วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 22:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมตตสุตตกถา
อิทานิ อฏฺฐมีทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ
ธมฺมีกถา กถิยเต อิโต ปรํ กรณียมตฺถกุลเลน ยนฺตํ
สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจาติอาทิกํ เมตฺตานยปาฐํ ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ
โสตพฺโพติ.
..........ณ วันนี้ เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำแห่งปักขคณนา
พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
ได้มาสันนิบาตประชุมกัน เพื่อ
จะฟังพระธรรมเทศนา และได้กระทำกิจ
ในเบื้องต้น มีไหว้พระสวดมนต์สมาทานศีลเสร็จ
แล้ว ต่อนี้ไปเป็นโอกาสที่จะฟังพระธรรมเทศนา
ด้วยการฟังพระธรรมเทศนาเป็นของไม่จืดไม่จาง
ยิ่งฟังก็ยิ่งเกิดสติปัญญา รู้จักคุณและโทษ
ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ด้วยพุทธโอวาทแสดงแล้ว
ชี้ประโยชน์ที่สัตว์ต้องประสงค์ด้วยกันทั้งสิ้น ผู้ที่
ได้รับความเดือดร้อนนั้น ๆ ใช่ว่าจะปรารภนา
ความเดือดร้อนก็หาไม่ แต่เป็นผู้ไม่รู้จักเหตุที่จัก
ให้ผลเดือดร้อน คือตนปรารถนาสุขนั้นแหละ
แต่ไปทำเหตุที่จักให้เกิดทุกข์ ต่อเมื่อ
ความทุกข์เดือดร้อนมาถึงเข้า จึงรู้สึกตัวแก้ไม่ไหวเสีย
แล้ว ที่เป็นอย่างนี้ ก็
เพราะขาดการสดับฟังพระธรรมเทศนา
ถ้าเป็นผู้หมั่นสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาอยู่เสมอ
ๆ ย่อมมีปัญญารักษาตนโดยชอบ ไม่
ต้องประกอบก่อทุกข์ให้บังเกิดขึ้นแก่ตน
ตั้งหน้าบำเพ็ญการกุศลรักษาสุจริตกิจชอบ
ประกอบตนให้ตั้งอยู่ในที่อันสมควร ย่อม
ได้รับผลคือความสุขอันเกิดแต่สุจริตธรรม
นั้นทุกเมื่อ ดังพุทธบริษัทเป็นตัวอย่าง ข้อนี้
ควรพุทธบริษัทจะมีความยินดี ที่เราไม่ได้รับ
ความเดือดร้อน อันเกิดแต่เหตุภายนอกต่าง ๆ นั้น
ย่อมสำเร็จมาแต่ความประพฤติของเรา ที่
ได้ดำเนินตามพุทธโอวาท ส่วนข้อปฏิบัติที่ตนได้ดำเนินมา
แล้วได้รับผลเพียงเท่านี้ ก็ควรจะดีใจ
แต่ถ้าธรรมชั้นสูงยิ่งขึ้นไปกว่าที่ตนได้ตนถึงนี้ยังมีอยู่
ก็ไม่ควรจะนอนใจ ให้คิดเสียว่าอัตภาพที่เป็นมนุษย์
และพรักพร้อมด้วยสุขสมบัติ ทั้งมีศรัทธาความเชื่อ
ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์เป็นพระ อรหํ
สมฺมาสมฺพุทฺโธ จริงดังนี้ มีในตนของเรา นับว่า
เป็นลาภอันสำคัญอันเราได้แล้ว ถ้าตายไป
จากชาตินี้เกิดใหม่จะได้ดีอย่างนี้อีกหรืออย่างไร ข้อ
นั้นก็เป็นที่วางใจยาก มรรคผลอันใดที่ควรได้ควร
ถึง รีบทำให้ได้ให้ถึงเสียดีกว่า คิดอย่างนี้
แล้วก็รีบตั้งหน้าบำเพ็ญความเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ทางดำเนินด้วยข้อปฏิบัติให้สูงขึ้นไปนั้น ต้องเกี่ยว
ด้วยเมตตาพรหมวิหารเป็นหลักเป็นประธาน
ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ทรงแสดงแก่พุทธบริษัท ได้แจ้งประจักษ์อยู่
ในเมตตสูตร จะยกมาแสดงพอได้ใจความ
ด้วยเวลานี้ก็เป็นเทศกาลจวนสิ้นฤดูฝนอยู่แล้ว
เป็นโอกาสที่ผู้มีศรัทธาประสงค์ต่อวิเวก
จะพึงแสวงหาที่สงัดคือรุกขมูล
หรือสุญญาคารสถาน ถ้ำคูหา ตำบลใดตำบลหนึ่ง
ซึ่งเป็นที่สำราญ ควรแก่เจริญสมถวิปัสสนา
ด้วยเมตตสูตรนี้มีคุณานุภาพอันไพศาล
..........สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายมีประมาณ ๕๐๐ รูป
พากันเรียนพระกัมมัฏฐาน ในสำนักพระ
ผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
ก็ทูลลาไปเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่
ในอรัญราวป่าตำบลหนึ่ง
รุกขเทวดาอันสิงอยู่ตามต้นไม้ในป่านั้นไม่ชอบใจ
เพราะพระภิกษุนั่งภายใต้ต้นไม้ ตนจะอยู่บนต้นไม้
ไม่ควร ต้องลงจากต้นไม้มาอาศัยอยู่ตามภาคพื้นได้
ความลำบาก จึงปรึกษากัน
ใช้อุบายหลอกลวงภิกษุเหล่านั้นให้กลัวด้วยวิธีต่าง
ๆ เป็นต้นว่าแสดงตัวให้เห็นเป็นรูปยักษ์รูปเปรต
จนภิกษุเหล่านั้นไม่ได้หลับไม่ได้นอน จิตใจ
ไม่สงบลงได้ จึงพากันกลับมาเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า เล่าประพฤติเหตุนั้นถวาย
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงให้ภิกษุเหล่า
นั้นเรียนกรณียเมตตสูตรนี้ แล้วให้กลับไป
ยังที่เดิม ครั้นไปถึงก็พร้อมกันสวดเมตตสูตรนี้ขึ้น
เทวดาทั้งหลายได้ฟังเมตตสูตรมีความชื่นชมยินดี
มีไมตรีจิตตอบภิกษุทั้งหลาย ช่วยกันอภิบาลป้อง
กันภยันตราย มิให้บังเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย
มีนิทานเครื่องหมายซึ่งนำมาแสดงพอได้ใจความเพียง
เท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 23:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ในเมตตสูตรนั้น มีคาถาประพันธ์
ในเบื้องต้นว่า กรณียมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ
อภิสเมจฺจ เป็นอาทิ มีเนื้อความว่า บุคคลผู้ปฏิบัติ
เมื่อปรารถนาจะบรรลุสันตบท คือธรรม
เป็นที่ระงับทุกข์ ได้แก่พระนิพพาน ในเบื้องต้นจะ
ต้องบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา อันได้นามว่าไตรสิกขา
จะควรทำกิจอันใด กุลบุตรผู้ฉลาด
ในประโยชน์ควรทำกิจอันนั้น คือควรบำเพ็ญศีล
สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา อันเป็นบุรพภาคปฏิบัตินั้น
ให้บริบูรณ์เต็มที่ในตน
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์นั้น เมื่อ
จะบำเพ็ญไตรสิกขา พึงประพฤติตนให้เหมาะให้ควร
ในกิจวัตร ๑๕ ประการ ซึ่งเป็นบุรพกิจ
ให้เต็มรอบเสียก่อน
ข้อที่ ๑ สกฺโก จ พึงเป็นคนองอาจกล้าหาญ
ไม่เอื้อเฟื้ออาลัยต่อร่างกายและชีวิต
คิดปฏิบัติเพื่อรู้อริยสัจ ๔ ด้วยปฏิเวธญาณ
ที่ ๒ อุชู จ พึงเป็นคนตรง คือตรงกาย ตรงวาจา
ตรงใจ ตรงต่อไตรสิกขา
ที่ ๓ สุหุชู จ พึงเป็นผู้ตรงด้วยดี คือเป็นคน
ไม่โอ้อวดคุณที่ไม่มีในตน และเป็นคน
ไม่มีมายาปิดบังอำพรางโทษของตน
ที่ ๔ สุวโจ จ พึงเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ไม่เป็นคนดื้อด้าน
ที่ ๕ มุทุ จ พึงเป็นคนอ่อนน้อมยินดีตามข้อสัมมาปฏิบัติ
ที่ ๖ อนติมานี จ พึงเป็นคนไม่มีอติมานะ ซึ่ง
จะกีดกั้นต่อทางปฏิบัติ
ที่ ๗ สนฺตุสฺสโก จ พึงเป็นคนสันโดษ ยินดี
ในปัจจัยลาภเครื่องบำรุงร่างกายตามมีตามได้
ตามกำลังตามสมควรแก่ตน
ที่ ๘ สุภโร จ พึงเป็นคนเลี้ยงง่าย
ไม่โลภเลือกปัจจัย ส่วนโลกามิส
ที่ ๙ อปฺปกิจฺโจ จ พึงเป็นคนมีกิจน้อยพอสมควรแก่
ความประพฤติธรรมอันยิ่ง
ที่ ๑๐ สลฺลหุกวุตฺติ จ พึงเป็นคนประพฤติเบา
มีบริขารพอควรแก่สัลเลขปฏิบัติ อาจไป
ในทิศานุทิศได้ตามปรารถนา ดังนกมีแต่จะงอยปาก
และขนปีกขนหาง บินไปได้โดยสะดวกฉะนั้น
ที่ ๑๑ สนฺตินฺทฺริโย จ พึง
เป็นคนมีอินทรีย์อันสงบระงับ ระวังตนอย่าให้
ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ
เพราะเหตุเห็นรูปเป็นต้น
คืออย่าหลงไปตามอารมณ์ของโลก
ที่ ๑๒ นิปโก จ พึงเป็นคนรักษาตนได้โดยไม่เหลือ
คือประกอบด้วยปัญญา อันสามารถที่
จะรักษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้ตามสมควร
ที่ ๑๓ อปฺปคพฺโภ จ พึงเป็นคนสงัด ระมัดระวังตน ไม่
เป็นคนคะนองปาก คะนองกาย อย่าเป็นคนโลเล
ที่ ๑๔ กุเลสุ อนนุคิทฺโธ พึงเป็นคนไม่กำหนัดพัวพัน
เป็นกังวลห่วงใยในสกุลเกินไป
ที่ ๑๕ น จ ขุทฺทํ สมาจเรกิญจิ พึงเป็นคน
ไม่ประพฤติทุจริต มีประมาณน้อยอันใดอันหนึ่ง
ซึ่งนักปราชญ์ผู้รู้จะพึงติเตียนได้
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงปฏิบัติตน
ให้สมควรแก่ข้อปฏิบัติ ตั้งต้นแต่พึงเป็นคนองอาจ จนถึง
เป็นคนไม่ประพฤติทุจริตมีประมาณน้อยเป็นที่สุด
ทำตนให้เป็นภาชนะควรจะเป็นผู้ตรัสรู้สันตบท


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 00:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนธรรมทางระงับทุกข์คือพระนิพพาน
เมื่อดำรงตนในบุรพภาคปฏิบัติ ควรเป็นบุคคล
ผู้ควรรับสันตบทอย่างนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่นั้น
พึงเจริญเมตตาแผ่ไมตรีปรารถนา
ความเกษมสำราญนิราศภัยเวรในหมู่สัตว์
ไม่มีประมาณว่า
สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีสุข พร้อมเพรียงด้วย
ความสุขเถิด
เย เกจิ ปาณภูตตฺถิ ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา
ภูตคือหมู่สัตว์มีชีวิตทั้งหลายทุกหมู่เหล่า จะเป็นสัตว์มี
ความสะดุ้งมีความกลัว เพราะมีตัณหายังละไม่ได้
หรือจะเป็นสัตว์มั่นคง มีตัณหาอันละได้แล้ว
สิ้นสะดุ้ง สิ้นกลัวแล้ว ทั้งสิ้นไม่หลอเหลือ
จงมีสุขเกษมสำราญนิราศปราศจากภยันตราย
ทั้งกายและจิตเถิด
ทีฆา วา เย มหนฺตา วา มชฺฌิมา รสฺสกา อนุกถูลา สัตว์
ทั้งหลายเหล่าใดที่มีกายยาว กายใหญ่
กายปานกลาง กายสั้น กายละเอียดก็ดี
ทิฏฺฐา วา เย จ อทิฏฺฐา เย จ ทูเร วสนฺติ อวิทูเร ภูตา
วา สมฺภเวสี วา สัตว์เหล่าใดที่เราได้เห็นแล้ว
หรือที่เรามิได้เห็น หรือที่อยู่ ณ ที่ไกล หรือ ณ ที่
ใกล้ จะเป็นสัตว์เกิดแล้ว สิ้นชาติเบื้องหน้าแล้ว
หรือจะเป็นสัตว์แสวงหาความเกิดต่อไป
เพราะกิเลสอนุสัยยังละไม่ได้ก็ดี
สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงสุขเกษมสำราญนิราศภยันตรายด้วย
กันทุกถ้วนหน้าเถิด
น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ นาติมญฺเญถ กตฺถจิ นํ กิญฺจิ
พฺยาโรสนา ปฏีฆสัญฺญา นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย
สัตว์อื่นต่อสัตว์อื่น ก็อย่าเกลียดอย่าโกรธครอบงำ
กัน อย่าดูหมิ่นล่วงเกินซึ่งกันและกัน
อย่าพึงปรารถนาทุกข์ เพื่อประทุษร้ายเสียดแทง
กันและกัน ด้วยกายวิการ ด้วยวจีวิการ อย่าสำคัญ
จะกระทบซึ่งกันและกัน ด้วยมโนวิการ กุลบุตร
นั้นพึงเจริญเมตตาในสรรพสัตว์ด้วยประการฉะนี้
มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ อายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข เอวมฺปิ
สพฺพภูเตสุ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
มารดาพึงตามรักษาบุตรอันเกิดแต่ตนด้วยอายุ
แม้ชีวิตก็อาจจะสละรักษาบุตรได้ฉันใด กุลบุตร
นั้นพึงเจริญจิตมีเมตตาไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง
ฉันนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 00:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อนี้ไปเป็นนิคมย่นความลงให้สั้นว่า
เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ อุทฺธํ
อโธ จ ติริยญฺจ อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ กุลบุตร
นั้นพึงเจริญเมตตาในโลกทั้งปวง ให้เป็นจิตมีอารมณ์
ไม่มีประมาณ ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและด้านกลาง
เป็นจิตไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีข้าศึก
ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วา สยาโน วา ยาวตสฺส วิคตมิทฺโธ
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย กุลบุตรนั้นจะยืนจะเดิน
หรือเดินจงกรม หรือจะนั่งจะนอน
ไม่นิยมเฉพาะอิริยาบถใด ๆ เมื่อยัง
ไม่ง่วงเคลิ้มหลับไปเพียงใด
พึงอธิษฐานสติอันระลึกผูกพันอยู่ในเมตตา
นั้นทุกกาลทุกสมัยเถิด
พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ บัณฑิตทั้งหลาย
ในธรรมวินัยนี้ ได้กล่าวธรรมเป็นที่อยู่ คือเมตตา
นั้นว่าพรหมวิหารเครื่อง
อยู่แรมสันดานแห่งพรหมดังนี้
ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม สีลวา ทสฺสเนน สมฺปนฺโน กาเมสุ
วิเนยฺย เคธํ น หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรติ
ก็แลกุลบุตรนั้น เมื่อได้บรรลุเมตตาฌานแล้ว
ไม่เข้าไปใกล้ซึ่งทิฏฐิวิปลาส เจริญวิปัสสนาญาณ
มีโลกุตรศีล ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยทัสสนะ
คือโสดาปัตติมรรค อันเห็นอริยสัจ ๔ และมี
ความเพียรนำเสียให้พินาศซึ่งความกำหนัดในกาม
ทั้งหลาย ด้วยอนาคามิมรรคญาณ ย่อมไม่เข้าถึง
ความเป็นผู้นอนในครรภ์อีกต่อไป ย่อมเกิด
เป็นอุปปาติกะแล้วปรินิพพานในสุทธาวาสนั้น
ก็แลเมตตาพรหมวิหารนี้ เมื่อนิยมด้วยภาวนา ๒
ประการ ก็เป็นสมถภาวนา เครื่องให้จิตสงบ
จากกิเลส เมื่อนิยมตามกุศล ๓ ประการ ก็
เป็นภาวนามยกุศล มีผลไพศาลกว่าสรรพทานมัย
และเบญจเวรวิรัติ
เมื่อกุลบุตรมาเจริญจนบรรลุมหัคคตญาณเจโตวิมุตติ
ได้ ก็มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ ถึงแม้จะ
ไม่ปรารถนาก็คงมีแน่โดยไม่สงสัย
๑. สุขํ สุปติ ผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารนั้น
ย่อมหลับเป็นสุขสบาย ไม่กลิ้งเกลือกครางกรน
ทุรนทุรายของร่างกาย
๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ผู้นั้นเมื่อตื่น ก็ย่อมตื่นเป็นสุขสบาย
ไม่ทอดถอนบิดกายเป็นอาการไม่งาม
๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ผู้นั้นย่อมไม่เห็นสุบินอันลามก
เห็นแต่สุบินอันเป็นมงคล มีไหว้พระเจดีย์
และฟังธรรมเป็นต้น
๔. มนุสฺสานํ ปิโย โหติ ผู้นั้นย่อม
เป็นที่รักที่เจริญใจแห่งมนุษย์ทั้งหลาย
ประหนึ่งแก้วมุกดาหารอันสวมอุระ
และดอกไม้เครื่องประดับศีรษะฉะนั้น
๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ ผู้นั้นย่อม
เป็นที่รักใคร่เจริญใจแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์
และปีศาจเป็นต้น
๖. เทวดา รกฺขนฺติ เทพดาทั้งหลาย
ย่อมรักษาคุ้มครองผู้นั้น
ให้แคล้วคลาดภัยพิบัติอันตรายด้วยอานุภาพของตน
๗. นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ เพลิงหรือพิษ
หรือศัสตรา ไม่ก้าวถึงแก่ผู้นั้น คือไม่ทำกาย
ให้กำเริบเกิดทุกขเวทนาได้
๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของผู้นั้นย่อมตั้งมั่นรวดเร็ว
ไม่เชื่องช้าต่อสมาธิ
๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ พรรณสีหน้าของผู้
นั้นย่อมผ่องใสพิเศษ
ประหนึ่งผลแห่งตาลสุกอันหลุดหล่นจากขั้วฉะนั้น
๑๐. อสมฺมุโฬห กาลํ กโรติ ผู้นั้นไม่
เป็นคนหลงทำกาลกิริยา เมื่อจะ
ถึงแก่มรณะย่อมมีสติเป็นอันดี
๑๑. อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติ ผู้
นั้นเมื่อไม่ตรัสรู้โลกุตรธรรม
อริยมรรคอริยผล ยิ่งขึ้นไปกว่าเมตตาฌานนั้นได้
แล้ว ก็ย่อมเกิดในพรหมโลก ตามภูมิแห่งฌานที่ตน
ได้ด้วยเมตตานั้น
อานิสงส์ ๑๑ ประการนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้
ได้สำเร็จเจโตวิมุตติ ถ้าไม่สำเร็จเจโตวิมุตติ
เป็นแต่ตทังคปหาน ก็ต้องลดความเกิดในพรหมโลก
คงอยู่เพียง ๑๐ ประการตามควร
อนึ่งเมตตานี้
เป็นธรรมิกอุบายเครื่องผูกพันสมานสามัคคี
ในสัตว์ที่ร้าวรานให้สิ้นอาฆาต สัตว์ที่อุเบกขา
ให้เกิดเมตตาตอบต่อไมตรี ปรารถนาสุขประโยชน์
มีแต่คุณปราศจากโทษ ไม่มีใครติเตียนได้ และ
เป็นนิมิตที่จะให้มนุษย์สมานชาติ
และเทพนิกรทิพยนิกายเกิดสิเนหารักใคร่
ผู้เจริญเมตตานั้น
เมตตาพรหมวิหารมีคุณานุภาพเห็นปานนั้น ควร
แล้วที่พุทธบริษัทผู้มุ่งหวังต่อสันตบท คือพระนิพพาน
จะพึงเจริญให้เกิดให้มีขึ้นในตน ควร
แล้วที่พุทธบริษัทจะมีความยินดีกระทำกิจวัตรอัน
เป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่ศีล สมาธิ ปัญญา
เพื่อ
ให้สำเร็จสันตบทคือพระนิพพานตามสมควรแก่อุปนิสัย
สามารถ อาศัยความไม่ประมาท ก็จะสำเร็จ
ได้ตามปรารถนา โดยนัยดังวิสัชนามา
ด้วยประการฉะนี้.
........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร