วันเวลาปัจจุบัน 05 ต.ค. 2024, 10:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

การตำหนิติเตียนผู้อื่น

ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น
นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย
จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง
เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์
จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน
งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย
ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว
แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง



ต้นหาย กำไรสูญ

ต้นหาย กำไรสูญ เปรียบเสมือนคนเราบางคนที่ตั้งอกตั้งใจทำการทำงาน
จะประกอบการค้าขาย หรือทำกิจการงานอะไรก็ดี
ตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว และแก่เฒ่าแก่ชราในที่สุด
และถึงพร้อมด้วยความร่ำรวยสมบูรณ์พูนสุข
สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างหลักฐานได้อย่างมั่นคง
ตลอดจนสร้างเกียรติยศ สร้างชื่อเสียง จนได้ลาภได้ยศ
ได้สรรเสริญ ประสบความสำเร็จในชีวิตทางโลก ทุกสิ่งทุกอย่าง

แต่คนบางคนที่กล่าวถึงเหล่านี้ เมื่อถึงกาลเวลาอันสมควร
ซึ่งที่จริงก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับทรัพย์สมบัติในทางโลก
ที่ได้สร้างสมมามากแล้ว ก็ควรจะหยุด
เพื่อรีบสร้างสมสิ่งที่เป็น “อริยทรัพย์” ในบั้นปลายของชีวิต
ให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้บ้าง

แต่เขาเหล่านั้นก็หาได้มีความหยุด ความยั้ง ความละ
ความปล่อย ความวาง ในทรัพย์สมบัติที่หามาได้เหล่านั้นไม่
มุ่งหน้าที่จะคิดอ่านประกอบกิจการงาน ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ
โดยไม่คำนึงถึงว่า สักวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว ความตายก็จะต้องมาถึงเข้าอย่างแน่นอน
ในที่สุดร่างกายของเขาก็ถึงซึ่งความแตกดับจริงๆ และย่อยยับสูญหายไป
ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนหามาได้ไว้ในโลกนี้ให้กับคนอื่นทั้งหมด
ไม่สามารถที่จะนำเอาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นติดตามตนไปได้แม้แต่นิดเดียว

โดยที่ตนเองมิได้ประกอบคุณงามความดี
ในทางสร้างสมในสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ให้มากเท่าที่ควรเลย
ซึ่งตนเองก็มีโอกาสและโชคดีอย่างดีที่สุดแล้ว
แต่ก็มิได้กระทำลงไป จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดในชีวิตของเขา
เปรียบเสมือน “ต้นหาย กำไรสูญ”

“ต้น” ก็คือร่างกายและทรัพย์สมบัติที่หามาได้ทั้งหมด
“กำไร” ก็คือบุญกุศลหรือสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์

แทนที่จะได้ก็ไม่ได้ และถ้าใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปในทางที่ไม่ดี
ผิดศีลผิดธรรมอีกด้วยแล้ว หรือยึดในทรัพย์สมบัติที่หามาได้นั้นมากเกินไป
ก็ยิ่งจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ต้นก็หาย กำไรก็สูญ ชีวิตนี้ก็ขาดทุน


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)


วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก

ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก
มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง
ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย

ฉะนั้น ต้องให้เข้าใจว่า ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว
ต้องเก็บใส่ตู้ ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้
หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา
กำหนดรู้เท่ามหาสมบัติมหานิยม
อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น
เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศกลางหาว
ดาวนักขัตฤกษ์ สารพัดสิ่งทั้งปวง
อันเจ้าสังขารคืออาการจิต
หากออกไปตั้งไว้ บัญญัติไว้ว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้
จนรู้เท่าแล้วเรียกว่า กำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย
เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว
จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค
หากมรรคพอแล้ว นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง
หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง

เพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่
ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก
ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก
เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ จึงจะรู้เฉพาะตัว
คือมาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของอสุภะ เปื่อยเน่า แตกพังลงไป
ตามสภาพความเจริญของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ
ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้มาปฏิบัติพิจารณาพึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้

อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน
จึงจะเห็นข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบาย
ก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ในกาย วาจา จิต ของทุกคน


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คติพจน์

คำที่เป็นคติอันหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กล่าวอยู่บ่อยๆ
เพื่อเป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ แก่ศิษย์ยานุศิษย์ ดังนี้

๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน
เพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดแห่งสมบัต​ิทั้งปวง


เมื่อท่านอธิบายตจปัญจกกัมมัฏฐานจบลง
มักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า
“แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้
แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย
คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม
ภพทั้งสามเป็นเฮือน (เรือน) เจ้าอยู่”
ดังนี้

เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ
ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจให้เข้าใจทางถูกและละเลิกลัทธินั้น
ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวคำเป็นคติขึ้นว่า
“เหลือแต่เว้าบ่เห็นบ่อนเบาหนัก
เดินบ่ไปตามทาง สิถืกดงเสือฮ้าย (ร้าย)”
ดังนี้


(จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)


ภูริทตฺตธมฺโมวาท

ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
ความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงาน
ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย
ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี
อุปมาดั่งดอกประทุมชาติอันสวยๆ งามๆ
ก็เกิดจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก



การพัฒนาตน

คนเราทุกคนใหญ่แต่กาย ใหญ่แต่ชาติ ใหญ่แต่ชื่อ ใหญ่แต่ยศ
ใหญ่แต่ความสำคัญตน แต่ความรู้-ความฉลาดเท่านั้น
ที่จะทำตนให้ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งกายและใจโดยถูกทาง
ตลอดจนให้ผู้อื่นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วย
นั่นไม่ค่อยเจริญเติบโตด้วย และไม่สนใจบำรุงให้ใหญ่โตด้วย
จึงเกิดความเดือดร้อนกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง
โดยไม่เลือกเพศ-วัย-ชาติ-ชั้นวรรณะ อะไรเลย



คนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม

คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน
จึงกลายเป็นคนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม
ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
แม้คนจะมีจำนวนมาก และแสดงธรรมให้ฟังทั้งพระไตรปิฎก
จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา มันสลัดออกเกลี้ยงไม่มีเหลือ
ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน
เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมาฉันนั้น



คุณธรรมความดี

ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน
ความยิ่งใหญ่ คือความไม่ยั่งยืน
ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู
ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่
แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น



ขันธะวิมุตติ

“ใครผิดถูก ดีชั่ว ก็ตัวเขา
ใจของเรา เพียงระวัง ตั้งถนอม
อย่าให้ อกุศล วนมาตอม
ควรถึงพร้อม บุญกุศล ผลสบาย
เห็นคนอื่น เขาชั่ว ตัวก็ดี
เป็นราคี ยึดขันธ์ ที่มั่นหมาย
ยึดขันธ์ต้อง ร้อนแท้ เพราะแก่ตาย
เลยซ้ำร้าย กิเลสกลุ้ม เข้ารุมกวน”


(ถอดความจากลายมือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)


อย่าเป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ

ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอน
คอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆ
โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว
แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว
ซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน
ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว
ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย

จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ
เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า
ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย



ของดีมีอยู่กับตัว

ของดีมีอยู่กับตัวเราทุกคน ก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา
เมื่อเวลาตายแล้วจึงวุ่นวายหานิมนต์พระมากุสลามาติกา
ไม่ใช่เกาถูกที่คัน ต้องรีบแก้เสียบัดนี้ คือ เร่งทำความดีแต่บัดนี้
จะได้หายห่วง อะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลก
มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล
สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา
เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ
ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย

ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน
จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา
ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทองเครื่องหวงแหน
เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย
จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็น รู้จักตาย
สำคัญตนว่าจะไม่ตายและพากันประมาทจนลืมตัว
เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว

อย่าสำคัญว่าตนเอง เก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย
ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเอง จนไม่มีวันสร่างซา
เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์
ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร
อาตมาขออภัยด้วย ถ้าพูดหยาบคายไป
แต่คำพูดที่สั่งสอนคนให้ละชั่ว ทำความดี จัดเป็นหยาบคายอยู่แล้ว
โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง
การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน
ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันบ้าง
พอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง

เมื่อมีผู้เตือนสติ ควรยึดมาเป็นธรรมคำสอน
จะเป็นคนมีขอบเขตมีเหตุผล ไม่ทำตามความอยาก
เมื่อพยายามฝ่าฝืนให้เป็นไปตามทางของนักปราชญ์ได้จะประสบผล
คือความสุขในปัจจุบันทันตา แม้จะมิได้เป็นเจ้าของเงินล้าน
แต่มีทางได้รับความสุขจากสมบัติและความประพฤติดีของตน

คนฉลาดปกครองตนให้มีความสุขและปลอดภัย
ไม่จำต้องเที่ยวแสวงหาทรัพย์มากมาย
หรือเที่ยวกอบโกยเงินเป็นล้านๆ มาเป็นเครื่องบำรุงจึงมีความสุข
ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบ
มีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก
เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์
แต่กฎความจริง คือ กรรมสาปแช่งไม่เห็นด้วยและให้ผลเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด
นักปราชญ์ท่านจึงกลัวกันหนักหนา

แต่คนโง่อย่างพวกเราผู้ชอบสุกเอาเผากิน และชอบเห็นแก่ตัว
ไม่มีวันอิ่มพอ ไม่ประสบผล คือ ความสุขดังใจหมาย

คนหิวอยู่เป็นปกติสุขไม่ได้ จึงวิ่งหาโน่นหานี่
เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก
ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็มาเผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ
คนที่หลงจึงต้องแสวงหาถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะหาไปให้ลำบากทำไม
อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว
จะตื่นเงาตะครุบเงาไปทำไม เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง
ตัวจริงคือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ภายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

ความมั่งมีศรีสุขจะไม่บังเกิดแก่ผู้ทุจริต
สร้างกรรมชั่วมีมากเท่าไรย่อมหมดไป
พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายที่สร้างบาปกรรมไว้
ผลกรรมนั้นย่อมตกอยู่กับลูกหลานรุ่นหลังให้มีอันเป็นไป
ผู้ทุจริตเบียดเบียน รังแกผู้อื่น จะหาความสุขความเจริญไม่ได้เลย


(จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สำคัญ “ตน”

ไม่ว่าธรรมส่วนใด
ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น


(จากหนังสืออัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ธรรมะของหลวงปู่มั่นข้อนี้ หลวงปู่หล้าเล่าว่า เป็นธรรมชั้นสูงมาก
ชีวิตของหลวงปู่มั่นในยุควัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร
เป็นยุคสุดท้ายของชีวิต และสุดท้ายธรรมชั้นสูงแห่งองค์ท่านอีกด้วย)



ธรรมชั้นสูงจากหนังสือมุตโตทัย

ถ้าไม่มีที่อยู่ ก็ไปอยู่ที่สูญสูญนั้น

(จากหนังสือมุตโตทัย ได้อธิบายเหตุผลที่จะไปอยู่ที่สูญสูญนั้นว่า
“ถ้าจะว่าสูญไม่มีค่า ก็ไม่ได้ เพราะไปบวกกับเลขหนึ่ง ก็สิบ ร้อย พัน หมื่น แสนล้าน”
ซึ่งหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เล่าว่า ธรรมะของหลวงปู่มั่นข้อนี้เป็นมติของผู้เขียน
คือพระอาจารย์มหาเส็ง ปุสฺโส และพระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ)



จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ

การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก
การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยื่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี

ได้ใจแล้ว คือ ได้ธรรม
เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม
รู้ใจตนแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล
ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน

ใจนี่แลคือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง
เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา
จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ๆ จะเสียใจในภายหลัง
ธรรมที่แสดงนี้ คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร
ของท่านผู้อดผู้ทน ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้
เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคนของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
ปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ
คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม
ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้ เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน
ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้
จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี


(จากหนังสือสมาธิภาวนากับหลวงตามหาบัว
: วิธีปฏิบัติและข้อพึงระวังที่หลวงตาฝากไว้)



คนดีมีศีลธรรมหายากยิ่ง

หาคนดีมีศีลธรรมในใจ
หายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา

ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว
ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ

เพราะเงินเป็นล้านๆ
ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ
เหมือนได้คนดีทำประโยชน์



ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้
หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น
สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย



หลวงปู่มั่นเทศน์งานศพหลวงปู่เสาร์

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ท่านเล่าว่า...
จำได้ว่างานศพท่านอาจารย์เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่ง
อยู่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ) ใครต่อใครเขาก็ไปกัน
แต่พระอุปัชฌาย์ (เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร - หนู ฐิตปญฺโญ)
ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา
พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง

...เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถรกับท่านอาจารย์เสาร์นี่
ท่านให้คำมั่นสัญญากัน ถ้าใครตายก่อนให้ไปทำศพ
ท่านอาจารย์เสาร์ตายก่อน จึงไปทำที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลง
แล้วก็ได้ฌาปนกิจคือ ถวายพระเพลิงเผาศพของท่านอาจารย์เสาร์
ในงานนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ไปร่วมในงานด้วย
ในฐานะที่ท่านก็เป็นอันเตวาสิกของท่านอาจารยเสาร์ ซึ่งอยู่ในระดับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
ในขณะที่ท่านแสดงธรรม ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมว่า


“เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา
บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราพระอาจารย์มั่น
จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป
ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น
ต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น

ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้
อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคืออาจารย์มั่นตายไปแล้ว
ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้”


(จากหนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ บันทึกตามคำบอกเล่าของ
พระราชสังวรญาณ - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทาน ศีล ภาวนา

ทานเป็นเครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงและช่วยหนุนโลกให้ชุ่มเย็น
ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง
มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วยการให้
การเสียสละแบ่งปัน มากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่
จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทาน
เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกจากกุศล
คือความดีที่ได้จากทานนั้น เป็นสิ่งตอบแทนที่เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น

อภัยทานควรให้แก่กัน เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน

คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน
จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน
จะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์
ผู้มีทานประดับตนย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ
ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นหนุนโลกให้ชุ่มเย็น
การเสียสละจึงเป็นเครื่องค้ำจุนหนุนโลก
การสงเคราะห์กันทำให้โลกมีความหมายตลอดไป
ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิง
เหลือแต่ซากแผ่นดิน ไม่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป


ศีลเป็นพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์
ศีล คือ รั้วกั้นความเบียดเบียน
และทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน
ศีล คือ พืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยม ที่ควรมีประจำชาติมนุษย์
ไม่ปล่อยให้สูญหายไป เพราะมนุษย์ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น
เป็นเครื่องประดับตัว จะไม่มีที่ให้ซุกหัวนอนหลับสนิทได้โดยปลอดภัย
แม้โลกเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์
แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์
ถ้ามัวคิดว่าวัตถุมีค่ามากกว่าศีลธรรม

ศีลธรรมเป็นเพียงสมบัติของมนุษย์
พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบและนำมาประดับโลก
ที่กำลังมืดมิดให้สว่างไสวร่มเย็น ด้วยอำนาจศีลธรรม
เป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของมนุษย์ผู้มีกิเลส
ที่ผลิตอะไรออกมาทำให้โลกร้อนจะบรรลัยอยู่แล้ว
ยิ่งปล่อยให้ความคิดตามอำนาจโดยไม่มีศีลธรรมช่วยเป็นยาชโลมไว้บ้าง
จะผลิตยักษ์ใหญ่ทรงพิษขึ้นมากว้านกินมนุษย์จนไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย

ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูงคือ พระพุทธเจ้า
มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็น ซาบซึ้ง กับความคิดที่เป็นกิเลส
มีผลให้ตนเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนจนคาดไม่ถึง
ผิดกันอยู่มาก ควรหาทางแก้ไข ผ่อนหนักให้เบาลงบ้าง ก่อนจะหมดทางแก้ไข
ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค ทั้งโรคระบาดและเรื้อรัง


ภาวนาอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรง หักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี
ภาวนา คือ การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม
รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตนเองและสิ่งทั้งหลาย
ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล
อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข ใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนา
จึงเปรียบเหมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัด
ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร
จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ถึงจะได้รับประโยชน์ตามควร
ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัว
จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ภายนอกภายใน

ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจ จะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ
ไม่เสี่ยงและไม่เกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง
การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต
การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย
ทำด้วยความใคร่ครวญ เล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล
ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจ
ไม่เปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะความอยากดั้งเดิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา
ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิด ถูก ดี ชั่ว
พาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วน ประมาณไม่ถูก จะเอาโทษมันก็ไม่ได้
ยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดายถ้าไม่มีสติระลึกบ้างเลยแล้วของเก่าก็เสียไป
ของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย ไม่มีวันฟื้นคืนตัวได้
ฉะนั้น การภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้างความไม่มีเหตุผลของตนได้ดี

วิธีภาวนาคือการสังเกตจิตที่อยู่ไม่เป็นสุข
ด้วยสติตามรู้การเคลื่อนไหวของจิต โดยบริกรรมธรรมบทที่ให้ผลดี

วิธีภาวนานั้นลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นวิธีบังคับใจ
วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก ไม่อยู่เป็นปกติสุข
ด้วยมีสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต
โดยมีธรรมบทใดธรรมบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม
เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา
ที่ให้ผลดีก็มี อาณาปานสติ คือ
กำหนดจิตตามลมหายใจเข้าออกด้วยคำภาวนา พุทโธ
พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา
พยายามทำอย่างนี้เสมอด้วยความไม่ลดละความเพียร
จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอจะค่อยรู้สึกตัวและปล่อยวางไปเป็นลำดับ
มีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ
จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิเป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม
ปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด

การภาวนาแก้ไขปัญหาใจทุกประการ
ผู้เป็นหัวหน้างานหรือมีภารกิจมากควรหันมาฝึกใจอย่างยิ่ง

เมื่อพูดถึงการภาวนา บางท่านรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจว่า
ตนมีวาสนาน้อยทำไม่ไหว เพราะกิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน
ตลอดงานสังคมต่างๆ ที่ต้องเป็นธุระ
จะมานั่งหลับตาภาวนาอยู่เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา
ทำให้ไม่อยากทำ ประโยชน์ที่ควรได้จึงเลยผ่านไป ควรพยายามแก้ไขเสียบัดนี้

แท้จริง การภาวนาคือวิธีแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภท
ที่เป็นภาระหนักให้เบาและหมดสิ้นไป ได้อุบายมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัว
การอบรมใจด้วยการภาวนาก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว
เป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจผู้เป็นหัวหน้างานทุกด้าน

ใจ คือ นักต่อสู้จนไม่รู้จักตาย
หากปล่อยไปโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง
คงไม่ได้รับความสุขแม้จะมีสมบัติก่ายกอง

จิต จำต้องเป็นตัวการรับภาระแบกหาม
โดยไม่คำนึงถึงความหนักเบา ว่าชนิดใดพอยกไหวไหม
จิตต้องรับภาระทันที ดี ชั่ว ผิด ถูก หนัก เบา เศร้าโศกเพียงใด
บางเรื่องแทบเอาชีวิตไปด้วย
ขณะนั้นจิตใจยังกล้าเอาตัวเข้าเสี่ยงแบกหามจนได้
มิหนำซ้ำยังหอบเอามาคิดเป็นการบ้านอีก
จนนอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้ก็มี
คำว่าหนักเกินไป ยกไม่ไหว เกินกำลังใจจะคิดและต้านทานนั้นไม่มี

งานทางกาย ยังมีเวลาพักผ่อนนอนหลับ
และยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด
ส่วนงานทางใจไม่มีเวลาได้พักผ่อนเอาเลย
พักได้เล็กน้อยขณะนอนหลับเท่านั้น
แม้เช่นนั้น จิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก
ไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่างๆ นั้นควรแก่กำลังของใจเพียงใด
เมื่อเกิดอะไรขึ้น ทราบแต่ว่าทุกข์เหลือทน
ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนักและเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังใจจะสู้ไหว

ใจคือนักต่อสู้ ดีก็สู้ ชั่วก็สู้ สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง
สู้จนไม่รู้จักตาย หากปล่อยไปโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง
คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง

ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ
ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ความอยากของใจ
จะพยายามหาทรัพย์ได้กองเท่าภูเขา ก็ยังหาความสุขไม่เจอ
ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด
ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด
ความทุกข์ทรมาน ความอดทน ทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ
ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง
ใจจะกลายเป็นของประเสริฐให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล
ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน
วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือ ภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร
ตรวจดูจิตว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต
คือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือความคิดปรุงแต่งของจิตว่าคิดอะไรบ้าง
ในวันและเวลาที่นั่ง นั่งมีสารประโยชน์ไหม
คิดแส่หาเรื่องหาโทษขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิดถูกของตัวบ้างไหม

พิจารณาสังขารภายนอกว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง
สังขารร่างกายมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดลงไป
พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้
ตายแล้วจะเสียการ ให้ท่องอยู่ในใจเสมอว่า
เรามีความแก่ เจ็บ ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน
ป่าช้าอันเป็นที่เผาศพภายนอก และป่าช้าที่ฝังศพภายในคือตัวเราเอง
เป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุ
จะอยู่ในตัวเราตลอดเวลา ทั้งศพเก่าศพใหม่ทุกวัน

พิจารณาธรรมสังเวช พิจารณาความตายเป็นอารมณ์
ย่อมมีทางถอดถอนความเผลอเย่อหยิ่งในวัน ในชีวิต
และวิทยฐานะต่างๆ ออกได้
จะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขได้เป็นลำดับ
มากกว่าจะไปเห็นโทษของคนอื่นแล้วมานินทาเขา ซึ่งเป็นความไม่ดีใส่ตน

นี่คือการภาวนา คือ วิธีเตือนตน สั่งสอนตน
ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรแก้ไขจุดใด ตรงไหนบ้าง
ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อยๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง
ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่างๆ บ้าง
ใจจะสงบเย็น ไม่ลำพองผยองตัวและความทุกข์มาเผาลนตัวเอง
เป็นผู้รู้จักประมาณในหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว
ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่างๆ

คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมาย ไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นได้

ทาน ศีล ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์
และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้
มาอยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์
ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยสมบัติอย่างแท้จริง


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)


การรักษาศีล ๕

คำว่า ศีล ได้แก่สภาพเช่นไร ศีลอย่างแท้จริงเป็นไปด้วยความมีสติ
รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร ระวังการระบายออกมาทางทวารทั้งสาม
คอยบังคับกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ
ศีลที่เกิดจากการรักษามีสภาพปกติ ไม่คะนองกาย วาจา ใจ ให้เป็นที่เกลียด
นอกจากความปกติงดงามทางกาย วาจา ใจ ของผู้มีศีลว่าเป็นศีล เป็นธรรม

เราควรรักษาศีล ๕
๑. สิ่งที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงไม่ควรเบียดเบียน
ข่มเหง และทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป

๒. สิ่งของของใครๆ ก็รักและสงวน ไม่ควรทำลาย ฉก ลัก ปล้น จี้ เป็นต้น
อันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกัน

๓. ลูก หลาน สามี ภรรยา ใครๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง
ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อมล่วงเกิน
เป็นการทำลายจิตใจของผู้อื่นอย่างหนัก และเป็นบาปไม่มีประมาณ

๔. มุสา การโกหกพกลม เป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่น
ให้ขาดสะบั้นลงอย่างไม่มีดี แม้เดรัจฉานก็ไม่พอใจคำหลอกลวง
จึงไม่ควรโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย

๕. สุรา ยาเสพติด เป็นของมึนเมาและให้โทษ
ดื่มเข้าไปย่อมทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนบ้าได้ ลดคุณค่าลงโดยลำดับ
ผู้ต้องการเป็นคนดีมีสติปกครองตัวอย่างมนุษย์
จึงไม่ควรดื่มสุรา เครื่องทำลายสุขภาพทางร่างกายและใจอย่างยิ่ง
เป็นการทำลายตัวเองและผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน

อานิสงส์ของการรักษาศีล ๕
๑. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

๒. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง
มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวี เบียดเบียนทำลาย

๓. ระหว่างลูก หลาน สามี ภรรยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก
ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกราย ต่างครองกันอยู่ด้วยความเป็นสุข

๔. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ
คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ ด้วยศีล

๕. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง
จับโน่นชนนี่เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้

ผู้มีศีลเป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก
ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย
ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์
ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

ศีลนั้นอยู่ที่ไหน มีตัวตนเป็นอย่างไร
ใครเป็นผู้รักษา แล้วก็รู้ว่าผู้นั้นเป็นตัวศีล
ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ
คนเราถ้าจิตใจไม่มี ก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้
ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ
ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว
ไม่มีเรื่องหลงหาหลงขอ คนที่หา คนที่ขอ ต้องเป็นทุกข์
ขอเท่าไรยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญยิ่งไม่มี
กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว
ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ
ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว รักษาได้ไม่กี่กาล ได้ผลไม่กี่กาล
ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข
ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่อด ไม่อยาก ไม่จน
ก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์
จิตดวงเดียว เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ผู้มีศีลแท้ เป็นผู้หมดเวร หมดภัย


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

เราทั้งหลายต่างเกิดมาด้วยวาสนา
มีบุญพอเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มภูมิดังที่ทราบอยู่แก่ใจ
อย่าลืมตัวลืมวาสนา โดยลืมสร้างคุณงามความดีเสริมต่อ
ภพชาติของเราที่เคยเป็นมนุษย์จะเปลี่ยนแปลง
และกลับกลายหายไปเป็นชาติที่ต่ำทราม
ไม่ปรารถนาจะกลายมาเป็นตัวเราเข้าแล้วแก้ไม่ตก
ความสูงศักดิ์ ความต่ำทราม ความสุขทุกขั้นจนถึง บรมสุข
และความทุกข์จนเข้าขั้น มหันตทุกข์
เหล่านี้มีได้กับทุกคนตลอดสัตว์ ถ้าตนเองทำให้มี
อย่าเข้าใจว่ามีได้เฉพาะผู้กำลังเสวยอยู่เท่านั้น โดยผู้อื่นไม่มี
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติกลาง
แต่กลับกลายมาเป็นสมบัติจำเพาะของผู้ผลิตผู้ทำเองได้
ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน

เมื่อเห็นเขาตกทุกข์หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ
เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้นหรือยิ่งกว่านั้นก็ได้
เมื่อถึงวาระเข้าจริงๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้
เพราะกรรมดีกรรมชั่วเรามีทางสร้างได้เช่นเดียวกับผู้อื่น
จึงมีทางเป็นได้เช่นเดียวกับผู้อื่น
และผู้อื่นก็มีทางเป็นได้เช่นเดียวกับที่เราเคยเป็น
ศาสนาเป็นหลักวิชาตรวจตราดูตัวเองและผู้อื่นได้อย่างแม่นยำ
ไม่มีวิชาใดในโลกเสมอเหมือน
สิ่งดีชั่วที่มีและเกิดอยู่กับตนทุกระยะ
มีใจเป็นตัวการพาให้สร้างกรรมประเภทต่างๆ
จนเห็นได้ชัดว่ากรรมมีอยู่กับผู้ทำ มีใจเป็นเหตุของกรรมทั้งมวล

กรรม เป็นของลึกลับและมีอำนาจมาก
ไม่มีผู้ใดหนีกฎแห่งกรรมได้เลย
ถ้าเราสามารถรู้เห็นกรรมดีกรรมชั่วที่ตนและผู้อื่นทำขึ้น
เหมือนเห็นวัตถุต่างๆ จะไม่กล้าทำบาป
แต่จะกระตือรือค้นทำแต่ความดีซึ่งเป็นของเย็นเหมือนน้ำ
ความเดือนร้อนในโลกก็จะลดน้อยลง
เพราะต่างก็รักษาตัว กลัวบาปอันตราย

ท่านว่า ดี ชั่ว มิได้เกิดขึ้นมาเอง แต่อาศัยการทำบ่อยก็ชินไปเอง
เมื่อชินแล้วก็กลายเป็นนิสัย ถ้าเป็น ฝ่ายชั่ว ก็แก้ไขยาก
คอยแต่จะไหลลงตามนิสัยที่เคยทำอยู่เสมอ
ถ้าเป็น ฝ่ายดี ก็นับว่าคล่องแคล่วกล้าขึ้นเป็นลำดับ

เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย
อย่าพากันทำ ให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญ ทำแต่ความดี
อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์

การทำความเข้าใจเรื่องของกรรม
เป็นการศึกษาธรรมะเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับภาวะของตัวเราเอง
ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกรรมที่ได้ทำไว้ ตามสุภาษิตที่มีว่า
“กรรมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีตต่างกัน”

ผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล
คือลืมตนจนกลายเป็นผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้
แม้เขาจะเกิดและได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่มาเป็นอย่างดี
เหมือนโลกทั้งหลายก็ตาม เขาก็มองไม่เห็นคุณของพ่อแม่
ว่าได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาอย่างไรบ้าง
แต่เขาจะมองเห็นเฉพาะร่างกายเขา
ที่เป็นคนหนึ่งกำลังรกโลกอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เท่านั้น
ไม่สนใจคิดว่าเขาเติบโตมาจากท่านทั้งสอง
ซึ่งเป็นแรงหนุนร่างกายชีวิตจิตใจเขา ให้เจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

การดื่มกินเป็นการสร้างสุขภาพ
ความเจริญเติบโตแก่ร่างกาย ไม่จัดว่าเป็นกรรม
กรรม คือ การกระทำ ดี ชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ต่างหาก
ผลจริง คือ ความสุข ทุกข์ที่ได้รับกันอยู่ทั่วโลก กระทั่งสัตว์ผู้ไม่รู้จักรรม
รู้แต่กระทำคือหากินอยู่ ทางศาสนาเรียกว่า กรรมของสัตว์ ของบุคคล
และผลกรรมของสัตว์ ของบุคคล

ควรมีเมตตาสงสารในสัตว์ทั้งหลาย
ซึ่งมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เช่นเดียวกับเรา ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน

ความยิ่งหย่อนแห่งวาสนาบารมีนั้นมีได้ทั้งคนและสัตว์
สัตว์บางตัวมีวาสนาบารมีและอัธยาศัยดีกว่ามนุษย์บางคน
แต่เขาตกอยู่ในภาวะความเป็นสัตว์ ก็จำต้องทนรับเสวยไป
สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน
มิให้ประมาทเขาว่าเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดต่ำทราม
ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระที่เวียนมาถึงเท่านั้น
เช่นเดียวกับมนุษย์ ขณะที่ตกอยู่ในความทุกข์จนข้นแค้น
ก็จำต้องทนเอาจนกว่าจะสิ้นกรรม เมื่อมนุษย์เราเกิดเสวยชาติเป็นคน
มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามวาระของกรรมที่อำนวย
มนุษย์ก็มีกรรมชนิดหนึ่งที่พาให้มาเป็นอย่างนี้
ซึ่งล้วนผ่านกำเนิดต่างๆ จนนับไม่ถ้วน
ให้ตระหนักในกรรมของสัตว์ว่ามีต่างๆ กัน
เพราะฉะนั้นไม่ให้ดูถูกเหยียดหยาม
ในชาติกำเนิดความเป็นอยู่ของกันและกัน
และสอนให้รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมดี กรรมชั่วเป็นของๆ ตน


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)


รากเหง้าของพระศาสนา

ทาน - ศีล - ภาวนา
เป็นรากเหง้าของความเป็นมนุษย์
และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ที่มนุษย์ต้องคอยสั่งสมให้มาอยู่ในนิสัย

ทาน...เป็นเครื่องแสดงน้ำใจ
เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

ศีล...เป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส

ภาวนา...อบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง
ผู้เป็นหัวหน้างาน หรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะการภาวนาช่วยแก้ความยุ่งยากลำบากใจ
ทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก
หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง
คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง



วาสนา

วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย
คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล
วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้
บางคนวาสนายังอ่อน
เมื่อคบบัณฑิต (ผู้มีปัญญาและประพฤติดี)
วาสนาก็เลื่อนขั้นขึ้นเป็นบัณฑิต
ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต
เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น



อย่าผูกพันกับอดีตหรืออนาคต

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่นให้สิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคตควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย


(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)


ผู้เห็นคุณค่าของตัว

ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น
ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน
ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์
ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน
จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์
ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง
จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน



พระอรหันต์ผุดขึ้นมาจากใจของปุถุชน

พระอรหันต์ไม่ได้ผุดขึ้นมาจากไหน
ก็มาจากหัวใจของปุถุชน มาจากราคะ โทสะ โมหะ
ถ้าหากใจปุถุชนนั้นพยายามบากบั่นฝึกปรือตน
ให้เดินตามมรรคาสัมมาปฏิบัติ
พระอรหันต์ก็มาจากที่นั่น กลั่นกรองมาจากที่นั่น
เหมือนดอกบัวมาจากขี้ตมขี้โคลนเน่าๆ เหม็นๆ
แต่พอพ้นน้ำ รับแสงอาทิตย์ แย้มบานเต็มที่
มีสง่าราศรี ใครก็อยากได้อยากชม


(โอวาทธรรมที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้สดับฟังมาจาก
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
:: หนังสือหลวงปู่ศรี มหาวีโร พระผู้มากล้นด้วยบุญบารมี)



ป่ามีคุณแก่พระกรรมฐาน

ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะพร่ำสอนศิษย์ว่า

สมเด็จพระพุทธองค์นั้น ท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
ทรงประทานปฐมเทศนาในป่า ป่ามีคุณแก่พระกรรมฐาน
เป็นที่น่าเคารพบูชาของพระกรรมฐาน

ธรรมทั้งหลายที่พระธุดงค์จะได้มานั้น
ทั้งหมดมาจากความสงัดวิเวกทั้งนั้น

ในป่านั้นอุดมไปด้วยเทพที่จะมาอนุโมทนาสาธุการ
กับพระที่ได้มาปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอย่างดี
ทั้งชื่นใจ ทั้งอนุโมทนายินดีปรีดาด้วย

เมื่อพระได้บำเพ็ญเพียรแผ่เมตตาให้ไปโดยรอบไม่มีประมาณ
ไม่แต่มนุษย์ เทพ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ แม้แต่สัตว์น้อยใหญ่
จตุบท ทวิบาทโดยรอบ ย่อมได้รับกระแสแห่งความเยือกเย็น
ของการแผ่เมตตาบารมีของพระตลอด


(จากหนังสือหลวงปู่ศรี มหาวีโร พระผู้มากล้นด้วยบุญบารมี)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


กิเลสแท้ธรรมแท้อยู่ที่ใจ

กิเลสแท้ธรรมแท้อยู่ที่ใจ
ส่วนเครื่องส่งเสริมและกดถ่วงกิเลสและธรรมนั้น
มีอยู่ทั่วไปทั้งภายในภายนอก

ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้หลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งยั่วยวน กวนใจ
อันจะทำให้กิเลสที่มีอยู่ภายในกำเริบลำพอง มี รูป เสียง เป็นต้น
และสอนให้เที่ยวอยู่ในที่วิเวกสงัด
เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่างๆ ด้วยความเพียรได้ง่ายขึ้น
อันเป็นการย่นวัฏฏะภายในใจให้สั้นเข้า



จงรีบเร่งปฏิบัติธรรม

พวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
เหมือนไฟกำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลัน
ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร
ทั้งโลกภายในคือหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
ทั้งโลกนอกที่รวมลงเป็นสังขารโลก
ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด
ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์
ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆ และแยบคายด้วย
จะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก

พระธรรมเหล่านี้ ไม่ล่วงไปไหน
มีอยู่ทรงอยู่ในปัจจุบันจิตในปัจจุบันธรรม
ที่เธอทั้งหลายตั้งไว้ที่หน้าสติหน้าปัญญาอยู่ด้วยกัน
กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ



การอบรมจิตที่ถูกต้อง

จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น
จะมองดูอะไรก็เป็น “นิยายนิกธรรม” ทั้งสิ้น
ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด
แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล
ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป
ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง
แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก
แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้



หลวงปู่มั่นแสดงธรรมในวันมาฆบูชา

เครื่องประกอบความเพียร มีสติปัญญาเป็นสำคัญ
อยู่ที่ไหนอย่าให้เผลอสติ ให้มีปัญญาเสมอ
อย่าสะทกสะท้าน อย่าหวั่นไหว อย่ากลัวว่าจะไม่ได้ ไม่ถึง
นอกไปจากกลัวจะเผลอสติ กลัวจะไม่มีปัญญา
นี่แหละคือเครื่องมือขุดค้นธรรม เพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด
ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกให้หมด


(เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ถ่ายทอดพระธรรมเทศนา
ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่แสดงธรรมในวันมาฆบูชา)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 08:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


(มีต่อค่ะ)


:b8: :b8: :b8: ...รวบรวมเนื้อหามาจาก...
๐ หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
๐ หนังสือมุตโตทัย โอวาทของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
๐ หนังสือหนังสือบูรพาจารย์ มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
๐ หนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์
๐ ฯลฯ


:b47: :b45: :b47:

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43188

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” วัดป่าสุทธาวาส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42852

:b44: ภาพเก่าๆ ของศิษย์สายหลวงปู่มั่นที่หาดูได้ยากมาก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=42605

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 09:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 พ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1051

งานอดิเรก: อ่านหนังสือธรรมะ
อายุ: 0
ที่อยู่: Bangkok

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: คุณสาวิกาน้อย..... :b16:
แล้วพี่ก็คอยอ่านต่อ แอบขออนุญาตแบ่งปันด้วยนะคะ
:b8:

.....................................................
    มีสิ่งใด น่าโกรธ อย่าโทษเขา.... ต้องโทษเรา ที่ใจ ไม่เข้มแข็ง
    เรื่องน่าโกรธ แม้ว่า จะมาแรง ....ถ้าใจแข็ง เหนือกว่า ชนะมัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2011, 14:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


O.wan เขียน:
:b8: คุณสาวิกาน้อย..... :b16:
แล้วพี่ก็คอยอ่านต่อ แอบขออนุญาตแบ่งปันด้วยนะคะ
:b8:


Kiss Kiss Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2011, 09:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2009, 17:12
โพสต์: 246

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: ขอบคุณ คุณสาริกาน้อยมากค่ะ สำหรับคำสอนของหลวงปู่มั่น

ตอนนี้กำลังทุกข์ใจอยู่พอดี อ่านแล้ววางใจตามคำสอนของหลวงปู่มั่น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2011, 10:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะอนุโมทนาสาธุ :b8: :b8: :b8:

มาคนเดียว ไปคนเดียว เอกะจะรังจิตตัง
:b41: :b41: :b41:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ส.ค. 2011, 15:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.พ. 2011, 10:52
โพสต์: 256

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

:b45: :b41: :b45:

.....................................................
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร ไม่ต้อง อ้อนวอน ขอพร กะใคร ให้กวน
พรที่ ให้กัน ผันผวน เป็นเหมือน ลมหวน อวลไป อวลมา อย่าหลง
พรทำ ดีเอง มั่นคง วันคืน ยืนยง ซื่อตรง ต่อผู้ รู้ทำ
อยากรวย ด้วยพร เพียรบำ - เพ็ญบุญ กุศลนำ ให้ถูก ให้พอ ต่อตน
ทุกคน เกิดมา เป็นคน ชั่วดี มีจน เป็นผล แห่งกรรม ทำเอง
ถือธรรม เชื่อกรรม ยำเยง บาปชั่ว กลัวเกรง ทำแต่ กรรมดี ทวีพรฯ

ท่านพุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2011, 00:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2008, 19:29
โพสต์: 47

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุญาตนำข้อความธรรมะ ลงในเฟซบุ๊คนะคะ

.....................................................
มองตัวเองก่อนโทษคนอื่น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2011, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2016, 21:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


กราบสาธุๆๆ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron