วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 14:24 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

หนังสือ ประมวลธรรมบรรยายของ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ชุดที่ ๒


รูปภาพ

เอวมฺเมสุตนฺติอาทิกํ ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺตํ ภาสิสฺสามีติ.

บัดนี้จักวิสัชนาพระธรรมเทศนา
ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรซึ่งเป็นปฐมเทศนานั้น
มีคำปฏิญญาในเบื้องต้นว่า “เอวมฺเม สุตํ” อย่างนี้ข้าพเจ้า
ได้ฟังแล้ว ดำเนินนิทานวจนะว่า “เอกํ สมยํ” สมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี
ตรัสเรียกเบญจวัคคีย์ภิกษุให้เป็น
ผู้รับธรรมเทศนา
แล้วทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น จัดเป็น ๕ ประเภท
ประเภทที่ ๑ ทรงแสดงมิจฉาปฏิปทา ทางผิด ๒
ประการ คือกามสุขัลลิกานุโยค
และอัตตกิลมถานุโยค
ประเภทที่ ๒ ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา
ทางกลางตรงต่อพระนิพพาน
ได้แก่พระอัฏฐังคิกมรรคมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น
ประเภทที่ ๓ ทรงแสดงพระจตุราริยสัจ คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค
ประเภทคำรบ ๔
ทรงประกาศญาณทัสสนะสยัมภูสัมมาสัมโพธิญาณอันบริสุทธิ์หมดจดพิเศษ
แล้วอย่างไรซึ่งมีแล้วในพระองค์
ประเภทที่คำรบ ๕ ทรงปฏิญาณพระองค์
ในทางสยัมภูพุทธวิสัย ให้เบญจวัคคีย์ภิกษุได้สดับ เพื่อ
ให้เกิดญาณจักษุ มีใจความเป็น ๕ ประเภทดังนี้
..........ประเภทที่ ๑ แสดงตามสำเนาในพระสูตร
มีใจความว่า “เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น
เสวิตพฺพา” ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ลามกธรรมเหล่านี้ ๒ ประการ คือ
กามสุขัลลิกานุโยโค ความประกอบเกี่ยวเกาะในกาม
ทั้งหลายเป็นของต่ำจากอุตริมนุสสธรรม
เป็นธรรมแห่งชาวบ้าน เป็นของสำหรับปุถุชน ไม่
ใช่ทางแห่งพระอริยะ เจือไปด้วยโทษ
เป็นทางผิดประการหนึ่ง
อัตตกิลมถานุโยโค ความประกอบตามซึ่ง
ความลำบากเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นทุกข์ด้วย ไม่
ใช่ทางแห่งพระอริยะด้วย เจือไปด้วยโทษด้วย
เป็นทางผิดอีกประการหนึ่ง อันบรรพชิตผู้เห็นภัย
ในวัฏสงสาร ไม่พึงเสพสมาคมประพฤติปฏิบัติเลย
..........สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ฉลาด
ในมรรคา
ทรงแสดงทางผิดคือกามสุขัลลิกานุโยค
และอัตตกิลมถานุโยคก่อน ให้เบญจวัคคีย์ทราบ
ด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงแสดงประเภทที่ ๒ อัน
เป็นมัชฌิมาปฏิปทาทางกลางตรงต่อพระนิพพาน ณ
ภายหลังว่า
“เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมาปฏิปทา”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทา
ทางกลางตรงต่อพระนิพพาน ไม่เข้า
ใกล้ลามกธรรมทั้ง ๒ ประการนั้น
“ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา” อันพระตถาคตเจ้าตรัสรู้
ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว
เป็นญาณจักษุกำจัดมืดมหันธการ คือโมหะให้พินาศ
แล้ว
“อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ” ย่อม
เป็นไปเพื่ออภิญญาสัมโพธนฤพาน
เป็นเขมวิถีมรรคาเอกด้วยประการฉะนี้
แล้วทรงจำแนกมรรคา มีองค์อวัยวะ ๘ ประการ
นั้น คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกับโป
ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา วิรัติเป็นเหตุเจรจาชอบ
๑ สัมมากัมมันโต วิรัติธรรมเป็นเหตุทำการ
ด้วยกายชอบ ๑ สัมมาอาชีโว
เครื่องอาศัยเลี้ยงชีพชอบ ๑ สัมมาวายาโม
พยายามชอบ ๑ สัมมาสติ ระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ
ตั้งใจไว้เสมอชอบ ๑
องค์ ๘ ประการนี้
เป็นองค์อวัยวะสัมภาระของมรรคาจึงเป็น อัฏฐังคิโก
มัคโค มรรคามีองค์อวัยวะ ๘ ประการ “อริโย”
เป็นทางกำจัดข้าศึกภายในคือกิเลส
ได้จริงมรรคาเดียวเท่านี้ เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ทางกลางที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
แล้ว กระทำจักษุคือปรีชาญาณ
เป็นไปเพื่ออภิญญาสัมโพธนฤพาน ดับซึ่งสงสารทุกข์
ทั้งปวง
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสัมมาปฏิปทา
อันเป็นประเภทที่ ๒ โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 14:59 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อนี้จักแสดงเนื้อความโดยอรรถาธิบาย
ด้วยพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แสดง
โดยบุคคลาธิษฐาน มีเบญจวัคคีย์ภิกษุเป็นที่อ้าง
คือบรรพชิตเป็นผู้รับเทศนา เท่า
กับว่าทรงสอนบรรพชิตอย่างเดียว แต่
ความจริงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นของกลาง แม้นผู้ครองเคหสถานก็อาจน้อมไป
ให้สำเร็จกิจของตนได้บางประการเหมือนกัน
ในประเภทที่ ๑ ทรงแสดงกามสุขัลลิกานุโยค
และอัตตกิลมถานุโยคว่าเป็นทางผิด
คือผิดต่อทางกลางคือทางตรงต่ออุตริมนุสสธรรม
ได้แก่พระอัษฏางคิกมรรค
เพราะกามสุขัลลิกานุโยค เกี่ยวด้วยอิฏฐารมณ์
สัสสตานุสัย อัตตกิลมถานุโยค เกี่ยวด้วยอนิฏฐารมณ์
อุจเฉทานุสัย
ส่วนกามสุขัลลิกานุโยค ต้องหมายความว่าเข้า
กับตนเกินไป ด้วยอารมณ์ทั้ง ๕ คือรูป เสียง กลิ่น
รส เครื่องสัมผัส ส่วนเป็นอิฏฐารมณ์ คือ
ส่วนที่ชอบใจเป็นที่พึงปรารถนา ส่วนที่มีอยู่
แล้วก็เพลินอยู่แล้ว ที่ยังไม่มีก็ยังมีหวังต่อไป
เมื่อเพลินอยู่ในอามิสสุขเช่นนี้ ย่อม
เป็นนิวรณ์กางกั้นนิรามิสสุขอยู่เอง
การที่ต้องเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ก็เพราะ
ความเห็นตนและอารมณ์นั้น ๆ เป็นของถาวรยั่งยืน
จึงเห็นความว่าเข้ากับตนเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค
จึงนับว่าเป็นทางผิดประการหนึ่ง
ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ต้องหมาย
ความว่าเกลียดชังตนเกินไป เห็นตนเป็นโทษโดย
ส่วนเดียว จึงขาดเมตตาในตน ทำตนให้ลำบาก
ด้วยประการต่าง ๆ ดังบรรพชิตบางพวก
ทรมานตนให้ลำบากมีอดอาหารตั้ง ๗ วัน ๑๕ วัน
เป็นต้น
ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ครองบ้านเรือน
เมื่อประสบอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่
ไม่พึงปรารถนาเป็นต้นว่า สามี ภรรยา บุตร
นัดดา ตาย หรือเกิดวิบัติแห่งโภคทรัพย์
อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ก็เกิด
ความโศกเศร้าเสียใจร้องไห้ทุบอกทุบองค์ของตน
อดข้าวปลาอาหารตั้ง ๔ ซ้า ๕ วัน จนซูบจนผอม ซึ่ง
เป็นการหาผลประโยชน์ทางดีไม่ได้
การที่ทำโทษแก่ตนอย่างนี้ ก็เพราะขาดความรัก
ความกรุณาแก่ตน เห็นตนไม่มีประโยชน์ ผู้ติดอยู่
ด้วยกังวลเหล่านี้ ย่อม
เป็นนิวรณ์กางกั้นต่อทางสัมมาปฏิบัติอยู่เอง
อัตตกิลมถานุโยค จึงนับว่า
เป็นทางผิดอีกประการหนึ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 15:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ส่วนมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติเป็นกลาง
คือกลางสุขกลางทุกข์ ได้แก่ความไม่ติดไม่ข้องอยู่
ในทางผิดทั้ง ๒ นั้น ปฏิบัติตรงต่อไตรสิกขา คือศีล
สมาธิ ปัญญา ตรงตามพระอัฏฐังคิกมรรค
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปัญญาก่อน เห็นจะเป็น
เพราะท่านเบญจวัคคีย์ได้บำเพ็ญศีลสมาธิเต็มอยู่
แล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นการชี้ผลค้นหาเหตุ
เพราะผลพระองค์ทรงแสดงให้กระจ่างแจ่มแจ้ง
แล้ว การสาวหาเหตุก็ไม่ลำบาก
อาศัยเหตุนี้พระองค์
จึงทรงแสดงสัมมาทิฏฐิญาณทัสสนะ
เป็นประธานแห่งองค์มรรคทั้งปวง ยก
เป็นอุเทศขึ้นว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นอาทิ
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทรงแสดงแต่เพียงอุเทศเท่า
นั้น ต้องอาศัยที่มาในมัคควิภังคสูตร
ทรงแสดงอุเทศนิเทศเป็นปุจฉาวิสัชนา
มีใจความในองค์ที่ ๑ ปุจฉาว่า เห็นอย่างไร จึงชื่อว่า
สัมมาทิฏฐิ ?
ตอบว่า มีญาณหยั่งรู้ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ
ในมรรค นี่แหละชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ
ในองค์ที่ ๒ ปุจฉาว่า ดำริอย่างไรชื่อว่า
สัมมาสังกัปโป ?
ตอบว่า ความดำริเห็นโทษของกามว่า
เป็นเครื่องผูกพันเกี่ยวเกาะทำให้ปัญญาทุพพลภาพ
ดำริหาโอกาสที่จะหลีกจากกาม
แลเห็นโทษแห่งพยาบาทวิเหสา
เห็นคุณแห่งเมตตากรุณา ดำริให้จิตสัมปยุตอยู่
ด้วยเมตตากรุณา นี่แหละชื่อว่าสัมมาสังกัปโป
ในองค์ที่ ๓ ปุจฉาว่า เจตนาวิรัติอย่างไร
จึงชื่อว่าสัมมาวาจา ?
ตอบว่า เจตนาวิรัติว่า จักไม่กล่าวคำเท็จ คำหยาบ
คำส่อเสียด คำไร้ประโยชน์
มีสมาทานเจตนาว่าจักกล่าวแต่คำจริง คำอ่อนโยน
คำสมัครสมาน คำเป็นไปกับด้วยประโยชน์
นี่แหละชื่อว่าสัมมาวาจา
ในองค์ที่คำรบ ๔ ปุจฉาว่า
เจตนากรรมวิรัติอย่างไร ชื่อว่าสัมมากัมมันโต ?
ตอบว่า เจตนาคือตั้งใจว่า จักไม่ฆ่าสัตว์ และจัก
ไม่ลักของท่าน และจักไม่ล่วงประเวณีที่มี
ผู้หวงแหน ตั้งใจว่าจักประกอบการงานด้วยกาย
ให้สัมปยุตด้วยเมตตากรุณาอยู่ทุกเมื่อ นี้แหละชื่อว่า
สัมมากัมมันโต
ในองค์ที่คำรบ ๕ ปุจฉาว่า
เจตนากรรมวิรัตอย่างไร ชื่อว่าสัมมาอาชีโว ?
ตอบว่า เจตนากรรม
คือตั้งใจเว้นอุบายทางหาเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย
ตั้งใจแสวงหาการเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
นี้แหละชื่อว่าสัมมาอาชีโว
ในองค์ที่ ๖ ปุจฉาว่า ตั้งความเพียรอย่างไร
ชื่อว่าสัมมาวายาโม ?
ตอบว่า เพียรละบาปที่มีอยู่แล้วไม่ให้มีต่อไป บาปที่
ยังไม่เคยมีก็เพียรระวังไม่ให้มีขึ้น
เพียรบำรุงบุญกุศลที่ไม่เคยมีให้มีขึ้น
ส่วนบุญกุศลที่เคยมีอยู่แล้ว ก็เพียรกระทำ
ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี่แหละชื่อว่าสัมมาวายาโม
ในองค์ที่ ๗ ปุจฉาว่า ตั้งสติอย่างไร ชื่อว่าสัมมาสติ ?
ตอบว่า ตั้งสติที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม
นี่แหละชื่อว่าสัมมาสติ
ในองค์ที่ ๘ ปุจฉาว่า ตั้งใจอย่างไร
จึงชื่อว่าสัมมาสมาธิ ?
ตอบว่า ตั้งใจให้สัมปยุตในองค์ฌานทั้ง ๔ คือปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
นี่แหละชื่อว่าสัมมาสมาธิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 15:54 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ
สรุปอุเทศดังนี้แล้ว สัมมาทิฏฐิญาณจักษุที่
สามารถประหารกิเลส มีธรรมประเภทใด
เป็นเครื่องรับรอง
จึงทรงแสดงธรรมเครื่องรับรองญาณจักษุ
คือพระอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกขอริยสัจเป็นปฐม พระองค์ตรัสเทศนาดังนี้ว่า
“อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ” ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็อันนี้แล
ทุกขอริยสัจของจริงอย่างประเสริฐ คือทุกข์
ชาติปิ ทุกฺขา แม้ชาติความเกิด ด้วยเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๑
ขันธ์ ๔ ในสัตตนิกายนั้นๆ โดยชลาพุชะ อัณฑชะ
สังเสทชะ อุปปาติกะ ชื่อว่าชาติความเกิดก็เป็นทุกข์
ชราปิ ทุกฺขา แม้ความชำรุดเสื่อมถอยแห่งขันธ์ที่เกิด
แล้วนั้นก็เป็นทุกข์
มรณมฺปิ ทุกฺขํ แม้มรณะความแตกแห่งขันธ์ที่เกิดแล้ว
ชำรุดแล้วนั้นก็เป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา ก็เป็นทุกข์
แต่ละอย่าง ๆ อยู่ร่วมกันด้วยสัตว์และสังขารที่
ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากไปจากสัตว์
และสังขารที่ตนรักใคร่ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่ง
ใดไม่ได้สิ่งนั้นสมหวังก็เป็นทุกข์
สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยย่นย่อ
แล้วอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งปวงย่นลง
ในอุปาทานขันธ์ ๕
..........สมเด็จพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทุกขอริยสัจ
มีสรุปอุเทศฉะนั้นแล้ว ทุกข์มีประเภทต่าง ๆ ที่บังเกิด
เป็นไป เพราะสิ่งใดเป็นเหตุมีกำลัง
ซึ่งแจ้งประจักษ์แก่พระสยัมภูญาณแล้ว พระองค์
จะทรงแสดงเหตุที่ประชุมให้ทุกข์เกิดขึ้นนั้น
จึงตรัสทุกขสมุทัยอริยสัจที่ ๒ เป็นลำดับว่า
“อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ” ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็อันนี้แหละเป็นเหตุที่ให้ทุกข์ซึ่ง
เป็นผลเกิดขึ้นพร้อม ได้แก่ ตัณหาความดิ้นรนของใจ
ไปพร้อมด้วยความกำหนัด และความเพลิน
ในอารมณ์นั้น ๆ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
เป็นสมุทัย ให้ทุกข์ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นพร้อม
เป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอุดหนุน ซึ่งเจตนาเป็นตัวกรรม
นำปฏิสนธิในภพน้อยภพใหญ่ จึง
เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจที่ ๒
..........เมื่อพระโลกนาถตรัสทุกขสมุทัยอริยสัจที่
๒ แสดงเหตุมีกำลังให้เกิดทุกข์ฉะนี้แล้ว
จึงตรัสทุกขนิโรธ ความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์
เป็นอริยสัจที่ ๓ ว่า
“อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ” ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย อันนี้แลอริยสัจของจริงอย่างประเสริฐ
คือทุกขนิโรธ ความดับทุกข์โดยไม่เหลือ คือ
ความปราศไปดับไปโดยไม่เหลือแห่งตัณหา
ความสละปล่อยวาง ความหลุดพ้น ขาดอาลัย
ในตัณหานั้นเอง ความที่ตัณหาผู้แต่งทุกข์
นั้นมาดับสนิทเสียได้ เป็นทุกขนิโรโธ ความดับโดย
ไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอริยสัจที่ ๓
..........
สมเด็จพระโลกนาถตรัสทุกขนิโรโธอริยสัจที่ ๓
แสดงความดับทุกข์เพราะดับแห่งตัณหาฉะนี้แล้ว
ความดับตัณหาดับทุกข์นั้น สัตว์จะพึงได้ด้วยดำเนินกาย
วาจา ใจ โดยมรรคาใด
จะทรงแสดงมรรคาปฏิปทานั้น
จึงตรัสมรรคอริยสัจที่ ๔ โดยชื่อว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ด้วยภาษิตว่า
“อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันนี้แลอริยสัจของจริงอย่างประเสริฐ คือปฏิปทา
ให้สัตว์ผู้ปฏิบัติถึงความดับทุกข์
ได้แก่มรรคามีองค์อวัยวะ ๘ ประการนี้ อย่างเดียว
เท่านี้ องค์สัมภาระแห่งมรรคทั้ง ๘ ประการ
มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน
โดยนัยที่ได้วิสัชนามาแล้วทั้งอุเทศและนิเทศ
สงเคราะห์ลงในกองศีล กองสมาธิ กองปัญญา
อันนับเนื่องในไตรสิกขา เป็นกิจอันกุลบุตร
ผู้มุ่งหวังต่อปรมัตถประโยชน์ จะพึงศึกษาให้ได้
ความชัดเจน แล้วจะได้ปฏิบัติไม่งมงาย ถ้ามีอุปนิสัย
สามารถก็อาจจักบรรลุโลกุตราภิสมัยตามสมควรแก่อุปนิสัยของตนด้วยประการฉะนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 16:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อนี้จักอธิบายสัจจะทั้ง ๔ นั้น พอ
เป็นทางประดับสติปัญญาแก่ผู้สดับ ตามนัยอุเทศ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกชาติ ชรา มรณะ ขึ้นแสดงว่า
เป็นประธานแห่งทุกข์ ถ้าจะแสดงเนื้อ
ความตามนัยแห่งพระอรรถกถาจารย์ก็กว้างขวางมาก
จะแสดงพอได้ใจความ
ชาติ แปลว่าความเกิด จัดโดยกำเนิดเป็น ๔ คือ
สังเสทชะ ๑ อัณฑชะ ๑ ชลาพุชะ ๑ อุปปาติกะ ๑
สังเสทชะ เกิดด้วยน้ำไม่สะอาด อัณฑชะ เกิด
เป็นฟองก่อน ชลาพุชะ เกิดเป็นตัวอยู่ในครรภ์
อุปปาติกะ เกิดปรากฏใหญ่ขึ้นทันที
ตามนัยที่มาต่าง ๆ ท่านชี้ตัวอย่าง สังเสทชะนั้น
ได้แก่สัตว์ที่อาศัยน้ำสกปรกเกิดขึ้น ดังเรือดไร
เป็นต้น อัณฑชะนั้น ได้แก่สัตว์ที่เกิดจากฟอง มีนก
และไก่เป็นต้น ชลาพุชะนั้น ได้แก่สัตว์ที่คลอดออก
เป็นตัวทีเดียว ดังมนุษย์และสัตว์บางจำพวกเป็นต้น
อุปปาติกะนั้น ได้แก่เทวดาและสัตว์นรกเป็นตัวอย่าง
ชื่อว่าชาติความเกิด
ถ้าจะวินิจฉัยตามทางวิปัสสนานัย ท่าน
ไม่ประสงค์การเพ่งภายนอก การเห็นภายนอก ท่าน
ให้เพ่งในตนอย่างเดียว ถ้าจะถือเอาเนื้อความตามนัยนี้
อุปปาติกะได้แก่เมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดา
ก่อนแต่คลอดยังอยู่ในครรภ์มารดา
มีอวัยวะมือเท้าบริบูรณ์แล้ว ในระหว่างเพียง
เท่านี้ชื่อว่าชลาพุชะ ก่อนแต่ชลาพุชะ คือยังเป็นก้อน
เป็นแท่งกลมอยู่ ตั้งอยู่ในครรภ์ของมารดา
ในระหว่างเพียงเท่านี้ ชื่อว่าอัณฑชะ
ก่อนแต่อัณฑชะคือยังไม่ข้นแข็ง จะเป็นน้ำหรือ
เป็นโลหิตใสหรือข้นก็ตาม ในระหว่างกาลเพียง
เท่านี้ชื่อว่าสังเสทชะ
ในสัตตนิกายโดยมากย่อมได้กำเนิด ๔ ดังนี้ทั่วกัน อยู่
ในกำเนิดใด ก็ชื่อว่าชาติทั้งนั้น ชาตินี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
ถ้าจะย่นชาติความเกิดลงให้สั้นคงเหลืออยู่ ๒
ประการ คือ ปฏิจฉันนชาติ ความเกิดที่ปกปิด
ไม่พิจารณาไม่เห็น
ได้แก่ตั้งต้นแต่ปฐมปฏิสนธิวิญญาณมาตลอดไป
ถึงวันมรณะเป็นที่สุดชื่อว่าชาติ ความเกิด
อยู่เสมอประการหนึ่ง อัปปฏิจฉันนชาติ ความเกิด
ไม่ปกปิดได้แก่คลอดจากครรภ์ของมารดา รู้ทั่ว
กันว่า เกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น ชื่อว่าชาติประการหนึ่ง
..........ส่วนชราความแก่นั้น ก็คงย่นลงมีประเภท
เป็น ๒ เหมือนกัน คือเป็น ปฏิจฉันนชรา
ความแก่ที่ปกปิด ไม่พิจารณาไม่เห็น
ความแก่ชราที่มีมาตั้งต้นแต่ปฐมปฏิสนธิมา
คือเกิดขึ้นวันใด ชราความแก่ก็ติดกันมา
แก่วันแก่คืนมาตามลำดับ ชื่อว่าชราประการหนึ่ง
อัปปฏิจฉันนชรา ความแก่ที่เปิดเผย ได้แก่ผู้ตั้งอยู่
ในปัจฉิมวัย มีอวัยวะพิการ คือผมหงอกฟันหักเป็นต้น
ชื่อว่าชราประการหนึ่ง
..........ส่วนมรณะก็มี ๒ เหมือนกัน คือ
ปฏิจฉันนมรณะ ความตายที่ปกปิด ได้แก่
ความตายตั้งต้นแต่ปฐมปฏิสนธิวิญญาณมา
ก็ตายตามลำดับมา คือความสูญไปหายไปแห่งชาติ
และชรานั้น ชื่อว่ามรณะ ตลอดจนถึงสิ้นชีวิต
ชื่อว่าสิ้นชาติเป็นมรณะประการหนึ่ง
อัปปฏิจฉันนมรณะ ความตายที่เปิดเผย รู้ทั่วกัน
ได้แก่สิ้นชีวิตขาดลมหายใจ
ชื่อว่ามรณะประการหนึ่ง
..........ชาติ ชรา มรณะ ทั้ง ๓ นี้ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าเป็นทุกข์
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่มีต่อไปว่า โสกะ
ความแห้งใจ ปริเทวะ ความบ่นเพ้อร่ำไร
ทุกข์ทนลำบากยากใจ โทมนัส ความต่ำใจ น้อยใจ
อุปายาส ความคับแค้นใจ ว่าเป็นทุกข์แต่ละอย่าง ๆ
ถ้าเพ่งเนื้อความตามนัยนี้ คงจับอาการของทุกข์ได้เป็น
๔ อย่าง คือโสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส เท่านั้น
ส่วนชาติ ชรา มรณะนั้น เป็นตัวทุกข์ด้วย
เป็นเหตุแห่งทุกข์ด้วย ซึ่งว่าเป็นทุกข์นั้น คือ
เป็นตัวของเราเอง ที่ว่าเป็นเหตุนั้น คือเป็นสัญญาอดีต
เป็นตัวสมุทัย
ทุกข์ส่วนแสดงต่อไปคือ อัปปิเยหิสัมปโยคทุกข์
ปิเยหิวิปโยคทุกข์ และยัมปิจฉังนลภติทุกข์
เป็นปกิรณกทุกข์ ย่นทุกข์ทั้งสิ้นลงในอุปาทานขันธ์
คือขันธ์ที่มีอุปาทานเท่านั้น ขันธ์จึงเป็นทุกข์ อธิบายว่า
เกลียดชังกันและได้อยู่ด้วยกัน ก็เป็นเหตุแห่งทุกข์
รักกันชอบกันและได้พลัดพรากจากกัน ก็
เป็นเหตุแห่งทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่ง
นั้นสมประสงค์ ก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เป็นตัวผล
อาการของทุกข์ ก็คือโสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส
นั้นเอง
ทุกข์จะเกิดขึ้นก็เพราะความถือเนื้อถือตน
ได้แก่อุปาทานขันธ์นั่นเอง ทุกข์เป็นของจริงจึง
เป็นทุกขอริยสัจอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ทุกข์เป็นข้าศึก ถ้า
ผู้รู้ทุกข์เห็นทุกข์ได้จริง ทุกข์ล้มเลิกไม่ต่อสู้ท่าน
นั้นอีก จึงชื่อว่า อริโย ผู้ไม่มีข้าศึกภายใน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 16:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เนื้อความในทุกขสมุทัยอริยสัจ
ตามนัยพุทธภาษิตทรงแสดงตัณหา ๓ คือ กามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นสมุทัย คือเป็นเหตุยังทุกข์
ให้เกิดขึ้นพร้อม สมุทัยที่ทรงแสดง
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ย่อมาก จะถือเอาเนื้อความ
ได้ด้วยยาก เพราะหน้าตาของตัณหา ๓
เป็นของลี้ลับมาก ถ้าจะเพ่งดูหน้าตาของสมุทัย
ให้กระจ่างควรสังเกตในปฏิจจสมุปบาท จะเพิ่มความ
เข้าใจในประเภทแห่งสมุทัยขึ้นได้มากทีเดียว
คือในปฏิจจสมุปบาททรงแสดงอริยสัจเพียง ๒ คือ
สมุทัยวารหนึ่ง นิโรธวารหนึ่งเท่านั้น ความกระจ่าง
ทั้ง ๒ ประเภท ในสมุทัยวารทรงแสดงอวิชชา
เป็นประธานแห่งสมุทัย อวิชฺชา อฏฺฐวตฺถุกา
อวิชชามีวัตถุ ๘ ได้แก่ไม่รู้ของ ๘ อย่างนี้ คือ ไม่รู้อดีต
๑ ไม่รู้อนาคต ๑ ไม่รู้ทั้งอดีตอนาคต คือไม่รู้ปัจจุบัน
๑ ไม่รู้ทุกขสัจ ๑ ไม่รู้สมุทัยสัจ ๑ ไม่รู้นิโรธสัจ ๑
ไม่รู้มรรคสัจ ๑ ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ๑ ชื่อว่าอวิชชา
เพราะเป็นอวิชชานี้เองจึงเป็นปัจจัยแก่สังขาร ๓ คือ
ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร
สังขารจึงเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณ
เป็นต้น วิญญาณจึงเป็นปัจจัยแก่นามรูป นามรูป
เป็นปัจจัยแก่อายตนะ ๖ มีจักขุเป็นต้น อายตนะ
เป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ๖ มีจักขุผัสสะเป็นต้น ผัสสะ
เป็นปัจจัยแก่เวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา เวทนา
เป็นปัจจัยแก่ตัณหา ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน ๔ มีกามุปาทาน
เป็นต้น อุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพ ๒ ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ
๒ ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรา ๒ ชราเป็นปัจจัยแก่มรณะ ๒
แต่สังขารมาถึงมรณะเป็นอาการของอวิชชา ๑๒
ประการ เหล่านี้แหละเป็นลักษณะของสมุทัย
ซึ่งว่าเป็นปัจจัยแก่กันและกันนั้นไม่ใช่เหตุ
เป็นแต่เพียงอุดหนุนเหตุให้มีกำลังเท่านั้น คือสังขาร
วิญญาณเป็นต้นจนถึงมรณะ เป็นตัวเหตุอยู่แล้ว
เพราะอวิชชาเป็นผู้อุดหนุน ธรรมเหล่านั้นจึงตั้งอยู่
ได้ ถ้าตนของเรายังเป็นสังขารวิญญาณเป็นต้น
อยู่ตราบใด ทุกข์ตัวผลคือ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส
อุปายาส ก็มีอยู่ตราบนั้น เพราะทุกข์
เป็นผลของสมุทัย
เมื่ออวิชชาดับอันเดียวเท่านั้น สังขารวิญญาณเป็นต้น
จนถึงมรณะดับตามกันไปหมด ความดับสมุทัยนี้
เป็นนิโรธสัจ เมื่อสมุทัยดับหมดแล้ว ความ
ไม่มีทุกข์คือไม่มีโสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส ซึ่ง
เป็นผลของนิโรธอริยสัจ ก็มีขึ้นพร้อม
ด้วยประการฉะนี้
ปัญญาที่รู้จักทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เป็นองค์สัมมาทิฏฐิ เป็นมรรคอริยสัจ แสดงเนื้อ
ความในสัจจะทั้ง ๔ โดยย่นย่อพอได้ใจความ
ด้วยประการฉะนี้
เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจ
ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นอาธารวิสัย ที่เป็นไปแห่งสัมมาทิฏฐิ ซึ่ง
เป็นประธานแห่งมัชฌิมาปฏิปทานั้นด้วยประการฉะนี้
แล้ว พระองค์ตรัสญาณทัสสนะของพระองค์
อันเกิดขึ้นแล้วในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น สัจจะละ ๓ ๆ คือ
สัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑
โดยภาษิตว่า อิทํ ทุกฺขํ อริยสจฺจนฺติ เม ภิกฺขเว เป็นอาทิ
มีเนื้อความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุได้เกิดขึ้น
แล้วแก่เรา ญาณได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญา
ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิชชาความรู้แจ้งได้เกิดขึ้น
แล้วแก่เรา แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ว่าอันนี้อริยสัจคือทุกข์ อันนี้อริยสัจคือสมุทัย
อันนี้อริยสัจคือนิโรธ อันนี้อริยสัจคือมรรคดังนี้
ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่
ในกาลก่อน
ญาณจักษุที่รู้ชัดรู้แจ้งสว่าง ว่าอันนี้ทุกขอริยสัจ
อันนี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ อันนี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
อันนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดังนี้
เป็นสัจจญาณที่ ๑ ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ
ในมรรค
อนึ่ง ทุกขอริยสัจนั้น อันบุคคลพึงกำหนดรู้
ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้น อันบุคคลพึงมละเสีย
ทุกขนิโรธอริยสัจนั้นอันบุคคลพึงทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น อันบุคคลพึงทำ
ให้เกิดให้มี ดังนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้วในธรรม
ทั้งหลาย ที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ในกาลก่อน
อันนี้เป็นกิจจญาณที่ ๒ ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค

อนึ่ง ทุกขอริยสัจนั้น เราได้กำหนดรู้แล้ว
ทุกขสมุทัยอริยสัจนั้น เราได้มละเสียแล้ว
ทุกขนิโรธอริยสัจนั้น เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้น เราได้ทำให้เกิด
ให้มีแล้ว ดังนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้ว ในธรรม
ทั้งหลายที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ในกาลก่อน
อันนี้เป็นกตญาณที่ ๓ ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 16:17 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สมเด็จพระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงพระญาณจักษุ ปัญญา วิชชาความรู้แจ้ง
แสงสว่างละ ๓ ๆ ใน ๔ อริยสัจด้วยประการฉะนี้
เป็นการประกาศพระสยัมภูสัมมาสัมโพธิญาณ
แล้วทรงปฏิญญาพระองค์
ในทางตรัสรู้อีกวาระหนึ่ง เป็นประเภทที่คำรบ ๕
โดยภาษิตว่า
ยาวกีวญฺจ เม ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ยถาภูตญาณทัสสนะ ปัญญาอันรู้อันเห็นจริงแท้
ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ ของเรามีปริวัฏฏ์เวียนไปละ
๓ ๆ มีอาการ ๑๒ ดังนี้ ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใดแล้ว
เราผู้ตถาคตยังปฏิญญาตนในโลก
กับเทพยดามารพรหม หมู่สัตว์ ทั้งสมณพราหมณ์
เทพยดามนุษย์ ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ
ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไม่ได้เลย
ยโต จ โข เม ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แต่เมื่อ
ใดแล ยถาภูตญาณทัสสนะ
ปัญญาอันรู้อันเห็นจริงแท้ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒
ดังนี้ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ของเรา
เป็นญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์หมดจดพิเศษแล้ว
อถาหํ เมื่อนั้นเราผู้ตถาคตจึงปฏิญญาตนในโลกกับ
ทั้งเทพยดามารพรหม หมู่สัตว์ ทั้งสมณพราหมณ์
เทพยดามนุษย์ ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้
ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ อนึ่ง
ปัญญาอันรู้อันเห็นเกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า
อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ความพ้นพิเศษของเราไม่กำเริบ
ไม่มีที่จะเสื่อมถอยคืนคลาย
อยมนฺติมา ชาติ ชาติความเกิดด้วย
เป็นอัตภาพเบญจขันธ์ของเรา ชาตินี้มี ณ ที่สุดแล้ว
นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ความเกิดอีกของเรามิ
ได้มีต่อไป
ปัจจเวกขณญาณอันหยั่งรู้ประจักษ์เหล่านี้
ได้เกิดมีแก่เราแล้ว
เอวํ ปวตฺติตํ อโหสิ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนา
ให้พระอนุตตรธรรมจักรเป็นไปแล้ว ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวันด้วยประการฉะนี้
อิมสฺมิญฺจ ปน เวยฺยากรณสฺมึ ภญฺญมาเน
ก็แลธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไวยากรณ์คือบาลีล้วน
ไม่ระคนด้วยคาถาอันนี้ อันสมเด็จพระ
ผู้มีพระภาคตรัสเทศนาอยู่
วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุ อุทปาทิ จักษุในธรรมปราศ
จากธุลีแลมีมลทินอันปราศไปแล้ว ได้เกิดขึ้น
แล้วแก่พระโกณฑัญญะว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ
ไตรวัฏฏ์คือ กรรม กิเลส วิบาก อันใดอันหนึ่ง ที่มี
ความเกิดขึ้นพร้อมเป็นธรรมดา สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ
ไตรวัฏฏ์ทั้งปวงนั้น ก็เป็นของมีความดับ
เป็นธรรมดาดังนี้
โดยความว่า
พระโกณฑัญญะบรรลุพระโสดาปัตติผลญาณ
เป็นพระอริยบุคคลถึงพร้อมด้วยอริยธรรม
โลกุตราภิสมัย
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมีขึ้นเป็นปฐมมนุษย์
พุทธสาวก ณ พุทธบาทกาลนี้ เป็นพยาน
ในพระสยัมภูภาพ อนุตตสัมมาสัมโพธิญาณ
ของสมเด็จพระโลกุตมาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยประการดังนี้
มีคำอุปมาว่า จักรรัตน์เป็นของทิพย์
เกิดมีแด่บรมจักรพรรดิราช นำเสด็จ
ให้เวียนรอบปฐพีมณฑล
ปราบปรามปฏิปักษ์ประเทศราชกษัตริย์ทั่ว
ทั้งสกลทิศาภาค ให้ยินยอมในพระราชอาณา มิ
ได้มีกษัตริย์องค์ใดจะต่อต้าน
จักรรัตน์มีฤทธานุภาพไพศาลประกาศ
ให้ประเทศราชกษัตริย์ทั่วปฐพีมณฑลทราบ ซึ่ง
ความเป็นบรมจักรพรรดิราช
อาคาริกอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตน์ฉันใด
พุทธพจน์ปฐมภาษิตนี้ ก็ประกาศให้สัตวโลก
ทั้งเทพยดามนุษย์มารพรหมได้ทราบซึ่งความ
เป็นวิสุทธขันธสันดาน สยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้าฉะนั้น
พระสูตรไวยากรณภาษิตปฐมพุทธพจน์นี้
จึงมีนามตามอรรถว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
โดยศาสนโวหาร ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้.

.........................

:b8: :b8: :b8:

:b44: บทสวด...ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=20815

:b44: ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=28599

:b44: ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ
(ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=57701

:b44: ธัมมเมกขสถูป หรือ ธรรมเมกขสถูป
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
ใน “วันอาสาฬหบูชา” วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=41327


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร