วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 18:02 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปกิณกเทศนา

กัณฑ์ที่ ๑
(เชียงใหม่ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๗๑)
อิทานิ สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมีกถา กถิยเต
ตํ สุณาถ สาธุกนฺติ.
..........วันนี้เป็นวันเสาร์ ท่านทั้งหลายมีท่าน
ผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าพร้อมทั้งครูและนักเรียน
ได้มาสันนิบาตในพระวิหารวัดเจดีย์หลวงที่นี้
มีประสงค์จะฟังพุทธโอวาทศาสนา
คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ด้วยพวกเราชาวสยามล้วนเป็นพุทธบริษัทสืบเนื่อง
กันมาแต่บรรพบุรุษกว่า ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ส่วนท่านที่
เป็นผู้อำนวยการและเป็นครูมีความรู้
ในทางพระพุทธศาสนาโดยมาก
แต่นักเรียนการอบรมยังอ่อน เพราะยังเป็นเด็กมุ่ง
อยู่แต่การเล่าเรียนวิชาสำหรับโลกเท่านั้น ซึ่งท่าน
ผู้เป็นหัวหน้าได้ชักชวนให้มีวันมาประชุม
กันฟังพระธรรมเทศนา เช่นนี้นับว่า
เป็นการอบรมนิสัยของนักเรียน
ให้รู้จักคุณพระพุทธศาสนา
นักเรียนทั้งปวงพึงเข้าใจว่าเราเป็นชาวสยาม
เป็นคนไทย จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม ต่าง
กันแต่อวัยวะเล็กน้อยบางประการ ส่วนความสุข
ความทุกข์ บุญบาป และความปรารถนาอย่างเดียว
กันหมด ข้อสำคัญต้องการความสุขด้วยกันทั้งสิ้น
ส่วนความสุขเกิดจากความรู้ความฉลาดเป็นมูล
ความทุกข์เกิดจากความโง่เขลาเป็นมูล เพราะเหตุ
นั้นจึงต้องพากันมาเป็นนักเรียน ทรมานฝึกฝนตน
ได้รับความลำบากไม่ใช่น้อย ก็เพื่อจะจำกัด
ความโง่เขลาออกไปเสียจากตัว และเพื่อได้รับ
ความรู้ความฉลาด
ในวิชาศิลปะศาสตร์สำหรับบำรุงความสุขแก่ตน
และสำหรับบำรุงชาติและตระกูลของตน
ส่วนในทางพระพุทธศาสนา
เป็นของสำคัญสำหรับชาติ
ถ้ามีแต่วิชาศิลปะศาสตร์สำหรับโลก
ทางพุทธศาสนาไม่เข้าใจ ก็มีประโยชน์น้อย จะได้รับ
ความสุขแต่เพียงชาติเดียวเท่านี้
เพราะพระพุทธศาสนาแสดงทางแห่งความสุข อัน
จะพึงได้ในชาตินี้ และทางแห่งความสุขอันจะพึงได้
ในชาติหน้า และทางแห่งความสุขคือพระนิพพาน
ซึ่งพ้นจากชาตินี้และชาติหน้า
..........ในวันนี้จะแสดงข้อสำคัญอันนักเรียนควรรู้
ไว้เป็นเบื้องต้น ตามหลักพุทธศาสนา นักเรียนทุกคน
ทั้งชายทั้งหญิงจะต้องรู้จักที่ควรเคารพ ๖
ประการ เป็นหลักไว้ก่อน คือพระพุทธเจ้า ๑
พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑ มารดาบิดา ๑
ครูบาอาจารย์ ๑ พระเจ้าแผ่นดิน ๑ วัตถุทั้ง ๖
ประการนี้ เป็นที่ควรเคารพนอบนบนับถือ
พระพุทธเจ้า ซึ่งว่าเป็นที่ควรเคารพนับถือนั้น
เพราะพระองค์ท่านเป็นผู้ประเสริฐ ทรงไว้
ซึ่งพระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ
และพระวิสุทธิคุณ พระคุณทั้ง ๓ นี้
เป็นพยานปรากฏอยู่ในหมู่พุทธบริษัทพากันได้รับ
ความสุข เพราะพระคุณทั้ง ๓ เป็นเครื่องเตือนใจ
ได้พากันประพฤติดีเป็นผลจนทุกวันนี้
พระธรรม ซึ่งว่าเป็นที่เคารพนับถือนั้น
เพราะมีพระคุณอันประเสริฐทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่
ให้ตกต่ำ เป็นพยานแก่ผู้ปฏิบัติจนทุกวันนี้
พระสงฆ์ ซึ่งว่าเป็นที่ควรเคารพนับถือนั้น
เพราะทรงไว้ซึ่งธรรมอันประเสริฐ อัน
เนื่องมาแต่พระพุทธเจ้าให้พวกเราผู้เกิดมา ณ
กาลอันเป็นภายหลัง ได้ศึกษาปฏิบัติตาม ได้ผล
เป็นสุขจนทุกวันนี้
มารดาบิดา ซึ่งว่าเป็นที่ควรเคารพนับถือนั้น
เพราะท่านได้เลี้ยงดูบุตรและธิดามาเป็นอย่างดี
หวังความสุขความเจริญแก่บุตรและธิดา
เป็นอย่างยิ่ง รักเสมอด้วยชีวิต เพราะเหตุนั้นผู้
เป็นบุตรและธิดาก็จำจะต้องรักมารดาบิดาเสมอ
ด้วยชีวิตเหมือนกัน จึงว่ามารดาบิดา
เป็นที่ควรเคารพตลอดชีวิต
ครูบาอาจารย์ ซึ่งว่าเป็นที่ควรเคารพนับถือนั้น
เพราะครูบาอาจารย์เป็นผู้ฝึกฝนให้ความรู้
ความฉลาด คือวิชาศิลปะ
เป็นเครื่องมือสำหรับทำมาหาเลี้ยงชีพ
เป็นสมบัติสำหรับติดตัวไปจนวันตาย
การที่ท่านสั่งสอนก็ย่อมสำเร็จด้วยเมตตากรุณาหวัง
ความเจริญแก่สานุศิษย์ มิใช่จะสอนแต่วิชาศิลปะเพียง
เท่านั้น ยังต้องแนะนำตักเตือนในทางจรรยาให้
เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี วิชาศิลปะ
และจรรยาอันสานุศิษย์ได้จากครูบาอาจารย์ ย่อม
เป็นอาภรณ์เครื่องประดับอยู่กับตัวตลอดวันตาย
เพราะเหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงเป็นที่ควรเคารพ
โดยแท้
พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งว่าเป็นที่ควรเคารพนั้น เพราะ
เป็นยอดเป็นจอมของประเทศ เป็นที่พึ่งของประเทศ
ที่เรียกกันโดยคำสามัญว่าเจ้าชีวิต
เพราะชีวิตอย่างไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายอยู่ใน
ความบริหารปกครองของท่าน ถ้าประเทศ
ไม่มีเจ้าชีวิต ชีวิตของมนุษย์ในประเทศนั้นอาจจัก
เป็นอันตรายได้โดยพลัน
แต่ประเทศที่มีเจ้าชีวิตคอยระวังรักษา
อยู่อย่างทุกวันนี้ ยังมีผู้ลอบลักฆ่าฟันกันตายอยู่บ่อยๆ
ผู้เป็นเจ้าชีวิตมิใช่จะบริหารแต่เพียงชีวิตอย่างเดียว
เท่านั้นก็หาไม่ บรรดาครอบครัว
และทรัพย์สมบัติของประชาชนทั้งปวง ก็ตกอยู่ใน
ความบริหารของพระเจ้าแผ่นดินด้วย เป็นต้นว่ามี
ผู้บังอาจเบียดเบียนชีวิตหรือบุตรภรรยา
และทรัพย์สมบัติของฝ่ายหนึ่ง ท่านต้อง
ให้ไต่สวนจับกุมฝ่ายที่ทำผิดมาลงพระราชอาชญาตามโทษานุโทษแก้แ
ค้นแทนผู้ถูกทำร้าย อาศัยเหตุนั้น
จึงมีเนมิตตกะพระนามว่าพระเจ้าอยู่หัวบ้าง
เจ้าชีวิตบ้าง ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าแผ่นดินจึง
เป็นที่ควรเคารพอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 18:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ต่อไปนี้จักอธิบายอาการแห่งการเคารพ
ไว้พอได้ใจความ ในพระพุทธศาสนายกศีล ๕ ขึ้นไว้
เป็นข้อปฏิบัติให้เป็นคนดีสำหรับโลก ให้ชื่อว่าเว้น
จากเวร ๕ ข้อ
ข้อที่ ๑ คือให้ตั้งเจตนาว่า ปาณาติปาตา เวรมณี
เราจักเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตและร่างกายแห่ง
ผู้อื่นด้วยกายของตน และจะไม่บังคับให้ผู้
อื่นเบียดเบียนผู้อื่นด้วย
ข้อที่ ๒ คือให้ตั้งเจตนาว่า อทินนาทานา เวรมณี
เราจักเว้น
จากการเบียดเบียนคือลักเอาข้าวของของท่านผู้อื่น
ด้วยกายของตน และจักไม่บังคับผู้อื่น
ให้เบียดเบียนข้าวของของผู้อื่นด้วย
ข้อที่ ๓ คือให้ตั้งเจตนาว่า กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี
เราจักเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
คือเว้นจากเล่นเมียท่าน ผู้หญิงให้เว้นการเล่นชู้
จากผัวและเล่นผัวท่าน
ข้อที่ ๔ คือให้ตั้งเจตนาว่า มุสาวาทา เวรมณี เราจักเว้น
จากการกล่าวคำเท็จคำไม่จริง
และคำหยาบคือคำด่าและคำสับส่อให้ท่านผิดกัน
และคำเพ้อเจ้อไม่มีประโยชน์
ข้อที่ ๕ คือให้ตั้งเจตนาว่า สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา
เวรมณี เราจักเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุรา
และเมรัย อันเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
..........ต่อนี้จักแนะนำให้รู้จักหัวใจแห่งศีล ๕
ให้จำง่าย คือให้เอาตัวของเราเป็นเครื่องวัด
เป็นเครื่องเปรียบ คนทั้งโลกต่าง
กันแต่รูปพรรณสีสัณฐานเท่านั้น ส่วนความสุข
ความทุกข์ ความรักความชังเป็นต้น เหมือนกันหมด
จะผิดกันบ้างก็เพียงน้อยบ้างมากบ้างเท่านั้น หัวใจศีล ๕
คือว่า “สิ่งใดที่ตัวของเราไม่ชอบใจ อย่าเอาไปให้แก่ผู้
อื่น” เท่านี้
บัดนี้จะต้องถามข้อ ๑ ต่างว่ามี
ผู้มาฆ่าฟันทุบต่อยตบตีเรา จะชอบใจไหม ต้องตอบว่า
ไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบอย่าเอาไปให้แก่คนอื่นเขา
ข้อ ๒ ต่างว่าเรามีสมบัติข้าวของ เรา
ยังรักใคร่หวงแหนอยู่ มีผู้มาลักขโมยแย่งชิงเอาไป
เราจะชอบใจไหม ต้องตอบว่าไม่ชอบ ถ้า
ไม่ชอบอย่าเอาไปให้แก่คนอื่นเขา
ข้อ ๓ ต่างว่าเรามีเมียหรือมีชู้ซึ่งเป็นที่รักและมี
ผู้มาลอบลักช่วงชิงกรรมสิทธิ์ของเรา
จะชอบใจไหม ต้องตอบว่าไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบอย่าเอาไป
ให้คนอื่นเขา
ข้อ ๔ ต่างว่ามีผู้มาโกหกล่อลวงเรา มีผู้มาด่าเรา มี
ผู้ไปสับส่อให้คนซึ่งเป็นที่รักของเรา หรือสับส่อ
ให้เจ้านายซึ่ง
เป็นที่นับถือของเราโกรธเคียดเกลียดชังแก่เรา
จะชอบใจไหม ต้องตอบว่าไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบอย่าเอาไป
ให้แก่คนอื่นเขา
ข้อ ๕ คนขี้เมาพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ พูดมากปากหลายหา
ความละอายมิได้ เป็นที่ชอบใจของเราไหม
ต้องตอบว่าไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบ เราอย่าเป็นคนขี้เมา
ผู้ที่เก็บสิ่งที่ตนไม่ชอบเสียสิ้น ไม่ต้องให้แก่ใคร
แม้ตนของเราก็ไม่เก็บเอาไว้ ประพฤติได้เช่นนี้ชื่อว่า
เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเคารพต่อพระธรรม
คือเคารพต่อศีล ๕ ด้วยว่าศีล ๕ เป็นพระธรรม
คือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้เคารพ
ในพระธรรมอย่างเดียวเท่านั้น เป็นอันเคารพ
ในพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ทั้งมารดาบิดา
ครูบาอาจารย์ และพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยว่าท่าน
ทั้งหลายมีความประสงค์ร่วมกัน คือมุ่งจะให้เรา
เป็นคนดีเท่านั้น
ถ้าเราทำตนให้เป็นศีล ๕ ได้แล้ว ก็
เป็นอันหมดเวรหมดภัย หมดคดีที่จะ
ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ศีล ๕ กลาย
เป็นเครื่องรางสำหรับป้องกันภยันตราย
อยู่ยงคงกระพันชาตรี โดยไม่มีใครทำอันตราย
นั้นเอง ไม่ต้องไปเรียนวิชาอาคมให้ป่วยการเสียเวลา
จึงชื่อว่าเราได้เคารพในท่านที่ควรเคารพ
เพราะเหตุนั้นควรตั้งใจรักษาแต่ศีล ๕ เท่านั้น
ต่างว่ารักษาให้เต็มทั้ง ๕ ไม่ได้
เพราะปาณาติบาตเว้นการฆ่าสัตว์ไม่ได้ เพราะ
ต้องกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ถ้ายังเว้นไม่ได้ก็
ให้เว้นการฆ่ามนุษย์ และเว้นการฆ่าสัตว์ที่มีคุณ
มีวัวควายเป็นต้นเสีย ฆ่าแต่สัตว์ที่เป็นอาหารก็ยังดี
คือดีกว่าผู้ฆ่ามนุษย์และฆ่าสัตว์ที่มีคุณ แต่ให้เข้าใจ
ไว้ว่าฆ่าสัตว์เป็นบาป ศีล ๕ ขาด จะ
ได้หาโอกาสหลีกเว้น ให้ศีล ๕ ของตนเต็มบริบูรณ์
แสดงสถานที่ควรเคารพ ๖ ประการ
และย่นอาการแห่งการเคารพ คือเคารพในศีล ๕
อย่างเดียว ก็เป็นอันเคารพในที่ทั้ง ๖ ประการ พอให้
เข้าใจความเพียงเท่านี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 18:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัณฑ์ที่ ๒
(เชียงใหม่ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๗๑)
อิทานิ สนฺนิปติตาย ปริสาย พุทฺธคุณกถํ
ภาสิสฺสามิ ตํ สุณาถ สมาคตาติ.
..........ณ บัดนี้
เป็นวันที่นักเรียนบริษัทมาสันนิบาตครั้งที่ ๒ เพื่อ
จะฟังพระธรรมเทศนา ส่วนธรรมที่จักแสดงนั้น
ในวันต้นได้ตั้งกระทู้ไว้ คือที่ควรเคารพ ๖
ประการ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ต่อไปจักบรรยายพระคุณแห่งที่ควรเคารพนั้น ๆ
โดยลำดับเป็นกัณฑ์ ๆ ไป
วันนี้จักแสดงพระพุทธคุณกถา ซึ่งเป็นเบื้องต้นก่อน
ท่านทั้งหลายที่มาสมาคมจงตั้งใจฟัง
ซึ่งพระพุทธคุณกถานั้น ทำประโยชน์ของตน
ให้สำเร็จเถิด
คำที่ว่าพุทโธ พระพุทธเจ้านั้น จะถือเอาเนื้อ
ความว่ากระไร คือหมายท่านผู้ใด ตอบว่า หมาย
ความว่า ท่านผู้ตรัสรู้ของจริงด้วยตนโดยชอบ
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า
ท่านผู้ทรงพระนามว่าพระพุทธเจ้านั้น
โดยบุคลาธิษฐาน ท่าน
เป็นมนุษย์อัศจรรย์พระองค์หนึ่ง
นับแต่นี้ถอยหลังขึ้นไปในระหว่าง ๒๕๐๐ ปีเศษ ท่าน
ได้เกิดขึ้นมาในโลก ณ เมืองกบิลพัสดุ์
ประเทศอินเดีย เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคตมะ
โดยพระโคตร พระราชบิดาชื่อสุทโธทนะ
พระราชมารดาชื่อสิริมหามายา
พระนามของพระองค์ชื่อสิทธัตถะ
พระเทวีของพระองค์ชื่อยโสธรา
พระโอรสของพระองค์ชื่อราหุละ
ตามในพระพุทธประวัติท่านแสดงไว้ว่า
สมัยเมื่อพระองค์มาปฏิสนธิและประสูติพร้อม
ด้วยมหัศจรรย์ เป็นพระราชกุมารอันสมบูรณ์
ด้วยมหาปุริสลักษณะ
รูปสมบัติอันวิไลเลิศงามล้วนถ้วนทุกประการ
จะหาสามัญชนผู้จักเสมอได้ด้วยยาก หากสำเร็จมา
ด้วยบุพเพกตปุญญตา คือพระกุศลบุญบารมีที่
ได้ทรงอบรมมาแล้วแต่อเนกชาติ
ครั้นทรงพระเจริญขึ้นสมควรแก่การศึกษา
พระองค์ก็ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์สำหรับราชตระกูล
โดยไม่ต้องลำบาก สำเร็จทุกประการ
เพราะพระปรีชาญาณสุขุมคัมภีรภาพยิ่งนัก
ครั้นพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดา
ให้ไปขอพระนางยโสธรา
ผู้ทรงรูปสมบัติเบญจกัลยาณี อัน
เป็นพระธิดาแห่งศากิยวงศ์ด้วยกันมาอภิเษก
เป็นพระเทวี และทรงมอบราชสมบัติให้เป็น
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พระมหาบุรุษราชสิทธัตถะ
ทรงรับรัชทายาทครองราชย์เสวยกามสุขอยู่ได้
๑๓ พรรษา พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
อันธรรมดาแห่งพุทธวิสัยหากมาเตือนให้ทรงเห็น
ความเกิด ความแก่ ความป่วยไข้ และความตายทั้ง ๔
ประการนี้ เป็นตัวทุกข์ เผาตนและผู้อื่นให้เร่าร้อน
อยู่ทั่วโลก ทรงพระดำริอยู่แต่
จะหาอุบายดับทุกข์เหล่านี้ให้หลุดพ้นจากตน และจะ
ช่วยสัตวโลกให้หลุดพ้นจากทุกข์เหล่านี้ด้วย
ทรงเห็นทางเดียวแต่ออกบวชบำเพ็ญเนกขัมมพรหมจรรย์
เป็นเพศอันวิเวก จึงทรงตัดอาลัยในสุขสมบัติ
ทั้งปวงเสีย
เสด็จออกทรงเพศบรรพชาแสวงหาสันติธรรม
คือพระนิพพาน เพราะว่าธรรมซึ่งมีว่า
พระนิพพานดับเสียซึ่งกองทุกข์ทั้งสิ้น
เสียงอันนี้ย่อมบันลือลั่นอยู่ในโลกเสมอ
ก่อนแต่พระองค์อุบัติขึ้นในโลก แต่จะหา
ผู้บรรลุจริงไม่ได้
..........ในสมัยนั้น อาฬารดาบส อุทกดาบส ๒
คณาจารย์นี้ เขานิยมกันมากว่าเป็นพระอรหันต์
ได้สำเร็จพระนิพพาน พระองค์จึง
เข้าไปสู่สำนักขอศึกษาลัทธิ ในไม่ช้าพระองค์ก็
ได้บรรลุคุณวุฒิเสมอด้วยอาจารย์
และทรงพิจารณาธรรมที่ตนได้บรรลุนั้น
ทรงเห็นว่าเพียงแต่รูปฌานอรูปฌาน คืออัฏฐสมาบัติ
เท่านั้น ยังเป็นโลกิยฌานอยู่หาใช่พระนิพพานไม่
แม้พระอาจารย์วิงวอนให้อยู่ช่วยสั่งสอนบริษัท
พระองค์ก็มิได้ยินดี ปลีกพระองค์ออกเสียจากหมู่
จากคณะไปบำเพ็ญตบะอยู่แต่โดยลำพังส่วนพระองค์
ๆ เดียว เริ่มกระทำความเพียรทุกรกิริยา
ถึงแก่กลั้นลมหายใจบ้าง อดอาหารหลาย ๆ วันบ้าง
จนใกล้ต่อมรณะ ภายหลังได้พระสติเห็นว่า
ความเพียรกล้าเกินไป ถ้าตายเสียก็จักเสียประโยชน์
ทั้งตนและผู้อื่น
จึงทรงพยายามแสวงหาอาหารบำรุงร่างกาย
ให้บริบูรณ์ แล้วยึดรูปฌานทั้ง ๔
อาศัยอานาปานสติฌานเป็นอารมณ์ไม่เกี่ยว
ด้วยอารมณ์ภายนอก ให้เป็นบาทของวิปัสสนา
แต่ทรงค้นคว้าทำความเพียรอยู่ได้ ๖
พรรษาล่วงไปแล้ว
ครั้นทรงอาศัยอานาปานสติฌานเป็นอารมณ์
ถึงวิสาขปุณณมีเดือน ๖ เพ็ญ
พระจันทร์เสวยวิสาขนักษัตร พระองค์
ได้อาศัยโคนต้นโพธิเป็นที่อาศัยน้อมจิตสู่ฌานทั้ง ๔ ให้
เป็นบาทแล้ว ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ดำเนิน
ในปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมปฏิโลม
ในปฐมยามได้สำเร็จบุพเพนิวาสญาณ
ระลึกชาติหนหลังได้ตลอดอเนกชาติ ตัด
ความสงสัยที่ว่าตายแล้วเกิดอีก หรือตาย
แล้วสูญไปขาดออกจากใจ
ในมัชฌิมยาม
ได้สำเร็จจุตูปปาตญาณรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั่วไป
สัตว์ที่ได้ดีได้ชั่วมีกรรมเป็นผู้ตกแต่ง
ครั้นถึงปัจฉิมยาม ส่วนที่สุดแห่งราตรี พระองค์
ได้สำเร็จอาสวักขยญาณ รู้
ความสิ้นไปแห่งอาสวกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน
โดยสยัมภูภาพ ตรัสรู้ขึ้นด้วยตนเองมิได้อาศัยผู้อื่น
เพราะเหตุนั้น จึงทรงเนมิตตกนามว่า สัมมาสัมพุทโธ
แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ของจริงด้วยตนเอง
โดยชอบดังนี้
ท่านผู้ที่มีประวัติตามนัยที่แสดงมานี้นั้นแล
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า ส่วนพระวรกายของพระองค์นั้น
ได้ล่วงลับดับสูญ คือเสด็จดับขันธปรินิพพานไป
แล้ว นับแต่นี้ถอยหลังขึ้นไปได้ ๒๔๗๑ ปีล่วงไป
แล้ว แต่ส่วนพระคุณทั้ง ๓ คือ พระปัญญาคุณ
พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ ยังปรากฏอยู่
ในเหล่าพุทธบริษัท เป็นองค์พยานให้สิ้นความสงสัย
ให้พุทธบริษัทพึงมนสิการ คือกำหนดในใจ
ให้รู้พระคุณทั้ง ๓ นั้นดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 18:41 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........พระปัญญาคุณที่ประกาศเด่นอยู่นั้น
ก็คือพุทธโอวาทศาสนาคำสอนของพระองค์
ได้แก่พระปริยัติธรรม คือพระไตรปิฎกทั้งสิ้น
และปฏิบัติธรรมได้แก่ข้อสัมมาปฏิบัติ คือศีล สมาธิ
ปัญญา และพระปฏิเวธธรรม
ได้แก่มรรคผลนิพพาน พอเป็นทางอนุมาน
หรืออาจเห็นแจ้งด้วยตนได้ พุทธโอวาทส่วนนี้
เป็นเครื่องประกาศพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า
..........พระกรุณาคุณของพระองค์นั้น
ให้พึงเห็นตั้งแต่เบื้องต้น เมื่อ
ยังครองสุขสมบัติกามบริโภคอยู่นั้น
พระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษาเท่านั้น
ต้องนับว่ากำลังหนุ่ม พระโลหิตกำลังฉีดแรงอยู่
ทั่วพระวรกาย และเป็นสมัยอันเปี่ยมอยู่
ด้วยขัตติยนารี ล้วนแต่ทรงพระรูปพระโฉม
เป็นที่ยวนพระทัยเป็นบาทปริจาริกา คือเป็น
ผู้บำเรอให้ลุ่มหลง อาศัยพระมหากรุณาหวัง
จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากวัฏทุกข์ สู้สลัดตัดอาลัย
ในความสุขเสด็จออกทรงพรตพรหมจรรย์ได้
จึงควรสรรเสริญว่าพระองค์
เป็นอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตน์โดยแท้
เป็นเครื่องหมายแห่งพระกรุณาคุณส่วนหนึ่ง
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ตั้งพระทัยบำเพ็ญพุทธกิจอยู่ถึง ๔๕ พรรษา พุทธกิจ
นั้นก็คือการสั่งสอนเป็นกิจสำคัญ
พระโอวาทที่ทรงสั่งสอนนั้นหยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
ลึกบ้าง ตื้นบ้าง ตามควรแก่นิสัยของผู้จะรับ
เหมือนอย่างผู้ครองเคหสถาน ไม่สามารถ
จะปฏิบัติชั้นสูงได้ ก็ทรงผ่อนผันให้รักษาเพียงศีล ๕
เพื่อให้กำจัดเวรภัยออกจากตนเสีย ได้รับ
ความสุขตลอดชีวิต ถ้า
ผู้มีศรัทธาแก่กล้ายิ่งขึ้นก็ทรงแนะนำให้รักษาศีล
๘ อุโบสถ ให้ได้รับผลแห่งความสุขยิ่งขึ้นไปกว่าศีล
๕ ถ้าผู้มีศรัทธาแก่กล้าสามารถออกบวช
ในพุทธศาสนา ถ้าอายุยังอ่อนยังน้อยอยู่ ทรงอนุญาต
ให้บวชเป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐ ถ้ามีอายุครบ ๒๐
ปีนับว่าเป็นผู้ใหญ่ และมีศรัทธา
สามารถก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ
รักษาจตุปาริสุทธิศีล
และทรงสั่งสอนด้วยอนุศาสนีเทศนา
คือทรงแสดงข้อปฏิบัติให้เหมาะแก่จริต
และนิสัยของกุลบุตร
และอาณาเทศนาคือทรงแต่งตั้งพุทธบัญญัติวางมาตราสิกขาบทปรับอาบัติหนัก
และเบาตามโทษานุโทษให้
เป็นเขตแดนฝั่งฝาทางดำเนินปฏิบัติแก่พระสงฆ์ เพื่อให้
ได้รับความสุขสืบกันไปไม่มีที่สิ้นสุด พุทธกิจ
ทั้งปวงเพียงที่บรรยายมานี้เป็นแต่เล็กน้อยพอ
เป็นตัวอย่างเท่านั้น ล้วนแต่
เป็นเครื่องประกาศพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า
..........พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้านั้น
ให้พุทธบริษัทพึงวิจารณ์ดูตาม
ในพุทธโอวาทก็อาจจักรู้ได้ว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์
พึงเห็นเนื้อความตามในโคตมเจติยสูตรมีใจความว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท
มีอาการ ๓ อย่าง
อาการที่ ๑ ทรงแสดงธรรมเพื่อจะให้
ผู้ฟังรู้จริงเห็นแจ้งในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
ไม่มีอาการปกปิด ไม่มีเล่ห์กล แสดงตรง ๆ
อาการที่ ๒ ทรงแสดงธรรมมีเหตุมีนิทาน คือ
ไม่ทรงแสดงสิ่งที่หาพยานไม่ได้ ไม่ลึกเหลือวิสัยของ
ผู้ฟัง พอผู้ฟังอาจตรองตามเห็นได้ คือว่าสิ่งใดที่
เป็นบาปก็ทรงแสดงว่าบาป สิ่งใดที่
เป็นบุญก็ทรงแสดงว่าเป็นบุญ ไม่แสดงธรรมเข้า
กับตัว
เหมือนอย่างการฆ่าสัตว์เป็นบาปเช่นนี้
ส่วนพระองค์ก็ทรงเสวยเนื้อสัตว์เป็นอาหาร น่า
จะทรงสอนว่าฆ่าสัตว์กินไม่บาป ธรรมดา
ให้สัตว์เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ น่าจะสอนอย่างนี้
เหตุใดพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่เข้ากับตัว
การฆ่าสัตว์เป็นบาป พระองค์ก็ยืนยันว่าฆ่าสัตว์
เป็นบาป บาปนั้นก็คือความเดือดร้อนที่เราให้แก่เขา
นั้นเอง แม้ตัวเรามีผู้ฆ่าเอาไปกินเช่นนั้นก็ไม่ชอบ
พระองค์แสดงธรรม มีเหตุมีนิทานพอ
ผู้ฟังตรองตามเห็นได้ดังนี้
อาการที่ ๓
ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์นำข้าศึกออกเสียได้
จะชี้ตัวอย่างการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์
ประพฤติมิจฉาจาร กล่าวมุสาวาท เสพสุราเมรัย
เหล่านี้เป็นข้าศึกของศีล ๕ เสียแล้ว ข้าศึกเหล่า
นั้นก็แพ้ไปพ่ายไปตั้งอยู่ไม่ได้ กามฉันทะ พยาบาท
ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ท่านเรียกว่านิวรณ์
๕ เป็นข้าศึกแก่สมาธิ ถ้าเรามีสมาธิขึ้นแล้ว
ข้าศึกเหล่านั้นก็แพ้ไปพ่ายไป แสดงพอเป็นอุทาหรณ์
พึงเห็นเนื้อความที่ว่า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์โดยนัยนี้
..........
ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมมีลักษณะอาการ
๓ อย่างดังนี้
เป็นเครื่องประกาศพระวิสุทธิคุณของพระองค์
ให้พุทธบริษัทพึงศึกษาให้รู้จักพระพุทธเจ้า
และรู้จักคุณของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประการ
โดยนัยดังแสดงมานี้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พุทธบริษัทจะ
ต้องปฏิญาณตนว่าตนเป็นพุทธมามกะ
คือถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของตน คือ
ถึงพระพุทธเจ้า การถึงก็คือถึงพระคุณทั้ง ๓ นั้นเอง
คือว่าให้พระคุณทั้ง ๓ นั้นมีขึ้นในตน
เหมือนอย่างเราเรียนศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐
ศีลพระปาฏิโมกข์ ความรู้นี้เป็นปัญญา
ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า บัดนี้มามีขึ้น
ในตนของเราแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นอันเรา
ถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าโดยเอกเทศ
ที่เรามีเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ ตลอด
ถึงสัตว์เดรัจฉานที่เราไม่เบียดเบียนสัตว์นั้น เป็นอัน
ถึงพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า
ที่เรามีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาฏิโมกข์
ทำกายวาจาของตนให้บริสุทธิ์พ้นจากโทษนั้น ๆ
ชื่อว่าเราถึงพระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
ให้พุทธบริษัทพึงศึกษาให้รู้จักพระพุทธเจ้า
และรู้จักพระคุณของพระพุทธเจ้า และรู้จักการ
ถึงพระพุทธเจ้า คือถึงพระคุณของท่าน
โดยนัยดังแสดงมานี้ ก็
จะรู้จักว่าพระพุทธเจ้ามีพระคุณแก่สัตว์โลกหาสิ้นที่สุดมิ
ได้ และจะได้รู้ว่าพระองค์เป็น
ผู้ควรเคารพนอบนบอย่างสูงสุด ดังแสดงมาฉะนี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 19:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัณฑ์ที่ ๓
อิทานิ สนฺนิปติตาย ปริสาย ธมฺมคุณกถํ
ภาสิสฺสามิ ตํ สุณาถ สมาคตาติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันเสาร์
เป็นวันนัดประชุมฟังคำแนะนำสั่งสอนทางพุทธศาสนา
ท่านทั้งหลายมีผู้อำนวยการ พร้อมทั้งครู
และนักเรียนทั้งชายและหญิง ได้มาประชุมกัน
ในพระวิหารวัดเจดีย์หลวงที่นี้ เพื่อ
เป็นการอบรมนิสัยของนักเรียน
ให้ยินดีเคารพต่อพระพุทธศาสนา
อันบรรพบุรุษของพวกเราได้รับเป็นมรดกสืบ
เนื่องต่อกันมา สิ้นกาลนาน
คือว่าฝ่ายชาวบ้านก็รับมรดกเป็นอุบาสก อุบาสิกา พา
กันทำบุญให้ทานรักษาศีล ๕ ศีล ๘ และเกื้อกูล
ด้วยปัจจัยทั้ง ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานเภสัช ให้พระภิกษุสามเณร
ได้ศึกษาเล่าเรียน และบำเพ็ญกิจวัตรโดยสะดวก
ฝ่ายภิกษุสามเณรก็เป็น
ผู้รับมรดกทางศึกษากิจวัตร
และการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ให้เป็น
ผู้มีความรู้ความฉลาดในพุทธโอวาทแตกฉาน
ในธรรมวินัย สามารถอาจหาญ
ในการแสดงธรรมให้บริษัทผู้ครองบ้านเรือนเกิด
ความรู้ความฉลาด รู้จักบุญรู้จักบาป
รู้จักข้อปฏิบัติให้ได้รับความสุขในชาตินี้
และชาติหน้า ตลอดถึงทางมรรคผลนิพพาน
เป็นการตอบแทนอุบาสกอุบาสิกา
คือว่าอุบาสกอุบาสิกาเกื้อกูลแก่พระสงฆ์สามเณร
ด้วยปัจจัย ๔
ฝ่ายพระสงฆ์สามเณรก็เกื้อกูลอุบาสกอุบาสิกา
ด้วยธรรมีกถา ช่วยแนะนำสั่งสอนให้พากัน
ได้ที่พึ่งแก่ตนทั้งชาตินี้และชาติหน้า
ถ้อยทีถ้อยเกื้อกูลแก่กันและกันอย่างนี้ ศาสนาจึง
ได้ตั้งมั่นถาวรมาจนบัดนี้
..........การที่สร้างวัดไว้สำหรับบ้านสำหรับเมือง
ให้มีภิกษุสามเณรอยู่รักษาวัด ชาวบ้านพา
กันเกื้อกูลอย่างทุกวันนี้มีประโยชน์อย่างไร ?
พึงตอบว่า
โอวาทศาสนาของพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนน้ำที่ใสสะอาดปราศ
จากมลทิน เป็นที่อาศัยกิน อาศัยอาบ
อาศัยชำระของโสโครกเศร้าหมองเช่นนี้
แต่น้ำธรรมดานั้นเป็นแต่กินแก้กระหาย
และอาบแก้ร้อน และชำระมลทินตามกาย
และชำระของไม่สะอาด ซึ่งมีอยู่ ณ ภายนอกเท่านั้น
ส่วนน้ำคือพุทธโอวาทศาสนานี้
เป็นน้ำอมฤตสำหรับดื่มสำหรับอาบชำระของใจ
และอาจจักระงับความกระหาย และระงับ
ความร้อนกระวนกระวาย และ
เป็นเครื่องชำระกำจัดเครื่องเศร้าหมองของใจเสีย
ได้สิ้น
เพราะเห็นนั้นจึงต้องสร้างวัด
เปรียบเหมือนสร้างบ่อสร้างสระ
ไว้สำหรับรับน้ำเก็บน้ำ และให้มีภิกษุสามเณร
ไว้สำหรับบำรุงน้ำรักษาน้ำให้เต็มบ่อเต็มสระ
อยู่เสมอ จะได้พากันอาบพา
กันกินชำระกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
เป็นสาธารณประโยชน์ทั่วกัน
เพราะเหตุนั้นชาวบ้านผู้เป็นญาติโยมอุปัฏฐาก จึง
ต้องทำบุญให้ทานเกื้อกูลแก่ภิกษุสามเณรด้วยปัจจัย
๔ เปรียบเหมือนบำรุงบ่อบำรุงสระ บำรุงทั้ง
ผู้รักษาน้ำให้น้ำมีเต็มบ่อเต็มสระอยู่เสมอ จะ
ได้บริโภคเป็นสุขทั่วกัน บ้านใดเมืองใดไม่มีวัด
ไม่มีภิกษุสามเณรเท่ากับไม่มีน้ำวิเศษ ไม่มีทั้งที่เก็บน้ำ
ไม่มีทั้งผู้รักษาน้ำ เป็นบ้านเมืองที่แห้งแล้งไป
หรือมีวัดแต่ภิกษุสามเณรไม่มี
หรือมีภิกษุสามเณรแต่ไม่ศึกษาเล่าเรียนให้ฉลาด
ในพุทธโอวาท ไม่สามารถ
จะสั่งสอนญาติโยมอุปัฏฐากของตนให้ฉลาด
ในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ก็เท่ากับไม่มีน้ำเหมือน
กัน
เพราะเหตุนั้นพวกเราชาวสยาม
ทั้งฝ่ายภิกษุสามเณรและฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา
สมควรแท้ที่จักตั้งใจช่วยกันบำรุงพุทธศาสนา
ให้เจริญรุ่งเรือง เสมอกับบรรพบุรุษบำรุงมา
แล้ว หรือให้เจริญยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า จึงจัก
ได้ชื่อว่ารักชาติศาสนารักพระมหากษัตริย์
..........ในเบื้องต้นจำต้องศึกษาให้รู้จักพระพุทธคุณ
พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
ให้แน่นอนแก่ใจเสียก่อน เพราะเป็นสรณะที่พึ่ง
เป็นวัตถุควรเคารพอย่างสูงสุด ส่วนพระพุทธคุณนั้น
ได้แสดงแล้วในกัณฑ์ก่อน คือพระพุทธคุณกถา
กัณฑ์นี้จักแสดงพระธรรมคุณต่อไป
ย่นพระคุณลงพอได้ใจ
ความก็คือแสดงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า
คือคำสอนของพระองค์ซึ่งเป็นพยานแก่พุทธบริษัทอยู่
ทั่วไป ได้แก่พระปริยัติธรรม คือพระสูตร
พระวินัย พระปรมัตถ์ ที่เรียกกันว่าพระไตรปิฎก
นั้นแล ชื่อว่าพระธรรม เพราะ
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระปริยัติธรรมนี้
เป็นเครื่องประกาศปฏิบัติธรรม คือข้อปฏิบัติ
ย่นปฏิบัติลงเป็น ๓ คือ ศีล ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑
ชื่อว่าพระธรรม เพราะ
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า และพึงรู้ว่า
เป็นปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า
จึงชื่อว่าคุณพระธรรม ให้น้อมเอาคุณธรรมนั้น
เข้ามาสู่ตน คือทำตนให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา
ถ้าตนของตนเป็นได้ในชั้นใด คือเป็นได้ในชั้นศีล
หรือชั้นสมาธิ หรือชั้นปัญญา ก็ชื่อว่าเป็นอัน
ถึงพระธรรมในชั้นนั้น และเป็นอันได้ที่พึ่งในชั้นนั้น
ความจริง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นได้ทั้งชั้นต่ำ ชั้นสูง
หรือเป็นได้ทั้งชั้นโลกิยะ และโลกุตระด้วยกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 19:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ศีลนั้นท่านแสดงไว้หลายประเภทคือ ศีล
๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง ศีล ๑๐ บ้าง
ศีลพระปาติโมกข์บ้าง ตามภูมิแห่งศรัทธาของผู้
สามารถจะรักษาได้ ในที่นี้จะแสดงแต่เพียงศีล ๕ ซึ่ง
เป็นของควรรักษาทั่ว ๆ กัน เพราะ
เป็นเบื้องต้นแห่งข้อปฏิบัติทั้งปวง ความพิสดารได้แสดง
ไว้ในกัณฑ์ต้นแล้ว จะแสดงซ้ำเพื่อ
ให้คุณธรรมกระจ่างขึ้น
การรักษาศีลสำเร็จด้วยเจตนา
คือตั้งใจว่าเราจักเว้นจากการเบียดเบียนชีวิต
และร่างกายแห่งผู้อื่น ๑ เราจักเว้นจากการลัก
และเบียดบังเอาข้าวของของผู้อื่น ๑ เราจักเว้น
จากการล่วงการผิด คือที่เขาหวงแหน ๑ เราจักเว้น
จากการกล่าวคำเท็จคำไม่จริง ๑ เราจักเว้น
จากการดื่มกินน้ำเมา คือสุราเมรัย ๑
ตั้งเจตนางดเว้นดังนี้ชื่อว่าวิรัติเจตนา
แล้วแลตั้งใจรักษากายวาจาใจตามเจตนาที่ตั้งไว้
กายวาจาใจของผู้รักษาให้เป็นปรกติในคุณงาม
ความดีอย่างนี้ชื่อว่าเป็นศีล ๕ เมื่อทำตนให้เป็นศีล ๕
ได้แล้วก็เป็นอันถึงพระธรรมชั้นศีล ๕ คือ
ได้พระธรรมเป็นที่พึ่ง
ผู้พึ่งพระธรรมย่อมปลอดภัยปลอดเวร ไม่ต้อง
เป็นโจทก์เป็นจำเลยแก่ใคร จะได้รับแต่
ความสรรเสริญของโลก และจะอยู่เย็น
เป็นสุขตลอดชีวิต
อานิสงส์เหล่านี้ ผู้ปฏิบัติจะเห็นด้วยตนเอง
ตามนัยพระธรรมคุณ ซึ่งแพร่หลายอยู่
ในระหว่างพุทธบริษัทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
พระธรรมนั้นก็คือศีลสมาธิปัญญานั้นเอง อันพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
ดีอย่างไร ? จริงอย่างไร ? ข้อ
นั้นพึงเห็นตามข้อวินิจฉัย ๕ บทเบื้องหลัง คือ
สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะเห็นเอง เหมือนอย่างศีล ๕
ถ้าใครรักษาได้ผู้นั้นก็เห็นเอง คือได้รับอานิสงส์เอง
อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเลือกเวลา เพราะตัวมี
อยู่ทุกเมื่อ ศีลมีอยู่ทุกเมื่อ รักษาเวลาใดก็
เป็นศีลขึ้นเวลานั้น
เอหิปสฺสิโก ผู้ปฏิบัติอาจท้าทายชี้ให้ผู้อื่นดูได้
เพราะมีที่ตน
โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติอาจน้อมมาสู่ตนได้
คือน้อมศีลมาสู่ตนมาเป็นตน ดังศีล ๕ เป็นต้นเช่นนั้น
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้ปฏิบัติ
จะพึงรู้แจ้งประจักษ์ที่ตน คือรู้ว่าตนเป็นศีล
แล้วดังนี้
บททั้ง ๕ นี้เป็นเครื่องตัดสินพระธรรม ถ้า
เป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดี
แล้ว ย่อมได้ลักษณะ ๕ ประการดังนี้
..........พวกเราที่จักปฏิญาณตนว่าเป็นธรรมมามกะ
คือถือว่าพระธรรมเป็นของของเรา
หรือถือว่าพระธรรมเป็นที่พึ่งของเรา พึงศึกษา
ให้รู้จักพระธรรม และให้รู้จักว่าพระธรรม
เป็นที่พึ่ง และให้รู้จักอาการถึงพระธรรม
ให้รู้จักอาการพึ่งพระธรรม
โดยนัยที่บรรยายมานี้
แต่นักเรียนยังอ่อนด้วยประการทั้งปวง จะฟังให้
เข้าใจในเวลานี้ยังไม่ได้ แต่หลักของพระธรรมมี
อยู่อย่างนี้ จะไม่แสดงให้ฟังก็ไม่ควร นักเรียนจะไม่
ต้องการฟังธรรมอันลึกซึ้งอย่างนี้ก็ไม่ควร ให้พา
กันตั้งใจฟังของลึกนั้น และถ้าเรารู้ขึ้นแล้วหา
เป็นของตื้นขึ้นเอง อุตส่าห์ฟังบ่อย ๆ คิดบ่อย ๆ
อาจจักรู้ขึ้นด้วยกันทุกคน
หนังสือที่เราเรียนอยู่ในโรงเรียนทุกวันนี้ก็
เป็นของลึกซึ้งเหมือนกัน น่าจะ
เป็นของเหลือวิสัยที่เด็กจะพึงเขียนได้อ่านได้
แต่เหตุไฉนเด็กนักเรียนจึงพากันเขียนได้อ่านออก ก็
เพราะครูเขียนได้อ่านออกและตั้งใจสอนจริง ๆ
ส่วนเด็กนักเรียนก็ตั้งใจเรียนโดยอยากเขียน
ได้อ่านออก ไม่ละความพากเพียร
การเล่าเรียนก็อาจสำเร็จได้
การรู้ธรรมก็มีนัยอย่างเดียวกันฉะนั้น ถ้าครู
ผู้สอนธรรมไม่รู้ธรรม จะให้ลูกศิษย์
ผู้ฟังรู้ธรรมได้ด้วยอาการอย่างไร ถ้า
ไม่รู้พระธรรมจะถือเอาคุณเอาประโยชน์
ในพระธรรมอย่างไร เหมือนคนที่ไม่รู้หนังสือ
จะเอาคุณเอาประโยชน์ในหนังสืออย่างไรได้
เพราะเห็นความดังนี้ จึงได้แสดงไว้ให้
เป็นหลักสำหรับศึกษาต่อไป จะได้
เป็นที่พึ่งสำหรับบำรุงความสุขแก่ตนทั้งชาตินี้ชาติหน้า
..........พวกเราชาวสยาม
เป็นพุทธบริษัทมาแต่บรรพบุรุษ
แม้พระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณกาลก็ทรง
เป็นประมุข
อัครศาสนูปถัมภกยกย่องพระพุทธศาสนาสืบเนื่อง
กันมาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวของพวกเราอันเป็นปัจจุบัน
ก็ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
เป็นพยานแก่พวกเราทั้งหลาย สมควรที่พวกเรา
จะพากันรักชาติรักเกียรติของชาติเรา
เราเป็นชาติไทย ข้อสำคัญก็คือรักตน รักษาตนให้
เป็นคนดี ตามคำสั่งคำสอนพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่า
เป็นผู้รักตนและได้ชื่อว่าเป็นผู้รักชาติด้วย
เพราะชาติของเรานับถือพระพุทธศาสนา และ
ได้ชื่อว่ารักพระพุทธศาสนาด้วย
เพราะเรานับถือพระพุทธศาสนา และ
ได้ชื่อว่ารักพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะพระเจ้า
อยู่หัวของพวกเราทรงนับถือพระพุทธศาสนา
เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนาตามเสด็จให้
ต้องตามพระราชนิยมแล้ว ก็
เป็นอันว่าเรารักพระมหากษัตริย์
ตกลงถ้าเรามีศีล ๕ เท่านั้น ก็เป็นอัน
ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
คือเป็นคนดีได้แล้ว ก็จะได้รับแต่ความสุข
ความสำราญ
ด้วยอำนาจคุณธรรมหากอภิบาลรักษา โดย
นั้นดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 19:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัณฑ์ที่ ๔
อิทานิ โสรวาเร สนฺนิปติตาย ปริสาย สงฺฆคุณกถํ
ภาสิสฺสามิ ตํ สุณาถ สมาคตาติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันเสาร์
เป็นวันที่บริษัทนักเรียนนัดประชุมกัน
ในพระวิหารวัดเจดีย์หลวงที่นี้ เป็นครั้งที่ ๔
ด้วยท่านทั้งหลายมีผู้อำนวยการเป็นประธาน พร้อม
ทั้งครูและนักเรียน ทั้งชายและหญิง
ได้มาสโมสรสันนิบาต เพื่อ
จะฟังพระธรรมเทศนาอันเป็นพุทธโอวาทศาสนา
คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สำหรับจะ
ได้ปฏิบัติดำเนินตาม
ถ้าพวกเราเป็นชาวสยาม
เป็นพุทธมามกะมาแต่บรรพบุรุษ จำเป็นจะต้องศึกษา
ให้เข้าอกเข้าใจทางพระพุทธศาสนาไว้สำหรับตนทุก ๆ
คน คือพวกเราที่เป็นเด็กนี้แล จะต้องเป็นผู้ใหญ่
รับมรดกพระพุทธศาสนาสืบไป ที่เป็นผู้
ใหญ่บำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันนี้ แต่ก่อนก็
เป็นเด็กเหมือนสูเจ้าทั้งหลายนี้เอง
ครั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็แบ่งออกเป็น ๒ พวก พวกที่
เป็นนักบวชก็รับมรดกทางนักบวชต่อกันมา พวกที่
เป็นชาวบ้านก็รับมรดกเป็นอุบาสกอุบาสิกา
ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อกันมา เบื้องหน้าต่อไปก็
จะต้องพากันรับมรดกพุทธศาสนาสืบต่อกันไปอย่างนี้
ไม่มีที่สิ้นสุด
..........วันนี้ก็จักแสดงพระสังฆคุณอัน
เป็นวัตถุที่ควรเคารพ ซึ่งเป็นประการที่ ๓ ให้พากัน
เข้าใจไว้ ด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ๓
ประการนี้ ท่านให้ถือเอาเป็นสรณะที่พึ่ง ถ้าเรา
ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็จักไม่รู้ว่าจะพึ่งท่านอย่างไร
ความจริงมนุษย์ทั่วโลก ถ้าเป็นชาติอันเจริญแล้ว
เขาต้องมีศาสนาไว้สำหรับเคารพนับถือทุกชาติ
ศาสนานั้นแปลว่าคำสอนของนักปราชญ์
ศาสนาที่เลื่องลือมีชื่อเสียงอันโด่งดังอยู่
ในโลกทุกวันนี้มี ๓ คือ พุทธศาสนา ๑ คริสตังศาสนา
๑ อหร่าศาสนา ๑ คริสตังศาสนา ยกพระเยซูขึ้น
เป็นพระศาสดา อหร่าศาสนา ยกพระโมหะหมัดขึ้น
เป็นพระศาสดา
แต่พระศาสดาทั้ง ๒ นี้ มิได้ยกตนเป็นพระเจ้า เป็นแต่
ผู้รับใช้ผู้แทนพระเจ้าให้มาสั่งสอนมนุษย์เท่านั้น
คริสตังศาสนา ชาวประเทศยุโรปโดยมากถือเอา
เป็นเจ้าของ อหร่าศาสนา ชาวประเทศอินเดีย
โดยมากถือเอาเป็นเจ้าของ
ส่วนพุทธศาสนานั้น
พระบรมสุคตศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระสยัมภูตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐขึ้นเอง
เป็นพระเจ้าเอง ไม่ได้รับใช้ใคร ไม่มีใครเป็นใหญ่
ในทางตรัสรู้ยิ่งกว่าพระองค์ ส่วนพุทธศาสนานี้
ชาวประเทศเอเชียฝ่ายตะวันออกโดยมากถือเอา
เป็นเจ้าของ
ว่าโดยผล คริสตังศาสนา อหร่าศาสนา
แสดงเพียงสวรรค์ว่าเป็นยอดแห่งความสุข
ส่วนพุทธศาสนาแสดงว่าพระนิพพานเป็นยอดแห่ง
ความสุข ผลที่สุดมีวิเศษต่างกันอย่างนี้
การที่ยกศาสนาต่าง ๆ มาแสดงให้ฟังดังนี้ ประสงค์จะ
ให้รู้ไว้ว่า ในโลกนี้มีศาสนาใหญ่อยู่ ๓ ศาสนาเท่านั้น
พระศาสนาทั้ง ๓ นั้น ล้วนแต่ประกาศคุณงาม
ความดีแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ให้ได้รับความสุขทั้งชาตินี้
และชาติหน้าเหมือนกัน เป็นศาสนาที่ดีวิเศษด้วยกันทั้ง
๓ แต่ที่จะประกวดกันให้รู้ว่า ศาสนาไหนจะยิ่ง
และหย่อนกว่ากันด้วยเล่ห์ลมคมใน ข้อนั้น
เป็นวิสัยของนักปราชญ์ผู้เป็นจินตกวีจะพึงรู้พึงวินิจฉัย
แต่ให้พึงรู้พึงเข้าใจไว้ว่า ศาสนาในโลก
เป็นของกลางด้วยกันหมด คนชาติใดจะถือศาสนาใดก็
ได้ แต่ให้ชาติที่รับปฏิบัติมีอิสระมีกรรมสิทธิ์ คือ
เป็นเจ้าของแก่ศาสนานั้น ถ้าชาติไม่ได้รับความ
เป็นอิสระไม่ได้รับความเป็นกรรมสิทธิ์
คือว่าคนชาติที่เขาถือมาก่อนเขาไม่ยอมให้กรรมสิทธิ์
เขามาสอนให้นั้นแหละ แต่เขาตามมาปกครอง
เป็นอิสระ เขาตามมาถือกรรมสิทธิ์อยู่ ศาสนาเช่น
นั้นเราไม่ควรถือ เพราะเสียเกียรติยศของชาติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 19:40 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้จักเล่าถึง
ความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษของพวกเราที่รับเอาพุทธศาสนา
เข้ามาเป็นเจ้าของ คือพระพุทธเจ้าไม่ใช่คนชาติเรา
เป็นคนชาติอริยกะ ตามพระพุทธประวัติว่า
อยู่ประเทศอินเดีย เมื่อพระองค์ตรัสรู้
เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงประกาศพระศาสนา
อยู่ประเทศอินเดีย ไม่ได้เสด็จมาสั่งสอน
ถึงประเทศสยามเรา
จะเล่าให้ฟังตามศาสนประวัติ
เมื่อพระองค์เสด็จนิพพานแล้ว ในระหว่าง ๒๐๐
ปีเศษ
ในครั้งพระพุทธเจ้าของรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
ณ เมืองปาฏลีบุตร ได้พระโมคคัลลีบุตร
เป็นพระมหาสังฆนายก ยกตติยสังคายนาเสร็จแล้ว
พระเถรเจ้าพิจารณาด้วยอนาคตังสญาณเห็นว่า
พระพุทธศาสนาจะไปรุ่งเรืองเจริญอยู่
ในปัจจันตประเทศ จึงได้แต่งให้พระเถระผู้แตกฉาน
ในพระธรรมวินัยพร้อม
ด้วยพระอันดับครบคณะอุปสมบทกรรม แยก
กันออกไปประกาศพุทธศาสนาเป็นหลายสาย
ในประเทศลังกาและประเทศสยามก็คราวเดียว
กัน
ในประเทศสยามเราปรากฏตามศาสนประวัติว่ามี ๒
สาย คือโยนกประเทศ ซึ่งนิยมกันว่าเมืองเชียงแสนสาย
๑ สุวรรณภูมิประเทศนิยมกันว่าเมืองท้าวอู่ทอง
อยู่ระหว่างนครปฐม กับกาญจนบุรีต่อกันสาย ๑
ถ้าหากเป็นความจริงตามศาสนประวัติ เราพึง
เข้าใจว่า พระเถรเจ้า
ทั้งหลายที่นำเอาพุทธศาสนามาประกาศนั้น ไม่
ใช่คนชาติสยามเรา คงเป็นคนชาติอินเดียนั้นเองเป็น
ผู้นำมา เหตุไฉนคนชาติสยามเรา มีพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นประมุขครั้งกระโน้น จึงได้รับเอาพุทธศาสนา
เข้าไว้ให้เป็นสมบัติของประเทศ ไม่พากันมี
ความรังเกียจ
ข้อนี้แหละพวกเราจะเห็นได้ว่า ท่านที่
เป็นบรรพบุรุษ เป็น
ผู้เฉลียวฉลาดเฉียบแหลมนัก พึงเห็นดังนี้ พระสงฆ์
ผู้นำพระศาสนามาสู่ประเทศนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็น
สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดีแล้ว อุชุปฏิปนฺโน เป็น
ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว คือปฏิบัติดี
ด้วยกายวาจาใจตรงกายวาจาใจ คือดีต่อไตรสิกขา
ตรงต่อไตรสิกขา ญาญปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อ
จะรู้ของจริง สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติน่าไหว้น่ากราบ
และเป็นผู้แสดงตนไม่เกี่ยวกับชาติขาดจากนามสกุล
เป็นอริโย ผู้ไม่มีข้าศึก คือไม่ทำตนให้เป็นข้าศึกแก่ตน
และการที่นำพุทธศาสนามามอบให้นี้ ให้
ผู้รับมีอิสระ มีกรรมสิทธิ์ คือเมื่อตนตายแล้วก็ไม่
ต้องให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นคน
ในชาติของตนมารักษาอิสระรักษากรรมสิทธิ์
ส่วนพระพุทธโอวาทศาสนาที่นำมานั้น ก็ล้วนแต่
เป็นของดีของจริง นำผู้ปฏิบัติให้ได้รับความสุข
ความสำราญเป็นผล
ผู้นำพุทธศาสนามาสู่ชาตินั้น
เปรียบเหมือนนำเอาแก้วสารพัดนึกมามอบให้
คือว่าเมื่อท่านมาประกาศพระพุทธศาสนา
ให้บรรพบุรุษของพวกเราเกิดความเลื่อมใส
รับปฏิบัติตามแล้ว ก็เร่งรีบสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา
ให้ยินดีในทานศีลภาวนา ให้มีพระไตรสรณคมน์
เป็นที่พึ่งตามสมควรแก่อุปนิสัย
ส่วนกุลบุตรผู้ยังหนุ่มยังน้อย ก็แนะนำ
ให้มีศรัทธาบวชเป็นสามเณรและเป็นภิกษุ
ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม
ให้แตกฉานชำนิชำนาญในธรรมวินัย ให้ฉลาด
ในการเทศนาสั่งสอนบริษัท ให้เป็นผู้แทนตน
ได้ทุกประการ ครั้นท่านที่เป็นบุราณาจารย์เหล่า
นั้นถึงมรณภาพดับขันธ์แล้ว ลูกศิษย์ซึ่ง
เป็นชาวสยามก็รับมรดก
เป็นอิสระรักษากรรมสิทธิ์ต่อมาจนกาลทุกวันนี้
คนชาวสยามจึงชื่อว่า พุทธมามกะ ธรรมมามกะ
สังฆมามกะ แปลว่า ผู้ถือว่าพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์เป็นของของตน และเป็นทีพึ่งของตน
คือว่าตนเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 20:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัณฑ์ที่ ๕
อิทานิ ธมฺมสฺสวนทิวเส สนฺนิปติตาย ปริสาย
มาตาปิตุคุณกถํ ภาสิสฺสามิ ตํ สุณาถ สมาคตาติ.
..........ณ บัดนี้เป็นวันที่จักฟังพระธรรมเทศนา ท่าน
ทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทได้มาประชุมพร้อมกัน
แล้ว มีประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาอัน
เป็นพุทธโอวาทศาสนาคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะว่าการฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ย่อมมีประโยชน์ มีอานิสงส์เป็นอันมาก
อานิสงส์ที่จะพึงได้ในปัจจุบันทันด่วนนั้น ๕ ประการ
อสุตํ สุณาติ คือจะได้ยินได้ฟังข้ออัตถธรรมที่ตนยัง
ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ๑
สุตํ ปริโยทเปติ และจะยังข้ออัตถธรรมที่ตนเคย
ได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ให้ชำนิชำนาญแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า ๑
กงฺขํ วิตรติ จะตัดเสียซึ่งความสงสัยอันข้องอยู่
ในใจของตน ๑
สกจตฺตํ ปสีทติ จะย้อมจิตของตนให้เลื่อมใส
ในคุณพระรัตนตรัยเป็นต้น ๑
อตฺตโน จิตฺตํ อุชุ กโรติ จะกระทำจิตของตนให้เป็นคน
ซึ่งตรงต่อคุณทาน คุณศีล เป็นต้น ๑
อานิสงส์ ๕ ประการนี้จะบังเกิดขึ้นแก่
ผู้ตั้งใจฟังธรรมเทศนา เพราะเหตุ
นั้นการฟังธรรม ท่านจึงจัดว่าเป็นสวนานุตตริยะ
เป็นการฟังอันสูงสุด ไม่มีการฟังใด ๆ จะเสมอได้
ควรท่านทั้งหลายจะพากันตั้งอกตั้งใจฟัง
ให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ
..........บัดนี้จักได้แสดงคุณแห่งมารดาบิดา ซึ่ง
เป็นวัตถุอันควรเคารพเป็นประการที่ ๔ ต่อไป
มาตาปิตโร นาม ชื่อว่ามารดาบิดานี้ ย่อมเป็น
ผู้สมควรอันบุตรและธิดาจะพึงเคารพนอบนบนับถือ
และสักการบูชาอย่างยิ่ง คำที่ว่าบิดามารดานั้น
ให้แปลกลับหน้าเป็นหลังว่าพ่อแม่ คำที่ว่าบุตรธิดา
นั้นก็ให้แปลกลับหน้าเป็นหลังว่าลูกหญิงลูกชาย
..........บัดนี้จักพูดเป็นภาษาไทย ๆ ให้ฟังง่าย พ่อแม่
นั้นหมายผู้ก่อให้เกิด เมื่อเราอาศัยเกิดกับท่านผู้ใด ท่าน
ผู้นั้นแลชื่อว่าพ่อแม่
ธรรมดาพ่อแม่ย่อมรักลูกย่อมเลี้ยงลูก
ย่อมสั่งสอนลูก ย่อมบำรุงลูก ย่อมสงเคราะห์
ให้ลูกมีวิชาหาเลี้ยงชีพ ย่อมหาทรัพย์ให้แก่ลูก
ย่อมปลูกฝังตั้งแต่ง
ให้ลูกมีผัวมีเมียตามธรรมดาประเพณี
ในสมัยที่ควร ถึงคนอื่นไม่ใช่
ผู้ที่เราอาศัยเกิดแต่ทำคุณแก่เราดังที่กล่าวมานั้น
ก็นับเข้าในฐานะอันเป็นพ่อเป็นแม่เหมือนกัน
ข้อที่ท่านเกื้อกูลอุดหนุนทะนุบำรุงเลี้ยงดูเรามา จน
ให้เราเจริญเติบโตขึ้นมาได้
นั้นแหละชื่อว่าท่านทำคุณไว้แก่เรา ธรรมดาของผู้
เป็นลูกเมื่อได้รับการอนุเคราะห์เช่นนั้น
ก็ย่อมรักพ่อรักแม่เป็นการตอบแทน พ่อแม่
นั้นชื่อว่าบุพการีผู้ทำคุณก่อน ส่วนลูก
นั้นชื่อว่าปฏิการผู้กระทำคุณตอบแทน ณ ภายหลัง
การตอบแทนนั้นก็คือกระทำความเคารพต่อท่าน
ด้วยกายวาจาใจไม่ดูถูกดูหมิ่น ท่านประสงค์สิ่ง
ใดก็กระทำสิ่งนั้นให้สมความประสงค์
นั้นแหละชื่อว่าเคารพ บูชานั้นก็คล้ายกันกับเคารพ
ต่างกันมีอามิสและปฏิบัติ
อามิสนั้นเมื่อท่านจำนงวัตถุสิ่งใดเราหามา
ให้ตามปรารถนา ตลอดถึงให้ท่านได้ทำบุญ
ให้ทานรักษาศีล จนถึงท่านตาย
แล้วเราประกอบการกุศลอุทิศไปให้เป็นที่สุด
ก็ชื่อว่าบูชาพ่อแม่ด้วยอามิส
แต่การบูชาด้วยอามิสนั้นไม่เป็นสาธารณะ คือไม่
ทั่วไปแก่พ่อแม่
บางประเภทเหมือนอย่างพ่อแม่ที่ท่านบริบูรณ์
ด้วยโภคทรัพย์ เหมือนอย่างท่านเป็นเจ้าเป็นนาย
เป็นเศรษฐีคฤหบดี ผู้มั่งคั่งด้วยโภคสมบัติ ไม่สู้จะมี
ความประสงค์จะให้ลูกแสวงหาข้าวของเงินทองมา
ให้นัก ไม่เหมือนคนสามัญ
แต่ปฏิบัติบูชานั้นพ่อแม่มีความจำนงทั่วกัน คำที่ว่าปฏิบัติ
นั้น หมายความว่าประพฤติตามความประสงค์ของท่าน
ชื่อว่าปฏิบัติ เหมือนอย่างจำพวกที่ท่านมั่งมีบริบูรณ์
ก็มีความประสงค์ให้บุตรของตนมีวิชาศิลปศาสตร์
สามารถจะรับมรดกให้ตั้งมั่นสืบวงศ์สกุลต่อไป
ส่วนพวกคนสามัญที่พอตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ ก็มี
ความประสงค์จะให้ลูกมีวิชาศิลปศาสตร์
สามารถเลี้ยงตนให้เป็นสุข บำรุงวงศ์สกุลของตน
ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเหมือนกัน ข้อสำคัญ
ความจำนงของพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนประพฤติตน
เป็นคนดี ข้อนี้ดูเหมือนจะทั่วกันทั้งโลก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 20:54 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อเราผู้เป็นลูกรู้ความประสงค์ของพ่อแม่เช่นนั้น
เมื่อยังเด็กยังเยาว์พ่อแม่มีประสงค์จะ
ให้เล่าเรียนวิชาศิลปศาสตร์อย่างไร ก็
ให้ตั้งใจปฏิบัติตาม เมื่อเติบโตขึ้นแล้ว
พ่อแม่มีประสงค์จะให้เราทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยวิธี
ใดก็ให้ปฏิบัติตาม ให้ต้องตามความประสงค์ของท่าน
ด้วยวิธีนั้น การประพฤติตนให้ถูก
ต้องตามประสงค์ของท่านนั้นแหละ
ชื่อว่าปฏิบัติบูชาท่าน
และให้น้อมคุณทั้งสิ้นของพ่อแม่มารวม
อยู่ที่ตัวของเราเสมอไป คือให้เห็นว่าที่ตัวของเรามี
ความเจริญอยู่เดี๋ยวนี้ ก็
เพราะอุปการคุณที่พ่อแม่บำรุงมา
แม้ร่างกายของเรานี้ ก็เท่ากับแบ่งปันมาจากพ่อแม่
ส่วนตัวของเราก็มีแต่จิตวิญญาณ
ที่ท่านเรียกว่าปฏิสนธิจิตกับกุศลอกุศลเป็นผู้อุปถัมภ์
เท่านั้น
ส่วนร่างกายอันนี้เมื่อตั้งปฏิสนธิขึ้นแล้ว ก็อาศัยเนื้อ
และเลือดของแม่มาบำรุงร่างกายของตน จน
เป็นรูปเป็นร่างครบบริบูรณ์แล้ว
จึงคลอดออกมา จึงว่าเท่า
กับแบ่งเอาร่างกายของพ่อแม่มาเป็นร่างกายของตน
ถึงแม้คลอดออกมาแล้วเมื่อยังเป็นทารก
ยังกินของแข็งไม่ได้ ก็
ต้องดูดกินน้ำนมของแม่มาบำรุงร่างกายของตน
ถึงพ้นเขตดื่มน้ำนมแล้ว ในระหว่างยังหาเลี้ยงตนไม่
ได้จนถึงอายุ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ก็ยัง
ต้องอาศัยอาหารที่พ่อแม่หามาเลี้ยง คือเลี้ยงตนเอง
ยังไม่ได้
ถ้าตรองเห็นตามนัยที่ว่ามานี้ ต้อง
เข้าใจว่าร่างกายของเรานี้เนื่องมาจากพ่อแม่
หรือแบ่งมาจากพ่อแม่ก็ว่าได้ ถ้าเช่นนั้นก็ควรเห็น
ได้ว่าพ่อแม่มีในตัวของเราอยู่ทุกเมื่อ
ถึงแม้ว่าท่านล่วงลับดับสูญไปแต่ส่วนของท่าน
ส่วนที่แบ่งมาเป็นเราแล้ว ถ้าตัวของเรายังมี
อยู่ตราบใด ก็ชื่อว่าพ่อแม่ยังมีอยู่ที่เราเสมอไปตราบ
นั้น ถ้ารู้อย่างนี้การเคารพพ่อแม่ก็ไม่ลำบาก คือ
ให้ระวังรักษาตัวของเราเท่านั้น
การรักษาตัวคือรักษาสุจริตธรรม ประพฤติดี
ด้วยกายวาจาใจ ให้เป็นสุภาพบุรุษสุภาพสตรี
ตั้งหน้าทำมาหากินให้มั่งมีศรีสุข ให้ได้นามว่า
อภิชาตบุตร แปลว่าลูกดีเกินพ่อเกินแม่ คือมั่งมี
ทั้งลาภทั้งยศเกินพ่อเกินแม่
เป็นคนยินดีมีทานมีศีลยิ่งกว่าพ่อแม่
หรือสละกามสุขออกบวชบำรุงพระพุทธศาสนา
ได้ดีกว่าพ่อแม่เป็นต้น ชื่อว่าอภิชาตบุตร
เป็นบุตรชั้นสูง
ถ้าประพฤติตนให้เป็นบุตรชั้นสูงไม่ได้ ก็ให้ได้เพียง
อนุชาตบุตร แปลว่าลูกเสมอพ่อแม่ก็ยังดี ลูกที่
ได้นามว่าอนุชาตบุตรนั้น คือว่าพ่อแม่พามั่งมีเพียงใด
และมียศถาบรรดาศักดิ์เพียงใด มีทานมีศีลเพียงใด
มีคุณความดีเพียงใด ก็รักษาไว้ได้เสมอพ่อแม่ ชื่อว่า
อนุชาตบุตร
หรือว่าพ่อแม่แสวงหาทรัพย์มรดกไว้ให้ มี
ทั้งสังหาริมทรัพย์เคลื่อนที่ได้ ดังเครื่อง
ใช้สอยมีข้าวของเงินทองเป็นต้น อสังหาริมทรัพย์
ซึ่งเคลื่อนที่ไม่ได้ คือที่บ้านที่นาที่สวนเป็นต้น ก็รักษา
ไว้ได้ ทรัพย์ที่เป็นสังหาริมะเปรียบเหมือนเลือด
และเนื้อของพ่อแม่ ทรัพย์ที่
เป็นอสังหาริมะเปรียบเหมือนกระดูกของพ่อแม่
ถ้าลูกรักษาไว้ได้ทั้ง ๒ ประเภท
เป็นอนุชาตบุตรอย่างดี ถ้ารักษาสังหาริมะไว้ไม่ได้
คงรักษาไว้ได้แต่อสังหาริมะ ก็ยังนับว่า
เป็นอนุชาตบุตรอยู่นั้นแหละ แต่เป็นอย่างต่ำ
อีกจำพวก ๑ ชื่อว่า อวชาตบุตร
แปลว่าลูกอย่างต่ำอย่างเลว คือประพฤติตน
ให้เสมอพ่อแม่ไม่ได้ เป็นต้นว่าพ่อแม่มั่งมี ตัวเป็นคนจน
พ่อแม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ตัวหายศถาบรรดาศักดิ์
ไม่ได้ พ่อแม่ยินดีในทานในศีล ตัวหาทานศีลมิได้
ชื่อว่าอวชาตบุตร
หรือพ่อแม่หาทรัพย์มรดกไว้ให้ทั้งสังหาริมะ
และอสังหาริมะ ตัวรักษาไว้ไม่ได้
ส่วนสังหาริมทรัพย์ก็จับจ่ายใช้สอยเสียสิ้น
ชื่อว่ากินเนื้อกินเลือดของพ่อแม่จนหมด
ยังเหลือแต่กระดูกคืออสังหาริมทรัพย์ก็ยังดี
ถ้าลงซื้อจ่ายขายกิน
ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของพ่อแม่เสียสิ้น
ชื่อว่ากินจนชั้นกระดูกพ่อแม่ดังนี้
เป็นลูกอย่างต่ำอย่างเลวที่สุด ชื่อว่า อวชาตบุตร
เป็นบุตรชั้นต่ำ
..........ถ้าศึกษาตรวจตรองเห็นความชัดใจว่าพ่อแม่มี
อยู่ที่ตนของเราเสมอ อย่าประพฤติตนให้
เป็นอวชาตบุตร อย่าประพฤติตนให้
เป็นคนพาลเบียดเบียนฆ่าฟันท่านผู้อื่น
อย่าโลภลักฉกชิงสมบัติข้าวของของท่านผู้อื่น
อย่าลอบลักชู้และเมียท่านผู้อื่น อย่าหลอกลวง
ให้ท่านผู้อื่นเสียทรัพย์สินเงินทอง อย่าเป็นนักเลงขี้เมา
อย่ารับเป็นพยานโกง อย่าเป็นนักเลงเจ้าชู้ อย่า
เป็นนักเลงเล่นการพนัน อย่าเป็นคดี
ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล อย่าไปติดคุกติดตะราง
ให้คิดถึงพ่อแม่ที่อยู่กับตัว อย่าพาท่านไปทำความชั่ว ไม่
ใช่ชั่วแต่ตัวของเราพลอยทำให้พ่อแม่ได้รับ
ความอัปยศเสียหายด้วย คือว่าเราถูกเขาด่า
พ่อแม่ก็พลอยถูกด้วย เราถูกเข้าตีพ่อแม่ก็พลอยถูก
ด้วย เราถูกติดคุกติดตะรางพ่อแม่ก็พลอยติดด้วย
เราถูกประหารชีวิตพ่อแม่ก็พลอยถูกด้วย
เพราะเหตุว่าพ่อแม่มีอยู่ที่ตัวเราเสมอ
ถ้าผู้ใดเว้นความชั่วทั้งปวงเสีย ประพฤติตนให้เป็นคนดี
อยู่ทุกเมื่อ นั้นแหละชื่อว่าเคารพพ่อแม่ด้วยกาย
ด้วยวาจาด้วยใจ และได้ชื่อว่าบูชาพ่อแม่ของตน
ด้วยปฏิบัติบูชาอยู่ทุกเมื่อ จงตั้งใจรักษาตนให้
เป็นอภิชาตบุตรหรืออนุชาตบุตรอยู่ทุกเมื่อ ชื่อว่า
เป็นผู้ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที รู้จักคุณของท่าน
และกระทำปฏิการะตอบแทนคุณของท่าน
ผู้ประพฤติได้เช่นนั้น จะมีแต่ความเจริญและความสุข
ทั้งชาตินี้ชาติหน้า ดังแสดงมานี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 21:08 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัณฑ์ที่ ๖
(หนังสือเทศน์กัณฑ์นี้ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
วัดเจดีย์หลวง
แสดงแก่นักโทษในเรือนจำนครเชียงใหม่
ในวันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑)
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ .......... โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน .......... นาถํ ลภติ ทุลฺลภนฺติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันที่สูเจ้า
ทั้งหลายเคยฟังพระธรรมเทศนาโดยลำดับ
การฟังพระธรรมเทศนามีประโยชน์อย่างไร ท่าน
ผู้อำนวยการจึงได้ชักชวนให้ท่านทั้งหลายฟังอยู่บ่อยๆ
ข้อนี้ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า
การฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีประโยชน์สำหรับตัวของเรามากนัก
เหตุที่สูเจ้าทั้งหลายได้มาติดอยู่ในเรือนจำที่นี้ ก็
เพราะขาดความรู้
ในทางพระศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ขาดกัลยาณมิตร คือไม่ได้คบหากับท่านที่
เป็นนักปราชญ์แต่เดิมมา ความโง่นั้นแหละชักนำให้ทำ
ความผิด
ผู้ทำความผิดท่านเรียกว่าคนพาล คือคนปัญญาอ่อน
รักษาตัวให้พ้นจากทุกข์ภัยไม่ได้
ถ้าใครไปคบหาสมาคมกับด้วยคนเช่นนั้น
ท่านเรียกชื่อว่าคนพาล ถ้าคบกับด้วยคนพาลเช่น
นั้นก็มีแต่จะหาโทษหาความผิดมาใส่ตัว
จักนำตัวไปตกทุกข์ได้ยากได้รับความลำบาก
ไม่มีที่สิ้นสุด
สูเจ้าทั้งหลายที่ได้มาติดอยู่ในเรือนจำที่นี้
ด้วยกรรมอันเป็นบาป ๒ ประการ
คือกรรมเก่าประการหนึ่ง กรรม
ใหม่ประการหนึ่ง กรรมเก่านั้น
คือกรรมที่เราทำไว้แต่ก่อน
หรือแต่ชาติก่อนตามมาทัน เผอิญให้เขาใส่
ความปรักปรำทำโทษแก้ไม่หลุด ต้องได้มารับโทษ
กรรมใหม่นั้นคือตัวต้องทำความผิดขึ้นเองด้วยเจตนา
คือได้ทุบตีฆ่าฟันท่านผู้อื่น หรือ
ได้ฉ้อโกงแย่งชิงเอาฉกลักข้าวของของท่านผู้อื่น
หรือสิ่งใดที่ท่านมีพิกัดภาษีต้องห้าม ตัวรู้แล้วขืนทำ
แล้วได้รับโทษอย่างนี้ ชื่อว่ากรรมใหม่
เมื่อเราได้มารับโทษด้วยกรรมเก่าหรือกรรม
ใหม่ก็ตาม อย่าเสียใจ
ให้เห็นว่าเราเสวยผลของกรรมของเราเอง
อย่าเห็นไปว่าคนอื่นเขาหาโทษมาใส่ตัว
ให้ตั้งหน้ารับผลของกรรมนั้นไปกว่าจะสิ้นจะหมด
ให้เห็นว่าคุกตะรางโซ่ตรวนเขาไม่ได้ไปใส่เรา
ตัวของเราอยากมาหาเขาเอง มาเข้าโซ่เข้าตรวนเอง
คุกตะรางเขาตั้งอยู่ที่นี้ โซ่ตรวนเขาอยู่ที่นี้ ไม่
ได้ไปหาใคร เราเข้ามาหาเขาเอง
ถึงเจ้าพนักงานและผู้คุมเขาก็อยู่ที่นี้ เรามาหาเขาเอง
ถ้าใครมาตกอยู่ในที่นี้ เขาย่อมบังคับใช้สอยอย่างนี้
ถ้าเราพ้นออกไปจากที่นี้แล้ว เขาก็
ไม่ตามไปบังคับบัญชา เขามีอำนาจอยู่แต่ในที่นี้เท่านั้น
แม้เขาจะบังคับบัญชาดุด่าว่าร้ายประการใดก็ตาม
อย่าเสียใจ ให้ถือว่ากรรมของเราเอง
ให้ตั้งใจอดทนไปกว่าจะสิ้นกรรมสิ้นเวรของตน
ให้คิดอย่างนี้
การสูเจ้าทั้งหลายซึ่งมาติดอยู่ในเรือนจำนี้ โดยมาก
เป็นผู้ไม่ได้คบหาสมาคมกับด้วยนักปราชญ์ ไม่
ได้สดับรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
..........ความจริงพวกเราทั้งหลายเป็นคนชาวสยาม
คือเป็นคนไทยเป็นพุทธบริษัท
นับถือพระพุทธศาสนาสืบ ๆ
กันมาแต่บรรพบุรุษกาลล่วงไปได้ ๒,๐๐๐ ปีเศษ
แล้ว ผู้ที่เขาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
เข้าวัดฟังธรรมจำศีลภาวนาอยู่บ้าง เขาก็ได้รับ
ความสุข ถึงหากว่าเขารักษาได้เพียงแต่เป็นครั้ง
เป็นคราว เขาก็ยังมีความละอายต่อบาป
ให้คิดดูคนที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่นี้ตลอดทุกอำเภอ
มีคนจำนวนหลายแสน ผู้ที่ต้องมาติดอยู่ในเรือนจำนี้
เพียง ๔๐๐-๕๐๐ คนเท่านั้น คิดเฉลี่ยดูไม่ถึง ๑๐๐ ละ
๑ คน คิดดูโทษของเรือนจำนี้ก็มากไม่น่าจะยินดีเลย
คือว่าการกินการนอนการงานต่าง ๆ โดยที่สุดแต่
จะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็
ต้องถูกบังคับเสียทุกอย่างทุกประการ จะเอา
ความสุขมาแต่ไหน
ถ้าเราตั้งหน้าทำมาหากิน เป็นคนมีศีลมีสัตย์
เป็นปรกติอยู่กับบ้านกับเรือน การกินก็
เป็นสุขหามากินตามชอบใจ
นอนก็มีเสื่อสาดอาสนะมุ้งหมอนนอนอู้กันกับเมียสบาย
จะทำการงานอะไรก็เลือกทำได้ตามชอบใจแสนที่
จะมีความสุข
การที่เรามาติดอยู่นี้ตัวของเราก็แสนที่จักลำบาก
ถึงพ่อแม่พี่น้องลูกเมียของเรา ก็ต้องได้รับ
ความเดือดร้อนด้วยเหมือนกัน คือเดือดร้อนด้วยคิด
ถึงเราอย่างหนึ่ง เดือดร้อนด้วยขาด
ผู้พาทำมาหากินอีกอย่างหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าเราทำ
ความเดือดร้อนให้แก่ตัวเราคนเดียว ซ้ำให้
ความเดือดร้อนแล่นตลอดถึงพ่อแม่ลูกเมีย
และวงศ์ญาติ เป็นที่น่าสลดใจ
การที่พากันทำความผิดนี้ไม่ใช่เกิดจากข้ออื่น เกิด
จากข้อดูถูกดูหมิ่นตัวของตัวเอง เห็นว่าตัวของตัวจะพึ่งตัว
ไม่ได้ จึงต้องตั้งหน้าแต่พึ่งคนอื่นเขาร่ำไหนร่ำไป
คือว่าเห็น
เขามีข้าวของเงินทองเรือกสวนไร่นาวัวควายช้างม้า
พอไปแลเห็นของเขาเท่านั้น ก็เกิดความอิ่มใจเสีย
แล้วว่าเราไม่ต้องคิดหาไม่ต้องคิดทำ
คอยท่าแต่ลักขโมยฉ้อโกงเอามาเลี้ยงชีวิตเท่านั้นก็พอ
นั้นแหละชื่อว่าคิดพึ่งแต่คนอื่นเขา เห็นตัวของตัว
ไม่มีราคาค่างวดอะไร จึงได้เป็นคนขี้ลักขโมย
เป็นโจรขึ้น เพราะไม่ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
ขาดความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 21:17 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........
บัดนี้เราจักนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดง
ให้ฟังสักข้อหนึ่งอย่างตื้น ๆ พอฟังเข้าใจได้
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัทว่า อตฺตา หิ
อตฺตโน นาโถ แปลว่าตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตน โก หิ
นาโถ ปโร สิยา ก็คนอื่นใครจะเป็นที่พึ่งแก่ใครได้
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ด้วยว่าตนของตนที่ตนฝึกฝนทรมานดีแล้ว ย่อม
ได้ที่พึ่งอันผู้อื่นได้ด้วยยากดังนี้
..........อธิบายว่าตนต้องพึ่งตน จะพึ่งแต่คนอื่นไม่ได้
คือว่าถ้าเราเป็นคนประพฤติไม่ดีแล้ว
จะพึ่งพ่อแม่พี่น้องลูกเมีย พึ่งเจ้าหรือพึ่งนายไม่
ได้เลย ให้ดูตัวสูเจ้าทั้งหลายเป็นตัวอย่าง
เมื่อมาติดคุกได้ยากอย่างนี้ ใครเขาจะตามมา
เป็นที่พึ่งแก่เราได้
คำที่ว่าตัวว่าตนนั้นก็หมายเอาร่างกายจิตใจที่เราอาศัย
อยู่นี้เอง คือว่า รวมทั้ง ตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ
อวัยวะ ศีรษะ มือ เท้า ทั้งก้อนนี้แหละชื่อว่าตัวตน
อย่าไปกังวลกับด้วยอนัตตา เพราะอนัตตา
เป็นทางวิปัสสนาญาณ ยกได้แก่ท่านผู้เจริญวิปัสสนา
ที่ว่าพึ่งตนก็คือให้พึ่งตา พึ่งหู พึ่งจมูก พึ่งปาก พึ่งลิ้น
พึ่งมือ พึ่งเท้า พึ่งใจ ของเรานี้แหละ คือให้เห็นว่าตา หู
เป็นต้น ซึ่งเป็นของมีอยู่สำหรับตัวของเรานี้ ล้วนแต่
เป็นสมบัติอันประเสริฐของเรา คือ
เป็นแก้วสารพัดนึกแต่ละอย่าง ๆ พึงคิดดูให้เห็นจริง
เรามีตาไว้นึกอยากดูอะไรก็ดูได้ เรามีหู
ไว้นึกอยากฟังเสียงอะไรก็ได้ เรามีจมูก
ไว้สำหรับระบายลมหายใจเข้าออกได้ตามประสงค์
เรามีปากมีลิ้น
ไว้สำหรับพูดจาสั่งเสียการงานอะไรก็ได้
สำหรับเล่าเรียนวิชาศิลปศาสตร์อะไรก็ได้
สำหรับบริโภคอาหารและรู้รสดีชั่ว
ได้ทุกประการ เรามีมือเท้าทั้ง ๒ ไว้สำหรับ
ใช้ทำกิจการงานอะไรได้ทุกประการ เรามีเท้าทั้ง
๒ ไว้สำหรับใช้ไปทางใดก็ได้ตามความปรารถนา จะ
ให้ช้าให้เร็วให้วิ่งให้เต้นอย่างไรก็ได้ เรามีใจ
ไว้สำหรับคิด เราอาจจักคิดดีคิดชั่วได้ตามประสงค์
สมบัติในตัวของเราที่ยกขึ้นมาแสดงให้ฟังนี้ ล้วนแต่
เป็นแก้วสารพัดนึกทั้งนั้น คือเรานึกใช้สิ่งใด สิ่ง
นั้นย่อมทำประโยชน์ตามหน้าที่ของตนให้สำเร็จ
ได้ทุกประการ จึงชื่อว่าเรามีแก้วสารพัดนึกอยู่ในตัว
ผู้ที่เขารู้ว่าของดีมีในตัวอย่างนี้ เขาย่อมใช้
ให้ทำการงานให้เหมาะตามหน้าที่
เป็นต้นว่าทำนาทำสวนทำการค้าขาย
และทำราชการงานเมือง จนสำเร็จ
เป็นคนมั่งมีศรีสุข เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี
เป็นพ่อค้านายห้าง เป็นขุนนาง ล้วนแต่เขา
ใช้แก้วสารพัดนึกในตัวนี้เอง เพราะเขาเห็นว่าเป็นที่พึ่ง
ได้ เขาใช้ถูกต้องตามทางอันชอบธรรม
เขาก็รุ่มรวยขึ้น เป็นที่พึ่งได้จริงเท่านั้นเอง
ส่วนคนที่ตาเสียหูเสียนั้น เขาทำนาทำสวนและค้าขาย
กันอย่างไร เขาพากันเข้าวัดฟังธรรมให้ทาน
รักษาศีลเจริญภาวนากันอย่างไรไม่เห็น เพราะตา
ในมันเสีย ที่ว่าหูเสียนั้นเขายกย่องคนประพฤติอย่างไร
เขาติเตียนคนประพฤติอย่างไร คุณพ่อคุณแม่
คุณครูบาอาจารย์ คุณพระเจ้าแผ่นดิน มี
อยู่แก่ตัวอย่างไร คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม
คุณพระสงฆ์ คุณทาน คุณศีลเป็นอย่างไร เขาพูดกัน
อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ตัวก็ไม่ได้ยินทั้งสิ้น เพราะหู
ในมันเสีย
จะว่าหูหนวกก็ได้ เพราะเสียงที่ดีไม่ได้ยิน จน
ไม่รู้จักว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย มือ เท้า
และใจของตนมีคุณมีประโยชน์แก่ตนอย่างไร
เพราะความโง่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นเอง จึง
ใช้ของวิเศษเหล่านั้นในทางที่ผิด จนกลับเป็นโทษ
เป็นข้าศึกศัตรูแก่ตนจนได้รับความลำบากยากแค้น
ถึงเพียงนี้ น่าเศร้าใจยิ่งนัก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 21:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าเราเป็นคนฉลาดรู้จักผิดรู้จักถูก
รู้จักดีรู้จักชั่วบ้าง ก็คงไม่เป็นอย่างนี้
ถ้ารู้จักว่าคุณพ่อคุณแม่มีอยู่ที่ตัวของเรา คือเรา
เป็นลูกมีพ่อมีแม่ ร่างกายอันนี้พ่อแม่บำรุงเลี้ยงดูมา
ร่างกายอันนี้เท่ากับแบ่งภาคมาจากพ่อแม่ คุณพ่อแม่
จึงชื่อว่ามีอยู่กับตัวเราเสมอ เราตกทุกข์ได้ยากก็เท่า
กับพ่อแม่ของตนได้เสื่อมเสียเกียรติยศไปด้วย
ถึงคุณแห่งครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน
ธรรมดาเกิดมาเป็นคน ต้องมีครูบาอาจารย์ทุกคน
เมื่อเราได้รับความรู้ความฉลาด
ในวิชาศิลปศาสตร์สิ่งใดก็ตาม แต่สำนักท่านผู้ใด ท่าน
ผู้นั้นแหละชื่อว่า เป็นครูบาอาจารย์ วิชาที่ท่านสอน
ให้นั้นย่อมอยู่กับตัวเราเสมอ ถ้าเราไปตกทุกข์ได้ยาก
ก็เท่ากับพาครูบาอาจารย์ไปเสื่อมเสียเกียรติยศไป
ด้วยเหมือนกัน
แม้คุณแห่งพระเจ้าแผ่นดินก็มีอยู่แก่เราเสมอ
คือว่าพ่อแม่ของเรา ลูกเมียของเรา
ทรัพย์สมบัติของเราก็อยู่ในความอารักขา คืออยู่ใน
ความปกครองของพระเจ้าแผ่นดินทุกประการ
พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระนามว่าเจ้าชีวิต ถ้าเราทำ
ความชั่วเสียหาย ก็เป็นเหตุ
ให้เสื่อมเสียพระราชเกียรติยศเหมือนกัน ถ้าเราทำ
ความดีตั้งหน้าทำมาหากินโดยชอบธรรมก็
เป็นพลเมืองดี ชื่อว่าได้เชิดชูพระราชเกียรติยศ
และได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวที
ฉลองพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัวของตน
การประพฤติให้ตนเป็นคนดีอย่างเดียวเท่านั้น
เป็นคนชื่อว่าได้สนองคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ตลอด
ถึงพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ได้สนองคุณของท่านผู้มีคุณเช่น
นั้น จะได้รับแต่ความสุขและจะมีแต่
ความเจริญตลอดชีวิต นับว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมา
เป็นมนุษย์
..........เบื้องหน้าต่อแต่นี้ไปให้พา
กันตั้งใจพึ่งตนของตนตามพุทธโอวาทที่ว่า อตฺตา หิ
อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ถ้าตนไม่
เป็นคนดีพึ่งใครไม่ได้ ส่วนความผิดที่ตนทำมาแล้ว
เพราะอาศัยความโง่ความเขลาก็แล้วไป ให้พา
กันตั้งอกตั้งใจรับผลของกรรมนั้นไป อย่ามี
ความน้อยใจเสียใจ ธรรมดา
เป็นปุถุชนย่อมมีผิดบ้างถูกบ้างอย่างนั้นเอง
เมื่อเราได้มาติดอยู่ในที่คอกที่ขังอย่างนี้ ก็ให้ค้นหา
ความสุขอยู่ในที่ ความสุขอยู่ในใจของเราเองแต่งไว้
ให้คิดเสียว่าเราเสวยผลของกรรมที่เราทำมาเอง
ส่วนระเบียบการงานของเรือนจำมีอยู่อย่างไร ก็
ให้ตั้งใจปฏิบัติตาม อย่าแสดง
ความกระด้างกระเดื่องอวดดิบอวดดี
คิดต่อสู้ขัดขืนต่อเจ้าพนักงาน ให้เห็นว่าตนเป็น
ผู้หมดอำนาจ สุดแต่เจ้าหน้าที่ท่านจะบังคับ
ใช้สอยอย่างไรก็ตั้งหน้าทำตาม อาจจัก
เป็นวิชาสำหรับตัวของเราต่อไปก็ได้ ทำ
ให้ถูกใจของเจ้าพนักงานที่ท่านทำการตามหน้าที่ ให้
ได้รับความเมตตากรุณาในสำนักของท่านผู้
อื่นมีอำนาจเหมือนตน ข้อสำคัญก็คือให้มีความเพียร
ความหมั่นเท่านั้น ก็จักได้รับ
ความสุขตามสมควรแก่ภูมิประเทศ
ความจริงคนที่เกิดมาในโลกก็เท่ากับติดคุกด้วย
กันหมด เท่ากับมีโทษถึงตายด้วยกันหมด
เป็นแต่ว่าวงกว้างและวงแคบกว่ากันนิดหน่อยเท่านั้น
ใครจักออกจากโลกไปได้ ใครจักเป็นคนไม่ตาย
ย่อมจักตายด้วยกันหมดทั่วโลก แต่ว่าคุก
ใหญ่วงกว้างหน่อย ส่วนคุกน้อยที่พวกสูเจ้าพากันมาติด
อยู่นี้วงแคบ แต่ก็ยังมีดีบางส่วน คือ
ยังมีกำหนดเวลาที่จักหลุดพ้นออกไปได้
ให้พึงเข้าใจว่ากรรมกรสำหรับเรือนจำนี้ หากเป็น
อยู่อย่างนี้ก่อนแต่เรายังไม่เข้ามา เขาก็ทำกันอยู่อย่างนี้
เมื่อเราเข้ามาอยู่เขาก็ทำกันอยู่อย่างนี้
เบื้องหน้าแต่เราออกไปแล้วเขาก็จักทำกันอยู่อย่างนี้
ไม่มีที่สิ้นสุด ความสุขและความทุกข์อยู่ที่ใจ ต้นแห่ง
ความสุขอยู่ที่ความพอ คือทำความพอในสิ่งที่ได้ที่มีเท่า
นั้น ต้นแห่งความทุกข์อยู่ที่ความไม่พอ คือทำตนให้
เป็นคนจนอยู่เสมอ
บุญและบาปก็อยู่ที่ใจ ต้นแห่งบุญอยู่ที่ความไม่โลภ
ไม่โกรธ ไม่หลง ต้นแห่งบาป อยู่ที่ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ตัวของเราอยู่ที่ไหน ความสุข
และความทุกข์ก็อยู่ที่นั่น ตัวของเราอยู่ที่ไหน บุญ
และบาปก็อยู่ที่นั่น ให้เป็นคนมีความสุขไว้ดีกว่าคนที่มี
ความทุกข์ ให้เป็นคนมีบุญไว้ ดีกว่าเป็นคนมีบาป
ท่านทั้งหลายเมื่อเข้าใจตามที่แสดงมานี้
พึงตั้งใจรับปฏิบัติตาม ก็จักได้รับผลอันงามคือ
ความสุขความสำราญ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า
ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 21:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กัณฑ์ที่ ๗
แสดงคุณแห่งอาจารย์
อิทานิ ธมฺมสฺสวนทิวเส สนฺนิปติตาย ปริสาย
อาจริยสฺส
คุณํ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามิ ตํ สุณาถ สมาคตาติ.
..........ณ บัดนี้ เป็นวันอันบริษัทมาสันนิบาตเพื่อ
จะฟังพระธรรมเทศนาตามเคย
จักแสดงอาจริยคุณสืบมาเป็นลำดับไป ท่าน
ทั้งหลายที่ได้มายังสมาคม ณ ที่นี้ จงพากันตั้งใจฟัง
ซึ่งอาจริยคุณตามนัยที่จักแสดงไปนั้น
ให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ เถิด
ด้วยการฟังพระธรรมเทศนาโดยความตั้งใจ
ย่อมทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จได้ คือได้ความรู้
ความฉลาดในข้ออัตถธรรมนั้นแหละ
ชื่อว่าสำเร็จประโยชน์ในการฟัง
อย่าฟังเอาแต่บุญอย่างเดียว
เหมือนยายเฒ่าตาแก่บางพวก
ให้ตั้งใจฟังจำเอาข้ออัตถธรรมให้
เป็นคนฉลาดขึ้นตามลำดับ จึงจะนับว่าได้ประโยชน์
ในการฟังพระธรรมเทศนา
บัดนี้จักแสดงคุณแห่งอาจารย์ ซึ่งเป็น
ส่วนที่ควรเคารพไว้เป็นหลักฐาน อาจริโย นาม
ชื่อว่าอาจารย์เป็นของควรที่กุลบุตรจะพึงเข้าใจไว้
เพราะเป็นวัตถุที่ควรเคารพประเภทหนึ่ง
ด้วยว่าธรรมดาคนเราที่เกิดมา
ต้องศึกษาเล่าเรียนวิชาศิลปศาสตร์
ไว้สำหรับตัวทุกคน
วิชานั้นสำหรับรู้ด้วยใจ จำทรงไว้ด้วยใจ
ดังบาทบทกฎหมายเป็นตัวอย่าง ศิลปศาสตร์
นั้นหมายหัตถกรรมการงานที่ทำด้วยมือของตนได้
ดังช่างวาดเขียนเป็นตัวอย่าง เป็นวิชาด้วย เป็นศิลปะ
ด้วย จึงรวมกันเรียกว่าวิชาศิลปศาสตร์ คือ
เป็นเครื่องมือสำหรับหาเลี้ยงชีพให้เป็นสุขสืบไป
ถ้าเกิดมาเป็นคนเหมือนเขา แต่ไม่
ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไร
หาวิชาศิลปศาสตร์สำหรับตัวไม่ได้ ก็
เป็นคนลังเลหาที่พึ่งในตัวไม่ได้ ต้อง
ได้รับการงานอันหนักมีลากเข็นแบกหามเป็นต้น
เป็นการหาเลี้ยงชีพด้วย
ความลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก
ถ้ามีวิชาศิลปศาสตร์อาจจักหาเลี้ยงชีพ
ด้วยการงานอันเบา ได้รับความสุขสบายมากกว่ากัน
เพราะเหตุนั้นต้องเรียนวิชาศิลปศาสตร์
ไว้สำหรับตัว
ผู้ที่สอนวิชาศิลปศาสตร์ให้
นั้นแหละชื่อว่าครูบาอาจารย์
มีมากประเภทแจกออกไปตามวิชา สอนหนังสือ
สอนเลข สอนลูกคิด สอนหัตถกรรมต่าง ๆ
สอนอัตถธรรม สุดแท้แต่เป็นผู้สอนวิชาประเภทใด
ให้ ก็เรียกว่าครูบาอาจารย์ตามประเภทวิชานั้น ๆ
ทำไมพ่อแม่ก็เป็นผู้มีวิชาศิลปศาสตร์อยู่ด้วยกันทุกคน
แล้ว จึงไม่สั่งสอนวิชาให้แก่ลูกของตนเสียทีเดียว
ข้อนี้พึงเข้าใจว่า ผู้เป็นพ่อเป็นแม่หนักอยู่
ในการทำมาหากิน การทำมาหากินได้แก่วิชาบางอย่าง
เหมือนอย่างทำนาก็ตั้งหน้าทำแต่นา ถ้าสอนลูกก็
ได้แต่สอนให้ทำนาเท่านั้น วิชาอื่น ๆ ที่จักพึงรู้มีหนังสือ
และเลขเป็นต้น ก็สอนให้ไม่ได้ เพราะเวลาไม่พอ
เหตุนั้นจึงต้องยอมเสียเงินให้เป็นกำลังแก่ครู เขาจะ
ได้ตั้งหน้าสอนวิชานั้น ๆ ให้แก่ลูกศิษย์ได้เต็มความ
สามารถ ให้พึงเข้าใจความไว้อย่างนี้
ยิ่งสมัยบ้านเมืองกำลังเจริญอย่างทุกวันนี้ คนหนึ่ง ๆ
ต้องการรู้วิชาหลาย ๆ อย่าง เพื่อจะได้เลือกใช้
ให้เหมาะแก่กาลเทศะ
และให้รู้ว่าวิชาศิลปศาสตร์อันใดที่เราเล่าเรียน
ได้แล้วแต่สำนักของท่านผู้ใด วิชาของท่านผู้นั้นก็อยู่
กับตัวเรา เท่ากับแบ่งภาคออกมาจากครูบาอาจารย์
จึงชื่อว่าครูบาอาจารย์อยู่กับเราเสมอ ไป
กับเราเสมอ เท่ากับว่าครูบาอาจารย์ตามไปช่วย
และตักเตือนเราอยู่ทุกเมื่อ
พึงรู้ว่าคุณครูบาอาจารย์มีอยู่ที่ตัวเรา
ด้วยเหตุอย่างนี้
การเคารพครูบาอาจารย์ ข้อสำคัญก็คือ
ให้ประพฤติตนให้เป็นคนดี ให้พึ่งวิชาศิลปะนั้น ๆ
เป็นอาชีพ ก็เป็นการแสดงตนว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที
คือรู้จักคุณ
และกระทำปฏิการะตอบแทนคุณของครูบาอาจารย์
บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกตัญญูกตเวทีเช่นนั้น ย่อมจัก
ได้รับแต่ความสรรเสริญ และจะมีความสุข
ความสำราญความเย็นใจเป็นผลอยู่ทุกเมื่อ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 22:10 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........การเคารพจึงแบ่งเป็น ๒ ประการ
ประการหนึ่ง ให้เคารพต่อตัวของครูบาอาจารย์
คือการแสดงตนเป็นคนอ่อนน้อม กราบไหว้
และบูชาท่านด้วยอามิสตามสมัยที่ควรบูชา
และรับปฏิบัติในสมัยที่ควรปฏิบัติ ให้เชื้อเชิญ
ให้ไปมาหาสู่ในสมัยที่ควรไปมาหาสู่ ประพฤติตนอย่างนี้
เป็นประการที่หนึ่ง
ประการที่ ๒ นั้นคือให้รักษาตนให้เป็นคนดี ให้
เป็นคนสมบูรณ์ ด้วยลาภและยศ
คือตั้งใจทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตธรรม ให้
ต้องตามประสงค์ของท่าน ก็ได้ชื่อว่าแสดงตนเป็นคนตั้ง
อยู่ในกตัญญูกตเวทีเหมือนกัน เป็นประการที่ ๒ อย่า
เป็นคนกระด้างกระเดื่อง
ลบหลู่ครูบาอาจารย์เรา
เคย
ได้ยินคนสันดานหยาบเลวทรามพูดลบหลู่ครูบาอาจารย์
เขาพูดว่าจะเคารพทำไมกับครูผู้สอนวิชา
ให้อย่างทุกวันนี้ การสอนก็เป็นอาชีพของเขา คือว่า
เขาสอนเอาเงินเดือนต่างหาก ส่วนเราเรียนวิชาจาก
เขา ก็เท่ากับเอาเงินพ่อแม่ไปซื้อวิชากับเขาเท่านั้น
ได้ทำการแลกเปลี่ยนซื้อหากันเสร็จแล้วจะ
ต้องเคารพยำเกรงอะไรกันอีก เขาพูดอย่างนี้ คน
ผู้พูดอย่างนี้แหละชื่อว่าคนลบหลู่ครูบาอาจารย์
เป็นคนอกตัญญูเป็นบาปอันหนัก จะทำมาหากินไม่ขึ้น
ให้พากันรู้ไว้ ธรรมดาว่าสรรพวิชาในโลก
ท่านแสดงไว้ว่า เป็น มหคฺฆา มีค่ามากบ้าง อนคฺฆา
มีค่าอันบุคคลไม่พึงนับได้บ้าง คือวิชา
ทั้งปวงที่เราเรียนได้แล้วย่อม
เป็นอาภรณ์เครื่องประดับสำหรับตัวเราตลอดวันตาย
เงินที่เราได้จากพ่อแม่นำไปให้แก่ครูนั้น
เป็นแต่เพียงเครื่องบูชาเท่านั้น หาใช่ค่าจ้างไม่ ถ้าครู
ไม่ได้ค่าบำรุงเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ ครู
จะมานั่งสอนวิชาให้แก่ศิษย์ได้ด้วยเหตุอย่างไร
ถ้าเราเป็นคนลบหลู่ครูบาอาจารย์เช่นนั้น
วิชาที่ตนได้ไปนั้นจะเป็นอัปมงคล จะเป็นข้าศึกแก่ตน
จะทำมาหากินด้วยวิชานั้นไม่ขึ้น ธรรมดาบุคคล
ผู้มักลบหลู่คุณของท่านที่มีคุณแก่ตน มักเป็นคนขี้อวด
มักยกตนข่มท่าน มักเห็นตนเป็นคนดีวิเศษยิ่งกว่าคน
ทั้งโลก แม้ใครจะตักเตือนแนะนำอย่างไรก็มัก
ไม่ทำตาม ชอบอวดฝีปากเสมอ
ดังนิทานของโบราณท่านเล่าไว้สืบกันมาว่า
..........ในอดีตกาล ยังมีเต่าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่
ในหนองกลางป่าไกลแม่น้ำลำคลอง
สมัยหนึ่งเกิดแล้งจัดฝนขาดหลายเดือน น้ำในหนอง
นั้นแห้ง เต่าตัว
นั้นอดน้ำอดอาหารทนทุกขเวทนาแสนสาหัส
วันหนึ่งมีหงส์ ๒ ตัว บินผ่านมาในที่นั้น เต่า
จึงร้องอ้อนวอนขอความกรุณาให้หงส์ทั้ง ๒ ช่วยชีวิต
นำตนไปสู่ที่มีน้ำ
หงส์ทั้ง ๒ เกิดความสงสารเห็นว่า
เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
และเห็นว่าพอมีอุบายที่จักช่วยได้
จึงรับอาสาว่าเราจักช่วยได้ แต่เราจะสอนวิชา
ให้ท่านต้องทำตาม หงส์นั้น
จึงไปหาเอาไม้มาท่อนหนึ่งพอเหมาะแล้วสอนว่า
แน่ะสหาย ท่านจงคาบกลางท่อนไม้นี้ เราทั้ง ๒
จะคาบคนละข้างหามท่านไป
แต่ท่านจงระมัดระวังตัวคาบให้มั่น แม้จัก
ได้ยินเสียงอะไรก็อย่าเอาใจใส่ เต่ารับคำแล้ว
คาบกลางท่อนไม้ หงส์ทั้ง ๒
ก็คาบคนละข้างหามเต่าตัวนั้นบินไปบนอากาศ
บินผ่านพระนครตำบลหนึ่ง คนในพระนคร
นั้นแลเห็นหงส์หามเต่า
เป็นของประหลาดต่างก็ร้องบอกกันต่อ ๆ
ไปว่าดูหงส์หามเต่า ๆ เต่าเป็นสัตว์อกตัญญู เมื่อได้ยิน
เขาร้องบอกกันเช่นนั้นอดรนทนไม่ไหว อ้าปากขึ้น
จะร้องตอบชาวเมืองว่าเราหามหงส์ต่างหาก หา
ใช่หงส์หามเราไม่ จะร้องบอกเขาเท่านั้นแหละ
แต่พออ้าปากก็พลัดตกลงมาเหนือแผ่นดิน
ด้วยกำลังที่สูง กระดองแตกตายอยู่กับที่
ชักนิทานมาแสดงให้เห็นว่าเต่าเป็นสัตว์อกตัญญู
ไม่รู้คุณของหงส์ เขาสอนวิชาให้ว่าคาบกลางไม้ให้มั่น
ได้ยินเสียงอะไรก็อย่าเอาใจใส่ดังนี้ ครั้น
ได้ยินเสียงชาวเมืองเขาร้องเซ็งแซ่ว่าหงส์หามเต่าเท่า
นั้น อดพูดอวดตัวไม่ได้จึงถึงแก่ความตาย
เพราะปากของตัวเอง การลบหลู่คุณของท่าน
ผู้มีคุณ ย่อมได้รับโทษดังแสดงมานี้
ผู้ที่ท่านเป็นบัณฑิต
ผู้ฉลาดท่านย่อมเคารพครูบาอาจารย์ยิ่งนัก
เหมือนอย่างพระสารีบุตรอัครสาวก ผู้เลิศ
ด้วยปัญญาในพระพุทธศาสนา ท่าน
ได้ฟังธรรมแสดงอริยสัจ
โดยย่อแต่สำนักพระอัสสชิในพวกเบญจวัคคีย์ ท่าน
ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ภายหลังท่าน
ได้สดับพระธรรมเทศนา
ในสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้สำเร็จพระอรหัตต์ สาวกบารมีภูมิ เป็นที่ ๒
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แต่ถึงอย่างนั้น
ถ้าท่านทราบว่าพระอัสสชิอาจารย์เดิมของท่าน
อยู่ทิศไหน ท่านนอนผินศีรษะไปทิศนั้น จนมี
ผู้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระสารีบุตรนอนไม่
เป็นปรกติผินศีรษะไปสู่ทิศต่าง ๆ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประกาศคุณงาม
ความดีของพระสารีบุตรว่า พระสารีบุตร
เป็นบัณฑิต ประกอบด้วยกตัญญูกตเวทียิ่งนัก
ท่านถือว่าพระอัสสชิเป็นบุพพาจารย์ของท่าน
เมื่อท่านทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทิศใด
เมื่อนอนก็ผินศีรษะไปทิศนั้นดังนี้
..........ความจริงครูบาอาจารย์ก็ไม่ต่าง
กับพ่อแม่สักปานใด พ่อแม่เป็นผู้อุปถัมภ์ก็เลี้ยงดู
และสอนจรรยาในเบื้องต้นให้รู้ภาษาโลกนิยม
ท่านจึงขนานนามว่าบุพพาจารย์
ส่วนครูบาอาจารย์ที่เราอาศัยเรียนวิชาศิลปศาสตร์
นั้น เป็นอาจารย์ภายหลัง
แต่ว่าเป็นธรรมดาของผู้เป็นครูบาอาจารย์ ย่อมเป็น
ผู้ตั้งใจสอนลูกศิษย์อย่างเต็มเปี่ยม
ด้วยเมตตากรุณาหวังแก่ลูกศิษย์ สอน
ทั้งกิริยามารยาท สอนทั้งศิลปศาสตร์ เท่ากับท่าน
ให้ทรัพย์อันนับค่ามิได้แก่เรา ถ้าเรา
ได้ครูบาอาจารย์ที่ดีก็เท่ากับเราได้นายเรือ
ผู้ฉลาด อาจจักนำเรือคืออัตภาพของเราให้พ้น
จากที่อันกันดาร คือทุกข์โศกโรคภัยยากจนข้นแ
ค้นเสียได้ ให้เราได้บรรลุสภาพที่ตนเกษมสำราญ
ให้เราได้รับความเบิกบานด้วยลาภยศ
เพราะเหตุนั้นครูบาอาจารย์จึงนับว่า
เป็นสถานที่ควรเคารพของสานุศิษย์โดยแท้ ท่าน
ทั้งหลายผู้หวังประโยชน์และความสุข
พึงตั้งใจเคารพครูบาอาจารย์ของตนตามนัยที่แสดงมานี้
ก็จักได้รับความสุขความสำราญ
ตามอาการที่ตนปรารถนา ดังพรรณนามา
ด้วยประการฉะนี้.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร