วันเวลาปัจจุบัน 29 พ.ค. 2025, 12:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2011, 12:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 02:57
โพสต์: 21

โฮมเพจ: http://buddhadham.zzl.org
แนวปฏิบัติ: สติปัฏฐาน4
ชื่อเล่น: บูม
อายุ: 18

 ข้อมูลส่วนตัว www


รู้จักตนเอง

น.พ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร

คนเราส่วนมากใช้เวลาช่วงแรกของชีวิตกับการศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาประกอบวิชาชีพการงานสำหรับการ ดำรงชีวิตให้เป็นไปด้วยความเป็นอิสระทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างตนเอง เสริมสร้างฐานะ เลี้ยงดูครอบครัว บุตรหลาน ให้สำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ดำเนินชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ตามฐานะและอัตภาพของแต่ละบุคคล
มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ดังนั้นการดำเนิน ชีวิตจึงมีแนวโน้มไปในลักษณะตอบสนองความต้องการ และค่า นิยมของแต่ละสังคม แตกต่างกันไปตามแต่ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ภูมิประเทศ กาลเวลา ยุคสมัย ศรัทธาความเชื่อ อุดม การณ์ ปรัชญาและศาสนา เป็นต้น
วิชาชีพโดยทั่วไปต้องใช้เวลาในช่วงแรกของชีวิตศึกษา จนอายุได้ประมาณ 20-25 ปี จึงจะจบได้ประกาศนียบัตร หรือ ปริญญาบัตร สามารถออกมาประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพของตนได้ ส่วนมากจะสมัครเข้าทำงานตามสถาบันหรือองค์การต่างๆ ตามแต่โอกาสหรือช่องทางจะเอื้ออำนวยที่ตรงหรือใกล้เคียงกับความปรารถนาของตน บ้างก็รับราชการ บ้างทำงานกับบริษัทเอกชน บ้างประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือ ร่วมทำธุรกิจของครอบครัว บางคน ทำงานอุทิศตน ให้แก่ชุมชนหรือสถาบันต่างๆตามอุดมการณ์ ที่ได้ตั้งปณิธานไว้ กระนั้นก็ดี ทุกคนล้วนมุ่งหวังให้ประสบความ สำเร็จในชีวิต ส่วนมากมักจะศึกษาต่อหาประสบการณ์ความรู้ ความสามารถเพิ่มเติมให้สำเร็จสูงขึ้นไป จนสุดขีดความสามารถ ของตน ถึงระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก เป็นผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการในแขนงวิชาต่างๆที่ตนชอบและสนใจ หรือที่ตรงกับ แนวโน้มความต้องการของสังคม บ้างก็ศึกษาเพิ่มเติมทางด้าน บริหาร เป็นการช่วยส่งเสริมตนให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตในสังคมได้ดียิ่งขึ้น
ในอาชีพของแต่ละบุคคล ต่างก็มุ่งหวังซึ่งความเจริญก้าว หน้าในการงาน มีการแข่งขันทั้งในกลุ่มผู้ร่วมงาน ตลอดไปถึงใน เครือข่ายวงงานระหว่างสถาบันและบริษัทต่างๆ ล้วนมุ่งหน้าพยายามศึกษาค้นคว้าติดตามความรู้ ความเจริญก้าวหน้า เพื่อนำวิวัฒนาการใหม่ๆมาประยุกต์ ใช้ในวงงานให้ได้ผลดีที่สุด ตามแต่โอกาสและสถานการณ์จะอำนวย ความรู้ต่างๆ เหล่านั้นนับได้ว่า มีให้ศึกษาอยู่อย่างท่วมท้นตามสถาบันศูนย์การศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ตลอดถึงจากตำรา วารสาร การประชุมสัมมนา ต่างๆ รวมไปถึงการสื่อผ่านทาง Internet, TV, Videotape, DVD และ CD ROM เป็นต้น นอกจากนี้ ความรู้ความชำนาญยังสามารถหาเพิ่มเติมได้จากการฝึกและการปฏิบัติหน้าที่การงานของตน หรือจากการค้นคว้าวิจัย นำผลให้เกิดประสบการณ์ความรู้ความสามารถแตกฉานในวิชาชีพของตน บางคนแม้ไม่เคยศึกษาเล่าเรียนจบปริญญาสาขาใดๆ แต่อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง ก็สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะสังเกตได้ตลอดเวลาที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมว่า ตามตำราหรือสถาบันต่างๆ ขาดการสอนให้ศึกษาตนเอง ให้รู้จักตนเอง หรือถ้ามีปรากฏก็เป็นไปในลักษณะผิวเผินหรือมุ่งไปในการส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในชีวิตธุรกิจและสังคมเท่านั้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไป หลายๆ คนอาจได้ประสบ ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิต บรรลุซึ่งฐานะครอบครัว เศรษฐกิจ และ สังคม และจุดมุ่งหมายที่ตนต้องการหรือเกินความคาดหมาย แต่บางคนกลับไม่สมหวังกับสิ่งที่ตนต้องการ บางคนยิ่งซ้ำร้ายต้องทนทำงานอยู่ในฐานะที่ตนไม่ชอบทุกวี่ทุกวัน บางคนกลับกลายเป็นนักธุรกิจ นักการค้าที่ประสบ ‘ความสำเร็จ’ ร่ำรวยมหาศาล ด้วยความสามารถนอกเหนือไปจากวิชาชีพที่เรียนมา บ้างได้ดีใน ด้านการบริหารหรือในด้านการเมือง เป็นผู้อำนวยการ นายกสมาคม ประธาน เลขาธิการ บ้างได้ดีในการสอนค้นคว้าวิจัย เป็นอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ เป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักพูด นักเทศน์ นักบรรยาย นักปาฐก นักวางแผนแตกต่างกันไป ตามแต่ความสนใจความพอใจการตอบสนองทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดไปถึงค่านิยมของแต่ละบุคคลและสังคมนั้นๆ
อะไรเล่าเป็นเครื่องวัด ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิต ชีวิตคืออะไร จุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร และควรเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ถึงจะบรรลุถึงจุดหมายในชีวิต หน้าที่ของตนต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติและโลก มีอย่างไร อะไรคือความสุขที่แท้จริง
ความมั่งมีร่ำรวยฐานะดี การมีชื่อเสียงเกียรติยศ ตำแหน่ง ดีเด่น อำนาจวาสนา เป็นสิ่งที่วัดกันในสังคมว่าเป็น ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิต แต่ผู้ที่ก้าวไปถึงจุดสูงสุดแล้ว แม้จะได้รับความสะดวกสบาย ความนับหน้าถือตา ได้รับความยกย่องทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม มักจะตั้งคำถามต่อตนเองว่า แค่นี้เองหรือ นี่หรือที่เรียกว่า ความ สำเร็จ แล้วสุขที่แท้จริงล่ะคืออะไร ผู้มีปัญญาจะเห็นได้ด้วยตนเองว่า แม้ก้าวถึงจุดสูงสุดก็ยังไม่พบสุขที่แท้จริง แต่กลับต้องแบก ภาระความรับผิดชอบมากมายในทุกสิ่งที่ตนได้มาหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ต้องคอยควบคุมเหตุปัจจัยไม่ให้เหตุการณ์ผันแปรให้ตนสูญเสียสิ่งที่ได้มา หรือบางคนก็ไม่พบจุดอิ่มตัวสักที ยังมุ่งหน้ากอบโกยหาผลประโยชน์เพิ่มเติม นั่นคือ ไม่มีวันรวยพอ พยายามถีบตัวให้สูงโดดเด่นขึ้นไปอีก เพราะเกรงคนอื่นจะตามมาทัน หรือ ช่วงชิงฐานะของตนไปเสีย โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมและจรรยาบรรณใดๆทั้งสิ้น กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกผู้คนสาบ แช่งประณามเหยียดหยาม บางคนถึงกับเอาชีวิตของตนและครอบครัวไปแลกให้ได้มาซึ่งเงินทองเกียรติยศ ชื่อเสียง สำหรับตัวบุคคลนั้นเองกลับกลายเป็นผู้สร้างคุกตารางกักขังตนเอง ด้วยความงก ละโมบ ฉ้อกล อิจฉาริษยา มีมานะทิฏฐิ เคียดแค้นชิงชัง น้อยเนื้อต่ำใจ มุ่งแต่จะครอบครองปกป้องทรัพย์สมบัติ บริวาร เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจที่ตนได้มานั้นไว้ให้เป็นของตนตลอดไป หรือกล่าวง่ายๆ คือ กลายเป็นคนตาบอด เพราะถูกครอบงำไป ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นเอง ไม่เปิดโอกาสให้สติปัญญาเข้ามาเห็นมารู้จักตนเอง ต้อง วนเวียนทุกข์ทรมานอยู่ในความหลงใหลในสิ่งเหล่านั้นไม่รู้จักจบสิ้น แต่ละวันมัวแต่หมกมุ่นคิดจะกอบโกยครอบ ครอง ขยายขอบเขตอาณาจักร หรือ คอยคิดกำจัดคู่อริ ผู้ขัดผลประโยชน์ เหยียบย่ำผู้อื่น ถีบตัวให้ถึงจุดมุ่งหมาย หรือให้ได้มาซึ่งสิ่งภายนอกเหล่านั้น เสริมสร้างอิทธิพลอำนาจบารมี ต่อเติมจุดมุ่งหมายให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีที่จบสิ้น ไม่รู้จักพอ วนเวียนกลับกลายตกเป็นทาสของวัตถุและสิ่งภายนอก มัวแต่ครุ่นคิดถึงวิธีที่จะควบคุมบุคคลอื่นๆ สร้างสถานการณ์ภาวะความกดดันพอกพูนให้แก่ตนเอง บางทีเกิดเป็นโรคปรากฏขึ้นทางกายต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร เส้นโลหิตในสมองแตก ภาวะหัวใจฉุกเฉิน หรือ มีโรคทางใจ วิปลาส วิกลจริตไปก็มี ทั้งนี้ เพราะจิตใจมัวแต่หมกมุ่น อยู่กับวัตถุสิ่งของเงินทอง อำนาจวาสนา สิ่งภายนอกหรือบุคคลอื่นๆ ไม่มีเวลาให้กับตนเอง เพื่อดูจิต ดูใจของตนเอง ศึกษาให้รู้จักตนเอง
วิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบัน อาทิ Dr. Alan Gevins แห่ง EEG Systems Laboratory ณ เมือง San Francisco ได้ทำ การวิจัยด้วยคลื่นสมอง Advanced EEG Image System & MANSCAN และค้นพบว่า คนเราเห็นหรือได้ยินเฉพาะสิ่งที่ต้องการเห็นหรือได้ยิน กล่าวคือ เมื่อตรงตามความคิดความเห็นของตน ซึ่งเป็นการยืนยันคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
“เห็นเพียงสักแต่รู้ว่าเห็น ได้ยินเพียงสักแต่รู้ว่าได้ยิน รับทราบ(ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)เพียงสักแต่รู้ว่ารับทราบ รู้แจ้ง(ว่าเป็นเพียงความคิดที่เกิดจากผัสสะ)เพียงสักแต่รู้ว่ารู้แจ้ง หากปฏิบัติได้เยี่ยงนี้ในกาลใด ในกาลนั้น ความเป็น‘เธอ’ จะหมดไป ในกาลใดที่ปราศจาก ‘เธอ’ ในกาลนั้น ‘เธอ’ ย่อมไม่ปรากฏในโลกนี้ และโลกหน้า หรือระหว่างโลกทั้งสอง นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์” ด้วยคำพูดเพียงไม่กี่ประโยคนี้ สามารถทำให้บุคคลๆหนึ่งคือ พระพาหิยะ ได้เห็นแจ้งรู้ความจริงแห่งชีวิตโดยทะลุปรุโปร่ง สำเร็จเป็นพระอรหันต์ต่อหน้าพระพักตร์ในเวลานั้น ชี้ให้เห็นว่า ความจริงที่แท้จริงมีอยู่ตรงหน้าเรานี้แล้ว แต่วิสัยจิตของคนเราชอบหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริง ถึงขนาดบางครั้ง อาจมีผู้มากล่าวตักเตือนไม่ให้ไปลงทุนหรือมั่วสุมคุ้นเคยกับบุคคลนั้นๆ แต่เราก็ปิดหูปิดตา ฝันหวานคิดเห็นแต่ผลประโยชน์ที่เขาหลอกเราว่าจะได้ จนในที่สุดถูกโกงหรือเสียรู้จนหมดตัว หรือ มอบกายถวายชีวิตฝากความหวังไว้กับคนอื่น เสียผู้เสียคนไป เพราะการปฏิเสธไม่ยอมเห็นความจริงตั้งแต่แรก เท่านั้นเอง จึงต้องทนทุกข์ทรมานร่ำไห้ไปตลอดชีวิต
คนเราย่อมมีจินตนาการความคิดปรุงแต่งด้วยกันทุกคน บางคนวาดภาพฝันหวานถึงอนาคตที่วิจิตรพิสดาร งดงามหยดย้อยหรูหรา บ้างก็หมกมุ่นกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วในอดีต คิดแก้ไขปัญหาต่างๆนานาว่า ถ้ารู้อย่างนี้ เราควรจะทำอย่างนั้น จะได้ไม่ต้องมากังวลใจเป็นทุกข์ในขณะนี้ หรือรับผลกรรมเช่นนี้ เกิดเป็นมโนภาพ ลวงตาเสมือน Hologram ซึ่งเป็นภาพ 3 มิติ ลอยลวงตาอยู่ตรงหน้า แต่พอไขว่คว้าก็มีแต่ความว่าง(สุญญตา Voidness, Emptiness) ทั้งที่มันไม่มีอยู่จริงแต่ก็เสมือนมี หรือ มันมีให้เห็นแต่ไม่มีอยู่จริง ถ้าเราไม่รู้จักมัน ตัวเรานั่นแหละ (อัตตา) จะเป็นผู้เล่น ผู้แสดง เป็นตัวภาพมายาแห่ง Hologram แล้วเราเข้าไปอยู่ในความคิดนั้น กลายเป็นตัวความคิด เพราะความหลงใหลในตัวเอง (โมหะ) ไม่ยอมรับสภาพความจริง ไม่เห็นความจริงที่กำลัง ดำเนินอยู่เป็นอยู่ด้วยความไม่รู้ หรือ ความโง่เง่าของตนเอง (อวิชชา) หรือ อาจเทียบได้ว่า แทนที่ตนเองจะยืนอยู่บนทางเท้าเป็นผู้ดู รถยี่ห้อต่างๆ ขนาดต่างๆ สีต่างๆ ที่วิ่งผ่านไปมาบนท้องถนน ซึ่งเปรียบได้กับความคิดต่างๆนานา ที่ประทุขึ้นในสมองของตน เรากลับกลายเป็นติดไปกับรถคันโน้นบ้าง คันนี้บ้าง วุ่นวายสับสนกันไปหมด คือติดไปกับความคิด หรือรถคันที่เราชอบ กลายเป็นผู้ขับรถคันนั้นๆไปโดยไม่รู้ตัว ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่เกิดโดยไม่รู้สึกตัว คือความคิดที่ขาดสติ เผลอสติ ย่อมจะลากพาชักจูงเราไป ด้วยอำนาจ โลภ โกรธ หลง ไม่มีที่สิ้นสุด จนกลับเป็นทุกข์ทรมาน ชีวิตหมดไปโดยไร้ค่า เหน็ดเหนื่อย เป็นทุกข์จนโงหัวไม่ขึ้น แต่ถ้าเราเพียงฉุกคิด รู้สึกตัวขึ้นมา คือมีสติเห็นความจริงที่กำลัง ดำเนินอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรากำลังกระทำ พูด คิด ก็จะเป็นไปด้วย สติปัญญา คือ ความคิดที่เกิด ขึ้นเป็นไปด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติปัญญาบนพื้นฐานแห่งความจริง มีรากฐานแห่งวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว ไม่ได้เกิดจากมายา คือไม่ใช่จากความหลอกลวง เป็นผู้ดูรถแห่งความคิดที่วิ่งไปวิ่งมา ไม่ไปวุ่นวายหลงใหลกับมัน การกระทำ คำพูดที่ตามมาจากความคิดที่ถูกต้องก็ย่อมถูกต้องไปด้วย ผลที่เกิดย่อมดีถูกต้องตามไปด้วย และไม่ขัดข้องขุ่นเคือง วุ่นวาย ไปกับสิ่งต่างๆที่ผ่านมาและผ่านไปในชีวิต ไม่ไปยึดติดกับสิ่งที่ได้หรือเสียไป เพราะเราเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่าเป็น ของธรรมดา ไม่ยั่งยืนเที่ยงแท้แน่นอน ไม่ใช่ของๆตน ที่ตนจะพึง ยึดหรือครอบครองไว้ได้ตลอดไป แม้ว่าจะได้กำไร ร่ำรวยมหาศาล หรือ ขาดทุน ก็ไม่ลิงโลดหรือไม่เป็นทุกข์ไปกับมัน เพราะรู้ว่าเรา ได้ทำดีที่สุด แล้วด้วย สติปัญญา เต็มกำลังความสามารถ ตามข้อมูลที่ได้มา สุดวิสัยที่จะควบคุมผลที่ตามมา แต่ใช้ประสบการณ์นั้นๆ เป็นข้อมูลต่อไปในการวินิจฉัยแก้ไขเหตุการณ์ในภายหน้าสืบไป
พุทธศาสนามิได้สอนให้คนขี้เกียจ งอมืองอเท้า วางเฉย ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ตรงกันข้าม พระพุทธองค์ท่านทรงสอน ให้ทุกคน ขยัน (สัมมาวายามะ) ทำงานชอบ (สัมมากัมมันตะ) เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ) พระองค์ไม่เคยทรงห้ามพุทธศาสนิกชน ไม่ให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีคหบดี นอกเสียจากว่า ถ้าเป็นบรรพชิต พระองค์จะทรงสอนให้เป็นผู้มักน้อยตามพระวินัยเพื่อสะดวกในการปฏิบัติธรรม สร้างความเจริญก้าวหน้าทางจิต สมดังคำที่ว่า สมณะ ซึ่งแปลว่าผู้สงบ อริยสาวกที่โด่งดังของพระพุทธองค์ที่เป็นฆราวาส ล้วนแต่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มหาเศรษฐี คหบดีที่มั่งคั่ง เช่นพระเจ้า พิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น เพียงแค่นางวิสาขา ถวายสายสร้อยที่นางเผลอถอดลืมทิ้งไว้ที่วัด ก็สามารถใช้เป็นทุนทรัพย์สร้างอาคารกุฎีเรือนใหญ่ให้พระสงฆ์อยู่ได้เป็นจำนวนมาก คงจะพอคำนวณได้ว่านางร่ำรวยขนาดไหน ความจริงแล้ว ความร่ำรวย มั่งมี หาได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม รู้ธรรม หรือบรรลุธรรมไม่ หากแต่คือความยึดมั่นในทรัพย์สินเงินทองความมั่งมีความร่ำรวยต่างหาก ที่กลายเป็นตัวอุปสรรคไม่ให้เห็นธรรม เพราะมัวแต่มึนเมากับสิ่งที่ตนครอบครองอยู่ ไม่ต้องการให้พร่องสูญ ต้องการแต่จะให้เพิ่มพูน นั่นคือ ไม่มีวันพอแก่ใจ รวยไม่มีวันพอ เลยกลายกลับเป็นคนขาดแคลน จนเพราะมีไม่พอดั่งใจ มองไม่เห็นความจริง เลยทำให้เป็นทุกข์ทวีคูณ เช่นมีเงินพันล้านบาท เกิดสูญเสียไปในการลงทุน 50 ล้านบาท ทำให้เป็นทุกข์มากมาย เสียอกเสียใจ คิดไป ต่างๆนานา ซ้ำยังแค้นใจว่าเสียรู้เขาด้วย ทั้งโกรธทั้งอาย สุดท้ายเลยฆ่าตัวตาย อย่างนี้เรียกว่าโง่เสียแล้ว เพราะขาดปัญญา ถูกความคิดโง่ๆแคบๆหลอกจิตเอาเสียแล้ว ด้วยหมกมุ่นเข้าไปอยู่ในความคิด ถูกลากจูงไปกับความคิด สลบไสลไปตามอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่เห็นความคิดที่เกิดขึ้น ไม่รู้จักตนเอง ถ้าเป็นคนฉลาดย่อมมองเห็นด้วยสติปัญญา ย่อมหาวิธีแก้ไขสถานการณ์ได้ และใช้เหตุการณ์นั้นๆเป็นบทเรียน สอนไม่ให้ผิดพลาด อีกต่อไป
คนเราทุกคนประกอบขึ้นด้วยกายและจิต (หรือที่เรียกว่า รูปกับนาม) กายหรือรูป นั้นเกิดจากธรรมชาติ ย่อมแปรปรวนไปตามกฎของธรรมชาติ คือ สามัญญลักษณะ หรือพระไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราต้องยอมรับตามกฎของธรรมชาตินี้ เสมือนเราเช่ากายนี้อยู่ จะบอกให้มันไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ ไม่ตาย ก็ไม่ได้ กายหรือรูปนั้นพัฒนาได้น้อย ได้อย่างดีก็เพียงบรรเทาเท่านั้น วิวัฒนาการทางแพทย์แม้จะรุดหน้าไปมาก แต่อย่างมากก็ เพียงบำบัดรักษาโรค คือทุกข์ทางกายหรืออาการที่ผิดไปจากปกติให้อายุคนยืนยาวขึ้น ในยุคปัจจุบัน สตรีชาวสหรัฐมีอายุอยู่ได้โดย เฉลี่ย79 ปี ส่วนบุรุษอยู่ได้ 71 ปี น้อยคนนักจะอยู่ได้เกิน 100 ปี ดังนั้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเพียงช่วยชะลอชรามรณะลงเท่านั้น ทุกคนจะเลี่ยงความตายไปไม่พ้น ตราบใดที่โลกยังหมุนอยู่ ยังผลให้เกิดกาลเวลาอยู่ ทุกชีวิตย่อมร่วงโรยไป ตามกาลเวลา และโดยความจริงแล้ว ทุกคนเริ่มแก่มาตั้งแต่เกิด แล้ว ท่านจึงสอนไม่ให้ยึดติดยุ่งกับทุกข์กายมากนัก ที่จริงแล้ว ต้องขอบคุณทุกข์กายซึ่งมีไว้เพื่อรักษาตัวมันเอง คอยเตือนให้เราไม่ประมาท เมื่อมีทุกข์กายเจ็บป่วยก็พึงไปหาหมอให้ช่วยรักษา ให้หายจากโรค เวลาปกติก็พึงไม่ประมาท คอยบำรุงถนุถนอม รักษากายให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะหมดอายุขัยของมัน
ความจริงเรามีทุกข์กายอยู่ตลอดเวลา แต่เรามองไม่เห็นเพราะเราเคลื่อนไหวกายของเราคอยแก้ไขทุกข์กายนั้นๆ โดย ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา (สันตติ) เช่นเวลาเรานั่งนานๆเมื่อย เราก็ลุกขึ้นเดินหรือเปลี่ยนท่านั่ง เวลาปกติเราต้องการ 0xygen เราก็หายใจอยู่ตลอดเวลา จะไปห้ามมันก็ไม่ได้ ครั้นพอหายใจไม่ออก เช่นเป็นหอบหืด ทุกข์กายก็ปรากฏให้เห็นชัดเจน เพราะขาดการต่อเนื่อง หากไม่เคยไปหาหมอ ก็จะคิดไปได้ต่างๆนานา ว่าคงจะหอบจากหัวใจวาย คงจะตายแน่แล้ว ก็เลยทุกข์ใจซ้ำสองทวีคูณเพิ่มจากทุกข์กายที่เป็นอยู่เข้าไปให้อีก
ส่วน จิตหรือนาม นั้น พัฒนาได้ เพราะเกิดมาจากข้อมูล ที่ผ่านมาทางประสาททั้ง 6 (อายตนะ 6) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ของมันตามธรรมชาติ แต่เรามักจะไปบิดเบือนข้อมูลนั้น ให้ตรงตามความคิดความเห็นของเรา หรือตามความไม่รู้โง่เง่าของเรา เช่น เห็นหรือได้ยินเฉพาะแต่ในสิ่งที่ตน ต้องการเห็นหรือได้ยิน ดังนั้นข้อมูลที่ได้มาจึงมีจำกัด มองข้ามความจริงที่ปรากฏอยู่ภายหน้าไปเสียส่วนมาก ผลที่ตามมาคือ เราจะคิดคาดคะเนหวังผลไปในลักษณะมุมบวกหมดด้วยความละโมบ (โลภ) อยากได้ไว้เป็นของตน หรือ เป็นไปในลักษณะ มุมลบด้วยความโกรธ เคียดแค้น (โทสะ) เมื่อขัดกับผลประโยชน์ของตน (อัตตา) กลายเป็นคนเพ้อเจ้อฝันหวาน หรือขึ้งเคียดมุทะลุ มีแต่ทุกข์ตรมตรอมใจอยู่ร่ำไป ด้วยอำนาจแห่งความลุ่มหลง (โมหะ) ในอัตตาตัวตน หรือด้วยความโง่ ไม่รู้ความจริง (อวิชชา) หรือ ยึดมั่นปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงตามที่เป็นจริง เพราะขาดสติปัญญานั่นเอง ข้อมูลสดๆ (raw data) ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสทางประสาทสัมผัสทั้ง6 ซึ่งควรแต่เพียงรับรู้รับทราบไว้ (สัมผัสเฉยๆ simple contact) ด้วยจิตที่เป็นกลาง (Neutral Mind) หรืออุเบกขาจิต (Equanimous Mind) จึงกลับกลายเป็นการสร้างความคิดปรุงแต่ง (สังขาร Thought Formation, Mental Impulse & Conditioning) ให้วุ่นวายไปตามความ ต้องการของตน ปกปิดความจริงส่วนอื่นๆ นำให้เกิดทุกข์ตลอดไปไม่จบสิ้น เมื่อไม่ได้รับผลตามความต้องการหรือแปรปรวนไปจากความต้องการของตน
คนเราทุกข์ เพราะหมกมุ่นอยู่กับความคิดในอดีตซึ่งผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว หรือกับความคิดฝันในอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง แต่กลับมองข้ามสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นสดๆ อย่างแท้จริงเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ส่วนความคิดในอดีตหรือในอนาคตนั้น มีรากฐานจากข้อมูลความจำที่สะสมมาจากอดีตหรือจินตนาการ จากข้อมูลความจำที่มีอยู่แล้ว ปรุงแต่งขึ้นเป็นมายา ให้เราเข้าไปติดอยู่ในบ่วงความคิด หรือ Hologram นั้น บางทีเป็นวันๆก็มี
ขณะเวลาที่คนเราติดอยู่ในความคิดนั้น จะไม่รู้ตัวว่ากำลังหมกมุ่นอยู่ในความคิด กำลังถูกความคิดชักนำไป เพราะมัวแต่ฝัง จิตฝังใจจดจ่อต่ออารมณ์ที่เป็นไปด้วยความโกรธ ความไม่พอใจ หรือต่ออารมณ์ที่เป็นไปด้วยความรักความหลงใหล จนสุดท้ายเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า นั่นเป็นเพียงความคิด ที่ตนติดบ่วงอยู่ ได้สติหลุดออกมาจากความคิดนั้นๆ Hologram ก็สลายตัวไป ข้อมูลความจำที่ดึงขึ้นมาใช้ก็มักขาดตกบกพร่องตามความบิดเบือนของตนให้ตรงกับความเชื่อความต้องการหรือไม่ต้องการของตน ดังนั้น ความคิดเหล่านี้จึงเป็นความคิดที่ขาดสติ และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในจิตใจไม่สิ้นสุด มีแต่ความหนักใจกังวลใจ หรือทุกข์ใจนั่นเอง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สูญเสียเวลาและมันสมองไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เป็นอันทำงานทำการ กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือ ทำงานผิดพลาดเพราะขาดสติ จิตใจ หมกมุ่นอยู่กับความคิด ความฝัน ลมๆแล้งๆ นั้น
พุทธศาสนาเน้นสอนให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปหลงใหลกับความคิดที่ขาดสติ แต่ให้มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับตนเอง ไม่ส่งจิตส่ายแส่ออกไปยึดติดกับวัตถุและสถานการณ์ต่างๆภายนอกตัวเรา เพื่อไขว่คว้าหาความสุขมาตอบสนอง ความต้องการของตน (อัตตา) ซึ่งกลับเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ท่านสอนให้เอาจิตกลับมาดูจิตของตน คือเอาสติมาดูจิตดูใจของตน เห็นความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา ในจิตใจของเรา จับความคิดที่ขาดสติได้และหยุดมันได้ทันทีที่มันกำลังก่อตัวขึ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ซ่อนมากับความคิด จะไม่อาจเข้า มาวุ่นวายปรุงแต่งชีวิตเราได้อีกต่อไป จิตจะมีความตื่นตัวตื่นใจในปัจจุบัน ด้วยสติตลอดเวลา เห็นความคิดที่กำลังเกิด ความคิดจะประกอบด้วยสติปัญญา การกระทำ การพูด ซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อกัน จึงประกอบด้วยสติปัญญาไปด้วย ไม่ผิด ไม่พลาด มีปัจจุบันที่ดี ผลคือจะมีอดีตที่ดี เพราะอดีตก็คือสิ่งที่ผ่านไปแล้วของปัจจุบัน และมีอนาคตที่ดี เพราะอนาคตคือสิ่งที่จะตามมาของปัจจุบัน ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สอนให้คนเรารับผิดชอบ เป็นผู้กำหนด ชีวิตและชะตากรรมของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเทพเจ้า หรือ อิทธิพล ของดวงดาวต่างๆ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้คนเห็นความเป็นจริง ตามที่เป็นจริง ให้เกิดสติปัญญา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่หลงใหล มัวเมาตาบอดไปกับ ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ตามอำนาจของ ความต้องการ หรือ ไม่ต้องการของตน สติปัญญาที่เกิดขึ้นนั้น ความจริงแล้วคือสภาพจิตบริสุทธิ์ของตนเอง มีธาตุรู้ มีความตื่นตัว และความเบิกบานผ่องใสอยู่ในตัวของมัน หรือที่เรียกว่า พุทธภาวะ ซึ่งมีอยู่แล้วในคน ทุกๆคน ไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา ปริญญา รู้หรือไม่รู้ หนังสือใดๆทั้งสิ้น วิธีที่จะเข้าไปเห็นความจริงตามที่ เป็นจริงได้นั้น เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีรากฐานจากการ ปฏิบัติตามแนว ของมหาสติปัฏฐาน 4 คือ การผูกสติและความ รู้สึกตัวให้อยู่กับ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเสมือน สูตรสำเร็จ ให้เห็นการเกิด-ดับ ของรูป-นาม หรือ กาย-จิต ของตนเอง (ตลอด ถึงเข้าใจผู้อื่นด้วย ซึ่งตกอยู่ในลักษณะเดียวกัน จึงเกิดความเมตตา สงสารเพื่อนมนุษย์ทียังหลงทางอยู่ โดยเฉพาะ คือให้เห็นความคิด หรือ นามรูป การรู้จักรูป-นามเป็นสิ่งสำคัญ เพราะรูป-นาม เป็นพื้นฐานของสมมติบัญญัติทั้งปวง เมื่อมีรูปย่อมมีนาม เกี่ยวเนื่องอยู่เสมอ มีการสมมติคุณค่า (Relative Value) ราคา ชื่อเสียง เรียงนาม ต่างๆ ตามไปด้วย ทำให้เกิดการแข่งขัน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น มีมานะทิฏฐิ อิจฉาริษยา เกิดความอยากได้ หรือ ไม่อยากได้ตามมา แต่เมื่อ เห็นการเกิดดับ ของรูป-นาม จะทำให้เห็น สมมติสัจจะ (Conventional Truth) เราจะไม่หลงติดหรือหลงใหล กับความคิด หรือ นามรูป อีกต่อไป นั่นคือ เราเริ่มเห็นจิตใจ ของตนเอง รู้จักตนเองนั่นเอง
จิตปราศจากรูปร่าง หน้าตา แต่ท่องเที่ยงไปไกลด้วยความ คิด และอาศัยกายนี้เป็นที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะเห็นจิต หรือจับจิตได้ เพราะจิตเคลื่อนไหวได้รวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ คิดไปถึงที่สุดของจักรวาล แล้วกลับมาได้ภายในอึดใจเดียว กระนั้น ก็ดี เราสามารถฝึกตัวเราให้จับจิตของเราได้ แม้มันจะไม่มีรูปร่าง หน้าตาก็ตาม เพราะจิตทิ้งร่องรอยเอาไว้ด้วยการเคลื่อนไหวของจิต (เจตสิก - Mental Activities) คึอ แสดงออกผ่านทางความรู้สึก (เวทนา - Feeling) ความหมายรู้และจำได้ (สัญญา - Perception) และ ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร - Thought formation)
อย่างไรก็ดี การที่จะจับการเคลื่อนไหวของจิตได้นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนสติ (Mindfulness) คือ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ (self-awareness หรือ wisdom-in-action) คือความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ซึ่งมาควบคู่กันกับสติ สติเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง คือ สัญญาบริสุทธิ์ เป็นการกลับมาระลึกรู้ที่ตัวเรา (Inner Perception) ซึ่งมี ความว่องไวเท่าทันทัดเทียมกับความคิด เพราะต่างเป็นกิริยาอาการเคลื่อนไหวของจิต ส่วนกายนั้นเห็นได้ง่ายอยู่แล้ว และเกี่ยวเนื่องแน่นแฟ้นอยู่กับจิต โดยผ่านทางความรู้สึก ดังนั้น ท่าน จึงวางอุบาย หรือ Technique ให้ผูกสติลงที่กาย เช่นจับลมหายใจ (อานาปานสติ) หรือจับการเคลื่อนไหวของกาย (อิริยาปถบรรพ จับอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน และ สัมปชัญญบรรพ จับอิริยาบถย่อย เช่น เหยียดแขน กระพริบตา กลืนน้ำลาย หายใจ หรือ การสร้างจังหวะ ของหลวงพ่อเทียน ซึ่งรวม อิริยาปถบรรพ และ สัมปชัญญบรรพ ไว้) อย่างต่อเนื่อง สติก็จะผูกลงที่กายที่จิต ไม่ เคลื่อนไหวสอดส่ายออกนอกตัว ไปคิดเรื่องอื่นให้วุ่นวายได้
โดยกฎของธรรมชาติ จิตจะอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเท่านั้นในช่วงเวลาขณะใดขณะหนึ่ง ดังนั้น จิตที่เคยวุ่นวาย ส่ายแส่ สูญเสีย พลังงานไปกับความคิดลมๆแล้งๆนั้น จะกลับรวมตัวเข้า เสมือนเลนส์ที่รวมแสงแดด หรือผลึก (Prism) รวมแสงเลเซอร์ ให้เป็นเส้นลำแสงสามารถใช้จุดไม้ขีดไฟ หรือ ใช้ตัดวัสดุและสิ่งของต่างๆได้ จิตเริ่มรวมตัวเป็นองค์แห่งสติขึ้น (สตินทรีย์) ซึ่งเปรียบเสมือนลูกแมว คอยจับการเคลื่อนไหวของกาย เช่น ลมหายใจเข้าออก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน หรือการคู้ แขน เหยียดขา กระพริบตา กลืนน้ำลาย ตลอดไปถึงการเคลื่อนไหว ของจิต คือความคิดซึ่งเปรียบเสมือนหนู แรกๆลูกแมวจับหนูยังไม่ได้ เพราะหนูโตกว่า ลูกแมว แต่หากคอยปฏิบัติในมหาสติปัฏฐาน 4 คือคอยเลี้ยงให้ อาหารแก่ลูกแมว พลังแห่งสติจะแก่กล้าขึ้น เสมือนลูกแมวที่เติบ โตเป็นแมวใหญ่ (สติพละ) สามารถตะครุบหนู หรือความคิดให้ขาดสะบั้นลง จับความคิดที่กำลังเกิดได้ตลอดเวลา เห็นต้นตอของความคิด เห็นอารมณ์ เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นปรมัตถสัจจะ (Ultimate Truth) เห็นความจริงตามที่เป็นจริง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น อยู่ตลอด เวลาด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ เมื่อมีความรู้สึกตัว หรือ สติเกิดขึ้น ความไม่รู้ตัวหรือความหลงใหล คือโมหะ จะหมดไป เพราะเกิด พร้อมกันไม่ได้ เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ สติสัมปชัญญะ ที่เกิดขึ้นนั้น จะกลายเป็นตัวสติปัญญา มีแต่ความรู้สึกตัว ตื่นตัว รู้สึกใจ ตื่นใจ ความรอบรู้เข้ามาแทนที่ ขจัด ความไม่รู้หรืออวิชชา ให้หมดไป หายโง่ เลิกยึดมั่นถือมั่น จิตจึงโปร่งเบาเบิกบาน เป็นสุข ไม่หน่วงหนักด้วยทุกข์เพราะความไม่รู้อีกต่อไป
ดังนั้น เราจะได้ แต่คำตอบ ไม่มีคำถามอีกต่อไปว่า ชีวิตคืออะไร จุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร ความสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างไร จะรู้จะทำหน้าที่ของตนโดยสมบูรณ์ เป็นสามีภรรยา และ บิดามารดาที่ดี เป็นแพทย์ที่ดี มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี ไม่ว่าจะทำ จะพูด จะคิดอะไร จะไม่ผิดพลาด หรือ ผิดน้อย จะรู้จักใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง จะเป็นผู้ดู ผู้เห็น ไม่เข้าไปอยู่ ไม่เข้าไปเป็น แต่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ไม่หลงใหลไปตามความคิด จะมีเป็น อยู่เป็น ได้เป็น พอเป็น ไม่เป็นทุกข์ มีชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่นเบิกบานตามธรรมชาติ ด้วยความสงบสันติสุข ไม่ตื่นเต้นลิงโลดวิตกกังวลไปกับการโดดเด่นหรือการตกต่ำของชีวิต เพราะเห็นและรู้เท่าทันความคิด รู้จักชีวิตจิตใจ รู้จักตนเอง

โพสโดย ผู้สร้าง http://buddhadham.zzl.org รวบรวมธรรมะแก่นแท้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2011, 15:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




กลอนธรรมดีดี 5.jpg
กลอนธรรมดีดี 5.jpg [ 93.79 KiB | เปิดดู 3107 ครั้ง ]
"จงรู้จัก ตัวเอง" คำนี้หมาย
ว่าค้นพบ แก้วได้ ในตัวท่าน
หานอกตัว ทำไม ให้ป่วยการ
ดอกบัวบาน อยู่ในเรา อย่าเขลาไป
ในดอกบัว มีมณี ที่เอกอุตม์
เพื่อมนุษย์ ค้นหา มาให้ได้
'การตรัสรู้ หรือรู้ สิ่งใดใด
ล้วนมาจาก ความรู้ ตัวสูเอง'ฯ

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 15:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มี.ค. 2011, 09:41
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การรู้จักตนเอง เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิตคนค่ะ :b41: :b48: :b41: :b48: :b41: :b48: :b41: :b48: :b41: :b48:
หนูจะนำแนวทางของบทความนี้ไปใช้ในการดำรงค์ชีวิต ค่ะ :b41: :b48:

.....................................................
เห็นสิ่งใด เอามาคิด พินิจไว้

เพื่อเตือนใจ ตนเอง มิให้หลง

เห็นเขาผิด คิดแก้ตน ให้อาจอง

ใจมั่นคง น้อมมาดู รู้ภายใน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร