วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 15:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 19:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

(หนังสือ) วินิจฉัยเทศนา
ทุลลภวัตถุและมารวิภาค
(เรียบเรียงตั้งแต่ยังเป็นพระราชกวี ตรวจพิมพ์
ใหม่เมื่อเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ. ๒๔๖๘)
กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ ..... กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ
กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ ........ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโทติ.
..........จะแสดงทุลลภวัตถุ ของหายาก ๔
ประการ ตามพุทธบริหาร ซึ่งมีมา
ในคัมภีร์พระธรรมบท มีเนื้อความโดยย่อว่า
ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นของได้
ด้วยยากประการหนึ่ง
ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นของได้
ด้วยยากประการหนึ่ง
การฟังธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ก็เป็นของได้
ด้วยยากประการหนึ่ง
ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นของ
ได้ด้วยยากประการหนึ่ง
เพราะของ ๔ ประการนี้ จะปรากฏ
เป็นขึ้นมีขึ้นพรักพร้อมกัน ไม่เป็นของจะพึงได้
ด้วยง่ายเลย เหตุฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า ทุลลภวัตถุ
วัตถุของหายากดังนี้
..........ต่อนี้จะอธิบายเนื้อความทั้ง ๔ ประการนั้น พอ
เป็นเครื่องเตือนสติของพุทธบริษัท เพื่อเป็นทางสังเวช
และทางเลื่อมใส ด้วยของหายากทั้ง ๔ นั้น ท่านแสดง
ไว้ว่าหายากยิ่งกว่าจักรรัตนะ บัดนี้ ของหายาก
นั้นเราได้ประสบแล้ว คือ ได้เป็นมนุษย์ด้วยดี
และมีชีวิตได้มาถึงขัยนี้วัยนี้ และ
ได้สดับพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
และนับว่าเป็นพุทธุบาทกาล
คือกาลบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า
จึงควรเป็นที่ยินดีว่า เราเป็นผู้มีลาภอันสำคัญอันตน
ได้แล้ว เปรียบเหมือนผู้แสวงหาทรัพย์
เมื่อมีทรัพย์สมบัติ คือ ข้าวของเงินทอง
เป็นต้นบริบูรณ์เป็นต้นทุนอยู่แล้ว และปรารถนา
จะสะสมโภคทรัพย์ให้เจริญยิ่งขึ้น ก็ไม่ควรนอนใจ
ส่วนใดควรจะลงทุนค้าขายด้วยตนเอง หรือจะให้ผู้
อื่นเช่าก็ควรรีบจัด เพื่อต่อผลคือกำไรให้ทัน
กับกาลกับสมัยจึงจะชอบ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 19:43 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ในข้อที่ ๑ ซึ่งว่า “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ”
อัตภาพคือความเป็นมนุษย์ เป็นของได้ด้วยยากนั้น
ท่านแสดงไว้ว่าปฏิสนธิวิญญาณที่จะตั้งรูปตั้งนามไม่
เป็นของได้ด้วยง่ายเลย ต้องอาศัยกุศลากุศลเป็น
ผู้อุปถัมภ์ ถ้าอกุศลเป็นผู้อุปถัมภ์ เกิดมา
ได้อัตภาพก็วิปริต คือใบ้บ้าบอดหนวก โรคมากยากจน
รูปทรพล ทนแต่ทุกข์ลำบากยากแค้นแสนกันดาร
เมื่อเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ร่างกายเป็นมนุษย์ ก็
ไม่ควรชมเชยว่าได้อัตภาพเป็นมนุษย์ด้วยดี
เพราะคุณสมบัติเครื่องเจริญ
ความสุขตามวิสัยของมนุษย์ขาดไปหมดแล้ว
ได้รับแต่ทุกขเวทนาโศกเศร้ากรอบเกรียมใจตามวิสัยของอมนุษย์บางพวก
..........มนุษย์เหล่านั้นจะนับว่าอมนุษย์ก็ควร ถึงผู้
ได้อัตภาพเป็นมนุษย์บริสุทธิ์ด้วยรูปร่างอันสะอาด
พร้อมด้วยสติปัญญาวิชาความรู้ มั่งคั่ง
ด้วยโภคทรัพย์ และบริวารยศ ได้ประสบ
ความสุขสำราญตามวิสัยของมนุษย์ธรรมดาสำเร็จมาแต่กุศลอุปถัมภ์
แต่ผู้นั้นมาประพฤติตนให้ระคนอยู่ด้วยทุจริต คือ
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ส่วนที่
เป็นโทษอันนักปราชญ์พึงเว้น นอกประเด็น
ส่วนมนุสสธรรม เมื่อเป็นอย่างนั้นจะนับว่าเป็นผู้
ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ตามพุทธภาษิต บทว่า “กิจฺโฉ
มนุสฺสปฏิลาโภ” นั้น ก็ยังไม่สมควร
เพราะมนุสสธรรมยังไม่บริบูรณ์
ด้วยท่านแสดงไว้ในธรรมประเภทบางแห่งว่า
ผู้สดับพระสัทธรรมเทศนา และจะพึง
ได้บรรลุมรรคผลนิพพานมีแต่ชั้นมนุษย์ขึ้นไป
ต่ำจากมนุษย์ลงมา มีสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ย่อม
ไม่มีวิสัยที่จะทำมรรคผลนิพพานให้บังเกิดขึ้น
ได้อย่างนี้ ถ้าจะอธิบายตามนัยนี้ต้องถือเอาเนื้อ
ความว่ามนุสสธรรมเป็นเครื่องตัดสิน
ถ้าผู้ใดประพฤติกายสุจริต ๓ คือ เว้นจากปาณาติบาต
อทินาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และประพฤติวจีสุจริต ๔
คือเว้นจาก มุสาวาท เปสุญญวาท ผรุสวาท
สัมผัปปลาปวาท และประพฤติมโนสุจริต ๓ คือ เว้น
จากอภิชฌา ความเพ่งพัสดุของท่านผู้อื่น และเว้น
จากพยาบาท คิดปองร้ายท่านผู้อื่น และเว้น
จากมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ
มิจฉาทิฏฐิ ในที่นี้ถือเอาเนื้อความว่า
เห็นกุศลกรรมบถซึ่งเป็นส่วนชอบทั้ง ๑๐ ประการ
นั้นว่าเป็นส่วนผิด เห็นอกุศลกรรมบถซึ่งเป็นส่วนผิด
๑๐ ประการนั้นว่าเป็นส่วนชอบ ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ
ในกรรมบถนี้ ถ้าเห็นกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐
ประการนั้นเป็นส่วนชอบส่วนดีแท้ อกุศลกรรมบถ
ทั้ง ๑๐ ประการนั้นเป็นส่วนผิดแท้ เห็นจริงตามความ
เป็นจริงอย่างนี้ ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิในกรรมบถนี้
คือกรรมบถ เห็นกรรมบถชื่อว่าเห็นตัวเอง
ด้วยมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ เป็นองค์คำรบที่ ๑๐
แห่งกรรมบถ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
ท่านกล่าวว่าเป็นมนุสสธรรม
เป็นธรรมสำหรับมนุษย์
ถ้าผู้ใดยังไม่มีมนุสสธรรมสำหรับตนแล้ว ถึงจะ
ได้สดับตรับฟังธรรมคำสั่งสอนของนักปราชญ์
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ไม่อาจที่จะ
ยังมรรคผลนิพพานให้แจ่มแจ้งแก่ตนได้ เพราะเหตุ
นั้น อัตตกามกุลบุตรผู้ปรารถนาที่พึ่งแก่ตน คือ
อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่มรรคผลนิพพาน จง
ยังตนให้สมบูรณ์ด้วยมนุสสธรรม คือทำตนให้
เป็นมนุษย์ก่อน
การทำตนให้เป็นมนุษย์นี้ ก็ไม่เป็นของได้ด้วยง่ายเลย
ต้องอาศัยศรัทธาเชื่อกรรมเชื่อผลของกรรมแน่แท้
หรือเชื่อต่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้
โดยไม่สงสัย จึงจะอาจยังมนุสสธรรมให้เป็นไปแก่ตน
ได้ เพราะเหตุนั้นจึงสมด้วยพุทธนิพนธภาษิตว่า “กิจฺโฉ
มนุสฺสปฏิลาโภ” ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 19:51 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ในข้อที่ ๒ ซึ่งว่า “กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ” ชีวิตความ
เป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นของได้ด้วยยากนั้น
อธิบายว่า อวัยวะร่างกายจิตใจซึ่งครองกันอยู่นี้ไม่เป็น
อยู่ด้วยง่ายเลย
ต้องอาศัยการปกครองรักษาคือเปลี่ยนอิริยาบถ
อยู่เสมอ และป้องกันเย็นร้อนอยู่เสมอ และ
ต้องเพิ่มเติม คือกวฬิงการาหาร
และถ่ายของเก่าคืออุจจารกิจ ปัสสาวกรรม
อยู่เสมอ กิจเหล่านี้
เป็นงานประจำตั้งปีตั้งเดือนไปทีเดียว ละเว้นไม่
ได้เลย ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งลง ร่างกายนี้ก็
เป็นอันทรงอยู่ไม่ได้ ท่านจึงกล่าวว่า ร่างกายนี้
เป็นเรือนของโรคตรงทีเดียว
และยังมีโรคจรโดยอเนกนัย คือโรคเจ็บในจักษุ
เจ็บในโสตะ เจ็บในฆานะ เจ็บในชิวหา โรคหวัด
โรคไอ โรคไข้ปวดศีรษะ ปวดท้อง หืด หิด
ริดสีดวง มองคร่อ อหิวาตกโรค กาฬโรค เหน็บชา
ฝีใน ฝีนอก อาเจียนโลหิต ลักปิดลักเปิด
โรคเรื้อนกุฏฐัง คุดทะราด มะเร็ง
ธาตุดินน้ำไฟลมวิการนับไม่ถ้วน แต่ล้วน
เป็นเครื่องทำลายชีวิตความเป็นอยู่ทั้งสิ้น
เหล่าที่พรรณนามานี้เป็นส่วนภายใน
ยังอันตรายมีมาแต่เหตุภายนอก ก็มี
โดยประการต่างๆ เป็นต้นว่าถูกอาวุธศัสตรา
ในการณรงค์สงคราม หรือ
ผู้มีเวรพยาบาทปองร้ายด้วยท่อนไม้และศัสตรา
หรือถูกโจรันตราย หรืออัคคีภัย อุทกภัย พายุ
อสนีบาต หรือสัตว์ร้าย ซึ่งมีพิษต่างๆ มีช้าง เสือ
จระเข้และงูร้ายเป็นต้น จนพรรณนาไม่มีที่สิ้นสุด
อันตรายภายในก็มาก
อันตรายภายนอกก็มีหลากหลายประการ
เพราะเหตุนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย
จึงชื่อว่า เป็นของได้ด้วยยาก
ก็แต่ชีวิตที่เป็นอยู่ซึ่งว่าเป็นของได้ด้วยยาก
โดยธรรมดานั้น ก็ยังมีผู้ครองชีวิตอยู่ได้ ๗๐ หรือ
๘๐ ปีหรือร้อยปีก็ยังมีอยู่โดยมากโดยหลาย จะว่า
เป็นของหายากทีเดียวก็ยังมีทางโต้เถียงได้ ชีวิตของสัตว์
ทั้งหลายที่เป็นอยู่ด้วยมนุสสธรรม คือ กายสุจริต
วจีสุจริต มโนสุจริต ทุกเมื่อนั่นแล
เป็นของหายากอย่างยิ่ง ผู้ที่ตั้ง
อยู่ในมนุสสธรรมนั้นมักมีโดยน้อยในโลก
ในพุทธภาษิตว่า “กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ” นั้น จะถือเอาเนื้อ
ความว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นอยู่กับ
ด้วยมนุสสธรรมเป็นของได้ด้วยยากอย่างนี้ก็ควร
เพราะชีวิตความเป็นอยู่ด้วยมนุสสธรรมนั้นเป็นของ
ได้ด้วยยากจริง และเป็นไปกับด้วยประโยชน์ด้วย
และได้ชื่อว่าชีวิตเป็นไปอยู่กับด้วยความไม่ประมาท
ด้วย
ชีวิตเป็นไปอยู่กับด้วยความไม่ประมาทนั้น
ท่านกล่าวว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ
เป็นชีวิตอันนักปราชญ์สรรเสริญ
โดยนัยเทศนาต่างๆ ว่า “อปฺปมาโท อมตํ ปหํ” ความ
ไม่ประมาทเป็นทางแห่งธรรมอันไม่ตาย หรือว่า “
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ อริยานํ โคจเร รตา” ผู้บันเทิงใน
ความไม่ประมาท ชื่อว่าเป็นผู้ยินดีแล้ว
ในโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย หรือว่า “
อปฺปมาหํ ปสํสนฺติ” บัณฑิตทั้งหลาย
ย่อมสรรเสริญซึ่งความไม่ประมาทดังนี้ ต้องอาศัย
ความไม่ประมาท ชีวิตจึงจะเป็นอยู่ด้วยมนุสสธรรม
ได้
เพราะเหตุนั้น จึงควรเห็นว่าชีวิตเป็นอยู่
ด้วยมนุสสธรรมเป็นของได้ด้วยยากจริง สม
ด้วยพุทธภาษิตที่ว่า “กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ” ดังนี้
..........เมื่อพุทธบริษัททราบเนื้อความโดยนัยนี้แล้ว
พึงตรวจดูชีวิตความเป็นอยู่ของตน ถ้าเห็นว่ายังไม่เป็น
อยู่ด้วยมนุสสธรรม ก็อย่าพึงยินดีว่าตน
ได้ประสบของหายากก่อน ให้รีบร้อนบำเพ็ญเพียร
ยังมนุสสธรรมให้เป็นไปแก่ตน คือให้ชีวิตของตน
เป็นไปอยู่กับด้วยมนุสสธรรมทุกเมื่อ ต่อเมื่อชีวิต
เป็นไปอยู่กับด้วยมนุสสธรรมแล้ว จึงควรทำ
ความยินดีว่า เราไม่เสียทีที่เกิดมาในโลก
ได้ประสบพบเห็นของหายาก คือได้ทำตนให้เป็นมนุษย์
ด้วยดี ชีวิตก็เป็นไปอยู่กับด้วยความเป็นมนุษย์แท้ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 20:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ในข้อที่ ๓ ซึ่งว่า “กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ”
การฟังพระสัทธรรมเป็นของได้ด้วยยาก อธิบาย
ความว่า ธรรมของสัตบุรุษ
คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้นนั้น
เป็นของลึกล้ำคัมภีรภาพสุขุมละเอียดนัก แต่ผู้จะ
เข้าใจจำทรงก็หายากเสียแล้ว เพราะความ
เข้าใจจำทรงก็เป็นของเนื่องมาแต่การฟัง
เมื่อการฟังหายาก การเข้าใจก็ต้องหายากอยู่เอง
การฟังที่ว่าหายากนั้นด้วยเหตุหลายสถาน ข้อสำคัญ
นั้นคือไม่มีศรัทธาเพราะขาดกัลยาณมิตร
ด้วยว่าจิตใจของบุคคลทั่วโลกย่อมเป็นของอ่อน
เปรียบเหมือนเถาวัลย์ เมื่องอกขึ้นจากดินได้แล้วก็
จะต้องอาศัยต้นไม้เป็นอาจารย์ พบต้นใดเข้าก็
ต้องอาศัยเลื้อยพันขึ้นไป ต้นไม้ที่ตนอาศัยนั้น
ถ้าคดโค้งต่ำเตี้ยประการใด เถาวัลย์นั้นก็ต้อง
เป็นไปตามอาการของต้นไม้นั้น ถ้า
ได้พบต้นไม้ที่สูงที่งามก็ได้อาศัยเลื้อยขึ้นไปตาม
เถาวัลย์นั้นก็สูงก็งามตามอาการของต้นไม้นั้น
ข้ออุปมานี้ฉันใด บุคคลเราทั้งปวงก็ต้องอาศัย
ผู้ที่ตนคบหาสมาคมเป็นหลักเป็นราว เป็นแบบ
เป็นแผน มีอุปไมยฉันนั้น แต่นิสัยของเถาวัลย์
ไม่สู้กระไร เมื่อพบไม้ต้นใด ก็อาศัยต้นนั้น ก็เป็นอัน
แล้วกันเท่านั้น ส่วนนิสัยของมนุษย์นี้
ยังมีอาการพลิกแพลงมาก บางทีบิดามารดา
เป็นคนดีมีสัตย์มีศีล
มีการสดับฟังพระสัทธรรมเทศนา
เชื่อคุณพระรัตนตรัย ส่วนบุตรและธิดา
ไม่นิยมยินดีตรองตามถือตาม ไพล่ไปยินดี
ในการทุจริตผิดวิสัยของบิดามารดา
โดยประการต่างๆ
เป็นต้นว่ายินดีในการฉ้อโกงหรือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
มีเที่ยวยิงนกตามทุ่งตามป่าหรือชนไก่กัดปลาเป็นต้น
ถือเอาว่าเป็นความสนุกของตน
ข้อนี้น่าสมเพชเวทนานี้หนักหนา
ด้วยว่าเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
ต้องถูกอาวุธตายพลัดพ่อแม่ ผัวเมีย พี่น้อง ลูกหลาน
หรือต้องจิกต้องกัดกันเจียนๆ ตาย
เจ้าพ่อคุณเอ๋ยช่างกระไรเลย พากันแบ่งเอา
ความสุขสนุกสำราญจากเพื่อนกัน ที่
ต้องทุกข์เดือดร้อนเศร้าโศกเสียใจ จน
จะหาสิ่งเปรียบไม่ได้ ช่าง
ไม่มีเมตตากรุณาจริงเทียวหนอ
ถ้าวงศาคณาญาติเคยทำมาเป็นแบบแผนเช่นนั้นก็ทำเนา
ส่วน
ผู้ที่วงศาคณาญาติบิดามารดาพาประพฤติสุจริตธรรม
อยู่ เหตุใดจึงผ่าเหล่าไปประพฤติทุจริตได้ ช่างไม่มี
ความละอายแก่ใจของตนเสียบ้างเลย
การที่จะคิดทำตนให้ผิดจากประเพณีของวงศ์ญาติ
ต้องดูแบบพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึง
จะควร ด้วยชาวศากยราชทั้งหลายนิยมอยู่
ด้วยอิสริยยศและบริวารยศ ยินดีอยู่
ด้วยกามโภคีบริโภค พระองค์ก็เป็นผู้หนึ่ง
ในเหล่าศากยวงศ์ พระองค์
ไม่หลงไปตามนิยมของวงศ์ญาติ
ผ่าเหล่าออกประพฤติพรตพรหมจรรย์
การที่พระองค์ประพฤติเช่นนั้น นักปราชญ์ในสมัยนั้น
ก็ไม่มีผู้ยกโทษติเตียน ถึงนักปราชญ์กาลภายหลังๆ
ต่อมา ก็ไม่มีผู้ยกโทษว่า พระองค์ประพฤติผิด
ด้วยอาการอันหนึ่งอันใด มีแต่ผู้ชมเชยสรรเสริญ
ควรจะรู้ไว้เป็นแบบแผน แม้ตัวเรา
จะหาช่องทางประพฤติให้ดีกว่าประเพณีแห่งตระกูล
ไม่ได้ ก็ประพฤติตามทางที่ตระกูลมีบิดามารดา
เป็นต้นพาประพฤติมา พอได้นามว่าอนุชาตบุตรก็ยังดี
คือดีกว่าที่ทำตนให้ตกไปเป็นอวชาตบุตร
..........ที่บรรยายนอกเรื่องมาโดยยืดยาวนี้ เพื่อจะ
ให้เห็นความที่ว่าการฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยาก
แต่ผู้ที่เกิดในชาติตระกูลที่ยินดี
ในการสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาอยู่
ยังกลายเป็นผู้เบื่อหน่ายต่อการสดับตรับฟังไปได้
ถ้าหากว่าผู้เกิดในชาติตระกูลซึ่งบิดามารดา
ไม่เอื้อเฟื้อในการสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนา
และไม่มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส
ในคุณพระรัตนตรัยแล้ว เรา
จะหยั่งรู้น้ำใจของบุตรและหลานแห่งชนเหล่า
นั้นว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง
เพราะว่าการบาปอกุศลทุจริต
เป็นของอันคนพาลทำได้ด้วยง่าย
ส่วนบุญกุศลสุจริตกิจดีกิจชอบ คนพาลทำได้
ด้วยยาก
เมื่อตรองเข้าใจความดังนี้ ก็จะเห็นได้ว่า
การฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยากจริงๆ อีกนัยหนึ่ง
ซึ่งว่าการฟังธรรมเป็นของได้ด้วยยากนั้น
ก็ชอบกลอยู่ ถ้าจะเห็นความว่าเป็นของยากจริง
ก็ตามโบสถ์วิหารการเปรียญศาลาในที่ต่างๆ
ก็เห็นมีผู้ฟังธรรมกันโดยมาก แต่ละแห่งนับ
ด้วยร้อยด้วยพัน และฟังเนือง ๆ สืบต่อ
กันมาแต่ครั้งพุทธกาลจนบัดนี้ จะว่ายากด้วยเหตุใด?
..........ในข้อนี้ท่านประสงค์ความเข้าใจดอกกระมัง
เพราะว่าเรื่องอะไรหมดเมื่อเราฟังไม่เข้าใจ เรื่อง
นั้นก็เท่ากับเราไม่ได้ฟัง ส่วนธรรม
เป็นคำสอนของนักปราชญ์ชั้นสูง ย่อม
เป็นของสุขุมละเอียดลึกซึ้งอยู่โดยธรรมดา ผู้ฟังก็
จะต้องใช้ปัญญาอันสุขุมละเอียดตรึกตรองตาม
ดังผ้าเนื้อดีเนื้อละเอียด ต้องใช้ด้าย
ใช้เข็มอย่างดีอย่างละเอียดเหมือนกัน จึงจะเย็บกันได้
การฟังธรรมเอาแต่บุญของบุคคลบางพวกมีอยู่
คือเมื่อนั่งฟังธรรมทำใจแกว่งเป็นลูกตุ้มนาฬิกาอยู่
ไม่ได้ทำสติสังวรตั้งใจฟัง
ประณมมือคอยแต่ว่าเมื่อไรจะจบ พอเอวังก็สาธุ แต่
ไม่ทราบว่าท่านแสดงเรื่องอะไร และเข้าใจว่าตน
ได้บุญพอเพียงอยู่แล้ว การฟังโดยอาการอย่างนี้
ต้องนับว่าเป็นผู้ไม่ได้ฟัง เพราะทำประโยชน์อะไร
ให้สำเร็จไม่ได้
ที่ว่าการฟังธรรมนั้นต้องถือเอาเนื้อ
ความว่าฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมีผู้เทศน์ชี้แจง
ให้ฟังหรืออ่านหนังสือให้ฟัง หรือมี
ผู้เล่าเรื่องราวนิทาน ซึ่ง
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า หรืออ่านหนังสือซึ่ง
เป็นคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าเองก็ตาม เมื่อเข้า
ในข้ออรรถข้อธรรมได้ตามพุทธประสงค์ ก็
ได้ชื่อว่าการฟังธรรม ถือเอาฟังเข้าใจนี้แหละ
เป็นประมาณ ส่วนพุทธศาสนา
เป็นของละเอียดสุขุมลึกซึ้งมาก ยากที่จะฟังให้เข้าใจ
ได้ ท่านจึงแสดงว่า “กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ”
การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก ดังนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 20:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........ในข้อ ๔ ซึ่งว่า “กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท”
การบังเกิดขึ้นแห่งพุทธบุคคลทั้งหลายเป็นของได้
ด้วยยาก ดังนี้ อธิบายว่า ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้านั้น
ต้องสร้างพระบารมี คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ,
ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิฏฐาน, เมตตา, อุเบกขา
๑๐ ประการนี้ให้เต็มบริบูรณ์ เป็นปรมัตถบารมี
ครบทั้ง ๑๐ อย่าง นับด้วยชาติเป็นอันมาก
จึงเต็มตามภูมิ ซึ่งท่านนิยมไว้ว่า ปัญญาธิกะ วิริยาธิกะ
สัทธาธิกะ จำพวกหนึ่งสร้างพระบารมี ๔
อสงไขยกัลป์ เศษแสนกัลป์
จำพวกหนึ่งสร้างพระบารมี ๘ อสงไขยกัลป์
เศษแสนกัลป์ จำพวกหนึ่งสร้างพระบารมี ๑๖
อสงไขยกัลป์ เศษแสนกัลป์
กัลป์หนึ่งนั้น ตามปรัมปราจารย์ท่านกำหนดไว้ดังนี้
คืออายุของมนุษย์แต่ ๑๐ ปีทวีขึ้นไปถึงอสงไขยปี
ในเวลาที่ทวีขึ้นไปนั้น ๑๐๐ ปี เพิ่มเข้าปีหนึ่ง
ในระหว่างอายุของมนุษย์เจริญขึ้นไปถึงอสงไขยปีนี้
นับเป็นปักษ์หนึ่ง
แล้วอายุของมนุษย์ลดน้อยถอยลงมาทีละน้อยๆ
จนถึง ๑๐ ปีเป็นเขตอายุไขยของมนุษย์
ในเวลาที่ลดลงมานั้น ๑๐๐ ปีลดเสียปีหนึ่ง
ในระหว่างอายุของมนุษย์ลดลงมาแต่อสงไขยปีถึง
๑๐ ปีนี้นับเป็นปักษ์หนึ่ง ๒ ปักษ์นี้นับเป็นยุคหนึ่ง ๖๔
ยุคนี้นับว่าเป็นมหากัลป์อันหนึ่ง
ก็ถ้าหากว่าจริงตามท่านนิยมไว้นี้ คำที่ว่ากัปว่ากัลป์นี้ก็
อยู่ข้างจะลึกซึ้ง การสร้างบารมี ๔
อสงไขยแสนกัลป์อย่างนี้
ดูก็ยืดยาวน่ารำคาญเหลือเกิน สมด้วยคำที่ว่า “กิจฺโฉ
พุทฺธานมุปฺปาโท” โดยแท้
..........อีกนัยหนึ่ง ความบังเกิดขึ้นแห่งพุทธบุคคล
ทั้งหลาย เป็นของได้ด้วยยาก ดังนี้ ก็พุทธบุคคล
นั้นท่านแสดงไว้ว่ามี ๔ จำพวก คือ สัมมาสัมพุทธ จำพวก
๑ ปัจเจกพุทธ จำพวก ๑ สาวกพุทธ จำพวก ๑
พหุสุตพุทธ จำพวก ๑ ที่ว่าบังเกิดขึ้นในโลก จะหมาย
ความว่าธาตุโลก หรือจะหมายความว่าสัตวโลก ก็ยัง
เป็นปัญหาอยู่ ถ้าถือเอาเนื้อความว่าบังเกิดขึ้น
ในสัตวโลกดังนี้ ดูก็แยบคายดี เพราะธาตุโลก
เป็นอาธารอยู่แล้ว ก็พุทธบุคคล ๔ จำพวกนั้น
จำเพาะมีแต่มนุษย์และเทวนิกายซึ่งเป็นสัตว์ชั้นสูง
ไม่สาธารณ์ทั่วไปแก่ชั้นต่ำมีสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น
เมื่อตรวจตรองเทียบเคียงโดยนัยนี้ เห็น
ความตามพุทธภาษิตนั้นว่า พุทธคุณ
จะบังเกิดขึ้นปรากฏแก่เหล่ามนุษยโลก โลกหนึ่ง ๆ
นี้เอง เป็นของได้ด้วยยาก เพราะพุทธคุณเป็นของ
ไม่อ้างกาล เมื่อว่าโดยธรรมาธิษฐานแล้ว พุทธะ
เป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ แต่จะบังเกิดปรากฏขึ้น
ต้องอาศัยมนุษย์
มนุษย์ที่พุทธะอาศัยบังเกิดปรากฏขึ้นก่อนกว่ามนุษย์
ทั้งปวงนั้น จึงเป็นมนุษย์อัศจรรย์มีพระนามปรากฏ
อยู่แก่โลกว่า สยัมภู ผู้เป็นเอง
สยัมภูพุทธะนั้น มีนิยมแบ่งเป็น ๒ คือ เป็นสัมมาสัมพุทธะ
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วสามารถแต่งตั้งสิกขาบท
พุทธบัญญัติเป็นพุทธอาณา แนะนำผู้อื่น
ให้ประพฤติปฏิบัติตรัสรู้ตามเห็นตามได้ จำพวกหนึ่ง
คือเป็นปัจเจกพุทธะ ตรัสรู้จำเพาะตน แต่ไม่มีวิสัยที่
จะแต่งตั้งพุทธอาณา แนะนำให้ผู้
อื่นตรัสรู้ตามเห็นตามได้จำพวกหนึ่ง ส่วนสาวกพุทธะ
และพหุสุตพุทธะนั้น ต้องอาศัย
เนื่องมาแต่สัมมาสัมพุทธะจึงเกิดขึ้นได้
เมื่ออาศัยนัยนี้ ต้องเข้าใจว่ามนุษยโลกนี้เองที่
เป็นมนุษย์แท้ เป็นมนุษย์ดีที่สุด จึงควร
เป็นภาชนะรับรองพระคุณคือความเป็นพุทธะนั้นได้
พุทธะนั้นไม่ใช่อื่นคือความรู้พระธรรม
ก็พระธรรมนั้นคือความจริงมีหนึ่งเท่านั้น แต่
เป็นของละเอียดสุขุมคัมภีรภาพยิ่งนัก จึง
เป็นวิสัยของวิปัสสนาญาณโคตรภูญาณ มัคคญาณ
ที่ว่าพระธรรมเป็นของละเอียดสุขุมนั้น
เพราะของสิ่งเดียว แสดงอาการได้มากไม่มีที่สิ้นสุด
ได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาของเรา
ทั้งหลาย เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ใหม่ๆ
จึงทรงพระปริวิตกว่า ธรรมที่เราตรัสรู้
แล้วนี้เป็นของละเอียดสุขุมนัก ยากที่หมู่สัตว์ ผู้ยินดี
อยู่ในกามารมณ์จะรู้ตามเห็นตามได้ ทรงพระดำริ
จะเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย
แต่หากพระมหากรุณาธิคุณเข้าตักเตือน
ให้ทรงพิจารณาทราบนิสัยของสัตวโลก ซึ่ง
เป็นขิปปาภิญญา ทันธาภิญญามีอยู่ จึง
ได้ทรงตั้งอายุสังขาราธิษฐาน
และธรรมเทศนาธิษฐาน แล้ว
ได้ทรงเริ่มปรารภแสดงธรรม
ได้ทรงแสดงพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
อนัตตลักขณสูตรแก่เบญจวัคคีย์ก่อน
เหล่าท่านเบญจวัคคีย์ เมื่อได้รับธรรมเทศนาก็ได้
ให้พุทธะเกิดขึ้นแล้วในตน คือได้เป็นองค์พุทธะ
ผู้ตรัสรู้ตาม หรือสาวกพุทธะผู้สดับคำสอนของพระ
ผู้มีพระภาคแล้ว แล้วตรัสรู้ตามเห็นตามได้
ซึ่งว่าพุทธะจะบังเกิดขึ้นในโลกอันบุคคลได้ด้วยยาก
นั้น ได้บังเกิดขึ้นในโลกของท่านทั้ง ๕ องค์แล้ว ท่าน
ทั้ง ๕ ได้ที่พึ่งอันประเสริฐที่สุดแห่งพรหมจรรย์
แล้ว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 20:46 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


..........การที่บรรยายมานี้เพื่อจะ
ให้พุทธบริษัทเห็นความว่า โลกของท่านเบญจวัคคีย์
กับโลกของพวกเราทั้งหลาย จะต่าง
กันอย่างไรนักหนา หรือจะคัดค้านว่า
เพราะท่านเหล่านั้นได้พระบรมศาสดา
ผู้ทรงทราบจริตของสัตว์ พระองค์
ได้ทรงแสดงธรรมให้ต้องตามจริต ท่านเหล่านั้น
จึงได้ตรัสรู้ตามเห็นตาม
ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระผู้มีพระภาค
พระองค์ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ ไว้
เป็นการเพียงพอแก่จริตของสัตว์ทั่วโลก จัด
โดยสังเขปจริตของสัตว์มี ๒ คือ ตัณหาจริต ๑
ทิฏฐิจริต ๑ ตัณหาจริตแบ่งเป็น ๒ คือ
ตัณหาจริตหยาบอย่างหนึ่ง
ตัณหาจริตละเอียดอย่างหนึ่ง ทิฏฐิจริตแบ่งเป็น ๒
คือ ทิฏฐิจริตหยาบอย่างหนึ่ง
ทิฏฐิจริตละเอียดอย่างหนึ่ง กายานุปัสสนา
พอเหมาะพอควรแก่บุคคลผู้ตัณหาจริตหยาบ
เวทนานุปัสสนาพอเหมาะพอควรแก่บุคคล
ผู้ตัณหาจริตละเอียด
จิตตานุปัสสนาพอเหมาะพอควรแก่บุคคลทิฏฐิจริตหยาบ
ธรรมานุปัสสนาพอเหมาะพอควรแก่บุคคลทิฏฐิจริตละเอียดดังนี้
เราจะสันนิษฐานลงว่ากระไร ? ควรเชื่อได้แล้ว
ไม่ใช่หรือ
หรือจะเห็นไปว่า ข้อที่พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔
พอเหมาะพอควรแก่จริตและนิสัยของสัตว์ทั่วโลก
นั้น ไม่ได้คัดค้านเลย ข้อคัดค้านนั้นเป็นการส่วนตัว
คือยังเห็นอยู่ว่าอุปนิสัยวาสนาบารมีของเราจะ
ยังอ่อนดอกกระมัง จึงได้มาบังเกิดในปัจฉิมกาล
ไม่ทันยุคทันคราวที่พระบรมศาสดาบังเกิดขึ้น
ในโลกดังนี้
ถ้าความเห็นอย่างนี้ก็ควรวินิจฉัยตนเองได้
ด้วยวิจิกิจฉาก็เป็นธรรมอันหนึ่ง ชื่อว่าอกุศลธรรม
อย่าว่าถึงพุทธะซึ่งเป็นโลกุตระเป็นธรรมชั้นสูง
นั้นเลย แต่เพียงชั้นโลกิยสมาธิ
เป็นต้นว่าโอภาสแสงสว่าง หรืออสุภนิมิต ก็ไม่อาจ
ให้เกิดขึ้นได้ ด้วยวิจิกิจฉานิวรณ์เป็นเจ้าของโลก
โลกเป็นมาร คือตัวอภิสังขารมาร พุทธะ
จะบังเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุใด
อาศัยเหตุทั้งปวงดังที่บรรยายมานี้ ข้อที่ว่า “กิจฺโฉ
พุทฺธานมุปฺปาโท” ความบังเกิดขึ้นแห่งพุทธบุคคล
ทั้งหลายเป็นของได้ด้วยยากนั้นเป็นความจริง
เราควรถือเอาเนื้อความ
ในพระคาถาพุทธนิพนธ์ข้อหนึ่ง ๆ เป็น ๒ นัย คือ
การบังเกิดขึ้นเป็นมนุษย์บุรุษสตรีในโลกนี้ เป็นของ
ได้ด้วยยากอย่างหนึ่ง การที่มนุสสธรรมจะบังเกิดขึ้น
ในสัตวโลกนี้ เป็นของได้ด้วยยากอย่างหนึ่ง
ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นของได้
ด้วยยากอย่างหนึ่ง ชีวิตความเป็นอยู่
ด้วยมนุสสธรรมของสัตว์ทั้งหลาย เป็นของได้
ด้วยยากอย่างหนึ่ง
การฟังธรรมเทศนา เป็นของได้ด้วยยากอย่างหนึ่ง
การฟังธรรมเทศนาเข้าใจเนื้อความ เป็นของได้
ด้วยยากอย่างหนึ่ง
การบังเกิดขึ้นในโลกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นของได้ด้วยยากอย่างหนึ่ง การที่พุทธะ
จะบังเกิดขึ้นแก่สัตวโลกทั้งหลาย เป็นของได้
ด้วยยากอย่างหนึ่ง
เพราะพระพุทธเจ้าเป็นของไม่ตาย
พระธรรมคำสั่งสอน ซึ่ง
เป็นพระวาจาของพระพุทธเจ้าก็เป็นของไม่ตาย
เพราะพระธรรมเป็นของไม่ตาย จึงเข้าใจได้ว่า
เป็นของกลาง อาศัยเหตุที่ว่าพระธรรม
เป็นของกลางนั้นเอง จึงน้อมไป
ได้ตามชั้นตามภูมิของตน ใครเห็นว่าอย่างใดก็ถูก
ต้องไปอย่างนั้น ผู้มีปัญญา
จะวินิจฉัยข้ออรรถข้อธรรมต้องเพ่งคุณประโยชน์
เป็นประมาณ ถ้าเห็นอย่างนี้ ๆ มีประโยชน์แก่ตัวเรา
ผู้เห็นได้ด้วยอย่างนี้ ข้อนั้นแล เป็นอันถูก
ต้องตามนิสัยของตน
แสดงทุลลภวัตถุ ๔ ประการ ตามพุทธบริหาร
และอัตโนมัตยาธิบายพอได้ใจความเพียงเท่านี้
......................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 21:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อนี้จะอธิบายข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก
เป็นของได้ด้วยยากโดยปุจฉาวิสัชนา เพื่อให้
เป็นทางดำริแก่ผู้อ่านผู้ฟังโดยมติของตน
เพิ่มเติมพอควรแก่เวลา
โจทกาจารย์ ถามว่า : ท่านสามารถที่
จะอธิบายเหตุขัดข้องแก่ทางบังเกิดขึ้น
ในโลกแห่งพระพุทธเจ้าได้หรือไม่ ?
บริหาราจารย์ ตอบว่า : พอจะได้บ้าง แต่
ต้องอธิบายตามอัตโนมัติ
ถาม : อะไรเป็นเหตุขัดข้องไม่ให้พุทธบังเกิดขึ้น ?
ตอบ : ถ้าจะเล็ง
ความตามทางพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วก็ไม่ใช่อื่น คือตัวมารเป็นเหตุขัดข้องอย่างยิ่ง
เมื่อครั้งพุทธะจะบังเกิดขึ้นในโลกของพระองค์
ต้องปราบมารเสียเกือบอยู่ ข้อนี้ปรากฏ
ในพุทธประวัติมารวิชัยของโบราณ จน
ถึงคนโบราณได้นำมาวาดเขียนให้เป็นพยาน
ไว้ตามผนังโบสถ์วิหารการเปรียญ ถึงแก่พระองค์
ต้องชุมนุมพระบารมีทั้ง ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ
ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา
นางพระธรณีจึงได้ขึ้นมาแสดงน้ำทักขิโณทกให้ตก
จากเมาลีเป็นพยาน ยังพญามารกับทั้งพลมารให้
ถึงแก่ปราชัยพ่ายแพ้ พระองค์จึง
ได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
เป็นวิสุทธขันธสันดานอุดมเอกในโลก เพราะเหตุนั้น
จึงเห็นความว่า มารนั้นเองเป็นผู้ขัดขวางแก่ทางพุทธะ
แต่พระบรมศาสดาพระองค์พร้อม
ด้วยอภินิหารบารมีถึงเพียงนั้น ยังต้องรบ
กับมารเสียเต็มแย่ ก็พวกเราทั้งหลายแต่
จะรู้จักหน้าตาของมารก็หายากเสียแล้ว เมื่อ
ไม่รู้จักมารจะไปรู้จักพระพุทธเจ้าด้วยเหตุใด
ถาม : ถ้าอย่างนั้นท่านบริหาราจารย์เห็น
จะรู้จักมาร ขอท่านอธิบายชี้หน้าตาของมาร
ให้ฟังสักหน่อย
ตอบ : พอจะรู้จักได้บ้าง แต่จะชี้หน้าตานั้น
เป็นการลำบากอยู่สักหน่อย เพราะ
ไม่มีพยานภายนอก มีแต่พยานในตัวจึงเป็นเหตุให้
ผู้ฟังเชื่อได้ด้วยยาก
ถาม : การจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเป็นหน้าที่ของ
ผู้ฟังต่างหาก ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ท่านเป็นแต่
ผู้แจงแสดงเท่านั้น ท่านจะมาเป็นห่วงผู้ฟังทำอะไร ?
ตอบ : ถ้าอย่างนั้นก็ได้ซิ ตามบาลีว่า “ปญฺจมาเร ชิเน
นาโถ” พระโลกนาถเจ้าพระองค์ชนะเสียได้
ซึ่งเบญจพิธมารดังนี้ ได้ความว่ามารมี ๕ ประเภท
คือขันธมาร ๑ กิเลสมาร ๑ เทวบุตตมาร ๑
อภิสังขารมาร ๑ มัจจุมาร ๑
ตามมติของโบราณาจารย์ท่านแสดงว่าขันธ์ ๕ คือ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นั้นเองชื่อขันธมาร กิเลสมารนั้น
ได้แก่กิเลสเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง
มีโลภโกรธหลงเป็นต้น เทวบุตตมารนั้น
ได้แก่เทวนิกายจำพวกหนึ่งอยู่ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
อภิสังขารมารนั้น ได้แก่อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง
มัจจุมาร ได้แก่ความตาย ท่านแสดงไว้อย่างนี้ก็
เป็นการสมควร เพราะของเหล่านี้
เป็นมารปรากฏแก่ท่าน
ส่วนบริหาราจารย์นี้ อธิบายปัญจขันธ์ไปตามความ
เข้าใจของตน คือเข้าใจในคำว่าขันธ์นั้น ว่าหมวด ว่ากอง
ว่าก้อน ได้แก่สรีราวัยวะนี้เอง คำที่ว่าขันธ์
นั้นมีหมวดเดียว หรือกองเดียว หรือก้อนเดียวเท่านั้น
ครั้นเติม ๕ เข้า จึงเป็นเบญจขันธ์ แปลว่าขันธ์ ๕ ส่วน
๕ นั้นไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์มีอันเดียวเท่านั้น ๕ นั้น
เป็นแต่อาการของขันธ์ต่างหาก คือหมวดนี้หรือกองนี้
หรือก้อนนี้
เมื่อจะชี้ส่วนรูปคือมหาภูตรูปหรืออุปาทายรูป
ก็มีปรากฏเต็มก้อนนี้ไม่บกพร่อง ก้อนนี้
จึงชื่อว่ารูปขันธ์ เมื่อจะชี้เวทนาคือสุขทุกข์อุเบกขา
ก็มีปรากฏเต็มก้อนนี้ไม่มีว่าง ก้อนนี้จึงชื่อว่าเวทนาขันธ์
เมื่อจะชี้สัญญาคือเครื่องหมายก็มีปรากฏเต็มก้อนนี้
มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ไม่มีที่ว่าง
จากเครื่องหมาย ก้อนนี้จึงชื่อว่าสัญญาขันธ์ เมื่อ
จะชี้สังขารคือเจตสิก ธรรมชาติเครื่องปรุงแต่ง
ก็มีปรากฏเต็มก้อนนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
ย่อมสำเร็จมาแต่เจตสิกความปรุงความแต่ง
ความสมมติตั้งขึ้นทั้งสิ้น ไม่มีที่ว่าง
จากเครื่องปรุงแต่งตั้งขึ้น ก้อนนี้จึงชื่อว่าสังขารขันธ์
เมื่อจะชี้วิญญาณคือความรู้วิเศษก็มีปรากฏเต็มก้อนนี้
คือรู้ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ทั้งก้อนนี้ที่
จะปราศจากความรู้แต่สักนิดหนึ่งก็ไม่มี ก้อนนี้
จึงชื่อว่าวิญญาณขันธ์
ก็เมื่อความเห็นส่วนเบญจขันธ์แตกต่างไม่ลงกันเสีย
แล้ว เบญจมารก็ต้องแตกต่างอยู่เอง
บริหาราจารย์ เห็นว่าท่านสมมติเบญจขันธ์นั้นเอง
ว่าเบญจมาร เพราะมารได้ความว่าเครื่องตาย
ถ้าเครื่องตายแล้ว ไม่อื่นไปจากเบญจขันธ์ทีเดียว
ความที่เห็นว่าเบญจขันธ์เป็นเบญจมารนั้น ก็พอจะเทียบ
กับเบญจมารของท่านโบราณได้ คือรูปขันธ์เทียบ
ด้วยขันธมาร เพราะมหาภูตรูปพอจะคิดแบ่งให้
เป็นก้อนเป็นขันธ์ได้ ซึ่งรูปขันธ์ควรจะเรียกว่ามาร
นั้น เพราะเป็นเครื่องล่อลวงให้บุคคลผู้อ่อน
ความรู้ลุ่มหลง ถึงกับ
ไม่เสียดายชีวิตต่อรูปบางสิ่งบางอย่าง เพราะเหตุนั้น
รูปขันธ์จึงควรเทียบด้วยขันธมาร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 21:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เวทนาขันธ์ควรเทียบด้วยกิเลสมาร
เพราะเวทนาคือสุขทุกข์นี้เอง
เป็นเหตุแห่งตัณหาอุปาทาน ส่วนตัณหา ราคา อรดี
ในคัมภีร์ปฐมสมโพธิก็
เป็นชื่อแห่งมารธิดาบอกตรงว่าเป็นกิเลสมาร
เวทนาคือสุขทุกข์ถ้าคนรู้ไม่ทันก็อาจทำให้
เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เพราะเหตุนั้น เวทนาขันธ์
จึงควรเทียบด้วยกิเลสมาร สัญญาขันธ์ ควรเทียบ
ด้วยเทวบุตตมารของโบราณ เพราะเทวบุตรเทวดา
นั้น ไม่มีผู้ได้พบได้เห็นสักคน
แต่หากรู้จักว่าสวยว่างามสะอาดสะอ้าน เพริศพริ้ง
หาสิ่งเปรียบบ่มิได้ จนถึง
ได้พบเห็นสิ่งที่สะอาดสดสวยก็ออกเสียงขึ้นได้ว่า เออ!
นี่สวยจริงราวกะเทวดาดังนี้เป็นต้น ที่รู้จักเทวบุตร
เทวดา ว่าเป็นสิ่งสะอาดสะสวยนั้นเอง ตัวสัญญาอดีตคือ
จำทรงมาจากการอ่านการฟัง ตัวสัญญานี้ถ้ารู้ไม่
เท่าก็อาจให้ถึงชีวิตอันตรายได้ในบางสิ่งบางอย่าง
เพราะเหตุนั้น จึงควรเทียบด้วยเทวบุตตมาร
สังขารขันธ์ควรเทียบ
ด้วยอภิสังขารมารของโบราณได้ เพราะสังขาร
นั้นมิใช่อื่น ได้แก่ วิตก วิจาร ความคิด ความนึก
ความตรึก ความตรอง ความปรุง ความแต่ง ให้
เป็นสิ่งนั้นให้เป็นสิ่งนี้ ดังปรุงให้เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เป็นต้น สำเร็จมาแต่บุญญาภิสังขาร
ได้แก่โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง อปุญญาภิสังขาร
ได้แก่อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง อเนญชาภิสังขาร
ได้แก่อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง
มารยาของสังขารนี้ไม่มีที่สิ้นสุด อาจทำบุคคลให้
เป็นบ้าใบ้เสียจริตก็ได้ อาจทำให้ถึงมรณะก็ได้
อาจทำให้เป็นอุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ
และสัมมาทิฏฐิก็ได้ เพราะเหตุนั้น สังขารขันธ์
จึงควรเทียบด้วยอภิสังขารมาร
วิญญาณขันธ์ควรเทียบด้วยมัจจุมารของโบราณ
ด้วยวิญญาณท่านแจกไว้ถึง ๘๙ ดวงบ้าง ๑๒๑ ดวง บ้าง
คือแจกตามอาการที่รู้สิ่งซึ่งสัมปยุตให้เป็นจิต
ดังรู้จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ก็เรียกว่า
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
กายวิญญาณ มโนวิญญาณ หรือรู้ผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า วิญญาณผม วิญญาณขน
วิญญาณเล็บ วิญญาณฟัน วิญญาณหนัง
หรือรู้เกิดรู้ตาย รู้ไม่เกิดรู้ไม่ตาย
ก็เรียกว่าวิญญาณเกิดวิญญาณตาย วิญญาณ
ไม่เกิดวิญญาณไม่ตาย แต่วิญญาณเกิด
นั้นท่านบัญญัติเสียว่าปฏิสนธิจิต วิญญาณตาย
นั้นท่านบัญญัติเสียว่าจุติจิต วิญญาณไม่เกิดไม่ตาย
นั้นท่านบัญญัติเสียว่าภวังคจิต เพราะคำว่าจิต
หรือวิญญาณนั้นไม่สู้ต่างอะไรกันนัก
กลของวิญญาณนี้ก็ไม่มีที่สิ้นสุด อาจ
เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ในบางสิ่งบางอย่าง เพราะเหตุ
นั้นวิญญาณขันธ์จึงควรเทียบด้วยมัจจุมาร
ส่วนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
ทั้งหลาย ท่านทรงทราบกลของเบญจขันธ์
ด้วยพระปรีชาญาณแจ้งชัดแล้ว เบญจขันธ์
ไม่มีอำนาจที่จะทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ จึง
เป็นอเนญโช เป็นผู้ชนะเบญจพิธมารได้แล้ว พวกเรา
ยังไม่รู้จักหน้าตาของมารชัดเจน ชื่อว่ายังเป็นผู้ตกอยู่
ในอำนาจวิสัยของมาร มารเป็นปรปักษ์ของพระ
มารเป็นโลกิยธรรม กามาวจร รูปาวจร
และอรูปวจร เพียงเท่านั้น ไม่สู้
เป็นของลึกซึ้งสุขุมอะไรนัก แต่ถึงอย่างนั้นยังพา
กันฉงนสนเท่ห์ได้ ต้องเข้าใจว่าโลกของเรามาร
ยังปกครองอยู่ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้า
จึงบังเกิดขึ้นไม่ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2014, 21:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม : ถ้าอย่างนั้นพระจะมิเป็นผู้กลัวมารหรือ ?
ตอบ : ไม่ใช่พระจะกลัวมาร พระก็คงเป็นพระอยู่
โดยปรกตินั้นเอง เป็นแต่มารปิดบังกางกั้น
ด้วยมารยาของตน ทำให้ฉงนสนเท่ห์ไม่เห็นพระไปเอง
เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นของยาก
ถาม : เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องเบญจมาร
ตามที่ท่านอธิบายมาก็พอได้ความ
ขอตรึกตรองเทียบเคียงดูอีกก่อน จะเห็นตามหรือ
ไม่เห็นตามนั้นก็สุดแล้วแต่ปัญญาจะพาไป แต่ขอ
ให้ท่านอธิบายเรื่องมารวิชัยของโบราณอีกสักหน่อย
เพราะได้พูดถึงเรื่องมารแล้ว ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่
๓ ข้อ
๑.นางตัณหา นางราคา นางอรดี เป็นมารธิดา
บุตรีเจ้าพญามารใช้ให้มาแต่ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
๒.พญามาราธิราช
ได้ยกพลนิกายลงมาแต่ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
จะแย่งพระรัตนบัลลังก์
๓. นางพระธรณีขึ้นมารับ
เป็นพยานรีดอุทกวารีออกจากพระเมาลี
จนท่วมพลนิกายของมารถึงแก่ปราชัย
ความ ๓ ข้อนี้ท่านจะประสงค์ความอย่างไร
ขอท่านอธิบายให้ฟังสักหน่อย ยังไม่เคยมีผู้อธิบาย
ให้ฟังสักทีเลย
ตอบ : เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าท่านโจทกาจารย์ คาดคั้น
ให้ข้าพเจ้าทายใจของท่านโบราณาจารย์
ผู้รจนาคัมภีร์พุทธประวัติ ข้าพเจ้าพอจะอธิบาย
ให้ท่านฟัง ตามความอนุมานของตนได้ แต่
จะรับรองว่าถูกตามประสงค์ของท่านผู้แต่งไม่ได้
เพราะท่านฝันไว้หลายร้อยปีมาแล้ว เราพึ่ง
จะมาแก้ปีนี้ น่ากลัวแต่จะได้รับ
ความเยาะเย้ยแต่นักปราชญ์
ถาม : ท่านอย่าอิดเอื้อนไปเลย เข้าใจอย่างไรก็เล่าสู่
กันฟังก็แล้วกัน
ตอบ : ถ้าอย่างนั้นก็เล่าได้ซิ ดีกว่าติดตันอั้นอ้นตอบ
ผู้ถามไม่ได้ แต่จะผิดจะถูกก็คงไม่มีผู้เถียง
เพราะสิ้นสมัยของท่านผู้แต่งเสียแล้ว
ใจความตามมารวิชัยนั้นว่า ณ วันวิสาขปุรณมีเดือน ๖
เพ็ญ เวลาบ่าย พระมหาบุรุษราชเสด็จไปประทับ
ด้วยบัลลังก์สมาธิบนกองหญ้าคา
ด้านปุริมทิศของโคนโพธิ ตั้งอธิษฐานบารมีว่า ถ้าเรา
ไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราจัก
ไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์สมาธิอันนี้ทีเดียว ถึงอวัยวะ
จะเหือดแห้งย่อยยับไป โดยประการใดก็ตามเถิด
เมื่อทรงตั้งอธิษฐานบารมีฉะนี้
แล้วก็น้อมจิตสู่อานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังฌานทั้ง ๔
ให้บังเกิด ปราบมารธิดาด้วยจตุตถฌาน
ปราบพญามาราธิราชด้วยพระทศบารมีญาณ
ได้ใจความโดยย่ออย่างนี้
มารธิดานั้นมิใช่อื่น ท่านคงหมายองค์ฌาน คือ วิตก
วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา นั้นเอง เพราะนิวรณ์
ทั้งหลายมีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น ที่เป็น
ส่วนกิเลสหยาบ ซึ่งไม่ควรนับเป็นนางเทวธิดาได้
องค์ฌานทั้ง ๕ ประหารเสียแล้ว ปีติ และสุข
หรืออุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ซึ่งอาศัยองค์ฌาน
เป็นไปอยู่ เป็นวิปัสสนูปกิเลส ปีติและสุข ส่วนนี้
เป็นของละเอียดสุขุมนัก เป็นเครื่องล่อลวง
ให้โยคาวจรเจ้าลุ่มหลงเป็นอันมาก ท่าน
จึงยกขึ้นสู่บุคลาธิษฐานเทียบด้วยมารธิดา
ที่ว่าพระองค์ปราบพญามาราธิราช
ด้วยทศบารมีญาณนั้น พญามาราธิราชนั้นไม่ใช่อื่น
ท่านคงหมายสัญญาอดีต
สัญญาอดีตชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนี้นับว่าเป็นชั้นสูง จะ
ได้ประสบพบเห็นก็แต่ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยเทวธรรม
และพรหมธรรมในตน เพราะเหตุนั้น ท่าน
จึงยกขึ้นสู่บุคลาธิษฐานให้ชื่อว่าพญามาร
หรือเสนามาร
ด้วยคะเนกาลดูว่า พระองค์ประทับ
ด้วยบัลลังก์สมาธิ แต่เวลาตะวันบ่ายจน
ถึงประถมยาม เมื่อเวลาองค์ฌานยังเป็นไปอยู่ ก็คง
ไม่รู้สึกลำบากเหน็ดเหนื่อยด้วยประการใด
ครั้นองค์ฌานระงับลงแล้วก้าวขึ้นสู่ทางวิปัสสนา
ก็คงจะทรงทราบความลำบากเหน็ดเหนื่อยเหน็บชา
เป็นหน้าที่ของสัญญาอดีต ที่เคยได้รับสุขมา
ด้วยประการใด และคงจะเห็น
ความทุกข์เกิดแต่บัลลังก์สมาธินั้นเองเป็นข้อใหญ่ คง
จะคิดอยากขยับขยายบัลลังก์สมาธินั้นออก
เป็นข้อสำคัญในระหว่างกาลเพียงเท่านั้น
พระโบราณาจารย์จึงยกวิถีจิตในเวลา
นั้นขึ้นสู่บุคลาธิษฐานว่า
พญามารยกพลนิกายมาแย่งพระรัตนบัลลังก์
บัลลังก์นั้นก็คือขัดสมาธินั้นเอง เมื่อพระองค์ได้รับ
ความขัดข้องเกิดแต่สัญญาอดีตต่างๆ เช่นนั้น จึง
ได้ชุมนุมพระบารมี
เห็นความว่าพระองค์คงจะตรวจข้อปฏิบัติ
ในทานบารมีเป็นต้นว่า ทาน คือ จาคเจตนา เราก็
ได้สละเคหสถานบ้านเมืองโอรสชายา
เป็นจาคะอย่างสูงสุดอยู่แล้ว ศีล เราก็ได้บำเพ็ญ
เป็นอธิศีลอยู่แล้ว เนกขัมมะ เราก็ได้ประพฤติโดย
ไม่เกี่ยวเกาะอยู่แล้ว ปัญญา เราก็
ได้ตรวจตรองเห็นโทษและคุณเป็นไปในสัตว์
ทั่วโลกแล้ว วิริยะ เราก็ได้บำเพ็ญมาเต็มที่แล้ว
ขันติ เราก็ได้อดทนมาถึง ๖ ปีแล้ว สัจจะ เราก็ได้
ให้มีให้เป็นเต็มที่แล้ว อธิษฐาน เราก็ได้ตั้ง
ไว้แต่แรกออกสู่เพศบรรพชา ว่าจักมีพรหมจรรย์
เป็นที่ไป ณ เบื้องหน้า ณ วันนี้ก็ได้ตั้งใจว่า ถ้ายังไม่
ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จัก
ไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์อันนี้ เมตตา ความตั้งใจ
จะทำตนให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสาร และเพื่อ
จะยกเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ด้วย เราได้ให้เกิด
ให้มีเต็มที่มาแล้ว อุเบกขา เราก็ได้บำเพ็ญมา ไฉนจึง
ไม่เต็มรอบเล่า
เมื่อพระองค์ตรวจเช่นนั้น พระบารมีทั้งหลายคือ
ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา
เป็นอัญญมัญญปัจจัย
มีกำลังกล้าอุดหนุนอุเบกขาบารมีให้
ถึงปรมัตถบารมี พระกายและจิตของพระองค์
ก็สงบเป็นกลางไม่หวั่นไหวต่อสุขและทุกข์
มุ่งต่อวิปัสสนาญาณอย่างเดียว ในระหว่างพระกาย
และจิตของพระองค์สงบ เป็นกลางไม่หวั่นไหวต่อสุข
และทุกข์นั้น เห็นความว่าท่านจะยกขึ้นเทียบ
ด้วยนางพระธรณี
เพราะอุเบกขาญาณสัมปยุตปรมัตถบารมี
บำรุงพระองค์ให้สำเร็จเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
เป็นทางตรงต่อศีลวิสุทธิเป็นต้น
พ้นอำนาจแห่งวิจิกิจฉาที่เนื่องมาแต่สัญญาอดีต
เป็นทางประณีตควรแก่วิปัสสนาญาณ
น้ำพระทัยของพระองค์ในระหว่างกาลเพียงเท่านี้
เห็นว่าท่านจะยกเทียบด้วยอุทกวารี
อันนางพระธรณีรีดออกจากมวยผม ทำให้พญามาร
และพลมารจมวินาศ
ข้อที่ว่า พญามารและมารธิดา
อยู่ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้น เห็น
ความว่าท่านหมายวิปัสสนูปกิเลส
เป็นชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เพราะนิมิตทั้งหลาย
เป็นของเกิดแต่จิต เนื่องมาแต่สัญญาอดีตทั้งสิ้น นิมิต
นั้นท่านจึงให้ชื่อว่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
แปลว่ายินดีต่ออารมณ์ที่ผู้อื่นนฤมิตให้
แสดงใจความแห่งมารวิชัยพอเป็นทางดำริต่อไป
แก่พุทธบริษัทผู้ชอบคิดชอบตรองไว้แต่เพียงเท่านี้
การที่แสดงมาทั้งปวงนี้ ข้อสำคัญก็คือความประสงค์
จะให้พุทธบริษัททราบความว่า พระพุทธคุณ
เป็นของรู้เห็นเป็นขึ้นได้ด้วยยาก
เพราะมีเครื่องปิดป้องกำบังหลายชั้นหลายเชิงนัก
ดังบรรยายมานี้ การที่แสดงมานี้มิใช่อื่น
คือแสดงพระพุทธคุณทีเดียว พระพุทธคุณ
นั้นย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้วว่าเป็นของลึกซึ้ง
ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพกว้างขวางใหญ่หลวงยิ่งนัก
ดังพื้นฟ้าอากาศไม่อาจพรรณนาให้สิ้นสุดได้
การที่พรรณนามานี้ ก็พอเพียงแก่ความเข้าใจตาม
ส่วนที่ควรแก่ความรู้ความเห็นของตนเท่านั้น
ผู้พรรณนาคุณพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบุคคลไปตักน้ำ
ในแม่น้ำ ผู้มีแรงน้อยถึงน้อยก็ตักเอามาแต่น้อย
ผู้มีแรงมากถึงใหญ่ก็ตักเอามามาก
แต่อย่างไรแม่น้ำก็คงเต็มอยู่ตามปรากติเดิมนั้นเอง
ข้อนี้ฉันใด ผู้พรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
การปุจฉาวิสัชนาของเราก็เห็นว่าพอแก่เวลา.
...........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร