วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 12:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 23:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นาถกรณกถา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ... โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน ... นาถํ ลภติ ทุลฺลภนฺติ.
..........ณ วันนี้ เป็นวันปัณณรสีดิถีที่ ๑๕
ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทต่างคนก็ได้ละเคหะ
กิจการน้อยใหญ่ของตนมา
เพื่อสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา
และรักษาอุโบสถและเบญจเวรวิรัติ ตามกำลัง
ความสามารถของตน ๆ
..........เบื้องหน้าต่อนี้ไป
พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา
ด้วยว่าพระพุทธโอวาทประกาศข้อปฏิบัติ เมื่อผู้ฟัง ๆ
ให้เข้าใจแล้วประพฤติตาม จะได้รับผล คือ
ความสุขตามความปรารถนาของตน ๆ
ด้วยว่าชาติมนุษย์นี้เป็นชาติสูง เป็นต้นทางที่จะไปนรก
สวรรค์ตลอดถึงพระนิพพาน อาจจักสำเร็จได้
ในชาติมนุษย์นี้เอง เพราะผู้ไปก่อนแล้ว
ทั้งหลายล้วนแต่เป็นชาติมนุษย์ทั้งนั้น
จะเป็นชาติใดภาษาใดหรือเป็นเพศหญิง เพศชาย
ไม่นิยม ถ้ามีอวัยวะมือเท้าอย่างเดียวกันนี้
ชื่อว่าชาติมนุษย์ทั้งสิ้น ต่างกันแต่บุญบาปเป็นผู้แต่ง
ถ้าบุญแต่งต้องได้อัตภาพอันประณีต บาปแต่งต้อง
ได้อัตภาพเลวทราม
จะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายก็เหมือนกัน ทำบุญได้บุญ
ทำบาปได้บาปเหมือนกัน บุญบาปอันเดียวกัน ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ก็อันเดียว
กัน ของเหล่านี้ชื่อว่าเป็นสมบัติกลาง เป็นชาติมนุษย์
แล้วจะต้องใช้ได้ด้วยกันทั้งสิ้น
ส่วนความดีและความชั่วมนุษย์อาจทำได้ทุกประการ
ชาติมนุษย์นี้จึงเห็นได้ว่า
เป็นต้นทางตามวัตถุนิทานที่ท่านแสดงไว้มีใจความดังนี้
บางพวกทำบาป ตายไปตกนรกบ้าง บางพวกทำบุญ
ตายไปได้เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพบุตรเทพธิดาบ้าง
เป็นพระอินทร์บ้าง เป็นพรหมบ้าง
ได้สำเร็จพระนิพพานบ้าง ดังนี้
บัดนี้ ตัวของเราได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว
จะไปทางไหนจะไปนรกหรือสวรรค์ ก็ตั้งเข็ม
ให้ตรง จะไปนรกก็ตั้งหน้าทำบาป
จะไปมนุษย์อีกก็ตั้งใจรักษาศีล ๕
กุศลกรรมบถไป
จะไปสวรรค์ก็ตั้งใจรักษาเทวธรรม
คือธรรมสำหรับเทวดา ตามทางที่ท่านแสดงไว้ว่า
หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา เป็นต้น แปล
ความว่า หิริ มีความละอายต่อกรรมอันเป็นบาป
ด้วยเห็นว่ากรรมเป็นของของตน
สุกฺกธมฺมสมาหิตา สมาทานคือมั่นในธรรมที่ขาว
อยู่ทุกเมื่อ ธรรมที่ขาวนั้น ได้แก่สุจริตธรรม
หรือทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ชื่อว่า สุกกธัมม์
ผู้มีหิริโอตตัปปะและสมาทานถือมั่นในธรรมที่ขาว
อยู่ทุกเมื่อ นักปราชญ์ในโลกกล่าวว่าผู้มีเทวธรรม
ถ้าอยากจะเป็นพรหม ก็ให้รักษาพรหมวิหาร
ให้เต็มที่
ถ้าอยากจะสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็
ให้บำรุงกองศีล สมาธิ ปัญญา
ให้เต็มตามพระอัฏฐังคิกมรรค
เมื่อมีประสงค์จะไปทางใด ก็จงตั้งใจให้ตรงไปทางนั้น
ถ้าหากพากันถือเอาความโลภ ความโกรธ ความหลง
อิจฉา พยาบาท เป็นที่พึ่งอยู่ร่ำไปอย่างนี้ จัก
ไม่พ้นนรกอบายภูมิเลย
ให้หมั่นตรวจข้อปฏิบัติของตน ให้รู้สึกว่า
ขยับดีขึ้นทุกปีเป็นใช้ได้ จักเป็นผู้
ไม่เสียทีที่เกิดมาพบเห็นพระพุทธศาสนา และจักสม
กับพุทธภาษิตที่แสดงว่าให้ทำตนเป็นที่พึ่งแก่ตน
หรือว่าตนนั้นแหละจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้
ตามนัยประพันธคาถาที่ได้ยกขึ้นเป็นอุเทศในเบื้องต้นว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ แปลว่า ตนนั้นแล จะเป็นที่พึ่งแก่ตน
โก หิ นาโถ ปโร สิยา คนอื่นใครเล่าจะพึงมาเป็นที่พึ่งได้
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ตนนั้นแหละที่ตนทรมานดีแล้ว จะได้ที่พึ่งอันผู้อื่นได้
ด้วยยาก มีเนื้อความโดยย่อ ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 23:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้ จักอธิบายขยายความแห่งพระคาถานั้น
พอเป็นทางที่จะปฏิบัติต่อไป
คำที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้น ต้องเข้าใจว่าสกลกาย
อวัยวะ มีมือ เท้า หู ตา เป็นต้นนี้แหละชื่อว่าตน
ตนพึ่งตนนั้น ก็ต้องพึ่งมือ พึ่งเท้า พึ่งหู พึ่งตาของตนเอง
ผู้อื่นซึ่งว่าเป็นที่พึ่งได้ ดังมารดาบิดา ครูบาอาจารย์
มูลนาย ตลอดถึงพระราชามหาอำมาตย์ ซึ่งนิยม
กันว่าเป็นที่พึ่งนั้น ก็พึ่งได้จริง แต่พึ่งได้เพียงเป็นปัจจัย
ผู้อุดหนุนอุปการะเท่านั้น คือคนเสียมือ เสียเท้า เสียตา
เสียปาก เสียจมูกแล้ว ชื่อว่าเสียที่พึ่ง พึ่งตนไม่ได้ แม้จะ
ได้รับอุปการะแต่ผู้อื่น ก็ได้แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่า
นั้นเอง
ผู้ที่เป็นขุนนางเจ้าพระยา หรือ
เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต เป็นพ่อค้า เศรษฐี
ตลอดลงไปถึงคนรับจ้างทำงาน ก็ล้วนแต่คนมีมือ
มีเท้า มีหู มีตาบริบูรณ์ทั้งสิ้น
พึงเข้าใจว่า สกลกายของตนนี้แหละเป็นที่พึ่งแก่ตน
ถึงแม้บุคคลผู้มีมือ เท้า หู ตา อวัยวะบริบูรณ์เต็มที่
แต่ไม่ได้ใช้ให้ทำการงานหาประโยชน์มาแก่ตน เกิด
เป็นคนขัดสนจนยากมีถมไป เพราะไม่รู้ว่าตน
เป็นที่พึ่งแก่ตน มัวหลงไปพึ่งคนอื่น เมื่อพึ่งเขา
โดยตรงไม่ได้ ก็ต้องขโมยเขา คนขี้ขโมยนี้ต้องนับเข้า
ในพวกหาพึ่งคนอื่น จะได้รับแต่ความเดือดร้อน
ไม่มีที่สิ้นสุด
ถึงแม้ผู้มุ่งหวังจะพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พึ่งทาน ศีล ภาวนา ก็ต้องอาศัยความทำของตนเอง
คือทำให้พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คุณทาน
คุณศีล คุณภาวนา มีขึ้นในตน จึงจักพึ่งท่านได้
จะอาศัยแต่การวิงวอนให้ท่านมาช่วยอย่างเดียว จัก
ไม่สำเร็จประโยชน์เลย สมกับพุทธภาษิตว่า ตน
เป็นที่พึ่งแก่ตน ดังนี้
เมื่อปรารภถึงคำว่าอัตตาตัวตนดังนี้แล้ว ก็ต้องพูด
ถึงอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนด้วย อัตตาก็หมายเอาสกลกายนี้
ดังที่บรรยายมาแล้ว ส่วนอนัตตาเล่าก็
ต้องหมายสกลกายนี้เหมือนกัน
แต่ขยับสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะอนัตตา
เป็นทางวิปัสสนาจะค้นหาของจริง คำที่ว่า อนัตตา ไม่
ใช่ตัวตน ท่านหมายนามรูป ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งสิ้น ว่า
ไม่ใช่ตน ท่านไม่ได้กล่าวว่าสกลกายนี้ไม่ใช่ตน
ที่ขัดข้องอยู่ก็คือ เราเรียกเอานามรูป ขันธ์ ธาตุ
อายตนะ มาสวมใส่สกลกายไว้จนเต็มที่ จน
เป็นอุปธิกิเลสเข้าฝังใจแน่นเสียแล้ว นอก
จากวิปัสสนาปัญญา ถอนอุปธิกิเลสไม่ได้
ปัญญาในที่นี้หมายเอาวิปัสสนาญาณ เรียกว่าอุปธิวิเวก
คือปัญญารู้เท่าสังขาร
ถ้าปัญญาประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อใด นามรูป ขันธ์ ธาตุ
อายตนะ ซึ่งเป็นสภาพของสังขาร ก็เพิกออก
จากสกลกายหมด สกลกายที่เหลืออยู่ก็เป็นธรรม
คือเป็นตัวสภาวธรรม เป็นอัตตา
สำหรับขับไล่ตัวสังขารธรรมที่
เป็นอนัตตาออกไปเสียชั้นหนึ่งก่อน
ท่านกลัวจะติดสภาวธรรมที่เป็นอัตตานั้นเอง ท่าน
จึงปฏิเสธอีกชั้นหนึ่งว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรม
ทั้งสิ้นไม่ใช่ตน เราต้องถามว่า ธรรมทั้งสิ้นไม่ใช่ตน
เป็นอะไรเล่า ต้องตอบว่าเป็นธรรมนะซิ
ที่ว่าตนว่าตัวนั้น เป็นสัญญาโลกต่างหาก
ทีนี้ต้องวินิจฉัยสภาวธรรมอีกชั้นหนึ่ง
คือสภาวธรรมนั้นแลมี ๒ ชั้น มีในมีนอก ชั้นนอก
ได้แก่สกลกายทั้งสิ้น
เป็นสมบัติเครื่องอาศัยของสภาวธรรมชั้นใน
สภาวธรรมชั้นในนั้นเป็นชาติกายสิทธิ์ คือ
ผู้บัญชาการให้อวัยวะทั้งปวงซึ่งเป็นสมบัติของตน
ให้ทำการงานตามหน้าที่ คือใช้เท้าให้เดิน ใช้มือ
ให้ทำกิจการงาน ใช้ตาให้ดู ใช้หูให้ฟัง ใช้จมูก
ให้ดมกลิ่น ใช้ลิ้นให้รู้รส ใช้กายให้รู้สัมผัส เป็น
ผู้รับสุขรับทุกข์ นั้นแหละเป็นตัวสภาวธรรมชั้นใน
จะว่าตัวก็ได้ จะว่าสัตว์ก็ได้ จะว่าบุคคลก็ได้
ชื่อทรามนามกรไม่เป็นข้อสำคัญ สำคัญคือตัววิชชา
ได้แก่ความรู้ตัวนั้นเอง
ตัวนี้เป็นชาติกายสิทธิ์ จะว่าใหญ่ก็ได้ จะว่าเล็กก็ได้
ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เป็นผู้นำสู่ภพสู่ชาติ ส่วนเกิด
แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นตัวภพตัวชาติต่างหาก แต่
ต้องอาศัยกรรมที่ตนทำ ถ้ากรรมดีก็ได้ภพ
ได้ชาติที่ประณีตที่ดี ถ้ากรรมชั่วก็ได้ภพ
ได้ชาติที่ต่ำที่เลว
เหตุนั้น จึงต้องให้ทรมานซึ่งตน ตามพุทธนิพนธ์ว่า
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ ตนนั้นแหละ
ที่ตนฝึกฝนทรมานดีแล้ว จะได้ที่พึ่งอันผู้อื่นได้
ด้วยยาก ดังนี้
ความมั่งมีโภคสมบัติ หรือยศถานาศักดิ์ หรือได้รับ
ความฉลาด เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตเหล่านี้
ก็ชื่อว่าที่พึ่งอันผู้อื่นได้ด้วยยาก เพราะมีโดยส่วนน้อย
ถ้าชั้นสูงขึ้นไป คือศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ
มรรค ผล นิพพาน ก็ชื่อว่าที่พึ่งอันผู้อื่นได้ด้วยยาก
เพราะมีผู้ได้โดยส่วนน้อย ผู้จะได้
ต้องอาศัยการฝึกฝนทรมานตนเต็มที่จึงจะได้
แท้ที่จริงบรรดาคุณธรรมทั้งหลาย มีศีล สมาธิ
ปัญญา วิชชา วิมุตติ มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น
เป็นธรรมชาติมีอยู่แล้วในตนเต็มที่ คือไม่ต้องหามา
ใส่มาเติมอีกเลย เปรียบอุปมาเหมือนรุ้งหรือแวว
ในเพชรในพลอย หรือลวดลายผิวพรรณ
ในไม้แก้ว ถ้าขัดถูหรือเจียระไนให้ได้ที่แล้ว รุ้งแวว
หรือผิวพรรณผุดขึ้นมาเอง เพราะเป็นของมีอยู่ใน
นั้นเต็มที่แล้ว
ข้ออุปมานี้ฉันใด แม้ธรรมวิเศษทั้งหลาย
มีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ถ้า
ผู้ตั้งใจฝึกฝนทรมานตน บำรุงศีล สมาธิ ปัญญา ให้
เป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ชื่อว่าบำรุงเครื่องขัดสี
ให้เต็มที่ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ก็จักผุดผ่องขึ้นมาเอง ไม่ต้องหามาเพิ่มเติม เพราะ
เป็นของมีอยู่แล้ว เหมือนข้ออุปมานั้น
เมื่อพุทธบริษัทได้สดับธรรมบรรยายนี้
จงตรวจตรองให้ได้ใจความ
แล้วตรวจดูตนของตนว่า บัดนี้ มีธรรมประเภทใด
เป็นที่พึ่ง ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ
เหล่านี้แหละเป็นตัวที่พึ่ง
บัดนี้ตัวของเรามีธรรมประเภทใดเป็นที่พึ่ง
อย่าให้เป็นคนลังเล จะมุ่งไปในชาติมนุษย์ หรือ
จะไปสวรรค์ หรือจะยึดเอามรรค ผล นิพพาน ก็
ให้แน่ใจตรงต่อข้อปฏิบัตินั้น ๆ โดยความไม่ประมาท
ก็อาจจะได้ประสบความสุขที่ตนต้องประสงค์
โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้.
.........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร