วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 20:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2012, 18:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ขณะที่เรายังเวียนว่ายตายเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดา ยังต้องกิน ต้องอยู่ ต้องใช้สมบัติต่างๆ ในโลกมนุษย์ ทำอย่างไรจึงจะมีกินมีใช้อย่างสะดวกสบายไม่ขัดสน เรียกว่า รวยทรัพย์ รวยสุขภาพ รวยปัญญา รวยเกียรติยศ และรวยเพื่อนพ้องบริวาร โดยที่ไม่ต้องไปติดหนี้ข้ามภพข้ามชาติ ก็ต้องเอาบุญไปแลกกับสมบัติเหล่านั้นมา แต่เนื่องจากบุญนั้นเกิดที่ใจ อยู่ที่ใจ และเกิดจากใจที่ดีงาม ดังนั้น ทุกครั้งที่ปรารถนาสมบัติประเภทไหน ซึ่งในโลกนี้มีสมบัติอยู่ 10 ประการเท่านั้น ต้องจูนใจหรือปรับใจให้มีคุณสมบัติตรงกับบุญที่จะดึงดูดสมบัติประเภทนั้นๆ มา ดังนี้

1. ถ้าปรารถนาจะเป็นคนมีทรัพย์มาก พูดง่ายๆ คือ อยากเป็นเศรษฐี เหตุที่จะทำให้สมบัติไหลมาเทมา ก็คือปรับใจให้เป็นคนรักการแบ่งปันให้คนอื่นเสมอๆ เมื่อใจมีคุณภาพของการเป็นผู้ให้เต็มที่ ก็จะทำให้เกิดบุญที่เรียกว่า ทานมัย คือบุญสำเร็จด้วยการให้ทาน บุญชนิดนี้มีอานุภาพในการดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติให้กับผู้มีปกติชอบให้คนอื่นเสมอๆ

2. ถ้าปรารถนาให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงสวยงาม เหตุที่จะทำให้บังเกิดผล เช่นว่านี้ ต้องมีใจปกติเป็นคนไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตอื่นๆ ท่านเรียกว่า ศีลมัย คือบุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล บุญชนิดนี้จะนำมาซึ่งความเป็นผู้ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน

3. ถ้าปรารถนาเป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ เหตุที่ทำให้ได้ซึ่งปัญญาอันแจ่มแจ้ง ก็ต้องฝึกใจให้มีปกติสงบ สำรวมอยู่ภายใน ไม่ส่งออกนอกตัว ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดตลอดเวลา ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า ภาวนามัย คือบุญสำเร็จด้วยการทำสมาธิภาวนา ซึ่งจะได้มาซึ่งญาณทัศนะที่ว่องไวและคมชัด

4. ถ้าปรารถนาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียง เหตุที่นำมาซึ่งเกียรติยศนั้นก็คือ ใจที่มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่นหรือชีวิตอื่นเสมอกัน ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า อปจายนมัย คือบุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน บุญชนิดนี้จะทำให้ผู้นั้นได้ฐานะอันทรงเกียรติเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั้งหลาย

5. ถ้าปรารถนาเพื่อนพ้องบริวาร เหตุที่นำมาซึ่งการมีพรรคมีพวกก็คือ ใจที่ชอบขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานกุศลต่างๆ โดยไม่เกี่ยงงอน ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า เวยยาวัจจมัย คือบุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ บุญชนิดนี้จะทำให้ผู้นั้น มีเพื่อนพ้องบริวารมาก

6. ถ้าปรารถนาความเป็นคนใจใหญ่ใจกว้าง เหตุที่ทำให้เป็นคนใจกว้าง ก็คือ เวลาได้อะไรดีๆ มา ใจของคนนั้นมักจะไปนึกถึงคนอื่นก่อนเสมอ คือมีปกตินึกถึงคนอื่นก่อนตนเอง เป็นผู้มีความกรุณาสูงมาก ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า ปัตติทานมัย คือบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ บุญชนิดนี้จะทำให้ฐานใจของผู้นั้นขยายออกไปเรื่อยๆ ดุจดั่งใจของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งรื้อสรรพสัตว์ขึ้นสู่ฝั่งนิพพาน

7. ถ้าปรารถนาจะเป็นคนใจเต็มใจอิ่มอยู่เสมอ เหตุที่นำมาซึ่งความเต็มเปี่ยมของใจ ก็ต้องปรับใจให้มีปกติมองเห็นและร่าเริงยินดีในคุณงามความดีของทุกสรรพสิ่งรอบตัว พูดง่ายๆ หัดมองอะไรในแง่บวก หรือเชิงสร้างสรรค์อยู่เสมอๆ ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย คือบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนายินดีในบุญนั้นๆ บุญชนิดนี้ จะทำให้ผู้นั้นมีใจเต็มเปี่ยมดั่งมหาสมุทรอยู่เสมอ ไม่มีจิตอิจฉาริษยาใคร

8. ถ้าปรารถนาความรู้ในสรรพวิชชาทั้งหลาย เหตุที่นำมาซึ่งศาสตร์ทุกแขนงก็ต้องมีใจปกติเคารพในสัจจะ ยอมรับสัจจะต่างๆ ตามความเป็นจริง ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า ธัมมัสสวนมัย คือบุญสำเร็จด้วยการฟังธรรมหรือการยอมรับสัจจะ บุญชนิดนี้จะทำให้ผู้นั้นเข้าใจแจ่มแจ้งในสภาวะธรรมทั้งหลาย

9. ถ้าปรารถนาความปราดเปรื่อง เหตุที่จะเข้าถึงซึ่งความเปรื่องปราด ก็ต้องเป็นผู้ที่มีใจรักการอธิบายแสดงแจกแจง แยกแยะ สัจจธรรมให้คนทั้งหลายคลายความสงสัย เห็นอะไรตามความเป็นจริง ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า ธัมมเทสนามัย คือบุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรมหรือเปิดเผยสัจจธรรม บุญชนิดนี้จะทำให้ผู้นั้นมีปัญญาปราดเปรื่อง สามารถแสดงธรรมได้ละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับ ดุจดั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

10. ถ้าปรารถนาที่สุดของความจริง เหตุที่บุคคลจะเข้าถึงที่สุดของความจริงของโลกธาตุ ทั้งหมื่นโลกธาตุได้ ก็ต้องเป็นผู้มีปกติ ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และตรงไปตรงมา ไม่เลี้ยวลดโดยอ้างว่าเป็นกุศโลบายหรือยุทธวิธีลับ ลวง พราง เป็นต้น ทั้งมีความเที่ยงธรรม ยุติธรรม ไม่บิดเบี้ยว โอนเอน ด้วยอคติสี่ คือ เอียงเพราะชอบ เอียงเพราะไม่ชอบ เอียงเพราะเกรงกลัว และเอียงเพราะหลง จิตที่รักษาความจริงได้มั่นคง อย่างนี้ ก็จะเกิดบุญที่เรียกว่า ทิฏฐุชุกัมม์ คือบุญที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรง บุญชนิดนี้สำคัญที่สุด เปรียบเสมือนกระสวยแห่งใจ ที่จะทะลุทะลวงความจริงทั้งหลาย ตั้งแต่เบื้องต้นจนสุดนิพพาน อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น จากมายาทั้งหลาย นำอิสรภาพที่แท้จริงและยั่งยืน กลับคืนสู่สรรพสัตว์ทุกๆ ชีวิต

ที่แท้สิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดก็คือบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ

บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล "บุญ" หมายถึง ความดี ฉะนั้นการทำความดีก็คือการทำบุญการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาการทำบุญนั้นสามารถทำได้ 10 ทาง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่

1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

4. อปวายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่ คือ ไม่ทำตัวเป็นคนพาล การทำตัวหยิ่งยโส แต่เป็นคนสุภาพอ่อนโยน

5. เวยยาวัจวมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจกรรมที่ชอบ เช่น รับใช้บิดา มารดา ผู้มีพระคุณ ครูอาจารย์ รวมตลอดถึงคนที่เราไม่รู้จักแต่ต้องการความช่วยเหลือจากเราในบางโอกาส โดยที่กิจการต่างๆ ที่เราช่วยนี้ด้วยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยประเพณี และชอบด้วยธรรม

6. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เฉลี่ยส่วนความดีให้กับผู้อื่น

7. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ยินดีในความดีของผู้อื่น

8. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม คือ รับฟังความรู้ที่เป็นประโยชน์ เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และตั้งอยู่ในความเห็นที่ดีงาม

9. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม คือ การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง คือ การใช้ปัญญาไตร่ตรองอยู่เสมอว่าอะไรผิด อะไรถูก


ที่มา : http://dhammaforlife1.blogspot.com/2011/05/10.html


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร