วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 12:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทศบารมีวิภาค - วิริยบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ วิริยปารมึ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำ แห่งกาฬปักษ์ พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตประชุมกัน
เพื่อจักฟังพระธรรมเทศนา คือประสงค์จะรักษากิจวัตรของตนให้ต้องตามพุทธประสงค์
และจะได้เป็นเนติแบบแผนอันดีสำหรับสกุลวงศ์ของตนต่อไปด้วย
ข้อสำคัญก็คือจะหาที่พึ่งส่วนตน โดยให้มีที่หวังว่าตนมีสุคติเป็นที่หมายได้
ครั้นถึงวัน ๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ มิได้วางธุระ สู้สละกิจการงานทางบ้านเรือนเสีย
มาประชุมกันกระทำกิจวัตร ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ รักษาพรหมจรรย์
เป็นปฏิบัติบูชาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้สำเร็จเป็นต้น
เสร็จแล้ว บัดนี้พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาต่อไป
การที่ท่านทั้งหลายพากันตั้งใจมาประชุมกันกระทำกิจวัตร
ตลอดถึงการฟังพระธรรมเทศนานี้ สำเร็จด้วยกุศลเจตนา ต่างคนต่างมา
อยู่คนละทิศละแดนโดยมิได้ชักชวนกัน ไม่ได้รับจ้าง ไม่ได้ถูกการกะเกณฑ์
มาโดยศรัทธา หวังผลประโยชน์และความสุขส่วนตนโดยตรง
จิตตุปบาทที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นนี้ เป็นจิตอันดี
เป็นการสมควรยิ่งนัก ขอให้ตั้งเจตนารักษาอย่าให้มีอันตรายได้

อันตรายนั้น ท่านแสดงไว้มี ๔ ประการ คือ

อูมิภยํ กลัวพุทธโอวาท คำสั่งสอน เห็นว่าเป็นของใหญ่โตลึกซึ้ง
เหลือวิสัยที่ตนจะทำตามได้ อ่อนอกอ่อนใจ เลยกลับใจที่คิดไว้เดิมนั้นให้เสียไป
หาสำเร็จประโยชน์ไม่ เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ
ไปเห็นคลื่นเห็นฟองในแม่น้ำ เกิดความกลัวขึ้นมาเลยกลับเสีย
หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่ มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น นี่เป็นอันตรายข้อที่ ๑ ชื่อว่า อูมิภัย

อาวฏฏภยํ กลัวข้อปฏิบัติ ล้วนแต่ให้ระวัง ไม่ให้คะนองกาย
ไม่ให้คะนองวาจา แม้แต่จะคิดทุจริตด้วยใจก็ไม่ได้ แม้ตาจะดู
หูจะฟังอะไรก็ถูกบังคับไปเสียทั้งสิ้น ดูเป็นการลำบากรำคาญเหลือเกิน สู้ไม่ไหว
เมื่อเราไม่ได้มาประพฤติกิจพระพุทธศาสนา สบายอกสบายใจมาก
เลยกลับใจที่คิดไว้เดิมนั้นให้เสียไป หาสำเร็จประโยชน์ไม่
เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ ไปเห็นน้ำวน น้ำหมุน
เกิดความกลัวขึ้น เลยกลับเสีย หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่
มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น นี้เป็นภยันตรายข้อ ๒ ชื่อว่า อาวัฏฏภัย

กุมฺภีลภยํ กลัวด้วยเรื่องอาหาร ด้วยผู้ประพฤติกิจพระพุทธศาสนา
ขาดการทำมาหากินมาก ซ้ำสั่งสอนให้รู้จักประมาณในการบริโภค
และจำกัดเวลาให้บริโภคแต่เช้าชั่วเที่ยงเท่านั้น อาหารเป็นของสำคัญ
เป็นเครื่องบำรุงร่างกาย ประพฤติอย่างนี้ไม่ไหว เลยกลับใจเดิมเสีย
หาสำเร็จประโยชน์ไม่ เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ
ไปเกิดกลัวจระเข้เสีย เลยกลับเสีย หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่
(ชาติจระเข้ย่อมเห็นแก่ปากแก่ท้องเท่านั้น)
มีอุปมาอุปไมยเช่นนั้น นี่เป็นภยันตรายข้อที่ ๓ ชื่อว่า กุมภีลภัย

สุงฺสุมารภยํ กลัวต่อกามกิเลส ใจอ่อนแอ สู้กำลังความเพลิดเพลินไม่ไหว
เห็นว่าการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นการลำบากคับแค้นใจ สู้ไปเพลินในกามไม่ได้
เลยกลับใจที่คิดไว้เดิมนั้นเสียไป หาสำเร็จประโยชน์ตามประสงค์ไม่
เปรียบเหมือนบุคคลตั้งใจจะลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ ไปเกิดกลัวปลาฉลามขึ้น
(ปลาฉลามเป็นปลาร้าย เปรียบด้วยอารมณ์ของกาม)
เลยกลับเสีย หาได้อาบน้ำตามประสงค์ไม่
มีอุปมาอุปมัยเช่นนั้น นี่เป็นภยันตรายข้อที่ ๔ ชื่อว่า สุงสุมารภัย

ผู้ตั้งใจมาประพฤติกิจพระพุทธศาสนาให้กำจัดภัยทั้ง ๔ นี้เสีย
อย่ากลัวโอวาทคำสั่งสอน อย่ากลัวข้อวัตรปฏิบัติ
อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง อย่าลุอำนาจของกาม ปฏิบัติได้เพียงเท่านี้
ก็อาจเป็นภาคพื้นให้เกิดประโยชน์และความสุขตามปรารถนาของตนได้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 17:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


บัดนี้จักแสดง วิริยบารมี ต่อ

วิริยํ นาม ชื่ออันว่าความเพียรนี้
เป็นคุณธรรมอันเป็นอุปการะมากแก่การก่อสร้างพระบารมีทั้งปวง
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วโดยกาลนาน
สิ้นโกฏิแห่งกัลปเป็นอันมาก ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติ
เมื่อพระองค์เสด็จออกบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ ได้ทรงประกอบความเพียร
กระทำทุกรกิริยา ค้นหาสันติธรรม คือพระนฤพาน
โดยมิได้เอื้อเฟื้อต่อร่างกายและชีวิต ตลอด ๖ พรรษาล่วงแล้ว
พระองค์จึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นวิสุทธธัมมสันตาโน
คือพระบวรสันดานเป็นธรรมอันบริสุทธิ์ ทรงโมไนยคุณ
เครื่องประดับของนักปราชญ์ มีพระ อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ เป็นต้น
ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นมัคคนายโก
ผู้เสด็จนำหน้าพุทธบริษัท พาหลีกลัดตัดข้ามสังขารโลก
โอฆะอันกันดาร ถึงฝั่งฟากโน้นคือนฤพาน จะนับประมาณมิได้

วิริยบารมีนี้เป็นคุณธรรมอันสำคัญ เป็นอุปการคุณตั้งต้นแต่สร้างพระบารมีมา
ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้อาศัยวิริยบารมีเป็นกำลังมา
ในสมัยที่ทรงบำเพ็ญ มหาปธานวิริยะ ก่อนแต่ตรัสรู้ตลอด ๖ พรรษา
ก็ได้อาศัยพระวิริยบารมี แม้ในสมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว
ทรงบำเพ็ญพุทธกิจเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา แต่งตั้งสิกขาบท
พุทธบัญญัติใหญ่น้อยทั้งปวง ตลอดเขตพระชนมายุ
นับแต่ได้ตรัสรู้เป็นพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๔๕ พรรษา
ก็ได้อาศัยพระวิริยบารมีเป็นกำลังทุกหน้าที่

พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาเต็มรอบแล้ว
จึงได้นำเอาวิริยบารมี อันมีแล้วในพระองค์นั้นแหละ
มาแจกแก่พุทธเวไนยให้ได้ดำเนินตาม ผู้ดำเนินตามก็คือผู้รับแจก
ได้แก่ผู้ที่ไม่เห็นแก่ความสุขในกามเป็นของมีประมาณน้อย ชั่วชีวิตเดียวเท่านั้น
สู้สละบากบั่นตั้งหน้าเจริญสมถะวิปัสสนาให้ได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
นับด้วยล้านด้วยโกฏิไม่ถ้วน ให้พุทธบริษัทพึงสันนิษฐานดู

ในพุทธโอวาทชี้ข้อปฏิบัติอันสำคัญ ย่อมมีวิริยบารมีเข้าไปแทรกอยู่ทุกแห่ง
เหมือนอย่างอิทธิบาทธรรม เป็นภาคพื้นที่จักได้สำเร็จ
ก็มีวิริยิทธิบาทอินทรียธรรมเป็นใหญ่ในการสำเร็จ
ก็มีวิริยินทรีย์พละธรรมเป็นกำลังที่จักให้สำเร็จ ก็มีวิริยพละ
โพชฌงคธรรมเป็นเหตุให้ตรัสรู้ ก็มีวิริยสัมโพชฌงค์ อัฏฐังคิกมรรค
มรรคามีองค์อวัยวะ ๘ เป็นมรรคา ไม่มีข้าศึกเป็นมรรคาตรงต่อพระนิพพาน
ก็มีสัมมาวายาโม เพียรชอบ บรรดาธรรมข้อสำคัญ ๆ ก็ต้องมีวิริยะเข้ากำกับทุกแห่งไป

ความจริงความเพียรความหมั่น อุตสาหะบากบั่นทำกิจใด ๆ
ก็ให้กิจนั้น ๆ สำเร็จไป ชื่อว่า วิริยะ หรือ อุฏฐานะ
แปลว่า ความแกล้วกล้า ความอุตสาหะไม่เกียจคร้านต่อการงาน
เป็นไปในคดีโลก ดังพุทธโอวาทว่า อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ
ความว่า ผู้มีความเพียรความหมั่น ย่อมได้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ดังนี้
อธิบายว่า มนุษย์เราถ้ามั่งมีไม่ขัดสน ก็ย่อมมีความสุขตามชั้นตามภูมิของตน
การที่จะมั่งมี ก็ต้องอาศัยความเพียรความหมั่น
กล้าสละความสุขอันมีประมาณน้อย กันความเกียจคร้านล่อลวงเสีย

ธรรมดาความเกียจคร้านย่อมทำอาการเหมือนเป็นมิตร
ให้ความสุขในต้นมือ หลอกลวงคนโง่ให้หลง ภายหลังให้ความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด
ส่วนความเพียรหมั่นนั่นย่อมทำอาการอย่างประหนึ่งว่าเป็นข้าศึก
ให้ความทุกข์ในต้นมือ แต่ที่จริงกลับเป็นมหามิตรอย่างประเสริฐ
ภายหลังให้ความสุขไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้ที่จะแสวงหาศิลปวิทยา และแสวงหาโภคทรัพย์อันจะเป็นที่พึ่งแก่ตนในปัจจุบัน
ก็ต้องอาศัยความเพียรความหมั่น ถึงแม้ผู้จะทำตนให้เป็นที่พึงแก่ตนในปรโลก
ก็ต้องอาศัยความเพียรความหมั่นเหมือนกัน ท่านแสดงไว้ในสัมปรายิกัตถประโยชน์
ประโยชน์ชาติหน้า ให้สมบูรณ์ด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
อุฏฐาเนนะ ด้วยความเพียรความหมั่น อธิบายว่า
ผู้จะให้ทานก็ต้องมีศรัทธาและความเพียร
ผู้จะรักษาศีลก็ต้องมีความเพียร ผู้จะบำรุงปัญญาก็ต้องมีความเพียร
ความเพียรจึงชื่อว่า เป็นผู้แต่งความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า


แม้ผู้ปรารถนาความสุขอันสูงสุด คือ พระนิพพาน ก็ต้องอาศัยความเพียรเหมือนกัน
โดยพุทธโอวาทว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ความว่า ผู้จะพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ดังนี้ อธิบายว่า ความทุกข์อะไรจะทุกข์เท่าความทุกข์ของสัตว์
ผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยง ไม่แน่นอน จะต้องหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอันไม่มี

ด้วยท่านกำหนดสถานที่ตั้งแห่งจิตวิญญาณไว้ ๗ ตำบล
คือที่อันสัตว์ผู้ยังไม่แน่นอน จะต้องเร่ร่อนไปเกิดตามกรรมคติของตน
คือ นรก ๑ เปรตวิสัย ๑ อสุรกาย ๑ ดิรัจฉาน ๑
มนุษย์ ๑ เทวดา ๑ พรหม ๑ ที่ตั้ง ๗ สถานนี้
ส่วนนรก เปรตวิสัย อสุรกาย ดิรัจฉาน ท่านจัดว่าเป็นทุคติ
มนุษย์ เทวดา พรหม ท่านจัดเป็นสุคติ


ผู้มีคติอันไม่เที่ยง ย่อมหมุนเวียนไปมาอยู่ในภพเหล่านี้
แล้วแต่กรรมที่ตนทำ ถ้าทำบาปมาก ก็ไมเกิดในทุกคติ
ถ้าทำบุญมากก็ไปเกิดในสุคติ พึงสันนิษฐานดู
สุคติคือชาติมนุษย์ อันพวกเราทั้งหลายได้ประสพอยู่ทุกวันนี้
ความสุขมีสักกี่มากน้อยให้พิเคราะห์ดู
แต่ยังเด็กยังเยาว์ถูกบังคับให้เล่าให้เรียน หาเวลาสำราญไม่ได้
ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว มีเหย้ามีเรือนขึ้น ก็ถูกข่มเหงน้ำใจกัน
คือต้องเอาใจกันทั้งสองฝ่าย ถ้าถูกนิสัยไม่กินกัน ก็ยิ่งทวีโทษให้หนักขึ้น
แลยังต้องประกอบการแสวงหาทรัพย์ ทรัพย์ที่ตนต้องการนั้น
จำเพาะที่อยู่ที่คนผู้เขาหวงแหนเหมือนกันกับเรา
ถ้าเราไม่มีของล่อจนเขาลืมความเสียดาย เขาก็ไม่ให้เรา
การแสวงหาทรัพย์ จึงนับว่าเป็นกองทุกข์ในโลกประการหนึ่ง
ของที่จักล่อเอาเงินเขานั้น ถ้าอย่างต่ำ เจ้าของต้องไปเที่ยวบอกซื้อบอกขาย
อย่างหาบของไปเที่ยวเร่ขายเป็นต้น อย่างกลางตั้งร้านไว้ขายมีต่อขึ้นต่อลง
จนทุ่มเถียงกันขึ้นบ้าง ดังร้านตลาดขายของเป็นตัวอย่าง
อย่างสูงอย่างดี เจ้าของเงินไปง้องอนให้ขายดังตีตั๋วรถไฟเป็นตัวอย่าง
วิธีหาเงินมีประเภทเป็นอันมาก จึงเป็นการลำบาก

ยังต้องบริหารร่างกายอีกด้วยโรคภัยไข้เจ็บนัยประเภทไม่ถ้วน
ถึงจะไม่มีโรคจร ก็ยังมีโรคประจำ ส่วนโรคประจำก็มีมาก
เป็นต้นว่า ความอยาก ความกระหาย ความรัก ความชัง
ความขึ้ง ความโกรธ ความหัวเราะ ความร้องไห้ เป็นตัวอย่าง
เป็นโรคไข้ใจ ยังโรคแก่ โรคป่วยไข้ โรคตาย สำหรับร่างกายธรรมดา

ถ้าตรวจตรองดูโดยละเอียดแล้ว จะเห็นว่ามนุษย์เรามีทุกข์มาก
แต่ความสุขก็มีมากเหมือนกัน เป็นต้นว่า ปรารถนาสิ่งใด ก็ได้สิ่งนั้นสมประสงค์
ข้อนี้เป็นความสุขในโลก แต่ว่าเมื่อเอาสุขกับทุกข์ มาเทียบกันเข้า
จะเห็นได้ว่าความสุขไม่พอแก่ความทุกข์ ถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังนับว่า มนุสสสุคติ

ส่วนเทวดา พรหม มีความสุขประณีตกว่ามนุษย์
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีเกิดมีตายเป็นความสุขอันไม่ถาวร ไม่น่ายินดี

ส่วนความสุขในพระนิพพาน เป็นความสุขอันเยี่ยมยอด
เพราะเป็นความสุขอันไม่ระคนปนอยู่กับด้วยทุกข์
แต่ปุถุชนจะอนุมานเห็นความสุขของพระนิพพานได้
ก็แต่เพียงผู้เดินในมรรควิถี คือ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา
เดินตรงต่อพระอัษฎางคิกมรรคผล
เป็นมัชฌิมาปฏิปทาทางกลางตรงต่อพระนิพพาน
มีความสุขสำราญ เยือกเย็นกว่า ผู้เดินในทาง
กามสุขัลลิกานุโยค แลอัตตกิลมถานุโยค หลายร้อยส่วน
แต่เพียงเดินถูกทางของพระนิพพานเท่านั้นก็ยังได้รับความสุขเห็นปานนั้น
ถ้าได้สำเร็จพระนิพพานจะมีความสุขสักเพียงไร ให้พุทธบริษัทตรวจตรองดู

ความทุกข์และความสุขของโลก ล้วนเป็นของไม่ถาวรเพราะความสุขเจือด้วยอามิส
ความสุขในพระนิพพานเป็นความสุขถาวร เพราะความสุขไม่เจือด้วยอามิส
เป็นนิรามิสสุข เป็นที่ปราชญ์ผู้มีปรีชาญาณ เพราะท่านรู้การลึกซึ้ง
ฝ่ายคนพาลหาปรารถนาไม่ เพราะเป็นคนหลงงมงายโง่เขลา
ท่านแสดงไว้ว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือ เห็นเกิด ๆ ตาย ๆ สุข ๆ ทุกข์ ๆ
ซึ่งเป็นของประจำบดสัตว์ให้เร่าร้อนอยู่ทั่วโบก
กลับเห็นไปว่า เป็นของวิเศษสำหรับตัว เปรียบเหมือนดอกบัวเช่นนั้น

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ผู้จะล่วงพ้นจากกองทุกข์เหล่านี้ ต้องสำเร็จด้วยความเพียร
คือ รับเอาวิริยบารมีที่พระพุทธเจ้าทรงแจกนำมาปฏิบัติตาม
คือ ดื่มธรรม การที่จะทำวิริยบารมีให้เต็มรอย ตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็คือเพียรทำศีลให้เป็นอธิศีล เพียรทำสมาธิให้เป็นอธิจิต
เพียรทำปัญญาให้เป็นอธิปัญญา ด้วยความไม่ประมาท มีความองอาจกล้าหาญ
ไม่เห็นแก่ชีวิตร่างกาย ไม่หลงในความสุขมีประมาณน้อย
ความสุขชั่วชีวิตเดียวเป็นความสุขไม่ยั่งยืน ตั้งใจมอบกายถวายชีวิตแก่พระรัตนตรัย
ดำเนินให้ตรงต่อศีล สมาธิ ปัญญา อุตสาหะ
เจริญสมถะวิปัสสนาให้เกิดญาณทัสสนะรู้เท่าสังขารเสียโดยเร็ว

ถ้าไม่ได้อย่างสูง ได้เพียงภูมิพระโสดา ก็ยังนับได้ว่าเป็น นิยโตบุคคล
คือเป็นบุคคลผู้เที่ยงต่อสุคติ และยังมีขีดว่า
อย่างช้าจะต้องมาเกิดในกามโลกนี้อีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น
ต้องนับว่าเป็นผู้ได้ที่พึ่งอันสำคัญ ส่วนภูมิพระโสดาที่ท่านแสดงไว้ในที่ต่าง ๆ
อย่าง จูฬเวทัลลสูตร เป็นต้น พิเคราะห์ดูก็ไม่เป็นของลึกลับสักปานใด
ดูเหมือนพอพวกเราจะตรองตามให้เห็นได้ คือให้รู้เท่าสังขารนามรูป
ให้เห็นว่า นามรูปไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่นามรูป นามรูปไม่ได้มีในตน
ตนไม่ได้มีในนามรูปเท่านี้ ท่านว่า ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา
สีลพัตตปรามาสได้ เป็นภูมิพระโสดา เป็น นิยโตบุคคล
คือเป็นบุคคลผู้เที่ยงต่อสุคติ ถ้าผู้ไม่ประมาทในวิริยบารมี
อุตสาหะบุกบั่น โดยเต็มความสามารถ ก็อาจจักถือเอาโลกุตรสมบัติได้
ความมุ่งมาตรปรารถนา โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ (๑๖/๘/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - วิริยบารมี]


:b50: :b50: ทศบารมีวิภาค : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=56279

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron