วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 09:51 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วรรณนาจูฬสาโรปมสูตร
(พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เป็นผู้รจนา
แต่งเมื่อยังดำรงตำแหน่งเป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี
เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์)

ปุ. ความในจูฬสาโรปมสูตรนี้ย่อนัก ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ
ท่านสามารถอธิบายพอให้เข้าใจได้หรือ ?
วิ. ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ท่านเข้าใจได้ ก็
เป็นแต่บางสิ่งบางอย่าง เพราะความในพระสูตรนี้แสดง
โดยปรมัตถ์ ท่านมีความสงสัยข้อไหนจงถามไป เมื่อ
ความแจ่มแจ้งมีอยู่ ข้าพเจ้าจะอธิบายแก่ท่านตามควร
ปุ. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เมื่อพราหมณ์ถาม
ถึงลัทธิของครูทั้ง ๖ มีปุราณกัสสปเป็นต้น ทำไมพระองค์
จึงแสดงอาการของผู้ออกบวชในพระศาสนา ไม่ตรง
กับคำถามอย่างนี้เล่า ?
วิ. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงแสดงในลัทธิของครู
ทั้ง ๖ นั้น เพราะทรงเห็นว่าลัทธิเหล่านั้นไม่มีประโยชน์
เมื่อแสดงไป ผู้ถามและผู้วิสัชนาป่วยการด้วยกันทั้ง ๒
ฝ่าย พระองค์จึงไม่แสดง
ปุ. ลัทธิเหล่านั้นถ้าเปล่าจากประโยชน์จริง ทำไมจึงมี
ผู้นับถือมาก ๆ ชนเหล่านั้นจะพลอยเป็นบ้าสิ้นด้วย
กันทีเดียวหรือ ? คำที่ว่าลัทธิเหล่านั้นเปล่าจากประโยชน์
นั้น ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ ?
วิ. ท่านยังไม่เข้าใจโวหารของนักปราชญ์เก่า ๆ
ธรรมเนียมนักปราชญ์ถ้าสิ่งใดมากไปด้วยโทษ
ท่านกล่าวว่าไม่มีคุณ ไม่มีประโยชน์ สิ่งใดมากไป
ด้วยคุณ ท่านกล่าวว่าไม่มีโทษ บริบูรณ์ไป
ด้วยประโยชน์อย่างเดียว ที่จริงของสิ่งใดมีแต่โทษ
หรือมีแต่คุณโดยส่วนเดียวนั้นหาได้ยากในโลก สิ่ง
ใดมีโทษ สิ่งนั้นย่อมจะมีคุณปนอยู่บ้าง สิ่งใดมีคุณ สิ่ง
นั้นย่อมจะมีโทษปนอยู่บ้าง สิ่งใดมีโทษน้อย
ท่านกล่าวว่ามีคุณ สิ่งใดมีคุณน้อย ท่านกล่าวว่ามีโทษ
เท่านั้นเอง ลัทธิของครูทั้ง ๖ นั้นคง
จะมีคุณมีประโยชน์น้อย ท่านจึงแสดงว่าไม่มีประโยชน์
ที่จริงประโยชน์และคุณคงมีเป็นแท้ จึงตั้งหมู่ตั้งคณะได้
แต่ประโยชน์และคุณนั้นคงจะน้อย ท่านจึงกล่าวว่า
ไม่มีประโยชน์ ท่านจงเข้าใจเถิด
ปุ. ความที่ท่านแสดงมานี้แยบคาย ข้าพเจ้าฟังได้ความดี
เห็นจริงด้วย บัดนี้ท่านจงแสดงอาการต่างของกุลบุตร
ผู้เห็นภัยในสงสาร แล้วออกบวชโดยพระสูตร ?
วิ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาการของกุลบุตร
ผู้เห็นภัยในสงสาร
ละฆราวาสออกบวชประพฤติพรหมจรรย์
พวกหนึ่งศึกษาเล่าเรียนพอยังลาภและยศให้เกิดได้
ก็ถือว่าตนถึงที่สุดของพรหมจรรย์
พวกหนึ่งอุตสาหะดัดแปลงกายวาจา บำรุงตนให้เป็น
ผู้บริบูรณ์ด้วยศีล ก็ถือว่าตนถึงที่สุดของพรหมจรรย์
พวกหนึ่งเมื่อทำตนให้บริบูรณ์ด้วยศีลแล้ว
ยังอุตสาหะพากเพียรทำใจให้หยุด คือทำอุปจารสมาธิ
และอัปปนาสมาธิให้บริบูรณ์ด้วยศีลสมาธิเช่นนั้นแล้ว
ยังอุตสาหะพากเพียรเพื่อให้สำเร็จญาณทัสสนะ
เป็นคุณเบื้องบนของสมาธิ ก็ถือว่าตน
ถึงที่สุดของพรหมจรรย์ อีกพวกหนึ่งเมื่อทำตนให้บริบูรณ์
ด้วยศีลสมาธิและญาณทัสสนะเช่นนั้นแล้ว ยังไม่ละ
ความเพียรแสวงหาธรรมที่ยิ่งขึ้นไป มีฌานและวิปัสสนา
เป็นต้น อาการของกุลบุตรในศาสนาต่างกันอย่างนี้
ปุ. การที่ศึกษาเล่าเรียนพอยังลาภและยศให้เกิดได้แล้ว
และยินดี หรือผู้มีความยินดีแต่เพียงศีลเท่านั้น ข้าพเจ้า
ได้เห็นแล้วและเข้าใจแล้ว แต่สมาธิความทำใจให้หยุด
นั้นทำอย่างไร มีอะไรเป็นลักษณะ ขอท่านแสดง
ให้ละเอียด พอให้ข้าพเจ้าเข้าใจบ้างจะได้ปฏิบัติตาม ?
วิ. ท่านจงตั้งใจฟัง ข้าพเจ้า
จะชักกัมมัฏฐานสักข้อหนึ่งมาแสดง สมาธิจะเกิดขึ้นก็
ต้องอาศัยยึดหน่วงปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ กุลบุตร
ผู้มีศรัทธาอยากจะเจริญสมถกัมมัฏฐาน ยังสมาธิ
ให้เกิดขึ้น พึงทำตนให้บริบูรณ์ด้วยศีลก่อน เบื้องหน้าแต่
นั้น เมื่อตนยังมีปัญญาอ่อน ยัง
ไม่เคยเจริญสมถกัมมัฏฐาน พึงปั้นวงกสิณ
ด้วยดินกว้างคืบ ๔ นิ้ว ขัดให้ราบดังหน้ากลอง มาตั้งไว้
ในที่เฉพาะหน้า ห่างประมาณ ๒ ศอกคืบ พึงเพ่งดวงกสิณ
บริกรรมว่า ปฐวี ปฐวี ท่านเรียกว่าบริกรรมภาวนา
ตัววงกสิณเรียกว่า บริกรรมนิมิต
เมื่อกสิณนิมิตติดตาปรากฏ
หลับตาก็แลเห็นวงกสิณปรากฏชัด เรียกว่าอุคคหนิมิต
ภาวนาวิธี เรียกว่าบริกรรมสมาธิ ครั้นอารมณ์แนบแน่น
เป็นสมาธิแล้ว พึงบริกรรมสมาธิไว้ในอุคคหนิมิต
พยายามสืบไปจนอารมณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยภาวนาวิธี
นั้นปรากฏมีสีสงบอยู่ภายในใจ จนได้ส่วนอธิษฐานให้
ใหญ่ให้เล็กก็ได้ตามประสงค์ เรียกว่าปฏิภาคนิมิต แต่
นั้นอุปจารสมาธิที่เป็นกามาวจรที่ละนิวรณ์ได้ ก็เกิดขึ้น
เป็นตทังคปหาน สำเร็จตามประสงค์ของกุลบุตร
กุลบุตรพึงตั้งอุปจารสมาธิไว้ในปฏิภาคนิมิต
พยายามสืบไปก็จะได้รูปาวจรปฐมฌานเป็นต้น
เป็นอัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จะทำสมาธิ
และตัวสมาธิมีนัยอย่างนี้ แสดงโดยย่อพอเป็นตัวอย่าง
ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งปวง
ปุ. สมาธิเมื่อทำให้เกิดมีขึ้นแล้วมีคุณอย่างไร ?
วิ. คุณเกิดแต่สมาธิมากไม่มีที่สุด คุณอย่างยิ่งนั้นคือ
เป็นเหตุที่จะให้ได้ปัญญา อีกอย่างหนึ่ง
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ นั้นอาศัยใจฟุ้งซ่านไม่มีที่แห่ง
ใดจอด ถ้าใจสงบอยู่ใต้บังคับแล้วย่อมมีความสุขมาก
ดังคนมีเหย้าเรือนไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ได้ความลำบาก
กลับมาถึงย่อมมีข้าวกินมีเรือนอยู่ ได้ความสุขในระหว่าง
ๆ ตามควร
ปุ. ญาณทัสสนะ ที่เป็นคุณเบื้องบนของสมาธินั้น
เป็นอย่างไร ? ข้าพเจ้ามีความเข้าใจว่า ญาณทัสสนะ
เป็นผลของฌาน เหตุไฉนจึงแสดงญาณทัสสนะต่อสมาธิ
แล้วแสดงรูปฌานไว้เบื้องหลัง น่าสงสัยนัก ที่นี้ประสงค์
ความรู้ความเห็นอย่างไร ที่ได้ชื่อว่าญาณทัสสนะ ?
วิ. ญาณทัสสนะความรู้ความเห็น
เป็นคุณเบื้องบนของสมาธิ ในที่นี้ก็ต้องอาศัยฌาน
เป็นผลมาจากญาน อย่างความเห็นของท่านนั้นเอง
แต่ประสงค์ความเห็นส่วนโลกีย์ คืออภิญญา ๕ เท่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 10:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปุ. อภิญญาความรู้ยิ่ง ๕ อย่างส่วนโลกีย์ นับว่า
เป็นญาณทัสสนะในที่นี้เป็นอย่างไร คืออะไรบ้าง ?
วิ. ประสงค์อิทธิฤทธิ์ สำเร็จด้วยอธิษฐาน
คือคนคนเดียวอธิษฐานให้เป็นคนมาก คนมากให้
เป็นคนเดียวเป็นต้น ๑ ทิพพโสต ทำโสตให้เป็นทิพย์
สามารถจะฟัง ณ ที่ใกล้ไกลได้ตามประสงค์ ๑
ปรจิตตวิชชา รู้วารจิตของผู้อื่นว่า ผู้นั้นมีอารมณ์อย่างนั้น
คิดการอย่างนั้นเป็นต้น ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติ
ระลึกชาติหนหลังได้เป็นลำดับ ตลอดสังวัฏฏกัปวิวัฏฏกัป
๑ ทิพพจักขุ ทำจักษุให้เป็นทิพย์ นึกจะดูสิ่งใดก็เห็น
ทั่วโลก ๑ ความรู้ความเห็น ๕ อย่างนี้
เรียกว่าญาณทัสสนะ เป็นผลมาจากเหตุคือสมาธิ
การที่ท่านแสดงญาณทัสสนะก่อนรูปฌานอรูปฌานนั้น
เพราะความรู้ยิ่ง ๕ อย่างนั้น ยังไม่เป็นตัววิปัสสนาญาณ
ความรู้ความเห็นเช่นนั้น
ยังห่างต่อการละกิเลสมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น
เป็นโลกิยปัญญาสัมปยุตด้วยโลกิยจิตโดยส่วนเดียว
ท่านพึงเข้าใจเถิด
ปุ. รูปฌาน อรูปฌาน ซึ่งเป็นธรรมยิ่งกว่าญาณทัสสนะ
นั้นมีลักษณะอย่างไร ?
วิ. รูปฌานและอรูปฌานนั้นท่านแสดงโดยพระบาลี ก็ได้
ความชัดเจนแล้ว รูปฌานที่ ๑ ละนิวรณ์ ๕ ประกอบ
ด้วยองค์ ๕ คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา รูปฌานที่ ๒
มีองค์ ๓ ละส่วนหยาบคือวิตกวิจารเสีย มีแต่ปีติ สุข
เอกัคคตา รูปฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ ละส่วนหยาบคือปีติเสีย
มีแต่สุข เอกัคคตา รูปฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ ละ
ส่วนหยาบคือสุขเสีย มีแต่อุเบกขากับเอกัคคตา
อรูปฌานที่ ๑ คือล่วงสัญญาในรูปเสีย ไม่มีสัญญา
เป็นเครื่องกระทบในที่ทั้งปวง ทำในใจว่าอากาศ
ไม่มีที่สุดดังนี้เป็นอารมณ์ บรรลุอรูปฌานที่ ๑
ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๒
คือล่วงอากาสานัญจายตนะเสีย ทำในใจว่าวิญญาณ
ไม่มีที่สุดดังนี้เป็นอารมณ์ จนบรรลุอรูปฌานที่ ๒
ชื่อว่าวิญญาณัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๓
คือล่วงวิญญาณัญจายตนะเสีย ทำในใจว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ไม่มีดังนี้เป็นอารมณ์ จนบรรลุอรูปฌานที่ ๓
ชื่ออากิญจัญญายตนะ อรูปฌานที่ ๔
คือล่วงอากิญจัญญายตนะเสีย บรรลุอรูปฌานที่ ๔
ชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ รูปฌาน
และอรูปฌานมีลักษณะต่างกันอย่างนี้ ที่ว่า
เป็นธรรมยิ่งกว่าญาณทัสสนะนั้นเพราะฌานทั้ง ๘ นี้
เป็นบาทที่ตั้งแห่งวิปัสสนาญาณ
ปุ. สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นธรรมดับสัญญาและเวทนา
เป็นธรรมยิ่งกว่าญาณทัสสนะนั้นเป็นอย่างไร มีอะไร
เป็นลักษณะ ?
วิ. สัญญาเวทยิตนิโรธนั้น เป็นธรรมประณีตละเอียด
เป็นนิสัยของพระอนาคามีพระอรหันต์ชั้นสูงจึงจะเข้าได้
ลักษณะจะเข้านั้นท่านแสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า
เมื่อพระอนาคามีพระอรหันต์จะเข้านิโรธ ต้อง
เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะสองขณะจิต
เมื่ออัปปนาชวนะอันชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะเกิดขึ้น
ในสันดานของพระอนาคามีพระอรหันต์สองขณะจิตแล้ว
เบื้องหน้าแต่นั้น วจีสังขาร คือวิตกวิจารดับก่อนแล้ว
กายสังขารคือลมหายใจเข้าออกจึงดับ แล้วจิตตสังขาร
คือสัญญาและเวทนาจึงดับ เมื่อสัญญาและเวทนาดับแล้ว
ก็เรียกกันว่าพระอริยเจ้าเข้านิโรธสมาบัติในกาลนั้นดังนี้
ในสัญญาเวทยิตนิโรธนี้มีความดับแห่งกายสังขาร
วจีสังขาร จิตตสังขาร เป็นลักษณะ
ปุ. นิโรธสมาบัติมีคุณอย่างไร ?
วิ. ปัญหาของท่านลึกนัก ใช่วิสัยที่ข้าพเจ้าจะวิสัชนาได้
เพราะเป็นภูมิของพระอริยเจ้า
ปุ. ความเห็นของท่านเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าขอฟัง
ความเห็นของท่าน ?
วิ. ความเห็นของข้าพเจ้าเป็นแต่อนุมาน
ข้าพเจ้าเห็นว่าพระอริยบุคคลนั้น เมื่อท่าน
ได้สำเร็จอริยมรรคอริยผลแล้วกิเลสดับไป
ชื่อว่ากิเลสนิพพาน นามธรรมของท่านตายจากภูมิโลกิยะ
เกิดใหม่กลายเป็นโลกุตระไป ท่านก็ได้เสวยสุขไม่มี
ส่วนเปรียบ เพราะนามธรรมได้สำเร็จโลกุตระ
ส่วนรูปธรรมของท่านคงยังเป็นโลกิยธรรมอยู่ สิ่งใดที่
เป็นโลกิยธรรมอยู่แล้ว สิ่งนั้นย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ต่าง
ๆ ถึงนามธรรมเป็นโลกุตระมีความสุขก็จริง แต่รูปธรรม
ยังเป็นโลกิยธรรมอยู่ สามารถจะนำความทุกข์มาให้ได้
ท่านจึงคิดตัดความทุกข์เสีย คือทำเวทนาสัญญาให้ดับ
เมื่อเวทนาสัญญาดับจากรูปธรรมอันใด รูปธรรมอันนั้น
ไม่มีอำนาจที่จะนำความทุกข์ที่เรียกว่าวิบากขันธ์
ให้เกิดขึ้นได้ ท่านย่อมเสวยวิมุติสุขที่เกิดแต่สมาบัติ
คือเสวยสุขที่เป็นรสของพระนิพพาน ไม่มีความสุขอื่นที่
จะเทียมถึง ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้
ปุ. โลกิยฌาน โลกุตรฌาน ต่างกันอย่างไร ?
วิ. ไม่ต่างกัน อันเดียวกันนั่นเอง ถ้าสัมปยุต
ด้วยโลกิยจิตเรียกว่า โลกิยฌาน ถ้าสัมปยุต
ด้วยโลกุตรจิต เรียกว่าโลกุตรฌาน ต่างกันด้วยจิตเท่า
นั้น
ปุ. รูปารูปฌานเป็นบาทของวิปัสสนานั้นคืออย่างไร
ตัววิปัสสนานั้นเป็นอย่างไร ?
วิ. ข้อนี้จะต้องพูดมาก ท่านจงตั้งใจฟังให้เข้าใจ แล้ว
ต้องปฏิบัติตามให้สำเร็จประโยชน์ วิปัสสนานั้นเป็นผลมา
จากอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ สมาธิเป็นผลมา
จากศีล ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนานั้น จะต้องปฏิบัติให้เป็น
ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ให้เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์เสียก่อน วิสุทธิ ๕
ประการ ท่านเรียกว่าตัววิปัสสนา ที่ ๑ คือ
ความบริสุทธิ์ของความเห็น ที่ ๒ คือ
ความบริสุทธิ์ของปัญญาที่เห็นชัดข้ามความสงสัยเสียได้
ที่ ๓ คือความบริสุทธิ์ของความรู้จริงเห็นจริงว่านี่เป็นทาง
และมิใช่ทาง ที่ ๔ คือความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็น
เป็นข้อปฏิบัติให้อริยมรรคเกิดขึ้น ที่คำรบ ๕ คือ
ความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็นซึ่งเป็นโลกุตระ
คือรู้เห็นในมรรคทั้ง ๔ ที่ว่าฌานเป็นบาทที่ตั้งของ
ความรู้วิปัสสนานั้นดังนี้ ผู้บำเพ็ญเพียรถ้าได้ฌานแล้ว
ย่อมทำฌานที่ตนได้ให้เป็นบาทของวิปัสสนา คือออก
จากฌานแล้วกำหนดองค์ฌาน ทั้งสัมปยุตธรรมที่เกิดกับ
ด้วยองค์ฌานนั้น จนเห็นชัดด้วยใจว่า องค์ฌาน
และสัมปยุตธรรมเหล่านี้เป็นนามธรรม จึง
ค้นหาที่อาศัยของนามธรรมนั้น เห็นหทัยรูป
เป็นที่อาศัยของนามธรรมนั้น มหาภูตรูปและอุปาทายรูป
เป็นที่อาศัยของหทัยรูปนั้น จนสันนิษฐานเข้าใจชัดว่า
หทัยรูป มหาภูตรูปและอุปาทายรูปเหล่านี้ เป็นรูปธรรม
เมื่อมากำหนดนามและรูป เห็นชัดตามเป็นจริงอย่างไร
ละสัตตูปลัทธิและสัตตสัญญาเสียได้ ตั้งอยู่ในความเป็น
ผู้ไม่หลงในบัญญัติว่าสัตว์ ว่าบุคคล ว่าตัวว่าตน
ว่าเทวดาพรหมฉะนี้แล้ว ความเห็นของผู้บำเพ็ญเพียรนั้น
ก็บริสุทธิ์ด้วยดี เป็นตัววิปัสสนาที่ ๑ ขึ้นได้ ท่านพึง
เข้าใจเถิดว่า รูปารูปฌานเป็นบาทที่ตั้งของวิปัสสนานั้น
มีนิทัสสนะดังข้าพเจ้าแสดงมานี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 10:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปุ. ก็ความเห็นว่าตัวตนสัตว์บุคคลไม่มี มีแต่นาม
กับรูปอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป
ละสัตตูปลัทธิสัตตสัญญาเสียได้ ความเห็นก็บริสุทธิ์
ชื่อทิฏฐิวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาที่ ๑ ขึ้นแล้ว ก็วิปัสสนาที่ ๒
นั้นอย่างไร ?
วิ. เมื่อผู้เจริญวิปัสสนาได้สำเร็จวิปัสสนาที่ ๑ แล้ว
ประสงค์จะทำวิปัสสนาที่ ๒ ให้เกิด ต้องอาศัยวิปัสสนาที่
๑ พึงพิจารณานามรูปที่เห็นแล้วนั้นเป็นอารมณ์
ค้นหาเหตุปัจจัยของนามและรูป ว่านามรูปเป็นผลมา
จากไหน กรรมคือกุศลากุศลเป็นตัวเหตุก่อ
ให้เกิดผลคือนามรูป กุศลากุศลเป็นผลมาจากไหน
อุปาทานเชื้อเครื่องยึดมั่น คือฉันทราคะเป็นตัวเหตุ
ให้เกิดผลคือกุศลากุศล อุปาทานเป็นผลมาจากไหน
ตัณหาความอยากเป็นตัวเหตุก่อให้เกิดผลคืออุปาทาน
ตัณหาเป็นผลมาจากไหน อวิชชาความไม่รู้จริง
เป็นตัวเหตุก่อให้เกิดผลคือตัณหา
เมื่อพิจารณาเห็นนามรูปที่เป็นปัจจุบันนี้ อาศัยอวิชชา
ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นปัจจัยเกิดขึ้น เมื่ออวิชชา
ตัณหาอุปาทาน กรรม ยังมีเป็นเชื้ออยู่ นามรูปนี้ถึงสิ้น
แล้วก็จะต้องเกิดอีก ก่อนแต่นามรูปที่เป็นปัจจุบันนี้ก็คงมี
เป็นแท้ ไม่ต้องสงสัย เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
กรรม ที่เป็นเชื้อเนื่องมาเห็นปรากฏอยู่ เมื่อเห็นชัดอย่างนี้
แล้ว ความสงสัยในกาลทั้ง ๓ ว่าชาติก่อนมีหรือ
ชาตินี้มาแต่ไหน ตายแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ ก็สิ้นไป
ชื่อว่ากังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาที่ ๒
ปุ. วิปัสสนาที่ ๓ เป็นอย่างไร มีอะไรเป็นอารมณ์ ?
วิ. มีวิปัสสนาที่ ๒ เป็นอารมณ์
ผู้บำเพ็ญเพียรมากำหนดรู้จักเหตุปัจจัยของนามรูปแจ้งชัด
จนข้ามความสงสัยได้ด้วยดีฉะนั้นแล้ว
ควรเจริญวิปัสสนาต่อไป ถึงพิจารณานามรูปทั้งปัจจัย ที่
เป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน เห็นเป็นของไม่เที่ยง ด้วย
ความเกิดความดับสิ้นไปในกาลนั้น ส่วนอดีตก็สิ้นไป
ในอดีต ส่วนอนาคตก็จักสิ้นไปในอนาคต ส่วน
ในปัจจุบันก็สิ้นไปในปัจจุบัน ส่วนภาย
ในภายนอกหยาบละเอียดก็สิ้นไปตามส่วนของตน ๆ
ไม่ล่วงกาลได้ นามรูปเป็นของไม่เที่ยงอย่างนี้ สิ่งที่
ไม่เที่ยงยักย้ายแปรผันอยู่แล้ว ย่อมเป็นทุกข์
เพราะทนยาก สิ่งใดที่เป็นทุกข์ทนยาก สิ่งนั้นไม่
ใช่ของเรา เมื่อตั้งความเพียรปรารภวิปัสสนา
ด้วยดีอย่างนี้แล้ว แต่นั้นแสงสว่างเกิดแต่วิปัสสนาจิต
ซ่านออกจากสรีรกายเกิดขึ้น ๑ ปีติซ่านไป
ทั่วสรีรกายเกิดขึ้น ๑ ปัญญาเห็นนาม
และรูปแจ้งชัดเกิดขึ้น ๑ กาย
และจิตสงบระงับกระวนกระวายเสียได้เกิดขึ้น ๑ สุข
เป็นไปในกายและจิตอันประณีตนักเกิดขึ้น ๑
ความน้อมนึกมั่นมีกำลังผ่องใสของจิต
และเจตสิกยิ่งนักเกิดขึ้น ๑ ความเพียรไม่ยิ่งไม่หย่อน
เป็นไปในอารมณ์เสมออยู่ได้เกิดขึ้น ๑ สติตั้งมั่น
รักษาอารมณ์ไว้ ทำให้เห็นชัดด้วยดีเกิดขึ้น ๑
ความมัธยัสถ์ในสังขารทั้งสิ้นมีกำลังกล้านักเกิดขึ้น ๑
ความรักใคร่มีอาการละเอียด ทำความอาลัย
ในวิปัสสนากล้านักเกิดขึ้น ๑ ธรรม ๑๐
อย่างนี้เมื่อเกิดขึ้นมักทำใจเสียไป
สำคัญว่ามรรคผลเกิดขึ้นแก่ตน เพราะเหตุนี้ ท่าน
จึงเรียกว่า เครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา เมื่ออุปกิเลส
๑๐ อย่างนี้เกิดขึ้น พึงตัดสินว่า ไม่ใช่ทางมรรคทางผล
ไม่ใช่ทางวิปัสสนาแล้ว ไม่ละความเพียร จนเกิดความรู้
ความเห็นชัดเจน ตัดสินได้ด้วยตนว่า นี้ทางมรรคทางผล
นี้ไม่ใช่ทางมรรคทางผลเกิดขึ้น
ชื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาที่ ๓
ปุ. วิปัสสนาที่ ๔ นั้นเป็นอย่างไร อาศัยอะไร
เป็นอารมณ์ ?
วิ. วิปัสสนาที่ ๔ อาศัยวิปัสสนาที่ ๓ เป็นอารมณ์
ผู้ทำมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว
วินิจฉัยได้ชัดว่านี่เป็นอริยมรรค นี่เป็นอุปกิเลสมิ
ใช่อริยมรรค ฉะนี้แล้ว ควรเจริญวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ที่ ๑
คือน้อมจิตสู่ปัญญา หยั่งรู้ความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมสิ้นดับไปของนามรูปชื่ออุทยัพพยญาณ ที่ ๒
คือปัญญาปล่อยเหตุความเกิดเสีย พิจารณาแต่ผลคือ
ความเสื่อมสิ้นของนามรูปว่า นามรูปย่อมแตกดับไป
เป็นธรรมดา ชื่อภังคญาณ ที่ ๓ คือปัญญาอันหยั่งรู้
ความแตกดับไปของสังขารแก่กล้า จนสังขารเหล่า
นั้นปรากฏเป็นภัยใหญ่น่ากลัว ดังเรือนไฟไหม้
ชื่อภยตูปัฎฐานญาณ ที่ ๔ คือทำในใจ
โดยอุบายอันแยบคาย ในภยตูปัฏฐานญาณ
จนปัญญาที่เห็นโทษของสังขารเหล่านั้นแก่กล้า สิ้น
ความยินดียิ่งในสังขารเหล่านั้น ชื่ออาทีนวญาณ ที่ ๕
คือปัญญาของผู้เจริญอาทีนวญาณแก่กล้าจนเกิด
ความเหนื่อยหน่ายชิงชังในสังขารทั้งสิ้น
ชื่อนิพพิทาญาณ ที่ ๖ คือปัญญาที่เหนื่อยหน่ายชิงชัง
ในสังขารเหล่านั้นมีกำลังกล้ายิ่งนัก จนอยากจะใคร่พ้น
จะใคร่ปลดเปลื้องออกจากสังขารเหล่านั้น
ชื่อมุญจิตุกามยตาญาณ ที่ ๗ คือปัญญาที่คิด
จะปลดเปลื้องออกจากสังขารเกิดขึ้นกล้ายิ่งนัก
จึงยกสังขารเหล่านั้นขึ้นสู่ไตรลักษณ์กำหนดพิจารณา
โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน
ปัญญาอันพิจารณาแสวงอุบายเพื่อจะปลดเปลื้องออก
จากสังขารดังนี้ ชื่อปฏิสังขารญาณ ที่ ๘ คือปัญญาที่
จะพิจารณายกสังขารขึ้นสู่ไตรลักษณ์จนเห็นชัดว่า
เป็นสภาพว่าง คือว่างจากตัว ว่างจากของของตัว ตัวก็
ไม่มี ของตัวก็ไม่มี ผู้อื่นก็ไม่มี มีแต่สังขารอย่างเดียวเท่า
นั้นทั่วกันหมด แล้วมากำหนดสังขารทั้งสิ้นโดยลักษณะ
ทั้ง ๓ ซ้ำอีก จิตของผู้นั้นก็สิ้นกลัวสิ้นสะดุ้งสิ้นรักใคร่
เป็นมัธยัสถ์ในสังขารเหล่านั้น ชื่อสังขารุเปกขาญาณ นี้
เป็นยอดของวิปัสสนาญาณทั้งสิ้น ที่ ๙
คือปัญญาที่ส้องเสพสังขารุเปกขาญาณนั้นแก่กล้า
จึงเกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และสังขารุเปกขาแก่กล้า
ด้วย ในขณะนั้น สังขารุเปกขาวิปัสสนาเกิดขึ้น
พิจารณาสังขารโดยลักษณะทั้ง ๓ อันใดอันหนึ่ง
เป็นอารมณ์ แล้วตกลงสู่ภวังค์ ในลำดับของภวังค์นั้น
มโนทวารวัชชนะเกิดขึ้น ๓ ครั้ง ที่ ๑ ชื่อบริกรรม ที่ ๒
ชื่ออุปจาร ที่ ๓ ชื่ออนุโลม ก็อนุโลมชวนะนี้
ชื่ออนุโลมญาณบ้าง เพราะอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม
๓๗ ที่เป็นทางปฏิบัติ วิปัสสนาญาณทั้ง ๙
มีอุทยัพพยญาณเป็นต้น มีอนุโลมญาณเป็นที่สุด
ชื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นตัววิปัสสนาที่ ๔
โคตรภูญาณอยู่ระหว่างกลางวิปัสสนาที่ ๔ ที่ ๕
ท่านก็นับว่าเป็นวิปัสสนาเหมือนกัน แต่
เป็นวิปัสสนาวิเศษอย่างหนึ่ง
จะนับว่าก้าวล่วงโคตรปุถุชนทีเดียวก็ยังไม่ได้
จะนับว่าหยั่งลงสู่โคตรพระอริยเจ้าแล้วก็ยังไม่ได้
แต่หน่วงเหนี่ยวเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
ปัญญาที่พิจารณาสังขารแต่เบื้องต้นจนถึงโคตรภูญาณ
เป็นส่วนภาวนามัยกามาพจรกุศล ท่านพึงเข้าใจเถิด
ปุ. ตัววิปัสสนาที่ ๕ นั้นเป็นอย่างไร ?
วิ. วิปัสสนาที่ ๕ นั้นคือ มรรคจิตที่บังเกิดขึ้นต่อโคตรภูจิต
มรรคจิตกำหนดทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง
เจริญมรรคให้เกิดขึ้น ทำกิจในสัจจะทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้น
ทำลายกิเลสตามกำลังของตน ๆ ความรู้
ความเห็นที่ประกอบด้วยอริยมรรคทั้ง ๔
มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ
เป็นตัววิปัสสนาที่ ๕ เป็นยอดของวิปัสสนาทั้งสิ้น
ปุ. ในพระสูตรนี้ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าพรหมจรรย์นี้จะมีลาภ ยศ
ศีล สมาธิ ญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ก็หาไม่ มีเจโตวิมุตติ
เป็นประโยชน์ เป็นแก่นสาร เป็นที่สุดรอบอย่างนี้ ก็วิมุตติ
ซึ่งเป็นแก่นสารของพรหมจรรย์นั้นเป็นอย่างไร ?
วิ. วิมุตติมี ๕ อย่าง คือความพ้นพิเศษจากสมมติ
ด้วยการดำรงจิตในกุศลธรรม มีทาน ศีล
กัมมัฏฐานภาวนา เป็นต้น จนบรรลุอุปจารสมาธิเป็นที่สุด
ด้วยอำนาจองค์เป็นกุศลนั้น ๆ เป็นแต่กามาพจรพลันที่
จะกำเริบ ชื่อตทังควิมุตติ ๑ ความพ้นวิเศษจากสมมติ
ด้วยอำนาจอัปปนาสมาธิมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นเครื่องกด
ชื่อวิกขัมภนวิมุตติ ๑ วิมุตติทั้ง ๒ นี้ เป็น
ส่วนโลกิยะกำเริบได้ ความพ้นวิเศษจากสมมติ
ด้วยอำนาจพระอริยมรรคทั้ง ๔ ตัดกิเลส
นั้นขาดตามกำลัง ไม่กลับกำเริบได้อีก ชื่อสมุจเฉทวิมุตติ
๑ ความพ้นวิเศษจากสมมติด้วยอำนาจพระอริยผลทั้ง ๔
ระงับซ้ำกิเลสอันอริยมรรคตัดแล้วนั้น
ชื่อปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ๑ ความพ้นวิเศษจากสมมติ
ด้วยพระอนุปาทิเสสนิพพาน คือพ้นไปจากสรรพสังขาร
และสังสารทุกข์ทั้งปวง ชื่อนิสสรณวิมุตติ ๑ วิมุตติทั้ง ๒
นี้เป็นส่วนโลกุตตระไม่รู้กำเริบได้ วิมุตติทั้ง ๓
เบื้องปลายนี้แลเป็นรสของพรหมจรรย์
เป็นแก่นสารของพรหมจรรย์ เป็นที่สุดของพรหมจรรย์
ในพระพุทธศาสนานี้แล.
.....................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 10:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(จดหมายถึงเจ้าพระคุณ)
ขอนอบน้อมนมัสการท่าน
การที่เจ้าคุณชี้แจงแนะนำมา ดิฉันได้เกิด
ความเลื่อมใสยิ่งขึ้นเป็นอันมาก รู้สึกเป็นลาภมากที่ได้
ถึงเจ้าคุณ และได้รับอนุญาตให้เรียนถามได้
ดิฉันขอปวารณาต่อเจ้าคุณด้วยปัจจัยสี่ หรือกิจธุระอัน
ใดมี ขอเจ้าคุณได้โปรดบอกให้ทราบ ดิฉันจะได้
ช่วยขวนขวายตามความสามารถตลอดชีวิต
หนังสือตอบปัญหา “กลิ้งครกขึ้นเขา” นั้น ดิฉัน
จะขออนุญาตให้แม่ลิ้นจี่เป็นเจ้าของ ก็เท่ากับพิมพ์ขึ้น
โดยเปิดเผย ไม่สมควร จึงได้อนุญาตต้นฉบับให้ว่า “
ถ้ามีพวกพ้องคนใดอ่านชอบ จะขอไปพิมพ์โดยออกตัว
ได้ก็ให้ ๆ ต้นฉบับไปอีกต่อหนึ่งได้” บัดนี้หนังสือนั้นก็
ได้พิมพ์ขึ้นแล้ว ดิฉันได้เซ็นนาม “กัลญาณมิตร” ไว้ โดย
เป็นนามสกุลทางมารดา จะเซ็นว่า “จักรี” ก็ไม่เหมาะ หรือ
จะหมายความว่า เป็นกัลยาณมิตรของแม่ลิ้นจี่ก็ได้
ดิฉันได้ตรองตามที่เจ้าคุณชี้แจงแนะนำมา ได้ความรู้ว่า
รูปธรรมนามธรรมทั้งปวง ตลอดจนพระนิพพาน
ประชุมพร้อมสกลกายนี้เป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุตั้ง
อยู่ที่ตัวธรรมฐิติตัวปัจจุบัน ธรรมเงื่อนใดที่ไม่ปรากฏ
เพราะขาดธรรมนิยามในธรรมเงื่อนนั้น
ส่วนสติปัฏฐานนั้น เมื่อสติตั้งที่กาย กายก็
เป็นอารมณ์ของสติ แล้วพิจารณาเห็นกายว่า
เป็นอาการของความรู้สึกเสวย สติก็ถอยมาที่เวทนา
เวทนาก็เป็นอารมณ์ของสติ กายจึงกลายเป็นเวทนาไป
แล้วพิจารณาเห็นเป็นอาการของจิต สติก็ถอยมาที่จิต
จิตคิดรู้ก็เป็นอารมณ์ของสติ เวทนาจึงกลายเป็นจิตไป
แล้วพิจารณาจิต เห็นเป็นอาการของความรู้ รู้สึกว่า
ความรู้มีอยู่ สติก็ถอยมาที่สภาพรู้เป็นธรรม สภาพรู้
เป็นธรรมก็เป็นอารมณ์ของสติ จิตก็กลายเป็นธรรมไป
เมื่อความรู้เป็นธรรม รู้สึกว่าสภาพรู้มีอยู่เป็นปัจจุบัน
และรู้ว่าอดีตอนาคตมีที่ปัจจุบัน อดีตอนาคตจึงกลาย
เป็นปัจจุบันไป จิตเป็นอุเบกขาอยู่กับความรู้สึกเต็มตัว
คือสติปัฏฐานประชุมกันเป็นธรรมธาตุ ธรรมธาตุเป็นตัว
เมื่อพิจารณานามรูปว่าปรากฏมีได้ที่ธรรมฐิติ
ตัวปัจจุบันธรรมแล้ว กำหนดทุกข์ที่ปัจจุบัน
เห็นอารมณ์ที่ดิ้นที่ส่ายว่าเป็นทุกขสมุทัยเป็นตัวธรรมธาตุ
เมื่อทำปัจจุบันให้ชัดขึ้น อารมณ์หยุดดิ้น ตัวถอยมา
เป็นธรรมฐิติ และพิจารณาความที่กำหนดรู้ทุกข์
และสมุทัยว่า รู้ได้ด้วยธรรมนิยามอันเป็นไปในปัจจุบัน
จึงเป็นนิโรธของมรรค สมุทัยกลายเป็นนิโรธ ธรรมธาตุ
เป็นทุกข์ เป็นสมุทัย หรือเป็นศีล ธรรมฐิติเป็นมรรคหรือ
เป็นสมาธิ ธรรมนิยามเป็นนิโรธหรือเป็นปัญญา แต่ตัวนั้น
ยังอยู่กับธรรมฐิติ เพราะดับสมุทัยได้ด้วย
ความยึดธรรมฐิติไว้ เมื่อความยึดผ่อนให้อ่อนลง
เห็นธรรมฐิติเป็นทุกข์ มีความยึดเป็นสมุทัย
เป็นอารมณ์ของธรรมนิยาม ตัวธรรมนิยามเป็น
ความรู้ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมธาตุ ธรรมนิยามก็
ต้องมีที่ธรรมฐิติ มีอยู่ด้วยกัน แต่ธรรมนิยามเป็นผู้รู้
ตนก็กลายเป็นธรรมนิยามเป็นนิโรธ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธก็มีที่ปัจจุบัน เป็นมรรคเพราะความยึดติดต่อกัน
ธรรมธาตุจึงกลายเป็นอนิจจัง ธรรมฐิติเป็นทุกขัง
ธรรมนิยามเป็นอนัตตา ตนจึงกลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา จึงเข้าใจว่า ตนที่อยู่กับธรรมธาตุธรรมฐิติ
ธรรมนิยาม เป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา รู้
เท่ากาม ภวะ วิภวะ ว่าเป็นสภาพธรรมมีอยู่
เป็นธรรมฐิติอย่างนั้นเอง ตนก็กลายเป็นความรู้ความเห็น
ที่เห็นว่าธรรมธาตุเป็นสภาพธรรมทั้งปวง มีธรรมฐิติเป็น
ผู้ทรงไว้ มีธรรมนิยามเป็นผู้รับรู้ ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ
ธรรมนิยาม ก็เป็นสภาพอันเป็นอยู่ตามส่วนของตน
ไม่ติดต่อกัน เพราะความติดต่อกันนั่นเอง สังขารจึงปรุง
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อความยึดอันเป็นเหตุติดต่อ
กันเป็นอดีตอนาคตไม่มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็
เป็นสภาพธรรมปรากฏที่ปัจจุบัน ไม่มีอาการเกิด
สังขารปรุงไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องกลายเป็น
ความเที่ยง คือจึงยืนที่อยู่ตามสภาพของธรรม เป็นสุข
เพราะไม่มีใครจะรับทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพสมมติ
และสภาพวิมุตติ ธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม
อันสังขารปรุงตนไม่ได้ ตนอันไม่มีอะไรปรุงได้ จึง
ได้ชื่อว่า วิสังขาร ธรรมธาตุก็คงยังเป็นสีลขันธ์อยู่อย่าง
นั้น ธรรมนิยามก็คงเป็นปัญญาขันธ์อยู่อย่างนั้น อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา จึงกลายเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ขันธ์
จึงกลายเป็นสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ธรรมธาตุก็
เป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ธรรมฐิติก็
เป็นสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ธรรมนิยามก็
เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป
ที่ชี้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ปะปนกัน แล้วชี้ความรวมนั้น ประสงค์
ความว่าแต่เดิม ขันธ์เป็นกิเลส กิเลสเป็นขันธ์
ครั้นพิจารณาแยกขันธ์ออกเป็นส่วน จึงเห็นขันธ์คง
เป็นขันธ์ ครั้นพิจารณาธรรมว่าชี้ลงที่ขันธ์
จึงเห็นขันธ์ประชุมเป็นธรรม ธรรมเป็นขันธ์ ที่ยัง
เป็นห่วงขันธ์นั้น เพราะตนยังอยู่กับขันธ์ สำคัญหมายว่า
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตน ติดศีล สมาธิ ปัญญา กลับตัว
ไม่ได้
ส่วนอดีตอนาคตที่ว่าดับ เพราะเห็นว่าเป็นของมีที่ปัจจุบัน
เป็นสัญญา เป็นสัญญาในเรื่องอดีตอนาคตไม่ปรากฏ
ขณะนั้นรู้สึกว่าเป็นปัจจุบัน จึงว่าอดีตอนาคตดับ
ดิฉันขอเรียนว่า เมื่อความเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว
รู้สึกตนว่าอาศัยเหตุประคองผล ยังต้องเป็นกังวลอยู่
จะพิจารณาต่อไป จึงจะทำเหตุให้กลายเป็นผลไปได้
ขอเจ้าคุณได้โปรดแนะนำ
ดิฉันขอถวายนมัสการด้วยความนับถือเป็นอย่างยิ่ง
(พระองค์เจ้าหญิง.........................)
..................
หมายเหตุ : พระศีลวรคุณ สันนิษฐานว่าจดหมายฉบับนี้
จะทรงแต่ง พ.ศ. ๒๔๕๘ เช่นเดียว
กับจดหมายตอบของเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าแต่ง พ.ศ. ๒๔๕๘ เพราะได้รับต้น
ฉบับพร้อมกับจดหมายของพระบุญ ที่ลงวันที่ ๑๕
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 12:38 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(จดหมายตอบ)
ขอถวายพระพร
ความเห็นในธรรมที่ทรงประทานไปนั้น ได้ตรวจตลอด
แล้ว เป็นความตรึกตรองละเอียดสุขุม
ที่อธิบายสติปัฏฐานนั้นแยบคายดี แต่ครั้นไป
ถึงธรรมานุปัสสนาชี้ตัวธรรมไม่ออก ความเห็นกลับเสีย
จึงแสดงโลกุตรธรรมไม่ได้
ลักษณะของโลกีย์แสดงผลคือทุกข์ ซ่อนเหตุคือสมุทัย
ลักษณะของโลกุตระแสดงเหตุคือมรรค ซ่อนผลคือนิโรธ
ที่แสดงธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยามให้เป็นผลซึ่งกัน
และกันนั้น ยังเป็นสภาพชั้นโลกีย์ ยังแตกใช้ไม่ได้
เพราะเหตุนั้น จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คือที่เห็นธรรมธาตุ เป็นศีล ธรรมฐิติ เป็นสมาธิ
ธรรมนิยาม เป็นปัญญา นั้นเองเป็นเครื่องหมาย จึงชี้ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ยังไม่กินใจ ที่แสดงว่าตนที่อยู่
กับธรรมธาตุ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม เป็นกามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา หมายความว่า ธรรมนั้นอันหนึ่ง ตน
นั้นอันหนึ่ง เพราะเหตุนั้น จึงเป็นตัณหาเป็นสมุทัย
จริงอย่างนั้น
แต่ทางแห่งพระโยคาวจรทั้งหลาย ที่ท่านเจริญสติปัฏฐาน
นั้น เมื่อเวทนาตัวเจตสิกและจิตตาตัวจิตแสดงตัวขึ้นได้
แล้ว รูปก็ดับ เมื่อสกลกายแสดงตัวขึ้นเป็นธรรมธาตุ
ธรรมนิยามได้แล้ว นามก็ดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เดินตามได้เพียงรูปเพียงนามเท่านั้น ส่วนธรรมธาตุ
ธรรมฐิติ ธรรมนิยามนั้น เป็นธรรมพ้นจากรูปจากนามแล้ว
และเป็นชื่อของอมตธรรมด้วย สติปัฏฐานก็ตรงกับจิต
เจตสิก รูป นิพพาน ในอภิธัมมัตถสังคหะ ธรรมธาตุ
ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม นั้นเป็นเววจนะต่างกันแต่ชื่อ
ความจริงเป็นอันเดียวกัน จึงเป็นอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา
เป็นอริยมรรค แสดงตัวคือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
เหนือกุศลกรรมบถด้วยวิถีจิต เมื่ออริยมรรคแสดงตัว
อยู่ทุกเมื่อแล้ว จะต้องประคองผลด้วยเหตุใด
เพราะมันย่อมแสดงผลอยู่เอง เช่นเดียวกัน
กับทุกข์แสดงสมุทัย
ที่กล่าวว่าเป็นห่วงขันธ์นั้น หมายความว่าขันธ์ ๕
เป็นชื่อของรูปของนาม ผู้เจริญสติปัฏฐานจนธรรมธาตุ
ธรรมฐิติ ธรรมนิยามแสดงตัวขึ้นได้แล้ว ขันธ์ ๕ จะตั้งอยู่
ได้ด้วยอย่างไร ถ้าขันธ์ ๕ ตั้งอยู่ได้ เราก็เป็นขันธ์ ๕ เท่า
นั้น หรือไม่เราก็อันหนึ่ง ขันธ์ ๕ ก็อันหนึ่ง ศีลก็อันหนึ่ง
สมาธิก็อันหนึ่ง ปัญญาก็อันหนึ่ง เราผู้รักษา
ผู้ประพฤติก็อันหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นโลกุตรธรรมก็มีโทษ
คือขันธ์เป็นอุปธิกิเลส หรือไม่โลกุตรธรรมก็มีนอก มีใน
มีได้ มีเสีย มีไป มีมา เท่านั้น
ในข้อที่ว่าอดีตอนาคตดับนั้น ก็คือหมาย
ความดับแห่งสัญญาอดีต ซึ่งเป็นชาติสมุทัยเท่านั้น
คือสภาพของกามาพจรมีลักษณะอย่างนี้ เกิดจริง แก่จริง
เจ็บจริง ตายจริง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาพอันหนึ่ง ๆ
ส่วนนี้สภาพโลกีย์ คือตัวสัญญาอดีต
ได้แก่ที่เราเล่าเรียนจำเจมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่วิชาของเรา
ไม่ใช่วิชาของพระ คืออดีตอนาคตมีอาการเกิด
มีอาการดับ มีอาการไป มีอาการมา ดังความเกิด
เป็นอดีตเราเกิดมาเสียแล้ว แก่ เจ็บ ตาย เป็นอนาคต
คือเราจักไปถึงแก่ ถึงเจ็บ ถึงตายวันหนึ่ง ปัจจุบันก็คือ
ความเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ผู้เห็นปัจจุบันก็คือเอาใจออก
จากอดีตอนาคต ผูกไว้ด้วยอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ก็
เข้าใจอดีตอนาคตดับ ตัวก็อยู่กับธรรมที่เป็นปัจจุบัน
แต่ปัจจุบันอาการนี้ อดีตเป็นผู้แต่ง คือเป็นผลมาแต่อดีต
ส่วนอนาคตนั้นปัจจุบันเป็นผู้แต่ง อนาคต
เป็นผลของปัจจุบัน ความรู้ความเห็นเหล่านี้เป็นสังขตะ
มีอวิชชาเป็นปัจจัยทั้งนั้น, ไม่พ้นจากตัณหา ๓ ได้ อดีต
อนาคต ปัจจุบัน โลกิยสภาพอาการนี้ดับลงได้แล้วเมื่อใด
กังขาวิตรณวิสุทธิก็แสดงตัวได้ เพราะ
เป็นปัจจุบันธรรมนี้เอง แต่ปัจจุบันนั้น
ไม่มีอาการไปอาการมา ปัจจุบันอาการนี้
เป็นพระไตรลักษณ์อยู่ในตัว แต่อย่าเข้าพระทัยว่า
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นพระไตรลักษณ์
คือปัจจุบันธรรมนั้นเองมีลักษณะ ๓ อดีตลักษณะ ๑
อนาคตลักษณะ ๑ ปัจจุบันลักษณะ ๑
คืออดีตอนาคตฉายออกไปแต่ปัจจุบัน ถ้าจะกล่าว
โดยโวหารก็คือ ปัจจุบันแต่งอดีตอนาคตเพราะปัจจุบัน
เป็นมรรค แต่อย่าเข้าพระทัยว่า มรรค
นั้นหมายวิถีจิตอย่างเดียว ต้องพร้อมด้วยสกลกาย
จะแบ่งสกลกายออกเป็น ๒ คือ เป็นโลกิยส่วน ๑
เป็นโลกุตรส่วน ๑ เป็นอันไม่ได้ คำที่ว่า สังขารดับ อย่า
เข้าพระทัยว่าสิ้นคิดสิ้นนึก ความคิดความนึกนั้นเอง
ถ้าอวิชชาเป็นปัจจัย ท่านให้ชื่อว่าสังขาร ความคิด
ความนึกนั้นเอง ถ้าวิชชาเป็นปัจจัย ท่าน
ให้ชื่อว่าสัมมาสังกัปโป เฉยไม่มีความรู้ ท่าน
ให้ชื่อว่าอุเบกขาญาณวิปปยุต เป็นอุเบกขาเวทนา เฉยมี
ความรู้ ท่านให้ชื่อว่าอุเบกขาญาณสัมปยุต
เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ที่ว่าสังขารปรุงไม่ได้
ด้วยกำลังของลักขณูปนิชฌาน อารัมมณูปนิชฌานนั้น ไม่
เป็นของอัศจรรย์นัก ท่านแสดงไว้ในธรรมคุณว่า
บรรดาสังขตธรรมและอสังขตธรรม มีวิราคธรรม
เป็นยอด บรรดาสังขตธรรมมีอัษฎางคิกมรรคเป็นยอด
ก็พระอริยมรรคยังเป็นสังขตะอยู่ เราจะนั่งกลัวอะไรกัน
เราหลีกแต่อปุญญาภิสังขารก็แล้วกัน
ที่อาตมภาพแสดงมาโดยยืดยาวนี้ ก็เพราะ
เข้าใจว่าพระเดชพระคุณจะทรงจริงเท่านั้น ความจริงก็
ไม่ยากไม่ง่าย พอคิดพอตรองของผู้ต้องการ แต่จะใช้
ความคิดความตรองโดยส่วนเดียวเห็นจะไม่ตลอด
เพราะทางที่ทรงอยู่นี้อาตมภาพได้เดินเข้าไปติดอยู่
แล้วหลายปี เมื่ออาตมภาพจะออกได้จากธรรมนั้น
เพราะมีความน้อยใจว่า เราก็ศึกษามามาก
ทั้งปฏิบัติก็มาก ความรู้ความเห็นก็ปรุโปร่ง จะพูดหรือ
จะแต่งหนังสือก็ได้โดยสะดวก แต่อาสวะหรือนิวรณ์ก็
ยังรู้สึกว่าทำใจให้เศร้าหมองได้อยู่ อะไรหนอก็ยังข้อง
อยู่ร่ำไป จึงคิดว่าความรู้ความเห็นที่เรารู้เราเห็นมานี้ เห็น
จะผิดไปแน่ เห็นจะใช้ไม่ได้ทีเดียว
จึงคิดเลิกถอนทุ่มเทจนหมด ถือว่าเราไม่มีความรู้อะไร
ตั้งเจตนาเลิกถอนความรู้ความเห็นของเก่าหมดทีเดียว
จับสติปัฏฐานตั้งต้นไปใหม่ อาศัยอานาปานสติ
เป็นหลักอย่างเดียว จะเกิดความคิดความนึกอะไร
ไม่เหลียวแล ตั้งกายคตาสติเป็นอารมณ์เท่านั้น แต่ทำ
อยู่อย่างนั้นนับด้วยเดือน ไม่ใช่นับด้วยวัน จนรู้สึกอารมณ์
รู้จักอายตนะที่ต่อ รู้จักสังโยชน์ที่ประสานกันของวัฏฏะ
รู้สึกอธิสีล อธิจิต อธิปัญญา รู้สึกสามัคคีธรรมขึ้นด้วย
ความทำ หาได้จัดได้ปรุงเอาไม่
ปัจจุบันธรรมมีอาการพร้อมด้วยพระไตรลักษณ์นี้
จึงแสดงตัว กังขาวิตรณวิสุทธิก็ผุดผ่อง อะไรหนอก็ดับลง
ได้ตามชั้นตามภูมิของตน จนวินิจฉัยกามาพจร รูปาพจร
อรูปาพจร โลกุตร ได้ในที่เดียวกัน
พระธรรมธีรราชมหามุนี (สิริจนฺโท จันทร์)
.....................
หมายเหตุ : พระศีลวรคุณ สันนิษฐานว่า จดหมายฉบับนี้
จะแต่ง พ.ศ. ๒๔๕๘ เพราะได้รับต้นฉบับคราวเดียวกัน
กับของพระบุญ.
.........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 22 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร