วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 15:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 23:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ขันธวิภาค

(เรียบเรียง ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐)
อิทานิ ปณฺณรสีทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ
ธมฺมีกถา กถิยเต ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ
เวทนากฺขนฺโธ สญฺญากฺขนฺโธ สงฺขารกฺขนฺโธ
วิญฺญาณกฺขนฺโธ ติกาทิกํ ขนฺธวิภงฺคํ ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ
โสตพฺโพติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันปัณรสี ดิถีที่ ๑๕
ค่ำแห่งกาฬปักข์ เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาต
เพื่อจะสดับพระธรรมเทศนา เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาต
แล้ว ได้พร้อมกันไหว้พระสวดมนต์สมาทานศีล ๕ ศีล
๘ ให้สำเร็จกิจทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาเสร็จแล้ว
ต่อนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา
พึงทำความยินดีต่อลาภที่ตนได้มาชั่ววันพระหนึ่ง ซึ่ง
ไม่มีอันตรายเครื่องขัดข้องในระหว่าง
ที่ท่านเรียกว่าอุปสรรค ด้วยอัตภาพร่างกายของเรา
ทั้งหลายหาเครื่องหมายนายประกันมิได้
โรคภัยไข้เจ็บเล่าก็นับประเภทมิถ้วน ล้วนแต่
เป็นเครื่องสังหารผลาญชีวิต ยิ่งบ้านเมืองมี
ความจำเริญขึ้นเท่าใด
อันตรายของชีวิตก็ดูเหมือนว่ามีมากขึ้นเท่านั้น
โดยที่สุดเดินไปตามถนนดี ๆ ก็ถูกเจ็บหรือถูกอันตราย
ถึงชีวิตอยู่เสมอ ๆ แทบจะไม่เว้นวัน
ส่วนโรคสำหรับร่างกายของมนุษย์ ซึ่ง
เป็นเครื่องสังหารชีวิตก็นับประเภทไม่ถ้วน
โรงพยาบาลของหลวงมากตำบล ตำบลหนึ่ง ๆ
บรรจุคนไข้นับตั้งร้อยตั้งพันขึ้นไป
จะหาว่างแต่สักตำบลหนึ่งก็ไม่มี ให้เต็มไป
ด้วยคนป่วยคนไข้แทบทุกแห่งทุกหน
ส่วนตนของเราก็แคล้วคลาดปราศจากภัยอันตรายมา
ได้ น่าภูมิใจ
ให้คิดดูอีกนัยหนึ่ง ในหมู่มนุษย์พวกเราแบ่งเป็น ๒ ภาค
ภาค ๑ ท่านให้ชื่อว่าคนพาล อีกภาค ๑ ท่าน
ให้ชื่อว่าบัณฑิต ภาคที่เป็นคนพาลนั้น
มีนัยน์ตาดีแต่กลายเป็นตาบอด มีหูดีแต่กลาย
เป็นหูหนวก
อธิบายว่า ท่านทั้งหลายที่ประพฤติสุจริตด้วยกาย
วาจา ใจ ท่านมีความสุขตั้งบ้านเรือนเคหสถานมั่นคง
บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ บริบูรณ์ด้วยบุตร
และธิดาคณาญาติ พรักพร้อมด้วยลาภและยศมี
ผู้สรรเสริญ สมบูรณ์อยู่ด้วยความสุข
ความสำราญทุกเมื่อ บุคคลประเภทนี้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต
คือเป็นคนแต่งความสุขแก่ตนได้
แต่พวกที่เรียกว่าคนพาลนั้น ไม่เห็นท่านเหล่านั้น คือ
ไม่เห็นความประพฤติของท่านเหล่านั้น ที่ท่านเหล่านั้น
ให้ทานรักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา
ตั้งใจรักษาสุจริตธรรมอยู่ทุกเมื่อ
การทำมาหาเลี้ยงชีพของท่านพวกนั้น ก็ล้วนแต่ปราศ
จากโทษ น่าเห็นแต่ก็ไม่เห็น น่าได้ยิน
ได้ฟังกิตติศัพท์ของท่านเหล่านั้นว่าท่านดีอย่างไร
แต่ก็ไม่ได้ยิน จำเพาะได้เห็นได้ยินได้ฟังแต่พวกพาล ๆ
เช่นเดียวกับตน น่าสังเวชสลดใจนี้นักหนา
ในพวกเราที่เป็นพุทธบริษัท ได้รักษาตนให้พ้น
จากบุคคลที่เป็นพาล ๆ เช่นนั้น ก็น่าภูมิใจมิใช่น้อย
แต่ก็ยังควรคิดถึงตนอีกชั้นหนึ่ง ไหน ๆ ก็ได้ตั้งใจว่าจะ
เป็นผู้ศึกษาธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา
ให้แจ่มแจ้ง และจะประพฤติตามพุทธโอวาทให้เต็มที่
บัดนี้ยังรู้ตนอยู่ว่าความรู้ความฉลาดของตนยังอ่อน
ผู้ที่ท่านรู้สูงรู้ดีกว่าตนยังมีอยู่
ถ้าเช่นนั้นก็ควรศึกษาให้ยิ่งขึ้น ธรรมประเภท
ใดควรรู้ควรศึกษา ก็รีบศึกษาให้รู้ให้ตรงเสียทีเดียว
ให้สิ้นความสงสัยให้จงได้ ดังประเภทขันธ์ ๕ ซึ่ง
เป็นมุขปฏิบัติ คือเป็นเบื้องต้นแห่งการศึกษา ควรรู้
ให้ตรงให้สิ้นสงสัยเสียเป็นการชอบยิ่ง
..........ความจริงเรื่องขันธ์ ๕ นี้ได้แสดงมามากแล้ว
จนเข้าใจว่าพุทธบริษัทเข้าใจดีแล้ว ครั้นฟังมา ๆ ออก
จะเห็นเขวไปตามสัญญาเดิมเสียก็ยังมีมาก เพราะ
ความเห็นยังไม่กระจ่างขึ้นแก่ใจ ความจริงมีพยาน
ในตัว ไม่เป็นของลี้ลับอะไร เป็นแต่หลงไปตามสัญญา
เท่านั้น
พึงศึกษาให้เข้าใจในคำที่ว่าขันธ์เสียก่อน ขันธ์ แปล
กันว่าก้อนว่าหมวดว่ากอง
สกลกายของเรานี้มีก้อนเดียว มีหนังแผ่นเดียวเท่า
นั้นหุ้มอยู่โดยรอบ ส่วนนี้แหละชื่อว่าขันธ์
ที่ท่านแสดงว่า เอโก ธมฺโม มีธรรมอันเดียว
ก็คือหมายขันธ์ก้อนนี้เหมือนกัน แต่ก้อนนี้มีอาการเป็น
๒ คือ สภาวะรู้ ๑ สภาวะไม่รู้ ๑ อยู่ด้วยกัน
ส่วนสภาวะรู้นั้นท่านตั้งชื่อให้ว่านาม ส่วนสภาวะไม่รู้
นั้นท่านตั้งชื่อให้ว่ารูป จึงมีอาการเป็น ๒ ความจริงก็ ๒
ใน ๑ นั้นเอง ๑ นั้นคือขันธ์หรือธรรมนั้นเอง ๒ นั้น
เป็นอาการของขันธ์หรือเป็นอาการของธรรม จึงเป็น
๒ คือเป็นนาม ๑ เป็นรูป ๑ ถ้าจะพูดขันธ์ก็ว่านามขันธ์
รูปขันธ์ ถ้าพูดธรรมก็ว่านามธรรม รูปธรรม
พูดอย่างนี้ตามภาษาบาลี ถ้าจะ
ให้ตรงตามภาษาของเราต้องว่าขันธ์นาม ขันธ์รูป
ธรรมนาม ธรรมรูป
ส่วนอัตตาว่าตัวตนท่านก็สมมติลงที่ขันธ์ที่ธรรมนี้เอง
ส่วนอนัตตาว่าไม่ใช่ตัวตน
ท่านก็สมมติลงที่ขันธ์ที่ธรรมนี้เอง เพราะเหตุนั้น
จึงลำบากแก่ทางวินิจฉัย ต้องอาศัยวิปัสสนาญาณ
เป็นตุลาการจึงจักแจ่มแจ้งได้ ส่วนนี้ต้องศึกษาให้
เข้าใจเป็นขั้นต้น รู้ให้ตรง
เมื่อได้อธิบายขันธ์ ๒ เสร็จแล้ว บัดนี้จักอธิบายขันธ์ ๕
ต่อไป ตามที่ได้ยกนิกเขปบทในเบื้องต้นว่า
ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ ทั้งหลาย รูปักขันโธ ขันธ์รูป ๑
เวทนากขันโธ ขันธ์เวทนา ๑ สัญญากขันโธ
ขันธ์สัญญา ๑ สังขารรักขันโธ ขันธ์สังขาร ๑
วิญญาณักขันโธ ขันธ์วิญญาณ ๑ รวมเรียกว่า
ปัญจขันธ์ แปลกันว่าขันธ์ ๕ ,
ขันธ์ ๕ นี้ กับขันธ์ ๒ ที่อธิบายมาแล้ว ก็อันเดียวกัน
นั้นเอง คือขันธ์นาม ขันธ์รูปนั้นแหละ, ในที่นี้
ส่วนขันธ์รูปท่านไม่แจกคงเป็น ๑ อยู่ตามเดิม
ส่วนขันธ์นามท่านแจกออกเป็น ๔ คือ เป็นขันธ์เวทนา
๑ เป็นขันธ์สัญญา ๑ เป็นขันธ์สังขาร ๑
เป็นขันธ์วิญญาณ ๑, เอาขันธ์รูป ๑ นั้นมาประสมเข้า
จึงเป็น ๕ เรียกว่าปัญจขันธ์,
มติของผู้แสดงนี้ไม่ประสงค์จะแสดงให้วิปลาสไป
จากของจริง คือของจริงมีขันธ์อันเดียวเท่านั้น ส่วน ๕
นั้นเป็นอาการของขันธ์ ส่วนขันธ์รูปนั้นจะแจกออกเป็น
๔ เหมือนนามก็ได้ รูปดิน รูปน้ำ รูปลม รูปไฟ เป็น ๔
รูป แต่ในขันธ์ ๕ นี้ท่านไม่แจก คงพูดแต่ว่าขันธ์รูปเท่า
นั้นพอเข้าใจได้ แต่อย่าเข้าใจว่ารูปเป็นขันธ์ ๕
ถ้ามีแต่รูปเหมือนอย่างตุ๊กตาหรือคนที่ตายแล้วเช่นนั้น
ต้องเรียกได้แต่ว่าขันธ์รูปเท่านั้น เพราะขันธ์
นั้นขาดนามทั้ง ๔
คือขันธ์ก้อนเดียวนี้มีอาการ ๕ อย่าง ถ้าจะชี้รูปคือ ดิน
น้ำ ไฟ ลม ก็มีเต็มก้อน ถ้าจะชี้เวทนา คือ สุข ทุกข์
ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็มีอยู่เต็มก้อน ถ้าจะชี้สัญญา คือ
ความจำ ความหมาย จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส
จำสัมผัส จำธรรมารมณ์ ก็มีอยู่เต็มก้อน ถ้า
จะชี้สังขาร คือความคิดนึกปรุงแต่งให้เป็นนาม เป็นรูป
เป็นอายตนะ หรือเป็นดีเป็นชั่วก็มีเต็มก้อน ถ้า
จะชี้วิญญาณคือความรู้วิเศษ รู้ตามสัญญาสังขาร
ดังวิญญาณทางตารู้รูปเป็นต้น วิญญาณนี้ก็มี
อยู่เต็มก้อน คืออาการทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณนี้ แต่ละอย่างมีอยู่ในก้อนนี้เสมอ ท่าน
จึงสมมติก้อนนี้ว่าขันธ์ ๕ คือ ๕ ใน ๑ ... ๑ นั้นคือขันธ์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2014, 23:54 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ต่อนี้จักอธิบาย
ความยึดมั่นถือมั่นตามสัญญาโลกของบุคคลโดยมาก
เห็นว่าสกลกายนี้เต็มไปด้วยรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม
ก็ถือว่ารูปเป็นตน บางพวกเห็นว่า สกลกายนี้เต็มไป
ด้วยเวทนา คือ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ถือว่าเวทนา
เป็นตน บางพวกเห็นว่าสกลกายนี้เต็มไปด้วยสัญญา
ความจำ ความหมาย ก็ถือว่าสัญญาเป็นตน
บางพวกเห็นว่าสกลกายนี้เต็มไปด้วยสังขาร คือ
ความคิดนึกปรุงแต่งที่มีชื่อขึ้นในร่างกายนี้ ล้วน
เป็นหน้าตาของสังขารทั้งสิ้น ก็ถือว่าสังขารเป็นตน
บางพวกเห็นว่าสกลกายนี้เต็มไป
ด้วยวิญญาณมีจักษุวิญญาณเป็นต้น ก็ถือว่าวิญญาณ
เป็นตน
บางพวกเห็นว่าสกลกายนี้เต็มไปด้วยรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ถือว่าขันธ์ ๕ เป็นตน
บางพวกก็ถือว่า ตนเป็นขันธ์ ๕ บางพวกก็เห็นว่า ขันธ์
๕ อยู่ในตน บางพวกก็เห็นว่าตนอยู่ในขันธ์ ๕
เป็นทิฏฐิวิปลาส ๒๐ คือเห็นอาการทั้ง ๕ นั้นอย่างละ ๔
ห้าสี่หนจึงเป็นทิฏฐิ ๒๐ นี่ท่านชี้สักกายทิฏฐิ
เห็นว่ากายเป็นตน กายนั้นท่านหมายขันธ์ ๕
ถ้าเห็นว่าสกลกายนี้เป็นขันธ์ ๕ จริงจัง ก็
เป็นสักกายสมุทัยอยู่นั่นเอง
ถ้าเห็นว่าสกลกายนี้ยังเป็นขันธ์ ๕ อยู่ ถึง
จะเอาอนัตตามาหักว่าขันธ์ ๕ ต่างหากหาใช่เราไม่ ก็
ยังไม่พ้นโทษ คงยังเป็นคติของสักกายทิฏฐิอยู่นั่นเอง
เพราะอัตตากับอนัตตาอยู่ด้วยกัน เราชี้ได้แต่อนัตตา
ส่วนอัตตาชี้ไม่ได้
ให้คิดแบ่งสกลกายนี้ออกเป็น ๒ ส่วน ให้
เป็นสังขารโลกส่วนหนึ่ง ให้เป็นสังขารธรรมส่วนหนึ่ง
สมมติธรรมทั้งสิ้นให้เป็นสังขารโลก เป็นของไม่มี
อยู่แต่เดิม วิมุตติธรรมทั้งสิ้นให้เป็นสังขารธรรม
เป็นของมีอยู่แต่เดิม ให้ทำความเห็นว่าสมมติธรรม
ทั้งสิ้นเป็นอนัตตา และเห็นวิมุตติธรรมทั้งสิ้นเป็นอัตตา
คือเห็นว่าเป็นอัตตาของอนัตตา เป็นอนัตตาของอัตตา
ให้มีคู่ขึ้น แล้วพึงวินิจฉัยว่าสกลกายทั้งสิ้นส่วนที่
เป็นวิมุตติธรรมเป็นอัตตา เป็นตัวตน ก็ตั้งอยู่
ส่วนสมมติธรรมที่อาศัยสกลกายซึ่ง
เป็นอนัตตาก็ดับไป ส่วนนี้
เป็นลักษณะของสักกายนิโรธ
เมื่ออธิบายอย่างนี้ ผู้ฟังคงจะสำคัญว่า
ที่เอาวิมุตติธรรมเป็นอัตตา ก็คงยังติดอัตตสัญญา
อยู่นั่นเอง แต่ความเห็นของผู้แสดงนี้ เข้าใจว่าถึง
จะติดอัตตสัญญาก็ยังมีหลักกว่าความเห็นอนัตตาลอย
ๆ หาอัตตาเป็นคู่ไม่ได้ เมื่อไม่ชอบอัตตาก็ให้เอา
สัพเพ ธัมมา อนัตตา มาหักเสียว่าธรรมทั้งสิ้นไม่
ใช่ตัวตน ตอนนี้ท่านเอาธรรมมารับเป็นคู่ของอนัตตา
ได้เนื้อความว่าธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน คือ
เป็นธรรมต่างหาก เมื่อสกลกายนี้เป็นธรรมเสียแล้ว
อัตตาก็ดับไปเท่านั้นเอง
เมื่อสกลกายเป็นวิมุตติธรรม อย่างที่อธิบายมานี้ ที่
จะพึงเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัว ตัวเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ อยู่
ในตัว ตัวอยู่ในขันธ์ ๕ จะพึงมีขึ้นได้ด้วยอย่างไร ก็
เป็นอันละสักกายทิฏฐิได้ และจะพึงมีความสงสัย
ในปัญจขันธ์ด้วยอย่างไร ก็เป็นอันละวิจิกิจฉาได้
ส่วนสกลกายเป็นวิมุตติธรรมเสียแล้ว ศีลและวัตรก็
เป็นวิมุตติธรรมด้วย จะต้องสงสัยในศีล
และวัตรอย่างไร ก็เป็นอันละสีลัพพตปรามาสเสียได้
..........การที่แสดงมานี้ไม่มีเจตนาอย่างอื่น นอกจาก
จะให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโลกุตรธรมไม่มีในที่อื่น มีอยู่
ในสกลกายก้อนนี้เท่านั้น ความจริงพุทธบริษัททั่วกัน
มุ่งเข้ามาศึกษาธรรมวินัย ก็ประสงค์จะหาหลักธรรมที่
จะเป็นสรณะที่พึ่งของตนเป็นส่วนใหญ่
ผู้มาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียว
กัน
แต่ครั้นมาศึกษาเข้าจริง หาได้รับผลตาม
ความประสงค์ไม่ เหตุที่ไม่ได้รับผลตามความประสงค์
นั้น เพราะติดเพียงชั้นปริยัติธรรมปฏิบัติธรรมเท่านั้น
ขบชั้นปฏิเวธธรรมไม่แตก
ผู้ศึกษาปริยัติธรรมมากก็เพลินอยู่เพียงปริยัติธรรม
ผู้ดำเนินในปฏิบัติธรรมก็เพลินอยู่เพียงปฏิบัติธรรม
เท่านั้น ได้ที่พึ่งก็เพียงชั้นนั้น
ปฏิเวธธรรมเปรียบเหมือนแก่นไม้ที่ต้องการ แต่ค้น
ไม่พบ ปฏิยัติธรรมเปรียบเหมือนเปลือก
ปฏิบัติธรรมเปรียบเหมือนกระพี้ ไปเพลินกับเปลือก
กับกระพี้เสียแล้ว ก็ขาดความได้แก่นซึ่งเป็นของ
ต้องประสงค์ไป
ท่านแสดงไว้ว่าพรหมจรรย์นี้มีวิมุตติเป็นแก่น มีวิมุตติ
เป็นรส เปรียบเหมือนน้ำในทะเล มีเค็มอย่างเดียว
เป็นรส ผู้มาประพฤติพรหมจรรย์ไม่ประสบวิมุตติ
ไม่รู้จักวิมุตติธรรม ชื่อว่ายังไม่
ได้ดื่มรสของพรหมจรรย์ อาศัยนัยนี้จึง
ได้แสดงลักษณะของสมมติ และลักษณะของวิมุตติไว้
สำหรับจะได้ศึกษาให้เข้าใจ ด้วยว่าสมมติอยู่ที่ไหน
วิมุตติก็อยู่ที่นั้น เปรียบเหมือนต้นไม้ เปลือกกระพี้แก่น
อยู่ด้วยกัน
คำที่ว่าวิมุตติธรรม ก็หมายโลกุตรธรรมนั้นเอง
ส่วนโลกุตรธรรมก็มีชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูงเหมือนกัน
แต่ถ้าผู้ได้ประสบชั้นใด ก็เป็นอันได้ดื่มรสของวิมุตติ
ในชั้นนั้น จะมีรสอย่างไรข้อนั้นเป็นปัจจัตตัง
จะรู้จำเพาะตัว อย่าเพ่งโทษเพ่งคุณของผู้แสดง ๆ
ตามหลักของพระปริยัติธรรม มีเจตนาประสงค์จะให้
ผู้ฟังเข้าใจเท่านั้น ผู้ฟังต้องเพ่งใจของตนเอง
ในสกลกายนี้มีใจเป็นใหญ่ สิ่งทั้งปวงสำเร็จแล้วด้วยใจ
ใจนั้นคือความรู้ ความรู้นั้นก็คือใจ กายนั้นก็ใจ
รู้โลกีย์ก็ใจรู้ ใจเป็น โลกุตระก็ใจรู้ ใจเป็น สมมติก็ใจรู้
ใจเป็น วิมุตติก็ใจรู้ ใจเป็น มรรคผลนิพพานก็ใจรู้ ใจ
เป็น โดยอย่างต่ำจะเป็นพาลหนักอยู่ในโลภะ โทสะ
โมหะ ก็ใจรู้ ใจเป็น จะเป็นบัณฑิตหนักอยู่ในอโลภะ
อโทสะ อโมหะ ก็ใจรู้ ใจเป็น
นักปราชญ์ชั้นสูงมักเห็นว่าความรู้เป็นพระพุทธคุณ ใจ
ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรู้เป็นพระธรรมคุณ กาย
ซึ่งประพฤติดีตามสมควรแก่ความรู้เป็นพระสังฆคุณ
ถ้าความรู้อยู่ที่ใจ ใจอยู่ที่กาย ชื่อว่าธรรมสมังคี เป็นผู้
ถึงพระไตรสรณคมน์ ได้ที่พึ่งดังนี้
ข้อนี้ก็น่าตรอง รวมข้อปฏิบัติลงสู่ใจ คือให้ทำสติ
อยู่เสมอว่าให้ใจอยู่ที่ใจ ใจนึกอย่างนี้อยู่ร่ำไป จน
ให้รู้สึกว่าใจอยู่ที่ใจ มีคุณมีประโยชน์อย่างไร
คือคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
จะปรากฏขึ้นแก่ตน ในเวลาที่ใจสงบอยู่ที่ใจ และ
เป็นทางย่นย่อ เหมาะแก่เวลาป่วยไข้ สมควรที่
จะศึกษาไว้สำหรับอาสันนมรณะ เวลาใกล้ตาย
..........ที่บรรยายมาทั้งปวงนี้ ล้วนแต่
เป็นข้อที่พุทธบริษัทจะสนใจ ถ้าได้
ความชัดใจขึ้นตามที่แสดงมานี้ ก็คงประสบ
ความสุขที่ตนมุ่งมาดปรารถนาทั้งในปัจจุบัน
และเบื้องหน้า โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้.
...........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร