วันเวลาปัจจุบัน 16 ก.ย. 2024, 05:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี

กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นอวันตีโดยกำเนิด มี ๒ รูป คือ พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะ ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

๏ สถานะเดิม

พระมหากัจจายนะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูล “กัจจายนะ” บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ท่านมีชื่อว่า “กาญจนะ” หรือ “กัญจนะ” เพราะเกิดมามีผิวพรรณงามดุจทองคำ

พระโสณกุฏิกัณณะ เกิดในวรรณไวศยะ ตระกูลคหบดีในเมืองกุรรฆระ มารดาชื่อ กาฬี เป็นอุบาสิกาผู้ถวายการบำรุงพระมหากัจจายนะ ท่านมีชื่อเดิมว่า “โสณะ” แปลว่า “ทอง” แต่เป็นเพราะเมื่อเจริญวัยขึ้นใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ จึงมีชื่อต่อมาว่า “โสณกุฏิกัณณะ” หรือ “โสณโกฎิกัณณะ” (โสณะผู้ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ)

๏ ชีวิตฆราวาส

พระมหากัจจายนะ เนื่องจากเป็นบุตรของปุโรหิตและศึกษาจบไตรเพท เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พระเจ้าจัณฑปัชโชติจึงทรงตั้งท่านไว้ตำแหน่งปุโรหิตสืบต่อมา ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาโดยลำดับจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

พระโสณกุฏิกัณณะ เนื่องจากนางกาฬีผู้เป็นโยมมารดา เป็นโยมอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนะ และไปนมัสการพระมหากัจจายนะอยู่เนืองๆ เวลาที่ท่านมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ ซึ่งอยู่แคว้นอวันตีตอนใต้ อันเป็นส่วนที่เรียกว่าอวันติทักขิณาบถ และถือได้ว่าเป็นปัจจันตชนบท (ถิ่นกันดาร) นางได้นำลูกชายไปด้วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จึงทำให้ลูกชายคุ้นเคยกับพระเถระ และได้ฟังคำสอนของพระเถระ อยู่เป็นประจำ ครั้นเจริญวัยขึ้นท่านยิ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงได้สร้างวัดขึ้นที่ภูเขาปวัตตะเพื่อถวายแก่พระเถระ

กล่าวถึงนางกาฬี ในคัมภีร์มโนรถปูรณีกล่าวว่า นางได้เป็นพระโสดาบันก่อนหญิงคนใด รวมทั้งก่อนโยมมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะด้วย ดังมีเรื่องเล่าว่า

วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดฤาษีปัญจวัคคีย์นั้น นอกจากฤาษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีมนุษย์คือเทวดาและพรหมอีก ๑๘ โกฏิได้ดวงตาเห็นธรรมด้วย ในจำนวนนั้นมีสาตาคิรยักษ์รวมอยู่ด้วย

สาตาคิรยักษ์อยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป บริเวณป่าหิมพานต์ มีเพื่อนยักษ์ชื่อเหมวตยักษ์อยู่ทางตอนใต้ ครั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว สาตาคิรยักษ์ก็คิดถึงเหมวตยักษ์ผู้เป็นเพื่อน อยากให้ได้บรรลุธรรมอย่างที่ตนบรรลุบ้าง จึงชวนยักษ์บริวารเหาะมาหา

ฝ่ายเหมวตยักษ์เองมองไปทางป่าหิมพานต์เห็นมีดอกไม้บานนอกฤดูกาล ก็คิดอยากไปเล่นสนุกสนานกับเพื่อนสาตาคิรยักษ์ จึงชวนยักษ์บริวารเหาะไปหา แล้วทั้ง ๒ ฝ่ายก็มาพบกันกลางทาง คือในอากาศ เหนือบ้านของนางกาฬี แล้วสนทนากันถึงเหตุที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างจะไปหากัน

สาตาคิรยักษ์บอกให้เหมวตยักษ์ทราบว่า ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ป่าหิมพานต์มีดอกไม้บานนอกฤดูกาลนั้นก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ซึ่งบัดนี้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และบัดนี้กำลังหมุนล้อธรรม (แสดงธรรม) โปรดมนุษย์และเทวดาทั้งหมื่นจักรวาฬ

เหมวตยักษ์พอได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า ก็สนใจมาก จึงถามสาตาคิรยักษ์ว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้าเต็มตาหรือเปล่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคงไหม ทรงควบคุมความคิดในอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาได้ไหม


สาตาคิรยักษ์ก็กล่าวตอบว่า เห็นมาแล้ว และวันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขอให้เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด เมื่อสาตาคิรยักษ์กล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าจบลง เหมวตยักษ์ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ขณะที่ยักษ์ทั้ง ๒ กำลังสนทนาอยู่เหนือบ้านของนางกาฬีนั้น นางก็ลุกขึ้นจากที่นอนมานั่งฟัง จับได้ว่าไม่ใช่เสียงมนุษย์จึงตั้งใจฟัง และเกิดศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ทั้งที่ยังไม่เคยเห็นพระองค์ แล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน

ต่อมาเมื่อพระมหากัจจายนะเดินทางกลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา นางจึงมีโอกาสพาโสณะลูกชายไปหา และรับอุปัฏฐากดังกล่าวแล้ว

โสณะประกอบอาชีพค้าขายซึ่งเป็นอาชีพเดิมของพระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนจากบ้านเกิด ไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ ท่านไม่มีครอบครัวเพราะประพฤติพรหมจรรย์ตลอดเวลา บริโภคอาหารมื้อเดียว นอนคนเดียว


๏ การออกบวช

พระมหากัจจายนะ ออกบวชคราวที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งท่านไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาโปรดชาวแคว้นอวันตี เรื่องมีอยู่ว่า

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดพสกนิกรของพระองค์ด้วย จึงทรงปรึกษากับปุโรหิตกัจจายนะ เมื่อปุโรหิตกัจจายนะเห็นชอบตามพระราชประสงค์ พระองค์จึงทรงมอบหมายให้ปุโรหิตกัจจายนะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล

ฝ่ายปุโรหิตกัจจายนะมีจิตน้อมไปในการออกบวชเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า จึงเห็นเป็นโอกาสสมควรทูลขอพระราชานุญาต ออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วย พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงอนุญาตตามความประสงค์ โดยพระราชานุญาตครั้งนี้เอง ปุโรหิตกัจจายนะจึงทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าหลังจากฟังพระธรรมเทศนาจบลง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา


พระโสณกุฏิกัณณะ ออกบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะ เรื่องมีอยู่ว่า ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมานานแล้ว แต่พระมหากัจจายนะไม่ยอมบวชให้ เพราะเห็นว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของตระกูล จึงได้แต่บอกให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ไปก่อน

ท่านทำตามพระเถระแนะนำ แต่การประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็ยิ่งทำให้ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมากขึ้น ท่านขอบวชต่อพระเถระถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ พระเถระเห็นว่าท่านมีศรัทธาแน่วแน่ จึงบวชให้เป็นสามเณรก่อน เพราะขณะนั้นพระเถระจำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน ไม่สามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ได้ครบ ๑๐ รูป เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ในการบวชเป็นพระนั้น ต้องมีพระร่วมเป็นคณปูรกะตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปจึงจะถือว่าบวชเป็นพระได้สำเร็จ เมื่อได้พระไม่ครบ ๑๐ รูป พระเถระจึงไม่สามารถบวชโสณะเป็นพระให้ได้

พระโสณกุฏิกัณณะบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี พระมหากัจจายนะจึงสามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะได้ครบ ๑๐ รูป ครั้นแล้วจึงได้บวชเป็นพระให้ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา


๏ การบรรลุธรรม

พระมหากัจจายนะ เวลาที่ท่านพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก ๗ คน เดินทางไปถึงวัดเชตวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชาวเมืองสาวัตถีอยู่พอดี ท่านและคณะจึงหยุดฟังธรรมอยู่นอกที่ประชุม พร้อมพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน จนเกิดความรู้แจ้งได้บรรลุอรหัตผลทันทีหลังฟังพระธรรมเทศนาจบลง ท่านเป็นพระอสีติมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช

พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบวชแล้วก็ได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

๏ งานสำคัญ

พระมหากัจจายนะ ครั้นบวชแล้วก็ได้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปแคว้นอวันตี เพื่อโปรดพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตี แต่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้เป็นภาระของท่าน เพราะเห็นว่าไม่ว่าพระองค์ หรือพระมหากัจจายนะไปก็เหมือนกัน คือ สามารถทำให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีเลื่อมใสได้

ครั้นได้รับมอบหมายแล้ว พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยพระชาวแคว้นอวันตีอีก ๗ รูปที่ออกบวชพร้อมกันก็เดินทางกลับไปบ้านเกิด ระหว่างทางใกล้ถึงเมืองอุชเชนี มีหญิงสาวยากจนคนหนึ่งทำบุญด้วยการตัดผมตนเองออกขาย แล้วนำเงิน ๘ กหาปณะไปซื้ออาหารถวายท่านและคณะ

ท่านครั้นเดินทางไปถึงบ้านเกิดแล้วก็พักอยู่ในพระราชอุทยานและฉันอาหารที่หญิงสาวผู้ยากจนถวายมา เจ้าหน้าที่เฝ้าพระราชอุทยานทราบเรื่อง จึงไปกราบทูลพระเจ้าจัณฑปัชโชตให้ทรงทราบ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงดีพระทัยมาก เสด็จออกมาต้อนรับท่านและตรัสถามถึงเรื่องพระพุทธเจ้า

ท่านได้ทูลเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าถวายพร้อมทั้งทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านมาแทน พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพอพระทัย จึงนิมนต์ท่านให้แสดงธรรมโปรดพระองค์และชาวแคว้นอวันตี ท่านปฏิบัติศาสนกิจตามที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระราชประสงค์ และสามารถปฏิบัติได้สำเร็จด้วยดี โดยต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชตและ ชาวแคว้นอวันตีจำนวนมากประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยิ่งไปกว่านั้นพระนางโคปาลมารดา พระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้าจัณฑปัชโชตยังทรงมีพระราชศรัทธาสร้างวัดถวายไว้ในพระราชอุทยาน อันเป็นหลักฐานให้เห็นว่าบัดนี้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้วในแคว้นอวันตี ท่านจำพรรษาอยู่ในแคว้นอวันตีพอสมควรแล้ว จึงได้ทูลลาพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน

ขณะที่กลับมาพักอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า ท่านแสดงความสามารถด้วยการขยายความพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้พระทั้งหลายฟังดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญา
ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต
เพราะอดีตผ่านพ้นไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง
ผู้ใด เห็นแจ้งปัจจุบันอย่างไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน
ผู้นั้น ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว ทำธรรมนั้นให้เกิดขึ้นเนืองๆ
ควรรีบทำความเพียรเผากิเลสเสียแต่วันนี้
เพราะพรุ่งนี้อาจตายเสียก็ได้ ใครจะไปรู้
อีกทั้งพญามัจจุราช ผู้มีกำลังเกรียงไกร ใครจะไปผัดผ่อนได้
บุคคลผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ท่านผู้สงบระงับ
ย่อมกล่าวสรรเสริญว่า เป็น “ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ”


พระมหากัจจายนะ ขยายความสรุปได้ว่า

ที่ว่า ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต คือ ไม่ควรคิดถึง
รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และสิ่งสัมผัสทางใจ
ที่เคยได้เห็น ได้ยิน และเคยได้รับรู้มาแล้ว
จนเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น
ผู้ที่คิดถึงด้วยความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น
ชื่อว่า หมกมุ่นอยู่กับอดีต

ที่ว่า ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต คือ ไม่ควรคิดคาดหวังว่า
จักได้เห็นรูป จักได้ฟังเสียง จักได้ดมกลิ่น
จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดถึงเรื่องราวต่างๆ)
ซึ่งแต่ละสิ่งที่เพ้อฝันถึงนั้น
ก่อให้เกิดความกำหนัดพอใจ เพลิดเพลินและติดอยู่
ผู้ที่คิดคาดหวังถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ด้วยความกำหนัดพอใจ
เพลิดเพลินอยู่ ชื่อว่า เพ้อฝันถึงอนาคต

การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดถึงเรื่องราวต่างๆ)
แล้วเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ชื่อว่า ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน

การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจแล้ว
ไม่เกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน


พระทั้งหลายฟังพระมหากัจจายนะกล่าวขยายความแล้ว ได้นำความไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรับรองว่าถูกต้องแล้ว และบอกว่าหากพระองค์จะทรงขยายความก็จะทรงขยายความในทำนองเดียวกันนี้

ต่อมา ท่านได้เดินทางกลับไปแคว้นอวันตีอีก และพักจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน มีผู้คนจำนวนมากเลื่อมใส และได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้พระโสณกุฏิกัณณะ

ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ ท่านเห็นความยากลำบากของพระที่จำพรรษาอยู่ที่นั้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระวินัย ๕ ประการ คือ

๑. การบวชพระต้องมีสงฆ์เป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ครบ ๑๐ รูป
๒. เดินทางลำบากเพราต้องสวมรองเท้าชั้นเดียว
๓. ๑๕ วันอาบน้ำได้เพียงครั้งเดียว
๔. การนั่งบนอาสนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ไม่ได้
๕. จีวรที่มีผู้ปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันแล้วพระรับไม่ได้

ข้อ ๑ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระหาพระยากมาก กว่าจะมีครบเป็นคณปูรกะ คือ ๑๐ รูปได้ต้องใช้เวลารอคอยเป็นปีๆ

ข้อ ๒ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบท มีทางเดินขรุขระ เป็นรอยโครอยเกวียน รองเท้าชั้นเดียวไม่สามารถป้องกันเท้าไม่ให้เจ็บได้

ข้อ ๓ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีอากาศร้อน ชาวพื้นเมืองนิยมอาบน้ำทุกวัน เมื่อพระอาบน้ำ ๑๕ วันต่อ ๑ ครั้ง จึงกลายเป็นของแปลกสำหรับชาวพื้นเมือง และทำให้พวกเขารังเกียจได้อีก อีกทั้งพระเองก็ไม่สบายตัว

ข้อ ๔ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ ชาวพื้นเมืองนิยมใช้อาสนะที่ทำด้วยหนังแพะ หนังแกะ เมื่อพระนั่งบนอาสนะเช่นนั้นไม่ได้ จึงเป็นความลำบากแก่ชาวพื้นเมืองที่จะถวายการต้อนรับ และเป็นความลำบากแก่พระที่ต้องคอยระวัง

ข้อ ๕ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีทางคมนาคมไม่สะดวก ทายกกว่าจะนำจีวรที่ปวารณาถวายพระไว้มาถวายถึงมือได้ก็ล่วงเวลา ๑๐ วัน ซึ่งพระไม่กล้ารับเนื่องจากพ้นกำหนดที่ทรงอนุญาต

พระมหากัจจายนะได้มอบหมายให้พระโสณกุฏิกัณณะนำความนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงผ่อนผัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงผ่อนผันให้ในปัจจันตชนบททุกแห่งถือปฏิบัติดังนี้

๑. การบวชในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีพระร่วมเป็นคณปูรกะเพียง ๕ รูปก็ใช้ได้

๒. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระสวมรองเท้าหลายชั้นได้

๓. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระอาบน้ำได้ทุกวัน

๔. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระนั่งบนอาสนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ได้

๕. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ รับจีวรที่ทายกปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันได้

ต่อมาภายหลังพุทธปรินิพพานได้มีการจัดทำปฐมสังคายนา พระมหากัจจายนะได้เข้าร่วมด้วย


พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้ว มีความประสงค์จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล จึงบอกพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ให้ทราบ

พระอุปัชฌาย์ได้มอบหมายให้ท่านทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงผ่อนผันพระวินัย ๕ ข้อ ท่านทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดียิ่ง กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงผ่อนผันให้พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบท (ถิ่นกันดาร) ปฏิบัติได้ตามที่พระมหากัจจายนะทูลขอดังกล่าวมาแล้ว นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับพระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบท

คราวที่เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงต้อนรับท่านด้วยดี ทรงอนุญาตให้ท่านพักค้างคืนในพระคันธกุฏีของพระองค์ ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านได้แสดงสูตร ๑๖ สูตรในอัฏฐกวรรคได้อย่างไพเราะ ไม่ผิดทั้งสระและพยัญชนะ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสชมท่าน ท่านอยู่กับพระพุทธเจ้าเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ทูลลากลับแคว้นอวันตี

ต่อมาโยมมารดาของท่านทราบว่า ท่านแสดงธรรมถวายพระพุทธเจ้า จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ตนฟังบ้าง ขณะโยมมารดากำลังฟังธรรมอยู่นั้น โจรก๊กหนึ่งจำนวน ๙๐๐ คนได้เข้าปล้นบ้าน ขนข้าวของมีค่าจำนวนมากไป ขณะที่โจรขนของไปเป็นระยะๆ นั้น มีคนใช้มารายงานให้โยมมารดาของท่านทราบอยู่ตลอดเวลา นางหาได้หวาดวิตกแต่อย่างใดไม่ ยังคงตั้งใจฟังธรรม พร้อมบอกอนุญาตให้โจรขนของออกไป ขอเพียงอย่ามารบกวนการฟังธรรมเท่านั้น

หัวหน้าโจรทราบเรื่องราวทั้งหมดของนางจากคนใช้แล้วรู้สึกประหลาดใจ ขณะเดียวกันก็นึกได้ว่า ตนเองทำไม่ถูกที่มาประทุษร้ายคนที่ไม่ประทุษร้าย และรู้สึกเกรงกลัวผลของความชั่วขึ้นมาทันที เขาบอกบริวารให้ขนของกลับ

และเมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง หัวหน้าโจรก็เข้าไปหาโยมมารดาของท่าน ขอโทษแล้วก็ขอล้างบาปด้วยการขอบวชเป็นสัทธิวิหาริกของพระโสณกุฏิกัณณะ ท่านได้บวชให้โจรเหล่านั้นตามความประสงค์ สัทธิวิหาริกของท่านทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลเสมอเหมือนกันเพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ บั้นปลายชีวิต

พระมหากัจจายนะ วนเวียนจำพรรษาอยู่ในแคว้นอวันตีและแคว้นสุรเสนะ ซึ่งอยู่ใกล้กับแคว้นอวันตี คราวหนึ่งมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาหาท่านขณะจำพรรษาอยู่ที่ป่าคุนธาวัน เมืองมธุรา แคว้นสุรเสนะ พราหมณ์กัณฑรายณะเข้าไปสนทนาด้วยแล้วกล่าวหาว่าท่านไม่มีสามีจิกรรม คือไม่ยอมไหว้ ไม่ลุกรับพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า ท่านได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องคนแก่หนุ่มไว้ว่า

คนอายุ ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ถ้ายังเสพกามอยู่ก็ยังนับว่าเป็นคนหนุ่มสาวอยู่ แต่คนหนุ่มแม้จะอยู่ในวัยแรกรุ่น ถ้าไม่เสพกามก็นับว่าเป็นคนแก่ได้ พราหมณ์กัณฑรายณะฟังแล้วเกิดความซาบซึ้ง จึงก้มกราบท่านแล้วประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

อีกคราวหนึ่ง ที่เมืองมธุราเช่นกัน พระเจ้ามธุรราชได้เข้าไปสนทนากับท่าน เรื่องการถือตัวของคนวรรณะพราหมณ์ ที่ถือตัวว่าประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม

พระมหากัจจายนะได้กล่าวถึงความไม่มีอะไรที่แตกต่างกันของคนทุกวรรณะ (ทุกชั้น) ดังนี้

๑. คนวรรณะใดเป็นผู้มั่งคั่ง คนวรรณะเดียวกันและวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นพวกของคนวรรณะนั้น

๒. คนวรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายแล้วคนวรรณะนั้นย่อมไปเกิดในอบายเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๓. คนวรรณะใดทำการปล้นสดมภ์ เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น คนวรรณะนั้นต้องไดัรับโทษราชอาญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๔. คนวรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลธรรม คนวรรณะนั้นย่อมได้รับการนับถือ การบำรุง และการคุ้มครองเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

พระเจ้ามธุรราชทรงฟังแล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใส ถึงขั้นประกาศนับถือพระมหากัจจายนะเป็นสรณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ และทูลพระเจ้ามธุรราชให้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

พระเจ้ามธุรราชทรงทำตามที่ท่านแนะนำ แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรู้สึกเสียดายที่มาพบพระพุทธศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว


พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ แต่ก็สันนิษฐานว่า ท่านคงอยู่ที่แคว้นอวันตีนั้นเอง และส่วนใหญ่คงจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ เมืองกุรรฆระ อันเป็นชาติภูมิของท่านเองจนกระทั่งนิพพาน

๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะทั้ง ๒ รูป

พระมหากัจจายนะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดาร

ส่วนพระโสณกุฏิกัณณะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวก ๒ รูปนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะตามความสามารถในชาติปัจจุบัน และตามที่ท่านตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ


พระมหากัจจายนะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมมุตตระ ครั้งนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรคหบดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมพร้อมกับพวกชาวเมือง เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอทัคคะ ด้านขยายความพระธรรมเทศนาที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร แล้วเกิดความศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธราให้ปรากฏด้วยการทำบุญต่างๆ คือ การถวายทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า


“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดาร”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสุเมธะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทได้ร่วมกันสร้างพุทธเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้บริจาคทองคำ ๑๐๐,๐๐๐ ตำลึงเพื่อใช้หล่อเป็นอิฐ แล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้มีร่างกายสวยงามมีผิวพรรณดั่งทองคำ ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ครั้นแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลและออกบวช

อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบวชแล้วมีความสามารถในการขยายความพระธรรมเทศนาที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดารดังกล่าวมาแล้ว


พระโสณกุฏิกัณณะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพรพุทธเจ้าปทุมมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นเศรษฐีอยู่ในเมืองหงสาวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเหมือนพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำบุญต่างๆ คือ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสาวกติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัจจายนะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมา ถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านได้ออกบวชและทำบุญสำคัญ คือ เย็บจีวรให้พระรูปหนึ่งด้วยจิตศรัทธา แล้วยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง

ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้น ท่านเกิดเป็นช่างหูกชาวเมืองพาราณสี ได้ชุนจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งด้วยจิตศรัทธา แล้วยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นเศรษฐีเมืองกุรรฆระ ในปัจจันตชนบทแห่งแคว้นอวันตี

ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบวชแล้วมีความสามารถในการกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะดังกล่าวมาแล้ว


๏ วาจานุสรณ์

พระมหากัจจายนะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าส่งท่านไปยังแคว้นอวันตีเพื่อโปรดพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีแทนพระองค์ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระอุปนิสัยดุร้าย ทรงนิยมฆ่าสัตว์บูชายัญ ทรงลงโทษผู้ต้องสงสัยโดยไม่ไต่สวน และทรงพิจารณาคดีความอย่างไม่ยุติธรรม

ในคืนก่อนวันรุ่งขึ้น อันเป็นวันจะได้พบพระมหากัจจายนะนั้น พระองค์ทรงพระสุบินว่า ได้พบพระเถระและได้ฟังธรรม ครั้นวันรุ่งขึ้น เมื่อพระองค์ได้พบพระเถระสมตามที่พระสุบิน และทันทีที่ได้พบกันพระเถระก็แสดงธรรมโปรด โดยธรรมที่พระเถระแสดงถวายนั้น มีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกับที่ทรงได้ยินในพระสุบิน ความว่า

ผู้มีปัญญา ไม่ควรแนะนำให้ผู้อื่นทำบาป
ตนเองก็ไม่ควรทำด้วย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมคอยผูกพัน
คำพูดของผู้อื่น ทำให้คนเป็นโจรหรือเป็นมุนีไปไม่ได้
ตัวเองรู้จักตัวเองอย่างใด
แม้ทวยเทพก็รู้จักตัวเองอย่างนั้น
คนที่ไม่รู้ว่าการทะเลาะทำให้ตนเองพินาศ
ก็ยังทะเลากันอยู่
ส่วนคนที่รู้ ก็จะเลิกทะเลาะกันไปเอง
คนมีปัญญาถึงจะไม่มีทรัพย์สินก็อยู่ได้
แต่คนมีทรัพย์สินถ้าไร้ปัญญาก็เป็นอยู่ไม่ได้แน่
หูมีไว้ฟังเสียงทุกเสียง ตามีไว้ดูรูปทุกประเภท
ผู้มีปัญญา ไม่ควรมองข้ามสิ่งที่ได้เห็นได้ยินไปเสีย
คนฉลาด ถึงมีตาดีก็ทำเหมือนคนตาบอด
ถึงมีหูดี ก็ทำเหมือนหูหนวก
ถึงมีปัญญา ก็ทำเหมือนคนใบ้
ถึงแข็งแรง ก็ทำเหมือนอ่อนแอ
แต่ถ้าประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะเจ็บป่วย นอนรอความตาย
ก็ยังทำประโยชน์


การแสดงธรรมของท่านครั้งนี้เอง มีผลทำให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตเปลี่ยนแปลงพระอุปนิสัยและบุคลิกภาพ กลายเป็นกษัตริย์ที่สุภาพ มีพระเมตตาต่อสรรพสัตว์

คราวหนึ่ง หลังจากกลับมาอยู่กับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านเห็นพระจำนวนมากต่างละทิ้งการบำเพ็ญสมณธรรม หันมาทำงานต่างๆ อาทิ การก่อสร้างเสนาสนะบ้าง ต่างคลุกคลีด้วยหมู่คณะบ้าง ติดในรสอาหารบ้าง จึงกล่าวเตือนพระเหล่านั้นว่า


ภิกษุไม่ควรทำงานอื่นนอกเหนือจากการบำเพ็ญสมณธรรมให้มาก ควรหลีกเหลี่ยงคน (อันเป็นเหตุให้เกิดคลุกคลีด้วยหมู่คณะ) ไม่ควรขวนขวาย (สงเคราะห์ชาวบ้านเพื่อหวังได้ลาภสักการะ) (เพราะ) ภิกษุผู้ขวนขวาย (สงเคราะห์ชาวบ้านเพื่อหวังได้ลาภ ติดอยู่ในรสอาหารนั้น) ย่อมเสียประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้

พระโสณกุฏิกัณณะ หลังจากบรรลุได้อรหัตผลแล้ว นั่งพิจารณาดูข้อปฏิบัติของตนเอง แล้วเกิดโสมนัสจึงเปล่งอุทานว่า

เราได้อุปสมบทแล้ว บัดนี้ เราหลุดพ้น ไม่มีอาสวะ
เราได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว และได้อยู่วิหารหลังเดียวกับพระองค์
ตอนกลางคืนพระพุทธเจ้าประทับอยู่กลางแจ้งเสียเป็นส่วนมาก
จากนั้นพระองค์จึงเสด็จเข้าสู่วิหาร พระพุทธเจ้าทรงปูผ้าสังฆาฏิแล้ว
ทรงบรรทมอย่างไม่หวาดกลัว คล้ายราชสีห์นอนอยู่ในถ้ำหิน
ต่อจากนั้น เราผู้ชื่อว่า โสณะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ได้กล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ


:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 08:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:13 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร