วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 17:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

โลกวินิจฉัย

(เรียบเรียงตั้งแต่เป็นพระญาณรักขิต ตรวจพิมพ์ใหม่ เมื่อ
เป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ. ๒๔๖๘)

รตนตฺตยํ นมสฺสิตฺวา ..................... สิริจนฺโทติ นามโก
โลกเภทํ ปวกฺขามิ ....................... ตํ สุณาถ
สุเขสิโนติ.
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการพระรัตนตรัย ซึ่งข้าพเจ้าถึง
แล้วว่าเป็นที่พึ่งอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยสัจจภาษิตอันนี้ พึง
เป็นปริตรปราการกางกั้นสรรพภยันตรายภาย
ในภายนอก เพื่อข้าพเจ้าได้แต่งโลกวินิจฉัยสุภาษิตเรื่องนี้
โดยสะดวก จะได้เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่โยคาวจรเจ้า
ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ คิดจะข้ามวัฏภัย พากันสลัดตัดเสีย
ซึ่งห่วงใยในการบริโภค มุ่งประโยชน์อมตธรรม
แต่หากเผอิญอกุศลกรรม คือตัวโมหะ
เป็นโลกมืดมาหุ้มห่อปกปิด นี่หากว่า
มีพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้โลกนาถเป็นประทีปส่องแสงให้สว่างอยู่เสมอ แต่
ถึงอย่างนั้นยังพากันหลงใหลสัญญาวิปลาส
น้อมเอาพุทธโอวาทเข้าสู่ข่ายของโมหะซึ่ง
เป็นกิเลสลามกธรรมแห่งตน ทำให้ฉงนทั้งตนและผู้อื่น
เพราะเป็นผู้ไม่ถึงพระคุณนาม คือ อรหตาทิคุณเป็นต้น
ตามเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
เมื่อข้าพเจ้าประกอบความเพียรโดยชอบ
พระโลกวิทูคุณแจ่มใสเป็นเขมสรณาคมน์ขึ้นแล้ว
จักแสดงโลกวินิจฉัยแก่ผู้มีสัทธินทรีย์เพื่อจะให้ข้าม
ความสงสัยในโลกได้ด้วยตน ตัดความฉงนสนเท่ห์ในโลก
ทั้ง ๓ ได้ด้วย เพราะว่าเมื่อข้าพเจ้าเริ่มเล่าเรียน
ได้เรียนปณามคาถาคัมภีร์สนธิว่า “เสฏฺฐนฺติโลกมหิตํ
อภิวนฺทิยคฺคํ พุทฺธญฺจ” ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธเจ้า
ผู้ล้ำเลิศประเสริฐสุด อันโลกทั้ง ๓ หากบูชาดังนี้ ให้เกิด
ความสงสัยในโลก ๓ ต่อ ๆ มา ครั้นศึกษาเล่าเรียนไปภาค
อื่น ก็ได้พบ ติโลกํ, หรือ ติโลกเชฏฺฐํ, ติโลกนาถํ, ต่าง ๆ
ล้วนหมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เป็นใหญ่กว่าโลก
ทั้ง ๓ เป็นผู้ประเสริฐกว่าโลกทั้ง ๓ เป็นที่พึ่งแก่โลกทั้ง ๓
ก็ยิ่งให้เกิดความสงสัยในโลกทั้ง ๓ นั้นหนักขึ้น
ครั้นตรวจดูแบบแผนตามที่มาต่าง ๆ
ท่านก็แสดงประเภทโลกโดยนัยต่าง ๆ
ที่ท่านแสดงกามโลก รูปโลก อรูปโลกได้ ๓ จริง แต่ก็
ยังติดขัดแก่ที่อื่น
เพราะบางแห่งท่านแสดงประเภทโลกต่าง ๆ ดังที่ว่ามาว่า
ยมโลก เปตโลก สัตตโลก มนุสสโลก เทวโลก มารโลก
พรหมโลก สังขารโลก ธาตุโลก อากาสโลก ขันธาทิโลก
โลกุตระ ดังนี้ จึงเป็นเหตุให้หมายโลก ๓ ลงเป็นหนึ่งในที่
ใดได้ด้วยยาก ครั้นพระโลกวิทูคุณปรากฏแล้ว
จึงวินิจฉัยโลก ๓ นั้นได้ โลก ๓ นั้นใช่อื่น ท่านหมาย
กามโลก รูปโลก อรูปโลกนั้นเอง ที่จะวินิจฉัยได้ก็
เพราะโลกคงแบ่งได้เพียง ๓ ภูมิเท่านั้น ภูมิที่ ๔
เป็นโลกุตระ ใน ๓ โลกนั้น กามโลกเป็นโลกใหญ่
เป็นอนันตโลก ท่าน
จึงแบ่งประเภทโลกที่อาศัยกามโลกออกเป็น ๖ โลก คือ
ยมโลก ๑ เปตโลก ๑ สัตตโลก ๑ มนุสสโลก ๑ เทวโลก
๑ มารโลก ๑ จะอธิบายโลกทั้ง ๖ นี้ก่อน แต่โลก
ใดมีคุณมีประโยชน์น้อย ก็จักอธิบายเล็กน้อย โลก
ใดมีประโยชน์มาก ก็จักอธิบายมากหน่อย ตาม
ความพอใจของตน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 18:09 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยมโลโก ยมโลกนั้นพึงเข้าใจว่า โลก
ใดเมื่อสัตว์กระทำอกุศลกรรมอันลามกต่าง ๆ แล้ว ย่อม
ได้รับทุกขเวทนาในอบายสถานนั้น ๆ
มีนิยมกำหนดระวางโทษตามสมควรแก่กรรมที่สัตว์ทำ
ไว้อย่างไร คือทำตามสมควรแก่ครุกรรมลหุกรรม
ที่สัตว์ทำไว้ ดังกำหนดว่า
สัตว์จำพวกนี้ทำอกุศลกรรมอย่างนี้
ต้องรับโทษทนทุกขเวทนาอยู่ในชั้นนั้น มีกำหนดโทษเท่า
นั้นปีเท่านั้นเดือนเท่านั้นวัน จึงจะพ้นจากโทษนั้นได้
แล้วก็ลงโทษกันไปจนถ้วนกำหนด แล้วก็
ให้สิ้นบาปสิ้นกรรมไป ในสถานใด
เป็นกำหนดลงโทษแก่สัตว์ผู้กระทำอกุศลกรรม อัน
เป็นบาปหยาบช้าอย่างนั้นแหละ ท่านสมมติเรียกว่า
ยมโลโก ยมโลก
เปตโลโก โลกเปรตนั้นพึงเข้าใจว่า วิสัยของเปรต
ต้องทนทุกขเวทนา จะทำการงานเลี้ยงชีพของตนเองไม่
ได้ มีแต่อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ
ต้องทนทุกข์อดข้าวอดน้ำอดผ้านุ่งผ้าห่ม ถึงมี
อยู่ก็บริโภคเองไม่ได้
มีแต่อดอยากลำบากเสวยทุกขเวทนาอยู่เป็นนิตย์ ที่
นั้นแหละท่านสมมติว่า เปตโลโก โลกเปรต
สตฺตโลโก โลกสัตว์นั้น จะพรรณนาหาที่สิ้นสุดมิได้ ท่าน
จึงหมายความสั้นว่า นานัตตกายา นานัตตสัญญี
สัตว์มีกายต่าง ๆ กัน มีสัญญาในปฏิสนธิวิญญาณต่าง ๆ
กัน แต่คงมีอกุศลกรรม คือ โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา
พยาบาทเป็นพื้นของใจโดยมาก ที่นั้นแหละท่านสมมติว่า
สตฺตโลโก โลกสัตว์
มนุสฺสโลโก โลกมนุษย์นั้น
ตามมติของพระโบราณาจารย์ท่านแบ่งเป็น ๔ ชั้น
มนุสฺสเปโต ชั้น ๑ มนุสฺสติรจฺฉาโน ชั้น ๑ มนุสฺสมนุสฺโส
มนุษย์ซึ่งมีมนุษยธรรม คือ กุศลกรรมบถในตนชั้น ๑
มนุสฺสเทโว มนุษย์ซึ่งมีเทวธรรม คือ มีหิริโอตตัปปะ
ละอายบาป สะดุ้งหวาดเสียวต่อบาป สมาทานถือมั่น
ในธรรมอันขาว คือกุศลธรรมอยู่ทุกเมื่อ ชั้น ๑ ที่
นั้นแหละท่านสมมติว่า มนุสฺสโลโก โลกมนุษย์
เทวโลโก โลกเทวดานั้น ท่านหมายความว่า สคฺโค
แปลว่า สวรรค์ ได้แก่ฉกามาพจรสวรรค์ ๖ ชั้น แต่พึง
เข้าใจ คำว่า สวรรค์ ก็ยังไม่เป็นภาษาไทยแท้ ถ้าจะ
ให้ตรงภาษาไทย สคฺโค ต้องแปลว่า สถานที่เลิศ
ด้วยอารมณ์ อะไรชื่อว่าอารมณ์ในที่นี้ รูป เสียง กลิ่น รส
เครื่องสัมผัส ธรรม ๖ อย่างนี้เรียกว่าอารมณ์ ในที่
ใดมีอารมณ์ ๖ อย่างนี้ เป็นของเลิศพร้อมบริบูรณ์ ที่
นั้นแหละท่านสมมติว่าฉกามาพจร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 18:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เพราะเหตุนั้น เมื่อจะยกสวรรค์ขึ้นสู่บุคลาธิษฐาน ท่าน
จึงหมายชั้นของอารมณ์นั้นด้วยกายตน ชั้นจักษุ
ให้ชื่อว่าชั้นจาตุมมหาราชิกา คือเล็งเอามหาภูตรูปทั้ง ๔
ซึ่งเป็นวิสัยของจักษุ เล็งเอาแต่มหาภูตรูปส่วนที่เลิศนั้น
ว่าจาตุมมหาราชิกา ที่เลิศนั้น คือที่โลกนิยม
กันว่ารูปสะสวยงดงาม
คือตัวของตนก็สะอาดสดสวยเพริศพริ้ง
เป็นที่จับใจแก่มหาชนผู้ได้เห็นทั่วไป จะมีภรรยา สามี
บุตร นัดดา บริชนผู้รับใช้สอยการงาน ถึงสัตว์พาหนะ
และสัตว์ของเลี้ยงก็ล้วนแต่สวย ๆ งาม ๆ น่าดูน่าชม
รูปร่างไม่เป็นที่ขัดตาขัดใจของมหาชนทั่วไป
ถึงจะมีเครื่องบริโภคอุปโภค เป็นต้นว่าอาหาร
หรือเหย้าเรือนเคหสถาน เตียง ตั่ง ฟูก เบาะ เมาะ หมอน
เครื่องลาดเครื่องปูเครื่องประดับตกแต่ง
เสื้อผ้าแก้วแหวนอาวุธศัสตรา
พ่วงแพนาวาเรือกสวนไร่นาสารพัดทุกสิ่ง ล้วน
เป็นของเลิศ คือ เลิศด้วยราคาและเลิศ
ด้วยน้ำนวลศรีสัณฐาน คือ ดีกว่าเขาหรือที่
เขานิยมว่าอย่างดี อย่างประเสริฐตามยุคตามสมัย มีในที่
ใด ที่นั้นแหละให้ชื่อว่าชั้นจาตุม ผู้เป็นใหญ่เป็นเจ้าของ ๆ
เหล่านั้น ชื่อว่า
ผู้เสวยทิพยสมบัติชั้นจาตุมมหาราชิกาเทวโลก
ชั้นโสตะ ให้ชื่อว่า ชั้นตาวตึส หมายสัททารมณ์ ซึ่ง
เป็นวิสัยของโสต คือเสียงที่ไพเราะฟังไม่ขัดหูขัดใจ
ล้วนแต่เสียงเป็นที่เพลิดเพลินเจริญจิต
ต้องหมายเอาแต่เสียงที่ดี คือเสียงของตนเอง
ก็ไพเราะอ่อนหวาน เป็นที่พอใจแก่มหาชนทั่วไป
ส่วนเสียงภายนอก เป็นต้นว่า เสียงสั่ง เสียงลา เสียงตอบ
เสียงขาน เสียงพูด เสียงจา เสียงขับ เสียงกล่อม ล้วน
เป็นที่ชื่นโสตชื่นใจ เสียงประโคมให้เพลิดเพลินยิ่ง ๆ
ขึ้นไป เป็นต้นว่า เสียงดีด เสียงสี เสียงตี เสียงเป่า
เสียงขับ เสียงร้องสารพัดศัพท์สำเนียง แต่ล้วน
เป็นของโลกนิยมว่าเลิศทั้งสิ้น ในที่อันบริบูรณ์
ด้วยเสียงที่โลกนิยมว่าเลิศ เหล่านั้นแหละท่านสมมติว่า
ตาวตึส ท่านแปลว่า ๓๓ ชะรอยนักปราชญ์โบราณ
จะหมายเพลงของดีดสีตีเป่าขับร้องเหล่านั้น แต่ละอย่าง
ๆ มี ๓๓ เพลงอย่างนั้นกระมัง ? หรือจะหมาย
ความอย่างไรแน่ยกไว้ให้เป็นวิสัยแก่ปัญญาของบัณฑิต
ถ้าจะเชื่อตามพระคัมภีร์ว่าไว้โดยส่วนเดียว บางที
ความเห็นความเข้าใจของเราจะผิดจาก
ความประสงค์ของท่านผู้แต่งก็อาจจักเป็นได้
เพราะเปลี่ยนยุคเปลี่ยนคราวสืบต่อกันมาหลายชั่วบุรุษ
แล้ว สมมติและบัญญัติก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พึง
เข้าใจว่าผู้ใดเป็นอิสระแก่เสียงเหล่านั้นได้ ผู้
นั้นแหละชื่อว่าเป็นผู้เสวยทิพยสมบัติชั้นดาวดึงส์
ชั้นฆานะ ให้ชื่อว่าชั้นยามา หมายคันธารมณ์กลิ่นที่หอม
คือ ตัวของตนก็ประพรมด้วยเครื่องหอมอยู่เสมอ
วัตถุภายนอก เป็นต้นว่าเครื่องอุปโภคบริโภค
คือผ้านุ่งห่มที่อยู่ที่นอนเครื่องใช้สอยสัมผัสต่าง ๆ
ชั้นของจะบริโภคก็ล้วนแต่หอม ๆ ทั่วไป ในที่
ใดมีกลิ่นอันโลกนิยมว่าเลิศมีอยู่ทุกเมื่อ ที่นั้นแหละ
ท่านสมมติว่าชั้นยามา เพราะธรรมดาของกลิ่น ย่อมตั้ง
อยู่ได้ครู่หนึ่งยามหนึ่งเท่านั้น ท่านจึงให้ชื่อว่า ยามา ผู้ใด
เป็นอิสระแก่กลิ่นเหล่านั้นได้ ผู้นั้นแหละชื่อว่า
ได้เสวยทิพยสมบัติชั้นยามา
ชั้นชิวหา ชั้นรสารมณ์ รสอร่อยดี
คือตนของตนก็ฉลาดรู้จักรสอร่อยดี รสมีเป็น ๒ ประเภท
รสวิสังขารประเภท ๑ รสสังขารประเภท ๑ รสวิสังขาร
นั้นได้แก่รสที่เป็นเอง ดังเผ็ดพริก เค็มเกลือ
เปรี้ยวมะขามมะนาว หวานอ้อยหวานตาลเป็นต้น
รสสังขารนั้นเกิดแต่การแต่งการปรุง ดังน้ำพริก
และแกงต่างๆ ขนมต่าง ๆ เป็นต้น บรรดารสซึ่ง
เป็นวิสัยของชิวหาทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแต่โลกนิยมว่า
เป็นรสอันล้ำเลิศประเสริฐอร่อยดีมีบริบูรณ์ในที่ใด ที่
นั้นแหละท่านสมมติว่าชั้นดุสิต ผู้ใดเป็นอิสระแก่รสเหล่า
นั้นได้ ผู้นั้นแหละได้ชื่อว่าได้เสวยทิพยสมบัติชั้นดุสิต


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 18:18 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชั้นกาย หมายโผฏฐัพพารมณ์ เครื่องสัมผัสของกาย
ได้แก่ร่างกายของตนและของผู้อื่น และวัตถาลังการ ฟูก
เบา เมาะหมอน เป็นต้น บรรดาสิ่งที่จะพึงสัมผัสด้วยกาย
ล้วนเป็นของนิ่มนวลควรยินดี ที่โลกเขานิยมว่า
เป็นของเลิศ เมื่อต้องการสิ่งอันใด หาเอาได้สั่งเอา
ได้สร้างเอาได้ตามความปรารถนาของตน ที่
นั้นแหละท่านสมมติว่าชั้นนิมมานรดี คือนฤมิตเอา
ได้ตามชอบใจ ผู้ใดมีอิสรภาพสร้างเครื่องสัมผัส
ได้ตามชอบใจของตนอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเป็น
ผู้เสวยทิพยสมบัติชั้นนิมมานรดี
ชั้นใจ หมายชั้นธรรมารมณ์ เครื่องคู่ของใจ
คือใจของตนก็เป็น ใจบริสุทธิ์ พ้น
จากโทษคือใบ้บ้าโง่เขลา บริบูรณ์
ด้วยสติปัญญารู้จักอารมณ์ให้เกิดความสุข และอารมณ์
ให้เกิดความทุกข์ ควรแก่ทิพยสมบัติ
ที่เรียกว่าธรรมารมณ์นั้นก็ใช่อื่น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส
เครื่องสัมผัส ๕ อย่างนั้นเอง
บรรดาอารมณ์สิ่งที่โลกนิยมว่าเป็นของเลิศ ตามที่
ได้พรรณนามาแล้วใน ๕ ชั้นข้างต้นนั้น และมีบริบูรณ์
ในที่ใด ที่นั้นท่านสมมติว่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ชั้นผู้
อื่นนฤมิตให้ ผู้ใดมีบุญญาธิการเป็นอิสระแก่อารมณ์
ได้ครบทั้ง ๕ คือต้องการของ ๕ อย่างนั้นย่อมมีผู้นำมา
ให้ตามความปรารถนา ผู้นั้นแหละชื่อว่า
ได้เสวยทิพยสมบัติชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ชั้นผู้อื่นนฤมิตให้
ผู้ใดมีบุญญาธิการอันตนได้สร้างสมไว้มาก จึง
ให้สำเร็จกิจเป็นอิสระแก่อารมณ์ทั้ง ๕ อย่างนั้น คือ
ต้องการของ ๕ อย่างนั้น ย่อมมีผู้น้อมนำมายกให้ปัน
ให้สำเร็จตามความปรารถนา ผู้นั้นแหละชื่อว่า
ได้เสวยทิพยสมบัติ ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ถ้าจะให้ตรงกับคำว่า เทโว ต้องบริบูรณ์พร้อมทั้ง ๖
อารมณ์ แต่ล้วนที่โลกนิยมว่าเป็นอย่างเลิศ
อย่างประเสริฐอย่างดีอย่างสูงทุกสิ่งทุกอย่าง
จึงควรนับว่าเป็นเทวดา ความเป็นจริงอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น
ต้องมีทั่วกันแก่สัตว์ที่เกิดมาในโลก
เป็นแต่เพียงชั้นสามัญต่ำ ๆ โดยมาก ซึ่งจะได้ชั้นสคฺโค
อารมณ์เลิศประเสริฐสูงสุดทุกอย่างนั้น ไม่เป็นของได้
ด้วยง่ายเลย ต้องอาศัยบุญนิธิที่ตนสร้างสม
ไว้แต่หนหลังแท้ ทิพยสมบัติเหล่านั้น จึงจะบริบูรณ์
ได้ตามความปรารถนา
ถ้าจะจัดโดยชั้น อินฺโท พระอินทร์
จะมีแต่ทิพยสมบัติเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมี
อินทวัตรอีก ๗ ประการ มาตาเปติภรํ
เลี้ยงดูมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข ๑ กุเล เชฏฺฐาปจายินํ
เคารพผู้เป็นใหญ่ในตระกูลของตน ๑ สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ
พอใจกล่าวแต่คำอ่อนหวานสละสลวย ๑
เปสุเณยฺยปฺปหายินํ ละเสียซึ่งวาจาไม่เป็นที่รัก ๑
มจฺเฉรวินเย ยุตฺตํ ประกอบในอันกำจัดเสียซึ่ง
ความตระหนี่ ๑ สจฺจํ กล่าวซึ่งคำจริง ๑ โกธาภิภุง
ครอบงำเสียซึ่งความโกรธ ๑ และต้องมีอัครชายา ๔ นาง
เป็นมเหสี คือ นางสุชาดา ๑ นางสุนันทา ๑ นางสุจิตตา ๑
นางสุธัมมา ๑ ถ้าขาดนางทั้ง ๔ นี้ แต่นางใดนางหนึ่งแล้ว
จะได้ชื่อว่า อินฺโท ยังไม่ได้ก่อน เพราะผู้แต่งความสุขให้
ยังไม่พรักพร้อม นางทั้ง ๔ นั้นคือใครเล่า นางสุชาดานั้น
คือ กายานุปสฺสนา นางสุนันทา คือ เวทนานุปสฺสนา
นางสุจิตตานั้น คือ จิตฺตานุปสฺสนา นางสุธัมมานั้น คือ
ธมฺมานุปสฺสนา ผู้ที่มีอนุปัสสนาพร้อมทั้ง ๔ นี้อยู่เสมอ
จึงควรแก่พระนามว่า อินฺโท แท้ ไม่ต้องมีผู้ตั้งให้หาก
เป็นเอง ที่ว่าเป็นเองนั้น คือรู้สึกความสุขที่ตนได้เสวยอยู่
ด้วยตนเอง เพราะนางทั้ง ๔ นั้น เป็นชาติกายสิทธิ์ ถ้าอยู่
กับบุรุษควรสมมติว่าอัครชายา ถ้าอยู่
กับสตรีควรสมมติว่าอัครสามิกา เพราะเป็นผู้แต่ง
ความสุขเป็นที่เจริญใจได้ทั่วไป
บรรยายชั้นฉกามาวจรเทวโลก พอควรแก่เวลาเพียงเท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 18:23 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนมารโลกนั้น ท่านหมายชั้นสัญญา ได้แก่กามารมณ์
ซึ่งเป็นวิสัยของประสาททั้ง ๕ ที่ตนเคยได้เห็น ได้ฟัง
ได้สูดดม ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสมาแล้ว ให้มีความระลึก
ถึงสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอ สิ่งใดที่ตนรักใคร่พอใจมากก็
ให้เกิดความระลึกคิดถึงมาก สิ่งใดที่ตนเกลียดชังมาก ก็
ให้เกิดโทสะพยาบาทมาก ผู้ที่ลุอำนาจของสัญญาอดีต
จึงได้รับทุกข์ถึงตายบ้าง แทบประดาตายบ้าง เพราะเหตุ
นั้น ท่านจึงหมายสัญญาอดีตว่าเป็นพญามาร ถ้า
จะจัดมารให้เป็นชั้นได้ ๕ ชั้น คือ ขันธมารชั้น ๑
กิเลสมารชั้น ๑ เทวบุตตมารชั้น ๑ อภิสังขารมารชั้น ๑
มัจจุมารชั้น ๑ ต้องยกสัญญาขึ้นเป็นองค์พญามาราธิราช
ตัวเทวบุตตมาร เพราะสัญญาเป็นประธาน แก่มารทั้งสิ้น
กองรูปทั้ง ๕ คือรูปที่จะพึงเห็นด้วยจักษุ รูปที่จะพึงได้ยิน
ด้วยโสตะ รูปที่จะพึงรู้ด้วยฆานะ รูปที่จะพึงรู้ด้วยชิวหา
รูปที่จะพึงรู้ด้วยกาย รูป ๕ ประเภทนี้จัด
เป็นขันธมารก็สัญญาเป็นผู้หมาย
เวทนา ๕ คือ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา จัด
เป็นกิเลสมาร ตัณหาอุปาทานจะมีขึ้นได้ ก็อาศัยเวทนา
เป็นเหตุเป็นปัจจัย เวทนาทั้ง ๕ นั้นเล่าก็มีสัญญาเป็น
ผู้หมาย
สัญญา ความจำหมายทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดถึงอินทร์
พรหม ยม ยักษ์ทั้งสิ้น ก็ไม่มีผู้ใดได้รู้ได้เห็น เป็นแต่
ได้ยินได้ฟังมาแล้วก็จำไว้เข้าใจตามเท่านั้น เพราะเหตุนั้น
สัญญาท่านจึงจัดเป็นเทวบุตตมาร
สังขาร ความคิดอ่านปรุงจิต เป็นบุญญาภิสังขาร
อบุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร แต่งความดีความชั่ว
ให้แก่สัตว์ได้ ท่านจึงจัดเป็นอภิสังขาร ก็มีสัญญาเป็น
ผู้หมาย
วิญญาณ ความรู้สิ่งทั้งปวง ว่านี่เป็นรูป นี่เป็นนาม นี่
เป็นของดี นี่เป็นของเลว นี่เป็นสิ่งนี้ นั่นเป็นสิ่งนั้น
ความรู้เกิดและรู้ตาย ก็เป็นหน้าที่ของวิญญาณ
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงจัดวิญญาณให้เป็นมัจจุมาร
ก็มีสัญญาเป็นผู้หมาย สิ่งใดจะปราศจากสัญญาไม่มีเลย
ความเป็นจริงเบญจขันธ์นี้ ต้องถือเอาเนื้อความว่า ขันธ์ ๕
คืออวัยวะร่างกายของเรานี้เป็นของมีก้อนเดียว ทั้งก้อน
นั้นแหละท่านเรียกว่าขันธ์ คือขันธ์มีอันเดียวเท่านั้น
แต่มีอาการเป็น ๕ ได้ใจความว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ขันธ์ เป็นแต่อาการของขันธ์เท่า
นั้น เหมือนอย่างขันธ์ ๓ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์
ปัญญาขันธ์ ก็อย่างเดียวกัน ถือเอาเนื้อความว่า ศีล
สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ขันธ์ เป็นแต่เป็นอาการของขันธ์เท่า
นั้น คำว่าขันธ์มีอันเดียว คือหมวดกองแห่งอวัยวะทั้งก้อน
นั้นเอง ท่านให้ชื่อว่าขันธ์ ในหนังสือเล่มนี้ไม่ต้องการ
จะอธิบายในเรื่องขันธ์ให้มาก ประสงค์จะแสดงมารโลก
เท่านั้น
ได้เนื้อความว่า โลกใดที่ยังหลงใหลงมเงอะเกี่ยวเกาะอยู่
ด้วยสัญญาอดีต
ดังโยคาวจรบางพวกที่เรียนพระวิปัสสนาเจริญพุทธคุณเพ่ง
อรหํ หรือ พุทฺโธ เจริญกายคตาสติเพ่งกาย หรือเพ่ง
ส่วนของกาย มีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นต้น
หรือเจริญพรหมวิหารเพ่งเมตตากรุณา หัดออกทิศต่าง ๆ
และอัญเชิญพระปีติทั้ง ๕ ให้มาเกิดปรากฏในไตรทวาร
เมื่อนิมิตทั้งหลาย ซึ่งเป็นวิสัยแห่งสัญญามาบังเกิด
เป็นอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตได้แล้ว จะนฤมิตอย่างไรก็
ได้ตามประสงค์ อยากเห็นพระพุทธเจ้าก็นฤมิตได้
อยากเห็นอสุภะในกายตนหรือกายผู้อื่นก็นฤมิตได้
เจริญพรหมวิหาร เมื่อจะออกทิศต้องเข้าที่ก่อน อาจารย์
จึงสั่งให้ออกทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้
ให้พบวิหารใหญ่ไหว้พระแล้ว จึงกลับลงไปทิศเบื้องต่ำ
ถึงนาคพิภพ ไหว้พระบาทแล้วจึงกลับขึ้นไปทิศเบื้องบน
ไหว้พระเกศแก้วจุฬามณี กระทำประทักษิณแล้วจึงกลับ
โยคาพจรก็น้อมจิตไปตามคำสั่งของอาจารย์
ก็รู้ตามเห็นตามทุกสิ่งทุกอย่าง วิหารของพรหมกว้างใหญ่
เท่าใดก็ได้เห็น อยากเห็นพระนิพพานก็อาจจักไปดูได้
อยากรู้อะไร อยากเห็นอะไรก็ถามพระดู พระท่านก็บอก
ให้รู้ให้เห็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง อาการแห่งวิปัสสนามีวิธี
เป็นอันมาก ยกมาชี้แต่พอเป็นตัวอย่าง เพื่อให้
เข้าใจว่ารูปนฤมิตทั้งหลายเหล่านั้นตกอยู่
ในหน้าที่ของรูปสัญญาทั้งสิ้น ผู้ที่หลงรัก หลงใคร่
หลงกราบ หลงไหว้ หลงนับถือในนิมิตสัญญาเหล่านั้น
ชื่อว่าเป็นผู้ตกอยู่ในวิสัยของมารโลก
ถูกหลอกของพญามาราธิราชตรงทีเดียว โลกที่
ยังเกี่ยวเกาะหลงใหลอยู่ด้วยนิมิต
ตัวสัญญาอดีตอย่างที่พรรณนามานี้เป็นต้นนั้นแหละ
ท่านสมมติว่าเป็นมารโลก แสดงประเภทแห่งกามโลกยุติ
ไว้แต่เพียงนี้
ในรูปโลกเรียกว่าพรหมโลก นับว่า
เป็นโลกอันสะอาดปราศจากกามารมณ์ เมถุนวิรัติ
มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นวิหารธรรม เครื่อง
อยู่ของจิต จัดโดยชั้นฌานประเภทได้ ๑๒ ชั้น คือ
ปฐมฌานภูมิ ๕ ชั้น ... วิตกชั้น ๑ วิจารชั้น ๑ ปีติชั้น ๑
สุขชั้น ๑ เอกัคคตาชั้น ๑
ทุติยฌานภูมิ ๓ ชั้น ... ปีติชั้น ๑ สุขชั้น ๑ เอกัคคตาชั้น ๑
ตติยฌานภูมิ ๒ ชั้น ... สุขชั้น ๑ เอกัคคตาชั้น ๑
จตุตถฌานภูมิ ๒ ชั้น ... เอกัคคตาชั้น ๑ อุเบกขาชั้น ๑
ยุติรูปโลกไว้เพียงนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 18:28 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในอรูปโลกนั้น ก็ชื่อว่าพรหมโลกเหมือนกัน
แต่หมายนิมิตละเอียดกว่ากัน เป็นโลกหน่ายรูป
โลกปราศจากกามารมณ์โดยแท้ จัดโดยชั้นฌานประเภท
เป็น ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะชั้น ๑
วิญญาณัญจายตนะชั้น ๑ อากิญจัญญายตนะชั้น ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนะชั้น ๑ ผู้ที่มีพรหมธรรมเหล่านี้
ย่อมออกจากกามได้ด้วยอำนาจฌานเหมือนกันทั้ง ๒ โลก
เพราะหน่ายกามจึงได้ติดรูป ๑๒ เพราะหน่ายรูป ๑๒ จึง
ได้ติดนาม ๔ แต่อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจว่า
ผู้สำเร็จพรหมธรรมเหล่านั้น ต้องมี
ความสุขสำราญยิ่งกว่าผู้ที่มีแต่เทวธรรมและเทวสมบัติ
เพราะตัดกามออกเสียได้ ด้วยว่ากามฉันท์
เป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งสมุทัยต้นเหตุของทุกข์ เกี่ยวเกาะ
อยู่ด้วยกามราคะ ถึง
จะเสวยทิพยสมบัติอันสูงสุดสักเพียงใด ก็ไม่พ้น
ความร้อนใจใน ๓ การ คือ การปรารถนาแสวงหา ๑
การบริหาร ๑ การวิโยค ๑
ไม่มากก็น้อยตามกำลังแห่งกุศลากุศลกรรม หากนิยม
ส่วนที่มีพรหมธรรม ถ้าฌานไม่เสื่อม ย่อมมี
ความสุขสบายตลอดชาติ เพราะเหตุนั้น
นักปราชญ์เห็นโทษแห่งกามคุณ จึงมีความพอใจ
ในพรหมธรรม เจริญฌานด้วยกันเกือบทั่วโลก เพราะ
ไม่รู้จักทางแห่งอุตรโลก เข้าใจว่าพรหมโลกเป็นที่สุดแห่ง
ความสุขโดยแท้
ยุติอรูปโลกไว้เพียงเท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 18:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อนี้จักแสดงอุตรโลก ด้วยว่าอุตรโลกนั้น
เป็นโลกอันสุขุมคัมภีรภาพเหลือเกิน
มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกฯ พระพุทธสาวก ๓
จำพวกเท่านั้น เป็นผู้ชี้ได้บอกได้ นักปราชญ์นอกนั้นชี้
ไม่ถูกเลย เพราะเหตุกามโลก รูปโลก อรูปโลก
ถมทับซับซ้อนหลายชั้นหลายประเภทอย่างนี้ จึงทำ
ให้นักปราชญ์ทั้งหลายผู้แสวงหาอุตรโลก เกิด
ความพิศวงทุ่มเถียงซึ่งกันและกัน
เชิดชูวาทะของตนข่มขี่วาทะของผู้อื่นจนแหลกเหลว
ไม่รู้ว่าจะลงเนื้อเห็นตามท่านผู้ใด ออกจะลังเล เขาพูด
กันว่าศาสนาล่วงมาถึงเพียงนี้แล้ว
จะหามรรคผลนิพพานมาแต่ไหน ก็ออกจะเชื่อ
เพราะเหตุที่ไม่วางใจลงเป็นหนึ่งนั่นเอง โพธิปักขิยธรรม
จึงไม่บริบูรณ์ขึ้นได้ ถึงแม้จะมีผู้รู้จักอุตรโลกจริง และ
จะชี้ให้ผู้ไม่รู้จักเข้าใจ ก็เป็นการลำบากแท้
เพราะอุตรโลกเป็นชั้นสูง
ผู้ฟังบางพวกแต่เพียงชั้นมนุสสธรรมก็ยังไม่บริบูรณ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนีบรมโลกนาถได้ตรัส
ไว้ว่า ผู้สดับธรรมเทศนาและจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
มีแต่ชั้นมนุษย์ขึ้นไป ต่ำกว่ามนุษยชาติลงไปแล้ว
ต้องนับว่าเป็นอภัพสัตว์ไม่ควรแก่มรรคผลนิพพานดังนี้
คำที่ว่ามนุษยชาติหรือชาติมนุษย์นี้หมายความว่า
ผู้มีมนุสสธรรมในตน ได้แก่ผู้ประพฤติสุจริต
ด้วยไตรทวารอยู่ทุกเมื่อนั้นแหละ ได้นามว่ามนุสโส
สัตว์ใจสูงด้วยคุณ ผู้ต้องการมรรคผลนิพพานต้องทำ
ให้มนุสสธรรมเป็นตนเสียก่อน หรือทำให้เทวธรรม
พรหมธรรม เป็นตนได้
ก็ยิ่งเหมาะดีควรแก่มรรคผลนิพพานแท้ เพราะว่าผู้
เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา อินทร์พรหมได้แล้ว
แม้ปรารถนาอุตรโลก
ได้รับธรรมเทศนาคำแนะนำแต่นักปราชญ์ผู้รู้จักทางจริง
ก็อาจเข้าใจได้โดยรวดเร็ว
คำว่าโลกุตระ หรือคำว่าอุตรโลก ก็ไม่ต่างอะไรกัน
โลกุตระท่านมักแปลกันว่าข้ามขึ้นจากโลก ถ้า
จะถือเอาเนื้อความตามที่เข้าใจกันโดยมาก อุตร ว่าเหนือ
ว่าข้าม ว่าพ้น ว่าสูง ว่ายิ่ง โลกุตระ แปลว่าเหนือโลก
ข้ามโลก พ้นโลก สูงกว่าโลก ยิ่งกว่าโลก
อุตรโลก ถือเอาความอย่างเดียวว่าโลกหงาย เพราะว่าถ้า
ผู้บรรลุอุตรโลกแล้ว ย่อมสว่างไสวสิ้นวิจิกิจฉาในอดีต
อนาคต ปัจจุบัน ในอริยสัจ ในปฏิจจสมุปบาท
ส่วนกามโลก รูปโลก อรูปโลก ชื่อว่าโลกคว่ำ เพราะผู้ตก
อยู่ในวิสัยของ ๓ โลกนั้น ย่อมกำจัดวิจิกิจฉาออกจากใจ
ไม่ได้ อะไรหนอ ๆ ยังกินใจอยู่เสมอ ๆ ถึง
จะเล่าเรียนรู้ฉลาดสักเพียงใด ก็คงยังมีกถํกถีอยู่ร่ำไป
เพราะตนตกอยู่ในวิสัยของโลกคว่ำ ฝ่ายอุตรโลกนั้นจัด
เป็นชั้นก็ได้ ๔ เรียกว่าโสตาปันโนชั้น ๑ สกทาคามีชั้น ๑
อนาคามีชั้น ๑ ขีณาสโวชั้น ๑ ในสมัยนี้ปรากฏอยู่แต่นาม
เพราะขาดจากผู้ชี้ผู้บอกผู้ตั้ง ให้พึงเข้าใจว่าอุตรโลก
นั้นตามแบบแผนท่านก็ชี้ว่าเป็น อกาลิโก ไม่อ้างกาล
เป็นธัมมฐิติ ธัมมนิยาม จะสูญไปเสียไหน แต่โลกอื่น
เป็นโลกอันต่ำช้าเลวทราม ก็ยังปรากฏตั้งอยู่ได้
ทางที่จะชี้อุตรโลกให้ผู้มีญาณจักษุฟังเข้าใจโดยง่าย ก็มี
อยู่แต่อัคคัปปสาทสูตร แสดงพระธรรมคุณว่า “ยาวตา
ธมฺมา สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ”
ความว่า บรรดาสังขตธรรมหรืออสังขตธรรม มีประมาณ
เท่าไร บัณฑิตย่อมกล่าวว่าวิราคธรรมเป็นยอดของธรรม
ทั้งหลายเหล่านั้น ยทิทํ อะไรนี้ คือว่าวิราคธรรม
นั้นมีลักษณะอาการอย่างไร ได้แก่ธรรมหมวดไหน
แก้ว่าวิราคธรรมนั้นมีลักษณะสงบจากกามารมณ์ ต่าง
โดยประเภท ๕ ประการ มทนิมมทโน กำจัดเสียซึ่ง
ความเมา ๑ ปิปาสวินโย นำเสียซึ่งความกระหาย ๑
อาลยสมุคฆาโฏ ถอนเสียซึ่งอาลัย ๑ วัฏฏูปัจเฉโท
หักเสียซึ่งวัฏฏะ ๑ ตัณหักขโย สิ้นไปแห่งตัณหา ๑
ในลักษณะอันหนึ่ง ๆ ย่อมเอาอารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาหมัก
ไว้ที่ตน ดังความเข้าใจว่าตนได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น
ได้รส ได้เครื่องสัมผัส หรือได้อารมณ์ต่าง ๆ
มีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุดมาไว้ในตน เพราะความ
เข้าใจว่าตนได้นั้นแหละเป็นพยาน พึงเข้าใจว่ามีอาการมา
จึงเป็นมโท (เมา)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 19:13 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาการแห่งกำจัดเมาเสียนั้น ได้แก่ความเข้าใจตาม
เป็นจริง ดังความเข้าใจว่าอารมณ์อันใดก็คง
เป็นอารมณ์อันนั้น ที่สุดถึงมรรคผลนิพพานเป็น
อยู่อย่างไร ก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีอาการมาและ
ไม่มีอาการไป อย่างนี้เป็นต้น ชื่อว่า มทนิมมทโน
กำจัดเสียซึ่งความเมา
อาการแห่งกระหายนั้นได้แก่ความเข้าใจว่าสรรพสิ่ง
ทั้งปวงมีรูปเสียง เป็นต้น ตลอดถึงทาน ศีล สวรรค์
นิพพานเป็นที่สุด เป็นของไม่มีที่ตน เพราะความเข้าใจว่า
ไม่มีนั้นเป็นเหตุ จึงต้องกระหายอยู่เสมอ อย่างนี้
เป็นอาการแห่งปิปาสะ ความกระหาย
อาการแห่งวินโย นำเสียให้สาบสูญนั้น คือรู้จริงตามความ
เป็นจริง ว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมีอยู่ที่ตนเสร็จแล้ว
รู้สึกความอิ่มอยู่เสมอ จึงไม่ต้องเอาตนไปเป็นอารมณ์นั้น
ๆ ความที่อิ่มอยู่ทุกเมื่อนั้นเองชื่อว่า ปิปาสวินโย นำเสีย
ซึ่งความกระหายให้พินาศ
อาการแห่งอาลัยนั้น ได้แก่ความเข้าใจว่าอารมณ์
ทั้งหลาย มีรูป เสียง เป็นต้น จนถึงวิชชาวิมุตติ
สิ่งที่ตนเคยรู้ เคยเห็น เคยพบ เคยปะ เคยได้ยินได้ฟังมา
แล้วเหล่านั้น ว่าเป็นของควรแก่ตน ตนควรได้ตนควรถึง
ความที่มุ่งหวังวนเวียนอยู่ด้วยสัญญาอดีตอย่างนี้
เป็นอาการแห่งอาลโย อาลัย
อาการแห่งสมุคฆาโฏ ถอนเสียนั้น คือความเข้าใจตาม
เป็นจริงว่า อารมณ์สิ่งใดซึ่งเป็นส่วนอดีตก็ล่วงไปแล้ว
ส่วนอนาคตก็ยังไม่มาถึง ส่วนปัจจุบันก็เป็นอยู่อย่างนี้
ขาดความเกี่ยวเกาะในเรื่องสัญญาอดีต จึงชื่อว่า
อาลยสมุคฆาโฏ ถอนเสียซึ่งอาลัย
อาการแห่งวัฏฏะหมุนเวียนนั้น ได้แก่กรรม กิเลส วิบาก
ความจริงเรื่องของวัฏฏะพรรณนาไม่มีที่สิ้นสุด
จะชี้แต่พอเป็นอุทาหรณ์เป็นทางเล็กน้อย ใน
ส่วนมโนกรรมมีลักษณะอย่างนี้ กรรมได้แก่เจตนา
ความคิดอ่านต่อจิต กิเลสนั้นได้แก่ดีชั่วเป็นผลของเจตนา
วิบากนั้นได้แก่สุขทุกข์ เป็นผลของ ดีชั่ว กรรม
เป็นผลของวิบาก วนกันไปอย่างนี้
ในส่วนวจีกรรมนั้น เปล่งวาจาออกไปเป็นกรรม ดีชั่ว
เป็นกิเลส ได้รับผลสุขทุกข์เป็นวิบาก เปล่งวาจาออกไป
ใหม่เป็นกรรม วนกันไปอย่างนี้
ส่วนกายกรรมนั้น คือทำกิจการงานด้วยกายเป็นกรรม
การงานดีชั่วเป็นกิเลส ได้รับผลสุขทุกข์เป็นวิบาก
แล้วทำกิจนั้น ๆ ต่อไปอีกเป็นกรรม วนกันไปอย่างนี้
ไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อรู้จักวัฏฏะแล้ว เพ่งดูอะไรมันหมุนกันไปทั่วโลก
ดังอิริยาบถ ๔ เดินยืนนั่งนอนก็หมุนกันไป
เกิดแก่เจ็บตายก็หมุนกันไป เช้าสายเที่ยงบ่ายเย็น
วันคืนก็หมุนกันไป อาทิตย์ จันทร์ ถึงเสาร์
แล้วอาทิตย์อีกก็หมุนกันไป เดือนอ้ายเดือนยี่ถึงเดือน ๑๒
แล้วเดือนอ้ายอีกก็หมุนกันไป ปีชวด ปีฉลูถึงปีกุน
แล้วปีชวดอีกก็หมุนกันไป ชี้แต่พอเป็นตัวอย่างเท่านี้
อาการแห่งวัฏฏะย่อมเป็นไปอยู่อย่างนี้
อาการแห่งอุปัจเฉทะหักวัฏฏะนั้นมีอย่างเดียว คือปัจจุบัน
เท่านั้น ถ้าเห็นปัจจุบันธรรมเมื่อไร เครื่องหมุนก็หยุดสิ้น
จะเห็นปัจจุบันได้ก็เพราะอดีตอนาคตดับไป ถ้า
ยังเห็นว่าอดีตส่งมาให้เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันส่งไปให้
เป็นอนาคต อย่างนี้ชื่ออดีตอนาคตทับปัจจุบัน เป็นเหตุ
ให้วัฏฏะหมุนไม่มีที่สิ้นสุด ต่อเมื่อใดได้เห็นอดีต อนาคต
เป็นของปัจจุบันเกิดแต่ปัจจุบัน เมื่อนั้นแหละเป็น
วัฏฏูปัจเฉโท หักเสียซึ่งวัฏฏะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 19:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อาการแห่งตัณหานั้น ได้แก่
ความส่ายไปดิ้นรนไปทะเยอทะยานไปในกามภพ รูปภพ
อรูปภพ
อาการแห่งขยะความสิ้นไปนั้น ได้แก่ความรู้จริงตาม
เป็นจริงว่า กามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นสภาวะมีที่ตน
เพราะเห็นว่ามีที่ตน จึงขาดความส่ายไป ดิ้นรนไป
ทะเยอทะยานไปในภพทั้ง ๓ จึงเป็น ตัณหักขโย
สิ้นไปแห่งตัณหา
รวมใจความทั้ง ๕ บทนั้น ดังนี้ ความไม่เอาอารมณ์มา
ใส่ตนชื่อว่า มทนิมมทโน, ความอิ่มไม่เอาตนไป
ใส่อารมณ์ชื่อว่า ปิปาสวินโย, เพราะความไม่เอามาและ
ไม่เอาไปทั้ง ๒ อย่างนั้นแหละ จึงชื่อว่าขาด
ความเกาะเกี่ยว เป็น อาลยสมุคฆาโฏ, เพราะขาด
ความเกาะเกี่ยวซึ่งเป็นส่วนอดีตอนาคตนั้นแหละ จึงเป็น
อยู่ด้วยปัจจุบันธรรมเป็น วัฏฏูปัจเฉโท, เพราะปัจจุบัน
เป็นตน ตนเป็นปัจจุบันนั้นเอง จึงสิ้น
ความส่ายไปดิ้นรนไปทะเยอทะยานไปในอารมณ์ต่าง ๆ
จึงเป็น ตัณหักขโย, เพราะปัจจุบันเป็นตัววิชชา
แต่ปัจจุบันของกามาวจร รูปาวจร อรูปวจรนั้น ก็มีอยู่
ส่วนหนึ่งเป็นชาติกิเลส ปัจจุบันของโลกุตระจึง
เป็นชาติวิชชาแท้ โลกใดมีปัจจุบันเป็นญาณทัสสนะ โลก
นั้นแหละเป็นวิราคธัมโม, โลกใดเป็นวิราคธัมโม โลก
นั้นแหละเป็นนิโรธธัมโม, โลกใดเป็นนิโรธธัมโม โลก
นั้นแหละเป็นนิพพานธัมโม, โลกใดเป็นนิพพานธัมโม โลก
นั้นแหละเป็นอมตธัมโม, พึงเข้าใจว่า วิราโค นิโรโธ
นิพฺพานํ อมตํ เป็นชื่อแห่งอุตรโลกแท้
เมื่อจะรวมเนื้อความลงให้สั้น ได้ใจความว่าโลก
นั้นมีอันเดียว หมายสังขารโลก แตกต่างเป็นโลกมาก
โดยลักษณะอาการเท่านั้น เปรียบดังภาชนะมีถาด โถ โอ
จานเป็นต้น ถ้าบรรจุดอกไม้ธูปเทียน
หรือแก้วแหวนเพชรพลอย ก็เรียกว่าถาดดอกไม้ ถาดธูป
ถาดเทียน ถาดแก้ว ถาดแหวน ถาดเพชร ถาดพลอย
เรียกตามอาการของวัตถุที่อาศัย ข้ออุปมานี้ฉันใด
คำที่ว่าโลก เป็นข้ออุปไมยก็ฉันนั้น
เมื่อสาธุสัตบุรุษพุทธบริษัทผู้มีนามว่า โยคาวจร
ผู้ไพบูลย์ด้วยปัญญินทรีย์ ได้ประสบพบเห็นโลกวินิจฉัยนี้
แล้ว พึงตรวจดูลักษณะอาการแห่งความแตกต่างของโลก
ให้ชัดใจ เมื่อได้ความชัดแล้วพึงตรวจดูตนว่า สมัยนี้เรา
ยังตกอยู่ในวิสัยของโลกใด ก็จะเข้าใจได้โดยไม่
ต้องสงสัย
เพียงชั้นกามโลก รูปโลก อรูปโลกนั้น ถึงแม้ผู้บวช ณ
ภายนอกพุทธศาสนา บางพวกบางเหล่า
ก็อาจแนะนำปฏิบัติให้ลุให้ถึงได้ ส่วนอุตรโลก
มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว ชี้ได้บอก
ได้แนะนำให้ปฏิบัติให้เห็นด้วยตนได้
ซึ่งพวกเราเหล่าพุทธบริษัทได้มาพบปะพระพุทธศาสนา
ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้สดับตรับฟังจนเกิดความเลื่อมใสว่า
เป็นของประเสริฐจริง จึงได้ตั้งใจยึดถือว่า
เป็นสรณะของตน แต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นโลกุตรสมบัติ
นั่งเฝ้านอนเฝ้าโลกุตรทรัพย์อยู่ แต่พา
กันกระหายหน้าเหี่ยวไปตามกัน
น่าสมเพชเวทนานี้หนักหนา
เปรียบดังบุรุษปัญญาเขลานอนเฝ้าตุ่มเงิน ตุ่มทองอยู่ แต่
ไม่เข้าใจวิธีจับจ่ายใช้เงินใช้ทอง สู้ทนความลำบาก
อดเครื่องใช้สอย อดอาหาร สู้นอนแขม่วท้อง
หิวอาหารหน้าเขียวอยู่เปล่า ๆ น่าสลดสังเวชใจนี้หนักหนา
ยุติอุตรโลกลงไว้เพียงเท่านี้
บรรยายโลกวินิจฉัยพอแก่เวลา เอวังก็มีแล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 19:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อนี้ท่านสกวาที ปรวาที จักปุจฉาวิสัชนาโต้ตอบซึ่งกัน
และกันเล็กน้อย
ถามว่า - ท่านแต่งโลกวินิจฉัยนี้ เพื่อประโยชน์อะไร ?
ตอบว่า - เราแต่งขึ้นไว้ เพื่อประโยชน์จะให้
ผู้ฟังรู้จักสังขารโลก
ถาม - รู้จักสังขารโลกมีประโยชน์อะไร ?
ตอบ - ความรู้เป็นตัววิชชา รู้จักสิ่งใดย่อม
เป็นประโยชน์แก่ตนในสิ่งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
ถาม - ท่านแสดงว่าโลกอะไรก็มีที่ตน เทวดา อินทร์
พรหม ยมยักษ์ สวรรค์นิพพานก็มีที่ตน ถ้าอย่าง
นั้นพระคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ท่านแสดงนรกสวรรค์ อินทร์พรหม
ว่ามีพิภพเป็นที่ตั้งอยู่ ชี้ตำบลดังพระอินทร์อยู่ยอด
เขาพระสุเมรุ เป็นต้น ชื่อว่าเป็นอันท่านคัดค้านแล้วทั้งสิ้น
นรก สวรรค์ตามที่ท่านแสดงไว้เหล่านั้น เป็นอันไม่มี คงมี
อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น อย่างนั้นหรือ ?
ตอบ - จะถือเอาเนื้อความว่า เราเป็น
ผู้คัดค้านคัมภีร์ฎีกาว่า ท่านแสดงผิดเป็นอันใช้ไม่ได้
อย่างนั้นไม่ชอบ เราไม่ได้ติเตียนว่าท่านแสดงผิด
เป็นแต่เราเห็นว่านรกสวรรค์นิพพานเป็นของมีอยู่ที่ตน
ถ้าหากว่ามีที่ตนจริง ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ฎีกาอย่างไร
ก็ชื่อว่าเป็นอันมี ตามที่ท่านแสดงไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่มีที่ตัวของตนแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นอันไม่มี
เราแสดงอย่างนี้ต่างหาก
ถาม - ท่านเข้าใจว่าท่านดีกว่านักปราชญ์โบราณอย่างนั้น
หรือ ?
ตอบ - ทำไมท่านจึงถามอย่างนั้น
ถาม - เราเห็นว่าหนังสือเก่ามีมากนัก พระไตรปิฎก
๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระอรหันต์เจ้า
ได้ยกขึ้นสู่สังคายนาจารึกลงใบลานไว้แล้ว
โลกวินิจฉัยไตรภูมิท่านก็มีแล้ว จะนอนดูแต่หนังสือเก่า
ชั่วชีวิตหนึ่งก็ไม่จบ ท่านจะต้องแต่งอีกทำไม ?
ตอบ - อ้อ ท่านสกวาที เข้าใจว่าเราแต่งหนังสือนี้มีเจตนา
จะอวดดิบอวดดี
ยกตนข่มท่านหมิ่นประมาทโบราณาจารย์ ความ
เข้าใจของท่านอย่างนั้นผิดไป
ความจริงนักปราชญ์โบราณท่านเฉียบแหลมรู้จักพุทธาธิบาย
แสดงสิ่งใดก็ชี้ชัดเจน หวังจะให้
เป็นประโยชน์แก่พวกเราเหล่าพุทธบริษัทแท้ เรามี
ความเคารพนับถือไหว้กราบอยู่เสมอ วิชชาที่เราแต่งนี้ ก็
ได้จากพระคัมภีร์โบราณาจารย์ทั้งสิ้น วิชชาของเราเอง
ไม่มีอะไรเลย
ถาม - ถ้าอย่างนั้นท่านจะต้องแต่งทำไม ?
ตอบ - เราแต่งเพื่อจะระบายสมมติชั้นคนเก่า กับชั้นคน
ใหม่ให้ลงกัน จะได้เข้าใจง่ายเท่านั้น
ถาม - สมมติคนเก่าสมมติคนใหม่อย่างไร ?
ตอบ - เราเห็นว่า แต่พุทธกาลมาจนบัดนี้
หลายชั่วบุรุษนัก ย่อมเปลี่ยนยุค เปลี่ยนคราว
เปลี่ยนสมมติ เปลี่ยนบัญญัติเป็นลำดับมา
ดังคำโบราณเรียกว่าไว้ทุกข์แก่ผู้ตาย ทุกวันนี้ก็เรียกว่า
ไว้ทุกข์เหมือนกัน แต่หน้าตาผิดกัน
ไว้ทุกข์โบราณนุ่งขาวห่มขาว ไว้ทุกข์ในสมัยนี้
นุ่งดำห่มดำ เรื่องเก่ากับเรื่องใหม่ชื่อลงกัน แต่อาการ
ไม่ลงกันอย่างนี้ ทำให้เราพิศวงในพระธรรมวินัย
คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายสิบปีแล้ว
ครั้นเราตรองได้ความตามประสงค์ของโบราณาจารย์
แล้ว จึงคิดแต่งระบายสมมติให้ตรงกัน เพื่อประโยชน์แก่
ผู้ศึกษาเล่าเรียนน้อยต่อไป แต่คงไม่ให้เสียหลักเดิม
ดังกามโลก รูปโลก อรูปโลก โลกุตระ มรรคผล นิพพาน
ดังกหาปณะ เครื่องจับจ่าย
ใช้สอยแทนเงินแทนทองของพระราชา
ทรงพระราชบัญญัติ ต้องมีตำลึง บาท สลึง เฟื้อง
เป็นหลักเดิม ถึงจะใช้เบี้ยใช้เก๊ใช้อัฐใช้สตางค์
ก็คงคิดแบ่งเข้าหาหลัก มีกำหนดเท่านั้น เป็นตำลึง
เป็นบาทเป็นสลึงเป็นเฟื้องตามเดิม เป็นแต่เปลี่ยนแปลง
ให้เหมาะให้ควรแก่ยุคแก่สมัยเท่านั้น
ถึงแม้ว่าเราแต่งหนังสือ ก็ประสงค์จะให้คนชั้นใหม่ใช้ได้
ดังอัฐดังโสฬสดังสตางค์ฉะนั้น
ถาม - หนังสือเก่าใช้ไม่ได้หรือ ?
ตอบ - ใช้ได้ ก็แต่ไม่รู้จักใช้ ดังเครื่องประดับ
ใช้สอยของคนโบราณ ที่ท่านรวบรวมมาไว้
ในโรงมิวเซียม ก็ล้วนแต่ของดี ๆ แห่งคนเก่า
ถ้าคนทุกวันนี้เอามาประดับตกแต่งใช้สอย จะต้องได้
ความหัวเราะเยาะเย้ยแต่มหาชนสมัยนี้สักเพียงใด
ผู้ฟังหนังสือโบราณก็ย่อมได้ความ
เข้าใจตามกิเลสของตนเท่านั้นโดยมาก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2014, 20:06 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม - ท่านพูดอะไรก็พอฟังได้ ชักเปรียบเทียบก็เหมาะดี
ขอถามอีกสักหน่อยเถอะ โลกุตระ หรืออุตรโลก
ตามที่ท่านแสดงมานั้น ท่านเข้าใจว่า ท่านได้ ท่านถึงจริง
ๆ หรือ ?
ตอบ - ท่านสกวาทีเห็นจะเพ่งโทษด้วยอุตริมนุสสธรรม
จึงแคะไค้คาดคั้นไต่ถามจริงจังอย่างนี้
ท่านอย่าสงสัยเลย โลกุตระหรืออุตรโลกนั้น เป็นธรรม
ไม่มีอาการมา ไม่มีอาการไป ถ้าเราได้ก็ชื่อว่ามีอาการมา
ถ้าเราถึงก็ชื่อว่ามีอาการไป
ถาม - ถ้าอย่างนั้นท่านเข้าใจอุตรโลกอย่างไร ?
ตอบ - อ้อ ! เราเข้าใจตามเนื้อ
ความแห่งพระอัฏฐังคิกมรรคต่างหาก เราจะได้จะ
ถึงอะไร
ถาม - ได้ฟังท่านตอบว่า ท่านรู้ท่านเข้าใจอุตรโลก
ตามเนื้อความพระอัฏฐังคิกมรรค ไม่มีอาการได้
ไม่มีอาการถึงเท่านี้ ข้าพเจ้าเกิดความเลื่อมใสมากทีเดียว
ขอท่านแสดงพระอัฏฐังคิกมรรคตามวิธีที่ท่านเข้าใจ
อนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วย
ตอบ - เราเต็มใจจะแสดงแต่ใจความ จะแสดงตามวิภังค์
เราเห็นว่าของท่านบริบูรณ์อยู่แล้ว
มีเนื้อความตามพระอัฏฐังคิกมรรคว่า สัมมาทิฏฐิ
ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ๑
สัมมาวาจา เจตนาเป็นเหตุกล่าวชอบ ๑ สัมมากัมมันโต
เจตนากรรมเป็นเหตุทำการงานชอบ ๑ สัมมาอาชีโว
เจตนาธรรมเป็นเหตุเลี้ยงชีพชอบ ๑ สัมมาวายาโม
ความเพียรชอบ ๑ สัมมาสติ ตั้งสติชอบ ๑ สัมมาสมาธิ
ตั้งจิตเสมอชอบ ๑ องค์ทั้ง ๘ นี้ เป็นอวัยวะแห่งมรรค
ต้องเล่าบ่นจำทรงไว้ให้ได้ เพราะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแท้
ต่อนี้จะอธิบาย ถ้าจะแสดงตามทางที่ควรตรึกตรอง
ได้ใจความอย่างนี้ มรรคแปลว่าทาง ทางนั้นเป็นทางจริง
แต่ไม่ต้องเดินเพราะทางนั้นเป็นธรรม ธรรมนั้นมีอันเดียว
จึงขาดอาการไปและอาการมา
เป็นแต่ประเภทอาการของธรรมนั้นมีต่าง ๆ
ดังรูปธรรมนามธรรม รูปนามเป็นอาการของธรรม
ดังกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม, กุศล อกุศล
อัพยากฤต เป็นอาการของธรรม, ดังปริยัติธรรม
ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม, ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
เป็นอาการของธรรม
ธรรมซึ่งได้นามว่ามรรคในที่นี้ หมายปฏิบัติธรรม
คือธรรมที่มีข้อปฏิบัติชอบเป็นอาการเครื่องแสดงให้รู้
ด้วยว่าธรรมที่จะได้นามว่ามรรคนั้นต้องแสดงลักษณะ
คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา เป็นอาการของตน
จะรู้ว่าธรรมหมวดใดเป็นศีล ต้องรู้ด้วยวจีสุจริต ๔
เป็นสัมมาวาจา กายสุจริต ๓ เป็นสัมมากัมมันโต
การเลี้ยงชีพชอบ ๑ เป็นสัมมาอาชีโว
ท่านเรียกว่าอาชีวมัฏฐกศีล หรือเรียกว่าวิรัติไตรเหตุ
เป็นอาการเครื่องแสดงตนว่าเป็นศีล
จะรู้ว่าธรรมหมวดใดเป็นสมาธิ ต้องรู้ว่าสัมมัปปธาน คือ
ความเพียรกล้าเป็นไปในกาย เป็นไปในจิต
เป็นสัมมาวายาโม มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม
เป็นอารมณ์ที่ตั้งของจิต คือพระสติปัฏฐานเป็นสัมมาสติ
มีใจเป็นที่สงบอยู่ของใจ คือตั้งมั่นในอารมณ์
คือสติปัฏฐานนั้นเอง เป็นสัมมาสมาธิ
เป็นอาการเครื่องแสดงตนว่าเป็นสมาธิ
จะรู้ว่าธรรมหมวดใดเป็นปัญญา ต้องรู้
ด้วยอาการเครื่องแสดงคือญาณทัสสนะ เห็นตน
เป็นตัวทุกข์ เพราะสังขารเป็นตน เห็นสังขารเป็นตัวเหตุ
ให้ทุกข์เกิดขึ้น เพราะไม่รู้เท่าสังขาร เห็น
ความดับของสังขาร คือความรู้เท่าของสังขาร
เห็นปุญญาภิสังขารว่าเป็นตัวเหตุ ที่จะให้สังขาร
ทั้งสิ้นดับไป เป็นวิสังขาร เป็นสัมมาทิฏฐิ ความตริตรอง
คือ ความคิดนึกอันสัมปยุตด้วยปุญญาภิสังขารอยู่เสมอ
เป็นสัมมาสังกัปโป จะรู้จักปัญญาต้องรู้
ด้วยอาการแห่งปัญญา อันเป็นไปในตนอย่างนี้
เป็นอาการเครื่องแสดงตนว่าเป็นปัญญา
พึงเข้าใจว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอาการของตน มรรค
นั้นแหละท่านที่มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอาการของตน
มรรคอันนั้นแหละท่านเรียกอริยมรรค ท่านพึงตริตรอง
ในอริยมรรคให้ได้ความชัดเจน
แต่ท่านอย่าเพ่งออกไปตามหนังสือ ให้เพ่งดูที่กาย วาจา
ใจ ให้เป็นเอกายนมรรคขึ้นให้จงได้ ความไม่รู้เท่าสังขาร
เป็นตัวอวิชชา ความรู้เท่าสังขารเป็นตัววิชชา ผู้รู้
เท่าสังขาร ย่อมเอาตัวรอด ผู้มีปัญญาเอาตัวรอด
นักปราชญ์ท่านกล่าวว่าเป็นยอดชน ขอจบลงเพียงนี้.
...........................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร