วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 15:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 15:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อาทิตตปริยายสูตร

อิทานิ อฏฺฐมีทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ
ธมฺมีกถา กถิยเต อิโต ปรํ สพฺพํ ภิกฺขเว
อาทิตฺตนฺติอาทิกํ อาทิตฺตปริยายสุตฺตํ
ภาสิสฺสามีติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ
สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ.
..........ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ
แห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้มาสันนิบาต เพื่อ
จะสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เมื่อได้พร้อม
กันกระทำบุพกิจในเบื้องต้นสำเร็จแล้ว
บัดนี้พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา อัน
เป็นโอวาทานุสาสนีคำสั่งสอนของพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ให้สำเร็จประโยชน์ของตน ๆ
พึงเห็นผลที่เราได้ประสบมงคล ๒ ประการ
ตามพุทธบริหารในมงคลสูตรว่า “ปฏิรูปเทสวาโส จ
ปุพฺเพ จ กติปุญฺญตา” ดังนี้ มงคลทั้ง ๒ ประเภทนี้
เป็นของมาด้วยบุญ ได้มาเอง นับว่า
เป็นลาภอันสำคัญอันเราได้แล้ว
ในมงคลที่ ๑ ซึ่งว่าได้เกิดหรือได้อยู่ในปฏิรูปเทสนั้น
จะอธิบายตามนัยมงคลทีปนก็ยืดยาวมาก
ท่านอ้างมัชฌิมประเทศหรือประเทศที่มีพุทธศาสนา
ความจริงจะเป็นประเทศใด ๆ ก็ตาม ก็คงมีมงคล
และอัปมงคลปนกันอยู่ทุกประเทศ
โดยที่สุดแต่ประเทศน้อย ๆ
คือร่างกายของมนุษย์เรานี้ ก็ยังเป็นมงคลบ้าง
อัปมงคลบ้าง
ดังผู้ที่ประพฤติทุจริตด้วยกายวาจาใจ
ได้รับโทษทุกข์มีประการต่าง ๆ ก็ต้องนับว่า
เป็นอัปมงคล ส่วนผู้ประพฤติสุจริตกิจชอบ
ด้วยกายวาจาใจ ได้รับผลเป็นสุข คือไม่ได้รับ
ความเดือดร้อน ทุกข์ยากลำบากเข็ญใจ ได้พา
กันตั้งหน้าบำเพ็ญบุญกุศลมีทานศีลเป็นต้น ก็
ต้องนับว่าเป็นมงคล
ด้วยร่างกายนี้ท่านแสดงไว้ว่า เทโห
แปลว่าร่างกาย เทโห นั้นก็คือเทสะ
ที่แปลว่าประเทศนั้นเอง พึงเข้าใจว่า
ร่างกายของมนุษย์เรานี้ชื่อว่ามัชฌิมประเทศ คือ
เป็นประเทศอันเป็นท่ามกลาง คือกลางบุญ
กลางบาป กลางนรก กลางสวรรค์ กลางทุกอย่าง
อธิบายว่า ถ้าเราได้รับอัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว
ปรารถนาจะไปทางใดก็ได้
ถ้าอยากไปนรกก็ตั้งหน้าทำบาปให้มากขึ้นก็ต้อง
ได้ไป ถ้าอยากไปสวรรค์ ก็ทำบุญให้หนักขึ้นก็
ต้องไปสวรรค์ ถ้าอยากสำเร็จมรรคผลนิพพาน
ก็เร่งปฏิบัติให้ศีล สมาธิ ปัญญา เต็มรอบขึ้นก็
ต้องสำเร็จ ที่แสดงนี้อ้างพยานตัวอย่างได้ทั้งสิ้น คือ
ผู้ตกนรก ผู้ไปสวรรค์ ผู้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
ล้วนแต่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์นี้ทั้งนั้น
เมื่อเข้าใจความนี้แล้ว พึงมีความยินดีว่า เราได้เกิด
ได้อยู่ในมัชฌิมประเทศ
ก็ควรตั้งหน้าตรงต่อสถานที่ตนประสงค์ ความจริง
ถ้าหากเพียงแต่ได้เกิดได้อยู่ในมัชฌิมประเทศเท่านั้น
ถ้าขาด ปุพเพ จ กตปฺญฺญตา
คือขาดบุญหนหลังอุดหนุน เกิดมาเป็นคนยากจน
หรือมีร่างกายวิกลวิการใบ้บ้าเสียจริตอายุสั้น
ถ้าเช่นนั้นก็ไม่สามารถจะให้
ความปรารถนาของตนสำเร็จได้
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมงคลที่ ๒ นี้
ไว้เป็นคู่กัน ต้องเกิดในมัชฌิมประเทศด้วย ต้อง
เป็นคนมีบุญได้ทำไว้แล้วด้วย จึงจักสำเร็จกิจที่
เป็นมงคล พึงรู้ว่าตนมีบุญได้ทำไว้แล้วด้วยพยาน
ในตน คือไม่เป็นคนยากจนข้นแค้นเหลือเกิน
มีรูปสมบัติพรักพร้อมบริบูรณ์ มีโรคาพาธน้อย
มีสติปัญญาพอรู้ดีรู้ชั่ว มีอายุยืนตามสมควร นี้
เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าตนมีบุญได้ทำไว้แล้ว
เมื่อพร้อมด้วยมงคลทั้ง ๒ นี้แล้ว ควรประพฤติให้ถูกต้อง
ในมงคลที่ ๓ คือ อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ในกิจที่ชอบ
คือกิจที่จักให้ตนได้ความสุขในชาตินี้ กิจที่จักให้ตน
ได้ความสุขในชาติหน้า คือสวรรค์หรือมนุษย์
กิจที่พ้นจากชาตินี้ชาติหน้า คือมรรคผลนิพพาน
ให้ตั้งตนไว้ในกิจที่ตนต้องประสงค์นั่นแหละ ชื่อว่า
อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ในที่ชอบ
เมื่อชอบใจในทางมรรคทางผลทางนิพพาน ซึ่ง
เป็นของได้ด้วยยาก ก็ต้องขวนขวายรีบเร่งข้อปฏิบัติ
คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอธิสีล อธิจิต
อธิปัญญาขึ้น ส่วนศีล สมาธิ นั้น เป็นของไม่สู้ลึกซึ้งนัก
ส่วนปัญญาเป็นของลึกซึ้งมากยากจะตรองเห็นได้ ถึง
ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ก็ยังเข้าใจความได้ด้วยยาก
ดังอาทิตตปริยายสูตร ที่พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่บุราณชฎิลภิกษุพันหนึ่ง
พอจบลง ท่านเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหัตทั้งสิ้น
ส่วนพวกเราฟังมาจนชำนาญก็ไม่ตื่นว่ากระไร ออก
จะเห็นเป็นธรรมดาไปเท่านั้น ข้อนี้ก็คงเป็น
ความผิดของพวกเราที่ไม่พากันมีความสงสัยรับ
อาม ภันเต เอาทีเดียวนั่นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 16:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........บัดนี้จักนำมาแสดงให้ฟังอีก แต่ฟังที่นี้ให้พา
กันสงสัย อย่ารับเอาง่าย ๆ แต่ให้กำหนดตามให้
เข้าใจความให้ตลอด
ในอาทิตตปริยายสูตรนั้น มีนิทานวจนะว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ ณ
คยาสีสะประเทศ
ทรงเห็นอินทรีย์แห่งภิกษุบุราณชฎิลพันหนึ่งนั้นแก่รอบ
ควรรับธรรมีกถาได้แล้ว จึงทรงรับสั่งให้ประชุม
แล้วทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรนี้ว่า “สพฺพํ ภิกฺขเว
อาทิตฺตํ” เป็นอาทิ มีเนื้อความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนรุ่งเรืองแต่ต้น “กิญฺจ ภิกฺขเว สพฺพํ
อาทิตฺตํ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าชื่อว่าสิ่ง
ทั้งปวงเป็นของร้อนรุ่งเรืองแต่ต้น
เมื่อพระองค์ตรัสถามฉะนี้แล้ว ทรงวิสัชนาสิ่งทั้งปวง
นั้น คืออายตนะภายใน ๖ ประการ
อายตนะภายนอก ๖ ประการ วิญญาณ ๖ ประการ
มีจักษุวิญญาณเป็นต้น สัมผัส ๖ ประการ มีจักษุสัมผัส
เป็นต้น และเวทนา ๓ ประการ คือสุข ทุกข์ อุเบกขา
อันเกิดแต่สัมผัสนั้น ๆ ชื่อว่าสิ่งทั้งปวง ณ ที่นี้
แล้วทรงจำแนกโดยทวารเป็นลำดับต่อไปดังนี้
“จกฺขุ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุและรูป
และจักษุวิญญาณ และความประชุมพร้อมแห่งจักษุ
และรูปและจักษุวิญญาณ ชื่อว่าจักษุสัมผัส แต่ละ
ส่วนล้วนเป็นของร้อน สุข ทุกข์ อุเบกขา
ที่อาศัยจักษุสัมผัสนั้นเกิดขึ้นก็เป็นของร้อน,
“โสตํ อาทิตฺตํ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย โสตและเสียง
และโสตวิญญาณและโสตสัมผัส และสุข ทุกข์
อุเบกขา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสนั้นก็ดี ล้วน
เป็นของร้อน
“ฆานํ อาทิตฺตํ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฆานะและกลิ่น
และฆานวิญญาณและฆานสัมผัส และเวทนา คือสุข
ทุกข์ อุเบกขา ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานสัมผัสก็ดี
ล้วนเป็นของร้อน,
“ชิวฺหา อาทิตฺตา” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชิวหาและรส
และชิวหาวิญญาณและชิวหาสัมผัส
และเวทนาคือสุข ทุกข์ อุเบกขา ที่เกิด
เพราะชิวหาสัมผัสก็ดี ล้วนเป็นของร้อน,
“กาโย อาทิตฺโต” ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาย
และโผฏฐัพพะส่วนที่จะพึงถูกต้องและกายวิญญาณ
และกายสัมผัส และเวทนาคือสุข ทุกข์ อุเบกขา
ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสก็ดี ล้วนเป็นของร้อน,
“มโน อาทิตฺโต” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใจและธัมมารมณ์
และมโนวิญญาณและมโนสัมผัส และสุข ทุกข์
อุเบกขา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสก็ดี ล้วน
เป็นของร้อน
ร้อนด้วยอะไร อะไรมาเผาให้ร้อน ? ร้อน
ด้วยเพลิงกิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ ร้อนด้วยทุกข์
คือชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ร้อนด้วยโศกและร่ำไร
ร้อนด้วยทุกข์ระทมกายและน้อยใจคับแค้นใจ สรรพสิ่ง
ทั้งปวง คืออายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๓ เหล่านี้ ร้อนด้วยกิเลส
และกองทุกข์ อันกิเลสและกองทุกข์มาเผา
ให้ร้อนรุ่งเรืองแต่ต้น ด้วยประการฉะนี้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 16:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำอธิบาย
..........ในตอนนี้ให้ผู้สดับพึงถือเอาเนื้อความดังนี้
ที่ทรงแสดงอายตนะภายในภายนอก วิญญาณกาย
สัมผัสกาย และเวทนาว่าเป็นของร้อน
คือทรงแสดงทุกขอริยสัจ
บัญญัติทุกข์ลงที่อายตนะภายในภายนอก
วิญญาณกาย สัมผัสกาย เวทนา ให้
เป็นที่กำหนดทุกข์
และทรงแสดงสมุทัยอริยสัจ ด้วยราคะ โทสะ โมหะ
ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาส เพราะเป็นตัวเหตุมาเผาให้ร้อน
ทรงแสดงมรรคอริยสัจด้วยการให้พิจารณาเห็นซึ่งสิ่ง
ทั้งปวงว่า เป็นของร้อน คือเป็นวิปัสสนานัย
เป็นเหตุแห่งญาณทัสสนะ คืออริยมรรค
เมื่อทรงแสดงวิปัสสนาก็คือแสดงปัญญาสัมมาทิฏฐินั่นเอง
ปัญญาจะเกิดก็ต้องอาศัยสมาธิ สมาธิจะเกิดก็
ต้องอาศัยศีล เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ทรงแสดงไตรสิกขาในพระอัฏฐังคิกมรรคเต็มรอบ
เมื่อผู้ดำเนินด้วยข้อปฏิบัติทำมรรคภาวนา
ให้เกิดขึ้นเต็มรอบแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงผลคือนิโรธก็ได้
นิโรธอริยสัจนั้นก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ จน
ถึงอุปายาส ดับไปโดยไม่เหลือ
ด้วยกำลังแห่งญาณทัสสนะนั้นเอง
ถ้ากิเลสเหล่านี้ดับแล้ว ตา จมูก หู ลิ้น กาย ใจ
และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์
และวิญญาณกาย สัมผัสกาย เวทนา ก็เป็นปรกติ
ไม่ร้อนไม่เย็น หรือจะว่าเย็นเป็นคู่กับร้อนก็ได้
ในตอนนี้เป็นอันว่า พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจตุราริยสัจเต็มที่
ด้วยประการฉะนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2014, 17:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงทรงแสดงอานิสงส์แห่งวิปัสสนาญาณทัสสนะต่อไปว่า
“เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว สุตวา อริยสาวโก” ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อท่านมาเห็น
อยู่อย่างนี้ ท่านย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งทั้งปวง มีจักษุ
และรูปเป็นต้น จนถึงเวทนาที่เกิดแต่มโนสัมผัสเป็นที่สุด
นั้นทุกอย่าง ๆ
“นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ” เมื่อเกิดนิพพิทาความเหนื่อยหน่าย
แล้ว ก็บรรลุอริยมรรคญาณ สายกิเลสเครื่องย้อมจิต
ให้ปราศไปจากสันดาน
“วิราคา วิมุจฺจติ”
เพราะวิราคะอริยมรรคญาณประหารกิเลสออก
จากสันดานได้แล้ว วิมุตฺติ คืออริยผลก็บังเกิดขึ้น
ในลำดับแห่งอริยมรรคด้วยประการฉะนี้
“วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ” ครั้นเมื่อจิตพ้นพิเศษ
แล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าจิตพ้นพิเศษแล้วดังนี้
“ปชานาติ” อริยสาวกนั้น มารู้ชัด
ด้วยปัจจเวกขณญาณว่า
“ขีณา ชาติ” ชาติความเกิดสิ้นแล้ว
“วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ” พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
“กตํ กรณียํ” กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว
“นาปรํ อิตฺถตฺตาย” กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้
ไม่มี
อริยสาวกผู้บรรลุวิมุตติแล้ว
ย่อมเกิดปัจจเวกขณญาณหยั่งรู้อย่างนี้
จบส่วนพุทธภาษิตเพียงเท่านี้ ต่อนี้เป็นคำปรารภ
ถึงพระภิกษุทั้งหลายว่า
“อิทมโวจ ภควา” สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส
แล้วซึ่งอาทิตตปริยายนี้ สั่งสอนภิกษุ
ทั้งหลายเหล่าบุราณชฎิลนั้น
“อตฺตมนา เต ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุ” พระภิกษุ
ทั้งหลายนั้น รู้สึกว่ามีใจเป็นของของตน
ก็ชื่นชมยินดีต่อภาษิตแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
“อิมสฺมิญฺจ ปน เวยฺยากรณสฺมึ ภญฺญมาเน”
ก็แลเมื่อไวยากรณ์ภาษิตนี้ อันพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ จิตแห่งภิกษุทั้งพันองค์
นั้น ก็ไม่เข้ายึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน มีสังขารอัน
เข้าไประงับแล้ว เป็นผู้พ้นพิเศษจากอาสวกิเลส
ทั้งหลาย คือพระผู้เป็นเจ้าทั้งพันองค์
ได้สำเร็จอาสวักขัยอรหัตผล เป็นอเสขบุคคล
ในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้
..........เมื่อพุทธบริษัทได้สดับพระสูตรนี้แล้ว
พึงสงเคราะห์เนื้อความลงสู่อริยสัจธรรม
แล้วน้อมนำมาสู่ตน
ถ้ามีอุปนิสัยก็อาจจักสำเร็จผลตามที่ตน
ต้องประสงค์ โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้.
..............................


:b44: :b49: เขาพรหมโยนี หรือ เขาคยาสีสะ
สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “อาทิตตปริยายสูตร”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44908

:b44: :b49: อาทิตตปริยายสูตร สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ
(ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=57856


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร