


๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ทุกข์นั้นดับได้โดยดับที่เหตุ คือดับความอยาก เพราะถ้าความอยากไม่เกิดก็ไม่ต้องมีการดิ้นรนให้ได้มา เมื่อไม่ดิ้นรนทุกข์ก็จะไม่เกิดไปโดยปริยาย

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรค พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า การจะดับความอยากได้นั้นต้องดำเนินไปตามทางสายกลางคือมรรคมีองค์ ๘ ทางสายนี้ทำให้ไม่ยึดติดในกามสุข และทำให้ไม่หลงผิดทรมานตนเองให้ลำบาก เป็นทางสายตรงมุ่งสู่ความสงบสุขสูงสุดดับทุกข์ได้สิ้นเชิง

พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้จัดเป็น ‘ปฐมเทศนา’ คือเป็นเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้า มีชื่อว่า ‘ธัมมจักปัปปวัตนสูตร’ พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังแล้วเกิดความซาบซึ้ง โดยเฉพาะโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม คือรู้แจ้งตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

ทันทีที่โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงเกิดปีติโสมนัส ด้วยทรงเห็นว่ามีผู้สามารถรู้แจ้งตามพระองค์แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า

“อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ
โกณฑัญยะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ
อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ
โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ”


โดยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานขึ้นต้นด้วยคำว่า “อัญญาสิ” จึงได้มีคำหน้าโกณฑัญญะว่า ‘อัญญา’ เป็น ‘อัญญาโกณฑัญญะ’ มานับแต่วันนั้น

พร้อมกับได้ดวงตาเห็นธรรม อัญญาโกณฑัญญะก็หมดความสงสัยในพระพุทธเจ้า จึงทูลขอบวช พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไปโดยชอบเถิด”

จบพระพุทธดำรัสอัญญาโกณฑัญญะถือว่าได้บวชเป็นพระสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา และปรากฏชื่อว่า ‘พระอัญญาโกณฑัญญะ’ มานับแต่วันนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะบวชด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา และได้เป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้

ครั้นทรงสอนพระอัญญาโกณฑัญญะให้ได้ดวงตาเห็นธรรมและทรงบวชให้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนพระวัปปะกับพระภัททิยะ และพระมหานามะกับพระอัสสชิ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมและทรงบวชให้ตามลำดับดังกล่าวแล้ว


๏ การบรรลุอรหัตผล

พระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกันในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ นั่นเอง โดยได้ฟัง ‘อนัตตลักขณสูตร’ จากพระพุทธเจ้า ความว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา บังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงควรหรือที่จะมาเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา

แม้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีตและอนาคต ก็เป็นอนัตตา บังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ เพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงควรหรือที่จะมาเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา

พระไตรปิฎกกล่าวว่า พระปัญจวัคคีย์ฟังพระธรรมเทศนาพลางพิจารณาไปพลาง จิตของท่านเริ่มคลายความยึดมั่น ครั้นจบพระธรรมเทศนาก็หลุดพ้นจากอาสวะโดยสิ้นเชิง


๏ งานสำคัญ

พระปัญจวัคคีย์อยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๖๐ รูป

พระอัญญาโกณฑัญญะ เดินทางกลับไปยังบ้านเกิด ท่านได้โปรดบรรดาญาติให้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บุตรของน้องสาวชื่อ ‘ปุณณะ’ เลื่อมใสท่านมากถึงขั้นยอมออกบวชตาม

พระมหานามะ เดินทางไปยังเมืองมัจฉิกาสณฑ์ จิตตคฤหบดีเห็นท่านแล้วเกิดเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้เข้าไปฉันภัตตาหารในเรือน ครั้นฉันภัตตาหารเสร็จแล้วท่านได้แสดงธรรมโปรดจนจิตตคฤหบดีนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล จิตตคฤหบดีมีศรัทธามาก ได้ถวายอุทยานชื่อ อัมพาฏกวัน ของตนให้เป็นวัด เปิดประตูรับพระในพระพุทธศาสนาที่มาจากทุกทิศ

วันที่จิตตคฤหบดีถวายวัดนั้น เกิดแผ่นดินไหวใหญ่กระทั่งถึงน้ำที่รองรับแผ่นดิน เป็นนิมิตหมายให้รู้ว่า

“บัดนี้ พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้วในเมืองมัจฉิกาสณฑ์”

พระอัสสชิ จาริกอยู่ในแคว้นมคธนั้นเอง วันหนึ่งปริพาชกอุปติสสะมาพบท่านเดินบิณฑบาตอย่างสำรวมอยู่นอกเมืองราชคฤห์แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงตามไปสนทนาด้วย ท่านได้แสดงธรรมให้ปริพาชกอุปติสสะฟังแต่โดยย่อว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และตรัสความดับธรรมเหล่านั้นไว้ด้วย พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”


ปริพาชกอุปติสสะฟังแล้วเกิดความรู้แจ้งได้บรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นได้ลากลับไปหาปริพาชกโกลิตะผู้เป็นเพื่อน แล้วกล่าวธรรมตามที่ได้รู้แจ้งมานี้ให้ฟัง ผลปรากฏว่าปริพาชกโกลิตะได้บรรลุโสดาปัตติผลด้วย

ปริพาชกทั้ง ๒ ได้พาปริพาชกบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันตามที่พระอัสสชิแนะนำ แล้วได้ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านพร้อมด้วยบริวาร ครั้นบวชแล้วปริพาชกอุปติสสะมีชื่อใหม่ว่า ‘สารีบุตร’ ส่วนปริพาชกโกลิตะมีชื่อใหม่ว่า ‘โมคคัลลานะ’ พระเถระทั้ง ๒ ต่อมาได้เป็นคู่อัครสาวกที่มีบทบาทอย่างสำคัญมากในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา

ส่วนพระวัปปะและพระภัททิยะ น่าเสียดายว่าคัมภีร์ไม่ได้บันทึกผลงานของท่านไว้ให้ได้ศึกษากัน


๏ บั้นปลายชีวิต

พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ไม่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ในที่ใด พบแต่ที่กล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของพระอัญญาโกณฑัญญะ

คัมภีร์มโนรถปูรณีและคัมภีร์ปรมัตถทีปนี กล่าวไว้ตรงกันว่า ๑๒ ปีก่อนนิพพาน พระอัญญาโกณฑัญญะได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่จำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง ด้วยเหตุผล ๓ ประการ

ประการที่ ๑ ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวกคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา ต้องมาแสดงความนอบน้อมต่อพระแก่อย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันแต่จะร่วงโรยและใกล้แตกดับไปทุกขณะ

ประการที่ ๒ ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมากที่ต้องคอยต้อนรับผู้มาหา ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมอีกต่อไปสำหรับพระแก่อย่างท่าน

ประการที่ ๓ ท่านเบื่อหน่ายความดื้อรั้นของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลังๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล

ท่านจำพรรษาอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น ณ บริเวณริมฝั่งสระฉัททันต์เป็นเวลา ๑๒ ปี วันจะนิพพานท่านได้ออกจากป่าหิมพานต์มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแล้วท่านก็ได้เดินทางกลับไปยังป่าหิมพานต์ แล้วนิพพานในบรรณศาลา พระพุทธเจ้าเสด็จไปพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากเพื่อทำพิธีเผาศพท่าน

ว่ากันว่า วันเผาศพท่านมีสัตว์ป่านานาชนิดมาชุมนุมกันเนืองแน่น ร่างกายของท่านมอดไหม้ไปท่ามกลางความอาลัยรักของสัตว์ป่าเหล่านั้น


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

บรรดาพระปัญจวัคคีย์นั้น มีพระอัญญาโกณฑัญญะเพียงรูปเดียวเท่านั้นที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ตามความสามารถในชาติปัจจุบันและตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในชาติอดีต

พระอัญญาโกณฑัญญะตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาวางถวายไว้แทบยุคลบาทของพระพุทธเจ้าและถวายพระสาวก แล้วกราบทูลว่า

“ขอแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุรูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเมื่อ ๗ วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด”

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า “ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาไม่นานเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกฎมพีชาวเมืองพันธุมดี มีชื่อว่า ‘มหากาล’ มหากาลมี น้องชายชื่อ ‘จูฬกาล’ ทั้ง ๒ มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือมหากาลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาลกลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง ๒ จึงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการทำบุญ

มหากาลได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาข้าวสาลีอันเป็นผลิตผลที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้นมาทำบุญตามวาระต่างๆ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้นบุญส่งให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่ได้รู้แจ้งธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญูดังกล่าวมาแล้ว

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้ คือได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใคร และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด


๏ วาจานุสรณ์

พระอัญญาโกณฑัญญะ กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านไว้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนรุ่นหลัง ๒ วาระด้วยกัน คือ

วาระแรก ท่านกล่าวเมื่อได้เห็นพระปุถุชนบางจำพวกตกอยู่ในอำนาจความคิดผิดต่างๆ แล้วทำไปตามแรงผลักดันของความคิดผิดนั้น ท่านระลึกได้ถึงธรรมที่เป็นข้าศึกต่อความคิดผิด และระลึกได้ว่าตัวท่านเองพ้นไปจากความคิดผิดนั้นได้แล้ว จึงกล่าวแสดง ความรู้สึกเป็นคำร้อยกรองความว่า

โลกนี้มีสิ่งที่สวยงามอยู่มาก
บุคคลผู้มีความคิดเจือด้วยราคะ
เห็นเป็นของสวยงามจะถูกย่ำยีเป็นแน่
เมื่อใดพิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา
เมื่อนั้นความคิดทั้งหลายจึงจะสงบได้
คล้ายสายฝนสยบฝุ่นที่ถูกลมพัดฟุ้งฉะนั้น


จากนั้นท่านได้แสดงวิธีพิจารณาเห็นด้วยปัญญาไว้โดยให้เห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และย้ำว่า นี้แหละคือทางแห่งความบริสุทธิ์

วาระสุดท้าย ท่านกล่าวเมื่อคราวที่เห็นสัทธิวิหาริกของท่านรูปหนึ่งเกียจคร้าน มีจิตฟุ้งซ่าน คบเพื่อนไม่ดี ทำตัวห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล จึงตักเตือนด้วยความหวังดี แต่ว่าสัทธิวิหาริกรูปนั้นไม่เชื่อฟังท่าน ท่านเกิดความสลดใจ จึงกล่าวแสดงความรู้สึกเป็นเชิงตำหนิการปฏิบัติผิด สรรเสริญการปฏิบัติถูกและการอยู่ในที่สงัดว่า

ภิกษุผู้ฟุ้งซ่าน เหลวไหล คบแต่เพื่อนชั่ว
ย่อมถูกคลื่นคือกิเลสซัดให้จมลงไปในห้วงน้ำคือสังสารวัฏ
ส่วนภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่านไม่เหลวไหล สำรวมอินทรีย์
มีปัญญารักษาตัวรอด คบแต่เพื่อนดี
จะสามารถทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้

ภิกษุที่ยินดีในที่สงัด แม้จะซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น
ใจก็ยังไม่ย่อท้อ ยังรู้จักบริโภคข้าวและน้ำแต่พอดี

ภิกษุดังว่ามานั้น แม้จะถูกเหลือบยุงกัดอยู่กลางป่า
ก็ย่อมมีสติอดกลั้นไว้ได้ คล้ายช้างศึกอดทนต่อศัตราวุธในยุทธภูมิฉะนั้น


จากนั้นท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตและความตายของท่านเอง และความรู้สึกที่มีต่อพระพุทธเจ้าว่า

ความเป็นความตายเราไม่ยินดี
เรารอแต่เวลาคล้ายลูกจ้างรอเวลางานฉะนั้น
พระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว
คำสอนของพระองค์เราก็ทำตามได้แล้ว
ภาระหนักเราก็ปลงลงได้แล้ว
อีกทั้งตัณหาตัวการให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด
เราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้ว
ประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการเราก็ได้รับแล้ว
ทำไมเราจะต้องวุ่นวายอะไรอยู่กับสัทธิวิหาริกผู้ว่ายาก


พระวัปปะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วก็ได้พิจารณาคุณสมบัติที่ตนได้ จึงทำให้เข้าใจถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่ายิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกันท่านก็รู้สึกถึงความผิดพลาดของกลุ่มของท่านที่เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นคนมักมาก และแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงในระยะแรก จึงทำให้มองเห็นว่าภาวะของพระอริยะกับภาวะของปุถุชนนั้นห่างไกลกันมาก ท่านเข้าใจได้ชัดเจนว่าเป็นไปไม่ได้ที่ปุถุชนจะเข้าใจถึงภาวะของพระอริยะ เพื่อแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวท่านจึงกล่าวว่า

พระอริยะย่อมเห็นทั้งบัณฑิตผู้เห็นอยู่ด้วย
ย่อมเห็นทั้งอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย
ส่วนปุถุชนย่อมมองไม่เห็นทั้งอันธพาลและบัณฑิตนั้น


ส่วนพระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ยังไม่พบหลักฐานว่าท่านได้กล่าววาจานุสรณ์ไว้ในที่ใด

:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร