วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทศบารมีวิภาค - เมตตาบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ อฏฺฐมี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ เมตฺตาปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์ เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาตประชุมกัน
เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา และได้พร้อมใจกันทำพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
ด้วยอามิสและปฏิบัติ มีไหว้พระสวดมนต์ให้สำเร็จกิจในเบื้องต้นแล้ว
บัดนี้เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนา พึงพากันตั้งใจฟังด้วยดี
ให้สำเร็จกิจของตน ๆ ให้เห็นว่า การที่จักตัดกังวลในกิจการของตน
มาฟังพระธรรมเทศนาชั่ววันพระหนึ่งนี้เป็นของไม่ใช่ง่าย
ที่ลุล่วงอุปสรรคเครื่องขัดข้องมาได้ ต้องนับว่าเป็นลาภอันสำคัญของตน
และให้เห็นว่า ตนเกิดมาในชาตินี้ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคอันสำคัญส่วนหนึ่ง
คือได้เกิดมาประสบสมัยซึ่งบริบูรณ์ด้วยอนุตริยคุณอันยิ่งใหญ่ ๖ ประการ


ทสฺสนานุตฺตริยํ คือการได้เห็นเจดิยสถาน คือพระพุทธรูป
พระสถูปเจดิยสถาน และได้เห็นพระสงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาสัมมาปฏิบัติอันงดงาม
เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

สวนานุตฺตริยํ คือการได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นนิยานิกธรรม นำผู้ได้ยินได้ฟัง
ได้ปฏิบัติตามออกจากกองทุกข์ได้ เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

ลาภานุตฺตริยํ คือการมีลาภ การได้ลาภอันสูงสุด
คือได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย และเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ดังนี้ เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

สิกฺขานุตฺตริยํ คือการที่ได้ศึกษาในไตรสิกขา
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยมรรค
เข้าอกเข้าใจพอปฏิบัติตามได้ ข้อนี้ก็เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

อนุสฺสตานุตฺตริยํ คือการที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
มีระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น
ระลึกถึงคุณพระธรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตาธมฺโม เป็นต้น
ระลึกถึงคุณแห่งพระสงฆ์ว่า สุปฏิปนฺโน เป็นต้น
การที่ได้ระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัยนี้ ก็เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

ปาริจริยานุตฺตริยํ คือการที่ได้บำรุงพระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยปัจจัย ๔ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
ให้ได้ปฏิบัติกิจพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไปนี้ ก็เป็นอนุตตริยคุณประการ ๑

การที่เกิดมาประจวบกับสมัยที่มีอนุตตริยคุณทั้ง ๖ ประการนั้น
มีขึ้นในตนครบทั้ง ๖ ประการเช่นนี้ ก็น่าปลื้มอกปลื้มใจชื่นชมยินดี
ควรเห็นได้ว่า เป็นลาภอันสำคัญของตน ๆ ให้พากันตั้งใจเพียร
บำรุงอนุตตริยคุณ ๖ ประการนั้นให้บริบูรณ์ในตน สม่ำเสมอด้วยความไม่ประมาท

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 16:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


บัดนี้ จักแสดงใน เมตตาบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

เมตฺตา นาม ชื่ออันว่า เมตตา คือผูกไมตรีในสรรพสัตว์ทั่วไปนี้
หากเป็นคุณธรรมสำหรับบัณฑิตทั้งหลายแต่โบราณกาล
แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นพระบรมครูของพวกเราทั้งหลาย
ก็ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วสิ้นโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมาก
ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติที่จักได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
เมื่อยังครองราชสมบัติอันเพียบพร้อมด้วยกามสุขเห็นปานนั้น
หากพระเมตตาบารมีอันพระองค์ได้อบรมมาแล้วสิ้นโกฏิแห่งกัปป์เป็นอันมากนั้น
มาเตือนน้ำพระทัย ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นคนชราทุพลภาพ
เห็นคนเกิดพยาธิ ความป่วยไข้ เห็นคนมรณะ คือ คนตาย ก็เกิดความสลด เศร้าพระทัย
ทรงเห็นว่าทุกข์ภัยอันน่าสยดสยองสำหรับตน และสำหรับสัตว์ทั่วไปในโลก
แม้ไฉนจะพึงยกตนของเราให้รอดพ้นออกจากทุกข์ภัยเหล่านี้ได้
และจักได้ช่วยสัตว์อื่นให้พ้นไปด้วย


แต่คำที่ว่าพระนิพพาน ดับเสียได้ซึ่งกองทุกข์ในโลก
และคำที่ว่า พระอรหันต์ผู้สำเร็จพระนิพพาน
คงจะกึกก้องอยู่ในโลกก่อนแต่พุทธกาล พระองค์คงจะอาศัยสียงอันนี้
เพราะเหตุนั้นพระองค์ทรงพระดำริเห็นว่า
บรรพชาเพศเป็นวิเวกควรแก่พระนฤพาน ควรแก่พระอรหัตคุณ
ถ้าเราสำเร็จแล้ว ตัวเราก็พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร
และยังจักได้ช่วยสัตว์อื่นให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏสงสารด้วย
จึงได้ตกลงสละสุขสมบัติ เสด็จออกทรงเพศบรรพชา
ประกอบประโยค พยายามโดยชอบ จนได้สำเร็จสยัมภูภาพพุทธวิสัย
สำเร็จได้ด้วยเมตตาบารมีเป็นปุเรจาริก

ครั้นพระองค์พ้นจากชาติชรามรณะได้แล้ว ก็ทรงประกาศพระพุทธศาสนา
ชี้ทางพระนฤพาน คือพระอัฏฐังคิกมรรค ให้ผู้อื่นได้ตรัสรู้ตาม
พ้นวัฏฏภัย นับด้วยโกฏิด้วยล้านไม่ถ้วน ยังทรงบัญญัติสิกขาบทวิสัยไว้สำหรับกุลบุตร
ผู้เกิดมาภายหลังได้ดำเนินตามจนบัดนี้ ล้วนแต่สำเร็จด้วยเมตตาบารมี
เป็นปุเรจาริกทั้งสิ้น คงได้ใจความว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีเต็มรอบแล้ว
จึงมีพระคุณนามปรากฏอยู่ว่า มหาการุณิโก นาโถ
พระโลกนาถเจ้าทรงพระมหากรุณาธิคุณดังนี้

เมตตา ส่วนที่พระพุทธองค์นำมาแจกแก่พุทธเวไนยนั้น
มีประเภทเป็นอันมากตามนิสัยและจริตของบุคคล คงรวมลงเป็น ๓
คือ เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เท่านั้น

เมตตากายกรรม นั้น คือให้เห็นกายของตนนี้ ว่าเป็นที่รัก ที่หวงแหนแห่งตน
ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาเบียดเบียนให้เจ็บปวดด้วยประการใดประการหนึ่ง
คนอื่นสัตว์อื่นก็เช่นเดียวกันกับเรา ให้ตั้งเจตนาขาดลงไปว่า
กายของเราจักไม่ทำให้ผู้อื่น สัตว์อื่นได้รับความเดือดร้อนเลย
ทำกิจการงานใด ๆ ก็ให้สัมปยุตด้วยเมตตา หวังความสุขแก่ตนและผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์
ช่วยในกิจของผู้อื่นที่ควรช่วยได้ให้ลุล่วงไป ชื่อว่า เมตตากายกรรม

เมตตาวจีกรรม นั้น ก็เช่นเดียวกัน คือให้เห็นว่า วาจาเท็จ วาจาหยาบ
วาจาส่อเสียด วาจาไม่มีประโยชน์ ชื่อว่า มิจฉาวาจา เป็นวาจาผิด
เป็นวาจาทำโทษให้แก่ตนเองและทำโทษให้แก่คนอื่น ให้เว้นเสีย
ให้กล่าวแต่วาจาที่สัมปยุตด้วยเมตตา คือกล่าวแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำสมัครสมาน
คำเป็นไปกับด้วยแระโยชน์ ชื่อว่า สัมมาวาจา สัมมาวาจานี้แหละ ชื่อว่า เมตตาวจีกรรม

ส่วน เมตตามโนกรรม นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแจกอย่างกว้างขวาง
ชี้จนถึงพระนิพพาน เรียกนามตามศาสนโวหารว่า พรหมวิหาร พึงสาธก เมตตสูตร
มาเป็นนิทัศน์ให้กุลบุตรผู้ปรารถนาจะเจริญเมตตาอย่างอุกฤษฏ์
พึงแสวงหาวิเวกตามสมควร ดำเนินกาย วาจา ใจ ให้ตรงต่อไตรสิกขา
แล้วตั้งแผ่เมตตาจิตให้รอบไปทุกทิศ ให้เป็นอโนทิสสผรณา
แผ่ไปในสัตว์ไม่มีประมาณ ตามนัยนิคมคาถาว่า

เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย
อปริมาณํ อุทฺธํ อโธ จ ติริยญจ อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ


กุลบุตรนั้น พึงเจริญเมตตาจำเพาะหมู่สัตว์ในโลกทั้งปวง
ให้เป็นจิตมีอารมณ์ไม่มีประมาณ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และด้านกลาง
เป็นจิตไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีข้าศึก

ติฏฺฐญฺจรํ นิสินฺโน วา สยาโน วา ยาว ตสฺส วิคตมิทฺโธ เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย

กุลบุตรนั้นจะยืน จะเดิน หรือเดินจงกรม หรือจะนั่ง จะนอน
ไม่นิยมเฉพาะอิริยาบถใด ๆ เมื่อยังไม่ง่วงเคลิ้มหลับไปเพียงใด
พึงอธิษฐานสติอันระลึกผูกพันอยู่ในเมตตานั้น ทุกกาลทุกสมัยเถิด

พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ

บัณฑิตทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ได้กล่าวซึ่งธรรมเป็นที่อยู่
คือเมตตานั้นว่า พรหมวิหาร เครื่องอยู่แรมสันดานแห่งพรหม ดังนี้

ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม สีลวา ทสฺสเนน สมฺปนฺโน
กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ น หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรตีติ


ก็แลกุลบุตรนั้น เมื่อได้บรรลุเมตตาฌานแล้ว ไม่เข้าไปใกล้ซึ่งทิฏฐิวิปลาส
เจริญวิปัสสนาญาณ มีโลกุตรศีล ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยทัสสนะ
คือ โสดปัตติมรรค อันเห็นอริยสัจ ๔ และมีความเพียร
นำเสียให้พินาศซึ่งความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ด้วย อนาคามิมัคคญาณ และ อรหัตตมัคคญาณ
ย่อมไม่เข้าถึงความเป็นผู้นอนในครรภ์อีกต่อไป

ก็และเมตตาพรหมวิหารนี้ นับเข้าในสมถภาวนาและภาวนามัยกุศล
มีผลไพศาลกว่า สรรพทานมัย และ ปัญจเวรวิรัติ


พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงลักษณะแห่งผู้เจริญเมตตาพรหมวิหาร
ในเมตตานิสังสสูตร ไว้ ๘ ประการว่า


อาเสวิตาย ให้เสพมากแล้ว ๑

ภาวิตาย ทำให้เจริญแล้ว ๑

พหุลีกตาย กระทำให้มากแล้ว ๑

ยานีกตาย กระทำให้เป็นเหมือนยาน
เครื่องให้สำเร็จการไป ดังรถและเกวียนเป็นต้นแล้ว ๑

วตฺถุกตาย กระทำให้เป็นเหตุที่ตั้ง คือ ทำให้เป็นเหมือนที่อาศัยแล้ว ๑

อนุฏฺฐิตาย ให้กระทำไม่หยุดหย่อนแล้ว ๑

ปริจิตาย ให้สะสมแล้ว ๑

สุสมารทฺธาย ให้ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว คือกระทำให้เป็นวสี ๕ ประการ

อาวชฺชนวสี ชำนาญในการนึก ๑

อาปชฺชนวสี ชำนาญในการเข้าฌาน ๑

วุฏฺฐานวสี ชำนาญในการออกฌาน ๑

อธิฏฺฐานวสี ชำนาญในการตั้งใจ ๑

ปญฺจเวกฺขณวสี ชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน ๑


ชื่อว่า สุสมารทฺธา

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 17:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


แล้วทรงแสดงอานิสงส์แห่งเมตตาพรหมวิหารไว้ ๑๑ ประการว่า
เมื่อกุลบุตรมาเจริญจนบรรลุมหัคคตฌานเจโตวิมุติได้
ก็มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ ถึงจะไม่ปรารถนาก็คงมีแน่โดยไม่ต้องสงสัย


๑. สุขํ สุปติ ผู้เจริญเมตตาพรหมวิหารนั้น ย่อมหลับเป็นสุขสบาย

๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ผู้นั้นเมื่อตื่น ก็ตื่นเป็นสุขสบาย

๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ผู้นั้นย่อมไม่เห็นสุบินอันลามก เห็นแต่สุบินซึ่งเป็นมงคล

๔. มนุสฺสานํ ปิโย โหติ ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งมนุษย์ทั้งหลาย
ดังแก้วมุกดา และดอกไม้เครื่องประดับฉะนั้น

๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย
มียักษ์และปีศาจเป็นต้น

๖. เทวตา รกฺขนฺติ เทพดาทั้งหลายย่อมรักษาคุ้มครองผู้นั้น
ให้แคล้วคลาดภัยพิบัติอันตรายด้วยอานุภาพของตน

๗. นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ เพลิงหรือพิษศัสตราไม่ก้าวถึงแก่ผู้นั้น
คือไม่ทำกายให้กำเริบ เกิดทุกขเวทนาได้

๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของผู้นั้นย่อมตั้งมั่นรวดเร็ว ไม่เชื่องช้าต่อสมาธิ

๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ พรรณสีหน้าแห่งผู้นั้นย่อมผ่องใสพิเศษ

๑๐. อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ผู้นั้นไม่เป็นคนหลงทำกาลกิริยา
เมื่อจะถึงแก่มรณะย่อมมีสติเป็นอันดี

๑๑. อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติ ผู้นั้นเมื่อไม่ตรัสรู้โลกุตรธรรม
อริยมรรคอริยผลยิ่งขึ้นไปกว่าเมตตาฌานนั้นได้แล้ว
ก็ย่อมไปเกิดในพรหมโลก ตามภูมิแห่งฌานที่ตนได้ด้วยเมตตานั้น

อานิสงส์ ๑๑ ประการนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ได้เจโตวิมุติ
ถ้าไม่สำเร็จเจโตวิมุติเป็นแต่ตทังคปหาน
ก็ต้องลดความเกิดในพรหมโลกคงอยู่แต่เพียง ๑๐ ประการตามควร

แท้จริงเมตตานี้เป็นธรรมิกอุบาย เครื่องผูกพันสมานสามัคคีในสัตว์ที่ร้าวรานให้สิ้นอาฆาต
สัตว์ที่อุเบกขาให้เกิดเมตตาตอบต่อไมตรี ปรารถนาสุขประโยชน์
มีแต่คุณปราศจากโทษ ไม่มีใครติเตียนได้ และเป็นนิมิตที่จักให้มนุษย์สมานชาติ
และเทพนิกรทิพยนิกายเกิดสิเนหะรักใคร่ต่อผู้เจริญเมตตานั้น

เมตตาพรหมวิหารมีคุณานุภาพเห็นปานนั้น
ควรแล้วที่พุทธบริษัทผู้ได้รับแจกเมตตาแต่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อเพ่งหวังต่อสันตบท คือพระนิพพาน จะพึงบำเพ็ญเมตตาบารมีให้เต็มรอบ
ถือเอาผล คือโลกุตรธรรม ถ้าไม่ได้อย่างสูงสุด ได้แต่เพียงภูมิพระโสดา
ก็ยังนับว่าได้ที่พึ่งอันแน่นอน ถ้าพิเคราะห์ตามนัยเมตตาพรหมวิหารนี้
ก็ดูจะไม่เหลือวิสัยนัก ใจความท่านให้เจริญเมตตาฌานให้เป็นบาท
แล้วเพ่งสังขารให้เห็นอริยสัจ ๔ แจ้งประจักษ์ในตนเป็นญาณทัสสนะเท่านี้
ท่านแสดงไว้ว่า เป็นภูมิพระโสดาตามนัยเมตตสูตรที่ว่า
ทสฺสเนน สมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ
คือความรู้ความเห็นในพระอริยสัจ เป็นโสดาปัตติมรรคญาณดังนี้

ถ้าปลูกความเชื่อลงให้มั่นต่อพุทธโอวาทนี้จริงจังแล้ว
ก็คงจะไม่แคล้วคลาดจากมรรคผลนิพพาน
เราต้องเชื่อว่า โอวาทนี้เป็นของพระบรมศาสดา พระองค์มีพระวาจามิได้วิปริต
เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคงจะสำเร็จตามความปรารถนา
ให้พุทธบริษัทปลูกศรัทธาลงให้มั่นอย่างนี้ แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติไป
ก็คงจะสำเร็จได้ตามความปรารถนา โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือนอ้าย ๘ ค่ำ (๑๖/๙/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - เมตตาบารมี]


:b50: :b50: ทศบารมีวิภาค : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=56279

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อนุโมทนาสาธุในทุกสิ่งดีดีที่คุณโรสหมั่นทำแล้วด้วยดีค่ะ

:b48: ธรรมรักษานะคะ :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2015, 12:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2022, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2022, 10:44 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2023, 12:39 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร