วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 18:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วรรณนาอุชชยสูตร

(เรียบเรียงเมื่อเป็น พระครูวิจิตรธรรมภาณี)
ปุจฉา เนื้อความในอุชชยสูตรนี้ ท่านมีความ
เข้าใจอย่างไร ?
วิสัชนา ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่า
พราหมณ์กราบทูลถามถึงการบูชายัญว่า
ควรสรรเสริญหรือไม่.
ปุ. พระพุทธเจ้าท่านตรัสตอบว่ากระไร ?
วิ. พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ยัญบางสิ่งเรา
ไม่สรรเสริญ ยัญบางสิ่งเราสรรเสริญ.
ปุ. ยัญอย่างไร พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ
ยัญอย่างไรพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ?
วิ. ยัญของพราหมณ์ ๕ อย่าง มีต้องฆ่าม้าเป็นต้น
พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ
พระพุทธเจ้าสรรเสริญแต่ยัญคือการ
ให้ทานเกื้อกูลแก่คนผู้ควรให้เป็นนิตย์.
ปุ. ยัญของพราหมณ์นั้น ท่านมีความเข้าใจอย่างไร ?
วิ. ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่า
ธรรมเนียมของพราหมณ์มักถืออิศวรนารายณ์
เป็นต้น เมื่อต้องการสิ่งสำคัญ หรือความตายมาใกล้
ย่อมตั้งเครื่องสังเวยบูชายัญคือบูชาเทวดา
มีอิศวรนารายณ์เป็นต้น แล้วปรารถนาเอาตาม
ความประสงค์ของตน.
ปุ. เครื่องสังเวยสำหรับบูชายัญนั้น
มีกำหนดนิยมอะไรบ้าง ?
วิ. มีความสามารถเป็นเครื่องนิยม ถ้าทรัพย์มาก
เครื่องก็มาก ราคาก็มาก ถ้าทรัพย์น้อย
เครื่องก็น้อย ราคาก็น้อย.
ปุ. ในคัมภีร์พราหมณ์แสดงด้วยเรื่องบูชายัญ ก็
ไม่กำหนดนิยมอะไรหรือ ?
วิ. มีกำหนดนิยมอยู่ด้วยการฆ่าสัตว์ คือจะต้องฆ่าช้าง
ม้า โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ไก่ เป็นต้น บางที
ต้องฆ่ามนุษย์บูชายัญ ยัญของพราหมณ์
เป็นเหตุเบียดเบียนสัตว์อื่นให้ถึงความคับแค้น
อย่างนี้พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญ.
ปุ. การฆ่าสัตว์มีโทษอย่างไร พระพุทธเจ้า
จึงติเตียนนัก ?
วิ. มีโทษมากคือมันบาปนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงติเตียน.
ปุ. บาป ๆ นั้นอย่างไร ?
วิ. คือความร้อนใจนั่นเอง ผู้ฆ่าหรือผู้ต้องฆ่า ญาติของ
ผู้ฆ่าหรือญาติของผู้ต้องฆ่าฝ่ายหนึ่ง ต้องได้รับ
ความเดือดร้อน เพราะสัตว์ทั้งปวงย่อมรักชีวิตอยู่
ด้วยกัน เมื่อความรักชีวิตมีอยู่ ไปปล้นของรักของ
เขาเสีย มันจึงเกิดความร้อนใจขึ้น ก็เรียกกันว่าบาป.
ปุ. ฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาปเสมอกันไปหมดทีเดียวหรือ ?
วิ. เป็นบาปทั้งสิ้น แต่ไม่เสมอกัน สัตว์มีคุณน้อยบาปน้อย
สัตว์มีคุณมากบาปมาก สัตว์ตัวน้อยบาปน้อย สัตว์ตัว
ใหญ่บาปมาก เพราะความเพียรและคุณน้อยและ
ใหญ่ต่างกัน.
ปุ. ครูสอนศาสนาบางพวกกล่าวว่า ฆ่ามนุษย์บาป
ฆ่าสัตว์กินไม่บาป เพราะมันโง่ พระเจ้าสร้างมาให้กิน
ดังนี้จะชมว่ากล่าวถูกกล่าวดีได้หรือไม่ ?
วิ. จะชมว่าถูกว่าดีบ้างก็ได้ คำว่า
ฆ่ามนุษย์บาปกล่าวถูกกล่าวดี คำว่า ฆ่าสัตว์กินไม่บาป
เพราะมันโง่ พระเจ้าสร้างมาให้กินนั้นไม่ถูกไม่ดี
เพราะวิสัยครูผู้สั่งสอนไม่เต็มด้วยคุณ คือ
ความหมดจดวิเศษแล้วย่อมสั่งสอนเข้ากับตัว ตัว
เป็นมนุษย์ก็ว่าฆ่ามนุษย์บาป ตัวกินสัตว์ก็ว่าฆ่าสัตว์กิน
ไม่บาปเท่านั้นเอง.
ปุ. ถ้าว่า ฆ่าสัตว์กินบาป ผู้ถือพุทธศาสนาทำไม
จึงกินเนื้อสัตว์อยู่ พระพุทธเจ้าทำไมไม่ห้ามเสียเล่า ?
วิ. พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้ศิษย์ละแต่ส่วนประพฤติชั่ว
การฆ่าสัตว์เป็นส่วนประพฤติชั่ว การ
ไม่ฆ่าสัตว์ขอทานท่านผู้อื่น
หรือเอาทรัพย์ของตนไปแลกเปลี่ยนสิ่งที่
ไม่มีวิญญาณ ได้มาบริโภค เป็นส่วนประพฤติดี อนึ่ง ก็
เป็นความที่น่าอัศจรรย์ ด้วยตัวกินเนื้อสัตว์
เป็นอาหาร กล่าวว่าฆ่าสัตว์กินบาป ถ้าตัว
ไม่กินเนื้อสัตว์ กล่าวว่าฆ่าสัตว์กินบาป ก็
ไม่น่าอัศจรรย์ ดังคนตาบอดหูหนวกบอกว่าเรา
ไม่อยากดูละคร เราไม่อยากฟังเสียง
ทั้งปวงมีเสียงกลองเป็นต้น ก็ไม่น่าอัศจรรย์
เหมือนแขกบางพวกไม่กินหมูก็ไม่เลี้ยงหมูไม่ฆ่าหมู
จะชมว่าดีวิเศษอย่างไรได้ เพราะเหตุอย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงไม่ห้ามศิษย์ในการกินเนื้อสัตว์.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 18:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปุ. ยัญ ๕ มียัญชื่อ อสฺสเมธํ เป็นต้น มีเนื้อความอย่างไร
พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญบ้าง
ไม่สรรเสริญบ้าง ?
วิ. เดิมเป็น สสฺสเมธํ ฉลาดในข้าวกล้า
คือธรรมเนียมพระเจ้าแผ่นดินและเสนาบดีเป็นต้น
ย่อมแสวงหาอุบายที่จะให้เกิดความสุขและรักษา
ความสุขที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อม และคิดเกียดกัน
ความทุกข์ที่ยังไม่เกิดหรือที่เกิดแล้ว
ช่วยระงับแก่ราษฎรเป็นนิตย์ เวลาที่
จะประกอบกิจมีทำไร่ไถนาเป็นต้นไม่มี ส่วนราษฎร
ได้พึ่งอำนาจไม่มีอันตรายได้ทำมาหากินโดยสะดวก
พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ฉลาด
จึงทรงพระกรุณาโปรดให้มีข้าหลวงเดินเสนา ๑๐
ลดหนึ่งแต่ราษฎร เพื่อเป็นกำลังแก่ราชการ
อย่างนี้ชื่อว่า สสฺสเมธํ เหตุเดิมเป็นอย่างนี้
เรียกว่าสังคหวัตถุอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าย่อมสรรเสริญ ครั้นกาลนานมา
พราหมณ์ผู้ถือผิด เห็นว่าบูชายัญเป็นของประเสริฐ
คิดล่อลวงพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งว่า
สสฺสเมธํ ไม่ถูก คัมภีร์พราหมณ์ว่า อสฺสเมธํ
ฆ่าม้าบูชายัญจึงจะถูก ใช่จะฆ่าแต่ม้าอย่างเดียวก็หาไม่
โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ไก่ เป็นต้นก็นับเข้าในม้า
เพราะเป็นชาติสัตว์เดรัจฉานเหมือนกัน การ
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญ.
ปุ. ยัญที่สอง ชื่อ ปุริสเมธํ นั้น ท่านเห็นความ
เป็นอย่างไร เหตุเดิมเป็นอย่างไร ?
วิ. เดิมก็เป็น ปุริสเมธํ อย่างนั้นเอง แต่
เขาแปลว่าฉลาดในการสงเคราะห์บุรุษ
คือธรรมเนียมพระเจ้าแผ่นดิน
ย่อมใคร่ครวญสอบสวนรู้กำลังของข้าราชการ
ว่าผู้นี้มีกำลังความเพียรและปัญญา
ความโอบอ้อมพร้อมด้วยกตัญญู ควรดำรง
ในตำแหน่งอันใด ก็พระราชทานตำแหน่งนั้นตามคุณ
ความสามารถ
และพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนตามความชอบ
ผูกจิตไว้ไม่ให้หันเห เพื่อเป็นกำลังแก่ราชการต่อไป
แปลกันอย่างนี้ เนื้อ
ความอย่างนี้เรียกว่าสังคหวัตถุอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าก็ย่อมสรรเสริญ ครั้นตกมาเป็น
ส่วนของพราหมณ์ เขาเปลี่ยนแปลงแปลว่า
ฆ่าบุรุษบูชายัญ ใช่จะฆ่าแต่บุรุษอย่างเดียวก็หาไม่
ถึงสตรีก็นับเข้าในบุรุษ เพราะเป็นชาติมนุษย์ด้วยกัน
การเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญ.
ปุ. ยัญที่สาม ชื่อ สมฺมาปาสํ นั้น แปลว่ากระไร
ท่านเห็นความว่าอย่างไร เดิมเป็นอย่างไร ?
วิ. เดิมแปลว่า กลกิจสำหรับคล้องจิตมหาชน
โดยชอบ ความว่าพระเจ้าแผ่นดินย่อมประกอบ
ด้วยอุบายที่จะคล้องใจมหาชนผู้ประกอบ
ด้วยหัตถกิจพาณิชกรรม ทั้งไพร่ผู้ดีทุกถ้วนหน้า
เมื่อมหาชนคับแค้นด้วยการสิ่งใด มีข้าวแพงเป็นต้น
ย่อมสละพระราชทรัพย์เกื้อหนุนให้ราษฎร
ได้รับความสุข หรือผู้
ไม่มีทุนอยากประกอบการค้าขาย ก็ยอม
ให้กู้พระราชทรัพย์ สามปีจึงเรียกต้นทุน
และดอกเบี้ย อย่างนี้มหาชนย่อมมีใจไม่ร้าวราน
ประหนึ่งว่าผูกไว้ด้วยเชือก
เรียกว่าสังคหวัตถุอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าย่อมสรรเสริญ ครั้นตกมาเป็น
ส่วนของพราหมณ์ เขาเปลี่ยนแปลง แปลว่า
การบูชายัญนั้นต้องขุดหลุมให้
ใหญ่สำหรับทิ้งซากศพสัตว์ที่เป็นเดน
และปักเสาพร้อมด้วยเชือกบ่วงสำหรับผูก การ
เป็นอย่างนี้พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญ.
ปุ. ยัญที่สี่ ชื่อว่า วาชเปยฺยํ นั้น เดิมเป็นอย่างไร
แปลว่ากระไร ท่านเข้าใจเนื้อความอย่างไร ?
วิ. เดิมเป็นสังคหวัตถุ แปลว่าวาจาอ่อนหวาน
และสละสลวย เกิดแต่พระเจ้าแผ่นดินทั่วไป
ในบริษัทนั้น ๆ ข้าพเจ้าเห็นเนื้อ
ความว่าธรรมเนียมพระเจ้าแผ่นดินย่อมตรัสแต่คำอ่อนหวาน
ถึงจะตรัสคำหยาบบ้างก็นับว่าคำอ่อนหวานได้ทั้งสิ้น
เพราะอาศัยพระมหากรุณาเป็นเบื้องหน้า ดัง
ในพระราชบัญญัติข้อหนึ่งซึ่ง
ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เป็นต้น
ก็อาศัยพระมหากรุณาในหมู่ชนมาก
เพราะทรงเห็นว่า คนผู้เดียวทำความทุกข์
ให้เกิดแก่คนมาก เมื่อความทุกข์ถึงแก่คนผู้เดียวนั้นแล้ว
คนมากไม่มีประมาณก็จะได้ความสุข
อาศัยทรงพระกรุณาอย่างนี้
จึงควรนับว่าพระเจ้าแผ่นดินตรัสคำอ่อนหวาน
อยู่ทุกเมื่อ ก็เมื่อมหาชนได้รับคำสละสลวยเช่นนั้น
แล้ว
ต่างคนต่างนิยมว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาแก่เรา
ๆ ดังจันทมณฑล มหาชนย่อมกล่าวว่า พระจันทร์ตั้ง
อยู่บนเศียรของเรา ๆ การที่ยังมหาชนให้รื่นรมย์
ด้วยวาจาอย่างนี้ ชื่อว่าสังคหวัตถุอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าย่อมสรรเสริญ ครั้นตกมาเป็น
ส่วนของพราหมณ์ เปลี่ยนแปลงแปลกันว่า ยัญ
เป็นที่เซ่นด้วยของดื่มที่มีรสซาบซ่านมีน้ำส้มเป็นต้น
เพราะว่าพราหมณ์ทั้งหลายเมื่อมาประชุมกัน
ในที่บูชายัญแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์เหล่านั้นบูชายัญ แล้ว
จะได้บริโภคเนื้อสัตว์กับของดื่มนั้น ตาม
ความปรารถนาสำเร็จตามความประสงค์ได้
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญ.
ปุ. ยัญที่ครบห้า ชื่อ นิรคฺคฬํ นั้น เดิมเป็นอย่างไร
แปลว่ากระไร ท่านเห็นเนื้อความอย่างไร ?
วิ. เดิมเป็นการสรรเสริญสังคหวัตถุทั้ง ๔ เบื้องต้น
แปลว่าเมืองหรือประเทศมีลิ่มสลักอันถอดออก
แล้ว ข้าพเจ้าเห็นความว่า
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินประกอบด้วยกลกิจ คิดเกียด
กันโจรผู้ร้ายซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน
ให้เรียบร้อย จนมหาชนไม่
ต้องลงสลักประตูบ้านเรือน เพราะ
ไม่รังเกียจแต่โจรันตราย
ชื่อว่ามีลิ่มสลักอันถอดออกแล้ว
เป็นผลมาแต่สังคหวัตถุ
พระพุทธเจ้าย่อมสรรเสริญ ครั้นตกมา
เป็นยัญของพราหมณ์เปลี่ยนแปลงแปลกันว่า ยัญ
ไม่มีเครื่องเซ่นเหลือ ความประสงค์
ว่าบรรดาสิ่งของที่เอาไปบูชายัญนั้น ต้องพากันกิน
ในที่บูชายัญนั้นจนหมด ถ้าสิ่งใดเศษเหลือ ต้องฝัง
ในหลุมยัญทั้งสิ้น ถ้าเก็บเอาไปบ้านเรือนถือกันว่า
เป็นจัญไร เพราะเหตุอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึง
ไม่สรรเสริญ ยัญทั้ง ๕ ประการนี้ เมื่อยัง
เป็นราชสังคหวัตถุอยู่ นักปราชญ์
ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมสรรเสริญ
ครั้นพราหมณ์เปลี่ยนแปลงเป็นยัญ ๕ เสียแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมติเตียน เพราะ
ไม่มีประโยชน์ มากไปด้วยโทษ.
ปุ. การให้ทานเป็นนิตย์
เป็นยัญที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญนั้น
พระพุทธเจ้าก็เป็นคนขอทาน และสั่งสอนศิษย์ให้
เป็นคนขอทาน แล้วสรรเสริญทานว่า
เป็นของประเสริฐ จะมิเป็นคำสอนเข้ากับตัวเสีย
หรือ ?
วิ. พระพุทธเจ้าไม่เป็น
ผู้ตั้งแต่งบาปบุญคุณโทษสวรรค์นิพพานทั้งสิ้น เป็นแต่
ผู้ฉลาดชี้หนทาง และตัดสินสิ่งที่ดีที่ชั่วเท่านั้น
เหมือนอย่างฆ่าสัตว์เป็นต้น พระองค์ก็บริโภคเนื้อสัตว์
อยู่เป็นนิจ แต่เห็นว่ามีโทษ พระองค์ก็ไม่ฆ่า
และสั่งสอนศิษย์ไม่ให้ฆ่า ส่วนทานทรงเห็นว่ามีคุณ
พระองค์ก็ทำและสั่งสอนศิษย์ให้ทำตาม การขอทาน
ผู้อื่นเลี้ยงชีวิตเห็นว่าเป็นการเย็นใจ
พระองค์ก็ประพฤติและสั่งสอนศิษย์ให้ประพฤติตาม
เท่านั้น.
ปุ. พระพุทธเจ้าทำทานเมื่อไร ?
วิ. ราชสมบัติเป็นของสำคัญ พระองค์เสียสละได้
ชื่อว่าบริจาคทานอย่างใหญ่ ยากที่ผู้อื่นจะทำได้ แล้ว
ได้ผลคือความเย็นใจ ไม่ต้องประกอบราชกิจต่อไป
การละโลภเสียได้เกิดเย็นใจขึ้นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงสั่งสอนศิษย์ให้ทำตาม อนึ่ง การ
ให้ทานนั้นจำเพาะ
จะสรรเสริญแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวก็หาไม่
ถึงนักปราชญ์สามัญในโลกก็ย่อมสรรเสริญทั่วไป
จะไม่สรรเสริญการให้ทานก็แต่คนโง่ โลภพาไป
ไม่รู้ว่าสมบัติเป็นของกลาง ตัวจะบริโภคก็เสียดาย
จะให้ทานก็กลัวหมด หลงหวงไว้จนตาย เมื่อจะตาย
ยังเป็นห่วง ทำใจให้กระสับกระส่ายอีก
การโลภมากไปด้วยโทษอย่างนี้ พระพุทธเจ้า
จึงสรรเสริญการให้ทานตัด
ความโลภเสียว่าประเสริฐ การสรรเสริญทาน
นั้นก็เป็นสาธารณ์ทั่วไป หรือให้แก่ศิษย์ของพระองค์
การทานแล้วชมว่าดีทั้งสิ้น แปลก
อยู่หน่อยแต่พระองค์ตรัสว่า ให้ทานแก่
ผู้ทรงคุณมากผลมาก ให้แก่ผู้ทรงคุณน้อย ผลน้อย
เท่านั้น ตัดสินตามความเป็นจริงจะว่าท่านสั่งสอนเข้า
กับตัวอย่างไรได้.
...........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร