วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 04:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปรวัชชทัสสนานุสาสน์

(เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑)
อิทานิ จาตุทฺทสีทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ
ธมฺมีกถา กถิยเต ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ
อุชฺฌานสญฺญิโน อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส
อาสวกฺขยาติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ
สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันจาตุททสีดิถีที่ ๑๔
ค่ำแห่งศุกลปักข์ เป็นวันอันพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์
และบรรพชิต มาสันนิบาตพรักพร้อม
ในธรรมสวนมณฑลนี้ โดยความตั้งใจ
จะฟังพระธรรมเทศนาเป็นเหตุ และได้กระทำกิจ
ในเบื้องต้น คือได้ยกขึ้น
ซึ่งดอกไม้ธูปเทียนไหว้พระสวดมนต์สมาทานศีล ๕ ศีล ๘
ตามความสามารถของตน ให้สำเร็จกิจส่วนอามิสบูชา
และปฏิบัติบูชาเสร็จแล้ว
ต่อนี้เป็นโอกาสที่จะฟังพระธรรมเทศนา พึงตั้งอกตั้งใจฟัง
ด้วยดี ให้ตรงตามพระบาลีว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ แปลว่า
ผู้ฟังธรรม ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา ดังนี้
..........ความจริงมนุษย์ทั่วโลก ย่อมเป็นคนมีปัญญาด้วย
กันโดยมาก ที่โง่เขลาจริงนั้นก็มีเหมือนกัน แต่มีโดย
ส่วนน้อย บรรดาผู้ที่มีวัตถุข้าวของพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
ไม่ถึงแก่ยากจนข้นแค้น ต้องนับเข้าในฝ่ายผู้มีสติปัญญา
ทั้งนั้น ผู้ที่ยากจนข้นแค้นตกทุกข์ได้ยากลำบาก
ด้วยการแสวงหา ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีวิต นับเข้า
ในฝ่ายคนเขลา แต่ผู้ที่อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีวิต
หากทำกิจของผู้ที่ตนอาศัยให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ก็
ยังนับเข้าในฝ่ายผู้มีปัญญา
แต่ปัญญาจะมีมากมีน้อยต้องอาศัยคบหาสมาคม หมั่น
ได้ยินได้ฟัง หมั่นศึกษาเล่าเรียนเป็นข้อสำคัญ
บางทีไปคบกับคนที่ประพฤติ
ในทางทุจริตมีสูบฝิ่นกินเหล้า หรือประพฤติโจรกรรม
เป็นต้น ส่วนตนก็พลอยเอาสติปัญญาไปใช้ในทางที่ผิด
กลับนำโทษมาให้แก่ตนกลายเป็นคนโง่ไปอย่างนี้ก็มีมาก
คือคนฉลาดมีสติปัญญานั้นแหละแต่เอาไปใช้
ในทางที่ผิดจนได้รับทุกข์โทษเพราะความทำของตน
ชื่อว่าทำตนให้เป็นคนโง่เขลาไปเอง อย่างนี้มีโดยมาก
ทางบุญทางบาปก็เกิดแต่การคบหาสมาคมเหมือนกัน
ถ้าคบพวกบาปก็ยินดีไปในทางบาป
ถ้าคบพวกบุญก็ยินดีไปในทางบุญเท่านั้น
เหมือนอย่างพวกสัตบุรุษพุทธบริษัทที่หมั่นมาสมาคมกับ
ด้วยสัตบุรุษด้วยกันเสมอ ๆ ใจก็เป็นสัตบุรุษไปเท่านั้น
ที่จักเป็นคนรู้น้อยรู้มากก็ต้องอาศัยเป็นคนหมั่นฟังหมั่นจำ
เท่านั้น ถ้าฟังเป็นจำเป็นก็ยิ่งได้ปัญญามากยิ่งขึ้น
ถ้ายิ่งมีปัญญามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่า
นั้น ถ้าความโง่ ความเขลามีมากเท่าใดก็ยิ่งทวีความทุกข์
ให้มากขึ้นเท่านั้น
พึงเข้าใจว่าความฉลาดเป็นทางมาแห่งความสุข ความโง่
เป็นทางมาแห่งความทุกข์ ความสุขและความทุกข์
เป็นของตนทำใส่ตนเอง มีแจ้งชัดตามนัยพุทธภาษิตว่า
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ความบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาดและ
ความเศร้าหมอง ตนหากทำใส่ตนเอง นาญฺโญ อญฺญํ
วิโสธเย คนอื่นใครจะมาทำความบริสุทธิ์สะอาดผ่องใส
ให้แก่กันได้ ดังนี้
..........แม้คาถาประพันธ์ที่ยกขึ้นในเบื้องต้นนี้
ก็แสดงลักษณะแห่งการผูกรัดตนเอง ให้หนักแน่นอยู่
ในโทษทุกข์เช่นนั้น โดยภาษิตว่า ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ
อุชฺฌานสญฺญิโน ความว่า เมื่อบุคคลผู้มักเพ่งโทษของผู้
อื่นเสมอ คือว่ามีความหมายมั่นสัญญาจะยกโทษของคน
อื่นอยู่เป็นนิตย์ อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อาสวะทั้งหลาย
ย่อมท่วมทับบุคคลผู้นั้นอยู่เสมอ อารา โส อาสวกฺขยา
บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้ห่างไกลแต่อาสวักขัย คือ
ความสิ้นไปแห่งกิเลส ดังนี้
อธิบายในบทที่ว่า ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ
อุชฌานสญฺญิโน ผู้ตามเพ่งโทษหมายจักยกโทษของผู้อื่น
อยู่เป็นนิตย์นั้น พึงเข้าใจความดังนี้
เป็นนิสัยของบุคคลจำพวกหนึ่ง ชอบเห็นโทษผู้อื่น
ชอบเพ่งดูโทษของผู้อื่น ถ้าเห็นเขามีความผิด
เล็กน้อยก็ดีอกดีใจ เก็บยกเอาโทษของ
เขาที่มีประมาณน้อยนั้นแหละ ต่อเติมส่งเสริมขึ้นให้มาก
ให้เป็นของใหญ่โต แล้วหว่านไปสาดไปเทไป
คือนั่งที่ไหนเก็บเอาเรื่องโทษของคนโน้นบ้างมากล่าวร่ำไป
ท่านเปรียบไว้ว่า ข้าวลีบเป็นของหาราคาค่างวดมิได้
เขาย่อมสาดทิ้งเสีย โปรยทิ้งเสียแลมี ฉันใด
คนอันธพาลก็สำคัญโทษของคนอื่น ว่า
เป็นของหาราคาค่างวดมิได้ จึงได้โปรยโทษ
เขาเล่นตามชอบใจ เหมือนเขาโปรยข้าวลีบเสียเช่นนั้น
คือว่าความดีของเขาจะมีมากน้อยอย่างไร
เขาดีกว่าเราอย่างไร สมบัติเขาก็มากกว่าเรา วุฒิความรู้
เขาก็ดีกว่าเรา ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข
เขาก็มากกว่าเรา กิตติศัพท์ความดีของเขาฟุ้งเฟื่อง
ทั่วบ้านทั่วเมืองดีกว่าเราทุกประการ แต่คนอันธพาล
ไม่เห็นเพราะตาในบอด ไม่ได้ยินข่าวความดีของเขาด้วย
เพราะหูในหนวก นิสัยของคนพาลย่อมเป็นคนคล้าย
กับคนตาบอดหูหนวกอย่างนี้ ส่วนโทษของตนแม้น
จะมีมากเท่าไร ก็อุตส่าห์ถนอมเก็บซ่อนเสีย
เหมือนเต่าซ่อนศีรษะและขาในกระดองให้คน
อื่นเห็นว่าตัวหาศีรษะและขามิได้เช่นนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 04:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........นิสัยของผู้มีปัญญา
เขาย่อมคิดว่าการเพ่งโทษของผู้อื่น
หามีประโยชน์อะไรสำหรับตัวไม่ การเห็นโทษผู้
อื่นก็ตาของตัว ที่ได้ยินข่าวว่าเขาชั่วก็หูของตัว ที่คิดว่า
เขาชั่วก็ใจของตัว ที่กล่าวว่าเขาชั่ว เขาไม่ดี ก็ปากของตัว
ที่เห็นว่าเขาเป็นคนชั่ว หาใช่เขาไม่ กลายเป็นตัวของเรา
เป็นคนชั่วเต็มตัว ก็เกิด หิริ ความละอาย โอตตัปปะ
ความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่ยินดีที่จักเพ่งโทษผู้อื่นต่อไป
ส่วนคนอันธพาลไม่มองเห็นความชั่วของตา
ความชั่วของหู ความชั่วของปาก ความชั่วของใจตนเอง
มัวหลงไปเพ่งแต่โทษของคนอื่น สุภาษิตโบราณท่าน
จึงสอนไว้ว่า โทษของตนเท่าภูเขา ก็มองไม่เห็น โทษของ
ผู้อื่นเท่าตัวเหาก็มองเห็น ดังนี้ เพราะเหตุนั้นในบาทที่ ๓
แห่งคาถานี้ ท่านจึงแสดงว่า อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ บุคคล
ผู้เพ่งจะยกโทษของผู้อื่นเป็นนิตย์นั้น อาสวกิเลส
ทั้งหลายย่อมพอกพูนมูลขึ้นเสมอดังนี้
อธิบายว่าคำที่ว่าอาสวะทั้งหลายนั้น เป็นชื่อแห่งของดอง
คือน้ำดื่มที่เป็นของมึนเมาคือสุรา และเมรัย เกิด
จากของดอง ของดองนั้นมีวัตถุหลายสิ่งมาประสมหมัก
เข้าไว้หลายวันก็เกิดธาตุเมาขึ้นเป็นเมรัยก่อน กลั่น
จากเมรัยจึงเป็นสุรา ในภาษาบาลีท่านเอามา
เป็นชื่อแห่งกิเลส คือกามะ ภวะ ทิฏฐิ อวิชชา เรียกว่า
กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ดังนี้
..........อธิบายอย่างย่อ ๆ อาสวะเหล่านี้ เกิดจาก
ความเพ่งผู้อื่น กิเลสนั้นก็คือ ความโลภ ความโกรธ
ความหลงนั้นเอง
คือเมื่อเพ่งถูกอารมณ์ที่ชอบใจก็เกิดกามะ
ความรักใคร่ชอบใจขึ้น ก็คือโลภะนั้นเอง
เมื่อเพ่งถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
ก็เกิดอหังการมมังการถือเราถือของเราขึ้น
ก็โกรธคือโทสะนั้นเอง เมื่อเพ่งถูกอารมณ์ที่ตรง
กับทิฏฐิของตนหรือไม่ตรงกับทิฏฐิของตนก็เกิดโลภ
เกิดโกรธขึ้น เมื่อเพ่งถูกอารมณ์ที่ไม่รู้ คือไม่รู้เหตุ
ไม่รู้ผลก็ทำไปโดยดื้อ ๆ อย่างนั้นเอง
ผู้ที่ทำไปตามอำนาจทิฏฐิอวิชชานี้ ก็คือโมหะนั้นเอง
เหตุที่จักเกิดโลภะ โทสะ โมหะ ก็คือเพ่งโทษของผู้อื่น
เก็บเอาดีและชั่วของผู้อื่น เข้ามาหมักหมมไว้ในตนจน
เป็นคนเมา ถ้าไม่ได้ตบตี ไม่ได้ด่า ไม่ได้บ่น ไม่
ได้ติเตียนนินทาท่านผู้อื่น นั่งนอนไม่เป็นสุข ถ้าใคร
เป็นอย่างนี้พึงเข้าใจรู้ตัวเสียว่า ตัวเราเป็นบ้าเสียแล้ว
เพราะอาสวกิเลสท่วมทับหัวใจเสียแล้ว ท่าน
จึงแสดงบาทที่ ๔ แห่งคาถานี้ว่า อารา โส อาสวกฺขยา
ผู้ที่อาสวกิเลสท่วมทับหัวใจเสียเช่นนั้นแล้ว ต้องเป็น
ผู้ห่างไกลแต่อาสวักขัย คือความสิ้นไปแห่งกิเลส
กิเลโส แปลว่า เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ถ้ากิเลส
ยังหนาแน่นอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นพึงหวังความเศร้าหมองเถิด
ถึงจะไม่ปรารถนาก็คงจะได้ประสบพบเห็นแต่
ความเศร้าหมองขุ่นมัวแห่งดวงจิตอยู่เสมอ ไม่ต้องมี
ความสงสัย
แต่ความจริงการเพ่งโทษและคุณของผู้อื่น ถ้ามี
ความฉลาดไหวพริบดี ก็อาจจักนำมาใช้ให้
เป็นประโยชน์แก่ตนได้เหมือนกัน
เหมือนคำที่ว่าอุปัชฌาย์ ท่านก็หมายความว่า เป็น
ผู้เพ่งโทษและคุณของสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกเหมือน
กัน แต่ท่านให้มีเมตตากรุณาเป็นเบื้องหน้า ไม่ให้เพ่ง
ด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ เว้นแต่ลูกศิษย์นั้น
เป็นคนอันธพาลเหลือประมาณ พ้นวิสัยที่จะแก้ไขให้ดีได้
ก็ต้องเนรเทศให้เขาไปหาครูบาอาจารย์ที่อื่นที่ดีกว่าตน
เท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จักให้เขาฉิบหายวายร้าย
ด้วยอำนาจพยาบาทคาดเวรแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
การเพ่งโทษและคุณด้วยเมตตากรุณาเช่นนี้ ย่อมใช้
ทั่วไปในระหว่างผู้ใหญ่ที่ปกครองหมู่คณะ ตลอด
ถึงบิดามารดา
การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นเหตุให้กิเลสท่วมทับ ตามเนื้อความ
ในพระคาถาที่แสดงมานี้ ท่านหมายเพ่งโทษผู้อื่น
ด้วยอำนาจโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นมูลแห่งอาสวกิเลส
ให้บัณฑิตผู้พิเศษด้วยปรีชา พึงพิจารณาเลือกคัดจัด
ใช้แต่ส่วนที่จักนำมาซึ่งประโยชน์
เมื่อเห็นโทษแห่งโลภะ โทสะ โมหะ ที่สะสมท่วมทับอยู่
ในสันดานของตน ปรารถนาจะเปลื้องปลด
ให้ลดหย่อนลงไป ท่านแสดงไว้ว่า การให้ทาน
เป็นอุบายเครื่องกำจัดโลภะ ถ้าเห็นว่าตนหนักอยู่ในโลภะ
ก็ให้พากเพียรให้ทานตามเกิดตามมีตัดโลภะลงไป
การรักษาศีลเป็นอุบายเครื่องกำจัดโทสะ
ถ้าเห็นว่าตนหนักอยู่ในโทสะ ก็ให้พากเพียรรักษาศีล ๕
ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์ ตามภูมิของตน
ตัดโทสะลงไป
การทำสติให้มีขึ้น ทำจิตให้สงบ
จากอารมณ์ภายนอกชื่อว่าภาวนา ภาวนานี้
เป็นอุบายเครื่องกำจัดโมหะ ถ้าเห็นว่าตนยังเป็นคนหนัก
อยู่ด้วยโมหะ ก็ให้พากเพียรบำเพ็ญภาวนากิจให้มีขึ้น
ตัดโมหะลงไป
.....ถ้าเพ่งโทษของตน เห็นโทษของตน
แล้วพากเพียรกำจัดให้ลดหย่อนผ่อนให้น้อยลงไป ส่วน
ใดสามารถจะกำจัดให้สิ้นไปได้ก็ให้สิ้นไป อย่างนี้
เป็นคติของบัณฑิต ถ้าไม่เห็นโทษของตนเสียเลย
หรือเห็นแล้วว่าตนยังเป็นคนชั่วอยู่ด้วยเหตุนี้ ๆ แต่มิ
ได้พากเพียรพยายามจะละจะถอน ยังเอากิเลสหยาบ
ซึ่งออกมาทางกาย ทางวาจา อวดเขาอยู่ ท่านว่า
เป็นคนลุอำนาจแห่งโลภะ โทสะ โมหะ
เป็นคติของคนพาลแท้ ผู้มีสติบำรุง อโลภะ อโทสะ
อโมหะ ให้มีอยู่ในตนทุกเมื่อ เป็นคติของบัณฑิตแท้
ให้วินิจฉัยตนเองว่า เป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิต
โดยธรรมปริยายดังแสดงมานี้ และพึง
เข้าใจว่าอาสวกิเลสมีมากขึ้นเท่าใด ก็
เป็นเหตุนำโทษทุกข์นำ
ความเศร้าหมองขุ่นมัวมาแก่ตนมากขึ้นเท่านั้น ความรู้
เท่ากิเลสแล้ว และกำจัดออกไปเสียจากตนได้เท่าใด ก็
เป็นเหตุนำความสุขมาแก่ตนเท่านั้น
เกิดมาเป็นคนในโลก ย่อมชอบความสุขด้วยกันทุกคน
ถ้ารู้ตนว่าเป็นผู้ต้องการความสุข
ให้เพียรกำจัดอาสวกิเลสให้หมดไปสิ้นไป กำจัดออกไป
ได้เท่าใด ก็เป็นอาสวักขัย ความสิ้นไปแห่งกิเลสเท่านั้น
ความสุขก็ต้องได้รับตามสมควรแก่อาสวักขัยของตน
เมื่อพุทธบริษัทเห็นประโยชน์ตามนัยพุทธภาษิตนี้
ก็พึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ก็คงจะได้ประสบ
ความสุขสำราญ อันตนพึงปรารถนา ทั้งในปัจจุบัน
และเบื้องหน้า โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้.
...........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร