วันเวลาปัจจุบัน 22 ก.ค. 2025, 06:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 13:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มาร ๕
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาที่เรา
ทั้งหลายได้สวดสรรเสริญพระคุณ
หรือกำหนดใจสรรเสริญพระคุณ ด้วยบทว่า พุทโธ อยู่
เป็นประจำ และแม้ในการทำสมาธิก็กำหนดจิตว่า พุทโธ
ไปพร้อมกับลมหายใจเข้าออกเป็นต้น พุทโธ พระผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงเป็นบทพระพุทธคุณที่เราทั้งหลาย
ได้กล่าวเรียกถึง หรือกำหนดใจถึงพระพุทธเจ้า
ก็คือพุทโธนี้เอง จึงเป็นคำที่เราทั้งหลายรู้จัก และ
เข้าใจว่าหมายถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
แต่ว่าความเข้าใจนั้นย่อมมีต่างๆ กัน
เข้าใจด้วยความรู้ทางตาทางหู คือได้อ่าน
ได้ฟังเรื่องพระพุทธเจ้าพระพุทธศาสนา อันนับว่า
เป็นปริยัติ และได้รู้จักเข้าใจ
ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน
โดยย่อก็คือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา และรู้จักเข้าใจ
ด้วยผลของการปฏิบัติ
จนถึงขั้นที่ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้
นั้นเห็นเรา หรือผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้ อันเป็น
ความรู้ความเห็นขั้นผลของการปฏิบัติ อันกล่าวได้ว่า
เป็นขั้นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม
ดวงตาเห็นธรรม
อันธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมนั้น
ท่านแสดงไว้
ถึงดวงตาเห็นธรรมที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ
ว่าท่านได้ฟังปฐมเทศนาแล้ว ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่ง
ใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมี
ความดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้ ก็
เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม และเมื่อ
ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ย่อมได้ดวงตาเห็นพระพุทธะ พระ
ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอน
เป็นสัจจะคือความจริงทั้งสิ้น
มารในพุทธศาสนา
พระพุทธะ พระองค์มิได้ตรัสรู้
เป็นพระพุทธะโดยง่ายดาย และแม้เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็มิ
ใช่ว่าจะทรงดำรงอยู่โดยง่ายดาย
จะทรงประกาศพระพุทธศาสนาโดยง่ายดาย
เพราะมีสิ่งขัดขวาง หรือผู้ขัดขวางมาโดยลำดับ ก็คือมาร
ที่เราทั้งหลายผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะได้ยิน
ได้ฟังเรื่องมารที่มาผจญพระพุทธเจ้า
และพระพุทธเจ้าก็ทรงผจญมาร ทรงชนะมาร จึง
ได้ตรัสรู้พระธรรมเป็นพระพุทธเจ้า
ดังที่มีแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าผจญมาร
และนิยมเขียนภาพพระพุทธเจ้าผจญมารที่เห็นกันอยู่
และแม้เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว
มารพ่ายแพ้ขัดขวางพระองค์มิให้ไม่ตรัสรู้ไม่ได้ ก็ยัง
ไม่หมดความพยายาม ยังได้ทูลขอ
ให้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่พระองค์ก็มิ
ได้รับคำทูลของมาร เพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อโลก
ทรงทำสังขาราธิษฐาน
คืออธิษฐานตั้งพระทัย ดำรงพระชนมายุสังขาร
เพื่อประกาศพระศาสนา ให้พระสัทธรรมตั้งมั่นลงในโลก
ประดิษฐานพุทธบริษัทขึ้นในโลก และก็
ได้ทรงปฏิบัติตามที่ทรงอธิษฐานพระหทัย
เสด็จประกาศพระพุทธศาสนา ประดิษฐานพุทธบริษัท
ตลอดเวลาที่แสดงไว้ว่า ๔๕ ปี
ในระหว่างนี้ก็ยังมีแสดงไว้ว่ามารก็ได้
เข้ามาทำการขัดขวางต่างๆ หรือว่าทูลส่งเสริมไป
ในทางผิดต่างๆ อีกหลายครั้งหลายคราว จน
ถึงเมื่อมีพระชนม์พรรษา ๘๐ ประกาศพระพุทธศาสนามา
ได้ ๔๕ ปี มารก็ยังได้เข้าทูลขอ
ให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะ
ได้ทรงปฏิบัติประกาศพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นขึ้นในโลก
ประดิษฐานพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ขึ้นในโลกสำเร็จ ตามที่ได้ทรงทำสังขาราธิษฐานแล้ว
พระพุทธองค์จึงได้ตรัสรับ ว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ในเวลาต่อจากที่ตรัสรับนั้นอีกไม่นาน คือทรงรับ
ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ และก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เป็นเวลา ๓ เดือน เรื่องมารมีเล่า
ไว้ดั่งนี้
เทพบุตรมาร
และก็มีแสดงไว้ว่ามารเป็นเทพบุตร สถิตย์
อยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๖ โดย
เป็นหัวหน้าของเทพชั้นนี้กลุ่มหนึ่ง อันเป็นฝ่ายมาร และ
ในชั้นนี้ก็ยังมีเทพอีกกลุ่มหนึ่งมีหัวหน้าอีกองค์หนึ่ง
เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับมาร และยังได้มีแสดงไว้
ในคัมภีร์ที่น่าจะมีแต่งขึ้นต่อมาภายหลัง ว่าต่อไป
ในอนาคตมารก็จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง
โดยปริยายที่แสดงนี้ ก็แสดงว่ามารเป็นเทพ หรือ
เป็นเทวบุตรองค์หนึ่ง หรือท่านหนึ่ง หรือผู้หนึ่ง
และเมื่อพิจารณาดูตามเหตุผลในข้อที่ว่าจะได้ตรัส
เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปนั้น
ก็น่าเห็นว่ามีเหตุผลอยู่บ้าง โดยที่ผู้
จะไปเกิดเป็นเทพนั้น ก็ไปเกิดได้ด้วยอำนาจของกรรมที่
เป็นกุศล หรืออำนาจของบุญ จะต้องมีทานมีศีลเป็นเหตุที่
จะไปเกิดในสวรรค์ได้ เพราะฉะนั้น เทพที่
เป็นมารดังกล่าวนี้ก็จะต้องทำบุญทำกุศลไว้ไม่น้อย
จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๖ ได้ แต่ว่า
เป็นฝ่ายที่มุ่งมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ ไม่
ต้องการนิพพานสมบัติ
เพราะฉะนั้น จึงปรากฏ
ในเรื่องว่ามารที่เล่านี้ ก็มิ
ได้เที่ยวทำบาปทำกรรมอะไรแก่ใคร มุ่งที่จะป้องกันมิ
ให้พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือต้องที่
จะให้พระโพธิสัตว์ไม่พ้นไปจากอำนาจของตน เมื่อ
ไม่ตรัสรู้พระองค์ก็ต้องอยู่ในอำนาจของมาร
แต่เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์ก็ทรงพ้นจากอำนาจของมาร
มารทำอะไรไม่ได้ และเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว
ยังทรงแสดงธรรมะสั่งสอน โปรด
ให้เวไนยนิกรบรรลุมรรคผลนิพพานตามอีกเป็นอันมาก
ก็ทำให้บุคคลเป็นอันมาก ตลอดถึงเทพเป็นอันมาก
ผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากอำนาจของมาร มาร
จึงขวนขวายป้องกัน มิให้ใครๆ พ้นไปจากอำนาจของมาร
เท่านั้น ก็คือพ้นไปจากอำนาจของโลก พ้นไป
จากอำนาจของกิเลส
เพราะฉะนั้น หากมารเป็นเทพดังกล่าวก็
เป็นวิสัยที่จะเป็นเทพได้ ในเมื่อทำบุญทำกุศลมามาก
ส่วนทานส่วนศีลเพื่อมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ
และมารก็ไม่ได้ไปขัดขวางใคร
ผู้ที่ทำบุญทำกุศลเพื่อมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ
ขัดขวางแต่ผู้ที่ปฏิบัติให้พ้นจากอำนาจของโลก
คืออำนาจของกิเลสเท่านั้น ต้องการที่จะให้ติดอยู่ในโลก
จะเป็นมนุษย์เป็นสวรรค์ก็ตาม ก็ยังติดอยู่
ในอำนาจของโลก ยังไม่เป็นโลกุตรเหนือโลก
เมื่อเป็นมรรคเป็นผลนิพพานละกิเลส
ได้นั่นแหละ จึงจะเป็นโลกุตรเหนือโลก
เมื่ออยู่เหนือโลกก็เป็นอันว่าพ้น
จากอำนาจของโลก คือของกิเลสและของทุกข์ทั้งหลาย
ในโลก มารก็จึงขัดขวางใครๆ ที่
จะปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานสมบัติเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อละมิจฉาทิฏฐิในข้อนี้ได้ ก็
สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไปได้
และข้อนี้ใครๆ ก็ตาม เมื่อยังติดอยู่
ในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ ก็บรรลุถึงนิพพานสมบัติไม่
ได้เช่นเดียวกัน และในการที่จะบรรลุ
ถึงมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติได้ ก็
ต้องประกอบการบุญการกุศล จึงจะบรรลุได้
ถ้าประกอบการเป็นบาปเป็นการอกุศลต่างๆ ก็
ต้องไปอบาย คือคติที่เป็นทุกข์ต่างๆ ไร้ความสุข
ความเจริญ
ขันธ์มาร กิเลสมาร
ตามที่แสดงมานี้ เรื่องมารจึง
เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันมาถึงกิเลสเป็นต้น ก็สมกับที่
ได้มีตรัสแสดงไว้ถึงมาร ๕ คือขันธ์มาร กิเลสมาร
อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร
และท่านก็แสดงอธิบายว่าขันธ์มาร มารคือขันธ์
ขันธ์ก็คือขันธ์ ๕ อันได้แก่ขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ย่อลงก็เป็นนามขันธ์รูปขันธ์
หรือที่เรียกว่านามรูป กล่าวโดยย่อก็คือกายใจของทุกๆ
คนนี้เอง ได้ชื่อว่าเป็นมาร ที่แปลว่าผู้ทำให้ตาย หรือ
ผู้ทำลาย
กิเลสมาร
มารคือกิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองจิต อัน
ได้แก่กิเลสกองราคะหรือโลภะโทสะโมหะเป็นต้น
บรรดาที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหมด ทั้งที่
เป็นอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียด ได้ชื่อว่า
เป็นมาร คือเป็นผู้ทำให้ตาย หรือทำลาย
อภิสังขารมาร มัจจุมาร
อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อันได้แก่
ความปรุงแต่ง หมายถึงปรุงแต่งทางใจ คือเจตนา
ความจงใจต่างๆ จนถึงปรุงแต่งทางกายทางวาจา
และทางใจ เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
มัจจุมาร มารคือมัจจุ อันได้แก่ความตาย
ก็เป็นมารคือเป็นผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลายชีวิต
เทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร โดยทั่วไปก็คือเทวดาที่
เป็นมาร หรือเทพที่เป็นมารดังที่กล่าวมาข้างต้น
มารย่อมเนื่องด้วยกิเลส
ในข้อนี้เมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็
จะเห็นว่าทุกๆ ข้อนั้นที่ชื่อว่าเป็นมาร ก็ย่อมเนื่อง
ด้วยกิเลส เนื่องด้วยโลภ อันเป็นชื่อของทุกข์ อัน
เป็นชื่อของกิเลสทุกข้อ ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ขันธ์มาร
มารคือขันธ์ ขันธ์คือขันธ์ ๕ หรือว่านามรูปนี้ ที่
เป็นมารก็เมื่อยังเป็น อุปาทานขันธ์ ขันธ์
เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา หรือ อุปาทานนามรูป
นามรูปที่ยึดถือดั่งนั้น เมื่อเป็นอุปาทานขันธ์จึง
เป็นมารคือเป็นผู้ฆ่า ผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลาย
เพราะเหตุว่า ฆ่าหรือทำลายต่อมรรคผลนิพพาน ทำ
ให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพานสมบัติไม่ได้ ก็
ได้แค่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ต่อเมื่อละอุปาทาน
ความยึดถือว่าตัวเราของเราในขันธ์เสียได้ นั่นแหละจึง
จะบรรลุนิพพานสมบัติได้ และเมื่อบรรลุนิพพานสมบัติ
แล้วดังพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ขันธ์ก็ไม่เป็นขันธมารของพระองค์ แต่ว่าเป็นขันธ์หรือ
เป็นนามรูปที่เป็นธรรมชาติธรรมดา
มาถึงกิเลสมารข้อ ๒ ก็เช่นเดียวกัน กิเลส
นั้นย่อมเป็นมารโดยตรง เมื่อยังละกิเลสไม่
ได้ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ คือเมื่อยังติดอยู่
ในกิเลส ยังยินดีพอใจอยู่ในกิเลส
ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ ต่อเมื่อละกิเลสได้ กิเลสก็
ไม่เป็นมารที่จะขัดขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
อภิสังขารคือปรุงแต่งทางใจทางจิต
เป็นเจตนา ตลอดจนถึงก่อกรรม
เป็นการกระทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เช่นเดียว
กัน กรรมที่ชั่วหรือว่าส่วนชั่วก็เป็นมารต่อส่วนดี
แม้กรรมที่เป็นส่วนดีก็เป็นมารต่อส่วนที่เป็น อเนญชะ
คือที่เป็นกลางๆ ที่เป็นความสงบ แม้กรรมที่เป็นกลางๆ
เป็น อเนญชะ เช่นเป็นฌาน ถ้าติดอยู่ก็เป็นมารต่อปัญญา
ที่จะให้ตรัสรู้ถึงมรรคผลนิพพาน และการที่ยังมีปรุงแต่ง
อยู่ก็เพราะว่ายังมีกิเลส เพราะฉะนั้นการปรุงแต่ง
จึงหมายถึงว่ายังมีกิเลส จึงต้องปรุงแต่ง
และเมื่อละกิเลสได้ ก็ละการปรุงแต่งได้ เพราะฉะนั้น ก็
เป็นอันว่าไม่มีการปรุงแต่งที่เรียกเป็นมารต่อไป
มัจจุคือความตายก็เช่นเดียวกัน
ที่คนเราทุกๆ คนรู้สึกว่าความตายเป็นผู้ทำลายชีวิต ก็
เพราะว่ายังมีอุปาทานยึดถืออยู่ในขันธ์ในชีวิต ว่าเป็นเรา
เป็นของเรา จึงรู้สึกว่าความตายนั้นเป็นตัวมารคือเป็น
ผู้ทำให้ตายโดยตรง เป็นผู้ฆ่าโดยตรง คือว่าฆ่าชีวิต
หรือทำลายชีวิตนี้โดยตรง เพราะยังมีความยึดถืออยู่
ในชีวิตว่าเป็นเราเป็นของเรา เพราะฉะนั้นจึงทำให้ทุกๆ
คนซึ่งเป็นสามัญชนต้องกลัวตาย มรณะภัยคือ
ความกลัวต่อความตายนั้นย่อมมีอยู่แก่จิตสามัญทั่วไป ก็
เพราะยังมีความยึดถืออยู่ในชีวิตว่าเป็นเรา
เป็นของเราดังที่กล่าวมานั้น ฉะนั้นเมื่อละความยึดถือ
ในชีวิตได้ ว่าเป็นเราเป็นของเรา คือว่าละกิเลสได้ ละ
ความยึดถือในขันธ์ได้ มัจจุคือความตายก็ไม่เป็นมาร
แต่ว่าเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับความเกิด
ซึ่งเป็นธรรมดา ความแก่ซึ่งเป็นธรรมดา ความเจ็บไข้ซึ่ง
เป็นธรรมดา ความตายก็เป็นธรรมดาเช่นเดียวกัน
ความเกิด ความตาย
คนเราชอบความเกิดถือว่าเป็นมงคล แต่ว่า
ความตายถือว่าเป็นความสูญสิ้น และไม่ถือว่าเป็นมงคล
แต่อันที่จริงนั้นเหมือนกัน ทั้งเกิดทั้งแก่ทั้งเจ็บทั้งตาย
เป็นธรรมดาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว
คือพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่าน
ไม่ยึดถือขันธ์ ไม่ยึดถือชีวิต เพราะฉะนั้น จึงไม่
เป็นมารของท่าน แต่เป็นธรรมดา เช่นเดียว
กับชีวิตที่ดำรงอยู่นี้ ก็เป็นธรรมดา เมื่อธาตุทั้งหลาย
ยังประชุมกันอยู่ ชีวิตนี้ก็ยังดำรงอยู่ ก็เป็นธรรมดา
เมื่อธาตุทั้งหลายแตกสลาย ชีวิตนี้ก็ดับ ก็เป็นธรรมดา
เป็นของธรรมดาสามัญ ก็ไม่เป็นมารของท่าน
คราวนี้มาถึงเทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร
ก็มักอธิบายถึงเทพที่เป็นมารดังที่กล่าวมาโดยลำดับ แต่
โดยที่ทุกๆ ข้อนั้น หรือแม้ที่เล่าถึงมารโดยเป็นเทพ
ก็สัมพันธ์มาถึงกิเลส สัมพันธ์มาถึงโลก อันหมาย
ถึงตัวทุกข์ และตัวกิเลสนี้เอง เพราะฉะนั้น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ จึง
ได้ทรงอธิบายว่าหมายถึงรูปธรรมทั้งปวง จะ
เป็นรูปธรรมที่เป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม
เป็นอะไรก็ตาม หรือเป็นวัตถุต่างๆ ก็ตาม เช่นเป็นรูป
เป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่ยึดถือ
เป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือแม้ไม่
เป็นที่ปรารถนาพอใจ
เป็นที่ตั้งของกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง
เหล่านี้ก็รวมเข้าในคำว่าเทวบุตรมารทั้งนั้น
กับทั้ง
ได้ฟังกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเทวบุตรมารนั้น
ควรจะหมายถึงความที่อยากไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา
หรือความที่อยากไปเกิดเป็นเทวดาเป็นเทพ ก็
เป็นตัวกิเลสด้วยกัน เมื่ออธิบายดั่งนี้ ย่อมจะมี
ความสัมพันธ์กันหมดทั้ง ๕ ข้อ ทั้ง ๔ ข้อข้างต้น
นั้นก็หมายรวมเข้าไปในตัวกิเลส แม้ข้อ ๕ นี้เองก็ควร
จะหมายรวม ... (ข้อความขาดนิดหน่อย)
เจโตวินิพันธะ
พระราชดำรินี้ก็ไปตรงกันเข้า
กับข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เป็น เจโตวินิพันธะ
คือเครื่องผูกพันใจ ๕ ข้อ อันได้แก่
ความติดใจยินดี ความพอใจ ความรักอยู่
ในกาม ข้อหนึ่ง ในกาย ข้อหนึ่ง ในรูป ข้อหนึ่ง เป็น ๓
ข้อ
กับ ความที่บริโภคอิ่มแล้ว การเอน
การซึมเซา เป็นข้อที่ ๔
กับ ความที่ตั้งจิตปรารถนาว่า
ด้วยการปฏิบัติในศีลในวัตรทั้งปวงนี้ ขอให้ไปเกิด
เป็นเทพ หรือเทพชั้นใดชั้นหนึ่ง อันเป็นข้อที่ ๕
๕ ข้อนี้เรียกว่าเป็น เจโตวินิพันธะ คือ
เป็นเครื่องผูกพันใจ อันทำให้ไม่น้อมใจไปเพื่อประกอบ
ความเพียร เพื่อกระทำความเพียรติดต่อ ฉะนั้นจึงไม่
เป็นฐานะที่จะทำให้บรรลุถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ในพระธรรมวินัยนี้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ความที่ปรารถนาจะไปเกิด
เป็นเทพนี้แหละจึงเป็นเทวบุตรมาร เพราะเมื่อ
ต้องการสวรรค์สมบัติก็เป็นอันว่า ทำให้ติดอยู่
ในสวรรค์สมบัติ ไม่ให้บรรลุถึงนิพพานสมบัติได้
เพราะฉะนั้น สมบัติทั้งปวง มนุษย์สมบัติก็ดี
สวรรค์สมบัติก็ดี เมื่อติดอยู่จึงเป็นมารต่อนิพพานสมบัติ
จะต้องละมนุษย์สมบัติได้ สวรรค์สมบัติได้ จึงจะบรรลุ
ถึงนิพพานสมบัติได้
เทวบุตรมารข้อนี้จึงหมายได้ถึงสมบัติ
ทั้งปวงดังกล่าว ทั้งที่เป็นมนุษย์สมบัติ ทั้งสวรรค์สมบัติ
เมื่อไปติดอยู่เสียแล้วก็เป็นอันว่า
เป็นมารต่อนิพพานสมบัติ เพราะฉะนั้น มารทั้ง ๕
ประการเหล่านี้ จึงเป็นมารต่อนิพพานสมบัติ
พระพุทธเจ้าได้ทรงผจญมารทั้ง ๕ นี้ได้
จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า และก็
ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน เพื่อให้
ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อพ้นกิเลสและกองทุกข์
ได้รู้จักหน้าตาของมารทั้ง ๕ นี้ เพื่อว่าเมื่อ
ต้องการนิพพานสมบัติก็ต้องปฏิบัติเพื่อละมารทั้ง ๕ นี้
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะบรรลุถึงนิพพานสมบัติได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ย. 2014, 13:35 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มาร ๕ (๒)
�����
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรม
ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ
ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระ
ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจ
ถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติพระพุทธศาสนา กล่าว
โดยย่อก็เพื่อประโยชน์ ๓ ประการ
คือประโยชน์ปัจจุบันอันเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ
ประโยชน์ที่บังเกิดขึ้นในธรรมะคือข้อที่เห็นได้
อันหมายถึงว่าเห็นได้ในปัจจุบัน สัมปรายิกัตถะ
ประโยชน์ภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง อันเรียกว่า
ปรมัตถะ อันหมายถึงมรรคผลนิพพาน
คือธรรมะที่ตัดกิเลสและกองทุกข์ ได้บางส่วนจน
ถึงสิ้นเชิง
ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคฤหัสถ์ผู้
อยู่ครองเรือน อันเรียกว่าฆราวาส ให้ปฏิบัติ
ในประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า
ทรงสั่งสอนบรรพชิตคือผู้บวชในพุทธศาสนา ตลอดจน
ถึงฆราวาส คฤหัสถ์
ผู้มุ่งประโยชน์ที่สูงขึ้นไป ให้ปฏิบัติ
ในธรรมะอันเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง
คือมรรคผลนิพพาน อันเรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ นั้น
ปรมัตถประโยชน์
สำหรับ
ในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน
หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าเพื่อละกิเลสและกองทุกข์นั้น
กล่าวโดยย่อก็คือปฏิบัติในไตรสิกขา อัน
ได้แก่ศีลสมาธิปัญญา เมื่อกล่าว
โดยจำแนกออกไปอีกก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘
มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปเข้าก็เป็นศีลสมาธิปัญญานั้นเอง
เพราะฉะนั้น บรรพชิตคือผู้บวชในพระพุทธศาสนา
ตามความมุ่งหมายตั้งแต่ต้นมา
ก็มุ่งบวชเพื่อปฏิบัติละกิเลสและกองทุกข์ อัน
เป็นปรมัตถประโยชน์ดังกล่าวมานั้น
อนึ่ง แม้ว่าในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน
จะมีการบวชชั่วระยะเวลาอันสั้น เพื่อ
เข้ามาศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยที่ภิกษุ
จะพึงศึกษาปฏิบัติ อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อละกิเลส
และกองทุกข์ ก็คงปฏิบัติอยู่
ในหลักแห่งศีลสมาธิปัญญานั้นเอง
ถึงว่าคฤหัสถ์ฆราวาสผู้ที่ต้องการประโยชน์ปัจจุบัน
ประโยชน์ภายหน้า เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็คงปฏิบัติอยู่
ในหลักแห่งศีลสมาธิปัญญาด้วย
เป็นแต่เพียงว่าผ่อนลงมาในรายละเอียดทั้งหลาย
ที่แบ่งแยกออกเป็นข้อๆ ให้น้อยเข้า
พอเหมาะพอควรแก่ความเป็นคฤหัสถ์ฆราวาส เช่นว่า
ศีลของภิกษุมีจำนวนที่กำหนดกันไว้สำหรับแสดงที่มา
ในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ คือจำแนกออกเป็นข้อๆ
เป็นรายละเอียด ก็เป็น ๒๒๗ ข้อ
แต่สำหรับคฤหัสฆราวาสก็เป็นศีล ๕ ศีล ๘
จำแนกออกเป็น ๕ ข้อ ๘ ข้อ ดั่งนี้เป็นต้น ซึ่งก็รวมเข้า
ในคำว่าศีลนั้นเอง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่า
จะเป็นบรรพชิต ก็คงปฏิบัติอยู่ในศีล แม้สมาธิ
และปัญญาก็เช่นเดียวกัน ก็คงปฏิบัติอยู่ในสมาธิและ
ในปัญญา เพื่อให้บรรลุถึงสันติคือความสงบกาย
สงบวาจา สงบใจ และโดยตรงก็คือสงบใจ อัน
เป็นหลักสำคัญ จึงมาปฏิบัติทำจิตตภาวนา ทั้ง
ในขั้นสมาธิ และในขั้นปัญญาอยู่ด้วยกัน
สันติของใจเรียกว่านิพพาน
ดั่งที่มาปฏิบัติกันอยู่นี้ ก็มุ่งที่จะทำ
ให้จิตใจบรรลุถึงความสงบ ก็คือสงบจากกิเลสอันเป็น
ส่วนเหตุ สงบจากความทุกข์อันเป็นส่วนผล ที่เกิด
จากเหตุ คือสงบกิเลส สันติคือความสงบดังกล่าวนี้
เป็นข้อมุ่งหมายแห่งการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา
และก็มีความหมายที่รวมได้ถึงคำที่ว่ามรรคผลนิพพาน
หรือว่าพ้นกิเลส พ้นทุกข์ ละกิเลส ละทุกข์
คำเหล่านี้ก็รวมอยู่ได้ในคำว่าสันติ
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิต
ที่แสดงไว้ว่า ความบริสุทธิ์
จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย เป็นความดับ
จากทุกข์ทั้งปวง นั้นคือสันติของใจ ซึ่งเรียกว่านิพพาน
เพราะฉะนั้น ตามพุทธศาสนสุภาษิตที่แปลมานี้
ที่เรียกว่านิพพานนั้นก็คือสันติของใจ หรือ
ความสงบของใจ ความสงบของใจนั้นก็ได้แก่ ความดับ
จากทุกข์ทั้งสิ้น และความดับจากทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ก็
เพราะวิสุทธิ คือบริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ
ทั้งหมด การปฏิบัติเพื่อวิสุทธิคือความบริสุทธิ์
จากเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหมด จึงเป็นไปเพื่อความดับ
จากทุกข์ทั้งสิ้น นี้แหละคือสันติของใจ
ความสงบของใจ ที่เรียกว่านิพพาน
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา
ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต
เช่นมาปฏิบัติทำจิตตภาวนากันอยู่นี้
จึง
เป็นการปฏิบัติเพื่อสันติของใจที่เรียกว่านิพพานนั้นเอง
อันจะพึงถึงได้ด้วยการปฏิบัติให้จิตนี้บริสุทธิ์
จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย อันส่งผลให้
เป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย การปฏิบัติในศีล
ในสมาธิในปัญญา ก็เพื่อสันติของใจดังที่กล่าวมานี้
สันทิฏฐิกนิพพาน
และได้มีพระพุทธภาษิตที่แสดงไว้ถึง
สันทิฏฐิกนิพพาน คือนิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรือ
ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน
อันหมายถึงสันติของใจ แม้ที่ทุกคนผู้ปฏิบัติธรรมะ
ได้บรรลุถึงกันอยู่ แม้ว่าจะเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่น
ได้บรรลุถึงอยู่ในขณะที่ปฏิบัติธรรมะ
เช่นในขณะที่ปฏิบัติทำจิตตภาวนา
ใจบริสุทธิ์จากกิเลสกองโลภโกรธหลงทั้งหลาย
ไม่มีทุกข์อยู่ในใจ ในขณะที่จิตบริสุทธิ์นี้ใจจึงสงบ
แม้เพียงเท่านี้ก็เป็นทิฏฐธรรมิกะนิพพาน
หรือสันทิฏฐิกะนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน
ของผู้ปฏิบัติทั่วไปได้ ซึ่งบังเกิดขึ้นชั่วขณะ
หรือชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม
และอาศัยการปฏิบัติแม้ชั่วครั้งชั่วคราวนี้ ได้
ความสงบของใจ เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เข้าก็ย่อมจะ
ได้มากขึ้น นานขึ้น จนถึงสามารถบริสุทธิ์จากกิเลส
ได้จริงๆ อย่างเด็ดขาด ก็จะทำให้ได้
ความดับทุกข์อย่างเด็ดขาด
ได้สันติของใจอย่างเด็ดขาด จนถึงเด็ดขาดในที่สุด
ก็เป็นปัจจุบันอีกเหมือนกัน คือ
เป็นสันทิฏฐิกะ เป็นทิฏฐธรรมอีกเหมือนกัน คือเห็นได้
ในปัจจุบัน อันหมายความว่าไม่ต้องไปรอในภายหน้า
เช่นไปรอว่าต้องพรุ่งนี้ ต้องมะรืนนี้ ต้องปีหน้า
ต้องชาติหน้า
แต่หมายความว่าเห็นกันได้เดี๋ยวนี้ วันนี้
เวลานี้ อันหมายถึงว่าเวลาที่สามารถปฏิบัติทำจิตให้
เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาได้ บริสุทธิ์จากกิเลส
ทั้งหลายได้ ทุกข์ทั้งหลายดับไปได้ สันติของใจก็มีได้
มีได้ให้เห็นได้ ให้รู้ได้ ในเดี๋ยวนี้ ในวันนี้ ไม่
ต้องรอไปว่าต่อจากเดี๋ยวนี้ หรือพรุ่งนี้
เป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ดั่งนี้แหละธรรมะจึงเป็น
สันทิฏฐิโก ที่เห็นได้เองในพุทธศาสนา เห็นได้
ในปัจจุบัน และแม้ว่าจะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวก็ไม่
เป็นอะไร เพราะทีแรกก็ต้องชั่วครั้งชั่วคราวไปก่อน
และเมื่อทำบ่อยๆ ทำมากๆ เข้า ได้บ่อยๆ ได้มากๆ เข้า
ก็จะยืดยาวยิ่งขึ้น จะมากยิ่งขึ้น จนถึงบริสุทธิ์บริบูรณ์
เต็มรอบในที่สุดดังที่กล่าวมาแล้ว
มาร
อนึ่ง ในการปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา
เพื่อบรรลุถึงสันติของใจ ที่เรียกว่านิพพาน แม้ที่
เป็นชั่วครั้งชั่วคราว ที่เป็นปัจจุบันดังกล่าวมานั้น ก็จะ
ต้องมีประสบมารทั้งหลาย มีขันธมารเป็นต้น
เป็นเครื่องขัดขวางต่อการปฏิบัติ ทำ
ให้การปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เพื่อให้บริสุทธิ์จากกิเลสนี้
เป็นไปไม่ได้สะดวก ทำให้ดับทุกข์เป็นไปไม่ได้สะดวก
ทำให้สันติของใจเกิดขึ้นมาได้ยาก ไม่ค่อยจะได้
ความหมายของขันธมาร
ข้อแรกก็คือขันธมาร มารคือขันธ์
ได้แก่ขันธ์ ๕ ย่อเข้ามาก็เป็นนามรูป คือกายใจนี้เอง
ซึ่งในการปฏิบัติธรรมะดังที่กล่าวโดยย่อ
คือศีลสมาธิปัญญานั้น ก็ต้องใช้กายใจนี้เองปฏิบัติ
แต่ว่ากายใจนี้ก็คร้าน คือเกียจคร้านที่จะปฏิบัติ
หรือว่าท้อแท้ทางกายท้อแท้ทางใจ ไม่ต้องการที่
จะปฏิบัติ อดทนต่อหนาวร้อนหิวระหาย
และเครื่องที่มาทำให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจต่างๆ ไม่ได้ เมื่อต้องประสบ
กับทุกขเวทนาก็ไม่สามารถที่จะทนได้ ทั้งต้องการจะ
ให้กายใจนี้ได้พบกับสุขเวทนา เช่นที่เป็นกามสุข
ทั้งหลาย ก็ทำไม่ได้
เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติ
ได้ หรือว่าปฏิบัติได้ก็ไม่เต็มที่ ต้องขาดตกบกพร่อง ก็
เพราะกายและใจอันนี้นี่เอง เมื่อเป็นดั่งนี้
ขันธ์คือกายใจอันนี้ก็เป็นมารต่อการที่
จะปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา หรือ
จะเรียกว่าพระธรรมวินัยก็ได้ ทำให้บรรลุถึง
ความบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้
บรรลุถึงสันติของใจไม่ได้
เหตุที่ทำให้ไม่ได้ศรัทธาปัญญา
ทั้งนี้ก็เพราะว่าสามัญชนทั้งปวงนั้น ยังมี
ความยึดถือ ขันธ์หรือกายใจอันนี้ ว่าเป็นตัวเราของเรา
ฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์
เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา เมื่อมีความยึดถือดั่งนี้
นอกจากไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมวินัย
หรือศีลสมาธิปัญญาได้ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังไม่
สามารถที่จะได้ศรัทธาความเชื่อ ได้ปัญญาความรู้
ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ขันธ์
ทั้งหลายคือกายใจนี้เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกขะ
เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง
เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ไม่สามารถที่จะเชื่อ ไม่
สามารถที่จะรู้ รับในสัจ
จะธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ เพราะว่าขัดต่อ
ความยึดถือของตน ที่ยึดว่าเป็นตัวเราของเรา
ครั้นมาสดับว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ก็ทำให้ไม่เกิด
ความเชื่อ ไม่เกิดปัญญาที่รับรู้ เพราะฉะนั้นขันธ์
เป็นที่ยึดถือนี้เองจึงเป็นมารขัดขวางต่อการที่
จะละกิเลสและกองทุกข์ได้
กิเลสมาร
ทั้งนี้ก็เพราะว่าอุปาทานความยึดถือ
อันทำให้ขันธ์เป็นอุปาทานขันธ์ดังกล่าวมานั้น ก็
เป็นตัวกิเลสนั้นเอง อุปาทานก็เป็นตัวกิเลส
และอุปาทานนี้ก็เกิดสืบมาจากตัณหา คือ
ความดิ้นรนทะยานอยาก อันสืบเนื่องมาจากอวิชชาคือ
ความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง
เพราะฉะนั้นเมื่อชี้เข้ามาโดยตรงแล้ว
ก็คือตัวกิเลสนี้เองที่เป็นตัวมาร จึงแสดงกิเลสมาร
เป็นข้อที่ ๒
กิเลสเครื่องเศร้าหมองของใจนี้
ก็ตั้งต้นแต่อวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัว
ความจริง แล้วก็สืบมาเป็นตัณหา
ความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นอุปาทานความยึดถือ
และเมื่อแสดงออกไปโดยอาการต่างๆ เป็นราคะ
ความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ โทสะ
ความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลงเป็นต้น ก็
เป็นกิเลสทั้งนั้น กิเลสเหล่านี้เองเป็นตัวมารที่
เป็นเครื่องขัดขวางมิให้การปฏิบัติพระธรรมวินัย
หรือศีลสมาธิปัญญา เพื่อความบริสุทธิ์จากกิเลส เพื่อ
ความสิ้นทุกข์นั้นเป็นไปได้
อภิสังขารมาร
และกิเลสนี้เองที่มารังควานอยู่
ในจิตใจของบุคคลได้ ก็
เพราะจิตใจของบุคคลนี้เองรับกิเลส
เข้ามาปรุงแต่งจิตใจ ให้คิดไป เจตนาจงใจไป
ในทางดีบ้าง ในทางไม่ดีบ้าง ในทางที่เป็นกลางๆ บ้าง
อันเรียกว่า อภิสังขาร คือความปรุงแต่งใจ เพราะใจ
หรือจิตนี้เองยังมีราคะคือความติด มีความยินดี อยู่
ในกิเลส ยังติดกิเลส เพราะฉะนั้นจึงรับกิเลสเข้ามา
เป็นเครื่องปรุงจิตใจ ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส
ทั้งหลาย คือรูปที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยินทางหู
กลิ่นที่ทราบทางจมูก รสที่ทราบทางลิ้น
โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่ทราบทางกาย
และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลายที่รู้ทางใจ
กิเลสก็ปรุงสิ่งเหล่านี้
ความปรุงแต่งดังที่กล่าวมานี้เรียกว่าอภิสังขาร
เป็นไปดังที่กล่าวมาแล้ว คือดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆ
บ้าง
เพราะฉะนั้น ความปรุงแต่งนี้เองจึง
เป็นตัวมารที่สืบเนื่องมาจากกิเลส คนเราไม่สามารถ
จะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา หรือ
ในพระธรรมวินัยได้
ก็เพราะว่ากิเลสเหล่านี้คอยปรุงใจอยู่
โดยอาศัยอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น ก่อ
ให้บังเกิดกิเลสทับถมเข้ามาอีก และเมื่อใจปรุงอยู่ดั่งนี้
ก็ปรากฏเป็นความฟุ้งซ่านไปต่างๆ จะปฏิบัติในศีล
ให้บริสุทธิ์ก็ปฏิบัติไม่ได้ จะทำสมาธิก็ทำไม่ได้
จะปฏิบัติทางปัญญา ปัญญาก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้น จึงต้องสงบเครื่องปรุงใจให้
ได้ คือสงบกิเลสและอารมณ์ในใจได้ นั่นแหละจึงจะ
เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาได้ เพราะฉะนั้น
ความสำคัญจึงมาอยู่ที่ว่าใจนี้เองรับเอากิเลสเข้ามาปรุง
รับเอาอารมณ์เข้ามาปรุง เพราะฉะนั้น นี่แหละเรียกว่า
อภิสังขารมาร ที่บังเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจของบุคคล
มัจจุมาร
และในการที่เป็นไปดังนี้จึงทำให้บุคคล
ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่สิ้นสุด ไม่
สามารถจะพ้นจากความเวียนว่ายตายเกิดได้ และแม้
ในปัจจุบันนี้ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ แต่ทุกคน
นั้นก็มักจะไม่นึกถึงเกิด แต่ว่ามักจะนึกถึงก็คือตาย
และเมื่อนึกถึงขึ้นมาแล้วก็กลัวตาย เพราะฉะนั้น
ความตายจึงเป็นมรณะภัย ภัยคือความกลัวแต่
ความตาย ซึ่งแสดงว่าเป็น
ความรู้สึกประจำจิตใจของคนทั้งหลายอยู่ทั่วกัน
และความตายนี้อันที่จริงก็
เป็นธรรมดาของสังขาร แต่ว่าบุคคลเมื่อมีความยึดถือ
อยู่ในชีวิต เป็นตัวเราเป็นของเรา หรือในขันธ์ว่า
เป็นตัวเราเป็นของเรา ก็ไม่ต้องการที่จะแก่จะตาย
เพราะฉะนั้น จึงต้องกลัวตาย เพราะไม่อยากจะตาย
เห็นความตายว่าเป็นเครื่องทำลาย และความตาย
นั้นอันที่จริงก็เป็นเครื่องทำลายชีวิตจริงๆ
เป็นเครื่องทำลายที่มองเห็นกันอยู่ บุคคลที่ควร
จะบรรลุประโยชน์อะไรได้ต่อไปอีก แต่
ต้องตายเสียก่อน ก็เป็นอันว่าขาดประโยชน์ที่จะบรรลุ
ได้
ดังเช่นที่พระพุทธเจ้า
จะตรัสสอนปฐมเทศนาแก่ท่านอาจารย์ทั้งสอง
คือท่านอาฬารดาบส และท่านอุททกดาบส ว่าเป็น
ผู้ที่สมควรจะรับปฐมเทศนาได้ ถ้าเสด็จไปโปรดท่านก็
จะได้ดวงตาเห็นธรรม แต่ว่าก็ทรงทราบว่าท่านทั้งสอง
นั้นได้ถึงมรณภาพไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น ท่าน
จึงหมดโอกาสที่จะได้ดวงตาเห็นธรรม นี้ความตาย
เป็นเครื่องทำลายชีวิต อันเรียกว่าเป็นมารอย่างทั่วไป
แต่อันที่จริงนั้นก็
เป็นธรรมดาของชีวิตของสังขารทั้งหลาย เพราะเกิดก็
ต้องตาย พระพุทธเข้าได้ทรงพ้นจากความตาย
ดังที่เรียกว่าบรรลุอมตธรรม เป็นพุทโธคือเป็นพระผู้รู้
ก็โดยที่ได้ตรัสรู้เห็นในคติธรรมดาของสังขารทั้งหลาย
ว่าต้องเกิดต้องดับ หรือต้องเกิดต้องตาย เพราะฉะนั้น
จึงทรงวางตัณหาวางอุปาทานในขันธ์ได้ในชีวิตได้ ฉะ
นั้นจึงทรงพ้นมัจจุมาร
แม้ว่าพระสรีระสังขารของพระองค์จะต้องดับขันธ์
ดังที่เรียกตามสามัญว่าตาย แต่พระองค์ก็เป็นผู้ที่
ไม่ตาย เพราะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่ปล่อย เป็นผู้ที่วางแล้ว
ขันธ์หรือชีวิตที่ต้องตายนั้นไม่ใช่เป็นของพระองค์
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ต้องตาย
เพราะว่าสิ่งที่ตายนั้นไม่ใช่เป็นของพระองค์ แต่
เป็นของโลก เกิดขึ้นมาในโลก ปรุงแต่งขึ้นในโลก
แล้วก็แตกสลายไปในโลก พระองค์เป็นผู้ที่พ้นจากโลก
แล้ว เป็นพ้นที่พ้นจากความยึดถือแล้ว พระองค์จึงไม่
ใช่เป็นผู้ตาย สิ่งที่ตายนั้นเป็นขันธ์ ไม่ใช่เป็นพระพุทธะ
เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นมารของพระองค์ แต่ว่ายัง
เป็นมารของบุคคลทั่วไปที่ยังมีความยึดถืออยู่
เทวบุตรมาร
และนอกจากมีความยึดถืออยู่ และยังมี
ความกลัวตายดังที่กล่าวมาแล้ว คนสามัญทั่วไปยัง
ต้องการยังปรารถนาที่จะไม่ตาย โดยที่ไม่ตายในภาวะ
เป็นมนุษย์นี้ก็ตาม หรือว่าไม่ตายโดยไปเกิดเป็นเทพ
ที่เข้าใจหรือยึดถือกันว่าเมื่อไปเกิด
เป็นเทพแล้วก็เป็น อมร หรือ อมระ คือเป็นผู้ที่ไม่ตาย
ก็คงอยู่เป็นนิรันดร เพราะฉะนั้น จึงมุ่งที่จะไปเกิด
เป็นเทพที่เป็น อมโร คือเป็นผู้ที่ไม่ตาย ดังที่กล่าวมานี้
กันอยู่เป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น ความที่มุ่งไปเกิด
เป็นเทพแม้ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นมารอีกเหมือนกัน คือ
เป็นเครื่องขัดขวางต่อการปฏิบัติพระธรรมวินัย เพื่อ
ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ เพราะเหตุว่า
ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ในพุทธศาสนานั้น
ต้องการที่จะต้องดับชาติคือความเกิด เมื่อดับชาติได้
ก็ดับชรา มรณะ และทุกข์ต่างๆ ได้ เมื่อยังดับชาติคือ
ความเกิดไม่ได้ ก็ดับทุกข์คือชรามรณะ และทุกข์ต่างๆ
ไม่ได้
ฉะนั้น เมื่อยังต้องการไปเกิดเป็นเทพอยู่
นั่นก็เป็นชาติคือความเกิด เพราะฉะนั้น เทพชนิดที่เป็น
อมร คือไม่ตายนั้นจึงไม่มี ตามหลักแห่งพุทธศาสนา
เทวดาเมื่อมีอุปบัติ ก็ต้องมีจุติ คือมีเคลื่อนจากความ
เป็นเทพ แล้วก็ไปเกิดตามกรรม สูงบ้าง ต่ำบ้าง ที่
จะดำรงอยู่เป็นนิรันดรไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสรู้ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงไม่ประสงค์ความเป็นเทพ แม้ท่านดาบส
ทั้งสองนั้นท่านก็ปฏิบัติในสมาบัติของท่านเพื่อไปเกิด
เป็นพรหม ก็เพื่อเป็นเทพนั่นเอง เพราะฉะนั้นท่านพอใจ
เท่านั้น ไม่ต้องการธรรมะที่สูงขึ้นไป เพื่อพ้นชาติคือ
ความเกิดทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงพ้นทุกข์ไม่ได้ แม้
ในกาลต่อจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน คนเป็นอันมากก็ยังมี
ความยึดถืออยู่เช่นเดียวกัน ว่าต้องการจะไปเกิด
เป็นเทพ หรือไปอยู่กับเทพที่เป็นอมร คือเป็นผู้ที่
ไม่ตาย เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องตัดทางสำหรับที่
จะปฏิบัติ เพื่อบรรลุความสิ้นทุกข์ทั้งปวง
ตามหลักพระพุทธศาสนา
ฉะนั้น จึงได้ตรัสมารข้อที่ ๕
คือเทวบุตรมาร มารคือเทพบุตรขึ้นอีก โดยความก็คือ
ความที่ยังมีความมุ่งหมายที่จะได้สวรรค์สมบัติ
หรือหากจะกล่าวรวม ก็มุ่งหมายที่จะ
ได้มนุษย์สมบัติด้วย หรือว่าสูงขึ้นไปก็สวรรค์สมบัติ
แต่ยังไม่ต้องการนิพพานสมบัติ เป็นที่ดับชาติภพทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ความต้องการเพียงเท่านี้จึงกลายเป็นมาร
ทำให้บรรลุนิพพานสมบัติไม่ได้
เครื่องขัดขวางต่อการปฏิบัติ
ฉะนั้น มารตามที่กล่าวมานี้จึง
เป็นเครื่องทำให้เกิดเป็น เจโตขีละ คือตะปูใจ
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเอาไว้ก็คือ ข้อ ๑ ยังมี
ความเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส
ในพระศาสดา ๒ ในพระธรรม ๓ ในพระสงฆ์ ๔
ในสิกขาปฏิบัติ เช่นสิกขาปฏิบัติในศีล ในสมาธิ
ในปัญญา และมีความโกรธ มีใจที่ไม่แช่มชื่น
มีใจที่กระทบกระทั่งในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย รวม
เป็น ๕ ข้อ นี่เป็นตะปูใจ
และอีก ๕ ข้อเป็น เจโตวินิพันธะ
คือเครื่องผูกพันใจ ได้แก่การที่ยังมากอยู่ด้วยราคะ
ความติดใจยินดี ฉันทะ ข้อ ๑ ข้อ ๒ ในกายของตน
ข้อ ๓ ในรูปที่เป็นภายนอกทั้งหลาย และข้อ ๔ พอใจ
ในการที่เอาแต่บริโภค และติดอยู่ในการนอน
ในการเอนพัก ในการงีบหลับ พูดง่ายๆ
ก็คือว่าเอาแต่กินแต่นอน อันเป็นข้อที่ ๔ กับอีกข้อหนึ่ง
เป็นข้อที่ ๕ ก็คือว่าประพฤติพรหมจรรย์อัน
ได้แก่ปฏิบัติในไตรสิกขา หรือพระธรรมวินัยนี้
ด้วยปรารถนาเป็นเทพ คือตั้งความปรารถนาว่าขอ
ให้เราไปเกิดเป็นเทพชั้นนั้นๆ หรือว่าเทพชั้นใดชั้นหนึ่ง
ด้วยอำนาจของศีล ของวัตร ของตบะคือความเพียร
ของพรหมจรรย์ที่ปฏิบัตินี้ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๕
ตะปูใจ ๕ ข้อ และเครื่องผูกพันใจ ๕
ข้อนี้ เป็นเครื่องขัดขวางต่อการที่จะปฏิบัติทำจิต
ให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลาย
ดับจากทุกข์ทั้งปวง ให้บรรลุ
ถึงสันติของใจที่เรียกว่านิพพานดังกล่าวนั้น เพราะฉะ
นั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องละเสีย และก็ต้องปฏิบัติอิทธิบาท
คือธรรมะที่ให้ประสบความสำเร็จ
ในการปฏิบัติประกอบความเพียร โดยต้องอาศัยสมาธิ
ความตั้งใจมั่นจริงๆ โดยมีฉันทะความพอใจ มีวิริยะ
ความเพียร มีจิตตะเอาใจใส่ มีวิมังสา
ความใคร่ครวญพิจารณา ในข้อวัตรปฏิบัตินั้นๆ โดยที่มี
ความพยายามอุตสาหะกันอย่างจริงจัง ในการที่
จะละตะปูใจ ถอนตะปูใจออกเสียให้ได้ทั้ง ๕ ข้อ ที่
จะเปลื้องเครื่องผูกพันใจให้ได้ทั้ง ๕ ข้อ
เจริญอิทธิบาทให้เต็มที่ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะ
สามารถละมารทั้ง ๕ นั้นได้ สามารถที่จะชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายได้ ดับทุกข์ทั้งปวงได้
บรรลุถึงสันติของใจได้ อันเรียกว่านิพพาน
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร